ปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ

ปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ
ของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ราชบัณฑิตยสภาพิมพ์
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ไว้เครื่องโลหะ

ปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นายกราชบัณฑิตยสภา ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล
ณพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
เมื่อวันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓

(๑)

ราชบัณฑิตยสภาขอขอบพระเดชพระคุณทูลกระหม่อมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นอาทิ และขอบพระเดชพระคุณพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น กับทั้งขอบคุณท่านเทศาภิบาลและข้าราชการที่รับเชิญมาประชุมณพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครวันนี้ ด้วยรู้สึกว่าเป็นเกียรติแก่ราชบัณฑิตยสภา และหวังว่าการประชุมวันนี้อาจจะมีผลเพิ่มประโยชน์แก่มหาชนได้บ้างมิมากก็น้อย

ที่ราชบัณฑิตยสภาปรารภเชิญประชุมวันนี้ ด้วยเกิดเลื่อมใสในการที่ทูลกระหม่อมทรงพระดำริให้สมุหเทศาภิบาลทั้งปวงมีโอกาสเที่ยวดูกิจการต่าง ๆ ในเวลาเมื่อเสด็จคราวประชุมเทศาภิบาลประจำปีแล้ว ดังปรากฏมาในปีก่อน ๆ เห็นว่า หน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาก็มีกิจเกี่ยวข้องต้องอาศัยเทศาภิบาลอยู่เนืองนิจ ถ้าท่านสมุหเทศาภิบาลทั้งหลายได้มาดูพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร มาเห็นสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งได้ส่งมาแต่มณฑลของตนและมณฑลอื่น ๆ จัดเรียบเรียงรักษาไว้อย่างไร ดังเช่นจัดเครื่องสัมฤทธิ์เรียบเรียงไว้ในห้องนี้เป็นต้น ก็เห็นจะมีความยินดี แม้อย่างต่ำก็จะรู้สึกว่าสิ่งของที่ส่งมานั้นไม่สูญเสียเปล่า อีกประการหนึ่ง แต่ก่อนมา เทศาภิบาลต่างมณฑลได้เคยถามราชบัณฑิตยสภาถึงวิธีการตรวจค้นและรักษาของโบราณ ข้าพเจ้าจึงนึกว่า ถ้าแสดงปาฐกถาในเรื่องนั้นให้ฟัง ก็เห็นจะชอบ และจะสดวกใจยิ่งขึ้น ด้วยรู้เค้าเงื่อนว่าควรจะทำอย่างไร ๆ นอกจากนั้น ธรรมดาการประชุมสโมสรย่อมเกื้อกูลสามัคคีไมตรีจิตต์ในระวางส่วนตัวบุคคลที่มาประชุม และเป็นประโยชน์ตลอดถึงราชการบ้านเมือง ด้วยผู้มาประชุมเป็นข้าราชการ มีหน้าต่าง ๆ กัน เมื่อได้รู้เห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน ก็อาจประสานงานช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามหน้าที่ให้ราชการบ้านเมืองเจริญศุภผลสดวกดียิ่งขึ้นด้วย

(๒)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นตั้งแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ (พ.ศ. ๒๔๖๙) และโปรดฯ ให้มีหน้าที่จัดการเป็น ๓ แผนก คือ แผนกศิลปากร สำหรับบำรุงวิชชาช่าง แผนก ๑ แผนกวรรณคดี สำหรับบำรุงวิชชาหนังสือ แผนก ๑ แผนกโบราณคดี สำหรับบำรุงความรู้เรื่องโบราณ แผนก ๑ แต่การประชุมวันนี้ไม่มีเวลาพอจะแสดงอธิบายหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาได้ทุกแผนก จึงจะกล่าวแต่ฉะเพาะกิจการในแผนกโบราณคดี เพราะเกี่ยวข้องกับเทศาภิบาลยิ่งกว่าแผนกอื่น

ความรู้เรื่องโบราณในประเทศสยามแต่ก่อนมา แม้จนเรื่องพงศาวดารของบ้านเมือง เป็นแต่เล่าให้กันฟังต่อ ๆ มา บางทีมีผู้จดลงไว้เป็นหนังสือ ก็จดตามที่ได้เคยฟังเขาเล่าคล้ายกับเรื่องนิทาน หาได้มีการค้นหาหลักฐานอย่างไรไม่ จะชี้เรื่องพอให้เห็นเป็นตัวอย่างเช่นเรื่องพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของประเทศสยาม มีหนังสือเก่ากล่าวความต่าง ๆ กันถึง ๓ อย่าง อย่างที่ ๑ ในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าอู่ทองเดิมอยู่เมืองชะเลียง (ในแขวงจังหวัดสวรรคโลก) ลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี อย่างที่ ๒ อยู่ในพงศาวดารเหนือเหมือนกัน กล่าวว่า กษัตริย์เชื้อวงศพระยาแกรกซึ่งได้ครองเมืองอันหนึ่งสิ้นชีพลง มีแต่ราชธิดา ๆ นั้นได้เจ้าอู่ทองบุตร์เศรษฐีเป็นสามี เจ้าอู่ทองจึงได้ครองเมืองนั้น อยู่มาห่าลงกินเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนออกจากเมืองนั้นมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อย่างที่ ๓ พิมพ์ไว้ข้างต้นหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมกษัตริย์เจ้าเมืองเชียงรายหนีข้าศึกลงมาตั้งเมืองไตรตรึงศ์ (อยู่ในแขวงจังหวัดกำแพงเพ็ชร์) ครองเมืองนั้นสืบเชื้อวงศมาหลายชั่ว เจ้าเมืองไตรตรึงศ์องค์หนึ่งราชธิดาเกิดบุตรขึ้นแต่ยังไม่มีสามี จึงให้ทำพิธีเสี่ยงทายหาบิดาของบุตร ไปได้ความว่าเป็นคนเข็ญใจชื่อนายแสนปม เจ้าเมืองไตรตรึงศ์อัปยศอดสู จึงให้ขับไล่ราชธิดากับกุมารไปเสียจากเมืองไตรตรึงศ์ด้วยกันกับนายแสนปม คนทั้ง ๓ พากันไปอยู่ที่ไร่ (ตรงบ้านโคน) ข้างใต้เมืองไตรตรึงศ์ ด้วยเดชะบุญของกุมารนั้น พระอินทร์ลงมาประทานพรแก่นายแสนปมให้สามารถนฤมิตสมบัติพัสถานได้ตามความประสงค์ นายแสนปมจึงสร้างเมืองขึ้นครอบครองอยู่ณที่นั้น ขนานนามว่า “เมืองเทพนคร” แล้วให้เอาทองคำมาทำเป็นเปลให้กุมารผู้บุตรนอน กุมารนั้นจึงได้นามว่า “เจ้าอู่ทอง” ครั้นต่อมาได้รับรัชทายาทครองเมืองเทพนคร พระเจ้าอู่ทองไม่พอพระหฤทัยที่จะอยู่เมืองเทพนคร จึงอพยพผู้คนย้ายลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีณตำบลหนองโสน (เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓) ดังนี้ เรื่องพระเจ้าอู่ทองมีแตกต่างกันเป็นหลายอย่างดังกล่าวมา สันนิษฐานว่า ท่านผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร (คือสมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน ในรัชชกาลที่ ๑ และสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระวันรัตนองค์นั้น) คงเห็นว่า เรื่องอย่างที่ ๓ ที่ว่าพระเจ้าอู่ทองลงมาจากเมืองเทพนครมีหลักฐานกว่า ๒ เรื่องในพงศาวดารเหนือ เพราะตัวเมืองโบราณที่บ้านโคนยังมีอยู่ ทั้งมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นในสมัยชั้นหลังมาคนทั้งหลายเรียกว่า “พระเจ้าปราสาททอง” เหตุด้วยทรงสร้างปราสาทปิดทองเป็นข้อประกอบอยู่ จึงเอาลงไว้ข้างต้นหนังสือพระราชพงศาวดาร คนทั้งหลายก็ยอมรับเป็นยุตติตามนั้น ตลอดจนถึงข้อที่บรรธมเปลทอง เป็นเหตุให้เรียกพระนามว่า “พระเจ้าอู่ทอง” อันการสอบสวนพงศาวดารโดยทางวิชชาด้วยอาศัยตรวจสอบค้นของโบราณเริ่มมีขึ้นในเมื่อรัชชกาลที่ ๕ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงสอบสวนโบราณคดี และทรงชี้แจงชักชวนผู้ซึ่งสนองพระเดชพระคุณอยู่ใกล้ชิดให้เห็นประโยชน์ในการศึกษาโบราณคดี ตัวข้าพเจ้าอยู่ในพวกที่เลื่อมใสคนหนึ่ง จึงได้เอาใจใส่สอบสวนโบราณคดีแต่นั้นมา ว่าฉะเพาะเรื่องพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าไปพบหลักฐานแสดงความเป็นอย่างอื่น มีอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาลงมาจากเมืองสุทัยแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ในศิลานั้นจารึกพรรณนาชื่อเมืองขึ้นของกรุงสุทัยทั้ง ๔ ทิศ ชื่อเมืองขึ้นทางทิศใต้มีเมืองคณฑี เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพ็ชร์บุรี เมือง (นคร) ศรีธรรมราช ชื่อเมืองตอนข้างหลังตรงกับที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ ชื่อเมืองสุพรรณบุรีเรียกเพี้ยนไปแต่ข้างท้ายว่าสุพรรณภูมิ มิใชสุพรรณบุรี ส่วนเมืองแพรกนั้นรู้ได้ว่าเมืองสรรค์ ด้วยมีหนังสือเก่าเรียกเมืองสรรค์ว่าเมืองแพรกอยู่หลายเรื่อง มีเมืองที่ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแต่เมืองพระบางกับเมืองคณฑี เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการเมืองเหนือ ลองค้นหาเมืองโบราณพบอยู่ที่หลังตลาดปากน้ำโพ แขวงจังหวัดนครสวรรค์ เมืองหนึ่ง ตรงแผนที่กับเมืองพระบาง และไปได้เค้าในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จ (ยกกองทัพ) ขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองพระบาง เห็นตรงกันกับเมืองที่ปากน้ำโพ ค้นต่อนั้นขึ้นไปพบเมืองโบราณที่บ้านโคนอีกเมืองหนึ่งซึ่งเข้าใจกันว่าเมืองเทพนครที่นายแสนปมสร้างนั้น อยู่ตรงแผนที่กับเมืองคณฑีในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหง ก็เห็นว่าเมืองที่บ้านโคนจะเป็นเมืองเทพนครไม่ได้ ด้วยเป็นเมืองมีอยู่แล้วแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหงก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทองเกือบ ๑๐๐ ปี อีกข้อหนึ่งพบในศิลาจารึกแผ่นอื่นปรากฏศักราชว่า เมื่อปีพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างพระนครศรีอยุธยานั้น พระเจ้าลิไทย ราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหง ยังปกครองเมืองเหนืออยู่ทั้งสิ้น พระเจ้าอู่ทองจะครองเมืองที่บ้านโคนอย่างไรได้ ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าอู่ทองมาแต่ไหน ข้อนี้ยังติดอยู่จน พ.ศ. ๒๔๔๖ ข้าพเจ้าไปตรวจราชการทางแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อไปพักอยู่ที่บ้านสองพี่น้อง ได้ความจากพวกชาวบ้านว่า มีซากเมืองโบราณอยู่ในป่าใกล้กับบ้านจรเข้สามพันเมืองหนึ่ง เรียกกันว่าเมืองท้าวอู่ทอง ข้าพเจ้าจึงเลยไปดู เห็นเป็นเมืองเก่าแก่ด้วยโบราณวัตถุที่ยังมีเหลืออยู่แบบอย่างทันสมัยพระปฐมเจดีย์ ไล่เลียงชาวสุพรรณถึงเรื่องตำนานเมืองท้าวอู่ทอง เขาบอกความตามที่เล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อท้าวอู่ทองครองเมืองนั้น ห่าลงกินเมือง ท้าวอู่ทองจึงพาผู้คนอพยพหนีห่าไปตั้งกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าระลึกขึ้นถึงชื่อเมืองในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงที่เรียกว่าเมืองสุพรรณภูมิ ก็คิดเห็นในขณะนั้นว่า คำสุพรรณภูมิเป็นภาษาบาลี ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ตรงกับว่าอู่ทองนั้นเอง เพราะคำว่าอู่ในภาษาไทยหมายความได้สองอย่าง เป็นเปลที่เด็กนอนก็ได้ เป็นที่เกิดที่มี เช่น พูดกันว่า “อู่น้ำอู่เข้า” ก็ได้ ถ้าคำว่าอู่ทองเป็นชื่อเมือง คำที่เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองก็หมายความแต่ว่าเป็นเจ้าเมืองอู่ทองเหมือนเช่นเราเรียกพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าน่าน มิใช่เพราะได้เคยบรรธมเปลทองดังเช่นกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร เรื่องที่ว่าพระเจ้าอู่ทองพาผู้คนหนีห่าไปนั้น พิจารณาดูพื้นที่ก็คิดเห็นเหตุ ด้วยเมืองอู่ทองตั้งอยู่ริมแม่น้ำเก่าที่ตื้นเขิน ยังมีสระขุดแต่โบราณสำหรับขังน้ำไว้ใช้ปรากฏอยู่ คงเป็นด้วยที่เมืองนั้นกันดารน้ำแล้วเลยเกิดโรคระบาด จึงต้องทิ้งเมืองอู่ทองมา เรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดารซึ่งกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองราชาภิเษกที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงตั้งขุนหลวงพงั่วผู้เป็นพี่พระมเหษีให้เป็นพระบรมราชาไปครองเมืองสุพรรณบุรี (คือเมืองสุพรรณบุรีใหม่) ก็บ่งว่า ขุนหลวงพงั่วนั้นเป็นราชบุตรของพระเจ้าอู่ทององค์ก่อน แต่เกิดด้วยพระสนม ส่วนพระมเหษีของพระเจ้าอู่ทององค์หลังเป็นน้องขุนหลวงพงั่ว แต่เป็นลูกพระมเหษี ราชสมบัติจึงได้แก่พระเจ้าอู่ทององค์หลัง เพราะเป็นราชบุตรเขยสมดังในหนังสือพงศาวดารเหนือ ต้นเรื่องการตั้งพระนครศรีอยุธยาได้หลักฐานเพราะตรวจของโบราณดังแสดงมา ยังมีเรื่องอื่น ๆ ซึ่งหาหลักฐานได้ด้วยตรวจของโบราณ จะเห็นได้ในหนังสือราชบัณฑิตยสภาพิมพ์อีกหลายเรื่อง การตรวจของโบราณจึงเป็นการสำคัญ

(๓)

ของโบราณในประเทศสยามนี้มีมากและผิดกับประเทศอื่นที่ใกล้เคียง เหมือนเช่นประเทศชะวาก็ดี กัมพูชาก็ดี พะม่าก็ดี ของโบราณที่พบมีแต่เป็นของทำในประเทศนั้นตามแบบศิลปศาสตร์ของประเทศนั้นเองเป็นพื้น แต่ของโบราณที่พบในประเทศสยามมีมากทั้งของมาจากประเทศอื่นและที่ทำให้ประเทศสยาม ข้อนี้จะพึงพิศูจน์ได้ด้วยสิ่งของซึ่งมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครนี้ ในจำพวกของโบราณที่ขุดพบตามหัวเมืองต่าง ๆ เป็นของมาแต่อินเดียก็มี มาแต่ลังกาก็มี มาแต่สุมาตราและชะวาก็มี มาแต่ประเทศจีนและยี่ปุ่นก็มี แม้ที่สุดจนมาแต่ยุโรปก็มี แต่ของโบราณที่สร้างตามแบบศิลปศาสตร์ขอมมีมากกว่าอย่างอื่น จะมาแต่เมืองขอมสักเพียงใด หรือจะทำให้ประเทศนี้เองสักเพียงใด จะกล่าวอธิบายต่อไปข้างหน้า ในจำพวกของโบราณที่ทำในประเทศนี้เองนั้น เมื่อพิจารณาดูแบบศิลปศาสตร์ ก็ต่างกันตามท้องที่และตามกาลสมัย ว่าโดยย่อ ทางหัวเมืองปักษ์ใต้ในแหลมมะลายูขึ้นมาจนต่อแดนเพ็ชร์บุรี ของโบราณชั้นเดิมแบบศิลปศาสตร์เจือไปทางอย่างสุมาตราและชะวาซึ่งสมมตเรียกว่าแบบศรีวิชัยตามนามราชธานีที่ตั้งอยู่ณเกาะสุมาตราและมีอาณาเขตต์ปกครองมาถึงแหลมมะลายูในสมัยเมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๐ ต่อขึ้นมาถึงตอนกลางตั้งแต่เพ็ชร์บุรีขึ้นไปจนถึงเมืองสวรรคโลก ของโบราณชั้นเก่าซึ่งสมมตเรียกว่าสมัยทวาราวดีตามนามอาณาเขตต์ครั้งเมืองนครปฐมเป็นราชธานีเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ แบบศิลปศาสตร์เป็นอย่างอินเดีย ครั้นต่อมาเมื่อเกี่ยวข้องกับประเทศกัมพูชายิ่งขึ้น ก็รับแบบศิลปศาสตร์ของขอมมาใช้มากขึ้นโดยอันดับ จนถึงสมัยเมื่อเมืองลพบุรีเป็นราชธานีของประเทศสยาม แบบศิลปศาสตร์กลายเป็นอย่างเดียวกับของขอม เนื่องในข้อที่กล่าวนี้ เมื่อครั้งข้าพเจ้าไปกรุงกัมพูชาใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ไปดูพิพิธภัณฑสถานเมืองพนมเพ็ญ สังเกตเห็นเครื่องศิลาแบบขอมของโบราณที่งาม ๆ มีมาก แต่เครื่องสัมฤทธิ์มิใคร่มี ถามเขาว่า เหตุใดเครื่องสัมฤทธิ์ของโบราณจึงมีน้อยนัก เขาตอบว่า เพราะเมื่อไทยได้เมืองเขมร เก็บเอาเครื่องสัมฤทธิ์มาเสีย จึงมิใคร่มีเหลืออยู่ในกรุงกัมพูชา ความที่เขาว่าจะจริงหรือเท็จฉันใด ข้าพเจ้าไม่มีหลักฐานที่จะอ้าง ก็มิได้ตอบเขาว่ากะไรในครั้งนั้น ครั้นเมื่อจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้เอาเครื่องสัมฤทธิ์มารวมเรียบเรียงไว้ในห้องที่ประชุมกันนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พิจารณาดูโดยถ่องแท้จึงเห็นว่า ความจริงมิได้เป็นเช่นพวกชาวพนมเพ็ญกล่าว ถ้าสังเกตดูเทวรูปใหญ่ ๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามเสาทั้ง ๒ ด้านเกือบ ๒๐ รูป ก็จะเห็นด้วยลักษณว่า ล้วนเป็นฝีมือช่างไทยทำในสมัยสุโขทัยบ้าง สมัยอยุธยาบ้าง ไม่มีที่มาจากเมืองเขมรเลย ถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นของขนาดเล็กลงมา ดังเช่นพระพุทธรูปและเทวรูปก็ดี เครื่องประดับราชรถและเครื่องคานหามก็ดี เครื่องบูชาและเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ดี แม้ที่รูปและลวดลายเป็นแบบขอม ก็ปรากฏว่าเป็นของของขุดได้ในประเทศนี้แทบทั้งนั้น มักพบในท้องที่จังหวัดลพบุรีหรือทางมณฑลนครราชสิมาเป็นพื้น มีของสัมฤทธิ์ที่รู้แน่ว่าไทยเอามาเมื่อได้ประเทศกัมพูชาแต่รูปสิงห์คู่หนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้เอามาจากเมืองผไทมาศ แล้วดำรัสสั่งให้จำลองหล่อเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ ตัว ยังเป็นเครื่องประดับวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่จนบัดนี้ ข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานว่า ที่จริงนั้น การสร้างสิ่งของต่าง ๆ แต่โบราณ ข้อที่จะสร้างด้วยทรรพสัมภาระอย่างใดนั้น เห็นจะเอาความสดวกในประเทศที่สร้างเป็นประมาณ เช่น ประเทศกัมพูชาหาโลหะยาก แต่มีศิลาเนื้อดีหาได้ง่าย ก็ชอบสร้างด้วยศิลา ในประเทศสยามนี้มีแร่โลหะหาได้ง่าย ก็ชอบสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ เครื่องสัมฤทธิ์ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานเมืองพนมเพ็ญอาจจะกลับเป็นของที่ได้ไปจากประเทศสยามด้วยเสียอีก ส่วนของโบราณในประเทศสยามตอนข้างเหนือที่เป็นอาณาเขตต์มณฑลพายัพบัดนี้ เดิมเมื่อยังเป็นเมืองของพวกลาว ได้แบบศิลปศาสตร์อินเดียมาทางมอญ ต่อมาถึงสมัยเมื่อไทยลงมาเป็นใหญ่ ไทยก็พาแบบศิลปศาสตร์ของไทยลงมาจากข้างเหนืออีกด้วย เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยในศตพรรษที่ ๑๙ แห่งพุทธศก พระเจ้าแผ่นดินไทยราชวงศ์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เริ่มรวมอาณาเขตต์ต่าง ๆ เข้าเป็นราชอาณาเขตต์อันเดียวกันอย่างประเทศสยามทุกวันนี้ ประจวบกับเวลาลัทธิพระพุทธศาสนาลังกาวงศเริ่มเข้ามาประดิษฐานในประเทศสยามด้วย กระบวรแบบศิลปศาสตร์ก็เริ่มรวมแบบไทยลาวและขอมกับทั้งอินเดียและลังกาเข้าระคนกัน ก็เกิดกระบวรแบบศิลปศาสตร์ของประเทศสยามสืบมา เรื่องของโบราณต่าง ๆ ในประเทศสยาม พิจารณาดูโดยทางตำนาน เห็นว่าจะเป็นดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้

(๔)

ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น ๒ ประเภท คือ ของซึ่งไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่าเมืองและปราสาทราชวังวัดทั้งเทวาลัยตลอดจนบ่อกรุและสะพานหิน ของโบราณอย่างนี้กำหนดเป็นประเภท ๑ เรียกว่า “โบราณสถาน” ส่วนของโบราณซึ่งอาจเอาเคลื่อนที่ไปได้ เป็นต้นว่าศิลาจารึก พระพุทธรูป เทวรูป ตลอดจนเครื่องใช้เครื่องประดับต่าง ๆ เหล่านี้กำหนดเป็นประเภท ๑ เรียกว่า “โบราณวัตถุ” อนึ่ง ข้อซึ่งว่าเป็นของโบราณและมิใช่ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดว่า ของมีอายุกว่าร้อยปีขึ้นไปเป็นของโบราณ ถ้ายังไม่ถึงร้อยปี ไม่นับว่าเป็นของโบราณ ที่เอาร้อยปีเป็นเกณฑ์ก็เป็นแต่สมมตเพื่อสดวกแก่การตรวจ เพราะของที่อายุยังไม่ถึงร้อยปีมีมาก และมักมีผู้รู้พอจะสืบเรื่องได้ไม่ยากเหมือนของที่เก่าก่อนนั้น แต่ราชบัณฑิตยสภามิได้ประสงค์จะสงวนบรรดาของโบราณทุกสิ่งไป เพราะพ้นวิสัยที่จะทำได้ อันของโบราณที่ถือว่าควรสงวนนั้นอยู่ในเกณฑ์ ๒ อย่าง คือ ที่เป็นของสำคัญในพงศาวดาร อย่าง ๑ กับที่เป็นของสำคัญในทางศิลปศาสตร์ คือ เป็นแบบอย่างและฝีมือช่าง อีกอย่าง ๑ จะยกอุทาหรณ์พอให้เห็น ในส่วนโบราณสถาน เช่น เมืองอู่ทองก็ดี หรือพระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สร้างไว้ที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี หมายที่ทรงชนช้างชะนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีก็ดี โบราณสถานอย่างนี้นับว่าเป็นของสำคัญในพงศาวดาร แม้ถึงซากเมืองโบราณที่ยังรู้เรื่องไม่ได้ ก็ต้องนับว่าเป็นของสำคัญในพงศาวดาร เพราะอาจจะเป็นหลักฐานให้ผู้ศึกษาโบราณคดีในภายหน้าค้นเรื่องพงศาวดารได้ต่อไป เนื่องในข้อที่กล่าวนี้ มีเรื่องที่ข้าพเจ้ายังไม่หายเสียดายอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เมื่อเริ่มสร้างรถไฟสายใต้ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ เวลานั้นท้องที่รอบพระปฐมเจดีย์ยังเป็นป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก ในป่าเหล่านั้นมีซากพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งสร้างทันสมัยพระปฐมเจดีย์อยู่หลายองค์ พวกรับเหมาทำทางรถไฟไปรื้อเอาอิฐพระเจดีย์เก่ามากถมเป็นอับเฉากลางรางรถไฟ ได้อิฐพอถมตั้งแต่สถานีบางกอกน้อยไปตลอดระยะทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร ขอให้คิดดูก็จะเห็นได้ว่า รื้อพระเจดีย์ที่เป็นของควรสงวนเสียสักกี่องค์ เมื่อย้ายที่ว่าการมณฑลจากริมแม่น้ำขึ้นไปตั้งณตำบลพระปฐมเจดีย์สิรื้อกันเสียหมดแล้ว ก็ได้แต่เก็บศิลาเครื่องประดับพระเจดีย์เก่าเหล่านั้นมารวบรวมรักษาไว้ ยังปรากฎอยู่รอบพระระเบียงพระปฐมเจดีย์บัดนี้ ถ้ามีราชบัณฑิตยสภาอยู่ในเวลานั้น ก็จะหาเป็นเช่นนั้นไม่ ส่วนโบราณวัตถุที่เป็นของสำคัญในพงศาวดารมีสิ่งซึ่งจะชี้ได้อยู่ในห้องประชุมนี้เอง ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๑ (นับเวลามาจนบัดนี้ได้สี่ร้อยกับสองปี) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ ชาติ, รูปพระโพธิสัตว์ที่สร้างครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ จนเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ อุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ให้ขุดขนดินและอิฐหักกกากปูนแต่งวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา จึงพบรูปพระโพธิสัตว์เหลือไฟไหม้หมกอยู่ในนั้น ได้เอามาเรียบเรียงรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานนี้ ยังมีของในห้องนี้ที่ประหลาดยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีกสิ่งหนึ่ง พึ่งขุดพบที่พงตึกในแขวงจังหวัดราชบุรีเมื่อสองปีมาแล้ว เป็นตะเกียงฝีมือฝรั่งครั้งสมัยโรมันทำด้วยทองสัมฤทธิ์ เหตุใดตะเกียงโรมันจึงมาอยู่ที่พงตึก ยังคิดไม่เห็น ถึงกระนั้น ก็เป็นหลักฐานในทางพงศาวดารแสดงว่าประเทศนี้ได้มีการคมนาคมเกี่ยวข้องกับยุโรปมาแล้วกว่าพันปี ส่วนโบราณสถานที่สำคัญในกระบวรแบบอย่างและฝีมือช่างนั้น จะยกตัวอย่างดังเช่นวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลก เป็นวิหารโบราณคงบริบูรณ์ตามรูปแบบเดิมซึ่งสร้างแต่ครั้งกรุงสุโขทัยอยู่แห่งเดียว ถ้าไม่มีวิหารหลังนี้เหลืออยู่ ก็จะไม่มีใครอาจรู้ได้ว่าซวดทรงวิหารครั้งพระร่วงเป็นอย่างไร ของประหลาดกว่านั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่ง คือ โบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐแต่สมัยเมื่อขอมเป็นใหญ่ ดังเช่นพระเจดีย์ธาตุพนมที่แขวงจังหวัดนครพนม ปราสาทระแงงในแขวงจังหวัดสุรินทร์ และปราสาทที่วัดกำแพงใหญ่ในแขวงจังหวัดขุขันธ์ เป็นต้น ฝีมือก่ออิฐสนิทไม่มีรอยปูนสอเลย มักกล่าวกันว่า ก่อด้วยอิฐดิบ เสร็จแล้วกองฟืนหุ้มเผาไฟให้อิฐสุก ซึ่งจะเป็นความจริงอย่างนั้นไม่ได้ ปรางค์ก่ออิฐเช่นว่านี้ที่ในแดนเขมรก็มี ฝรั่งเศสก็พยายามตรวจ แต่ไม่ได้ความรู้ว่า ช่างขอมใช้อะไรเชื่อมอิฐ จึงติดกันแน่นได้ปานนั้น เขาบอกข้าพเจ้าว่า เป็นแต่ได้ยินคำบอกเล่าว่า พวกเขาใช้ยางไม้อย่างหนึ่งทาอิฐแล้วเอาลนไฟ พอยางเยิ้มก็ก่ออิฐติดกันแน่นด้วยยางนั้น แต่จะเป็นยางอะไรเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครรู้ ข้าพเจ้าให้เอาเศษผนังก่ออิฐเช่นนั้นที่ปราสาทวัดกำแพงใหญ่ในแขวงจังหวัดขุขันธ์มารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานนี้ท่อนหนึ่ง ถ้าท่านทั้งหลายไปพิจารณาดู ก็จะเห็นประหลาดเช่นว่า ต่างว่าต่อไปภายหน้ามีใครได้มาเห็นอิฐก่ออย่างขอมแล้วไปเพียรคิดค้นพบยางไม้หรือสิ่งใดซึ่งพวกขอมใช้ก่ออิฐกลับเอามาใช้ได้อีก ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีก่อตึกไปได้ทั่วโลก ของโบราณที่ฝีมือทำรูปและลวดลายงามน่าชมยังมีอีกมาก ไม่ต้องอ้างถึงของอยู่ห่างไกล เชิญดูของที่รวบรวมไว้ในห้องสัมฤทธิ์นี้ ก็จะเห็นตัวอย่าง ทั้งเห็นประโยชน์ในการที่สงวนของโบราณว่าเป็นคุณแก่มหาชนทั้งในปัจจุบันนี้และที่จะได้มาเห็นต่อไปในภายหน้าเพียงไร

(๕)

ลักษณการสงวนของโบราณที่ราชบัณฑิตยสภาทำมานั้น วิธีจัดสงวนโบราณสถานกับโบราณวัตถุผิดกัน ในตอนนี้จะว่าด้วยสงวนโบราณสถานก่อน วิธีสงวนโบราณสถาน กำหนดการที่ทำเป็น ๓ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ การค้นให้รู้ว่ามีโบราณสถานอยู่ที่ใหนบ้าง ดังเช่นราชบัณฑิตยสภาได้มีตราขอให้เทศาภิบาลต่างมณฑลช่วยสืบแล้วบอกมาให้ทราบ เพื่อจะทำบัญชีและหมายลงแผนที่ประเทศสยามไว้เป็นตำรา อย่างที่ ๒ การตรวจ คือ เมื่อรู้ว่าโบราณสถานมีอยู่ณที่ใดแล้ว แต่งให้ผู้เชี่ยวชาญออกไปยังที่นั้น พิจารณาดูให้รู้ว่าเป็นของอย่างไร สร้างในสมัยใด และเป็นของสำคัญเพียงใด การตรวจนี้บางแห่งต้องขุดหาแนวรากผนังและค้นลวดลาย ต้องทำมากบ้างน้อยบ้างตามลักษณสถานนั้น อย่างที่ ๓ การรักษา ซึ่งนับว่าเป็นการยากยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะโบราณสถานในประเทศนี้มีมาก ในเวลานี้ยังเหลือกำลังราชบัณฑิตยสภาที่จะจัดการรักษาได้ทุกแห่ง จึงคิดจะจัดการรักษาแต่ที่เป็นสถานสำคัญและที่พอจะสามารถรักษาได้เสียก่อน ถึงกระนั้น ก็ยังต้องผ่อนผันทำไปทีละน้อย เพราะต้องหาเงินสำหรับจ่ายในการรักษานั้น จำเป็นต้องกำหนดลักษณการรักษาเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต่ำ เป็นแต่ห้ามปรามมิให้ผู้ใดรื้อทำลายโบราณสถานที่ควรสงวน ชั้นกลาง จัดการถากถางที่บริเวณและค้ำจุนป้องกันตัวโบราณสถานมิให้หักพังอีกต่อไป ยกตัวอย่างดังเช่นได้ทำที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาและที่ในเมืองลพบุรีเป็นต้น การรักษาโบราณสถานซึ่งนับว่าเป็นชั้นสูงนั้น คือ ปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิม เรื่องนี้ฝรั่งเศสกำลังพากเพียรทำที่นครธม ราชบัณฑิตยสภาก็กำลังลองทำที่ปรางค์สามยอด เมืองลพบุรี ดูแห่งหนึ่ง เพื่อจะให้รู้ว่าจะยากและจะสิ้นเปลืองสักเพียงใด แต่ถ้าว่าถึงเรื่องปฏิสังขรณ์แล้ว ประเทศเรามีภาษีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยมักมีบุคคลภายนอกศรัทธาบำเพ็ญกุศลในการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของโบราณ ซึ่งควรนับว่าช่วยรัฐบาลได้มาก แต่ในเรื่องนี้ ทางเสียที่ต้องป้องกันก็มีอยู่ ด้วยในการปฏิสังขรณ์บางราย ผู้ทำมักชอบรื้อหรือแก้ไขแบบอย่างของเดิมเปลี่ยนแปลงไปตามชอบใจตนจนเสียของโบราณ มีตัวอย่างปรากฏอยู่ในมณฑลพายัพหลายแห่ง จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลนั้น ทรงรำคาญ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์โปรดฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาอำนวยการปฏิสังขรณ์หอธรรม วัดพระสิงหล์ ให้คืนดีและคงตามแบบเดิมไว้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่นแห่งหนึ่ง

ในเรื่องการปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ราชบัณฑิตยสภาใคร่จะให้เทศาภิบาลคอยสอดส่องในความ ๓ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ

ข้อถ้ามีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญ ขอให้ชี้แจงแก่เขาให้ทำตามแบบเดิม อย่าให้เปลี่ยนแปลงรูปร่างและลวดลายไปเป็นอย่างอื่นเอาตามชอบใจ

ข้ออย่าให้รื้อทำลายโบราณสถานที่สำคัญเพื่อจะสร้างของใหม่ขึ้นแทน ข้อนี้มีเรื่องตัวอย่างจะยกมาแสดง เช่นที่วัดพลับพลาชัย เมืองเพ็ชรบุรี เดิมมีโบสถ์โบราณ ที่หน้าบรรพ์ปั้นปูนเป็นรูปภาพเรื่องพระพุทธประวัติเมื่อเสด็จออกมหาพิเนษกรม งามน่าดูยิ่งนัก ใคร ๆ ไปเมืองเพ็ชร์บุรี แม้ที่สุดจนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็เสด็จไปยังวัดพลับพลาชัยเพื่อไปชมรูปภาพที่หน้าบรรพ์นั้น ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๖ เกิดไฟไหม้เมืองเพ็ชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ วัดพลับพลาชัยถูกไฟไหม้ไปด้วย แต่ผนังโบสถ์กับรูปปั้นที่หน้าบรรพ์ยังดีอยู่ ถึงสมัยนั้น ข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสียแล้ว แต่ผะเอิญมีกิจไปเมืองเพ็ชรบุรี ก็ไปที่วัดพลับพลาชัยตามเคย ไปได้ความว่า พวกชาวเมืองกำลังเรี่ยรายกันจะปฏิสังขรณ์ หัวหน้าทายกคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า โบสถ์เดิมเล็กนัก เขาคิดจะรื้อลงทำใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า ข้าพเจ้าได้ตักเตือนว่า โบสถ์เดิมนั้นมีลายปั้นที่หน้าบรรพ์ เป็นสิริของวัด ไม่ควรจะรื้อลงทำใหม่ ถ้าประสงค์จะมีโบสถ์ให้ใหญ่โต ก็ควรสร้างโบสถ์ใหม่ เอาโบสถ์เดิมไว้เป็นวิหาร ข้าพเจ้าสำคัญว่าเขาจะเชื่อ ก็วางใจ ต่อนานมาจึงทราบว่า มีผู้ถือตัวว่าเป็นช่างคนหนึ่งเข้าไปขันรับว่าจะปั้นรูปที่หน้าบรรพ์มิให้ผิดเพี้ยนของเดิมได้ พวกทายกกับพระสงฆ์หลงเชื่อ ก็ให้รื้อโบสถ์เดิมลงสร้างใหม่ ด้วยเห็นว่าจะเปลืองน้อย รูปภาพดีของเดิมก็เลยพลอยสูญ และเลยไม่มีใครชอบไปดูวัดพลับพลาชัยเหมือนแต่ก่อน เพราะภาพที่ปั้นขึ้นแทนเลวทรามรำคาญตาไม่น่าดู ลาภพระสงฆ์วัดนั้นก็เห็นจะพลอยตกไปด้วย

ข้อวัดโบราณที่ทำการปฏิสังขรณ์นั้นมักมีผู้ศรัทธาสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมของโบราณ ดังเช่นสร้างพระเจดีย์ขนาดย่อม ๆ ขึ้นบรรจุอัฐิธาตุของญาติวงศเป็นต้น ของที่สร้างเพิ่มเติมเช่นว่านี้ไม่ควรจะสร้างขึ้นในอุปจารใกล้ชิดกับของโบราณที่ดีงาม ด้วยอาจพาให้ของโบราณเสียสง่า และไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้สร้าง เพราะต่อไปภายหน้า มีใครมาปฏิสังขรณ์วัดนั้นอีก เขาก็อาจจะรื้อเสียด้วยเห็นกีดขวาง เพราะฉะนั้น ควรจะให้กะที่ไว้เสียส่วนหนึ่งในบริเวณวัดนั้นสำหรับให้สร้างของใหม่ ของนั้นจะได้อยู่ถาวรสมปรารถนาของผู้สร้าง การปฏิสังขรณ์วัดย่อมมีผู้เป็นหัวหน้าอำนวยการและมักเป็นพระภิกษุ ขอให้เทศาภิบาลชี้แจงข้อที่ควรระวังให้ทราบเสียแต่ก่อนลงมือปฏิสังขรณ์ ถ้าสงสัยหรือขัดข้องอย่างไร ก็ควรรีบบอกมาให้ราชบัณฑิตยสภาทราบ จะได้ป้องกันหรือเกื้อหนุนให้ทันการ ความเช่นว่านี้มีตัวอย่างจะยกมาแสดง เมื่อสักสองปีมาแล้ว มีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหริภุญชัยที่เมืองลำพูน เห็นว่า แผ่นทองแดงที่หุ้มพระมหาธาตุมีชำรุดอยู่มาก จะขอลอกแผ่นทองแดงเสีย และใช้โบกปูนสิเมนต์แทน เจ้าพระยามุขมนตรี เมื่อยังเป็นพระยาราชนกูล สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ บอกมาหารือ ราชบัณฑิตยสภาห้ามไว้ทัน แผ่นทองแดงของโบราณอันมีชื่อผู้ถวายจารึกอยู่โดยมากจึงมิได้สูญเสีย

(๖)

วิธีการที่ราชบัณฑิตยสภาจัดในเรื่องสงวนโบราณวัตถุนั้น ระเบียบกลับกระบวนกับการสงวนโบราณสถาน คือ เอาการ “รักษา” เป็นข้อต้น เพราะโบราณวัตถุเป็นของเคลื่อนที่ได้ ต้องรวบรวมรักษาและระวังมิให้หายก่อนอย่างอื่น การรักษาโบราณวัตถุจึงจำเป็นต้องมีพิพิธภัณฑสถานเป็นที่รวบรวมและรักษาสิ่งของ เมื่อมีที่เก็บแล้วจึง “ตรวจ” เลือกและจัดโบราณวัตถุตั้งเรียบเรียงไว้ตามประเภทและ “ค้น” หาของมาเพิ่มเติมต่อไป พิพิธภัณฑสถานที่ราชบัณฑิตยสภาปกครองดูแลอยู่ในบัดนี้มีพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในกรุงเทพฯ แห่ง ๑ พิพิธภัณฑสถานที่พระนครศรีอยุธยาแห่ง ๑ พิพิธภัณฑสถานที่เมืองลพบุรีแห่ง ๑ พิพิธภัณฑสถานที่เมืองพิษณุโลกแห่ง ๑ พิพิธภัณฑสถานที่เมืองลำพูนแห่ง ๑ พิพิธภัณฑสถานที่เมืองนครปฐมแห่ง ๑ พิพิธภัณฑสถานที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ รวมเป็น ๗ แห่งด้วยกัน และกำลังเตรียมจะตั้งต่อไปที่อื่นอันมีโบราณวัตถุและมีกำลังพอจะสามารถตั้งได้อีกหลายแห่ง พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในกรุงเทพฯ นี้จะเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุอันเลือกล้วนแต่เป็นอย่างยอดเยี่ยมเอามาไว้สำหรับให้มหาชนชาวประเทศนี้และที่มาแต่นานาประเทศได้เห็นโบราณอารยธรรมของประเทศสยาม ของนอกจากนั้นพบในเขตต์มณฑลไหน ก็หมายว่าจะรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานของมณฑลหรือของจังหวัดนั้น ๆ อนึ่ง การตั้งพิพิธภัณฑสถานตามหัวเมืองนั้น เห็นว่าควรคิดตั้งในวัด เพราะเมืองอื่นนอกจากพระนครศรีอยุธยาและเมืองลพบุรีไม่มีวังของเก่าซึ่งจะใช้ได้ ครั้นจะหาที่และลงทุนสร้างสถานขึ้นใหม่ กำลังก็ไม่พอที่จะทำ ถ้าอาศัยตั้งในวัด จะมีประโยชน์ถึง ๓ สถาน สถานที่ ๑ วัดย่อมเป็นที่ประชุมสาธุชน คือ บุคคลชั้นที่ชอบดูพิพิธภัณฑสถานและที่มีกำลังจะช่วยอุปการะ สถานที่ ๒ ในวัดมักทีสถานที่ เช่น วิหาร หรือศาล และพระระเบียง เป็นต้น ซึ่งพอจะอาศัยตั้งพิพิธภัณฑสถานได้แม้ในเบื้องต้น ไปจนกว่าจะมีทุนพอสร้างสถานได้ต่างหาก สถานที่ ๓ พระสงฆ์ย่อมมีอัธยาศรัยพอใจในการทำคุณแก่มหาชน เมื่อเห็นประโยชน์ในการที่ตั้งพิพิธภัณฑสถาน ก็คงพอใจรับช่วยเป็นธุระทำนุบำรุง ตั้งแต่ช่วยหาของมาเข้าพิพิธภัณฑสถาน ตลอดจนในการช่วยสร้างและช่วยดูแลรักษา ข้อนี้มีตัวอย่างปรากฏมาแล้วหลายแห่ง

การตรวจโบราณวัตถุนั้นมีเป็น ๒ สถาน สถานที่ ๑ เพื่อจะรู้ว่าเป็นของโบราณอันสมควรสงวนไว้สำหรับบ้านเมืองหรือไม่ สถานที่ ๒ เป็นของเกิดขึ้นในสมัยไหนและประเทศไหน การตรวจดังกล่าวมาในเวลานี้ผู้เชี่ยวชาญยังมีน้อย เมื่อเทศาภิบาลพบโบราณวัตถุอันปรากฏขึ้น เช่น พระเจดีย์พังลง พบของในนั้นก็ดี หรือมีผู้ขุดพบโบราณวัตถุในพื้นแผ่นดินก็ดี หรือได้โบราณวัตถุมาด้วยมีผู้ให้ก็ดี ควรรักษาของนั้นไว้ และบอกมายังราชบัณฑิตยสภา ถ้าพอจะถ่ายรูปฉายาลักษณ์ได้ ก็ให้ถ่ายรูปส่งมาด้วย เมื่อราชบัณฑิตยสภาพิจารณาเห็นอย่างไรก็จะบอกไปให้ทราบ กับทั้งแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรด้วย อนึ่ง ราชบัณฑิตยสภาได้ตั้งข้อบังคับวางกำหนดไว้ให้มีเจ้าพนักงานในแผนกโบราณคดีออกไปตรวจพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ที่ได้ตั้งขึ้นตามหัวเมือง ในมณฑลที่ใกล้ ๒ เดือน ตรวจครั้ง ๑ ในมณฑลที่ห่างออกไป ๔ เดือน ตรวจครั้ง ๑ ที่ให้มีพนักงานออกไปตรวจเช่นนี้ ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ ๓ สถาน คือ สถานที่ ๑ ราชบัณฑิตยสภาจะได้รู้ว่า การที่จัดเจริญดีหรือมีความขัดข้องจะต้องช่วยเหลืออย่างไรบ้าง สถานที่ ๒ ตรวจการจัดภายในพิพิธภัณฑสถานและการรักษาโบราณสถานให้เรียบร้อย และสถานที่ ๓ กระทำการติดต่อประสานงานในระวางเทศาภิบาลกับราชบัณฑิตยสภาให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แต่ขอให้ท่านเทศาภิบาลจงเข้าใจว่า ราชบัณฑิตยสภาถือว่าสมุหเทศาภิบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนราชบัณฑิตยสภาอยู่ในท้องที่ซึ่งได้บังคับบัญชานั้น และการสงวนโบราณวัตถุสถานเป็นส่วนหนึ่งในราชการแผ่นดินเหมือนกับราชการอย่างอื่น ๆ

การสงวนโบราณวัตถุส่วนการค้น คือ หาของมาเข้าพิพิธภัณฑสถานนั้น อาศัยด้วยลักษณ ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ หาได้ด้วยพบเอง ยกตัวอย่างดังเช่นศิลาจารึกหรือของโบราณที่ทิ้งอยู่ไม่มีใครหวงแหนเป็นต้น อย่างที่ ๒ หาได้ด้วยอำนาจในกฎหมาย เรื่องนี้มีพระบรมราชวินิจฉัยบัญญัติไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๑๐ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ว่า ทรัพย์แผ่นดินอันเป็นของโบราณของปลาดฯ ผู้ได้จะต้องโฆษณา (คือจะปกปิดไม่ได้) และนำมาถวาย (คือส่งต่อเจ้าพนักงาน) ถ้ามิฉะนั้นต้องมีโทษ ดังนี้ วิธีที่ทำให้ข้อนี้ ถ้าเขาเอาของมาส่งโดยดี ควรตีราคาของนั้นแล้วให้เงินเป็นบำเหน็จแก่เขาเท่าอัตราส่วน ๑ ใน ๓ ของราคาตามกฎหมายเดิม อย่างที่ ๓ ได้ด้วยซื้อ คือ ของที่มีเจ้าของโดยชอบด้วยกฎหมายและเขายอมขาย แต่การซื้อควรซื้อแต่เป็นของที่เป็นอย่างยอดเยี่ยมไม่มีสอง เพราะเงินในราชบัณฑิตยสภามีน้อย อย่างที่ ๔ ได้ด้วยเจ้าของมีแก่ใจถวายไว้สำหรับบ้านเมือง ในข้อนี้ราชบัณฑิตยสภามีความยินดีที่สังเกตเห็นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น มหาชนชอบมาชมและมีผู้ถวายสิ่งของเข้าพิพิธภัณฑ์สำหรับพระนครมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ถึงกระนั้น ของโบราณที่ผู้อื่นรวบรวมหรือส้อนเร้นไว้ก็ยังมีไม่น้อย แต่ราชบัณฑิตยสภาหวังใจว่า ผู้มีของโบราณคงจะเห็นประโยชน์ในการที่ส่งของมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานยิ่งขึ้นทุกที เพราะความจริงในบรรดาผู้ที่รวบรวมของโบราณ กว่าจะรวบรวมได้ ต้องอุตส่าห์พยายามมาก ไม่มีใครปรารถนาจะให้ของที่ตนรวบรวมไว้ กลับกระจัดกระจายไปเสียอีก การที่รักษาไว้เองก็ลำบากอยู่บ้าง เพราะถ้าเผลอเมื่อใด ของก็อาจจะหาย ถึงแม้จะสามารถรักษาไว้ได้มั่นคงจนตลอดอายุ ใครจะรู้ว่าบุคคลภายหลังจะรักษาไว้หรือจะทำอย่างไรด้วยของนั้นในวันหน้า อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าถึงประโยชน์ที่เอาของนั้นไว้กับตัว ก็ได้แต่ชมเองหรือให้มิตรสหายได้ชมบ้าง การที่ส่งของมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานมีประโยชน์ยิ่งกว่านั้นหลายสถาน คือ ของ ๆ ใครก็ปรากฏอยู่เป็นนิจว่าเป็นของ ๆ ผู้นั้น มิได้ตกไปเป็นของผู้อื่น สถาน ๑ รัฐบาลรักษามั่นคงดีกว่าเอาไว้ที่บ้าน สถาน ๑ ให้คุณแก่มหาชนที่ได้ชมให้มีความรู้เจริญขึ้น สถาน ๑ เป็นการช่วยเผยแผ่เกียรติยศบ้านเมืองแก่นานาประเทศ สถาน ๑ ข้อนี้เมื่อก่อนจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ชาวต่างประเทศมักกล่าวกันว่า ในประเทศสยามนี้ที่จริงของดีดีมีมาก แต่ชาวสยามมักชอบเอาไว้เป็นของตนเสียเอง ไม่รวบรวมเป็นของบ้านเมืองเหมือนอย่างประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เดี๋ยวนี้คำพูดเช่นนั้นค่อยเงียบไปแล้ว และดูเหมือนจะอาจกล่าวได้ว่า บรรดาฝรั่งต่างประเทศที่เข้ามายังกรุงเทพฯ น้อยคนที่จะไม่มาชม และไม่ชอบพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จนเดี๋ยวนี้นับว่าเป็นสถานสำคัญที่แขกเมืองควรดูแห่งหนึ่ง ถึงประชาชนชาวพระนครก็ชอบมาดูพิพิธภัณฑสถานมากขึ้นทุกที ดังจะพึงเห็นได้ทุกวันอาทิตย์ที่เปิดให้มหาชนชม

อนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งไว้ว่า ถ้าแม้มีผู้จะให้ยืมของมาตั้งในพิพิธภัณฑสถานให้มหาชนชม ก็ควรรับได้ ราชบัณฑิตยสภาได้ปฏิบัติตามกระแสรับสั่งแต่นั้นมา ในเวลานี้ที่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครมีทั้งของซึ่งผู้มีแก่ใจถวายเป็นสิทธิ์สำหรับพระนครและของที่ให้ยืมมาตั้งทั้ง ๒ อย่าง ดังจะพึงเห็นได้ในบัตรซึ่งเขียนบอกนามผู้ถวายหรือผู้ให้ยืมประจำไว้ที่สิ่งของนั้น ๆ บรรดาของที่ให้ยืมนั้น ถ้าเจ้าของปรารถนาจะเอากลับคืนไปเมื่อใดก็ได้ แต่การรับรักาของให้ยืมเช่นกล่าวมา ราชบัณฑิตยสภายังไม่ได้อนุญาตให้รับไว้ในพิพิธภัณฑสถานตามหัวเมือง เพราะเห็นว่า การรักษายังไม่มั่นคงเหมือนพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในกรุงเทพฯ จึงได้รอไว้

ในที่สุดแห่งปาฐกถา ราชบัณฑิตยสภาใคร่จะขอบพระคุณกระทรวงมหาดไทยและเทศาภิบาลต่างมณฑลที่ได้อุดหนุนและเอาเป็นธุระในการสงวนของโบราณมาเสมอ ด้วยรู้สึกอยู่ว่า ถ้าไม่ได้รับความอุปการะเช่นนั้นแล้ว ราชบัณฑิตยสภาก็คงไม่สามารถจัดการสนองพระเดชพระคุณให้สำเร็จประโยชน์ได้ดังเป็นมา แม้ในภายหน้าก็ยังจะต้องอาศัยต่อไปเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงปาฐกถามาพอสมควรแก่เวลา ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่รับเชิญมาประชุมในวันนี้อีกครั้ง ๑ และหวังใจว่า ข้อความที่ได้แสดงในปาฐกถาพอจะเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟังได้บ้าง

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก