พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 4

แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (พระนารายน์มหาราช)

ในเมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระเปนเจ้ามีไชยชำนะแก่ราชศัตรูด้วยพระเดชบุญญานุภาพนั้น ศักราช ๑๐๑๘ ปีวอก อัฐศก ในเดือนสิบสอง ขึ้นสิบเอ็จค่ำ วันศุกร เพลาชายแล้วสองนาฬิกาสี่บาท ครั้นถึงวันพฤหัศบดี เดือนสิบสอง แรมสองค่ำ เพลาชายแล้วสองนาฬิกา จึงพระมหาราชครู พระราชครู แลท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง ก็อัญเชิญสมเด็จพระบรมบพิตรพระเปนเจ้าเสด็จปราบดาภิเศกเสวยราชสมบัติถวัลยราชประเวณีโดยบูรพมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนอันผ่านพิภพณกรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุทธยานั้น ในวันแรกตั้งพระราชพิธีนั้น เพลาค่ำแล้วประมาณสองทุ่ม มีพระสุคนโธทกขาวบริสุทธิตกลงมาแต่เพดานในโรงพระราชพิธีเปนอัศจรรย์ พระมหาราชครู พระราชครู แลปลัดราชครู ประพฤติการพระราชพิธีประถมาภิเศกแลพระราชพิธีราชาภิเศก แลถวายพระนามกรบวรพระราชศรีสวัสดิพิพัฒนมงคลตามบูรพประเวณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนอันกอปรด้วยพระเดชบุญญานุภาพเสด็จปราบดาภิเศก ทรงพระนามกร สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชราเมศวรธราธิบดี ศรีสฤษดิรักษสังหารจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลย์คุณอขนิฐจิตรรุจีตรีภูวนาทิตย ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงษองค์เอกาทศรุฐ วิสุทธยโสดมบรมอาชวาธยาไศรย สมุไทยดโรมนต์อนนตคุณวิบุลยสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชยไตรโลกนารถบดินทร วรินทราธิราชชาติพิชิตทิศทศพลญาณสมันต์ มหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอสวรรยาธิปัติขัติยวงษ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิมกุฎรัตนโมฬี ศรีประทุมสุริยวงษ์องค์สรรเพชญ์พุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธพุทธเจ้ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ แล้วถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แลเครื่องราโชประโภคทั้งปวง แลบูชาบรมเทพอัษฎาอันประเสริฐสถิตย์สถาวรในพระองค์โดยยถาสาตร แลถวายอาสิรพาทอภิเศกจำเริญพระพรบวรราชศรีสวัสดิพิพัฒนมงคลนฤมลพระองค์ คือ พระนารายน์เปนเจ้าทรงศรสังข์จักรคธาธรอันกอปรด้วยพระเดชฤทธานุภาพอันประเสริฐ เพื่อจะรักษาสมณพราหมณาจารย์แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงให้ศุขเกษมเปรมประชาราษฎร์จำเริญกาลสืบไปเมื่อน่า แล้วก็ให้เบิกท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขทุกกระทรวงการทั้งหลายถวายบังคมแลถวายสัตยาธิษฐานถือน้ำพระพิพัฒตามบุรพประเวณีแล้วเสร็จ เมื่อเสด็จปราบดาภิเศกถวัลยราชนั้น พระชนม์ได้ ๒๕ พระพรรษา แลพระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงทศพิธราชธรรมอันประเสริฐก็ทรงพระกรุณาแก่ประชาราษฎรทั้งปวง ให้ลดส่วยสาอากรแก่ประชาราษฎรทั้งปวงสามขวบมิได้เอาเข้าพระคลัง แลทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเปนอเนกประการ แล้วก็ตรัศให้แต่งการซึ่งจะถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสร็จสรรพ ประดับด้วยเครื่องรจนาลังการทั้งหลายหมายเปนอาทิ คือ พระสุเมรุมาศสูงสองเส้นสิบเอ็จวาศอกคืบ แลเมรุทิศเมรุรายประดับด้วยฉัตรทองฉัตรนากฉัตรเงินฉัตรเบญจรงค์ธงเทียวบรรฎาการ จึงอัญเชิญพระศพเสด็จเหนือบุษบกพิมาน แลประดับด้วยกลิ้งกลดจามร บังรวิวรไพโรจประไพ ไมยด้วยกาญจนดิเรกดุริยางคนฤนาท เดียรดาษด้วยภาพยนต์มรฎปอันรจนาต่าง ๆ ตั้งประดับเรียงรายย้ายโดยขบวนซ้ายขวา ทั้งท้าวพระยาสามนตราชพฤฒามาตย์ราชเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายมาประดับแห่โดยน่าหลังบุษบกพิมานนั้น แล้วอัญเชิญพระศพเสด็จลีลาคลาเคลื่อนแห่แหนโดยขบวน เสด็จโดยรัถยาราชวัตรไปยังพระสุเมรุมาศ แลบำเรอด้วยดุริยดนตรีฆ้องกลองแตรสังข์มหรศพทั้งปวง แลนิมนต์พระสงฆ์สบสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายทักขิณาทานบูชาแก่พระสงฆ์ทั้งปวง โดยบุราณราชประเวณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ถวายพระเพลิง แล้วให้รับพระอัฐิธาตุเข้ามาณวัดพระศรีสรรเพชญ์ นิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์ แล้วก็ประจุพระอัฐิธาตุ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็บำเพ็ญพระราชกุศลนา ๆ ประการ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินออกไปอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล แลฝ่ายพระไตรภูนาทิตยวงษ์ก็โปรดให้ไปอยู่ณพระตำหนักวังหลัง.

อยู่มาในเดือนยี่นั้น อำแดงแก่น ผู้เปนข้าพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ เอาเนื้อความอันเปนกลโกหกมาอุบายทูลแก่พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ว่า ข้าหลวงฝ่ายพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวย่อมว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์แลข้าไทยทั้งปวงนั้นเข้าด้วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชช่วยรบพุ่ง ครั้นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชปราไชย พระไตรภูวนาทิตยวงษ์แลข้าไททั้งปวงก็มาบรรจบเข้าด้วยข้าหลวงเล่า แลอำแดงแก่นทูลยุยงเปนหลายครั้ง พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็มิได้พิจารณา ฟังแต่คนเท็จนั้น พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็คิดซ่องสุมคนไว้นอกกรุงเทพมหานครเปนอันมาก จึงข้าหลวงก็เอาเนื้อความซึ่งพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ให้ออกไปซ่องสุมคนทั้งปวงนั้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงทรงพระกรุณาตรัศสั่งให้ข้าหลวงอันมีใจซื่อสัจนั้นออกไปฟังกฤติศัพท์ดูจงแม่นมั่น ถ้าแม้นจริงไซ้ ก็จะให้ข้าหลวงคิดอ่านอุบายว่าจะเข้าด้วย ครั้นข้าหลวงออกไป ได้แจ้งเนื้อความนั้นเปนหลายแห่งว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ให้ซ่องสุมผู้คนเปนมั่นแม่น จึงข้าหลวงซึ่งออกไปนั้นก็แสร้งอุบายว่าจะเข้าด้วย จึงให้สัญญาอาณัติวันคืนแก่กันว่าจะยกเข้ามา แลข้าหลวงนั้นก็กลับคืนเข้ามากราบทูลพระกรุณาตามเนื้อความนั้น ครั้นได้ทรงทราบเนื้อความทุกประการ จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งแก่มหาดเล็กว่า ให้เอาเงินหลวงร้อยชั่งไปให้แก่พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ว่า พระราชทานให้ออกมาให้แจกแก่ข้าไทยทั้งปวงนั้นจงทั่วกัน อยู่มา พระยาพิไชยสงคราม พระมหามนตรี ทูลแด่สมเด็จพระรามราชาธิราชว่า พระยาพัทลุงแลพระศรีภูริปรีชาซึ่งทรงพระกรุณาตรัศสั่งว่า จะให้ไปกินเมืองนั้น ก็มิไป แลคนทั้งสองนี้ครั้นกลางคืนย่อมลงไปวังหลังมิได้ขาด แลคิดอ่านด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะคิดร้ายแก่แผ่นดิน จึงสมเด็จพระรามราชาธิราชก็เอาเนื้อคดีนั้นกราบทูลพระกรุณา จึงมีพระราชโองการตรัศว่า จะให้เสาะสางฟังเนื้อความนี้ดูจงมั่นแม่นก่อน.

อยู่มาวันหนึ่ง นายพุก เดิมเปนมหาดเล็ก เปนโทษครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองให้ศักเปนหมู่เรือพระที่นั่ง แลนายพุกมาบอกแก่พระยาจักรี พระยาพระคลัง ว่า พระยาพัทลุง พระศรีภูริปรีชา แลหมื่นภักดีศวร ย่อมลงไปหาพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ณวังหลัง คิดอ่านซ่องสุมไพร่พลจะทำร้ายแก่แผ่นดิน พระยาจักรีแลพระยาพระคลังบอกแก่พระยาพิชิตภักดี ๆ ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งพระยาพระคลังว่า หมื่นภักดีศวรซึ่งสั่งให้ไปรั้งเมืองแลมิได้ไปนั้น เห็นว่า จะคบกันคิดกระทำร้าย ให้ลงโทษตัดศีศะเสียบไว้น่าศาลาลูกขุนณพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ ครั้นเข้ามาเฝ้าณบนที่พระราชวังบวรสถานมงคลไซ้ ย่อมหาพระสิทธิไชย แลท้าวราช นายพิม มากระซิบเจรจาทุกวัน แลพระยาพิชิตภักดีจึงว่าแก่หมื่นมไหสวรรย์ให้ห้ามพระสิทธิไชย แลท้าวราช นายพิม ซึ่งเจรจาด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ณบนที่นั้น แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์โกรธแก่พระยาพิชิตภักดีแลหมื่นมไหสวรรย์ อนึ่ง พระยาจักรีแลพระยาพระคลังกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า มีผู้มาบอกว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะคิดร้ายเปนมั่นแม่น จึงมีพระราชโองการตรัศว่า เยียฉันใดจะแจ้งว่า คิดร้ายนั้นเปนมั่นแม่น จึงสั่งแก่พระยาพิชิตภักดีว่า เมื่อครั้งพระองค์ยังเยาว์อยู่นั้นไซ้ พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ขึ้นมาเฝ้า ย่อมเอามีดเหน็บผูกขาขึ้นมา แลบัดนี้ ยังทำดุจนั้นฤๅหาไม่ จึงพระยาพิชิตภักดีก็แสร้งอุบายนวดพระไตรยภูวนาทิตยวงษ์แต่พระบาทขึ้นมาถึงต้นพระเพลา พบคาดเครื่องแลมีดเหน็บ จึงพระยาพิชิตภักดีก็ร้องขึ้น พระไตรยภูวนาทิตยวงษ์ก็ตกใจ อยู่มา ข้าหลวงซึ่งแต่งให้ขึ้นไปฟังกฤติศัพท์นั้นก็ได้เอาเนื้อความมากราบทูลพระกรุณาว่า ได้ยินข้าพระไตรยภูวนาทิตยวงษ์ว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์คิดว่า เมื่อการพระราชพิธีตรีรำพาวายนั้น ถ้าแลเสด็จพระราชดำเนินไปไซ้ จะแต่งข้าอาสาให้ซุ่มซ่อนอยู่ที่ทางแคบนั้น ครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปกลางคืนไซ้ จึงจะให้ข้าอาสาซึ่งซุ่มซ่อนอยู่นั้นออกทำร้ายในลอองธุลีพระบาท ครั้นดำรัศทราบเนื้อความทั้งนี้แล้ว จึงทรงพระราชดำริห์ว่า องค์พระไตรภูวนาทิตยวงษ์เปนอนุชาธิราชแห่งเรา ๆ ก็ไว้พระไทยเปนที่สนิทเสน่หานัก แลซึ่งองค์พระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะคิดมิตรโทษแก่เราดังนี้ เมื่อวันกาลพิธีตรีรำพาวายนั้น เราจะไปส่งพระเปนเจ้าถึงเทวสถาน ถ้าแลองค์พระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะทำร้ายแก่เราก็ให้ทำเถิด เราจะเอาบุญญาธิการแห่งเราเปนที่พึ่ง ครั้นถึงวันกาลพระราชพิธีตรียัมปวายกลางวันนั้น ก็เสด็จทรงช้างต้นพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ ประดับด้วยเครื่องราโชประโภคทั้งปวง แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายแห่โดยซ้ายขวาน่าหลัง ก็เสด็จแต่พระราชวังบวรสถานมงคลมาโดยทางหอรัตนไชยมาทางสพานช้าง แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็ขี่ช้างตามช้างพระที่นั่งมา พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปโดยทางชีกุน แลคนซึ่งแต่งซุ่มไว้นั้นล้วนถือปืนนกสับอยู่ณสพานช้างเปนอันมาก ครั้นให้ถามก็บอกว่า ข้าวังหลัง ก็มิได้มีพระราชโองการประการใด เสด็จไปส่งพระเปนเจ้าถึงเทวสถานแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนมายังพระราชวังบวรสถานมงคล อยู่มาวันหนึ่ง ผู้ดาษเลงแลท้าวหมู่เรือพระที่นั่งอลงกฎนาวามาบอกแก่หมื่นราชามาตย์ ปลัดพระตำรวจ ว่า นายสุก เดิมเปนข้าพระไชยราชาธิราช ได้มาเปนข้าพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ แลนายสุกนั้นว่า เปนรบาดทีหนึ่งแล้ว ทีนี้จะเปนรบาดอิกเล่า ผู้ดาษเลงแลท้าวจึงถามนายสุกรว่า ซึ่งจะทำรบาดอิกนั้นด้วยเหตุอันใด แลนายสุกจึงบอกแก่ผู้ดาษเลงแลท้าวว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์คิดร้ายในลอองธุลีพระบาท หมื่นราชามาตย์ก็เอาคดีนั้นบอกแก่หลวงพิไชยเดชะ ๆ ก็เอากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบในลอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งแก่หลวงพิไชยเดชให้ว่าแก่ผู้ดาษเลงแลท้าวให้ไปฟังเอาเนื้อความนั้นเปนมั่นแม่น ผู้ดาษเลงแลท้าวจึงไปหานายสุก ๆ จึงเล่าให้ผู้ดาษเลงแลท้าวฟังว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์คุมคนจะยกขึ้นมาในเดือนยี่ แรมสามค่ำ ผู้ดาษเลงแลท้าวนั้นเอาเนื้อความนั้นมาบอกแก่หลวงพิไชยเดชะ ๆ ก็เอาคดีนั้นกราบทูลพระกรุณา อยู่วันหนึ่ง พระยาจักรี พระยาพลเทพ กราบทูลพระกรุณาว่า ได้ยินกฤติศัพท์ว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะคิดร้ายในลอองธุรลีพระบาทเปนมั่นแม่น แล้วมีผู้มากราบทูลพระกรุณาว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์คิดร้ายในลอองธุลีพระบาทนั้นเปนอันมาก จึงพระบาทสมเด็ตบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัศสั่งแก่เสนาบดีแลข้าหลวงผู้มีความสวามิภักดิซื่อสัจนั้นว่า องค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์ปนพระอนุชาธิราชแห่งเรา ๆ ก็มีความเสน่หายิ่งนัก เราคิดว่า จะบำรุงไว้ให้วัฒนาการไปภายน่า แลองค์พระไตรภูวนาทิตยวงษ์มิได้มีความซื่อสัจต่อเรา ฟังเอาถ้อยคำคนโกหกมายุยง แลคิดซ่องสุมผู้คนจะทำร้ายแก่เรานั้น จะเปนประการใด จึงเสนาบดีแลข้าหลวงผู้มีความสวามิภักดินั้นจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์มิได้คิดถึงพระคุณแลมิได้มีความสวามิภักดิ จะไว้พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ให้ทำตามอิจฉาภาพนั้นมิได้ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษตามประเพณีพระราชกุมารซึ่งเปนมหันตโทษนั้น จึงพระบาทสมเด็ตบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัศว่า ซึ่งจะสำเร็จโทษในกรุงเทพพระมหานครนี้มิได้ แลเราจะไปพระนครหลวงแล้ว เราจะทรงม้าต้นให้องค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์ขี่ม้าตัวหนึ่งออกไปกลางพระนครหลวง ถ้าองค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์จะคิดทำร้ายแก่เรา ๆ ก็มิได้เข็ดขาม จะยุทธด้วยองค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์ที่นั้น แลเราจะเอาบุญญาธิการแห่งเราเปนที่พึ่ง จึงทรงพระกรุณาตรัศสั่งสมุหนายกว่า จะขึ้นไปพระนครหลวง.

