บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 17

เรื่อง หลักเมือง

ปัญหา ประเพณีการตั้งหลักเมืองนั้นมีมาอย่างไร?

ตอบ หลักเมืองเป็นประเพณีพราหมณ์มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้นคงเป็นด้วยประชุมชน ประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมเป็นตำบล ๆ ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ ๆ นั้นเดิมเรียกว่า เมือง เมืองหลาย ๆ เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ ๆ หลาย ๆ เมืองเป็นมหานคร คือ เมืองมหานคร

ตัวอย่างหลักเมืองที่มีเก่าที่สุดในสยามประเทศนี้ คือ หลักเมืองศรีเทพในแถบเพ็ชรบูรณ์ ทำด้วยศิลาจารึก อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานบัดนี้ เรียกเป็นภาษาอินเดียในสันสกฤตว่า "ขีนํ" เป็นมคธว่า "อินทขีน" หลักเมืองศรีเทพทำเป็นรูปตาปูหัวเห็ด หลักเมืองชั้นหลังมาก็คงทำด้วยหินบ้างไม้บ้าง หลักที่กรุงเทพฯ ทำด้วยไม้ ได้ตั้งพิธียกหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕๔ นาฑี ตรงกับปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พ.ศ. ๒๓๒๕ หลักเมืองนี้เดิมมีหลังคาเป็นรูปศาลา มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงก่อสร้างและปรับปรุงถาวรวัตถุต่าง ๆ โปรดฯ ให้ยกยอดปรางค์ต่าง ๆ ตามแบบอย่างศาลที่กรุงเก่า และที่ศาลเสื้อเมือง ทรงเมือง ศาลพระกาล และศาลเจตคุปต์ เดิมหลังคาเป็นศาลา ก็โปรดฯ ให้ก่อเป็นปรางค์เหมือนศาลเจ้าหลักเมือง

มีเครื่องหมายอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตำรา พบในพระราชพงศาวดาร เมื่อเจ้าอนุเวียงจันขบถ ตีได้เมืองนครราชสีมา สั่งให้อพยพผู้คนไปเมืองเวียงจัน และให้ถอนหลักเมืองเสีย กิริยาที่ถอนหลักเมืองนั้น เขาจะมีตำหรับตำราถือว่า เลิกเมืองต้องถอนหลังเมืองหรืออย่างไร ไม่พบหลักฐาน มีแต่ในพงศาวดารว่า ทำอย่างนั้น ขันอยู่ หลักเมืองนครราชสีมาเป็นหลักไม้ ไม่มีใครกล้ายก ตั้งแต่เจ้าอนุฯ ถอน ก็เอาหลักเมืองนอนไว้ที่ศาลอย่างนั้น และก็บูชากันทั้งนอน ๆ จนฉันมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ไปพบเข้าเห็นนอนอยู่ จึงให้ทำพิธียกขึ้นอย่างเดิม หลักเมืองนครราชสีมาตั้งมาณบัดนี้

เมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ข้ามฟากมาจากธนบุรี สิ่งแรกที่กระทำ คือ ตั้งหลักเมือง คิดดูด้วยปัญญาก็เห็นเป็นการสมควร เป็นยุตติได้แน่นอนว่า จะตั้งเมืองที่ตรงนี้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ความไม่แน่ก็คงมี อาจเปลี่ยนแปลงและโยกย้ายได้ ที่ปักไปแล้วคนเป็นใจด้วยทุกคน อนึ่ง ควรสังเกตไว้ด้วยว่า การตั้งเมืองใหญ่มีของสองอย่างกำกับกัน คือ หลักเมือง และพระบรมธาตุ