ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 8/เรื่องที่ 4

ปฐมวงษ์

จะขอกล่าวถึงความประวัติเปนไปต่าง ๆ ในโลกย์นี้จนถึงกาลเมื่อละโลกย์นี้ล่วงไปยังปรโลกย์ของพระองค์ท่านซึ่งเปนบุรพบุรุษในพระบรมราชวงษ์อันนี้ซึ่งเปนชั้นต้น คือ สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี แลสมเด็จพระไปยิกาใหญ่ แลสมเด็จพระไปยิกาน้อย ๓ พระองค์ แลชั้นสอง คือ พระเอารส พระธิดา ของสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์ ดังออกพระนามมาแต่ก่อน ตามกำหนดประวัติเวลาของพระองค์นั้น ๆ เรียงไปในลำดับโดยสังเขป เพื่อจะให้ผู้อ่านผู้ฟังได้สติปลงพระไตรลักษณปัญญา ปลงเห็นอนิจจลักษณ ทุกขลักษณ อนัตตลักษณ เพราะได้สดับเรื่องนี้ จะได้ไม่ปราศจากประโยชน์ในทางภาวนามัยกุศล ซึ่งเปนกุสโลบายอันใหญ่อันงามกว่ากุศลอื่น ๚

สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีนั้น ทราบแต่ว่า ได้ดำรงพระชนมายุแลศุขสมบัติ ครอบครองสกุลใหญ่ แลมีอำนาจในราชกิจดังกล่าวแล้วอยู่สิ้นกาลนานจนตลอดเวลาพม่าข้าศึกเข้าล้อมกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาในคราวที่กรุงจะแตกทำลายนั้น ๚

สมเด็จพระไปยิกาพระองค์ใหญ่นั้น ได้มีพระเอารส พระธิดา ๕ พระองค์ แล้วก็สิ้นพระชนม์ล่วงไปโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้น พระชนมายุเท่าไรไม่ทราบถนัด พระไปยิกาพระองค์น้อยได้รับปรนิบัติสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีในที่นั้น ต่อมา ได้ประสูตรพระธิดาพระองค์หนึ่ง แล้วจะสิ้นพระชนม์เมื่อใดก็หาได้ความเปนแน่ไม่ ได้ความเปนแน่แต่ว่า เมื่อเวลาพม่าเข้าล้อมกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาเวลาที่สุดนั้น สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีมีพระดำริห์จะออกจากกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาหลีกหนีข้าศึกไปอยู่ให้ห่างไกล จะชักชวนพระเอารสพระธิดาทั้งปวงตามเสด็จไปด้วยพร้อมกัน พระเอารสพระธิดาทั้ง ๖ พระองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วนั้นได้แยกย้ายไปตั้งสกุลอื่น มีพระบุตร พระบุตรี เกี่ยวข้องเปนห่วงใยพัวพันมากมาย จะรวบรวมมาพร้อมเพรียงกันแล้วคุมเปนพวกใหญ่ออกไปโดยง่ายหาได้ไม่ เมื่อได้ช่อง จึงได้พาแต่พระกุมารพระองค์น้อยกับหญิงบาทบริจาริกซึ่งเปนหม่อมมารดาของพระกุมารนั้นไปอาไศรยอยู่ณเมืองพระพิศณุโลก ได้ทรงปรนิบัติแด่เจ้าเมืองพระพิศณุโลกซึ่งทราบไปว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาอยู่ในเนื้อมือพม่าข้าศึกแล้ว ก็ถืออำนาจตั้งตนเปนเจ้าแผ่นดินใหญ่ขึ้นในเวลานั้น ได้ที่สมุหนายกอรรคมหาเสนาธิบดี ๚

เจ้าเมืองพระพิศณุโลกนั้นมีจิตรกำเริบ บังคับให้ทอดโฉนดบาดหมายอ้างบังคับตนเรียกว่า พระราชโองการ โดยไม่มีการพิธีราชาภิเศก อยู่ได้ ๗ วัน ก็ถึงแก่พิราไลย ก็เมื่อเจ้าเมืองพระพิศณุโลกถึงแก่พิราไลยแล้ว องค์สมเด็จพระไปยกาธิบดีจะทรงปรนิบัติอยู่ประการใดความไม่ทราบถนัด ทราบแต่ว่า ภายหลัง ทรงพระประชวรแล้วเสด็จสวรรคตอยู่ในเมืองพระพิศณุโลก เมื่อเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาแตกทำลายแล้วมิได้นาน กำลังการบ้านเมืองยังเปนจลาจลอยู่นั้น จึงพระโอรส คือ กรมหลวงจักรเจษฎา กับหม่อมมารดาซึ่งตามเสด็จไปด้วยนั้น ได้มีความกตัญญูกตะเวทีได้จัดการถวายพระเพลิงตามกำลังที่จะทำได้แล้ว ได้เชิญพระบรมอัฐิ กับพระมหาสังข์อุตราวัฏซึ่งเปนของสำหรับสกูลสืบมาแต่ก่อนเปนสำคัญ คืนนำกลับลงมา แล้วได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เมื่อครั้งเสด็จอยู่วังบ้านหลวงในกรุงธนบุรีเมื่อแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เปนความชอบอันยิ่งใหญ่ของกรมหลวงจักรเจษฏาแลคุณมาซึ่งเปนหม่อมมารดานั้นอยู่ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว จึ่งได้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนารถนั้นใส่พระโกษฐทองคำประดับด้วยพลอยทับทิมตั้งประดิษฐานในหอพระที่นมัสการในพระบรมมหาราชวังสำหรับทรงสักการบูชาทุกค่ำเช้ามิได้ขาด แลสำหรับให้พระราชวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทได้กราบถวายบังคมในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแทนธรรมเนียมเดิมซึ่งเปนโบราณจารีตมีนิยมให้คำนับพระเชษฐบิดรซึ่งเปนพระราชปฎิมากรรูปของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีเปนปฐม คือ พระองค์ซึ่งสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานครแต่ก่อนนั้น ได้เปนที่นมัสการของพระเจ้าแผ่นดิน แลเปนที่ถวายบังคมของพระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระนครนั้นสืบ ๆ มา จนสิ้นแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยานั้น ๚

