๘. ว่าด้วยแผนที่สามก๊ก

การที่ไทยเราอ่านหนังสือสามก๊กกันมาแต่ก่อนได้ความรู้แต่เรื่องกับกระบวนความ ส่วนแผนที่นั้นรู้เพียงว่า เปนเรื่องในประเทศจีน แต่เมืองใดซึ่งปรากฎชื่อในหนังสือสามก๊กจะอยู่ตรงไหนหรืออาณาเขตต์ก๊กไหนจะเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่รู้ ด้วยไม่มีสิ่งใดซึ่งจะอาศัยสอบสวน ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่ตัดความนำพาของผู้อ่านด้วยเรื่องแผนที่ ครั้นมาถึงสมัยเมื่อความรู้ภูมิศาสตร์เจริญแพร่หลายแลมีแผนที่ประเทศต่าง ๆ พิมพ์จำหน่ายพอหาได้ไม่ยาก การอ่านหนังสือเรื่องสามก๊กในสมัยชั้นหลังจึงมีผู้ซึ่งใคร่จะรู้แผนที่เรื่องสามก๊กขึ้น จะเล่าแต่ถึงส่วนตัวข้าพเจ้าเองพอเปนอุทาหรณ์ ได้ลองเอาแผนที่ประเทศจีนมาพิจารณาหาความรู้ในเรื่องสามก๊กก็ไม่สมประสงค์ ได้แต่เค้าเงื่อนบ้างอย่างว่า เห็นเปนเงา ๆ เช่น มีชื่อเมืองเสฉวนปรากฎอยู่ในแผนที่ประเทศจีน ก็เข้าใจว่า เล่าปี่คงตั้งเปนอิสระที่นั่น แล้วเลยสันนิษฐานต่อไปถึงเมืองอื่น เช่น เมืองกังตั๋งของซุนกวน ก็เห็นว่า คงเปนเมืองเดียวกับเมืองกึงตั๋ง (ที่อยู่ใกล้กับเมืองฮ่องกง) เพราะชื่อคล้าย ๆ กัน ได้ความเข้าใจเพียงเท่านั้น ครั้นเมื่อจะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ คราวนี้ ข้าพเจ้าปรารภว่า ถ้ามีแผนที่เมืองจีนครั้งสมัยสามก๊กพิมพ์ไว้ด้วยได้จะดีหนักหนา เพราะไทยเรายังไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่บ้านเมืองในเรื่องสามก๊กกันโดยมาก พระเจนจีนอักษรบอกว่า แผนที่เช่นข้าพเจ้าว่านั้นพวกจีนสมัยใหม่เขาได้พิมพ์แล้ว พระเจนฯ ไปหาแผนที่นั้นมาให้ดู เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นแผนที่แลได้ฟังคำชี้แจงของพระเจนฯ ก็รู้สึกว่า เรื่องแผนที่เปนข้อที่ข้าพเจ้าเข้าใจผิดมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่ง ด้วยอาณาเขตต์ประเทศจีนเมื่อครั้งสามก๊กยังไม่กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนเมื่อชั้นหลัง บรรดาเมืองสำคัญอันกล่าวถึงแลที่สมรภูมิ์ซึ่งรบพุ่งกันในเรื่องสามก๊กอยู่เพียงลุ่มลำน้ำเอี้ยงจือเกียงเท่านั้น เมืองเสฉวนแลเมืองกึงตั๋งที่ข้าพเจ้าสันนิษฐานดังกล่าวมาก็เข้าใจผิด ชื่อเมืองเสฉวนแลเมืองกึงตั๋งเกิดขึ้นต่อเมื่อภายหลังสมัยเรื่องสามก๊กมาช้านาน เปนแต่ล่อกวนตงเอาชื่อซึ่งเรียกกันอยู่ในสมัยเมื่อแต่งหนังสือสามก๊กมาใช้

อันตัวเมืองลกเอี๋ยงที่เปนราชธานีของราชวงศฮั่นแลเปนราชธานีของราชวงศวุยแลราชวงศจิ้นต่อมานั้น คือ เมืองที่เรียกว่า "โห้ลำฟู" ในชั้นหลัง เมืองที่พระเจ้าซุนกวนตั้งเปนราชธานี เรียกว่า เมืองเกียนเงียบ ในแผนที่ คือ เมืองนำกิงในปัจจุบันนี้ แลเมืองที่พระเจ้าเล่าปี่ตั้งเปนราชธานีนั้น เรียกว่า เมืองเซงโต๋ในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ส่วนอาณาเขตต์ครั้งสามก๊กนั้น มีหนังสือจีนเรียกว่า "ซือย่ง" แต่งชั้นหลังได้พรรณนาเทียบด้วยแผนที่ครั้งราชวงศไต้เช็งไว้ดังนี้

"พระเจ้าโจผี ปฐมกษัตริย์ราชวงศวุย ครองราชสมบัติเมื่อปีชวด พ.ศ. ๗๖๓ เขตต์แดนของพระเจ้าโจผี คือ มณฑลลิจี มณฑลโห้ลำ มณฑลซันตง มณฑลซันซี มณฑลกังซก กับภาคกลาง มณฑลเซียนซี แลภาคเหนือ มณฑลฮูเป มณฑลเกียงซู มณฑลงางไฝ แลภาคกลางกับภาคตวันตก มณฑลฟงเทียน (มุกเดน) จนถึงภาคตวันตกเฉียงเหนือ เมืองเกาหลี สืบมาถึงพระเจ้าโจฮวน กษัตริย์ราชวงศวุยองค์ที่ ๕ เสียเมืองแก่พระเจ้าสุมาเอี๋ยน ปฐมกษัตริย์ราชวงศจิ้น เมื่อปีวอก พ.ศ. ๘๐๗ จำนวนรัชกาลราชวงศวุย ๕๕ ปี

พระเจ้าเล่าปี่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศจ๊กฮั่น ครองราชย์สมบัติเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๗๖๔ เขตต์แดนของพระเจ้าเล่าปี่ คือ มณฑลเสฉวน กับภาคเหนือ มณฑลยงลำ มณฑลกุยจิ๋ว แลเมืองฮั่นต๋ง มณฑลเซียนซี สืบมาถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยน กษัตริย์ราชวงศจ๊กฮั่นองค์ที่ ๒ เสียเมืองแก่ราชวงศวุยเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๘๐๖ จำนวนรัชกาลราชวงศจ๊กฮั่น ๔๓ ปี

พระเจ้าซุนกวน ปฐมกษัตริย์ราชวงศง่อ ครองราชสมบัติเมื่อปีขาล พ.ศ. ๗๖๕ เขตต์แดนของพระเจ้าซุนกวน คือ มณฑลเกียงซู มณฑลเจเกียง มณฑลฮูลำ มณฑลฮูเป มณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวงซี กับเมืองญวน สืบมาถึงพระเจ้าซุนฮิว กษัตริย์ราชวงศง่อองค์ที่ ๔ เสียเมืองแก่พระเจ้าสุมาเอี๋ยน ปฐมกษัตริย์ราชวงศจิ้น เมื่อปีชวด พ.ศ. ๘๒๓ จำนวนรัชกาลราชวงศง่อ ๕๙ ปี"

เมื่อได้ความดังแสดงมา ข้าพเจ้าจึงให้จำลองแผนที่ประเทศจีนครั้งสามก๊กมาพิมพ์ในตำนานนี้ด้วย แต่สำเร็จได้ด้วยความพยายามของพระเจนจีนอักษรที่รับแปลหนังสือจีนในแผนที่เปนหนังสือไทย ใช้สำเนียงฮกเกี้ยนให้เข้ากับหนังสือสามก๊กภาษาไทย สถาน ๑ และต้องอ่านหนังสือสามก๊กภาษาไทยตรวจคัดชื่อต่าง ๆ อันเกี่ยวกับแผนที่มาทำเปนอภิธานแล้วไปสอบตำราจีนว่า ที่นั้น ๆ หรือเมืองนั้น ๆ ในปัจจุบันนี้เรียกอย่างไรด้วย อีกสถานหนึ่ง เปนการลำบากแก่พระเจนฯ มากที่เดียว เพราะชื่อบ้านเมืองในประเทศจีนเปลี่ยนมาเนือง ๆ แม้อธิบายที่ลงไว้ในอภิธานแผนที่สามก๊ก พระเจนฯก็ว่า รับรองได้แต่เพียงชื่อที่เรียกในสมัยเมื่อราชวงศไต้เช็งเปนใหญ่ แต่จะเปลี่ยนชื่อมาในชั้นประเทศจีนเปนรีปับลิกอีกอย่างใดบ้างไม่มีตำราที่จะค้นให้ทราบได้ ข้าพเจ้าเห็นว่า แม้ทำได้เพียงเท่าที่พิมพ์ในหนังสือนี้ก็ต้องจัดเอาเปนดี แลพระเจนจีนอักษรควรได้รับความขอบใจของผู้อ่านเรื่องสามก๊กที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ทั่วกัน