ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา/เรื่องที่ 4
เรื่องทูตานุทูตสยามครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณได้ไปเฝ้าโปปเป็นครั้งแรกนี้ ข้างต้นได้แปลออกจากจดหมายเหตุของบาดหลวงตาชารด์ แต่ในตอนปลายนั้นได้แปลออกจากจดหมายเหตุภาษาอิตาลีอันได้ตีพิมพ์ ณ กรุงโรมในปีคริสต์ศักราช ๑๖๘๙ เป็นเนื้อความเพียง ๘ หน้าเท่านั้น เป็นเรื่องหายากที่สุด ครั้งนี้ นับว่า เป็นการแปลเรื่องนี้เป็นครั้งแรก แต่ก่อนยังหามีผู้แปลหรือเรียบเรียงเรื่องราชทูตสำรับนี้ไม่
อนึ่ง รูปราชทูตเฝ้าที่กำกับเรื่องนี้เป็นรูปชักจากรูปแกะอันตีพิมพ์ ณ กรุงโรมในกาลสมัยนั้น บัดนี้ รูปแกะนั้นมีเหลืออยู่แต่ฉบับเดียวเท่านั้น เป็นของปรินศโอเดศกัลกี ณ กรุงโรม อันเป็นเชื้อพระวงศ์ต่อ ๆ มา สืบเชื้อสายของโปปอินโนเซนซ์ที่ ๑๑ อันประสูตรในตระกูลเดิมของปรินศโอเดศกัลกีนั้น รูปชักนี้ ข้าพเจ้าได้มาจากปรินโอเดศกัลกี ได้ทรงชักออกเองแล้วโปรดส่งมาให้ข้าพเจ้า รูปเช่นนี้หามีปรากฏในที่อื่นไม่แล้ว
จ่าหน้ารูปนี้ ข้างบนเขียนเป็นภาษาอิตาลีว่า
Vdicnra data da N,S, Innocenro XI al P Gu' do Tachard della Comp di Gesu' edalli Tre Sig ri Maudarini imrati a $ $ dal Re di Siam efc
แปลว่า "การที่เฝ้าโปปอินโนเซนต์ที่ ๑๑ ของบาดหลวงตาชารด์ กับทูตานุทูตของพระเจ้ากรุงสยาม อันมี ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม คริสต์ศักราช ๑๖๘๘⟨"⟩ จ่าหน้ากลาง แปลว่า "บาดหลวงตาชารด์ได้คลี่แสดงพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสยามต่อโปปทรงทอดพระเนตร"
จ่าหน้าถัดลงมา แปลว่า "ราชทูตสยามได้นำพระราชสาสน์ออกมาแล้วจึงคุกเข่าลง" หนังสือที่มุมข้าล่างขวามือ แปลว่า "ข้าพเจ้า อารโนลด์เวศเตร์หุด ช่างแกะฮอลันดา ได้แกะรูปนี้มาตีพิมพ์ ณ กรุงโรม สำหรับขาย แต่ปีคริสต์ศักราช ๑๖๘๙⟨"⟩
ฝ่ายทูตานุทูตฝรั่งเศสที่มาเจริญทางพระราชไมตรีกรุงสยาม กับราชทูตสยาม มีคุณปานเป็นต้นนั้น คือ ราชทูตฝรั่งเศส ชื่อ มองสิเออลาลูแบร์ ๑ อุปทูต ชื่อ มองสิเออร์เสเบเร ๑ ครั้นสิ้นราชการแล้ว อุปทูตฝรั่งเศสจึงทูลลากลับไปทางเมืองกุยบุรีโดยทางบกจนถึงเมืองมะริด แล้วลงกำปั่นรบฝรั่งเศสที่นั่นกลับไปกรุงฝรั่งเศส แต่ราชทูตฝรั่งเศสนั้นยังรอคอยทูตานุทูตสยามสำรับใหม่ซึ่งซึ่งจะออกไปกรุงฝรั่งเศสด้วย จึงช้าอยู่หลายเวลา เพราะฉะนั้น ราชทูตฝรั่งเศสจึงป่วยไม่สู้สบาย จึงได้ไปขอลาต่อท่านเสนาบดีสยามว่า ขอให้กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยจะรีบกลับไปกรุงฝรั่งเศสโดยเร็ว เสนาบดีสยามได้ขึ้นไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายน์ที่ทะเลชุบศร กรุงลพบุรี ขณะนั้น สมเด็จพระนารายน์ก็ไม่สู้จะทรงสบายพระองค์ แต่ทรงทราบว่า ราชทูตฝรั่งเศสจะทูลลา