พจนานุกรมกฎหมาย/ก
พจนานุกรมกฎหมาย
ก.
กงสุล
กงสุล | ผู้แทนรัฐบาลในส่วนค้าขาย | |
กฎ | ข้อบังคับที่ได้ตั้งขึ้นไว้ เช่น กฎวางระเบียบเครื่องแต่งกายผู้พิพากษาตุลาการ พ.ศ. ๒๔๕๙ | |
กฎยุทธวินัย | ข้อบังคับที่ว่าด้วยวินัยแลการลงอาชญาแก่ทหาร เช่น กฎว่าด้วยยุทธวินัยแลการลงอาชญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย พ.ศ. ๒๔๖๔ | |
กฎมณเฑียรบาล | ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการปกครองและรักษาการในพระราชสถาน เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๕๗ | |
กฎเสนาบดี | ข้อบังคับของเจ้ากระทรวงที่ตั้งขึ้นไว้โดยได้รับอำนาจจากกฎหมายที่ได้บ่งบัญญัติไว้และถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งกฎหมายที่ได้ตั้งขึ้น เช่น กฎเสนาบดีมหาดไทย เรื่อง การตรวจคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๗๐ | |
กฎหมาย | มีผู้แปลกันต่าง ๆ เช่น ออสบอน (Osborn) ว่า "กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ผูกพันความประพฤติให้จำต้องกระทำ" ฮอบบส์ (Hobbes) แปลว่า "คำสั่งของบุคคลผู้หนึ่งหรือหลายคนที่มีอำนาจบังคับประจำตัว" ออสติน (Austin) อธิบายว่า "กฎหมาย คือ เป็นข้อบังคับสำหรับความประพฤติ ซึ่งรฐาธิปัตย์ได้บัญญัติและบังคับไว้" แซลมอนด์ (Salmond) แก้ศัพท์ว่า "กฎหมายเป็นองค์กำหนดการปฏิบัติ ซึ่งบ้านเมืองถือกำหนดและนำมาใช้ในการอำนวยความยุตติธรรม" แบลกสะโตน (Blackstone) ถือว่า "ข้อบังคับแห่งกฎหมายซึ่งได้ทำขึ้นตามประเพณีที่เคยมีมาแต่ก่อน ให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย นอกจากผู้ตั้งกฎหมาย หรือตุลาการ" เมน (Maine) นั้น ชี้แจงว่า "มีกฎหมายในระวางประชุมชนมาแต่ครั้งโบราณ" ซาวิญีย์ (Savigny) ถือว่า "กฎหมายนั้นย่อมเจริญขึ้นในตนเองได้โดยตามลำดับ แต่ไม่เป็นไปตามใจของผู้ออกกฎหมาย" เจอริง (Jhering) เห็นผลที่สุดของกฎหมายว่า เป็น "กำหนดเขตต์ของผลประโยชน์" วิโนกราดอฟฟ์ (Vinogradoff) เห็นว่า กฎหมายเป็น "ข้อบังคับชุดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและบังคับฝูงชน เนื่องด้วยการถืออำนาจและใช้อำนาจเหนือบุคคลแลสิ่งของ" เดอ มอนต์โมเรนซี (De Montmorency) กระจายศัพท์กฎหมายลงว่า "เป็นข้อบังคับซึ่งรัดรึงคนทั้งหลายให้เข้าเป็นหมู่คณะ ในการที่จะต่อต้านกับธรรมชาติที่ห้อมล้อมโดยรอบกาย" | |
แต่ถ้าจะแปลกันอย่างสั้น ๆ แล้ว ก็ควรจะต้องกล่าวว่า "กฎหมาย เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุดในประเทศเอกราช ได้บัญชาลงไว้ให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับประพฤติตาม ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นจะต้องถูกบังคับให้ต้องรับโทษหรือสำนอง" | ||
กฎหมายแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ— | ||
(๑)สารบัญญัติ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา (ฉะเพาะความใน ภาคที่ ๒) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ในส่วนที่มิใช่เกี่ยวแก่วิธีพิจารณา) เป็นต้น | ||
(๒)สบัญญัติ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยกระบวนพิจารณาสำหรับชำระความในศาล เพื่อดำเนิรการบังคับให้เป็นผลตามสิทธิที่มีอยู่ กล่าวคือ การพิจารณาให้ล่วงรู้ว่า กิจการใดที่บุคคลใดได้ทำไปเป็นผิดหรือชอบด้วยสารบัญญัติประการใด เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗, พระราชบัญญัติลักษณะพะยาน ร.ศ. ๑๑๓ เป็นต้น | ||
สารบัญญัติยังแบ่งออกได้อีก ๒ อย่าง คือ— | ||
(๑)อาชญา คือ กฎหมายที่ลงโทษคนในทางอาชญา (ดู กฎหมายลักษณะอาชญา) | ||
(๒)แพ่ง คือ กฎหมายที่บังคับ ปรับปรุง หรือใช้สินไหมทดแทน เพราะเหตุที่กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อกัน (ดู กฎหมายลักษณะแพ่ง) | ||
แพ่งนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นอีก ๒ ชะนิด คือ— | ||
(๑)สัญญา (ดู สัญญา) | ||
(๒)ละเมิด (ดู ละเมิด) | ||
กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้ มี ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งออกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า "ประมวล" (Code) เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของไทยเรา เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ออกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างที่เรียกว่า "กฎหมายธรรมดา" (Common Law) มีของอังกฤษเป็นอาทิ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) เรียกกฎหมายที่ประกาศเป็นบทมาตราแล้วว่า "บทกฎหมาย" ตรงกับภาษาละตินว่า "Lex" เรียกกฎหมายทั่ว ๆ ไป จะประกาศเป็นบทมาตราแล้วหรือยังก็ตาม ว่า "กฎหมาย" ตรงกับภาษาละตินว่า "Jus" (ดู ฟุตโน๊ตในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉะบับเก่า) ตอนที่ ๓ หน้า ๓๑๘ ของท่านผู้นี้) | ||
กฎหมายนานาประเทศ | ดู กฎหมายระวางประเทศ | |
กฎหมายปิดปาก | ดู บทตัดสำนวน | |
กฎหมายสันนิษฐาน | ความสันนิษฐานของกฎหมาย ในเมื่อมีเหตุการณ์อันเป็นข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ให้ถือว่าผลต้องฤๅควรเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ฤๅเท่ากับเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ | |
ข้อสันนิษฐานในทางกฎหมายนั้น พอแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ– | ||
(๑)สันนิษฐานโดยข้อกฎหมาย เช่น กฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา ๕๖ สันนิษฐานว่า เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบไม่รู้เดียงสา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๔–๖๕ สันนิษฐานว่า คนที่สาบสูญไปตั้ง ๗ ปีนั้น ตาย | ||
ข้อนี้ยังแบ่งออกได้อีก ๒ ประการ คือ— | ||
(ก)สันนิษฐานเด็ดขาด คือ ไม่ยอมให้สืบพะยานหักล้าง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ ที่กฎหมายสันนิษฐานว่าไม่รู้เดียงสา จะนำสืบว่ารู้เดียงสาไม่ได้ (ป.ก.อ. มาตรา ๕๖) | ||
(ข)สันนิษฐานไม่เด็ดขาด คือ ยอมให้สืบพะยานหักล้างได้ เช่น ผู้ที่มิได้เล่นการพะนัน แต่ถูกจับในวงการพะนันที่เล่นกันโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายสันนิษฐานก่อนว่าผู้ถูกจับเป็นผู้เล่น แต่ผู้ถูกจับสืบหักล้างได้ว่าไม่ได้เล่น (พ.ร.บ. การพะนัน พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๖) | ||
(๓)สันนิษฐานโดยข้อเท็จจริง เช่น ใช้ปืนยิงคน ตามธรรมดาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ยิงตั้งใจจะฆ่าผู้ถูกยิงให้ตาย เพราะปืนเป็นอาวุธร้ายแรงมาก (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๔/๑๒๘, ๕๔๗/๑๒๘) แต่นำสืบหักล้างได้ | ||
กฎหมายระวางประเทศ | แบบธรรมเนียม ประเพณี และกฎข้อบังคับ สำหรับความประพฤติของประเทศต่าง ๆ ต่อกันแลกัน (ดู พระราชนิพนธ์หัวข้อกฎหมายนานาประเทศแผนกคดีเมือง ของพระมงกุฎเกล้าฯ หน้า ๓) | |
บางคนเรียกกฎหมายระวางประเทศว่า "ธรรมะระวางประเทศ" เพราะไม่เป็นกฎหมายบริบูรณ์ คือ ขาดการบังคับได้อย่างจริงจังในเมื่อมีผู้กระทำผิด | ||
กฎหมายลักษณะแพ่ง | กฎหมายที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ของบุคคลผู้ที่กระทำผิด เป็นการกระทำผิดต่อเอกชน จะได้รับผลเพียงถูกบังคับใช้ทรัพย์ฤๅใช้สินไหมทดแทน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ | |
กฎหมายลักษณะอาชญา | กฎหมายที่บัญญัติความผิด ซึ่งโดยมากเป็นการกระทำผิดต่อประชาชน ฤๅประชาชนได้รับความเสียหาย โดยกำหนดการลงโทษผู้กระทำผิดไว้เป็นอาชญา เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา | |
กฎอัยยการศึก | กฎหมายที่ใช้บังคับเหนือกฎหมายธรรมดาโดยอำนาจศาลทหารชั่วครั้งคราวเพื่อการปกครองท้องที่ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ (ดู ศาลสนาม) | |
กติกา | การกำหนด, การนัดหมาย | |
กบฎ | ดู ขบถ | |
กรณีย์ | คดีความ, เรื่อง, กิจการที่กระทำ | |
กรม | ราชการแผนกหนึ่ง ๆ ที่แบ่งออกจากทะบวงการ ซึ่งมีหัวหน้าเป็นเจ้ากรมหรืออธิบดีปกครองบังคับบัญชา เช่น กรมตำรวจภูธร | |
กรมการ | ดู กรรมการ | |
กรมตำรวจภูธร | ราชการแผนกหนึ่งซึ่งมีอธิบดีเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการจัดตั้งตำรวจฯ ขึ้นปราบปรามโจรผู้ร้ายและรักษาศานติสุขแห่งประชาชน (ดู ตำรวจ) | |
กรมธรรม์ | หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นตามแบบ และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ | |
มีหนังสืออีกชะนิดหนึ่งซึ่งมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน กฎหมายก็เรียกว่า "กรมธรรม์" คือ หนังสือตราสารที่ผู้รับประกันภัยทำให้แก่ผู้เอาประกันภัยในเรื่องประกันภัย แต่เรียกว่า "กรมธรรม์ประกันภัย" (ป.ก.พ. มาตรา ๘๖๗) | ||
กรมธรรม์ประกันภัย | หนังสือตราสารที่ผู้รับประกันภัยทำให้แก่ผู้เอาประกันภัยในการประกันภัย | |
กรมธรรม์ประกันภัยนี้ต้องลงลายมือชื่อผู้รับประกันภัย แลมีรายการดังต่อไปนี้— | ||
(๑)วัตถุที่เอาประกันภัย | ||
(๒)ภัยใดซึ่งผู้เอาประกันภัยรับเสี่ยง | ||
(๓)ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้ | ||
(๔)จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย | ||
(๕)จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย | ||
(๖)ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย | ||
(๗)ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย | ||
(๘)ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย | ||
(๙)ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี | ||
(๑๐)วันทำสัญญาประกันภัย | ||
(๑๑)สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย | ||
(ป.ก.พ. มาตรา ๘๖๗) | ||
กรมธรรม์สัญญา | ดู กรมธรรม์ | |
กรมรักษาทรัพย์ | ราชการแผนกหนึ่งซึ่งมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สมบัติของผู้ที่ต้องล้มละลายตามคำสั่งของศาล กับทั้งเป็นผู้จัดการทรัพย์สมบัติของผู้ที่ถูกล้มละลายด้วย | |
กรมอัยยการ | ราชการแผนกหนึ่งที่มีอธิบดีเป็นหัวหน้า มีหน้าที่เป็นทนายแทนแผ่นดินและฟ้องความแทนราษฎรในคดีอาชญาและคดีแพ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ฤๅที่ราษฎรไม่สามารถจะฟ้องด้วยตนเองได้ (ดู อัยยการ) | |
กรรม | การ, กระทำ, เจตนา, งาร, กิจ, ธุระ, หน้าที่ | |
กรรมกร | บุคคลผู้มีอาชีพในทางทำการงาร, คนงาร | |
กรรมกรณ์ | เครื่องสำหรับลงอาชญา เครื่องจองจำ เช่น โซ่ ตรวน เป็นต้น | |
กรรมการ | บุคคลผู้มีหน้าที่ประชุดจัดการงารของนิติบุคคล เช่น กรรมการของบริษัท กรรมการของสมาคม เป็นต้น และคนที่มีหน้าที่ตัดสินกรณีย์หรือพฤติการณ์อย่างใด ๆ เช่น กรรมการของศาลทหาร, กรรมการจัดการกิฬา เป็นอาทิ | |
กรรมการฎีกา | ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลนี้ที่จะเป็นองค์คณะตรวจตัดสินฎีกาได้ต้องมีไม่น้อยกว่า ๓ คน | |
กรรมสิทธิ์ | อำนาจแห่งความสำเร็จเด็ดขาดในการที่จะยึดถือ ใช้ เก็บประโยชน์ ซื้อ ขาย จำหน่าย หรือทำลายทรัพย์นั้นได้ เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม | |
กรรมสิทธิ์เกิดขึ้นได้ดังนี้— | ||
(๑)โดยเข้ายึดถือ | ||
(๒)โดยอายุความ | ||
(๓)โดยทำขึ้น | ||
(๔)โดยเป็นส่วนหนึ่งแห่งของเดิม | ||
(๕)โดยเจ้าของโอนให้ | ||
(๖)โดยทางมฤดก | ||
อำนาจกรรมสิทธิ์นี้ ตามธรรมดาย่อมมีอยู่แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอไป เว้นไว้แต่— | ||
(๑)เจ้าของสละ เช่น ขายทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นโดยถูกต้องตามกฎหมาย อำนาจกรรมสิทธิ์นี้ขาดทันที แต่บางอย่างไม่ขาดทันทีโดยกฎหมายบัญญัติ เช่น การละทิ้งที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ จะขาดกรรมสิทธิ์ต่อเมื่อละทิ้งครบกำหนดอายุของหนังสือสำคัญที่กฎหมายบัญญัติไว้ (ดู โฉนด, ตราแดง, ตราจอง, ใบเหยียบย่ำ, หนังสือสำคัญสำหรับที่บ้าน) | ||
(๒)เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับ เช่น กรรมสิทธิ์หนังสือที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้แต่งกรรมสิทธิ์มีตลอดอายุของผู้แต่ง แลต่อไปอีก ๗ ปีนับตั้งแต่วันที่ผู้แต่งวายชนม์ แต่ถ้าผู้แต่งมีกรรมสิทธิ์อยู่จนถึง ๗ ปีแล้วจึงวายชนม์ ให้มีกรรมสิทธิ์รวม ๔๒ ปีนับจากวันได้รับกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้ว ให้ใช้ได้เพียง ๑๐ ปี แต่จะจดทะเบียนต่อไปอีกก็ได้ (ดู เครื่องหมายการค้า) | ||
ผู้ทรงกรรมสิทธิ์นั้นจะมีอำนาจทรงอยู่ได้ก็ในระวางมีชีวิต แต่ถ้าวายชนม์ลงแล้ว จะต้องโอนไปยังผู้รับมรฎกฤๅวิธีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ | ||
กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ | อำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวในการที่จะพิมพ์ จัดคัดแปลเป็นภาษาอื่น หรือจะเพิ่มจำนวนเล่ม หรือจะจำหน่ายหรือขายหนังสือที่ตนมีกรรมสิทธิ์นั้นได้แต่ผู้เดียว ผู้อื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์หามีอำนาจไม่ (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๔) | |
หนังสือที่แต่งซึ่งจะมีกรรมสิทธิ์ได้นั้น ต้องเป็นหนังสือที่ได้พิมพ์จำหน่ายเป็นครั้งแรกในพระราชอาณาจักร์ (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๗) | ||
หนังสือนั้นต้องนำไปจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานภายใน ๑๒ เดือนนับตั้งแต่ได้พิมพ์ออกจำหน่าย (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๑๐) | ||
หนังสือนั้นจะต้องพิมพ์คำว่า "มีกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ" ลงที่หน้าหนังสือ หรือใบปกหน้าสมุด หรือส่วใดส่วนหนึ่งที่เห็นได้ง่าย (พ.ร.บ. แก้ไขกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๒๒) | ||
กรรมสิทธิ์ในหนังสือนี้มีอยู่ตลอดอายุของผู้แต่งหนังสือ แลต่อไปอีก ๗ ปีจากวันที่ผู้แต่งวายชนม์ แต่ถ้าผู้แต่งมีกรรมสิทธิ์อยู่จนถึง ๗ ปีแล้วจึงวายชนม์ ให้มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นเวลา ๔๒ ปีนับจากวันได้รับกรรมสิทธิ์ (พ.ร.บ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. ๑๒๐ มาตรา ๕) | ||
กระทรวง | ทะบวงการของรัฐบาลแผนกหนึ่ง ๆ ที่มีหัวหน้าเป็นเสนาบดีปกครองบังคับบัญชา เช่น กระทรวงยุตติธรรม | |
กระทรวงกลาโหม | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการทหารบก | |
กระทรวงการต่างประเทศ | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการพูดจาโต้ตอบกิจการบ้านเมือง ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำสัญญากับนานาชาติเพื่อความศานติสุข ตลอดถึงการค้าขายซึ่งเกี่ยวกับคนในบังคับรัฐบาลต่างประเทศ | |
กระทรวงเกษตราธิการ | กระทรวงที่มีหน้าที่ออกโฉนดที่ดินเรือกสวนไร่นา การขุดหาแร่ การรักษาสัตว์น้ำ และการป่าไม้ในพระราชอาณาจักร์ | |
กระทรวงทหารเรือ | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการทหารเรือ | |
กระทรวงธรรมการ | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการพระสาสนาและการศึกษา | |
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการเงินของแผ่นดิน | |
กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดการทำนุบำรุงการคมนาคม เช่น รถไฟ ทางหลวง แลทางราษฎร์ จัดการไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ในการส่งข่าวสาส์น จัดการเผยแผ่แลบำรุงการพาณิชย์ กับบำรุงการเพาะปลูกของประเทศ | |
กระทรวงยุตติธรรม | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดการศาล รักษาพระธรรมนูญแลตัวบทกฎหมายแผ่นดิน แลพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุตติธรรม | |
กระทรวงมหาดไทย | กระทรวงที่มีหน้าที่ในการจัดการปกครองรักษาประชาชนในพระราชอาณาจักร์ | |
กระทรวงวัง | กระทรวงที่มีหน้าที่จัดการต่าง ๆ ในพระราชสำนักอันเกี่ยวในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลพระบรมราชวงศ์ กับจัดการงารในพระราชพิธีต่าง ๆ | |
กระทำ | การที่สะแดงออกมาแห่งความตกลงในใจของบุคคลคนหนึ่งคนใด มุ่งถึงเหตุเดิมแห่งสิทธิ หรือความเป็นที่สิ้นสุดแห่งสิทธิ หรืออาการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น | |
การกระทำนี้ย่อมประกอบด้วยข้อสำคัญ ๓ ประการ คือ— | ||
(๑)ความตกลงในใจ | ||
(๒)ความรู้สึกเหตุผล | ||
(๓)ความตกลงในใจได้สะแดงออกมา | ||
ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา ไม่หมายความแต่ฉะเพาะการที่บุคคลกระทำ ให้หมายความได้ตลอดถึงการละเว้นการซึ่งกฎหมายกำชับให้กระทำและผลแห่งการละเว้นนั้นด้วย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๑)) | ||
อุทาหรณ์เช่น เราเอาปืนยิงคนตาย เรียกว่าเราได้กระทำให้คนตายโดยเจตนา แต่ถ้าเราเอาลูกขังจนลูกอดข้าวตาย ก็เรียกว่าเรากระทำให้ลูกตายเหมือนกัน เพราะเราละเว้นการซึ่งกฎหมายกำชับให้กระทำ คือ การให้ลูกกินข้าว จนเกิดผลถึงลูกตาย | ||
กระทำการทุจริต | ผู้ใดกระทำการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองก็ดี เพื่อผู้อื่นก็ดี อันเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แลเกิดการเสียหายแก่ผู้อื่น (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๓)) เช่น ถือเอาประโยชน์อันเกิดจากการยักยอกทรัพย์ | |
กระทำความผิด | ผู้ใดกระทำการอันใดซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติว่าจะต้องถูกทำโทษ (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๖)) เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น | |
กระทำพยานเท็จ | กระทำการอย่างใด ๆ อันประกอบด้วยความเท็จ เพื่อให้เป็นหลักถานพะยานในภายน่า | |
ตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา มีดังนี้ คือ— | ||
(๑)ก่อให้เกิดมีขึ้นด้วยประการใด ๆ หรือทำบัญชีหรือจดลงในจดหมายและหนังสือเอกสารใด ๆ ที่อาจจะพึงใช้เป็นสักขีพะยานในข้อสำคัญแห่งการพิจารณาคดีอันใด โดยรู้อยู่ว่าเหตุการที่ก่อให้เกิดขึ้นและบัญชีหรือหนังสือที่ทำนั้นจะให้เสียความสัตย์จริงในคดี (ป.ก.อ. มาตรา ๑๕๗) | ||
(๒)เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ทำหนังสือราชการหรือจดบัญชีและข้อความที่เป็นหลักถานอย่างใด ๆ ได้บังอาจเอาเนื้อความซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาจดลงว่าเป็นความจริง หรือจดลงโดยลักษณะอันเป็นเท็จ อาจสามารถจะเกิดการเสียหายแก่ผู้อื่นได้ (ป.ก.อ. มาตรา ๒๓๐) | ||
(๓)แพทย์จดหมายข้อความเท็จลงในหนังสือสะแดงความเกิดความตายหรือใบบอกอาการของบุคคล โดยรู้ว่าจะมีผู้เอาหนังสือไปหลอกลวงเจ้าพนักงานในหน้าที่หรือหลอกลวงบริษัทรับประกันให้หลงเชื่อ (ป.ก.อ. มาตรา ๒๓๑) | ||
กระทำมิชอบ | ผู้ใดกระทำการอันใดที่ตนมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒)) เช่น ทำร้ายร่างการผู้อื่นโดยมิได้มีอำนาจที่จะทำได้ | |
กระทำให้เสื่อมเสียอิสสระภาพ | ผู้ใดมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย บังอาจใช้อำนาจกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือมิกระทำการใด ๆ ก็ดี หรือข่มขืนใจให้เขาจำยอมให้กระทำการใด ๆ ก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๒๖๘) | |
กระทำให้เสื่อมเสียอิสสระภาพมีเกณฑ์ดังนี้ คือ— | ||
(๑)ใช้อำนาจกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้าย | ||
(๒)โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย | ||
(๓)ให้เขากระทำการ หรือละเว้นกระทำการ หรือยอมให้กระทำการอย่างใด ๆ | ||
อุทาหรณ์เช่น ผู้ใหญ่บ้านพูดห้ามคนแจวเรือจ้างว่า ไม่ให้รับส่งคนโดยสาร ถ้าขืนรับจะต้องจับ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐/๒๔๕๔) หรือเอาคนมากักขังโดยมิได้มีอำนาจที่จะกระทำได้ (ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗/๒๔๕๗, ๔๕/๒๔๕๙, ๕๑๖/๒๔๖๒, ๙๑๗/๒๔๖๓) | ||
กระทู้ | ข้อความ, หัวข้อ, เค้าเงื่อน. | |
กระบิล | ข้อ, เค้า, แบบแผน, หมู่. | |
กระษาปณ์ | เงินตรา | |
กฤษฎีกา | ดู กติกา | |
กลฉ้อฉล | โกงโดยใช้อุบาย | |
กลพะยาน | พะยานที่ถูกวานให้ไปถามเป็นคำนับ (กฎห์ ลักษณะพะยาน บทที่ ๙) | |
กล้องสูบฝิ่น | หัวกล้อง หรือด้ามกล้อง หรือทั้งหัวกล้องและด้ามกล้องรวมกัน หรือเครื่องมืออย่างอื่นอันทำไว้เพื่อสูบฝิ่น (พ.ร.บ. ฝิ่น พ.ศ. ๒๔๗๒ มาตรา ๓ วรรค ๖) | |
กลางคืน | เวลาระวางตั้งแต่พระอาทิตย์ตกไปจนพระอาทิตย์ขึ้น (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๔)) | |
กสิกรรม | การเพาะปลูก | |
ก่อการจลาจล | บุคคลมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังกระทำร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำร้าย หรือกระทำการอย่างใด ๆ ขึ้นให้วุ่นวายในบ้านเมือง (ป.ก.อ. มาตรา ๑๘๓) | |
กองหมาย | ราชการแผนกหนึ่งซึ่งมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการนำหมายของศาลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ไปส่งให้โจทก์ จำเลย หรือพะยานตามที่ศาลต้องการ ทั้งมีหน้าที่ในการยึดทรัพย์และจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของคู่ความตามคำสั่งของศาลแลกรมรักษาทรัพย์ด้วย | |
กะเกณฑ์ | บังคับ, กำหนด, หมาย | |
กะทง | ฐานโทษ | |
กะทงแถลง | คัดใจความยกขึ้นเสนอ | |
กะบิล | ดู กระบิล | |
กัก | หน่วงเหนี่ยวเอาไว้ | |
กักห้ามเรือ | ตามกฎหมายระวางประเทศหมายถึง กิริยาที่ประเทศที่ได้รับความเจ็บแค้นกักห้ามเรือของประเทศที่กระทำผิดที่อยู่ภายในอ่าวของประเทศซึ่งห้ามเป็นการตอบแทน | |
กันโชก | ผู้ใดไม่มีอำนาจที่จะได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ได้บังอาจบังคับผู้อื่นด้วยใช้กำลังข่มขืนหรือขู่เข็ญขืนใจให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ก็ดี หรือให้เขาทำ หรือถอน หรือทำลายหนังสือสำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๓๐๓) | |
กันโชกมีเกณฑ์ดังนี้ คือ— | ||
(๑)บังคับเขาโดยใช้กำลังข่มขืนหรือขู่เข็ญขืนใจเขา | ||
(๒)ให้เขาทำสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ หรือให้เขาทำ หรือถอน หรือทำลายหนังสือสำคัญ | ||
(๓)โดยตนไม่มีอำนาจที่จะบังคับเขาเช่นนั้น | ||
(๔)กระทำโดยเจตนาทุจริต | ||
อุทาหรณ์เช่น ทนายความนำยึดทรัพย์ของตัวความอีกฝ่ายหนึ่งที่แพ้คดี ในการยึดทรัพย์นั้น ทนายความพบธนบัตร์ ๑ ฉะบับ จึงพูดว่า ผู้ถูกยึดจะต้องติดตรางในเรื่องมีธนบัตร์ปลอมและยักยอกทรัพย์ที่จะยึด เพื่อประสงค์จะให้เขาให้เงินแก่ตน ผู้ถูกยึดมีความกลัว จึงยอมทำสัญญายกทรัพย์ให้ทนายความผู้นั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๖/๒๔๖๘) | ||
กานไม้ | ตัดต้นไม้ไว้แต่พอควรเพื่อจะได้ตัดขาดจากต้นในภายหน้า (ดู พ.ร.บ. รักษาต้นไม้สัก ร.ศ. ๑๑๖) | |
การ | กิจ, งาร, ธุระ, หน้าที่, สิ่งที่กระทำ | |
การค้าขาย | การลงทุนด้วยสินทรัพย์ หรือด้วยกำลัง หรือความคิดก็ดี หรือด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณก็ดี เพื่อหาผลกำไรจากการที่ลงทุนกระทำนั้น | |
