พระราชบัญญัติ
เคาน์ซิลออฟสเตดคือที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน

ศุภมศดุ จุลศักราช ๑๒๓๖ โสณสังวัจฉรบุรพาสาธิมาศศุกปักษปาฏิบทรวิวารปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรัตบมมหาจักรพรรติราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผนดินสยาม เปนพระเจ้าแผ่นดินในรัชการที่ ๕ ในพระบรมราชวงษซึ่งประดิษฐานแลดำรงค์กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาณะประเทศบาง  เปนพระบรมราชธานีมหานครใหญ่ ในแผ่นดินสยามเหนือไต้ แลเปนบรมราชาธิราชในเมืองไกล้เคียง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว มลายู กระเหรี่ยง แลอื่น ๆ ทรงพระราชดำริห์ว่า ได้ทรงประกาศตั้งเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตต ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน ไว้แต่วันศุกร เดือนหก แรมแปดค่ำ ปีจอฉอศก เพื่อจะให้ช่วยคิดราชการแผ่นดินซึ่งจะให้มีคุณมีประโยชนทำนุบำรุงพระนครทั่วพระราชอาณาเขตรให้ราษฎรอยู่เยนเปนศุข แต่ยังหาได้มีพระราชบัญญัติสำหรับตัวที่ปฤกษาราชการแผ่นดินซึ่งจะประพฤติให้ถูกต้องตามแบบอย่างที่ปฤกษาราชการไม่ อนึ่ง ปรีวีเคาน์ซิลคือที่ปฤกษาราชการในพระองค์นั้น ก็จะโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามซึ่งมีมาในประกาศฉบับก่อนนั้น ก็ควรจะมีพระราชบัญญัติกฎหมายบังคับสำหรับตัวด้วย จึงทรงร่างข้อพระราชบัญญัติ แล้วปฤกษาด้วยพระบรมวงษานุวงษท่านเสนาบดีแลที่ปฤกษาราชการแผ่นดินให้แก้ไขเพิ่มเติมตกลงกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชบัญญัติสำหรับที่ปฤกษาราชการแผ่นดินแลที่ปฤกษาราชการในพระองค์ไว้เปนแบบฉบับสำรับแผ่นดินสืบไป ๚ะ

ข้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งราชตระกูล แลข้าราชการซึ่งมีตระกูล แลผู้มีสติปัญญาว่องไวยเฉียบแหลมรอบรู้ในราชกิจการต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงปรากฏ เปนที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งเรียกตามภาษาอังกฤษว่าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตด โดยกำหนดตั้งแต่ ๑๐ นายขึ้นไป ไม่ให้เกินยี่สิบนายออกไป ถ้าที่ปฤกษาราชการแผ่นดินผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งในพวกที่ปฤกษาหมู่เดียวกันไม่เปนที่ชอบใจ เพราะทำการผิด ไม่สมควร เปนที่รังเกียดด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะใคร่คัดค้านผู้นั้นออกเสิยจากที่ปฤกษา ก็ให้ผู้ที่มีความรังเกียจนั้นชุมนุมกันลงชื่อ ตั้งแต่หกนายขึ้นไป จตหมายข้อความที่เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดนั้นทำผิดอย่างไร เปนที่รังเกียตด้วยเหตุไร นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบไต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ถ้าพระราชดำริห์ทรงเหนชอบด้วย จึงจะคัดผู้นั้นออกเสียจากที่ปฤกษาได้ ๚ะ

ข้อท่านเสนาบดีซึ่งมีอำนาจอยู่ในตำแหน่ง มีราชการที่เกี่ยวข้อง ฤๅมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มาประชุมปฤกษาในที่ประชุมเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตด ก็มาได้ แต่มิได้นับเข้าในพวกที่ปฤกษา ๒๐ นายซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งไว้ อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจะทรงเลือกพระบรมวงษานุวงษต่างกรมตั้งไว้ในที่ปฤกษาราชการแผ่นดินนอกจากจำพวกที่ปฤกษา ๒๐ นายนั้นได้อีก ๖ พระองค์ พระบรมวงษานุวงษ ๖ พระองค์ซึ่งทรงตั้งไว้นั้นก็มีอำนาจจะเข้าไปนั่งประชุมปฤกษาในที่ประชุมปฤกษาราชการแผ่นดินได้ แลพระบรมวงษานุวงษซึ่งทรงตั้งไว้นี้ ถ้าในหมู่เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดที่ปฤกษาราชการแผ่นดินมีความรังเกียจ ชุมนุมกันลงชื่อจตหมายกล่าวโทษกราบบังคมทูลตั้งแต่ ๖ นายขึ้นไป ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงเหนชอบด้วย ก็จะต้องห้ามพระบรมวงษานุวงษซึ่งเปนที่รังเกียจนั้นไม่ให้เข้าไปนั่งในที่ประชุมที่ปฤกษาต่อไป ๚ะ

