คำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๘๓-๓๔๘๕/๒๕๕๔


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 


เรื่อง ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ความผิดต่อชีวิต ประมาท ความผิดต่อร่างกาย ประมาท ลหุโทษ

ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ ๕๔๑/๒๕๕๔
คดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๘๓/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ร้อยตำรวจตรี ประกอบ คลี่สุข โจทก์ร่วมที่ ๑
นายเที่ยง นกยูง โจทก์ร่วมที่ ๒
นางกนกอร ปิณฑะบุตร โจทก์ร่วมที่ ๓
นายพัว แก้วละเอียด โจทก์ร่วมที่ ๔
นางคลี่ แก้วละเอียด โจทก์ร่วมที่ ๕
นางสุภาพ นาสมนึก โจทก์ร่วมที่ ๖
นางปรีดาวัน บึงกา โจทก์ร่วมที่ ๗
เด็กชายธันยบูรณ์ วัชระมโนกานต์ หรือเด็กชายกานต์นิธิ สุวินวงศ์เกษม โจทก์ร่วมที่ ๘
โดยนายวงศ์วริศ สุวินวงศ์เกษม หรือนายวรวิทย์ วัชระมโนกานต์
นายวุฒิชัย วิเศษศิริ โจทก์ร่วมที่ ๙
นางธนพร ชินเจริญกิจ โจทก์ร่วมที่ ๑๐
นายธงชัย กลีบเมฆ โจทก์ร่วมที่ ๑๑
นางพรรณี กลีบเมฆ โจทก์ร่วมที่ ๑๒
นางสาวศรัญญา วรวิชากุล โจทก์ร่วมที่ ๑๓
นายธีรวัจน์ โชติจรูญพันธ์ โจทก์ร่วมที่ ๑๔
นางสาวศศินันท์ ชาญการไถ โจทก์ร่วมที่ ๑๕
นายสนธยา บุญพรม โจทก์ร่วมที่ ๑๖
นายสุริศักดิ์ นิติภาวะชน โจทก์ร่วมที่ ๑๗
นางสาวกาญจนา นาคขวัญ โจทก์ร่วมที่ ๑๘
นายพีระพล หลำจำนง โจทก์ร่วมที่ ๑๙
นางมุ้ยเกียง ถนอมปัญญารักษ์ โจทก์ร่วมที่ ๒๐
นางสาวพนิญาดา หรือพนิดา โพธิ์ศรี โจทก์ร่วมที่ ๒๑
นางสาวนัทชา ชัยรำลึก โจทก์ร่วมที่ ๒๒
นางวิภาภรณ์ พรมราช โจทก์ร่วมที่ ๒๓
นายพรรณมิตร สินทรัพย์ โจทก์ร่วมที่ ๒๔
พลเอกพูลศักดิ์ นาคพัฒน์ โจทก์ร่วมที่ ๒๕
นางวรรณา ซำคง โจทก์ร่วมที่ ๒๖
นายจุนอิชิโร ซูซูกิ โจทก์ร่วมที่ ๒๗
นางมณี หวังทวีวงศ์ โจทก์ร่วมที่ ๒๘
นางแปลก บัวมาก โจทก์ร่วมที่ ๒๙
ระหว่าง นายอภิศักดิ์ เมฆทรัพย์ โจทก์ร่วมที่ ๓๐
นายธีรพล สิริอิทธิวงศ์ โจทก์ร่วมที่ ๓๑
นายอวยชัย อมรรัตน์โชติ โจทก์ร่วมที่ ๓๒
นายอัศวิน หวังทวีวงศ์ โจทก์ร่วมที่ ๓๓
นางสาวปรียานุช พึงลำภู โจทก์ร่วมที่ ๓๔
นางสาวธนัชชา สุนทรชัย โจทก์ร่วมที่ ๓๕
นางสาวศิริลักษณ์ อักษรวรรณ โจทก์ร่วมที่ ๓๖
นายแกะ ยงค์รัมย์ โจทก์ร่วมที่ ๓๗
นางเรียมทอง ยงค์รัมย์ โจทก์ร่วมที่ ๓๘
นายมหรรณพ กาญจนวิจิตร โจทก์ร่วมที่ ๓๙
นางวายุรี กาญจนวิจิตร โจทก์ร่วมที่ ๔๐
นายอนันต์ อาจนนลา โจทก์ร่วมที่ ๔๑
นางบุญมี อาจนนลา โจทก์ร่วมที่ ๔๒
นางสาวชัญญา ชูเกียรติ โจทก์ร่วมที่ ๔๓
นายสุพัฒน์ ศรีแจ่ม โจทก์ร่วมที่ ๔๔
นางสาวนงลักษณ์ รอดจันทร์ โจทก์ร่วมที่ ๔๕
นางสาวรัตนา แซ่ลิ้ม โจทก์ร่วมที่ ๔๖
นางชลอ น่วมเจริญ โจทก์ร่วมที่ ๔๗
นางเอสเตอร์ เยียน เชน เลาพิกานนท์ โจทก์ร่วมที่ ๔๘
นายเมธี การพจน์ โจทก์ร่วมที่ ๔๙
นางนิคม สมเนตร์ โจทก์ร่วมที่ ๕๐
นางชมภู มาพรม โจทก์ร่วมที่ ๕๑
นายพลสิทธิ์ วุฒิเลิศอนันต์ โจทก์ร่วมที่ ๕๒
นางฉวีวรรณ วงษ์ทวี โจทก์ร่วมที่ ๕๓
นายศักดิ์ ปัญญาทิพย์ โจทก์ร่วมที่ ๕๔
นางสาวศนิ กัณหสุวรรณ โจทก์ร่วมที่ ๕๕
นางอุไร หอมพิกุล โจทก์ร่วมที่ ๕๖
นางสาวศิริขวัญ แต้มดื่ม โจทก์ร่วมที่ ๕๗
นายธวัชชัย ศรีทุมมา จำเลยที่ ๑
นายพงษ์เทพ จินดา จำเลยที่ ๒
นายพุฒิพงศ์ ไวย์ลิกรี จำเลยที่ ๓
นายสราวุธ อะริยะ จำเลยที่ ๔


ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ ๖๔๘/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๘๔/๒๕๕๔


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง โจทก์ร่วมทั้ง ๕๗
นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ จำเลย


เรื่อง ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ความผิดต่อชีวิต ประมาท ความผิดต่อร่างกาย ประมาท ลหุโทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติสถานบริการ


ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๓๔๘๕/๒๕๕๔


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง โจทก์ร่วมทั้ง ๕๗
บริษัทโฟกัส ไลท์ ซาวด์ ซิสเท็ม จำกัด จำเลยที่ ๑
นายบุญชู เหล่าสีนาท จำเลยที่ ๒


เรื่อง ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ความผิดต่อชีวิต ประมาท ความผิดต่อร่างกาย ประมาท ลหุโทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติสถานบริการ



คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลสั่งรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ แต่เนื่องจากในการทำสำนวนการสอบสวน นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๖๔๘/๒๕๕๓ เป็นผู้ต้องหาที่ ๑ ส่วนจำเลยทั้งสี่ในคดีหมายเลข ดำที่ ๕๔๑/๒๕๕๓ และจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๕๓ เป็นผู้ต้องหาที่ ๒ ถึงที่ ๗ ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา จึงให้เรียกจำเลยในคดีหมายเลขดำ ที่ ๖๔๘/๒๕๕๓ ว่า จำเลยที่ ๑ และให้เรียกจำเลยทั้งสี่ในคดีหมายเลขดำที่ ๕๔๑/๒๕๕๓ ว่าจำเลยที่ ๒ ถึง ที่ ๕ และให้เรียกจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๕๓ ว่า จำเลยที่ ๖ และที่ ๗

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนในทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งหลบหนี ยังไม่ได้ตัวมาทำการสอบสวน เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการ ตามความเป็นจริง โดยมีจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพนักงานลูกจ้าง มีหน้าที่จัดการรับผิดชอบดูแลในการประกอบกิจการให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม โดยมีการแสดงดนตรี และการบันเทิงแก่ลูกค้า ภายในอาคาร เลขที่ ๒๓๕/๑๑ ระหว่างซอยเอกมัย ๙–๑๑ ถนนสุขุมวิท ๖๓ ใช้ชื่อทางการค้าว่า ซานติก้าผับ (Santika Pub) จำเลยที่ ๖ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๗ เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และเป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เมื่อระหว่างวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ต่อเนื่องกัน บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด กับจำเลยทั้งเจ็ด ต่างได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด กับจำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ จัดให้มีงานรื่นเริงให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม การแสดงดนตรีรวมทั้งการแสดงแสงสีเสียงในโอกาสฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในตัวอาคารซานติก้าผับ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานเป็นอาคารสาธารณะ แต่ขาดมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน โดยที่ภายในตัวอาคารไม่มีแบบแปลน แผนผังอาคารติดตั้งแสดงไว้ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ และไม่ได้ติดตั้งไฟฉุกเฉินให้มีจำนวนเพียงพอที่สามารถเปิดส่องสว่างแก่ลูกค้าเพื่อการหลบหนีออกจากตัวอาคารได้สะดวกและปลอดภัยในกรณีเกิดไฟไหม้หรือมีเหตุฉุกเฉินอย่างอื่น มีพื้นที่ให้บริการ ลูกค้าที่สามารถจุคนได้ไม่เกินจำนวน ๕๐๐ คน และมีประตูเข้าออก ซึ่งสามารถรองรับคนเข้าออกได้เพียงประมาณ ๕๐๐ คน ตามหลักมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งภายในด้วยวัสดุประเภทติดไฟง่าย เมื่อติดไฟแล้วจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และเกิดแก๊สพิษทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปหายใจไม่ออกและหมดสติ ซึ่งในการใช้งานอาคารดังกล่าว บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด กับจำเลยที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ จักต้องใช้ความระมัดระวัง ดำเนินการติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคาร ป้ายบอกทางหนีไฟและไฟ ฉุกเฉินภายในตัวอาคารให้เพียงพอ จักต้องไม่จัดให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการภายในตัว อาคารดังกล่าวเกินกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด กับ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ อาจใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย เช่นว่านั้นได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ อีกทั้งร่วมกันประชาสัมพันธ์ชักชวนจัดให้ลูกค้า ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ คน เข้าใช้บริการภายในอาคารที่เกิดเหตุ อันเป็นการเสี่ยงต่อการที่จะได้รับอันตรายจากเหตุเพลิงไหม้โดยง่าย นอกจากนี้ จำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนที่แท้จริงของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้บุคคลผู้มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการดังกล่าว เข้าไปในสถานบริการในระหว่างเวลาเปิดทำการ และไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยพลัน เมื่อพบมีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นนักร้องเพลงบนเวทีภายในอาคารที่เกิดเหตุ กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ ๕ ใช้พลุซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีลวดลายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑–๑.๕ นิ้วฟุต ยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร จำนวน ๑ ดอก จุดบริเวณหน้าเวที จนเกิดลูกไฟ พุ่งขึ้นไปชนเพดานเวทีซึ่งมีความสูงของเพดานเวทีเพียงประมาณ ๕ เมตร เป็นเหตุให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณเพดานเวทีและภายในตัวอาคารที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ ในวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ในฐานะส่วนตัว ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงแสงสีเสียง สำหรับการจัดงานรื่นเริง ได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยร่วมกันติดตั้งดอกไม้เพลิงที่ใช้จุดประกอบการแสดงแสงสีเสียงบนเวที (เอฟเฟ็กต์) ชนิดมีแรงระเบิดเผาไหม้รุนแรง เมื่อจุดไฟแล้วจะเกิดลูกไฟพุ่งขึ้นไปในแนวดิ่งจาก บริเวณเวทีที่ติดตั้งสูงกว่าระดับเพดานของอาคารที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ยังร่วมกันจุดเอฟเฟ็กต์ชนิดดังกล่าวที่ติดตั้งไว้บริเวณเวทีจนเกิดลูกไฟพุ่งขึ้นไปชน เพดานอาคารที่เกิดเหตุ อันเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็วภายในตัวอาคาร การกระทำโดยประมาทดังกล่าวข้างต้นของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด และจำเลยทั้งเจ็ด เป็นเหตุให้ลูกค้าผู้เข้าไปใช้บริการในอาคารที่เกิดเหตุถึงแก่ความตาย ๖๗ คน ได้รับอันตรายสาหัส ๔๕ คน ได้รับอันตรายแก่กาย ๗๒ คน และทรัพย์สินของลูกค้าผู้เข้าใช้บริการได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๑๖/๑, ๑๖/๓, ๒๗, ๒๘/๑ และพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๙, ๑๕, ๑๗ ลงโทษจำเลย ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐ และลงโทษจำเลย ที่ ๕ ถึงที่ ๗ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕, ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐

จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องดังต่อไปนี้

๑. ร้อยตำรวจตรี ประกอบ คลี่สุข บิดาของนางสาวอนุสรา คลี่สุข ผู้เสียหายกรณีบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

