คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๓๔/๒๕๕๔


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า
ศาลชั้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า
จำเลยนำสืบว่า
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า
๑. มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่
๒. ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ หรือไม่
๓. ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด
พิพากษา
รายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้





คำพิพากษา
 


เรื่อง ละเมิด

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๗๖๓๔/๒๕๕๔

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
นายบุรินทร์ เสรีโยธิน ที่ ๑ โจทก์
เด็กชายบดินทร์ เสรีโยธิน โดยนายบุรินทร์ เสรีโยธิน ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒
เด็กหญิงบุศรินทร์ เสรีโยธิน โดยนายบุรินทร์ เสรีโยธิน ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๓
เด็กชายศุภโชค เสรีโยธิน โดยนายบุรินทร์ เสรีโยธิน ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๔
นายเขษม กีรติธรรมกุล ที่ ๕
นางนารี กีรติธรรมกุล ที่ ๖
บริษัทขอนแก่นแหอวน จำกัด ที่ ๗
ระหว่าง
บริษัทสมิติเวช จำกัด (มหาชน) หรือโรงพยาบาลสมิติเวช ที่ ๑ จำเลย
นายแพทย์เกรียงไกร อัครวงษ์ ที่ ๒
แพทย์หญิงสุภัค จันทร์จำปี ที่ ๓
นายแพทย์ชลัท ตู้จินดา ที่ ๔



จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๘ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ศาลฎีการับวันที่ ๖ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นสามีนางจุรีรัตน์ เสรีโยธิน โจทก์ที่ ๒ ถึง ๔ เป็นบุตรโจทก์ที่ ๑ กับนางจุรีรัตน์ โจทก์ที่ ๕ และที่ ๖ เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจุรีรัตน์ โจทก์ที่ ๗ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นางจุรีรัตน์เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ที่ ๗ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลชื่อ โรงพยาบาลสมิติเวช มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีหน้าที่คอยควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นวิสัญญีแพทย์ และจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นสูติแพทย์ ให้รักษาคนไข้ในระดับมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพที่ดีที่สุด เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เวลา ๘ ถึง ๘:๑๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณสันหลังแก่นางจุรีรัตน์เพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอดบุตร (epidural block) และละทิ้งนางจุรีรัตน์ให้อยู่คนเดียวโดยปราศจากผู้ดูแลเพื่อไปวางยาสลบคนไข้รายนางเอี้ยงเล้า ธนะทรัพย์ชูศักดิ์ ที่ห้องอื่น จนกระทั่งนางจุรีรัตน์มีอาการอยู่ในภาวะวิกฤติ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้อยู่ช่วยชีวิต จนเป็นเหตุให้นางจุรีรัตน์ถึงแก่ความตาย ทางตำราวิชาการแพทย์กำหนดหน้าที่วิสัญญีแพทย์ว่า ต้องระมัดระวังดูแล ตรวจ รักษา ควบคุมการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง และช่วยชีวิตนางจุรีรัตน์ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างดีที่สุดจนเสร็จกระบวนการ ต้องเตรียมเครื่องช่วยหายใจ ยาแก้ชัก อุปกรณ์การแพทย์ และเมื่อให้ยาชาเฉพาะบริเวณแล้ว ในระยะเวลาสิบถึงสิบห้านาทีแรก ควรวัดความดันโลหิต ชีพจร และอัตราการหายใจทุกครึ่งนาทีถึงหนึ่งนาที จากนั้น วัดทุกห้านาที จำเลยที่ ๓ ประมาทเลินเล่อไม่ได้กระทำตามหลักดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นางจุรีรัตน์ถึงแก่ความตาย ในวันเดียวกัน เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ เจาะถุงน้ำคร่ำนางจุรีรัตน์ แล้วละทิ้งนางจุรีรัตน์ให้อยู่คนเดียวโดยปราศจากผู้ดูแล โดยจำเลยที่ ๔ ไปตรวจคนไข้รายอื่นที่ห้องอื่น จนกระทั่งนางจุรีรัตน์อยู่ในภาวะวิกฤติ จำเลยที่ ๔ ไม่ได้อยู่ช่วยชีวิตตามวิชาการแพทย์อย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้นางจุรีรัตน์ถึงแก่ความตาย ในทางวิชาการแพทย์กำหนดหน้าที่ของสูติแพทย์ไว้ว่า ต้องระมัดระวังดูแล ตรวจ รักษา ควบคุมการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง และช่วยชีวิตนางจุรีรัตน์ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างดีที่สุดจนเสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะการเจาะถุงน้ำคร่ำอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอดซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มีอัตราการตายมากกว่าร้อยละแปดสิบ และร้อยละยี่สิบห้ามักจะตายทันทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จำเลยที่ ๔ รู้อยู่แล้วว่า การเจาะถุงน้ำคร่ำเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด แต่จำเลยที่ ๔ ละทิ้งนางจุรีรัตน์ให้อยู่คนเดียว จึงถือว่า จำเลยที่ ๔ ประมาทเลินเล่อ สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ ชันสูตรศพนางจุรีรัตน์แล้วเห็นว่า นางจุรีรัตน์ตายเพราะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว สำหรับจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ละทิ้งนางจุรีรัตน์ให้อยู่คนเดียวปราศจากผู้ดูแลเพื่อไปรักษาคนไข้รายอื่น จึงเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ละทิ้งนางจุรีรัตน์ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด การที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำละเมิดต่อนางจุรีรัตน์ เป็นการกระทำในการทางที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยดังกล่าว โจทก์แต่ละคนเสียหาย ดังนี้ โจทก์ที่ ๑ เสียค่ารักษาพยาบาลผู้ตายเป็นเงินเจ็ดหมื่นบาท ค่าโลงศพแปดหมื่นบาท ค่าปลงศพห้าแสนบาท ค่าที่ดินฝังศพหนึ่งล้านสามแสนบาท ค่าก่อสร้างฮวงซุ้ยฝังศพสามแสนบาท ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นในการจัดพิธีศพห้าแสนบาท ก่อนถึงแก่ความตาย นางจุรีรัตน์ ผู้ตาย มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ที่ ๗ มีรายได้เดือนละสี่หมื่นบาท และได้รับโบนัสไม่น้อยกว่าปีละห้าล้านบาท ผู้ตายมีอายุสามสิบหกปี มีโอกาสทำงานอีกยี่สิบสี่ปี รวมเงินเดือนและโบนัสไม่ต่ำกว่าปีละห้าล้านสี่แสนแปดหมื่นบาท โจทก์ที่ ๑ ขาดไร้อุปการะ จึงขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละห้าหมื่นบาทเป็นเวลายี่สิบสี่ปี เป็นเงินสิบลี่ล้านสี่แสนบาท โจทก์ที่ ๒ อายุสิบสองปี ต้องขาดไร้อุปการะจนถึงอายุยี่สิบปี ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละสามหมื่นบาทเป็นเวลาแปดปี เป็นเงินสองล้านแปดแสนแปดหมื่นบาท โจทก์ที่ ๓ อายุเจ็ดปี ต้องขาดไร้อุปการะจนถึงอายุยี่สิบปี ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละสามหมื่นบาทเป็นเวลาสิบสามปี เป็นเงินสี่ล้านหกแสนแปดหมื่นบาท โจทก์ที่ ๔ อายุหกปี เป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญา (ปัญญาอ่อน) ซึ่งผู้ตายต้องอุปการะไปจนตลอดชีวิต ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละห้าหมื่นบาทจนถึงอายุหกสิบปี เป็นเวลาห้าสิบสี่ปี เป็นเงินสามสิบสองล้านสี่แสนบาท โจทก์ที่ ๕ เป็นบิดาซึ่งผู้ตายเคยให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูทุกเดือน เดือนละสองหมื่นบาท ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละสองหมื่นบาทเป็นเวลาสิบห้าปี เป็นเงินสามล้านหกแสนบาท โจทก์ที่ ๖ เป็นมารดาซึ่งผู้ตายเคยให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูทุกเดือน เดือนละสองหมื่นบาท ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละสองหมื่นบาทเป็นเวลาสิบห้าปี เป็นเงินสามล้านหกแสนบาท โจทก์ที่ ๖ เป็นผู้ที่ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายต้องทำงานให้เป็นคุณในอุตสาหกรรมของโจทก์ที่ ๗ โดยผู้ตายทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการขยายกิจการและพัฒนาองค์กรให้มีผลกำไรมากที่สุดไม่ต่ำกว่าปีละยี่สิบห้าล้านบาท โจทก์ที่ ๗ จึงขาดประโยชน์จากแรงงานของผู้ตาย ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ จึงขอคิดค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่ ปีละยี่สิบห้าล้านบาท เป็นเวลายี่สิบสี่ปี เป็นเงินหกร้อยล้านบาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมแทนแทนจำนวนหกร้อยหกสิบสามล้านห้าแสนเก้าหมื่นบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด คือ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลาเจ็ดเดือนยี่สิบสองวัน คิดเป็นดอกเบี้ยสามสิบสองล้านสามหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยห้าสิบสองบาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทุกคนเป็นเงินทั้งสิ้นหกร้อยเก้าสิบห้าล้านหกแสนสองหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยห้าสิบสองบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินหกร้อยหกสิบสามล้านห้าแสนเก้าหมื่นบาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้ให้บริการด้านสถานที่พยาบาล เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ให้บริการด้านเทคนิคการแพทย์ จำหน่ายยา และจัดให้คนไข้ได้พบแพทย์ตามที่คนไข้นัดหมายกับแพทย์ประจำของตนเอง กรณีคนไข้ไม่มีแพทย์ประจำ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดให้แพทย์ที่มีความรู้ความสามารถได้พบกับคนไข้ การตรวจรักษาของแพทย์แต่ละคนนั้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการตามหลักวิชาการทางการแพทย์และจรรยาบรรณในวิชาชีพแพทย์เอง จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจควบคุมหรือสั่งการในการตรวจรักษาของแพทย์ แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจะเป็นผู้กำหนดค่าวิชาชีพและเรียกเก็บจากคนไข้โดยตรง จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงตัวแทนเรียกเก็บให้แพทย์เพื่อความสะดวกและความเหมาะสมสำหรับวิชาชีพ แพทย์ทุกคนในโรงพยาบาลของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยยุยงส่งเสริมหรือกระทำการตามที่โจทก์กล่าวหา การตรวจรักษาและการทำคลอดให้นางจุรีรัตน์เป็นดุลยพินิจของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเลยที่ ๒ เข้าไปให้คำปรึกษาภายหลังที่นางจุรีรัตน์มีอาการทรุดลงผิดปกติ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งเจ็ด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต้องระมัดระวังอย่างไร ต้องดูแลขนาดไหนและตลอดเวลาเพียงใด มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมระดับที่ดี่สุดเป็นอย่างไร จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กระทำไม่ได้มาตรฐานอย่างไร ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยนั้นต้องทำอย่างไร กระทำผิดข้อบังคับแพทยสภา ข้อ ๖ อย่างไร โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ค่าใช้จ่ายการจัดงานศพที่เรียกร้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง เช่น ค่าปลงศพห้าหมื่นบาทเป็นค่าอะไรบ้าง ค่าก่อสร้างฮวงซุ้ยและค่าที่ดินเป็นเนื้อที่เท่าไร ก่อสร้างอย่างไร ไม่มีรายละเอียดว่าผู้ตายมีความสามารถพิเศษอย่างไรอันเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๗ เสียหาย โจทก์ที่ ๗ ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราความผูกพันระหว่างผู้ตายกับโจทก์ที่ ๗ มิใช่ความผูกพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๕ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อตามฟ้อง สาเหตุการตายของนางจุรีรัตน์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ผลการชันสูตรศพของสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ปรากฏว่า นางจุรีรัตน์ตายเนื่องจากภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด (amniotic fluid embolism) ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถทำนายหรือมีสัญญาณบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด การป้องกันการเกิดเป็นเรื่องยาก ขณะนี้ ทางการแพทย์ยังไม่สามารถให้การรักษาได้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ มีข้อมูลพบอุบัติการณ์ดังกล่าวประมาณหนึ่งในสองหมื่นรายถึงหนึ่งในแปดหมื่นรายของการตั้งครรภ์ เป็นภาวะรุนแรงมาก มีอัตราการตายของสตรีมีครรภ์ร้อยละแปดสิบหกจากความเจ็บป่วยดังกล่าว โดยร้อยละยี่สิบห้าถึงร้อยละห้าสิบของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายในชั่วโมงแรก ในรายที่พ้นระยะแรกได้ จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบเลือดร้อยละสี่สิบ ผู้ที่รอดชีวิตมักเป็นกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง การรักษาต้องรักษาตามอาการและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น นางจุรีรัตน์เคยฝากครรภ์และทำคลอดกับจำเลยที่ ๔ ที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ ๑ เป็นการคลอดบุตรคนที่สอง คือ โจทก์ที่ ๓ โดยวิธีฉีดยาบล็อกสันหลังเพื่อป้องกันความเจ็บปวดขณะทำคลอด มีจำเลยที่ ๓ เป็นวิสัญญีแพทย์ผู้ฉีดยาบล็อกสันหลัง โดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตรวจรักษาและทำคลอดวิธีเดียวกับที่เกิดเหตุคดีนี้สามารถคลอดโจทก์ที่ ๓ โดยการเจาะถุงน้ำคร่ำก่อนคลอดขณะที่ปากมดลูกกว้างไม่เกินสามเซนติเมตร การทำคลอดนางจุรีรัตน์ตามฟ้อง นางจุรีรัตน์ไปฝากครรภ์กับจำเลยที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๔ ตรวจรักษานางจุรีรัตน์เจ็ดครั้ง ทำการเจาะตรวจน้ำคร่ำตอนครรภ์ระหว่างสิบเจ็ดถึงสิบแปดสัปดาห์พบว่า ครรภ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ บุตรในครรภ์เป็นเพศชายและมีโครโมโซมปกติ (บุตรไม่ปัญญาอ่อน) เมื่อนางจุรีรัตน์ตั้งครรภ์ประมาณสามสิบแปดสัปดาห์ มีอาการเจ็บท้องคลอดเป็นบางครั้งตั้งแต่วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๘ จึงเข้าพักเพื่อทำการคลอดในโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๘ เวลา ๑๙:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ ใช้เครื่องตรวจครรภ์พบว่า หัวใจเด็กเต้นปกติ มดลูกหดตัวเล็กน้อยไม่สม่ำเสมอ ต่อมา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๔ ตรวจครรภ์นางจุรีรัตน์เป็นระยะ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เวลา ๔ นาฬิกา นางจุรีรัตน์เจ็บท้องคลอด จำเลยที่ ๔ สั่งให้พยาบาลนำนางจุรีรัตน์เข้าห้องคลอดเพื่อทำการคลอด พยาบาลประจำห้องคลอดตรวจภายในพบว่า ปากมดลูกเปิดหนึ่งนิ้วมือสอด บางเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ศีรษะเด็กอยู่ระดับลบหนึ่ง ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก มดลูกมีอาการหดรัดตัวทุกสองถึงสามนาทีนานประมาณห้าสิบถึงหกสิบวินาที หัวใจเด็กเต้นประมาณหนึ่งร้อยสามสิบถึงหนึ่งร้อยสี่สิบครั้งต่อวินาที วันเดียวกัน เวลา ๗:๑๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ ตรวจสภาพร่างกายนางจุรีรัตน์อย่างละเอียดพบว่า ปกติ ปากมดลูกเปิดสองเซนติเมตร บางแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก ศีรษะเด็กอยู่ระดับลบหนึ่งถึงลบสอง หัวใจเด็กปกติ การหดรัดตัวของมดลูกแรงอ่อนถึงปานกลาง หดรัดตัวทุกสองถึงสี่นาที นานประมาณยี่สิบห้าถึงหกสิบวินาที นางจุรีรัตน์ต้องการฉีดยาบล็อกสันหลังเพื่อระงับความเจ็บปวดในการคลอด และขอให้จำเลยที่ ๓ ดำเนินการให้เพราะเคยทำให้มาก่อน จำเลยที่ ๔ พิจารณาแล้วเห็นว่า อยู่ในสภาวะเหมาะสม เพราะเป็นระยะปลอดภัยและสะดวก เนื่องจากขณะนั้นนางจุรีรัตน์ปวดท้องคลอดไม่มาก ปากมดลูกยังเปิดไม่มาก การหดรัดตัวของมดลูกยังไม่แรง นางจุรีรัตน์จะให้ความร่วมมือแก่แพทย์ได้ดี การฉีดยาบล็อกสันหลังทำโดยวิธีสอดสายเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (continuous epidural analgesia) โดยจะคงสาย epidural catheter ไว้เพื่อจะได้เติมยาตามที่วิสัญญีแพทย์กำหนด การฉีดยาบล็อกสันหลังตอนใกล้คลอดหรือปากมดลูกเปิดมากแล้วทำลำบาก ผู้ป่วยจะดิ้นรนเพราะปวดท้องคลอด มีอันตรายมากกว่าการทำในขณะผู้ป่วยเจ็บไม่มาก จำเลยที่ ๓ ตรวจร่างกายนางจุรีรัตน์ก่อนฉีดยาบล็อกสันหลังและตรวจวัดความดันโลหิตและให้น้ำเกลือเพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันทีถ้ามีอาการแทรกซ้อน เวลา ๘:๑๐ นาฬิกา หลังจากจำเลยที่ ๓ ฉีดยาบล็อกสันหลังแล้ว จำเลยที่ ๓ ยังอยู่ในห้องคลอดเฝ้าดูอาการเพื่อพิจารณาอาการแทรกซ้อนและฤทธิ์ยา วัดความดันโลหิต ปรากฏว่า ความดันคงที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน จำเลยที่ ๓ สั่งให้พยาบาลในห้องคลอดที่ได้รับการฝึกฝนมีความรู้ความชำนาญในการคลอดโดยเฉพาะเป็นผู้ดูแลนางจุรีรัตน์ตลอดเวลาที่อยู่ในห้องคลอด ให้เติมยาที่บล็อกสันหลัง และแจ้งห้องคนไข้ที่จำเลยที่ ๓ จะไปให้ทราบเพื่อสามารถตามตัวจำเลยที่ ๓ ได้ทันที เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ ตรวจภายในนางจุรีรัตน์พบว่า ปากมดลูกเปิดสองเซนติเมตร บางแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก ศีรษะเด็กอยู่ระดับลบหนึ่งถึงลบสอง จึงเจาะถุงน้ำคร่ำโดยใช้คีมแอลลิสแคลมป์ (Allis clamp) พบว่า น้ำคร่ำสีปกติใสดี จำเลยที่ ๔ เห็นว่า นางจุรีรัตน์จำเป็นต้องใช้เวลารอเพื่อให้สภาพร่างกายพัฒนาไปถึงขั้นคลอดได้ จึงสั่งให้พยาบาลในห้องคลอดว่า หากนางจุรีรัตน์มีอาการเปลี่ยนแปลง ให้ตามจำเลยที่ ๔ ทันทีที่ห้องตรวจไข้ซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกัน ต่อมา นางจุรีรัตน์มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ พยาบาลในห้องคลอดแก้ไขด้วยการขยับตัวให้เพื่อช่วยในการหายใจ แต่อาการไม่ดีขึ้น พยาบาลจึงแจ้งให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไปตรวจดูอาการ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไปห้องคลอดทันทีและช่วยแก้ไขการหายใจไม่ออกตามหลักวิชาแพทย์ เช่น ฉีดยาเร่งความดันให้ ใส่ท่อช่วยหายใจ แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนในสาขาวิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ด้านหัวใจ ศัลยแพทย์ด้านหัวใจและทั่วไป สูตินรีแพทย์ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแพทย์ด้านอายุรศาสตร์ ไปที่ห้องคลอดทันที คณะแพทย์พยายามกู้ชีวิตนางจุรีรัตน์และทารกอย่างสุดความสามารถ แต่นางจุรีรัตน์ได้เสียชีวิต คณะแพทย์เห็นว่า นางจุรีรัตน์เสียชีวิตเพราะแพ้ยา Marcaine ที่ใช้ทำการบล็อกสันหลัง เพราะยามีฤทธิ์กดหัวใจโดยตรง ซึ่งอาจเป็นเพราะผิวหนังและเนื้อเยื่อมีแผลเปิดจากรูเข็มแทง (trauma) ตอนทำบล็อกสันหลัง แล้วยาถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือดสู่กระแสโลหิตไปกดการทำงานของหัวใจ หรือมีการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสโลหิตได้เองเนื่องจากในช่องสันหลังมีแขนงเส้นโลหิตมากมาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ นำความเห็นของคณะแพทย์แจ้งให้โจทก์ที่ ๑ และญาติของนางจุรีรัตน์ทราบ โจทก์ที่ ๑ นำศพนางจุรีรัตน์ส่งสถาบันนิติเวชทำการชันสูตรจึงทราบสาเหตุว่า นางจุรีรัตน์เสียชีวิจากภาวะน้ำคร่ำอุดตันเส้นเลือดในปอดซึ่งเป็นเหตุพ้นวิสัยที่วิสัญญีแพทย์หรือสูตินรีแพทย์โดยทั่วไปจะป้องกันและเยียวยาได้ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งเจ็ดเรียกร้องไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง ค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอยู่แล้วมิใช่ค่าเสียหาย ค่าโลงศพ ค่าปลงศพ ค่าที่ดินที่ใช้ฝังศพ ค่าก่อสร้างฮวงซุ้ยฝังศพ และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการจัดพิธีศพ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้จ่ายไปจริง อีกทั้งเป็นการเกินกว่าฐานะ ไม่มีเหตุผลอันจำเป็น นางจุรีรัตน์เป็นเพียงแม่บ้าน ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ที่ ๗ โจทก์ที่ ๗ จึงไม่ได้เสียหาย จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ต้องเสียค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง

จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ละทิ้งให้นางจุรีรัตน์อยู่เพียงลำพังคนเดียวโดยปราศจากผู้ดูแล จำเลยที่ ๓ เป็นวิสัญญีแพทย์ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาสามสิบเอ็ดปีแล้ว ได้ปฏิบัติต่อนางจุรีรัตน์เป็นพิเศษถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยคณะแพทย์และพยาบาลทุกขั้นตอนตามระดับมาตรฐานของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๓ ฉีดยาเฉพาะที่บริเวณสันหลังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดหรือปัจจัยส่งเสริมหรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจนเป็นเหตุให้นางจุรีรัตน์ถึงแก่ความตาย แต่สาเหตุการตายเกิดจากภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ค่าปลงศพมีไม่เกินห้าหมื่นบาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ ๑ ไม่เกินเดือนละสามพันบาท ไม่เกินห้าปี เป็นเงินไม่เกินหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๖ ไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท เป็นเวลาห้าปี เป็นเงินหกแสนบาท โจทก์ที่ ๗ ไม่มีส่วนได้เสียกับนางจุรีรัตน์ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงินสามล้านสามแสนบาท แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเงินคนละสองล้านบาท แก่โจทก์ที่ ๕ และที่ ๖ เป็นเงินคนละห้าแสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ โดยกำหนดค่าทนายความรวมสามแสนบาท นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยที่ ๒ และระหว่างโจทก์ที่ ๗ กับจำเลยทั้งสี่ในชั้นอุทธรณ์ ให้เป็นพับ

จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ นำสืบว่า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๘ นางจุรีรัตน์ เสรีโยธิน ผู้ตาย ภริยาโจทก์ที่ ๑ ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ผู้ตายเข้าพักที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมรับการคลอดบุตรตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๘ โจทก์ที่ ๑ มาโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘ เห็นพยาบาลพาผู้ตายไปเหน็บยาเร่งคลอดเมื่อเวลา ๒๒ นาฬิกา วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เวลา ๓ นาฬิกา ผู้ตายมีอาการปวดท้องคลอด พยาบาลจึงนำผู้ตายไปห้องคลอดหมายเลข ๔ โดยมีโจทก์ที่ ๑ ตามไปด้วย พยาบาลทำความสะอาดเปลี่ยนเสื้อผ้า วัดความดันโลหิต และจัดเตรียมเรื่องทั่ว ๆ ไปให้ผู้ตาย หลังจากนั้น โจทก์ที่ ๑ กลับไปที่ห้องพัก เวลา ๗:๓๐ นาฬิกา มีผู้โทรศัพท์ตามโจทก์ที่ ๑ ไปที่ห้องคลอด พบจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นสูติแพทย์ผู้ทำคลอดให้ผู้ตาย จำเลยที่ ๔ บอกให้รอไปก่อนเพราะตรวจแล้วปากมดลูกเพิ่งเปิดได้หนึ่งถึงสองเซนติเมตร ยังไม่คลอดง่าย จากนั้น เวลา ๘ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นวิสัญญีแพทย์เข้าไปในห้องคลอดบอกผู้ตายว่า จะฉีดยาบล็อกสันหลังให้ ขณะจำเลยที่ ๓ จัดท่านอนให้ผู้ตายและจัดอุปกรณ์ต่าง ๆ โจทก์ที่ ๑ ออกไปจากห้องคลอด หลังจากนั้นประมาณสิบนาที โจทก์ที่ ๑ กลับเข้าไปในห้องคลอด เห็นจำเลยที่ ๓ พูดคุยกับผู้ตาย เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ เข้าไปในห้องคลอดและบอกผู้ตายกับโจทก์ที่ ๑ ว่า จะเจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตาย โจทก์ที่ ๑ จึงออกจากห้อง ประมาณห้านาที จำเลยที่ ๔ ออกจากห้องคลอดไปเขียนหนังสือเสร็จแล้วไปพูดกับโจทก์ที่ ๑ ว่า น้ำคร่ำใสดี จำเลยที่ ๔ ออกจากห้องไปเมื่อเวลา ๘:๔๕ นาฬิกา โจทก์ที่ ๑ กลับเข้าไปในห้องคลอด พบจำเลยที่ ๓ และพยาบาล จำเลยที่ ๓ ออกจากห้องคลอดพร้อมพยาบาลเมื่อเวลา ๘:๕๐ นาฬิกา เหลือโจทก์ที่ ๑ และผู้ตายพูดคุยกัน จนกระทั่งเวลาประมาณ ๙ นาฬิกา พยาบาลเข้าไปในห้อง ผู้ตายบอกพยาบาลว่า ยังรู้สึกเจ็บ พยาบาลบอกผู้ตายจะจัดยาให้ โทก์ที่ ๑ จึงเดินออกจากห้องไปยืนอยู่บริเวณหน้าเคาน์เตอร์เพื่อมิให้กีดขวางการทำงาน หลังจากนั้นประมาณห้านาที มีพยาบาลสองคนเดินออกจากห้องคลอด โจทก์ที่ ๑ จึงเดินเข้าพูดคุยให้กำลังใจผู้ตายแล้วเดินออกจากห้องไปอ่านหนังสือพิมพ์ใกล้ ๆ เคาน์เตอร์เพื่อให้ผู้ตายได้พักผ่อน ประมาณสิบนาที โจทก์ที่ ๑ ได้ยินผู้ตายร้องว่า ปวดหัว หายใจไม่ออก โจทก์ที่ ๑ วิ่งไปยืนหน้าห้องคลอดชะโงกดูผู้ตาย เห็นผู้ตายใบหน้าบูดเบี้ยวส่ายหัวไปมา โจทก์ที่ ๑ ไม่พบผู้ใดในห้องคลอด ประมาณหนึ่งนาที มีพยาบาลเข้าไปในห้องคลอดปรับเตียงผู้ตายและสอบถามผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ตอบ พยาบาลตะโกนเรียกพยาบาลอีกคนหนึ่งนำหมอนมาหนุนให้ผู้ตายแต่อาการไม่ดีขึ้น หลังจากนั้น พยาบาลคนหนึ่งวิ่งออกจากห้องคลอดไปโทรศัพท์เรียกจำเลยที่ ๔ ประมาณสามนาที จำเลยที่ ๔ ไปถึงห้องคลอดในเวลา ๙:๓๐ นาฬิกา โจทก์ที่ ๑ ยังคงอยู่หน้าห้องคลอดแต่ไม่เห็นจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ สั่งให้เปิดประตูห้องคลอดซึ่งสามารถทะลุไปห้องผ่าตัดได้ ย้ายอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และสั่งพยาบาลให้ไปตามนายแพทย์ชาติชาย สันติภาพลือชา พยาบาลโทรศัพท์เสร็จแล้วกลับไปบอกโจทก์ที่ ๑ ให้ออกไปรอนอกห้องแล้วปิดประตู นายแพทย์ชาติชายไปเคาะประตูเรียกเวลา ๙:๓๕ นาฬิกา โจทก์ที่ ๑ เข้าใจว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนที่จำเลยที่ ๔ จะมาถึง เนื่องจากผู้ตายเงียบไปไม่มีอาการกระสับกระส่าย ก่อนหน้านี้มีสีหน้าบูดเบี้ยวทุรนทุราย จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยประมาท โดยจำเลยที่ ๓ ฉีดยาบล็อกสันหลังให้ผู้ตายเวลา ๘ นาฬิกา หลังจากนั้น เวลา ๘:๕๐ นาฬิกา ได้ทิ้งผู้ตายไปวางยาสลบให้แก่ผู้ป่วยรายอื่น ส่วนจำเลยที่ ๔ เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายเวลา ๘:๓๐ นาฬิกา หลังจากนั้น เวลา ๘:๔๕ นาฬิกา ได้ทิ้งผู้ตายไป ผู้ตายถูกจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ละทิ้งตั้งแต่เวลา ๙:๐๕ ถึง ๙:๒๕ นาฬิกา จนเกิดภาวะวิกฤติ ไม่มีแพทย์ช่วยแก้ไขตามวิธีทางการแพทย์ หลังเกิดเหตุ โจทก์ที่ ๑ ส่งศพผู้ตายไปตรวจหาสาเหตุการตายที่สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ พบสาเหตุการตายเกิดจากภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจทำให้เสียชีวิตได้ร้อยละแปดสิบ รอดชีวิตเพียงร้อยละยี่สิบ แพทย์ต้องอยู่ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันที ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอดรักษาได้ เพราะมีการยืนยันตามหลักวิชาการแพทย์ เอกสารหมาย จ. ๑๙ ถึง จ. ๒๓

จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ นำสืบว่า ผู้ตายเข้าพักที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๘ ต่อมาถูกนำตัวเข้าห้องคลอดเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ โดยมีนางสุเมธี สุวรรณ หรือรอตครุฑา นางสาวศิริวรรณ พงษ์สุวรรณ นางสุรีวรรณ ตะเพียนทอง และนางสาวนฤณี หลงจินดา พยาบาลเวรประจำห้องคลอด เป็นผู้ดูแล เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ ไปตรวจและซักถามอาการผู้ตาย ผู้ตายบอกจำเลยที่ ๔ ขอทำการบล็อกสันหลังเพราะกลัวการเจ็บระหว่างคลอด โดยขอให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ทำบล็อกสันหลังให้ จำเลยที่ ๔ จึงสั่งให้พยาบาลติดต่อจำเลยที่ ๓ ต่อมา เวลา ๘ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ เข้าไปในห้องคลอดและทำการบล็อกสันหลังให้ผู้ตาย โดยพยาบาลได้ติดเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรอัตโนมัติให้ผู้ตาย เครื่องดังกล่าวสามารถตั้งค่าความดันโลหิตได้ หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เครื่องจะร้องเสียงดังถึงบริเวณนอกห้อง ติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์และวัดแรงบีบตัวมดลูกของมารดา และติดเครื่องวัดระบบออกซิเจนในเลือด จำเลยที่ ๓ ยังเฝ้าดูอาการผู้ตายอยู่ที่ข้างเตียงตลอดเวลา และได้ตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจรด้วย เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ ไปตรวจผู้ตายและเจาะถุงน้ำคร่ำให้กระตุ้นการบีบรัดตัวของมดลูก ระหว่างนั้น จำเลยที่ ๓ ยังอยู่ข้างเตียงผู้ตาย จำเลยที่ ๔ เฝ้าดูอาการได้สักพักแล้วจึงออกจากห้องคลอดไป แต่จำเลยที่ ๓ ยังเฝ้าดูอาการผู้ตายต่อไปจนเวลา ๘:๕๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ได้ออกจากห้องคลอดไป แต่ก่อนจะออกไป จำเลยที่ ๓ ได้เตรียมยาชาไว้ในกระบอกฉีด (syringe) และบอกนางสุเมธีว่า หากผู้ตายเจ็บครรภ์เมื่อใด ให้ใช้ยาชาที่เตรียมไว้ฉีดเข้าทางสายเล็ก ๆ (catheter) ที่จำเลยที่ ๓ สอดคาไว้ที่หลังผู้ตาย ขณะที่นางสุเมธีอยู่ในห้องคลอด เห็นผู้ตายมีภาวะปกติ เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา ผู้ตายเริ่มเจ็บครรภ์ นางสุเมธีเติมยาชาที่จำเลยที่ ๓ เตรียมไว้ให้แก่ผู้ตาย เสร็จแล้วทีมพยาบาล ได้แก่ นางสาวศิริวรรณ และนางสุรีวรรณ เข้าไปในห้องคลอด ขณะนั้น ผู้ตายมีอาการเจ็บครรภ์เริ่มลดลง นางสาวศิริวรรณและนางสุรีวรรณเข้าไปสวนปัสสาวะให้ผู้ตาย ส่วนนางสุเมธียังเฝ้าดูอาการของผู้ตาย และตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร ตรวจการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์และการบีบรัดตัวของมดลูกผู้ตายโดยใช้เครื่องมือดังกล่าวข้างต้น ผู้ตายยังคงอยู่ในภาวะปกติ นางสุเมธีออกจากห้องคลอดไปที่เคาน์เตอร์พยาบาลเพื่อบันทึกอาการผู้ตายและกิจกรรมที่ทำให้ผู้ตายลงในแฟ้มบันทึก (nurse’s note) ขณะลงบันทึกดังกล่าว นางสาวศิริวรรณและนางสุรีวรรณถืออุปกรณ์ที่สวนปัสสาวะออกจากห้องคลอด ทันใดนั้น ผู้ตายร้องเรียกพยาบาล นางสุเมธีและนางสุรีวรรณเข้าไปในห้องคลอด ผู้ตายบอกนางสุเมธีว่า ปวดศีรษะและหายใจไม่ออก นางสุเมธีวัดสัญญาณชีพจรด้วยเครื่อง ปรากฏว่า ความดันเริ่มลดลง นางสุเมธีจึงให้นางสุรีวรรณไปตามจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ส่วนตนเองให้การพยาบาลผู้ตายโดยให้ออกซิเจนผ่านหน้ากากให้ออกซิเจนครอบที่จมูกและปาก ต่อจากนั้นไม่ถึงหนึ่งนาที จำเลยที่ ๓ เข้าไปในห้องคลอดโดยสวมชุดสีเขียว สวมหมวก และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกซึ่งเป็นชุดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ผู้ตายเล่าอาการให้จำเลยที่ ๓ ฟัง จำเลยที่ ๓ ได้ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต (ephedrine) แล้วใส่ท่อช่วยหายใจทางปากลึกลงไปถึงหลอดลม ใช้ปั๊มบีบออกซิเจนเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจ ปรากฏว่า วัดความดันโลหิตไม่ได้ หัวใจเต้นช้า ลำตัวคนไข้เขียวคล้ำไปทั้งตัว จำเลยที่ ๓ เพิ่มยาช่วยความดันโลหิตและยากระตุ้นหัวใจให้บีบตัวแรงขึ้น (adrenaline) ทางเลือดหลังจากจำเลยที่ ๓ ใส่ท่อหายใจแล้ว ขณะที่จำเลยที่ ๔ เข้าไปในห้องคลอด ผู้ตายตัวเขียว หยุดหายใจ ความดันโลหิตตก จึงสั่งให้ทีมพยาบาลที่อยู่บริเวณนั้นไปตามแพทย์อื่น ๆ เพื่อมาช่วยเหลือผู้ตายด้วยวิธีกู้ชีพ cardiopulmonary resuscitation[1] หรือที่เรียกชื่อย่อว่า CPR หลังจากนั้น มีแพทย์ด้านต่าง ๆ ไปช่วยหลายคน เช่น นายแพทย์ชาติชาย สันติภาพลือชา แพทย์ด้านหัวใจ นายแพทย์สมบัติ เตียจันทร์พันธ์ วิสัญญีแพทย์ นายแพทย์ชนะ บัวขำ หัวหน้าวิสัญญีแพทย์ นายแพทย์วิบูลย์ โชติสกุลรัตน์ ศัลยแพทย์ด้านหัวใจ แพทย์ดังกล่าวต่างช่วยเหลือผู้ตายตามวิธีการของตน จนกระทั่งเวลา ๑๑:๓๐ นาฬิกา จึงสั่งผู้ตายไปห้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติ หรือห้อง ICU (intensive care unit) ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายที่ห้องดังกล่าว คณะแพทย์สรุปสาเหตุการตายน่าจะเกิดจากการแพ้ยาบล็อกสันหลัง โจทก์ที่ ๑ ส่งศพผู้ตายไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ ปรากฏว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด (amniotic fluid embolism)

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจุรีรัตน์ เสรีโยธิน ผู้ตาย ตามใบสำคัญการสมรส เอกสารหมาย จ. ๑ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นบุตรของโจทก์ที่ ๑ กับผู้ตาย ตามสำเนาสูติบัตร เอกสารหมาย จ. ๒ ถึง จ. ๔ โจทก์ที่ ๕ และที่ ๖ เป็นบิดามารดาของผู้ตาย ตามสำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารหมาย จ. ๕ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลชื่อ โรงพยาบาลสมิติเวช มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการ ตามหนังสือรับรอง เอกสารหมาย จ. ๑๕ จำเลยที่ ๓ เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ ๔ เป็นสูติแพทย์ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๘ ผู้ตายไปที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เพื่อเตรียมคลอดบุตรคนที่สี่ โดยผู้ตายฝากครรภ์กับจำเลยที่ ๔ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ พยาบาลพาผู้ตายไปที่ห้องคลอดหมายเลข ๔ ชั้น ๒ เวลา ๘ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ให้ยาระงับความรู้สึกทางช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง (epidural block) แก่ผู้ตาย เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายแล้วกลับออกไปเวลาประมาณ ๘:๔๕ นาฬิกาเพื่อตรวจคนไข้รายอื่น จำเลยที่ ๓ ออกจากห้องคลอดไปเมื่อเวลา ๘:๕๐ นาฬิกาเนื่องจากจำเลยที่ ๓ ต้องทำหน้าที่วางยาสลบในการผ่าตัดนางเอี้ยงเล้า ธนะทรัพย์ชูศักดิ์ ที่ห้องอื่นในเวลา ๙ นาฬิกา ต่อมา ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายในวันเดียวกันเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากเศษน้ำคร่ำเข้าไปในระบบเส้นเลือดของปอด ตามสำเนารายงานการตรวจศพ เอกสารหมาย ล. ๘๖ ตามตำราแพทย์ว่าด้วยการตั้งครรภ์และการคลอด บทที่ ๑๒ ว่าด้วยวิสัญญีทางสูติศาสตร์ เอกสารหมาย จ. ๑๗ ตำราแพทย์และบทความเกี่ยวกับภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด (amniotic fluid embolism) เอกสารหมาย จ. ๑๙ ถึง จ. ๒๓ ได้อธิบายภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ที่เรียกว่า ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด เป็นการที่น้ำคร่ำรั่วเข้าไปในหลอดเลือดดำของมดลูกเข้าหัวใจผ่านไปยังปอด ซึ่งมักเกิดเมื่อเจ็บครรภ์ โดยเฉพาะในระยะเบ่ง ร่างกายจะมีปฏิกิริยาไวต่อสิ่งต่าง ๆ ในน้ำคร่ำ ได้แก่ ขนอ่อน ผม เซลล์ผิวทารก ไข และขี้เทา เกิดช็อกอย่างรุนแรง สิ่งต่าง ๆ ในน้ำคร่ำและลิ่มเลือดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจะอุดหลอดเลือดในปอด ทำให้หลอดเลือดแดงฝอยหดเกร็งทั่วไปในปอด ตามมาด้วยเลือดไหลผ่านปอดไม่ได้ดี และจะมีน้ำซึมจากหลอดเลือดเข้าไปในปอดและถุงลม ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ภาวะดังกล่าวไม่พบบ่อย มีอัตราการตายมากกว่าร้อยละแปดสิบ และร้อยละยี่สิบห้ามักจะตายทันที การที่ถุงน้ำคร่ำแตก ไม่ว่าจะแตกเองหรือโดยแพทย์เป็นผู้เจาะ ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมประการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเช่นว่านี้ได้ นอกจากนี้ การให้ยาชาทางสันหลังก็เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตต่ำ ฉะนั้น เมื่อฉีดยาชาแล้วจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด วัดความดันโลหิตและชีพจนทุกหนึ่งถึงสองนาที ประมาณสิบถึงสิบห้านาที จากนั้น วัดทุกห้านาที ฟังอัตราการเต้นของหัวใจทารกบ่อย ๆ คดีสำหรับโจทก์ที่ ๗ และจำเลยที่ ๒ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดมิได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ข้อแรกว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ฝ่ายโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีตัวโจทก์ที่ ๑ เบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ ๔ เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายแล้วออกจากห้องคลอดไปในเวลาไม่เกิน ๘:๔๕ นาฬิกา จากนั้น จำเลยที่ ๓ ออกจากห้องคลอดไปพร้อมพยาบาลเมื่อเวลา ๘:๕๐ นาฬิกา คงมีโจทก์ที่ ๑ และผู้ตายอยู่ในห้องเท่านั้น เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา มีพยาบาลเข้ามาในห้องคลอด ผู้ตายแจ้งว่า ยังรู้สึกเจ็บ พยาบาลตอบว่า เดี๋ยวจัดยาให้ โจทก์ที่ ๑ จึงเดินออกมาจากห้องคลอดและยืนอยู่บริเวณเคาน์เตอร์ห่างจากห้องคลอดประมาณหนึ่งเมตรห้าสิบเซนติเมตร ประมาณห้านาทีมีพยาบาลเดินออกมาจากห้องคลอดสองคน โจทก์ที่ ๑ จึงกลับเข้าไปในห้องคลอดและอยู่กับผู้ตายเพียงสองคน โจทก์ที่ ๑ ให้กำลังใจผู้ตายแล้วออกมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์บริเวณเคาน์เตอร์เพื่อต้องการให้ผู้ตายพักผ่อน ขณะนั้นไม่มีผู้ใด ประมาณสิบนาทีได้ยินผู้ตายร้องว่า เฮีย ปวดหัวจังเลย หายใจไม่ออก โจทก์ที่ ๑ วิ่งไปดู เห็นผู้ตายหน้าบูดเบี้ยวส่ายหัวไปมาและไม่มีผู้ใดอยู่ในห้องคลอด ต่อมาอีกหนึ่งนาทีมีพยาบาลเข้ามาปรับเตียงผู้ตายแล้วถามอาหาร แต่ผู้ตายไม่ตอบ คงส่ายหัวกระสับกระส่ายมากขึ้น พยาบาลพยายามจับตัวผู้ตายเอียงเพื่อช่วยและได้ยินพยาบาลคนดังกล่าวบอกพยาบาลอีกคนหนึ่งว่า ความดันตกลงมาก ให้ตามจำเลยที่ ๔ พยาบาลออกมาโทรศัพท์ที่เคาน์เตอร์ตามจำเลยที่ ๔ ไม่เกินสามนาทีจำเลยที่ ๔ มาถึง มีอาการตกใจมาก ฝ่ายจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีตัวจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เบิกความว่า เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ ไปตรวจและซักถามอาการผู้ตาย ผู้ตายบอกจำเลยที่ ๔ ว่า ขอทำการบล็อกสันหลังเพราะกลัวการเจ็บระหว่างคลอด โดยขอให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ทำ เพราะการคลอดครั้งก่อน จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ทำบล็อกสันหลังให้ จำเลยที่ ๔ สั่งให้พยาบาลติดต่อจำเลยที่ ๓ ต่อมาเวลา ๘ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ เข้าไปในห้องคลอดและทำการบล็อกสันหลังให้ผู้ตาย โดยพยาบาลติดเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรอัตโนมัติให้ผู้ตาย เครื่องดังกล่าวสามารถตั้งค่าความดันโลหิตได้ หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เครื่องจะร้องเสียงดังถึงบริเวณนอกห้อง ติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์และวัดความบีบตัวมดลูกของมารดา และติดเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด จำเลยที่ ๓ เฝ้าดูอาการผู้ตายอยู่ที่ข้างเตียงตลอดเวลา และได้ตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร เวลา ๘:๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๔ เฝ้าดูอาการได้สักพักแล้วจึงออกจากห้องคลอดไป จำเลยที่ ๓ เฝ้าดูอาการผู้ตายจนถึงเวลา ๘:๕๐ นาฬิกาจึงออกจากห้องคลอดไป ก่อนจะออกจากห้อง จำเลยที่ ๓ ได้เตรียมยาชาไว้ในกระบอกฉีดยา (syringe) และบอกนางสุเมธีว่า หากผู้ตายเจ็บครรภ์เมื่อใด ให้ใช้ยาชาที่เตรียมไว้ฉีดเข้าทางสายเล็ก ๆ (catheter) ที่จำเลยที่ ๓ สอดคาไว้ที่หลังผู้ตาย ขณะที่นางสุเมธีอยู่ในห้องคลอด เห็นผู้ตายมีภาวะปกติ เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา ผู้ตายเริ่มเจ็บครรภ์ นางสุเมธีเติมยาชาที่จำเลยที่ ๓ เตรียมไว้แก่ผู้ตาย เสร็จแล้วทีมพยาบาล ได้แก่ นางสาวศิริวรรณ พงษ์สุวรรณ และนางสุรีวรรณ ตะเพียนทอง เข้าไปในห้องคลอด ขณะนั้น ผู้ตายมีอาการเจ็บครรภ์เริ่มลดลง นางสาวศิริวรรณและนางสุรีวรรณเข้าไปสวนปัสสาวะให้ผู้ตาย ส่วนนางสุเมธียังเฝ้าดูอาการของผู้ตาย และตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร ตรวจการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์และการบีบรัดตัวของมดลูกผู้ตายโดยใช้เครื่องมือดังกล่าวข้างต้น ผู้ตายยังอยู่ในภาวะปกติ นางสุเมธีออกจากห้องคลอดไปที่เคาน์เตอร์พยาบาลเพื่อบันทึกอาการผู้ตายและกิจกรรมที่ทำให้ผู้ตายลงในแฟ้มบันทึก (nurse’s note) ขณะลงบันทึกดังกล่าว นางสาวศิริวรรณและนางสุรีวรรณถืออุปกรณ์ที่สวนปัสสาวะออกจากห้องคลอด ทันใดนั้น ผู้ตายร้องเรียกพยาบาล นางสุเมธีและนางสุรีวรรณเข้าไปในห้องคลอด ผู้ตายบอกนางสุเมธีว่า ปวดศีรษะและหายใจไม่ออก นางสุเมธีวัดสัญญาณชีพจรด้วยเครื่อง ปรากฏว่า ความดันเริ่มลดลง นางสุเมธีจึงให้นางสุรีวรรณไปตามจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ส่วนตนเองให้การพยาบาลผู้ตายโดยให้ออกซิเจนผ่านหน้ากากให้ออกซิเจนครอบที่จมูกและปาก จากนั้นไม่ถึงหนึ่งนาที จำเลยที่ ๓ เข้าไปในห้องคลอดโดยสวมชุดสีเขียว สวมหมวก และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกซึ่งเป็นชุดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ผู้ตายเล่าอาการให้จำเลยที่ ๓ ฟัง จำเลยที่ ๓ ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต (ephedrine) แล้วใส่ท่อช่วยหายใจทางปากลึกลงไปถึงหลอดลม ใช้ปั๊มบีบออกซิเจนเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจ ปรากฏว่า วัดความดันโลหิตไม่ได้ หัวใจเต้นช้า ลำตัวคนไข้เขียวคล้ำไปทั้งตัว จำเลยที่ ๓ เพิ่มยาช่วยความดันโลหิตและยากระตุ้นหัวใจให้บีบตัวแรงขึ้น (adrenaline) ทางเส้นเลือด หลังจากจำเลยที่ ๓ ใส่ท่อหายใจแล้ว จำเลยที่ ๔ เข้าไปในห้องคลอดสั่งให้ทีมพยาบาลที่อยู่ในบริเวณนั้นไปตามแพทย์อื่น ๆ เพื่อมาช่วยเหลือผู้ตายด้วยวิธีกู้ชีพ cardiopulmonary resuscitation หรือที่เรียกย่อว่า CPR หลังจากนั้น มีแพทย์ด้านต่าง ๆ ไปช่วยหลายคน เช่น นายแพทย์ชาติชาย สันติภาพลือชา แพทย์ด้านหัวใจ นายแพทย์สมบัติ เตียจันทร์พันธ์ วิสัญญีแพทย์ นายแพทย์ชนะ บัวขำ หัวหน้าวิสัญญีแพทย์ นายแพทย์วิบูลย์ โชติสกุลรัตน์ ศัลยแพทย์ด้านหัวใจ แพทย์ดังกล่าวต่างช่วยเหลือผู้ตายตามวิธีการของตน จนกระทั่งเวลา ๑๑:๓๐ นาฬิกา ส่งผู้ตายไปห้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติหรือห้อง ICU (intensive care unit) ผู้ตายได้แก่ความตายที่ห้องดังกล่าว จากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๑ และพยานจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ ๔ เจาะถุงน้ำคร่ำแก่ผู้ตายแล้ว ได้ออกจากห้องคลอดไปเมื่อเวลา ๘:๔๕ นาฬิกา หลังจากนั้น จำเลยที่ ๓ ออกจากห้องคลอดไปพร้อมกับพยาบาลเมื่อเวลา ๘:๕๐ นาฬิกา คงมีโจทก์ที่ ๑ และผู้ตายอยู่ในห้องเท่านั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้อยู่ดูแลผู้ตายตลอดเวลา โดยจำเลยที่ ๓ ออกจากห้องของผู้ตายไปวางยาสลบในการผ่าตัดนางเอี้ยงเล้า ธนะทรัพย์ชูศักดิ์ อีกห้องหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ ๔ ออกไปตรวจผู้ป่วยรายอื่น โดยไม่อยู่ดูแลผู้ตายตลอดเวลาตามตำราแพทย์เรื่องการตั้งครรภ์และการคลอด เอกสารหมาย จ. ๑๗ บทที่ ๑๒ เรื่อง วิสัญญีทางสูติศาสตร์ ได้ระบุหน้าที่ทั่วไปของวิสัญญีแพทย์ในการบล็อกสันหลังว่า "เมื่อได้รับยาแล้ว จะต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดตลอด เพราะอันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น รายที่ได้รับ sedation[2] อย่างหนักอาจสะลืมสะลือ ตกเตียง อาเจียน สำลัก บาดเจ็บ ฯลฯ รายที่ได้รับยาชาทาง spinal[3] หรือ epidural[4] ต้องเฝ้าสังเกตความดันโลหิตต่ำและระดับความชาอย่างใกล้ชิด ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่สูติแพทย์จะเชี่ยวชาญในเทคนิคด้านยาชา/ยาสลบทุกอย่าง บางครั้งอาจจะเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ทั้งแม่และลูก ดังนั้น การใช้ยาชา/ยาสลบทางสูติศาสตร์จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอ พร้อมที่จะดมยาสลบได้ทันทีเมื่อต้องการ จึงควรมีวิสัญญีแพทย์ร่วมดูแลด้วยเสมอ...ส่วนเรื่องการให้ยาชาเฉพาะบริเวณ (regional anaesthesia) มีหลายเทคนิคด้วยกัน ได้แก่...spinal and epidural block และ caudal block[5]…ยาชาเฉพาะบริเวณควรทำเมื่อปากมดลูกเปิดตั้งแต่สามถึงสี่เซนติเมตร (ครรภ์หลัง) และห้าถึงหกเซนติเมตร (ครรภ์แรก) แต่สำหรับผู้มีประสบการณ์มาก อาจพิจารณาหาความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป แม้แต่ตอนใกล้คลอดแล้วก็อาจจะทำได้ เมื่อให้ยาเฉพาะบริเวณแล้ว ในสิบถึงสิบห้านาทีแรกควรวัดความดันโลหิต ชีพจร และอัตราการหายใจทุกครึ่งถึงหนึ่งนาที จากนั้น วัดทุกห้านาที...ภาวะแทรกซ้อนจากการทำ spinal anaesthesia ความดันโลหิตต่ำเป็นข้อเสียที่พบได้บ่อย อาจจะเกิดได้ทันทีหลังฉีดยาชา...total spinal block[6] บางครั้งยาชาขึ้นมาออกฤทธิ์สูงถึงระดับกล้ามเนื้อช่วยหายใจซึ่งมักเกิดจากการให้ยาชาในขนาดมากเกินไปสำหรับสตรีตั้งครรภ์ (ซึ่งขนาดควรจะน้อยกว่าคนทั่วไป) เมื่อมี paralysis[7] ของกล้ามเนื้อช่วยหายใจก็เกิดการหยุดหายใจ ต้องแก้ไขอย่างรีบด่วนป้องกันการหยุดเต้นของหัวใจ ถ้ายังไม่คลอด ให้รีบนอนตะแคงซ้าย ช่วยการหายใจโดยใส่ endotracheal tube[8] และให้ ventilation[9] เมื่อมีความดันโลหิตต่ำให้เพิ่มความดันโลหิตด้วย ephedrine" เกี่ยวกับเรื่องนี้ โจทก์มีนายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีวิทยา เบิกความว่า เอพิดูรัลบล็อก (epidural block) คือ การใส่ยาชาเฉพาะที่เข้าไปในช่อง epidural space ซึ่งเป็นช่องที่อยู่นอกไขสันหลัง การฉีดยาชาเฉพาะที่ทางไขสันหลังมีได้สองวีธี ชั้นในที่สุดช่องในที่สุดที่ช่องไขสันหลังนั้นเป็นการให้ยาชาเข้าไขสันหลังโดยตรง เรียกว่า spinal anaesthesia อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า epidural block หมายถึง การฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าช่องนอกไขสันหลังจะทำให้เกิดอาการชา ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๐ ฉบับแรก[10] และออกเพิ่มเติม ข้อ ๑๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙[11] ระบุว่า ผู้ที่เป็นพยาบาลไม่เคยเรียนวิสัญญีพยาบาลมาก่อนไม่สามารถกระทำการได้ตามกฎหมายในการใช้ยาทางไขสันหลัง จะเกี่ยวข้องไม่ได้เลย และห้ามกระทำการนี้โดยเด็ดขาดในโรงพยาบาลเอกชน หลักสูตรการสอนวิสัญญีพยาบาลในสถาบันอบรมวิสัญญีพยาบาลของทุกแห่งกำหนดไม่ให้สอนวิชาฉีดที่ใช้ยาชาเข้าไขสันหลังเพื่อไม่ให้ไปปฏิบัติ แต่ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาลจะควบคุมดูแลคนไข้ได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้นโดยอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยใกล้ชิด พยานได้นำวิชา epidural block มาใช้ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นคนแรก การให้ยาสลบคนไข้หรือยาระงับความรู้สึก การแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นในเวลาใดไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย จะรุนแรงแค่ไหนก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ คนไข้อาจจะหัวใจหยุดเต้นโดยฉับพลัน เพราะฉะนั้น วิสัญญีแพทย์จึงต้องมีปรัญชาประจำใจด้วยจิตและวิญญาณที่จะต้องดูแลรักษาคนไข้โดยไม่ละทิ้ง จะต้องกระทำการโดยระมัดระวัง รอบคอบ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการ เมื่อรับคนไข้คนใดคนหนึ่งมาเป็นภารกิจหน้าที่ของตนแล้ว จะต้องรับผิดชอบในชีวิตของคนไข้รายนั้นโดยปฏิเสธใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนไข้ในคดีนี้ ไม่ใช่เพียงชีวิตเดียวที่ต้องดับสูญไป เป็นสองชีวิตทั้งแม่และลูก ความรับผิดชอบนี้จึงต้องยิ่งใหญ่ขึ้นทวีคูณ การที่ทำ epidural block ซึ่งมีอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่างหลายประการ แม้กระทั่งถึงชีวิตในทันทีก็เป็นได้ วิสัญญีแพทย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการของคนไข้ใกล้ชิด ขอยกตัวอย่างข้อปฏิบัติและกฎของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียว่า วิสัญญีแพทย์ต้องมีความรับผิดชอบในการทำ epidural block โดยอยู่ใกล้ชิดติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอาการคนไข้โดยไม่ปฏิบัติหน้าที่อื่นพร้อมกันในขณะเดียวกัน การที่วิสัญญีแพทย์ทำ epidural block แล้วไม่อยู่กับคนไข้ แม้ขณะที่เกิดอาการแทรกซ้อนก็ยังไม่ได้อยู่กับคนไข้ กลับออกไปรับภารกิจอื่น เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นการแสดงถึงการละเลยต่อหลักวิชาการ ไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้ป่วยซึ่งตนรับภาระไว้ การรักษาด้วยความระมัดระวังโดยรอบคอบตามมาตรฐานทางวิชาการนั้น คือ การต้องติดตามการวัดความดันโลหิต การวัดชีพจร การติดตามอาการของคนไข้ เช่น อาการทางด้านการหายใจ ระดับความรู้สึกของคนไข้ นอกจากนั้นแล้ว การที่วิสัญญีแพทย์นั้นเป็นผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในชีวิตของมนุษย์นั้นอย่างมีศักดิ์ศรีโดยถือว่า คนไข้จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม แม้ไม่เกี่ยวกับทางวิสัญญีวิทยา ไม่เกี่ยว epidural block ที่ทำไว้แล้ว แต่เมื่อติดตามอาการโดยใกล้ชิด จะเห็นว่า ผู้ป่วยนั้นมีความดันโลหิตตกตั้งแต่เมื่อไร สังเกตได้ตั้งแต่เมื่อไร เป็นสิ่งที่จริยธรรมกำกับวิสัญญีแพทย์อยู่ เมื่อความดันโลหิตตกไปสิบห้านาทีแล้วคนไข้ถึงได้หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก จะต้องรีบวินิจฉัยคนไข้รายนั้นทันที ถ้าวิสัญญีแพทย์อยู่ตรงนั้น ติดตามอาการของคนไข้ จะสามารถวินิจฉัยและให้การรักษาเพื่อติดตามอาการและสามารถให้การแก้ไขได้ทันที หากไม่มีวิสัญญีแพทย์ก็มีวิสัญญีพยาบาล แต่ถ้าหากบุคคลที่ติดตามคนไข้นั้นไม่ใช่วิสัญญีพยาบาล ถือว่า เป็นการผิดกฎระเบียบกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงและชัดเจน ซึ่งแพทย์พยาบาลควรที่จะเฝ้าดูแลทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้นั้นไม่อยู่ด้วยถือว่า เป็นการละทิ้งคนไข้โดยไม่เห็นแก่ชีวิตของคน เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๔ ที่ระบุว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง แพทยสภาได้รับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม อาการทางด้าน epidural block และอาการแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นเอง มีความดันโลหิตตก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ตัวเขียว ซึ่งวิสัญญีแพทย์เท่านั้นจึงจะวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ พยาบาลไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ แม้ว่าในกรณีที่มีอาการแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์เกิดขึ้น วิสัญญีแพทย์จึงต้องรับผิดชอบร่วมกับสูติแพทย์ด้วย วิสัญญีแพทย์เท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่ออาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย ไม่ว่าอาการนั้นจะเกิดอาการทางวิสัญญีหรืออาการนั้นจะเกิดขึ้นทางสูติศาสตร์ เช่น ความดันตกที่เกิดขึ้นนี้ อาการที่แน่นหน้าอกนี้ วิสัญญีแพทย์เท่านั้นที่จะให้การวินิจฉัยได้ พยาบาลที่ไม่ใช่วิสัญญีแพทย์จะไม่ทราบการวินิจฉัยอาการต่าง ๆ ของคนไข้ ทั้งไม่สามารถที่จะให้การดูแลรักษาคนไข้ได้ทันท่วงทีด้วย วิสัญญีแพทย์เมื่อได้รับคนไข้แล้วจะต้องอยู่กับคนไข้เพื่อติดตามอาการของคนไข้โดยคลอด เมื่อมีอาการอื่นใดจะต้องสามารถแก้ไขได้ ต้องทำงานร่วมกับสูติแพทย์ จะต้องทำงานร่วมมือกันโดยใกล้ชิดและตัดสินใจร่วมกัน วิสัญญีแพทย์จึงต้องถือว่า เป็นผู้รับผิดชอบโดยสิ้นเชิงของการเปลี่ยนแปลงอาการของคนไข้ การที่จะละทิ้งหน้าที่นั้นถือว่า เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการ บางครั้ง ถ้าสูติแพทย์และวิสัญญีแพทย์อยู่ร่วมกันและวินิจฉัยอาการคนไข้ในการเปลี่ยนแปลงอาการคนไข้ ความดันโลหิตวัดได้อยู่ ตัดสินใจทันทีผ่าท้องเอาเด็กออกช่วยเหลือเด็กได้หนึ่งชีวิต สามารถเอาเด็กออกได้ในสองถึงสามนาที เพราะขณะนั้นอยู่ภายใต้การชาอยู่แล้ว การตัดสินใจโดยการติดตามอาการของคนไข้ เอกสารหมาย จ. ๑๗ หน้า ๒๗๖ ถึง ๒๙๑ เป็นตำราในวิชาสูติศาสตร์ เรื่อง วิสัญญีทางสูติศาสตร์ ใช้เป็นตำราสำหรับนักศึกษาแพทย์และการฝึกอบรบแพทย์ประจำบ้านในการให้ยาชาเฉพาะบริเวณ วิสัญญีแพทย์ผู้รับผิดชอบต้องจดบันทึกโดยละเอียดทุกประการ บันทึกความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ชีพจรเป็นอย่างไร ให้ยาเท่าไร มีอาการแทรกซ้อนเพิ่มเติมต้องมีการบันทึก การจดบันทึกดังกล่าวเรียกว่า การบันทึกรายละเอียดการให้ยาระงับความรู้สึก (anaesthesia record) ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะต้องมีบันทึกนี้ บันทึกรายละเอียดทุกประการเพื่อจะสามารถดำเนินการทางปฏิบัติต่อคนไข้ในสถานที่ต่อไปได้ ถ้าไปอยู่ที่ตึกคนไข้แล้วหรือไปอยู่ที่ห้อง ICU จะได้ติดตามรายละเอียดจากบันทึกนี้ได้และดำเนินการได้ถูกต้อง บันทึกนี้เป็นเครื่องป้องกันตัวเองในการต่อสู้ทางคดี บันทึกตามเอกสารหมาย จ. ๔๓ ผู้ที่บันทึกรายละเอียดบันทึกบ้างไม่บันทึกบ้าง ที่สำคัญที่สุด ได้ใช้ยาชาเฉพาะที่ไปกี่ซีซีไม่ได้ใส่เอาไว้ เมื่อเกิดอาการขึ้นมาให้การแก้ไขรักษาอย่างไรไม่มีบันทึกใด ๆ ทั้งสิ้น ใส่ท่อช่วยหายใจเมื่อใดไม่ได้มีรายละเอียดใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่การวัดความดันโลหิตช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขาดหายไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะก่อนที่ความดันโลหิตตกเมื่อเวลา ๙ นาฬิกา ความดันโลหิต ๑๒๗ มิลลิเมตรปรอท และได้ให้ยาชาเฉพาะที่ครั้งที่สองนั้นสิบห้านาทีต่อมา เวลา ๙:๑๕ นาฬิกา ความดันโลหิตตกเหลือ ๖๕/๔๕ มิลลิเมตรปรอท จาก ๑๒๐/๗๐ มา ๖๕/๔๕ มิลลิเมตรปรอท สิบห้านาทีในระหว่างนั้นหายไปไหนไม่ทราบ แสดงว่า ไม่มีผู้ใดอยู่กับคนไข้ระหว่างนั้น เป็นการแสดงบุคลิกภาพที่ละเลยต่อคนไข้ซึ่งเรียกได้ว่า ชุ่ย ในกรอบที่เขียนว่า continuous epidural block ไม่ได้ระบุจำนวนยาที่ใช้ ใช้ยาสองประเภทด้วยกัน คือ Marcaine และ Xylocaine แต่ไม่ระบุจำนวนซีซีที่ใช้ และไม่ได้ระบุว่า สายยางที่ใส่เข้าไปในช่องนอกไขสันหลังนั้นสอดเข้าไปถึงระดับใด และไม่ได้วัดความดันโลหิตติดต่อต่อเนื่องตามระเบียบปฏิบัติ เว้นช่วงหนึ่งสิบห้านาที และช่วงที่สองก็สิบห้านาที และก่อนที่ความดันโลหิตจะตกถึง ๖๕ นั้นก็ไม่ได้วัดความดันโลหิตให้คนไข้ถึงสิบห้านาที เมื่อความดันโลหิตตก ๖๕ แล้วไม่ได้วัดอะไรอีกเลย ไม่บันทึกใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ออกซิเจนหรือไม่ก็ไม่ได้บันทึกไว้ คนไข้ตัวเขียว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ก็ไม่ได้บันทึกไว้ การใส่ท่อช่วยหายใจก็ไม่ได้บันทึกไว้ การฉีดยาเพื่อจะเพิ่มความดันโลหิตตกก็ไม่ได้บันทึกไว้ แสดงถึงบุคลิกภาพของวิสัญญีแพทย์นี้ไม่มีความรับผิดชอบและละเลยต่อสิ่งที่จำเป็นยิ่ง นอกจากนั้น วิสัญญีแพทย์ต้องทำบันทึกรายละเอียดเพิ่มเติมบันทึกอาการ (staff note) คือ วิธีการดำเนินการให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วยรายนี้ มีอาการแทรกซ้อนประการใดเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ให้การวินิจฉัยไว้เป็นประการใด ให้การแก้ไขรักษาประการใด ทั้งสูติแพทย์และวิสัญญีแพทย์จะต้องทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และโจทก์มีนายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ ผู้ชำนาญการทางด้านสูติศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เบิกความว่า พยานเคยดูแลผู้ป่วยที่รับยาชาแบบ epidural block หมายความว่า เมื่อผู้คลอดเริ่มเจ็บครรภ์ระยะหนึ่ง ผู้คลอดรายนั้นมีความประสงค์จะลดความเจ็บปวด การลดความเจ็บปวดมีหลายวิธี การใช้วิธีการ epidural block ก็เป็นการลดความเจ็บปวดวิธีหนึ่ง เป็นหน้าที่ของวิสัญญีแพทย์ ในอดีตไม่มีการแบ่งวิสัญญีแพทย์และสูติแพทย์ เนื่องจากวิสัญญีแพทย์ไม่พอเพียง สูติแพทย์จะเป็นผู้ทำวิธี epidural block ด้วยตนเอง ปัจจุบัน การทำ epidural block จะอยู่ในความดูแลของวิสัญญีแพทย์และสูติแพทย์ร่วมกัน วิสัญญีแพทย์จะดูแลซักประวัติคนไข้ ประวัติการแพ้ยา จากนั้น จะทำ epidural block ในห้องคลอดซึ่งมีแพทย์ พยาบาล และนักศึกษาแพทย์ดูแล หลังจากวิสัญญีแพทย์บล็อกหลังเรียบร้อยแล้วจะสั่งตรวจวัดสัญญาณชีพ ได้แก่ อัตราเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจกี่ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตมีหน่วยเป็นมิลลิเมตรของปรอท สามสิบนาทีแรกจะวัดทุกห้านาที การวัดมีสองวิธี ๑. ใช้คนวัด คือ เจ้าหน้าที่พยาบาลไปวัดจับชีพจรวัดแรงดันเลือด หรือ ๒. วัดด้วยเครื่องมืออัตโนมัติ เครื่องมือนี้สามารถตั้งได้ว่า ให้วัดทุกกี่นาทีต่อครั้ง พร้อมทั้งมีสัญญาณเตือนในกรณีสัญญาณที่ผิดปกติไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น ถ้าแรงดันเลือดต่ำกว่าเก้าสิบหรือชีพจรเกินกว่าที่ตั้งเกณฑ์ไว้ เครื่องดังกล่าวก็จะร้องเป็นสัญญาณออกมาเพื่อให้แพทย์หรือพยาบาลที่อยู่บริเวณนั้นทราบว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดแก่คนไข้ หรือในกรณีที่ไม่มีเครื่องดังกล่าวก็จะใช้วิธีวัดโดยใช้หูฟัง ถ้าผิดสังเกต พยาบาลที่วัดก็รายงานให้สูติแพทย์และวิสัญญีแพทย์ทราบ เครื่องวัดอัตโนมัติดังกล่าวเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า electronic monitor วิธีการวัดโดยใช้คนถือว่าเป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ ในการใช้เครื่องมืออัตโนมัติต้องใช้คนดูแล แต่ในทางปฏิบัติ เราไม่สามารถจัดคนดูแลคนไข้ได้ตลอดเวลา เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวสามารถที่จะเตือนเราและในห้องคลอดเป็นห้องรวมซึ่งมีพยาบาลดูแลคนไข้สลับไปมาอยู่แล้ว ในโรงพยาบาลรามาธิบดี แม้จะมีเครื่องมือดังกล่าว แต่ถ้าคนไข้มีการผิดปกติ ก็จะมีแพทย์หรือพยาบาลเข้าดูแลทันที ตามหนังสือ เอกสารหมาย จ. ๑๗ หน้า ๒๙๑ ข้อความที่ทนายโจทก์ทั้งเจ็ดทำเครื่องหมายดอกจันที่ว่า เมื่อฉีดยาชาแล้วจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด วัดความดันโลหิตชีพจรทุกหนึ่งถึงสองนาทีประมาณสิบถึงสิบห้านาที จากนั้น วัดทุกห้านาที ฟังอัตราการเต้นหัวใจทารกบ่อย ๆ นั้น ถูกต้องตามหลักวิชาการ พยานเคยรักษาและเคยรายงานในวารสารทางการแพทย์เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว โดยรักษาผู้ป่วยที่อยู่ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอดช่วยให้คนไข้รอดชีวิตได้ ส่วนใหญ่ถ้าพบคนไข้ที่มีภาวะนี้มักจะเสียชีวิต ผู้ป่วยดังกล่าวตั้งครรภ์ที่สอง ครรภ์แรกคลอดปกติ ระหว่างเจ็บครรภ์ ปากมดลูกเปิดแปดเซนติเมตร ได้ให้ยาเร่งคลอดก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ได้ให้ epidural block ให้ยามอร์ฟีนแก้ปวดในเวลาเจ็บครรภ์ คนไข้ไม่มีอาการใดที่ผิดปกติเลย ขณะนอนอยู่ในระยะที่ ๑ ของการคลอด พยานพบว่า ผู้ป่วยเขียว ผิวคล้ำ แน่น หายใจไม่ออก โดยที่พยาบาลไม่ได้ตรวจพบเลยว่า คนไข้มีอาการผิดปกติมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ได้สอบถามเมื่อประมาณห้านาทีที่แล้ว พยาบาลตรวจสัญญาณชีพต่าง ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อพบภาวะดังกล่าว ได้นำผู้ป่วยรายนี้ให้ออกซิเจน ขณะนั้น ที่ห้องคลอดไม่มีวิสัญญีแพทย์ จึงย้ายผู้ป่วยไปแก้ไขภาวะดังกล่าวในห้องผ่าตัดที่มีความพร้อมมากกว่า โดยการใช้เครื่องช่วยหายใจใส่ท่อหายใจ ผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ยังเขียวอยู่ แรงดันโลหิตยังตก เสียงหัวใจทารกก็ช้าลง แพทย์ผู้ดูแลจึงตัดสินใจผ่าท้องคลอดเพื่อหวังช่วยชีวิตเด็ก แต่ในภาวะดังกล่าวนั้น ผู้ดูแลไม่แน่ใจว่า มารดาจะมีชีวิตรอด เมื่อผ่าตัดเด็กคลอดออกมาแล้ว เด็กมีน้ำหนักสี่กิโลกรัมเศษ เด็กปลอดภัย แต่มารดาแรงดันเลือดยังต่ำ ภาวะออกซิเจนในเลือดดีขึ้น แต่เลือดไหลไม่หยุด การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ จึงได้ให้สารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว เช่น เกร็ดเลือด น้ำเลือด และตัดมดลูกออกเพื่อไม่ให้เสียเลือดมากขึ้น ผ่าตัดอยู่หลายชั่วโมง ผู้ป่วยก็รอดชีวิต แต่ภาวะปรากฏออกมาอีกหลายเดือน ผู้ป่วยผิดปกติทางด้านฮอร์โมน (hormone) ร่างกาย เนื่องจากต่อมใต้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้ป่วยมีภาวะหน้าอกเล็กลง ผมร่วง ขนร่วง ซึ่งเป็นภาวะบกพร่องฮอร์โมน (hormone) ซึ่งเกิดขึ้นหลักจากการเสียเลือด ได้เอาเลือดบริเวณที่จะสู่หัวใจขวาของผู้ป่วยรายนี้ได้ตรวจดูในช่วงที่กำลังจะช่วยผู้ป่วยนั้น หลังจากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น คือ หลังจากผ่าตัดวันที่ ๔ ได้ไปทำลังสแกน (lung scan) ก็สนับสนุนว่า น่าจะเกิดจากภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นที่ปอด เป็นผู้ป่วยที่มีชีวิตรอดโดยยืนยันจากการวินิจฉัยเป็นภาวะน้ำคร่ำอุดตันที่ปอดโดยอาศัยผลจากการตรวจทางพยาธิวิทยาด้วย และเท่าที่ทราบ เป็นผู้ป่วยรายเดียวในโรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีรายงานยืนยันว่า เป็นภาวะนี้แล้วมีชีวิตรอด การพบอาการตัวเขียวของผู้ป่วยรายนี้ พยานมาพบโดยบังเอิญ พยานให้หยุดยาเร่งการคลอด แล้วให้ออกซิเจน และนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด เนื่องจากให้ห้องผ่าตัดมีความพร้อมในการช่วยชีวิต เมื่อพบผู้ป่วยเกิดอาการดังกล่าวก็ดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้นใช้เวลาประมาณห้าถึงสิบนาที ได้ลงมือกระทำการช่วยเหลือคนไข้เมื่อพบอาการตัวเขียวนั้นในทันทีเลย นายแพทย์สัญชัย บัลลังก์โพธิ์ สูติแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เบิกความว่า แพทย์มีหน้าที่ดูแลคนไข้ที่คลอดบุตร โดยทั่วไปต้องดูแลอย่างใกล้ชิดขึ้นอยู่กับภาวะของคนไข้ เช่น คนไข้อยู่ในภาวะที่เจ็บท้องห่าง คนไข้ยังไม่ใกล้คลอด การเจ็บท้องคลอดยังห่าง การดูแลก็ไม่ใกล้ชิดมาก แต่เมื่อคนไข้เข้าสู่ภาวะใกล้คลอดจะมีการเจ็บท้องมากขึ้น การดูแลจะใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ พยานจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ยังเบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ว่า พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติเวช โดยเป็นสูติแพทย์ตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ถึงปี ๒๕๓๗ มีประสบการณ์ในการทำคลอดเดือนละประมาณสามสิบถึงสามสิบห้าราย พยานเคยเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอด (AFE) จำนวนหนึ่งรายเมื่อยี่สิบห้าปีมาแล้ว คือ เด็กมีภาวะขาดออกซิเจน มารดาคลอดครบกำหนด ในช่วงระยะนั้น ปากมดลูกเปิดประมาณสองเซนติเมตร ความบางมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ และปรากฏว่า น้ำคร่ำแสดงว่า เด็กมีปัญหาในระหว่างการตั้งครรภ์ เด็กมีปัญหาขาดออกวิเจนเรื้อรัง ทำให้มีขี้เทาปน เป็นขี้เทาเก่า ไขมันตามตัวเด็กจับตัวเป็นก้อนใหญ่ พยานตัดสินใจทำคลอดด้วยการผ่าตัด เด็กปลอดภัยดี แต่มารดาเสียชีวิตเพราะมารดาเกิดอาการตกเลือดหลังคลอดซึ่งเป็นผลตามหลังของภาวะ AFE ขณะทำคลอด มารดาไม่มีภาวะวิกฤติในการรักษา ในกรณีดังกล่าว หลังจากมารดาเสียชีวิต ไม่ได้มีการตรวจพิสูจน์ศพเพราะญาติไม่ต้องการให้ร่างกายของผู้เสียชีวิตถูกผ่าตรวจพิสูจน์ ขณะที่ทำการผ่าตัด มารดาไม่มีอาการตกเลือด ภาวะ AFE โดยทั่วไปอาการที่เกิดขึ้นแต่ละรายจะไม่เหมือนกันและไม่แน่นอน ตัวอย่างในกรณีที่พยานพบ มารดาไม่ได้แสดงอาการในขณะที่แพทย์ให้การช่วยเหลือ แต่กรณีเป็นมากอาจจะทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวและจะตามมาด้วยความผิดปกติของความแข็งตัวของเลือด ระบบหายใจล้มเหลวจะแสดงอาการโดยแน่น อึดอัด หายใจไม่ออก หอบ สาเหตุของการเกิดภาวะ AFE อาจจะเกิดจากตัวคนไข้เองหรือเกิดจากการกระทำของแพทย์ การทราบว่า คนไข้เป็น AFE หากคนไข้รอดชีวิต ก็เป็นเพียงการสันนิษฐานของแพทย์ว่า เกิดภาวะดังกล่าวในคนไข้ แต่หากกรณีคนไข้ถึงแก่ความตายและทราบได้ว่าเสียชีวิตเพราะภาวะ AFE ได้จะต้องมีการชันสูตรศพ เวลาคนไข้เกิดภาวะ AFE แพทย์ได้แต่สันนิษฐานว่าเป็นภาวะ AFE ไม่ว่าจะเป็นการคลอดแบบปกติหรือ EDB[12] ถุงน้ำคร่ำจะแตกก่อนที่จะมีการคลอดทุกครั้ง เมื่อถุงน้ำคร่ำแตก แพทย์จะต้องดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด คนไข้ที่มาทำคลอด แพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่า คนไข้คนใดจะเกิดภาวะ AFE แต่แพทย์จะต้องคอยระวังในหลายเรื่องเกี่ยวกับตัวคนไข้ แพทย์จะต้องคอยระวังว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ หากตรวจสอบได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อคนไข้ แพทย์จึงต้องมีการทำงานเป็นทีม เพราหากเกิดอะไรผิดปกติขึ้นมา ต้องสามารถดูแลรักษาได้ทันที ทีมแพทย์ ได้แก่ พยาบาล ทีมแพทย์ และบุคลากรของแต่ละสถานพยาบาลว่าอยู่ในระดับใด แพทย์เจ้าของไข้ สูติแพทย์ แต่หากสูติแพทย์มีการคลอดฉุกเฉินทำให้ไม่อยู่ดูแลคนไข้รายนั้นได้ก็จะมีพยาบาลอยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา การดูแลคนไข้รอทำคลอด แพทย์จะต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา เว้นแต่กรณีคนไข้มีปัญหา แต่การที่มาตรวจดูคนไข้เป็นระยะ ๆ นั้จะมีการประเมินคนไข้เป็นระยะ ๆ ว่า มีอาการปกติหรือเกิดภาวะผิดปกติขึ้นหรือไม่ เช่น กรณีการประเมินจากการดูปากมดลูก ในระยะแรก ปากมดลูกจะเปิดช้า แต่ระยะใกล้คลอด ปากมดลูกจะเปิดเร็ว หากแพทย์มาตรวจดู ปากมดลูกเปิดประมาณสองถึงสามเซนติเมตร แพทย์ก็จะกลับเข้ามาดูคนไข้อีกประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมงถัดไป แต่หากมดลูกเปิดมากแล้ว แพทย์จะต้องอยู่ดูคนไข้บ่อยขึ้น จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ และพยานจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับตำราทางการแพทย์ เอกสารหมาย จ. ๑๗ และ จ. ๑๙ ถึง จ. ๒๓ จะเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยที่ ๔ เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายแล้ว จะต้องดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิด หากจำเลยที่ ๔ ไม่อยู่ จะต้องมีสูติแพทย์คนอื่นหรือวิสัญญีแพทย์อยู่ดูแลผู้ตายแทน ส่วนจำเลยที่ ๓ เมื่อให้ยาชาทางสันหลัง จะต้องอยู่ดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิด วัดความดันโลหิตและชีพจรทุกหนึ่งถึงสองนาทีประมาณสิบถึงสิบห้านาที จากนั้น วัดทุกห้านาที ฟังอัตราการเต้นของหัวใจทารกบ่อย ๆ การที่จำเลยที่ ๓ ออกจากห้องคลอดไปพร้อมกับพยาบาลเมื่อเวลาประมาณ ๘:๕๐ นาฬิกาเพื่อไปวางยาสลบให้นางเอี้ยงเล้า ผู้ป่วยที่จะต้องผ่าตัดอีกห้องหนึ่ง โดยก่อนจะออกจากห้องไป จำเลยที่ ๓ ได้เตรียมยาชาไว้ในกระบอกฉีดยาและบอกนางสุเมธีว่า หากผู้ตายเจ็บคลอดเมื่อใด ให้ใช้ยาชาที่เตรียมไว้ฉีดเข้าทางสายเล็ก ๆ (catheter) ที่จำเลยที่ ๓ สอดคาไว้ที่หลังผู้ตายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่จำเลยที่ ๓ มอบหมายให้นางสุเมธี ซึ่งมิใช่วิสัญญีพยาบาล ให้ใช้ยาชาที่เตรียมไว้ฉีดเข้าทางสายเล็ก ๆ (catheter) ที่จำเลยที่ ๓ สอดคาไว้ที่หลังผู้ตายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ ตามที่นายแพทย์ประดิษฐ์เบิกความ และยังขัดต่อพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๒๖, ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ หมวด ๑ หลักทั่วไป ข้อ ๒, หมวด ๓ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ ๑ ที่ว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุด..." และข้อ ๖ ที่ว่า "ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย" โจทก์ที่ ๑ และผู้ตายเป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ก่อนเกิดเหตุเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันกว่าสิบปี ทั้งที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง การที่ผู้ตายเลือกมาใช้บริการที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความเชื่อถือในชื่อเสียงและความสามารถจากแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในความรู้และความคาดหวังที่จะได้รับการดูแลรักษาในมาตรฐานและความพึงพอใจในระดับที่สูงกว่าที่จะได้จากโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนอื่น แม้จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและบริการที่สูงกว่าก็ตาม ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตกลงเป็นแพทย์เพื่อทำคลอดแก่ผู้ตาย จึงเกิดหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้ตายด้วยมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดที่โรงพยาบาลเอกชนเช่นจำเลยที่ ๑ จะพึงมี โดยไม่อาจนำไปเปรียบเทียบให้อยู่ในระดับเดียวกับการไปคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งมีผู้ป่วยเป็นภาระที่ต้องดูแลมาก ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทอดทิ้งผู้ตายไว้ในห้องโดยไม่มีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์คนอื่นอยู่ดูแลแทน คงมีแต่นางสุเมธีและนางสาวศิริวรรณที่เป็นพยาบาลซึ่งมิใช่วิสัญญีพยาบาลดูแล ส่วนนางสุรีวรรณและนางสาวนฤณีก็เป็นเพียงผู้ช่วยคนไข้เท่านั้น และจากทางนำสืบของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็ไม่ได้ความแต่อย่างใดว่า ก่อนที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะออกจากห้องคลอด มีการสั่งให้พยาบาลดูแลผู้ป่วยเช่นใด โดยเฉพาะการวัดความดันโลหิตและชีพจร แม้จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ จะอ้างว่า มีเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรอัตโนมัติติดไว้ที่ตัวผู้ตายก็ตาม แต่ได้ความจากนางสุเมธีเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามค้านว่า ขณะนางสุเมธีเข้าไปในห้องผู้ตาย เป็นเวลา ๙:๕๐ นาฬิกา ได้วัดความดันโดยกดปุ่มเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรอัตโนมัติพร้อมกับดูอาการผู้ตาย แสดงว่า เครื่องมือดังกล่าวต้องมีคนมากดปุ่มดูโดยไม่ได้แสดงตัวเลขหน้าจอตลอดเวลา และเมื่อผู้ตายมีความดันโลหิตตก เครื่องมือดังกล่าวก็มิได้มีการร้องเตือนเพื่อให้พยาบาลที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ได้ยินแล้วมาดูผู้ตาย นางสุเมธีเข้ามาดูผู้ตายตามปกติ มิได้เข้ามาเนื่องจากได้ยินเสียงเตือนจากเครื่องมือดังกล่าว นอกจากนี้ ในคำให้การชั้นสอบสวนของนางสุเมธี, นางสาวศิริวรรณ, นางสุรีวรรณ และนางสาวนฤณี ตามสำเนาบันทึกคำให้การพยาน เอกสารหมาย ล. ๗๕, ล. ๗๖, ล. ๘๐ และ ล. ๘๑ ตามลำดับ ก็ไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดให้การถึงเครื่องมือดังกล่าว และจากบันทึกรายละเอียดการให้ยาระงับความรู้สึก (anaesthesia record) ตามเอกสารหมาย จ. ๕๒ ปรากฏว่า ตั้งแต่เวลา ๘:๔๕ ถึง ๙:๓๐ นาฬิกา ไม่มีการบันทึกความดันโลหิตของผู้ตายทุกห้านาทีให้เป็นไปตามตำราแพทย์ เอกสารหมาย จ. ๑๗ แต่อย่างใด คงมีการบันทึกทุกสิบห้านาทีเท่านั้น ฉะนั้น ก่อนที่ผู้ตายจะมีความดันโลหิตตกอย่างมากตามที่บันทึกไว้เมื่อเวลา ๙:๑๕ นาฬิกา หากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดูแลและให้คำสั่งแก่พยาบาลเพื่อให้ปฏิบัติโดยเคร่งครัดแล้ว ผลที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ. ๑๗ และ จ. ๑๙ ถึง จ. ๒๓ ก็น่าจะมีโอกาสที่จะเยียวยาให้ทันการได้ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไม่ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ดังกล่าวจากตำราแพทย์ว่าอาจเกิดขึ้นได้ แตด้วยเหตุที่ภาวะเช่นว่านั้นเกิดขึ้นไม่บ่อย ประกอบกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็ยอมรับว่า ไม่เคยประสบกับภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นเส้นเลือดในปอดเหมือนเช่นคดีนี้มาก่อน จึงน่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ละเลยถึงภาวะดังกล่าวจนไม่ปฏิบัติหรือสั่งการให้ผู้อื่นปฏิบัติตามหลักวิชาการแพทย์เพื่อดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดจนการคลอดเสร็จสิ้น ข้อบอกพร่องของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าวจึงนำไปสู่การเยียวยาเพื่อช่วยชีวิตผู้ตายและบุตรไม่ได้อย่างรวดเร็วและดีที่สุดตามที่ควรจะเป็น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อ้างว่า แม้ตนจะไม่ปฏิบัติงานดังกล่าว ก็มีแพทย์อื่นของจำเลยที่ ๑ มาดูแลแทนได้ แต่จากทางนำสืบของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ และจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ปรากฏว่า หลังจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ออกจากห้องผู้ตายไปแล้ว มีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์มาดูแลผู้ตายแทนตน การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ละเลยความเสี่ยงภัยที่จะพึงมีจากภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อผู้ป่วยตามหลักวิชาการแพทย์ ทั้งโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีนายแพทย์วินิตและนายแพทย์สัญชัยมาเบิกความยืนยันว่า เคยช่วยให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเช่นผู้ตายมีชีวิตรอดมาแล้ว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ย่อมไม่อาจยกเหตุสุดวิสัยมาปฏิเสธความรับผิดได้ ส่วนทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ และนายแพทย์ชนะ บัวขำ หัวหน้าวิสัญญีแพทย์ พยานจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ เข้ามาในห้องคลอดหลังจากผู้ตายอยู่ในอาการขั้นวิกฤติแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๔ เข้ามาในห้องคลอดขณะที่ผู้ตายตัวเขียว หยุดหายใจ ความดันโลหิตตก ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือผู้ตายและบุตรให้รอดชีวิตได้ ที่จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๑ ปั้นแต่งเหตุการณ์ไม่น่าเชื่อถือเพื่อให้คำเบิกความของตนในชั้นศาลสอดรับกับรูปคดี เป็นไปไม่ได้ที่โจทก์ที่ ๑ จะกะเวลาได้แม่นยำ ในการดำเนินคดี โจทก์ที่ ๑ มุ่งแต่จะเอาชนะ จึงต้องเบิกความฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ตาย โดยขัดต่อพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก และคำเบิกความของนายแพทย์ประดิษฐ์มีอคติต่อจำเลยที่ ๓ ซึ่งไม่ใช่วิสัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพึงกระทำ กล่าวคือ นายแพทย์ประดิษฐ์ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรื่องให้ครบถ้วนอย่างถ่องแท้ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เช่นเดียวกับนายแพทย์ประดิษฐ์ ได้แต่ประณามจำเลยที่ ๓ ว่า ชุ่ย เพียงยึดหลักฐานข้อเท็จจริงในเอกสารหมาย จ. ๕๒ นั้น เห็นว่า ก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ ๑ อยู่กับผู้ตายตลอดเวลา จะมีบางครั้งเมื่อพยาบาลเข้ามารักษาพยาบาลผู้ตาย โจทก์ที่ ๑ ก็จะออกมารอที่เคาน์เตอร์หน้าห้องผู้ตายซึ่งอยู่ห่างเพียงหนึ่งเมตรห้าสิบเซนติเมตรเท่านั้น ย่อมรู้เห็นและจำเหตุการณ์ได้ตลอดเนื่องจากภริยาและบุตรถึงแก่ความตายต่อหน้าโจทก์ที่ ๑ และไม่มีเหตุอะไรที่โจทก์ที่ ๑ จะต้องมากลั่นแกล้งฟ้องจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ เพราะครอบครัวของโจทก์ที่ ๑ ได้ใช้บริการของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ มาเป็นเวลากว่าสิบปี บุตรคนที่ ๓ ของโจทก์ที่ ๑ กับผู้ตายก็คลอดที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นวิสัญญีแพทย์และจำเลยที่ ๔ เป็นสูติแพทย์เช่นกัน ตามปกติทั่วไป ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยไม่มีผู้ใดอยากจากฟ้องแพทย์ผู้ทำการรักษา ถ้าหากแพทย์ผู้นั้นทำการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างเต็มความรู้ความสามารถ มิได้ประมาทเลินเล่อหรือทอดทิ้งผู้ป่วยจนเกิดภาวะวิกฤติและจนถึงแก่ความตาย สำหรับคดีนี้ ถ้าหากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อยู่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ตายตลอดเวลา แม้จะช่วยชีวิตผู้ตายและบุตรไม่ได้ก็ตาม อีกทั้งหลังเกิดเหตุแล้ว หากจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลของตน โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ก็คงจะไม่ฟ้องจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ และในการฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ก็มิได้มุ่งหวังที่อยากจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ เท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากการที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เป็นเงินหกร้อยเก้าสิบห้าล้านหกแสนสองหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยห้าสิบสองบาท แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ น้อยกว่าคำขอท้ายฟ้องมากนัก โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ก็ไม่ได้ติดใจที่จะฎีกาเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมจากจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ อีกแต่อย่างใด การฟ้องคดีของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษามีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในรดับที่ดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๖ หมวดที่ ๑ ข้อ ๒ และหมวดที่ ๓ ข้อ ๑ สำหรับนายแพทย์ประดิษฐ์นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาฐทางด้านวิสัญญี มีผลงานทางวิชาการมาก เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จึงไม่เชื่อว่า นายแพทย์ประดิษฐ์จะมีอคติต่อจำเลยที่ ๓ นอกจากนี้ นายแพทย์ประดิษฐ์ยังถือหุ้นโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ อีกด้วย ซึ่งนายแพทย์ประดิษฐ์เบิกความตอนหนึ่งว่า "ที่มาเป็นพยานศาลเพาะต้องการรักษาความเป็นธรรมในสังคมเพื่อให้เกิดเป็นที่ปรากฏเกียรติภูมิและเกียรติศักดิ์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเฉพาะในระยะที่บรรดาแพทย์ทั้งหลายมีการศรัทธาในทรัพย์สินเงินทองมากกว่าจิตและวิญญาณและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีของแพทย์ พยานจึงจะมาประสงค์ให้การในคดีนี้อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการและประสบการณ์ที่ได้รับมา" ดังนั้น คำเบิกความของนายแพทย์ประดิษฐ์ซึ่งมิได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงรับฟังเป็นพยานคนกลางได้ และที่จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาว่า การพิจารณาของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการทั้งหมดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวเป็นการปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ ทุกประการ มติของแพทยสภาจึงถึงที่สุด มีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อผลการพิจารณาโดยแพทยสภาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมในเรื่องทางการแพทย์ได้วินิจฉัยไว้ชัดว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่มีผู้ใดกระทำผิดหรือให้การรักษาผู้ตายไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์แต่อย่างใด ผลการพิจารณาของแพทยสภาต้องถือว่า เป็นหลักฐานสำคัญตามกฎหมายดังกล่าว และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เนื่องจากแพทยสภาเป็นองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และประการสำคัญ ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในฐานผู้กล่าวหา ถือได้ว่า เป็นคู่กรณีในกรณีนี้ด้วย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะต้องนำผลการพิจารณาวินิจฉัยของแพทยสภามาประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่า มติของแพทยสภามิใช่กฎหมาย และไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติว่า มติของแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลจะต้องรับฟังมติของแพทยสภาในการพิจารณาคดี ถ้าศาลเห็นว่า มติของแพทยสภาถูกต้องและเป็นธรรม ก็จะนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ แต่มติของแพทยสภาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีข้อสงสัยว่า จะถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการแพทยสภาและอนุกรรมการกลั่นกลองด้านจริยธรรม เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า คณะกรรมการแพทยสภามีหน้าที่ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์จริยธรรมของวิชาชีพตามมาตรา ๗ (๑) หากแพทย์กระทำความผิด แพทยสภามีกำหนดโทษไว้ตามมาตรา ๓๙ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตไม่เกินสองปี และเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการเรียงจากโทษเบาสุดไปหนักสุด พยานทั้งสองเกี่ยวข้องกับเรื่องที่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร้องเรียนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในฐานะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านจริยธรรมของแพทยสภาที่คณะกรรมการแพทยสภาแต่งตั้งขึ้น และยังเกี่ยวข้องในฐานที่เป็นกรรมการของแพทยสภาด้วย คณะอนุกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชสองคน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, แพทย์หญิงกอบจิตต์ ลิมปพยอม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศ และมีผู้เชี่ยวชาญทางวิสัญญีแพทย์ประกอบด้วย แพทย์หญิงเพลินจิตต์ ศิริวันสาณฑ์ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย และมีแพทย์สาขาอื่นอีกประมาณสิบห้าคน ในการพิจารณาดังกล่าว คณะอนุกรรมการสอบสวนพิจารณาจากสำนวนคณะอนุกรรมการจริยธรรมในเบื้องต้น จากนั้น จะเรียกเอกสารต่าง ๆ ที่เห็นว่าจำเป็นที่จะใช้ในการพิจารณา รวมทั้งเชิญพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริงด้วย นอกจากนั้น กฎหมายกำหนดว่า ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษแก้ข้อกล่าวหาได้รวมทั้งอ้างพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ แล้วคณะกรรมการจะเชิญผู้ที่เห็นสมควรมาให้ถ้อยคำ จากนั้น จึงสรุปสำนวนการสอบสวน ซึ่งจะพิจารณาในสามประเด็น คือ ๑. พฤติการณ์เป็นความผิดหรือไม่ ๒. ผิดต่อข้อบังคับข้อใด ๓. ควรมีโทษระดับใด หลังจากได้ประชุมพิจารณาดังกล่าวแล้ว คณะอนุกรรมการสรุปว่า ทั้งสูติแพทย์และวิสัญญีแพทย์ไม่มีความผิด ให้ยกข้อกล่าวหาทั้งสองกรณี ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่มีความผิดด้วย เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนวินิจฉัยแล้วจึงส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการแพทยสภาผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองชุดเดิม สาเหตุที่เป็นชุดเดิม จะสามารถรู้เรื่องราวต่อเนื่องกันได้ถูกต้อง คณะอนุกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาสำนวนโดยละเอียด เห็นว่า คณะอนุกรรมการสอบสวนไม่ได้พิจารณาประเด็นสำคัญบางประเด็น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีแพทย์เห็นว่า การให้พยาบาลเป็นผู้เติมยาระงับความรู้สึกเข้าไขสันหลังเป็นการไม่สมควร แล้วพยาบาลย่อมไม่สามารถแก้ไขโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งในแง่กฎหมาย ไม่อนุญาตให้กระทำได้ เพราะเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งแพทย์จะต้องเป็นผู้กระทำเองตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕ เอกสารหมาย จ. ๒๔ ซึ่งมีการเข้าใจผิดกันมากว่า สามารถที่จะมอบให้พยาบาลกระทำได้ในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่ของรัฐบาล แต่กฎหมายอนุญาตเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ หรือสภากาชาดไทย หรือเทศบาล เป็นต้น นอกจากนั้น ตามกฎหมายนี้ การมอบอำนาจไม่มีการมอบอำนาจในเรื่องการให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลังแม้แต่ในโรงพยาบาลรัฐ โดยแพทยสภาได้เคยตอบข้อถามของโรงพยาบาลตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ว่า ไม่อนุญาตให้กระทำทุกกรณี ส่วนในเรื่องสูติแพทย์นั้น ผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองได้ชี้ว่า มีข้อที่ไม่ได้มาตรฐานบางประเด็น เป็นต้นว่า ผู้ป่วยรายนี้ตั้งครรภ์ที่แปด เคยคลอดแล้วสามครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่ เคยแท้งบุตรและต้องขูดมดลูกสี่ครั้ง ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นไม่ควรที่จะเร่งคลอด ยาเร่งคลอดเป็นยาโดยทั่วไปชื่อ ซินโตซินอน (Syntocinon) ประการที่ ๒ ขณะเร่งคลอด ปากมดลูกเปิดเพียงหนึ่งถึงสองเซนติเมตร ต่อมา มีการเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อเร่งคลอด น่าจะไม่เหมาะสม โดบยเฉพาะเมื่อสูติแพทย์มิได้อยู่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด สำหรับวิสัญญีแพทย์ หลังจากที่ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลังแล้ว วิสัญญีแพทย์ต้องไปให้ยาสลบแก่ผู้ป่วยอีกรายหนึ่งซึ่งทำการผ่าตัดใหญ่ใช้เวลาผ่าตัดนานหลายชั่วโมง ย่อมเป็นอันตรายแก่คนไข้ทั้งสอง ย่อมไม่มาตรฐานที่ดีที่สุดที่พึงจะกระทำ เมื่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ ๓ น่าจะมีความผิด จึงเสนอให้ส่งคณะอนุกรรมการสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นนี้ ส่วนจำเลยที่ ๔ เห็นว่า น่าจะมีความผิดเช่นกัน จึงเสนอให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม ดังนั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองสรุปความเห็นเสนอกรรมการแพทยสภา ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภาเห็นด้วยและให้สอบถามความเห็นราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์ในประเด็นที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเสนอ หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเดิมเข้าไปดำเนินการแล้วสรุปความเห็นยังยืนยันยกข้อกล่าวหาของจำเลยทุกคนเช่นเดิม เมื่อเรื่องผ่านมาถึง คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเห็นว่า ความเห็นของราชวิทยาลัยทั้งสองไม่ชัดเจนตรงประเด็น เช่น การเร่งคลอดตอบว่าทำได้ แต่ไม่ตอบว่าสมควรกระทำหรือไม่ ส่วนประเด็นวิสัญญีก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นที่กฎหมายไม่อนุญาตให้กระทำ อนุกรรมการบางท่านถึงกับมีความเห็นว่า ถ้าทั้งสองกรณีนี้ถูกต้องก็ต้องเปลี่ยนตำราแพทย์ใหม่ เพราะไม่สามารถจะสอนนักเรียนแพทย์ให้เหมือนเดิม จึงมีความเห็นให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคณะและเชิญผู้ที่วงการแพทย์ให้ความเชื่อถือ คือ นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานทั้งสองคณะ และรองเลขาธิการแพทยสภา คือ พันตำรวจเอก ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ ซึ่งรับผิดชอบด้านจริยธรรมในสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา เป็นเลขานุการทั้งสองคณะ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจได้ดำเนินการแล้วสรุปความเห็นยกข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งหมดเช่นเดียวกัน เมื่อผ่านเข้าสู่อนุกรรมการกลั่นกรองก็เห็นข้อบกพร่องของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เช่น ประเด็นเรื่องวิสัญญีแพทย์ไม่มีอำนาจมอบให้พยาบาลให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง ปรากฏหลักฐานว่า เลขานุการของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนต่อคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย นำกฎหมายฉบับหลังจากเกิดเหตุการณ์ไปเสนอ ทั้งที่ฉบับที่มีผลใช้บังคับใช้ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ รวมทั้งข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทยสภาในปี ๒๕๓๒ ด้วย จึงเสนอยืนยันไปว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิด โดยจำเลยที่ ๓ ควรได้รับโทษภาคทัณฑ์ ส่วนจำเลยที่ ๔ ควรได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือน เมื่อเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภาครั้งสุดท้าย ใช้วิธีโดยออกเสียงลงคะแนน ใช้กรรมการที่ประชุมทั้งคณะสามสิบหกคน วันดังกล่าว คณะกรรมการมาประชุมประมาณสามสิบคน ก่อนมีการลงมติ ได้มีการอภิปรายกันค่อนข้างเผ็ดร้อน โดยลงมติในเรื่องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ ก่อน ลงมติโดยเปิดเผยโดยการยกมือ ฝ่ายที่เห็นว่าผิดมีสิบสองเสียง ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ผิดมีสิบสามเสียง ต่อมา มีการลงมติเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ลงมติว่าไม่ผิดสิบสองเสียงต่อสิบเสียง ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองหลายคนมีความเห็นว่า คณะกรรมการแพทยสภาไม่ยืนอยู่ความถูกต้อง ไม่ทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้มีแพทยสภาขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่า กรรมการที่ลงคะแนนว่าไม่ผิดมีคนหนึ่งนามสกุลเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาและกรรมการคนนั้นยอมรับเป็นญาติกับผู้ที่ถูกกล่าวหาจริง (เป็นญาติกับจำเลยที่ ๔) รวมทั้งกรรมการท่านนี้เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองด้วย ในที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรอง ได้มีการโต้แย้งกันในเชิงเหตุผลและหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ และมีการขอคำยืนยันถึงสองครั้งว่า มติที่ว่าเป็นความผิดและสมควรลงโทษนั้นเป็นมติเอกฉันท์ โดยมารยาทและหลักการ อนุกรรมการคนนี้ไม่ควรกลับมติที่ประชุมกรรมการครั้งสุดท้าย กรรมการอีกคนหนึ่งที่ลงมติว่าไม่ผิดก็อยู่ในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและจำนนต่อเหตุผลในชั้นอนุกรรมการกลั่นกรองว่า กรณีทั้งสองเป็นความผิด สมควรลงโทษ พยานทั้งสองเชื่อว่า กรรมการโดยตำแหน่งหลายคนไม่ได้ศึกษาสำนวนโดยละเอียด เพราะสำนวนมีเอกสารมากมาย คณะกรรมการดังกล่าวมาในฐานะผู้แทนกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งบางคนไม่เคยประชุมแพทยสภามาก่อนแต่ก็ลงมติว่าไม่ผิด คณะอนุกรรมการกลั่นกลองจำนวนแปดคนจึงขอลาออกจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งจำนวนนี้รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งสามคน คือ นายแพทย์ประมวล, แพทย์หญิงกอบจิตต์, แพทย์หญิงเพลินจิตต์ รวมทั้งพยานทั้งสองด้วย เหตุที่พยานทั้งสองลาออกเนื่องจากเพื่อประท้วงคณะกรรมการแพทยสภาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สติคณะกรรมการแพทยสภา หลังจากพยานทั้งสองได้ลาออกจากการเป็นอนุกรรมการกลั่นกรองแล้ว นายแพทย์วิชัยได้ให้หนังสือพิมพ์สัมภาษณ์ตามเอกสารหมาย จ. ๕๓ โดยความรู้สึกส่วนตัวของนายแพทย์ชูชัย นายแพทย์บรรลุรู้สึกผิด โดยนายแพทย์บรรลุได้พูดถึงเรื่องนี้หลายครั้งว่า ตัดสินเท่าที่พยานหลักฐานมีอยู่ จะให้ทำอย่างไร จะเห็นว่า พยานโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ทั้งสองปากดังกล่าวเป็นกรรมการแพทยสภาและเป็นอนุกรรมการกลั่นกรองด้านจริยธรรม ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รับฟังเป็นพยานคนกลางได้เช่นกัน มติของคณะกรรมการแพทยสภาเกี่ยวกับเรื่องการกระทำของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าวมิใช่เป็นมติเสียงเอกฉันท์ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีความผิด ประกอบกับการพิจารณาของแพทยสภามีปัญหาโต้ถึยงกันมากว่า มติของแพทยสภาดังกล่าวถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ศาลเพียงแต่นำมารับฟังประกอบการพิจารณาเท่านั้นโดยไม่จำต้องถือตามมติแพทยสภาดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ได้รักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ หมวดที่ ๓ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อที่ ๑ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทอดทิ้งผู้ตายไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ หรือไม่ โดยจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่๓ และที่ ๔ และในขณะเดียวกัน จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ หากแต่จำเลยที่ ๓ หากแต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ประกอบวิชาชีพแพทย์ซึ่งเป็นวิชาชีพอิสระ โดยรายได้ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นั้นเรียกเก็บโดยตรงจากคนไข้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ค่าวิชาชีพแพทย์" ในใบเรียกเก็บเงินนั้นจะแยกค่าวิชาชีพแพทย์ออกไว้เป็นสัดส่วนต่างหาก จำเลยที่ ๑ เพียงทำหน้าที่รวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งค่าวิชาชีพแพทย์ไว้ในใบเรียกเก็บเงินในใบเดียวเพื่อความสะดวกและง่ายต่อการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากคนไข้เท่านั้น จำเลยที่๓ และที่ ๔ เพียงแต่เช่าสถานที่ของจำเลยที่ ๑ เพื่อประกอบวิชาชีพ นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ และที่ ๔ นั้นเป็นมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปถึงเรื่องตัวการตัวแทนนั้นเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องคดีนี้นั้น จำเลยที่ ๓ เบิกความว่า จำเลยที่ ๓ ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เป็นวิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลดังกล่าวมีแพทย์ด้านนี้ห้าคน นายแพทย์ชนะ บัวขำ เป็นหัวหน้า หากวิสัญญีแพทย์ไม่พอ โรงพยาลาลอาจเรียกแพทย์จากที่อื่นมาช่วยได้อีก และเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามค้านว่า ในกรณีที่จำเลยที่ ๓ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ได้เพราะมีกิจธุระ จำเลยที่ ๓ จะต้องแจ้งหัวหน้าวิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ขณะนั้น คือนายแพทย์ชนะ หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ เรียกจำเลยที่ ๓ ไปพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคดีและขอให้จำเลยที่ ๓ หยุดงานเพื่อรอให้เรื่องการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนเรียบร้อยเสียก่อน เดิมคณะแพทย์ลงความเห็นว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากแพ้ยาบล็อกหลัง ซึ่งตรงกับความประสงค์ของจำเลยที่ ๓ ดังนั้น จำเลยที่ ๓ จึงลาออกจากการเป็นวิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ ได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ ๓ ครบถ้วน และจำเลยที่ ๔ เบิกความว่าเมื่อปี ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๔ ลาออกจากราชการไปทำงานเป็นสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ สุขุมวิท และปัจจุบัน จำเลยที่ ๔ เป็นหัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรมของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ และเป็นประธานคณะกรรมการและอนุกรรมการอีกหลายคณะของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ การทำงานของจำเลยที่ ๔ ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ นั้นไม่ได้รับเงินเดือนประจำ โดยมีลักษณะเป็นที่ปรึกษาประจำโรงพยาบาล รับค่ารักษาเป็นราย ๆ ไป และจำเลยที่ ๔ เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามค้านว่า จำเลยที่ ๔ มีอำนาจที่จะว่ากล่าวตักเตือนสูตินรีแพทย์ และหากจำเลยที่ ๑ เห็นว่า สูตินรีแพทย์คนใดทำงานไม่ดีก็สามารถให้ออกงานได้ ในการทำงานของจำเลยที่ ๔ หากมีข้อสงสัย สามารถปรึกษานายแพทย์ธนิต หัพนานนท์ หัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรมของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ในขณะนั้น นายแพทย์ธนิตและจำเลยที่ ๒ มีอำนาจตักเตือนการทำงานของจำเลยที่ ๔ ได้ การหยุดงาน ในกรณีเป็นการหยุดงานไม่นาน สามารถฝากงานกับแพทย์คนอื่นได้ ส่วนกรณีหยุดงานนานเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องแจ้งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ทราบเพื่ออนุมัติ ต่อจากนั้น โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ จะปิดประกาศแจ้งให้ทราบว่า จำเลยที่ ๔ เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้แพทย์ที่รับฝากงานจากจำเลยที่ ๔ ทราบ การเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ส่วนการรับเงินค่าวิชาชีพ จำเลยที่ ๔ รับจากฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เช่นกัน จากคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าวจะเห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีอำนาจบังคับบัญชาวางกฎเกณฑ์ในการทำงานของแพทย์ พยาบาล และพนักงานทุกคนที่มาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีอำนาจบังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนเช่นกัน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ ๒ ได้ให้จำเลยที่ ๓ หยุดงาน นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยตามอัตราที่จำเลยที่ ๑ กำหนดโดยตรง ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ รับเงินจากจำเลยที่ ๑ มิได้รับจากผู้ป้วย แม้เงินที่ได้รับดังกล่าวจะเรียกว่าเป็นวิชาชีพแพทย์หรืออื่นใดก็ตามก็เป็นเงินที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้รับจากจำเลยที่ ๑ อันเนื่องมาจากการทำงานของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ที่ทำงานให้แก่จำเลยที่ ๑ นั่นเอง และจำเลยที่ ๑ ก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการทำงานของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ด้วย ทั้งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ ๓ ทำงานอยู่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เป็นวิสัญญีแพทย์นายแพทย์ชนะเป็นหัวหน้า ส่วนจำเลยที่ ๔ เป็นหัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรมของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ และเป็นประธานคณะกรรมการและอนุกรรมการอีกหลายคนของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุ มีนายแพทย์ธนิตเป็นหัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรม นายแพทย์ธนิตและจำเลยที่ ๒ มีอำนาจตักเตือนการทำงานของจำเลยที่ ๔ ได้ แสดงว่า ในการทำงานของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงมิใช่ผู้มาเช่าสถานที่ของจำเลยที่ ๑ เพื่อประกอบวิชาชีพตามที่จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีหลักฐานการเช่าสถานที่ของจำเลยที่ ๑ มาแสดง ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เมื่อจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในทางการที่จ้างเนื่องจากการให้การรักษา จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ และ ๔๒๕

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ที่๑ เป็นเงินสามล้านบาท และในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเงินคนละสองล้านบาทนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ ๑ กับผู้ตายต่างมีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๑ วรรคสอง ทางนำสืบของโจทก์ที่ ๑ ไม่ปรากฏว่า ผู้ตายมีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงโจทก์ที่ ๑ เป็นพิเศษหรือมากกว่าปกติอย่างใด จึงเห็นควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของโจทก์ที่ ๑ เป็นเงินสองล้านห้าแสนบาท และในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เท่ากันคนละสองล้านบาทนั้น เห็นว่าผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ บรรลุนิติภาวะเป็นเวลาประมาณแปดปีและสิบสามปีตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ ๔ เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ซึ่งผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต ดังนั้น ค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ แต่ละคนมีสิทธิได้รับทั้งหมดนั้นควรแตกต่างกันลดหลั่นกันไปตามระยะเวลาที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ที่ ๔ ได้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนสองล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่กำหนดให้แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เท่ากับที่กำหนดให้โจทก์ที่ ๔ นั้นสูงเกินไป และเห็นว่า ค่าขาดไร้อุปการะที่เหมาะสมสำหรับโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ จำนวนหนึ่งล้านบาทและหนึ่งล้านห้าแสนบาทตามลำดับ สำหรับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นที่โจทก์ที่ ๑ ใช้จ่ายไปนั้น เมื่อคำนึงถึงฐานานุรูปของผู้ตายและของโจทก์ที่ ๑ ผู้เป็นสามี รวมถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมประกอบด้วยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวนสามแสนบาทนั้นเหมาะสมแล้ว และค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์ที่ ๕ และที่ ๖ คนละห้าแสนบาทนั้นก็เหมาะสมเช่นกัน สรุปแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวนสองล้านแปดแสนบาท, แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวนหนึ่งล้านบาท, แก่โจทก์ที่ ๓ จำนวนหนึ่งล้านห้าแสนบาท, แก่โจทก์ที่ ๔ จำนวนสองล้านบาท, แก่โจทก์ที่ ๕ และที่ ๖ คนละจำนวนห้าแสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ ๑, ที่ ๓ และที่ ๔ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแทนโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์



ศุภชัย สมเจริญ


กรองเกียรติ คมสัน


โสภณ โรจน์อนนท์





ตราครุฑ
ตราครุฑ



นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ โจทก์ที่ ๑, โจทก์ที่ ๒ และทนายโจทก์ทั้งเจ็ดมาศาล ทนายจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ มอบฉันทะให้เสมียนมาแทน จำเลยที่ ๓ ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา

ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความที่มาศาลฟัง โดยถือว่า ได้อ่านให้จำเลยที่ ๓ ฟังวันนี้แล้ว

แจ้งการอ่าน

ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาภายในสามสิบวันนับแต่วันนี้ มิฉะนั้น อาจถูกบังคับยึดทรัพย์หรือถูกจับและจำขังตามกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้ออกคำบังคับให้ทราบ บังคับในสามสิบสามวัน ให้โจทก์ทั้งเจ็ดนำส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด

อ่านแล้ว



สุวิทย์ ทวีชุมพล จด/อ่าน


นลิน ญาณศิริ



บุรินทร์ เสรีโยธิน โจทก์ที่ ๑


บดินทร์ เสรีโยธิน โจทก์ที่ ๒


.....[13] ทนายโจทก์ทั้งเจ็ด


.....[13] เสมียนทนายจำเลยที่ ๑, ที่ ๔



เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ

แก้ไข
  1. "cardiopulmonary resuscitation" ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า "การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ"
  2. "sedation" ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า "การระงับ" หรือ "การทำให้สงบ" หมายถึง การระงับความหงุดหงิด (irritability) หรือภาวะกายใจไม่สงบ (agitation) โดยใช้ยาระงับประสาท (sedative drug)
  3. spinal หมายความว่า ไขสันหลัง
  4. epidural หมายความว่า เหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก
  5. caudal block หรือ caudal anaesthesia หมายถึง การให้ยาชาโดยฉีดเข้าไปทางปลายหางช่องบรรจุไขสันหลัง (caudal end of the spinal canal) ปัจจุบันหมดความนิยมแล้ว โดยเปลี่ยนไปให้ทางเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกมากกว่า
  6. total spinal block, complete spinal block, total spinal anaesthesia หรือ complete spinal anaesthesia เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากให้ยาชาเฉพาะที่เข้าไปในช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ในกะโหลกศีรษะ (intracranial subarachnoid space) แล้วเลินเล่อมิได้เฝ้าอยู่ดูแลเป็นต้น
  7. paralysis คือ อัมพาต
  8. endotracheal tube ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า "หลอดสอดคาท่อลม" เป็นหลอดสวน (catheter) ประเภทหนึ่ง
  9. ventilation คำเต็มคือ mechanical ventilation (การใช้เครื่องจักรช่วยหายใจ หรือการระบายลมด้วยเครื่องจักร) เป็นวิธีช่วยหายใจโดยอาศัยเครื่องจักร เช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator)
  10. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. ๒๕๓๐
  11. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๑๒ ว่า

    "ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรวิสัญญีพยาบาลจากกระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร หรือสถาบันการศึกษาของรัฐบาล ทำการให้ยาสลบได้เฉพาะการให้ยาสลบชนิด general anesthesia คือ การทำให้หมดความรู้สึกคัว แต่ไม่รวมถึง การให้ยาชาทางไขสันหลัง หรือการระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง ทั้งนี้ ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างใกล้ชิด"

  12. EDB ย่อมาจาก estimated date of birth (วันที่คะเนว่าจะคลอด)
  13. 13.0 13.1 อ่านไม่ออก




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"