ข้อข้าราชการผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระกรุณาโปรดยกย่องตั้งไว้ในที่ปฤกษาราชการแผ่นดินแล้ว ท่านผู้นั้นมียศบันดาศักดิ์ควรนับว่าเปนที่สองรองท่านเสนาบดี ท่านผู้นั้นได้ทำราชการเรียบร้อยดี จะพระราชทานเงินปีไม่ให้ต่ำกว่าปีละ ๔๕ ชั่ง แม้นถึงมิได้คงอยู่ในตำแหน่งราชการก็ดี ก็จะพระราชทานเปนส่วนเบี้ยเลี้ยงเสมอไปจนตลอดชีวิตร เพื่อเปนเครื่องประคองรักษายศที่ได้ทรงยกย่องเปนที่ปฤกษาราชการแผ่นดีน ๚ะ

ข้อที่ปฤกษาราชการแผ่นดินทุก ๆ นายต้องกระทำสัตยานุสัตยสาบาลตัวถวายตามคำสาบาลสำรับที่ปฤกษาราชการแผ่นดินก่อน แล้วจึ่งจะนับว่าเปนที่ปฤกษาราชการแผ่นดินได้ ถ้าผู้ใดยังไม่ได้สาบาลตัวแล้ว ผู้นั้นจะเข้านั่งในที่ปฤกษาราชการแผ่นดินไม่ได้ ๚ะ

ข้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเปนเปรสิเดนหัวน่าปธานาธิบดี เปนที่แล้วที่จบ เปนผู้บำรุงในที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จะเสด็จมาในที่ประชุมฤๅจะไม่เสด็จมาก็ได้ตามพระราชอัทธยาไศรย์ ๚ะ

ข้อเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตตที่ปฤกษาราชการแผ่นดินต้องเลือกผู้หนึ่งผู้ใดใน ๒๐ นายนั้นยกให้เปนไวซ์เปรสิเดน คือเปนผู้ระงับแลบังคบสิทธิ์ขาตในการปฤกษาราชการแผ่นดินนายหนึ่ง เพื่อไว้เปนที่สองฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในเวลาซึ่งไม่ได้เสด็จออกปฤกษาราชการแผ่นดินทุกคราวประชุม แลตำแหน่งไวซ์เปสิเดนนั้น จะเลือกจัดขึ้นไว้ปีละนายหนึ่ง ฤๅจะเลือกซ้ำผู้ที่ได้เปนในปีก่อนนั้นให้ว่าการไปอิกก็ได้ แต่เมื่อพร้อมใจกันเลือกเหนว่าท่านผู้ใดควรจะเปนไวซ์เปสิเดนได้ ก็ให้ลงชื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทก่อน ถ้าทรงพระราชดำริห์เหนชอบด้วย ท่านผู้นั้นจึงเปนตำแหน่งไวซ์เปสิเดนได้ ถ้าผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งไวเปนไวซ์เปรสิเดนแล้วมีความผิดชอบไม่เปนที่พระราชหฤไทย ถึงยังไม่ครบกำหนดปี จะโปรดให้ออกจากเสียที่ไวซ์เปรสิเดนเวลาใดก็ได้ ๚ะ

ข้อผู้ที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งไวซ์เปรสิเดนนั้นต้องธุระเอาใจใส่จัดการในที่ปฤกษาราชการแผ่นดินให้เรียบร้อยทุกอย่าง แลเปนผู้ลงชื่อในจตหมายข้อคำปฤกษาแลในจตหมายตอบคำปฤกษา ซึ่งจะต้องลงชื่อเปนสำคัญทุกเรื่อง แลจะต้องพูดนำแลพูดแทนที่ปฤกษาราชการแผ่นดินให้ทราบทั่วกันในที่ประชุม ถ้าการในที่เคาน์ซีลลอร์ออฟสเตตจะต้องจับฉลากซึ่งเรียกตามภาษาอังกฤษว่าโวด ไวซ์เปรสิเดนต้องเปนผู้นับตรวจฉลาก ถ้าในหมู่ที่ปฤกษาราชการแผ่นดินด้วยกันจะเกิดแก่งแย่งทุ่มเถียงไม่ตกลงกันประการใดก็ดี ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึงเปนปรสิเดนไม่ได้เสด็จมาอยู่ในที่ประชุมด้วย ไวซ์เปรสิเดนต้องเปนผู้ระงับความวิวาทแลตัดสินสมักสมานให้เรียบร้อย อย่าให้เปนคำโต้เถียงกันได้ ๚ะ

