พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๕๘/หมวด ๔
มาตรา ๔๘ ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีผู้จัดการหอพักเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม ดูแลหอพัก
ในกรณีที่ผู้จัดการหอพักไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ประกอบกิจการหอพักแต่งตั้งผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนด
ให้ผู้ประกอบกิจการหอพักแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
ผู้จัดการหอพักหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนของหอพักหญิงต้องเป็นหญิง
มาตรา ๔๙ ผู้จัดการหอพักสถานศึกษา ต้องได้รับแต่งตั้งจากสถานศึกษาโดยผู้ประกอบกิจการหอพักต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก
้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการหอพักตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๑
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเปลี่ยนผู้จัดการหอพัก ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการหอพักใหม่
มาตรา ๕๐ ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้จัดการหอพักของหอพักเอกชน ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นบุคคลธรรมดาและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๑ ผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้จัดการหอพักจะเป็นบุคคลคนเดียวกันก็ได้
ใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้ใช้ได้สําหรับหอพักที่ระบุในใบอนุญาตเท่านั้น
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๑ ผู้ขอรับใบอนุญาตผู้จัดการหอพักตามมาตรา ๕๐ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) คุณสมบัติ
- (ก) มีสัญชาติไทย
- (ข) มีอายุไม่ต่ํากว่าสามสิบปีบริบูรณ์
(๒) ลักษณะต้องห้าม
- (ก) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- (ข) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
- (ค) เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- (ง) เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
- (จ) เป็นโรคตามที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- (ฉ) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตผู้จัดการหอพักในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
มาตรา ๕๒ ใบอนุญาตผู้จัดการหอพักตามมาตรา ๕๐ ให้มีอายุสองปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคําขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคําขอแล้วให้ถือว่าผู้ยื่นคําขออยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะมีคําสั่งถึงที่สุดไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต
การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๓ ผู้จัดการหอพักเอกชน ต้องแสดงใบอนุญาตผู้จัดการหอพักไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ หอพักนั้น
มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทําลายในสาระสําคัญ ให้ผู้จัดการหอพักแจ้งต่อนายทะเบียน และยื่นคําขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทําลาย
การขอและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๕ ให้นายทะเบียนมีอํานาจเพิกถอนใบอนุญาตผู้จัดการหอพักหรือแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาเปลี่ยนผู้จัดการหอพักใหม่ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า ผู้จัดการหอพักผู้ใด
(๑) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๑
(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๔
ในกรณีที่ผู้จัดการหอพักมีพฤติกรรมตาม (๒) ให้นายทะเบียนมีหนังสือเตือนให้แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด หากผู้จัดการหอพักไม่ปฏิบัติตามหนังสือเตือนดังกล่าว ให้นายทะเบียนมีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาเปลี่ยนผู้จัดการหอพักใหม่
มาตรา ๕๖ ในกรณีที่ผู้จัดการหอพักถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือพ้นจากหน้าที่ ให้ผู้ประกอบกิจการหอพักแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการหอพักแทน และแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้จัดการหอพักถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือพ้นจากหน้าที่
ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งผู้จัดการหอพักได้ภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบกิจการหอพักแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ในการนี้ นายทะเบียนอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสิบห้าวัน
ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการหอพักตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้ประกอบกิจการหอพักหรือบุคคลตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง ทําหน้าที่ผู้จัดการหอพักแทนได้และให้นําบทบัญญัติมาตรา ๔๘ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๕๗ ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้พักตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕๘ ผู้ประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาที่รับผู้พักซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องจัดให้มีอาหารที่ถูกอนามัยและเพียงพอสําหรับผู้พักอย่างน้อยวันละสองมื้อ
มาตรา ๕๙ ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีระเบียบประจําหอพักปิดประกาศไว้โดยเปิดเผยและเห็นได้ง่ายภายในหอพัก
ระเบียบประจําหอพักตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(๑) การรับผู้พัก
(๒) อัตราค่าเช่าหอพัก เงินค่าเช่าล่วงหน้า เงินประกัน และค่าบริการอื่น ๆ ที่เรียกเก็บจากผู้พัก
(๓) เวลาเข้าออกหอพัก
(๔) หลักเกณฑ์การเยี่ยมผู้พัก
(๕) การไปพักที่อื่นเป็นการชั่วคราว
(๖) การปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันของผู้พัก
(๗) ชื่อผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้จัดการหอพัก
(๘) เวลาทําการของหอพัก
ระเบียบประจําหอพักและการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบประจําหอพัก เมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๖๐ ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีป้ายชื่อเป็นอักษรไทย ซึ่งมีคําว่า “หอพัก”นําหน้า และตามด้วยประเภทของหอพัก โดยป้ายดังกล่าวต้องมีขนาดที่เหมาะสมและติดไว้ ณ หอพักในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายจากภายนอกหอพัก
วัตถุที่ใช้ทําป้าย ลักษณะ ขนาดของป้าย และขนาดของตัวอักษร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖๑ ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีการตรวจสอบประวัติคนที่จะรับเข้าทํางานในหอพักว่าไม่มีประวัติอาชญากรรมและไม่เป็นโรคติดต่อหรือน่ารังเกียจตามที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คนดูแลห้องพักของหอพักหญิงต้องเป็นหญิง
มาตรา ๖๒ ผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้จัดการหอพักมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันดังต่อไปนี้
(๑) ดูแลรักษาสภาพของหอพักให้มีความมั่นคงแข็งแรงและมีระบบการป้องกันอัคคีภัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
(๒) ดูแลรักษาความสะอาดด้านสุขลักษณะและอนามัยของหอพักให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
(๓) จัดให้มียาและเวชภัณฑ์ที่จําเป็นไว้ในหอพักเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้พักที่เจ็บป่วย
(๔) จัดให้มีแผนผังแสดงทางหนีไฟในแต่ละชั้นของหอพักและห้องพักทุกห้องและป้ายทางออกฉุกเฉินไว้ในแต่ละชั้นของหอพัก
(๕) ดูแลและอํานวยความสะดวกให้กับผู้พักในกรณีเกิดอัคคีภัย อุทกภัย หรือเกิดอันตรายใดๆ ขึ้นและอาจมีผลกระทบต่อผู้พัก
มาตรา ๖๓ ผู้จัดการหอพัก ต้องจัดทําทะเบียนผู้พักแต่ละรายและส่งให้แก่นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการทําสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าสิ้นสุดลง
ทะเบียนผู้พักตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยให้มีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อ อายุ และเพศของผู้พัก
(๒) เลขประจําตัวประชาชนหรือเลขประจําตัวคนต่างด้าวของผู้พัก
(๓) ชื่อสถานศึกษาของผู้พัก
(๔) ชื่อและที่อยู่ของบิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พัก
(๕) วันที่เข้าอยู่ในหอพัก
(๖) ลายมือชื่อผู้พัก
การจัดทําและจัดส่งทะเบียนผู้พักให้แก่นายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องเก็บรักษาทะเบียนผู้พักไว้เป็นเวลาอย่างน้อยสองปีนับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง โดยจะเก็บไว้ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบใดก็ได้ และต้องให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้
มาตรา ๖๔ ผู้จัดการหอพักมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดูแลไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้พักเข้าไปในห้องพัก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้จัดการหอพัก
(๒) ดูแลไม่ให้มีการเล่นการพนัน เสพสุรา หรือยาเสพติดในหอพัก
(๓) ดูแลไม่ให้มีการกระทําการอันควรเชื่อได้ว่ามีการสมคบกันหรือร่วมกันกระทําการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
(๔) ดูแลไม่ให้ผู้พักก่อความรําคาญแก่ผู้พักอื่นหรือผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับหอพัก
(๕) ให้ความช่วยเหลือและแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบโดยทันที ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้พักได้รับอันตรายเพราะเจ็บป่วยหรือเหตุอื่นใด
(๖) แจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบในกรณีที่ผู้พักไปพักที่อื่นโดยไม่แจ้งให้ทราบ
(๗) แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบในกรณีที่มีพฤติกรรมตาม (๒) หรือ (๓)
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"