• หนังสือสัญญา
  • ระหว่าง
  • กรุงสยามกับกรุงฝรั่งเสศ
  • ทำเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒

สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม แลท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศส มีความปราถนาจะผูกพันธ์ทางไมตรี แลจะให้ความไว้วางใจซึ่งมีอยู่ต่อกันในระหว่างประเทศทั้งสองมั่นคงขึ้น และเพื่อจะระงับความยากบางอย่างซึ่งได้เกิดขึ้นจากการที่ตีความหมายของหนังสือสัญญาใหญ่น้อยที่ได้ทำไว้ ณ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ จึงได้ตกลงทำหนังสือสัญญาน้อยขึ้นใหม่ฉบับหนึ่ง เพื่อประโยชน์นี้ จึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย คือ

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น

พระยาสุริยานุวัตร อรรคราชทูตพิเศษ แลผู้มีอำนาจเต็มของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามณะสำนักนิ์ท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศส เครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่หนึ่ง แลเครื่องอิศริยาภรณ์เลยองดอนเนอร์ชั้นที่สอง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ฝ่ายท่านประธานาธิบดีริปับลิกฝรั่งเศสนั้น

มองซิเออร์เทโอฟิล เดลคาสเซ เดปูเต[1] เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ผู้ซึ่งเมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจให้ตรวจดูซึ่งกันแลกัน เห็นเปนอันถูกต้องแบบอย่างดีแล้ว ได้ปฤกษาตกลงกันทำสัญญาเปนข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

เฃตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมภูชานั้น ตั้งต้นแต่ปากคลองกะพงพลุ ข้างฝั่งชายทเลสาบ เปนเส้นเฃตร์แดนตรงทิศตวันออก ไปจนบันจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่ที่นี้ต่อไป เฃตร์แดนเปนเส้นตรง ทิศเหนือขึ้นไปจนบันจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบันทัด)[2] ต่อนั้นไป เฃตร์แดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำ ในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสน แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำของ[3] ฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูนอิกฝ่ายหนึ่ง จนบันจบภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตวันออกตามแนวยอดภูเขานี้ จนบันจบถึงแม่น้ำของ ตั้งแต่ที่บันจบนี้ขึ้นไปแม่น้ำของ เป็นเฃตร์แดนของกรุงสยามตามความข้อ ๑ ในหนังสือสัญญาใหญ่ณวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒[4]

ข้อ ๒

ฝ่ายเฃตร์แดนในระหว่างเมืองหลวงพระบาง ข้างฝั่งขวาแม่น้ำของ แลเมืองพิไชย กับเมืองน่านนั้น เฃตร์แดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเหืองที่แยกแม่น้ำของ เนื่องไปตามกลางลำน้ำเหือง จนถึงที่แยกปากน้ำตาม เลยขึ้นไปตามลำน้ำตาม จนบันจบถึงยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่น้ำของ แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่เขาภูแดนดิน ตั้งแต่ที่นี้ เฃตร์แดนต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่น้ำของแลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนบันจบถึงปลายน้ำคอบ แล้วเฃตร์แดนต่อเนื่องไปตามลำน้ำคอบ จนบันจบกับแม่น้ำของ[5]

ข้อ ๓

จะได้กำหนดเฃตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับดินแดนที่เปนแผ่นดินอินโดชินฝรั่งเศส[6] รัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ได้ทำสัญญากันนี้ต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันไปทำการกำหนดเฃตร์แดนนี้ การกำหนดเฃตร์แดนนี้จะทำลงตามเฃตร์แดนที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๑ แลข้อ ๒ ทั้งจะกำหนดลงในดินแดนที่อยู่ในระหว่างทเลสาบกับทเล

เพื่อจะกระทำให้การของข้าหลวงผสมสดวกขึ้น แลเพื่อจะหลีกเลี่ยงเสียจากความยากทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการกำหนดเฃตร์แดนในดินแดนซึ่งอยู่ในระหว่างทเลแลทเลสาบนั้น เมื่อก่อนที่จะตั้งข้าหลวงผสม รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเสียก่อนว่า จะกำหนดที่สำคัญแห่งใดเปนที่หมายกำหนดเฃตร์แดนในดินแดนนี้ แห่งใดเปนเฃตร์แดนที่จะจดทเล เปนต้น

