พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว/บทที่ 9
วันที่ ๑๑ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ประทานกระแสพระดำริซึ่งได้ทรงสอบค้นนามพระที่นั่งพิมานรัถยา ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท การจะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม.
(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์.
ในพงศาวดาร หมอปลัดเลพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๐๖ ในฉบับเจ้าพระยาแต่งเมื่อ ๒๔๑๒ แลในฉบับพระราชหัตถเลขาพิมพ์ ๒๔๕๕ มีความอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ฉบับ ว่าดังนี้
ลุศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ. ๒๓๓๒) ปีระกา เอกศก วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้นค่ำหนึ่ง (๒๔ พฤษภาคม) เวลาบ่ายสามโมงหกบาท ฝนตก อสีบาตลงต้องหน้ามุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทติดเปนเพลงขึ้นไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น แล้วเพลิงลามไปติดไหม้พระปรัศซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง . . . . . . . . . . (กล่าวถึงการดับเพลิง) . . . . . . . . . . แล้วดำรัสสั่งสมุหนายกให้จัดแจงการรื้อปราสาทเก่าเสีย สถาปนาปราสาทขึ้นใหม่ ย่อมเข้ากว่าองค์ก่อน แลปราสาทก่อนนั้นสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทกรุงเก่า มุขหน้ามุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง แลมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างใน ยาวไปจรดถึงพระปรัศซ้ายขวา กระทำปราสาทองค์ใหม่นี้ยกออกมาตั้งที่ข้างหน้าทั้งสิ้น มุขทั้งสี่นั้นก็เสมอกันทั้งสี่ทิศ ใหญ่สูงเอาแต่เท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า ยกปุราลีเสียมิได้ใส่เหมือนองค์ก่อน แต่ที่มุมยอดทั้งสี่มุมนั้นยกทวยเสีย ใส่รูปครุธเข้าแทน แล้วให้สถาปนาพระที่นั่งขึ้นใหม่ที่ข้างใน ต่อมุมหลังเข้าไปอีกหลังหนึ่ง พอเสมอท้ายมุขปราสาทองค์เก่า พระราชทานนามว่า พระที่นั่งวิมานรัตยา แลพระปรัศดาษดีบุกทั้งสิ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จ จึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ชื่อ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
หนังสือพงศาวดาร ๓ ฉบับนี้เขียนชื่อพระวิมานต่างกันทั้ง ๓ ฉบับ คือ ฉบับแรกเขียนว่า วิมานรัถยา ฉบับที่ ๒ เขียนว่า วิมานรัทธยา ฉบับที่ ๓ เขียนว่าอย่างคัดมาข้างต้นนี้ ตรงกับกระแสพระราชดำริ
รัถยา นั้นมีความหมายว่า ถนน ฤๅ รถ คงไม่ถูก ไม่กินความหมายกับนามพระที่นั่งนั้นเลย
รัทธยา นั้นก็ไม่มีศัพท์จะแปลให้เข้าความกัน
รัตยา นั้นมีความหมายว่า ราตรี ฤๅว่า เป็นที่รื่นรยม์ ก็ได้ ได้ทูลหารือสมเด็จกรมพระนริศร์[1] ก็รับสั่งว่า ได้ตริตรองมาแต่ก่อนแล้ว เห็นว่า รัตยา ถูกต้องดังกระแสพระราชดำริแน่.
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕
ตามหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ทูลเกล้าฯ ถวายพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์[2] ในเรื่องนามพระที่นั่งพิมานรัถยามานั้น ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯ ว่า ถ้าฉะนั้น ควรใช้เรียกว่า "พระที่นั่งพิมานรัตยา" ต่อไป.