นิทานอีสป/ผู้วายชนม์

  • มหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร)
  • ครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ
  • (ถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔)

คำอุทิศ

ในการพระราชทานเพลิงศพพระยาเมธาธิบดี ป.ม., ท.จ.ว. องค์การค้าของคุรุสภาได้บริจาคหนังสือ นิทานอีสป ซึ่งพระยาเมธาธิบดีเป็นผู้เรียบเรียง ชำร่วยในงานนี้จำนวนหนึ่ง และเจ้าภาพได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเขียนคำอุทิศเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พระยาเมธาธิบดีด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับสนองความประสงค์นั้นด้วยความยินดียิ่ง

พระยาเมธาธิบดีเป็นนักการศึกษาโดยแท้ ดังจะเห็นได้จากประวัติการรับราชการของท่านซึ่งทำงานเกี่ยวกับการศึกษาตลอดมาจนออกรับพระราชทานบำนาญ และหน้าที่การงานของท่านก็อยู่ในตำแหน่งสูง เช่น เคยรับราชการเป็นปลัดทูลฉลองของกระทรวงธรรมการ และตอนปลายของชีวิตราชการของท่าน ก็ได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมวิชชาธิการ กระทรวงธรรมการ นอกจากการบริหารงานโดยตำแหน่งในหน้าที่ราชการแล้ว ท่านยังได้จัดแปลและเรียบเรียงหนังสือตำรับตำราขึ้นเป็นอันมากให้นักเรียนในสมัยนั้นได้ใช้เป็นแบบเรียน และบางเล่ม เช่น หนังสือ นิทานอีสป ที่พิมพ์เป็นชำร่วยฉบับนี้ ก็ยังคงใช้เป็นแบบเรียนมาตรฐานอยู่

จากประวัติการรับราชการของท่านดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมวางรากฐานการศึกษาของประเทศไทยให้เจริญรุดหน้ามา ดังที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้ ปัจจุบัน โลกยอมรับว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ การที่พระยาเมธาธิบดีได้ร่วมวางรากฐานการศึกษาของประเทศให้เจริญก้าวหน้ามาทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงนับว่า เป็นผู้มีอุปการคุณแก่ชาติในด้านการศึกษาเป็นอันมาก ขอกุศลกรรมที่ท่านได้บำเพ็ญมาตลอดอายุขัยจงบันดาลให้วิญญาณอันผ่องใสของท่านไปสู่สุคติวิสัยในสัมปรายภพเทอญ.

  • พลเอก
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ๘ ธันวาคม ๒๔๙๙

เกิดมาเป็นครู

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ ซึ่งแต่ก่อนใครอยากรู้หนังสือโดยมากก็เรียนกันตามวัด กุลบุตรกุลธิดาที่ไม่ได้เรียนมีโดยมาก นี่เป็นพระบรมราโชบายข้อ ๑ เพื่อเร่งรัดให้ชาติเจริญรุ่งเรืองเทียมทันกับนานาประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันนี้ เราจึงผ่านพ้นมหาภัยมาเป็นเอกราช

ด้วยความจำเป็นข้อนี้ กระทรวงธรรมการในครั้งกระโน้นเป็นเจ้าหน้าที่จัดการศึกษา ได้แบ่งหน่วยราชการออกเป็นกรม ๆ คือ กรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมศึกษาธอการ และกรมราชบัณฑิต

กรมศึกษาธิการไว้วางนโยบายเอาวัดเป็นโรงเรียน เพราะวัดมีศาลาการเปรียญอยู่พร้อมที่จะใช้เป็นตัวโรงเรียนได้ โดยมิต้องใช้พระราชทรัพย์จัดสร้างขึ้นใหม่ แต่ส่วนครูที่จะสอนตามแบบใหม่ คือ ครูคน ๑ สอนศิษย์ได้คราวละหลาย ๆ คน และต้องมีความรู้ตามความต้องการให้เหมาะแก่สมัย กระทรวงธรรมการจึงต้องจัดการสร้างสรรค์ครูขึ้น โดยตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่สถานสายสวลี ซึ่งเวลานั้นได้จัดเป็นโรงเลี้ยงเด็ก

ด้วยเหตุที่การคมนาคมของโลกติดต่อกันสะดวกเข้า ชาวต่างประเทศก็เข้ามาสู่เมืองไทยมากขึ้น และทางการเมืองเราก็ต้องมีการทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศทางตะวันตกหลายชาติ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้น การศึกษาของเราจึงเพิ่มการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเข้าในหลักสูตร ด้วยเหตุนี้ การจัดโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์จึงมี ๒ ประเภท คือ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ทางภาษาอังกฤษ แผนก ๑ กับโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ภาษาไทย แผนก ๑

