ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา
งานนี้ยังไม่เสร็จ สามารถดูและร่วมพัฒนาได้ที่ดัชนีนี้: 1 |
ประชุมจดหมายเหตุที่คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี พิมพ์ขึ้นนี้ ได้จัดทำไปตามโครงการที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ รัฐบาลได้ประกาศแต่งตั้งกรรมการคณะนี้เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๐๕ และเมื่อมีการประชุมครั้งแรก คณะกรรมการได้แบ่งงานออกเป็น ๒ โครงการ คือ (๑) โครงการระยะยาวที่ต้องตรวจสอบชำระเอกสารหรือต้นฉบับที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ มาพิจารณาก่อนว่า สมควรจะพิมพ์หรือไม่เพียงใด (๒) โครงการระยะสั้น โดยให้เร่งรัดจัดพิมพ์เอกสารสำคัญที่มีค่า ซึ่งได้ต้นฉบับมาแต่ยังไม่เคยพิมพ์มาก่อน ผลการปฏิบัติงานตามโครงการระยะสั้นเท่าที่ได้จัดพิมพ์ไปแล้วก็มีประชุมพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑ ภาค ๒ และประชุมศิลาจารึก ภาค ๓ ในไม่ช้านี้ก็จะมีประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสำเร็จเป็นรูปเล่มออกมาอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการดำเนินงานตามโครงการระยะยาว ขณะนี้กรรมการผู้ได้รับมอบหมายก็กำลังตรวจพิจารณาต้นฉบับที่มีค่าและหาได้ยากกันอยู่แล้ว คาดหมายว่าจะผลิตออกมาสู่ผู้อ่านได้ในเวลาอันไม่ช้านัก
หนังสือตามโครงการระยะสั้นที่จะเสนอเป็นลำดับต่อไปควรจะเป็นประชุมหมายรับสั่งสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของชาติที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักปกครองแผ่นดิน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นโบราณศาสตรราชนิติ ตลอดจนการพระพุทธศาสนา ซึ่งเอกสารนั้น ๆ ได้จารึกเรื่องที่อ้างไว้อย่างพิสดาร โดยออกมาในรูปที่สมัยโบราณเรียกว่าหมายรับสั่ง คือที่ปัจจุบันเราเข้าใจในรูปกระแสพระบรมราชโองการนั่นเอง แต่เนื่องด้วยเอกสารเรื่องนี้มีความพิสดารและซับซ้อนด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นอเนกนัย คณะกรรมการจำต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ วางวิธีการ วางรูปเรื่อง ให้สอดคล้องเป็นลำดับกันมาตามยุคตามรัชสมัย จึงต้องใช้เวลานานพอสมควร ระหว่างที่ดำเนินการตามกรรมวิธีดังกล่าวแล้ว เพื่อมิให้มีช่องว่างของเวลาเกิดขึ้นอย่างเปล่าประโยชน์ นายปรีดา ศรีชลาลัย กรรมการผู้เสนอให้พิมพ์ประชุมหมายรับสั่ง ก็ได้เสนอให้นำเอาประชุมจดหมายเหตุในสมัยอยุธยามาพิมพ์แทนไว้ก่อนจนกว่าการจัดยุครัชสมัยของประชุมหมายรับสั่งจะเสร็จสมบูรณ์ ที่ประชุมกรรมการพิจารณาอนุมัติหลักการแล้วมอบให้นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายปรีดา ศรีชลาลัย นายยิ้ม ปัณฑยางกูร เป็นผู้รวบรวมจดหมายเหตุมาดำเนินการข้อเสนอ
กรรมการทั้งสามได้รวบรวมเรื่องราวอันมีปรากฏอยู่ตามเอกสารและสถานที่ต่าง ๆ ในรูปจดหมายเหตุมาประมวลเป็นเรื่องราวได้หลายประเภท เช่น ประเภทจดหมายเหตุว่าด้วยการเจริญทางพระราชไมตรี ทางการค้าขาย ทางจดหมายส่งสารโต้ตอบ ทางแต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร ทางพระพุทธศาสนา ทางตำราราชเสวกราชประเพณี ทางขบวนพยุหยาตราชลมารคสถลมารค และการพระบรมศพ ฯลฯ จดหมายเหตุประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาพิมพ์ขึ้นไว้ตามลำดับศักราชและรัชสมัยเท่าที่จะสรรหามาได้ ดั่งได้แบ่งประเภทพิมพ์ไว้แล้วในเล่มนี้ เริ่มตั้งแต่จดหมายเหตุที่จารึกไว้ ณ พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ จังหวัดเลย อันเป็นเรื่องราวระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตกระทำสัตยสาบานเป็นราชพันธมิตรต่อกันเมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๐๓ เป็นเรื่องแรก แล้วจบลงด้วยเรื่องจดหมายเหตุการพระบรมศพเป็นเรื่องสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้
กรรมการขอแถลงไว้ด้วยว่า จดหมายเหตุต่าง ๆ ที่นำมาพิมพ์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะการรวบรวมเอกสารเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากต้องคัดเขียนอักขรวิธีไปตามต้นเรื่องต้นฉบับแล้ว ยังต้องถ่ายภาพหาภาพของจดหมายเหตุเรื่องนั้น ๆ มาพิมพ์ประกอบเป็นหลักฐานไว้อีกด้วย ดั่งนั้น จึงอาจมีจดหมายเหตุระหว่างยุคระหว่างรัชสมัยตกค้างอยู่มิได้นำมาพิมพ์ในคราวนี้ หากมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นโดยนัยฉนี้ ก็พึงเข้าใจว่ามีอนุสนธิตามที่ได้พรรณนามา อย่างไรก็ตาม กรรมการจักพยายามรวบรวมจดหมายเหตุที่ตกค้างอยู่มาพิมพ์สืบต่อไปอีกจนกว่าจดหมายเหตุสมัยอยุธยาจะสมบูรณ์ แล้วจึงจะเสนอประชุมจดหมายเหตุสมัยธนบุรี ซึ่งบัดนี้ก็ได้ประมวลไว้แล้ว เป็นอันดับต่อไป
ผู้อ่านประชุมจดหมายเหตุคงจะเห็นความแตกต่างของลายมือที่เขียนหนังสือไทย ถ้อยคำสำนวนโวหาร อักขรวิธี ตลอดจนรูปสระพยัญชนะ ที่ปรากฏในที่แต่ละแห่งของจดหมายเหตุว่ามีความผิดแผกแตกต่างมาทุกสมัย แม้กับปัจจุบันก็ยิ่งแตกต่างกันเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่า การเขียน การพูด การใช้อักขรวิธี เป็นไปตามยุคตามสมัยนิยม และนอกกว่านั้นยังเป็นมาตรการวัดระดับการศึกษาในสมัยนั้น ๆ ได้ว่าสูงต่ำเพียงใดอีกด้วย เช่น เราจะได้อ่านคำกราบบังคมทูลของขุนนางยศชั้นออกพระผู้เป็นราชทูตเขียนรายงานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายองศ์พระมหากษัตริย์ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะ ทุกท่านที่ได้อ่านจะเว้นสรรเสริญพระธรรมไมตรีราชทูตของสมเด็จพระบรมโกศมิได้เลยว่าทำไมจึงเขียนได้ดีถึงเพียงนั้น และข้อที่ควรสำนึกก็คือ นักศึกษาสมัยนี้จะหมิ่นฝีมือเขียนหนังสือคนสมัยอยุธยาไม่ได้เป็นอันขาด
ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณกรรมการ ๓ ท่าน คือ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายปรีดา ศรีชลาลัย นายยิ้ม ปัณฑยางกูล ที่ได้ร่วมกันดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ในเรื่องการจัดพิมพ์เอกสารนี้ คณะกรรมการจะเว้นเสียไม่ได้ที่จะจารึกไว้ซึ่งพระคุณ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติงบประมาณการจัดพิมพ์เอกสารสำคัญของชาติที่เก่าคร่ำคร่าขึ้นไว้ให้มีอายุสืบต่อไปอีก เพื่อจักได้เป็นหลักศึกษาของประชาชนพลเมืองผู้สนใจในสมบัติวัฒนธรรมประจำชาติ และในวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดจนความรู้ทางโบราณคดี อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของชาติ ทั้งในปัจจุบันและสืบไปในอนาคตกาล ให้ใหม่ต่อเก่าไว้ไม่ขาดสายขาดตอน อันเป็นสัญญลักษณะของความเป็นชนชาติไทยโดยสมบูรณ์
กรรมการหวังว่า ประชุมจดหมายเหตุจะเป็นเอกสารสำคัญที่อำนวยประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่วกัน
๑ มกราคม ๒๕๑๐
- หมวดที่ 1 ทางพระราชไมตรีและการค้าขาย
- คำจาฤกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์เมืองด่านซ้าย รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก)
- เอกสารเกี่ยวกับเดนมาร์ก รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2164)
- สัญญาไทย–ฝรั่งเศสครั้งสมเด็จพระนารายณ์ แลหนังสือออกพระวิสูตรสุนทร (พ.ศ. 2231)
- จดหมายเหตุ ว่าด้วยทูตสยามออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงโรม เฝ้าโปปอินโนเซนต์ที่ 11 รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2231)
- หมวดที่ 2 การบำรุงศาสนา
- พระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าเถรพุทธสาครเลื่อนขึ้นเป็นพระครูธรรมโมลีศรีราชบุตรในปีมะแม พ.ศ. 1959 รัชกาลสมเด็จพระอินทราชาเจ้า (จารึกเจ้าเถรพุทธสาคร 1)
- สร้างพระพุทธบาทศิลาคู่ไว้ ณ เมืองชัยนาท เมื่อปีมะแม พ.ศ. 1970 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (จารึกรอยพระยุคลบาทวัดบวรฯ)
- พระราชทานสมณศักดิ์ให้พระมหาเถรสาริบุตรเลื่อนขึ้นเป็นพระมหาเถรปิยทัศศรีสารีบุตรในปีเถาะ พ.ศ. 1978 รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (จารึกลานทองในตรุพระบรมธาตุสุพรรณบุรี)
- สร้างพระอิศวรสำริดและซ่อมแปลงพระมหาธาตุกับทั้งวัดบริพารเมืองกำแพงเพชร ปีมะเมีย พ.ศ. 2053 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร)
- พระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้านิตรยรัตนเลื่อนขึ้นเป็นเจ้ารัตนโมลีศรีไตรโลกย์เมื่อปีกุน พ.ศ. 1986 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (จารึกลานทองเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ)
- พระราชทานสมณศักดิ์ให้มหานิสสัยพรหมราชปฤยเลื่อนขึ้นเป็นพระครูธรรมเฐียรเมื่อปีฉลู พ.ศ. 2108 สมัยเสด็จมหาธรรมราชาธิบดีครองเมืองพิษณุโลก (จารึกลานเงินในพระเจดีย์เก่า จังหวัดพิษณุโลก)
- ทรงพระกรุณาให้สร้างพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานไว้ ณ วัดจุลามณี พิษณุโลก เมื่อปีวอก พ.ศ. 2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (จารึกวัดจุฬามณี)
- เรื่องอัฏฐธรรมปัณหาของสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2223)
- บุรณะพระบรมธาตุเมืองชัยนาทเมื่อปีระกา พ.ศ. 2260 ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (จารึกวัดพระบรมธาตุชัยนาท)
- ชลอพระพุทธไสยาศน์และสร้างพระวิหารวัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. 2271 ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (จารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกข์)
- ทรงพระกรุณาให้สร้างบานประตูมุกสำหรับพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2295 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ (จารึกบนบานประตูประดับมุก หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)
- จดหมายเหตุระยะทางพระอุบาลีไปลังกาทวีป รัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ (พ.ศ. 2295)
- ทรงพระกรุณาให้สร้างบานประตูมุกการเปรียญวัดพระพุทธไสยาศน์ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เมื่อ พ.ศ. 2296 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ (จารึกบนบานประตูมุข ศาลาการเปรียญ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง)
- สร้างพระวิหารร่มพระแท่นศิลาอาศน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ พ.ศ. 2297 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ (จารึกบนบานประตูวิหารร่ม วัดพระแท่นศิลาอาสน์)
- ทรงพระกรุณาให้สร้างบานประตูมุกพระวิหารพระชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2299 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ (จารึกบนบานประตูประดับมุก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ)
- ตำนานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา
- หมวดที่ 3 การปกครอง
- พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายพรหมเป็นที่ขุนอินทากรเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2031 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (จารึกลานทอง ม.ศ. 1410)
- พระราชทานบรรดาศักดิ์ฝ่ายในให้แม่นางเกื้อเลื่อนขึ้นเป็นแม่นางมงคลเทวีศรีพระแก้วเมื่อปีขาล พ.ศ. 2037 ในรัชสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (จารึกลานทองในพระมหาสถูปองค์กลาง วัดพระศรีสรรเพชญ์)
- ตำราหน้าที่มหาดเล็ก
- ตำราหน้าที่ชาวที่
- กะบวรแผนที่แห่เสด็จพรราชตำเนิรพยุหบาตราทรงช้างขึ้นพระพุทธิบาทณวันศุกร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 1038 ปีมะโรง อัฐศก (พ.ศ. 2219)
- กบวนแผนที่แห่เสดจพระราชดำเนิรทรงม้าลงมาแต่พระพุทธบาทณวันศุกร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 1038 ปีมโรง อัษฐศก (พ.ศ. 2219)
- ตำราหน้าที่ตำรวจ
- ตำราหน้าที่กรมวัง
- หมวดที่ 4 การแต่งหนังสือ
- หมวดที่ 5 กระบวนเสด็จและการพระเมรุ
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก