งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทที่ 6

แรงงานรับจ้างและทุน โดย คาร์ล มาคส์, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 6: ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานรับจ้างกับทุน

บท VI
 
ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานรับจ้างกับทุน

เกิดอะไรขึ้นบ้างในการแลกเปลี่ยนระหว่างนายทุนกับแรงงานรับจ้าง?

กรรมกรแลกพลังแรงงานได้ปัจจัยการยังชีพมา แต่นายทุนแลกปัจจัยการยังชีพแล้วได้แรงงานไป กิจกรรมการผลิตของกรรมกร พลังสร้างสรรค์ที่คนงานใช้ทดแทนสิ่งที่บริโภคไป และใช้มอบมูลค่าให้แรงงานสะสมมีมากว่าที่เคย กรรมกรได้เศษเสี้ยวหนึ่งของปัจจัยการยังชีพที่มีอยู่แล้วมาจากนายทุน ปัจจัยการยังชีพนี้แก่เขาแล้วมีไว้สำหรับอะไร? สำหรับการบริโภคในทันที ทว่าทันทีที่บริโภคปัจจัยการยังชีพ มันสูญไปไม่อาจหวนคืนมา เว้นแต่จะใช้เวลาที่ปัจจัยเหล่านี้ผดุงชีพไว้มาผลิตปัจจัยการยังชีพครั้งใหม่ มาสร้างมูลค่าใหม่ทดแทนมูลค่าที่สูญไปในการบริโภคด้วยแรงงานของตัว แต่พลังการผลิตซ้ำอันประเสริฐนี้เองที่กรรมกรยกให้นายทุนแลกกับปัจจัยการยังชีพ เหตุฉะนี้ เขาเสียมันไปเพื่อตัวเขาเอง

ยกตัวอย่าง กรรมกรผู้หนึ่งทำงานทั้งวันในนาของเกษตรกรผู้หนึ่งแลกกับหนึ่งเหรียญ และจึงสร้างผลตอบแทนให้เขาได้สองเหรียญ เกษตรกรไม่เพียงได้คืนมูลค่าที่มอบแก่แรงงานรายวันไป แต่ได้ถึงสองเท่า ดังนั้น เขาบริโภคหนึ่งเหรียญที่ให้กรรมกรรายวันไปได้ดอกผลอย่างงาม พลังแรงงานของกรรมกรรายวันที่ซื้อมาด้วยหนึ่งเหรียญ สร้างผลผลิตจากดินได้มูลค่าสองเท่า ได้สองเหรียญจากหนึ่งเหรียญ ในทางตรงข้าม กรรมกรรายวันผู้นี้ได้มาหนึ่งเหรียญชดเชยพลังการผลิตของเขา ผลอันที่เพิ่งยกให้เกษตรกรไป ซึ่งเขาเอาไปแลกกับปัจจัยการยังชีพ ปัจจัยการยังชีพที่บริโภคไปไม่ช้าก็เร็ว หนึ่งเหรียญนั้นจึงบริโภคไปในสองลักษณะ——อย่างเกิดผลในส่วนของนายทุน เพราะแลกกับพลังแรงงาน ซึ่งนำพามาซึ่งสองเหรียญ; อย่างไม่เกิดผลในส่วนของคนงาน เพราะแลกกับปัจจัยการยังชีพ ซึ่งจะหายสาบสูญ เอามูลค่ากลับมาดังเดิมได้ด้วยการแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรเหมือนเดิมเท่านั้น ทุนจึงสันนิษฐานแรงงานรับจ้าง แรงงานรับจ้างสันนิษฐานทุน ทั้งสองเป็นเงื่อนไขของกันและกัน ทั้งสองให้กำเนิดซึ่งกันและกัน

คนงานในโรงงานฝ้ายผลิตแต่สินค้าฝ้ายจริงหรือ? เปล่า เขาผลิตทุน เขาผลิตมูลค่าซึ่งรับหน้าที่ใหม่มาบัญชางานของเขาเอง และสร้างมูลค่าใหม่ขึ้นด้วยการนี้

ทุนทวีตัวได้ด้วยการแลกเปลี่ยนตัวเองกับพลังแรงงานเท่านั้น ด้วยการปลุกชีพแรงงานรับจ้าง พลังแรงงานของกรรมกรรับจ้างแลกเปลี่ยนตัวเองกับทุนได้ด้วยการเพิ่มทุนเท่านั้น ด้วยการเสริมกำลังแก่อำนาจอันเป็นนายทาสของตัว การเพิ่มทุน จึงเป็นการเพิ่มกรรมาชีพ กล่าวคือชนชั้นแรงงาน