นายสาตรเป็นนักเรียนฝึกหัดอาจารย์อังกฤษ มีชื่อเด่นว่า เรียนเก่งทั้งทางภาษาและทางวิชาครู เมื่อ ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสประเทศต่าง ๆ ในยุโรป การรับเสด็จในคราวนั้นเป็นการเอิกเกริกอย่างมโหฬาร นายสาตรเป็นผู้อ่านคำกราบบังคมทูลเป็นภาษาอังกฤษ นับว่า เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษเยี่ยมในครั้งนั้น

เมื่อเรียนสำเร็จจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แล้ว ได้ออกรับราชการเป็นครู และได้เขียนตำราวิชาครูเป็นบทเรียนธรรมชาติซึ่งเรียกกันในเวลานั้นว่า บทเรียนด้วยของ ตำราเรียนนี้ได้ให้ประโยชน์แก่ครูสมัยนั้นมาก ทำให้ครูรู้จักใช้กลวิธ๊สอนให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียนที่เรียนได้ง่าย ด้วยเหตุที่เป็นผู้สนใจในวิชาครูจนถึงแก่เขียนตำราใช้เป็นประโยชน์แก่การสอนได้ กระทรวงธรรมการจึงได้ส่งนายสาตรไปศึกษาวิชาในประเทศอังกฤษ เมื่อนายสาตรไปอยู่ต่างประเทศ รู้ภาษาและขนบธรรมเนียมดีขึ้น จึงได้เขียนเรียนในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ มีชื่อว่า "Borough Road" นักเรียนต่างประเทศของกระทรวงธรรมการโดยมากได้เข้าเรียนในโรงเรียนเกือบทั้งนั้น และด้วยเหตุที่เมืองเราต้องการคนเข้ามาเป็นครูมาก ๆ ตามนโยบายในการจัดการศึกษาของชาติในเวลานั้น จึงไม่ต้องการให้นักเรียนได้ปริญญา พอใครเรียนจบวิชาครู ก็เรียกตีวเข้ามารับราชการโดยเร็ว และอีกประการหนึ่ง ทางราชการต้องการให้ครูคน ๑ สอนวิชาได้หลาย ๆ อย่าง เพื่อเร่งการศึกษาให้ทันสมัย นักเรียนครูต่างประเทศจึงกลับมาพร้อมด้วยวิชาครูกับวิชาพิเศษอย่างบอื่นเข้ามาด้วย เฉพาะครูสาตร นอกจากมีความรู้ทางวิชาครู ยังรู้วิชาพิเศษติดตัวมาด้วยถึง ๒ วิชา คือ วิชาเคมี และจิตตวิทยา ถึงแก่เขียนตำราเคมีเป็นครั้งแรก เรียกว่า รสายนศาสตร์ กับตำราจิตติวิทยา ซึ่งเรียกว่า อัธยาตมวิทยา ให้เรารู้เห็นเป็นการเปิดหูเปิดตาในทางวิทยาศาสตร์มาก่อน นี่เป็นคุณสมบัติของครู คือ ครูได้เรียนความรู้หลาย ๆ อย่าง เพอประโยชน์แก่อนุชน ภาษาก็รู้ คณนาวิทยาก็รู้ และวิทยาศาสตร์ก็รู้ ถึงจะไม่รู้อย่างเชี่ยวชาญ แต่เมื่อเกี่ยวข้องกับวิชานั้น ๆ ครูที่ดีก็ย่อมเข้าใจ นี่เป็นการแผ่วิชาให้แก่เด็กอีกทอด ๑

ในส่วนวิชาครู เป็นวิชาที่ครูสาตรศึกษามาอย่างเชี่ยวชาญ แต่วิชาครูในเมืองอังกฤษเวลานั้นเขาเรียนตามทฤษฎีของแฮร์บาต นักปราชญ์ทางการศึกษาของเยอรมัน กับทฤษฎีของสเปนเซอร์เป็นหลัก ทั้งสองหลักนี้รวมกันเข้าได้ว่า การสอนให้นักเรียนรู้นั้นเป็นข้อสำคัญ หลักการสอนนี้จัดให้ความรู้เข้าสู่จิตใจของเด็กด้วยประสาททั้ง ๕ คือ ทางหู ทางตา ทางลิ้มรส (ลน) ทางกลิ่น และทางสัมผัส ตรงกับอายตนะทางพุทธศาสนา แล้วรวมจัดการสอนออกเป็นสองทาง คือ ๑. สองตั้งแต่ง่าย คือ เหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ามาสู่ต้นเหตุรวมยอดเป็นกฎเกณฑ์ ๒. ตั้งแต่ยากไปหาง่าย คือ อธิบายแยกแยะออกไปจนผู้เรียนเห็นและเข้าใจ ทั้งสองวิธีนี้ ครูที่เรียนมาจากประเทศอังกฤษใช้ประกอบการสอนกันทั้งนั้น ซึ่งผิดกับการสอนทางอเมริกาซึ่งนิยมว่าเป็นวิธีการสอนอย่างใหม่เอี่ยม ซึ่งนักเรียนครูในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่เคยลิ้มรสทางอเมริกาเลย

