คำนำ

ในงานฌาปนกิจศพนางราชพินิจจัย (ชื่น โสฬสจินดา) ผู้เป็นมารดา นายชลอ โสฬสจินดา ได้มาแจ้งความยังกรมศิลปากรว่า เจ้าภาพศรัทธาจะพิมพ์หนังสือสำหรับเป็นธรรมทานที่ระลึกสักเรื่องหนึ่ง ตั้งความจำนงได้ว่าจะใคร่ได้เรื่องที่เนื่องด้วยพงศาวดาร อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การค้นคว้าหาความรู้เรื่องราวของชาติ กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลเจตนานี้ ขณะที่นายชลอ โสฬสจินดา มาแสดงความประสงค์ ประจวบกับเวลาที่กรมศิลปากรกำลังสอบสวนและทำบัญชีทะเบียนพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ที่ว่าด้วยดินแดนทางภาคเหนือของสยามและที่ถัดขึ้นไป มีแคว้นลานนาไทย ลานช้าง สิบสองพันนา และสิบสองจุไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ของชาติไทยก่อนยกลงมาอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในการสอบสวนคงปรากฏอยู่อย่างหนึ่งว่า พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ที่ว่าด้วยแคว้นเหล่านี้มีฉะบับเป็นตัวเขียนรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติเป็นจำนวนมาก บางเรื่องก็มีหลายฉะบับ ความในบางแห่งก็ไม่ตรงกัน ที่เป็นตัวอักษรไทยเหนือยังไม่ได้ถอดออกเป็นภาษาไทยสยามก็มีอยู่มากฉะบับ หนังสือเหล่านี้ ถ้าได้มีโอกาสพิมพ์เผยแผ่ขึ้น ก็จะเป็นเครื่องมือของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะจะได้ใช้เปรียบเทียบสอบหาเอาความรู้ต่อไป กรมศิลปากรได้อธิบายถึงความข้อนี้แก่นายชลอ โสฬสจินดา และแนะนำให้พิมพ์พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน เพราะเป็นเรื่องราวกล่าวถึงชาติไทยสมัยก่อนที่ยกลงมาเป็นใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทองที่ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏว่าสืบเชื้อพระวงศ์ไปจากพระเจ้าพรหมกษัตริย์เมืองเชียงแสนพระองค์หนึ่งที่ทรงอานุภาพมากในสมัยโบราณ ถึงบรรดาพงศาวดารและตำนานเมืองต่าง ๆ ในแคว้นลานนาส่วนมากก็เนื่องไปจากเมืองเชียงแสนนี้ก่อนทั้งนั้น พงศาวดารเมืองเชียงแสนจึงเป็นดั่งบันไดขั้นแรกทีนักศึกษาเรื่องราวของชาติไทยควรทราบ นายชลอ โสฬสจินดา มีความเห็นพ้องด้วย ตกลงรับเอาต้นฉะบับไปจัดพิมพ์ ภายหลังมาแจ้งความเพิ่มเติมว่า ต้นฉะบับที่รับไปพิมพ์มีเรื่องน้อยนัก ไม่จุใจแก่ศรัทธา ขอให้จัดหาเรื่องสำหรับพิมพ์เข้าชุดกันอีกสักเรื่องหนึ่ง กรมศิลปากรมีความยินดีเลือกเรื่องสิงหนวติกุมารให้พิมพ์

สิงหนวติกุมารเป็นตำนานกล่าวถึงเรื่องเมืองเชียงแสนอีกความหนึ่ง มีเรื่องราวและอายุของเรื่องเก่าขึ้นไปกว่าตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน ซึ่งที่ถูกควรจะพิมพ์ตำนวนสิงหนวติกุมารไว้ก่อนพงศาวดารเงินยางเชียงแสน แต่ว่าได้จัดพิมพ์พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนเสียก่อนแล้ว จึงต้องพิมพ์ตำนานสิงหนวติกุมารต่อไว้ข้างหลัง