กล่าวด้วยประวัติของท่านซึ่งเปนบุรพบุรุษชั้นต้นสิ้นแต่เท่านี้ ๚

กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีนั้น กับทั้งพระภัศดา พระโอรสพระบุตรี เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยายังไม่แตกทำลาย จะตั้งอยู่ตำบลใดไม่ทราบถนัด ทราบแต่ว่า พระภัศดาของท่านพระองค์นั้นมีนามว่า หม่อมเสม ได้รับปรนิบัติในราชการแผ่นดินเปนที่พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายฝ่ายพระบวรราชวัง ได้ประสูตรพระโอรส ๓ พระธิดา ๑ ซึ่งออกพระนามมาแล้วนั้นก่อนแต่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยายังไม่แตกทำลาย ก็ฝ่ายพระภัศดานั้นจะถึงแก่พิราไลยเมื่อใดไม่ทราบเปนแน่ เปนแต่เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีไม่มีแล้ว มีแต่กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กับพระโอรสพระธิดาทั้ง ๔ เสด็จมาประทับตั้งอยู่ที่ตำบลสวนมังคุด ซึ่งบัดนี้เปนที่วังเก่าของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งกรมหมื่นเทวานุรักษ์แลหม่อมเจ้าในกรมขุนอิศรานุรักษ์ยังครอบครองอยู่นั้น แต่เวลานั้น เรียกว่า บ้านปูน ตามนามสถานที่แต่บุราณมา ๚

กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีได้ถวายพระโอรสพระธิดาให้ทำราชการฝ่ายน่าฝ่ายในในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี แลได้พึ่งพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์แลพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้นทั้งสองพระองค์ ซึ่งได้ทำราชการในตำแหน่งมีอำนาจใหญ่เวลานั้นด้วย จึงได้คุ้นเคยเฝ้าแหนได้ในเจ้ากรุงธนบุรีเนือง ๆ ๚

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ได้พระภัศดาเปนบุตรที่ ๔ ของมหาเศรษฐีซึ่งเปนผู้สืบเชื้อวงษ์ลงมาแต่มหาเสนาบดีเมืองปกิ่งแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจซึ่งเปนพระเจ้าปกิ่งที่สุดในวงษ์หมิง ครั้นพระเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจเสียเมืองแก่พวกตาดแล้ว ท่านเสนาบดีนั้นกับเสนาบดีอื่นหลายนายไม่ยอมตัดผมมวยไว้หางเปียตามพวกตาด จึงได้หนีออกจากแผ่นดินจีนมาอยู่ในแผ่นดินญวนบ้าง แผ่นดินไทยบ้าง สืบสกูลต่อมาเปนจีนอย่างเก่า ไม่ได้ไว้หางเปีย ๚

พระภัศดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้นมีนามว่า เจ้าขรัวเงิน มีพี่หญิงชื่อ ท่านนวล ๑ ท่านเอี้ยง ๑ มีพี่ชายชื่อ เจ้าขรัวทอง ๑ ได้ตั้งนิวาศฐานอยู่ตำบลถนนตาล เปนพานิชใหญ่ ชาวกรุงเก่าเรียกว่า เศรษฐีถนนตาลในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหานคร พระมารดาของพระภัศดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้นเปนน้องร่วมมารดากับภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จบรมธรรมิกมหาราชาธิราช ภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ซึ่งเปนป้าของพระภัศดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้นมีบุตรกับเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ผู้หนึ่งชื่อ นายฤทธิ์ นายฤทธิ์ เมื่อเปนหนุ่มเจริญแล้ว เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ผู้บิดา ได้สู่ขอหม่อมบุนนาค เปนบุตรพระยาวิชิตณรงค์ เจ้ากรมเขนทองซ้าย มาให้เปนภรรยา ได้แต่งงานอาวาหวิวาหมงคลกัน พระยาวิชิตณรงค์นั้นเปนพี่ชายร่วมบิดามารดากับเจ้าพระยานครศรีธรรมราชซึ่งได้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ตลอดเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ครั้นกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาแตกทำลายเสียแล้ว ได้ตั้งตนเปนเจ้านั้น ๚

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อกรุงเทพทราวดีศรีอยุทธยายังไม่แตกทำลาย ได้มีพระโอรส ๒ พระธิดา ๑ ซึ่งออกพระนามในข้างต้นแล้วนั้น ครั้นเมื่อปีกุญ นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ พระพุทธสาสนกาล ๒๓๑๐ พรรษา พวกพม่าข้าศึกเข้ารุกรานทำลายล้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาเสียได้ ชาวพระนครทั้งปวงซึ่งมีครอบครัวสกูลต่าง ๆ พากันแตกแยกย้ายกระจายกระจัดหนีไป ครั้งนั้น กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทรงพระครรภ์อยู่ได้ ๔ เดือนเศษแล้ว พร้อมกันกับพระภัศดา กับพระธิดา ตามเสด็จสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ออกไปอาไศรยอยู่ด้วยในนิวาศฐานที่เดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ณตำบลอัมพวาพาหิรุทยานประเทศ ครั้นถึงวันกาฬปักษ์ ดิถีที่สิบสอง นับเบื้องน่าแต่โปฐบทบุรณมี มีอาทิตยวารเปนกำหนด จึงได้ประสูตรพระธิดาพระองค์หนึ่งซึ่งได้นับโดยลำดับว่า เปนที่ ๔ คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ๚

ครั้งนั้น เจ้าคุณชีโพ ผู้เปนพระน้องนางของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ได้รับอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยง เปนเหตุให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ได้ทรงนับถือว่า เปนพระมารดาเลี้ยงมา ครั้นเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีตั้งขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสด็จเข้ามาปรนิบัติในราชการ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ กับพระภัศดา แลพระ (ฉบับตก) ก็ได้ตามเสด็จเข้ามาตั้งนิวาศฐานบ้านเรือนโรงแพอยู่ที่ตำบลกระฎีจีน ที่นั้น บัดนี้ เปนพระวิหารแลหอไตรวัดกัลยาณมิตร แพลอยลงในคลองแม่น้ำใหญ่ตรงวัดโมฬีโลกย์ข้ามไปข้างใต้ ๚

แต่กรมหลวงเทพหริรักษ์ซึ่งเปนพระโอรสใหญ่ของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาแตกทำลายนั้น ทรงผนวชเปนสามเณรตามพระอาจารย์ไปทางอื่น ได้ลาผนวชกลับมายังสกูลเมื่อมาตั้งอยู่ในตำบลนี้แล ๚

ฝ่ายนายฤทธิ์ บุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เมื่ออยู่กับหม่อมบุนนาค ภรรยา มีบุตรีหนึ่งชื่อ หม่อมอำพัน ครั้นเมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาแตกทำลายแล้ว พาบุตรพาภรรยาหนีไปเมืองนครศรีธรรมราชเข้าพึ่งอาไศรยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลบ้านสามอู่เหนือเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาประมาณทาง ๑๐๐ เส้น ครั้งนั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อจะตั้งตัวเปนเจ้า ได้ปฤกษาขนบธรรมเนียมต่าง ๆ กับนายฤทธิ์ ผู้หลานเขย เพราะนายฤทธิ์เปนบุตรท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ เข้าใจมากในขนบธรรมเนียมราชการแผ่นดิน เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีความยินดีต่อสติปัญญาความคิดอ่านของนายฤทธิ์มากนัก เมื่อตั้งตนเปนเจ้าแผ่นดินขึ้นแล้ว จึงตั้งนายฤทธิ์ให้เปนกรมพระราชวัง เรียกว่า วังน่าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านบุนนาคเรียกว่า เจ้าครอกข้างใน หม่อมเจ้าอำพันนั้นเปนพระองค์เจ้าอำพัน กิติศัพท์นั้นทราบมาถึงพระภัศดาของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ จึงมีความดำริห์ไม่เห็นชอบด้วยนายฤทธิ์ ผู้เปนญาติซึ่งเปนหลานเขยเจ้านครศรีธรรมราช มิใช่ญาติอันสนิท เข้าไปรับที่ตำแหน่งใหญ่ นานไปภายน่า เห็นว่า ไภยจะบังเกิดมี อนึ่ง ครั้งนั้น ก็ได้ทราบความประสงค์ของเจ้ากรุงธนบุรีว่า จะยกกองทัพออกไปตีปราบปรามเมืองนครศรีธรรมราชสักเวลาหนึ่งเมื่อว่างราชการทัพรบกับพม่า กลัวว่า ถ้าเปนอย่างนั้นจริง นายฤทธิ์จะพลอยตายด้วยเจ้านครศรีธรรมราช มีความปราถนาจะออกไปลองใจนายฤทธิ์ซึ่งเปนวังน่าเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ยังจะนับถือว่า เปนญาติอยู่ฤๅหาไม่ ถ้านับถือรับรองดี ก็จะว่ากล่าวให้สติเสียให้รักษาตัว ด้วยเหตุนี้ พระภัศดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ได้มอบถิ่นฐานบ้านเรือนทาษกรรมกรทั้งปวงให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งเปนบุตรผู้ใหญ่ อยู่รักษา แล้วพากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ กับพระธิดาใหญ่น้อยสองพระองค์ กับชายหญิงสองสามคน ลงเรือทเลแล่นล่องลงไปเมืองนครศรีธรรมราชในฤดูลมว่าวปลายปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ ครั้นไปถึงแล้ว ก็ขึ้นไปเมืองนครศรีธรรมราชนั่งอยู่ที่ริมทางเมื่อวังน่าเมืองนครจะมีที่ไป ครั้นเมื่อเสลี่ยงวังน่าเมืองนครมาใกล้ ก็กระแอมไอให้เสียงเปนสำคัญ วังน่าเมืองนครได้เห็นแล้ว ก็มีความยินดี ลงจากเสลี่ยงออกมารับ แล้วปราไสโดยฉันญาติ แล้วพาไปที่อยู่พร้อมกับสมเด็จพระศรีสุดารักษ์แลพระธิดาสองพระองค์ ครั้งนั้น วังน่าเมืองนครชวนจะให้อยู่ด้วยแลว่า จะพาไปให้เฝ้าเจ้านครศรีธรรมราช พระภัศดาในกรมพระสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมเข้าไปหาเจ้านครศรีธรรมราช แลไม่ยอมอยู่ด้วย ขอให้ปิดความเสีย แล้วได้ให้สติดังคิดไปนั้นทุกประการ วังน่าเมืองนครก็เห็นชอบด้วย ได้รับว่า ภายหลังจะค่อยคิดอ่านเอาตัวออกหากให้พ้นไภยตามความคิดนั้น ครั้งนั้น ชาวเมืองนครศรีธรรมราชบางพวกกระซิบกระซาบเล่าฦๅกันว่า ผู้ซึ่งออกไปจากกรุงธนบุรีนั้นเปนผู้อาสากรุงธนบุรีไปเกลี้ยกล่อมวังน่าเมืองนครศรีธรรมราชให้เปนไส้ศึก ๚

ด้วยเหตุที่กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กับพระภัศดามีความสดุ้ง รีบลาวังน่าเมืองนครศรีธรรมราชกลับเข้ามากรุงธนบุรีในฤดูลมสำเภาปลายปีชวด สัมฤทธิศก กับปีฉลู เอกศก ต่อกัน ครั้งนั้น เจ้ากรุงธนบุรีทราบว่า พระภัศดาของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ออกไปเมืองนครศรีธรรมราชกลับเข้ามาถึงใหม่ ก็ให้มีผู้รับสั่งไปหามาซักไซ้ไต่ถามข้อราชการ ก็ได้มาให้การว่า เปนแต่ยากจน ก็หาสิ่งของเปนสินค้าขาย แลได้ให้การข่าวบ้านเมืองแต่ตามเห็นเล็กน้อยโดยสมควร ความซึ่งว่า ได้ไปพบวังน่าเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ไม่ให้การ เจ้ากรุงธนบุรีจึงดำริห์ไว้ว่า เมื่อใดว่างราชการทัพกับพม่า จะได้ยกทัพไปเมืองนครศรีธรรมราช จะให้พระภัศดากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เปนผู้นำทัพนำทาง ฝ่ายพระภัศดากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไม่ปราถนาจะอาสาเจ้ากรุงธนบุรีดังนั้น จึงบอกป่วยว่าเปนง่อยเสียก่อนแต่เริ่มการทัพเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ได้ทำราชการเปนตำแหน่งใดในแผ่นดินนั้นเลย ๚

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้ประสูตรพระโอรสอิกสองพระองค์ซึ่งออกพระนามมาข้างหลังแล้วนั้น ในปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ พระองค์หนึ่ง ปีมเสง เบญจศก จุลศักราช ๑๑๓๕ พระองค์หนึ่ง พระภัศดากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ในเวลาเปนกลางแผ่นดินกรุงธนบุรี ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทั้งสองพระองค์ ก็ได้ตามเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีมีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียร เรียกว่า พระตำหนักใหญ่ ได้ว่าราชการเปนใหญ่ทั่วไปแทบทุกอย่าง แลว่าการวิเศษใน พระคลังเงิน พระคลังทอง แลสิ่งของต่าง ๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น ๚

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้นมีพระตำหนักอยู่เบื้องหลังหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแลพระวิมานรัตยา เรียกว่า พระตำหนักแดง ได้ทรงราชการทรงกำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเศษต้น แลการสดึง แลอื่น ๆ เปนหลายอย่าง กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีแลกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทั้งสองพระองค์นั้นได้เสด็จดำรงทรงพระชนม์อยู่มานานในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ถึง ๑๕ ปี ครั้นถึงปีมแม เอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑ ทั้งสองพระองค์นั้นทรงพระประชวรพระโรคชรา กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์พระชนมายุ ๖๐ ปีเศษยังไม่ถึง ๗๐ เสด็จทิวงคตลงก่อน ล่วงไปได้ ๓ เดือนเศษ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีมีพระชนมายุได้ ๗๐ ปีเศษไม่ถึง ๘๐ เสด็จทิวงคต พระศพได้ไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยกัน ได้ถวายพระเพลิงพร้อมกัน ๚

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา หาได้ทำราชการในหลวงไม่ เพราะเสด็จไปอยู่กับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ณตำบลอัมพวาโดยนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หลัง เปนแต่เข้าแอบอิงอาไศรยมีสังกัดอยู่ในพระองค์เจ้าอาทิตย์ ซึ่งเปนพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช เปนเอารสของกรมพระราชวังในแผ่นดินนั้น ครั้นเมื่อแผ่นดินสุริยามรินทร ได้เปนพระองค์เจ้า โปรดปรานในพระเจ้าแผ่นดิน มีผู้นิยมนับถือมาก ครั้นมาถึงแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้ทรงทำราชการในตำแหน่งเปนพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา แล้วเลื่อนที่เปนพระยาอนุชิตชาญไชย[1] แล้วเลื่อนที่ต่อขึ้นไปเปนเจ้า[2] พระยายมราช เสนาบดีในกรมพระนครบาล แล้วจึงได้เลื่อนที่เปนเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกเอกอุ ได้เปนแม่ทัพทำการสงครามกับพม่า แลเขมร แลลาว มีความชอบได้ราชการมากหลายครั้ง ภายหลัง จึงได้เลื่อนที่เปนสมเด็จเจ้าพระยาพระมหากระษัตรศึก พิฦกมหิมา ทุกนคราระอาเดช สรรพเทเวศรานุรักษ์ เอกอรรคบาทมุลิกา กรุงเทพธนบุรีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมย์ อุดมราชมหาสถาน อวตารสถิตย์ บพิตรพิไชย อภัยพิริยปรากรมพาหุ ได้ทรงพระเสลี่ยงงา กั้นพระกลด แลมีเครื่องทองต่าง ๆ เปนเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม เมื่อปีกุญ เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ กรุงธนบุรีมีความต้องการจะต้องไปรบเมืองเวียงจันท์แก้แค้นที่เจ้าเวียงจันท์บุญสารยกมาทำแก่เมืองนครจำปาศักดิซึ่งมาขึ้นแล้วแก่กรุงธนบุรี แลเจ้าเวียงจันท์บุญสารไปขอกำลังพม่ามาช่วยด้วยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนสมเด็จเจ้าพระยาพระมหากระษัตรศึกในเวลานั้น กับพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนเจ้าพระยาสุรสีห์พิศณวาธิราชในเวลานั้น ต้องยกพยุหโยธาขึ้นไปรบเมืองเวียงจันท์ มีไชยชำนะตีเอาเมืองเวียงจันท์ได้ ได้ชนชเลยแลสิ่งของมาเปนอันมาก ครั้งนั้น ได้พระพุทธปฎิมากรแก้วมณีสีเขียว ที่เรียกว่า พระแก้วมรกฏ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกาลบัดนี้นั้น ลงมายังกรุงธนบุรีด้วยนั้น เปนเหตุมหัศจรรย์ดังนี้ เพราะพระแก้วพระองค์นี้ยังไม่มีผู้ใดในเมืองไทยไปได้มาตลอดเวลาแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาแลแผ่นดินเมืองเหนือซึ่งล่วงแล้วมาหลายร้อยปี ๚

ครั้นเมื่อปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๑๔๓ แผ่นดินเมืองเขมรซึ่งมาขึ้นกรุงธนบุรีอยู่แต่ก่อนนั้นกำเริบ พระยาพระเขมรลุกขึ้นจับพระองค์ราม ซึ่งเปนสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้ากรุงกัมพูชา ฆ่าเสีย แล้วแขงเมืองกระเดื่องกระด้างไป เพราะฉนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนสมเด็จเจ้าพระยาพระมหากระษัตรศึกในเวลานั้น กับพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ซึ่งเปนเจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราชในเวลานั้นต้องยกพยุหโยธาออกไปยังการทัพทำสงครามปราบปรามพวกเขมรอยู่ ๚

ฝ่ายเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ได้พระพุทธปฎิมากรแก้วมณีองค์นี้มาถึงกรุงธนบุรีแล้ว ก็มีจิตรกำเริบเติบโตในอันใช่ที่ คือ มีสัญญาวิปลาศว่า ตนเปนผู้มีบุญศักดิใหญ่ เปนพระโพธิสัตว์ จะสำเร็จพระพุทธภูมิ ได้ตรัสเปนพระ ชนะแก่มาร เปนองค์พระศรีอาริยเมตไตรยในกัลปนี้ ก็คิดอย่างนั้นบ้าง ตรัสอย่างนี้บ้าง ทำไปต่าง ๆ บ้าง จนถึงเปนพระเจ้าแผ่นดินเสียจริต ทำการผิด ๆ ไปให้แผ่นดินเปนจลาจล ร้อนรนทั่วไปทั้งไพร่แลผู้ดีสมณพราหมณ์ชี เปนการผิดใหญ่ยิ่งหลายอย่างหลายประการยิ่งกว่าการร้อนของแผ่นดินซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน พ้นที่จะร่ำจะพรรณา จึงเกิดข้าศึกเข้ามาล้อมวัง เจ้ากรุงธนบุรีต้องยอมแพ้แก่ข้าศึก ขอแต่ชีวิตรออกบรรพชา ฝ่ายพวกข้าศึกเข้ารักษาแผ่นดินอยู่ก็รักษาไปไม่ได้ การบ้านเมืองในกรุงธนบุรีก็ป่วนปั่นวุ่นวายไปต่าง ๆ ครั้งนั้น กรมพระราชวังหลัง ซึ่งเปนพระโอรสใหญ่ของกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี เวลานั้น เปนที่เจ้าพระยานครราชสิมา ได้ยกพวกพลเข้ามาปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินรักษากรุงธนบุรีไว้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เมื่อได้ทราบเหตุนั้นไปแล้ว ก็ยกกองทัพเสด็จกลับเข้ามากรุงธนบุรี ครั้งนั้น ผู้มีบันดาศักดิข้างน่าข้างในทั้งปวง พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ชีอาณาประชาราษฎร ก็มีความสโมสรโสมนัศพร้อมกันเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติรักษาแผ่นดินเปนที่พึ่งสืบต่อไป จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พระชนมายุ ๔๖ ปีถ้วน จึงได้ตั้งการสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยานี้ขึ้นเปนพระมหานครบรมราชธานี แลได้ทรงสร้างสิ่งต่าง ๆ คือ พระบรมมหาราชวัง แลพระอารามนั้น ๆ ได้ดำรงอยู่ในศิริราชสมบัติโดยผาสุกภาพ แลทรงประพฤติราชกิจนั้น ๆ บรรดาที่กล่าวแลจะกล่าวว่ามีว่าเปนในแผ่นดินนั้นทุกประการโดยยุติธรรมแลชอบด้วยเหตุผลแลกาลเทศะซึ่งเปนไปตลอดเวลาพระชนมายุของพระองค์แล้ว ก็ทรงพระประชวรพระโรคชรา เสด็จสวรรคตณวัน ๑๓ ค่ำ ปีมเสง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ๚

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ยังมีพระราชโอรสพระราชธิดาพระองค์อื่น ๆ แต่หม่อมบาทบริจาริกข้าหลวงเดิมแต่ยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบ้าง แต่พระสนมนารีมีศักดิต่าง ๆ เมื่อเสด็จสถิตย์ในราชสมบัติบ้าง มากมายหลายพระองค์ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์บ้าง ได้ทรงพระเจริญอยู่มานาน ได้เปนใหญ่ในราชการแผ่นดินในแผ่นดินต่อ ๆ มาบ้าง คงอยู่แต่ตามบันดาศักดิพระองค์เจ้า ไม่ได้ทรงทำราชการเปนแผนกบ้าง ครั้นจะออกพระนามนับไปเปนลำดับทางกถานี้ก็จะพิศดารมากไป แล้วจะสับจะไขว้ข้างในข้างน่า แลพระองค์ที่ปรากฎควรจะปรากฎ แลพระองค์ที่ไม่ปรากฎไม่ควรจะปรากฎนั้น ก็จะสับสนพัลวันกันนัก จะสังเกตยาก เพราะฉนั้น จะขอกำหนดออกพระนามแต่พระองค์ที่ได้เปนใหญ่ในตำแหน่งราชการปรากฎ แลไม่มีความผิดในราชการ ควรนับถือว่า พระนามนั้นเปนมงคล

พระราชเอารสซึ่งได้เปนเจ้าต่างกรมมีราชการได้บังคับอยู่ในแผ่นดินนั้นแลแผ่นดินลำดับมานั้น ที่ควรนับแต่ ๑๑ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าทับทิม เปนกรมหมื่นอินทรพิพิธ ได้ว่ากรมพระคชบาล แล้วภายหลัง ได้ว่ากรมแสงใหญ่ ๑ พระองค์เจ้าอภัยทัศ เปนกรมหมื่น แล้วเปนกรมหลวงเทพพลภักดิ เจ้าจอมมารดาเปนพระสนมเอกอุ บุตรพระยาจักรีเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งเจ้าเมืองนั้นขึงแขงตั้งตัวเปนเจ้านั้น ได้ว่ากรมพระคชบาล แลการอื่น ๆ บ้างพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าอรุโณไทย เปนกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เจ้าจอมมารดาเปนพระสนมเอก ได้เปนเจ้าในเวลาหนึ่ง เพราะเปนบุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พัด แลมารดานั้นเปนบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งตัวเปนเจ้านคร ครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาแตกทำลายแล้วใหม่นั้น แลพระองค์เจ้าพระองค์นี้ได้เปนใหญ่ เปนอธิบดีว่าราชการกรมพระกระลาโหมแลหัวเมืองปากใต้ทั้งปวง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระองค์เจ้าทับ เปนกรมหมื่นจิตรภักดี ว่าราชการช่างสิบหมู่ ๑

พระองค์เจ้าสุริยา เปนกรมหมื่น แล้วเปนกรมขุนแล้ว ภายหลัง เลื่อนเปนกรมพระรามอิศเรศ ๑ ได้ว่าการต่าง ๆ ไม่เปนตำแหน่ง ว่าความรับสั่งบ้าง เปนแม่กองทำการงานบ้าง

อิกพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าวาสุกรี เจ้าจอมมารดาเปนพระสนมโท บุตรพระราชเศรษฐี ทรงพระผนวชมาแต่ยังทรงพระเยาว์พระชนม์ได้ ๑๔ พรรษา เมื่อพระชนม์ครบ ๒๐ ได้อุปสัมปทาเปนพระภิกษุได้ ๔ พรรษา เปนอธิบดีสงฆ์ แล้วได้เลื่อนเปนเจ้าต่างกรมมีพระนามว่า กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงษ์ พระองค์นี้เปนอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตนอันพิเศษ ทรงพระปรีชาฉลาดรู้ในพระพุทธสาตรแลราชสาตรแบบอย่างโบราณราชประเพณีต่าง ๆ แลได้เปนอุปัธยาจารย์เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ในพระบรมราชวงษ์นี้มากหลายพระองค์ ภายหลังเมื่อในแผ่นดินประจุบันนี้ ได้เลื่อนเปนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงษ์ฯ มหาปาโมกขประธานวโรดมบรมนารถบพิตร เสด็จสถิตย์ณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

พระองค์เจ้าฉัตร ๑ เปนกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ได้ว่าราชการกรมพระนครบาลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ว่าราชการกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม เปนที่ทรงปฤกษาราชการแผ่นดิน

พระองค์เจ้าสุริยวงษ์ ๑ เปนพระองค์เจ้าเคราะห์ร้าย สบายบ้างไม่สบายบ้างแต่เดิมมา ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัคไปทำราชการในพระบวรราช ได้เปนกรมหมื่นสวัสดิวิไชย ว่าราชการแทบทุกตำแหน่ง ครั้นมาในแผ่นดินประจุบันนี้ กลับลงมาทำราชการในพระบรมมหาราชวัง ได้เปนกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ ศุขวัฒนวิไชย

พระองค์เจ้าดารากร เปนกรมหมื่นศรีสุเทพ ว่าราชการกรมช่าง ๑๐ หมู่

พระองค์เจ้าดวงจักร ๑ ก็เปนพระองค์เจ้าพระเคราะห์ร้าย สบายบ้างไม่สบายบ้าง แต่แขงแรง ได้ราชการ ได้เปนกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ว่าราชการกรมช่างหล่อ

พระองค์เจ้าสุทัศน์ ๑ เปนกรมหมื่นไกรสรวิชิต ได้ว่าราชการคลังเสื้อหมวก คลังศุภรัต แลกรมสังฆการี กรมธรรมการ

พระราชธิดาซึ่งควรจะกำหนดออกพระนามนั้น ควรนับ ๙ พระองค์

พระองค์เจ้านุ่ม เปนผู้ใหญ่กว่าทุกพระองค์บรรดาซึ่งมีพระชนมพรรษาอ่อนกว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีลงมา เจ้าจอมมารดาเปนเจ้าจอมข้าหลวงเดิม เปนญาติเจ้าพระยานครราชสิมา ทองอิน พระองค์เจ้าพระองค์นี้ได้ทำราชการข้างในในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย

พระองค์เจ้าพลับ พระองค์หนึ่ง เปนกำพร้า ไม่มีเจ้าจอมมารดา พระราชทานมอบให้กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทำนุบำรุง มีพระชนม์ยืนนาน ได้เปนพระบรมวงษ์เธอผู้ใหญ่ข้างในในแผ่นดินประจุบันนี้

พระองค์เจ้าเกสร ได้ทำราชการข้างในในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย

พระองค์เจ้าจงกล เปนพระเชษฐภคินีของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ร่วมเจ้าจอมมารดา ได้ทำราชการในการสดึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย

พระองค์เจ้ามณฑาพระองค์เจ้ามณีนิลพระองค์เจ้าดวงสุดา สามพระองค์นี้ มีพระชนม์ยืนมาอยู่นาน ได้เปนพระบรมวงษ์เธอผู้ใหญ่ในแผ่นดินประจุบันนี้

พระองค์เจ้าศศิธร ได้ทำราชการเปนครูชักแลสอนพระองค์เจ้าสวดมนต์ในหอพระพุทธรูปข้างใน

พระองค์เจ้าจันทบุรี ภายหลัง ได้เลื่อนที่เปนเจ้าฟ้ากุณฑลทิพวดี เพราะเจ้าจอมมารดาซึ่งเปนพระสนมเอกนั้นเปนเชื้อเจ้าเมืองลาว คือ เปนธิดาเจ้าเวียงจันท์อินทร์ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ได้เปนพระวรราชชายานารีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยมีเจ้าฟ้า ๔ พระองค์ซึ่งจะนับในพวกข้างน่าต่อไป ๚

พระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น เมื่อก่อนกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาไม่แตกทำลายนั้น ก็ยังไม่มีพระโอรสพระธิดา ครั้นมาเมื่อแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี ได้มีนารีหนึ่งมาเปนพระชายา ประสูตรพระโอรสแลพระธิดาพระองค์หนึ่งฤๅสองพระองค์ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังเยาว์แล้ว นารีนั้นก็เริศร้างร้าวฉานไปไม่ได้อยู่ด้วย ครั้นภายหลัง จึงได้นารีลาวชาวเชียงใหม่ชื่อ เจ้ารจจา เปนธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เก่า มาเปนพระอรรคชายา ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่งชื่อ เจ้าพิกุลทอง ซึ่งภายหลัง เปนกรมขุนศรีสุนทร ควรนับว่า เปนธิดาผู้ใหญ่กว่าทั้งปวง แลได้มีพระราชบุตรพระราชบุตรีแต่นารีบาทบริจาริกแลพระสนมนางในอิกหลายพระองค์แต่ครั้งยังไม่ได้เฉลิมอุปราชาภิเศกบ้าง เมื่อเฉลิมอุปราชาภิเศกแล้วบ้าง จะขอออกพระนามแต่พระองค์ที่เปนสำคัญปรากฎควรเปนที่นับถือแลเปน (ฉบับลบ) ฤๅควรเปนต้นวงษ์ของเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าต่อลงมาในชั้นหลัง ๆ นั้น

พระราชบุตรนั้น คือ กรมหมื่นเสนีเทพ ๑ กรมขุนนรานุชิต ๑ สองพระองค์นี้ ได้เปนเจ้าต่างกรม มีพระบุตรพระบุตรีเปนหม่อมเจ้าชายหม่อมเจ้าหญิงสืบลงมามาก พระราชบุตรีนั้น คือ พระองค์เจ้าดวงจันทร์พระองค์ ๑ เปนผู้ใหญ่ กับพระองค์เจ้าดุสิดาอับศร ๑ สองพระองค์นี้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ได้ทำราชการอยู่ในพระบวรราชวัง ครั้นพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังเสด็จสวรรคตแล้ว ได้ลงมาทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง อยู่จนสิ้นแผ่นดินนั้น

พระองค์เจ้าดารา อิกพระองค์หนึ่ง เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ได้ทำราชการอยู่ในพระบวรราชวังเหมือนกันกับพระองค์เจ้าดวงจันทร์ ครั้นกรมพระราชวังเสด็จสวรรคตแล้ว จึงกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในเวลานั้นยังเปนกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ได้ให้กราบทูลขอแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยไปเปนพระชายา ประสูตรพระบุตรพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้าอิศราพงษ์ ครั้นเมื่อกรมพระราชวังพระองค์นั้นได้เฉลิมอุปราชาภิเศกแล้ว พระองค์เจ้าดาราก็ได้มีอำนาจเปนใหญ่ในการข้างในทั้งปวงในพระบวรราชวัง จึงได้ปรากฎพระนามภายหลังรู้เรียกกันว่า เจ้าข้างใน บ้าง เสด็จข้างใน บ้าง แต่พวกในพระบวรราชวังเวลานั้นเรียกว่า ทูลกระหม่อมข้างใน

ครั้นภายหลัง จึงได้มาเปนพระอรรคชายาในพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทั้งปวงรู้เรียกกันว่า เจ้าข้างในพระองค์เจ้าปัทมราช พระองค์หนึ่ง เจ้าจอมมารดาเปนพระน้านางของพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรมหลวงนรินทรเทวีนั้น เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ซึ่งคนเปนอันมากเรียกว่า กรมหมื่นมุก เปนพระภัศดา ได้ประสูตรพระบุตรพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่นนรินทรเทพ แล้วมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ประสูตรพระบุตรอิกพระองค์หนึ่ง คือ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์ กรมหมื่นซึ่งเปนพระบุตรทั้งสองนั้นก็ได้เปนต้นวงษ์ของหม่อมเจ้าชายหม่อมเจ้าหญิงเปนอันมากสืบลงมา

กรมหลวงจักรเจษฎานั้นไม่ได้มีพระชายาเปนสำคัญ มีแต่หญิงบาทบริจาริกเปนอันมาก ประสูตรหม่อมเจ้าชายหม่อมเจ้าหญิงก็เปนอันมาก แต่ควรจะออกชื่ออยู่องค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าสอน ซึ่งทรงผนวชมาแต่อายุ ๒๐ ปี ได้เล่าเรียนพระคัมภีร์พุทธวจนะอยู่บ้าง ภายหลัง ได้เลื่อนที่เปนหม่อมเจ้าราชาคณะ ปรากฎนามว่า หม่อมเจ้าศีลวราลังการ ได้เปนอธิบดีสงฆ์ในวัดชนะสงคราม

ด้วยทางกถามีประมาณเท่านี้ เปนอันพรรณนาถึงพระบรมราชวงษานุวงษ์ซึ่งออกจากพระโอรสพระธิดาของสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์ซึ่งเปนต้นแซ่ต้นสกูลสืบลงมา นับว่า เปนชั้นสามเพราะสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ถ้านับว่า เปนชั้นต้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แลพระญาติเสมอยุค ๖ พระองค์นั้น ก็ควรนับว่า เปนชั้นสอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แลพระบรมวงษานุวงษ์ซึ่งเปนสมานะยุคพวกนี้ จึงควรนับว่า เปนชั้นสาม ดังพรรณามานี้แล ๚


  1. ในพระราชพงษาวดารทุกฉบับว่า เปนพระยาอภัยรณฤทธิ สงไสยว่า ตรงนี้ อาลักษณจะเขียนผิด แลสร้อย ชาญไชย นั้น ก็น่าจะเขียนเพลินไป เพราะในเวลานั้นใช้ว่า อนุชิตราชา พึ่งมาเปลี่ยนเปน อนุชิตชาญไชย เมื่อรัชกาลที่ ๔
  2. ในพระราชพงษาวดารว่า เปนพระยายมราช สมด้วยแบบแผนในครั้งนั้น สงไสยว่า ที่นี่จะเขียนเกินไป