จะได้ตั้งข้าหลวงผสม แลข้าหลวงนี้จะตั้งต้นทำการใน ๔ เดือนภายหลังวันรับอนุญาตใช้หนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้

ข้อ ๔

รัฐบาลสยามยอมเสียสละอำนาจซึ่งเปนเจ้าของแผ่นดินเมืองหลวงพระบางที่อยู่ข้างฝั่งแม่น้ำของ[7]

เรือค้าขายแลแพไม้ซึ่งเปนกรรมสิทธิ์ของคนไทย มีอำนาจที่จะขึ้นล่องได้โดยสดวก ปราศจากการขัดขวาง ในตอนแม่น้ำของซง[วซ 1] ใหลตลอดที่ดินแดนของเมืองหลวงพระบาง

ข้อ ๕

เมื่อได้ตกลงกันตามข้อความซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ ๓ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องการกำหนดเฃตร์แดนในระหว่างทเลสาบแลทแลแล้ว แลเมื่อรัฐบาลสยามได้แจ้งความให้เจ้าพนักงานฝรั่งเศสทราบโดยทางราชการว่า ที่ดินแดนซึ่งเปนผลแห่งการที่จะได้ตกลงกัน กับที่ดินแดนซึ่งอยู่ข้างทิศตวันออกของเฃตร์แดน ตามที่ได้กำหนดลงไว้ในข้อ ๑ ข้อ ๒ ในหนังสือสัญญาฉบับนี้ ว่า เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะรับเอาได้เมื่อใดแล้ว กองทหารฝรั่งเศสซึ่งได้เข้าตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่งตามหนังสือสัญญา วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ จะออกจากเมืองจันทบุรีในทันใด[8]

ข้อ ๖

ข้อสัญญาข้อ ๔ ในหนังสือสัญญาใหญ่ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรกศก ๑๑๒ นั้น เปนอันยกเลิก เปลี่ยนเปนข้อสัญญาตามความต่อไปนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงรับสัญญาว่า พลทหารซึ่งจะได้ให้ส่งไปหรือจะให้ตั้งประจำอยู่ในเฃตร์แคว้นที่ลุ่มน้ำตกแม่น้ำของข้างฝ่ายกรุงสยามนั้นจะเปนพลทหารชาติไทยอยู่ในใต้บังคับนายทหารชาติไทยเสมอ มีความยกเว้นอย่างเดียวจากสัญญาข้อนี้ให้เปนประโยชน์แก่ตำรวจภูธรไทย ซึ่งนายทหารชาติเดนมาร์คบังคับอยู่ในขณะนี้ ถ้ารัฐบาลสยามปราถนาจะเปลี่ยนนายทหารเหล่านี้ให้เปนนายทหารของชาติอื่น รัฐบาลสยามจะปฤกษาให้ตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศสก่อน[9]

ในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยแขวงเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ แลเมืองศรีโสภณนั้น รัฐบาลสยามสัญญาจะให้มีแต่กองพลตระเวรซึ่งเปนที่ต้องการสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อย คนที่จะให้เปนพลตระเวรนี้ จะเกณฑ์เอาแต่ล้วนที่เปนชาวเมืองณที่นั้น[10]

ข้อ ๗

ถ้าในกาลภายหน้า รัฐบาลสยามปราถนาจะทำท่าเรือ คลอง ทางรถไฟ ที่ในดินแดนลุ่มน้ำตกแม่น้ำของข้างฝ่ายของกรุงสยาม (มีทางรถไฟที่จะให้เปนทางติดต่อจากกรุงเทพฯ ไปถึงที่แห่งใดในแว่นแคว้นลุ่มน้ำนี้โดยเฉภาะ) แม้ว่าจะทำการเหล่านี้ไปมิได้แต่โดยลำภังเจ้าพนักงานไทยแลโดยทุนของไทย รัฐบาลสยามจะปฤกษาให้ตกลงกันกับรัฐบาลฝรั่งเศส ส่วนการที่จะทำสำหรับให้การต่าง ๆ ที่กล่าวนี้เปนผลประโยชน์ขึ้น ก็เหมือนกัน

ในการที่จะใช้ท่าเรือ คลอง ทางรถไฟ ในแว่นแคว้นน้ำตกแม่น้ำของข้างฝ่ายของกรุงสยามก็ดี ทั้งภายในพระราชอาณาเฃตร์นอกไปจากแว่นแคว้นนี้ก็ดี เปนความเข้าใจกันว่า จะไม่ตั้งพิกัดเก็บเงินให้ต่างกันให้เปนการผิดไปจากหลักฐาน ซึ่งจะต้องทำให้เสมอกันในการค้าขาย ดังได้สัญญาไว้ในหนังสือสัญญาทั้งหลายที่กรุงสยามได้ลงชื่อ[11]

ข้อ ๘

ในที่จะทำการให้สำเร็จไปตามความข้อ ๖ ของหนังสือสัญญาใหญ่ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ นั้น รัฐบาลสยามจะอนุญาตที่ดินเปนขนาดกว้างยาวตามซึ่งจะได้กำหนดให้แก่รัฐบาลริปับลิก[12] ณที่ต่าง ๆ ข้างฝั่งขวาแม่น้ำของ คือ:—

ที่ที่เชียงคาน หนองคาย เมืองไชยบุรี ที่ที่ปากน้ำก่ำ (ฝั่งขวาหรือฝั่งซ้าย) เมืองมุกดาหาร เมืองเขมราฐ กับที่ปากน้ำมูน (ฝั่งขวาหรือฝั่งซ้าย)

รัฐบาลทั้งสองจะได้ตกลงกันในการที่จะเอาสิ่งที่กีดกั้นไม่ให้เรือเดินได้สดวกในลำน้ำมูนตอนที่อยู่ในระหว่างเมืองพิมูลมังษาหารกับแม่น้ำของ ถ้าเห็นว่า การนั้นจะทำให้สำเร็จไปไม่ได้ หรือว่า จะเปลืองเงินเกีนไป รัฐบาลทั้งสองจะช่วยกันจัดแจงทำทางบกให้ไปมาถึงกันได้ในระหว่างเมืองพิมูลมังษาหาร[13] แลแม่น้ำของ

รัฐบาลทั้งสองจะตกลงกันด้วยว่า ในระหว่างเมืองจำปาศักดิ์กับเฃตร์แดนเมืองหลวงพระบางดังที่ได้กำหนดลงไว้ในข้อ ๒ ของหนังสือสัญญาฉบับนี้ จะให้มีทางรถไฟขึ้นใช้แทนการเดีรเรือที่ไม่สดวกในแม่น้ำของ ถ้ายอมรับกันว่า เปนที่ต้องการ

ข้อ ๙

ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป เปนการตกลงกันแล้วว่า รัฐบาลทั้งสองจะช่วยให้มีทางรถไฟตั้งแต่เมืองพนมเป็ญไปถึงเมืองพระตะบองขึ้นให้ได้โดยสดวก การก่อสร้างแลการที่จะกระทำให้มีผลประโยชน์ขึ้นนั้น รัฐบาลทั้งสองจะทำเองโดยลำภัง ส่วนการในที่ดินแดนของรัฐบาลใด รัฐบาลนั้นรับทำ หรือรัฐบาลทั้งสองจะยินยอมพร้อมกันให้บริษัทไทยปนกับฝรั่งเศสบริษัทใดทำ ก็ได้

รัฐบาลทั้งสองได้เห็นด้วยกันแล้วว่า เปนการจำเปนที่จะทำการเพื่อจะให้ทางน้ำในคลองเมืองพระตะบองในระหว่างทเลสาบกับเมืองนั้นดียิ่งขึ้น เพื่อฉนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสพร้อมตัวที่จะให้ผู้ชำนาญการช่างซึ่งรัฐบาลสยามอาจจะต้องการใช้ทั้งสำหรับที่จะทำการแลรักษาการที่กล่าวนี้ด้วย[14]

ข้อ ๑๐

รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยอมรับรายชื่อของคนในบังคับฝรั่งเศสเช่นกับที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ ยกเว้นเสียแต่คนจำพวกทจะ[วซ 2] ได้ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายว่า ได้เข้าจดทะเบียนอยู่ในรายชื่อนั้นโดยเหตุอันไม่สมควร เจ้าพนักงานฝรั่งเศสจะได้ส่งสำเนารายชื่อเหล่านี้ให้แก่เจ้าพนักงานไทย

บุตร์หลานของคนอยู่ในบังคับซึ่งเข้าอยู่ในใต้อำนาจศาลฝรั่งเศสเช่นนี้ จะไม่มีอำนาจที่จะอ้างเข้าอยู่ในทะเบียนได้[15] ถ้าหากว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ตกเปนคนอยู่ในจำพวกซึ่งได้กำหนดไว้ในข้อสัญญาต่อความข้อนี้ไปในหนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้

ข้อ ๑๑

คนกำเนีดในประเทศเอเชีย เกีดในดินแดนซึ่งอยู่ในใต้อำนาจโดยตรงของกรุงฝรั่งเศส หรือในดินแดนที่อยู่ในความป้องกันของ[วซ 3] ปกครองกรุง[วซ 4] ฝรั่งเศสนั้น จะมีอำนาจที่จะรับความป้องกันของฝรั่งเศสได้ ยกเว้นเสียแต่ผู้ซึ่งได้เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงสยามเมื่อก่อนเวลาที่ดินแดนที่กำเนีดของคนเหล่านั้นได้เข้าอยู่ในอำนาจปกครองหรือความป้องกันของฝรั่งเศส[16]

ความป้องกันฝรั่งเศสจะมีไปถึงเพียงบุตร์ของคนเหล่านั้น แต่จะไม่มีแผ่เผื่อต่อไปถึงหลานของคนเหล่านั้น

ข้อ ๑๒

ในการที่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจศาล ซึ่งตั้งแต่นี้ต่อไป คนฝรั่งเศสแลคนในบังคับฝรั่งเศสในกรุงสยามจะต้องเข้าอยู่ในใต้บังคับโดยไม่มีที่ยกเว้นเลยนั้น รัฐบาลทั้งสองได้ตกลงกันทำข้อสัญญาดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ขึ้นใช้แทนข้อสัญญาที่มีอยู่แต่ก่อน

ในความอาญา คนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสจะอยู่ในใต้บังคับตระลาการศาลฝรั่งเศสเท่านั้น

ในความแพ่ง คดีทั้งปวงซึ่งคนไทยเป็นโจทย์ฟ้องคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศส จะต้องฟ้องต่อศาลกงสุลฝรั่งเศส

คดีทั้งปวงซึ่งคนไทยเปนจำเลย ศาลไทยสำหรับพิจารณาคดีความต่างประเทศซึ่งตั้งไว้ณกรุงเทพฯ จะพิจารณาตัดสิน

ยกเว้นเสียแต่ที่ในมณฑลพายัพ คือ เมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน ความอาญาแลความแพ่งทั้งปวงซึ่งคนในบังคับฝรั่งเศสมีคดี ศาลต่างประเทศไทยจะพิจารณาตัดสิน

แต่เปนความเข้าใจกันว่า ในคดีความทั้งปวงนี้ กงสุลฝรั่งเศสมีอำนาจที่จะไปอยู่ในศาลเมื่อเวลาชำระได้ หรือจะให้มีผู้แทนผู้หนึ่งซึ่งได้รับอำนาจตามสมควรแล้วไปอยู่ที่ศาลในเวลาชำระก็ได้ แลเมื่อเห็นว่า เปนการสมควรแก่ผลประโยชน์ของความยุติธรรม จะทำความแนะนำทักท้วงขึ้นได้ทุกอย่าง

ในคดีความซึ่งคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับฝรั่งเศสเปนจำเลยนั้น ถ้าในระหว่างความพิจารณา กงสุลฝรั่งเศสเห็นเปนเวลาสมควรที่จะขอถอนคดีความนั้นออกเสีย โดยทางที่จะทำหนังสือขอไป เมื่อใดก็ได้

คดีความนี้ก็ต้องส่งต่อไปยังศาลกงสุลฝรั่งเศส ซึ่งตั้งแต่เวลานั้นไป จะพิจารณาคดีนั้นได้ตามลำพัง แลเจ้าพนักงานไทยจะสงเคราะห์ช่วยธุระแก่ศาลนั้นด้วย

การฟ้องอุทธรณ์ต่อคำตัดสินทั้งปวงของศาลสำหรับพิจารณาคดีความต่างประเทศก็ดี ของศาลต่างประเทศสำหรับมณฑลพายัพที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี จะต้องไปฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ[17]

ข้อ ๑๓

ในกาลภายหน้า เรื่องการที่ชาวประเทศเอเชียซึ่งมิได้เกีดอยู่ในดินแดนที่ตรงอยู่ในอำนาจหรือในดินแดนที่อยู่ในความป้องกันของกรุงฝรั่งเศส หรือผู้ซึ่งมิได้เปลี่ยนชาติโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะเข้าเปนคนอยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศสได้นั้น รัฐบาลของลิปับลิกจะได้รับอำนาจเท่ากันกับอำนาจซึ่งกรุงสยามจะยอมให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใดในกาลภายหน้า[18]

ข้อ ๑๔

ข้อความทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในหนังสือสัญญาใหญ่ สัญญาน้อย แลสัญญาทั้งปวงแต่ก่อนมา ในระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ที่หนังสือสัญญาน้อยฉบับนี้มิได้เปลี่ยนแปลงเสียนั้น ยังคงใช้ได้อยู่โดยเต็ม[19]

ข้อ ๑๕

ถ้าเกีดความขัดข้องไม่เห็นต้องกันในความหมายของหนังสือสัญญาซึ่งได้เขียนขึ้นในภาษาฝรั่งเศสแลภาษาไทยนี้ ภาษาฝรั่งเศสจะเปนหลักข้างเดียว

ข้อ ๑๖

หนังสือสัญญาน้อยนี้ จะต้องมีอนุญาตในกำหนด ๔ เดือนตั้งแต่วันที่ได้ลงชื่อ หรือให้เร็วกว่านั้นถ้าจะกระทำได้

ในการที่จะให้เป็นพยานสำคัญนั้น ผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้ในหนังสือสัญญานี้ และได้ประทับตราลงไว้ด้วยกัน

ได้ทำที่กรุงปารีศ (เปนสองฉบับเหมือนกัน)
ณวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒
  • (ลงนามแลประทับตรา)พระยาสุริยา
  • (ลงนามแลประทับตรา)เดลคาสเซ.

  1. M. Théophile Delcassé, Député
  2. ที่เรียกว่า "พนมดงรัก" นี้ มาจากคำเขมรเรียกชื่อภูเขาที่อยู่ในพืดเขาบรรทัดตวันออกว่า "ดองแรก" แปลว่า ไม้คาน (ด้วยสันฐานของภูเขานั้นยาว) ในฉบับฝรั่งเศสเรียกว่า "Dang Reck" อนึ่ง แนวพระราชอาณาเฃตร์ตอนนี้อยู่ทางมณฑลบูรพา ได้เปนของฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ ตามหนังสือสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มินาคม ร.ศ. ๑๒๕ ค.ศ. ๑๙๐๗ ต่อจากฉบับนี้ไป
  3. ชื่อจริงซึ่งคนไทยแลลาวชาวแถบแม่น้ำนั้นเรียกว่า "แม่น้ำโขง" แต่สำเนียงเขมรเรียก "มีคอง" แลในฉบับภาษาฝรั่งเศสเรียก "Mékong" แปร่งกันไปเล็กน้อย ที่แท้ก็คือแม่น้ำโขงที่เราทราบกันอยู่แล้วนั่นเอง
  4. เฃตร์แดนตอนนี้คงเปนอยู่ตามเดิม ถ้าดูแผนที่พระราชอาณาเฃตร์ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๔๖ แล้ว จะเห็นได้ถนัดกว่าที่จะอธิบายด้วยหนังสือ
  5. ดินแดนซึ่งกล่าวในสัญญาข้อ ๒ นี้ อยู่บนฝั่งฟากตวันตก ฝั่งขวาแห่งแม่น้ำโขง ดู สัญญาว่าด้วยการปักปันเฃตร์แดน ติดท้ายสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มินาคม ร.ศ. ๑๒๕ ค.ศ. ๑๙๐๗ (พลเมืองในท้องที่นั้นมีชาติลาวเปนพื้น แลมีคนชาติต่าง ๆ อีกบ้าง เช่น ชาติลื้อ, แลขมุ เปนต้น)
  6. Indo Chine อินโดจีนของฝรั่งเศส นั้น เปนประเทศใหญ่ อยู่ทิศตวันออกของประเทศสยาม มีกูแวร์เนอร์เยเนอรัลเปนตำแหน่งผู้สำเร็จราชการทั่วไป แลแบ่งการปกครองเปนประเทศน้อย ๕ ประเทศ คือ ๑ ประเทศโกแช็งชิน หรือโคชินไชนา ซึ่งเมืองไซ่ง่อนเปนเมืองหลวง ประเทศนี้มีฐานะเปนเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มีลิเยอร์เตอนังต์กูแวร์เนอร์ เทียบได้แก่สมุหเทศาภิบาลของเรา เปนผู้บังคับบัญชาการ, ๒ ประเทศญวน ซึ่งเมืองเว้เปนเมืองหลวง, ๓ ประเทศตังเกี๋ย ซึ่งเมืองฮานอยเปนเมืองหลวง, ๔ ประเทศลาว เมืองเวียนจันทน์เปนเมืองหลวง, ๕ ประเทศเขมร เมืองพนมเป็ญ หรือพนมเพ็ญ เปนเมืองหลวง, ประเทศน้อยทั้งสี่นี้เปนประเทศราช มีเจ้านายที่เปนชาวพื้นประเทศเดิมอยู่ มีคนฝรั่งเศสเปนตำแหน่งเรสิดังต์สุเปริเยอร์ เทียบได้แก่ข้าหลวงใหญ่ของเรา เปนผู้ปกครอง แต่อำนาจสิทธิ์ขาดยิ่งกว่า
  7. ความในข้อ ๑ แห่งสัญญา ปี ร.ศ. ๑๑๒ ค.ศ. ๑๘๙๓ รัฐบาลสยามยอมสละกรรมสิทธิดินแดนณฝั่งซ้ายฟากตวันออกแม่น้ำโขงแลบรรดาเกาะในแม่น้ำนั้นแล้ว จังหวัดหลวงพระบางซึ่งตัวเมืองตั้งอยู่ฟากตวันออกริมฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำโขงต้องไปอยู่ในความปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศสตั้งแต่วันเซนสัญญาฉบับนั้นมา แต่อาณาเฃตร์ของจังหวัดหลวงพระบางยังมีอยู่ทางฟากตวันตกฝั่งขวาของแม่น้ำโขงด้วย เมื่อมีสัญญาฉบับนี้ขึ้น ก็แปลว่า รัฐบาลสยามยอมสละดินแดนอันเปนอาณาเฃตร์ของจังหวัดหลวงพระบางที่เหลืออยู่ทางฝั่งขวานั้นไปอีกด้วย แลเพราะเหตุฉะนี้ ฝรั่งเศสจึงมีอำนาจปกครองดินแดนทางฝั่งขวาซึ่งกล่าวนี้อีกตอนหนึ่งตั้งแต่ปากน้ำเหืองต่อเฃตร์จังหวัดเลยในมณฑลอุดรขึ้นไปจนถึงปากน้ำคอบเฃตร์อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในมณฑลพายัพ
  8. ฝรั่งเศสได้ถอนกองทหารกลับออกไปจากจันทบุรีแล้วแต่ณวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘
  9. ดู ข้อ ๒ ตอน ๒ แห่งหนังสือสัญญาใหม่ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
  10. ความในตอน ๒ แห่งข้อ ๖ นี้ เปนอันระงับ เพราะเมืองทั้งหลายที่กล่าวถึงนี้ได้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสแล้ว
