คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๓๑/๒๕๓๑
เรื่อง หมิ่นประมาท
ที่ ๖๐๓๑/๒๕๓๑ |
นางสมศรี ลัทธพิพัฒ | โจทก์ | ||
ระหว่าง | |||
นายสมัคร สุนทรเวช ที่ ๑ | จำเลย | ||
นายเอกศิลป์ ยืนยง ที่ ๒ |
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๙ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ซึ่งถึงแก่กรรมโดยอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าพรรคประชากรไทย อดีตสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนักหนังสือพิมพ์เขียนบทความ มุมน้ำเงิน ของหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ จำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวันดังกล่าวซึ่งจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑๗ ถึง ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๑ ได้เขียนข่าวลงในบทความ มุมน้ำเงิน หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ฉบับลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ หน้าที่ ๕ และ ๑๖ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะบรรณาธิการได้พิมพ์และโฆษณา มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ว่าง ๆ วันไหน นายห้างใหญ่ลองไปยืนดูป้ายแปดปีของพรรคประชากรไทยแล้วลองคิดดูหน่อยสิว่า พรรคไหนเอ่ยที่หน้าห้องรัฐมนตรีของพรรคนั้นขนกัญชาจนถูกจับไปฟ้องศาลติดตะรางอยู่สิบห้าปีเวลานี้ พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก พรรคไหนเอ่ยที่คนของพรรคเป็นประธานคณะกรรมการปราบปรามการค้าแร่เถื่อน แต่ยังมีข่าวการขนแร่เถื่อนออกนอกกันอยู่เสมอ พรรคไหนเอ่ยที่ประกาศบอกจะเอาคนโน้นคนนี้ลงสมัครตรงโน้นตรงนี้ พอถึงเวลาก็ไปเอาคนอื่นมาลง พรรคไหนเอ่ยที่เอาผู้ก่อการร้ายมาสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคตัวเอง และพรรคไหนเอ่ยที่เอาเงินไปเที่ยวแจกจ่ายซื้อคะแนนเสียงกันทั้งสี่ครั้งที่เลือกตั้งในกรุงเทพฯ กันเมื่อปีกลาย...” ปรากฏตามสำเนาภาพถ่าย เอกสารท้ายคำฟ้องหมาย ๑ เป็นการร่วมกระทำโดยเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความพรรคประชาธิปัตย์ และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ผู้ตาย กล่าวคือ เมื่อประชาชนได้อ่านข้อความที่จำเลยที่ ๑ เขียนว่า “พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก” ย่อมเข้าใจได้ทันทีว่า คำว่า “พรรค” นั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ “คนในพรรค” ที่ปลิดชีพตัวเองลาโลกก็มีอยู่คนเดียว คือ ผู้ตายสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้ปลิดชีพตัวเองดังกล่าว และยังทำให้ผู้อ่านเข้าใจด้วยอีกว่า ผู้ตายมีส่วนพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาชีวิตด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นการใส่ความผู้ตาย เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตลอดจนบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่แขวงเขตและจังหวัดอื่น ๆ ทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๗, ๓๒๘, ๓๓๒, ๘๓, พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๗, ๘ ให้โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ของจำเลย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ มติชน และหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเป็นเวลาสิบห้าวันติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าโฆษณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘, ๓๒๘, ๘๓ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกหกเดือน ปรับสี่พันบาท จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓๗, ๓๒๘, ๘๓, พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกหกเดือน ปรับสี่พันบาท จำเลยที่ ๑ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ ๑ ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ไปทีเดียว ส่วนจำเลยที่ ๒ มิใช่ผู้เขียน แต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณา ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองเคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ กับให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับละเจ็ดวันโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์เป็นภรรยาผู้ตาย ผู้ตายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน กระทำอัตวินิบาตกรรมเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ขณะนั้น จำเลยที่ ๑ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร หัวหน้าพรรคประชากรไทย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับเป็นผู้เขียนบทความ มุมน้ำเงิน ในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณา จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เขียนข้อความตามฟ้องลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ฉบับประจำวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ หน้าที่ ๕ และ ๑๖ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๓ จำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๗ ถึง ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๙ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๑ เขียนบทความตามเอกสารหมาย จ. ๓ มีข้อความว่า ขอให้หัวหน้าพรรคนายห้างขายยาใหญ่โปรดตอบคำถามต่อไป...ว่าง ๆ วันไหน นายห้างใหญ่ลองไปยืนดูป้ายแปดปีของพรรคประชากรไทยแล้วลองคิดดูหน่อยสิว่า พรรคไหนเอ่ยที่หน้าห้องรัฐมนตรีของพรรคนั้นขนกัญชาจนถูกจับไปฟ้องศาลติดตะรางอยู่สิบห้าปีเวลานี้ พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก และยังมีข้อความอื่น ๆ ที่เขียนลงในเอกสารหมาย จ. ๓ ที่มีความหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกบางคนของพรรคประชาธิปัตย์ คำว่า หัวหน้าพรรคนายห้างขายยาใหญ่ หมายถึง นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะนายพิชัยทำยาขายและเป็นเจ้าของบริษัทเยาวราช จำกัด หัวหน้าพรรคการเมืองอื่นทั้งสิบหกพรรคไม่มีใครเป็นนายห้างขายยานอกจากนายพิชัยคนเดียว ข้อความว่า พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก หมายถึง ผู้ตาย เพราะยังไม่เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดของพรรคอื่นปลิดชีพมาก่อนเลยนอกจากผู้ตาย ตามหลักฐานแถบบันทึกเสียงคำปราศรัยของจำเลยที่ ๑ หมาย จ. ๑๗ และคำถอดแถบบันทึกเสียงดังกล่าว เอกสารหมาย จ. ๒๐ ที่จำเลยที่ ๑ ว่า ไปฆ่าตัวตายที่หน้าทำเนียบเป็นความสกปรกแต่ปกปิดกันไว้ ก็หมายถึง ผู้ตายค้าเฮโรอีนจนต้องยิงตัวเองตาย พรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงแก้ข่าวดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๙ ถึง จ. ๑๑ และยังมีข้อความอื่น ๆ ที่เขียนลงในเอกสารหมาย จ. ๓ ที่มีความหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกบางคนของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ตายไม่เคยค้ายาเสพติด ไม่ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมเพราะเหตุยาเสพติด แต่เกิดจากความเครียดในการทำงานและจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ เคยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลสมิติเวช อาการของผู้ตายมีสาเหตุพอที่จะกระทำดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสองเจตนาสมคบกันใส่ความผู้ตายและพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้โจทก์และครอบครัวเสียชื่อเสียงเกียรติยศ บุตรสาวโจทก์ที่กำลังศึกษาอยู่ถูกเพื่อนเยาะเย้ยว่าบิดาค้าเฮโรอีนจนไม่กล้าไปโรงเรียน และต้องเสียเงินจำนวนมากส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ ๑ เขียนข้อความในเอกสารหมาย จ. ๓ เพื่อตอบโต้คำปราศรัยของนายพิชัยที่โจมตีพรรคประชากรไทย ไม่ได้ว่าพรรคการเมืองใด ไม่ได้ระบุชื่อตัวบุคคลโดยเฉพาะผู้ตาย เป็นการเขียนคลุม ๆ ไป ต้องการแสดงให้เห็นว่า ในทางการเมืองก็มีพรรคการเมืองที่คนในพรรคมีความประพฤติพัวพันกีบการค้าเฮโรอีน ไม่เชื่อข่าวตามที่หนังสือพิมพ์ลงว่า ผู้ตายกระทำอัตวินิบาตกรรมเพราะผิดหวังในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้อ่านบทความดังกล่าวที่จำเลยที่ ๑ เขียนก่อนจะลงพิมพ์ เพราะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละหน้าของหนังสือพิมพ์
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกามีว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ และดุลพินิจในการลงโทษจำเลยทั้งสองและการลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เหมาะสมหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ข้อความที่ว่า พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก ตามเอกสารหมาย จ. ๓ หน้าที่ ๑๖ นั้น ข้อความตอนนี้โจทก์เองเบิกความยืนยันว่า หมายถึง พรรคประชาธิปัตย์ และนายดำรง สามีโจทก์ เพราะยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดปลิดชีพตัวเอง นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรี พยานโจทก์ เบิกความว่า ถ้อยคำที่ว่า คนในพรรคปลิดชีพ หมายถึง นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เพราะไม่เคยมีนักการเมืองพรรคอื่นปลิดชีพตัวเอง และแถบบันทึกเสียงตามเอกสารหมาย จ. ๑๗ เป็นเสียงของจำเลยที่ ๑ ปราศรัยที่หน้าศาลากรุงเทพมหานคร ข้อความที่จำเลยที่ ๑ ว่า ไปฆ่าตัวตายที่หน้าทำเนียบนั้น หมายถึง นายดำรง และที่ว่า เป็นความสกปรกแต่ปกปิดกันเอาไว้ ก็หมายถึง นายดำรงค้าเฮโรอีน นางสุพัตรา มาศดิตถ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พยานโจทก์ เบิกความว่า ข้อความที่ว่า คนในพรรคค้าเฮโรอีนและฆ่าตัวตาย หมายถึง นายดำรง นอกจากนี้ โจทก์ยังมีนายเกริกไกร พิพัฒน์เสรีธรรม ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า พยานได้อ่านหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ตามเอกสารหมาย จ. ๓ แล้ว ข้อความที่ว่า คนในพรรคปลิดชีพตัวเองลาโลกนั้น หมายถึง นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ส่วนพรรค ก็หมายถึง พรรคประชาธิปัตย์ พยานโจทก์ดังกล่าวต่างเบิกความยืนยันว่า ข้อความตอนนี้หมายถึง พรรคประชาธิปัตย์ และผู้ตายซึ่งทำอัตวินิบาตกรรม พยานโจทก์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูง และเป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป คำเบิกควมของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และเมื่อได้พิจารณาประกอบข้อความตอนอื่น ๆ ตามเอกสารหมาย จ. ๓ ที่โจทก์นำสืบว่าหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงน่าเชื่อว่า วิญญูชนคนอ่านทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ ๑ เขียนบทความตามฟ้องโดยมีเจตนามุ่งให้หมายถึงนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ผู้ตาย โดยตรง จำเลยที่ ๑ อ้างว่า ไม่ได้ระบุชื่อนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ คนเชื่อว่าเป็นนายดำรงก็มี ไม่เชื่อก็มี จำเลยที่ ๑ อ้างว่า เขียนข้อความตามเอกสารหมาย จ. ๓ เป็นการเขียนตอบโต้ข้อความที่นายพิชัย รัตตกุล ปราศรัยนั้น พิเคระห์ข้อความที่นายพิชัยปราศรัยและจำเลยที่ ๑ นำมาลงพิมพ์ไว้แล้ว เห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาลในแง่มุมต่าง ๆ ส่วนข้อความที่จำเลยที่ ๑ เขียนในหน้าที่ ๑๖ นั้น เป็นการเขียนพาดพิงไปถึงพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน ข้ออ้างของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น และตามคำเบิกความของตัวโจทก์ได้ความว่า นายดำรง สามีโจทก์ ไม่เคยค้ายาเสพติด ไม่ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมเพราะเหตุนี้ ความจริงนายดำรงมีความเครียดจากการทำงาน เคยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลพญาไท แพทย์หญิงนงนุช ศิริเดช พยานโจทก์ เบิกความสนับสนุนว่า พยานได้รักษาโรคทางประสาทของนายดำรง พบว่า มีอาการเศร้า เครียด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๓๔ และ จ. ๓๕ สรุปว่า อาการของนายดำรงดังกล่าวเป็นสาเหตุที่จะกระทำอัตวินิบาตกรรมได้ จึงเชื่อได้ว่า สาเหตุแห่งการกระทำอัตวินิบาตกรรมของผู้ตายมิได้เกิดจากการที่นายดำรงมีส่วนพัวพันกับการค้าเฮโรอีนดังที่จำเลยที่ ๑ ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ. ๓ บทความที่จำเลยที่ ๑ เขียนจึงไม่เป็นความจริง จำเลยที่ ๑ ได้เขียนโดยมีเจตนาทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ผู้ตายมีส่วนพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศอันเป็นความผิดอาญาร้ายแรงมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และต้องจบชีวิตตนเองเพื่อแก้ปัญหา จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร อันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความดังกล่าวโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมแต่ประการใด จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ฉบับเกิดเหตุ ย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่า ไม่ได้อ่านบทความนั้นก่อน เพราะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละหน้าอยู่แล้ว และจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดชอบข้อเขียนที่ลงพิมพ์เฉพาะในกรณีไม่รู้ตัวผู้เขียนนั้น ฟังไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับโทษที่จำเลยทั้งสองควรได้รับหนักเบาประการใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้กล่าวเหตุผลไว้โดยละเอียดในการรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑ และการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนการลงโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับตามที่ศาลล่างทั้งสองระบุเป็นเวลาฉบับละเจ็ดวันโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๒ นั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับละเจ็ดวันตามที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนั้น จำเลยทั้งสองจะต้องเสียเงินทั้งหมดประมาณห้าล้านบาท เป็นภาระอันหนักยิ่งแก่จำเลยทั้งสอง เห็นว่า การลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลก็เพื่อต้องการให้ประชาชนผู้อ่านทั่วไปทราบว่า บทความที่จำเลยทั้งสองลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ตามเอกสารหมาย จ. ๓ นั้นไม่เป็นความจริงและให้เข้าใจเหตุแห่งการกระทำอัตวินิบาตกรรมของผู้ตายได้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ภรรยาและบุตรของผู้ตาย และจำเลยทั้งสองก็ลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ฉบับเดียว ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ลงโฆษณาตามคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ถึงห้าฉบับดังกล่าวจึงเป็นภาระหนักแก่จำเลยทั้งสองมากเกินไป และการที่จะลดจำนวนหนังสือพิมพ์ที่จะโฆษณาคำพิพากษาลงมาก็น่าจะเป็นการเพียงพอให้คำพิพากษาแพร่หลายไปยังประชาชนผู้อ่านได้ทั่วถึง สมควรลดจำนวนหนังสือพิมพ์ที่จะบังคับให้โฆษณาคำพิพากษาลงมา ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองลงโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์หรือหนังสือพิมพ์มติชนฉบับใดฉบับหนึ่งอีกหนึ่งฉบับ เป็นเวลาฉบับละเจ็ดวัน นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
- มงคล เปาอินทร์
- สหัส สิงหวิริยะ
- ถาวร ตันตราภรณ์
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"