ครั้นถึงวัน ปีวอก อัฐศก กอรปด้วยวิไชยฤกษ์ เพลาอุสาโยค ก็เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย แลเรือท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงแห่น่าหลังซ้ายขวาโดยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงพระนครหลวง จึงเสด็จขึ้นพระตำหนัก ครั้นเพลารุ่งแล้วประมาณสองนาฬิกาเศษ จึงเสด็จทรงม้าต้นพระที่นั่งราชพาหนะ ให้พระอินทราชาทรงม้าตัวหนึ่ง พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ทรงม้าตัวหนึ่ง สมเด็จพระรามราชาธิราชทรงม้าตัวหนึ่ง แลเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงโดยเสด็จแห่น่าหลังโดยซ้ายขวา เสด็จออกไปกลางทุ่งน่าพระตำหนักพระนครหลวงนั้น แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็กลัวพระเดชบุญญานุภาพพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มิอาจทำร้ายได้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ามายังพระตำหนัก พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็ตามเสด็จเข้ามาในพระราชวังพระนครหลวง จึงพระสุรินทรภักดีก็ตามพระไตรภูวนาทิตยวงษ์เข้ามาถึงน่าปรำช้าง แลเห็นพระไตรภูวนาทิตยวงษ์แก้จางนางดาบออกแล้วก็ขึ้นไปบนฉนวน จึงพระสุรินทรภักดีก็เอาความกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ แล้วก็เสด็จเข้าสู่ที่พระบรรธม จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งพระยาพิชิตภักดี พระสุรินทรภักดี แลขุนเหล็ก มหาดเล็ก ให้ผลัดกันเอางานพัชนี ให้พิทักษ์รักษาระวังระไวอยู่ จึงพระสุรินทรภักดีซึ่งเอางานพัชนีอยู่นั้นก็เห็นพระอินทราชาธิราชแลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ออกจากพระตำหนักมาใกล้ที่พระบรรธม ครั้นเห็น พระสุรินทรภักดีก็กลับคืนเข้าไป แล้วขุนเหล็ก มหาดเล็ก ก็รับงานพัชนีผลัดพระสุรินทรภักดี แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ใช้ให้พระองค์ทองออกมาเอาพระแสงหอกต้นของหลวงซึ่งอยู่ณพระที่นั่งมุขเด็จนั้นไป ครั้นพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จตื่นจากพระบรรธม จึงขุนเหล็ก มหาดเล็ก กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระองค์ทองออกมาเอาพระแสงหอกต้นซึ่งอยู่ณพระที่นั่งมุขเด็จนั้นเข้าไป จึงทรงพระกรุณาตรัศว่า ซึ่งพระแสงต้นไซ้จะได้เปนสำหรับองค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์หามิได้ แลซึ่งให้มาเอาพระแสงต้นเข้าไปไว้ดังนี้ เห็นว่า องค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์จะคิดร้ายต่อเราเปนมั่นแม่น จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัศสั่งให้พระยาพิไชยสงครามคุมไพร่พลอยู่รักษาประตูน่าพระราชวัง ให้พระศรีมหาราชาคุมไพร่พลอยู่รักษาพระราชวังฝ่ายขวา ให้หลวงรามฤทธิไกรคุมไพร่พลอยู่รักษาประตูพระราชวังฝ่ายซ้าย ให้พระธนบุรีคุมไพร่ข้าหลวงอยู่รักษาประตูฉนวน แลให้พิทักษ์รักษาอย่าให้ผู้คนแปลกปลอมเข้าออกได้ จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้พระยาจักรี พระยาวิชิตภักดี พระมหามนตรี หลวงอินทรเดชะ ให้เปนพนักงานกุมพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ แลให้พระสุรินทรภักดี หลวงเทพสมบัติ หลวงกำแพงพระราม หมื่นมไหสวรรย์ เปนพนักงานกุมพระอินทราชา ให้หลวงวิชิตสงคราม หลวงรามภักดี ชิงเอาดาบของพระอินทราชาแลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ซึ่งให้ข้าถืออยู่นั้นไว้ ครั้นเพลาเช้าห้านาฬิกา จึงพระอินทราชา พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ พระองค์ทอง ก็ออกมาเฝ้าณที่ฉนวนนั้น แลข้าหลวงผู้มีชื่อซึ่งได้เปนพนักงานกุมนั้นก็มาเฝ้าพร้อมกันที่ฉนวนนั้น จึงพระยาจักรีกราบทูลพระกรุณาว่า คืนนี้ ข้าพระพุทธเจ้านิมิตรเปนมหัศจรรย์ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอแก้ฝันถวาย จึงมีพระราชโองการตรัศแก่พระยาจักรีว่า ให้แก้นิมิตรไปเถิด พระยาจักรีกราบบังคมทูลว่า ซึ่งจะแก้ให้คนทั้งปวงแจ้งเนื้อความนั้นเห็นมิควร ขอพระราชทานให้เฝ้าใกล้ลอองธุลีพระบาท ครั้นพระยาจักรีเข้ามาเฝ้าใกล้ลอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัศถามว่า ที่จะลงไปนั้น จะไปโดยทางชลมารคดีฤๅ ๆ จะไปโดยสถลมารคดี แลจะไปโดยทางสถลมารคก็ได้ ด้วยช้างม้ารี้พลพร้อมกันอยู่ พระยาจักรีกราบทูลว่า สถลมารคนั้นลุ่มโคลนนัก ขอพระราชทานเสด็จโดยทางชลมารค ก็มีพระราชโองการตรัศว่า ชอบแล้ว พระยาจักรีจึงกราบทูลว่า มีโจทย์ว่า มีผู้เอาพระแสงไปฝังไว้ ขอพระราชทานขุดเอา พระราชโองการตรัศว่า เอาเถิด พระยาจักรีแลข้าหลวงผู้ได้เปนพนักงานกุมพระองค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์นั้นก็ช่วยกันกุมพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ พระสุรินทรภักดีแลข้าหลวงซึ่งได้เปนพนักงานกุมพระอินทราชานั้นก็ช่วยกันกุมพระอินทราชา ฝ่ายพระองค์ทอง ผู้เปนพระอนุชา ก็เข้าช่วยชิงพระไตรภูวนาทิตยวงษ์แลทุบตีข้าหลวงผู้กุมพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ ข้าหลวงก็กุมเอาพระองค์ทองนั้นด้วย แล้วก็เอาพระไตรภูวนาทิตยวงษ์แลพระองค์ทองนั้นสำเร็จโทษในที่นั้น แต่พระอินทรราชาธิราชนั้น ทรงพระกรุณายกโทษไว้ เพราะว่ามิเข้าด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือพระที่นั่ง เอาพระอินทราชาลงเรือพระที่นั่งมาด้วย แลเรือเสนาบดีมุขมนตรีทั้งปวงก็เข้าขนวนโดยเสด็จซ้ายขวาน่าหลัง เสด็จพระราชดำเนินเข้ามายังพระราชวังบวรสถานมงคล จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้ตำรวจนอกตำรวจในไปเอาข้าพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ซึ่งร่วมคิดด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์นั้นมาถาม เมื่อถามหลวงกระลาโหม ข้าหลวงเดิมพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ ให้การว่า พระศรีภูริปรีชา พระยาพัทลุง หลวงจ่าหลวง ขุนศรีเทพบาล หมื่นทิณ นายบุญ นายพลาย นายพิม อำแดงแก่น แลนายขาน นายด้วง นายอิน หมื่นทิพ หมื่นเทพ ซึ่งเปนตำรวจในซ้ายในขวา กับนายบาลเมือง นายบุญเกิด นายน้อย ผู้มีชื่อทั้งนี้คิดอ่านด้วยกันว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะแต่งเตรียมไว้ฟังดูแต่ในเดือนสี่ ถ้าแลลอองธุลีพระบาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวังฝ่ายในทั้งสองพระองค์นั้น เห็นว่า จะโปรดเที่ยงแท้ แลแผ่นดินจะราบคาบไป ถ้าทรงพระกรุณามิโปรดจนถึงการพระราชพิธีแล้ว จึงจะมีความคิด แลทุกวันนี้แต่จะป้องกันตัวไป จะได้คิดว่า จะยกเข้ามาแต่ในการพระราชพิธีนี้หามิได้ แลจะได้คิดว่า จะยกเข้ามาในวันใดเดือนใดนั้น ยังไป่ได้คิด วันหนึ่ง พระไตรภูวนาทิตยวงษ์เสพสุราแล้ว แลออกมาณชาลาว่า เราคนแต่ร้อยหนึ่งยกเข้าไปก็จะได้ อนึ่ง เมื่อถามนายอิน ๆ ให้การว่า เมื่อแรกคิดอ่านจะทำร้ายในลอองธุลีพระบาทนั้น พระศรีภูริปรีชา พระยาพัทลุง พระสิทธิไชย หลวงกระลาโหม หลวงสรรพสิทธิ์ หมื่นภักดีศวร น้องพระสิทธิไชยคนหนึ่ง ผู้มีชื่อทั้งนี้คิดด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ณท้องพระโรง แลว่า พระศรีภูริปรีชา หมื่นราชามาตย์ หมื่นคำจาย ผู้หลานพระศรีภูริปรีชา กับนายพิม แลคนมีชื่อทั้งสี่คนนี้จะคุมคนร้อยหนึ่งสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ จะยกเข้ามาเฝ้าแต่สพานช้างมาณประตูพระราชวัง พระยาพัทลุงจะคุมกำลังแลสมัคพรรคพวกร้อยห้าสิบสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ จะมาโดยทางริมน้ำ จะเข้ามาณประตูดินพระราชวังบวรสถานมงคล ขุนศรีเทพบาลแลหมื่นภักดีศวรจะคุมบ่าวแลสมัคพรรคพวกร้อยยี่สิบสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ จะยกเข้ามาโดยทางท่าทราย จะเข้าประตูหลักข้างหลัง อนึ่ง คนเดิมพระไตรภูวนาทิตยวงษ์นั้นประมาณสามพัน แลคนพระราชทานประมาณพันเศษ พระสิทธิไชย หลวงสรรพสิทธิ กับน้องพระสิทธิไชย แลพระหลวงขุนหมื่นพันทนายขอเฝ้าแลมหาดเล็กนั้นจะมาด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ พระศรีภูริปรีชาให้ฤกษ์ให้ยกเข้ามาในเดือนยี่ ถ้ามิได้ จะยกเข้ามาในเดือนสามขึ้นสามค่ำ ถ้าแลมิได้ จะยกเข้ามาในเดือนสามขึ้นห้าค่ำ ผู้มีชื่อทั้งนี้คิดอ่านด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ณท้องพระโรง แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์สั่งให้นายอินกฎหมายผู้มีชื่อทั้งนี้ไว้ แล้วพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็ให้พระสิทธิไชย หลวงสรรพสิทธิ แลน้องพระสิทธิไชย เสี่ยงเทียนสามเล่ม เทียนพระพุทธเจ้าเล่มหนึ่ง เทียนพระบรมโพธิสมภารเจ้าเล่มหนึ่ง เทียนพระไตรภูวนาทิตยวงษ์เล่มหนึ่ง แลเสี่ยงพระสาริริกธาตุณหอพระ อธิษฐานว่า จะยกเข้าไปนั้นยังจะมีไชยชำนะฤๅ ๆ หาไชยชำนะมิได้ แลเมื่อตามเทียนเสี่ยงนั้น เทียนพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ดับก่อน แลพระสาริริกธาตุก็มิได้ลอย พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็ว่า พระอาธรรม์แล้ว ทั้งนี้สุดแต่บุญ แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็สั่งแก่นายอินว่า พระยาศุโขไทย พระยามหามณเฑียร สองคนนี้จะอาสา เห็นพระยาพลเทพ พระยามหามณเฑียร ลงไปณวังหลังเปนหลายครั้ง แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็บอกแก่นายอินว่า พระยากระลาโหมจะอาสา แลพระยาวิชิตสุรินทร พระยาศรีสุรภักดี ทูลว่า จะยกขึ้นไปเมื่อใด จะอาสาเมื่อนั้น แลให้กฎหมายผู้มีชื่อทั้งนี้ไว้ อนึ่ง ผู้คิดอ่านเปนคมเปนสันนั้น คือ พระยากระลาโหม พระยาพลเทพ พระยามหามณเฑียร พระยาศุโขไทย พระยาวิชิตสุรินทร พระยาศรีสุรภักดี หกคนนี้ลงไปกลางวันแลกลางคืน แลผู้ซึ่งลงไปเปนสุภาพนั้น คือ เจ้าพระยามหาอุปราช พระยาพิจิตร หลวงพรหมพิจิตร สามคนนี้เห็นลงไปเปนสุภาพ อนึ่ง พระศรีภูริปรีชา หลวงกระลาโหม นายเพ็ชรทูล คิดด้วยกันแล้วจึงทูลพระองค์ไตรภูวนาทิตยวงษ์ว่า จะเขียนชื่อพระยาจักรี พระยาพิชิตภักดี พระสุรินทรภักดี หลวงอินทรเดชะ แลขุนเหล็ก ขุนเทพรัตน์ ลงในราชะ เอาศิลาทับไว้ มิให้คนมีชื่อทั้งนี้ออกปากคิดอ่านได้เพื่อจะระงับถ้อยความทั้งปวง แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์เห็นชอบด้วย จึงพระศรีภูริปรีชาเอาตำราราชะของตัวให้แก่นายเพ็ชรทูล ให้เขียนชื่อคนทั้งนั้นลงราชะ แล้วก็ให้หลวงกระลาโหมเอาศิลาทับไว้ในพระตำหนักนั้น อนึ่ง หมื่นทิพเสนา หมื่นราชามาตย์ ลงไปณวังหลังขออาสา แลพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ก็ให้ผ้าลายแลเสื้อกาสาคนละสำรับ อนึ่ง มีคำอีแก่นแลนายบุญเกิดให้การว่า พระไตรภูวนาทิตยวงษ์ใช้อีแก่นแลนายบุญเกิดเอาน้ำสบถไปให้แก่พระยามหามณเฑียร พระยาศุโขไทย กินถึงจวน อนึ่ง มีคำอีแก่นให้การว่า ผู้ลงไปณวังหลังนั้น คือ ภรรยาพระยากระลาโหม นางน้อย ลูกพระยากระลาโหม ภรรยาหลวงราชบุตร ภรรยาพระยากระลาโหมผู้มรณภาพ ไปกับนางเมืองเขียด ท้าววาชอุไทย ภรรยาพระพิไชยรณฤทธิ แลลูกสใภ้แม่นมสุด แม่พระศรีภูริปรีชา แลหลานแม่ศรีอุไทย แม่พระศรีศักดิ์ ภรรยาพระยาพัทลุง ภรรยาพระยาศุโขไทย ภรรยาพระยาพระคลัง แม่ภรรยาพระยาพระคลัง ภรรยาพระจอมเมืองนั้น พระราชทานกำไลทองคำคู่หนึ่ง ครั้นถามผู้มีชื่อทั้งนี้ กราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงพิพากษาโทษซึ่งผู้มีชื่อไปมานั้นแลคิดอ่านด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงษ์จะทำร้ายในลอองธุลีพระบาทนั้นเปนมหันตโทษถึงสิ้นชีวิตร แลผู้ไปมาคบหาพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ซึ่งมิได้คิดเปนใจคิดร้ายด้วยนั้นเปนแต่สาขาโทษ แลทรงพระกรุณาโปรดให้ลงพระราชอาชญาแล้วก็พระราชทานชีวิตรไว้.

แลในเดือนยี่ ปีวอกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวบำเพ็ญพระราชกุศลนา ๆ ประการ แล้วให้หล่อรูปพระอิศวรเปนเจ้ายืนสูงศอกคืบมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปพระศิวาทิตยยืนสูงศอกมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปพระมหาวิฆเนศวรพระองค์หนึ่ง รูปพระจันทราทิศวรพระองค์หนึ่ง แลรูปพระเปนเจ้าทั้งสี่พระองค์นี้สรวมทองนพคุณ แลเครื่องอาภรณ์ประดับนั้นถมยาราชาวดี ประดับแหวนทุกพระองค์ ไว้บูชาสำหรับการพระราชพิธี.

แลในเดือนยี่ ปีวอกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัศสั่งพระยาจักรีให้แต่งโรงพระราชพิธีเบญจพิธ แลประดับด้วยราชวัตรฉัตรธงอลงกฎการมหามหันต์สรรพทั้งปวง แลเมื่อแรกแต่งการพระราชพิธีเบญจพิธนั้น ให้พระเมืองขุนหมื่นคุมไพร่พลไปทำโรงพระราชพิธีแลพระตำหนักตำบลมขามหย่องในเดือนยี่นั้น พระท้ายน้ำ ขุนอำมรินทร ขุนหมื่นทั้งหลาย เห็นเปนโชติรุ่งเรืองประดุจต้นตาลสูงขึ้นไปในที่จะแต่งการพระราชพิธี ก็ปรากฎในราตรีกาลนั้น เปนศุภนิมิตรอันอุดมซึ่งจะเจริญพระศรีสวัสดิพิพัฒนมงคลอันประเสริฐนั้น ครั้นสำเร็จแล้ว ถึงวันศุกร เดือนสี่ ขึ้นห้าค่ำ เพลารุ่งแล้วแปดบาท พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งครุธพาหนะ แลประดับด้วยเรือดั้ง เรือกัน แลเรือไชย เรือรูปสัตวทั้งปวง แลเรือท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงแห่น่าหลังคับคั่งเปนอันมาก ครั้นเสด็จยังพระตำหนักตำบลมขามหย่องแล้ว ก็ให้ประพฤดิมงคลการสามวัน ครั้นสำเร็จแล้ว ก็ให้พระมหาราชครู แลปลัด พระครู ประพฤดิการพระราชพิธีมหาปรายาจิตรแลพระราชพิธีเบญจพิธมหาวิไชยสงคราม ก็เสด็จเข้าพระราชพิธีแล้วประพฤดิการโดยยถาสาตรสำหรับการพระราชพิธีเบญจพิธตามตำหรับนั้นทุกประการเสร็จ ถึงวัน ๑๔ ฯ  ค่ำ เพลาชายแล้วนาฬิกาหนึ่ง จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงภูษาพัตราภรณ์พิพิธวิจิตรด้วยสุวรรณรัตนาภรณ์บวรราโชประโภคทั้งปวงเสร็จ ก็เสด็จเหนือพระวิไชยราชรถอันอลงกฎด้วยกาญจนรัตนากรเทียมด้วยจัตุรงคมงคลอาชาไนยประไพโชติชัชวาลย์กาญจนอภิรมย์บังแสงสูรย์มยูรฉัตรพัชนีพรรณกรรพรุณจามรมาศ แลพระมหาราชครู พระราชครู ท้าวพระยาสามนตราช เสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงทุกกระทรวงทบวงการทั้งหลาย แห่ประดับประดาซ้ายขวาน่าหลัง นฤนาทด้วยศัพทสำเนียงเสียงฆ้องกลองแตรสังข์ ก็เสด็จลีลาศในรัถยาอันประดับประดาด้วยราชวัตรฉัตรธงอลงกาธิกฎารด้วยมหามหันต์สรรพทั้งปวงนั้น ครั้นถึงมารคที่โรงดัษกรนั้น ก็หยุดพระวิไชยราชรถ ให้ประหารดัษกรโดยยถาสาตรเสร็จ ก็เสด็จยังพระที่นั่งสาครมรฎป เสด็จสรงมุรธาภิเศกเสร็จ เสด็จยังพระที่นั่งพระวิไชยสมโภช แลถวายอาเศียรพาทคำรบตติยวาร แลพระราชทานให้เลี้ยงลูกขุนสำหรับการพระราชพิธีเบญจพิธมหาวิไชยสงครามตามธรรมเนียม ครั้นการพระราพชิธีเสร็จ ก็เสด็จประเวศพระราชมณเฑียร.

แลในปีวอกนั้น ตรัศให้หล่อรูปพระเทวกรรมสูงประมาณศอกมีเศษพระองค์หนึ่งสรวมทองเครื่องอาภรณ์ประดับแหวนถมราชาวดี.

ครั้นปีรกา นพศก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัศสั่งพระยาจักรีให้แต่งโรงราชพิธีบันชีพรหมแลชมรมสำหรับการพระราชพิธีทั้งปวงในทเลหญ้าตำบลเพนียด แล้วทรงพระกรุณาให้หล่อพระเทวกรรมยืนสูงศอกหนึ่งหุ้มด้วยทองเนื้อเจ็ดแล้ว แลเครื่องอาภรณ์นั้นถมราชาวดีประดับด้วยแหวน ไว้สำหรับการพระราชพิธีคชกรรม ให้พระมหาราชครู พระราชครู แลพฤฒิบาศ แลปลัดพระราชครู ประพฤดิการพระราชพิธีบันชีพรหมในวัน ๑๔ ฯ  ค่ำ จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จยังการพระราชพิธีมหาปรายาจิตรแลพระราชพิธีบันชีพรหมทเลหญ้า ก็ประพฤดิการพระราชพิธีตามสาตรตำหรับอันมีในคชกรรมนั้นทุกประการ ครั้นถึงณวัน ๑๔ ฯ  ค่ำ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จยังการพระราชพิธีคชกรรมโดยยถาสาตร แลถวายสมโภช ถวายอาเศียรพาท คำรบสามวันเสร็จ ก็เสด็จประเวศพระราชมณเฑียร.

