งานแปล:รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ค.ศ. 1791)/ส่วนที่ 3

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ค.ศ. 1791), แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย วิกิซอร์ซ
3. พระราชสารถึงสมัชชาแห่งชาติ ลงวันที่ 13 กันยายน 1791โดย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16
พ ร ะ ร า ช ส า ร
จากพระมหากษัตริย์
ถึงสมัชชาแห่งชาติ
วันที่ 13 กันยายน 1791

ท่านทั้งหลาย

ตราสารรัฐธรรมนูญที่ท่านเสนอให้ข้ายอมรับนั้น ข้าได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ข้ายอมรับตราสารนั้น และข้าจะให้ดำเนินการตามนั้น ในโอกาสอื่นประกาศเท่านี้ก็คงพอ แต่ในวันนี้ข้ามีหน้าที่ต่อประโยชน์ของชาติ ข้าจึงเห็นเป็นหน้าที่ของข้าที่จะให้ความในใจข้าได้เป็นที่รับรู้

นับแต่เริ่มรัชกาลข้ามา ข้าโหยหาการปฏิรูปสิ่งต่าง ๆ ที่มิถูกมิควร และข้าพอใจจะเอาความเห็นของสาธารณชนเป็นประมาณในการกระทำทั้งหลายของรัฐบาล แต่สาเหตุหลายอย่างยังผลให้รายรับรายจ่ายของรัฐผิดสัดส่วนกันยิ่งนัก ซึ่งในเรื่องนี้เราควรนับรวมสถานการณ์การคลังตอนข้าขึ้นครองบัลลังก์ กับค่าใช้จ่ายมโหฬารในการทำสงครามเกียรติยศ อันยืดเยื้อมาช้านานโดยเก็บภาษีเพิ่มมิได้เลย

ความเลวร้ายนั้นใหญ่หลวงจนกระเทือนใจข้า ข้าจึงใช่แต่จะหาลู่ทางสะสางมัน ข้ารู้สึกจำเป็นต้องป้องกันมิให้มันหวนคืนมาด้วย ข้าจึงได้ริเริ่มโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจเป็นนิจว่า ปวงประชาจะอยู่เย็นเป็นสุข และเพื่อนำกฎเกณฑ์ที่ตายตัวมากำกับอำนาจที่ฝากไว้กับข้านั้นทีเดียว ข้าได้กู่ร้องหา[ชนใน]ชาติไปรอบตัวให้มาดำเนินโครงการนั้นแล้ว

ในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติ ความตั้งใจของข้าก็มิเคยแปรผัน เมื่อท่านได้ปฏิรูปสถาบันเก่า ๆ แล้วเริ่มนำสิ่งทดลองแรก ๆ ในงานของท่านมาแทนที่สถาบันเหล่านั้น ข้าจึงแสดงความเห็นชอบต่อสิ่งดังกล่าวโดยไม่รีรอ เพื่อที่ข้าจะได้รู้[เนื้อหา]รัฐธรรมนูญทั้งหมด ข้าชื่นชอบการสร้าง[เนื้อหา]หลายส่วนของรัฐธรรมนูญไปก่อนที่ข้าจะสามารถตัดสิน[เนื้อหา]ทั้งหมดได้เสียอีก และถ้าความวุ่นวายที่อยู่คู่การปฏิวัติมาแทบทุกช่วงได้มาทำให้ข้าเจ็บช้ำน้ำใจถี่ไป ข้าก็หวังว่า กฎหมายจะกลับมาใช้บังคับได้เมื่อไปอยู่ในมือผู้ถืออำนาจคนใหม่ และหวังว่า ขณะบรรลุจุดหมายปลายทางในกิจของท่านนั้น วันเวลาทั้งหมดจะช่วยให้กฎหมายฟื้นคืนกลับมาเป็นที่เคารพอีกครั้ง อันเป็นความเคารพที่ถ้าไม่มีแล้ว ไหนเลยประชาชนจะมีเสรีภาพหรือความผาสุกได้ ข้ายืนหยัดอยู่ในความหวังดังนี้มาช้านานแล้ว และปณิธานของข้าก็มิเคยแปรเปลี่ยนจนกระทั่งความหวังละจากข้าไป ขอให้ทุกท่านหวนนึกถึงคราที่ข้าไปไกล[1] จากปารีส รัฐธรรมนูญจวนจะเสร็จอยู่แล้ว แต่กระนั้น อำนาจของกฎหมายดูจะเสื่อมถอยลงทุกวัน ความเห็นแตกย่อยออกเป็นแขนงมากมายเกินกว่าจะยุติได้ มีแต่คำแนะนำสุดจะเกินจริงเท่านั้นที่ดูจะได้รับความนิยม งานเขียนมีเสรีจนถึงขีดสุด[2] ไม่ว่าอำนาจใดก็ไม่เป็นที่เคารพ

