งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทที่ 5

แรงงานรับจ้างและทุน โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 5: ธรรมชาติและการเติบโตของทุน

บท V
 
ธรรมชาติและการเติบโตของทุน

ทุนประกอบด้วยวัตถุดิบ อุปกรณ์ใช้แรงงาน และปัจจัยการยังชีพหลากชนิด ที่ใช้ในการผลิตวัตถุดิบใหม่ ๆ อุปกรณ์ใหม่ ๆ และปัจจัยการยังชีพใหม่ ๆ องค์ประกอบของทุนเหล่านี้แรงงานสร้างขึ้นมา เป็นผลผลิตของแรงงาน เป็นแรงงานสะสม แรงงานสะสมที่ทำหน้าที่เป็นปัจจัยในการผลิตอย่างใหม่คือทุน นักเศรษฐศาสตร์เขาว่าอย่างนั้น แล้วทาสคนดำคืออะไร? คือชายผิวดำคนหนึ่ง คำอธิบายอย่างนี้มีประโยชน์ไม่แพ้กัน

คนดำคนหนึ่งเป็นคนดำ กลายเป็นทาสภายใต้เงื่อนไขบางประการเท่านั้น เครื่องปั่นฝ้ายเป็นเครื่องไว้ปั่นฝ้าย กลายเป็นทุนภายใต้เงื่อนไขบางประการเท่านั้น หากถูกพรากไปจากเงื่อนไขเหล่านี้ ก็เป็นทุนไม่น้อยกว่าที่ทองคำเป็นเงินตรา หรือน้ำตาลเป็นราคาของน้ำตาล

ในกระบวนการผลิต มนุษย์ใช่ทำงานกับธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังทำงานกับกันและกัน มนุษย์ผลิตได้เมื่อทำงานด้วยกันในบางกิริยาและแลกเปลี่ยนกิจกรรมซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะผลิต มนุษย์จะเชื่อมต่อและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน และภายในการเชื่อมต่อและความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้เท่านั้นที่อิทธิพลจะกระทำต่อธรรมชาติ ที่การผลิตจะเกิดขึ้น

ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ผลิตและเงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนกิจกรรมกับการมีส่วนร่วมในกิจการผลิตโดยรวมย่อมแตกต่างกันไปตามลักษณะของปัจจัยการผลิต การค้นพบอุปกรณ์ทำสงครามใหม่ ๆ เช่นอาวุธปืน ก็ได้เปลี่ยนโครงสร้างภายในของกองทัพไปทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลที่ประกอบกันเป็นกองทัพและให้ทำงานเป็นกองทัพได้ก็แปรสภาพไป และความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละกองทัพก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

เราจึงเห็นว่าภายในของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ปัจเจกบุคคลผลิต ความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิตเปลี่ยนและแปรสภาพไปตามความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของวัตถุปัจจัยการผลิต ของพลังการผลิต ความสัมพันธ์การผลิตโดยรวมประกอบกันเป็นสิ่งที่เรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม สังคม และยิ่งกว่านั้น สังคมที่ระดับชั้นการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ขั้นหนึ่ง สังคมซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างเฉพาะตัว สังคมโบราณ สังคมศักดินา สังคมกระฎุมพี (หรือทุนนิยม) เป็นต้นคือองค์รวมของความสัมพันธ์ทางสังคมดังกล่าว แต่ละอันเป็นระดับชั้นการพัฒนาขั้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ทุนก็เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิตอย่างหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์การผลิตแบบกระฎุมพี ความสัมพันธ์การผลิตของสังคมกระฎุมพี ปัจจัยการยังชีพ อุปกรณ์ใช้แรงงาน วัตถุดิบ องค์ประกอบของทุน——ผลิตขึ้นมาและสะสมภายใต้เงื่อนไขทางสังคมอย่างหนึ่ง ภายในความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหนึ่งใช่หรือไม่? มันถูกนำมาใช้ผลิตใหม่ ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมอย่างหนึ่ง ภายในความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหนึ่งใช่หรือไม่? และผลผลิตซึ่งใช้ผลิตใหม่กลายเป็นทุนเพราะลักษณะทางสังคมอันจำเพาะนี้ไม่ใช่หรือ?

ทุนใช่ประกอบขึ้นจากปัจจัยการยังชีพ อุปกรณ์ใช้แรงงาน และวัตถุดิบเท่านั้น ใช่แต่ผลผลิตเชิงวัตถุ: แต่ประกอบขึ้นจากมูลค่าแลกเปลี่ยนด้วย ผลผลิตที่เป็นองค์ประกอบทั้งหมดเป็นสินค้า ด้วยเหตุนี้ ทุนไม่ใช่เพียงผลรวมของผลผลิตเชิงวัตถุ แต่เป็นผลรวมของสินค้า ของมูลค่าแลกเปลี่ยน ของปริมาณทางสังคม ทุนยังคงเป็นทุน ไม่ว่าแทนขนแกะด้วยฝ้าย แทนข้าวสาลีด้วยข้าว หรือแทนรถไฟด้วยเรือกลไฟ ตราบใดที่ฝ้าย ข้าว และเรือกลไฟ——กายของทุน——มีมูลค่าแลกเปลี่ยนเท่าเดิม ราคาเท่าเดิม เท่ากับขนแกะ ข้าวสาลี และรถไฟ ซึ่งเป็นร่างของทุนมาก่อน รูปกายของทุนอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นนิตย์ ขณะที่ทุนไม่เปลี่ยนไปเลยแม้แต่น้อย

แต่ถึงแม้ว่าทุนล้วนเป็นผลรวมของสินค้า หรือของมูลค่าแลกเปลี่ยน ไม่ได้หมายความว่าผลรวมของสินค้าหรือมูลค่าแลกเปลี่ยนใด ๆ ล้วนเป็นทุน

ผลรวมของมูลค่าแลกเปลี่ยนล้วนเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน มูลค่าแลกเปลี่ยนแต่ละค่าเป็นผลรวมของมูลค่าแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น: บ้านหนึ่งหลังราคาหนึ่งพันเหรียญเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนหนึ่งพันเหรียญ; กระดาษหนึ่งแผ่นราคาหนึ่งเซนต์เป็นผลรวมของมูลค่าแลกเปลี่ยนหนึ่งร้อยของเศษหนึ่งส่วนร้อยเซนต์ ผลผลิตที่แลกเปลี่ยนกับผลผลิตอื่น ๆ ได้คือสินค้า อัตราส่วนที่แน่นอนที่แลกเปลี่ยนได้คือมูลค่าแลกเปลี่ยน หรือหากแสดงออกเป็นเงินตราคือราคา ปริมาณของผลผลิตไม่ส่งผลต่อลักษณะความเป็นสินค้า ความเป็นตัวแสดงให้มูลค่าแลกเปลี่ยน และความมีราคา ไม่ว่าต้นไม้จะสูงหรือเตี้ยก็ยังคงเป็นต้นไม้ ไม่ว่าเราจะแลกเปลี่ยนเหล็กในหน่วยเพนนีเวทหรือฮันเดรดเวทกับสินค้าอย่างอื่น ลักษณะของมัน: ที่เป็นสินค้า เป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปหรือ? จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากหรือน้อยกว่า ราคาสูงหรือต่ำกว่า ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณ

อย่างนั้น ผลรวมของสินค้า ของมูลค่าแลกเปลี่ยน กลายเป็นทุนอย่างไร?

ด้วยการคงสภาพเป็นพลังทางสังคมอันอิสระ กล่าวคือเป็นพลังของส่วนหนึ่งของสังคม และการพอกพูนด้วยการแลกเปลี่ยนกับพลังแรงงานโดยตรงที่มีชีวิต

การมีอยู่ของชนชั้นผู้ยากไร้ซึ่งสิ่งใดเว้นแต่สมรรถภาพในการทำงานเป็นเงื่อนไขจำเป็นก่อนจะมีทุน

การปกครองของแรงงานสะสมในอดีตที่กลายเป็นวัตถุเหนือแรงงานโดยตรงที่มีชีวิตคือสิ่งที่ตราให้แรงงานสะสมกลายเป็นทุน

ทุนไม่ได้อยู่ที่ว่าแรงงานสะสมทำหน้าที่เป็นปัจจัยแก่การผลิตรอบใหม่ให้แรงงานเป็น ๆ แต่อยู่ที่ว่าแรงงานที่มีชีวิตนั้นทำหน้าที่เป็นปัจจัยแก่การคงสภาพและทวีคูณมูลค่าแลกเปลี่ยนให้แรงงานสะสม

  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน