คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๖๓/๒๕๔๘


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก โดยไม่ลดโทษ และไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า
พิพากษา





คำพิพากษา
 


เรื่อง   ความผิดต่อชีวิต

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๗๖๖๓/๒๕๔๘
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายพิพัฒน์ ลือประสิทธิ์สกุล จำเลย



โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๔ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ ศาลฎีการับวันที่ ๒๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลย โดยมิได้มีเจตนาฆ่า ได้ใช้กำลังกายชก ต่อย ตบ เตะ และใช้ของแข็งไม่มีคมตีทำร้ายนางวรรณี ลือประสิทธิ์สกุล ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาของจำเลย หลายครั้ง ถูกที่บริเวณลำตัว ใบหน้า และศีรษะ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐

จำเลยให้การรับสารภาพว่า ทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายจริง แต่กระทำไปโดยบันดาลโทสะ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) จำคุกสี่ปี คำให้การและคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกสองปี จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กระทำความผิดเนื่องจากอารมณ์โทสะที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง และได้รับผลจากการกระทำโดยสูญเสียผู้ตายซึ่งเป็นภริยาที่จำเลยรัก ประกอบกับจำเลยเป็นผู้มีการศึกษาสูงและเคยเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สามารถใช้ความรู้สอนนักศึกษาหรือปฏิบัติงานด้านวิชาการอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ และยังมีภาระต้องดูแลบุตรซึ่งอายุยังน้อย สมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนดสามปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ โดยกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ด้วยการใช้ความรู้ของจำเลยสอนนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปตามสถานศึกษาหรือสถานที่ต่าง ๆ ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร มีกำหนดห้าสิบชั่วโมง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก โดยไม่ลดโทษ และไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ความผิดที่จำเลยกระทำมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยเรียนจบระดับปริญญาเอก ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถานศึกษาระดับสูง เป็นคนระมัดระวัง ให้ความสำคัญต่อการรักษาชื่อเสียงเกียรติยศ อุปการะเลี้ยงดูผู้ตายซึ่งเป็นภริยาด้วยความรักใคร่ ให้เกียรติ และยกย่องเชิดชูตลอดมา โดยมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลบุตรซึ่งยังเล็ก ขับรถรับส่งบุตรไปเรียนหนังสือ และรับส่งจำเลยไปทำงาน วันเกิดเหตุ จำเลยไปสอนหนังสือที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นัดให้ผู้ตายขับรถไปรับในเวลา ๒๒ นาฬิกา แต่ผู้ตายละเลยต่อหน้าที่ ผู้ตายออกไปดื่มสุรา ปล่อยให้บุตรอยู่กับคนรับใช้ และไม่ขับรถไปรับจำเลยตามเวลานัด ปล่อยให้จำเลยยืนรออยู่นาน จนกระทั่งเวลา ๒๓:๔๐ นาฬิกา ผู้ตายจึงได้ขับรถไปรับจำเลยในอาการที่มึนเมาสุรา ไม่สามารถขับรถกลับบ้านได้ จำเลยจึงได้สอบถาม เมื่อผู้ตายตอบด้วยถ้อยคำที่จำเลยเห็นว่าไม่ชอบมาพากล จำเลยจึงเกิดความสงสัย จำเลยตั้งใจว่ากลับถึงบ้านแล้ว จะสอบถามจากคนรับใช้ว่าผู้ตายออกจากบ้านตั้งแต่แต่เวลาเท่าไร โดยไม่สนใจเรื่องรถถูกชนที่ผู้ตายพยายามจะพูดกับจำเลย กลับถึงบ้านแล้ว ผู้ตายซึ่งพูดจาวกวนสับสนได้เซ้าซี้เรื่องรถถูกชนอีก ทั้งผู้ตายยังล้มลง เพราะความเมาสุรา ทำให้จำเลยโกรธ เมื่อผู้ตายเดินเข้าไปหา จำเลยจึงได้ตบผู้ตายไปหนึ่งครั้ง พร้อมกับด่าว่าสั่งสอนผู้ตายไม่ให้ดื่มสุราจนเมามายเช่นนั้นอีก จากนั้น จำเลยได้ผละจากผู้ตายไปสอบถามคนรับใช้ แต่คนรับใช้ไม่ยอมบอกความจริง จำเลยจึงกลับไปซักไซ้ผู้ตาย ผู้ตายอ้างชื่อคนขายประกันคนหนึ่ง ซึ่งจำเลยโทรศัพท์ไปตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวไม่ได้กับผู้ตาย จำเลยจึงถามผู้ตายว่า เป็นอย่างไรกันแน่ ผู้ตายพูดกับจำเลยว่า เมื่อจำเลยรู้ความจริงแล้ว ผู้ตายก็จะพูดให้ฟัง ความจริงคนที่ผู้ตายไปพบคือนายวิชัย[1] ผู้ตายเคยไปพบมาแล้วสองครั้ง จำเลยโกรธ จึงตบผู้ตายอีกหนึ่งครั้ง แล้วจำเลยก็พูดตัดพ้อต่อว่าผู้ตายว่า ทำไมจึงได้ทำเช่นนั้น ถ้าไม่เห็นแก่จำเลย ก็ขอให้เห็นแก่บุตร ผู้ตายอ้างว่า เพราะผู้ตายเหงา จำเลยจึงโต้แย้งว่า ผู้ตายจะเหงาอะไร ตื่นเช้าต้องไปส่งบุตร กลางวันต้องไปส่งจำเลยไปทำงาน ที่บ้านก็มีคนอื่นอยู่หลายคน อยากได้อะไรขอให้บอก มีปัญหาอะไร ทำไมไม่พูดกัน ทำไมต้องทำอย่างนี้ จำเลยทุ่มเทให้ทุกอย่าง นายวิชัยให้อะไรผู้ตายบ้าง ทำอย่างนี้มันน่าเจ็บใจ แสดงว่าจำเลยคำนึงถึงครอบครัว และยังเห็นแก่ผู้ตายกับบุตร แม้จำเลยจะตบผู้ตายอีกหนึ่งครั้ง ก็เพราะความโกรธ ผู้ตายหันไปจ้องหน้าจำเลย พร้อมกับพูดว่า ทำไมผู้ตายจะทำเช่นนั้นไม่ได้ ถึงจำเลยจะห้ามตัวผู้ตายได้ แต่จำเลยก็ห้ามใจผู้ตายไม่ได้ เพราะผู้ตายกับนายวิชัยยังรักกันอยู่ ผู้ตายจะไปกับนายวิชัยก็เป็นสิทธิของผู้ตาย ในสถานการณ์เช่นนั้น สิ่งที่ผู้ตายทำและเรื่องที่ผู้ตายพูด ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ ย่อมจะทำให้จำเลย ซึ่งแม้จะได้รับการศึกษาสูง แต่ก็ยังเป็นปุถุชน เกิดความโกรธ และทำร้ายผู้ตายอีก แต่จำเลยก็เพียงใช้กำลังกายตบตีผู้ตาย ไม่ได้ใช้อาวุธ จนกระทั่งผู้ตายปัดป้อง และทำท่าจะต่อสู้ ซึ่งย่อมจะทำให้ความโกรธของจำเลยทวีเพิ่มมากขึ้น จำเลยจึงได้หยิบฉวยสิ่งของใกล้ตัว เช่น หนังสือ ขว้างปาผู้ตาย แม้ในที่สุด จำเลยจะใช้ของแข็งเป็นอาวุธตีผู้ตายที่บริเวณศีรษะ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เนื่องจากเลือดคั่งในสมอง และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยโหดร้าย ทั้งนี้ เพราะของแข็งที่จำเลยใช้เป็นอาวุธตีผู้ตาย คือ ร่มที่เสียอยู่กับถุงใส่ไม้กอล์ฟ ซึ่งจำเลยสามารถเลือกใช้เลือกใช้เป็นอาวุธร้ายแรงตีทำร้ายผู้ตายได้ แต่จำเลยก็ใช้ร่มตีผู้ตาย ไม่ได้ใช้ไม้กอล์ฟ เหตุที่ร่มที่จำเลยตีถูกศีรษะผู้ตาย ก็เพราะผู้ตายก้มหลบ หลังจากตีถูกศีรษะผู้ตายแล้ว จำเลยก็เพียงแต่ด่าว่าผู้ตาย และพูดรำพันถึงความหลัง แล้วโยนร่มทิ้ง จำเลยไม่ได้ตีผู้ตายอีก แสดงว่า จำเลยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย มิฉะนั้น จำเลยคงจะไม่โทรศัพท์ไปบอกให้นางสาวคูณ คูรัมย์ ญาติของผู้ตายทราบ และให้นางสาวคูณมาดูผู้ตาย การที่จำเลยไม่พาผู้ตายไปให้แพทย์ตรวจรักษาตั้งแต่แรก ก็เพราะนางสาวคูณมาดูแลผู้ตายแล้ว และจำเลยเข้าใจว่า ผู้ตายนิ่งเงียบไปด้วยความเมาสุรา เพราะก่อนถูกทำร้าย ผู้ตายได้ล้มลงไปเองเนื่องจากผู้ตายเมาสุรา เมื่อจำเลยทราบว่าผู้ตายมีอาการผิดปกติ จำเลยก็รีบพาผู้ตายส่งโรงพยาบาลทันที แสดงว่า จำเลยยังมีความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อผู้ตาย ประกอบกับจำเลยมีคุณงามความดีมาก่อน ไม่เคยได้รับโทษจำคุก และยังสามารถใช้วิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ทั้งจำเลยก็ให้การรับว่าได้ทำร้ายผู้ตายตลอดมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนกระทั่งในชั้นศาล ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เพราะคดีนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็น จึงสมควรให้โอกาสแก่จำเลย โดยลงโทษสถานเบา ลดโทษให้จำเลย และรอการลงโทษจำเลยไว้ เพื่อให้จำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี และเลี้ยงดูบุตรซึ่งยังเล็กต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจวางโทษจำคุกจำเลย มีกำหนดสี่ปี ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง และรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้สามปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ด้วยการใช้วิชาความรู้ที่จำเลยมีอยู่สอนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน



จรัส พวงมณี


นินนาท สาครรัตน์


สถิตย์ ทาวุฒิ



เชิงอรรถ แก้ไข

  1. ชื่อสกุลไม่ปรากฏในคำพิพากษา




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"