ประมวญหนังสือสัญญาใหญ่แลอนุสัญญาระหว่างกรุงสยามกับประเทศฝรั่งเศส/เรื่อง 11
หน้านี้อาจเข้าหลักเกณฑ์การลบตามนโยบายของวิกิซอร์ซด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้: ท4 – ซ้ำซ้อนกับงานอื่น
ถ้าคุณไม่เห็นด้วยในการแจ้งลบ โปรดระบุเหตุผลในหน้าคุยของหน้านี้ ถ้าหน้านี้ไม่เข้าเกณฑ์การลบหรือคุณตั้งใจจะปรับปรุงต่อ โปรดนำประกาศนี้ออก แต่ผู้ที่นำป้ายออกต้องไม่ใช่ผู้สร้างหน้าเด็ดขาด ผู้ดูแลระบบโปรดตรวจสอบว่ามีลิงก์ใด ๆ ที่เชื่อมโยงมายังหน้านี้ ประวัติของหน้า (การแก้ไขล่าสุด) และรุ่นใด ๆ ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามนโยบายก่อนที่จะดำเนินการลบ หน้านี้มีการแก้ไขล่าสุดโดย Miwako Sato (ส่วนร่วม | ปูม) เมื่อเวลา 16:18, 5 พฤศจิกายน 2567 (21 วันก่อน) |
- หนังสือสัญญา
- ระหว่าง
- กรุงสยามกับกรุงฝรั่งเสศ
- ทำเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม แลท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศส มีความปราถนาจะผูกพันธ์ทางไมตรี แลจะให้ความไว้วางใจซึ่งมีอยู่ต่อกันในระหว่างประเทศทั้งสองมั่นคงขึ้น และเพื่อจะระงับความยากบางอย่างซึ่งได้เกิดขึ้นจากการที่ตีความหมายของหนังสือสัญญาใหญ่น้อยที่ได้ทำไว้ ณ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ จึงได้ตกลงทำหนังสือสัญญาน้อยขึ้นใหม่ฉบับหนึ่ง เพื่อประโยชน์นี้ จึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย คือ
พระยาสุริยานุวัตร อรรคราชทูตพิเศษ แลผู้มีอำนาจเต็มของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามณะสำนักนิ์ท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศส เครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่หนึ่ง แลเครื่องอิศริยาภรณ์เลยองดอนเนอร์ชั้นที่สอง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
มองซิเออร์เทโอฟิล เดลคาสเซ เดปูเต[1] เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ผู้ซึ่งเมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจให้ตรวจดูซึ่งกันแลกัน เห็นเปนอันถูกต้องแบบอย่างดีแล้ว ได้ปฤกษาตกลงกันทำสัญญาเปนข้อ ดังต่อไปนี้
เฃตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมภูชานั้น ตั้งต้นแต่ปากคลองกะพงพลุ ข้างฝั่งชายทเลสาบ เปนเส้นเฃตร์แดนตรงทิศตวันออก ไปจนบันจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่ที่นี้ต่อไป เฃตร์แดนเปนเส้นตรง ทิศเหนือขึ้นไปจนบันจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบันทัด)[2] ต่อนั้นไป เฃตร์แดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำ ในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสน แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำของ[3] ฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูนอิกฝ่ายหนึ่ง จนบันจบภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตวันออกตามแนวยอดภูเขานี้ จนบันจบถึงแม่น้ำของ ตั้งแต่ที่บันจบนี้ขึ้นไปแม่น้ำของ เป็นเฃตร์แดนของกรุงสยามตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหญ่ณวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒[4]
