พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๕๘/หมวด ๓

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
หมวด ๓
การประกอบกิจการหอพัก

ส่วนที่ ๑
หอพักสถานศึกษา


มาตรา ๒๗ สถานศึกษาใดประสงค์จะประกอบกิจการหอพัก ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๘ หอพักสถานศึกษาที่จะได้รับใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(๑) ชื่อและประเภทของหอพัก

(๒) สถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม และสุขลักษณะของหอพัก

(๓) ห้องนอน ห้องน้ํา และห้องส้วม

(๔) สถานที่สําหรับรับประทานอาหารหรือต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่นสําหรับผู้พัก

(๕) ระบบสาธารณูปโภคและระบบการรักษาความปลอดภัย

ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่นใดได้กําหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งไว้แล้ว กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะไม่กําหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวก็ได้

ในกรณีที่มีการกําหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีมาตรฐานไม่ต่ํากว่าหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๒๙ หอพักสถานศึกษา ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้ และอาจได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนตามมาตรา ๔๑ ด้วย

มาตรา ๓๐ เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา การท่องเที่ยว หรือการกีฬา หอพักสถานศึกษาอาจรับบุคคลทั่วไปเข้าพักเป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างปิดภาคการศึกษาที่ไม่มีผู้พัก

มาตรา ๓๑ การโอนใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสถานศึกษา ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และต้องโอนให้แก่สถานศึกษาด้วยกันเท่านั้น

ผู้รับโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งต้องรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเดิมมีต่อผู้พัก

การขอโอนใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๓๒ ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาสิ้นผลเมื่อผู้ประกอบกิจการหอพักถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาหรือเลิกกิจการ แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการหอพักตามวรรคหนึ่งประสงค์จะประกอบกิจการหอพักต่อไปให้ดําเนินการยื่นคําขอรับใบอนุญาตเป็นหอพักเอกชน และเมื่อได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคําสั่งไม่ออกใบอนุญาตจากนายทะเบียน

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการหอพักตามวรรคหนึ่งไม่ประสงค์จะประกอบกิจการหอพักต่อไปหรือได้รับคําสั่งไม่ออกใบอนุญาตจากนายทะเบียน ให้ผู้ชําระบัญชีของสถานศึกษาคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินประกันให้แก่ผู้พักตามจํานวนที่เหลืออยู่หลังจากหักเป็นค่าเช่าหรือค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี


ส่วนที่ ๒
หอพักเอกชน


มาตรา ๓๓ ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการหอพักเอกชน ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๓๔ หอพักเอกชนที่จะได้รับใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(๑) ชื่อและประเภทของหอพัก

(๒) จํานวนห้องพัก

(๓) สถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม และสุขลักษณะของหอพัก

(๔) ห้องนอน ห้องน้ํา และห้องส้วม

(๕) สถานที่สําหรับรับประทานอาหารหรือต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่นสําหรับผู้พัก

(๖) ระบบสาธารณูปโภคและระบบการรักษาความปลอดภัย

ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๒๘ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การออกกฎกระทรวงเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๓๕ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) คุณสมบัติ

(ก) มีภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
(ข) มีอายุไม่ต่ํากว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(๒) ลักษณะต้องห้าม

(ก) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(ข) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(ค) เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(ง) เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
(จ) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาตในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตาม (๒) (จ)

มาตรา ๓๖ หอพักเอกชน ให้รับผู้พักได้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี เว้นแต่หอพักเอกชนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสถานศึกษาให้รับผู้พักซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ด้วย

การขึ้นทะเบียนหอพักเอกชนไว้กับสถานศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๗ ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชน ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคําขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคําขอแล้วให้ถือว่าผู้ยื่นคําขออยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะมีคําสั่งถึงที่สุดไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๓๘ การโอนใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชน ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งต้องโอนให้แก่บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๕ หรือสถานศึกษา

ในกรณีที่โอนใบอนุญาตให้แก่สถานศึกษา ให้นายทะเบียนเปลี่ยนใบอนุญาตของหอพักดังกล่าวเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสถานศึกษา

ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๓๑ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การโอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

การขอโอนใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชนถึงแก่ความตาย และทายาทมีความประสงค์จะประกอบกิจการหอพักต่อไป ให้ทายาทซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๕หรือในกรณีที่มีทายาทหลายคน ให้ทายาทด้วยกันนั้นตกลงตั้งทายาทคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๕ ยื่นคําขอต่อนายทะเบียนเพื่อขอรับโอนใบอนุญาตภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบกิจการหอพักถึงแก่ความตาย ถ้ามิได้ยื่นคําขอภายในระยะเวลาที่กําหนดให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ และให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทของผู้ประกอบกิจการหอพักนั้นคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินประกันให้แก่ผู้พักตามจํานวนที่เหลืออยู่หลังจากหักเป็นค่าเช่าหรือค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี

มาตรา ๔๐ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชนเป็นห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคล ให้ใบอนุญาตสิ้นอายุนับแต่วันที่มีการเลิกห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลนั้นสิ้นสภาพ และให้ผู้ชําระบัญชีของผู้ประกอบกิจการหอพักนั้นคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินประกันให้แก่ผู้พักตามจํานวนที่เหลืออยู่หลังจากหักเป็นค่าเช่าหรือค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี

มาตรา ๔๑ หอพักเอกชนที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการอาจได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุน ดังต่อไปนี้

(๑) สิทธิที่จะได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษจากการประกอบกิจการหอพักโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร

(๒) ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีอื่นใดในทํานองเดียวกันทั้งนี้ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการนั้นกําหนด

(๓) การสนับสนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์

(๔) การสนับสนนดุ ้านอื่น ๆ ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

การประกาศเกียรติคุณและการได้รับการสนับสนุนตาม (๓) และ (๔) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง



ส่วนที่ ๓
หลักเกณฑ์ในการประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาและหอพักเอกชน


มาตรา ๔๒ ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ หอพักนั้น

มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทําลายในสาระสําคัญ ให้ผู้ประกอบกิจการหอพักแจ้งต่อนายทะเบียน และยื่นคําขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทําลาย

การขอและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๔ ผู้ประกอบกิจการหอพักใดประสงค์จะดัดแปลงหอพักในลักษณะของการดัดแปลงอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๕ ผู้ประกอบกิจการหอพักใดประสงค์จะเปลี่ยนชื่อหรือประเภทของหอพักต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบกิจการหอพักใดประสงค์จะเลิกประกอบกิจการหอพัก ให้ยื่นคําขออนุญาตต่อนายทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันเลิกประกอบกิจการ

นายทะเบียนจะอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการหอพักได้ต่อเมื่อผู้ประกอบกิจการหอพักแสดงหลักฐานว่าได้ดําเนินการแจ้งให้ผู้พักทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินประกันแล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้พักเรียบร้อยแล้ว

มาตรา ๔๗ ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสิ้นผลนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคําสั่งอนุญาตให้เลิกประกอบกิจการหอพัก



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"