ข้อในราชการที่ปฤกษนี้ต้องมีตำแหน่งเคลิกออฟเคาน์ซิล คือเสมียนใหญ่ในที่ปฤกษา นายหนึ่ง ดีอุตีเคลิกออฟเคาน์ซิล คือเสมียนผู้ช่วยที่ปฤกษา นายหนึ่ง ทั้งสองนายนี้มีตำแหน่งราชการที่จะรักษาบาญชีแลจตหมายเหตุในที่ปฤกษาทุกอย่างทุกประการ เคลิกนั้นต้องมีออฟฟิซที่รักษาหนังสือไว้ในพระบรมมหาราชวัง แลจะต้องมีเสมียนใช้ให้ภอการ ตำแหน่งเคลิกนี้จะนับเข้าในพวกที่ปฤกษาแลจะเข้าประชุมปฤกษาราชการด้วยไม่ได้ เปนแต่พนักงานรับใช้การงานของเปรสิเดนแลไวซ์เปรสิเดน แลเปนผู้จตหมายเรื่องราวในการปฤกษาแลคำสปิชต่าง ๆ เรียบเรียงให้เปนเรื่องความตามที่ได้เหนได้ยินได้ฟังในที่ปฤกษาให้เรียบร้อยชัดเจน อย่าดัดเปลี่ยนเพี้ยนแปลงให้ผิดจากข้อความปฤกษาจงทุกข้อ แลต้องเอาใจใส่รักษาหนังสือต่าง ๆ อย่าให้เปนอันตรายได้ ถ้าจะเรียบเรียงเรื่องความปฤกษาแลคำตอบ ต้องเรียงความให้ต้องเตมความคิดของผู้ให้เรียงแลให้เรียบร้อยเข้าใจง่าย หนึ่ง ผู้รับตำแหน่งเคลิกนั้นต้องเปนผู้ซื่อสัตยสุจริตภักดีต่อราชการ แลต้องสาบาลตัวว่า สิ่งซึ่งตัวได้เหนได้ยินได้ฟังในที่ประชุมเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดนั้นจะรักษาไว้ให้เปนความลับมิให้แพร่งพราย เว้นไว้แต่เรื่องไรที่เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดจะยอมให้เปิดเผยได้ไม่เปนการลับ จึงจะพูดได้ เคลิกที่ ๑ เคลิกที่ ๒ ทั้งสองนายนี้จะมารับราชการประชุมพร้อมกันทั้ง ๒ นายก็ได้ ฤๅจะผลัดเปลี่ยนกันมาตามเวลาซึ่งมีเหตุการ คือ ป่วยใข้แลการมีสำคัญ ก็ได้ ๚ะ

ข้อถ้าเวลาใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จมาในที่ประชุม แลพระราชทานพระราชหัดเลขาเปนสำเนากระแสพระราชดำริห์มาในที่ประชุม ให้ไวซ์เปรสิเดนอ่านพระราชหัถเลขานั้นให้ที่ปฤกษาได้ฟังทั่วกัน ๚ะ

ข้อ๑๐ถ้าที่ปฤกษาผู้ใดผู้หนึ่งอยากจะให้ที่ปฤกษา ๆ ข้อกฎหมายตามที่ตัวได้คิดเหน ฤๅจะปฤกษาในเรื่องราวที่จะถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผนดิน ฤๅจะเปลี่ยนข้อสำคัญในคำปฤกษาที่เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดยังปฤกษาค้างอยู่ ฤๅจะยกข้อใดข้อหนึ่งในเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดซึ่งเปนข้อสำคัญก็ดี ต้องให้ที่ปฤกษาผู้นั้นเขียนเปนเรื่องราวมายื่นต่อไวซ์เปรสิเดนก็ได้ ให้ไว้แก่เคลิกออฟเคาน์ซิลก็ได้ ยื่นให้ทันทีคัดก่อปีมาส่งผู้ซึ่งเปนที่ปฤกษาทุก ๆ นายก่อนเวลาประชุม ๒๔ ชั่วโมง ถ้าคิดการสิ่งใดขึ้นใหม่ จะนำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องให้มีเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดรับรองเหนด้วยตั้งแต่นายหนึ่งขึ้นไป จึงจะถวายได้ ถ้าเปนแต่จะแก้ไขในข้อเล็กน้อย มิใช่ข้อใหญ่ข้อสำคัญ ฤๅเปนแต่จะคัดค้านการเล็กน้อยซึ่งผู้อื่นยกขึ้นปฤกษา ไม่ต้องจตหมายมายื่นดังว่าแล้วก็ได้ ๚ะ