และเหตุนั้น กระฎุมพีและผองพวกนักเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่าผลประโยชน์ของนายทุนและกรรมกรนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน และแท้จริงแล้วก็เป็น! คนงานจะตายหากทุนปล่อยให้ว่าง ทุนจะตายหากไม่หาเอาจากพลังแรงงาน จะหาเอาได้ ก็ต้องซื้อมา ยิ่งทุนที่ไว้ผลิต——ทุนการผลิต——มากขึ้นเร็วเท่าใด อุตสาหกรรมจะยิ่งรุ่งเรือง กระฎุมพีจะยิ่งร่ำรวย ธุรกิจจะยิ่งเฟื่องฟู นายทุนจะยิ่งต้องการคนงาน คนงานจะยิ่งขายตนได้แพงขึ้น

การเติบโตของทุนการผลิตอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการที่กรรมกรจะได้มีขีวิตที่ไม่เลว

แต่การเติบโตของทุนการผลิตคืออะไร? คือการเติบโตของอำนาจที่แรงงานสะสมมีเหนือแรงงานมีชีวิต การเติบโตของการปกครองของกระฎุมพีเหนือชนชั้นแรงงาน เมื่อแรงงานรับจ้างผลิตความมั่งคั่งแปลกปลอมที่มาครอบงำมัน อำนาจปรปักษ์ ทุน แล้วปัจจัยการจ้างงาน ก็คือปัจจัยการยังชีพ จะไหลกลับมาหามัน ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของทุนอีกครั้ง ต้องมาเป็นคานงัดกระชากทุนไปสู่การเร่งขยายตัว

เมื่อกล่าวว่าผลประโยชน์ของทุนกับผลประโยชน์ของคนงานเป็นสิ่งเดียวกัน แปลได้แบบเดียว ว่าทุนและแรงงานรับจ้างเป็นสองด้านของความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกัน อันหนึ่งวางเงื่อนไขอีกอันในแบบเดียวกับที่เจ้าหนี้และลูกหนี้วางเงื่อนไขกันและกัน

ตราบใดที่กรรมกรรับจ้างเป็นกรรมกรรับจ้าง พวกเขาก็ต้องพึ่งพาทุน สหคามแห่งผลประโยชน์ระหว่างคนงานกับนายทุนที่คุยโวนั้นก็เพียงเท่านี้เอง

เมื่อทุนเติบโต มวลของแรงงานรับจ้างจะเติบโต จำนวนคนงานรับจ้างจะเพิ่มพูน กล่าวได้ว่า อำนาจของทุนครอบงำเหนือมวลของปัจเจกยิ่งกว่าเดิม

สมมุติในกรณีที่ยินดีที่สุด: หากทุนการผลิตเติบโต อุปสงค์แรงงานจะเติบโต ราคาของพลังแรงงาน ค่าจ้าง ก็จะสูงขึ้น

บ้านหลังหนึ่งอาจกว้างหรือแคบ ตราบใดที่บ้านในละแวกแคบพอ ๆ กัน จะสนองความต้องการทางสังคมของผู้อาศัยได้ทั้งหมด แต่ให้ข้างบ้านน้อยนั้นมีวังมาปลูก ส่วนบ้านน้อยย่อส่วนเหลือกระท่อม บ้านหลังน้อยแสดงอย่างชัดเจนว่าผู้อาศัยนั้นไม่เหลือสถานะทางสังคมใด ๆ หรือจะมีก็ขี้ปะติ๋ว ตลอดเส้นทางอารยธรรมจะต่อสูงขึ้นเท่าใดก็ตาม หากวังข้างบ้านสูงขึ้นเท่ากันหรือมากกว่านั้น ผู้อาศัยในกระท่อมที่เล็กกว่าย่อมรู้สึกอึดอัด ขัดเคือง และคับแคบระหว่างผนังทั้งสี่อยู่ร่ำไป

ค่าจ้างที่จะเพิ่มขึ้นอย่างพอดูได้สันนิษฐานถึงการเติบโตของทุนการผลิตอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วของทุนการผลิตนำมาซึ่งการเติบโตของความมั่งคั่ง ความหรูหรา ความต้องการและสุขารมณ์ทางสังคมอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน ดังนั้น แม้สุขารมณ์ของกรรกรจะเพิ่มขึ้น ความพึงพอใจทางสังคมที่มันมอบกลับต่ำลงเมื่อเทียบกับสุขารมณ์ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของนายทุน ซึ่งคนงานมิอาจเข้าถึง เมื่อเทียบกับระดับชั้นการพัฒนาของสังคมโดยทั่วไป ความต้องการและสุขารมณ์ของเราผุดเกิดจากสังคม เราจึงวัดมันเทียบกับสังคม เราไม่วัดมันเทียบกับวัตถุที่ให้ความพึงพอใจ เมื่อมีธรรมชาติทางสังคม จึงมีธรรมชาติเชิงสัมพัทธ์

ค่าจ้างไม่ได้กำหนดโดยผลรวมของสินค้าที่เอามาแลกได้แต่เพียงเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ในปัญหานี้ สิ่งที่คนงานได้รับมาโดยตรงแลกกับพลังแรงงานคือเงินจำนวนหนึ่ง ค่าจ้างกำหนดโดยราคาเงินตรานี้เท่านั้นหรือ?