จึงเสด็จเข้ามาทรงรับลาราชทูตฝรั่งเศสที่ในพระราชวังกรุงลพบุรี แล้วทรงฝากทูตานุทูตสยามสำรับใหม่ให้เชิญพระราชสาส์น ๒ ฉบับ กับเครื่องมงคลราชบรรณาการ ๒ สำรับ แลบาดหลวงล่ามผู้หนึ่ง ออกไปกับราชทูตฝรั่งเศสในครั้งนี้ด้วย เครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปกรุงฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นของวิเศษต่าง ๆ มีลูกช้างอย่างย่อม ๓ ช้าง พระราชทานไปเป็นพาหนะพระที่นั่งสำหรับพระราชโอรสพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทั้ง ๓ พระองค์ กับแรด ๒ แรด เป็นต้น พระราชสาส์นถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนั้นดำเนินความต้นว่า พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพทวาราวดีมหานครมหิศราธิปไตยในสยามประเทศเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งกาแลเนาวะรามหาราชาธิราชในประเทศฝรั่งเศส ความในสุดท้ายมีว่า เราผู้เป็นมิตรสหายอันสุจริตแลเป็นที่รักที่สุดของพระองค์ท่าน แล้วทรงประทับพระราชลัญจกรสำหรับราชการแผ่นดินเป็นรูปพระมหาอุนาโลมสถิตย์อยู่ในบุศบกมีฉัตรตั้งเคียงข้างละ ๒ คัน พระราชสาส์นส่งไปแต่พระราชวังกรุงลพบุรีลงณวันเดือนอ้าย ขึ้นสามค่ำ ปีเถาะ นพศก พุทธศักราช ๒๒๓๐[1] ตรงกับจุลศักราช ๑๐๔๙ ปี ในที่สุดท้ายในพระราชสาส์นนั้นลงชื่อว่า "โฟกอง" คือ (เจ้าพระยาวิชาเยนทร)
พระราชสาส์นอีกฉบับหนึ่งส่งไปถวายโปปณกรุงโรม ดำเนินความต้นและลงท้ายคล้าย ๆ กันกับฉบับถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
สำเนาพระราชสาส์นทั้ง ๒ ฉบับนั้น เจ้าพระยาวิชาเยนทรได้แปลเป็นภาษาโปรตุเกศ แลประทับพระราชลัญจกรแลลงชื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทรเหมือนต้นพระราชสาส์น
ครั้นณวันเดือนอ้าย ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราช ๑๐๔๙ ปีเถาะ นพศกนั้น ทูตานุทูตสยาม พร้อมด้วยราชทูตฝรั่งเศสที่รออยู่ ลงกำปั่นรบฝรั่งเศสที่คุณปานกลับมานั้นใช้ใบออกไปจากปากอ่าวสยาม ทูตานุทูตสยามสำรับใหม่นี้สามนาย มีออกขุนชำนาญ[2] เป็นต้น มีบาดหลวงล่ามคน ๑ ชื่อ ตาชารด์ มีบุตรขุนนาง ๕ นายซึ่งพระเจ้ากรุงสยามทรงฝากออกไปเรียนหนังสือฝรั่งแลวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนหลวงสำหรับบุตรขุนนางแลบุตรผู้มีตระกูลสูงซึ่งตั้งอยู่ในกรุงฝรั่งเศส ชื่อ โรงเรียนพระเจ้าลูอิศมหาราช นั้น เดิมพระเจ้ากรุงสยามทรงพระราชดำริไว้ว่า จะส่งบุตรขุนนางออกไปเป็นนักเรียนณกรุงฝรั่งเศส ๑๒ นาย แต่เลือกคัดจัดส่งไปไม่ทัน ๗ นาย คงส่งไปแต่ ๕ นาย พระราชดำริเดิมจะส่งนักเรียนชาวสยามออกไปคราวละ ๑๒ นาย ผลัดเปลี่ยนเวียนกันส่งไป แลกลับเข้ามาเสมอทุกคราวที่ควรจะไปมาได้ ทั้งหวังพระราชหฤทัยว่า ถ้านักเรียนครั้งแรกกลับเข้ามาเล่าการดีให้บิดามารดาฟังแล้ว จะได้ไม่เปนที่หวั่นหวาดแก่บิดามารดาผู้จะยอมให้บุตรออกไปเปนนักเรียนนั้น ชาวสยามซึ่งไปราชการกรุงฝรั่งเศสในครั้งนี้ คือ ทูตานุทูต ๓ นาย นักเรียน ๕ นาย รวมเปน ๘ นาย กับขุนนางพนักงานแลคนใช้สอยตามสมควร