  11. ดู ความในข้อ ๑๒–๑๔ แล ๑๕ แห่งสัญญาใหม่ ฉบับลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
  12. คือ รัฐบาลฝรั่งเสศ
  13. อยู่ในเฃตร์จังหวัดอุบล รัฐบาลสยามได้ทำถนนรถยนต์เดีรได้ถึงช่องแมกซึ่งกับแดนของฝรั่งเศสแล้ว
  14. ความในข้อ ๙ แห่งสัญญาฉบับนี้ ได้พ้นจากภาระของรัฐบาลสยามแล้ว เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสได้จังหวัดพระตะบองไปแล้วโดยสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มินาคม ร.ศ. ๑๒๕ ค.ศ. ๑๙๐๗
  15. หมายถึง คนจำพวกที่เรียกว่า "ในป้องกันของฝรั่งเศส" ซึ่งต่างกับจำพวกที่เรียกว่า "คนในบังคับฝรั่งเศส" โดยลักษณดังนี้ คือ "คนในป้องกัน" นั้น จะเปนผู้ที่มีชาติกำเนีดสมควรเปนคนในบังคับฝรั่งเศสได้หรือไม่ก็ตาม ถ้าได้จดทะเบียนแลรับหนังสือสำหรับตัวจากสถานทูตฝรั่งเศสไว้ก่อนสัญญาฉบับนี้แล้ว รัฐบาลยอมรับว่า ผูนั้นเปนคนในป้องกันฝรั่งเศส แต่คนจำพวกนี้จะจดทะเบียนได้แต่เฉภาะตัวเท่านั้น ส่วนบุตร์และภรรยาจะเปนคนในป้องกันด้วยไม่ได้ แต่ภายหลังสัญญานี้ รัฐบาลได้ตกลงกันเปนพิเศษว่า บุตร์ของคนในป้องกันฝรั่งเศสตามข้อ ๑๐ แห่งสัญญานี้ ถ้าได้จดชื่อไว้ในหนังสือสำหรับตัวของบิดาก่อนวันที่ลงในสัญญาฉบับนี้ แลได้รับหนังสือสำหรับตัวอีกต่างหากก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยแล้ว จึงจะถือว่า เปนคนในป้องกันของฝรั่งเศสได้เฉภาะตัวบุตร์นั้นอีกชั้นหนึ่ง
  16. หมายถึง คนจำพวกที่เรียกว่า "ในบังคับฝรั่งเศส" คือ เฉภาะคนที่มีชาติกำเนีดในดินแดนเมืองขึ้นของฝรั่งเศสหรือในอารักขาของฝรั่งเศส เว้นแต่ถ้าได้เข้ามาตั้งอยู่ในอาณาเขตร์ของสยามก่อนเวลาที่ดินแดนซึ่งผู้นั้นเกีดได้ตกไปเปนของฝรั่งเศสแล้ว ผู้นั้นไม่ควรเปนคนในบังคับฝรั่งเศส ต้องเปนคนในบังคับสยาม (อนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดนในทวีปเอเซีย (Asia) ต่างวาระกัน จึงควรทราบปีที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดนเหล่านั้นไว้ โดยมีลำดับ ดังนี้ ในอินเดีย มีเมืองปอนดิเชรี ๑ การิกัล ๑ จันทคาร์ ๑ มาเฮ ๑ ยาโนน ๑ พ.ศ. ๒๔๕๗ ค.ศ. ๑๘๑๔. ในอินโดจีน มีโคชินจีน คือ เมืองญวนตอนใต้ พ.ศ. ๒๔๐๑ ค.ศ. ๑๘๖๑. แดนกำพูชา พ.ศ. ๒๔๑๐ ค.ศ. ๑๘๖๗. เมืองญวนตอนเหนือ พ.ศ. ๒๔๒๖ ค.ศ. ๑๘๘๓. ประเทศลาว ฝั่งซ้ายฟากตวันออกแม่น้ำโขง พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ค.ศ. ๑๘๙๓ เฃตร์แขวงเมืองหลวงพระบางซึ่งอยู่บนฝั่งขวาฟากตวันตกแม่น้ำโขง ตั้งแต่ใต้ปากคอบลงมาจนถึงเมืองแก่นท้าวแลปากน้ำเหืองต่อกับแม่น้ำโขงตอนหนึ่ง กับเมืองนครจำปาศักดิ์แลมโนไพรอีกตอนหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๔๖ ค.ศ. ๑๙๐๔ มณฑลบูรพา คือ เมืองพระตะบอง, เสียมราฐ, แลศรีโสภณ พ.ศ. ๒๔๕๐ ค.ศ. ๑๙๐๗.)
  17. ความในข้อ ๑๒ นี้ ได้มีการแก้ไขใหม่แล้ว ดู ข้อ ๕ ข้อ ๓ แห่งสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕ แลโปรโตคลติดท้ายสัญญาฉบับนั้น
  18. ดู คำอธิบายสำหรับข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ แห่งสัญญาฉบับนี้ แลข้อ ๒๗ แห่งสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
  19. ดู ข้อ ๒๗ แห่งสัญญาฉบับใหม่ พ.ศ. ๑๔๖๗ ค.ศ. ๑๙๒๕
เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ
  1. มีแก้คำผิดให้แก้เป็น "ซึ่ง"
  2. มีแก้คำผิดให้แก้เป็น "ที่จะ"
  3. มีแก้คำผิดให้ขีดฆ่า "ของ"
  4. มีแก้คำผิดให้แก้เป็น "ปกครองของกรุง"