ในศตวรรษที่ 16 ทองและเงินที่หมุนเวียนในยุโรปเพิ่มขึ้นเนื่องจากการค้นพบเหมืองที่อุดมสมบูรณ์และสะดวกกว่าในอเมริกา มูลค่าของทองและเงินจึงตกลงเทียบกับสินค้าอื่น ๆ คนงานได้เหรียญเงินจำนวนเท่าเดิมสำหรับพลังแรงงานของเขา งานมีราคาเงินตราเท่าเดิม แต่ค่าจ้างกลับลดลง เพราะเหรียญเงินจำนวนเท่ากันนั้นแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นได้น้อยกว่าเดิม นี่เป็นหนึ่งในพฤติการณ์ซึ่งผลักดันการเติบโตของทุนและชนชั้นกระฎุมพีในศตวรรษที่ 18

อีกกรณี ในฤดูหนาวปี 1847 เพราะผลเก็บเกี่ยวย่ำแย่ ปัจจัยดำรงชีพที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด——ธัญพืช เนื้อ เนย ชีส ฯลฯ——ราคาสูงขึ้นมาก หากเราสมมุติว่าคนงานยังได้เงินจำนวนเท่าเดิมแลกกับพลังแรงงานของเขา อย่างนี้ค่าจ้างเขาไม่ลดลงหรือ? เพื่อให้แน่ใจ เงินเท่าเดิมที่ได้มาแลกกับขนมปัง เนื้อ ฯลฯ ได้น้อยลง ค่าจ้างลดลง ใช่เพราะมูลค่าของแร่เงินต่ำลง แต่เพราะมูลค่าของปัจจัยดำรงชีพนั้นสูงขึ้น

สุดท้าย สมมุติว่าราคาเงินตราของพลังแรงงานเท่าเดิม ในขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรและประดิษฐกรรมต่ำลง เพราะใช้เครื่องจักรชนิดใหม่ เพราะฤดูกาลเป็นใจ ฯลฯ คนงานใช้เงินเท่าเดิมซื้อสรรพสินค้าได้เยอะขึ้น ค่าจ้างเขาจึงเพิ่มขึ้น แค่เพราะราคาเงินตราของมันไม่เปลี่ยนไป

ราคาเงินตราของพลังแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน จึงไม่ได้สอดคล้องกับค่าจ้างตามที่เป็นจริง กล่าวคือ ปริมาณของสินค้าที่นำค่าจ้างมาแลกเปลี่ยนได้ ถ้าพูดถึงการขึ้นลงของค่าจ้างแล้ว นอกจากราคาเงินตราของพลังแรงงาน หรือค่าจ้างตัวเงิน เราต้องคำนึงถึงค่าจ้างจริงด้วย

แต่ไม่ว่าค่าจ้างตัวเงิน ปริมาณเงินตราที่กรรมกรขายตนให้นายทุน หรือค่าจ้างจริง ปริมาณสินค้าที่เขาซื้อได้ด้วยเงินนั้น ก็ไม่ครอบคลุมความสัมพันธ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในคำว่าค่าจ้าง

เหนือสิ่งอื่นใด ค่าจ้างกำหนดโดยความสัมพันธ์ที่มีกับรายได้หรือกำไรของนายทุน กล่าวได้ว่า ค่าจ้างเป็นปริมาณสัมพัทธ์ที่เป็นไปตามสัดส่วน

ค่าจ้างจริงแสดงออกราคาของพลังแรงงานเทียบกับราคาของสินค้าอื่น ๆ ส่วนค่าจ้างสัมพัทธ์แสดงออกส่วนแบ่งที่แรงงานโดยตรงมีในมูลค่าที่มันสร้างขึ้นใหม่ เทียบกับส่วนแบ่งที่ตกเป็นของแรงงานสะสม หรือทุน

  งานนี้เป็นงานแปล ซึ่งมีสถานะทางลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากงานต้นฉบับ
งานต้นฉบับ:

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี

 
งานแปล:

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน