ประชุมจารึกสยาม/ภาคที่ 1/ผู้วายชนม์

เจ้าพระยามุขมนตรี
(อวบ เปาโรหิตย์)

ประวัติสังเขป
เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์)

เจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาลฯ (อวบ เปาโรหิตย์) เกิดณวัน ๖ ฯ๑๐ ๗ ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๙ ขุนศรีธรรมราช (สมบุญ เปาโรหิตย์) บิดา ท่านน้อย มารดา สืบสกุลมาจากพระมหาราชครูปุโรหิตาจารย์ (บุญรอด)

ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยที่วัดจักรวรรดิราชาวาศ และที่พระตำหนักสวนกุหลาบ เรียนจบประโยค ๒ สอบไล่ได้รับรางวัลชั้นที่ ๑ และได้รับประกาศนียบัตรชั้นเปรียญพิเศษของคณะศึกษาการปกครอง มณฑลอยุธยาและปราจิณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐

เริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียนในกระทรวงยุตติธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๒๐ บาท ต่อมา เลื่อนตำแหน่งเป็นนายเวร กรมรับฟ้อง กระทรวงยุตติธรรม แล้วเป็นผู้ช่วยยกระบัตร ศาลโปริสภาที่ ๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๙ อุปสมบทในสำนักวัดเทพศิรินทราวาส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพร้อม ศรีสุคต เป็นกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทอยู่ ๑๐ เดือน ลาสิกขาบทแล้วเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทยเป็นเสมียนจัตวาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ กระทำราชการด้วยความอุตสาหวิริยภาพ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นลำดับมาโดยรวดเร็ว นับตั้งแต่เป็นผู้ตรวจการมณฑลกรุงเก่า จนกระทั่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอ่างทองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เวลานั้น อายุได้ ๒๓ ปีบริบูรณ์ ภายหลัง ย้ายมาเป็นเจ้ากรมพระลำพัง กระทรวงมหาดไทย แล้วเลื่อนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสิมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ย้ายเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย, พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เป็นองคมนตรี และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอุปราชมณฑลภาคอีสาณเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ต่อมา ทางราชการได้ยุบเลิกตำแหน่งอุปราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ แล้วย้ายเป็นสมุหพระนครบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ พ้นจากหน้าที่ราชการรับพระราชทานบำนาญเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยรับราชการนานและสูงอายุ รวมเวลาที่รับราชการ ๔๐ ปีเศษ ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ ๑,๗๐๐ บาท

ได้รับพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ และเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ ดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นหลวงพัฒนกิจวิจารณ์

พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นพระวิเศษไชยชาญ และได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท กับตราเบญจมาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นพระยาอินทรวิชิต และได้รับตราจตุรถาภรณ์มงกุฎสยาม

พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นพระยาจ่าแสนยบดี

พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานตราจตุรถาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๕๑ รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี

พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับพระราชทานตราตริตาภรณ์มงกุฎสยาม

พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นพระยากำแหงสงคราม และเป็นนายหมู่ใหญ่เสือป่า กับรับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานตราทวีติยาภรณ์มงกุฎสยาม

พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นพระยาราชนกูล วิบูลยภักดี และเป็นนายกองตรี กับได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และปฐมาภรณ์มงกุฎสยาม

พ.ศ. ๒๔๕๘ รับพระราชทานยศมหาอำมาตย์โท

พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานตราปฐมาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๖๕ รับพระราชทานยศพิเศษมหาเสวกโท

พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี และได้รับตราเลยองดอนเนอร์ ชั้นที่ ๒ ของรัฐบาลฝรั่งเศส

ได้รับพระราชทานเหรียญต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น รัตนาภรณ์ ว.ป.ร.๓ รัตนาภรณ์ ป.ป.ร.๓ กับเหรียญจักรพรรดิมาลา ฯ

ในระหว่างรับราชการ เจ้าพระยามุขมนตรีได้กระทำราชพิเศษ กล่าวโดยย่อ คือ

๑.เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เกิดจลาจลเงี้ยวที่มณฑลพายัพ ได้เป็นผู้ส่งสะเบียงอาหารให้แก่กองทหารซึ่งผ่านเขตต์จังหวัดอ่างทอง ตลอดจนนำไปส่งที่จังหวัดนครสวรรค์

๒.ได้รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๔–๒๔๖๕ ครั้งหนึ่ง

๓.เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรัฐบาลสยามประจำแม่น้ำโขงปรึกษาระเบียบการชายแดนกับข้าหลวงฝรั่งเศส ได้รับความชมเชยยกย่องในการที่ได้ปฏิบัติราชการเป็นที่เรียบร้อย เจริญทางพระราชไมตรีสมดังพระราชประสงค์

นอกจากนี้ ได้กระทำราชการพิเศษอื่น ๆ อีกหลายครั้ง มีอาทิ เช่น เมื่อระหว่างเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดปรานยกย่องพระราชทานบำเหน็จความชอบ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ ถึงรัชชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองฝ่ายเหนือ ถึงมณฑลพายัพ ก็ได้จัดการรับเสด็จและโดยเสด็จใกล้ชิดตามหน้าที่ ทรงคุ้นเคยชอบพอพระราชอัธยาศัย ดังปรากฏอยู่ในประกาศตั้งเป็นเจ้าพระยานั้นแล้ว แม้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วก็ดี ถึงสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ยังได้รับตั้งให้เป็นประธานกรรมาธิการออกสลากกินแบ่ง เป็นประธานกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดก เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ และเป็นกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ได้ปฏิบัติการภายในขอบหน้าที่เรียบร้อยเป็นผลดี

อนึ่ง ทางสภากาชาดสยามก็ได้เป็นกรรมการอยู่ตลอดจนกระทั่งอสัญญกรรม

เจ้าพระยามุขมนตรีป่วยเป็นฝีฝักบัว รักษาตัวอยู่ ๑๔ วัน จึงไปทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช อยู่โรงพยาบาล ๖ วัน ถึงอสัญญกรรมเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖, คำนวณอายุได้ ๕๘ ปี.