ด้วยนิสัยเป็นครู ครูสาตรจึงเชื่อความรู้ของตัวเองมาก การโต้เถียงก็ใชเหตุผลตามวิสัยของครูประกอบ ด้วยเป็นคนพูดจาฉะฉาน ถ้าในวงความรู้ของท่านแล้ว ท่านพูดได้ดีมาก เมื่อยังเป็นนักเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ ท่านได้เข้าโต้วาทีในสมาคมนักเรียนอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน ตามหัวข้อเสนอว่า "กินหมากไม่ดี" ครูสาตรเป็นฝ่ายค้านว่า "กินหมากดี" ชนะ

ครูสาตรได้เข้ามารับราชการในกระทรวงธรรมการในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการสอนและการเขียนตำราเรียนด้วยความสามารถของท่าน ครั้งแรกได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนจรัสชวนะพันธ์ และเลื่อนสูงขึ้นเป็นลำดับมาจนกระทั่งเป็นพระยาเมธาธิบดีในที่สุดชีวิต

จนเมื่อออกจากราชการรับพระราชทานบำบาญแล้ว ท่านจะพูดจะจาจะโต้ตอบกับใครในสมาคมใด เราจะเห็นได้ว่า ท่านใช้วิชาครูของท่านเสมอ เมื่อท่านมาถึงแก่กรรมนี้ เราขาดครูสำคัญไปคนหนึ่ง ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกเสียใจและเสียดายเป็นอันมาก.

พระวรเวทย์พิสิฐ

ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านเจ้าคุณเมธาธิบดี

เจ้าคุณเมธาธิบดีเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาอัธยาตมวิทยา ซึ่งเรียกเดี๋ยวนี้ว่า วิชาจิตวิทยา ในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เมื่อครั้ง ๕๐ ปีกว่ามาแล้ว เวลานั้น ข้าพเจ้าเคยเป็นศิษย์ของท่าน รู้สึกว่า เรียนเข้าใจยาก แม้กระนั้น ท่านก็พยายามเขียนเป็นตำราเรียนอธิบายวิชานี้ขึ้นได้เล่มหนึ่ง เรียกว่า "อัธยาตมวิทยา" นี่แสดงว่า ท่านเป็นผู้สามารถนำวิชานี้มาเผยแผ่ขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ท่านยังได้นำบทเรียนใหม่ ๆ ในยุโรปสมัยนั้นมาดัดแปลงแก้ไขแต่งเป็นแบบเรียนอีกหลายเล่ม เช่น หนังสือบทเรียนด้วยของ หนังสือวิชาครูว่าด้วยดิสปลิน เป็นต้น ทั้งนี้ นับว่า เป็นประโยชน์แก่ครูบาอาจารย์และนักเรียนมาก ในโอกาสอันสมควร ท่านยังได้ไปแสดงปาฐกถาเรื่องวิชาความรู้อันเกี่ยวกับครูบาอาจารย์จะต้องรู้และปฏิบัติ ณ สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ใต้บังคับบัญชาของท่าน เห็นท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในราชการและซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างดียิ่ง

ขออำนาจกุศลที่ท่านได้บำเพ็ญมาจงดลบันดาลให้วิญญาณของท่านไปสู่สุคติในสัมปรายภพนั้นเทอญ

พระชำนาญอนุสาสน์

  • Mahidol Songkla M.D.
  • 291 Phra Rama 1st. Street
  • Bangkok, Siam
วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)
แจ้งความมายังเจ้าคุณทราบ

หนังสือเล่มนี้(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)จะมีประโยชน์สำหรับเจ้าคุณ ขอให้อ่านดู และพิจารณา chapter เรื่องการใช้ intelligence test และ chapter เรื่อง interviews.

  • ด้วยความนับถือ

ทูลกระหม่อม สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานัครินทร์ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชอุปการะแก่มหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี ซึ่งได้นำวิชาอัธยาตมวิทยาเข้ามาเผยแพร่อยู่ในวงการศึกษาเป็นบุคคลแรก