ฝ่ายเฃตร์แดนในระหว่างเมืองหลวงพระบาง ข้างฝั่งขวาแม่น้ำของ แลเมืองพิไชย กับเมืองน่านนั้น เฃตร์แดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเหืองที่แยกแม่น้ำของ เนื่องไปตามกลางลำน้ำเหือง จนถึงที่แยกปากน้ำตาม เลยขึ้นไปตามลำน้ำตาม จนบันจบถึงยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่น้ำของ แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่เขาภูแดนดิน ตั้งแต่ที่นี้ เฃตร์แดนต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่น้ำของแลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนบันจบถึงปลายน้ำคอบ แล้วเฃตร์แดนต่อเนื่องไปตามลำน้ำคอบ จนบันจบกับแม่น้ำของ[5]
จะได้กำหนดเฃตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับดินแดนที่เปนแผ่นดินอินโดชินฝรั่งเศส[6] รัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ได้ทำสัญญากันนี้ต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันไปทำการกำหนดเฃตร์แดนนี้ การกำหนดเฃตร์แดนนี้จะทำลงตามเฃตร์แดนที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๑ แลข้อ ๒ ทั้งจะกำหนดลงในดินแดนที่อยู่ในระหว่างทเลสาบกับทเล
เพื่อจะกระทำให้การของข้าหลวงผสมสดวกขึ้น แลเพื่อจะหลีกเลี่ยงเสียจากความยากทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการกำหนดเฃตร์แดนในดินแดนซึ่งอยู่ในระหว่างทเลแลทเลสาบนั้น เมื่อก่อนที่จะตั้งข้าหลวงผสม รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเสียก่อนว่า จะกำหนดที่สำคัญแห่งใดเปนที่หมายกำหนดเฃตร์แดนในดินแดนนี้ แห่งใดเปนเฃตร์แดนที่จะจดทเล เปนต้น
จะได้ตั้งข้าหลวงผสม แลข้าหลวงนี้จะตั้งต้นทำการใน ๔ เดือนภายหลังวันรับอนุญาตใช้หนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้
รัฐบาลสยามยอมเสียสละอำนาจซึ่งเปนเจ้าของแผ่นดินเมืองหลวงพระบางที่อยู่ข้างฝั่งแม่น้ำของ[7]
เรือค้าขายแลแพไม้ซึ่งเปนกรรมสิทธิ์ของคนไทย มีอำนาจที่จะขึ้นล่องได้โดยสดวก ปราศจากการขัดขวาง ในตอนแม่น้ำของซง[วซ 1] ใหลตลอดที่ดินแดนของเมืองหลวงพระบาง
เมื่อได้ตกลงกันตามข้อความซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องการกำหนดเฃตร์แดนในระหว่างทเลสาบแลทแลแล้ว แลเมื่อรัฐบาลสยามได้แจ้งความให้เจ้าพนักงานฝรั่งเศสทราบโดยทางราชการว่า ที่ดินแดนซึ่งเปนผลแห่งการที่จะได้ตกลงกัน กับที่ดินแดนซึ่งอยู่ข้างทิศตวันออกของเฃตร์แดน ตามที่ได้กำหนดลงไว้ในข้อ ๑ ข้อ ๒ ในหนังสือสัญญาฉบับนี้ ว่า เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะรับเอาได้เมื่อใดแล้ว กองทหารฝรั่งเศสซึ่งได้เข้าตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่งตามหนังสือสัญญา วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ จะออกจากเมืองจันทบุรีในทันใด[8]
ข้อสัญญาข้อ ๔ ในหนังสือสัญญาใหญ่ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรกศก ๑๑๒ นั้น เปนอันยกเลิก เปลี่ยนเปนข้อสัญญาตามความต่อไปนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงรับสัญญาว่า พลทหารซึ่งจะได้ให้ส่งไปหรือจะให้ตั้งประจำอยู่ในเฃตร์แคว้นที่ลุ่มน้ำตกแม่น้ำของข้างฝ่ายกรุงสยามนั้นจะเปนพลทหารชาติไทยอยู่ในใต้บังคับนายทหารชาติไทยเสมอ มีความยกเว้นอย่างเดียวจากสัญญาข้อนี้ให้เปนประโยชน์แก่ตำรวจภูธรไทย ซึ่งนายทหารชาติเดนมาร์คบังคับอยู่ในขณะนี้ ถ้ารัฐบาลสยามปราถนาจะเปลี่ยนนายทหารเหล่านี้ให้เปนนายทหารของชาติอื่น รัฐบาลสยามจะปฤกษาให้ตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศสก่อน[9]
ในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยแขวงเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ แลเมืองศรีโสภณนั้น รัฐบาลสยามสัญญาจะให้มีแต่กองพลตระเวรซึ่งเปนที่ต้องการสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อย คนที่จะให้เปนพลตระเวรนี้ จะเกณฑ์เอาแต่ล้วนที่เปนชาวเมืองณที่นั้น[10]
ถ้าในกาลภายหน้า รัฐบาลสยามปราถนาจะทำท่าเรือ คลอง ทางรถไฟ ที่ในดินแดนลุ่มน้ำตกแม่น้ำของข้างฝ่ายของกรุงสยาม (มีทางรถไฟที่จะให้เปนทางติดต่อจากกรุงเทพฯ ไปถึงที่แห่งใดในแว่นแคว้นลุ่มน้ำนี้โดยเฉภาะ) แม้ว่าจะทำการเหล่านี้ไปมิได้แต่โดยลำภังเจ้าพนักงานไทยแลโดยทุนของไทย รัฐบาลสยามจะปฤกษาให้ตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศส ส่วนการที่จะทำสำหรับให้การต่าง ๆ ที่กล่าวนี้เปนผลประโยชน์ขึ้น ก็เหมือนกัน
ในการที่จะใช้ท่าเรือ คลอง ทางรถไฟ ในแว่นแคว้นน้ำตกแม่น้ำของข้างฝ่ายของกรุงสยามก็ดี ทั้งภายในพระราชอาณาเฃตร์นอกไปจากแว่นแคว้นนี้ก็ดี เปนความเข้าใจกันว่า จะไม่ตั้งพิกัดเก็บเงินให้ต่างกันให้เปนการผิดไปจากหลักฐาน ซึ่งจะต้องทำให้เสมอกันในการค้าขาย ดังได้สัญญาไว้ในหนังสือสัญญาทั้งหลายที่กรุงสยามได้ลงชื่อ[11]
ในที่จะทำการให้สำเร็จไปตามความข้อ ๖ ของหนังสือสัญญาใหญ่ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ นั้น รัฐบาลสยามจะอนุญาตที่ดินเปนขนาดกว้างยาวตามซึ่งจะได้กำหนดให้แก่รัฐบาลริปับลิก[12] ณที่ต่าง ๆ ข้างฝั่งขวาแม่น้ำของ คือ:—
ที่ที่เชียงคาน หนองคาย เมืองไชยบุรี ที่ที่ปากน้ำก่ำ (ฝั่งขวาหรือฝั่งซ้าย) เมืองมุกดาหาร เมืองเขมราฐ กับที่ปากน้ำมูน (ฝั่งขวาหรือฝั่งซ้าย)
รัฐบาลทั้งสองจะได้ตกลงกันในการที่จะเอาสิ่งที่กีดกั้นไม่ให้เรือเดินได้สดวกในลำน้ำมูนตอนที่อยู่ในระหว่างเมืองพิมูลมังษาหารกับแม่น้ำของ ถ้าเห็นว่า การนั้นจะทำให้สำเร็จไปไม่ได้ หรือว่า จะเปลืองเงินเกีนไป รัฐบาลทั้งสองจะช่วยกันจัดแจงทำทางบกให้ไปมาถึงกันได้ในระหว่างเมืองพิมูลมังษาหาร[13] แลแม่น้ำของ
รัฐบาลทั้งสองจะตกลงกันด้วยว่า ในระหว่างเมืองจำปาศักดิ์กับเฃตร์แดนเมืองหลวงพระบางดังที่ได้กำหนดลงไว้ในข้อ ๒ ของหนังสือสัญญาฉบับนี้ จะให้มีทางรถไฟขึ้นใช้แทนการเดีรเรือที่ไม่สดวกในแม่น้ำของ ถ้ายอมรับกันว่า เปนที่ต้องการ
ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป เปนการตกลงกันแล้วว่า รัฐบาลทั้งสองจะช่วยให้มีทางรถไฟตั้งแต่เมืองพนมเป็ญไปถึงเมืองพระตะบองขึ้นให้ได้โดยสดวก การก่อสร้างแลการที่จะกระทำให้มีผลประโยชน์ขึ้นนั้น รัฐบาลทั้งสองจะทำเองโดยลำภัง ส่วนการในที่ดินแดนของรัฐบาลใด รัฐบาลนั้นรับทำ หรือรัฐบาลทั้งสองจะยินยอมพร้อมกันให้บริษัทไทยปนกับฝรั่งเศสบริษัทใดทำ ก็ได้
รัฐบาลทั้งสองได้เห็นด้วยกันแล้วว่า เปนการจำเปนที่จะทำการเพื่อจะให้ทางน้ำในคลองเมืองพระตะบองในระหว่างทเลสาบกับเมืองนั้นดียิ่งขึ้น เพื่อฉนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมตัวที่จะให้ผู้ชำนาญการช่างซึ่งรัฐบาลสยามอาจจะต้องการใช้ทั้งสำหรับที่จะทำการแลรักษาการที่กล่าวนี้ด้วย[14]
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยอมรับรายชื่อของคนในบังคับฝรั่งเศสเช่นกับที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ ยกเว้นเสียแต่คนจำพวกทจะ[วซ 2] ได้ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายว่า ได้เข้าจดทะเบียนอยู่ในรายชื่อนั้นโดยเหตุอันไม่สมควร เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะได้ส่งสำเนารายชื่อเหล่านี้ให้แก่เจ้าพนักงานไทย
บุตร์หลานของคนอยู่ในบังคับซึ่งเข้าอยู่ในใต้อำนาจศาลฝรั่งเศสเช่นนี้ จะไม่มีอำนาจที่จะอ้างเข้าอยู่ในทะเบียนได้[15] ถ้าหากว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ตกเปนคนอยู่ในจำพวกซึ่งได้กำหนดไว้ในข้อสัญญาต่อความข้อนี้ไปในหนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้
คนกำเนีดในประเทศเอเชีย เกีดในดินแดนซึ่งอยู่ในใต้อำนาจโดยตรงของกรุงฝรั่งเศส หรือในดินแดนที่อยู่ในความป้องกันของ[วซ 3] ปกครองกรุง[วซ 4] ฝรั่งเศสนั้น จะมีอำนาจที่จะรับความป้องกันของฝรั่งเศสได้ ยกเว้นเสียแต่ผู้ซึ่งได้เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงสยามเมื่อก่อนเวลาที่ดินแดนที่กำเนีดของคนเหล่านั้นได้เข้าอยู่ในอำนาจปกครองหรือความป้องกันของฝรั่งเศส[16]
ความป้องกันฝรั่งเศสจะมีไปถึงเพียงบุตร์ของคนเหล่านั้น แต่จะไม่มีแผ่เผื่อต่อไปถึงหลานของคนเหล่านั้น
ในการที่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจศาล ซึ่งตั้งแต่นี้ต่อไป คนฝรั่งเศสแลคนในบังคับฝรั่งเศสในกรุงสยามจะต้องเข้าอยู่ในใต้บังคับโดยไม่มีที่ยกเว้นเลยนั้น รัฐบาลทั้งสองได้ตกลงกันทำข้อสัญญาดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ขึ้นใช้แทนข้อสัญญาที่มีอยู่แต่ก่อน
๑ในความอาญา คนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสจะอยู่ในใต้บังคับตระลาการศาลฝรั่งเศสเท่านั้น
๒ในความแพ่ง คดีทั้งปวงซึ่งคนไทยเป็นโจทย์ฟ้องคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศส จะต้องฟ้องต่อศาลกงสุลฝรั่งเศส
คดีทั้งปวงซึ่งคนไทยเปนจำเลย ศาลไทยสำหรับพิจารณาคดีความต่างประเทศซึ่งตั้งไว้ณกรุงเทพฯ จะพิจารณาตัดสิน
ยกเว้นเสียแต่ที่ในมณฑลพายัพ คือ เมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน ความอาญาแลความแพ่งทั้งปวงซึ่งคนในบังคับฝรั่งเศสมีคดี ศาลต่างประเทศไทยจะพิจารณาตัดสิน
แต่เปนความเข้าใจกันว่า ในคดีความทั้งปวงนี้ กงสุลฝรั่งเศสมีอำนาจที่จะไปอยู่ในศาลเมื่อเวลาชำระได้ หรือจะให้มีผู้แทนผู้หนึ่งซึ่งได้รับอำนาจตามสมควรแล้วไปอยู่ที่ศาลในเวลาชำระก็ได้ แลเมื่อเห็นว่า เปนการสมควรแก่ผลประโยชน์ของความยุติธรรม จะทำความแนะนำทักท้วงขึ้นได้ทุกอย่าง
ในคดีความซึ่งคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสเปนจำเลยนั้น ถ้าในระหว่างความพิจารณา กงสุลฝรั่งเศสเห็นเปนเวลาสมควรที่จะขอถอนคดีความนั้นออกเสีย โดยทางที่จะทำหนังสือขอไป เมื่อใดก็ได้
คดีความนี้ก็ต้องส่งต่อไปยังศาลกงสุลฝรั่งเศส ซึ่งตั้งแต่เวลานั้นไป จะพิจารณาคดีนั้นได้ตามลำพัง แลเจ้าพนักงานไทยจะสงเคราะห์ช่วยธุระแก่ศาลนั้นด้วย
การฟ้องอุทธรณ์ต่อคำตัดสินทั้งปวงของศาลสำหรับพิจารณาคดีความต่างประเทศก็ดี ของศาลต่างประเทศสำหรับมณฑลพายัพที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี จะต้องไปฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ[17]
ในกาลภายหน้า เรื่องการที่ชาวประเทศเอเชียซึ่งมิได้เกีดอยู่ในดินแดนที่ตรงอยู่ในอำนาจหรือในดินแดนที่อยู่ในความป้องกันของกรุงฝรั่งเศส หรือผู้ซึ่งมิได้เปลี่ยนชาติโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะเข้าเปนคนอยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศสได้นั้น รัฐบาลของลิปับลิกจะได้รับอำนาจเท่ากันกับอำนาจซึ่งกรุงสยามจะยอมให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใดในกาลภายหน้า[18]
ข้อความทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในหนังสือสัญญาใหญ่ สัญญาน้อย แลสัญญาทั้งปวงแต่ก่อนมา ในระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ที่หนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้มิได้เปลี่ยนแปลงเสียนั้น ยังคงใช้ได้อยู่โดยเต็ม[19]
ถ้าเกีดความขัดข้องไม่เห็นต้องกันในความหมายของหนังสือสัญญาซึ่งได้เขียนขึ้นในภาษาฝรั่งเศสแลภาษาไทยนี้ ภาษาฝรั่งเศสจะเปนหลักข้างเดียว
หนังสือสัญญาน้อยนี้ จะต้องมีอนุญาตในกำหนด ๔ เดือนตั้งแต่วันที่ได้ลงชื่อ หรือให้เร็วกว่านั้นถ้าจะกระทำได้
ในการที่จะให้เป็นพยานสำคัญนั้น ผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้ในหนังสือสัญญานี้ และได้ประทับตราลงไว้ด้วยกัน
- (ลงนามแลประทับตรา)พระยาสุริยา
- (ลงนามแลประทับตรา)เดลคาสเซ.
- ↑ M. Théophile Delcassé, Député
- ↑ ที่เรียกว่า "พนมดงรัก" นี้ มาจากคำเขมรเรียกชื่อภูเขาที่อยู่ในพืดเขาบรรทัดตวันออกว่า "ดองแรก" แปลว่า ไม้คาน (ด้วยสันฐานของภูเขานั้นยาว) ในฉบับฝรั่งเศสเรียกว่า "Dang Reck" อนึ่ง แนวพระราชอาณาเฃตร์ตอนนี้อยู่ทางมณฑลบูรพา ได้เปนของฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ ตามหนังสือสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มินาคม ร.ศ. ๑๒๕ ค.ศ. ๑๙๐๗ ต่อจากฉบับนี้ไป
- ↑ ชื่อจริงซึ่งคนไทยแลลาวชาวแถบแม่น้ำนั้นเรียกว่า "แม่น้ำโขง" แต่สำเนียงเขมรเรียก "มีคอง" แลในฉบับภาษาฝรั่งเศสเรียก "Mékong" แปร่งกันไปเล็กน้อย ที่แท้ก็คือแม่น้ำโขงที่เราทราบกันอยู่แล้วนั่นเอง
