บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 15

เรื่อง กรมนาฬิกาและทุ่มโมง

ปัญหา ได้อ่านในหนังสือเก่า พบคำว่า "กรมนาฬิกา" ไม่ทราบว่า กรมนี้อยูที่ไหน มีหน้าที่ทำอะไร?

ตอบ กรมนาฬิกาเป็นกรมขึ้นในวัง และหอนาฬิกานั้นชอบกลนักหนา มีเหมือนกันทั้งไทยและพะม่า ประเพณีเดิมทีเดียวเห็นจะมีมาเก่าแก่มาก อาจได้แบบแผนมาจากอินเดียก็เป็นได้ ทำเป็นหอสูง ชั้นยอดของหอแขวนฆ้องใบหนึ่ง กลองใบหนึ่ง ในห้องชั้นต่ำลงมา ตั้งอ่างน้ำ เอากะลาซึ่งวักน้ำเหมาะขนาดที่ลอยอยู่เพียง ๖๐ นาฑีแล้วจม ลอยไว้ในอ่างนั้น มีคนนั่งยามประจำอยู่ เวลาพระอาทิตย์ขึ้น ลอยกะลาซึ่งเรียกตามภาษามคธว่า "นาฬิกา" จึงเข้าใจว่า ได้ตำรามาจากอินเดีย พอนาฬิกาจม คนก็ขึ้นไปตีฆ้อง ในเวลากลางวัน นาฬิกาแรก ตีครั้งหนึ่ง นาฬิกาที่สองที่สาม ก็ตีมากครั้งขึ้นตามลำดับ ที่ในห้องนั้นมีราวสำหรับปักไม้ติ้วเป็นที่สังเกตของคนตี ได้นาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วไว้อันหนึ่ง ถึงอีกนาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วเติมอีกอันหนึ่งเรียงกันต่อไป สำหรับผู้ตีจะได้นับรัวกี่นาฬิกา ถึงเวลาค่ำ พระอาทิตย์ตก ติ้วปักครบ ๑๒ อันแล้ว เอาออกเสียคราวหนึ่ง ด้วยกลางคืนตีกลองแทนฆ้อง ด้วยเหตุนี้แหละ จึงเรียกเป็นคำสามัญว่า "โมง" ในเวลากลางวัน ว่า "ทุ่ม" ในเวลกลางคืน ตามเสียงฆ้องและเสียงกลอง ที่ตีกลองในเวลากลางคืนนั้น เห็นจะเป็นด้วยเสียงกลองดังไปไกลกว่าเสียงฆ้อง

ในเรื่องโรงนาฬิกานี้ยังมีต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าตีโมงหรือทุ่มอื่น ๆ ตีเพียงอัตราทุ่มและโมง ถ้าตีเวลา ๖ นาฬิกา ๑๒ นาฬิกา ต้องตีย่ำฆ้องเสียก่อนลาหนึ่ง แล้วจึงตีบอกอัตรานาฬิกา กลางคืน ตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา ต้องตีย่ำกลองเสียก่อนลาหนึ่ง เรียกว่า ย่ำค่ำ ๒๑ นาฬิกา ย่ำลาหนึ่ง เรียกว่า ยามหนึ่ง เที่ยงคืน ย่ำสองลา เรียก สองยาม ๓ นาฬิกา ย่ำสามลา เรียก สามยาม แล้วตีอัตราต่อ ตอนรุ่งก็ย่ำรุ่ง ตอนเที่ยงก็ย่ำเที่ยง กลางวันก็ย่ำฆ้อง กลางคืนย่ำกลอง

เหตุไรจึงตีย่ำ ไปรู้มาจากเมื่อไปเมืองอินเดีย ไปได้ยินย่ำที่เมืองพราณสี ถามเขาจึงได้ความว่า ที่ตีย่ำนั้นเป็นสัญญาบอกให้เปลี่ยนคนรักษายาม คือ ประเพณีการรักษายาม กลางวัน ๖ ชั่วโมงเปลี่ยนครั้งหนึ่ง กลางคืน ๓ ชั่วโมงเปลี่ยนครั้งหนึ่ง ไทยเราเอาหน้าที่บอกสัญญาเปลี่ยนยามมาเป็นพนักงานของโรงนาฬิกา จึงตีย่ำ แต่เมื่อเกิดนาฬิกากลอย่างฝรั่งขึ้นแล้วในเมืองไทย เราก็เลิกลอยกะลา ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งแทน และเลิกตีกลองในเวลากลางคืน ใช้ระฆังใหญ่ใบหนึ่งตีแทนทั้งสองสิ่งนั้น แต่ว่า ชื่อที่เรียกว่า โมง และ ทุ่ม ยังใช้อยู่เป็นสำคัญ ทำให้รู้ว่า ตีฆ้องเวลากลางวัน และตีกลองกลางคืน.

ลายพระหัตถ์ เรื่อง นาฬิกา
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
กับ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓
ธานี

เธอถามถึงนาฬิกา อาว์ก็จน ด้วยตั้งแต่เกิดมา ก็เห็นเขาใช้นาฬิกากลกันเสียแล้ว เป็นแต่รู้โดยหนังสือซึ่งได้อ่านพบและได้ฟังเขาพูดกันเป็นว่า เอาภาชนะเล็กเจาะก้นลอยน้ำในภาชนะใหญ่ เมื่อน้ำไหลเข้าทีละน้อยจนภาชนะเล็กจม ก็นับเอาเป็นเวลาหนึ่ง แต่จะเป็นเท่าไรนั้นไม่ทราบ ทั้งนี้ เป็นด้วยเห็นการตีไก่เขายังใช้จอกเจาะก้นลอยในขัน เมื่อจอกนั้นจม เขาเรียกว่า "อันจม" เขาก็จับไก่แยกออกจากการตีไปให้น้ำ สุดแต่จะสัญญากันว่า ตีกี่ "อัน" อย่างเดียวกันกับการต่อยมวยทางฝรั่ง อีกประการหนึ่ง สังเกตชื่อ นาฬิกา นั่นแปลว่า มะพร้าว จึ่งคิดว่า แต่ก่อนนี้เขาคงใช้กะลาก้นกลวงลอยน้ำเป็นเครื่องวัดเวลา ดูเหมาะดีที่จะฉวยเอากะลาซึ่งมีอยู่ดาษดื่นที่ไหนมาใช้ก็ได้ เขาจะชันอุดรูก้นกะลาเจาะไขให้น้ำเข้าตามชอบใจเอาใหม่หรือจะอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่นี่เป็นเดาทั้งนั้น

อันเครื่องวัดเวลานั้นมีอยู่มากนัก จะให้ตัวอย่างก็เช่น

๑."บ่ายควาย" "ควายเข้าคอก" นั่นเป็นสังเกตดูดวงอาทิตย์ เป็นวัดเวลาอย่างหยาบ

๒."ชั้นฉาย" นั่งสังเกตเอาเงา เป็นของละเอียดขึ้น ใช้ในการบวชนาค

๓.การสอบไล่หนังสือพระ ได้ยินว่า แต่ก่อน ใช้จุดธูปเป็นเครื่องวัดเวลา ถ้าธูปไหม้หมดดอก ยังแปลไม่ลุ ก็จัดว่า เป็นตก

ขอให้สังเกตกลอนในมูลบทบรรพกิจ ท่านแบ่งเวลาไว้ไม่ตรงกับนาฬิกากล

ก)วันหนึ่งแบ่งเป็น ๒ ภาค เป็นกลางวันครึ่งหนึ่ง กลางคืนครึ่งหนึ่ง

ข)วันกับคืนนั้นแบ่งเป็น ๘ ยาม คือ กลางวัน ๔ ยาม กลางคืน ๔ ยาม

ค)ยามหนึ่งแบ่งเป็น ๓ ชั่วโมง กลางวันเรียกว่า โมง กลางคืนเรียกว่า ทุ่ม ข้อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า กลางวันเขาคงตีด้วยฆ้อง กลางคืนเขาคงตีด้วยกลอง ตามที่ทรงสันนิษฐานเช่นนี้ เห็นชอบด้วยยิ่งนัก

ฆ)โมงหนึ่งแบ่งเป็น ๑๐ บาท ตกเป็นบาทหนึ่ง ๖ มินิดแห่งนาที

ง)นาฑีหนึ่งแบ่งเป็น ๔ เพชรนาฑี ตกนาฑีหนึ่งเป็นมินิด ๑ กับ ๓๐ สกันแห่งนาฬิกากล

จ)เพชรนาฑีแบ่งเป็น ๖ ปราณ เห็นจะหมายเอาหายใจเข้าหรือออกทีหนึ่ง ตกเป็นสกัน ๑ แ่หงนาฬิกากล

ฉ)ปราณหนึ่งแบ่งเป็น ๑๐ อักษร จะหมายถึงเขียนหนังสือหรืออะไรไม่ทราบ ถ้าหมายถึงเขียนหนังสือแล้ว ชั่วหายใจเข้าหรือออกทีหนึ่งเขียนหนังสือได้ ๑๐ คำ เห็นเร็วเต็มที แม้เอาแต่พยัญชนะ ก็เห็นไม่ไหวอยู่นั่นเอง

ไม่ว่าเครื่องวัดอะไร ไม่มีเที่ยงทั้งนั้น แม้นาฬิกากลก็ไม่เที่ยง แต่ดีกว่าวัดเวลาด้วยวิธีอื่น เราจึงต้องใช้

เธอบอกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ทรงส่งบันทึกประทานมา ๒ เรื่อง แต่อาว์ไม่ได้ถามว่า เป็นเรื่องอะไร เป็นพระวิจารณ์เรื่องพิธ๊ตรุสกับเรื่องเห่ช้าลูกหลวงหรือมิใช่ ถ้าเป็นเรื่องนั้น ก็ไม่ต้องส่งอาว์ เพราะอาว์ได้รับประทานมาเหมือนกัน ตั้งใจเมื่ออ่านแล้วจะส่งมาให้เธอ

นริศ
วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๘๓
ขอประทานกราบทูลทรงทราบฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ทรงอธิบายคำว่า "นาฬิกา" ตลอดจนเครื่องวัดโบราณมาโดยละเอียด ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบความหลายอย่างที่ยังไม่เคยทราบ บังเกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ต่อไปอีก ขอประทานกราบมาแทบฝ่าพระบาท

เหตุที่จะกราบทูลถามเรื่อง "นาฬิกา" เมื่อวันนั้น ยังกราบทูลไม่ตลอด เพราะไม่สู้สดวก ด้วยทรงกังวลด้วยการปฏิบัติพระเป็นต้น จึงขอประทานกราบทูลทางจดหมายนี้

ในโนตที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเรื่อง "กระลาโหม" ในวารสารของสยามสมาคม ข้าพระพุทธเจ้าได้ทักว่า ศาสตราจารย์เซเดส์แปลศิลาจาฤกเขมรโบราณแห่งหนึ่ง มีบัญชีสิ่งของซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงพระราชอุทิศถวายพระเป็นเจ้า ในบัญชีนั้นมีรายการอันหนึ่งว่า "กระลาพระกาล" ซึ่งเซเดย์หาได้อธิบายไว้ไม่ว่า เป็นสิ่งของชนิดไร ทำให้อยากเดาว่า ตามรูปศัพท์น่าจะแปลว่า บริเวณของเวลา หรืออีกนัยหนึ่ง เครื่องวัดเวลา ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไทยเราแต่เดิมทีก็ปรากฏว่า ใช้เปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นเครื่องวัดเวลา จึ่งเห็นว่า เป็นเหตุให้ชวนสันนิษฐานต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ด้วยนัยนี้เองกระมัง เปลือกแข็งของลูกมะพร้าวจึงมาได้ชื่อว่า "กระลา" ทั้งนี้ ก็ได้แต่เพียงปรารภ เพราะไม่มีหลักฐานอันใดที่แน่นอนยิ่งไปกว่านี้ที่พอจะยืนยันได้

ต่อมา นายแล็งกาต์ได้มาบอกข้าพระพุทธเจ้าให้สังเกตดูในกฎหมายลักษณะพิศูจน์และพระราชกำหนดใหม่ซึ่งมีกล่าวถึง "นาระกา" เป็นเครื่องวัดในการดำน้ำพิศูจน์สำหรับคู่ความในพระราชกำหนดใหม่ (บทที่ ๒๙ หน้า ๔๐๑ เล่ม ๓ ในฉะบับตราสามดวง ซึ่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองพิมพ์ขึ้น) มีความว่า เกิดการพิศูจน์ดำน้ำโดยใช้ "นาระกา" ถือเกณฑ์กันที่ "นาระกา" ล่มหรือยัง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า "ทรงแคลง" การที่เอา "นาระกา" มาใช้ โปรดให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงสอบพระอัยการ พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูลว่า "ดำน้ำตั้งนาระกามิได้พบในพระอัยการ พบแต่คำว่า ดำน้ำกัน ให้ยุกระบัดกลั้นใจสามกลั้น" แต่ปรากฏว่า ที่เมืองราชบุรีใช้นาระกากัน จึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า "กฎหมายให้ตั้งนาระกานั้นหามิได้" ให้ห้ามมิให้ใช้นาระกา และตัวอย่างราชบุรีก็ไม่โปรดให้อนุโลมตาม

