อ.
อคติ
อคติ ความลำเอียง
ตามกฎหมายลักษณะอินทภาษ ให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีความโดยปราศจากอคติ ๔ ประการ คือ—
(๑)ฉันทาคติ ความลำเอียงโดยเห็นแก่กันเพราะความรักใคร่
(๒)โทสาคติ ความลำเอียงโดยโกรธ
(๓)ภยาคติ ความลำเอียงโดยกลัวเกรง
(๔)โมหาคติ ความลำเอียงโดยหลงไม่รู้ทัน
(ดู กฎห์ลักษณะอินทภาษ ในกฎหมายราชบุรี หน้า ๓๕)
องคมนตรี ผู้เป็นที่ปรึกษาในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ดู พระราชปรารภ ใน พ.ร.บ. องคมนตรี พ.ศ. ๒๔๗๐ และดู พ.ร.บ. ปรีวีเคานซิล จุลศักราช ๑๒๓๖ ซึ่งได้ยกเลิกแล้วโดย พ.ร.บ. องคมนตรี พ.ศ. ๒๔๗๐)
อธิการ อำนาจ, การปกครอง, ความบังคับบัญชา, ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการอันยิ่งใหญ่
แต่ตามความหมายในพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ หมายถึง สมณะศักดิ์ประจำตัวของเจ้าอาวาศที่ไม่มีสมณะศักดิ์อื่น (พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มาตรา ๑๒ วรรค ๒)
อธิบดี ข้าราชการซึ่งเป็นหัวหน้าบังคับบัญชากิจราชการในกรมใหญ่กรมหนึ่ง ๆ
อนาจาร สิ่งที่มนุสส์รังเกียจ โดยเห็นว่า เป็นของน่าอาย, ความประพฤติมิควร, ความประพฤติชั่ว
อนามัย ความสุขกาย, ความไม่มีโรค
อนุกรรมการ กรรมการรอง
อนุญาโตตุลาการ ผู้ที่ตัดสินข้อพิพาท ซึ่งมิใช่ตัวผู้พิพากษาที่ตัดสินในศาลตามกระบวนความ
อนุญาโตตุลาการมี ๒ อย่าง คือ—
(๑)อนุญาโตตุลาการที่คู่ความขอให้ศาลตั้ง คือว่า มีคดีขึ้นในศาลแล้ว แต่ยังอยู่ในระวางพิจารณา และศาลยังมิได้ตัดสิน คู่ความตกลงกันขอให้ศาลเชิญบุคคลคนเดียวหรือหลายคนมาเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดคดีนั้นได้ (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๐๘) ถ้าศาลเชิญไม่ได้ คู่ความจะร้องขอให้ศาลเชิญคนอื่นเป็นอนุญาโตตุลาการอีกก็ได้ (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๐๙) ถ้าอนุญาโตตุลาการต้องการจะตรวจถ้อยคำสำนวนในคดีเรื่องนั้นที่ศาลได้พิจารณา หรือจะให้เรียกพะยานมาประกอบในการพิจารณา ให้ศาลเป็นธุระจัดการให้ตามอำนาจของศาล (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๑๑) เมื่ออนุญาตโตตุลาการทำการชี้ขาดแล้ว ให้เสนอรายงานต่อศาล แล้วให้ศาลตัดสินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๑๒)
(๒)อนุญาโตตุลาการที่คู่ความตั้งกันเองนอกศาล คือ ยังไม่มีคดีปรากฏขึ้นในศาล คู่ความได้ตกลงกันตั้งให้ผู้ใดผู้หนึ่ง จะเป็นคนเดียวหรือหลายคน ชำระข้อพิพาทนั้น (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๑๓) คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการชะนิดนี้ไม่เด็ดขาด คือว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประพฤติตาม ก็หามีผลอย่างใดไม่ จนกว่าผู้ชะนะจะนำคดีมาฟ้องยังศาลขอให้ยกคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาเป็นคำตัดสินของศาลอีกครั้งหนึ่ง (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๑๓)
ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนั้น ถ้าอนุญาโตตุลาการหลายคนด้วยกันมีความเห็นก้ำกึ่งกัน ก็ให้อนุญาโตตุลาการเลือกผู้เป็นประธานของอนุญาโตตุลาการอีกคนหนึ่งเพื่อชี้ขาดได้ ถ้าการเลือกผู้เป็นประธานไม่ตกลงกัน ก็ให้ผู้พิพากษาเลือกผู้เป็นประธานตั้งขึ้น (พ.ธ.ย. มาตรา ๑๑๐)
คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่ศาลได้ตัดสินตามนั้นเป็นคำพิพากษาที่เด็ดขาด ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษานี้ต่อไป เว้นไว้แต่—
(๑)เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลให้อุทธรณ์ในคดีที่มีคำพะยานอยู่บ้างว่า อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดได้พิจารณาโดยทางทุจริต หรือมีพะยานว่า คำชี้ขาดนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริต ฤๅ
(๒)เมื่อศาลตัดสินไม่ถูกกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น
(พ.ธ.ย. มาตรา ๑๑๔)
อนุบาล คอยเลี้ยง (ดู ผู้อนุบาล)
อนุภรรยา เมียทีหลั่นเมียหลวงลงไป, เมียน้อย
อนุมาน ความคาดหมาย
อนุมัติ ความเห็นชอบ
อนุโลม เป็นไปตาม
อนุวรรตน์ ประพฤติตาม, เอาอย่าง, ทำตาม
อสักขิกา หาพะยานมิได้
อสมพะยาน พะยานร่วมที่เบิกความมีพิรุธ (กฎห์ลักษณะพะยาน บทที่ ๕)
อสังกมะทรัพย์ ทรัพย์เคลื่อนที่อันมิอาจจะใช้ของอื่นแทนกันได้ (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๒)
อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน กับทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ซึ่งถ้าจะถอดถอน จะต้องถึงกับทำลายบุบฉลายเสียสภาพในส่วนสำคัญ รวมทั้งสิทธิอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นด้วย (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๐)
อวิญญาณกทรัพย์ ทรัพย์ที่ไม่มีชีวิต เช่น สิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น (ดู วิญญาณกทรัพย์)
อั้งยี่ ผู้ที่เป็นสมาชิกในสมาคมที่ปกปิดวิธีการของสมาคม และเป็นสมาคมที่ตั้งขึ้นเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย (ป.ก.อ. มาตรา ๑๗๗)
อัญญัตระพะยาน พะยานที่คู่ความอ้างแล้วนำตระลาการไปผะเชิญถึงบ้านเรือน ไม่พบพะยาน แต่ได้ปรากฎชื่อบ้านและเรือนพะยานแล้ว ภายหลัง คู่ความกลับนำตระลาการไปผะเชิญพะยานณเรือนอื่น ตระลาการหาพะยานออกมายังสถานที่อันควรแล้วถามพะยาน ๆ ว่าชื่ออื่น มิต้องชื่อปรากฎเมื่อไปหาคราวก่อน (กฎห์ลักษณะพะยาน บทที่ ๔๒)
อัญญมณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง เครื่องแก้วแหวน (ดู ป.ก.พ. มาตรา ๖๒๐) แต่ตามกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ หมายถึง ของที่ใช้ดินได้ (กฎห์ ลักษณะเบ็ดเสร็จ บทที่ ๔๓)
