นวโกวาท/คิหิปฏิบัติ

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

จตุกกะ แก้ไข

กรรมกิเลส คือ กรรมเครื่องเศร้าหมอง ๔ อย่าง แก้ไข

๑. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง.
๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย.
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม.
๔. มุสาวาท พูดเท็จ.

กรรม ๔ อย่างนี้ นักปราชญ์ไม่สรรเสริญเลย.

ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๕.

อบายมุข คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ๔ อย่าง แก้ไข

๑. ความเป็นนักเลงหญิง.
๒. ความเป็นนักเลงสุรา.
๓. ความเป็นนักเลงเล่นการพนัน.
๔. ความคบคนชั่วเป็นมิตร.

โทษ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประกอบ.

องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๙๖.

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง (๑) แก้ไข

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำธุระหน้าที่ของตนก็ดี.
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตน ไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดี.
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว.
๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก.
องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๙๔.

สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง (๒) แก้ไข

๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่นเชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น.
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ.
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น.
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

๑. ในบาลีใช้ว่า ธรรม ๔ ประการ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขในปัจจุบัน.
๒. ในบาลีใช้ว่า ธรรม ๔ ประการ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขในภายหน้า.

องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๒๙๗.

มิตตปฏิรูป คือ คนเทียมมิตร ๔ จำพวก แก้ไข

๑. คนปอกลอก.
๒. คนดีแต่พูด.
๓. คนหัวประจบ.
๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย.

คน ๔ จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ.

ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๙.

๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔

(๑) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว.
(๒) เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก.
(๓) เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับทำกิจของเพื่อน.
(๔) คบเพื่อเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๙.

๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔

(๑) เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย.
(๒) อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย.
(๓) สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้.
(๔) ออกปากพึ่งมิได้.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๐

๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔

(๑) จะทำชั่วก็คล้อยตาม.
(๒) จะทำดีก็คล้อยตาม.
(๓) ต่อหน้าว่าสรรเสริญ.
(๔) ลับหลังตั้งนินทา.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๐.

๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔

(๑) ชักชวนดื่มน้ำเมา.
(๒) ชักชวนเที่ยวกลางคืน.
(๓) ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น.
(๔) ชักชวนเล่นการพนัน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๐.

มิตรแท้ ๔ จำพวก แก้ไข

๑. มิตรมีอุปการะ.
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์.
๓. มิตรแนะประโยชน์.
๔. มิตรมีความรักใคร่.

มิตร ๔ จำพวกนี้ เป็นมิตรแท้ ควรคบ.

ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๑.

๑. มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔

(๑) ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว.
(๒) ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว.
(๓) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้.
(๔) เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๑.

๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔

(๑) ขยายความลับของตนแก่เพื่อน.
(๒) ปิดความลับของเพื่อนไม่ให้แพร่งพราย.
(๓) ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ.
(๔) แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๑.

๓. มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔

(๑) ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว.
(๒) แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี.
(๓) ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง.
(๔) บอกทางสวรรค์ให้.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๑.


๔. มิตรมีความรักใคร่ มีลักษณะ ๔

(๑) ทุกข์ ๆ ด้วย.
(๒) สุข ๆ ด้วย.
(๓) โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน.
(๔) รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๒.

สังคหวัตถุ ๔ อย่าง แก้ไข

๑. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน.
๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน.
๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น.
๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว.

คุณทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้.

องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๒.

สุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง แก้ไข

๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์.
๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค.
๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้.
๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๙๐.

ความปรารถนาของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง แก้ไข

๑. ขอสมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ.
๒. ขอยศจงเกิดมีแก่เราและญาติพวกพ้อง.
๓. ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน.
๔. เมื่อสิ้นชีพแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๘๕.

ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย มีอยู่ ๔ อย่าง แก้ไข

๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา.
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล.
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน.
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา.
องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๘๑.

ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้ เพราะสถาน ๔ แก้ไข

๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว.
๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า.
๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ.
๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน.

ผู้หวังจะดำรงตระกูล ควรเว้นสถาน ๔ ประการนั้นเสีย.

องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๓๖.

ธรรมของฆราวาส ๔ แก้ไข

๑. สัจจะ สัตย์ซื่อต่อกัน.
๒. ทมะ รู้จักข่มจิตของตน.
๓. ขันติ อดทน.
๔. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่ตนที่ควรให้ปัน.
สํ. ส. ๑๕/๓๑๖.

ปัญจกะ แก้ไข

ประโยชน์เกิดแต่การถือโภคทรัพย์ ๕ อย่าง แก้ไข

แสวงหาโภคทรัพย์ได้โดยทางที่ชอบแล้ว

๑. เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข.
๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข.
๓. บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่าง ๆ.
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ
ก. ญาติพลี สังเคราะห์ญาติ.
ข. อติถิพลี ต้องรับแขก.
ค. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย.
ฆ. ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีภาษีอากรเป็นต้น.
ง. เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา.
๕. บริจาคทานในสมณะพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ.
องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๔๘.

ศีล ๕ แก้ไข

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป.
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย.
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม.
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ.
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.

ศีล ๕ ประการนี้ คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์.

องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๒๖.

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง แก้ไข

๑. ค้าขายเครื่องประหาร.
๒. ค้าขายมนุษย์.
๓. ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร.
๔. ค้าขายน้ำเมา.
๕. ค้าขายยาพิษ.

การค้าขาย ๕ อย่างนี้ เป็นข้อห้ามอุบาสกไม่ให้ประกอบ.

องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๓๒.

สมบัติของอุบาสก ๕ ประการ แก้ไข

๑. ประกอบด้วยศรัทธา.
๒. มีศีลบริสุทธิ์.
๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล.
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา.
๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา.

อุบาสกพึงตั้งอยู่ในสมบัติ ๕ ประการ และเว้นจากวิบัติ ๕ ประการ ซึ่งวิปริตจากสมบัตินั้น.

องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๓๐.

ฉักกะ แก้ไข

ทิศ ๖ แก้ไข

๑. ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดาบิดา.
๒. ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์.
๓. ปัจฉิมทิศ คือทิศเบื้องหลัง บุตรภรรยา.
๔. อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร.
๕. เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว.
๖. อุปริมทิส คือทิศเบื้องต้น สมณพราหมณ์.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๓.

๑. ปุรัตถิมทิส คือทิศเบื้องหน้า มารดาบิดา บุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑) ท่านได้เลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ.
(๒) ทำกิจของท่าน.
(๓) ดำรงวงศ์สกุล.
(๔) ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก.
(๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน.
ที. ปาฏิ. ๑๐/๒๐๓.

มารดาบิดาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕

(๑) ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว.
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี.
(๓) ให้ศึกษาศิลปวิทยา.
(๔) หาภรรยาที่สมควรให้.
(๕) มอบทรัพย์ให้ในสมัย.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๓.

๒. ทักขิณทิส คือทิศเบื้องขวา อาจารย์ ศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑) ด้วยลุกขึ้นยืนรับ.
(๒) ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้.
(๓) ด้วยเชื่อฟัง.
(๔) ด้วยอุปัฏฐาก.
(๕) ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๓.

อาจารย์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕

(๑) แนะนำดี.
(๒) ให้เรียนดี.
(๓) บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง.
(๔) ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง.
(๕) ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือจะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก).
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๔.

๓. ปัจฉิมทิส คือทิศเบื้องหลัง ภรรยา สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑) ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา.
(๒) ด้วยไม่ดูหมิ่น.
(๓) ด้วยไม่ประพฤติล่วงใจ.
(๔) ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้.
(๕) ด้วยให้เครื่องแต่งตัว.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๔.

ภรรยาได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕

(๑) จัดการงานดี.
(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงของผัวดี.
(๓) ไม่ประพฤติล่วงใจผัว.
(๔) รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาได้ไว้.
(๕) ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๔.

๔. อุตตรทิส คือทิศเบื้องซ้าย มิตร กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑) ด้วยให้ปัน.
(๒) ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ.
(๓) ด้วยประพฤติประโยชน์.
(๔) ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ.
(๕) ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๔.

มิตรได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕

(๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว.
(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว.
(๓) เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้.
(๔) ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ.
(๕) นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๕.

๕. เหฏฐิมทิส คือทิศเบื้องต่ำ บ่าว นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑) ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง.
(๒) ด้วยให้อาหารและรางวัล.
(๓) ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้.
(๔) ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน.
(๕) ด้วยปล่อยในสมัย.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๕.

บ่าวได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕

(๑) ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย.
(๒) เลิกการงานทีหลังนาย.
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้.
(๔) ทำการงานให้ดีขึ้น.
(๕) นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้น ๆ.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๕.

๖. อุปริมทิส คือทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ กุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑) ด้วยกายกรรม คือทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา.
(๒) ด้วยวจีกรรม คือพูดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา.
(๓) ด้วยมโนกรรม คือคิดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา.
(๔) ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือมิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน.
(๕) ด้วยให้อามิสทาน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๕.

สมณพราหมณ์ได้รับบำรุงฉะนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖

(๑) ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว.
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี.
(๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม.
(๔) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง.
(๕) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่ม.
(๖) บอกทางสวรรค์ให้.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๖.

อบายมุข คือเหตุเครื่องฉิบหาย ๖ แก้ไข

(๑) ดื่มน้ำเมา.
(๒) เที่ยวกลางคืน.
(๓) เที่ยวดูการเล่น.
(๔) เล่นการพนัน.
(๕) คบคนชั่วเป็นมิตร.
(๖) เกียจคร้านทำการงาน.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๖.

๑. ดื่มน้ำเมา มีโทษ ๖

(๑) เสียทรัพย์.
(๒) ก่อการทะเลาะวิวาท.
(๓) เกิดโรค.
(๔) ต้องติเตียน.
(๕) ไม่รู้จักอาย.
(๖) ทอนกำลังปัญญา.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๖.

๒. เที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖

(๑) ชื่อว่าไม่รักษาตัว.
(๒) ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย.
(๓) ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ.
(๔) เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย.
(๕) มักถูกใส่ความ.
(๖) ได้ความลำบากมาก.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

๓. เที่ยวดูการเล่น มีโทษตามวัตถุที่ไปดู ๖

(๑) รำที่ไหนไปที่นั้น.
(๒) ขับร้องที่ไหนไปที่นั้น.
(๓) ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั้น.
(๔) เสภาที่ไหนไปที่นั้น.
(๕) เพลงที่ไหนไปที่นั้น.
(๖) เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั้น.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

๔. เล่นการพนัน มีโทษ ๖

(๑) เมื่อชนะย่อมก่อเวร.
(๒) เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป.
(๓) ทรัพย์ย่อมฉิบหาย.
(๔) ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ.
(๕) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน.
(๖) ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

๕. คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษตามบุคคลที่คบ ๖

(๑) นำให้เป็นนักเลงการพนัน.
(๒) นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้.
(๓) นำให้เป็นนักเลงเหล้า.
(๔) นำให้เป็นคนลวงเขาด้วยของปลอม.
(๕) นำให้เป็นคนลวงเขาซึ่งหน้า
(๖) นำให้เป็นคนหัวไม้.
ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.

๖. เกียจคร้านทำการงาน มีโทษ ๖

(๑) มักให้อ้างว่า หนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน.
(๒) มักให้อ้างว่า ร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน.
(๓) มักให้อ้างว่า เวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน.
(๔) มักให้อ้างว่า ยังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน.
(๕) มักให้อ้างว่า หิวนัก แล้วไม่ทำการงาน.
(๖) มักให้อ้างว่า ระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน.

ผู้หวังความเจริญด้วยโภคทรัพย์ พึงเว้นเหตุเครื่องฉิบหาย ๖ ประการนี้เสีย.

ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๗.
กลับไปหน้าหลัก
  ก่อนหน้า