ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 7/คำนำ

คำนำ นายพลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง มาแจ้งความแก่กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า บุตรหลานจะทำการปลงศพสนองคุณนายอี่ ผู้เปนอาว์ของพระยาคทาธร ฯ พร้อมกันมีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เปนของแจกในการกุศลสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเรื่องประชุมพงษาวดารภาคที่ ๗ ซึ่งกรรมการได้รวบรวมฉบับไว้ให้เจ้าภาพงานศพนายอี่ พิมพ์ตามประสงค์ ที่เรียกว่าหนังสือประชุมพงษาวดารนี้คือรวบรวมเรื่องพงษาวดารเกร็ดต่าง ๆ บรรดาได้ฉบับมาในหอพระสมุด ฯ ซึ่งเห็นว่าเปนเรื่องน่ารู้แลน่าอ่าน พิมพ์เพื่อให้ได้ทราบกันแพร่หลาย แลรักษาเรื่องโบราณคดีนั้นไว้มิให้สูญ หนังสือประชุมพงษาวดารจึงมักมีเรื่องแปลก ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเปนหนังสือซึ่งชอบอ่านกันมาก หนังสือประชุมพงษาวดารได้พิมพ์มาแล้วแต่ก่อนมี ๖ ภาค คือ ภาคที่ ๑ สมเด็จพระมาตุฉา โปรดให้พิมพ์เมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลการศพหม่อมเจ้าดไนยวรนุช ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗

ภาคที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวง โปรดให้พิมพ์พระราชทานในงานศพ คุณหญิงฟักทอง จ่าแสนบดี ราชินีกูล เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ ภาคที่ ๓ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร พิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าหญิงอรชร ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ ภาคที่ ๔ พระยาศรีสำรวจ พิมพ์แจกในงานศพมารดาเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ ภาคที่ ๕ คุณหญิงหุ่น รณไชยชาญยุทธ พิมพ์แจกในงานศพพระยารณไชยชาญยุทธ (ศุขโชติกะเสถียร) เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ ภาคที่ ๖ นายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร พิมพ์แจกในงานศพมารดา เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ ประชุมพงษาวดารที่เจ้าภาพงานศพนายอี่ พิมพ์เล่มนี้จึงเปนภาคที่ ๗ หนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๗ นี้ มีเรื่องรวบรวมไว้ ๔ เรื่องคือ (๑) คำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลี (๒) คำให้การเถ้าสาเรื่องหนังราชสีห์ (๓) คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท (๔) คำให้การนายจาด เรื่องเหตุการณ์ในเมืองพม่าเมื่อพระเจ้ามินดงทิวงคต หนังสือเหล่านี้ที่เรียกว่าคำให้การเพราะถามจากผู้ที่รู้เห็นด้วยตนเองมาจดไว้ แต่เปนเรื่องเนื่องในพงษาวดารดังจะอธิบายโดยเฉภาะเรื่องต่อไปนี้ (๑) คำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลีนั้น คือเมื่อปีมเมียจุลศักราช ๑๒๐๘ พ.ศ. ๒๓๘๙ ในรัชกาลที่ ๓ พระยาสวัสดิวารีแต่งสำเภาให้จีนกั๊กเปนนายลำไปค้าขายที่เมืองบาหลี อยู่ข้างใต้ไม่ห่างเกาะชวา ทำนองจะไม่ใคร่มีเรือไทยได้ไปถึงเกาะบาหลีมาแต่ก่อน เมื่อจีนกั๊กกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ จึงโปรดให้ถามคำให้การเพื่อจะได้ทรงทราบภูมิประเทศ แลการงานบ้านเมือง ตลอดจนระยะทางที่ไปมา แลมีข้อสำคัญอิกอย่าง ๑ ด้วยฝรั่งฮอลันดา ยกกองทัพเรือไปตีเมืองบาหลีเมื่อเวลาจีนกั๊กอยู่ที่นั่น จีนกั๊กเสมอเปน " สักขี " ในการสงครามนั้น จึงจดคำให้การไว้ในราชการ ถึงกระบวนถ้อยคำสำนวน แลข้อความในหนังสือคำให้การของจีนกั๊กเรื่องนี้ ควรนับว่าเปนหนังสือแต่งดีด้วย เพราะถ้อยคำสำนวนเข้าใจง่าย เรื่องราวก็เล่ากระจัดชัดเจนโดยซื่อตรงเปนหนังสือน่าอ่าน แลให้ความรู้ลักษณการค้าขายของไทยในสมัยนั้นเปนอย่างดี ตัวข้าพเจ้าเองแต่แรกสังเกตแต่ชื่อเรื่องที่เรียกว่า " คำให้การจีนกั๊ก " ก็นึกหมิ่นทอดทิ้งเสียเปนช้านาน ทีหลังอยากจะรู้ว่าเปนเรื่องอะไรจึงเรียกเอามาดู พอจับอ่านก็ชอบใจ อ่านเพลินไปจนจบเรื่องในพักเดียวทั้ง ๒ เล่มสมุดไทย แต่ท่านผู้อื่นจะชอบฤๅไม่นั้น ก็จะเห็นแล้วแต่อัธยาไศรย แต่ข้าพเจ้าจะกล้ารับรองว่าเปนหนังสือเรื่องดี ดังแสดงมาทุกประการ (๒) คำให้การเถ้าสา เรื่องหนังราชสีห์นั้น คือเมื่อปีรกา จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่ ๒ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ กับนายฤทธิรณรงค์ กราบทูลว่าหญิงหม้ายคนหนึ่ง ชื่อเถ้าสา อยู่ที่ริมวัดปากน้ำในคลองบางหลวง มีหนังแปลกปลาดผืน ๑ ว่าเปนหนังราชสีห์ของพระเจ้าเอกทัศ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ นายอูสามีของเถ้าสาได้มาเมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก จึงโปรดให้เรียกเถ้าสามาถามคำให้การ คำให้การนี้เปนแต่เรื่องแปลกปลาด ข้าพเจ้าได้ทำคำอธิบายเฉภาะเรื่องพิมพ์ไว้ข้างท้ายคำให้การนั้นแล้ว (๓) คำให้การขุนโขลนนั้น ในสำนวนไม่ชัดว่าเปนคำให้การซึ่งให้รับสั่งให้ถามอย่างคำจีนกั๊ก แลคำให้การเถ้าสาสังเกตในทำนองความ ดูเหมือนจะทรงตั้งผู้ว่าราชการเมืองพระพุทธบาทขึ้นไปใหม่ ฤๅมิฉนั้น เมื่อจะทรงสถาปนาการรักษาพระพุทธบาท เมื่อในรัชกาลที่ ๑ จะใคร่ทรงทราบแบบแผนประเพณีการรักษาพระพุทธบาทเมื่อครั้งกรุงเก่า ความปรากฎในบานแพนกว่า เมื่อปีมโรงจุลศักราช ๑๑๔๖ พ.ศ. ๒๓๒๗ กรมการใหญ่ในเมืองพระพุทธบาทนั่งพร้อมกัน ถามคำให้การผู้ใดผู้หนึ่ง ตรงนี้ตัวฉบับลบเสียทราบไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่เข้าใจได้ว่าเปนขุนโขลน คือชาวบ้านในตำบลพระพุทธบาท ซึ่งได้ยกย่องขึ้นไว้เปนผู้ใหญ่โดยเปนผู้มีอายุ ขุนโขลนนี้เล่าถึงตำนานพระพุทธบาทตลอดจนถึงแบบแผนประเพณี ที่รักษาพระพุทธบาทมาในครั้งกรุงเก่า คำให้การนี้ เชื่อได้ว่าคงจะได้บอกส่งเข้ามายังกรุงเทพ ฯ สังเกตข้อความที่กล่าวในคำให้การเห็นว่ามีหลงลืมอยู่บ้างก็จริง แต่เปนเรื่องราวแบบแผนซึ่งเปนความจริงตามตำรา แลทำเนียบการรักษาพระพุทธบาท ครั้งกรุงเก่าซึ่งยังไม่ ปรากฎในหนังสืออื่น ๆ ให้ความรู้ในทางโบราณคดีดีอยู่เปนต้นว่าเรื่องตำนานพบรอยพระพุทธบาท ได้ความในหนังสือนี้ดียิ่งกว่าที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร คือว่า เหตุที่จะพบรอยพระพุทธบาทนั้น เดิมพระสงฆ์ไทยออกไปลังกาทวีป ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขาสุมณะกูฏ เปนที่สักการบูชาของชาวลังกา พระสงฆ์ไทยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทนั้น พระสงฆ์ลังกาจึงบอกว่า ที่ในกรุงศรีอยุธยาก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่ที่เขาสัจพันธ์เหมือนอย่างที่สิงหฬทวีป พระสงฆ์ไทยได้เนื้อความนี้มาทูลแด่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ๆ มีรับสั่งให้หัวเมืองเที่ยวตรวจตราหารอยพระพุทธบาทตามที่ชาวลังกาว่า เมืองสระบุรีให้สืบสวน ไปได้ความจากพรานบุญ ว่ามีรอยเหมือนรอยเท้าอยู่ที่เขานั้นรอย ๑ ซึ่งพรานบุญได้พบปะไว้แต่ก่อน เมืองสระบุรีจึงบอกเข้ามากราบทูล ฯ ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร (๔) คำให้การนายจาด เรื่องเหตุการณ์ในเมืองพม่าเมื่อพระเจ้ามินดงทิวงคตนั้น นายจาดคนนี้ ปรากฎในคำให้การว่าเปนข้าเก่าของกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร แต่จะมีฐานะอย่างไรในชั้นหลังแลเหตุใดจึงออกไปเมืองพม่าไม่ปรากฎ ลองสืบสวนดูเมื่อจะพิมพ์หนังสือนี้ ก็ไม่ได้ความ ปรากฎในคำให้การแต่ว่านายจาดออกไปเมืองพม่าในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีจอจุลศักราช ๑๒๓๖ พ.ศ. ๒๔๑๗ ไปอยู่ที่เมืองมันดเล ๔ ปี ได้เข้ารับราชการพม่าแลเคยเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะ นายจาดกลับมากรุงเทพ ฯ เมื่อปีเถาะจุลศักราช ๑๒๔๑ พ.ศ. ๒๔๒๒ คำให้การนี้ แม้ในหนังสือไม่กล่าวชัดว่ารับสั่งให้ถาม แลทำนองสำนวนเปนเขียนบอกแก่ขุนนาง ด้วยใช้คำว่า " ข้าพเจ้า ฉนี้ก็ดี เข้าใจคำให้การนี้มีรับสั่งให้ถาม เพราะในเวลานั้นในเมืองพม่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ปรากฎว่ามีเหตุฆ่าฟันกันวุ่นวาย นายจาดพึ่งมาจากเมืองพม่า ได้รู้เห็นเหตุการณ์นั้น สมควรถามคำให้การไว้เปนความรู้ในราชการ อิกประการ ๑ ต้นฉบับคำให้การนี้หอพระสมุด ฯ ได้มาจากทางอาลักษณ จึงเชื่อได้ว่าแม้อย่างต่ำคงเปนหนังสือซึ่งได้นำขึ้น ทูลเกล้า ฯ ถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ว่าโดยตัวเรื่องในคำให้การของนายจาด ข้อความที่ให้การกล่าวตามรู้ตามเห็นแจ่มแจ้งดี แต่ยังมีเหตุอย่างอื่น ซึ่งน่าอ่านคำให้การนี้ในทางศึกษาโบราณคดี คือว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองพม่าเมื่อพระเจ้าทีบอจะได้ราชสมบัตินั้น แม้มีผู้เอามาแต่งหนังสือกันแล้วเปนหลายฉบับ แลที่สุดได้แปลเป็นภาษาไทยมีแล้วก็จริง แต่บรรดาหนังสือเหล่านั้น เปนของแต่งเมื่อ อังกฤษได้เมืองพม่าแล้ว ผู้ที่แต่งลงมือแต่งเมื่อตัวรู้เรื่องตลอด แลใจตนได้ตัดสินผิดชอบเสียเสร็จแล้ว ฤๅถ้าจะว่าอิกไนยหนึ่ง ก็เหมือนกับแต่งหนังสือเรื่องสงคราม เมื่อรู้ว่าข้างไหนแพ้ชนะ เสียก่อนแล้ว แต่คำให้การของนายจาดนี้เล่าในเวลาเหตุการณ์ ยังไม่ถึงที่สุด เล่าตามความรู้เห็นในเมืองพม่าที่เปนอยู่ในเวลา เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนั้น ด้วยความเปนอุเบกขา ถ้าใครอยาก รู้ว่าคนในเมืองพม่าคิดเห็นกันอย่างไรในเวลาเกิดเหตุการณ์ เมื่อ พระเจ้าทีบอได้ราชสมบัติ อ่านคำให้การของนายจาดจะเข้าใจ ความจริงได้ดีกว่าอ่านหนังสือที่ฝรั่งแต่งในเรื่องพระเจ้าทีบอทุกเรื่อง ราคาคำให้การของนายจาดจึงมีในทางโบราณคดีดังกล่าวมานี้ แต่ ต้องทรงจำไว้อย่างหนึ่งว่านายจาดเปนไทยไปอยู่ในเมืองพม่า ความ รู้เห็นก็ต้องเพียงเท่า ชาวต่างประเทศที่ไปอยู่ในหมู่พลเมืองนั้นคน ๑ ถ้าผู้อ่านคำให้การของนายจาด อ่านด้วยความเข้าใจดังข้าพเจ้าแสดงมา คงจะเห็นว่าคำให้การนี้เปนหนังสือดีน่าอ่านเรื่อง ๑ ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว ว่าความจริงในเหตุการณ์เรื่องพระเจ้าทีบอ โดยมากเปนของพึ่งมารู้กันในชั้นหลัง คำให้การนายจาดกล่าวตามที่พม่าเข้าใจกันโดยมากในเวลานั้น ย่อมผิด กับการที่เปนจริงอยู่หลายแห่ง ข้าพเจ้าได้ลองสอบกับเรื่องที่เซอร์เยมสก๊อต ได้สืบสวนเรียบเรียงไว้ในหนังสือคเสตเตียพม่า เหนือ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษให้เซอร์เยมสก๊อตเรียบเรียงนั้น เก็บ แต่ใจความมาลงเปนอธิบาย หมายเลขไว้ตรงข้อความที่คำให้การ คลาศเคลื่อนกับความจริงฤๅไม่ชัดเจน แลได้ลงอธิบายความ ข้ออื่น ซึ่งเห็นควรจะอธิบายไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจสดวกขึ้นด้วย อิกหลายแห่ง ข้าพเจ้าหวังใจว่า ท่านทั้งหลายที่ได้รับสมุดเล่มนี้ไปอ่านคงจะพอใจอ่านเรื่องที่ได้รวบรวมมาพิมพ์ไว้ แลคงจะอนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งบุตรหลานได้บำเพ็ญสนองคุณนายอี่ แลที่ได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ให้ปรากฎแพร่หลายเปนครั้งแรก

สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