ข.
ขนอน
ขนอน ด่าน, ที่คอย.
ขบถ ผู้ที่ทนงองอาจกระทำการประทุษฐร้ายอย่างใด ๆ เพื่อจะทำลายรัฐบาลก็ดี หรือเพื่อจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองพระราชอาณาจักร์ก็ดี หรือเพื่อจะแย่งชิงเอาพระราอาณาจักร์แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๑๐๑)
ความผิดฐานขบถนี้ แม้แต่ผู้ใดพะยายามจะก่อการขบถ เพียงแต่สะสมกำลังหรือเครื่องสาตราวุธ หรือตระเตรียมการ หรือสมคบกันคิดการเพื่อจะขบถก็ดี หรือยุยงไพร่บ้านพลเมืองจะให้ขบถก็ดี และผู้ใดรู้แล้วช่วยปกปิดไม่ร้องเรียนก็ดี ผู้นั้นยังมีความผิด ถ้าหากว่าเกิดขบถขึ้นดังพะยายาม ผู้พะยายามดังกล่าวแล้วมีโทษฐานขบถ (ป.ก.อ. มาตรา ๑๐๒)
ขบถภายนอกพระราชอาณาจักร์ ผู้ที่สมคบกับรัฐบาลประเทศอื่นหรือกับคนใช้ของรัฐบาลประเทศอื่นโดยเจตนาจะให้พระราชอาณาจักร์ทั้งหมดหรือแม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งตกไปอยู่ใต้อำนาจประเทศอื่นก็ดี หรือใช้อุบายอย่างอื่นโดยประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันกับที่ว่ามานี้ก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๑๐๕)
ความผิดฐานขบถภายนอกพระราชอาณาจักร์นี้ แม้แต่ผู้ใดพะยายามกระทำเพียงแต่ได้ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อกระทำการ ก็มีความผิดเช่นเดียวกัน (ป.ก.อ. มาตรา ๑๑๑)
ขบถภายในพระราชอาณาจักร์ ดู ขบถ
ขมา ขอโทษ, ความอดกลั้น, ความงดโทษ
ข่มขืนทำชำเรา กิริยาที่ชายได้บังอาจใช้อำนาจด้วยกำลังกายหรือด้วยวาจาขู่เข็ญกระทำชำเราขืนใจหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนเอง (ป.ก.อ. มาตรา ๒๔๓)
ขรัว คำเรียกนำนามพระภิกษุที่มีอายุมาก
ขรัวยาย ตำแหน่งบรรดาศักดิ์หญิงที่เป็นยายพระองค์เจ้า
ของเทียม ของที่ทำขึ้นจนคล้ายจริง
ของแท้ ของจริง
ของปลอม ของเทียมที่ทำขึ้นโดยเจตนจะให้ผู้อื่นหลงว่าเป็นของแท้ (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๕))
ของป่า ต้นไม้ต่าง ๆ ไม้ฟืน ไม้ถ่าน สีเสียด น้ำมันยาง ยางไม้ (เช่น ยางสน ชัน และกำยาน) เปลือกไม้ ครัง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดจากต้นไม้ทั่วไป รวมชะนิดต้นหญ้าทั้งหมด (ตลอดพง อ้อ ปรือ และคา ฯลฯ) พรรณไม้ไผ่ต่าง ๆ หวายต่าง ๆ พรรณไม้เลื้อยต่าง ๆ (พ.ร.บ. รักษาป่า พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓ ข้อ ๔)
ของหมั้น เงินทองหรือสิ่งของที่ชายให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงเป็นประจำในการที่จะแต่งงานว่าฝ่ายชายสัญญาจะแต่งงานตามที่กำหนดไว้ ถ้าพ้นกำหนดไม่แต่งงาน บิดามารดาหรือผู้ปกครองหญิงมีอำนาจที่จะริบของหมั้นนั้นได้ (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๘/๑๒๓)
ของหมั้นนี้เป็นส่วนของบิดามารดา เว้นไว้แต่บิดามารดาได้ให้ชายหญิง จึงเป็นของไหว้ นับว่าเป็นสินสมรส (ดู สินสมรส)
ข้อ ส่วนข้อความในมาตราหนึ่งที่ขึ้นต้นด้วยบรรทัดย่อหน้าและมีเครื่องหมายเป็นตัวอักษรหรือเป็นเลขกำกับอยู่ข้างหน้า (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๖))
ข้อกฎหมาย ดู ประเด็นหาฤๅบท
ข้อเกี่ยวกับประเด็น ข้อความใด ๆ ที่เป็นแต่เพียงเครื่องประกอบแวดล้อมข้อทุ่มเถียงในประเด็นซึ่งอาจทำให้คิดเห็นไปได้ว่าข้อเท็จจริงในประเด็นนั้นจะมีจริงหรือไม่มี และข้อความที่เป็นเหตุหรือเป็นผลของข้อเท็จจริงนั้น
ข้อเท็จจริง ดู ประเด็นข้อเท็จจริง
ข้อบังคับ คำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือที่ได้ออกเป็นระเบียบวางไว้ว่าให้ผู้อยู่ใต้บังคับกระทำตามในระวางเวลาที่ยังไม่ได้ยกเลิก
ข้อสันนิษฐานในกฎหมาย ดู กฎหมายสันนิษฐาน
ขัง เอาตัวบุคคลหรือสิ่งที่มีชีวิตเข้าคุมขังในที่ ๆ ถูกควบคุมโดยไม่มีอิสสระที่จะไปไหนได้ตามชอบใจ
ขัดขวาง กระทำการอย่างใด ๆ ให้เป็นที่กีดขวางแห่งกิจการของผู้อื่นอันจะกระทำได้โดยสดวก
ขัดทรัพย์ ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เจ้าพนักงานได้ยึดโดยว่าเป็นของผู้แพ้คดี ได้ร้องคัดค้านต่อศาลว่า ทรัพย์ที่ยึดนั้นไม่ใช่เป็นทรัพย์ของผู้แพ้คดี ขอให้ปล่อยทรัพย์พ้นจากการยึด (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๘๙)
ขัดหมาย ผู้ที่ได้รับหมายให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วไม่ทำตามหมาย
ขัดอำนาจศาล ขัดขืนอำนาจศาลที่สั่งโดยชอบด้วยราชการ หรือหมิ่นประมาทผู้พิพากษาในเวลากระทำตามหน้าที่ หรือหมิ่นประมาทต่อศาล (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๑๓๔, ๑๓๖ และดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๔/๑๒๓)
การกระทำผิดในข้อนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อศาลโดยตรง นอกจากจะสั่งให้อัยยการฟ้องแล้ว (ดู พ.ธ.ย. มาตรา ๓๕ ข้อ ๓) เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจจะไต่สวนแลลงโทษเสียเองในทันทีก็ได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๑๓๗)
ขันต่อ การพะนันที่มีการต่อรองกัน (ดู การพะนัน)
ขันหมาก ขันใส่หมากพลูของเจ้าบ่าวซึ่งเชิญไปพร้อมกับของอื่นในพิธีแต่งงานเพื่อเป็นเครื่องคำนับผู้ปกครองของเจ้าสาว (ดู กฎห์ ลักษณะผัวเมีย บทที่ ๑๑๔)
ขาดนัด คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มิได้ไปศาลตามกำหนดวันเวลาที่ได้นัดไว้
โจทก์ขาดนัดฝ่ายเดียว ถ้าเป็นคดีแพ่ง ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้จำหน่ายคดีเสียได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๗) แต่โจทก์มีโอกาศที่จะร้องขอให้กลับพิจารณาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลสมควร (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๕๐) ถ้าเป็นคดีอาชญา ศาลมีอำนาจที่จะตัดสินยกฟ้องของโจทก์เสียทีเดียวก็ได้ (พ.ร.บ. ลักษณะพะยาน ร.ศ. ๑๑๓ มาตรา ๓๒, พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ มาตรา ๑๐)
จำเลยขาดนัด ถ้าเป็นคดีแพ่ง ศาลสืบพะยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วตัดสินไปตามรูปความ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๘) แต่จำเลยมีโอกาศจะขอให้ศาลพิจารณาใหม่ได้เมื่อมีเหตุผลอันสมควร (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๕๐) ส่วนคดีอาชญา จำเลยขาดนัด จะสืบพะยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะการพิจารณาจะต้องพิจารณาต่อหน้าจำเลยทุกคราวไป (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ มาตรา ๑๑) แต่เป็นโอกาศให้ศาลเรียกประกันตัวจำเลย หรือถ้ามีประกันอยู่แล้ว ก็อาจจะถูกถอนประกันเสียได้
ถ้าโจทก์จำเลยขาดนัดทั้งสองฝ่าย ในคดีแพ่ง จะต้องถูกจำหน่ายความเรื่องนั้นออกจากบัญชี แต่โจทก์จะฟ้องใหม่อีกก็ได้เมื่อไม่เกินอายุความ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๖) ส่วนความอาชญา ก็จะต้องถูกจำหน่ายบัญชีเช่นเดียวกัน
ขาดยื่นคำให้การ จำเลยมิได้ไปแก้คดีหรือยื่นคำให้การตามวันเวลาที่ศาลกำหนด ในคดีแพ่ง มีผลให้จำเลยสืบพะยานฝ่ายตนเองมิได้ ได้แต่จะสาบาลตัวเองแล้วเบิกความ กับจะคอยซักค้านพะยานโจทก์เท่านั้น (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔๕) ส่วนในทางอาชญา จำเลยยังมีอำนาจที่จะสืบพะยานตนเองได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ มาตรา ๑๒)
ขายตามคำพรรณา ขายโดยผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ซื้อตรงตามคำพรรณา (ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๓ วรรค ๒)
ขายตามตัวอย่าง ขายโดยผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ซื้อตรงตามตัวอย่าง (ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๓ วรรค ๑)
ขายทอดตลาด เอาทรัพย์ออกร้องขายโดยเปิดเผย คนทั่วไปมีอำนาจเข้าไปฟังได้ ผู้ที่มาซื้อต่างแย่งกันให้ราคาขึ้นไป ในที่สุดผู้ใดให้ราคาสูง ผู้ร้องขายลงค้อนตกลงคำแก่ผู้นั้น การซื้อขายเป็นอันตกลงกันทันที (ดู ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๙ ถึงมาตรา ๕๑๗)
ขายประมูล เอารายละเอียดแห่งทรัพย์ที่จะขายออกประกาศเชิญคนทั้งหลายให้เข้ามาซื้อ โดย—
(๑)ประมูลเป็นหนังสือ คือ ให้ผู้ที่จะซื้อเขียนหนังสือแจ้งราคาขอรับซื้อยื่นต่อผู้ขายภายในกำหนดเวลาที่ผู้ขายกำหนดไว้ เมื่อผู้ขายตรวจดูราคาที่ผู้ซื้อทั้งหลายยื่นไว้ เห็นสมควรจะขายให้ผู้ใด ก็บอกตกลงไปยังผู้นั้น ฤๅ
(๒)ประมูลด้วยปาก คือ ผู้ซื้อไปยังที่และเวลาที่ผู้ขายกำหนดไว้ แล้วก็แย่งต่อราคากันขึ้นไป ในที่สุดผู้ใดให้ราคาสูง ผู้ขายยอมบอกขายแก่ผู้นั้น วิธีนี้เป็นอย่างเดียวกับวิธีขายทอดตลาด (ดู ขายทอดตลาด)
ขายเผื่อชอบ ขายโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อได้มีโอกาศตรวจดูทรัพย์สินก่อนที่จะรับซื้อ ในเมื่อผู้ซื้อได้รับทรัพย์สินแล้ว ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อ—
(๑)มิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว ฤๅ
(๒)ไม่ส่งทรัพย์สินนั้นคืนภายในกำหนดเวลา ฤๅ
(๓)ใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเสร็จหรือแต่บางส่วน ฤๅ
(๔)จำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อทรัพย์สินนั้น
(ป.ก.พ. มาตรา ๕๐๕, ๕๐๘)
ขายฝาก ขายโดยมีข้อสัญญาว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยผู้ขายมีอำนาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ในเมื่อไม่เกินเวลาดังนี้—
(๑)อสังหาริมทรัพย์ กำหนด ๑๐ ปี
(๒)สังหาริมทรัพย์ กำหนด ๓ ปี
(ป.ก.พ. มาตรา ๔๙๑, ๔๙๔)
ข้าราชการ คนที่ทำการหลวง
ข้าราชการตุลาการ ผู้ที่รับราชการในตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรคดีในศาลสถิตย์ยุตติธรรม (ดู พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. ๒๔๗๑)
ข้าราชการทหาร ผู้ที่รับราชการในฝ่ายทหาร (ดู ทหาร)