กำปั่นรบที่รับทูตานุทูตสยามใช้ใบไปประมาณ ๒ เดือนเศษจึงถึงน่าแหลมเข็ม ซึ่งกำปั่นรบโปรตุเกศได้มาแตกที่ตรงนี้ เมื่อออกขุนชำนาญได้เห็นแหลมนั้น ก็รฦกถึงการเก่าซึ่งได้มีความลำบากในที่นี้เปนอันมาก
ครั้นถึงณเดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ปีมะโรง ยังเปนนพศก เวลาบ่าย ๕ โมง กำปั่นไปถึงอ่าวแหลมเคปออฟกุดโฮป ได้ทอดสมอในที่นั้น พักอยู่ ๑๐ วัน แล้วก็ใช้ใบต่อไป
ถึงณเดือน ๘ ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๐๕๐ กำปั่นไปถึงอ่าวเมืองบเรศต์ ทูตานุทูตสยามได้ขึ้นจากกำปั่นรบที่ไปนั้น แล้วเปลี่ยนไปลงกำปั่นรบเล็ก ๆ ลำใหม่ ใช้ใบต่อไปจนถึงเมืองรุเอ็น แล้วขึ้นรถเทียมม้าต่อไปหลายวันจนถึงกรุงปารีศ ได้พักอยู่ที่ตึกรับแขกเมืองหลายวัน คอยว่าเครื่องราชบรรณาการจะไปถึงจึ่งจะเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ ครั้นเครื่องราชบรรณาการซึ่งเจ้าพนักงานฝรั่งเศสขนส่งไปถึงกรุงปารีศแล้ว ทูตานุทูตสยามได้ขอต่อเสนาบดีฝรั่งเศสว่า จะขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ๆ หาได้ประทับอยู่ในกรุงปารีศไม่ เสด็จไปประทับแรมอยู่ที่พระราชวังในเมืองฟอนเตนโปล นอกกรุงปารีศ ครั้นพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงทราบว่า ราชทูตสยามมาถึงแล้ว จึงมีรับสั่งกำหนดว่า จะเสด็จออกรับราชทูตสยามที่พระราชวังณเมืองเวอร์ไซล์ เปนที่ทรงพระประพาศนอกกรุงปารีศ ณเดือนอ้าย ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ ๑๕ เดือนดีแซมเบอร์ คือ เดือนธันวาคมข้างน่านั้น ครั้นได้ทรงทราบว่า ราชทูตสยามจะต้องไปถวายพระราชสาส์นต่อโปปกรุงโรมด้วย จึงมีพระราชดำรัสสั่งเสนาบดีให้มาแจ้งความแก่ราชทูตสยามว่า ถ้าจะรอคอยเฝ้าตามวันกำหนดนั้น ก็จะไม่ทันไปเฝ้าโปปกรุงโรม แลจะไม่ทันฤดูลมที่จะกลับไปกรุงสยามได้ เพราะฉนั้น ให้ทูตานุทูตสยามรีบไปเฝ้าโปปณกรุงโรมก่อน แล้วจึงกลับมากรุงฝรั่งเศส จึงจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสพร้อมกัน แล้วจะได้กลับไปกรุงสยามให้ทันฤดูลม
ครั้นทูตานุทูตสยามได้ทราบพระราชดำรัสพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนั้นแล้ว เมื่อถึงวันที่ ๕ เดือนโนเวมเบอร์ คือ เดือนพฤศจิกายนตรง กับเดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำในปีนั้น ทูตานุทูตสยามก็ขึ้นรถออกจากกรุงปารีศพร้อมด้วยบาดหลวงล่ามผู้กำกับแลชาวสยามคนใช้ ๒ นายไปจนถึงเมือง (กัน) อันอยู่ชายทเล ได้ลงเรือใบ ๒ ลำซึ่งเสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศสั่งให้จัดมารับ ใช้ใบออกจากเมืองนั้นต่อไปจนถึงปากอ่าวเมืองเยนูวา ประเทศอิตาลี พักอยู่ที่นั้นสองสามวัน ก็ใช้ใบเลียบฝั่งต่อไปอิก ได้พักตามหัวเมือง (จิวิตา เวกเกีย) รายทางใน ทเลหลายเมือง ถึงปากอ่าวเมืองชีวิตเวกวียะซึ่งเปนปากอ่าวของกรุงโรม ในวันที่ ๒๐ เดือนธันวาคม ตรงกับเดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ในปีนั้น เรือสองลำได้เข้าไปในลำน้ำวัน ๑ ก็ถึงน่ากรุงโรม ได้ขึ้นรถเล่ม ๑ เทียมม้า ๓ คู่ ซึ่งท่านมหาสังฆราชผู้ว่าราชการต่างประเทศกรุงโรมได้จัดมารับทูตานุทูตสยาม ๆ ได้พักในที่ตึกใหญ่โตระโหฐานเปนที่สำราญมาก ซึ่งท่านมหาสังฆราชจัดไว้รับรอง แลมีการเลี้ยงอย่างบริบูรณ์วันละ ๒ เวลา มีทหารรักษาพระองค์ของโปปมาประจำรักษาประตูที่พักนั้นด้วย
ครั้นถึงวันที่ ๒๓ เดือนธันวาคมในปีนั้น กำหนดวันที่ทูตานุทูตสยามพร้อมกันจะได้เข้าเฝ้าโปปนั้น ฝ่ายโปปได้ทรงทราบว่า ทูตานุทูตสยามถือสาสนาต่างกัน จะมีความรังเกียจในธรรมเนียมที่ต้องจูบพระบาทซึ่งแสดงความนับถือต่อโปปตามจารีตประเพณีของโรมันแต่โบราณสืบมา เพราะฉนั้น จึงโปรดให้ยกเลิกธรรมเนียมที่ราชทูตจะต้องจูบพระบาทนั้นเสีย โปรดให้เข้าเฝ้าตามธรรมเนียมปรกติ มิได้ต้องจูบ
ครั้นถึงเวลากำหนดนั้น ท่านมหาสังฆราชผู้ว่าราชการต่างประเทศจัดให้ขุนนางที่ ๒ ของเสนาบดีคน ๑ กับบาดหลวง ๑ คุมรถที่นั่งของโปป ๒ รถ ไปรับทูตานุทูตสยามตามธรรมเนียมราชทูตใหญ่ฝ่ายเมืองเอกราช รับราชทูตสยามมาในรถ ๆ มาตามถนน มีชาวกรุงโรมมาคอยดูราชทูตสยามตามถนนเปนอันมากเหลือที่จะประมาณ รถทูตานุทูตสยามถึงประตูพระราชวังโปปนั้น มีพลทหารรักษาพระองค์เปนอันมากมายยืนรับสองข้างถนนตั้งแต่ประตูพระราชวังจนถึงในพระราชวัง รถทูตานุทูตสยามเข้าในพระราชวังจนถึงเชิงบันไดท้องพระโรง จึงลงจากรถ ขณะนั้น มหาสังฆราช ชื่อ จีโบ เปนตำแหน่งอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ มายืนคอยรับราชทูตสยามอยู่ที่เชิงบันไดท้องพระโรงด้วย เวลานั้น มีพระสังฆราช แลบาดหลวงผู้ใหญ่ แลข้าราชการฝ่ายฆราวาศเปนอันมาก ยืนอยู่ตามท้องชาลาน่าท้องพระโรง แลสองข้างบนท้องพระโรงเต็มแน่นอัดแอกันไม่มีช่องจะเดินได้ เพราะฉนั้น นายทหารรักษาพระองค์ที่นำน่าราชทูตสยามจึงไล่คนที่ยืนตามบันไดให้หลีกเปนช่องทางให้ราชทูตสยามเดินขึ้นไปได้ ในท้องพระโรงนั้น ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชสาส์น ๆ จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัตรกว้าง ๖ นิ้ว ยาวศอกเศษ ม้วนบรรจุไว้ในผะอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่ พระสุพรรณบัตรกับผะอบรวมน้ำหนักประมาณทอง ๒ ชั่ง มีถุงตาดเทศดวงทองหุ้มผะอบ แลมีสายรัดผูกปากถุง มีภู่ทองสองภู่ติดที่ปลายสายรัดด้วย ผะอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง ๆ ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ
อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการ มีถุงตาดตาตั๊กกะแตนหุ้มตั้งบนพานทองคำชั้นเดียว ตรีทูตเชิญของถวาย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ อรรคมหาเสนาบดีกรุงสยาม มีถุงเข้มขาบพื้นเขียวหุ้ม๑ ถุงตั้งบนพานถมตะทองสำหรับถวายโปป ทูตานุทูตสยามทั้ง ๓ นายแต่งกายเต็มยศตามธรรมเนียมสยาม คือ นุ่งยกทองพื้นเขียว สวมเสื้อสักหลาดแดงขลิบทอง คาดเข็มขัดสายทองคำนอกเสื้อ เหน็บกระบี่ฝักแลด้ามทองคำ สวมพอกเกี้ยวกระจังทองคำสูงสามนิ้วปักดอกไม้ไหวเพ็ชร มีสายสร้อยทองคำผูกนอกรัดคาง เหมือนกันทั้ง ๓ นาย เดินเข้าไปในท้องพระโรงพร้อมด้วยบาดหลวงล่ามผู้กำกับไปจากกรุงสยามนั้น ฝ่ายโปปทรงพระนามว่า พระเจ้าอินนอเซนต์ที่ ๑๑ เอกอรรคมหาชนกาธิปตัยในกรุงโรม เสด็จออกประทับบนพระแท่นในท้องพระโรง มีมหาสังฆราชนั่งบนเก้าอี้ต่อน่าพระที่นั่งออกมาสองข้าง ๆ ละ ๔ รูป ราชทูตสยามเชิญพานพระราชสาส์นเดินตรงเข้าไปตั้งไว้บนโต๊ะตรงน่าพระแท่น แล้วเดินถอยหลังออกมาพักนั่งที่เฝ้า ขณะนั้น บาดหลวงล่ามผู้กำกับจึงเดินเข้าไปตรงพระแท่นในน่าท้องพระโรง ก็คุกเข่าลงถวายคำนับครั้งหนึ่ง แลลุกเดินเข้าไปถึงกลางท้องพระโรง ก็คุกเข่าลงถวายคำนับเปนครั้งที่ ๒ แล้วลุกเดินเข้าไปถึงน่าพระแท่น คุกเข่าลงถวายคำนับเปนครั้งที่ ๓ แล้วจึงจูบพระบาทยุคล ฝ่ายโปปจึงโปรดให้บาดหลวงล่ามนั้นยืนขึ้น ๆ แล้วจึงก้มศีศะถวายคำนับ แล้วก็เดินถอยหลังออกมาห่างจากน่าพระแท่น แต่พอถึงที่สุดท้ายเก้าอี้มหาสังฆราชทั้ง ๘ ท่านนั้น จึงถวายคำนับอิกครั้งหนึ่ง แล้วทูลเบิกทูตานุทูตสยามเข้ามาเฝ้า กล่าวด้วยพระราชดำริห์ของสมเด็จพระนารายน์มหาราชเจ้าทรงพระปรารภจะใคร่เจริญทางพระราชไมตรีต่อกรุงโรมเปนข้อต้น แลการที่ทรงพระมหากรุณาทำนุบำรุงบาดหลวงทั้งหลายที่สั่งสอนคฤสตสาสนาอยู่ในกรุงสยามด้วย แลกล่าวการที่เปนมงคลอิกหลายประการ
ฝ่ายโปปจึงตรัสตอบทรงแสดงความชื่นชมยินดีเปนอันมาก บาดหลวงล่ามจึงเชิญพานพระราชสาส์นไปจากโต๊ะนำไปถวายต่อพระหัดถ์โปป โปปทรงรับพระราชสาส์นนั้นแล้วก็ทรงคลี่ออกทอดพระเนตรทราบสิ้นทุกประการ
บัดนี้ จะขอกล่าวข้อความในพระราชสาส์นแต่ย่อ ๆ พอเปนสังเขปใจความว่า "พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามหาขัติยราช ขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมเด็จพระมหาสังฆราชาธิราชเจ้ากรุงโรม ทรงพระนามว่า โปปอินนอเซนต์ที่ ๑๑ ทรงทราบด้วย ตั้งแต่เราได้ขึ้นครองราชสมบัติในกรุงศรีอยุทธยามหานครแล้ว ได้มีความปรารภปราถนาจะใคร่ได้รู้จักกับพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ทั้งหลายในประเทศยุโรป แลจะได้ผูกพันทางพระราชไมตรีมีพระราชสาส์นไปถึงกันแลกัน เพื่อความประสงค์ของเราจะชักนำสรรพวิทยาคุณในประเทศยุโรปมาทำนุบำรุงกรุงสยามให้เปนความสว่างรุ่งเรืองแก่อาณาประชาชนทั้งปวง ด้วยฝ่ายเรารำพึงอยู่อย่างนี้แล้ว แต่ยังไม่ทันจะแต่งพระราชสาส์นให้ราชทูตออกมายังท่าน (เฮลิโยโปลิส์) ท่านก็ใช้บิชอบออฟเอลิออโปลิสเชิญพระราชสมณสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการส่งเข้ามาถึงก่อน เราได้รับโดยความชื่นชมยินดีเปนอย่างยิ่ง แล้วได้แต่งทูตานุทูตสยามสำรับหนึ่งเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการของเราออกไปถวายท่านเปนการแสดงความสนองโดยคลองพระราชไมตรีของท่านให้สนิทดุจดังเนื้อสุวรรณธรรมชาติในแผ่นเดียวกัน แต่เรามีความเสียใจเปนอย่างยิ่งที่ทูตานุทูตของเราไปหาถึงท่านไม่ เปนเหตุด้วยกำปั่นแตกที่แหลมเคปออฟกุดโฮป พระราชสาส์นกับเครื่องมงคลราชบรรณาการจมน้ำเสียในกลางทเลทั้งสิ้น ทูตานุทูตของเราที่แต่งไปในครั้งนั้นจึงไปไม่ถึงท่าน เพราะฉนั้น ในกาลบัดนี้เราจึงได้ให้บาดหลวง ชื่อ ตาชาต นำทูตานุทูตสยามเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการครั้งที่ ๒ ออกมาถวายท่านครั้งนี้ เปนการแสดงความสามัคคีรศที่เราจะใคร่ได้ผูกพันทางพระราชไมตรีสืบเนื่องราชทูตของเราที่เสียไปในครั้งก่อน ทั้งจะได้ทูลท่านให้ทราบว่า เราตั้งหฤไทยจะใคร่ทำนุบำรุงพวกบาดหลวงที่เขามาตั้งสั่งสอนคฤสตสาสนาอยู่ในประเทศสยามแลชนทั้งปวงที่นับถือคฤสตสาสนาด้วย ในข้อนี้ เราขอรับเปนภาระธุระเอง ขอท่านอย่าได้มีความปริวิตกเลย แลเราได้สั่งบาดหลวงตาชาตให้ทูลความต่าง ๆ ในกรุงสยามให้ท่านทรงทราบทุกประการ ขอท่านจงรับเครื่องราชบรรณาการของเราที่มีความยินดีส่งออกไปถวายโดยการแสดงทางพระราชไมตรีอันสนิทเสนหาถาวรชั่วฟ้าแลดิน
อนึ่ง เราขออำนาจสิ่งซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในสกลโลกนี้จงโปรดให้ท่านมีพระชนมายาวยืน จะได้ทำนุบำรุงพระสาสนาของท่านโดยช้านาน ให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาลทั่วพิภพโลกทั้งปวง ความปราถนาอันสุจริตของเรามีดังนี้เปนต้น
เราเปนมิตรที่สัตย์ซื่อของท่าน (ที่ประทับพระราชลัญจกร) (ลงชื่อ โฟกอง คือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) พระราชสาส์นส่งมาแต่พระราชวังลพบุรีณเดือนอ้าย ขึ้นสามค่ำ ปีเถาะ นพศก พุทธศักราช ๒๒๓๑⟨"⟩
ครั้นโปปทรงทอดพระเนตรพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสยามเสร็จแล้ว จึงพระราชทานคืนกลับให้แก่บาดหลวงตาชาต ๆ มอบส่งให้บาดหลวงเจ้าพนักงานกรมวัง ๆ เชิญพระราชสาส์นนั้นไปเก็บไว้ในห้องทรงพระอักษรของโปป แล้วบาดหลวงตาชาตจึงไปรับเครื่องราชบรรณาการสิ่งสำคัญที่อุปทูต แลของถวายออกยาวิชาเยนทร์ที่ตรีทูตนำมาถวายต่อพระหัดถ์โปป ๆ ทรงรับไว้ ราชบรรณาการในถุงที่อุปทูตถือมานั้น คือ หีบทำด้วยลวดทองคำถัก เปนฝีมือช่างชาวสยามอย่างละเอียดงามที่สุด หนักทองสามตำลึง
ของออกยาวิชาเยนทร์ฝากมาถวายนั้น คือ หีบเงินหนักประมาณ ๕ ชั่ง เปนฝีมือช่างชาวยี่ปุ่นทำจำหลักลายกุดั่นเปนรูปนกไม้แลลายต่าง ๆ มีพานเงินรองหีบหนักประมาณ ๕ ชั่ง เปนฝีมือช่างจีนด้วยลวดถักอย่างงามดี
ครั้นโปปทรงรับเครื่องราชบรรณาการแลของถวายแล้ว จึงรับสั่งให้บาดหลวงเรียกทูตานุทูตสยามเข้ามาใกล้พระองค์ ขณะนั้น ทูตานุทูตสยามคลานมาสองสามก้าวก็หยุดถวายบังคม ๓ หนครั้ง ๑ แล้วก็คลานเข้าไปอิกสองสามก้าวก็หยุดถวายบังคม ๓ หนอิกครั้ง ๑ แล้วคลานเข้าไปอิกสองสามก้าวใกล้พระแท่น แล้วจึงถวายบังคม ๓ หนอิก ครั้ง ๑ ในครั้งที่สุดท้ายนั้น ราชทูตถวายบังคมก้มศีศะลงให้ยอดลำพอกจดชายฉลองพระองค์ทั้งสามครั้ง แล้วคลานถอยหลังออกมาห่างพระแท่นถึงท้ายเก้าอี้มหาสังฆราชทั้ง ๘ รูป แล้วอุปทูตตรีทูตก็ผลัดกันคลานเข้าไปทำเช่นราชทูตนั้นทุกคน แล้วจึงคลานออกมาเรียงอยู่ตามลำดับตำแหน่งยศทูตานุทูตในกลางท้องพระโรงนั้น
ฝ่ายบาดหลวงตาชาตจึงเข้าไปคุกเข่าตรงน่าพระแท่น แล้วจึงก้มศีศะลงจูบที่ฉลองพระบาทยุคล แล้วเดินถอยหลังออกมายืนเฝ้าอยู่หลังราชทูตสยามตามเดิม
ในขณะนั้น มหาสังฆราชผู้หนึ่งเดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ตรงน่าพระแท่น แล้วจึงปลดพระภูษาที่คล้องพระสอทับนอกฉลองพระองค์นั้นออกแล้ว โปปจึงตรัสพระราชทานพระพรแก่ทูตานุทูตสยามตามธรรมเนียมเสร็จแล้วจึงเสด็จขึ้น
ฝ่ายทูตานุทูตสยามกับบาดหลวงล่ามผู้กำกับพร้อมกันถวายคำนับแล้วเดินออกจากท้องพระโรง แลมหาสังฆราชอรรคมหาเสนาบดี ชื่อ ชิโบ ก็นำทูตานุทูตสยามลงไปยังห้องที่พักแห่งตน เชิญให้นั่งเก้าอี้มีพนัก แล้วจัดการต้อนรับโดยความยินดีเปนอันมากแลสนทนากับทูตสยามตามสมควรแล้ว ทูตานุทูตสยามก็ลาออกจากห้องนั้นมาขึ้นรถพระที่นั่งดังเดิมกลับไปยังที่พักของราชทูต ขณะนั้น ทหารแตรก็เป่าแตรทำเพลงสรรเสริญรับรองราชทูตสยามตามธรรมเนียม
ขณะเมื่อราชทูตานุทูตสยามพักอยู่ในกรุงโรมนั้น ได้ไปเที่ยวชมถิ่นฐานบ้านเมือง แลตึกใหญ่น้อย แลวัดวาอารามทุก ๆ แห่งในจังหวัดกรุงโรม แลได้ไปดูสิ่งของโบราณ มีตึกแลโบถวิหารเปนต้นหลายแห่ง เปนที่พิศวงน่าชมล้วนประหลาดยิ่งนัก
ครั้นถึงวันที่ ๒๔ เดือนธันวาคม ในปีนั้น ซึ่งเปนวันจ่ายตรุษฝรั่ง คือ วันก่อนวันพิธีคฤศตมาศ เปนวันประสูตรพระเยซูเจ้า ทูตานุทูตสยามก็ได้ไปดูพวกบาดหลวงสวดบูชานมัสการพระเปนเจ้าฝ่ายฝรั่งในโบถพระอารามหลวงในพระราชวังของโปป ซึ่งเปนพิธีใหญ่แลเปนการประชุมของมหาชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระคฤศตสาสนาโรมันกาทอลิกเปนอันมาก