หนังสือ ๒ เรื่องนี้ กรมศิลปากรรวมเข้าไว้ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร และจัดเล่มนี้เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ ประชุมพงศาวดารเป็นหนังสือชุดที่มีผู้นิยมกันมาก ไม่ใช่แต่ในหมู่นักศึกษาสนใจในเรื่องพงศาวดารเท่านั้น ถึงผู้อ่านตามธรรมดาก็ชอบ เพราะเป็นเรื่องให้ความรู้แปลก ๆ และเรื่องก็ต่าง ๆ กัน ถึงกับเสาะแสวงหาเข้าชุดไว้ให้ครบ ทุกวันนี้หนังสือประชุมพงศาวดารบางภาคก็เป็นฉะบับที่หายาก มีผู้ต้องการกันอยู่เสมอ หากได้มีผู้ศรัทธาพิมพ์ขึ้นไว้ ก็จะเป็นธรรมทานสำคัญอย่างหนึ่ง มูลเหตุที่จะเกิดมีหนังสือชุดนี้ขึ้น คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จกรมพระยาคำรงราชานุภาพทรงรวบรวมหนังสือพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ๖ เรื่อง มาพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มเดียวกัน แล้วประทานชื่อหนังสือนั้นว่า “ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑” ได้ทรงอธิบายไว้ว่า การศึกษาหาความรู้พงศาวดารและตำนานการเก่าย่อมถือกันว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาทั่วประเทศ ในประเทศสยามนี้ แม้แต่โบราณมา ท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นต้นแต่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน ๆ มา ก็ย่อมทรงเป็นพระราชธุระทนุบำรุงความรู้พงศาวดารตลอดมาแทบทุกรัชกาล ส่วนหนังสือพงศาวดารและตำนานในภาษาไทย ที่พิมพ์แล้วก็มี ที่ยังไม่ได้พิมพ์แพร่หลายก็หลายเรื่อง บางเรื่องยาว ซึ่งควรจะพิมพ์ฉะเพาะเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องดีแต่ไม่สู้ยาว ซึ่งควรรวบรวมหลายเรื่องพิมพ์เป็นเล่มเดียวกันได้ ถ้าพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลายได้หมด ก็จะเป็นคุณแก่การศึกษาไม่น้อยทีเดียว เพราะบรรดาผู้ศึกษาจะได้มีโอกาสพบเห็นทำการสอบสวนค้นคว้าได้สะดวก มูลเหตุของหนังสือชุดประชุมพงศาวดารมีดังนี้ ต่อมาได้มีผู้นิยม ก็ได้ทรงรวบรวมตำนานและพงศาวดารต่าง ๆ พิมพ์ต่อไปอีกเป็นภาคที่ ๒ ที่ ๓ ต่อกันไปโดยลำดับ ไม่มีกำหนดว่ากี่ภาค หรือเรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับอย่างไร แล้วแต่จะหาเรื่องพงศาวดารได้พอรวบรวม ถ้ามีผู้ศรัทธาว่าจะสร้าง ก็พิมพ์เป็นภาคหนึ่ง ๆ เป็นลำดับไป กรมศิลปากรก็ได้เจริญรอยตามนี้สืบต่อมา จนบัดนี้หนังสือประชุมพงศาวดารจึงเป็นภาคที่ ๖๑ คือ ฉะบับที่พิมพ์นี้ ส่วนที่พิมพ์มาแล้วแต่ต้นมีเรื่องอะไรบ้าง ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อขึ้นไว้เป็นพิเศษส่วนหนึ่ง ดังแจ้งอยู่ในบัญชีที่พิมพ์ไว้ต่อท้ายคำนำนี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการจะทราบว่าภาคใดมีพงศาวดารและตำนานเรื่องอะไรบ้าง ก็จะได้สอบค้นดูได้สะดวก

ก่อนอธิบายถึงพงศาวดารและตำนานที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เห็นสมควรเล่าเรื่องชาติไทยไว้แต่ย่อ ๆ พอให้ทราบเรื่องติดต่อกัน

ย่อมเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า ไทยเราแต่เดิมมามีชาติภูมิอยู่ในแว่นแคว้นแดนดินที่เรียกในทุกวันนี้ว่า ประเทศจีนตอนใต้ เป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งมาแต่ก่อนพุทธกาล จำเนียรกาลต่อมาไทยบางพวกได้ยกลงมาในแหลมอินโดจีน ในชั้นต้นได้มาตั้งถิ่นฐานลงทางตอนเหนือของประเทศสยาม แต่แรกที่ยกลงมา ถ้าจะสันนิษฐานตามตำนานและพงศาวดารทีมีอยู่ เช่นเรื่องราวทีมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นต้น คงจะแยกกันอยู่เป็นเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่เป็นอิสระแก่กันก่อน คือต่างคนต่างอยู่เป็นเมือง ๆ ไป ในสมัยที่กล่าวนี้ดินแดนตอนใต้ของแหลมอินโดจีนตกอยู่ในอำนาจของชนสองชาติซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน คือมอญและขอม ส่วนที่เหนือขึ้นไป ว่าทางแคว้นลานนา อำนาจของชาติทั้งสองนี้จะแผ่ไปถึงแต่บางคราวบางสมัยเท่านั้น เขตต์สูงสุดตามที่ปรากฏในตำนานก็เพียงเมืองหริภุญไชย ส่วนทางแคว้นลานช้าง อำนาจขอมแผ่ไปถึงดินแดนที่เรียกในตำนานว่า เมืองอุมงค์เสลา

