ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 71/เรื่องที่ 4
แต่เดิมเมืองเขมรมีเจ้านายสืบวงศ์มาแต่โบราณ แต่ก่อนเมื่อมีอำนาจก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ เมื่ออำนาจเสื่อมลงเพราะเกิดขบถในเมืองเขมรเองบ้าง เจ้านายวิวาทรบพุ่งกันเองบ้าง เสียทีแก่ไทยบ้าง แก่ญวนบ้าง ก็น้อยอำนาจลงทุกที ภายหลังก็พึ่งข้างญวนแข็งต่อไทยบ้าง พึ่งข้างไทยแข็งต่อญวนบ้าง อ่อนน้อมทั้งสองฝ่ายบ้าง การยืดยาวยกไว้ จะว่าแต่การที่เป็นไปในพระบรมราชวงศ์กรุงเทพมหานครบัดนี้ซึ่งตั้งมาแต่ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕) มีคฤศตศักราช ๑๗๘๒ ครั้นปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) มีคฤศตศักราช ๑๗๘๓ พวกแขกชะวามะลายูในเมืองเขมรร่วมคิดกันกับญวนลุกลามขึ้นชิงเอาบ้านเมือง เจ้านายฝ่ายเขมรกับขุนนางต่อสู้มิได้ หนีเข้ามาพึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามช่วย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เป็นปฐมในพระบรมราชวงศ์นี้ได้แต่งกองทัพออกไปช่วยปราบปรามพวกแขกให้สงบและพวกญวนให้หนีไป แล้วให้ขุนนางเขมรผู้ใหญ่ออกไปรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมืองอยู่ถึง ๑๒ ปี รับการเกณฑ์และเก็บส่วยส่งเหมือนเมืองของไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับญวนเลย เพราะครั้งนั้น เมืองญวนก็กำลังเป็นศึกกันอยู่ หามีอำนาจมิได้ และซึ่งให้แต่ขุนนางไปรักษาอยู่นั้น เพราะเจ้านายฝ่ายเขมรซึ่งหนีเข้ามาพึ่งกรุงเทพมหานครนั้นเป็นแต่เจ้าหญิง ๓ องค์ เจ้าชายองค์หนึ่งชื่อ นักพระองค์เอง ชนมายุก็เพียง ๙ ขวบ ๑๐ ขวบ ยังไม่มีอำนาจที่จะรู้รักษาตัว สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงพระกรุณาทำนุบำรุงไว้จนถึงปีเถาะ สับตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๘) มีคฤศตศักราช ๑๗๙๕ นักพระองค์เองเจ้าเขมรนั้นมีวัยจำเริญสมควรแล้ว สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงพระกรุณาแต่งตั้งออกไปให้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองเขมรทั้งสิ้นตามเดิม มีนาม สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ยกไว้เป็นของไทยแต่แฃวงปัตบองและแขวงเสียมราบ นักพระองค์เองพระนารายณ์รามาธิบดีนั้นไปเป็นเจ้าเมืองเขมรอยู่ก็ได้ถวายบรรณาการแก่กรุงเทพมหานครทุกปี ล่วงมา ๓ ปีก็ถึงแก่พิราลัยในปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ (พ.ศ. ๒๓๔๐) มีคฤศตศักราช ๑๗๙๗ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจึ่งโปรดให้พระยาพระเขมรผู้ใหญ่รักษาเมืองต่อมาอย่างครั้งก่อน ยังหาได้ตั้งเจ้าองค์อื่นให้เป็นเจ้าเมืองเขมรไม่ เพราะบุตรของเจ้าเมืองเขมรถึงแก่พิราลัยนั้นยังเยาว์อยู่ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามให้ทำนุบำรุงรักษาไว้ในเมืองเขมรนั้นมิให้เป็นอันตราย และให้รักษาบ้านเมืองมิให้วุ่นวายมาอีก ๙ ปี ถึงปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) มีคฤศตศักราช ๑๘๐๖ บุตรใหญ่ของเจ้าเมืองเขมรที่ถึงแก่พิราลัยชื่อ นักพระองค์จันทร์ มีชนมายุได้ ๑๖ ปี สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจึ่งได้ทรงตั้งแต่งให้เป็นเจ้าเมืองเขมรสืบต่อมา มีนามว่า สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช นักพระองค์จันทร์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชเจ้าเมืองเขมรองค์ใหม่ก็ได้ถวายบรรณาการแก่กรุงเทพมหานครทุกปีมิได้ขาด ครั้นเมื่อสิ้นรัชชกาลที่ ๑ ในกรุงเทพมหานคร และครั้นเมื่อญวนมีอำนาจขึ้น นักพระองค์จันทร์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชนั้นคิดไปพึ่งอำนาจญวน แต่เจ้าเขมรน้องชาย ๓ องค์ คือ นักพระองค์สงวน นักพระองค์อิ่ม นักพระองค์ด้วง ไม่เห็นด้วย เกิดวิวาทกันขึ้นในปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ (พ.ศ. ๒๓๕๔) มีคฤศตศักราช ๑๘๑๑ ปี นักพระองค์จันทร์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชเจ้าเมืองเขมรทิ้งเมืองเสียหนีไปหาญวน เจ้าเขมรผู้น้อง ๓ องค์หนีเข้ามาพึงกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นที่ ๒ ในพระบรมราชวงศ์นี้ได้ให้กองทัพออกไปรักษาเมืองเขมร แล้วจะจัดให้นักพระองค์สงวนเจ้าเขมรผู้น้องนักพระองค์อิ่มรักษาเมืองต่อไป ครั้งนั้น เจ้าเวียดนามถาลวงเจ้าแผ่นดินเมืองญวนแต่งทูตให้มาหาแม่ทัพไทยที่เมืองเขมร และแต่งทูตให้เชิญพระราชสารเข้ามากรุงเทพมหานครขอโทษนักพระองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรเก่า และว่า นักพระองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรหาได้มีความผิดคิดประทุษร้ายแก่กรุงเทพมหานครไม่ เป็นแต่พี่น้องวิวาทกัน ฝ่ายน้องเข้ามาฟ้อง ณ กรุงเทพมหานคร มีความตกใจ จึ่งหนีไปขอให้ญวนเป็นที่พึ่ง ญวนจะขอเมืองคืนให้นักพระองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรองค์เก่าตามเดิม บรรณาการที่เคยส่งแก่กรุงเทพมหานครอยู่ทุกปีก็จะให้ส่งอยู่ตามเคย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามก็โปรดตามการที่ญวนขอ เจ้าเขมรผู้น้อง ๓ องค์ก็ตกอยู่ในกรุงเทพมหานคร นักพระองค์จันทร์เจ้าเมืองเขมรเพราะได้ไปพึ่งญวนได้คืนที่เป็นปกติแล้วแต่นั้นมาก็รับยอมส่งบรรณาการแก่ญวนทุก ๆ ที่สุด ๓ ปี แต่ส่งกรุงเทพมหานครนี้เสมอทุกปีตามเดิมตั้งแต่รัชชกาลที่ ๒ มาจนถึงรัชชกาลที่ ๓
ครั้นปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช ๑๑๙๕ (พ.ศ. ๒๓๗๖) มีคฤศตศักราช ๑๘๓๓ นักพระองค์จันท์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชเจ้าเมืองเขมรนั้นถึงพิราลัย ไม่มีบุตรชาย มีแต่บุตรหญิง ญวนมาตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเขมร แล้วก็ยึดเอาเมืองเขมรเป็นของญวนไปเสียฝ่ายเดียว ญวนแต่งคนไปรักษาเมืองเขมรทุกบ้านทุกเมือง เก็บเอาส่วยสาอากรเป็นของญวนหมด ตั้งแต่นั้นมา บรรณาการเมืองเขมรที่เคยส่งแก่กรุงเทพมหานครทุกปีก็ไม่มีเลย ฝ่ายเจ้าเขมรผู้น้องชายสาม ๓ ของนักพระองค์จันท์เจ้าเมืองเขมรที่ถึงพิราลัยนั้น นักพระองค์สงวนถึงพิราลัยเสียแต่ก่อนในกรุงเทพมหานครนี้องค์หนึ่ง ยังเหลืออยู่ ๒ องค์ คือ นักพระองค์อิ่ม นักพระองค์ด้วง แต่นักพระองค์อิ่มหนีออกไปเมืองเขมรเมื่อปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ปลายปี มีคฤศตศักราช ๑๘๓๙ ญวนก็โกรธ จับตัวนักพระองค์อิ่มส่งไปเมืองเว้ แล้วก็กวาดครอบครัวอพยพเจ้านายฝ่ายเขมรส่งไปเมืองเว้เสียสิ้น ญวนเข้ารักษาเมืองเอาเอง พวกเขมรโกรธแก่ญวน จึ่งคิดพร้อมกันกำเริบขึ้นจับญวนฆ่าเสียทุกเมือง แล้วก็รบต่อสู้ญวนซึ่งจะมาแก้ไขคืนเอาเมือง แล้วจึงมาขอยอมอยู่ในอำนาจของกรุงเทพมหานคร ขอกองทัพกรุงเทพมหานครให้ออกไปช่วยรบญวน แล้วขอนักพระองค์ด้วงน้องนักพระองค์อิ่มซึ่งยังอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้นออกไปเป็นเจ้าเมืองเขมรสืบวงศ์ต่อไป ครั้นปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ ปลายปี (พ.ศ. ๒๓๘๒) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๐ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นที่ ๓ ในพระบรมราชวงศ์นี้ จึ่งได้ทรงจัดกองทัพไทยอุดหนุนอุปถัมภ์นักพระองค์ด้วงผู้น้องนักพระองค์อิ่มซึ่งพวกเขมรขอเข้ามานั้นออกไปพร้อมกับเขมรทั้งปวง รบกับญวนเป็นสามารถ ครั้งนั้น ญวนรู้สึกตัวว่า คิดผิด จึ่งพานักพระองค์อิ่มซึ่งคุมตัวไว้เมืองเว้นั้นลงมาตั้งอยู่เมืองโจดก เกลี้ยกล่อมเขมรให้คืนกลับใจไปเข้ากับญวน ก็หาสมประสงค์ไม่ นักพระองค์อิ่มอยู่กับญวนถึงพิราลัยลงเสีย ยังอยู่แต่เจ้าผู้หญิงและเจ้าผู้ชายเล็กน้อยซึ่งเป็นบุตรหลานเจ้าเขมรที่ถึงพิราลัยนั้น นักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรที่ไปกับกองทัพไทยมีอำนาจมากขึ้นเพราะไทยอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้จำหน่ายพระราชทรัพย์เกื้อหนุนในการรบนั้นเป็นอันมาก รบกันอยู่ถึง ๕ ปีจนญวนระอาใจในการที่จะรบต่อไป
ครั้นปีมะเส็ง สับตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ (พ.ศ. ๒๓๘๘) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๕ ญวนจึ่งให้ผู้รับใช้มาหาแม่ทัพไทยและนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรที่อยู่กับแม่ทัพไทย สัญญาขอเลิกการรบ ญวนกับเขมรจะไปมาค้าขายถึงกัน เจ้านายฝ่ายเขมรและพระยาพระเขมรซึ่งญวนพาตัวไปคุมไว้แต่ก่อนนั้นจะพามาคืนให้ทั้งสิ้น และญวนจะไม่มายึดเอาเมืองเขมรอย่างแต่ก่อน เป็นแต่ขอให้เจ้าเมืองเขมรแต่งทูตคุมเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าเวียดนามในปีที่ ๓ ทุก ๆ ๓ ปีอย่างครั้งนักพระองค์จันท์เจ้าเมืองเขมรที่เป็นพี่นักพระองค์ด้วง เจ้าเขมรกับพระยาพระเขมรพร้อมใจกันจะใคร่ยอมตาม จึ่งบอกเข้ามากราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ๆ ก็โปรดให้ตามใจนักพระองค์ด้วง พระยาพระเขมร ฝ่ายญวนก็พาพวกเขมรที่ไปคุมไว้นั้นมาส่งคืนให้ผู้ครองเมือง ฝ่ายเขมรก็ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าเวียดนามในที่สุด ๓ ปีทุก ๆ ๓ ปีดังสัญญา แต่ฝ่ายกรุงเทพมหานครนี้ ตั้งแต่นักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรออกไปในปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ ปลายปี (พ.ศ. ๒๓๘๒) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๐ ก็ได้แต่งเครื่องบรรณาการเข้ามาส่งแก่กรุงเทพมหานครอย่างครั้งบิดาและพี่ชายเคยส่งมาแต่ก่อนนั้นทุกปีมิได้ขาด
ครั้นปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๗ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงตั้งนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรองค์นั้นเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองเขมร มีนามว่า สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี และทรงทำนุบำรุงให้ตั้งบ้านเมืองลงใหม่ คือ เมืองอุดงมีชัย นักพระองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมรคิดถึงพระเดชพระคุณ จึ่งเพิ่มบรรณาการ คือ กระวานส่วย ให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามก็พระราชทานสิ่งของตอบบรรณาการและรางวัลผู้คุมบรรณาการเข้ามา ณ กรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วนักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีให้บุตรชายผู้ใหญ่ชื่อ นักพระองค์ราชาวดี เข้ามาทำราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อมีเหตุอันใด ๆ หรือจะแต่งทูตไปเมืองญวนเมื่อใด ก็มีใบบอกเข้ามากราบทูลฉลอง ต่อโปรดยอมให้ทำจึ่งทำได้ การเป็นไปดังนี้จนสิ้นรัชชกาลที่ ๓
ครั้นมาถึงรัชชกาลที่ ๔ การเมืองเขมรกับไทยก็เป็นไปโดยปกติดังก่อน นักพระองค้ด้วงเจ้าเมืองเขมรองค์นั้นแต่ก่อนอยู่ในกรุงเทพมหานครถึง ๒๙ ปี ได้คุ้นเคยมากกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๔ แต่เดิมมา จึ่งได้ให้บุตรชายที่ ๒ ที่ ๓ ชื่อ นักพระองค์ศรีสวัสดิ์ นักพระองค์วรรถา เข้ามาทำราชการในกรุงเทพมหานครกับบุตรชายใหญ่
ครั้นปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ (พ.ศ. ๒๔๐๐) มีคฤศตศักราช ๑๘๕๗ นักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเมืองเขมรมีใบบอกเข้ามาว่า ตนมีชนมายุเจริญล่วงมากไปแล้ว ขอพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงตั้งนักพระองค์ราชาวดีบุตรผู้ใหญ่เป็นมหาอุปราช นักพระองค์ศรีสวัสดิ์บุตรที่ ๒ เป็นพระแก้วฟ้า ออกไปช่วยรักษาเมืองเขมร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงตั้งออกไปตามนักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเมืองเขมรขอ
ครั้นปีมะเมีย สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๒๐ (พ.ศ. ๒๔๐๑) มีคฤศตศักราช ๑๘๕๘ พวกแขกจามและมะลายูเป็นอันมากอยู่ในเมืองเขมรมีความขัดเคืองแก่พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ซึ่งบังคับราชการไม่เป็นที่ชอบใจ กำเริบขึ้นต่อสู้เจ้าเมืองเขมร แล้วยกอพยพครอบครัวหนีเข้าไปพึ่งเขตต์แดนญวน นักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเมืองเขมรให้ไปต่อว่าญวน จะเอาครอบครัวคืน ญวนหาให้ไม่ นักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเมืองเขมรขัดเคือง รวบรวมกองทัพแล้วบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครว่า ไมตรีกับญวนขาดเสียแล้ว จะขอเป็นศึกกับญวนต่อไป การที่เขมรว่าจะรบกับญวนนั้นก็เป็นกำลังเมื่อญวนเป็นศึกกันอยู่กับฝรั่งเศส เขมรกับญวนได้รบกันบ้างเล็กน้อย กองทัพไทยก็ไม่ได้ช่วยเขมร เพราะในรัชชกาลที่ ๔ นั้น องค์ญวนเจ้าเมืองฮ่าตินก็แต่งคนให้เข้ามาเยี่ยมเยือนกรุงเทพมหานคร เมื่อเรือรบเรือตระเวนฝ่ายไทยออกไปถึงเมืองฮ่าติน ญวนก็ต้อนรับ ก็เมื่อไทยได้ฟังเรื่องแขกหนีที่เมืองเขมร ก็ได้ช่วยต่อว่าไปแก่ญวนที่เข้ามา ญวนก็รับว่า จะไปว่าแก่องค์ญวนผู้ใหญ่ในเมืองญวนให้ว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ให้ความแล้วแก่กัน การเรื่องนั้นยังหาทันสำเร็จไม่ นักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเมืองเขมรป่วยลงถึงแก่พิราลัยเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๒๒๒ (พ.ศ. ๒๔๐๓) มีคฤศตศักราช ๑๘๖๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามมีท้องตราบังคับให้เจ้ามหาอุปราชกับเจ้าพระแก้วฟ้ารักษาทำนุบำรุงแผ่นดินเขมรไปก่อน ต่อการศพนักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเมืองเขมรเก่าเสร็จแล้ว จึ่งจะแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเขมรผู้ใหญ่ แล้วมีรับสั่งให้นักพระองค์วรรถาเจ้าเขมรผู้ชายซึ่งเป็นบุตรที่ ๓ ของนักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีออกไปช่วยกับพี่ชายทำการศพบิดา นักพระองค์วรรถาเจ้าเขมรผู้ชายที่ ๓ นั้นออกไปปรองดีกับเจ้าพี่ชายอยู่ได้ ๕ เดือน พระยาพระเขมรและราษฎรในเมืองใหญ่และหัวเมืองไม่ปรองดองกัน ยุเจ้ามหาอุปราชากับเจ้าที่ ๓ ที่ ๔ คือ นักพระองค์วรรถา นักพระองค์ศิริวงศ์ ให้วิวาทรบกันขึ้น นักพระองค์วรรถาและนักพระองค์ศิริวงศ์หนีมาจากเมืองอุดงมีไชยเข้ามาขอพึ่งในกรุงเทพฯ และอยู่ในกรุงเทพมหานครตามเดิม เจ้ามหาอุปราชก็มีใบบอกฟ้องเข้ามา ความยังหาทันได้ชำระกันไม่ พวกเขมรหัวเมืองก็กำเริบขึ้นขัดแข็งต่อเจ้ามหาอุปราช ก่อการเกิดเป็นโจรผู้ร้ายรบพุ่งกัน แล้วก็พากันเข้ามาล้อมเมืองอุดงมีไชย เจ้ามหาอุปราชกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ที่เป็นพวกพ้องทนมิได้ ยกอพยพครอบครัวหนีเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ขอกองทัพไทยให้ออกไปปราบปรามบ้านเมืองให้ราบคาบ เมืองเขมรเป็นจลาจลวุ่นวายในปีระกา ตรีศก ปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๒๓ (พ.ศ. ๒๔๐๔) และศักราช ๑๒๒๔ (พ.ศ. ๒๔๐๕) มีคฤศตศักราช ๑๘๖๑ และ ๑๘๖๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจึ่งได้ทรงแต่งให้กองทัพไทยออกไปปราบปรามและประกาศห้ามราษฎรมิให้ลุกลามต่อไป เมื่อมีช่องแล้ว จึ่งโปรดให้ข้าราชการมีชื่อมีกำลังพาเจ้ามหาอุปราชกลับออกไปส่งที่เมืองอุดงมีไชย และให้อยู่ช่วยปราบปรามผู้ร้ายผู้ผิดให้สงบเรียบร้อยลงได้ แล้วจึ่งได้ทำการศพนักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีเจ้าเขมรที่ถึงพิราลัยแล้วนั้นเป็นอันเสร็จในเดือน ๗ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) มีคฤศตศักราช ๑๘๖๓ ครั้นแผ่นดินเมืองเขมรเรียบร้อยราบคาบแล้ว แม่ทัพไทยก็กลับคืนกรุงเทพมหานคร.