ข้าราชการในพระราชสำนัก ผู้ที่รับราชการในฝ่ายพระราชสำนัก
ข้าราชการพลเรือน ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้ารับราชการในกระทรวงทะบวงการแผ่นดินฝ่ายพลเรือน เว้นข้าราชการฝ่ายตุลาการ และให้รวมทั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือนในกระทรวงทหาร (พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๔)
ข้าราชการพลเรือนมี ๓ ประเภท คือ—
(๑)ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ—
(ก)ชั้นสัญญาบัตร์ ได้แก่ ข้าราชการซึ่งมียศตั้งแต่รองอำมาตย์ตรี หรือซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเสมอด้วยรองอำมาตย์ตรีขึ้นไป
(ข)ชั้นราชบุรุษ ได้แก่ ข้าราชการซึ่งมียศชั้นราชบุรุษ หรือซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเสมอด้วยราชบุรุษ
(๒)ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ ผู้ที่มีวิชาพิเศษซึ่งรัฐบาลจ้างไว้ให้ทำการฉะเพาะอย่างหรือชั่วเวลาจำกัด และข้าราชการฝ่ายรัฐพาณิชย์
(๓)เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการชั้นต่ำ
(พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๒๗, ๒๙,)
ข้าศึก ศัตรู, คนที่ปองจะทำร้าย
ข้าสาว บ่าวผู้หญิง
ข้าหลวง (๑) คนใช้ผู้หญิงของเจ้านาย (๒) ข้าราชการที่รัฐบาลส่งไปประจำเป็นครั้งคราวตามจังหวัดฤๅต่างประเทศ
ข้าหลวงพิเศษ ข้าหลวงที่รัฐบาลส่งไปจัดการเมืองชั่วครั้งชั่วคราว
ข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรม ข้าหลวงผู้มีอำนาจและหน้าที่ภายในบังคับแห่งบทพระธรรมนูญศาลยุตติธรรมตามที่เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมจะได้ออกท้องตราสั่งไป (ประกาศตั้งตำแหน่งข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรม ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒)
ตามพระธรรมนูญศาลยุตติธรรม มาตรา ๒๘ กล่าวว่า ข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรมนั้น คือ ผู้พิพากษาฝ่ายตุลาการอันได้มีพระบรมราชโองการตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบังคับอรรถคดีแพ่ง กรณีย์อาชญา และตรวจตราระเบียบราชการศาล แนะนำครอบงำผู้พิพากษาตุลาการทั่วหัวเมืองมณฑลในพระราชอาณาจักร์ (ดู ประกาศแก้พระธรรมนูญข้าหลวงพิเศษ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)
แต่เดิมนั้นข้าหลวงพิเศษมีถึง ๓ จำพวก คือ—
(๑)ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง
(๒)สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล
(๓)ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เสนาบดีมหาดไทยตั้ง
ขึ้ง โกรธ, เคือง
ขึ้งเคียด โกรธแค้น
ขู่รู่ ขู่
เขตต์ตรวจแร่ เขตต์ที่ดิน (ทั้งที่ดินใต้น้ำด้วย) ซึ่งได้กำหนดอนุญาตไว้ในอาชญาบัตร์ผูกขาดตรวจแร่ ผู้รับอาชญาบัตร์ผูกขาดตรวจแร่มีอำนาจตรวจหาแร่ในเขตต์ที่ได้ผูกขาดไว้นั้นแต่ผู้เดียว (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ ข้อ ๔)
เขตต์เหมืองแร่ พื้นที่ดิน ทั้งที่ดินใต้น้ำ อันรวมอยู่ในเขตต์ซึ่งได้กำหนดไว้ในประทานบัตร์ (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ ข้อ ๖)
เขย ญาติจำพวกชายที่เกิดขึ้นโดยทางสมรส, สามีของญาติ.