ประชุมกาพย์เห่เรือ (2464)/อธิบาย
กาพย์เห่เรือเหล่านี้ ถ้าว่าโดยกระบวนหนังสือ ล้วนเปนกลอนสังวาศซึ่งแต่งดีอย่างที่สุดในหนังสือไทยพวก ๑ ด้วยเหตุนี้ คนทั้งหลายจึงชอบอ่านแลพอใจจำไว้ขับร้องเล่นตั้งแต่ไร ๆ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ผู้ที่ได้สมุดเล่มนี้ไป เห็นจะไม่ใคร่มีใคร ฤๅถ้ามีก็คงน้อยตัวทีเดียว ที่จะไม่เคยอ่านแลไม่ชอบบทเห่เรือ เพราะฉนั้น ไม่จำเปนที่จะต้องอธิบายบอกว่า บทเห่เรือเปนของดีอย่างไร แต่เห่เรือ ถ้าว่าโดยประเพณีแลเรื่องราวของบทเห่เหล่านี้ ตำนานในทางโบราณคดีมีอยู่บ้าง บางทีจะมีผู้ซึ่งยังไม่เคยทราบ ข้าพเจ้าจึงจะลองอธิบายตำนานเห่เรือในคำนำนี้ตามที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้ใหญ่บอกเล่า ประกอบกับความรู้แลความสันนิษฐานของตนเองด้วย ถ้าความที่ข้าพเจ้าแสดงวิปลาศคลาศเคลื่อนบ้างอย่างไร ขอท่านผู้อ่านจงให้อภัยโทษด้วย
จะกล่าวด้วยการเห่เรือก่อน ลักษณการที่พลพายขับร้องอย่างหนึ่งอย่างใดในเวลาพายเรือนั้น เห็นจะมีเปนประเพณีด้วยกันทุกชาติทุกภาษาบรรดาที่ใช้เรือพาย แลคงมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว ด้วยมีประโยชน์เปนสัญญาให้พายพร้อมกัน แลให้เกิดความรื่นเริงพอแก้เหนื่อยได้บ้าง เห่เรือของชนชาติอื่น ๆ มีจีนแลญวนเปนต้นนั้น ที่เขาร้องเล่นลิเกกันก็ได้ยินอยู่ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน ด้วยไม่เกี่ยวแก่เรื่องที่จะกล่าว จะกล่าวเฉภาะแต่เห่เรือของไทยเรา เข้าใจว่า เห่เรือทุก ๆ อย่างย่อมจะมีมูลเหตุ แต่หากรู้ได้ในเวลานี้บ้าง รู้ไม่ได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ขานยาว "เหยอว เย่อว" ที่เราเคยได้ยินอยู่ทั่วกันนี้ เปนเห่อย่างต่ำ มูลเหตุจะมาแต่ไหน แลจะเปนภาษาไร ข้าพเจ้าไม่เคยทราบ จนไปได้เค้าเงื่อนเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ เมื่อไปราชการประเทศยุโรป ขากลับโปรดให้มาทางประเทศอินเดีย ได้ไปแวะที่เมืองพาราณสี เขาจัดที่ให้อยู่แห่ง ๑ ต่างฟากแม่น้ำคงคากับรามนครซึ่งเปนที่อยู่ของมหาราชาพาราณสี วันที่ข้าพเจ้าจะไปรามนครนั้น มหาราชาจัดเรือขนานมารับข้ามฟาก เปนเรือ ๒ ลำผูกติดกัน ทำเปนมณฑปไว้ข้างท้าย ตั้งเก้าอี้รับแขกไว้ในมณฑปนั้น พอออกเรือพายข้ามแม่น้ำคงคา ฝีพายคนหนึ่งขับร้องเปนภาษาสันสกฤตขึ้นด้วยคำว่า "โอม" แต่คำต่อไปว่ากะไรข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ประมาณอักษรสักบาทฉันท์ ๑ พอจบฝีพายก็รับด้วยเสียงดังคล้าย ๆ "เย่อว" ทั้งลำ แล้วต้นบทก็ขึ้นใหม่ ฝีพายรับ เย่อว อิก เห่ไปอย่างนี้จนข้ามถึงท่ารามนคร ข้าพเจ้าถามเขาว่า ฝีพายขับร้องอะไรกัน เขาอธิบายว่า เปนคำขับบูชาพระรามพระลักษณ์ ได้ความเช่นนี้ จึงเห็นว่า เรื่องขานยาว เหยอว เย่อว ของไทยเรานั้น เห็นพวกพราหมณ์จะพาแบบแผนเข้ามาแต่มัชฌิมประเทศเปนแน่ แต่เดิมคงจะขับเปนภาษาสันสกฤต ครั้นนานเข้า หลุดลุ่ยไปทีละน้อย ด้วยเราไม่รู้ภาษา จึงเหลืออยู่แต่เหยอว เย่อว จึงไม่รู้ว่า ภาษาอะไร ยังเห่ที่มีตำราอิกอย่าง ๑ ซึ่งเรียกว่า "สวะเห่" นั้น ถ้อยคำก็แปลก ขึ้นว่า "เห่แลเรือ" พลพายรับว่า "เห่ โห เห่ โห" เมื่อจะจบต้นบท ชักว่า "ไชยแก้วพ่อเอย" พลพายรับว่า "โอว โอว" นี้ ดูท่าเดิมก็ว่า[วซ 1] จะเปนภาษาสันสกฤตอิก แต่มูลเหตุจะมาอย่างไรข้าพเจ้าหาทราบไม่ ถ้อยคำที่เข้าใจได้เจือไปด้วยคำเริงทัพ คงจะได้ใช้เห่กระบวนเรือหลวงมาแต่ก่อน แต่บทเห่เรือที่เราชอบร้องกันเล่น เช่น ชมเรือกระบวนเสด็จ แลชมปลา เปนต้น ที่แต่งครั้งกรุงเก่าก็ดี ฤๅบทเห่แต่งในชั้นกรุงรัตนโกสินทร เช่น เห่ชมกับเข้าของกินนั้นก็ดี มิใช่บทเห่ในการหลวง รู้ตำนานเปนแน่ (ดังจะกล่าวต่อไปข้างน่า) ว่า เมื่อแต่งขึ้น เปนแต่สำหรับเห่เล่นโดยลำพัง พึ่งเอาบทเห่เหล่านั้นมาเห่ในการหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๔ นี้เอง บทเห่เรือกระบวนหลวงของเดิม นอกจากสวะเห่ น่าจะมีบทอะไร ๆ อิก ในกาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ก็บ่งไว้ว่า "พลพายกรายพายทอง ร้องโอ้เห่โอ้เห่มา"[วซ 2] ดังนี้ เห็นจะไม่ได้หมายความว่า เห่แต่สวะเห่อย่างเดียว แต่บทเก่าหากสูญเสีย จึงทราบไม่ได้ในเวลานี้ว่า มีบทเห่อะไรอิกบ้าง
ถ้าว่าโดยลำนำสำหรับเห่เรือ ในตำราบอกไว้แต่ ๓ อย่าง เรียกว่า สวะเห่ อย่าง ๑ ช้าลวะเห่ อย่าง ๑ มูลเห่ อย่าง ๑ แต่ที่เคยสังเกตเห็นลักษณเห่ในกระบวนหลวง เห็นเห่อยู่ ๔ อย่าง คือ เมื่อเสด็จลงประทับในเรือพระที่นั่งแล้ว หลวงพิศณุเสนี ขุมรามเภรี เปนต้นบท (จะได้เปนต้นบทโดยตำแหน่งฤๅโดยเฉภาะตัว ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่) คนหนึ่งนั่งคุกเข่าพนมมือเห่โคลงนำกาพย์ บางทีเรียกกันว่า เกริ่นโคลง ก็เคยได้ยิน เมื่อจบบทโคลงแล้ว จึงออกเรือพระที่นั่ง พลพายพายนกบินจังหวะช้า เพราะว่าเรือตามน้ำ ไม่หนักแรง ผจงพายเอางามได้ ใช้ทำนองเห่ช้า เข้าใจว่า ได้กับที่เรียกในตำราว่า ช้าลวะเห่ (น่าจะเปน ช้าแลว่าเห่) คงหมายความว่า เห่ช้า พอจวนจะถึงที่ประทับ ต้นบทก็ชักสวะเห่ คำนี้จะหมายความอย่างไรยังคิดไม่เห็น คเนพอจบบทเรือพระที่นั่งก็ถึงที่จอด ขากลับเรือทวนน้ำ มีระยะย่านไกล ต้องพายหนักจังหวะเร็ว ใช้เห่ทำนองเร็ว ที่มีพลพายรับ "ฮะไฮ้" นั้น เข้าใจว่า ได้กับที่เรียกในตำราว่า มูลเห่ คงหมายความว่า เห่เปนพื้น เมื่อจบบท พายจ้ำ ๓ ทีส่งทุกบท ถ้าลอยพระประทีปเดือน ๑๒ ซึ่งมีการแต่งเรือพระที่นั่งกิ่งทรงพระไชยลำหนึ่ง พานพุ่มดอกไม้พุทธบูชาลำหนึ่ง เวลาเรือกิ่งเข้ามาทอดเทียบเรือบัลลังก์พระที่นั่ง ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว โปรดให้จอดเห่ถวายอยู่นาน ๆ ว่าเปนทำนองมูลเห่ เห่ถวายแล้วออกเรือ จึงเปลี่ยนเปนทำนองช้าลวะเห่ ลักษณการเห่เรือเคยเห็นดังกล่าวมานี้
ทีนี้ จะว่าถึงตำนานบทเห่เรือต่อไป บทเห่เรือที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้มีตำนานได้ทราบมาดังนี้
๑บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ มี ๒ เรื่อง เรื่องที่ ๑ ชมพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นต้นแต่ "พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" ต่อชมกระบวนเรือ ว่าด้วยชมปลา ชมไม้ ชมนก เปนนิราศ บทเห่เรื่องนี้เห็นได้ในสำนวนว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของท่านเองเวลาตามเสด็จขึ้นพระบาท ออกจากกรุงเก่าเวลาเช้า พอเย็นก็ถึงท่าเจ้าสนุก
บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เรื่องที่ ๒ นั้นเปนคำสังวาศ เอาเรื่องพระยาครุธลักนางกากีมานำบท ขึ้นต้นว่า "กางกรโอบอุ้มแก้ว[วซ 3] เจ้างามแพร้วสบสรรพางค์" แล้วว่าต่อไปเปนกระบวนสังวาศจนจบ ถ้าสังเกตจะเห็นได้ในสำนวนว่า เอาเรื่องจริงอันเปนความขำลับลี้ในพระหฤไทยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ออกมาว่าตลอดทั้งเรื่อง เรื่องที่ว่านั้นอาจจะรู้ได้ในปัจจุบันนี้ ด้วยมีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารที่ได้กล่าวถึงเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ลอบผูกสมัครักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาล จึงเข้าใจว่า บทเรื่องหลังนี้ว่าด้วยเรื่องสังวาศเจ้าฟ้าสังวาลทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ แต่เดิมเห็นจะใช้บทเรื่องนี้เห่แต่เฉภาะเวลาทรงเรือประพาศโดยลำพัง[วซ 4] เช่น เที่ยวทุ่ง เปนต้น
๒บทเห่เรือพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น ตั้งแต่ชมกับเข้าของกิน ขึ้นว่า "มัศหมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารศร้อนแรง" เปนต้น ตลอดจนว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ เข้าใจว่า ทรงพระราชนิพนธ์แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า พระราชนิพนธ์นี้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีแต่ยังเปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ด้วยกระบวนแต่งเครื่องเสวยไม่มีผู้ใดจะดีเสมอในครั้งนั้น บทเห่เรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงพระราชนิพนธ์ก็สำหรับเห่เรือเสด็จประพาศ มิได้ใช้ในราชการ เรื่องเห่เรือในราชการนั้น โคลงพยุหยาตราพระกฐินซึ่งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตนิโนรสทรงนิพนธ์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้กล่าวถึงเห่เรือเลย จึงเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาบทเห่เรือทั้งบทครั้งกรุงเก่าแลบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ มาใช้เห่เรือในราชการต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔
๓บทเห่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ นั้น มีแต่ชมโฉมบทเดียว ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้เห่ถวายเวลาลอยพระประทีปดังกล่าวมา ไม่ใคร่จะได้ใช้ในที่อื่น นาน ๆ ได้ยินเอาไปเห่กระบวนพระกฐินพยุหยาตราครั้ง ๑ เห่พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ผู้เคยตามเสด็จลงเรือบัลลังก์ลอยพระประทีปได้ยินเห่ทุก ๆ ปี จึงจำไว้ได้ แต่ไม่ปรากฎว่า ได้เคยพิมพ์ฤๅจดไว้ที่ไหน พึ่งจะพิมพ์ในที่ประชุมกาพย์เห่เรือนี้
๔บทเห่พระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาพิมพ์ในประชุมกาพย์เห่เรือด้วยนั้น ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสำหรับพิมพ์ในหนังสือสมุทสารอุดหนุนราชนาวีสมาคมเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ เอาเค้าเรื่องบทเห่เรือเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์เทียบลักษณการในเวลาปัจจุบันนี้ เปนต้นว่า เห่เก่าชมกระบวนเรือพายซึ่งเปนเรือพระที่นั่งแลเรือรบเรือไล่ในครั้งนั้น พระราชนิพนธ์ทรงชมเรือพระที่นั่ง แลเรือรบ แลเรือไล่ ซึ่งเปนเรือกลไฟในเวลานี้ ถึงบทอื่นก็ทรงเทียบให้ตรงกับการที่เปนอยู่แลความนิยมในสมัยนี้ ทั้งในทางพรรณนาแลในกลอนสังวาศ ถ้าผู้เปนนักเรียนโบราณคดีอ่านด้วยความสังเกต บทเห่เรือตั้งแต่แต่งครั้งกรุงเก่า แลที่แต่งครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร แลพระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จะได้ประโยชน์ความเข้าใจการที่เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับทั้งความนิยมแลการงาน นอกจากประโยชน์ที่ได้ในทางอ่านหนังสือกลอนที่แต่งดีอิกส่วน ๑
๕บทเห่เรือพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ นั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ทูลเชิญให้ทรงนิพนธ์เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัตยุบันนี้ ด้วยมีการสมโภชส่วนกระทรวงทหารเรือสนองพระเดชพระคุณเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ พ.ศ. ๒๔๕๔ มีการตกแต่งสถานที่ในกรมทหารเรือแถวท่าราชวรดิษฐ์ทั้ง ๒ ฟากแม่น้ำตลอดถึงวัดอรุณราชวราราม แลมีกระบวนแห่เรือในแม่น้ำ บทเห่เรือนี้เห่ในเรือพระที่นั่งกิ่งเมื่อมาจอดถวายไชยมงคลที่ท่าราชวรดิษฐ์ ตำนานของบทเห่เรือมีดังแสดงมานี้.
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "วซ" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="วซ"/>
ที่สอดคล้องกัน