"นาระกา" ในที่นี้คงจะต้องเป็นเปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นแน่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กระลานั่นเอง จึงได้มีการ "ล่ม" กัน

นายแลงกาต์กับข้าพระพุทธเจ้าได้พร้อมกันพลิกดูลักษณะพิศูจน์ดำน้ำลุยเพลิงซึ่งมีพระราชปรารภแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง พบความว่า "ตั้งนาลิกา" ในมาตรา ๗ ซึ่งไม่ตรงกันกับที่พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูล ได้พิเคราะห์หาร่องรอยที่จะสันนิษฐานว่า เหตุไรพระมหาราชครูมหิธรจึ่งกราบบังคมทูลดั่งนี้ จะหลงก็ไม่สม เพราะพระราชบัญญัติก็สั้น มีความเพียงเจ็ดมาตราเท่านั้น จะว่า มาตราที่กล่าวถึง "นาลิกา" นี้เติมเข้าไปภายหลัง ก็มิต้องเติมภายหลังพระราชกำหนดใหม่ซึ่งมีปีเดือนวันคืนแห่งพระบรมราชโองการแน่นอนว่า จุลศักราช ๑๑๕๘ ปีเถาะ ฯลฯ หรือ และเช่นนั้น เหตุไรจึงเติมลงไปในพระราชบัญญัติโบราณในเมื่อมีพระราชกำหนดใหม่ระบุความค้านอยู่ชัด ๆ ดั่งนี้ หรือจะเติมลงระหว่างตอนกลางหรือปลายของกรุงศรีอยุธยา และพระมหาราชครูมิได้ใช้ฉะบับมีมาตรา ๗ นี้เติมไว้ข้างท้าย เพราะกฎหมายนั้นยังมิได้ชำระเสร็จ เมื่อทรงสั่งในรัชชกาลที่ ๑ เรื่องไม่ให้ใช้นาระกาสำหรับพิศูจน์ดำน้ำนี้ ไปมาก็ไม่มีใครจะตัดสินทางใดลงไปได้ เลยต้องนั่งหัวเราะกันอยู่

อนึ่ง ในมาตรา ๗ ที่กราบทูลอ้างถึงข้างบนนี้ กล่าวความแปลกอยู่ตอนหนึ่ง "…จะดำน้ำกัน ให้อาลักษณ์เอาคำสัจจาธิศถานอ่านประกาษเทพยุดา แล้วให้ โจทก์/จำเลย สะหัวแล้วชนไก่ เมื่อจะลงดำน้ำกันนั้น ให้ปักหลัก" … ข้าพระพุทธเจ้ากับนายแล็งกาต์ได้ลองช่วยกันคิดดูว่า คำว่า "ชนไก่" ในที่นี้แปลว่าอะไร ก็ไม่สำเร็จ ในมาตรา ๑ มีความว่า ให้ตระลาการคุมลูกความทั้งสองไปซื้อไก่อย่างละสองตัว มาตรา ๒ มีกล่าวถึงไก่อีกว่า ให้เตรียมการพิศูจน์โดยหาสิ่งของต่าง ๆ ไว้ ในจำพวกสิ่งของให้หาไว้นั้นมี "ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำยามข้างละตัว ไก่บังสะกุนไหว้เทพารักษ์ข้างละสองตัว" ดังนี้ สังเกตความในที่นี้เหมือนจะมีไก่สองประเภท คือ ไก่เป็นที่ให้คุมลูกความไปซื้อ ประเภทหนึ่ง ไก่สังเวยเทวดา ประเภทหนึ่ง และคล้าย ๆ กับจะแยก "ไก่ตัวผู้รู้ขันประจำจำยาม" ออกไปได้อีกประเภทหนึ่ง ถ้าเช่นนี้ก็ถึงสามประเภทด้วยกัน

ข้าพระพุทธเจ้าได้บอกแก่นายแล็งกาต์ว่า จะลองกราบทูลความดูในเรื่องไก่นี้ด้วย

ควรมิควรและแต่จะโปรดเกล้าฯ
ธานีนิวัต
วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๓
ธานี

หนังสือลงวันที่ ๒๑ ได้รับแล้ว ที่ไม่ได้พูดถี่ถ้วนเมื่อเวลาเลี้ยงพระ เขียนหนังสือมาให้ทีหลังนั้น ดีแล้ว เพราะอาว์หูไม่ดีเสียแล้ว ฟังพูดอาจเข้าใจผิดไปได้ ถ้าเป็นหนังสือแล้ว ไม่เข้าใจผิดไปได้เลย ตามหนังสือซึ่งเธอเขียนไปให้นั้น อาว์ได้ความรู้กว้างออกไปเหมือนกัน แล้วทำให้มีความคิดกว้างออกไปตามกันด้วย

คำที่เรียก "กระลา" เดาว่า ทีจะเป็น "กาละ" เพราะใช้มันลอยน้ำกำหนดเป็นเวลา ส่วนคำว่า "ปราณ" ซึ่งบอกมาก่อน คิดโดยเดาว่า จะเป็ยระยะเวลาหายใจนั้น ทีจะผิดเสียแล้ว กลับตรงกันข้าม เป็นกลั้นใจ ตรงกับคำที่ใช้กันอยู่ว่า "อึดใจ" มาตราแต่ละอย่าง เดิมก็ใช้ในธุระอย่างหนึ่ง ไม่ติดต่อกัน หากมีผู้รู้รวบรวมเอาทุกอย่างมาต่อกันเข้าทีหลัง และการต่อนั้น ถ้าหลงเอาต่อกันเข้าผิด ก็พาให้เราหลงผิดไปด้วย

ตามหนังสือของเธอนั้น หนักไปในทางกฎหมาย อันกฎหมายนั้นก็เป็นหนังสือแต่งซึ่งเก็บเอาข้อบังคับต่าง ๆ มารวมต่อกันเข้าเหมือนกัน ย่อมแต่งกันหลายเจ้าของด้วย จึงเรียกไปต่างกันว่า เป็นกฎหมายฉะบับนั้นฉะบับนี้ ลางข้อต้องกันก็มี ไม่ต้องกันก็มี สุดแต่ผู้รวบรวมจะพบเข้า ข้อเหล่านั้นข้อใดไม่ใช้ ก็ไม่ได้บอกยกเลิกไว้ ก็ต้องขัดกันอยู่เองเป็นธรรมดา ข้อที่เก็บมารวมกันเข้านั้น ไม่ใช่จำเพาะแต่ข้อบังคับในบ้านเรา แม้เป็นข้อบังคับทางต่างประเทศก็เก็บเอามา จะเห็นได้ในตอนต้นกฎหมายมี "พระธรรมศาสตร์" นั้นเป็นข้อบังคับที่คัดมาจากอินเดีย และข้อความซึ่งคัดมาจากต่างประเทศนั้น อะไรที่เข้ากับเราได้ ก็เอาไว้ ที่เข้าไม่ได้ ก็แก้เปลี่ยนไป แม้ข้อความใดซึ่งเวลาโน้นเข้ากับเราได้ ก็เอาไว้ แต่ทีหลัง ประเพณีเราเปลี่ยนไป ก็แก้แซกเข้า เก่าก็ไม่บอกยก ลางฉบับที่ไม่ได้ใช้ ก็ไม่ได้แก้ ถ้าจะดูหนังสือ ก็มีแต่ยุ่ง จะติผู้เขียน ก็ไม่ถนัด เพราะผู้เขียนจะรู้กฎหมายไปทุกฉบับ ย่อมไม่ได้อยู่เอง

ในการที่เราจะแปลคำในกฎหมาย ก็ย่อมขัดข้องอยู่เหมือนกัน ด้วยข้อบังคับเก่าตามประเพณีและถ้อยคำซึ่งใช้เข้าใจกันอยู่ในเวลาโน้นลงมาถึงเวลานี้ ก็เปลี่ยนไปหมด เราเป็นคนทุกวันนี้ จะแปลคำครั้งกระโน้น ย่อมไม่ได้อยู่เอง ได้แต่เดา ก็ย่อมผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา

ตามที่เธอตั้งใจจะปรึกษา อาว์ก็มีความเห็นที่จะบอกได้แต่เพียงเท่านี้

นริศ