การณ์ | เหตุ, เหตุการณ์, เค้า, มูล. | |
การณรงค์สงคราม | ดู สงคราม | |
การพะนัน | สัญญาในระวางบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป มีความเห็นต่างกันในสิ่งที่ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจะตรงกับความเห็นฝ่ายใด และเมื่อสิ่งนั้นมีความเป็นอยู่ฤๅเกิดขึ้นตรงกับความเห็นฝ่ายใดแล้ว ฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ จะต้องได้สินทรัพย์จากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายที่แพ้ | |
ยังมีสัญญาอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายสัญญาการพะนัน คือ "สัญญาประกันภัย" แต่เป็นพาณิชโยบายที่จะช่วยการค้าขายได้ส่วนหนึ่ง กฎหมายจึงกำหนดเอาว่าเป็นสัญญาที่ใช้ได้ต่างหากจากสัญญาการพะนัน (ดู ประกันภัย) | ||
"การพะนัน" นี้บางคนก็เรียกว่า "การพะนันขันต่อ" แต่แท้จริง "การพะนัน" เป็นคำหนึ่งที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Gambling" ซึ่งเป็นการพะนันที่เล่นกันโดยมิได้มีการต่อรอง เช่น เล่นไพ่ตอง เป็นต้น และ "ขันต่อ" เป็นอีกคำหนึ่งที่เรียกว่า "Betting" ซึ่งเป็นการพะนันที่มีการต่อรองกัน เช่น เล่นตีไก่ กัดปลา เป็นอาทิ (ดู ขันต่อ) | ||
การพะนันขันต่อไม่ทำให้เกิดหนี้ตามกฎหมาย สิ่งที่ให้ไปในการพะนันก็เรียกคืนไม่ได้ และใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้ฝ่ายที่เสียการพะนันขันต่อทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อใช้เงินพะนันหรือขันต่อนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๘๕๓ และควรดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีแดงที่ ๔๗๗๑๖/๒๔๗๓ ระวางนายประเวศน์ เบลี่, นายแจ้ ผดุงชีวิต โจทก์ สโมสรราชตฤณมัย กับนาย ดี. เอ. เปสตันยี จำเลย ซึ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดเพียงนั้น) | ||
การพิจารณาคดีล้มละลาย | การพิจารณาในคดีล้มละลาย จะเป็นที่ศาลหรือที่เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ก็ตาม นับตั้งแต่ชั้นยื่นฟ้องจนถึงชั้นคำสั่งเด็ดขาด (พ.ร.บ. ล้มละาย ร.ศ. ๑๓๐ มาตรา ๖ วรรค ๘) | |
การพิมพ์ | การกดให้เป็นรอยอย่างใด ๆ ไม่ฉะเพาะแต่ด้วยตีพิมพ์ ให้หมายควมตลอดทั้งการที่ทำด้วยพิมพ์หิน ฤๅใช้ด้วยเครื่องกล ฤๅด้วยเฆมีอย่างใด ๆ อันเป็นทางให้ทำได้หลาย ๆ ฉะบับ (พ.ร.บ. สมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ มาตรา ๔ วรรค ๒) | |
การสมรส | ดู สมรส | |
การสุขาภิบาล | การเหล่านี้ คือ— | |
(๑)การรักษาความสะอาดในท้องที่ | ||
(๒)การป้องกันและรักษาความไข้เจ็บในท้องที่ | ||
(๓)การบำรุงรักษาทางไปมาในท้องที่ | ||
(พ.ร.บ. จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔) | ||
กำนัน | ผู้ปกครองลูกบ้านในตำบลหนึ่ง ๆ (ดู พ.ร.บ. ลักษณปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๓๐) | |
กำนล | เครื่องเส้น, เครื่องบูชา, เครื่องคำนับ | |
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้เรียกจำนวนเงินที่ครูผู้สอนลูกมือฝึกหัดเรียกเอาแก่ลูกมือฝึกหัดนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๑๖๕ ข้อ ๑๐) | ||
กำนัล | นางพนักงานในพระราชสำนัก, ของที่ให้กันโดยความนับถือ (ดู กำนล) | |
กำเนิด | ความเกิด, เกิด, เป็นขึ้น, มีขึ้น, | |
กำปั่นใบ | ดู เรือใบ | |
กำปั่นไฟ | ดู เรือกลไฟ | |
กำปั่นยนตร์ | ดู เรือกลไฟ | |
กำมะลอ | ของทำเทียม | |
กำไร | ดู ผลกำไร | |
กิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค | การรถไฟ รถราง ขุดคลอง เดิรอากาศ ประปา ชลประทาน โรงไฟฟ้า และบรรดากิจการอื่นอันกะทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (พ.ร.บ. ควบคุมกิจการค้าขายอันกะทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๕) | |
กิจการในกฎหมาย | การแสดงออกซึ่งความตั้งใจโดยเจตนาที่จะก่อให้เกิดมีผลขึ้นตามกฎหมาย | |
กุมเกาะเบาะฉะแลง | ฉุดคร่าห์ | |
กุมมือ | บิดามารดาหญิงยกหญิงให้เป็นภรรยาชาย (กฎห์ ลักษณะผัวเมีย บท (ก)) | |
กู้เงิน | ดู กู้ยืม | |
กู้ยืม | สัญญาซึ่งผู้ให้กู้ยืมเงินโอนกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้กู้ยืม แลผู้กู้ยืมตกลงว่าจะใช้เงินอันมีจำนวนเท่าที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืม (ดู ยืมใช้สิ้นเปลือง) | |
แต่เดิมมากู้ยืมแบ่งเรียกเป็น ๒ คำ ถ้าเสียดอกเบี้ยเรียกว่า "กู้" ถ้าไม่เสียดอกเบี้ยเรียกว่า "ยืม" (ดู ฟุตโน๊ตของกรมหลวงราชบุรีในกฎหมาย เล่ม ๑ หน้า ๑๐๓) แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ออกใช้อยู่ในบัดนี้ รวมเรียกว่า "กู้ยืม" เป็นคำเดียว ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Loan" | ||
เกณฑ์ | ดู กะเกณฑ์ | |
เกณฑ์จ้าง | การเกณฑ์สัตว์พาหนะหรือยานพาหนะ หรือเกณฑ์แรงราษฎร ให้ช่วยในทางราชการ โดยราชการให้ค่าจ้างแก่ผู้ถูกเกณฑ์ตามสมควร (พ.ร.บ. เกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๑๙ มาตรา ๕–๖) | |
เกณฑ์เมืองรั้ง | ตำแหน่งสำรองผู้ว่าราชการจังหวัด | |
เกาะ | แผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ, จับ, กุม, ปรับ | |
เกาะกุม | จับกุม, ควบคุม | |
เกวียน | ยานพาหนะประเภทหนึ่ง มีล้อสองล้อ ใช้ไม้ประกอบเป็นเครื่องผูก มีหลังคาก็ดี หรือไม่มีหลังคาก็ดี ใช้เทียมด้วยสัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือ เป็นต้น หรือเกวียนซึ่งเรียกในท้องที่บางแห่งว่า ระแทะ ก็ดี รวมเรียกว่า เกวียน เว้นไว้แต่เกวียนบรรทุกอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีล้อทำด้วยเหล็กทั้งตัว หรือล้อมีเครื่องเหล็กประกอบใช้ฉะเพาะท้องที่มีถนนแล้ว เกวียนชนิดนี้เรียกว่า เกวียนล้อเหล็ก ไม่นับเป็นเกวียนตามพระราชบัญญัติขนาดเกวียนนี้ (พ.ร.บ. ขนาดเกวียน พ.ศ. ๒๔๕๙ มาตรา ๓) | |
เกียรติยศ | ยศคือความสรรเสริญ | |
เกษียณ | เสื่อมไป, หมดไป | |
แกงได | รอยขีดเขียนซึ่งบุคคลไม่รู้หนังสือเขียนลงไว้ในจดหมาย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๑)) | |
แก้ต่าง | ทนายผู้ว่าความต่างจำเลย (ดู ผู้แก้ต่าง และ ทนายความ) | |
แก้ฟ้อง | (๑) ให้การแก้ฟ้องโจทก์ (ดู ให้การ) (๒) แก้ข้อความในฟ้อง ก่อนเวลาจำเลยรับหมายและให้การ โจทก์มีโอกาศจะแก้ฟ้องได้ แต่ถ้าจำเลยได้รับหมายและยื่นคำให้การแล้ว โจทก์จะต้องขออนุญาตต่อศาลและแจ้งความให้จำเลยทราบก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาศค้าน ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๖๓ และดู มาตรา ๒๔ ใน พ.ร.บ. นี้ด้วย) | |
ฟ้องข้อใดที่โจทก์ขอแก้วแล้ว จะกลับขอแก้ข้อที่แก้แล้วอีกหนหนึ่งไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๐/๑๒๗) | ||
แก้ฟ้องแย้ง | ดู แก้ฟ้อง | |
แกล้งฟ้อง | นำเอาความที่ไม่จริงขึ้นฟ้องร้องผู้อื่นยังโรงศาลฤๅเจ้าพนักงานธุระการ | |
ผู้ใดนำเอาความเท็จไปฟ้องผู้อื่นในทางอาชญายังโรงศาล ผู้นั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา ๑๕๘ ถ้านำเอาความเท็จไปฟ้องร้องผู้อื่นในทางอาชญายังเจ้าพนักงานธุระการ ผู้ฟ้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา ๑๕๙ (ควรดู ป.ก.อ มาตรา ๑๑๘ ด้วย) ผู้ที่แกล้งฟ้องผู้อื่น นอกจากจะต้องมีโทษในทางอาชญาดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี ฤๅฟ้องในชนิดที่ไม่มีโทษในทางอาชญาก็ดี ผู้นั้นยังจะต้องรับผิดชอบในทางแพ่งอีกด้วย (ดู ลักษณะละเมิดใน ป.ก.พ.) | ||
โก่นสร้างเลิกรั้ง | เข้าทำในที่ดินที่ว่างเปล่า เพื่อจะปกครองหวงห้าม |