ข้ามองไม่ออกอีกต่อไปถึงลักษณะของเจตจำนงทั่วไปในกฎหมายซึ่งข้าได้เห็นว่า สิ้นอำนาจเสื่อมผลบังคับไปทุกที่ทุกทาง นั่นแหละ ข้าจึงต้องกล่าวว่า ถ้าท่านนำรัฐธรรมนูญมาเสนอข้า ข้าคงเชื่อไม่ลงว่า ประโยชน์ของประชาชน (ซึ่งเป็นหลักหนึ่งเดียวในการประพฤติตัวของข้าเสมอมา) จะเปิดช่องให้ข้ายอมรับรัฐธรรมนูญได้ ความรู้สึกของข้านั้นมีเพียงอย่างเดียว โครงการที่ข้าทำนั้นก็มีเพียงอย่างเดียว ข้าอยากจะเอาตัวเองออกไปจากฝักฝ่ายทั้งหลาย แล้วหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วเจตจำนงของชาติคืออะไร

ทุกวันนี้ แรงกระตุ้นที่เคยหนุนนำข้าก็ไม่เหลืออยู่แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ความลำบากและยากเข็ญที่ข้าเคยพร่ำรำพันถึงก็ได้กระเทือนใจท่านเหมือนกันกับข้า ท่านได้แสดงความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความเรียบร้อย ท่านได้ตระหนักถึงความไร้วินัยในกองทัพ และท่านได้รับรู้แล้วถึงความจำเป็นที่จะต้องปราบปรามการใช้สื่อไปในทางมิชอบ การแก้ไขปรับปรุงงานของท่านนั้นก่อให้เกิดบทบัญญัติหลายบทในหมู่พระราชกำหนดกฎหมายซึ่งท่านได้เสนอต่อข้าว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ท่านได้สร้างรูปแบบทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปรับปรุงสิ่งทั้งหลายที่ท่านได้ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ จนที่สุด ข้าก็ไม่สงสัยอีกต่อไปว่า เจตจำนงของประชาชนคืออะไร ข้าได้เห็นเจตจำนงนี้ปรากฏแล้ว ทั้งผ่านการที่ท่านยึดโยงเจตจำนงนี้ไว้กับผลงานของท่าน และการที่ท่านผูกพ่วงเจตจำนงนี้ไว้กับการธำรงรักษาการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์

ข้าจึงยอมรับรัฐธรรมนูญ ข้าขอรับเป็นธุระที่จะธำรงรักษารัฐธรรมนูญไว้ภายใน ป้องกันรัฐธรรมนูญให้พ้นภัยจากภายนอก และจัดให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการทุกอย่างที่รัฐธรรมนูญให้อยู่ในอำนาจข้า

เมื่อได้ทราบถึงความเลื่อมใสที่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างยิ่งมีต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าก็ขอประกาศว่า ข้าจะเลิกเรียกหาความร่วมมือ[3] ดังที่ข้าเคยวิงวอนมาแล้วในงานชิ้นนี้ และเมื่อข้าบอกเลิกฉะนี้แล้ว คนอื่นใดจะโวยวายในเรื่องนี้ก็ย่อมไม่สิทธิ์ ด้วยข้าจะไม่รับผิดชอบต่อสิ่งอื่นใดนอกจากชาติ

