พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 และรัฐนิยม/ส่วนที่ 1

คำแถลงการณ์
เรื่อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ด้วยบัดนี้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ได้ออกประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลเห็นสมควรแถลงให้ประชาชนทราบดั่งต่อไปนี้

ประชาชนย่อมทราบอยู่แล้วว่า รัฐบาลนี้มีความสนใจเพียงไรในการที่จะเชิดชูทะนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนาในทุกทาง ตลอดจนการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ การปรับปรุงระเบียบการปกครองทางคณะสงฆ์ และการตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางบำรุงพระพุทธสาสนา กิจการได้ดำเนินมาโดยลำดับ บัดนี้งานสำคัญที่ได้สำเร็จลุล่วงไปคือการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมกันกับคำแถลงการณ์ฉะบับนี้

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ได้รับความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วโดยราบรื่น ความสำคัญในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็คือ ได้จัดการปกครองคณะสงฆ์ให้อนุโลมตามระบอบการปกครองบ้านเมืองเท่าที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย การจัดการคณะสงฆ์ให้อนุโลมตามวิธีการของบ้านเมืองนั้นก็เป็นวิธีการซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาแต่ครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ ดังจะเห็นได้ในหลายเรื่องหลายกรณีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้วิธีการทางสาสนาอนุโลมตามวิธีการของบ้านเมือง เช่น การนับฤดูกาล เป็นต้น ครั้นมาถึงรัชชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ก็ได้มีข้อความเป็นพระราชดำรัสในคำปรารภซึ่งแสดงว่า การปกครองคณะสงฆ์จะต้องแก้ไขทำนองเดียวกับการปกครองฝ่ายราชอาณาจักร์

แต่อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉะบับใหม่ได้ถือหลักพระธรรมวินัยเป็นข้อสำคัญ ดังจะเห็นได้ในข้อบัญญัติหลายมาตราที่ไม่ยอมให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ขัดกับพระธรรมวินัย และถือหลักที่ว่า การกระทำทุกอย่างจะต้องเป็นไปในทางรักษาพระวินัยให้เคร่งครัด

สิ่งที่ควรชื่นชมยินดีในพระราชบัญญัติฉะบับนี้ ก็คือ เป็นการเปิดทางให้ได้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการใหญ่ และเมื่อการสังคายนาเสร็จสิ้นลง แต่อย่างช้าต้องไม่เกิน ๘ ปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ก็อาจที่จะรวมนิกายสงฆ์เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ความสามัคคีกลมเกลียวก็จะเกิดมีแก่ชาติไทยทั้งในทางบ้านเมืองและทางพระสาสนา ข้อนี้ควรเป็นที่ปีติยินดีของชาวไทยและพุทธสาสนิกชนทั่วกัน.