คำนำ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเลือกหาเรื่องหนังสือถวายสำหรับที่จะโปรดให้ตีพิมพ์เป็นของพระราชทานแจกในการพระราชกุศลเป็นพระราชูทิศทักษิณานุปทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชชนนี ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส กรมศิลปากรเห็นว่า การศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตรย่อมถือว่า เป็นสาขาสำคัญในการศึกษาอย่างหนึ่ง จึ่งคิดเห็นว่า ถ้าตีพิมพ์หนังสืออันนับเนื่องในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นเป็นของพระราชทาน ก็จะเป็นการสมควร กรมศิลปากรจึงได้จัดรวมเรื่อง คือ ๑. พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ ๒. เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ๓. พงศาวดารเขมรอย่างย่อ และ ๔. ราชพงศาวดารญวน จัดรวมกันเป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๑ ทูลเกล้าฯ ถวาย

หนังสือพงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ ต้นฉะบับเป็นสมุดไทยตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติมีฉะบับรักษาอยู่แต่เดิมเพียงเล่ม ๑ กับเล่ม ๓ ส่วนเล่ม ๒ ขาดไป มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมศิลปากรได้รับโอนหนังสือสมุดไทยบางส่วนมาเก็บรักษาไว้ยังหอสมุดแห่งชาติ จึงไปได้พงศาวดารเขมร ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ เล่ม ๒ ความต่อกันกับเล่ม ๑ และเล่ม ๓ ที่มีอยู่แล้วได้พอดี นับว่า ได้ต้นฉะบับพระราชชพงศาวดารของเก่าซึ่งยังไม่เคยได้ตีพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง ควรเป็นที่ยินดีของนักศึกษาทางประวัติศาสตรไม่น้อย พระราชพงศาวดารเขมรฉะบับนี้แปลจากต้นฉะบับภาษาเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชชกาลที่ ๑ กล่าวความตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๑๖๑ สังเกตข้อความที่มีกล่าวไว้ในนั้นเป็นเรื่องว่าด้วยพระราชพิธีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศเขมรสมัยนั้น ทำนองจะเป็นพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะใคร่ทรงทราบระบอบแบบบุราณราชประเพณีของเขมรเพื่อมาสอบกับของสยาม เพราะประเทศสยามยุคก่อนหน้านั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาสรรพตำหรับตำราที่เป็นแบบแผนคงเป็นอันตรายถูกข้าศึกเผาผลาญสูญหายไปเป็นอันมาก ในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระราชพงศาวดารเขมรฉะบับนี้ขึ้นก็คงมีพระราชประสงค์ดังกล่าวมาข้างต้น

เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์และพงศาวดารเขมรอย่างย่อ นำมารวมไว้ในเล่มนี้เพื่อให้แพร่หลายสะดวกแก่การสอบสวนง่ายขึ้น

ส่วนราชพงศาวดารญวน ต้นฉะบับเป็นสมุดไทย เส้นรงค์ ลายมือเก่า องเชียงสือ (พระเจ้าเวียดนามยาลอง) ครั้งยังอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ได้ให้องเปดตรึงและองเปดจัดร้อยกรองเป็นเรื่องสังเขปถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาได้มีผู้แก้ไขถ้อยคำสำนวนบ้าง ตกเติมเรื่องให้พิสดารอีกบ้าง ดังพิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๘ และที่เก็บความไปลงในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชชกาลที่ ๑ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง (ยังไม่ได้พิมพ์) ข้อความบางตอนแตกต่างผิดเพี้ยนจากฉะบับเดิมก็มี กรมศิลปากรเห็นว่า เรื่องที่พิมพ์ในเล่มนี้เป็นฉะบับเดิม สมควรรักษาไว้เป็นหลัก

อนึ่ง เพื่อผู้ศึกษาทางประวัติศาสตร์จะได้ทราบว่า เรื่องราวประเทศเขมรที่มีฉะบับเป็นภาษาไทยมีเรื่องอะไรบ้าง กรมศิลปากรได้ให้นายปรีดา ศรีชลาลัย เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติ รวบรวมเรื่องที่เกี่ยวกับเขมรบรรดาที่มีต้นฉะบับอยู่ และทำเป็นบันทึกขึ้น แล้วตีพิมพ์ไว้ในหน้าต้นของหนังสือเล่มนี้

กรมศิลปากรขอถวายอนุโมทนาในพระราชกุศลบุญราศีซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้โปรดให้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้พระราชทานความรู้เป็นสาธารณะประโยชน์ อันจะมีผลถาวรวัฒนาการสืบไปตลอดกาลนาน เป็นพระราชกุศลนับเนื่องในทักษิณานุปทาน มีกตัญญุตาธรรมเป็นปัจจัย สำเร็จเป็นปัตติทานมัยที่ตั้งแห่งบุญกิริยา เนื่องในมาตาปิตุปัฏฐานวิธี ขออำนาจพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญในวาระนี้จงบันดาลอิฏฐคุณมนุญผลให้สัมฤทธิ์แด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชชนนี สมดังพระราชปณิธานทุกประการเทอญ


อ,ร,
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