ถึงอย่างนั้น ข้าคงไร้ความจริงใจ ถ้าข้ากล่าวว่า ในวิธีดำเนินการและบริหารนั้น ข้ารู้สึกได้ว่า มีการพากเพียรทุกอย่างที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนและรักษาความสามัคคีของทุกภาคส่วนในจักรวรรดิอันไพศาลนี้อยู่ แต่เนื่องจากตอนนี้ ความเห็นในเรื่องนี้ก็ยังไม่ลงรอยกัน ข้าจึงยอมให้เอาประสบการณ์เพียงอย่างเดียวเป็นตัวตัดสินได้ ก็เมื่อข้าได้จัดให้ปฏิบัติทุกวิธีการที่มอบหมายให้ข้าแล้วโดยซื่อตรง ใครก็ตำหนิข้ามิได้ ส่วนชาติ ซึ่งประโยชน์ของชาติเท่านั้นที่ควรนำไปใช้เป็นเกณฑ์ ก็จะได้อธิบายตัวเองตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญสงวนไว้ให้

กระนั้น ท่านทั้งหลาย เพื่อการเสริมสร้างเสรีภาพ เพื่อเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ และเพื่อความผาสุกส่วนตนของชาวฝรั่งเศสทุกคน มีประโยชน์บางประการที่ก่อให้เกิดหน้าที่จำเป็นซึ่งต้องการให้เราร่วมแรงกันทุกรูปแบบ ประโยชน์เหล่านั้น คือ ความเคารพต่อกฎหมาย การฟื้นฟูความเรียบร้อย และการหลอมรวมพลเมืองทั้งหมดไว้ด้วยกัน[4] ก็เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติแน่นอนแล้ว ชาวฝรั่งเศสซึ่งดำรงชีพอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันพึงรู้เถิดว่า ศัตรูนั้นหาใช่ใครอื่นนอกจากเหล่าผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายและความไร้รัฐบาลนั่นแล้วที่เป็นศัตรูร่วมกันของเรา

ข้าจะโรมรันพวกมันด้วยอำนาจทั้งหมดของข้า การที่ท่านกับผู้รับช่วงจากท่านจะช่วยหนุนข้าอย่างแข็งขันก็ดี การที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครองอย่างเสมอภาคแก่บรรดาผู้แจ้งพฤติกรรมพวกมันต่อกฎหมาย โดยที่จะไม่มุ่งครอบงำความคิดก็ดี การที่คนทั้งหลายผู้อาจจะได้ไปเสียจากบ้านเมืองเพราะเกรงจะถูกย่ำยีและบีฑานั้นจะมั่นใจได้ว่า จะพบความปลอดภัยและอุ่นใจเมื่อหวนคืนประเทศก็ดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ และขอให้เรายอมลืมเรื่องที่แล้วมา จะได้ระงับความโกรธเกลียดเพื่อทุเลาสิ่งเลวร้ายซึ่งการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ก่อให้เกิดเป็นผลพวงอยู่เสมอ และจะได้เริ่มดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่วันนี้[5] เพื่อที่ข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีซึ่งไม่มีบ่อเกิดเป็นเรื่องอื่นใดนอกจากเหตุการณ์ปฏิวัตินั้นจะระงับสิ้นไปในการปรองดองถ้วนหน้า ข้ามิได้กำลังพูดถึงแต่บรรดาผู้ถูกหมายหัวเพียงเพราะความสัมพันธ์ที่มีกับข้าหรอก ก็ท่านจะมองพวกเขาเป็นคนผิดได้หรือ? ส่วนผู้ที่ได้เอากฎหมายมาไล่ล่าพวกเขาจนเกินไป ซึ่งข้าเข้าใจได้ว่า มีการโจมตีส่วนตัวอยู่ด้วยนั้น ข้ามีความรู้สึกเกี่ยวกับคนเหล่านี้ว่า ข้า[ควรวางตัว]เป็นกษัตริย์ของชาวฝรั่งเศสทุกคน ลงชื่อ หลุยส์

ป.ล. ท่านทั้งหลาย ข้าคิดว่า รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นที่ไหน ข้าก็ควรไปประกาศการยอมรับรัฐธรรมนูญโดยพิธีการที่นั่น เพราะฉะนั้น เที่ยงวันพรุ่งนี้ ข้าจะไปที่สมัชชาแห่งชาติเอง

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. คำกริยา "s'éloigner" แปลตรงตัวว่า ทำตนให้ห่างไกล(จาก) ซึ่ง Boïelle & V. Payen-Payne (1903, p. 202) ว่า สามารถแปลได้ว่า ไปไกล(จาก), ถอยห่าง(จาก), ถอนตัว(จาก), หันเห(จาก), ตีตัว(จาก), ทอดทิ้ง ฯลฯ (to go away, to recede, to withdraw, to swerve, to deviate, to forsake, etc) ทั้งนี้ ข้อความตรงนี้คงหมายถึงเหตุการณ์ที่เรียก "การเสด็จหนีไปวาแรน" (fuite à Varennes) ในช่วงวันที่ 20–21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จหนีออกจากกรุงปารีสเพื่อไปรวมกำลังที่เมืองมงเมดี (Montmédy) มายึดอำนาจคืน แต่ถูกจับกุมที่เมืองวาแรน (Varennes) เสียก่อน เพราะข้อความถัดมาระบุว่า รัฐธรรมนูญใกล้จะเสร็จ และการเสด็จหนีนั้นก็เกิดขึ้นราวสี่เดือนก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1791 นี้เอง) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. CNRTL (2012b) ว่า คำนาม "licence" โดยทั่วไปหมายถึง การอนุญาต (permission) หรือใบอนุญาต (document écrit correspondant à une permission) และยังสามารถหมายถึง เสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพที่มากเกินไป (liberté que se donne quelqu'un; liberté généralement excessive que se donne une personne, parfois un groupe de personnes) ส่วนข้อความข้างต้นนี้แปลตรงตัวได้ว่า "เสรีภาพของงานเขียนอยู่ในจุดสุดสูง" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. CNRTL (2012a) ว่า คำนาม "concours" มีความหมายหลายอย่าง เป็นต้นว่า (1) การรวมตัวของบุคคลในที่เดียวกัน (rassemblement de personnes en un même lieu) เช่น "grand concours de peuple" (คนกลุ่มใหญ่), (2) การมีส่วนร่วม หรือความร่วมมือ (participation, coopération) เช่น "La femme...ne peut donner...à titre gratuit...sans le concours du mari dans l'acte..." (ภริยา...ไม่อาจให้...โดยเสน่หา...ถ้าสามีไม่ได้มีส่วนร่วมในการนั้นด้วย...), (3) การแข่งขันชิงรางวัล (jeux dotés de prix) เช่น "concours de beauté" (การประกวดความงาม) ฯลฯ ในที่นี้แปลตาม (2) เพราะเข้าใจว่า อ้างถึงข้อความก่อนหน้าที่ระบุว่า กู่ร้องหา(ชนใน)ชาติให้มาดำเนินโครงการ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. CNRTL (2012c) ว่า คำนาม "réunion" สามารถหมายถึง (1) การเรียงไว้เคียงกัน จัดให้ชิดกัน หรือจัดไว้ด้วยกัน (action de mettre côte à côte, de faire se toucher, de mettre ensemble), (2) กลุ่มคนที่รวมตัวกันในสถานที่อันเจาะจงเพื่อวัตถุประสงค์อันเจาะจง, ช่วงเวลาที่มีการรวมตัวกันเช่นนั้น, สภาวะที่รวมตัวกันเช่นนั้น (ensemble de personnes réunies en un lieu déterminé, dans un but déterminé; temps pendant lequel elles sont réunies; fait d'être réunies), (3) สมาคมทางการเมือง (association politique), (4) การถูกรวมเข้าด้วยกัน เพราะการมีชีวิตหรือผลประโยชน์ร่วมกัน หรือเพราะสายใยร่วมกัน (fait d'unir par une communauté de vie ou d'intérêt, par un lien commun) ฯลฯ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ต้นฉบับแปลตรงตัวว่า "เพื่อที่กฎหมายสามารถเริ่มได้รับการดำเนินการตามอย่างเต็มที่วันนี้" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)

อ้างอิง

แก้ไข
  • Boïelle, J., & V. Payen-Payne, de (1903). French and English Dictionary: Compiled From the Best Authorities in Both Languages. London: Cassell & Company. OCLC 8564736. 
  • cnrtl. (2012a). "Concours". Ortolang. 
  • cnrtl. (2012b). "Licence". Ortolang. 
  • cnrtl. (2012c). "Réunion". Ortolang.