ข้อ๑๑ถ้าจะมีการประชุมเมื่อใด ให้เคลิกมีจตหมายเชิญท่านเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดมาประชุมทุก ๆ นาย ในจตหมายนั้นมีไปให้ชัดกำหนดเวลา แลที่ประชุม แลเรื่องเหตุที่จะต้องปฤกษาให้ถ้วนถี่ทุกประการ ให้ที่ปฤกษาทราบก่อนเวลาประชุม ๒๔ ชั่วโมง ถ้าที่ปฤกษามีราชการประชุมต่อติดกันไปคราวหนึ่งหลาย ๆ วัน เคลิกไม่ต้องมีจตหมายเชิญ ถ้ามีเหตุสำคัญเปนการควรที่จะให้ประชมยเรว เคลิกต้องมีจตหมายไปเชิญเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งปวงให้เปนการเรวให้ทันเวลา ๚ะ

ข้อ๑๒ถ้าเกิดเหตุใหญ่เปนการจุลาจลสำคัญในแผ่นดิน เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งปวงทราบแล้ว ไม่ต้องรอรับจตหมายเชิญ ให้รีบเข้ามาในที่ประชุมปฤกษาโดยเรว ๚ะ

ข้อ๑๓ในวันประชุมนั้น ถ้าถึงเวลาตามกำหนดที่จตหมายแล้ว เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดยังหาพร้อมกันไม่ มาพร้อมเพียง ๗ นายฤๅกว่า ๗ นายแล้ว อยาให้รอคอยเคานซิลลอร์ออฟสเตดผู้อื่นซึ่งยังไม่มานั้นให้เสียเวลาเลย ถ้าไวซ์เปรสิเดนยังไม่มาไนที่ประชุมนั้น ก็ให้เลื่อกท่านผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะเหนพร้อกันว่าเปนผู้บังอาจบังคับการได้ให้ว่าการแทนไวซเปรสิเดน แล้วจงชุมนุมษฤกษาตามราชการ ๚ะ

ข้อ๑๔ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดกับไวซเปรสิเดนนั่งพร้อมกันในที่ประชุมแล้ว ให้เคลิกอ่านจตหมายปฤกษาสำแดงใจความที่ได้ประชุมปฤกษาในวันก่อนแต่ยอ ๆ ให้เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตฟังทั่วกัน ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งปวงเหนถูกต้องแล้ว ไวซ์เปรสิเดนจึงจะลงชื่อเปนสำคัญ ถ้ามีผู้ทัดทานค้านขึ้นในข้อไดข้อหนึ่งต้องปฤกษาอีกที่ควรจะแก้ได้ก็ให้แก้เสียให้เสร็จในเวลานั้น ถ้าเหนถูกต้องพร้อมกันแล้ว ไวซ์เปรสิเดนจะได้ลงชื่อให้เปนการเสร็จในการปฤกษาไว้ชั้นหนึ่ง แล้วให้ไวซ์เปรสิเดนนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงเหนชอบแล้ว คำปฤกษานั้นจึงใช้ได้ ถ้าคำปฤกษานั้นไม่ตกลงกันในข้อใดข้อหนึ่งก็ดี ไวซ์เปรสิเดนต้องบังคับให้โวด คือจับฉลาก ฯะ

ข้อ๑๕คำปฤกษาในวันก่อนตกลงเปนเสร็จกันจนไวซ์เปรสิเดนได้ลงชื่อในหนังสือคำปฤกษาแล้ว ไวซ์เปรสิเดนจะยกข้อความใหม่ที่ปฤกษากันในวันนั้นให้เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดได้ทราบ ไวซ์เปรสิเดนจะพูดสะปิชเองฤๅจะเชิญผู้ไดผู้หนึ่งให้สปิชกล่าวความในเรื่องนั้นก็ได้ ๚ะ

ข้อ๑๖ในที่ประชุมเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดนั้น ยกไว้แต่ไวซ์เปรสิเดนผู้เดียวเปนหัวน่าเปนประทาน นอกนั้นเปนผู้มียศเสมอกันทั้งสิ้น ไม่มีสูงต่ำกว่ากัน ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตด ๒ นายยืนขึ้นจะพูดความพร้อมกัน ไวซ์เปรสิเดนจะตัดสินให้ผู้ใดงดไว้แลผู้ใดพูดก่อน ต้องตัดสินตามลำดับซึ่งเรียงอยู่น่าแลหลังในคำหมายประกาศเดิม แลผู้ซึ่งได้เปนเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดก่อนแลหลัง ผู้ที่มีชื่ออยู่น่าแลผู้ซึ่งได้เปนเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดก่อน ไวซ์เปรสิเดนต้องตัดสินให้พูดก่อน ถ้าท่านเสนาบดีซึ่งเชิญมาอยู่ในที่ประชุมนั้นจะยืนขึ้นพูดพร้อมกันกับผู้อื่น ไวซ์เปรสิเดนต้องตัดสินให้ผู้อื่นงดไว้ แลยอมให้ท่านเสนาบดีพูดก่อน เพราะท่านเสนาบดีธุระราชการมาก จะให้งดรอไว้ช้าจะเสียราชการอื่นไป ถ้าเปนท่านเสนาบดีด้วยกันยืนขึ้นจะพูดพร้อมกัน ไวซ์เปรสิเดนต้องตัดสินตามการที่ได้รับตำแหน่งยศท่านเสนาบดีก่อนแลหลัง ฯะ

ข้อ๑๗มีกำหนดห้ามว่า เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะพูดสปิชในความปฤกษาเรื่องเดียวกันวันเดียวกัน อย่าให้พูดสปิชมากกว่าสองคราว เว้นแต่ความต่างเรื่องจึงพูดได้ ฤๅไวซ์เปรสิเตนจะเชิญผู้นั้นให้พูดมากกว่าสองคราวเพื่อจะตอบความแลจะแก้ใขความ จึงพูดได้ ฯะ

ข้อ๑๘ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ใดผู้หนึ่งจะขอให้จตหมายถ้อยคำซึ่งตัวได้พูดเองก็ดี ฤๅท่านผู้อื่นพูดก็ดี ต้องบอกแก่ไวซ์เปรสิเดนขอให้จดคำนั้นไว้ แล้วเคลิกต้องจดคำนั้นไว้ อนึ่ง ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ใดผู้หนึ่งได้ยกข้อปฤกษาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นพูดในที่ประชุม แลจะให้โวตจับฉลาก ถ้าไม่มีผู้ลงใจรับรองเหนชอบด้วยตั้งแต่คนหนึ่งขึ้นไปแล้ว ไม่ต้องโวดจับฉลากเลย ฤๅถ้าผู้ใดผู้หนึ่งจะห้ามการข้อใดข้อหนึ่ง จะต้องมีผู้รับรองเหนชอบด้วยตั้งแต่คนหนึ่งขึ้นไป ถ้าไม่มีผู้รับรอง ก็ไม่ต้องโวดจับฉลาก ถ้ามีผู้กล่าวขึ้นเรืองใดเรื่องหนึ่งก็ดี มีผู้รับรองเหนด้วยคนหนึ่งพร้อมแล้ว แลไม่มีไครพูดห้ามกั้นกางแล้ว ไวซ์เปรสิเดนต้องถามเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งปวงว่า เรื่องนี้ใครจะเหนข้อห้ามทัดทานอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีใครห้ามทัตทานแล้ว ก็เปนอันเหนว่ายอมพร้อมกัน ความข้อนั้นเปนใช้ได้ ๚ะ

ข้อ๑๙ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ใดผู้หนึ่งจะห้ามก็ดี ฤๅจะยกข้อแก้ไขก็ดี แลมีผู้รับรองเหนด้วยคนหนึ่ง ให้เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดปฤกษากันก่อน ต่างคนต่างพูดซักถามกันตามแก่ปัญญาและรูบความ ครั้นพูดกันสิ้นข้อความแล้ว จึงให้โวดจับฉลาก คือ ให้ผู้เหนด้วยฝ่ายหนึ่งยืนขึ้นพร้อมกัน ให้ไวซ์เปรสิเดนนับดูว่าฝ่าย ๑ จะเปนกี่นาย แล้วให้ผู้ที่ฝ่ายข้างไม่ยอมเหนด้วยนั้นยืนขึ้นพร้อมกัน ให้ไวซ์เปรสิเดนนับดูว่าฝ่ายนี้จะเปนกี่นาย ถ้าการโวดจับฉลากมีผู้เหนด้วยกึ่งหนึ่ง ไม่ยอมเหนด้วยกึ่งหนึ่ง เท่ากันทั้ง ๒ ฝ่าย ก์ให้ไวซ์เปรสิเดนยกความเรื่องนั้นเสีย ให้โวดจับฉลากใหม่ในเวลาอื่น เว้นแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเปรสิเดนประทับอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย สุดแล้วแต่จะทรงตัดสินในการเรื่องนั้น ๚ะ

ข้อ๒๐ถ้าโวดจับฉลากกันในข้อเดิมข้อแก้นั้นแล้ว แต่มีผู้เหนชอบในข้อเติมขอแก้มากด้วยกัน ต้องเอาข้อนั้นเติมในข้อเดิมให้เรียบร้อย แล้วให้โวดจับฉลากอิกครั้ง ๑ ถ้าคนมากไม่เหนด้วยในข้อเติมข้อแก้ ต้องคงจับฉลากแต่ในข้อเดิมเท่านั้น อนึ่ง ในความข้อใดมีผู้ใดผู้หนึ่งเหนชอบด้วยว่าเปนดี ไม่ต้องแก้ไขแลผู้อื่นรับรองพร้อมใจเหนด้วย แลไห้โวดจับฉลากกัน มีผู้เหนพร้อมกันมาก ความข้อนนั้นไม่ต้องเดิมต้องแก้ เปนใช้ได้ อนึ่ง เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้อยากจะขอรองดไว้จะให้ประชุมต่อในเวลาอื่น ฤๅจะให้เลิกข้อที่ปฤกษาอยู่นั้น จะให้ปฤกษาก่อนในคราวหลัง ถ้ามีผู้รับรองเหนด้วยแต่ผู้หนึ่งก็ดี ให้ไวซ์เปรสิเดนบังคับการโวตจับฉลากกัน ถ้ามีผู้เหนพร้อมกันมาก การนั้นก็ให้งดแลเลิกตามที่เหนพร้อมกัน ถ้าผู้ใดขอเลิกครั้งหนึ่งแล้ว แต่ผู้อื่นไมยอมเหนด้วย ห้ามไม่ให้ผู้นั้นขอเลิกอิกในระหว่างโมง ๑ ถ้าพ้นกำหนดโมง ๑ จะขอเลิกเสียอิกก็ได้ ถ้าข้อที่ปฤกษาก่อนนั้นปฤกษาเสร็จกันแล้ว จะยกข้อใหม่มาปฤกษาต่อไป แม้นยังไม่พ้นกำหนดโมง ๑ ผู้นั้นจะขอเลิกเสียก็ได้ ๚ะ

ข้อ๒๑ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ใดผู้หนึ่งทำการไม่ชอบ แลพูดเปนการขัดขวางไห้เสียราชการ แลเปนที่ขัดเคืองแก่ผู้อื่น ไวซ์เปรสิเดนห้ามปรามผู้นั้นหาฟังบังคับไม่ ไวซ์เปริเดนต้องให้ลงชื่อผู้นั้นไว้ในจตหมายปฤกษา ถ้าถึงคราวเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดประชุมกันอิกในคราวหลัง ไวซ์เปรสิเดนจะยกความข้อนั้นขึ้นปฤกษาในที่ประชุม เพื่อจะให้เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งปวงเหนผิดแลชอบพร้อมกัน ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ที่มีความผิดนั้นรู้ศึกตนว่ามีความผิด แลรับสารภาพโทษตนเสีย ก็เปนการดี ถ้าผู้นั้นยังไม่รับสารภาพผิดต่อไวซ์เปรสิเดน ๆ ต้องทำจตหมายเรื่องความนั้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเพื่อจะให้ทรงจัดการรักษายศในเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดให้เรียบร้อย อย่าให้เสื่อมสูญ เพราะมีผู้ขัดขวางไม่ฟังบังคับไวซ์เปรสิเดนแล้ว อำนาจในการเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดก็น้อยลงเสื่อมลง จะไมสมบูรณได้ ๚ะ

ข้อ๒๒ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดจะประชุมปฤกษาราชการในที่ใดเวลาใด ห้ามไม่ให้เอาเสมียนเอาคนใช้ของเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งปวงเข้ามาในที่ประชุมเปนอันขาด ๚ะ

ข้อ๒๓ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะรับสั่งให้หาปรีวีเคาน์ซิลลอร์ คือที่ปฤกษาราชการในพระองค์ ผู้เดียวก็ดี หลายคนก็ดี มาประชุมปฤกษาพร้อมกันกับเคาน์ซิลออฟสเตดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งกำหนดในจตหมายเชิญในเรื่องนั้น ปรีวีเคาน์ซิลลอร์มีอำนาจที่จะพูดให้ยกข้อเติมข้อแก้แลให้โวตจับฉลากได้เหมอนดังเปนเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดเอง แต่นอกจากเวลาราชการนั้นแล้ว ปรีวีเคาน์ซิลลอร์ไม่ต้องเปนธุระในการเรื่องนั้น ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดทั้งสิ้นด้วยกัน ฤๅตั้งแต่ ๖ นายขึ้นไป พร้อมใจกันเหนว่า มีการเกี่ยวข้องอยู่ ควรจะเชิญปรีวีเคาน์ซิลลอร์ผู้ใดผู้หนึ่งมาปฤกษาในเรื่องความที่เกี่ยวข้องนั้น ให้มีจตหมายเชิญมาในทันใดก็ได้ แลปรีวีเคาน์ซิลลอร์นั้นมานั่งพูดในที่ปฤกษาประชุมด้วยความเรื่องนั้นได้ แต่ไม่มีอำนาจที่จะให้ยกข้อเติมข้อแก้แลให้โวดจับฉลากได้ เปนแต่ผู้จะต้องแจ้งความตามสงไสยของเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดเท่านั้น ๚ะ

ข้อ๒๔ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้หนึ่งผู้ใด เพราะตนเปนคนชรามาก กำลังปัญญาอ่อนแล้ว ฤๅเพราะเหตุขัดข้องอื่น ๆ จะรับราชการตำแหน่งเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดฉลองพระเดชพระคุณต่อไปไม่ได้ จะกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งราชการเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตด การนี้สุตแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากตำแหน่งยศเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตด ก็ต้องออกจากราชการอื่น ๆ ที่ตนได้บังคับมานั้นด้วย ซึ่งจะเลิกแต่สิ่งที่ตนชอบและจะละวางสิ่งซึ่งตนไม่ชอบเสียนั้นไม่ได้ แม้นถึงโปรดให้ออกจากตำแหน่งยศแล้วก็ดี ถ้าผู้นั้นได้รับราชการในตำแหน่งที่ปฤกษาราชการแผ่นดินเรียบร้อยมาถึง ๕ ปี ก็จะพระราชทานเบี้ยเลี้ยงซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่าเปนแชน ๓ สวน ลดจากส่วนเดิมส่วน ๑ คงได้รับพระราชทานแต่ ๒ ส่วน คือ ไม่ต่ำกว่าปีละ ๓๐ ชั่ง ๚ะ

ข้อ๒๕ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดผู้ใดผู้หนึ่งได้รับราชการมาครบ ๕ ปีแล้ว ต้องคัดออกจากตำแหน่งยศเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดที่ปฤกษาราชการแผ่นดินด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว ผู้นั้นจะได้รับพระราชทานเปนชั่นเบี้ยเลี้ยง ๓ ส่วน ให้ส่วน ๑ คือ ๑๕ ชั่ง อนึ่งเงินเบี้ยเลี้ยงซึ่งทรงกำหนดมานี้เปนอย่างต่ำที่สุดซึ่งผู้นั้นจะได้รับพระราชทาน ถ้าเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดมีควมอุสาห ตั้งความสวาภิภักติ์เอาใจใส่ในราชการ หมั่นตริตรองคิดอ่านการที่จะเปนคุณเปนประโยชน์แก่แผ่นดิน แลจะให้เจริญพระเกรียติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินปีแลเงินเปนชั่นเบี้ยเลี้ลวงเพิ่มขึ้นไปให้สมควรแก่ความชอบมากแลน้อย ๚ะ

คำสาบาล
เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดคือที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน

ข้าพระพุทธเจ้าขอกระทำสัตยานสัตยถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม เฉภาะพระศรีรัตนไตรย พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า แลผู้ซึ่งสิ่งซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในสกลโลก ทั้งเทพยดาซึ่งมีมเหศวรศักดานุภาพสักสิทธิ์ ทรงทิพยจักษุ ทรงทิพยโสตร มีฤทธิ์มีอำนาจแผ่ไปทั่วสกลโลกย์ ที่อาจรู้อาจเหนการสุจริตการทุจรีตในดวงจิตรของมนุศทั้งปวงทั่วทุกสฐาน จงเปนสักขีทิพยานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ด้วยบัดนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องตั้งข้าพระพุทธเจ้าไว้ในที่เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดที่รับปฤกษาราชการแผ่นดิน ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งใจสวามิภักดีกระทำสัตยานุสัตยสาบาลตัวถวายตามข้อคำสาบาลทั้ง ๗ ข้อด้วยความเตมใจ จะไม่เปนแต่สักว่าออกวจีเภท ๚ะ

ข้อข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลปฤกษาในข้อใดข้อหนึ่งนั้น จะกราบทูลด้วยเตมสติปัญญาแลเตมความคิดตริตรองซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเหนว่าเปนการดีมีคุณเปนความเจริญ แลข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ทอดธุระในการที่จะมาประชุมปฤกษาราชการทุก ๆ ครั้ง แลจะเอาใจใส่ป้องกันรักษาเกียร์ติยศนเคาน์ซิลให้เตมกำลัง เพื่อจะให้การซึ่งได้ปฤกษาในเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดสำเร็จได้ด้วยดี แลจะไม่ให้ชื่อเสียงยศศศักดิ์ของเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดเสื่อมสูญไป ๚ะ

ข้อ ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลปฤกษาราชการสิ่งใด ๆ จะคิดให้เปนเกียร์ติยศเปนการเจริญแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลจะให้เปนคุณเปนประโยชน์แก่แผนดิน ให้ราษฎรมีความศุขได้โดยชอบธรรมทุกประการ ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ลำเอียงคิดหลีกเลี่ยงให้เสียความจริงใจเพราะเหนแก่คนที่ข้าพระพุทธเจ้ารักใคร่แลญาติพี่น้องบุตรภรรยาแลผู้มีคุณ แลข้าพระพุทธเจ้าจะไม่คิดหนีความจริงเพราะกลัวท่านผู้มีอำนาจแลกลัวความพยาบาทผูกเวร แลจะไม่กลับความจริงเปนเท็จ กลับเท็จเปนจริง เพราะผู้ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเกลียดชังใม่ชอบ ๚ะ

ข้อการสิ่งใดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริห์ไว้ในเคาน์ซิล ซึ่งยังไม่เปนการเปิดเผย ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษาความข้อนั้นไว้ให้เปนการลับมิให้แพร่งพรายได้ ๚ะ

ข้อข้าพระพุทธเจ้าจะไมทำการผิด กลับเอาเท็จเปนจริง เพราะเหนแก่อามิศสินบลแลผลประโยชน์ในตน แลเพราะเชื่อคำคนยุยงชักนำให้เสียจากสิ่งที่ตรง ๚ะ

ข้อการสิ่งใดที่ได้ปฤกษาตกลงกันแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะเอาใจใส่ช่วยค้ำชูอุดหนุนในการซึ่งปฤกษาตกลงกันนั้นให้มั่นคงแขงแรงขึ้น ๚ะ

ข้อถ้าผู้ใดผู้หนึ่งจะกั้นกางขัดขวางต่อการซึ่งได้ปฤกษาตกลงพร้อมกันแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะเปนผู้ตอบโต้ต่อสู้กับผู้นั้นให้เตมสติปัญญาความคิด เตมกำลังอำนาจแห่งข้าพระพุทธเจ้า ๚ะ

ข้อข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งใจรักษาประพฤติตัวให้สมควรแก่แบบอย่างธรรมเนียมเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตดซึ่งเปนคนดีมีความซื่อสัตยกะตัญญูแลรักษใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่คิดประทุฐร้ายด้วยกายวาจาน้ำจิตรทั้ง ๓ ประการ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับประพฤติธรรมเนียมตามคำสาบาลที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายสัตยานุสัตย ๗ ข้อนี้จงทุกประการ ถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ดำรงคงอยู่ในความสัตยานุสัตยข้อใดข้อหนึ่งไซ้ ขออำนาจผู้ซึ่งสิ่งซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในสกลโลกย์ แลอำนาจเทพยดาซึ่งรักษายุติธรรม แลโทษแห่งวจีทุจริต จงบันดานโทษทุกขไภยให้ถึงแก่ข้าพระพุทธเจ้าจนถึงชีวิตรอันตรายด้วยความลำบากให้เหนประจักษแก่ตาในโลกย์ในชาตินี้ อนึ่ง ทางใดซึ่งเปนช่องจะให้ได้ถึงความศุขความเจริญในภพนี้แลภพน่า ทางนั้นขออย่าให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ประสบภบเลย ๚ะ