- ↑ เฃตร์แดนตอนนี้คงเปนอยู่ตามเดิม ถ้าดูแผนที่พระราชอาณาเฃตร์ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๔๖ แล้ว จะเห็นได้ถนัดกว่าที่จะอธิบายด้วยหนังสือ
- ↑ ดินแดนซึ่งกล่าวในสัญญาข้อ ๒ นี้ อยู่บนฝั่งฟากตวันตก ฝั่งขวาแห่งแม่น้ำโขง ดู สัญญาว่าด้วยการปักปันเฃตร์แดน ติดท้ายสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มินาคม ร.ศ. ๑๒๕ ค.ศ. ๑๙๐๗ (พลเมืองในท้องที่นั้นมีชาติลาวเปนพื้น แลมีคนชาติต่าง ๆ อีกบ้าง เช่น ชาติลื้อ, แลขมุ เปนต้น)
- ↑ Indo Chine อินโดจีนของฝรั่งเศส นั้น เปนประเทศใหญ่ อยู่ทิศตวันออกของประเทศสยาม มีกูแวร์เนอร์เยเนอรัลเปนตำแหน่งผู้สำเร็จราชการทั่วไป แลแบ่งการปกครองเปนประเทศน้อย ๕ ประเทศ คือ ๑ ประเทศโกแช็งชิน หรือโคชินไชนา ซึ่งเมืองไซ่ง่อนเปนเมืองหลวง ประเทศนี้มีฐานะเปนเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มีลิเยอร์เตอนังต์กูแวร์เนอร์ เทียบได้แก่สมุหเทศาภิบาลของเรา เปนผู้บังคับบัญชาการ, ๒ ประเทศญวน ซึ่งเมืองเว้เปนเมืองหลวง, ๓ ประเทศตังเกี๋ย ซึ่งเมืองฮานอยเปนเมืองหลวง, ๔ ประเทศลาว เมืองเวียนจันทน์เปนเมืองหลวง⟨,⟩ ๕ ประเทศเขมร เมืองพนมเป็ญ หรือพนมเพ็ญ เปนเมืองหลวง, ประเทศน้อยทั้งสี่นี้เปนประเทศราช มีเจ้านายที่เปนชาวพื้นประเทศเดิมอยู่ มีคนฝรั่งเศสเปนตำแหน่งเรสิดังต์สุเปริเยอร์ เทียบได้แก่ข้าหลวงใหญ่ของเรา เปนผู้ปกครอง แต่อำนาจสิทธิ์ขาดยิ่งกว่า
- ↑ ความในข้อ ๑ แห่งสัญญา ปี ร.ศ. ๑๑๒ ค.ศ. ๑๘๙๓ รัฐบาลสยามยอมสละกรรมสิทธิดินแดนณฝั่งซ้ายฟากตวันออกแม่น้ำโขงแลบรรดาเกาะในแม่น้ำนั้นแล้ว จังหวัดหลวงพระบางซึ่งตัวเมืองตั้งอยู่ฟากตวันออกริมฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำโขงต้องไปอยู่ในความปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศสตั้งแต่วันเซนสัญญาฉบับนั้นมา แต่อาณาเฃตร์ของจังหวัดหลวงพระบางยังมีอยู่ทางฟากตวันตกฝั่งขวาของแม่น้ำโขงด้วย เมื่อมีสัญญาฉบับนี้ขึ้น ก็แปลว่า รัฐบาลสยามยอมสละดินแดนอันเปนอาณาเฃตร์ของจังหวัดหลวงพระบางที่เหลืออยู่ทางฝั่งขวานั้นไปอีกด้วย แลเพราะเหตุฉะนี้ ฝรั่งเศสจึงมีอำนาจปกครองดินแดนทางฝั่งขวาซึ่งกล่าวนี้อีกตอนหนึ่งตั้งแต่ปากน้ำเหืองต่อเฃตร์จังหวัดเลยในมณฑลอุดรขึ้นไปจนถึงปากน้ำคอบเฃตร์อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในมณฑลพายัพ
- ↑ ฝรั่งเศสได้ถอนกองทหารกลับออกไปจากจันทบุรีแล้วแต่ณวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘
- ↑ ดู ข้อ ๒ ตอน ๒ แห่งหนังสือสัญญาใหม่ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
- ↑ ความในตอน ๒ แห่งข้อ ๖ นี้ เปนอันระงับ เพราะเมืองทั้งหลายที่กล่าวถึงนี้ได้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสแล้ว
- ↑ ดู ความในข้อ ๑๒–๑๔ แล ๑๕ แห่งสัญญาใหม่ ฉบับลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
- ↑ คือ รัฐบาลฝรั่งเสศ
- ↑ อยู่ในเฃตร์จังหวัดอุบล รัฐบาลสยามได้ทำถนนรถยนต์เดีรได้ถึงช่องแมกซึ่งกับแดนของฝรั่งเศสแล้ว
- ↑ ความในข้อ ๙ แห่งสัญญาฉบับนี้ ได้พ้นจากภาระของรัฐบาลสยามแล้ว เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสได้จังหวัดพระตะบองไปแล้วโดยสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มินาคม ร.ศ. ๑๒๕ ค.ศ. ๑๙๐๗
- ↑ หมายถึง คนจำพวกที่เรียกว่า "ในป้องกันของฝรั่งเศส" ซึ่งต่างกับจำพวกที่เรียกว่า "คนในบังคับฝรั่งเศส" โดยลักษณดังนี้ คือ "คนในป้องกัน" นั้น จะเปนผู้ที่มีชาติกำเนีดสมควรเปนคนในบังคับฝรั่งเศสได้หรือไม่ก็ตาม ถ้าได้จดทะเบียนแลรับหนังสือสำหรับตัวจากสถานทูตฝรั่งเศสไว้ก่อนสัญญาฉบับนี้แล้ว รัฐบาลยอมรับว่า ผูนั้นเปนคนในป้องกันฝรั่งเศส แต่คนจำพวกนี้จะจดทะเบียนได้แต่เฉภาะตัวเท่านั้น ส่วนบุตร์และภรรยาจะเปนคนในป้องกันด้วยไม่ได้ แต่ภายหลังสัญญานี้ รัฐบาลได้ตกลงกันเปนพิเศษว่า บุตร์ของคนในป้องกันฝรั่งเศสตามข้อ ๑๐ แห่งสัญญานี้ ถ้าได้จดชื่อไว้ในหนังสือสำหรับตัวของบิดาก่อนวันที่ลงในสัญญาฉบับนี้ แลได้รับหนังสือสำหรับตัวอีกต่างหากก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยแล้ว จึงจะถือว่า เปนคนในป้องกันของฝรั่งเศสได้เฉภาะตัวบุตร์นั้นอีกชั้นหนึ่ง
- ↑ หมายถึง คนจำพวกที่เรียกว่า "ในบังคับฝรั่งเศส" คือ เฉภาะคนที่มีชาติกำเนีดในดินแดนเมืองขึ้นของฝรั่งเศสหรือในอารักขาของฝรั่งเศส เว้นแต่ถ้าได้เข้ามาตั้งอยู่ในอาณาเขตร์ของสยามก่อนเวลาที่ดินแดนซึ่งผู้นั้นเกีดได้ตกไปเปนของฝรั่งเศสแล้ว ผู้นั้นไม่ควรเปนคนในบังคับฝรั่งเศส ต้องเปนคนในบังคับสยาม (อนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดนในทวีปเอเซีย (Asia) ต่างวาระกัน จึงควรทราบปีที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดนเหล่านั้นไว้ โดยมีลำดับ ดังนี้ ในอินเดีย มีเมืองปอนดิเชรี ๑ การิกัล ๑ จันทคาร์ ๑ มาเฮ ๑ ยาโนน ๑ พ.ศ. ๒๔๕๗ ค.ศ. ๑๘๑๔. ในอินโดจีน มีโคชินจีน คือ เมืองญวนตอนใต้ พ.ศ. ๒๔๐๑ ค.ศ. ๑๘๖๑. แดนกำพูชา พ.ศ. ๒๔๑๐ ค.ศ. ๑๘๖๗. เมืองญวนตอนเหนือ พ.ศ. ๒๔๒๖ ค.ศ. ๑๘๘๓. ประเทศลาว ฝั่งซ้ายฟากตวันออกแม่น้ำโขง พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ค.ศ. ๑๘๙๓ เฃตร์แขวงเมืองหลวงพระบางซึ่งอยู่บนฝั่งขวาฟากตวันตกแม่น้ำโขง ตั้งแต่ใต้ปากคอบลงมาจนถึงเมืองแก่นท้าวแลปากน้ำเหืองต่อกับแม่น้ำโขงตอนหนึ่ง กับเมืองนครจำปาศักดิ์แลมโนไพรอีกตอนหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๔๖ ค.ศ. ๑๙๐๔ มณฑลบูรพา คือ เมืองพระตะบอง, เสียมราฐ, แลศรีโสภณ พ.ศ. ๒๔๕๐ ค.ศ. ๑๙๐๗.)
- ↑ ความในข้อ ๑๒ นี้ ได้มีการแก้ไขใหม่แล้ว ดู ข้อ ๕ ข้อ ๓ แห่งสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕ แลโปรโตคลติดท้ายสัญญาฉบับนั้น
- ↑ ดู คำอธิบายสำหรับข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ แห่งสัญญาฉบับนี้ แลข้อ ๒๗ แห่งสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
- ↑ ดู ข้อ ๒๗ แห่งสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ. ๑๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
- เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