พวกไทยที่ยกลงมาปกครองบ้านเมืองในแว่นแคว้นลานนา ที่นับว่าเป็นเมืองสำคัญก็มีเมืองหริภุญไชย คือ นครลำพูน เมืองเงินยางเชียงแสน และเมืองพะเยา เมืองหริภุญไชย รวมทั้งนครเขลางค์ คือนครลำปางนั้น เป็นดินแดนที่เชื้อวงศ์นางจามเวที (เป็นชาติขอม บางที่ก็ว่าเป็นมอญ แต่ดูเหมือนยังไม่ยุติกัน) ปกครองสืบสันตติวงศ์ลงมาหลายชั่วกษัตริย์เป็นเวลาช้านานกว่า ๙๐๐ ปี ภายหลังสิ้นเชื้อพระวงศ์เพราะต้องเสียดินแดนแก่พระยาเมงรายกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงแสน ดังมีเรื่องแจ้งอยู่ในหนังสือจามเทวีวงศ์ และหนังสือชินกาลมาลินี ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้พิมพ์แล้ว ส่วนทางเมืองเชียงแสน และเมืองพะเยา มีกษัตริย์ชาติไทยปกครอง ข้อสำคัญในเรื่องราวของกษัตริย์ไทยในแคว้นลานนา ก็ที่ในชั้นแรกเมื่อตั้งเมืองขึ้นแล้ว ต่อมาเมื่อมีกำลังอำนาจขึ้น ก็ขยายเขตต์ให้ใหญ่โตออกไป สุดแล้วแต่กษัตริย์องค์ใดมีอภินิหารมากและน้อย เพราะฉะนั้น การขยายเขตต์แดนจึงเป็นไปตามเวลาของผู้เป็นใหญ่ผู้นั้นเท่านั้น มิได้ยืดยาวถาวรต่อไป เพราะเขตต์แดนที่ปกแผ่ออกไปถึง ก็มักให้ราชบุตรออกไปครอง โดยเหตุที่ราชบุตรเหล่านั้นบางทีก็แตกร้าวกัน จึงต้องแยกย้ายให้ไปอยู่เสียห่างไกลกัน ครั้นต่อมาบุตรหลานที่ไปกินเมืองสืบต่อมาก็มักตั้งตนเป็นอิสสระ ไม่ปรองดองรวมกันให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาเป็นประเทศใหญ่ให้ยั่งยืนขึ้นได้ ช้า ๆ นาน ๆ เกิดผู้มีบุญขึ้นที่เมืองใดเมืองหนึ่ง ผู้มีบุญนั้นก็แผ่อาณาเขตต์ออกไปกว้างขวาง อย่างพระเจ้าพรหมและพระเจ้ามังรายในราชวงศ์เชียงแสนเป็นต้น ครั้นสิ้นผู้มีบุญแล้ว เมือง ต่าง ๆ ในราชอาณาเขตต์ก็กลับแยกกันอีก จะเร็วและช้าก็แล้วแต่เหตุการณ์ เหตุนี้บ้านเมืองในแคว้นลานนาที่แยกกันอยู่เป็นอิสสระเป็นแคว้น ๆ จึงมักเป็นว่านเครือเชื้อชาติเดียวกันมาแต่เดิม อย่างที่เรียกกันเป็นสามัญว่า บ้านพี่เมืองน้องเกี่ยวเนื่องกัน ความสนิทสนมจึงมีอยู่ต่อกัน เช่นพระเจ้าเมงรายแห่งเมืองเชียงแสน ขุนงำเมืองแห่งเมืองพะเยาซึ่งเป็นกษัตริย์มีอานุภาพผู้หนึ่ง และพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย จึงปรากฏในตำนานว่าได้เป็นมหามิตรสนิทสนมกันมาก ทั้งนี้ ก็เพราะมีชาติเชื้อเนื้อไขเป็นไทยด้วยกัน พงศาวดารและตำนานเมืองต่าง ๆ ก็มักมีเรื่องร่วมกันในตอนต้น จะผิดแปลกกันบ้างก็ในส่วนที่เป็นพลความ ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุที่ในชั้นเดิมร่วมวงศ์กันมาด้วยอีกประการหนึ่ง แล้วต่อมาจึงได้แยกเรื่องไปคนละทาง อย่างเช่นพระเจ้าชัยศิริซึ่งเป็นต้นพระวงศ์พระเจ้าอู่ทอง และสืบเชื้อวงศ์ไปจากพระเจ้าพรหม ก็มีเรื่องแยกออกไปจากตำนานเชียงแสน ในพงศาวดารและตำนานเมืองอื่น ๆ ก็เป็นทำนองเดียวกัน

อนึ่ง เป็นการสมควรที่จะกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า เรื่องราวอันเป็นตอนต้นของพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ของเก่า มักเป็นเรื่องเกี่ยวไปในทำนองนิยายนิทานไม่น่าเชื่อ เป็นการยากที่จะถือเอาเป็นหลักฐานได้แน่นอน ศักราชก็ดี ชื่อบุคคลและชื่อภูมิประเทศบ้านเมืองก็ดี ก็มักมีต่างๆ ไม่ตรงกัน ชื่อบุคคลคนเดียวกันก็อาจมีหลายชื่อ บางทีเรื่องก็สับตอนกัน แต่เรื่องอย่างนี้มีความเป็นธรรมดา มีอยู่ทั่วไปทุกประเทศ เพราะเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นมนาน ได้อาศัยสืบต่อปากกันมาตามที่มีเล่ากันอยู่ในพื้นเมือง ธรรมดาว่าเรื่องราวที่สืบต่อปากกันมาในหมู่มนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด โดยมากย่อมจะมีมูลแห่งความจริงปนอยู่เสมอ เรื่องชะนิดนี้จึงอาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือส่วนหนึ่งมีความจริงเป็นพงศาวดาร อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องปรัมปราที่เกิดจากความคิดนึกของมนุษย์ เรื่องทั้งสองชนิดนี้ย่อมมีประโยชน์ด้วยกัน แต่เป็นคนละทาง เรื่องเหล่านี้บางทีอาจรักษาเอาความทรงจำแต่ครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ไว้ได้ต่อมา บางทีเรื่องราวที่จำไว้ได้มีอยู่ในประเทศถิ่นต่าง ๆ เป็นเรื่องราวอย่างเดียวกัน ก็อาจสืบสาวราวเรื่องถึงทางติดต่อกันแห่งประเทศถิ่นเหล่านั้นได้ ข้อลำบากยากยิ่งก็อยู่ที่รู้จักแยกเอาความจริงในเรื่องออกมาเรื่องที่คิดนึกอันไม่เป็นความจริงเท่านั้น หาใช่ว่าเรื่องทั้งหมดเหลวใหลไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้อ่านผู้ศึกษาจึงไม่ใช่อยู่ที่อ่านข้อค่อนขอดคอยจับผิด แต่อยู่ที่จะค้นคว้าหาความจริงที่มีอยู่ในเรื่องว่าจะได้มาเป็นประโยชน์มากหรือน้อยเท่านั้น เมื่อทราบความสำคัญดังกล่าวนี้แล้ว การอ่านเรื่องก็ย่อมจะได้ประโยชน์ดียิ่งขึ้น

บัดนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องราวที่มีอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนและตำนานสิงหนวติกุมารโดยเฉพาะ

พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนเริ่มด้วยเรื่องเทวบุตรชื่อลาวจก หรือลวะจังกราช จุติมาครอบครองเมืองหิรัญญนครเงินยาง ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่าเมืองเชียงแสน เชื้อพระวงศ์พระเจ้าลาวจกได้สืบต่อกันมาหลายชั่วกษัตริย์ และบางองค์ก็แยกย้ายไปปกครองเมืองต่าง ๆ เป็นหลายสาย เรื่องไปหมดอยู่ตอนแผ่นดินพระเจ้าเมงราย พงศาวดารเชียงแสนฉะบับนี้สังเกตุดูว่าย่อมาก และชื่อในเรื่องไม่สู้ตรงกันนัก เห็นจะเป็นเพราะคัดลอกกันมาหลายทอด ไม่ได้สอบทาน เรื่องลวะจังกราชเทวบุตรในตอนต้นของพงศวดารเชียงแสนฉะบับนี้ ย่อมมีปรากฎอยู่ในพงศาวดารเมืองอื่น ๆ มีพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ น่าน และพะเยา เป็นต้น ใจความก็เป็นอย่างเดียวกัน จะแปลกกันก็แต่พลความ คือบางฉะบับก็กล่าวเรื่องว่า พระเจ้าอนุรุธแห่งกรุงภุกามได้ประชุมเชิญท้าวพระยานานาประเทศในชมพูทวีปไปลบศักราช ยังขาดอยู่แต่แคว้นลานนาไทย เพราะในสมัยนั้นยังว่างกษัตริย์อยู่ พระเจ้าอนุรุธจึงไปเฝ้าขอร้องต่อพระอินทร์ ๆ ก็ให้ลวะจังราชเทวบุตร (บางฉะบับก็เขียนว่าลวะจักราชบ้าง ลาวจกบ้าง) จุติมาเป็นกษัตริย์เมืองหิรัญญนครเงินยาง เห็นได้ว่า เรื่องลาวจกนี้มีมูลที่มาแห่งเดียวกัน บางทีจะมีเค้ามูลความจริงในพงศาวดาร แต่จะเป็นเรื่องโบราณนมนานไกล ทรงจำกันได้สืบมาอย่างมัว ๆ จะไม่ใช่เป็นเรื่องในสมัยเดียวกันพระเจ้าอนุรุธดังที่บางฉะบับกล่าวไว้ ซึ่งตกอยู่ใน พ.ศ. ๑๖๐๐ เพราะในตำนานสิงหนวติกุมารก็มีเรื่องลาวจกเหมือนกัน แต่กล่าวไว้ว่า เป็นหัวหน้าชาวป่าชาติละว้า เรียกว่าปู่เจ้าลาวจก หาใช่เป็นเทพบุตรที่จุติลงมาเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ไม่ และว่า เป็นเรื่องอยู่ในสมัยต้นพุทธกาล ก่อนเรื่องลาวจกในพงศาวดารเงินยางเชียงแสนมากมาย ปู่เจ้าลาวจกนี้ ในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ว่า ที่ชื่อเช่นนั้นเพราะเป็นหัวหน้ามีจก คือจอบขุดดิน มากกว่า ๕๐๐ ขึ้นไป และในตำนานพระธาตุดอยธุงก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “มีมิลักกยูผู้ผัวชื่อว่าเจ้าลาวจก ผู้เมียชื่อย่าเจ้าลาวจก และบุคคลทั้งสองผัวเมียมีจกเช่าและคนและ ๕๐๐ ลูก ลวดได้ชื่อว่าลาวจก” ถ้าจกหมายถึงจอบขุดดินแล้ว เรื่องเทพบุตรลาวจกในพงศาวดารเชียงแสนจะแปลว่าอะไร ได้มีผู้สันนิษฐานว่า บางทีจกคำนี้จะเป็นคำเดียวกับโจกที่แปลว่าหัวหน้าได้บ้างกระมัง ลาวจกก็แปลว่าหัวหน้าของพวกละว้า แต่อย่างไรก็ดี คำว่าจกนี้มีแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ไปพ้องเข้ากับชื่อของแคว้นเสฉวน หรือตอนหนึ่งของเสฉวนในภาคใต้ของประเทศจีนต่อจากแคว้นยูนนานขึ้นไป แต่โบราณมาแคว้นเสฉวนมีชื่อว่าสกหรือจก และว่าเป็นชื่อของชาติหนึ่งในแคว้นนั้นด้วย ซึ่งบางทีก็เรียกว่าปาจก พระเจ้าเล่าปี่ในเรื่องสามก๊กที่ได้มาปกครองแคว้นเสฉวน ก็ได้พระนามว่าพระเจ้าจกฮั่นฮ่องเต้ แปลว่าพระเจ้าแคว้นจกแห่งราชวงศ์ฮั่น ดินแดนที่อยู่ในตอนใต้ของแคว้นเสฉวนแต่โบราณมา ย่อมเป็นที่อยู่ของชนชาติไทยส่วนหนึ่งเหมือนกัน บางทีจกจะเป็นชื่อของชาติไทยที่เรียกว่าอ้ายหง้ายลาวก็รู้ไม่ได้ หากลาวหรือความข้อนี้จะเป็นได้บ้าง ก็น่าจะเกี่ยวเนื่องมาถึงคำว่าลาวจกในตำนานทางลานนาด้วย

ตำนานสิงหนวติกุมารดำเนินเรื่องว่า สมัยต้นพุทธกาล สิงหนวติกุมาร โอรสพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศ คือเมืองราชคฤห์นครหลวง และสืบเชื้อสายมาจากไทยเมือง เสด็จอกจากเมืองราชคฤห์มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนใกล้แม่น้ำโขง ถึงแคว้นซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเมืองสุวรรณโคมคำ เป็นเมืองร้างมาแต่เก่าก่อน (มีตำนานเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำส่วนหนึ่ง) แดนนั้นเป็นที่อยู่ของพวกละว้า มีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า เจ้าสิงหนวติกุมารได้สร้างเมืองลงแถวถิ่นนั้น ให้ชื่อว่าเมืองนาคพันธุ์สิงหนวตินคร หรือโยนกนครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแสน สืบพระเจ้าแผ่นดินมาหลายชั่วกษัตริย์ จนเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวตินครถล่มทะลายกลายหนองไป เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินและราษฎรไปกินปลาตะเพียนเผือก (ในพงศาวดารโยนกว่าปลาไหลเผือก ในตำนานเมืองหนองหานก็มีเรื่องเป็นตำนานคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเป็นกะรอกเผือก) สิ้นเชื้อวงศ์เจ้าสิงหนวติกุมารเพียงเท่านี้ ตอนต่อไปกล่าวถึงเรื่องลวะจังกราชเทวบุตรรับอัญเชิญพระอินทร์จุติมาเป็นกษัตริย์ เป็นเรื่องตอนเดียวกับพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน แต่มีข้อความพิสดารกว่ามาก ในการพิมพ์ตำนานสิงหนวติกุมารคราวนี้ ต้องแปลออกจากต้นฉะบับหนังสือไทยเหนือมาเป็นภาษาไทยสยามเสียชั้นหนึ่ง และทำในเวลาเร่งร้อน กำหนดงานมีวันจำกัด ไม่มีเวลาชำระสอบทานได้ละเอียด เพราะแปลเสร็จเท่าใด ก็ต้องรีบส่งไปลงพิมพ์ทันที จึงน่าจะมีที่บกพร่องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ในการแปลคราวนี้ ได้รักษาสำนวนโวหารของเดิมไว้บริบูรณ์ คำและประโยคใดที่ฟังไม่ได้ชัดในภาษาไทยสยาม ก็ได้จัดแปลและอธิบายเป็นบรรทึกใต้ไว้เท่าที่จะสามารถจัดทำได้ ส่วนบางคำที่เป็นคำสามัญใช้อยู่ในภาษาทางเหนือ ได้จดตามสำเนียงในภาษานั้นให้ดูเป็นตัวอย่างในหน้าต้น ต่อไปได้เปลี่ยนเป็นภาษาไทยสยามเพื่อไม่ให้เกิดความรุงรังตาในเวลาอ่าน ส่วนชื่อปีและศกตามที่นับกันอยู่ทางเหนือก็ได้จัดพิมพ์ไว้เป็นพิเศษอยู่ต่อไปนี้ สำหรับการตรวจสอบได้สะดวก

อนึ่ง พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ทางแคว้นลานนามักแต่งขึ้นในสมัยที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง เหตุนี้จึงต้องมีเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแซกไว้ด้วยตลอดไป ในตำนานสิงหนวติกุมารนี้เริ่มต้นก็กล่าวถึงพระพุทธประวัติ ต่อเป็นลำดับมาจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน แล้วถึงตำนานสังคายนา พิมพ์คราวนี้ได้ตัดเรื่องที่กล่าวเหล่านี้ออก เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องโดยตรง ทั้งใจความก็กล่าวซ้ำ ๆ ซาก ๆ ตามโวหารที่นิยมกันสมัยนั้น ถึงจะตัดออกก็ไม่ทำให้เสียเนื้อถ้อยกระทงความอย่างไร

ขออนุโมทนากุศลบุญราศีที่เจ้าภาพได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกเป็นวิทยาทานจงบรรลุผลดลบรรดาลแก่นางราชพินิจจัย (ชื่น โสฬสจินดา) ให้ดำรงอยู่ในคติสุขทุกเมื่อเทอญ.

กรมศิลปากร
วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๘