ครั้นวันที่ ๔ เดือนมกราคม คฤศตศักราช ๑๖๘๙ ปี เปนกาลขึ้นปีใหม่ของชาวประเทศยุโรป ตรงกับจุลศักราช ๑๐๕๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ทูตานุทูตสยามพร้อมด้วยบาดหลวงล่ามผู้กำกับขึ้นรถไปเฝ้าโปปถวายบังคมลาในท้องพระโรงเหมือนเมื่อแรกเฝ้านั้น โปปจึงพระราชทานพระราชสาส์นสนองพระเจ้ากรุงสยามฉบับหนึ่ง พระราชสาส์นนั้นเชิญลงสถิตย์ในหีบทองคำหนาแขงแรงหีบ ๑ แล้วพระราชทานเครื่องราชบรรณาการตอบแทนต่อพระเจ้ากรุงสยาม คือ ประคำทองคำประดับเพ็ชรสายหนึ่ง กับทองคำเหรียญ ๑ น่าหนึ่ง จำหลักเปนพระราชฉายาลักษณของโปป แลมีเพ็ชรใหญ่ ๒ เม็ดราคามากประดับในดวงขอบเหรียญนั้น อิกน่าหนึ่งจำหลักเปนรูปพระวิญญาณ สมมติว่าพระมหากรุณา แลรอบขอบเหรียญนั้นมีอักษรเปนภาษาละติน
"นน เกวริด แกว ซูอา ซูนต์" แปลก็เปนใจความว่า ไม่ได้ไถ่ถามว่าผู้ใด อธิบายขยายข้อความว่า "ความกรุณาของพระผู้เปนเจ้ามีแก่สัตว์ทั้งปวงทุกชาติทุกภาษา เมื่อพระผู้เปนเจ้าทรงพระกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลายไม่เลือกหน้าเปนสาธารณะพระมหากรุณาแก่ชนทั้งปวงทั่วไป" แล้วพระราชทานประคำทองคำสองสายกับเหรียญทองคำสองเหรียญสำหรับพระราชทานตอบแทนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์แลภรรยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ด้วย แลพระราชทานเหรียญทองคำแลเหรียญเงินแก่ทูตานุทูตสยามทั้งสามนาย ๆ ละ ๒ เหรียญ คือ เหรียญทองเงินเหมือนกับที่ถวายพระเจ้ากรุงสยาม เว้นแต่ไม่ได้ประดับเพ็ชร์ อนึ่ง พระราชดำรัสสั่งให้พระราชทานเหรียญเงินดังเช่นพระราชทานแก่ราชทูตนั้นให้แจกแก่ชาวสยามที่มาด้วยราชทูตทั่วทุกนาย ๆ ละ ๓ เหรียญ แลทรงพระราชปฏิสัณฐารปราไสแก่ทูตานุทูตสยามตามสมควร แล้วก็เสด็จขึ้น
ครั้นถึงวันที่ ๗ เดือนมกราคม ทูตานุทูตสยามก็ออกจากกรุงโรม มีความยินดีที่โปปทรงรับรองแขงแรงสมแก่เกียรติยศดังนั้น แล้วก็โดยสานลงเรือไปวันหนึ่ง จึงถึงเมืองชีวิตะเวกกิยะ หัวเมืองปากอ่าวชายทเลของกรุงโรม ผู้รักษาเมืองนั้นก็ออกมาต้อนรับพร้อมด้วยกรมการแลพลทหารที่ประจำเมืองทั้งปวง แลกำปั่นของโปปที่ทอดสมอในอ่าวนั้นจึงยิงปืนใหญ่คำนับทูตานุทูตสยามเปนการเอิกเกริกใหญ่ยิ่ง ผู้รักษาเมืองก็พาทูตานุทูตสยามไปพักในจวนเมืองนั้น แล้วจัดการเลี้ยงราชทูตสยามที่บนทำเนียบตามสมควร
รุ่งขึ้น วันอาทิตย์ เปนวันที่ ๙ เดือนมกราคม ทูตานุทูตสยามกับบาดหลวงล่ามผู้กำกับพร้อมกันลงเรือกำปั่นใบชาวเกาะมระตา ใช้ใบไปยังกรุงฝรั่งเศส
(เซ็น) เยรินี แปลแลเรียบเรียง.
- ↑ ควรจะเป็น พ.ศ. ๒๒๓๑ เพราะขณะนั้นนิยมนับพุทธศักราชตามแบบลังกาสีหล
- ↑ ออกขุนชำนาญคงเคยเดินทางร่วมไปกับคณะทูตครั้งแรกที่มีออกญาพิพัฒน์ราชไมตรีเป็นราชทูตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่ไปเรือแตกที่กลางทะเลมาดากาสกา ขุนชำนาญคงจะรอดกลับมากรุงศรีอยุธยาได้ และครั้งหลังนี้จึงได้แต่งตั้งให้เป็นทูตไปกรุงฝรั่งเศษเป็นครั้งที่ ๔ เมื่อไปเห็นที่ซึ่งเคยประสบภัย จึงระลึกถึงความเก่าที่ตนได้มามีความลำบากดังปรากฏนี้