๒. นายเที่ยง นกยูง บิดาของนางรุ่งนภา ไทยประเสริฐ ผู้ตาย

๓. นางกนกอร ปิณฑะบุตร มารดาของนายทิวากร ปิณฑะบุตร ผู้ตาย

๔. นายพัว แก้วละเอียดและนางคลี่ แก้วละเอียด บิดาและมารดาของนายมีศักดิ์ แก้วละเอียด ผู้ตาย

๕. นางสุภาพ นาสมนึก มารดาของนางบุษยา นาสมนึก หรือนางอัมแพรวา บูรพาพิทักษ์ภูมิ หรือนางอัมแพรวา บูรพาพิธักษ์ภูมิ ผู้ตาย

๖. นางปรีดาวัน บึงกา มารดาของนางสาวพิมพ์ฤดี อินสุข ผู้ตาย

๗. นายวงศ์วริศ สุวินวงศ์เกษม หรือนายวรวิทย์ วัชระมโนกานต์ ผู้แทน โดยชอบธรรมของเด็กชายธันยบูรณ์ วัชระมโนกานต์ หรือเด็กชายกานต์นิธิ สุวินวงศ์เกษม ซึ่งเด็กชายดังกล่าวเป็นบุตรของนางสาวพิมพ์ฤดี อินสุข ผู้ตาย

๘. นายวุฒิชัย วิเศษศิริ ผู้เสียหาย

๙. นางธนพร ชินเจริญกิจ มารดาของนายสมิต ยินดีธรรมกิจ ผู้ตาย

๑๐. นายธงชัย กลีบเมฆ และนางพรรณี กลีบเมฆ บิดาและมารดาของนางสาวจิรภัทร กลีบเมฆ ผู้ตาย

๑๑. นางสาวศรัญญา วรวิชากุล ผู้เสียหาย

๑๒. นายธีรวัจน์ โชติจรูญพันธ์ ผู้เสียหาย

๑๓. นางสาวศศินันท์ ชาญการไถ ผู้เสียหาย

๑๔. นายสนธยา บุญพรม บิดาของนายเฉลิมชนม์ บุญพรม ผู้ตาย

๑๕. นายสุริศักดิ์ นิติภาวะชน ผู้เสียหาย

๑๖. นางสาวกาญจนา นาคขวัญ ผู้เสียหาย

๑๗. นายพีระพล หลำจำนงค์ บิดาของนางสาวพรพิมล หลำจำนงค์ ผู้ตาย

๑๘. นางมุ้ยเกียง ถนอมปัญญารักษ์ มารดาของนางสาววิภาวรรณ ถนอมปัญญารักษ์ ผู้ตาย

๑๙. นางสาวพนิญาดาหรือพนิดา โพธิ์ศรี ภริยาของนายอาทิตย์เทพ ปฐมานุรักษ์ ผู้ตาย

๒๐. นางสาวนัทชา ชัยรำลึก ผู้เสียหาย

๒๑. นางวิภาภรณ์ พรมราช มารดาของนางสาวปัญญา ไชยสิทธิ์ ผู้ตาย

๒๒. นายพรรณมิตร สินทรัพย์ บิดาของนางสาวบุษรินทร์ หรือบุศรินทร์ สินทรัพย์ ผู้ตาย

๒๓. พลเอกพูลศักดิ์ นาคพัฒน์ บิดาของนายวราวุธ นาคพัฒน์ ผู้เสียหายกรณีบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

๒๔. นางวรรณา ซำคง มารดาของนางสาววัลยา ซำคง ผู้ตาย

๒๕. นายจุนอิชิโร ซูซูกิ สามีของนางจรินทร์ ซูซูกิ ผู้ตาย

๒๖. นางมณี หวังทวีวงศ์ มารดาของนายทรงพล หวังทวีวงศ์ ผู้ตาย

๒๗. นางแปลก บัวมาก มารดาของนางสาวพรรณทิพา บัวมาก ผู้ตาย

๒๘. นายอภิศักดิ์ เมฆทรัพย์ บิดาของนางสาวสุมาลี เมฆทรัพย์ ผู้ตาย

๒๙. นายธีรพล สิริอิทธิวงศ์ ผู้เสียหาย

๓๐. นายอวยชัย อมรรัตน์โชติ บิดาของนางสาวพรเพ็ญ อมรรัตน์โชติ ผู้ตาย

๓๑. นายอัศวิน หวังทวีวงศ์ ผู้เสียหาย

๓๒. นางสาวปรียานุช พึงลำภู ผู้เสียหาย

๓๓. นางสาวธนัชชา สุนทรชัย ผู้เสียหาย

๓๔. นางสาวศิริลักษณ์ อักษรวรรณ ผู้เสียหาย

๓๕. นายแกะ ยงค์รัมย์ และนางเรียมทอง ยงค์รัมย์ บิดาและมารดาของนางสาววิไลรัฐ ยงค์รัมย์ ผู้ตาย

๓๖. นายมหรรณพ กาญจนวิจิตร และนางวายุรี กาญจนวิจิตร บิดาและมารดาของนางสาววีณา กาญจนวิจิตร ผู้ตาย

๓๗. นายอนันต์ อาจนนลา และนางบุญมี อาจนนลา บิดาและมารดาของนางสาวอนงค์ลักษณ์ อาจนนลา ผู้ตาย

๓๘. นางสาวชัญญา ชูเกียรติ ผู้เสียหาย

๓๙. นายสุพัฒน์ ศรีแจ่ม ผู้เสียหาย

๔๐. นางสาวนงลักษณ์ รอดจันทร์ ผู้เสียหาย

๔๑. นางสาวรัตนา แซ่ลิ้ม ผู้เสียหาย

๔๒. นางชลอ น่วมเจริญ มารดาของนายจักรชัย น่วมเจริญ ผู้ตาย

๔๓. นางเอสเตอร์ เยียน เชน เลาพิกานนท์ มารดาของนายมาร์ค เลาพิกานนท์ ผู้ตาย

๔๔. นายเมธี การพจน์ ผู้เสียหาย

๔๕. นางนิคม สมเนตร์ มารดาของนายสุรชัยหรือกษิดิส เหมือนเดช ผู้ตาย

๔๖. นางชมภู มาพรม มารดาของนางสาวจีระพันธ์ มาพรม ผู้ตาย

๔๗. นายพลสิทธิ์ วุฒิเลิศอนันต์ บิดาของนายชาญวิทย์ วุฒิเลิศอนันต์ ผู้ตาย

๔๘. นางฉวีวรรณ วงษ์ทวี มารดาของนางสาวเดือนเพ็ญ พรมทอง ผู้ตาย

๔๙. นายศักดิ์ ปัญญาทิพย์ บิดาของนางสาววราศรี ปัญญาทิพย์ ผู้ตาย

๕๐. นางสาวศนิ กัณหสุวรรณ ผู้เสียหาย

๕๑. นางอุไร หอมพิกุล มารดาของนางสาวกุลธิดา หอมพิกุล ผู้ตาย

๕๒. นางสาวศิริขวัญ แต้มดื่ม มารดาของนายสุรศักดิ์ สุวรรณวิเศษ ผู้ตาย

ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลอนุญาต โดยให้เรียกผู้ร้องลำดับที่ ๑ ถึงลำดับที่ ๓ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๑ ถึงโจทก์ร่วมที่ ๓, ลำดับที่ ๔ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ลำดับที่ ๕ ถึงลำดับที่ ๙ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๖ ถึงโจทก์ร่วมที่ ๑๐, ลำดับที่ ๑๐ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๑๑ และที่ ๑๒, ลำดับที่ ๑๑ ถึงลำดับที่ ๓๔ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๑๓ ถึงโจทก์ร่วมที่ ๓๖, ลำดับที่ ๓๕ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๓๗ และที่ ๓๘, ลำดับที่ ๓๖ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๓๙ และที่ ๔๐, ลำดับที่ ๓๗ เป็นโจทก์ร่วม ๔๑ และที่ ๔๒, ลำดับที่ ๓๘ ถึงลำดับที่ ๕๒ เป็นโจทก์ร่วมที่ ๔๓ ถึงโจทก์ร่วมที่ ๕๗

ก่อนสืบพยาน โจทก์ร่วมที่ ๑ ในฐานะบิดาของนางสาวอนุสรา คลี่สุข ผู้เสียหายกรณีบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ อ้างว่า นางสาวอนุสรา คลี่สุข ผู้เสียหาย ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ทั้งเจ็ดเป็นค่าตรวจรักษาและค่ายา จำนวน ๓,๕๑๐ บาท, ค่าทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง เดือนละ ๖,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๕ ปี รวมเป็นจำนวน ๓๖๐,๐๐๐ บาท, และค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ เดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๒๘ ปี รวมเป็นจำนวน ๔,๐๓๒,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ ๑ จำนวน ๔,๓๙๕,๕๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับ แต่วันที่ยื่นคำร้อง (วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ ในฐานะบิดาและมารดาของนายมีศักดิ์ แก้วละเอียด ผู้ตาย และโจทก์ร่วมที่ ๖ ในฐานะมารดาของนางบุษยา นาสมนึกหรือ นางอัมแพรวา บูรพาพิทักษ์ภูมิ หรือนางอัมแพรวา บูรพาพิธักษ์ภูมิ ผู้ตาย ต่างยื่น คำร้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ อ้างว่า โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด เป็นค่าปลงศพของผู้ตาย จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท, ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท หรือปีละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๒๙ ปี รวมเป็นจำนวน ๖,๙๖๐,๐๐๐ บาท, และค่าเสียหายทางด้านจิตใจ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนโจทก์ร่วมที่ ๖ ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน และเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเท่ากัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ จำนวน ๘,๐๑๐,๐๐๐ บาท และร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ ๖ จำนวน ๘,๐๑๐,๐๐๐ บาท

โจทก์ร่วมที่ ๗ ในฐานะมารดาของนางสาวพิมพ์ฤดี อินสุข ผู้ตาย และโจทก์ร่วมที่ ๘ ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ อ้างว่า โจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด เป็นค่าปลงศพของผู้ตาย จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท, ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูสำหรับโจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ รายละ ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน หรือรายละ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี เป็นระยะเวลา ๓๔ ปี รวมเป็นค่าขาดไร้อุปาการะเลี้ยงดูจำนวน ๔,๐๘๐,๐๐๐ บาท, อีกทั้งบุตรของผู้ตายได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะในด้านการศึกษาอีก จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท, และค่าเสียหายทางด้านจิตใจ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ จำนวน ๖,๑๓๐,๐๐๐ บาท

โจทก์ร่วมที่ ๙ ในฐานะผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ อ้างว่า โจทก์ร่วมที่ ๙ ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด เป็นค่ารักษาพยาบาล จำนวน ๗๕,๐๙๖ บาท, ค่าพาหนะในการเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จำนวน ๒ เดือน เป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท และของมารดาที่ต้องหยุดงานมาดูแลโจทก์ร่วมที่ ๙ จำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท รวมค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ทั้งสิ้นจำนวน ๔๒,๐๐๐ บาท, และค่าเสื่อมสุขภาพร่างกายและทนทุกข์ทรมาน จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ ๙ จำนวน ๖๔๗,๐๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมที่ ๑ และโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๙ เรียกร้อง มิได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๑ โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ โจทก์ร่วมที่ ๖ และโจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๑ เนื่องจากโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยที่ ๓ ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๑๕๑๘/๒๕๕๒, ผบ. ๑๔๓๕/๒๕๕๒ และ ผบ. ๑๔๖๗/๒๕๕๒ ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้วตามลำดับ เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากเหตุเพลิงไหม้ร้านซานติก้าผับ อันเป็นเหตุอย่างเดียวกับคดีนี้ การที่โจทก์ร่วมดังกล่าวยื่นคำร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ถือเป็นคำฟ้องซึ่งกฎหมายต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมดังกล่าวยื่นคำฟ้อง เรียกค่าสินไหมทดแทนในเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๓ ดังนั้น คำร้องของโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๘ จึงเป็นฟ้องซ้อน สำหรับค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ร่วมที่ ๑ และโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๙ เรียกร้องมานั้น สูงเกินจริง และค่าเสียหายบางรายการเป็นค่าเสียหายในอนาคต อีกทั้งบางรายการก็เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานต่าง ๆ มารับรอง ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายและดอกเบี้ยใด ๆ ตามที่โจทก์ร่วมดังกล่าวเรียกร้อง ขอให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มิได้กระทำประมาทหรือกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ ๑, โจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๙ ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้แต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ และค่าเสียหายใด ๆ ตามที่โจทก์ร่วมดังกล่าวเรียกร้องมา อีกทั้งค่าเสียหายนั้นก็สูงเกินจริง และค่าขาดไร้อุปการะเป็นค่าเสียหายในอนาคตที่สูงเกินส่วน ส่วนค่าเสียหายทางด้านจิตใจนั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทราบเหตุเพลิงไหม้เท่านั้น ไม่ใช่ความเสียหายตามกฎหมายที่ให้สิทธิโจทก์ร่วมดังกล่าวเรียกค่าเสียหายได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ไม่ได้กระทำการประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ ๑, โจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๙ ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้แต่อย่างใด โจทก์ร่วมดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหายจริง ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ร่วมดังกล่าวเรียกร้องมานั้น เป็นค่าเสียหายที่สูงเกินส่วน เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานต่าง ๆ มารับรอง ดังนั้น จำเลยที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายและดอกเบี้ยใด ๆ ต่อโจทก์ร่วมดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ให้การว่า บุตรของโจทก์ร่วมที่ ๑, บุตรของโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๗ และโจทก์ร่วมที่ ๙ สมัครใจเข้าไปใช้บริการในร้านซานติก้าผับ ย่อมทราบถึงสภาพแวดล้อมที่เบียดเสียดและแออัดของผู้คนจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ในคดีนี้ นับได้ว่ามีส่วนผิดอยู่ด้วย ดังนั้น บุคคลดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็น ผู้เสียหาย บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลดังกล่าวไม่อาจร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนั้น ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่ โจทก์ร่วมดังกล่าวเรียกร้องมาสูงเกินจริง และเป็นการอนุมานขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ตามที่โจทก์ร่วม ดังกล่าวเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ร่วมที่ ๑ ที่ ๙ ที่ ๑๙ ที่ ๓๑ และที่ ๔๕ ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ และโจทก์ร่วมที่ ๑ และที่ ๙ ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ คู่ความทุกฝ่ายไม่คัดค้าน ศาลอนุญาต

ทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งหมดนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๗ คน จำเลยที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๑๘๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๕,๐๐๐ บาท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๒๔๐ หุ้น บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม โดยมีการแสดงดนตรี และการบันเทิงแก่ลูกค้า ใช้ชื่อทางการค้าว่า ซานติก้าผับ (Santika Pub) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๕/๑๑ ระหว่างซอยเอกมัย ๙–๑๑ ถนนสุขุมวิท ๖๓ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการ โดยให้นายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งมิได้ถือหุ้นบริษัทแม้แต่เพียงหุ้นเดียว เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนจำเลยที่ ๑ ครั้นวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จดทะเบียนเพิ่มทุน บริษัทดังกล่าวจึงมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๓๑ คน จำเลยที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๑๒๙ หุ้น ราคาหุ้นละ ๕,๐๐๐ บาท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๔๐๐ หุ้น ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยปกติ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัดจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นประมาณปีละ ๓ ถึง ๔ ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะเป็นประธานการประชุม การประชุมครั้งหลังสุดของบริษัทในเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ ก่อนเกิดเหตุนั้น ได้มีการชี้แจงเรื่องสถานะทางการเงินของทางบริษัทว่า ประสบปัญหาขาดทุน ประกอบกับเจ้าของที่ดินของร้านซานติก้าผับต้องการที่ดินดังกล่าวคืน ผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวจึงมีมติปิดกิจการร้านซานติก้าผับลง ต่อมา วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการปิดกิจการของร้านซานติก้าผับ พร้อมกับจัดงานฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยมีจำเลยที่ ๑ กับพวกได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ต่อมา วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ได้มีลูกค้าจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ คนเข้าไปใช้บริการในร้านซานติก้าผับ ครั้นเวลาประมาณ ๒๓:๔๕ นาฬิกา ร้านซานติก้าผับได้มีการแจกแท่งไฟเย็นให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาเที่ยว จากนั้น พิธีกรบนเวทีได้ประกาศว่า ทางหน้าร้านด้านนอกจะมีการจุดพลุ โดยจุดจากอาคารพาณิชย์ร้างที่อยู่ริมถนนเอกมัย ๖๓ หน้าร้านซานติก้าผับ ต่อมา ใกล้เวลาเที่ยงคืน พิธีกรบนเวทีได้ประกาศให้ลูกค้าที่ได้รับแท่งไฟเย็นให้ทำการจุดไฟเย็น พร้อมกับมีการนับถอยหลัง เมื่อนับถึงศูนย์ ซึ่งหมายถึงเข้าสู่ปีใหม่ จากนั้น มีการจุดริบบิ้นกระดาษที่บริเวณหน้าเวทีและบนเพดานของร้าน ทำให้ริบบิ้นกระดาษโปรยไปทั่วทั้งร้าน ขณะเดียวกัน พิธีกรบนเวทีได้ประกาศว่า ทางด้านนอกของร้านมีการจุดพลุอยู่ ใครสนใจก็ให้ออกไปดู หลังจากนั้น พิธีกรก็ลงจากเวที และมีการแสดงของวงดนตรีเบิร์น โดยพยานกลุ่มแรกเห็นนักร้องขึ้นมาร้องเพลงจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ ๐:๒๐ นาฬิกาของวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ นักร้องได้ร้องเพลงอิตส์มายไลฟ์ (It’s My Life) ขณะเพลงดังกล่าวใกล้จะจบ โดยร้องประโยคสุดท้ายว่า “อิตส์มายไลฟ์” ก็มีเอฟเฟ็กต์ (effect) เกิดขึ้นบนเวทีหลายจุด แต่มีเอฟเฟ็กต์อันหนึ่งที่อยู่ระหว่างด้านหลังของนักร้องกับหน้ากลองชุดได้ปล่อยประกายไฟหลากสีพุ่งในแนวตั้งสูงจรดเพดาน พร้อมกับวงดนตรีเริ่มเล่นเพลง “อะโบเดเบย์”[1] เมื่อวงดนตรีบรรเลงถึงกลางเพลงดังกล่าว ได้มีสะเก็ดไฟร่วงลงมาจากเพดานบนเวที จากนั้น มองขึ้นไปยังเพดานดังกล่าวเห็นมีเปลวไฟลุกไหม้บริเวณเพดานบนเวทีเยื้องไปทางด้านขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเวที) ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๑/๘๘ ภาพที่ ๑๕๑ สักครู่ก็ลุกลามกระจายออกไปทั้งสองด้านซ้ายขวา จนเกิดเพลิงไหม้ร้านซานติก้าผับ ส่วนพยานอีกกลุ่มหนึ่งเห็นจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นนักร้อง และนักร้องชาวต่างชาติ กำลังร้องเพลง “อิตส์มายไลฟ์” และเห็นจำเลยที่ ๕ เดินจากหน้าเวทีไปหลังเวทีในลักษณะสลับไปสลับมา และจำเลยที่ ๕ ก็เดินไปบริเวณหน้ากลองชุด แล้ววางกระบอกซึ่งพยานกลุ่มนี้เข้าใจว่าเป็นพลุตรงบริเวณพื้นเวที จากนั้น จำเลยที่ ๕ ก็ร้องเพลง “อิตส์มายไลฟ์” ต่อจนจบ แต่ดนตรีเพลง “อิตส์มายไลฟ์” ยังคงบรรเลงอยู่ จากนั้น จำเลยที่ ๕ เดินไปยังบริเวณ ที่วางกระบอกดังกล่าว แล้วใช้ไฟแช็กจุดชนวน ทำให้พลุติดไฟและพุ่งขึ้นไปชนเพดานและติดไฟลุกไหม้ หลังจากนั้น ก็มีนักร้องซึ่งสวมเสื้อแขนยาวสีขาวขึ้นเวทีมาอีกคน และได้ร้องเพลง “อะโบเดเบย์” ต่อ สักครู่หนึ่งก็เกิดเพลิงไหม้ร้านซานติก้าผับ หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ประสานงานให้กองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ต่อมา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะเสนอขอโอนคดีนี้เป็นคดีพิเศษ โดยให้การสอบสวนขึ้นตรงต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระหว่างเสนอเรื่องขอโอนคดี กระทรวงยุติธรรมจึงมีคำสั่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จึงทำให้มีหน่วยงานที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน ๒ หน่วยงาน คือ กองพิสูจน์หลักฐานตามการประสานงานของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตามคำสั่งของกระทรวงยุติธรรม ครั้นต่อมาภายหลัง ได้มีการเสนอเรื่องให้คณะ กรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ผลปรากฏว่าคณะกรรมการดังกล่าวมีมติว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีพิเศษ ดังนี้ อำนาจการสอบสวนจึงขึ้นตรงต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ต่อมาเมื่อมีการตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้ว กองพิสูจน์หลักฐานมีความเห็นว่า จุดต้นเพลิงน่าจะเกิดจากเหตุไฟไหม้ขึ้นก่อนตรงบริเวณเหนือซุ้มโฟมหน้าเวทีด้านขวาเมื่อหันหน้าเข้าหาเวที โดยเกิดจากการระเบิดแตกออกของดอกไม้เพลิง (พลุ) ซึ่งทำให้มีประกายไฟและความร้อนเกิดขึ้น เมื่อไปถูกกับโฟมที่ใช้ในการตกแต่งหรือโฟมที่ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาร้านแล้ว ทำให้โฟมดังกล่าวลุกไหม้ขึ้น แล้วหยดเป็นลูกไฟ และลุกลามไหม้อย่างรวดเร็ว จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๖๗ คน ซึ่งผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีจำนวน ๒ คน ได้รับอันตรายสาหัส ๔๕ คน ได้รับอันตรายแก่กาย ๗๒ คน และทรัพย์สินของลูกค้าผู้เข้าใช้บริการได้รับความเสียหาย ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๑ ถึงแผ่นที่ ๙๐ นอกจากนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังตรวจพบกล้องวิดีโอที่ถูกเพลิงไหม้บริเวณเคาน์เตอร์ควบคุมเสียงในที่เกิดเหตุ ซึ่งกล้องวิดีโอดังกล่าวเป็นกล้องวิดีโอที่บันทึกภาพการแสดงดนตรีบนเวทีในคืนเกิดเหตุ ปรากฏว่า ตัวกล้องวีดีโอบิดเบี้ยว และพบม้วนเทปวีดีโออยู่ในกล้อง จำนวน ๑ ม้วน แต่ม้วนเทปอยู่ในสภาพบุบสลายบางส่วน ไม่สามารถเปิดดูได้ จึงได้ทำการนำเนื้อเทปออกมาใส่ตลับเทปม้วนใหม่ และนำข้อมูลภาพในเนื้อเทปนำมาบันทึกในแผ่นดีวีดี แล้วนำไปเปิดโดยใช้โปรแกรม Windows Media Player ตามแผ่นดีวีดี เอกสารหมาย จ. ๔๗ (เหมือนกับแผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย ล. ๙) และตรวจพบสารเสพติดโคเคนบริเวณโซฟาภายในห้องพักนักแสดง และพบสารเสพติดโคเคนที่ตู้ ๔ ลิ้นชัก ยี่ห้อ Pilot ภายในห้องฝ่ายสำนักงาน ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๙๑ ถึงแผ่นที่ ๒๓๘ ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ขอ หมายจับจำเลยที่ ๕ ต่อศาล และจับกุมตัวจำเลยที่ ๕ ได้ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. ๗๔ ส่วนจำเลยที่เหลือเข้ามอบตัว ชั้นสอบสวน แจ้งข้อหาจำเลยที่ ๑ ว่า ร่วมกันกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และร่วมกันเป็นผู้ได้รับอนุญาตตั้งสถานบริการ ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้นเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำงานตามกฎหมาย และร่วมกัน ยินยอม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ แจ้งข้อหาจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ว่า กระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การปฏิเสธ แจ้งข้อหาจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ว่า กระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ และกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ให้การปฏิเสธ สำหรับนายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้ถูกออกหมายจับไว้ แต่ยังจับตัวไม่ได้

สำหรับค่าเสียหายโจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับความเสียหาย เป็นค่าปลงศพของผู้ตาย จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท, ค่าขาดไร้อุปการะ เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท หรือปีละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๒๙ ปี รวมเป็นจำนวน ๖,๙๖๐,๐๐๐ บาท, และค่าเสียหายทางด้านจิตใจ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท, รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๘,๐๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนโจทก์ร่วมที่ ๖ ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน และเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเท่ากัน สำหรับโจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ ได้รับความเสียหาย เป็นค่าปลงศพของผู้ตาย จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท, ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูสำหรับโจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ รายละ ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน หรือรายละ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี เป็นระยะเวลา ๓๔ ปี รวมเป็นค่าขาดไร้อุปาการะเลี้ยงดูจำนวน ๔,๐๘๐,๐๐๐ บาท อีกทั้ง บุตรของ ผู้ตายได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะในด้านการศึกษาอีก จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายทางด้านจิตใจ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็น เงินทั้งสิ้นจำนวน ๖,๑๓๐,๐๐๐ บาท

จำเลยทั้งเจ็ดนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๗ คน จำเลยที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๑๘๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๕,๐๐๐ บาท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๒๔๐ หุ้น บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม มีการแสดงดนตรีและการบันเทิงแก่ลูกค้า โดยเปิดทำการตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙:๐๐ นาฬิกาถึงเวลาประมาณ ๐๒:๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ใช้ชื่อทางการค้าว่า ซานติก้าผับ (Santika Pub) ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการ โดยให้นายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งมิได้ถือหุ้นบริษัทแม้แต่เพียงหุ้นเดียว เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนจำเลยที่ ๑ ครั้นวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จดทะเบียนเพิ่มทุน บริษัทดังกล่าวจึงมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๓๑ คน จำเลยที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๑๒๙ หุ้น ราคาหุ้นละ ๕,๐๐๐ บาท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๔๐๐ หุ้น ซึ่งจำเลย ที่ ๑ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท แต่จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารงาน ผู้มีอำนาจในการบริหารงาน คือ นายสุริยา เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการปิดกิจการของร้านซานติก้าผับ พร้อมกับจัดงานฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงได้เชิญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน ๓ คน คือ จำเลยที่ ๑, นายรุ่งยศ จันทภาษา และนายณัฐพล วงศ์มณีวรรณ เพื่อเป็นเกียรติในการร่วมแถลงข่าว โดยให้จำเลยที่ ๑ กล่าวขอบคุณสื่อมวลชน นายรุ่งยศกล่าวเกี่ยวกับประวัติของร้านซานติก้าผับ ส่วนนายณัฐพลกล่าวเกี่ยวกับอะไรจำไม่ได้ และในวันดังกล่าวนายสุริยาก็อยู่ด้วย แต่นายสุริยาไม่ได้ร่วมแถลงข่าวด้วย สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพนักงานลูกจ้าง มีตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการขาย, ตำแหน่งพนักงานฝ่ายบันเทิง และตำแหน่งพนักงานฝ่ายการตลาด ตามลำดับ จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเด็กเสิร์ฟ, กัปตัน, บาร์เทนเดอร์ โดยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งโปรโมชั่นและบริการเครื่องดื่มให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ดูแลในแผนกภาพและเสียง จำเลยที่ ๔ มีหน้าที่ประสานงานกับผู้ที่ติดต่อขอใช้บริการของร้านในเวลากลางวัน และประสานงานเกี่ยวกับหนังสือลงโฆษณา ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ได้ไปเที่ยวที่ร้านซานติก้าผับโดยนั่งร่วมรับประทานอาหารและดื่มสุรากับเพื่อนที่โต๊ะตั้งอยู่บริเวณระเบียงด้านนอกของร้าน และในวันนั้น มีลูกค้ามาใช้บริการประมาณ ๕๐๐ คน ครั้น เมื่อมีการนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่วันปีใหม่เสร็จแล้ว พิธีกรบนเวทีแจ้งให้ทราบว่า มีการจุดพลุอยู่ภายนอกร้าน จำเลยที่ ๑ จึงออกไปดูพลุนานประมาณ ๕ นาที เพื่อนของจำเลยที่ ๑ ได้โทรศัพท์ให้จำเลยที่ ๑ ไปรับเพื่อนที่บริเวณลานจอดรถด้านหลังของร้าน จำเลยที่ ๑ จึงไปรับเพื่อนที่บริเวณดังกล่าว สักครู่หนึ่ง มีลูกค้าวิ่งออกจากร้านซานติก้าผับ พร้อมตะโกนว่า “ไฟไหม้” จำเลยที่ ๑ จึงวิ่งเข้าไปทางด้านหลังของร้าน แล้วหยิบถังดับเพลิงเพื่อดับไฟ พร้อมตะโกนบอกผู้อื่นให้ช่วยกันดับไฟ และได้มีการช่วยเหลือคนบางส่วน หลังจากนั้น จำเลยที่ ๑ มีอาการไม่ดี เพราะได้สูดดมควันไฟไปมาก จำเลยที่ ๑ จึงได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จากนั้น ก็กลับบ้าน ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ สำหรับจำเลยที่ ๕ เป็นนักร้องนำในวงดนตรี เบิร์น ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ ๕ ไม่ได้จุดพลุในระหว่างร้องเพลงตามที่นางสาวเบญจรัตน์กล่าวหา และไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดเพลิงไหม้ โดยอ้างแผ่นดีวีดีที่ได้มาจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตามเอกสารหมาย ล. ๙ มาเป็นพยาน ส่วนจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ นั้น จำเลยที่ ๖ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๗ เป็นกรรมการผู้แทน นิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ ๗ ได้รับการว่าจ้างในนามส่วนตัวจากบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงแสงสีเสียงสำหรับการจัดงานรื่นเริงในร้านซานติก้าผับ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา จำเลยที่ ๗ กับพวกได้ทำการติดตั้งแสงสีเสียงและเอฟเฟ็กต์ที่บริเวณเวทีในร้านซานติก้าผับ หลังจากที่ติดตั้งและตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกา จำเลยที่ ๗ กับพวกก็กลับไป ส่วนการจุดเอฟเฟ็กต์ ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานในร้านซานติก้าผับ สำหรับเอฟเฟ็กต์ที่ติดตั้งนั้นได้ติดตั้งที่หน้ากลองชุด เป็นเอฟเฟ็กต์ประเภทซิลเวอร์เจ็ต จำนวน ๑ กระบอก และเป็นไพโรเทคนิคบอมบ์ จำนวน ๖ กระบอก ซึ่งเอฟเฟ็กต์ประเภทซิลเวอร์เจ็ต เมื่อจุดแล้วจะพุ่งขึ้นไม่สูง มีไฟสวยงาม ใช้มืออังได้ ไม่เกิดความร้อน ส่วนเอฟเฟ็กต์ประเภทไพโรเทคนิคบอมบ์ เมื่อจุดแล้วมีแสงไฟสว่างเพียงแวบเดียว และมีเสียงดังเท่านั้น กรณีเอฟเฟ็กต์ดังกล่าวจึงไม่ใช่สาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ อีกทั้งมีลูกค้าที่เข้าไปเที่ยว เห็นเหตุการณ์ในช่วงที่นับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ มีการจุดไฟเย็น เห็นลูกค้าที่เข้ามาเที่ยวไม่ทราบว่าเป็นใครโยนแท่งไฟเย็นขึ้นไปขึ้นฟ้า และจากภาพที่ถ่ายได้ตามแผ่นดีวีดีเอกสารหมาย จ. ๓๓ เห็นมีการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ของลูกค้าที่เข้ามาเที่ยวบริเวณชั้นลอยในร้านซานติก้าผับ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ก็ได้ นอกจากนี้ แผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย จ. ๔๗ ยังมีการตกแต่งและตัดต่อภาพอีกด้วย หลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ กับผู้ถือหุ้นบางรายของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ทายาทของผู้เสียชีวิตจำนวน ๕๒ ราย และผู้บาดเจ็บจำนวน ๑๕๘ ราย รวมเป็นเงิน ๓,๓๙๔,๘๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล. ๒๖ และ ล. ๒๗

พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งหมด และจำเลยทั้งเจ็ดโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๗ คน จำเลยที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๑๘๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๕,๐๐๐ บาท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๒๔๐ หุ้น บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม มีการแสดงดนตรี และการบันเทิงแก่ลูกค้า โดยเปิดทำการตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙:๐๐ นาฬิกา ถึง เวลาประมาณ ๐๒:๐๐ นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ใช้ชื่อทางการค้าว่า ซานติก้าผับ (Santika Pub) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๕/๑๑ ระหว่างซอยเอกมัย ๙–๑๑ ถนนสุขุมวิท ๖๓ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการ โดยให้นายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งมิได้ถือหุ้นบริษัทแม้แต่เพียงหุ้นเดียว เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนจำเลยที่ ๑ ครั้นวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จดทะเบียนเพิ่มทุน บริษัทดังกล่าวจึงมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน ๓๑ คน จำเลยที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๑๒๙ หุ้น ราคาหุ้นละ ๕,๐๐๐ บาท จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๔๐๐ หุ้น ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวมีจำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพนักงานลูกจ้างของร้านซานติก้าผับ จำเลยที่ ๖ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๗ เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้ว่าจ้างโดยติดต่อกับจำเลยที่ ๗ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงแสงสีเสียงสำหรับการจัดงานรื่นเริงในร้านซานติก้าผับ เมื่อประมาณเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จัดการประชุมผู้ถือหุ้น และมีการชี้แจงเรื่องสถานะทางการเงินของทางบริษัทว่า ประสบปัญหาขาดทุน ประกอบกับเจ้าของที่ดินของร้านซานติก้าผับต้องการที่ดินดังกล่าวคืน ผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวจึงมีมติปิดกิจการร้านซานติก้าผับลง ต่อมา วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการปิดกิจการของร้านซานติก้าผับ พร้อมกับจัดงานฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยมีจำเลยที่ ๑ กับพวกได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ครั้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ร้านซานติก้าผับได้จัดให้มีงานรื่นเริงตามที่ได้แถลงข่าว ต่อมา วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๐:๒๐ นาฬิกา ร้านซานติก้าผับได้เกิดเพลิงลุกไหม้ เป็นเหตุให้ลูกค้าผู้เข้าไปใช้บริการในอาคารที่เกิดเหตุถึงแก่ความตายจำนวน ๖๗ คน ซึ่งผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีจำนวน ๒ คน ได้รับอันตรายสาหัสจำนวน ๔๕ คน ได้รับอันตรายแก่กายจำนวน ๗๒ คน และทรัพย์สินของลูกค้าผู้เข้าใช้บริการได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ประสานงานให้กองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ต่อมา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะเสนอขอโอนคดีนี้เป็นคดีพิเศษ โดยให้การสอบสวนขึ้นตรงต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระหว่างเสนอเรื่องขอโอนคดี กระทรวงยุติธรรมจึงมีคำสั่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จึงทำให้มีหน่วยงานที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน ๒ หน่วยงาน คือ กองพิสูจน์หลักฐานตามการประสานงานของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตามคำสั่งของกระทรวงยุติธรรม ครั้นต่อมาภายหลัง ได้มีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ผลปรากฏว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีมติว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีพิเศษ ดังนี้ อำนาจการสอบสวนจึงขึ้นตรงต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ต่อมาเมื่อมีการตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้ว กองพิสูจน์หลักฐานได้ทำรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตามเอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๑ ถึงแผ่นที่ ๙๐ ส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังตรวจพบพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกคือ กล้องวิดีโอที่ถูกเพลิงไหม้บริเวณเคาน์เตอร์ควบคุมเสียงในที่เกิดเหตุ ซึ่งกล้องวิดีโอดังกล่าวเป็นกล้องวิดีโอที่บันทึกภาพการแสดงดนตรีบนเวทีในคืนเกิดเหตุ ปรากฏว่า ตัวกล้องวีดีโอบิดเบี้ยว และพบม้วนเทปวีดีโออยู่ในกล้องจำนวน ๑ ม้วน แต่ม้วนเทปอยู่ในสภาพบุบสลายบางส่วน ไม่สามารถเปิดดูได้ จึงได้ทำการนำเนื้อเทปออกมาใส่ตลับเทปม้วนใหม่ และนำข้อมูลภาพในเนื้อเทปนำมาบันทึกในแผ่นดีวีดี แล้วนำไปเปิดโดยใช้โปรแกรม Windows Media Player ตามแผ่นดีวีดี เอกสารหมาย จ. ๔๗ (เหมือนกับแผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย ล. ๙) และตรวจพบสารเสพติดโคเคนบริเวณโซฟาภายในห้องพักของนักแสดง และพบสารเสพติดโคเคนที่ตู้ ๔ ลิ้นชักยี่ห้อ Pilot ภายในห้องฝ่ายสำนักงาน ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๙๑ ถึงแผ่นที่ ๒๓๘ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากสาเหตุอะไร โจทก์มีพันตำรวจโท มนตรี อามินเซ็น ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานของกองพิสูจน์หลักฐาน และพันตำรวจโท สมชายหรือวัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ และไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด เบิกความประกอบรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ. ๒๓ ในทำนองเดียวกันว่า ได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ไม่พบคราบน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่พบร่องรอยการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า การลุกลามของไฟเป็นรูปแบบการไหม้จากด้านในอาคาร ไม่พบการลุกไหม้จากภายนอกหรือบนหลังคาภายนอกเข้าไปสู่ด้านในของอาคารนั้น เห็นว่า คดีนี้ ในคืนเกิดเหตุมีการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ในโอกาสฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่บริเวณภายนอกของร้านซานติก้าผับ เมื่อผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานตรวจไม่พบการลุกไหม้จากภายนอกหรือบนหลังคาภายนอกเข้าไปสู่ด้านในของอาคาร ดังนั้น การจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ที่บริเวณภายนอกของร้านซานติก้าผับดังกล่าวจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ อีกทั้งเหตุเพลิงไหม้ก็ไม่ได้เกิดจากการวางเพลิงหรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เพราะตรวจไม่พบคราบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร่องรอยการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการลุกไหม้จากภายในร้านซานติก้าผับนั่นเอง สำหรับเหตุการณ์ภายในร้านซานติก้าผับจะเป็นอย่างไรนั้น โจทก์มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มแรกมี นางสาวฐิติมาพร จะริกะ, นางสาวสุขุมาภรณ์ พึ่งบุญพานิชย์, นายสุรพงษ์ เตียวสุวรรณ, นายประลองยุทธ ผงงอย, นางสาวประภัสรา จันทนะ และนายนฤพัฒน์ ธรรมคุปต์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๒๓:๔๕ นาฬิกา ร้านซานติก้าผับได้มีการแจกแท่งไฟเย็นให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาเที่ยว จากนั้น พิธีกรบนเวทีได้ประกาศว่า ทางหน้าร้านด้านนอกจะมีการจุดพลุ โดยจุดจากอาคารพาณิชย์ร้างที่อยู่ริมถนนเอกมัย ๖๓ หน้าร้านซานติก้าผับ ต่อมา ใกล้เวลาเที่ยงคืน พิธีกรบนเวทีได้ประกาศให้ลูกค้าที่ได้รับแท่งไฟเย็นให้ทำการจุดไฟเย็น พร้อมกับมีการนับถอยหลัง เมื่อนับถึงศูนย์ ซึ่งหมายถึงเข้าสู่ปีใหม่ จากนั้น มีการจุดริบบิ้นกระดาษที่บริเวณหน้าเวทีและบนเพดานของร้าน ทำให้ริบบิ้นกระดาษโปรยไปทั่วทั้งร้าน ขณะเดียวกัน พิธีกรบนเวทีได้ประกาศว่า ทางด้านนอกของร้านมีการจุดพลุอยู่ ใครสนใจก็ให้ออกไปดู หลังจากนั้น พิธีกรก็ลงจากเวที และมีการแสดงของวงดนตรีเบิร์น โดยมีนักร้องขึ้นมาร้องเพลง จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ ๐:๒๐ นาฬิกาของวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ นักร้องได้ร้องเพลง “อิสต์มายไลฟ์” (It’s My Life) ขณะเพลงดังกล่าวใกล้จะจบ โดยร้องประโยคสุดท้ายว่า “อิสต์มายไลฟ์” ก็มีเอฟเฟ็กต์ (effect) เกิดขึ้นบนเวทีหลายจุด แต่มีเอฟเฟ็กต์อันหนึ่งที่อยู่ระหว่างด้านหลังของนักร้องกับหน้ากลองชุดได้ปล่อยประกายไฟหลากสีพุ่งในแนวตั้งสูงจรดเพดาน พร้อมกับวงดนตรีเริ่มเล่นเพลง “อะโบเดเบย์” เมื่อวงดนตรีบรรเลงถึงกลางเพลงดังกล่าว ได้มีสะเก็ดไฟร่วงลงมาจากเพดานบนเวที จากนั้น มองขึ้นไปยังเพดานดังกล่าว เห็นมีเปลวไฟลุกไหม้บริเวณเพดานบนเวทีเยื้องไปทางด้านขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเวที) ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๑/๘๘ ภาพที่ ๑๕๑ สักครู่ก็ลุกลามกระจายออกไปทั้งสองด้านซ้ายขวา จนเกิดเพลิงไหม้ร้านซานติก้าผับ ส่วนกลุ่มที่สองมี นางสาวเบญจรัตน์ อินทยากร และนายพงษ์ศิริ วงษ์เซ็ง เบิกความในทำนองเดียวกันว่า หลังจากที่พิธีกรลงจากเวทีแล้ว ก็มีการแสดงของวงดนตรีเบิร์น ขณะที่จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นนักร้องและนักร้องชาวต่างชาติกำลังร้องเพลง “อิสต์มายไลฟ์” นางสาวเบญจรัตน์เห็นจำเลยที่ ๕ เดินจากหน้าเวทีไปหลังเวทีในลักษณะสลับไปสลับมา และเห็นจำเลยที่ ๕ เดินไปบริเวณหน้ากลองชุด แล้ววางกระบอกซึ่งนางสาวเบญจรัตน์เข้าใจว่าเป็นพลุตรงบริเวณพื้นเวที จากนั้น จำเลยที่ ๕ ก็ร้องเพลง “อิสต์มายไลฟ์” ต่อจนจบ แต่ดนตรีเพลง “อิสต์มายไลฟ์” ยังคงบรรเลงอยู่ นางสาวเบญจรัตน์เห็นจำเลยที่ ๕ เดินไปยังบริเวณที่วางกระบอกดังกล่าว แล้วใช้ไฟแช็กจุดชนวน ทำให้พลุติดไฟและพุ่งขึ้นไปชนเพดาน นางสาวเบญจรัตน์มองตามขึ้นไปเห็นบริเวณเพดานมีไฟลุกไหม้ หลังจากนั้น ก็มีนักร้องซึ่งสวมเสื้อแขนยาวสีขาวขึ้นเวทีมาอีกคน และได้ร้องเพลง “อะโบเดเบย์” ต่อ สักครู่หนึ่งก็เกิดเพลิงไหม้ร้านซานติก้าผับ ส่วนนายพงษ์ศิริไม่เห็นจำเลยที่ ๕ จุดพลุ แต่เห็นจำเลยที่ ๕ ถือพลุมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไมโครโฟน ยาวไม่เกิน ๑ ฟุต แล้วนำมาวางไว้ที่หน้ากลองชุดในลักษณะแนวตั้งเท่านั้น เห็นว่า ประจักษ์พยานทั้งสองกลุ่มของโจทก์เบิกความเกี่ยวกับช่วงเวลาเกิดเหตุตรงกัน กล่าวคือ ช่วงเวลาเกิดเหตุเกิดขึ้นระหว่างที่นักร้องได้ร้องเพลง “อิสต์มายไลฟ์” กับเพลง “อะโบเดเบย์” แต่เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุแตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกเบิกความว่า มีการจุดเอฟเฟ็กต์หลายจุด และมีเอฟเฟ็กต์อันหนึ่งที่อยู่ระหว่างด้านหลังของนักร้องกับหน้ากลองชุดได้ปล่อยประกายไฟหลากสีพุ่งในแนวตั้งสูงจรดเพดาน หลังจากนั้น ไม่นานก็เกิดเพลิงไหม้ ส่วนกลุ่มที่สองมีนางสาวเบญจรัตน์เพียงปากเดียวเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นนักร้องเดินไปใช้ไฟแช็กจุดพลุตรงบริเวณกระบอกที่วางอยู่หน้ากลองชุด หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งประจักษ์พยานทั้งสองกลุ่มดังกล่าวเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุขัดแย้งกัน แต่เมื่อพิจารณาแผ่นดีวีดีที่ได้จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตามเอกสารหมาย จ. ๔๗ (เหมือนกับแผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย ล. ๙) ซึ่งเป็นแผ่นดีวีดีที่แสดงถึงภาพเหตุการณ์ในขณะที่นักดนตรีวงเบิร์นกำลังแสดงอยู่บนเวทีจนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ในคืนเกิดเหตุ ประกอบกับได้ความจาก นายอนุวัต ปิลาผล ผู้ตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่า นายอนุวัตเป็นผู้จัดทำแผ่นดีวีดีดังกล่าว โดยนำม้วนเทปซึ่งอยู่ในกล้องวิดีโอที่ถูกเพลิงไหม้ ปรากฏว่าม้วนเทปดังกล่าวอยู่ในสภาพบุบสลายบางส่วน ไม่สามารถเปิดดูได้ จึงได้ทำการนำเนื้อเทปออกมาใส่ตลับเทปม้วนใหม่ และนำข้อมูลภาพในเนื้อเทปนำมาบันทึกในแผ่นดีวีดีดังกล่าว โดยไม่มีการตัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงภาพและเสียงแต่อย่างใด จึงนับว่า เป็นพยานหลักฐานที่แสดงถึงเหตุการณ์การเกิดเพลิงไหม้ได้อย่างชัดเจน เมื่อเปิดแผ่นดีวีดีดังกล่าวดู ในช่วงที่นักร้องได้ร้องเพลง “อิสต์มายไลฟ์” และเพลง “อะโบเดเบย์” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประจักษ์พยานของโจทก์ทุกปากเบิกความว่าเป็นช่วงเวลาเกิดเหตุ จะเห็นได้ว่า จำเลยที่ ๕ ถือไมโครโฟนอยู่ในมือ และเป็นผู้ร้องเพลง “อิสต์มายไลฟ์” เมื่อเพลง “อิสต์มายไลฟ์” ใกล้จะจบ โดยร้องประโยคสุดท้ายว่า “อิสต์มายไลฟ์” หลังจากนั้นดนตรีก็บรรเลงเพลง “อะโบเดเบย์” พร้อมกับมีการจุดเอฟเฟ็กต์ด้วยไฟฟ้าบริเวณหน้ากลองชุดบนเวทีดนตรี จำนวน ๑ ครั้ง ซึ่งไฟเอฟเฟ็กต์มีลักษณะเป็นพลุไฟชนิดเม็ดดาว คือ เมื่อจุดแล้ว พลุจะกระจายออกมาเป็นสะเก็ดดาว บางลูกกระจายขึ้นไป และมีบางลูกตกลงบนพื้นเวทีดนตรี หลังจากนั้นก็เกิดเพลิงไหม้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๕ ได้ใช้ไฟแช็ก จุดพลุตรงบริเวณกระบอกที่วางอยู่หน้ากลองชุดตามที่นางสาวเบญจรัตน์เบิกความแต่อย่างใด แม้ข้อมูลภาพในช่วงดังกล่าวบางตอนจะไม่ได้ถ่ายภาพจำเลยที่ ๕ ตลอดเวลาที่ร้องเพลงก็ตาม แต่ช่วงเวลาบางตอนนั้นก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ ๕ จะใช้ช่วงเวลานั้นไปจุดพลุได้ ซึ่งเหตุการณ์ในแผ่นดีวีดีดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ในกลุ่มแรก ดังนั้น เหตุการณ์น่าจะเป็นไปตามคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ในกลุ่มแรกมากกว่า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของกองพิสูจน์หลักฐาน ตามเอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๗ ข้อที่ ๗.๘.๑ ที่ระบุว่า มีการพบซากชิ้นส่วนของดอกไม้เพลิง (พลุ) ซึ่งเป็นเอฟเฟ็กต์อยู่บนเวทีตรงกลางหน้ากลองชุด เป็นปลอกกระดาษสภาพไหม้เกรียม พร้อมส่วนที่ใช้ปิดหัวท้ายของดอกไม้เพลิง (พลุ) หลายชิ้น จะเห็นได้ว่า หากจำเลยที่ ๕ เป็นผู้จุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ตามที่นางสาวเบญจรัตน์เบิกความจริงแล้ว ส่วนที่ใช้ปิดหัวท้ายของดอกไม้เพลิง (พลุ) น่าจะพบเพียงชิ้นเดียว แต่ความกลับปรากฏว่าพบหลายชิ้น ดังนี้ ย่อมแสดงว่าเอฟเฟ็กต์ที่ถูกติดตั้งบริเวณหน้ากลองชุดเป็นเอฟเฟ็กต์ที่ทำมาจากดอกไม้เพลิง (พลุ) และตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตามเอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๑๑๐ ข้อที่ ๘.๓.๑.๑ ยังระบุอีกว่า มีการเก็บเศษวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งหน้าเวทีที่ถูกเพลิงไหม้ไป ตรวจสอบ ปรากฏว่า เป็นวัสดุที่ลุกติดไฟได้ดี และเมื่อเผาไหม้แล้วจะให้แก๊ส HCN[2] ซึ่งเป็นแก๊สพิษ อีกทั้งยังมีการทดลองจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ซึ่งเมื่อจุดแล้ว มีลักษณะของลูกไฟคล้ายกับที่ปรากฏในข้อมูลภาพในแผ่นดีวีดี และมีการนำวัสดุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งเวทีและตกแต่งภายในสถานบริการมาวางไว้ในระดับความสูงใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุ พบว่า เมื่อทดลองจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ลูกไฟจะพุ่งกระจายขึ้นไปถูกวัสดุ ที่ระดับความสูงดังกล่าว และวัสดุนั้นติดไฟและลุกลามได้ ซึ่งผู้ตรวจพิสูจน์สรุปความเห็นว่า ดอกไม้เพลิง (พลุ) สามารถทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ดังนี้ จากความเห็นของผู้ตรวจพิสูจน์ ประกอบกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ และข้อมูลภาพในแผ่นดีวีดีแล้ว เชื่อว่า สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากการจุดเอฟเฟ็กต์ คดีมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า กระบอกเอฟเฟ็กต์กระบอกไหนที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ในเรื่องนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลภาพและเสียงในแผ่นดีวีดีโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า กระบอกเอฟเฟ็กต์ที่อยู่หน้ากลองชุดมีทั้งหมดจำนวน ๗ กระบอก แต่ละกระบอกบริเวณยอดกระบอกจะมีสีดำ ยกเว้นกระบอกเอฟเฟ็กต์ที่อยู่กลางเวที (กระบอกที่ ๔) เท่านั้นที่มีส่วนฐานเป็นสีดำ เมื่อสังเกตข้อมูลภาพและฟังเสียงในแผ่นดีวีดีให้ดี จะเห็นว่า เมื่อมีการจุดเอฟเฟ็กต์แล้ว กระบอกเอฟเฟ็กต์จะมีลูกไฟพุ่งในแนวตั้งขึ้นไป ยกเว้นกระบอกเอฟเฟ็กต์ที่อยู่กลางเวทีเพียงกระบอกเดียวเท่านั้นที่มีสะเก็ดไฟพุ่งลงพื้นเวทีและมีไฟติดนานที่สุด ต่อมา ก็จะได้ยินเสียงคนพูดในแผ่นดีวีดี โดยพูดคำว่า “ใครติดกลับหัววะ” ประกอบกับ จำเลยที่ ๗ เคยให้การในชั้นสอบสวนในฐานะเป็นพยาน ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. ๕๙ แผ่นที่ ๕ ระบุว่า เหตุที่เอฟเฟ็กต์บริเวณด้านหน้ากลองกลางเวที เมื่อจุดแล้วมีไฟพุ่งลงด้านล่าง เป็นเพราะการติดตั้งผิดพลาดโดยติดตั้งกลับหัว ดังนี้ ย่อมแสดงว่า กระบอกเอฟเฟ็กต์ที่อยู่กลางเวทีดังกล่าวถูกติดตั้งผิดพลาด โดยติดตั้งกลับหัว จึงทำให้มีสะเก็ดไฟพุ่งลงพื้นเวทีเพียงกระบอกเดียว ดังนั้น กระบอกเอฟเฟ็กต์ ที่อยู่กลางเวทีจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของพันตำรวจโท มนตรี อามินเซ็น ผู้ตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานที่ว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ บริเวณที่มีความเสียหายมากที่สุด คือ บริเวณเหนือซุ้มหน้าเวทีดนตรีข้างขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเวที) เป็นบริเวณที่ระยะเวลาของการลุกไหม้นานกว่าบริเวณอื่น ซึ่งผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานมีความเห็นว่า น่าจะเป็นจุดต้นเพลิง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบอกเอฟเฟ็กต์ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ น่าจะเป็นกระบอกเอฟเฟ็กต์ที่อยู่ทางขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเวที) อันนับว่าเป็นข้อสนับสนุนและยืนยันอีกประการหนึ่งว่า จำเลยที่ ๕ มิได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้ ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักในการรับฟัง ส่วนที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ นำสืบต่อสู้ว่า แผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย จ. ๔๗ อาจถูกตัดต่อภาพ เนื่องจากการลำดับภาพเหตุการณ์ในแผ่นดีวีดีดังกล่าวไม่ตรงกับความจริง โดยเฉพาะช่วงวินาทีที่ ๒๒:๐๒ ซึ่งเป็นเพลง “ใจกลางความเจ็บปวด” ที่ได้ร้องหลังจากช่วงเวลาที่นับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ แต่ความจริงแล้ว เพลงดังกล่าวจะต้องร้องก่อนช่วงเวลาที่นับถอยหลัง โดยมีนางสาวนงลักษณ์ รอดจันทร์ มาเบิกความสนับสนุนนั้น เห็นว่า ในคืนเกิดเหตุนางสาวนงลักษณ์ได้ไปร้านซานติก้าผับพร้อมกับนายสุพัฒน์ ศรีแจ่ม ซึ่งเป็นอดีตแฟน แต่กลับเบิกความแตกต่างขัดแย้งกัน กล่าวคือ นางสาวนงลักษณ์ เบิกความว่า เมื่อเข้าไปถึงร้านซานติก้าผับ ขณะนั้น วงดนตรีเบิร์นกำลังเล่นเพลง “ใจกลางความเจ็บปวด” พอเพลงจบก็มีพิธีกรขึ้นมาบนเวที ๒ คน เพื่อนับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ ส่วนนายสุพัฒน์ เบิกความว่า เมื่อเข้าไปถึงร้านซานติก้าผับ ขณะนั้น เป็นช่วงที่มีพิธีกรขึ้นมาบนเวทีเพื่อนับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ ดังนี้ ข้อแตกต่างดังกล่าวย่อมทำลายน้ำหนักคำพยานของจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ มิให้เป็นที่เชื่อถือ ประกอบกับเมื่อพิจารณาแผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย จ. ๔๗ จะเห็นได้ว่า ขณะที่วงดนตรีเบิร์นกำลังเล่นเพลง “ใจกลางความเจ็บปวด” หากสังเกตบนเวทีให้ดี จะเห็นสายรุ้งห้อยลงมา ๒ เส้น ซึ่งสายรุ้งดังกล่าวเกิดจากการยิงเปเปอร์ชูตในช่วงเวลาที่นับถอยหลัง ดังนั้น เพลงดังกล่าวจะต้องร้องหลังจากมีการนับถอยหลังแล้ว อีกทั้งพยานของจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ โดยเฉพาะพยานปากนายสนธิชัย บวรไกรศรี ซึ่งมีความชำนาญในการตัดต่อภาพ เบิกความว่า จากการตรวจสอบแผ่นดีวีดีที่บันทึกเหตุการณ์เกิดเหตุ มีความเห็นว่า แผ่นดีวีดีดังกล่าวไม่มีการตัดต่อภาพ มีแต่เพียงตกแต่งภาพเท่านั้น ดังนั้น ที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ต่อสู้ว่า แผ่นดีวีดีดังกล่าวมีการตัดต่อภาพ จึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ นำสืบต่อสู้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากการจุดเอฟเฟ็กต์ เนื่องจากเอฟเฟ็กต์ที่ใช้ติดตั้งนั้นเป็นประเภทซิลเวอร์เจ็ต และไพโรเทคนิคบอมบ์ ซึ่งเอฟเฟ็กต์ประเภทซิลเวอร์เจ็ตเมื่อจุดแล้วจะพุ่งขึ้นไม่สูง มีไฟสวยงาม ใช้มืออังได้ ไม่เกิดความร้อน ส่วนเอฟเฟ็กต์ประเภทไพโรเทคนิคบอมบ์เมื่อจุดแล้ว มีแสงไฟสว่างเพียงแวบเดียว และมีเสียงดังเท่านั้น โดยมีนายนวพล ยศเจริญ และนายพงษ์เทพ สมพิศ มาเบิกความสนับสนุนนั้น เห็นว่า พยานของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเพียงผู้มีประสบการณ์ในการติดตั้งเอฟเฟ็กต์เท่านั้น หาใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงไม่ และในเรื่องนี้ ได้ความจากพลตรีเผด็จ สุวรรณธาดา พยานโจทก์ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการผลิตพลุสัญญาณทางทหาร และดอกไม้เพลิงที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ทหารบกที่สอนเกี่ยวกับพลุ อันนับเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลุโดยตรง ว่า จากการดูภาพเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุตามแผ่นดีวีดีเอกสารหมาย ล. ๙ (เหมือนกับแผ่นดีวีดีตามเอกสารหมาย จ. ๔๗) เมื่อมีการจุดเอฟเฟ็กต์ จะเห็นเปลวไฟพุ่งออกมา และเกิดสีต่าง ๆ โดยสีแต่ละสีขึ้นอยู่กับส่วนผสมของแร่ธาตุที่บรรจุอยู่ในเอฟเฟ็กต์ และประกายไฟที่ออกมานั้น อาจจะเป็นประกายไฟที่เกิดจากดินส่งก็ได้ ซึ่งประกายไฟที่เกิดจากดินส่งจะมีอุณหภูมิประมาณ ๒๐๐ องศาเซลเซียส และถ้าเป็นประกายไฟที่เกิดจากแร่ธาตุจะมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ องศาเซลเซียส ดังนี้ ย่อมแสดงว่า เอฟเฟ็กต์ที่ใช้มีความร้อนสูง ดังนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่า เอฟเฟ็กต์ที่ใช้ไม่เกิดความร้อน จึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ นำสืบต่อสู้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้อาจเกิดจากการจุดไฟเย็นของลูกค้าที่เข้ามาเที่ยว โดยมีนายสุพัฒน์ ศรีแจ่ม มาเบิกความว่า ในช่วงที่นับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ มีการจุดไฟเย็น เห็นลูกค้าที่เข้ามาเที่ยวไม่ทราบว่าเป็นใครโยนแท่งไฟเย็นขึ้นฟ้า และนายสุพัฒน์คิดว่า น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้น เห็นว่า หากสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้เกิดจากการจุดไฟเย็นแล้ว จุดต้นเพลิงก็น่าจะเกิดตรงบริเวณที่ลูกค้าโยนแท่งไฟเย็นซึ่งเป็นบริเวณห้องโถงใหญ่ แต่กลับได้ความจากผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานของกองพิสูจน์หลักฐานและของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า จุดต้นเพลิงอยู่บริเวณเหนือซุ้มหน้าเวทีดนตรีข้างขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเวที) ดังนั้น ไฟเย็นจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ส่วนที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ นำสืบต่อสู้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ อาจเกิดจากการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ของลูกค้าที่เข้ามาเที่ยวบริเวณชั้นลอยของร้านซานติก้าผับ จากภาพที่ถ่ายได้ ตามแผ่นดีวีดีเอกสารหมาย จ. ๓๓ นั้น เห็นว่า จากภาพตามแผ่นดีวีดีดังกล่าวเป็นการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) บริเวณชั้นลอย แล้วประกายไฟพุ่งมาบริเวณห้องโถงใหญ่ หากเกิดจากสาเหตุนี้จริงแล้ว จุดต้นเพลิงน่าจะเกิดตรงบริเวณห้องโถงใหญ่ แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ประกอบกับการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ดังกล่าวเป็นการจุดในช่วงที่นับถอยหลังก่อนเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ เมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่การจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) ดังกล่าวจนถึงเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งตามภาพเหตุการณ์ในแผ่นดีวีดีเอกสารหมาย จ. ๔๗ จะมีระยะเวลาประมาณ ๓๐ นาที จะเห็นได้ว่า เป็นระยะเวลาที่นานเกินกว่าที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ) บริเวณชั้นลอย พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ เกิดจากการจุดเอฟเฟ็กต์ที่ทำมาจากดอกไม้เพลิง (พลุ) และเป็นเอฟเฟ็กต์กระบอกที่อยู่ทางขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาเวที) โดยเมื่อจุดแล้ว ลูกไฟจากกระบอกเอฟเฟ็กต์จะพุ่งกระจายขึ้นสูงในแนวตั้งจรดเพดาน ซึ่งเพดานทำด้วยวัสดุที่ติดไฟง่าย จึงทำให้เกิดการติดไฟและลุกไหม้อย่างรวดเร็ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ร้านซานติก้าผับเป็นอาคารสาธารณะ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานหรือไม่ โจทก์มีนายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ซึ่งเป็นรองประธานอนุกรรมการศึกษาวิจัยและพัฒนาอุบัติภัยของคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการยกร่างกฎกระทรวงระบบป้องกันอัคคีภัยของกรมโยธาธิการ เป็นกรรมการอำนวยการของสมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทย และเป็นประธานอนุกรรมการมาตรฐานความปลอดภัยอาคารของสมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทย เบิกความประกอบกับความเห็นพร้อมข้อสังเกต ตามเอกสารหมาย จ. ๓๖ และ จ. ๓๗ ว่า พยานได้ร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่า ร้านซานติก้าผับไม่มีการติดตั้งระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่ใช้บริการ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ไม่มีแผนผังทางหนีไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (sprinkler) และมีการใช้วัสดุตกแต่งร้านที่ติดไฟได้ง่ายและลุกลามอย่างรวดเร็ว อีกทั้งประตูทางเข้าออกมีเพียง ๔ ประตู มีประตูหนึ่งเป็นประตูของห้องวีไอพีซึ่งใช้สำหรับลูกค้าที่ไปใช้บริการในห้องวีไอพีเท่านั้น ส่วน ๓ ประตูที่เหลือเป็นประตูทางเข้าออกบริเวณห้องโถงใหญ่ สามารถรองรับจำนวนคนเข้าออกอย่างปลอดภัยได้เพียง ๔๐๘ คน โดยคำนวณตามมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ส่วนประตูเล็ก ๆ จำนวน ๒ ประตูที่เป็นทางเข้าออกไปนอกระเบียงเพื่อสูบบุหรี่ และประตูเล็ก ๆ อีก ๒ ประตูที่เป็นประตูหลังเวทีที่ถูกปิดด้วยฉาก มีไว้สำหรับนักแสดงเดินเข้าออก ประตูเล็กทั้งสี่ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นประตูเข้าออกตามปกตินั้น เห็นว่า นายพิชญะจบการศึกษาปริญญาโททางด้านวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัยจาก Worcestor Polytechnic Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเป็นอนุกรรมการยกร่างกฎกระทรวงระบบป้องกันอัคคีภัยของกรมโยธาธิการ อีกทั้งยังเป็นประธานอนุกรรมการมาตรฐานความปลอดภัยอาคารของสมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทย ย่อมแสดงว่า นายพิชญะมีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านมาตรฐานความปลอดภัยอาคารเกี่ยวกับอัคคีภัยเป็นอย่างดี ประกอบกับนายพิชญะได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีความเห็นอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ โดยใช้มาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย อีกทั้งนายพิชญะก็ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่า นายพิชญะเบิกความและทำความเห็นตามความเป็นจริง นอกจากนี้ ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๑๑๕ ข้อ ๙.๒.๔ ระบุว่า “ไม่พบระบบตรวจจับความร้อนและควัน ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ป้ายทางหนีไฟ แผนผังทางหนีไฟ และระบบดับเพลิงอัตโนมัติ” ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความและความเห็นของนายพิชญะ ส่วนรายงานดังกล่าวข้อ ๙.๒.๕ ระบุว่า “พบไฟแสงสว่างฉุกเฉิน จำนวน ๒ จุด คือ ผนังด้านหลังเวทีดนตรีซึ่งเป็นทางเดินด้านหน้าห้องพักของนักดนตรี และที่บริเวณผนังเคาน์เตอร์ควบคุมระบบภาพแสงเสียงภายในห้องโถงใหญ่ตรงข้ามเวทีดนตรี” ซึ่งบริเวณทั้งสองจุดดังกล่าวก็มิใช่พื้นที่สำหรับลูกค้าใช้บริการ อันนับเป็นข้อสนับสนุนตามความเห็นของนายพิชญะที่ว่า ร้านซานติก้าผับไม่มีการติดตั้งระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่ใช้บริการ ส่วนคืนเกิดเหตุ จะมีลูกค้ามาใช้บริการกี่คนนั้น ได้ความจากนายพิชญะว่า เมื่อดูภาพถ่ายในคืนเกิดเหตุเอกสารหมาย จ. ๘ ประกอบกับ ดูจากคลิปวีดีโอในคืนเกิดเหตุ นายพิชญะคำนวณโดยใช้หลักวิชาการ โดยหักพื้นที่โต๊ะที่ตั้งอยู่ในสถานที่เกิดเหตุแล้ว ประมาณว่า ในคืนเกิดเหตุมีลูกค้ามาใช้บริการอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ถึง ๑,๒๐๐ คน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งมีจำนวนถึง ๓๒๖ คน ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของกองพิสูจน์หลักฐานเอกสารหมาย จ. ๒๓ แผ่นที่ ๓ อีกทั้งยังได้ความจากนางสาวสุภารัตน์ รักเกียรติงาม ซึ่งเป็นผู้ส่งข้อความผ่านระบบ SMS เชิญชวนให้ลูกค้ามาร่วมงานฉลองวันส่งท้ายปีเก่าและเพื่ออำลาร้านซานติก้าผับ โดยส่งข้อความผ่านระบบ SMS ให้ลูกค้าประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ดังนี้ เชื่อว่า ในคืนเกิดเหตุมีลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านซานติก้าผับมากกว่า ๑,๐๐๐ คน ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า ในคืนเกิดเหตุมีลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านซานติก้าผับไม่เกิน ๕๐๐ คนนั้น ก็เป็นการคาดคะเนจากสายตาของพยานจำเลยเท่านั้น ไม่ได้คำนวณตามหลักวิชาการเหมือนกับพยานของโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในคืนเกิดเหตุมีลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านซานติก้าผับมากกว่า ๑,๐๐๐ คน และร้านซานติก้าผับไม่มีการติดตั้งระบบไฟ แสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่ใช้บริการ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ไม่มีแผนผังทางหนีไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (sprinkler) และมีการใช้วัสดุตกแต่งร้านที่ติดไฟได้ง่ายและลุกลามอย่างรวดเร็ว อีกทั้งประตูทางเข้าออกสามารถรองรับจำนวนคนเข้าออกอย่างปลอดภัยได้เพียง ๔๐๘ คน สำหรับร้านซานติก้าผับจะเป็นอาคารสาธารณะหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ ประกอบกับพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดนิยาม “สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าดังต่อไปนี้

(๑) ...

(๒) ...

(๓) ...

(๔) ...

(๕) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา ๒๔:๐๐ นาฬิกา

และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ตามเอกสารหมาย จ. ๓๘ ได้กำหนดนิยาม “อาคารสาธารณะ” หมายความรวมถึง สถานบริการด้วย ดังนี้ เมื่อร้านซานติก้าผับประกอบกิจการให้บริการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่ม โดยมีการแสดงดนตรี และการบันเทิง แก่ลูกค้า และปิดทำการหลังเวลา ๒๔:๐๐ นาฬิกา จึงถือว่า ร้านซานติก้าผับเป็นสถานบริการ และเป็นอาคารสาธารณะ นอกจากนี้ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) ดังกล่าว ได้กำหนดเกี่ยวกับอาคารซึ่งก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้าย โดยได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ หรืออาคารซึ่งได้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้าย ก่อนวันที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ใช้บังคับ ในกรณีที่เป็นอาคารสาธารณะมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสาธารณะดำเนินการแก้ไขอาคารดังกล่าวให้มีระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย โดยมีอำนาจสั่งแก้ไขได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ...

(๒) จัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผังของอาคารแต่ละชั้น แสดงตำแหน่งห้องต่าง ๆ ทุกห้อง ตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ ประตู หรือทางหนีไฟของชั้นนั้น ติดไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน...

(๓) ติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ...

(๔) ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น...

(๕) ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรอง เพื่อให้มีแสงสว่างสามารถมองเห็นช่องทางเดินได้ขณะเพลิงไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกของประตูหนีไฟทุกชั้นด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน โดยตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า ๑๐ เซนติเมตร

(๖) ...

เห็นว่า แม้กฎกระทรวงดังกล่าวจะไม่กำหนดบังคับให้อาคารสาธารณะจะต้องติดตั้งระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยไว้โดยตรง แต่เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ก็เพื่อที่จะให้อาคารที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ หรืออาคารซึ่งได้ก่อสร้างก่อนวันที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ใช้บังคับ หากอาคารนั้นเป็นอาคารสาธารณะ อาคารนั้นก็จะต้องมีระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสาธารณะดำเนินการแก้ไขอาคาร โดยจัดให้มีการติดตั้งแบบแปลนแผนผัง ติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรอง ซึ่งล้วนแต่เป็นระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน และกฎกระทรวงดังกล่าวพอจะแปลความหมายต่อไปได้ว่า หากอาคารใดที่ได้ก่อสร้างหลังจากที่มีการออกกฎกระทรวงนี้แล้ว และเป็นอาคารสาธารณะ อาคารดังกล่าวก็จะต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยนั้นด้วย แต่สำหรับร้านซานติก้าผับได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นการขออนุญาตหลังจากกฎกระทรวงดังกล่าวประกาศใช้แล้ว เมื่อร้านซานติก้าผับเปิดเป็นสถานบริการ ซึ่งตามกฎกระทรวงถือเป็นอาคารสาธารณะ ดังนั้น ร้านซานติก้าผับจะต้องมีการติดตั้งแบบแปลนแผนผัง ติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรอง ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน แต่ร้านซานติก้าผับกลับไม่ติดตั้งระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยเช่นว่านั้น ดังนี้ ร้านซานติก้าผับจึงเป็นอาคารสาธารณะที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในเรื่องนี้เดิมจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดตั้งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด และจำเลยที่ ๑ ก็เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยถือหุ้นของบริษัทจำนวน ๑๘๐ หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๒๔๐ หุ้น ต่อมา บริษัทดังกล่าวได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการ โดยให้นายสุริยา หรือตั้ม ฤทธิ์ระบือ ซึ่งมิได้ถือหุ้นแม้แต่เพียงหุ้นเดียว เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนจำเลยที่ ๑ ครั้นต่อมา บริษัทมีการจดทะเบียนเพิ่มทุน จำเลยที่ ๑ ก็ยังคงถือหุ้นของบริษัทจำนวน ๑๒๙ หุ้นจากจำนวนหุ้นทั้งหมด ๔๐๐ หุ้น และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดตั้งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท แต่กลับยินยอมให้นายสุริยา ซึ่งมิได้ถือหุ้นแม้แต่เพียงหุ้นเดียว เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนจำเลยที่ ๑ นั้น ย่อมเป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทั่วไป เพราะตามปกติ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดมักจะเป็นกรรมการผู้จัดการ ประกอบกับในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการปิดกิจการของร้านซานติก้าผับ พร้อมกับจัดงานฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จำเลยที่ ๑ ก็ได้ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ แต่กลับได้ความจากนายรุ่งยศ จันทภาษา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งและอยู่ในวันแถลงข่าวว่า ในวันแถลงข่าวนายสุริยาก็อยู่ด้วย แต่ไม่ได้ร่วมแถลงข่าว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะนายสุริยาเป็นถึงกรรมการผู้จัดการ ก็น่าจะต้องเป็นผู้กล่าวเปิดงาน หรือมิฉะนั้น ก็น่าจะต้องร่วมแถลงข่าวในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการด้วย อีกทั้งยังได้ความจากนางสาวเกษราภรณ์ แจ้งนคร ซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินของร้านซานติก้าผับ ว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่นางสาวเกษราภรณ์เข้ามาทำงาน จนถึงวันเกิดเหตุ นางสาวเกษราภรณ์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นหน้านายสุริยา ซึ่งนับว่าเป็นข้อพิรุธ เพราะหากนายสุริยาเป็นกรรมการผู้จัดการจริงแล้ว นางสาวเกษราภรณ์ซึ่งทำงานนานถึง ๑ ปีเศษก็น่าจะต้องเคยเห็นหน้าบ้าง แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ นายฉัตรพิรุณ โตศะศุข ซึ่งเคยทำงานที่ร้านซานติก้าผับ และเป็นช่วงเวลาที่นายสุริยาเป็นกรรมการผู้จัดการ กลับเบิกความว่า นายสุริยาทำหน้าที่อะไรในร้าน นายฉัตรพิรุณไม่ทราบ ซึ่งก็นับว่าเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ตามแผ่นดีวีดี เอกสารหมาย จ. ๔๐ ซึ่งเป็นรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” และรายการดังกล่าวได้นำแผ่นดีวีดีที่ร้านซานติก้าผับได้แจกแก่ลูกค้ามาเปิดในรายการ ปรากฏว่า กล้องจะถ่ายภาพจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีการถ่ายภาพนายสุริยาเลย และตอนท้ายของแผ่นดีวีดีจะมีตัวหนังสือเป็นตัวหนังสือวิ่งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อของคณะทำงานต่าง ๆ ของร้านซานติก้าผับว่ามีใครบ้าง และมีตำแหน่งอะไร ซึ่งในเรื่องนี้ปรากฏว่า มีชื่อของจำเลยที่ ๑ โดยระบุว่า มีตำแหน่ง Managing Director ซึ่งหมายความว่า กรรมการผู้จัดการ จากพฤติการณ์และข้อพิรุธดังที่ได้กล่าวข้างต้น ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เชิดนายสุริยาเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมีจำเลยที่ ๑ บงการอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น จึงเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการของร้านซานติก้าผับตามความเป็นจริง ส่วนที่จำเลยที่ ๑ นำสืบต่อสู้ว่า หลังจากที่จำเลยที่ ๑ ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด แล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานในร้านซานติก้าผับนั้น คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ ๑ ลอย ๆ ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการของร้านซานติก้าผับตามความเป็นจริง ดังนี้ การที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง จัดให้มีงานรื่นเริงภายในร้านซานติก้าผับ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานเป็นอาคารสาธารณะแต่ขาดมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน โดยที่ภายในร้านไม่มีแผนผังทางหนีไฟ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (sprinkler) ไม่มีการติดตั้งระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่ใช้บริการ ให้มีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถเปิดส่องสว่างแก่ลูกค้าเพื่อการหลบหนีออกจากร้านได้สะดวกและปลอดภัยในกรณีเกิดเพลิงไหม้ อีกทั้งประตูทางเข้าออกสามารถรองรับ จำนวนคนเข้าออกอย่างปลอดภัยได้เพียง ๔๐๘ คน นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุตกแต่งร้านที่ติดไฟได้ง่าย เมื่อติดไฟแล้วจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และเกิดแก๊สพิษทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปหายใจไม่ออกและหมดสติ ซึ่งในการใช้ร้านดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จะต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ จะต้องดำเนินการติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคาร ป้ายบอกทางหนีไฟ และไฟฉุกเฉินภายในร้านให้เพียงพอ จักต้องไม่จัดให้ลูกค้าเข้าไปใช้บริการภายในร้านดังกล่าวเกินกว่า ๔๐๘ คน เพื่อให้เป็นไปตามหลักมาตรฐาน ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน อีกทั้งจักต้องไม่ตกแต่งภายในร้านด้วยวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย และเมื่อติดไฟแล้วเกิดแก๊สพิษเป็นอันตรายแก่ผู้สูดดม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดแก่ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการ ซึ่งจำเลยที่ ๑ อาจใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท เมื่อปรากฏว่าร้านซานติก้าผับเกิดเหตุเพลิงไหม้ และมีผู้ถึงแก่ความตายจำนวน ๖๗ คน ได้รับอันตรายสาหัสจำนวน ๔๕ คน และได้รับอันตรายแก่กายจำนวน ๗๒ คน จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐาน กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ สำหรับข้อหาความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับอนุญาตตั้งสถานบริการยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้น เข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำงานตามกฎหมาย และข้อหาความผิดฐานร่วมกันยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่ามีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีจำนวน ๒ คนเข้าไปใช้บริการในร้านซานติก้าผับแล้วถึงแก่ความตาย รวมทั้งตรวจพบสารเสพติดโคเคนบริเวณโซฟาภายในห้องพักของนักแสดง และพบสารเสพติดโคเคนที่ตู้ ๔ ลิ้นชัก ยี่ห้อ Pilot ภายในห้องฝ่ายสำนักงานก็ตาม แต่ในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ศาลจึงจะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยอย่างไร จึงทำให้มีผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปในร้านซานติก้าผับ แต่กลับได้ความจากพยานโจทก์เอง โดยเฉพาะนายสุรพงษ์ เตียวสุวรรณ, นายประลองยุทธ ผงงอย, นางสาวประภัสรา จันทนะ, นายนฤพัฒน์ ธรรมคุปต์, นางสาวเบญจรัตน์ อินทยากร และนายพงษ์ศิริ วงษ์เซ็ง ว่า ก่อนเข้าไปในร้านซานติก้าผับนั้น จะมีการตรวจบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อไม่ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีเข้าไป อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยที่ ๑ ได้มีส่วนร่วมหรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในร้านซานติก้าผับแต่อย่างใด กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าว

ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบเพียงว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพนักงานลูกจ้างของร้านซานติก้าผับเท่านั้น แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้กระทำประมาทอย่างไร จึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ ดังนี้ กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ กระทำความผิดตามฟ้อง

สำหรับจำเลยที่ ๕ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากการจุดเอฟเฟ็กต์ โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๕ ดังนั้น จำเลยที่ ๕ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์มี พันตำรวจโท ประวิทย์ กังวล พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนมี การสอบปากคำจำเลยที่ ๓ ได้ความว่า ตามมติที่ประชุมของบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ ติดต่อกับบริษัทจำเลยที่ ๖ เพื่อติดตั้งแสงสีเสียงบนเวที ประกอบกับโจทก์ยังมีหนังสือรับรองของบริษัทจำเลยที่ ๖ ตามเอกสารหมาย จ. ๕๘ ได้ระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทว่า ประกอบกิจการ จัดระบบแสงสีเสียง ภาพประกอบการแสดงรายการโทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ สตูดิโอ เวทีการแสดงต่าง ๆ และโรงมหรสพอื่น ๆ ทั่วไปทุกประเภท นอกจากนี้ จำเลยที่ ๓ ยังนำสืบยืนยันว่า บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทจำเลยที่ ๖ ให้มาติดตั้งเอฟเฟ็กต์ ดังนี้ เชื่อว่า จำเลยที่ ๗ ได้รับจ้างในนามของบริษัทจำเลยที่ ๖ ส่วนที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ นำสืบต่อสู้ว่า การติดตั้งเอฟเฟ็กต์ในคืนเกิดเหตุ จำเลยที่ ๗ ได้รับจ้างจากบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ในนามส่วนตัวนั้น เห็นว่า คงมีตัวจำเลยที่ ๗ เพียงผู้เดียวมา เบิกความลอย ๆ ประกอบกับจำเลยที่ ๗ ตอบโจทก์ถามค้านว่า พนักงานที่ทำการติดตั้งเอฟเฟ็กต์ในคืนเกิดเหตุได้รับค่าจ้างจากบริษัทจำเลยที่ ๖ นั่นย่อมแสดงว่า การรับจ้างของจำเลยที่ ๗ เป็นการรับจ้างในนามของบริษัทจำเลยที่ ๖ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ จึงไม่น่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๖ ให้มาติดตั้งเอฟเฟ็กต์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จำเลยที่ ๖ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก บริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส์ (๒๐๐๓) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงแสงสีเสียงสำหรับการจัดงานรื่นเริงในร้านซานติก้าผับนั้น จำเลยที่ ๖ จะต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ ในการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงแสงสีเสียง สำหรับงานรื่นเริงดังกล่าว ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่า จะต้องมีลูกค้าจำนวนมากเข้ามาใช้บริการภายในร้าน จำเลยที่ ๖ จะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ภายในร้านได้โดยง่าย อีกทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการติดตั้งเอฟเฟ็กต์ จำเลยที่ ๖ ควรตรวจสอบวัสดุตกแต่งร้านที่อยู่ใกล้กับเอฟเฟ็กต์ว่าติดไฟง่ายหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดแก่ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการภายในร้าน ซึ่งจำเลยที่ ๖ อาจใช้ความระมัดระวังนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ ๖ กลับติดตั้งเอฟเฟ็กต์ที่ทำมาจากดอกไม้เพลิง (พลุ) ซึ่งก่อให้เกิดเพลิงไหม้ภายในร้านได้โดยง่าย และไม่ตรวจสอบวัสดุตกแต่งร้านดังกล่าว เมื่อจุดเอฟเฟ็กต์แล้วจะเกิดลูกไฟพุ่งกระจายขึ้นสูงในแนวตั้งจรดเพดาน ซึ่งเพดานทำด้วยวัสดุที่ติดไฟง่าย จึงทำให้เกิดการติดไฟและลุกไหม้อย่างรวดเร็ว การกระทำของจำเลยที่ ๖ ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยประมาท เมื่อปรากฏว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากการจุดเอฟเฟ็กต์ และมีผู้ถึงแก่ความตายจำนวน ๖๗ คน ได้รับอันตรายสาหัสจำนวน ๔๕ คน ได้รับอันตรายแก่กายจำนวน ๗๒ คน และทรัพย์สินของลูกค้าผู้เข้าใช้บริการได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๖ จึงมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่การกระทำของจำเลยที่ ๖ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ สำหรับจำเลยที่ ๗ นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๖ เป็นบริษัทจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๖ จึงเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอำนาจของกฎหมาย ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานโดยผู้แทน จำเลยที่ ๗ เป็นกรรมการผู้จัดการ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของบริษัทจำเลยที่ ๖ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจำเลยที่ ๖ กระทำผิดก็ได้ชื่อว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๗ ด้วย

อนึ่ง สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ นั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือได้ว่า มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมา จึงมีอายุความเพียงหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๕) คดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดถูกฟ้องว่ากระทำความผิดวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๒ นับถึงวันฟ้อง กล่าวคือ ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ และฟ้องจำเลยที่ ๖ ถึงที่ ๗ ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓ ดังนั้น คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามบทมาตราดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๖)

สำหรับค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๖ และที่ ๗ เป็นผู้กระทำความผิด จำเลยที่ ๑ ที่ ๖ และที่ ๗ จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย แต่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ ๓ ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๑๕๑๘/๒๕๕๒, ผบ. ๑๔๓๕/๒๕๕๒ และ ผบ. ๑๔๖๗/๒๕๕๒ ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้วตามลำดับ เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากเหตุเพลิงไหม้ร้านซานติก้าผับซึ่งเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับคดีนี้ โดยเรียกค่าปลงศพ ค่าขาดอุปการะ และค่าเสียหายทางด้านจิตใจ ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ. ร.๒ และ จ. ร.๔ ซึ่งค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวก็เป็นค่าสินไหมทดแทนเช่นเดียวกันกับที่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ได้ยื่นขอในคดีนี้ เมื่อคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ทั้ง ๓ คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณา ประกอบกับการที่โจทก์ร่วมที่ ๔ และ ที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ยื่นคำร้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ถือว่า เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมดังกล่าวยื่นคำฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ดังนั้น คำร้องของโจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ จึงเป็นฟ้องซ้อน ศาลจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนของจำเลยที่ ๑

ส่วนค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ เรียกร้องมานั้น ในเรื่องนี้จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ให้การต่อสู้ว่า บุตรของโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๗ สมัครใจเข้าไปใช้บริการในร้านซานติก้าผับ ย่อมทราบถึงสภาพแวดล้อมที่เบียดเสียดและแออัดของผู้คนจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ในคดีนี้ นับได้ว่า มีส่วนผิดอยู่ด้วย เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ให้การต่อสู้เช่นนั้น แต่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ไม่นำสืบให้เห็นว่าบุตรของโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๗ มีส่วนผิดอย่างไร กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า บุตรของโจทก์ร่วมที่ ๔ ถึงที่ ๗ มีส่วนผิดด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องมานั้น เห็นควรพิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้

๑. ค่าปลงศพ โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ เรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๓ วรรคแรก ในเรื่องนี้โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ เรียกร้องมาเป็นเงินรายละ ๕๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ร่วม ที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ไม่มีหลักฐานมาแสดง จึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงินรายละ ๔๐,๐๐๐ บาท

๒. ค่าขาดอุปการะ โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖ นำสืบขอค่าขาดอุปการะเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทหรือปีละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท เป็นระยะเวลา ๒๙ ปี รวมเป็นจำนวน ๖,๙๖๐,๐๐๐ บาท ส่วนโจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ นำสืบขอค่าขาดอุปการะรายละ ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือนหรือรายละ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี เป็นระยะเวลา ๓๔ ปี รวมเป็นจำนวน ๔,๐๘๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๘ ขอค่าขาดไร้อุปการะในด้านการศึกษาอีก จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๓ วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาด ไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๓ บัญญัติว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๔ บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” เมื่อกฎหมายมีดังนี้ จึงถือได้ว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ ความตาย ทำให้โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นบิดาและมารดา โจทก์ร่วมที่ ๖ ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ร่วมที่ ๗ ซึ่งเป็นมารดา และโจทก์ร่วมที่ ๘ ซึ่งเป็นบุตร ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตาย โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ต้องขาดไร้อุปการะ รวมทั้งค่าขาดไร้อุปการะในด้านการศึกษาตามกฎหมายได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ เรียกร้องค่าขาดอุปการะมานั้น โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ ไม่มีหลักฐานมาแสดง อีกทั้งค่าขาดอุปการะดังกล่าวยังเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่แน่นอน เมื่อพิเคราะห์ถึงอายุของผู้ตาย อายุของผู้ที่ได้รับการอุปการะ และพฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ร่วมที่ ๖ เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๓. ค่าเสียหายทางด้านจิตใจ เห็นว่า ค่าเสียหายทางด้านจิตใจเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทราบข่าวร้ายว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ไม่ใช่ความเสียหายตามกฎหมาย ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้สิทธิโจทก์เรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้ได้ จึงไม่กำหนดให้

สรุปแล้ว รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ จะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ เป็นค่าปลงศพ และค่าขาดอุปการะ รวมเป็นเงิน ๑,๕๔๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ ๖ เป็นค่าปลงศพ และค่าขาดอุปการะ รวมเป็นเงิน ๑,๕๔๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ เป็นค่าปลงศพ และค่าขาดอุปการะรวมทั้งค่าขาดอุปการะในด้านการศึกษา รวมเป็นเงิน ๒,๐๔๐,๐๐๐ บาท

พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐ จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๕, ๒๙๑, ๓๐๐ การกระทำของจำเลยที่ ๑, ที่ ๖ และที่ ๗ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๗ คนละ ๓ ปี ให้ปรับจำเลยที่ ๖ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท แม้จำเลยที่ ๑ ได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว รวมเป็นเงิน ๓,๓๙๔,๘๐๐ บาทก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้บริหารดำเนินกิจการเกี่ยวกับสถานบริการที่มีลักษณะการใช้งานเป็นอาคารสาธารณะ ย่อมต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานบริการจะต้องมีระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ ๑ จะต้องปฏิบัติ แต่กลับไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ประกอบการรายอื่น อันเป็นการปกป้องสังคมและประชาชนผู้ใช้บริการให้พ้นจากภยันตรายที่ไปใช้บริการตามสถานบริการ จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๗ ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงไม่รอการลงโทษเช่นกัน หากจำเลยที่ ๖ ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ และคำร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ในส่วนของจำเลยที่ ๑ ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ด้วย กับให้จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ ๔ และที่ ๕ เป็นเงิน ๑,๕๔๐,๐๐๐ บาท, ให้แก่โจทก์ร่วมที่ ๖ เป็นเงิน ๑,๕๔๐,๐๐๐ บาท, ให้แก่โจทก์ร่วมที่ ๗ และที่ ๘ เป็นเงิน ๒,๐๔๐,๐๐๐ บาท



ทานนท์ สันติพิทักษ์


สันธนา เอื้ออารักษ์



เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. อาจหมายถึง เพลง “ไอ้บ้า ไอ้บี้ ไอ้โบ้ ไอ้เบ๋” ของ เดอะ พอสซิเบิล หรือเพลง “อา-โบ-เด-เบ” ของ อมิตา มารี ยัง — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].
  2. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) — [เชิงอรรถของ วิกิซอร์ซ].




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"