คำนำ

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงนำความจำนงของคุณหญิงมุขมนตรีที่จำด้หนังสือพิมพ์แจกในงานศพเจ้าพระยามุขมนตรีมาแจ้งแก่ข้าพเจ้า และได้ทรงปรึกษาว่า จะพิมพ์เรื่องอะไรดี ผลของการปรึกษา ได้มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ควรพิมพ์จารึกกรุงสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง

ที่ว่า "อีกครั้งหนึ่ง" นั้น ก็เพราะศิลาจารึกกรุงสุโขทัยนี้ เจ้าพระยามุขมนตรีได้เคยพิมพ์แจกมาครั้งหนึ่งแล้วในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๔ รอบของท่านเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ ครั้งท่านยังรับราชการในตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคอิสาณ และท่านได้เคยแสดงความจำนงไว้ว่า ถ้าท่านวายชนม์ งานศพของท่านจะต้องแจกหนังสือเรื่องศิลาจารึก คือ ที่ยังไม่ได้พิมพ์อีกเท่าใด จะต้องพิมพ์ให้หมด

การพิมพ์เรื่องศิลาจารึกที่เจ้าพระยามุขมนตรีได้รับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้น ได้พิมพ์รูปถ่ายคำจารึกทั้งหมด แล้วพิมพ์คำจารึกเป็นตัวอักษรไทยอย่างใหม่ แต่เรียงตัวตามแบบจารึกเดิม แล้วจึงพิมพ์คำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่อประโยชน์แก่นักโบราณคดีต่างประเทศ ดังนี้ ผู้รับพิมพ์จะต้องเป็นผู้มีทุนและมีศรัทธามาก จึงจะทำได้ เพราะการพิมพ์โดยวิธีนี้เป็นการแพง ต่อจากเจ้าพระยามุขมนตรีลงมา มีผู้รับพิมพ์อีกรายหนึ่ง คือ สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้ทรงรับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ หลักศิลาจารึกทั้งหมดที่ได้ตรวจพบแล้วในประเทศเรามีอยู่ถึง ๒๑๐ หลัก เจ้าพระยามุขมนตรีได้พิมพ์แล้ว ๑๕ หลัก สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ได้ทรงพิมพ์ต่ออีก ๑๔ หลัก เป็นอันว่า ยังมีเหลืออีกถึง ๑๘๑ หลัก การที่เจ้าพระยามุขมนตรีรับจะพิมพ์ทั้งหมดในงานศพของท่านนั้น ต้องนับว่า เป็นอดิเรกลาภของชาติไทยและประชาชนผู้รักษาการศึกษาทางโบราณคดีทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ

แต่ใครจะนึกฝันว่า เจ้าพระยามุขมนตรีจะด่วนถึงแก่อสัญญกรรมโดยรวดเร็ว การพิมพ์ศิลาจารึกไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ เพราะต้องคัด ต้องถ่าย ต้องแปล ต้องสันนิษฐาน ต้องค้นคว้ากันแรมปี ถึงแม้คุณหญิงมุขมนตรีจะรับสนองกุศลเจตนาของท่านเจ้าคุณสามีโดยรับจะพิมพ์หลักศิลาจารึกทั้งหมด หอสมุดแห่งชาติก็ไม่สามารถจะจัดหาตระเตรียมให้มัน นับว่า ได้เสียโอกาสอย่างสำคัญในการพิมพ์ศิลาจารึก ความแตกดับของเจ้าคุณมุขมนตรีที่เป็นไปโดยรวดเร็วเช่นนี้เป็นการขาดเสียอย่างสำคัญสำหรับญาติมิตรทั้งหลายที่เคยได้รับความโอบอ้อมอารีของท่าน เป็นการขาดเสียสำหรับรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าในรัฐบาลใด ๆ ย่อมใช้เจ้าคุณมุขมนตรีทำประโยชน์ได้เสมอ เป็นการขาดเสียสำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่ได้เคยใช้เจ้าคุณมุขมนตรีทำงานให้แก่สภามาก ซึ่งสภาได้ลงมติแสดงความเศร้าสลดใจ มาบัดนี้ ตัวข้าพเจ้าเองได้พบความเศร้าสลดอันใหม่เมื่อมาจับพิจารณาเรื่องศิลาจารึกสยาม เพราะว่า ถ้าเจ้าคุณมุขมนตรีมีอายุต่อไปอีก แม้เพียง ๕ ปี หอสมุดแห่งชาติคงจะสามารถเตรียมจารึกศิลาที่ยังเหลืออยู่ทุกอันให้ท่านพิมพ์ได้ในงานศพของท่านดังที่ท่านปรารถนาไว้

แต่ถึงแม้หอสมุดแห่งชาติจะไม่สามารถทำงานให้ได้เต็มตามเจตนาของเจ้าคุณมุขมนตรีในการพิมพ์จารึกอื่น ๆ ต่อไปก็ดี หอสมุดแห่งชาติได้พยายามจะทำให้กิจที่เจ้าคุณมุขมนตรีได้ทำมาแล้วนั้นโดยผลสมบูรณ์ กล่าวคือ การพิมพ์จารึกสุโขทัยเท่าที่ทำมาแล้ว ศาสตราจารย์เซเดส์เป็นผู้อำนวยการเรียบเรียง และได้พิมพ์อย่างที่จะให้เป็นเอกสารคู่มือของนักศึกษาโบราณคดีชั้นสูง จึงได้พิมพ์รูปถ่ายคำจารึกทั้งหมด, พิมพ์คำจารึกเป็นอักษรอย่างใหม่ แต่เรียงตัวอักษรตามแบบจารึกเดิม กับพิมพ์คำอ่านและคำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสไว้ การพิมพ์โดยวิธีนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้เชี่ยวชาญภาษาและอักษรศาสตร์ของไทยโบราณ และผู้ที่รู้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนมากที่ขาดความรู้ในสองทางนั้น ถ้าได้พิมพ์คำอ่านให้นักเรียนใหม่ ๆ หรือคนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ กับทำคำอธิบายเท่าที่ควรอธิบายไว้ด้วยแล้ว งานเรื่องจารึกกรุงสุโขไทยจะนับว่า สมบูรณ์เท่าที่พึงปรารถนา อีกประการหนึ่งเล่า จารึกกรุงสุโขทัย ฉะเพาะอย่างยิ่ง หลักของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ต่างประเทศได้เอาไปพิมพ์ให้ชนชาติของเขาได้อ่านเข้าใจสะดวกมาก่อนไทยเราตั้งเกือบศตวรรษ์มาแล้ว เช่น ทางอังกฤษ เซอร์ยอน เบาริง ได้เอาไปพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ คือ เมื่อ ๗๐ ปีเศษมาแล้ว ทางเยอรมัน นายบัสเตียนได้เอาไปพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๘ คือ เกือบ ๗๐ ปีมาแล้วเหมือนกัน ทางฝรั่เงศส นายฟูร เนอโร ได้เอาไปพิมพ์ที่ปารีสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ คือ เมื่อราว ๔๐ ปีมาแล้ว และศาสตราจารย์เซเดส์ ได้มาทำอย่างละเอียดใน พ.ศ. ๒๔๖๗ อีก แปลว่า คนต่างประเทศโดยทั่วไปเขาสามารถจะอ่านศิลาจารึกของเราให้เข้าใจง่าย ๆ ได้มาตั้งหลายสิบปีแล้ว สมควรที่ไทยเราเองผู้เป็นเจ้าของจะพิมพ์คำจารึกให้อ่านเข้าใจกันได้ทั่วไป ศิลาจารึกเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจยิ่งกว่าเครื่องมือใด ๆ ในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กล่าวโดยฉะเพาะ ศิลาจารึกกรุงสุโขทัยได้ให้แสงสว่างแก่การศึกษาประวัติศาสตร์สยาม ตัดข้อสงสัย ทำลายข้อสันนิษฐาน ลบล้างความเดา และปลดเปลื้องเรื่องนิยายที่เล่ากันมาโดยปราศจากความจริงไปได้เป็นอันมาก

ในการเรียบเรียงคำอ่านศิลาจารึกที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้มอบให้ข้าราชการกรมศิลปากรผู้คุ้นเคยกับงานศิลาจารึกมาแล้ว คือ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ นายสมบุญ โชติจิตร นายสิน เฉลิมเผ่า และนายฉ่ำ ทองคำวรรณ (เปรียญ) แบ่งงานกันไปทำโดยเร่งรัด ข้าราชการทั้ง ๔ ได้พยายามทำมาทันความประสงค์ แต่ก็มีบางคำบางแห่งที่ยังสงสัย ไม่แน่ใจ ได้ทิ้งไว้ตามตัวเดิมและพยายามคิดค้นคว้าต่อไป

เรื่องจารึกกรุงสุโขทัยนั้น ศาสตราจารย์เซเดส์ได้ทำคำอธิบายประวัติไว้โดยพิสดารในหนังสือที่เจ้าคุณมุขมนตรีได้พิมพ์มาแล้วใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ในการพิมพ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าทำคำอธิบายไว้บ้าง เพื่อให้ผู้อ่านทราบประวัติของศิลาจารึก ไม่ต้องไปค้นหาเล่มเดิม และเพื่อเพิ่มเติมความบางข้อที่ศาสตราจารย์เซเดส์มิได้อธิบายไว้ในครั้งกระนั้นบ้าง

หลักที่ ๑

เป็นศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ความในตอนต้นเป็นคำของพ่อขุนรามคำแหงเอง แต่ความในตอนต่อมา ดูเป็นถ้อยคำคนอื่น ตอนปลายที่สุด เป็นข้อความที่จารึกห่างเวลาจากตอนต้นหลายปีทีเดียว เข้าใจกันว่า ได้จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ศิลาจารึกหลักนี้ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปพบ ดำรัสสั่งให้นำลงมาจากสุโขทัยพร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖

ความสำคัญในหลักศิลาอันนี้ ก็คือ ในตอนต้น เป็นคำของพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ตอนต่อมา เล่าถึงจารีตประเพณีและชีวิตของชาวสุโขทัยในครั้งกระนั้น ตอนท้ายที่สุด กล่าวถึงเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงและอาณาเขตต์สยามในสมัยขุนรามคำแหง

เป็นเคราะห์ดีอย่างประหลาดที่หลักศิลาอันสำคัญที่สุดหลักนี้ยังอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุด เกือบจะไม่มีหนังสือตัวใดลบเลือนถึงกับเสียความ ไม่เหมือนหลักอื่น ๆ ที่ลบเลือนจนไม่ได้เรื่องไปหลายตอน

หลักที่ ๒

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ ครั้งยังเป็นหลวงสโมสรสรรพการ พบในอุโมงค์วัดศรีชุมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ศาสตราจารย์เซเดส์เข้าใจว่า จารึกในรัชชกาลพระธรรมราชาที่ ๑ คือ พญาลิไทย กษัตริย์องค์ที่ ๕ ของวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย พญาลิไทยทรงเป็นปราชญ์ ถึงกับทรงสามารถแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในอักษรศาสตร์ของไทยที่ยังมีอยู่ในบัดนี้ และเป็นพระมหากษัตริย์สำคัญอีกองค์หนึ่งของสุโขทัยต่อจากพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกหลักที่ ๒ นี้มีข้อความยืดยาวมาก ข้อความที่ควรใส่ใจอยู่ในตอนที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสุโขทัย ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งลัทธิพระพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ในสุโขทัยครั้งกระนั้น แต่หลักศิลาจารึกหลักนี้ลบเลือนมาก และตอนท้าย ๆ กลายเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ไปเสีย

หลักที่ ๓

เรียกกันว่า ศิลาจารึกนครชุม เดิมอยู่ที่วัดบรมธาตุหน้าเมืองกำแพงเพ็ชร ได้นำลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ในรัชชกาลพญาลิไทย คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ นั่นเอง เป็นเรื่องที่พญาลิไทยทรงประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุ และปลูกพระศรีมหาโพธิซึ่งได้มาจากเกาะลังกา และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับทางศาสนาทั้งนั้น

หลักที่ ๔

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาเขมร สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปพบ และโปรดเกล้าฯ ให้นำลงมากรุงเทพฯ พร้อมกับหลักที่ ๑ ไม่ทราบปีจารึกที่แน่นอน แต่เข้าใจได้ว่า จารึกราว พ.ศ. ๑๙๐๕ ในรัชชกาลพญาลิไทย คือ พระมหาธรรมราชา เหมือนกัน ความโดยมากเป็นเรื่องยอพระเกียรติพญาลิไทย และชักชวนให้ประกอบการกุศล มีบางตอนชำรุดเหลือที่จะอ่านได้ ศิลาจารึกหลักนี้มีคำแปลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ อยู่นานแล้ว แต่ศาสตราจารย์เซเดส์ได้สอบคำแปลกับตัวจารึกดู เห็นว่า มีผิดพลาด จึงแปลใหม่

หลักที่ ๕

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง พระยาโบราณราชธานินทร์ไปพบที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) ในเขตต์อยุธยา เป็นศิลาจารึกของพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เหมือนกัน จารึกเป็นภาษาไทย ข้อความตรงกันกับหลักที่ ๔ ภาษาเขมร จึงเข้าใจว่า คงทำเป็น ๒ หลัก คือ หลักไทยหลักหนึ่ง เขมรหลักหนึ่ง ข้อความต้องกัน แล้วตั้งไว้คู่กัน

หลักที่ ๖

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นอักษรขอม ภาษามคธ พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมพ์) ขุดพบที่วัดป่ามะม่วงเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เสด็จออกทรงผนวชเมื่อวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง พ.ศ. ๑๙๐๕ ศิลาจารึกหลักนี้ชำรุดมาก ด้าน ๔ ทั้งด้านชำรุดจนอ่านไม่ออกเลย

หลักที่ ๗

เรียกว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เหมือนกัน พระยารามราชภักดีส่งลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ทรงสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในป่ามะม่วงในปีที่ทรงผนวชในวัดป่ามะม่วง

หลักที่ ๘

เรียกว่า ศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฎ เพราะเดิมอยู่บนเขานั้นในจังหวัดสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงนำมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่พอซ่อมติดต่อกันเข้าได้ เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) สร้างรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฎเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ และกล่าวถึงเหตุการในสมัยพระธรรมราชาที่ ๒ (พญาไสยลือไทย) มาประทับอยู่พิษณุโลก ศาสตราจารย์เซเดส์สันนิษฐานว่า คงได้จารึกราว พ.ศ. ๑๙๑๕ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า จะจารึกภายหลัง พ.ศ. ๑๙๑๕ ตั้ง ๑๐ ปีทีเดียว เพราะรัชชกาลพญาไสยลือไทยก็ตั้งต้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๙ เสียแล้ว

หลักที่ ๙

เรียกว่า ศิลาจารึกวัดป่าแดง เพราะคำในศิลาจารึกเป็นพะยานว่า อยู่ในวัดนั้น วัดป่าแดงเดี๋ยวนี้ไม่มีในบริเวณจังหวัดสุโขทัย ศาสตราจารย์เซเดส์จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นวัดซึ่งพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า วัดอรัญญิก คือ วัดสะพานหินเดี๋ยวนี้ ศิลาจารึกหลักนี้ได้จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๙ ในรัชชกาลพระธรรมราชาที่ ๓ แห่งวงศ์สุโขไทย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์โดยมาก

หลักที่ ๑๐

ไม่ปรากฎว่า ได้มาจากไหน ทราบแต่ว่า จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๖ เป็นภาษาไทยปนมคธ ชำรุดจนหมดหวังที่จะเอาเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ได้ พอทราบได้ว่า เป็นเรื่องสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในเมืองชะเรียง เมืองสองแคว เมืองเชียงใหม่ และเมืองสุโขทัย เท่านั้น

หลักที่ ๑๑

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพบบนเขากบเหนือปากน้ำโพ เป็นเรื่องสร้างวัดวาอารามบำเพ็ญการกุศล ศาสตราจารย์เซเดส์สันนิษฐานว่า คงจารึกภายหลัง พ.ศ. ๑๙๖๒

หลักที่ ๑๒

เป็นจารึกอยู่กับรอยพระพุทธบาทซึ่งอยู่ที่วัดบวรนิเวศเดี๋ยวนี้ และเป็นเรื่องสร้างรอยพระพุทธบาทนั่นเอง คำจารึกเป็นภาษามคธ ปรากฎว่า จารึกใน พ.ศ. ๑๙๗๐ ตัวอักษรไม่ชำรุดเลย

หลักที่ ๑๓

จารึกอยู่บนฐานพระอิศวรสัมฤทธิ จังหวัดกำแพงเพ็ชร เป็นอักษรไทย จารึกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๓ เป็นเรื่องประดิษฐานรูปพระอิศวรนั้น (รูปพระอิศวรนี้ ชาวเยอรมันคนหนึ่งไปลักตัดพระเศียรและพระหัตถ์ จะเอาส่งไปประเทศเยอรมนีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ มาถูกจับในกรุงเทพฯ ทางราชการจึงจัดการส่งรูปพระอิศวรทั้งองค์ลงมาไว้กรุงเทพฯ เศียรนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถาน)

หลักที่ ๑๔

เดิมอยู่วัดเขมา ริมถนนพระร่วง เป็นเรื่องบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ แต่เชื่อได้ว่า จารึกใน พ.ศ. ๒๐๗๙

หลักที่ ๑๕

เดิมอยู่วัดพระเสด็จ ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยราว ๑๒ กิโลเมตร เป็นเรื่องข้าราชการบางคนบำเพ็ญกุศล เข้าใจว่า จารึกในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๖๑ ถึง ๒๐๖๘

รวม ๑๕ หลัก ที่ได้พิมพ์คำอ่านขึ้นใหม่ในเล่มนี้ หอสมุดแห่งชาติมีความยินดีที่ได้พิมพ์เอกสารสำคัญนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนใหม่ ๆ เป็นอย่างยิ่ง ขอกุศลบุญราศีอันใดที่จะพึงได้ในการพิมพ์หนังสือนี้จงบรรลุถึงเจ้าพระยามุขมนตรีให้ดำรงอยู่ในสุคติตลอดกาลเทอญ.

  • หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
  • พระนคร วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