คำแนะนำการศึกษา เรื่อง ประวัติพระบรมมหาราชวัง
เรื่องประวัติพระบรมมหาราชวังนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพธ์ประทานอธิบายแก่พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) ซึ่งได้กราบทูลถามเมื่อไปเฝ้าที่เกาะปีนัง เรื่องนี้ยังไม่เคยได้พิมพ์เลย เพราะมีอยู่เพียง ๒–๓ หน้ากระดาษ แต่เป็นเรื่องน่ารู้ บัดนี้ หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล โปรดให้ข้าพเจ้าจัดพิมพ์หนังสือแจกในการพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมถนอม รัชกาลที่ ๕ ซึ่งอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายในกำหนดวันที่ ๒๒ เดือนนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เรื่องประวัติพระบรมมหาราชวังนี้เหมาะแก่ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในอย่างหนึ่ง และเหมาะแก่กำหนดเวลาที่โรงพิมพ์จะสามารถพิมพ์ได้ทันด้วย จึงได้จัดเรื่องประวัติพระบรมมหาราชวังนี้ถวาย.
หวังว่า ผู้ที่ได้รับไปคงจะพอใจ และพร้อมกันทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลที่ได้ทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชบริพารทั่วหน้า.
เจ้าจอมถนอม รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรีนายสงวน และนางแข บรรจงเจริญ เกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน ทางจันคติ ตรงกับวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๘ ทางสุริยคติ มีพี่น้อง ๓ คน คือ:–
๑. | เจ้าจอมถนอม | รัชกาลที่ ๕ | ||
๒. | หม่อมพยอม | นวรัตน์ | ถึงแก่กรรมแล้ว | |
๓. | หม่อมพยง | นวรัตน์ | ” | |
๔. | นายสวัสดิ์ | บรรจงเจริญ | ” |
เมื่อเจ้าจอมถนอมมีอายุได้ ๓ ปี มารดาป่วยหนัก หม่อมทองผู้เป็นญาติจึงได้พาเข้ามาถวายสมเด็จพระปิยมาวดีให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษเพราะสงสาร อยู่ได้ ๑ ปี สมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าก็ทรงขอไปชุบเลี้ยงเป็นข้าหลวง ได้เชิญเสด็จทูลกระหม่อมขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกพระองค์ เมื่ออายุได้ ๗ ปี สมเด็จฯ โปรดให้ไปฝึกหัดเป็นละครที่คุณท้าววรจันทร์ ได้ออกโรงเป็นตัวนางเฆมขลา เป็นเหตุให้ชาววังเรียกกันว่า คุณถนอมเมฆขลา พ.ศ. ๒๔๓๒ จึงได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอม ได้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดเป็นพิเศษ ดังพวกคุณจอมด้วยกันเล่าว่า ในเวลาพระเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่น จะมีคุณถนอมอยู่เฝ้ารับใช้คนเดียวเป็นประจำ เพราะคุณถนอมรู้พระราชหฤทัยว่าจะต้องพระราชประสงค์สิ่งใด ก็หยิบถวายได้โดยที่มิต้องมีพระราชดำรัสสั่งเสียก่อน และขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีสีหน้าดีเป็นพิเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ตติยจุลจอมเกล้า
- เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓
- เข็มพระชนมายุเงิน
เจ้าจอมถนอมได้อยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้ามาตลอดชีวิต สมเด็จฯ ประทับในวัง เธอก็อยู่ในวัง ประทับที่วังสระปทุม เธอก็ตามเสด็จออกมาอยู่วังสระปทุม จนถึงอนิจจกรรม เจ้าจอมถนอมป่วยเป็นโรควักกะพิการเรื้อรังเนื่องแต่ความดันโลหิตสูง และถึงแก่อนิจจกรรมเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๖.๔๕ น. มีอายุได้ ๘๗ ปี.
๑.หนังสือเก่าซึ่งควรอ่านหาความรู้เรื่องพระบรมมหาราชวัง ว่าตามที่ฉันนึกได้ในเวลานี้ เรื่องตอนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเลือกที่และเริ่มสร้างพระบรมมหาราชวัง มีอธิบายเหตุโดยพิสดารอยู่ในหนังสือ “เรื่องตำนานวังเก่า” ที่ฉันแต่งให้หอพระสมุดพิมพ์เรื่อง ๑ อธิบายว่าด้วยวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งที่ ๑ เป็นอย่างไร มีอยู่ในเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่งในรัชกาลที่ ๓ (แต่ไม่บริบูรณ์นัก) หอพระสมุดได้พิมพ์แล้วเหมือนกันอีกเรื่อง ๑.
อธิบายการแก้ไขและก่อสร้างในพระบรมมหาราชวังเมื่อรัชกาลที่ ๒ มีอยู่ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่ฉันแต่ง ตั้งแต่หน้า ๒๓๐ จนหน้า ๒๕๖ เรื่อง ๑.
ในรัชกาลที่ ๓ มีการซ่อมแปลงปฏิสังขรณ์ในพระบรมมหาราชวังมาก ดูเหมือนฉันจะได้รวมเรื่องให้หอพระสมุดพิมพ์แล้วแจกในงานหน้าพระศพพระวิมาดาเธอฯ คราว ๑ แต่จำไม่ได้ ถ้าว่าแต่รายการที่จำได้
(๑)ซ่อมหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระมหาปราสาททั้งหมด.
(๒)แก้พลับพลาสูงของเดิมทำเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรยปราสาท.
(๓)ประตูพระราชวังเดิมเป็นประตูไม้ เปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูนทั้งหมด.
(๔)ตำหนักต่าง ๆ ที่ในวังเดิมเป็นตำหนักไม้ (เช่นตำหนักเขียวและตำหนักแดงเป็นต้น) รื้อทำเป็นตึกทั้งวัง มีพรรณนาตำหนักสมเด็จพระศรีสุราลัยซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๓ อยู่ในประกาศก่อฤกษ์พระที่นั่งจักรี พิมพ์ไว้ในหนังสือ “คอต” ของสมเด็จพระราชปิตุลาฯ เล่ม ๒ หน้า ๑๖๗.
ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสร้างและซ่อมแปลงในพระบรมมหาราชวังมาก แต่ฉันได้รวมรายการพิมพ์ไว้แล้วในหนังสือ “เรื่องสถานที่ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง”
ถ้าไปหาหนังสือต่าง ๆ ที่ได้ระบุชื่อมาอ่าน จะได้ความรู้ให้ถูกต้องดีขึ้น.
๒.ตอนนี้จะทักท้วงและบอกอธิบายตามบันทึกของเจ้าคุณต่อไป.
(๑)เรื่องย้ายบ้านจีนไปตั้งที่สำเพ็ง และเรื่องสร้างพระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท มีอธิบายพิสดารอยู่ในเรื่องตำนานวังเก่าแล้ว.
(๒)พระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท สร้างสำหรับทำการพระราชพิธีราชาภิเษกและพิธีสำคัญสำหรับพระนคร เมื่อไฟไหม้และสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน ก็สำหรับการเช่นนั้น การที่ตั้งพระศพบนพระมหาปราสาท ฉันเข้าใจว่า ตั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นปฐม เพราะฉะนั้น พิธีบรมราชาภิเษกจึงย้ายมาทำที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา เพราะพระมหาปราสาทติดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพอยู่ทุกคราว การที่ตั้งพระศพเจ้านายบนพระมหาปราสาทน่าจะมีประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ที่กรุงศรีอยุธยามีปราสาทถึง ๓ องค์ ในกรุงเทพฯ มีแต่องค์เดียว จึงต้องตั้งบนพระบรมมหาปราสาท.
(๓)เครื่องประดับมุขที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ ดูเหมือนจะสร้างเป็น ๒ ยุค ยุคแรก สร้างบานประตูมณฑปพระพุทธบาท ๔ คู่ บานประตูพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๖ คู่ ใครจะเป็นนายงาน หาทราบไม่ ยุคที่ ๒ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เป็นนายงาน มีของที่สร้างครั้งนั้น คือ:–
ข้อ๑พระแท่นเศวตฉัตร (อยู่ที่พระมหาปราสาท)
ข้อ๒พระแท่นเสด็จออกขุนนาง (ตั้งอยู่หน้าพระแท่นเศวตฉัตร)
ข้อ๓พระแท่นบรรทม (ใช้เป็นพระแท่นมณฑล อยู่บนพระมหาปราสาท)
ข้อ๔พระกระดานพิง (ดูเหมือนอยู่ที่พระราชวังดุสิต)
ข้อ๕ตู้พระสมุดคู่ ๑ (อยู่ในหอมณเฑียรธรรม)
ข้อ๖ตู้พระภูษา (อยู่ในหอมณเฑียรธรรม)
ข้อ๗ตู้มณฑปพระไตรปิฎก (อยู่ในพระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)
ถ้าบานประตูพระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามประดับมุข ก็สร้างในยุคนี้.
(๔)พระบัญชรบุษบกมาลาในพระมหาปราสาทนั้นสร้างในรัชกาลที่ ๔ (เห็นจะทำตามอย่างที่พระที่นั่งธัญญมหาปราสาทเมืองลพบุรี) ให้เข้าระเบียบกับบุษบกมาลาที่มุขเด็ดพระมหาปราสาทซึ่งมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ด้วย ประเพณีเฝ้าแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามีเป็น ๒ อย่าง คือ ถ้าเสด็จออกว่าราชการ เสด็จออกให้ข้าราชการเข้าเฝ้าในท้องพระโรง ประทับที่ช่องพระบัญชร (ที่พระที่นั่งธัญญามหาปราสาท) มีบุษบกมาลาประกอบกับช่องพระบัญชรนั้น ถ้าเสด็จออกมหาสมาคม เสด็จออกมุขเด็ด ข้าเฝ้าฯ เฝ้ากลางแจ้ง รับแขกเมืองต่างประเทศก็เป็น ๒ อย่างทำนองเดียวกัน ถ้ารับแขกเมืองใหญ่ เสด็จออกในท้องพระโรง ถ้ารับแขกเมืองน้อย (เช่นทูตเมืองทวายเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๑) เสด็จออกมุขเด็ด ดั่งนี้.
(๕)เสาเขียนลายทองในพระมหาปราสาทนั้น เมื่อเอาเสากลาง ๔ ต้นออกครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เห็นขื่อตรงหัวเสานั้นระบายสีและเขียนลายเหมือนที่อื่น จึงรู้ได้ว่า เดิมไม่มีเสาตรงนั้น เป็นของเพิ่มเข้าต่อภายกลัง เสามุมผนังอีก ๔ ต้นจะเป็นของเพิ่มขึ้นภายหลังครั้งเดียวกัน (ในรัชกาลที่ ๒) ก็เป็นได้.
(๖)พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์นั้นสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเป็นในคราวเดียวกับสร้างประตูกำแพงแก้วเป็นซุ้มมณฑป ของเดิมเป็นประตูหูช้าง.
(๗)หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้นสร้างเพิ่มเติมต่อกันมาหลายชั้น ชั้นแรกพอสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสวยราชย์ได้ปี ๑ ก็ลงมือสร้าง “พระที่นั่งใหม่” ความคิดชั้นแรกดูเหมือนจะสร้างเป็นแต่พระที่นั่งหลังเดียวสำหรับเสด็จออกรับแขกเมืองเฝ้าไปรเวตแทนพระที่นั่งบรมพิมานครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเปลี่ยนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาอีก ๒ ปี เสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์และอินเดียกลับมา จึงขยายการสร้าง “พระที่นั่งใหม่” เป็นที่เสด็จประทับ มีพระที่นั่ง ๕ องค์ด้วยกัน ต่อมาอีกสัก ๓ ปี จึงลงมือสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกับท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีนั้นแบบเดิมจะสร้างเป็นตึก ๒ ชั้น ได้ก่อขึ้นไปมากแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีประยูรวงศ์ กราบทูลขอให้ทำยอดเป็นปราสาท จึงได้แก้ไขเป็นปราสาท ๓ ยอดต่อภายหลัง.
(๘)พระที่นั่งพุดตาลถมในท้องพระโรงกลางนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) เมื่อยังเป็นพระยานครศรีธรรมราช ทำเฉลิมเกียรติในสกุล เพราะเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) บิดาของท่าน เคยทำพระราชยานถม (กับพระเก้าอี้ถมซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ) ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าพระยานคร (น้อย) ปู่ของท่าน ได้เคยทำพระแท่นถมสำหรับเสด็จออกขุนนาง และพนักถมสำหรับเรือพระที่นั่งกราบ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน.
(๘)รูปภาพที่ติดฝาท้องพระโรงกลางนั้น
ก.รูปโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ที่วังเวอซาย เดิมพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ตรัสสั่งให้เขียนไว้เฉลิมพระเกียรติ ต่อมาถึงสมัยเมื่อเกิดจราจลในประเทศฝรั่งเศส มีผู้เอาไปจากประเทศฝรั่งเศส ไปตกอยู่ที่คลังรูปภาพ ณ เมืองมิวนิคในเยอรมนี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้จำลองมา.
ข.รูปพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย ที่วังปักกิงฮัม เป็นแต่เขียนจำลองจากรูปในหนังสือพิมพ์ข่าว ไม่ได้มีรูปเขียนขึ้นไว้โดยเฉพาะ.
ค.รูปเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เข้าเฝ้าเอมปเรอนะโปเลียนที่ ๓ ฝรั่งเศส ที่วังฟอนเตนโบล รูปนี้เอมปเรอนะโปเลียนโปรดให้อาจารย์เจโรมเขียนเฉลิมพระเกียรติ เขียนเหมือนกันเป็น ๒ แผ่น ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแผ่น ๑ เอาไว้ในประเทศฝรั่งเศส (เดี๋ยวนี้อยู่ในคลังรูปภาพที่วังเวอซาย) แผ่น ๑.
ฆ.รูปราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่งอนันตสมาคม ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ รูปนี้เอมปเรอนะโปเลียนให้ช่างเขียนมากับทูต เข้าใจว่าเขียนเป็น ๒ แผ่นเหมือนกัน.
(๑๐)พระรูปหมู่ในห้องปราสาทองค์ตะวันออก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ใหเขียนในประเทศอิตาลีเมื่อเสด็จยุโรปคราวแรก.
(๑๑)พระบรมรูปและพระรูปเขียนสีที่ติดไว้ ณ พระที่นั่งจักรีก่อนรัชกาลปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าประวิช (ต๋ง) ชุมสาย เป็นผู้คิดแบบ พระองค์เจ้าปฤษภางค์เป็นผู้ว่าให้ช่างเขียนในยุโรปสำหรับมาติดในพระที่นั่งจักรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕.
๓.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ เดิมเป็นพระที่นั่งโถง เสาไม้ มาก่อผนังและเปลี่ยนเป็นเสาก่อเมื่อรัชกาลที่ ๓ หลังขวางข้างหน้าสร้างในรัชกาลที่ ๔ ต่อมุขอออกไป ๒ ข้างในรัชกาลที่ ๖.
๔.พระที่นั่งบุษบกมาลาในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แต่เดิมตั้งบุษบกเตี้ยกว่านี้ ทำฐานชั้นล่างหนุนให้สูงขึ้นไปเมื่อรัชกาลที่ ๓
๕.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลกทรงพระชรา เสร็จลงมาประทับและสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลฯ เดิมไม่ได้เขียนรูปภาพที่ฝาผนัง มาเขียนในรัชกาลที่ ๓.
๖.ท้องพระโรงหน้า ระวางพระที่นั่งไพศาลฯ กับพระที่นั่งจักรพรรดิฯ เดิมเสาไม้และโถง มาทำฝาเปลี่ยนเป็นเสาก่อในรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับพระที่นั่งอมรินทรฯ.
๗.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สร้างในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จประทับทุกพระองค์ ไม่มีเว้น.
๘.พระที่นั่งสนามจันทร หอพระสุราลัยพิมาน หอพระธาตุมณเฑียร สร้างในรัชกาลที่ ๒ สีหบัญชรสร้างในรัชกาลที่ ๔.
๙.พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ กับหอเสถียรธรรมปริต สร้างในรัชกาลที่ ๑ เดิมทำด้วยไม้ เป็นพระที่นั่งโถงทั้ง ๒ หลัง เรียกว่า “พระที่ทรงปืนซ้ายขวา” ถึงรัชกาลที่ ๓ เปลี่ยนเสาเฉลียงเป็นก่ออิฐ แต่ยังเป็นพระที่นั่งโถงทั้ง ๒ องค์ ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงแก้องค์ข้างตะวันออกเป็นหอเสถียรธรรมปริต ฝากระจก พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นั้นทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕.
๑๐.พระที่นั่งราชฤดี เดิมเป็นตึกอย่างฝรั่ง ๒ ชั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสำหรับให้ฝรั่งเฝ้า ถึงรัชกาลที่ ๕ รื้อสร้างใหม่เป็นเก๋งอย่างจีน ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงสร้างอย่างเป็นอยู่บัดนี้.
๑๑.มหิศรปราสาทนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอุทิศเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นได้ทรงสร้างปราสาทไว้ทุกพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้างดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างพุทไธสวรรยปราสาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างอาภรณ์พิโมกขปราสาท ถึงรัชกาลที่ ๕ ปรารภจะสร้างปราสาทแต่แรกเสวยราชย์ เดิมคิดจะสร้างปราสาทอย่างพระที่นั่งพุทไธสวรรยบนกำแพงพระราชวังทางด้านแม่น้ำ สำหรับทอดพระเนตรซ้อมกระบวรทหารเรือ จะขนานนามว่า “พระที่นั่งทัศนานิกร” อยู่ตรงกำแพงที่ก่อยื่นออกไปยังปรากฏอยู่ ตวปราสาทก็ได้ยกโครงไม้แล้วค้างมา เลิกเมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีเป็นปราสาท.
- เรื่องนี้ได้ทรงประทานเจ้าคุณอนุรักษ์ฯ
- โดยพระหัตถ์ที่เกาะปีนัง. มลายู.
- ร.พ. มหามกุฏฯ หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
- นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา ๑๖/๗/๒๕๐๕
- พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
- นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๕๐๕
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก