ประกาศวิธีนับเวลาในราชการ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2471

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
ประกาศวิธีนับเวลาในราชการ

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า วิธีนับเวลาในราชการอันได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ พร้อมด้วยพระบรมราชาธิบายนั้น มีระเบียบนับเวลาเป็นรอบ ๑๒ นาฬิกา ตั้งแต่เที่ยงคืนล่วงแล้วถึงเที่ยงวันรอบหนึ่ง ตั้งแต่เที่ยงวันล่วงแล้วไปบรรจบเที่ยงคืนอีกรอบหนึ่ง เรียกว่า ก่อนเที่ยง และหลังเที่ยง มาภายหลัง ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้วิธีนับเวลารอบ ๒๔ นาฬิกาตั้งแต่เที่ยงคืนล่วงแล้วไปบรรจบเที่ยงคืนขึ้นอีกวิธีหนึ่งในราชการบางทะบวงการ เช่น ในราชการทหารบก ทหารเรือ รถไฟ และไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น เพราะการจดเวลาอย่างหลังนี้สะดวกและไม่มีช่องจะผิดพลาด บัดนี้ ทรงพระราชดำริว่า วิธีนับเวลารอบ ๒๔ นาฬิกานั้นก็เป็นที่เข้าใจแก่ประชาชนส่วนมากอยู่แล้ว สมควรให้ใช้ในราชการทั่วไปได้ เพื่อเป็นความสะดวกแก่ราชการ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วิธีนับเวลารอบ ๒๔ นาฬิกาในกิจราชการทั่วไป คือ แต่เวลาเที่ยงคืนล่วงไป เรียกว่า ๐ นาฬิกา กับเศษนาฑี จนถึง ๖๐ นาฑี เรียกว่า ๑ นาฬิกา และนับดั่งนี้ต่อไปตามลำดับ จนบรรจบเที่ยงคืน เป็น ๒๔ นาฬิกา

ส่วนในกิจการของประชาชน จะใช้วิธีนับเวลารอบ ๑๒ นาฬิกาอยู่ตามเดิมก็ได้ ไม่ห้าม

อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า คำบอกกำหนดเวลาเป็น นาฬิกา และคำบอกย่านระยะเวลาในรอบ ๖๐ นาฑีนั้น ควรใช้คำต่างกันจึ่งจะสะดวก เพราะฉะนั้น คำบอกย่านระยะเวลา ให้ใช้ว่า "ชั่วโมง" ไม่ใช่ "ชั่วนาฬิกา" ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกาไปจนถึง ๑๐ นาฬิกา นับเป็นระยะเวลา ๒ ชั่วโมง

ประกาศมาณวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ เป็นปีที่ ๔ ในรัชชกาลปัจจุบัน

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"