อัธยาศัย นิสสัยใจคอ, อารมณ์ความนิยม, ความประสงค์
อับปาง ล่ม, จม, ทำลาย (ใช้สำหรับเรือเดิรทะเล)
อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ความยิ่งหย่อนแห่งน้ำหนักและเนื้อเงินบริสุทธิ์ในเหรียญกระษาปณ์ (พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๔ วรรค ๑๐)
อากร เงินรายได้ของแผ่นดินซึ่งรัฐบาลเก็บจากราษฎร โดยกำหนดเอาจากบุคคลและสิ่งของภายในประเทศตามอัตราที่ตั้งขึ้นไว้ ดั่งที่เรียกกันว่า "ภาษีภายใน" (ดู ภาษี)
อากาศนาวา อากาศยานซึ่งเบากว่าอากาศ (พ.ร.บ. การเดิรอากาศ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๓ วรรค ๑)
อากาศยานต่างประเทศ อากาศยานต่างประเทศซึ่งมิได้ขึ้นทะเบียนตามวิธีที่พระราชบัญญัติการเดิรอากาศอนุมัติ และโดยปกติมิได้เก็บรักษาอยู่ในประเทศสยาม (พ.ร.บ. การเดิรอากาศ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๓ วรรค ๖)
อากาศยานบรรทุกของ อากาศยานซึ่งรับส่งหรือมุ่งหมายไว้สำหรับรับส่งคนโดยสารหรือของ เพื่อค่าจ้างหรือค่าโดยสารหรือค่าบรรทุก (พ.ร.บ. การเดิรอากาศ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๓ วรรค ๗)
อากาศยานบรรทุกคนโดยสาร อากาศยานซึ่งรับส่งหรือมุ่งหมายไว้สำหรับรับส่งคนโดยสารหรือของ เพื่อค่าจ้างหรือค่าโดยสารหรือค่าบรรทุก (พ.ร.บ. การเดิรอากาศ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๓ วรรค ๘)
อาชญา โทษที่จะลงแก่บุคคลผู้กระทำความผิดในทางอาชญา
อาชญาที่จะลงนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่ามี ๖ สฐาน คือ—
(๑)ประหารชีวิต
(๒)จำคุก
(๓)ปรับ
(๔)อยู่ภายในเขตต์ที่อันมีกำหนด
(๕)ริบทรัพย์
(๖)เรียกประกันทานบน
(ป.ก.อ. มาตรา ๑๒)
อาชญาบัตร์ผูกขาดตรวจแร่ หนังสือสำคัญซึ่งกรมราชโลหกิจได้ออกให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อให้ตรวจหาแร่ในที่ฉะเพาะซึ่งได้กำหนดไว้ในอาชญาบัตร์นั้นได้แต่ผู้นั้นผู้เดียว (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ (๓))
อาชญาบัตร์ตรวจแร่ หนังสือสำคัญซึ่งกรมราชโลหกิจได้ออกให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อการตรวจหาแร่ตลอดไปในท้องที่มีกำหนดอำเภอหนึ่งอำเภอใดหรือจังหวัดหนึ่งจังหวัดใด (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ (๒))
อาธิปัตย์ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
อาณาเขตต์ของประเทศ ตามกฎหมายระวางประเทศ ถือเอาภายในเขตต์ของประเทศที่ประกอบด้วยพื้นแผ่นดิน ทะเลสาบ แม่น้ำ ทะเล ซึ่งอยู่ภายในเขตต์ ๓ ไมล์ไกลจากฝั่ง เกร็ดและอ่าวตามชายทะเล กับเกาะทั้งปวงซึ่งอยู่ริมชายทะเล
อายัด ของที่ได้ร้องขอมอบหมายไว้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่หรือโรงศาล เพื่อมิให้เอาไปกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการกระทำให้ทรัพย์นั้นตกหรือโอนไปยังผู้อื่น จนกว่าจะพ้นกำหนดแห่งเวลาที่ได้อายัดไว้ หรือจนกว่าศาลจะได้พิเคราะห์ข้อพิพาทเสร็จสิ้นไปแล้ว
อายุความ กำหนดเวลาที่กฎหมายตั้งบัญญัติไว้ให้ฟ้องร้องกันได้ในคดีความ ถ้ามิได้ฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นอันฟ้องไม่ขึ้น (ป.ก.อ. มาตรา ๗๘ ป.ก.พ. มาตรา ๑๖๓ ถ้าจะดูความละเอียด ให้ดูตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นอย่าง ๆ ไป)
อารามราษฎร์ วัดซึ่งได้พระราชทานวิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้าบัญชีนับว่าเป็นวัดหลวง (พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มาตรา ๕ ข้อ ๒)
อาเลอ แปลง (ใช้สำหรับที่นา) เช่น ที่ ๑ อาเลอ คือ ที่ ๑ แปลง
อาว์ น้องของพ่อ ใช้อย่างเดียวกับ "อา"
อาวัล การค้ำประกันตั๋วแลกเงิน ซึ่งผู้ค้ำประกันได้เขียนคำว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือใจความทำนองนี้ แล้วลงลายมือชื่อในตั๋วหรือใบประจำต่อ หรือลงลายมือชื่อเฉย ๆ แต่ไม่ใช่ลงในฐานที่เป็นผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (ป.ก.พ. มาตรา ๙๓๘–๙๓๙)
อาวุธปืน บรรดาปืนทุกชะนิด รวมทั้งปืนที่ใช้ยิงได้โดยวิธีอัดลมหรือเครื่องกลอย่างใด ๆ และตลอดถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน แต่ไม่กินความถึงปืนสำหรับเด็กเล่นซึ่งไม่อาจทำอันตรายแก่บุคคลใด (พ.ร.บ. อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ร.ศ. ๑๓๑ มาตรา ๔ (๑) และประกาศแก้ไขเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ. ๒๔๕๘)
อำนาจ แปลได้หลายนัย คือ จะแปลว่า "สิ่งที่บุคคลจะร้องขอหรือบังคับให้บุคคลคนหนึ่งกระทำสิ่งใดหรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด" ก็ได้, จะแปลว่า "สิ่งที่คนหนึ่งจะยึดถือเป็นคู่มือสำหรับประโยชน์ที่จะได้มาจากความจำต้องทำหรือหน้าที่ของอีกคนหนึ่ง" ก็ได้, จะแปลว่า "ความสามารถที่จะร้องขอให้ผู้อื่นกระทำหรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด" ก็ได้, จะแปลว่า "สิ่งที่คนหนึ่งมีอำนาจเมื่อกฎหมายบังคับให้คนอื่นกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดแก่คนนั้น" ก็ได้, จะแปลว่า "บุคคลคนหนึ่งมีอำนาจเมื่ออีกคนหนึ่งหรือหลายคนจำต้องกระทำหรืองดเว้นการกระทำต่อคนนั้นโดยกฎหมายบังคับ" ก็ได้, หรือจะแปลว่า "ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและป้องกันให้" ก็ได้ (ดู สิทธิ)
อำนาจเดิรสะดวก ตามกฎหมายระวางประเทศ หมายถึง กิริยาที่เรือทั้งปวงอาจเดิรไปมาในเกร็ดแห่งทะเลได้โดยไม่ต้องถูกคัดค้านในเวลาไม่มีสงคราม แต่เป็นหน้าที่ของเรือเหล่านั้นที่จะไม่ประพฤติสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งนับเป็นกิริยาสำหรับเวลาสงคราม
อำนาจพร้อมบูรณ์ อำนาจที่ทำให้เกิดหน้าที่ได้พร้อมบูรณ์ ถ้าผู้มีหน้าที่ละเมิด ผู้มีอำนาจฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย เช่น เรื่องราษฎรบุกรุกที่ดินกันเองในเมื่อคดียังอยู่ภายในอายุความ เป็นต้น
อำนาจไม่พร้อมบูรณ์ อำนาจที่จะทำให้เกิดหน้าที่ได้ไม่พร้อมบูรณ์ ถ้าผู้มีหน้าที่ละเมิด ผู้มีอำนาจฟ้องร้องไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น เรื่องพะยานหลักฐานไม่มีตามที่กฎหมายต้องการ เรื่องขาดอายุความ เรื่องผู้มีหน้าที่ไม่อยู่ในกฎหมายหรืออำนาจศาล เป็นต้น
อำนาจชะนิดนี้มีผลแต่เพียง—
(๑)อาจเป็นข้อต่อสู้ในคดีความ แต่จะใช้เป็นเหตุฟ้องร้องไม่ได้
(๒)อาจจะยึดของเป็นประกันไว้ได้
(๓)อาจจะกลายเป็นอำนาจพร้อมบูรณ์ได้ภายหลัง
อำนาจห้าม อำนาจที่ทำให้เกิดหน้าที่จำต้องงดเว้นการกระทำ
อำนาจเหนือของ อำนาจที่จะขอร้องหรือบังคับคนใดคนหนึ่งทั่ว ๆ ไปให้งดเว้นหรือไม่กระทำสิ่งใด
อำนาจเหนือของแยกออกได้ดั่งนี้—
(๑)อำนาจในทางปลอดภัยและเป็นไทยแก่ตน
(๒)อำนาจในครอบครัว
(๓)อำนาจในเกียรติยศ
(๔)อำนาจที่จะได้รับประโยชน์ฐานเป็นไพร่บ้านพลเมืองของประเทศ
(๕)อำนาจในทรัพย์สมบัติ
อำนาจเหนือบุคคล อำนาจที่จะร้องขอหรือบังคับคนใดคนหนึ่งโดยฉเพาะให้กระทำหรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด
อำนาจชะนิดนี้ที่จะฟ้องร้องกันได้นั้น ตามธรรมดาอาจเกิดได้ด้วยประการเหล่านี้ คือ—
(๑)ผิดสัญญา
(๒)ระวางสัญญา (หรือคล้ายสัญญา)
(๓)ละเมิด (ประทุษฐร้ายส่วนแพ่ง)
(๔)กฎหมายบัญญัติ
อำนาจอันชอบธรรม สิ่งที่บุคคลคนหนึ่งมีอำนาจร้องขอหรือบังคับบุคคลอีกคนหนึ่งให้กระทำหรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด โดยที่กฎหมายเห็นชอบด้วย
อำเภอ ท้องที่ ๆ รวมตำบลหลาย ๆ ตำบลเข้าด้วยกัน อยู่ในความปกครองของนายอำเภอหนึ่ง ๆ
อิสเมนต์ การใช้สิทธิในที่ดินของผู้อื่น เช่น ทางเดิรและแสงสว่าง
อำนาจชะนิดนี้เกิดขึ้นได้โดย—
(๑)การสะแดงอนุญาต
(๒)โดยกาลเวลา
อิสสระประเทศ ประเทศที่มีอำนาจที่จะจัดการงารต่าง ๆ ทั้งภายนอกเมืองและภายในเมืองได้โดยไม่มีประเทศอื่นขัดขืน เมื่อไม่ประพฤติอย่างไรให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ประเทศอื่น
อิสสระภาพ ความเป็นใหญ่ในตัว, ความเป็นไทย
อุกฉกรรจ์ ร้ายแรง, ร้ายกาจ
อุโฆษ โด่งดัง, สนั่น, กึกก้อง, แพร่หลาย
อุกอาจ ล่วงเกิน, รุกราญ, บุกรุก
อุกฤษฏ์ เยี่ยม, ยิ่งใหญ่, เลิศลอย
อุกฤษฏ์โทษ โทษใหญ่ยิ่ง ตามกฎหมายลักษณะโจรที่ยกเลิกแล้วหมายถึงโทษที่ทำร้ายต่อสาสนาหรือบางที่เป็นขบถ
อุดรพยาน พะยานที่เป็นนายหัวพัน หัวปาก ภูดาษ พะทำมะรง จ่า เสมียน นัการ พ่อค้า แม่ค้า คนทำไร่ไถนา (กฎห์ลักษณะพะยาน บทที่ ๑)
อุตริพะยาน พะยานที่เป็นพี่น้องพ้องพันธ์ญาติกาและมิตร์สหายเพื่อนกินอยู่สมเล คนผู้ยากเป็นวรรณิพกและคนพยาธิ์เรื้อนหูหนวกตาบอดอันอยู่รัถยาหาวงษามิได้ (กฎห์ลักษณะพะยาน บทที่ ๑)
อุตสาหกรรม การทำสิ่งของให้เป็นสินค้า, การหาเลี้ยงชีพที่ต้องลงทุนและลงแรง
อุททิศ สละให้, มุ่งหมาย, กำหนด
อุทธรณ์ การฟ้องอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๙๖ ซึ่งได้แก้ไขตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๙ และดูประกาศห้ามไม่ให้อุทธรณ์ความระวางพิจารณา ร.ศ. ๑๑๔)
ในส่วนคำสั่งหรือคำชี้ขาดของศาลในระวางพิจารณาก่อนศาลได้พิพากษาคดีเรื่องนั้น ห้ามมิให้อุทธรณ์ เว้นไว้แต่คำสั่งหรือคำบังคับให้ปรับไหมหรือให้จำขังผู้หนึ่งผู้ใดในระวางพิจารณา จึงจะอุทธรณ์ได้ (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๙๖ ข้อ ๑ ซึ่งได้แก้ไขตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๙)
ในส่วนคำพิพากษานั้น ถ้าเป็นคดีอาชญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับเป็นพินัยไม่เกิน ๒๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลเดิมพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ หรือให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับเป็นพินัยไม่เกิน ๒๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับคดีแพ่งที่ฟ้องหากันด้วยทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๐๐ บาท จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่ได้ เว้นไว้แต่อธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้ทำการแทนอธิบดีผู้พิพากษาของศาลซึ่งได้พิพากษาคดีนั้นในชั้นต้นจะอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรให้อุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งได้พิจารณาคดีนั้นในชั้นต้น หรืออธิบดีกรมอัยยการ ได้ลงชื่อรับรองว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย หรือผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งทำความเห็นแย้งไว้ จึงจะอุทธรณ์ได้ (พ.ร.บ. ลักษณะอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๓)
กำหนดเวลาอุทธรณ์นั้น ๑ เดือนนับตั้งแต่วันได้ฟังหรือควรจะได้ฟังคำตัดสินเป็นต้นไป (พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๙๖ ข้อ ๒ ซึ่งได้แก้ไขตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๙)
อุทลุม ผิดประเพณีและแบบธรรมเนียม, อำนาจที่บุตร์จะฟ้องบิดามารดาไม่ได้
อุบาทว์ ชั่วร้าย, อัปมงคล, สิ่งที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบัน, ภัยซึ่งลุกลามทั่วไป
อุบาย วิธี, หนทาง, เล่ห์เหลี่ยม
อุบัติ เกิด, การเกิดขึ้น
อุบัติเหตุ ความบังเอิญเป็น
อุปกรณ์ เครื่องประกอบ, เครื่องส่งเสริม
อุปกรณ์แห่งค่าระวางพาหนะ ค่าใช้จ่ายอย่างใด ๆ ตามจารีตรประเพณีอันผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระวางขนสิ่งของ
อุปัชฌายะ พระภิกษุผู้บวชกุลบุตร์ในพระพุทธสาสนา
ผู้ที่จะเป็นอุปัชฌายะต้องมีองคสมบัติดั่งต่อไปนี้—
(๑)มีความประพฤติดี
(๒)เป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย
(๓)มีความรู้พอจะฝึกนิสสิตให้เป็นพระที่ดีได้
(๔)มีความรู้พอจะทำอุปสมบทกรรมให้ถูกระเบียบตามที่ใช้กันอยู่
(๕)มีพรรษาพ้น ๑๐ แล้ว
(ข้ออาณัติของคณะสงฆ์เนื่องจากประกาศตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๑)
อุปัชฌายะจะต้องได้รับตราตั้งจากเจ้าคณะกลางหรือเจ้าคณะมณฑล (ประกาศเรื่องตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๒) และจะต้องได้รับอนุมัติโดยลงชื่อประทับตราของเสนาบดีกระทรวงธรรมการหรือสมุหเทศาภิบาลด้วย (ประกาศเรื่องตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๔)
พระภิกษุอยู่ในตำแหน่งเป็นหัวหน้าตั้งแต่ตำแหน่งสังฆปาโมกข์ขึ้นไป ไม่ถูกห้ามในพระวินัยหรือราชการ เมื่อจำเป็น จะเป็นอุปัชฌายะก่อนได้ แต่ภายหลังต้องขออนุมัติจากเจ้าคณะผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ (ประกาศเรื่องตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๗)
ประกาศเรื่องตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ให้นับว่าเป็นอนุโลมแห่งพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (ประกาศเรื่องตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๑๘)
อุปโภค การใช้สอย
อุปสมบท การบวชในพระพุทธสาสนา
ผู้บวชนั้นนอกจากเป็นผู้ที่มีลักษณะที่ทางพุทธจักร์ต้องการ (ดูคดีเรื่องพนักงานอัยยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์ นางสาวสาระกับพวก จำเลย) แล้ว ยังต้องมีลักษณะในทางที่อาณาจักร์ต้องการอีกดั่งนี้ คือ—
(๑)ต้องเป็นผู้มีหลักถาน ถ้ามีบิดามารดา ให้ดูหลักถานของบิดามารดาว่าเป็นคนตั้งทำมาหากินโดยชอบหรือมีถิ่นถานอันมั่นคง ถ้าไม่มีผู้ใหญ่แล้ว หลักอันนี้ให้ตรวจดูในคนที่จะบวชนั้น
(๒)ต้องเป็นคนดี ไม่ใช่เป็นนักเลง ไม่มีความเสียหายในทางอื่น เช่น สูบฝิ่น เป็นต้น
(๓)มีความรู้เป็นพื้นมา เพื่อว่าเมื่อบวชแล้วมีทางจะศึกษาได้ เช่น อ่านหนังสือออก เป็นต้น (ใช้สำหรับตำบลที่มีคนอ่านหนังสือออกเป็นพื้นแล้ว)
(ข้ออาณัติของคณะสงฆ์เนื่องจากประกาศตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๒ (๑))
คนที่ต้องห้ามไม่ให้บวชมีดั่งนี้ คือ—
(๑)คนทำความผิดหลบหนีอาชญาแผ่นดินอยู่
(๒)คนหลบหนีราชการ
(๓)คนมีคดีค้างในศาล
(๔)ข้าราชการสัญญาบัตร์ที่มิได้กราบบังคมทูลลา
(๕)คนเคยถูกอาชญาแผ่นดินโดยฐานเป็นผู้ร้ายอุกฉกรรจ์ หรือคนมีเครื่องหมายบอกโทษสักติดตัว
(๖)คนถูกห้ามอุปสมบทเป็นเด็ดขาดในทางสาสนาก็ดี ในทางราชการก็ดี
(๗)คนมีโรคอันจะลามติดกันได้ เช่น โรคกุฏฐัง
(๘)คนพิการเสียอวยวะจนจะปฏิบัติพระสาสนาไม่สะดวก
(ข้ออาณัติของคณะสงฆ์เนื่องจากประกาศตั้งอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๒ (๒) และประกาศถอนอาณัติของคณะสงฆ์ในข้อห้ามไม่ให้อุปสมบทคนไม่มีใบอนุญาตในราชการ พ.ศ. ๒๔๖๑)
เอก ที่หนึ่ง, สูงสุด, ยอด
เอกอุ เอกที่หนึ่ง
เอกมอ เอกที่สอง
เอกสอ เอกที่สาม
เอกสาร หนังสือ, ลายลักษณ์อักษร (ดู จดหมาย)