นิทานอีสป/คำชี้แจงของผู้แต่ง
หนังสือนิทานอีสปเล่มนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เริ่มเป็นผู้ทรงแนะนำให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้น ให้ใช้ภาษาง่าย ๆ และประโยคสั้น ๆ สำหรับเด็กในชั้นมูลศึกษาจะได้ใช้เป็นแบบสอนอ่านในเมื่อเรียนแบบเรียนมูลศึกษาจบเล่มแล้ว ธรรมเนียมหนังสือที่เป็นแบบสอนอ่านอย่างดี ไม่ว่าจะแต่งขึ้นในภาษาใด ๆ ย่อมเพ่งประโยชน์อยู่สองอย่าง อย่างหนึ่ง เพื่อให้มีความรู้ในวิชาหนังสือดีขึ้น เช่น ให้อ่านหนังสือคล่อง ให้อ่านถูกระยะวรรคตอน ให้ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังเข้าใจความได้ชัดเจน กับให้จำตัวสะกดการันต์และถ้อยคำสำนวนที่ดีได้ เป็นต้น อีกอย่าหนึ่งซึ่งเป็นข้อสำคัญยิ่งและซึ่งครูมักจะละเลยกันเสียมาก ก็คือ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ปัญญาความคิดที่จะตริตรองตามเนื้อเรื่องที่ได้อ่านแล้วให้เห็นประจักษ์ขึ้นในใจตนเองว่า ภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ล้วนเป็นของดี และถ้าตนประพฤติตาม ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกคนไม่เลือกหน้าว่าผู้ใด ความเพ่งประโยชน์ในข้อสองนี้ ถ้าครูจะปฏิบัติให้สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็มีข้อที่จะแนะนำอยู่บ้าง คือ เมื่อนักเรียนอ่านบทใดไปแล้ว อย่าให้ครูถือว่า เปนเสร็จธุระของตนแต่เพียงเท่านั้น จงอุตส่าห์ซักถามสะกัดสะแกงให้นักเรียนคิดตอบตามเนื้อเรื่องได้โดยอนุมัติของตนเอง เช่น นิทานเรื่องราชสีห์กับหนู เมื่อปันให้นักเรียนในชั้นอ่านเป็นตอน ๆ จนจบแล้ว ครูควรให้นักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้นเล่าให้ฟังจนตลอดเรื่อง แล้วถามนักเรียนเป็นคน ๆ ไปว่า ราชสีห์ที่ในรูปนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เขี้ยวเล็บเป็นอย่างไร ถ้าเด็กไปพบเข้าตาทางสักตัวหนึ่งจะทำอย่างไร ส่วนหนูนั้นใคร ๆ ก็รู้จัก ที่บ้านใครมีหนูชุมบ้าง หีบไม้หนา ๆ และพื้นกระดานแข็ง ๆ ทำไมหนูจึงทะลุลอดเข้าไปได้ ฟันหนูเป็นอย่างไร ราชสีห์โกรธหนู เมื่อตะครุบหนูไว้ได้แล้ว ทำไมจึงปล่อยตัวไปเสีย ใจคอราชสีห์เป็นอย่างไร ถ้าราชสีห์ฆ่าหนูเสียในเวลาโกรธ เมื่อมาถึงคราวที่ราชสีห์ติดบ่วงแร้วต้องอับจนเข้าดังนี้ ราชสีห์จะเป็นอย่างไร ใจคอหนูเป็นอย่างไร ดังนี้เป็นต้น
ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าถือเป็นโอกาสขอแจ้งว่า พระเดชพระคุณเสด็จในกรมพระที่ได้ออกพระนามมาแล้วได้ทรงพระกรุณาแก่ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ คือ ได้ทรงเป็นพระธุระช่วยแนะนำตรวจแก้และตัดเติมแบบสอนอ่านเล่มนี้โดยพระองค์เองทุก ๆ บททุก ๆ ตอนจนตลอดเล่ม พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
- พระจรัสชวนะพันธ์ (สาตร์)
- วันที่ ๒๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๓๐