ลุศักราช ๑๐๒๐ ปีจอ สำเรทธิศก เดือนอ้าย จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยพระที่นั่งชลวิมานกาญจนบวรนาวาไปประพาศณเมืองนครสวรรค์ จึงพระยาจักรีกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ขุนศิขรจารินณเมืองศรีสวัสดิบอกมาว่า ออกไปฟังข่าวณป่าตำบลห้วยทราย แลนายอานซุยคล้องต้องช้างนางเผือกประมาณสามศอกมีเศษ หูหางสรรพรูปงาม แลคล้องในวัน ค่ำ จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้พระยาตนาว แลพฤฒิบาศ แลขุนช้างชาวช้างทั้งหลาย ไปรับเสวตรคเชนทร ก็เสด็จพระราชดำเนินแต่เมืองนครสวรรค์มายังกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา แลรับเสวตรคเชนทรมาถึงกรุงเทพมหานครณวัน ค่ำ แลให้แห่ประดับประดาด้วยการมหรศพทั้งปวงด้วยมาเรือขนาน รับขึ้นไว้ณโรงใกล้พระราชวัง แลทรงพระกรุณาตรัศประสาทนามกรชื่อ พระอินทรไอยราวรรณวิสุทธราชกริณี แลให้พระมหาราชครู พระครูพฤฒิบาศ แลท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขลูกขุน ทำขวัญคำรบสามวัน แล้วแต่งเครื่องราชาภรณ์บวรอลงกฎรจนาด้วยกนกรัตนาไมยพระราชทานให้ประดับสำหรับเสวตรคเชนทรนั้น แลให้พระศรีสิทธิกรรมอยู่บริบาลนางพระยาช้างเผือกนั้น ส่วนนายอานซุยผู้บุตรขุนศิขรจารินซึ่งคล้องถูกนั้น พระราชทานให้ชื่อเปน ขุนคเชนทรไอยราวิสุทธิราชกริณี แลพระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมเกลี้ยงเครื่องทองสำรับ แลเงินตราสองชั่ง ผ้าลายสรรพางค์ไม้ลายปูน แลเสื้อแพรสำรับ แลเม้ยเหง ภรรยาแห่งนายอานซุยนั้น พระราชทานให้ครอบเงินกลีบบัวหนักสิบตำลึง เครื่องสำรับ แลเงินตราชั่งหนึ่ง ผ้าท้องขาวเชิงชายเขียนสำรับหนึ่ง ขุนศิขรจารินนั้น พระราชทานให้เปนหลวงเสวตรกเรนทร แลพระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมทองจำหลักหูช้าง แลเครื่องทองสำหรับเจียด เงินตราสองชั่ง ผ้าลายสรรพางค์ไม้ลายปูน แลเสื้อแพรพรรณสำรับ แลนายอานซุยผู้คล้องต้องนั้นว่า ช้างนี้ตาวิการ จะปล่อยเสีย จึงขุนศิขรจารินผู้ช่วยปรวดนั้นรู้ว่า ช้างเผือก แลมิให้ปล่อยเสีย จึงได้พระราชทานเท่ากัน แลพระราชทานแก่ผู้เปนควาญแลโยนทามนั้นตามธรรมเนียมซึ่งได้ช้างเผือกมาแต่ก่อน ผู้ถือหนังสือข่าวมาแลผู้ส่งนั้นก็ได้พระราชทานถ้วนทุกคน แลพระราชทานทั้งปวงเปนเงินสิบเจ็ดชั่งสิบตำลึง แลข้าสร่วยดีบุกซึ่งเปนสมัคพรรคพวกแลทาษหลวงเสวตรกเรนทรซึ่งได้ช่วยในการช้างนั้นก็พระราชทานด้วย สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกทรงพระเดชานุภาพอันประเสริฐ เจริญพระราชกุศลสุจริตธรรม แลกอปรด้วยพระราชศรัทธา ก็ให้ฐาปนาพระพุทธปฏิมาห้ามสมุทพระองค์หนึ่ง หุ้มทองแลทรงอาภรณ์ประดับด้วยแหวนอันมีค่า ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระองค์สูงสี่ศอกคืบมีเศษทั้งฐาน แล้วก็ทรงพระราชศรัทธาตรัศให้ฐาปนาพระพุทธปฏิมาพระองค์หนึ่งหล่อด้วยทองนพคุณทั้งแท่ง ทรงนาม สมเด็จพระบรมตรีภพนารถ ห้ามสมุท สูงศอกคืบเก้านิ้ว ทรงเครื่องอาภรณ์ประดับพระอุณาโลมเพ็ชรแหลมเท่ามะกล่ำใหญ่ แลฐาปนาพระพุทธปฏิมาหุ้มเงินสองพระองค์ พระองค์หนึ่งสูงสี่ศอกคืบมีเศษทั้งฐาน พระองค์หนึ่งสูงสี่ศอกคืบมีเศษ แล้วก็ตรัศให้หล่อพระบรมกรรมพระองค์หนึ่ง สูงสี่ศอกทั้งฐาน แล้วภิเศกเสร็จ ก็ให้รับไปประดิษฐานไว้ในพระอารามพระศรีรุทรนารถ ตำบลชีกุน แลตรัศให้หล่อพระเทวกรรมพระองค์หนึ่ง สูงประมาณสี่ศอก ไว้ในหอพระเทวกรรม ในขณะนั้น ก็ฦๅชาปรากฎพระยศพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าช้างเผือก ทรงพระเดชบุญญานุภาพอันยิ่งไปทั่วนา ๆ ประเทศทั้งปวง ฝ่ายเมืองกัมพุชประเทศนั้น นักจันทรผู้เปนราชบุตรพระยากัมพุชประเทศได้อยู่ปกครองเมืองกัมพุชประเทศ ก็มีพิโรธกันกับน้องผู้ชื่อ นักประทุม ๆ ให้หนังสือไปแก่พระยาญวนให้มารบเอาเมืองกัมพุชประเทศ พระยาญวนก็ให้องเจียงทูยกทัพมารบเอาเมืองกัมพุชประเทศ ได้นักจันทรผู้ครองเมืองกัมพุชประเทศนั้นไป แลเอาแต่ทรัพย์สิ่งของแลปืนไปเมืองญวน แล้วก็ส่งนักจันทรให้กลับมาเมืองกัมพุชประเทศเล่า ครั้นมาถึงเมืองจามปาลราษฎร์ นักจันทรก็ถึงแก่อนิจกรรม แลนักประทุมผู้น้องก็คุมญาติวงษ์สมัคพรรคพวกเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสามคนซ่องสุมผู้คนไปอยู่ณเมืองทายเพชร ในปีจอ สำเรทธิศกนั้น แขกแม่นางกเบาอันอยู่เมืองกัมพุชประเทศหาที่พึ่งที่พำนักมิได้ แลพระยาราชภักดี หนึ่ง พระยาโตะกา หนึ่ง พระยาโตะปะแก หนึ่ง พระยานครหลวง หนึ่ง ศรีกากะ หนึ่ง โปช้าง หนึ่ง คุมสกรรจ์อพยพเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสามคนมาขอเปนข้าสู่พระราชสมภาร แลทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุประโภคบริโภคแลอาหารทั้งปวง แลไร่นาให้ทำกินเลี้ยงอาตมภาพทุกคน มิได้แค้นเคือง.

ลุศักราช ๑๐๒๑ ปีกุญ เอกศก หลวงกำเริบพระไพร หนึ่ง หลวงจงราชา หนึ่ง หลวงโสม หนึ่ง หลวงราชกุมาร หนึ่ง หลวงราชเสนา หนึ่ง หลวงเสนาวิไชย หนึ่ง แลขุนหมื่น กับด้วยสกรรจ์อพยพสองพันสองร้อยสิบสี่คน มาสู่พระราชสมภาร แลสังราชาสุคันธอันเปนญาติสมัคพรรคพวกด้วยนักจันทร กับด้วยนักนี แลนักวรอุไทย แลนักอ่ำผู้หลาน ทั้งนี้หาที่พำนักมิได้ ก็นำสมัคพรรคพวกทั้งหลายมาสู่พระราชสมภาร ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องอุประโภคบริโภคทั้งปวงแก่สังฆราชาสุคันธแลญาติสมัคพรรคพวกทั้งปวง แลให้สังฆราชาสุคันธอยู่อารามวัดพระนอนแทบอารามวัดพระยาไท แลพระราชทานอุประโภคบริโภคเจียดแลเครื่องเจียดแก่นักนี แลนักวรอุไทย นักอ่ำ แลพระราชทานแก่หลวงขุนหมื่นผู้มีความสวามิภักดิ แลสกรรจ์อพยพทั้งปวง ให้ทำกินในถิ่นฐานที่ชอบกล มิให้แค้นเคืองสิ่งใดได้ แลขุนท่องพระไพรมาสู่พระราชสมภารด้วยสังฆราชาสุคันธนั้นให้การว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองสวรรคาไลย แลสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชเสวยราชสมบัติ รู้ข่าวไปถึงนักจันทรผู้เปนพระยากัมพูชาธิบดี ๆ ก็ใช้ขุนท้องพระไพรแลไพร่ห้าคนให้ลอบปลอมเข้ามาฟังอึงกิดาการณกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา ขุนท่องพระไพรกับไพร่ห้าคนเดินลัดป่ามาทางนครนายก แลถึงทุ่งพระแก้ว จึงไว้ไพร่สามคน มาด้วยนั้นสองคน แลถือเชือกเดินเข้ามาประดุจดังหาวัว ขณะนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นปราบดาภิเศกแล้ว แลขุนท่องพระไพรมาพบสงฆ์สามรูปณทุ่งวัดเดิม ได้เจรจาด้วยสงฆ์ ๆ ก็บอกว่า พระนารายน์เปนเจ้าได้เสวยราชสมบัติ แลทรงพระเดชบุญญานุภาพเปนหนักหนา แลพระหัดถ์ข้างหนึ่งจะให้เปนสองพระหัดถ์ก็ได้ สามพระหัดถ์ก็ได้ แลทรงพระกรุณาแก่ประชาราษฎรทั้งปวง แลขุนท่องพระไพรก็เอากิจนี้ไปบอกแก่นักจันทร.

ในปีกุญ เอกศก เดือนเก้า มริอลาได้ยินปรากฎพระเกียรติยศอันประเสริฐออกไป ก็มีความสวามิภักดิ แต่งจานแก้วหุ้มแสรกทองประดับมรกฎแลแหวนแดงทั้งปวงร้อยยี่สิบพลอย ขอให้โกษาธิบดีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แลในปีเดียวนั้น พระยาตุกสามีความสวามิภักดิ แต่งแหวนพลอยเพ็ชรแหลมประมาณเท่าผลสวาด คิดค่าแปดชั่งเจ็ดตำลึงทอง แลแหวนพลอยเพ็ชรมรฎปเท่าบัวอ่อนใบหนึ่ง เปนค่าชั่งสิบตำลึงทอง ให้ดีบลมูลนำเข้ามาให้พระยารามกำแหงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในปีกุญนั้น นางพระยาอาแจแต่งแหวนเพ็ชรเปนลูกแตงเท่าผลมขามทั้งเปลือก เปนค่าสิบตำลึงทอง ขอให้โกษาธิบดีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในปีเดียวนั้น ญาณมหมัต ลูกค้าณเมืองมชลีปตำ มีความสวามิภักดิ ก็แต่งดาบทองกลมเปนรูปนกอยู่ในแลประดับพลอยเพ็ชรแลพลอยแดงมรกฎแลมุกทั้งสามสาย พลอยแหวนประดับใหญ่น้อยสองร้อยเจ็ดพลอย ขอให้โกษาธิบดีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แลประเทศทั้งปวงมีความสวามิภักดิแลแต่งเครื่องบรรณาการรจนาอันพิจิตต่าง ๆ เข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเปนอันมาก สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาพระราชทานให้สิ่งของตามปราถนานั้นทุกประการยิ่งกว่าสิ่งของทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้น.

ในศักราช ๑๐๒๒ ปีชวด โทศกนั้น มีหนังสือพระยาแสนหลวงณเมืองเชียงใหม่ให้แสนสุรินทรไมตรีถือลงมาถึงอรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ในลักษณ์หนังสือนั้นว่า ชาวเมืองจีนฮ่อยกรี้พลมาจะล้อมเอาเมืองเชียงใหม่ แลพระยาแสนหลวงแลชาวเมืองเชียงใหม่ทั้งปวงหาที่พึ่งที่พำนักมิได้ จึงเสี่ยงทายในอารามพระพุทธสิหิงค์ซึ่งอยู่ณเมืองเชียงใหม่นั้นว่า ถ้าประเทศใดจะเปนที่พึ่งที่พำนักได้ไซ้ ขอพระพุทธเจ้าสำแดงให้เห็นประจักษ์ แลว่า พระพุทธสิหิงค์นั้นบ่ายพระภักตรมายังกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา พระยาแสนหลวง ขุนแสนหลวงแสนหมื่นทั้งปวง มีความยินดีนัก จะขอเอาพระเดชเดชานุภาพพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าช้างเผือกเปนที่พึ่งพำนึก ขอพระราชทานข้าหลวงแลช้างม้าไพร่พลสรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ให้พ้นไภยอันตราย จะได้เปนข้าขัณฑสีมามณฑลณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา จึงพระยาจักรีเอาคดีกราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าช้างเผือก จึงมีพระราชโองการตรัศว่า ซึ่งพระยาแสนหลวง แลแสนหลวงหมื่น แลชาวเมืองเชียงใหม่ทั้งปวง หาที่พึ่งมิได้นั้น ควรแต่งท้าวพระยามนตรีมุขแลช้างม้าไพร่พลทหารสรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธทั้งปวงไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ตามปราถนาชาวเมืองเชียงใหม่ทั้งปวง แลมีพระราชโองการตรัศให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ เปนนายกอง พระยาพิจิตรเปนยุกรบัตร เมืองนครนายกเปนเกียกกาย สมิงพระรามเปนกองน่า สมิงพัตบะเปนกองหลัง เมืองคยอยเปนปีกขวา เมืองยศโสธรเปนปีกซ้าย แลขุนหมื่นเปนกองใช้กองแล่น ช้างเครื่องแปดช้าง ม้าสิบหกม้า พลสี่พัน ปืนใหญ่ยี่สิบเก้าบอก ปืนนกสับร้อยสี่สิบสี่บอก เปนทัพหนึ่ง แลให้พระยารามเดโชเปนนายกอง พระสุรบุรีเปนยุกรบัตร พระศรีสวัสดิ์เปนเกียกกาย พลรบพันหนึ่งสรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธปืนใหญ่สิบบอก ปืนนกสับร้อยบอก ช้างเครื่องหกช้าง ม้าสิบม้า เปนทัพหนึ่ง แลให้พระยาท้ายน้ำแลพระยารามเดโชทั้งสองทัพนี้ยกทัพไปจากกรุงเทพพระมหานครบวรทวารวดีศรีอยุทธยาในเดือนสิบสอง ให้แสนสุรินทรไมตรีนำทางไปยังเมืองเชียงใหม่ ในเดือนอ้าย ปีชวด โทศกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกทรงพระเดชานุภาพอันประเสริฐ มีพระราชหฤไทยทรงพระราชศรัทธาจะถวายสักการบูชาพระชินราช พระชินสีห์ ณเมืองพระพิศณุโลก.

ครั้นถึงวัน ค่ำ ก็เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งสมรรถไชยไปโดยทางชลมารค สิบสี่เวนก็ถึงเมืองพระพิศณุโลก แลตั้งตำหนักตำบลช่องตา แลถวายสักการบูชาพระชินราช พระชินสีห์ แลถวายพุทธสมโภชด้วยการมหรศพสามวัน ฝ่ายพระยาท้ายน้ำ แลพระยารามเดโช พระยาพิจิตร บอกหนังสือมาถึงสมุหนายกให้กราบทูลพระกรุณาว่า ได้ยกทัพไปถึงตำบลฆ้องไชย แสนสุรินทรไมตรีผู้นำทางนั้นหนี จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้มีตราตอบไปถึงนายทัพนายกองให้ติดตามเอาตัวแสนสุรินทรไมตรีนั้นจงได้ อนึ่ง พระยาแสนหลวงณเมืองเชียงใหม่แต่งหนังสือให้แสนสุรินทรไมตรีถือมาฬ่อลวงแล้วหลีกหนีนั้น เมืองนครแลเมืองเถินไซ้ขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่ จะไว้เมืองนครแลเมืองเถินนั้นมิได้ จึงตรัศให้พระยากระลาโหมเปนนายกอง หลวงธรรมไตรโลกเปนยุกรบัตร พระยาเสนาภิมุขเปนเกียกกาย สมิงพระรามเปนกองน่า พระมฤทเปนกองหลัง เมืองนนท์ราชธานีเปนปีกขวา พระวิจารณ์มนตรีเปนปีกซ้าย แลกองแล่นพล ๕๐๐๐ เศษ ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง แลม้าสรรพด้วยเครื่องสาตรวุธ เปนทัพหนึ่ง แลให้พระยานครราชสิมาเปนนายกอง เมืองอินทบุรีเปนยุกรบัตร พระสุพรรณบุรีเปนเกียกกาย พระกุยบุรีเปนกองน่า พระกลางบรรพตเปนกองหลัง พระพลเปนปีกขวา พระมหาดไทยเปนปีกซ้าย พล ๒๐๐๐ ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๘ ม้า เปนทัพหนึ่ง ให้พระยายมราชเปนนายกอง หลวงรามสรเดชเปนยุกรบัตร พระไชยนาทเปนเกียกกาย พระอนันตกะยูสอเปนกองน่า พระศรีมหาราชาเปนปีกขวา ขุนโจมจัตุรงค์เปนปีกซ้าย พลพันหนึ่ง ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๘ ม้า เปนทัพหนึ่ง แลให้พระยาราชบังสรรเปนนายกอง พระสรรคบุรีเปนยุกรบัตร หลวงวิชิตสงครามเปนเกียกกาย พระนนทบุรีเปนกองน่า พระยาสุรราชภักดีเปนกองหลัง พระยาตุกาลีเปนปีกขวา หลวงรามภักดีเปนปีกซ้าย พล ๓๐๐๐ ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้างเครื่อง ๖ ช้าง ม้า ๑๐ ม้า เปนทัพหนึ่ง แลให้พระยาพิไชยสงครามเปนนายกอง หลวงสุรสงครามเปนยุกรบัตร หลวงราชมนตรีเปนเกียกกาย หลวงกำแหงสงครามเปนกองน่า หลวงนเรนทรภักดีเปนปีกขวา ขุนพิพิธรณรงค์เปนปีกซ้าย พล ๕๐๐ ปืนใหญ่ ปืนนกสับ ช้าง ๖ ช้าง ม้า ๘ ม้า เปนทัพหนึ่ง จึงทัพทั้ง ๕ ทัพก็ยกขึ้นไป ครั้นถึงเมืองนครแลเมืองเถินไซ้ จึงสงเชดกายแลแหงในซึ่งอยู่ในเมืองนครก็พาสกรรจ์อพยพเมืองนครแลเมืองเถินออกมาหานายทัพนายกองข้าหลวง ขอเปนข้าสู่พระราชสมภาร แลฟ้าลายข่าซึ่งอยู่รักษาเมืองนครนั้นก็พาสกรรจ์อพยพหนีไปพึ่งอยู่ณเมืองเชียงใหม่ นายทัพนายกองก็บอกหนังสือส่งตัวเชดกาย แลแหงใน กับสกรรจ์อพยพทั้งปวง ลงมายังทัพหลวงณเมืองพระพิศณุโลกว่า ได้เมืองนครแลเมืองเถินแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการตรัศสั่งสมุหนายกให้มีตราตอบให้พระยากลาโหม พระยารามเดโช พระยาพิไชยสงคราม อยู่รั้งเมืองนคร ให้ซ่องสุมชาวเมืองนครแลครัวอพยพทั้งปวงซึ่งแตกฉานซ่านเซนออกไปจากเมืองนครนั้นให้เข้ามาอยู่ตามภูมิ์ลำเนาดุจก่อน แล้วให้พระยานครราชสิมา พระราชสุภาวดี พระสุพรรณบุรี ยกไปเอาเมืองตัง แล้วก็มีพระราชโองการตรัศสั่งให้พระยามหาเทพ แลขุนหมื่น ข้าหลวง แลพล ๕๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธไปเอาเมืองลอง ก็ได้แสนเมืองลองแลสกรรจ์อพยพคุมลงมาถวายยังทัพหลวงณเมืองพระพิศณุโลก ทรงพระกรุณาตรัศให้ขุนราชเสนา หมื่นอินทศรแม่น ไปฟังข่าวพระยานครราชสิมา แลพระราชสุภาวดี พระสุพรรณบุรี ซึ่งยกทัพไปเอาเมืองตังนั้น แลได้สังฆราชาเขมราช แลเมืองตัง หมื่นจิตร กับไพร่หกสิบแปดคน มายังทัพหลวงณเมืองพิศณุโลก ถึงณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าช้างเผือกก็เสด็จพระราชดำเนินกรีธาพลแต่เมืองพระพิศณุโลกไปยังเมืองศุโขไทย แลเสด็จอยู่พระตำหนักตำบลธานี จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้พระยาเกียรติ์เปนนายทัพน่า เชียรโยธาเปนปีกขวา ขุนรามโยธาเปนปีกซ้าย สมิงสามแหลกเปนเกียกกาย พลรบ ๕๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธทัพหนึ่ง แลให้พระยากำแพงเพ็ชรเปนนายกองทัพใหญ่ ขุนเมืองเปนปีกขวา บุญราชาเปนปีกซ้าย หลวงอินทแสนแสงเปนเกียกกาย แลช้างม้าไพร่พลพันหนึ่งสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง แลให้ทัพทั้งสองทัพยกไปเมืองรามตี แลผู้อยู่รักษาเมืองนั้นชื่อ โลกกำเกียว ครั้นรู้ก็พาสกรรจ์อพยพหนีไปจากเมืองรามตี จึงขุน แลสมิง แลจ่าทั้งปวง ๑๕ คนนี้เปนนายหมวด แลลูกหลานนายหมวด ๑๕ คน ออกมาหาพระยากำแพงเพ็ชรว่า จะขอเปนข้าสู่พระราชสมภารแลกินน้ำสบถ แล้วก็ให้ผมไว้เปนสำคัญตามประเพณีละว้าซึ่งสัญญานั้น แล้วถวายอพยพทั้งปวง ๑๔๙๓ คน ขอเปนข้าขัณฑสิมากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา จึงพระยากำแพงเพ็ชรก็ให้ผ้าเสื้อเปนรางวัลแก่นายหมวด ลูกหลานนายหมวด ผู้มีความสวามิภักดินั้นถ้วนทุกคน แล้วพระยากำแพงเพ็ชรบอกหนังสือมาถึงท่านสมุหนายกเมื่อทัพหลวงเสด็จอยู่ตำบลธานีนั้น พระยาจักรีจึงเอากราบทูล ทรงพระกรุณาโปรดนายหมวดผู้มีความสวามิภักดิซึ่งมาสู่พระราชสมภาร แลพระราชทานผ้าเสื้อแลเงินถ้วนทุกคน แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับลงมาจากเมืองพระพิศณุโลกโดยทางชลมารค แปดวันก็ถึงกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา.

ส่วนพระยากำแพงเพ็ชรก็แต่งขุนโชติภักดี ขุนศรนรินทร์ แลหมื่นมหาเกาทัณฑ์ คุมไพร่ร้อยหนึ่งสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธไปจัดซ่องพระยาพรหมคิรีแลละว้าขุนหมื่นนายหมวด พระยาพรหมคิรีแลขุนหมื่นสมิงนายหมวดทั้งปวงยี่สิบคนผู้ออกมากินน้ำสบถนั้น พระยากำแพงเพ็ชรก็ให้รางวัลเสื้อผ้าแลเงินตราแก่พระยาพรหมคิรีแลละว้านายหมวดทุกคน พระยาพรหมคิรีแลละว้านายหมวดทั้งปวงถวายสกรรจ์อพยพ ๑๘๐๐ คนเปนข้าขัณฑสิมากรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา จึงพระยากำแพงเพชรให้บุญราชาเมืองเชียงเงิน ขุนหมื่น แลไพร่ ๑๒๐ คน คุมเอาพระยาพรหมคิรีแลละว้าผู้เปนขุนหมื่นนายหมวดทั้งปวงมายังกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา แลพระราชทานชื่อพระยาพรหมคิรีนั้นเปนพระยาอนุชิตชลธี แลพระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมจำหลักสรรพางค์จุกทอง ผ้าเสื้อ เงินตรา สิ่งของ แลเครื่องเรือน แก่พระยาพรหมคิรีแลขุนหมื่นสมิงละว้านายหมวดนั้นมากนัก แลให้ไปอยู่ตามภูมิ์ลำเนาดุจก่อน ส่วนพระราชสุภาวดีแลเมืองสรรคบุรี ครั้นได้เมืองตังแล้ว ก็ยกทัพไปเอาเมืองอินทคิรี แลพระยาอินทคิรีคุมเอาสกรรจ์อพยพเจ็ดร้อยออกมาหาพระราชสุภาวดีขอเปนข้าสู่พระราชสมภาร จึงพระราชสุภาวดีให้พระยาอินทคิรีคุมสกรรจ์อพยพไปอยู่ณเมืองอินทคิรี จึงพระยาอินทคิรีให้ล่าดงผู้ลูก แลแสนทักขิณดาล แสนบัวบาน แสนอไภยมาณ แสนพิงไชย แลไพร่ ๔๖ คน ลงมาด้วยพระราชสุภาวดีแลเมืองสรรคบุรีถึงกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าช้างเผือกก็มีพระราชโองการตรัศสั่งให้เบิกล่าดง แลแสนทักขิณดาล แสนบัวบาน แสนอไภยมาณ แสนพิงไชย เข้ามากราบถวายบังคมณศาลาลูกขุน แลพระราชทานชื่อแก่นายล่าดงเปนแสนหลวงสุนทรราชภักดี แสนบัวบานเปนแสนภักดีนรินทร์ แสนทักขิณดาลเปนแสนภูมินทรบริบาล พระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมจำหลักสรรพางค์ เครื่องสำรับ แลผ้าเสื้อ ผ้าพอก ไปแก่พระยาอินทคิรี แลพระราชทานเจียดทรงมันแลผ้าเสื้อแพรพรรณแก่แสนหลวงสุรินทรภักดีผู้ลูกพระยาอินทคิรี แลพระราชทานผ้าเสื้อแพรพรรณแก่แสนภักดีนรินทร์ แสนภูมินทรบริบาล แสนพิงไชย แลพระราชทานผ้าเสื้อแก่แสนขุนแสนหมื่นผู้มานั้นเปนอันมาก แลพระราชทานอัฐบริขารแก่สงฆ์อันมาด้วยนั้นแล้ว แลอรรคมหาเสนาธิบดี แลมหาดไทย กลาโหม จัตุสดมภ์ทั้ง ๔ ก็ให้ผ้าเสื้อแก่แสนทั้งสี่นั้นแล้ว ก็พระราชทานให้แต่งเครื่องเลี้ยงนานาประการออกไปเลี้ยงทั้งสี่คนนั้นเปนอันมาก แลทรงพระกรุณาตรัศสั่งให้แสนหลวงสุรินทรภักดี แสนภักดีนรินทร์ แสนภูมินทรบริบาล แสนพิงไชย แสนขุน แสนหมื่น แลไพร่ทั้งปวง ให้กลับคืนขึ้นไปยังเมืองอินทคิรี อยู่ตามภูมิ์ลำเนา แลรักษาเมืองอินทคิรีด้วยพระยาอินทคิรี เปนเมืองขึ้นตามขนบณกรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ส่วนทัพพระยากำแพงเพ็ชรแลพระยาเกียรติ์ซึ่งไปตั้งอยู่ตำดลด่านอุมรุกนั้นก็จัดแจงซ่องได้สมิงคลองคู สมิงกะเทิง แลละว้านายหมวด แลไพร่ละว้าเปนอันมาก แล้วส่งนายหมวดลงมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา แลพระราชทานชื่อสมิงคลองคูเปนสมิงเทวคิรีรักษ์ สมิงกะเทิงเปนสมิงภักดีศีขรินทร์ แลพระราชทานดาบทองแก่สมิงเทวคิรีรักษ์ พระราชทานขันเงินแก่สมิงภักดีศีขรินทร์ แลพระราชทานผ้าเสื้อถ้วนทุกคน แล้วให้ขึ้นไปจัดซ่องละว้าทั้งปวง ได้สกรรจ์อพยพพันหกร้อย แล้วสมิงเทวคิรีรักษ์ไปสืบซ่องได้พระยาพรหมคิรี จึงพระยากำแพงเพ็ชรให้บุญราชาคุมพระยาพรหมคิรีแลสมัคพรรคพวกมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระกรุณาตรัศสั่งให้เบิกพระยาพรหมคิรีเข้ามากราบถวายบังคมณศาลาลูกขุน แลพระราชทานชื่อแก่พระยาพรหมคิรีเปนพระยาสุทัศนธานีศรีวนาภิรมย์ แล้วพระราชทานเจียดเงินเหลี่ยมจุกทองปากจำหลักสรรพางค์ แลผ้าเสื้อแพรพรรณเปนอันมาก อรรคมหาเสนาธิบดี มหาดไทย กลาโหม จัตุสดมภ์ทั้ง ๔ ก็ให้รางวัลผ้าเสื้อแพรพรรณก็มาก แล้วก็ให้กลับคืนขึ้นไปอยู่รักษาเมืองอินทคิรีตามภูมิ์ลำเนา เปนเมืองขึ้นตามขนบกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี แลให้ข้าหลวงไปอยู่ด้วยพระยาสุทัศนธานีเพื่อจะให้รอบรู้ขนบธรรมเนียมกิจราชการทั้งปวง.

ขณะนั้น มังนันทมิตรผู้เปนอาพระเจ้าอังวะอยู่ปกครองเมาะตมะ ส่วนชาวเมืองฮ่อไซ้ยกทัพมาล้อมเมืองอังวะ จะเอาฮ่ออุทิงผาซึ่งพาสกรรจ์อพยพประมาณพันหนึ่งหนีไปพึ่งอยู่ณเมืองอังวะนั้น จึงมังนันทมิตรเกณฑ์เอาพล ๓๒ เมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองเมาะตมะนั้น ๓๐๐๐ ให้ไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ แลมอญอันไปช่วยป้องกันก็หลีกหนีคืนมาเปนอันมาก จึงมังนันทมิตรก็ให้กุมเอามอญอันหนีมานั้นใส่ตรางไว้ ว่าจะเผาเสีย แลสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ คนนั้นควบคุมมอญประมาณห้าพันยกเข้ามาเผาเมืองเมาะตมะ แลได้ตัวมังนันทมิตรจำไว้ แล้วจึงปฤกษากันว่า เรากระทำความผิดถึงเพียงนี้ ถ้าทราบถึงพระเจ้าอังวะ ก็จะมีไภยันตรายแก่พวกเราเปนแท้ แลเราทั้งปวงหาที่พึ่งมิได้ จำจะพากันกวาดอพยพหนีเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา เอาพระเดชานุภาพปกเกล้าฯ ร่มเย็นเปนที่พำนัก จึงจะพ้นไภย ครั้นปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว สมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นายก็กวาดต้อนครอบครัวรามัญในแว่นแคว้นเมืองเมาะตมะทั้ง ๓๒ หัวเมือง กับสมัคพรรคพวกของตัว แลพรรคพวกมังนันทมิตร เปนคนประมาณหมื่นเศษ แล้วให้ถอนมังนันทมิตรออกจากพันธนาการ พากันอพยพออกจากเมืองเมาะตมะมาทางเมืองสมิถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ในปีรกา นพศกนั้น จึงสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นายก็แต่งหนังสือบอกให้รามัญถือเข้ามาแจ้งกิจการแก่พระยากาญจนบุรีว่า จะเข้ามาศวามิภักดิ์เปนข้าทูลลอองธุลีพระบาท พระยากาญจนบุรีก็ส่งหนังสือบอกเข้ามาถึงอรรคมหาเสนาธิบดีให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกได้ทรงทราบเหตุ ก็ทรงพระโสมนัศ ดำรัศให้สมิงรามัญเก่าในกรุงถือพลพันหนึ่งออกไปรับครัวเมืองเมาะตมะเข้ามายังพระมหานคร แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พวกครัวมอญใหม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลสามโคกบ้าง ที่คลองคูจามบ้าง ที่ใกล้วัดตองปุบ้าง แล้วดำรัศโปรดให้สมิงนายกองทั้ง ๑๑ คนเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม ทรงพระมหาการุญภาพพระราชทานเครื่องยศ เครื่องเรือน แลเสื้อผ้า เงินตรา กับทั้งเคหฐาน ให้อยู่เปนศุข แต่มังนันทมิตรนั้นป่วยลงถึงอนิจกรรม.

ฝ่ายเจ้าเมืองตะเกิง เจ้าเมืองเสี่ยง เจ้าเมืองหงษาวดี รู้ข่าวว่า มอญเมืองเมาะตมะเปนขบถหนีไปเมืองไทยดังนั้น ก็บอกหนังสือขึ้นไปถึงเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะได้ทรงทราบแล้ว พอกองทัพฮ่อตั้งล้อมพระนคร ขาดเสบียงลงก็เลิกทัพกลับไป พระเจ้าอังวะจึงดำรัศสั่งให้เกณฑ์กองทัพเมืองตองอู เมืองหงษาวดี เมืองตะเกิง เปนคน ๓๐๐๐๐ เศษ ให้เจ้าเมืองทั้งสามนั้นรีบยกกองทัพเร่งติดตามไปก่อนให้ทันพวกมอญขบถ แล้วจึงให้ติงตะโบกับเมี้ยนหวุ่นสองนายถือพล ๑๐๐๐๐ เศษสรรพด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธ ช้างเครื่อง ๓๖ ช้าง ม้าเครื่อง ๑๐๐ เศษ เปนกองน่า ให้มังสุรราชาเปนโบชุกแม่ทัพถือพล ๒๐๐๐๐ เศษสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ ช้างเครื่อง ๖๘ ช้าง ม้า ๒๐๐ ม้า ให้ทัพทั้งสองกองนี้ยกไปติดตามจับพวกมอญขบถให้จงได้ ครั้นได้ศุภวารดฤถีพิไชยฤกษ์ กองทัพทั้งสองทัพนั้นก็ยกมาตามพระราชกำหนด มาตั้งพร้อมทัพอยู่ณเมืองเมาะตมะ.

ฝ่ายกองทัพกรุงเทพมหานครซึ่งยกไปตั้งอยู่ในแดนเมืองนครลำปาง แลเมืองลำพูนไชย เมืองเชียงใหม่นั้น ก็ตั้งเกลี้ยกล่อมพวกลาวแลละว้ารามัญได้เปนอันมาก พอมีตราโปรดขึ้นมาว่า ให้พระยารามเดโช พระยาท้ายน้ำ นายทัพนายกองทั้งปวง เร่งระดมตีเมืองลำพูนไชย เมืองเชียงใหม่ ให้จงได้ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงได้ทราบข้อรับสั่งในท้องตราดังนั้น ก็เร่งยกกองทัพเข้าตั้งค่ายประชิดเมืองทั้งสองทัพ พระยาท้ายน้ำเข้าตีเมืองลำพูนไชย ทัพพระยารามเดโชยกไปตีเมืองเชียงใหม่ แล้วจัดแจงการที่จะปล้นเอาเมือง.

ฝ่ายพระยาแสนเจ้าเมืองเชียงใหม่แลพระยาลำพูนไชย ครั้งเมื่อกองทัพฮ่อยกมาล้อมเมืองอังวะ ได้ทราบเหตุก็สดุ้งตกใจว่า เมืองอังวะจะเสียแก่ฮ่อ ทัพฮ่อจะยกล่วงมาตีเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงให้แสนสุรินทรไมตรีถือศุภอักษรส่งมายังพระมหานครศรีอยุทธยาขอกองทัพ แลนำกองทัพไทยจึ้นไปช่วยป้องกันรักษาเมือง ขอเปนข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพมหานคร ครั้นภายหลังรู้ข่าวว่า ทัพฮ่อไม่ได้เมืองอังวะ ล่าทัพกลับไป แลกองทัพพม่ายกติดตามพวกรามัญเมืองเมาะตมะซึ่งเปนขบถพาครอบครัวอพยพหนีเข้ามาณกรุงไทยนั้น ก็กลัวอำนาจกองทัพพม่า เพราะเหตุเมืองเชียงใหม่แลเมืองขึ้นทั้งปวงเปนข้าขอบขัณฑเสมาขึ้นแก่เมืองอังวะ จึงมีหนังสือกลับมาบอกให้แสนสุรินทรไมตรีหนีจากกองทัพไทย กลับใจจะต่อรบ แลคิดฬ่อลวงจะหน่วงกองทัพไทยไว้ให้ช้าลง จะได้จัดแจงการป้องกันรักษาเมืองให้มั่นคงก่อนกว่าจะบอกหนังสือขึ้นไปขอกองทัพเมืองอังวะให้ยกลงมาช่วยทัน จึงนิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูปผู้ฉลาดรู้เจรจาให้ถือหนังสือออกมาถึงแม่ทัพไทยเปนใจความว่า แสนสุรินทรไมตรีซึ่งให้ถือหนังสือไปขอกองทัพแลนำทัพมานั้นมิได้อำลาท่านผู้นายทัพแลหนีกลับมา เปนคนเบาความ มิควรนัก กระทำให้ข้าพเจ้าได้ความผิดด้วย จะให้ทำโทษจนถึงสาหัศ แล้วจะส่งตัวออกไปให้ท่านแม่ทัพต่อภายหลัง แลบัดนี้ ด้วยพระเดชานุภาพสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวปกแผ่มา กองทัพฮ่อรู้ว่า กองทัพกรุงเทพมหานครยกขึ้นมาช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย ก็เกรงพระราชกฤษฎาธิการ มิอาจมากระทำย่ำยีบีฑาได้ แลเลิกทัพหนีไปสิ้นแล้ว ขอท่านแม่ทัพใหญ่จงได้กรุณาอนุเคราะห์แก่ประชาชนชาวเมืองทั้งสองด้วย อนึ่ง ก็อย่าได้ให้รี้พลของท่านต้องรบพุ่งลำบากเลย ขอเชิญถอยทัพไปตั้งใต้เมืองลำพูนไชยก่อนเถิด แล้วขอให้บอหนังสือลงไปกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้ทราบก่อนตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ภายหลัง ข้าพเจ้าจึงจะแต่งช้างม้าเครื่องราชบรรณาการให้ทูตานุทูลนำลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามประเพณีเมืองขึ้นซึ่งเปนข้าขอบขัณฑสิมา แต่บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า รามัญเมืองเมาะตมะเปนขบถต่อเมืองอังวะ ยกครอบครัวอพยพหนีเข้าไปกรุงไทย พระเจ้าอังวะทราบ จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่าเปนอันมากยกติดตามล่วงเข้าไปในแดนกรุงเทพมหานคร ให้ตีต้อนเอามอญเหล่าร้ายคืนไปให้จงได้ ถ้ากองทัพอังวะรู้ว่า เมืองเชียงใหม่ไปยอมขึ้นแก่พระนครศรีอยุทธยา ได้ส่งช้างม้าเครื่องราชบรรณาการลงไปถวายแล้ว ก็จะยกมาตีคืนเอาไปเปนเมืองขึ้นอิก แลเมืองเชียงใหม่ก็จะมากไปด้วยหมู่ปัจจามิตรไม่รู้วาย ขอท่านผู้เปนนายทัพใหญ่ได้ทราบหนังสือนี้แล้วจงมีความเมตตาการุญภาพรั้งรออยู่ก่อน เร่งส่งหนังสือบอกลงไปกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยเร็วให้จงได้.

ฝ่ายพระยารามเดโช พระยาท้ายน้ำ นายทัพทั้งสอง ได้แจ้งความในหนังสือเมืองเชียงใหม่แจ้งข้อราชการมา จึงปฤกษาหารือกันว่า ถ้าเราจะยกเข้าหักเอาเมืองทั้งสองตามท้องตราซึ่งโปรดขึ้นมานั้น บัดนี้ เจ้าเมืองทั้งสองส่งหนังสือสารภาพโทษออกมาแล้ว แจ้งเหตุว่า ทัพพม่ายกติดตามพวกรามัญอันหนีเข้ามาในแดนกรุงเทพมหานครเปนการสงครามข้อใหญ่ เราจะด่วนตีเอาเมืองทั้งสองนั้นยังมิชอบ จำจะส่งหนังสือบอกแจ้งข้อราชการลงไปกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบก่อน ปฤกษาพร้อมกันแล้ว ก็แต่งหนังสือบอกกับทั้งหนังสือเมืองเชียงใหม่แต่งให้ขุนหมื่นในกองทัพถือลงไปยังกรุงเทพมหานคร.

ฝ่ายกองทัพพม่ารามัญยกจากเมืองเมาะตมะเร่งรีบติดตามครัวมอญซึ่งหนีเข้ามาถึงปลายด่านเมืองกาญจนบุรี แลจับได้ไทย ใช้ให้ถือหนังสือบอกเข้ามาแจ้งแก่พระยากาญจนบุรีแลกรมการทั้งปวงเปนใจความว่า ให้เร่งส่งมอญขบถซึ่งหนีเข้ามาในแดนกุรงไทยให้แก่เรา ถ้ามิส่งให้โดยดี เราจะยกกองทัพเข้าตีชิงเอาพวกมอญให้จงได้ ฝ่ายขุนหมื่นชาวด่านก็ส่งหนังสือนั้นเข้ามาแจ้งแก่พระยากาญจนบุรี ๆ ก็แต่งกรมการให้ถือหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร แลหนังสือบอกเมืองกาญจนบุรีมาถึงก่อนหนังสือกองทัพฝ่ายเหนือสองสามวัน สมุหนายกนำหนังสือกบอกทั้งสองฉบับขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงทราบข้อราชการในหนังสือบอกทั้งสองฉบับ จึงมีพระราชดำรัศสั่งเจ้าพระยาจักรีให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตระวันตก แลกองทัพในกรุง เปนพลสกรรจ์ลำเครื่อง ๓๐๐๐๐ เศษสรรพไปด้วยสรรพสาตราวุธ ช้างเครื่อง ๑๐๐ เศษ ม้า ๒๐๐ เศษ แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้ขุนเหล็กมหาดเล็กบุตรพระนมเปนเจ้าพระยาโกษาธิบดีเปนแม่ทัพใหญ่ พระยาวิเศษไชยชาญเปนยุกรบัตรทัพ พระยาราชบุรีเปนเกียกกาย พระยาเพชรบุรีเปนกองน่า ถือพลกองละ ๕๐๐๐ เศษสรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธ ช้างเครื่อง ๓๒ ช้าง ม้า ๕๐ ม้า เท่า ๆ กันทั้ง ๔ ทัพ สิริทั้งทัพใหญ่เปนคน ๕๐๐๐๐ เศษ ให้ยกไปตีทัพพม่าซึ่งยกมาติดตามรามัญนั้น ครั้นถึงศุภวารดฤถีพิไชยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกทัพบกทัพเรือแยกกันไปพร้อมทัพตำบลปากแพรก แล้วยกแยกกันไปตั้งรับตำบลท่ากระดานแลด่านกรามช้าง แม่ทัพใหญ่ตั้งตำบลปากน้ำลำกระเพิ่นใกล้เมืองกาญจนบุรี แลนายทัพนายกองทั้งปวงเร่งให้ตั้งค่ายคูประตูหอรบแลขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามทำนองศึก แล้วแต่งกองแล่นกองร้อยไปคอยเอาเหตุ แลกองเสือป่าแมวเซาคนเร็วม้าใช้เล็ดลอดไปซ่อนซุ่มสืบกองทัพข้าศึกตามกระบวนพิไชยสงครามพร้อมเสร็จทุกประการ.

ฝ่ายกองทัพพม่ารามัญยกล่วงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เข้ามาในแดน ทัพน่ายกเข้ามาตั้งค่ายณเมืองไชยโยคเปนหลายค่าย แม่ทัพใหญ่ตั้งค่ายตำบลท่าดินแดง แล้วให้กองทัพน่าเร่งยกเข้ามาตีกองทัพไทยซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นั้น แลกองตระเวนทั้งสองฝ่ายพบกันเข้า ได้รบพุ่งกันบ้าง ส่วนสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าจึงมีพระราชโองการตรัศสั่งสมุหนายกให้มีท้องตราตอบขึ้นไปถึงกองทัพฝ่ายเหนือว่า เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย ส่งหนังสืออ่อนน้อมรับผิดสารภาพโทษมาแก่เรา แล้วบอกเหตุการณ์มาโดยจริง อย่าให้กองทัพตีเอาเมืองทั้งสองก่อนเลย ให้นายทัพนายกองทั้งสองทัพยกกลับมาถึงแขวงเมืองนครสวรรค์ แล้วเดินทัพไปทางเมืองอุไทยธานี ตัดไปทางเมืองศรีสวัสดิ์ แลเมืองสังขล่า เมืองท้องผาภูม แล้วรีบไปโอบหลังล้อมค่ายพม่าข้าศึกซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองไชยโยค เร่งตีให้แตกฉานเสียโดยเร็วจงได้ ฝ่ายท้าวพระยานายทัพฝ่ายเหนือทั้งสองทัพได้แจ้งในท้องตราโปรดขึ้นมาดังนั้น ก็เลิกกองทัพกลับมาตามรับสั่ง แล้วเดินทัพไปโดยพระราชกำหนด เร่งกองน่ารีบยกไปโอบหลังทัพพม่าซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองไชยโยค แล้วแต่งกองโจรให้ไปซุ่มสกัดอยู่ที่ทางช่องแคบ ให้ม้าเร็วถือหนังสือบอกกำหนดวันเวลาสัญญาอาณัติไปถึงกองทัพฝ่ายใต้ให้ยกเข้าระดมตีทัพพม่าข้าศึกให้พร้อมกัน ครั้นถึงวันกำหนด นายทัพนายกองทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ก็ยกพลทหารเข้าระดมตีกระหนาบล้อมค่ายพม่าซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองไชยโยคทุก ๆ ค่ายพร้อมกัน ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ทัพพม่าตั้งรับต่อรบอยู่ได้ ๓ วัน รี้พลต้องสาตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อยล้มตายแลบาดเจ็บลำบากเปนอันมาก เหลือกำลัง ต้านทานมิได้ ก็แตกฉานแหกค่ายหนีไปทุก ๆ ค่ายในกลางคืนเพลาประมาณยามเศษ ทัพไทยเข้าค่ายได้ ไล่ฆ่าพลพม่ารามัญล้มตายในค่ายนอกค่ายกลาดเกลื่อนไป แลจับได้เปนนั้นก็มาก แล้วไล่ติดตามไป พลพม่ารามัญแตกกระจัดพลัดพรายไปไม่เปนหมวดเปนกอง ต่างคนเอาตัวรอดรีบหนีไปทางช่องแคบ กองโจรทัพไทยซึ่งไปตั้งซุ่มอยู่นั้นก็ออกตีกระหนาบก้าวสกัดฆ่าฟันพม่ามอญล้มตายมากกว่าพัน จับได้เปนอิกก็มาก แล้วไล่ติดตามไปตีค่ายใหญ่แม่ทัพซึ่งตั้งอยู่ณท่าดินแดง ทัพพม่ารับอยู่ประมาณครู่หนึ่งก็แตกฉานทิ้งค่ายพ่ายหนี แลมังสุรราชาซึ่งเปนโบชุกแม่ทัพนั้นต้องปืนนกสับป่วยไป ทัพไทยได้ไชยชำนะ เก็บได้สาตราวุธแลได้ช้างม้าพม่ามอญเชลยเปนอันมาก เจ้าพระยาโกษาแม่ทัพใหญ่จึงเกณฑ์ให้กองอาสาหกเหล่า แลกองอาสาจาม กับทัพหัวเมือง พล ๑๐๐๐๐ เศษ ให้ยกติดตามข้าศึกไปจนถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ แล้วมีหนังสือบอกซึ่งมีไชยแก่พม่าปัจจามิตรเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงทราบในหนังสือบอกนั้น ก็ทรงพระปรีดาโสมนัศ ดำรัศให้มีท้องตราให้กากองทัพกลับคืนยังพระมหานคร เจ้าพระยาโกษา ท้าวพระยา นายทัพนายกองทั้งปวง ก็เลิกทัพกลับคืนพระนครศรีอยุทธยา แล้วเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายช้างม้าเครื่องสรรพสาตราวุธแลพม่ามอญเชลยเปนอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานรางวัลแก่ท้าวพระยานายทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงโดยลำดับถานานุศักดิ์สมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น.

เมื่อครั้งศักราช ๑๐๑๙ ปีรกา นพศก มีฝรั่งเศสนายกำปั่นผู้หนึ่งบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขายณกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ต่อกำปั่นใหญ่ลำหนึ่ง ครั้นเสร็จแล้ว จะเอาลงจากอู่ จึงให้ล่ามถามฝรั่งพ่อค้าผู้นั้นว่า ณเมืองฝรั่งเศส เอากำปั่นลงจากอู่ กระทำอย่างไรจึงเอาลงได้ง่าย แลฝรั่งพ่อค้าผู้นั้นเปนคนฉลาด มีสติปัญญามาก รู้ชำนาญในการรอกกว้าน จึงบอกให้ล่ามกราบทูลพระกรุณารับอาสาจะเอากำปั่นออกจากอู่ แล้วแต่งการผูกรอกกว้านแลจักรผัดผันชักกำปั่นออกจากอู่ลงสู่ท่าได้โดยสะดวก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ พระราชทานรางวัลเปนอันมาก แล้วโปรดตั้งให้เปนหลวงวิไชเยนทร์ พระราชทานที่บ้านเรือนแลเครื่องยศให้อยู่ทำราชการในพระนครนี้ แลหลวงวิไชเยนทร์นั้นมีความสวามิภักดิ อุส่าห์ในราชกิจต่าง ๆ มีความชอบมาก จึงโปรดให้เลื่อนที่เปนพระวิไชเยนทร์ ครั้นนานมา กระทำการงานว่ากล่าวได้ราชการมาก จึงโปรดให้เลื่อนที่เปนพระยาวิไชเยนทร์ อยู่มาวันหนึ่ง จึงมีพระราชโองการตรัศถามว่า ในเมืองฝรั่งเศสโน้นมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิไชเยนทร์จึงกราบทูลสรรเสริญว่า ในเมืองฝรั่งเศสมีช่างทำนาฬิกายนตร์ แลปืนลม ปืนไฟ แลกล้องส่องเห็นไกลเปนใกล้ กระทำของวิเศษอื่น ๆ ก็ได้ต่าง ๆ ทั้งเงินทองก็มีมาก แลในวังพระเจ้าฝรั่งเศสให้หลอมเงินเปนท่อน ๘ เหลี่ยม ใหญ่ประมาณ ๓ กำ โดยยาว ๗ ศอก ๘ ศอก กองอยู่ตามริมถนนเปนอันมากเหมือนดุจเสาอันกองไว้ กำลังคนแต่ ๑๓ คน ๑๔ คนจะยกท่อนเงินขึ้นมิได้ไหว ภายในท้องพระโรงข้างในนั้นดาษพื้นด้วยแผ่นศิลามีสีต่าง ๆ จำหลักลายฝังด้วยเงิน ทอง แลแก้วต่างสีเปนลดาวัลิ แลต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา แลรูปสัตวต่าง ๆ พื้นผนังก็ประดับด้วยกระจกภาพ กระจกเงา อันวิจิตรควรจะพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นให้แผ่แผ่นทองบางดุจแผ่นทองอังกฤษตัดเปนเส้นน้อย ๆ แล้วผูกเข้าเปนพวงพู่ห้อยย้อย แลแขวนโคมแก้วมีสัณฐานต่าง ๆ สีแก้วแลสีทองก็รุ่งเรืองโอภาศงามยิ่งนัก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังพระยาวิไชเยนทร์กราบทูลพรรณนาสมบัติณเมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ มิได้ทรงเชื่อ พระราชดำริห์จะใคร่เห็นความจริง จึงมีพระราชดำรัศแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดีว่า เราจะแต่งกำปั่นให้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส จะได้ผู้ใดเปนนายกำปั่นออกไปสืบดูของวิเศษยังจะมีจริงสมเหมือนคำพระยาวิไชเยนทร์ฤๅประการใด เจ้าพระยาโกษาจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นผู้อื่นซึ่งจะเปนนายกำปั่นไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้ เห็นแต่นายปานผู้น้องข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียวอาจไปสืบข้อราชการณเมืองฝรั่งเศสดุจกระแสพระราชดำริห์ได้ จึงมีพระราชโองการตรัศให้หาตัวนายปานเข้ามาเฝ้าแล้วว่า อ้ายปาน มึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เปนนายกำปั่นไปณเมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศสยังจะสมดังคำพระยาวิไชเยนทร์กล่าวฤๅจะมิสมประการใด จะใคร่เห็นเท็จแลจริง จะได้ฤๅมิได้ นายปานกราบทูลพระกรุณารับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศสสืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วออกมาจัดแจงการทั้งปวงในกำปั่น ให้เที่ยวหาคนดีมีวิชา ก็ได้อาจารย์คนหนึ่งได้เรียนในพระกรรมฐาน ชำนาญในกระสิณ แล้วรู้วิชามาก แต่เปนนักเลงสุรา ยอมจะไปด้วย นายปานมีความยินดีนัก แล้วจัดหาพวกฝรั่งเศสเปนล้าต้าต้นหนคนท้ายลูกเรือพร้อมเสร็จ ก็ให้เจ้าพระยาโกษาพาเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา ทรงพระกรุณาสั่งให้แต่งพระราชสาสน แล้วตั้งให้นายปานเปนราชทูต กับข้าหลวงผู้อื่นเปนอุปทูตแลตรีทูต ให้จำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไปจำเริญทางพระราชไมตรีณเมืองฝรั่งเศสตามราชประเพณี พระราชทานรางวัลแลเครื่องยศแก่ทูตานุทูตโดยควรแก่ถานานุศักดิ์ แลนายปานราชทูต กับอุปทูต ตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลาพาพรรคพวกบ่าวไพร่ทั้งปวงมาลงกำปั่นใหญ่ ครั้นถึงวันได้ศุภฤกษ์ ก็ใช้ใบกำปั่นไปจากพระนครแล่นไปในท้องชเลประมาณ ๔ เดือน ก็บรรลุถึงวนใหญ่เกือบจะใกล้เข้าปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดลมใหญ่พัดกำปั่นซัดลงไปในวน แต่เวียนอยู่ถึงสามวัน ฝูงคนในกำปั่นชวนกันร้องไห้รักชีวิตรอื้ออึงไป ด้วยกำปั่นลำใดซัดลงในวนใหญ่นั้นแล้วก็จะล่มจมไปสิ้นทุก ๆ ลำ ซึ่งจะรอดพ้นขึ้นจากวนได้นั้นมิได้มีแต่สักลำหนึ่ง แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ ก็ปฤกษากับอาจารย์ว่า กำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึง ๒ วัน ๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านแก้ไขเปนประการใดจึงจะพ้นขึ้นจากวนได้ เราทั้งหลายจะได้รอดจากความตาย ฝ่ายอาจารย์จึงกล่าวเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตกใจ เราจะแก้ไขให้พ้นไภยจงได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชาจุดธูปเทียน แลตัวอาจารย์นั้นก็นุ่งห่มผ้าขาว แล้วเข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสิณ สักครู่หนึ่งก็บันดาลเกิดมหาวาตะพยุใหญ่หวนหอบเอากำปั่นนั้นขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ก็แล่นใบไปถึงเมืองปากน้ำเมืองฝรั่งเศส จึงให้บอกแก่นายด่านแลผู้รักษาเมืองกรมการว่า กำปั่นมาแต่พระมหานครศรีอยุทธยา โปรดให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เจ้าเมืองกรมการก็บอกข้อราชการขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าฝรั่งเศสให้ทราบ จึงโปรดให้เสนาบดีจัดแจงเรือแห่ลงมารับพระราชสาสนกับทั้งทูตานุทูตขึ้นไปยังพระนคร แล้วให้ทูตสำนักนิ์อยู่ณตึกสำหรับรับแขกเมือง แล้วโปรดให้ทูตานุทูตเข้าเฝ้าณที่เสด็จออก ถวายพระราชสาสนแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ ดำรัศพระราชปฏิสันถาร แล้วให้เลี้ยงทูตตามธรรมเนียม สั่งให้ล่ามถามทูตถึงทางอันมาในชเลนั้นมีเหตุการประการใดบ้าง ครั้นได้ทรงทราบว่า กำปั่นตกลงไปเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึง ๓ วันจึงขึ้นจากวนได้ ทรงสงไสยพระไทยนัก ด้วยแต่ก่อนกำปั่นลำใดแม้ว่าตกลงในวนแล้ววนก็ดูดจมลงไปสิ้น มิอาจรอดขึ้นพ้นจากวนได้แต่สักลำหนึ่ง จึงให้ล่ามซักถามทูตอิก ทูตก็ให้การยืนคำอยู่ มิได้ทรงเชื่อ ให้สืบถามบรรดาฝรั่งเศสลูกเรือทั้งปวง ก็ให้การสมกับคำราชทูตทั้งสิ้น เห็นเปนมหัศจรรย์นัก จึงให้ซักถามราชทูตว่า คิดอ่านแก้ไขประการใด กำปั่นจึงรอดพ้นจากวนได้ ราชทูตให้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ากระทำสัตยาธิฐานขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่ายซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธมิตรแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียศูนย์ขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัจข้อนี้เปนที่พึ่งที่พำนัก ด้วยพระเดชพระคุณบุญบารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดมหาวาตะพยุใหญ่พัดหวนหอบเอากำปั่นขึ้นพ้นจากวนได้ พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูตก็เห็นจริงด้วย พระราชดำริห์ว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีบุญมากเสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเปนอันมาก.

อยู่มาวันหนึ่ง จึงตรัศให้หาทูตานุทูตเข้าเฝ้าณน่าพระลาน แล้วให้หาพลทหารฝรั่งแม่นปืน ๕๐๐ เข้ายิงให้แขกเมืองดู ให้แบ่งกันออกเปนสองพวก ๆ ละ ๒๕๐ ยืนเปนสองแถว ยิงปืนนกสับให้กระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องปืนแห่งกันแลกันทั้งสองฝ่ายมิได้พลาดผิดแต่สักครั้ง แล้วให้ล่ามถามราชทูตว่า ทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้พระนครศรีอยุทธยามีฤๅไม่ ราชทูตให้กราบทูลว่า ทหารแม่นปืนดังนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามิได้นับถือใช้สอย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เคืองพระไทย จึงให้ซักถามราชทูตว่า พระเจ้ากรุงไทยนับถือทหารมีฝีมือประการใดเล่า ราชทูตให้กราบทูลว่า พระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยทรงนับถือใช้สอยทหารคนดีมีวิชา อันทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้จะยิงไกลแลใกล้มิได้ถูกต้องกาย แลทหารบางจำพวกเข้าไปในระหว่างข้าศึกมิได้เห็นตัว ตัดเอาศีศะนายทัพข้าศึกมาถวายได้ ทหารบางจำพวกก็คงทนอาวุธต่าง ๆ จะยิงฟันแทงประการใด ๆ ก็มิได้เข้า แลทหารมีวิชาดังนี้จึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ใช้สอยสำหรับพระนคร พระเจ้าฝรั่งเศสมิได้ทรงเชื่อ ตรัศว่า ราชทูตไทยเจรจาอ้างอวดเกินนัก จึงสั่งให้ซักถามว่า ทหารไทยที่มีวิชาเหมือนว่าดังนั้นมีมาในกำปั่นบ้างฤๅไม่ จักให้สำแดงวิชาถวายให้เห็นประจักษ์จะได้ฤๅมิได้ ราชทูตได้เห็นวิชาของอาจารย์ปรากฎแก่จักษุอยู่แล้ว จึงให้กราบทูลว่า ทหารที่จ่ายมาสำหรับกำปั่นนี้เปนแต่ทหารกองนอก มีวิชาแต่อย่างกลาง จะสำแดงถวายให้ปรากฎก็ได้ จึงตรัศให้ซักถามว่า จะสำแดงวิชาได้แต่อย่างไร ราชทูตให้กราบทูลว่า ขอพระราชทานให้ทหารแม่นปืนทั้ง ๕๐๐ นี้จงระดมยิงทหารของข้าพระพุทธเจ้าโดยใกล้แลไกล แลทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนปืนทั้งสิ้นมิให้ถูกต้องกาย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟัง เกรงพลทหารจะยิงทหารไทยล้มตาย จะเสียทางพระราชไมตรีไป จึงสั่งให้ห้ามการนั้นเสีย ราชทูตให้กราบทูลว่า พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ทหารของข้าพระพุทธเจ้ามีวิชาอาจห้ามกระสุนปืนมิให้ถูกต้องกายได้เปนแท้ ซึ่งจะเปนอันตรายนั้นหามิได้ เพลาพรุ่งนี้ ขอให้ตั้งเบญจา ๓ ชั้นในน่าพระลาน ให้ดาดเพดานผ้าขาว แลปักราชวัตรฉัตรธงล้อมรอบแล้ว ให้ตั้งเครื่องโภชนาหารมัจฉมังษาสุราบานไว้ให้พร้อม ให้ป่าวร้องชาวพระนครมาคอยดู ทหารข้าพระพุทธเจ้าจะสำแดงคุณวิชาให้ปรากฎเฉภาะน่าพระที่นั่ง แล้วถวายบังคมลาออกไปสู่สำนักนิ์ พระเจ้าฝรั่งเศสก็สั่งให้จัดแจงการทั้งปวงให้พร้อมตามคำราชทูตทุกประการ ครั้นรุ่งเช้า ราชทูตจึงให้อาจารย์แต่งศิษย์ประมาณ ๑๖ คน ให้ผูกเครื่องล้วนลงเลขยันต์ตาถาสาตราคม เสร็จแล้วให้อาจารย์นุ่งขาว ใส่เสื้อกรุยขาว แลพอกเกี้ยวพันผ้าขาว ศิษย์ ๑๖ คนนั้นใส่กางเกงเสื้อหมวกปัศตูแดงทั้งสิ้น เปน ๑๗ คนกับทั้งอาจารย์ พาเข้ามาสู่น่าพระลาน กราบถวายบังคมแล้วให้ขึ้นนั่งบนเบญจา แล้วให้กราบทูลว่า ขอให้ทหารแม่นปืนทั้ง ๕๐๐ จงยิงทหาร ๑๗ คนซึ่งนั่งอยู่บนเบญจานั้น พระเจ้าฝรั่งเศสก็สั่งทหารทั้ง ๕๐๐ ให้ระดมยิงทหารไทยพร้อมกัน ด้วยอำนาจคุณพระรัตนไตรยแลคุณเลขยันต์สรรพอาคมคาถาวิชาคุ้มครองป้องกันอันตราย พลฝรั่งทั้งหลายยิงปืนนกสับทั้งใกล้แลไกลเปนหลายครั้ง เพลิงศิลาปากนกไม่ติดดินดำมิได้ลั่นทั้งสิ้น ทหารทั้ง ๑๗ คนก็รับพระราชทานโภชนาหารมัจฉมังษาสุราบานเปนปรกติ มิได้มีอาการสดุ้งตกใจ พลทหารฝรั่งทั้งหลายก็เกรงกลัวย่อท้อรอหยุดอยู่สิ้น อาจารย์ทหารไทยจึงร้องอนุญาตไปว่า ท่านจงยิงอิกเถิด ทีนี้เราจะให้เพลิงติดดินดำ แล้วจะให้กระสุนออกจากลำกล้องทั้งสิ้น พลทหารพร้อมกันยิงอิกนัดหนึ่ง เพลิงก็ติดดินดำ กระสุนก็ออกจากลำกล้อง ตกลงตรงปากบอกบ้าง ห่างออกไปบ้าง ลางกระสุนก็ไปตกลงที่ใกล้เบญจา แต่จะได้ถูกต้องทหารไทยผู้ใดผู้หนึ่งหามิได้ พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงเชื่อเห็นความจริงของราชทูต ทรงพระโสมนัศตรัศสรรเสริญวิชาทหารไทยว่า ประเสริฐหาผู้เสมอมิได้ สั่งให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเปนรางวัลแก่ทหารไทยเปนอันมาก ให้เลี้ยงดู เสร็จแล้วก็ให้กลับไปสู่ที่สำนักนิ์ จำเดิมแต่นั้นมา ก็ทรงเชื่อถือถ้อยคำราชทูต จะพิดทูลประการใดก็เชื่อ มิได้มีความสงไสย ทรงพระมหาการุญภาพแก่ราชทูตยิ่งนัก อยู่มาวันหนึ่ง จึงสั่งให้ถามราชทูตว่า ทหารไทยที่มีคุณวิชาวิเศษอย่างนี้ ในพระนครศรีอยุทธยามีเท่านี้ฤๅ ๆ ยังมีทหารอื่นอยู่มากน้อยสักเท่าใด ราชทูตให้กราบทูลว่า ทหารเหล่านี้เปนแต่กองนอกสำหรับเกณฑ์จ่ายมากับเรือลูกค้าวานิช มีวิชาเพียงนี้เปนแต่อย่างต่ำ อันทหารกองในสำหรับรักษาพระนครนั้นมีวิชาการต่าง ๆ วิเศษกว่านี้มีมากกว่ามาก ได้ทรงฟังก็เชื่อถือ พระราชดำริห์ก็เกรงฝีมือทหารไทยยิ่งนัก แลพระเจ้าฝรั่งเศสนั้นเสด็จออกเหนือราชาอาศน์อันสูง เพลาเช้าแลเห็นพระกายนั้นมีสีอันแดง เพลากลางวันเห็นพระกายมีสีอันเขียว เพลาเย็นเห็นพระกายมีสีอันขาว ราชทูตเข้าเฝ้าเปนหลายเวลา ได้เห็นดังนั้น มีความสงไสยนัก วันหนึ่งจึงตรัศสั่งให้ถามทูตว่า ตัวท่านเปนขุนนางผู้ใหญ่ฤๅเปนขุนนางผู้น้อย กล่าวถ้อยคำสัตย์จริงยิ่งนัก อนึ่ง อย่างธรรมเนียมฝ่ายนครศรีอยุทธยา ถ้าแลขุนนางผู้ใดพระเจ้ากรุงไทยทรงพระกรุณาโปรดปรานมากกว่าข้าราชการทั้งปวง แลพระราชทานอไภยแก่ขุนนางผู้นั้นเปนประการใด เราจะโปรดปรานพระราชทานอไภยแก่ท่านเหมือนดังนั้น ราชทูตคิดจะใคร่เห็นพระกายซึ่งมีสีต่าง ๆ หลายวันมาแล้ว ครั้นได้โอกาสจึงให้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเปนแต่ขุนนางผู้น้อยสำหรับใช้สอยไปมาค้าขายในนานาประเทศ ทั้งสติปัญญาก็น้อยนัก อันข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญายิ่งกว่าข้าพระพุทธเจ้านั้นมีเปนอันมาก อนึ่ง อย่างธรรมเนียมข้างพระนครศรีอยุทธยา ถ้าพระเจ้ากรุงไทยทรงพระมหากรุณาขุนนางผู้ใดมากกว่าข้าราชการทั้งปวง ก็พระราชทานอไภยโปรดให้ผู้นั้นเข้าเฝ้าใกล้พระองค์กราบถวายบังคมถึงพระบาทยุคลทุกครั้ง พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เชื่อ จึงโปรดพระราชทานอไภยให้ราชทูตเข้าไปถวายบังคมถึงฝ่าพระบาททุกเวลาเฝ้า ราชทูตจึงได้เห็นราชาอาศน์อันเรี่ยรายไปด้วยทับทิมโดยรอบในเพลาเช้า เพลากลางวันนั้นเรี่ยรายไปด้วยพลอยมรกฎ เพลาเย็นเรี่ยรายไปด้วยเพ็ชร แสงแก้วขึ้นจับพระองค์จึงมีสีต่าง ๆ อย่างละเวลาเห็นปรากฎ.

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เสด็จออกประพาศพระอุทยาน ทรงม้าสีขาวเปนราชพาหนะ ประดับด้วยเครื่องม้าล้วนแล้วด้วยแก้วต่าง ๆ แลมีพลอยทับทิมดวงหนึ่งใหญ่เท่าผลหมากสงทั้งเปลือกผูกห้อยคอม้าพระที่นั่ง แสงทับทิมนั้นจับพระองค์แลตัวม้าแดงไปทั้งสิ้น พร้อมด้วยราชบริวารแห่แหนไปเปนอันมาก โปรดให้ราชทูตตามเสด็จด้วย ครั้นถึงพระอุทยาน จึงตรัศสั่งให้ถามทูตว่า พลอยทับทิมดวงใหญ่เท่านี้ พระนครศรีอยุทธยามีมากฤๅน้อย ราชทูตให้กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเปนแต่คนภายนอก มิใช่ชาวพระคลัง ซึ่งจะกราบทูลว่า มีมากน้อยเท่าใดนั้น เกรงจะเปนเท็จ แต่รับพระราชทานเห็นครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้ากรุงไทยเสด็จออกไปประพาศพระอุทยาน ทรงม้าพระที่นั่งสีขาว มีพลอยทับทิมดวงหนึ่งผูกคอม้าพระที่นั่ง มีสัณฐานใหญ่ประมาณเท่านี้ พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เข้าพระไทยในคำราชทูต ทรงพระโสมนัศตรัศสรรเสริญว่า ราชทูตเจรจาไพเราะห์ ควรจะเอาไว้เปนอย่างได้ สั่งให้จดหมายเอาถ้อยคำไว้เปนฉบับสืบไปภายน่า แล้วเสด็จเที่ยวประพาศอุทยาน จนเพลาเย็นก็เสด็จกลับเข้าพระราชวัง เวลาวันหนึ่ง ราชทูตเข้าเฝ้า จึงให้กราบทูลพระกรุณาว่า ลูกค้าณเมืองนี้เข้าไปค้าขายณพระนครศรีอยุทธยา กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยสรรเสริญของวิเศษต่าง ๆ แลภายในพระราชนิเวศว่า งามหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะใคร่เห็นความจริง จึงดำรัศใช้ข้าพระพุทธเจ้าให้จำทูลพระราชสาสนกับทั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการออกมาเจริญทางพระราชไมตรีด้วย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็ทรงโสมนัศ ดำรัศสั่งให้ข้าหลวงพาทูตานุทูตเข้าไปเที่ยวชมท้องพระโรงข้างในแลพระราชฐานทั่วทั้งสิ้น ตรัศสั่งว่า ให้จำเอาไปทูลพระเจ้ากรุงไทยเถิด เจ้าพนักงานกรมวังก็พาพวกแขกเมืองเข้าไปชมพระราชนิเวศสถานที่ข้างในตามรับสั่ง ราชทูตก็จดหมายแต่บรรดาที่ได้เห็นนั้นทุกประการ ถูกต้องสมคำพระยาวิไชเยนทร์ซึ่งกราบทูลนั้น แล้วกลับออกมาเฝ้า ทูลสรรเสริญสมบัติในพระราชฐานว่า งามเสมอทิพยพิมานในเทวโลก พระเจ้าฝรั่งเศสก็ทรงพระโสมนัศ เชื่อถือถ้อยคำราชทูต ทรงพระการุญภาพเปนอันมาก พระราชประสงค์จะใคร่ได้พืชพันธุ์ไว้ จึงทรงพระราชทานนางข้าหลวงให้เปนภรรยาราชทูตคนหนึ่ง แล้วพระราชทานเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่งล้วนประดับด้วยพลอยต่าง ๆ กับฉลองพระองค์ทรงองค์หนึ่ง แล้วให้เขียนรูปราชทูตแลจดหมายถ้อยคำไว้ทุกประการ แลราชทูตอยู่สมัคสังวาสกับด้วยภรรยาจนมีบุตรชายคนหนึ่งมีรูปร่างเหมือนบิดา อยู่ประมาณ ๓ ปี ราชทูตจึงให้กราบทูลถวายบังคมลา แล้วให้ทูลฝากบุตรภรรยาด้วย พระเจ้าฝรั่งเศสก็พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแลสิ่งของวิเศษต่าง ๆ แก่ทูตานุทูตเปนอันมาก แล้วให้แต่งพระราชสาสนตอบโดยทางพระราชไมตรี กับทั้งสิ่งของเครื่องราชบรรณาการตอบแทนมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานั้นก็มาก ทูตานุทูตก็กราบถวายบังคมลา อัญเชิญพระราชสาสนตอบกับทั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการมาลงกำปั่น โปรดให้จัดเรือแห่มาส่งถึงเมืองปากน้ำ ครั้นถึงวันศุภมงคลฤกษ์ ก็ใช้ใบออกท้องชเลใหญ่แล่นมาในมหาสมุท หาอันตรายมิได้ตราบเท่าถึงกรุงเทพมหานคร นายปานราชทูต แลอุปทูต ตรีทูต ก็ขึ้นเฝ้าถวายพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการซึ่งพระเจ้าฝรั่งเศสตอบแทนมานั้น แล้วทูลแถลงกิจการทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระปรีดาโสมนัศตรัศสรรเสริญสติปัญญานายปาน แล้วพระราชทานรางวัลแก่ทูตานุทูตโดยอันสมควรแก่ความชอบซึ่งไปได้ราชการณเมืองฝรั่งเศสมานั้น.

ลุศักราช ๑๑๒๔ ปีขาล จัตวาศก พระบาทบรมนารถนารายน์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัศปฤกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า พระเจ้าอังวะกระทำบังอาจให้กองทัพพม่ามอญยกติดตามครัวรามัญซึ่งหนีล่วงเกินแดนเราเข้ามามิได้ยำเกรง ควรเราจะแต่งกองทัพยกไปกระทำตอบแทนแก้แค้นตีเอาเมืองอังวะให้จงได้ มุขมนตรีทั้งปวงก็เห็นพร้อมตามพระราชบริหาร ครั้นถึงอาสุชมาศ จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาทดำรัศเหนือเกล้าฯ โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีเปนแม่ทัพใหญ่ถือพลสกรรจ์ลำเครื่อง ๒๐๐๐๐ เศษ ช้างเครื่อง ๑๐๐ เศษ ม้า ๒๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธ ให้พระยาวิชิตภักดีเปนยุกรบัตรทัพ ถือพล ๑๐๐๐๐ เศษ ช้างเครื่อง ๖๘ ม้า ๑๐๐ เศษ ทัพหนึ่ง ให้พระสุรินทรภักดีเปนเกียกกาย พระยาสีหาราชเดโชเปนกองน่า พระยาสุรสงครามเปนทัพหลัง ถือรี้พลช้างม้าเท่า ๆ กันกับทัพยุกรบัตร แล้วโปรดให้พระยาเกียรติ์ แลสมิงพระราม กับสมิงรามัญเก่าใหม่ทั้งปวง ถือพลรามัญยกล่วงไปก่อน กวาดเอาพลเมืองทวาย แลเมืองเมาะตมะ กับเมืองขึ้น ๓๒ หัวเมือง ให้ได้พล ๑๐๐๐๐๐ เศษ มาบรรจบทัพเจ้าพระยาโกษาธิบดียกไปทางเมืองเมาะตมะทางหนึ่ง แล้วโปรดให้พระยารามเดโช กับพระยากำแพงเพ็ชร แลหัวเมืองเหนือทั้งปวงถือพล ๕๐๐๐ สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธพร้อม ให้ยกไปเกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย เมืองนครลำปาง ให้ได้พล ๑๐๐๐๐ เศษ ยกไปฝ่ายเหนือทางหนึ่ง.

ครั้นถึงกติกมาศ ได้ศุภวารดฤถีพิไชยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกพลโยธาทัพแยกกันไปทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์บ้าง ทางด่านเขาปูนแลด่านสลักพระแดนเมืองอุไทยธานีบ้าง ทางทวายบ้าง เกณฑ์กวาดเอาพลเมืองทวาย แลเมืองเมาะตมะ กับเมืองขึ้น ได้พลหมื่นเศษ ยกมาทางด่านระแหงบ้าง ทางด่านเมืองเถินแลเมืองนครลำปางบ้าง ไปพร้อมทัพตำบลเมืองจิตตองลำน้ำสโตง แลกองทัพทั้งปวงประชุมพร้อมสิริพลโยธาหาญประมาณ ๙๐๐๐๐ เศษ เจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพใหญ่ก็จัดแจงทัพตามตำหรับพิไชยสงครามพร้อมเสร็จ แล้วยกไปตีเมืองหงษาวดี เมืองเสี่ยง เมืองย่างกุ้ง เจ้าเมืองทั้ง ๓ สู้รบบ้างไม่รบบ้าง เห็นเหลือกำลังจะต้านทานมิได้ก็พ่ายหนี พวกรามัญทั้งปวงพากันมาขอเข้าด้วยกองทัพไทยก็มาก นายทัพนายกองทั้งปวงได้รามัญประมาณ ๒๐๐๐๐ เศษ ยกแยกกันตีหัวเมืองรายทางขึ้นไปถึงเมืองปรอนแลเมืองตองอู ตีได้หัวเมืองพม่ารามัญรายทางแลครอบครัวเปนอันมาก ถึง ๔ เดือนจึงยกขึ้นไปถึงเมืองอังวะ แม่ทัพให้ตั้งค่ายใหญ่แลค่ายครัวกองหลังไกลเมืองอังวะทางโยชน์หนึ่ง ทัพน่า แลกองเกียกกายปีกซ้ายปีกขวา แลยุกรบัตร ยกเข้าตั้งค่ายรายรอบเมืองทั้ง ๓ ด้านห่างเมืองประมาณ ๒๐ เส้น เปิดไว้แต่ด้านริมน้ำ ให้เก็บเรือใหญ่น้อย ข้ามพลไปตีได้เมืองจักไกฝ่ายฟากข้างโน้นตรงเมืองอังวะข้าม แล้วให้ตั้งค่ายอยู่เปนหลายค่าย เกณฑ์พลทหารแยกกันไปตีบ้านใหญ่บ้านน้อยในแว่นแคว้นเมืองอังวะได้ครอบครัวคนเชลยเปนอันมาก แล้วให้ลาดตระเวนทั้งทางบกทางเรือบรรจบถึงกันมิให้ชาวเมืองออกลาดหากินได้สดวก ให้เที่ยวกวาดรวบรวมอาหารมาใส่ยุ้งฉางไว้ในค่ายก็ได้น้อยนัก ด้วยปีนั้นเมืองอังวะบังเกิดฝนแล้ง เข้ากล้าในท้องนาจึงได้ผลน้อยมิได้บริบูรณ์ ฝ่ายพระเจ้าอังวะจึงให้มังจาเลราชบุตรยกพลทหาร ๑๐๐๐๐ ออกตั้งค่ายรับนอกเมืองเปนหลายค่าย พระยาสีหราชเดโชกองน่ายกพลเข้ารบกับกองทัพพม่ากลางแปลงเปนหลายครั้ง พลพม่าต่อรบเปนสามารถ ต้านทานมิได้ ก็แตกฉานหนีเข้าค่ายทุกครั้ง วันหนึ่ง นายทัพพม่าคิดกลศึกซุ่มพลทหารไว้ในค่ายใหญ่เปนหลายกอง แล้วแต่งทัพฬ่อออกมารบกับทัพไทย ทำเสียทีแตกหนีเข้าค่าย เปิดประตูหลังค่ายหนีไป พระยาสีหราชเดโชมิทันแจ้งในกลอุบายข้าศึก ขี่ม้าขาวควบขับนำพลทหารประมาณ ๕๐๐ เข้าไปในค่าย พลพม่าซึ่งลงซ่อนซุ่มอยู่ในสนามเพลาะภายในค่ายก็ขึ้นจากสนามเพลาะพร้อมกันไล่ล้อมพลทหารไทย ๆ สู้รบถึงตลุมบอน พลพม่ามากกว่าหลายเท่า ก็เข้ากลุ้มรุมกันจับไทยได้เปนอันมาก แต่พระยาสีหราชเดโชยหิปคนนี้มีวิชาหายตัวได้อึดใจหนึ่ง ถือหอกควบขับม้าขาวไล่แทงพม่าล้มตายลงเปนหลายสิบ พม่าเห็นตัวบ้างไม่เห็นตัวบ้าง ก็ไล่ล้อมรบเปนหมู่ ๆ ไป แลพระยาสีหราชเดโชสู้รบจนสิ้นกำลัง ก็ตกลงจากหลังม้า จะกลั้นอัศสาประสาสก็เร็วเข้าด้วยกำลังเหนื่อย พม่าแลเห็นตัวถนัดก็เข้าล้อมกลุ้มรุมจับตัวได้พันธนาไว้แล้วชวนกันฟันแทงมิได้เข้าด้วยมีวิชาคงทนอาวุธ แลพวกพลทหารไทยก็ล้วนคงกระพันทั้งสิ้น อาวุธข้าศึกมิได้บาดเจ็บกาย แต่สู้รบกับพลพม่าฆ่าฟันพม่าเสียเปนอันมากจนสิ้นกำลัง พลพม่ามากกว่ามากเยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้ามาห้อมล้อมจับเปนได้สิ้น ชวนกันทุบตีฟันแทงมิได้เข้าก็จับมัดไว้ ฝ่ายกองทัพไทยซึ่งยกติดตามมาข้างหลังจะแหกเข้าค่ายพม่า ๆ ต้านทานสู้รบเปนสามารถ จะหักเข้ามิได้ก็ถอยออกไป แล้วให้ม้าใช้รีบไปแจ้งราชการแก่ท่านแม่ทัพ ๆ จึงสั่งพระสุรินทรภักดีนายกองเกียกกายให้ยกหนุนมาช่วยแก้เอาพระยาสีหาราชเดโชคืนมาให้จงได้ แล้วแต่งหนังสือบอกให้ม้าเร็ว ๓๐ ม้าถือรีบลงมายังกรุงเทพมหานครกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่า เสียพระยาสีหราชเดโชข้าศึกจับไปได้ ก็ตกพระไทยนัก จึงดำรัศสั่งตำรวจให้ออกไปนิมนต์พระพิมลธรรมราชาคณะวัดระฆังเข้ามาจะให้จับยามดูให้รู้เหตุตระหนักแน่ ด้วยพระพิมลธรรมราชาคณะองค์นี้ดูยามแม่นนัก ได้เคยทรงเชื่อถือมาแต่ก่อน ครั้นพระผู้เปนเจ้าเข้ามาถึงพระราชนิเวศ นั่งเหนืออาศน จึงตรัศบอกว่า บัดนี้ พม่าข้าศึกจับพระยาสีหราชเดโชทหารเอกเราไปได้ จะเปนตายประการใด ขอนิมนต์พระผู้เปนเจ้าพิจารณาดูให้รู้เปนแน่ พระพิมลธรรมจึงพิจารณาตามยามตรีเนตร ก็รู้แจ้งในยามนั้น แล้วถวายพระพรพยากรณ์ว่า ซึ่งพระยาสีหราชโดชข้าศึกจับไปได้นั้นก็จริง แต่ทว่าบัดนี้ แก้ตัวออกได้พ้นจากอำนาจข้าศึกแล้ว กลับได้ไชยชำนะแลได้ลาภเปนอันมากอิก พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระวิตกเสียพระไทยเลย ในยามนี้หาอันตรายมิได้เปนแท้.

ฝ่ายข้างกองทัพพม่า ครั้นจับพระยาสีหราชเดโชแลพวกทหารไทย ๕๐๐ พันธนาไว้ได้สิ้นแล้ว ก็จัดแจงกันจะให้คุมตัวส่งเข้าไปในเมืองอังวะ พลางเกณฑ์กันให้ขนอาศพพม่าที่ตายออกไปเสียนอกค่าย พอกองทัพไทยซึ่งยกหนุนมาช่วยนั้นมาถึง ก็เข้าถอนขวากแหกค่ายเย่อค่ายปีนค่าย พวกนายทัพพม่าสาลวนไล่พลออกต่อรบ ยิงปืนใหญ่น้อยแลพุ่งซัดแหลนหลาวสาตราวุธเปนอลหม่าน ส่วนพระยาสีหราชเดโชต้องพันธนาอยู่ จึงพิจารณาดูเมฆฉายในอากาศเห็นศุภนิมิตรแล้วร่ายพระพุทธมนต์คาถาเสดาะพันธนาลุ่ยหลุดออกจากกายได้สิ้น แล้วลุกแล่นไปชิงเอาดาบพม่าได้ ก็ไล่ฟันพม่าซึ่งคุมอยู่นั้นตายเปนหลายคน พวกพม่าวิ่งหนีกระจายกันออกไป ก็เอาดาบเข้าตัดเชือกซึ่งผูกมัดพวกทหารออกได้ประมาณ ๑๐ คน แลทหารเหล่านั้นก็เข้าช่วงชิงอาวุธพวกพม่าตัดเชือกมัดพวกกันต่อ ๆ กันไปจนสิ้น ก็พร้อมกันแล่นไล่ฆ่าฟันพม่าในค่ายนั้นล้มตายเปนอันมากแตกหนีไปสิ้น ชิงเอาค่ายนั้นได้ นายกองทัพหนุนเห็นพม่าแตกหนีทิ้งค่ายตำบลนั้นเสียแล้ว แลพระยาสีหราชเดโชกับพวกทหารแก้ตัวออกได้แล้ว ก็ช่วยกันตีค่ายอื่น ๆ ต่อไป พวกพลพม่าพากันตื่นตกใจเสียทีไม่เปนอันที่จะสู้รบวิ่งกระจัดพลัดพรายกันไป กองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าเสียครั้งนั้นเปนอันมาก แลมังจาเลราชบุตรพระเจ้าอังวะซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่หนีมิทันก็ตายอยู่ในค่าย นายทัพนายกองพม่าตายลงเปนหลายคน ก็เสียค่ายทั้งสิ้น พากันหนีเข้าเมืองอังวะ ทัพไทยได้ไชยชำนะ จับได้พม่าเชลยแลช้างม้าเครื่องสาตราวุธก็มาก ให้คุมส่งไปยังท่านแม่ทัพ แจ้งข้อราชการทั้งปวงให้ทราบ เจ้าพระยาโกษามีความยินดี จึงแต่งหนังสือบอกให้ม้าเร็วอิก ๓๐ ม้าถือหนังสือรีบลงมากราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานครในวันนั้น แลม้าใช้ซึ่งถือหนังสือบอกพวกหลังเร่งรีบมาถึงพระนครศรีอยุทธยาในวันเดียวกันกับพวกก่อน คลาศกันประมาณ ๓ นาฬิกาเศษ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวยังตรัศอยู่กับพระพิมลธรรม พอนายเวรมหาดไทยนำผู้ถือหนังสือบอกฉบับหลังเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาอ่านหนังสือบอกถวาย ได้ทรงทราบ ดีพระไทยนัก ตรัศสรรเสริญพระพิมลธรรมว่า ดูแม่นหาผู้เสมอมิได้ แล้วทรงถวายไตรจีวรผ้าแดงเทศไตรหนึ่งเปนบำเหน็จ นิมนต์ให้กลับไปอาราม แล้วพระราชทานรางวัลแก่ม้าใช้ผู้ถือหนังสือบอกทั้งสองพวก โปรดให้กลับคืนไปยังกองทัพ พลางตรัศสรรเสริญพระยาสีหราชเดโชว่า เปนยอดทหารหาผู้เสมอเปนอันยาก แล้วเสด็จขึ้น.

ฝ่ายท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็ยกพลทหารเข้าไปในค่ายพม่าซึ่งแตกหนีไปนั้น แล้วให้ตั้งค่ายน้อยใหญ่รายโอบเมืองไปทั้ง ๓ ด้านใกล้เมืองเข้าไปกว่าค่ายเดิม พม่าชาวเมืองกลัวฝีมือทหารไทยยิ่งนัก มิอาจออกมาต่อรบนอกเมืองได้ พระเจ้าอังวะก็ให้เกณฑ์ทหารขึ้นประจำน่าที่เชิงเทินรอบเมืองรักษาเมืองมั่นไว้ กองทัพไทยยกเข้าหักเอาเมืองเปนหลายครั้ง ชาวเมืองต่อรบต้านทานเปนสามารถ เข้าเมืองมิได้ ก็ถอยออกมารักษาค่ายมั่นอยู่ แลพลพม่าชาวเมืองจัดแจงการป้องกันเมืองมั่นคงมิได้ประมาททั้งกลางวันกลางคืน ขณะนั้น ในเมืองอังวะเข้าแพงเปนทนานละสองบาท ชาวเมืองอดอาหารซูบผอมล้มตายเปนอันมาก ฝ่ายกองทัพไทยก็กันดารขัดสนเสบียงอาหาร เกณฑ์กันไปเที่ยวเสาะแสวงหาอาหารตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ในแว่นแคว้นเมืองอังวะ ก็ได้มาบ้างแห่งละน้อย ๆ ไม่พอแจกจ่ายรี้พลในกองทัพ พลทหารอดอยากลำบากป่วยเจ็บล้มตายก็มาก ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงจึงปฤกษากันว่า เสบียงอาหารเราก็กันดารนัก เห็นจะตีเอาเมืองมิได้ในครั้งนี้ จะต้องล่าทัพกลับไป จึงพากันเข้าไปแจ้งเหตุแก่เจ้าพระยาโกษาแม่ทัพ ๆ ได้แจ้งดังนั้นก็เสียใจนัก จึงคิดการที่จะล่าทัพอย่าให้พม่าติดตามได้ แล้วปฤกษากับนายทัพนายกองทั้งปวงว่า บัดนี้ รี้พลเรากันดารอาหารถอยกำลังทั้งไข้เจ็บก็มาก แลเราจะล่าทัพกลับไปโดยตรงนั้นมิได้ พม่าชาวเมืองจะได้ทียกออกติดตามตีตัดท้าย รี้พลเราจะพินาศฉิบหายเปนอันมาก จำจะคิดกลอุบายฬ่อลวงให้พม่าเข็ดขยาดฝีมือเราเสียก่อน จึงจะผันผ่อนล่าทัพกลับไปได้โดยสดวกไม่มีไภยอันตราย แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน เจ้าพระยาโกษาแม่ทัพจึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่งเปนใจความว่า หนังสือเราผู้เปนมหาจตุรงคบรินายกดุจจักรแก้วอันประดิษฐานใต้เบื้องบงกชเรณูมาศพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาผู้เปนอรรคอิศราธิปไตยในสยามประเทศเขตขัณฑสิมาปราจิณทิศมาถึงเสนาบดีกรุงรัตนบุระอังวะ ด้วยเรากราบทูลพระกรุณารับอาสายกพยุหโยธาทัพมาครั้งนี้หมายจะตีเอากรุงรัตนบุระอังวะทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระเดชพระคุณให้จงได้ จะให้แผ่ผ่านพระราชอาณาเขตรปกครองครอบงำไปในภุกามประเทศแลรามัญประเทศทิศอัษฎงคพิไสยทั่วทั้งสิ้น แลพลทวยหาญพม่ากับไทยก็ได้ต่อยุทธเห็นกำลังแลฝีมือกันเปนหลายครั้ง ซึ่งใครจะมีไชยแลปราไชยนั้นก็ย่อมแจ้งอยู่แก่ใจด้วยกันแล้ว แม้นจะขับเคี่ยวกระทำสงครามกันสืบไป มาทว่าเราจะได้เมืองก็เหมือนหนึ่งไม่ได้ ด้วยในเมืองอังวะขัดสนเสบียงอาหารกันดารนัก ฝ่ายเราจะอยู่รักษาเมืองก็ยาก ประการหนึ่ง กองทัพเราก็ฝืดเคืองขัดด้วยเสบียงซึ่งจะเลี้ยงกัน จะกวาดต้อนครอบครัวเชลยไปนั้นก็ลำบาก ด้วยอดอยากล้มตายมากกว่ามากนัก แลครั้งนี้เราไม่ได้เมืองอังวะ ครั้นจะล่าทัพถอยไปเล่า ก็เกรงพระราชอาชญาจะลงโทษโดยพระไอยการศึกถึงสิ้นชีวิตร จะเลิกทัพกลับไปก็ไม่ได้ แลบรรดาพม่านายไพร่ในเมืองอังวะนี้ไม่มีใครกล้าหาญ ล้วนแต่มีสันดานขลาดดุจสัตรีสิ้นแล้วฤๅประการใด จึงไม่ออกมาตีทัพเรา แลไม่ออกมาเจรจาความเมืองด้วยเรา ชวนกันนิ่งซ่อนน่าอยู่แต่ในเมืองได้ ช่างกะไรไม่มีความละอาย ผิดพิไสยชายชาติทหาร คิดการดังนี้มิควรนัก จงเห็นแก่ทางไมตรีที่ได้เคยเปนคู่สนุกด้วยกันในสงคราม ขอให้ยกพลโยธาทหารออกมาต่อตีทัพเราอิกสักครั้งหนึ่งเถิด พอจะได้เอาเหตุนี้บอกหนังสือแก้ตัวส่งลงไปกราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานครว่า พลพม่าออกมาตีทัพไทยเปนอันมากหลายครั้งเหลือกำลังที่จะสู้รบ ทั้งขัดสนสิ้นเสบียงอาหาร ขอพระราชทานล่าทัพกลับไปตั้งทำไร่นาที่ปลายแดน ได้เสบียงอาหารบำรุงช้างม้ารี้พลให้มีกำลังบริบูรณ์พร้อมแล้ว จึงจะยกพยุหโยธาทัพกลับไปตีเอาเมืองอังวะในครั้งหลังให้จงได้ ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้ว ก็ให้พม่าเชลยถือเข้าไปแจ้งแก่เสนาบดีในเมืองอังวะ แลเจ้าพระยาโกธาธิบดีพิจารณาเห็นพม่าทุพพลภาพถอยกำลัง ทั้งเกรงกลัวฝีมือพลทหารไทย เห็นจะไม่อาจยกกองทัพออกมาต่อตีเปนแท้ จึงแสร้งแต่งหนังสือฉบับนี้ส่งเข้าไปในเมือง ฝ่ายเสนาบดีพม่าได้แจ้งในหนังสือนั้นก็พิจารณาเห็นเปนกลอุบายฬ่อลวง ก็มิได้แต่งกองทัพออกไปต่อตีตามหนังสือซึ่งให้เข้ามา เกรงจะเสียท่วงที จึงปฤกษากันว่า ถ้าเราจะยกทัพออกไปตีตามหนังสือนั้น ฝ่ายกองทัพไทยคิดกลอุบายไว้ ก็จะได้ทีตีทัพเราตกฉาน แล้วจะไล่ติดตามมาเข้าเมืองได้ จึงเอาหนังสือนั้นเข้ากราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ก็เห็นว่าเปนกลอุบายดุจมุขมนตรีทั้งปวงปฤกษาเห็นพร้อมกันนั้น.

ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพคอยอยู่ประมาณ ๒ วัน ๓ วัน ก็มิได้เห็นกองทัพพม่ายกออกมาจากเมือง จึงแต่งหนังสืออิกฉบับหนึ่งส่งให้พม่าเชลยถือเข้าไปถึงเสนาบดีในเมืองอังวะเหมือนครั้งก่อนเปนใจความว่า บรรดาพม่าในเมืองอังวะทั้งนายแลไพร่ไม่มีใครองอาจกล้าหาญในการสงคราม ล้วนแต่มีสันดานภิรุกชาติขลาดดุจสัตรีทั้งสิ้นเปนแท้ แต่เราวิงวอนอ่อนง้อขอให้ยกกองทัพออกมาตีเราสักครั้งหนึ่ง จักพึ่งพอเปนเหตุได้ลงใบบอกส่งลงไปกราบทูลพระกรุณาจะขอล่าทัพเท่านี้ ก็ยังว่าหาออกมาไม่ ช่างกะไรไม่มีความเมตตาการุญภาพแก่เราบ้างเลย มาตัดทางไมตรีเด็ดเดี่ยวไปเสียฉนี้ก็มิควร ถ้าแลจะไม่อนุเคราะห์แก่เราโดยแท้แล้ว ก็จงเร่งบอกออกมา เราทั้งหลายก็จะลาพระเจ้าอังวะล่าทัพกลับไปโดยเร็ว ครั้นพม่าเสนาบดีทั้งปวงได้แจ้งในหนังสือนั้นแล้ว ก็คิดเข็ดขามคร้ามกลัวเหมือนครั้งก่อน แลมิได้ออกมาตามหนังสือนั้น.

ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็จัดแจงนายทัพนายกองแลพลอาสาสองหมื่นให้คุมเอาช้างม้าพลาพลทหารอันป่วยเจ็บทุพพลภาพแลพม่ามอญเชลยทั้งหลายอันตีได้นั้นล่าลงไปเสียก่อนสองสามวัน แล้วจึงปฤกษาด้วยท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงว่า เพลากลางคืนวันนี้ เราจะทำกลอุบายฬ่อลวงพม่าชาวเมืองให้เสียทีลงจงได้ แลเราจะเอาไม้แห้งแลหญ้าแห้งทั้งหลายมากองไว้หลังค่ายรายกันไป แล้วจึงให้ขนเอาสิ่งของทั้งหลายอันมีในค่ายน่านั้นออกมาไว้ณค่ายชั้นนอกอันไกลให้สิ้น แลให้พลทหารซึ่งรักษาค่ายน่าทั้งหลายนั้นถอยออกมาซุ่มอยู่ค่ายชั้นนอก แลให้บริโภคโภชนาหารอิ่มหนำสำราญ แล้วจึงตกแต่งกายสรวมใส่เครื่องรบตระเตรียมช้างม้าเครื่องสาตราวุธทั้งปวงให้พร้อมเสร็จ แล้วให้แบ่งช้างม้าพลาพลเดินเท้าสองหมื่นสรรพไปด้วยเครื่องสรรพยุทธยกไปซุ่มอยู่โดยสองข้างเมืองนั้น ฝ่ายพลทหารซึ่งซุ่มอยู่ในค่ายนั้นก็ให้ประจุปืนขึ้นนกสับทั้งปวงให้พร้อมไว้ทุกค่าย แล้วปิดประตูค่ายเสีย เพลาสองยาม จึงจุดปืนใหญ่น้อยยิงระดมขึ้น แลให้จุดเพลิงเผาเชื้ออันกองรายไว้หลังค่ายทั้งหลายขึ้นในขณะนั้น แลแสงเพลิงนั้นก็จะสว่างปรากฎเข้าไปในเมือง ชาวเมืองได้ยินเสียงปืนแลเห็นแสงเพลิงดังนั้นจะสำคัญว่า กองทัพเราล่าหนีไปแล้ว ก็จะดีใจ แลจะเปิดประตูเมืองชวนกันออกมายังค่ายเราเพื่อปราถนาจะเก็บเอาสิ่งของ ฝ่ายกองทัพเราทั้งหลายซึ่งซุ่มอยู่ในค่ายนอกค่ายนั้นก็จะได้ทีพร้อมกัน แลจะไล่พิฆาฎฆ่าชาวเมืองทั้งหลายล้มตายด้วยอาวุธสั้นยาวต่าง ๆ เปนอันมาก ฝ่ายพม่าก็จะครั่นคร้ามขามกลัวลง ถึงเราจะล่าทัพโดยจริง ก็จะสำคัญว่าฬ่อลวงอิก แลจะเข็ดขยาดมิอาจออกมาติดตามได้ กองทัพเราก็จะยกไปโดยสดวก แลซึ่งเราว่ามาทั้งนี้ ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด จึงท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นพร้อมโดยความคิดเจ้าพระยาโกษาแม่ทัพหลวง แลกระทำตามถ้อยคำทั้งปวงเสร็จสิ้นทุกประการ ฝ่ายพม่าชาวเมืองทั้งหลายมิได้รู้ในอุบาย ครั้นเห็นแสงเพลิงแลได้ยินเสียงปืนดังนั้นก็สำคัญว่า กองทัพล่าหนีไปแล้ว ก็มีความยินดีนัก ต่างคนต่างอดอาหารกันดารอยู่ ก็เปิดประตูเมืองกรูกันเอาหาบคอนออกมา ปราถนาจะเก็บเอาเสบียงอาหารแลสิ่งของอันเหลืออยู่ในค่าย ครั้นมาถึงค่ายน่าซึ่งเปล่าอยู่นั้น ก็กรูกันเข้าไปในค่าย ก็มิได้สิ่งของอันใด แล้วชวนกันแล่นออกไปยังค่ายชั้นนอกซึ่งกองทัพไทยซุ่มอยู่นั้น ครั้นเห็นเงียบสงัดอยู่ ก็มิได้พิจารณา แลเปิดประตูกรูกันเข้าไปในค่ายนั้นทุก ๆ ค่าย ฝ่ายกองทัพไทยซึ่งซุ่มอยู่ในค่ายทั้งหลายนั้นก็วางปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับระดมเอาพม่าชาวเมืองทั้งหลายล้มตายเปนอันมาก บ้างก็ออกไล่รุกรันฟันแทงไป พม่าทั้งหลายมิทันรู้ตัว ก็วิ่งรส่ำรสายไปเปนอลหม่าน แลจะหนีกลับเข้าเมือง พลทหารไทยซึ่งอยู่สองข้างเมืองนั้นก็ออกวกหลังไล่รุกรันฟันแทงพม่าทั้งหลายล้มตายในที่นั้นเปนอันมาก แลจับได้เปนส่งมายังค่ายหลวงนั้นก็มาก กองทัพไทยฆ่าพม่าเสียแลจับเปนได้นั้นก็มากกว่าหมื่น พม่าทั้งหลายซึ่งรอดไปได้บ้างนั้นก็หนีเข้าเมือง พลทหารไทยไล่ติดตามไปถึงประตูเมือง ชาวเมืองปิดประตูเมืองเสียทัน ก็ขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินหอรบป้องกันเมืองเปนสามารถ ทัพไทยก็มิอาจเข้าเมืองได้ ก็ถอยกลับออกมายังค่าย แลพม่าชาวเมืองอังวะทั้งหลายครั้งนั้นถึงพินาศฉิบหายเปนอันมาก ที่เหลืออยู่นั้นสดุ้งตกใจกลัวทัพไทยยิ่งนัก ต่างคนต่างร้องไห้ร่ำรักญาติทั้งหลายอันล้มตายหายจากกันไปนั้นทุกบ้านทุกเรือน แลในเมืองอังวะครั้งนั้นเงียบเหงาเศร้าโศกวิโยคพลัดพรากซึ่งกันแลกันเปนอันมากนัก.

ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ส่งหนังสือเข้าไปอิกฉบับหนึ่งเล่า ในหนังสือนั้นว่า พม่าชาวเมืองอังวะนี้มิได้มีสติปัญญา หนาไปด้วยโมหครอบงำอยู่ในสันดาน มิได้รู้ในการสงครามทั้งปวง แลมิได้ฉลาดในกลพิไชยสงคราม แต่เราลวงใจหยอกเล่นน่อยหนึ่งเท่านี้ก็ยังว่าหารู้ไม่ ชวนกันเทเมืองออกมาหาเราถึงค่าย เอาชีวิตรออกมาพลีกรรมอาวุธพลทหารแห่งเราจนเบื่อฆ่า ฉนี้ดูมิควรยิ่งนัก อนึ่ง พม่าชาวเมืองอังวะทั้งหลายซึ่งพลทหารแห่งเราฆ่าเสียแลจับเปนได้มากนั้นก็เปนประเพณีศึกมาแต่ก่อน พระเจ้าอังวะแลเสนาบดีทั้งหลายอย่าได้โทมนัศขัดเคืองแก่เราเลย จงอยู่เปนศุขสวัสดิพิพัฒนเถิด เราจะลาล่าทัพกลับไปเร็วแล้ว ครั้นพม่าเสนาบดีทั้งหลายได้แจ้งในหนังสือดังนั้น ก็สำคัญว่าฬ่อลวงอิก ให้คิดเข็ดขามคร้ามขยาดยิ่งนัก จึงปฤกษากันว่า ครั้งก่อน ทัพไทยทำกลอุบายทำทีประหนึ่งจะล่า ฝ่ายเรามิทันจะพิจารณาให้ถ่องแท้คิดว่าจริง ก็ชวนกันเทเมืองออกไป ทัพไทยได้ทีไล่พิฆาฎฆ่าล้มตายแลจับได้นั้นก็มาก แต่เท่านั้นแล้วยังมิหนำซ้ำไล่ติดตามเข้ามาถึงเมือง หากว่าเราปิดประตูเมืองเสียทัน หาไม่ก็จะเสียแก่ข้าศึกแต่ในเพลานั้นครั้งหนึ่งแล้ว แลบัดนี้ รื้อให้หนังสือบริภาษล้อฬ่อลวงเข้ามาอิกเล่า ถ้าเราจะออกไปอิก ครั้งนี้ ทัพไทยจะคิดกลอุบายไว้ยิ่งกว่าครั้งก่อน ครั้นได้ทีแล้วก็จะออกไล่รุกบุกบันเข้ามาแหกหักเอาเมืองให้จงได้ แลควรเรารักษาเมืองไว้ให้มั่นคง อย่าหลงในอุบายข้าศึก ครั้นปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว ก็เอาเนื้อความขึ้นกราบทูลพระเจ้าอังวะเหมือนหนหลังนั้น ส่วนเจ้าพระยาโกษาก็จัดแจงช้างม้าพลาพลเดินเท้าแลเสบียงอาหารให้พร้อมไว้ แลเกณฑ์ให้พลลาวเมืองเชียงใหม่เดินทัพรั้งหลัง แล้วก็เลิกทัพกลับไปโดยลำดับมารควิถีตราบเท่าถึงเมืองหงษาวดี แลให้หยุดทัพยับยั้งอยู่ในที่นั้น ในขณะนั้น ฝ่ายแสนท้าวพระยาลาวเชียงใหม่ทั้งหลายซึ่งเดินทัพรั้งหลังมานั้น ครั้นเห็นทัพไทยไม่ได้เมืองอังวะล่าทัพกลับมาดังนั้น ก็กลัวพระเจ้าอังวะ จึงคิดอ่านกันแยกกองทัพหนีไปโดยทางเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาโกษาแจ้งเหตุดังนั้น ก็สั่งให้พระยากำแพงเพ็ชรแลพระยารามเดโชถือพลเมืองเหนือทั้งหลายสองหมื่นให้ยกพลไปตามกองทัพลาวเชียงใหม่อันหนีไปนั้นเอาตัวให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพทั้งปวงล่วงรามัญประเทศมายังพระมหานคร แลแยกกันมาโดยทางอันไปนั้น ส่วนพม่าชาวเมืองอังวะทั้งหลายแต่กลัวทัพไทยอยู่มิอาจออกออกจากเมืองได้นั้นก็ช้านานจนกองทัพไทยล่าไปกว่าสิบวันแล้วจึงค่อยรู้ว่า กองทัพไทยล่าไปแล้ว ก็มิอาจสามารถจะมาติดตามได้.

ฝ่ายแสนท้าวพระยาลาวชาวเมืองใหม่ทั้งหลายซึ่งแยกทัพหนีไปนั้นก็รีบไปทั้งกลางวันกลางคืนตราบเท่าถึงเมืองเชียงใหม่ แลขึ้นเฝ้าพระยาแสนหลวงกราบทูลประพฤดิเหตุทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ พระยาแสนหลวงเจ้าพระนครเชียงใหม่ทราบเหตุดังนั้นก็สดุ้งตกใจกลัวพระเจ้าอังวะยิ่งนัก จึงสั่งให้ท้าวพระยาเสนาลาวทั้งหลายให้ตรวจจัดทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินปราการโดยรอบ กอปรด้วยเครื่องสรรพยุทธปืนใหญ่ปืนน้อยพร้อมเสร็จ แลป้องกันเมืองเปนสามารถ คอยกองทัพไทยอันจะยกมาติดตามนั้น ส่วนกองทัพพระยากำแพงเพ็ชรแลพระยารามเดโชก็ยกติดตามทัพลาวไป ครั้นไม่ทันที่กลางทางแล้ว ก็ยกตามไปถึงเมืองเชียงใหม่ เห็นชาวเมืองขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินแลปิดประตูเมืองอยู่ก็รู้ว่า พระยาแสนหลวงกลับเปนขบถแขงเมืองจะต่อรบ จึงขับพลทหารเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ แล้วแต่งหนังสือส่งเข้าไปในเมืองเพื่อจะให้รู้เหตุตระหนักแน่ ในหนังสือนั้นว่า กองทัพลาวซึ่งยกไปช่วยนั้นหนีกลับมา มิได้บอกกล่าวให้เรารู้ แลบัดนี้ พระยาแสนหลวงคิดอ่านเปนประการใด แลจะกลับแขงเมืองไม่ขึ้นแก่พระนครศรีอยุทธยาจะต่อรบเราฤๅก็ให้เร่งบอกออกมา เราก็จะยกโยธาหาญเข้าแหกหักเอาเมืองให้จงได้ ครั้นพระยาแสนหลวงแจ้งในหนังสือดังนั้นแล้วก็ให้หนังสือตอบออกมายังกองทัพ ในหนังสือนั้นว่า เราทราบว่า ทัพไทยจะยกไปตีเมืองอังวะ ก็คิดว่า จะได้เมืองอังวะอยู่ จึงจัดแจงแต่งกองทัพให้ยกไปช่วย เพื่อจะเอาพระนครศรีอยุทธยาเปนที่พึ่ง แลบัดนี้ ทัพไทยไปตีเมืองอังวะก็ไม่ได้แลกลับล่าถอยมา ฝ่ายเมืองเราสิเปนข้าขอบขัณฑสิมาเมืองอังวะอยู่ก่อน เรากลัวท่านผู้เปนอิศราธิบดีในภุกามประเทศจะแต่งกองทัพยกมาตีเมืองเรา ๆ ก็จะต้านทานมิได้ จึงจะเอาพระเจ้าอังวะเปนที่พึ่งที่พำนักเหมือนแต่ก่อน ถ้าแลกองทัพไทยจะยกมาช่วยเราได้เมื่อขณะพม่าจะมาตีนั้น เราก็จะเปนข้าขัณฑสิมาพระนครศรีอยุทธยา จะเอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเปนที่พึ่งพำนักสืบไป ครั้นแม่ทัพไทยได้แจ้งในหนังสือดังนั้นก็เห็นว่า พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่จะต่อรบเปนแท้อยู่แล้ว ครั้นเพลากลางคืน ก็ขับพลทหารสองหมื่นเข้าป่ายปีนปล้นเอาเมือง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันรักษาน่าที่เชิงเทินทั้งกลางคืนกลางวันเปนสามารถ กองทัพไทยมิอาจแหกหักเอาเมืองได้ ก็ถอยกลับออกมายังค่าย แต่ยกเข้าปล้นดังนั้นหลายครั้ง รี้พลต้องสาตราวุธชาวเมืองบาดเจ็บล้มตายเปนอันมาก จะปล้นเอาเมืองเชียงใหม่มิได้ นายทัพนายกองทั้งหลายจึงปฤกษาว่า รี้พลเราอดอยากอาหารป่วยเจ็บทุพพลภาพมาแต่เมืองอังวะมากอยู่แล้ว แลบัดนี้ เรามาล้อมเมืองเชียงใหม่กว่าสิบวันแล้วก็ยังไม่ได้ จำจะต้องแต่งหนังสือบอกให้ม้าเร็วถือลงไปกราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานครให้ทราบเหตุทั้งปวง แลเราจะคิดการเผาเมืองในเพลางคืนจะเข้าปล้นเอาเมือง ถึงมาทว่าไม่ได้เมืองเราจะต้องล่าทัพกลับไปก็ดี แลกระทำให้ชาวเมืองทั้งหลายได้ทุกขเวทนาลำบากมากอยู่แล้วก็มิอาจสามารถจะติดตามได้ กองทัพเราก็จะกลับไปโดยสดวก ครั้นปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว ก็จัดแจงกองทัพคุมเอาช้างม้าพลาพลเดินเท้าทั้งหลายอันป่วยเจ็บทุพพลภาพนั้นล่าลงไปเสียก่อนสองสามวัน แล้วจึงให้กระทำลูกธนูพันหนึ่งผูกเพลิงอังแพลมทุก ๆ เล่มพร้อมเสร็จ ครั้นค่ำลงเพลาประมาณยามหนึ่ง จึงขับพลทหารเข้าแหกหักเอาเมืองแลยิงธนูทั้งหลายเข้าไปในเมืองนั้น ส่วนลูกธนูทั้งหลายก็ตกลงถูกหลังคาเรือนทั้งหลายในเมืองเชียงใหม่ แลเพลิงอังแพลมซึ่งผูกลูกธนูทั้งหลายนั้นก็ติดขึ้นไหม้ไปทุกตำบลเปนอลหม่าน พลลาวชาวเมืองซึ่งรักษาน่าที่ทั้งปวงเห็นเพลิงไหม้ดังนั้นก็ตกใจ ต่างคนต่างจะไปบ้านเรือนแห่งตน ๆ แลจะทิ้งน่าที่เสีย ท้าวพระยาเสนาลาวนายด่านนายกองเจ้าน่าที่ทั้งหลายมิให้ลงจากน่าที่ แลให้รบพุ่งป้องกันเมืองไว้มิได้อาไลยในสิ่งของเย่าเรือนทั้งปวง สุดแท้แต่อย่าให้เสียเมืองแก่ข้าศึกได้ ที่เหลือจากน่าที่นั้นก็ช่วยกันดับเพลิงบ้าง ๆ ก็เก็บสิ่งของทั้งปวง แลเพลิงนั้นใช่เกิดแต่แห่งเดียว ที่ลุกลามไหม้ไปเปนหลายแห่ง ชาวเมืองมิทันจะดับได้ ก็ไหม้เรือนทั้งหลายในเมืองนั้นมากกว่าพัน ที่อยู่รักษาน่าที่นั้นก็รบพุ่งป้องกันเปนสามารถ ทัพไทยมิอาจแหกหักเอาเมืองได้ก็ถอยกลับออกมายังค่าย ครั้นเพลาสองยาม ก็เลิกทัพกลับมาโดยลำดับมารควิถีตราบเท่าถึงเมืองเถิน แล้วก็แต่งหนังสือบอกให้ม้าเร็วถือรีบลงมากราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานครให้ทราบเหตุการ จึงยกกองทัพทั้งปวงล่วงมณฑลประเทศมาพร้อมทัพณเมืองกำแพงเพ็ชร แลคอยฟังท้องตราจะตอบขึ้นมาเปนประการใด ส่วนลาวชาวเมืองเชียงใหม่ทั้งหลายเพลิงไหม้วุ่นวายไปสิ้นทั้งเมือง ได้ทุกขเวทนาลำบากเปนอันมาก แลเมื่อทัพไทยล่าไปนั้น ก็มิอาจสามารถจะมาติดตามได้ ฝ่ายม้าเร็วซึ่งถือหนังสือบอกนั้นก็รีบมาโดยลำดับมารคตราบเท่าถึงพระมหานครแลขึ้นเฝ้ากราบทูลพระกรุณาตามหนังสือบอกนั้น จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้น ก็มีพระราชโองการดำรัศให้สมุหนายกมีตราตอบขึ้นไปยังกองทัพ ในท้องตรานั้นว่า รี้พลทั้งหลายอดอยากอาหารทุพพลภาพมากอยู่แล้ว อนึ่ง ก็เปนเทศกาลฟ้าฝน ความไข้เจ็บจะมีมาก แลให้กองทัพทั้งหลายรีบลงมายังพระมหานครโดยเร็วเถิด ครั้นท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายได้แจ้งในท้องตราดังนั้นแล้วก็ยกกองทัพลงมายังกรุงเทพมหานคร แลกองทัพทั้งหลายซึ่งยกกลับมาโดยทางปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือนั้นก็มาถึงพระนครเปนลำดับกัน เจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกราบทูลประพฤดิเหตุทั้งปวงแล้วถวายช้างม้าคนเชลยแลสิ่งของทั้งหลายอันตีได้นั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุทั้งปวงดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัศยินดียิ่งนัก แลพระราชทานรางวัลแก่เจ้าพระยาโกษาท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายเปนอันมากโดยสมควรแก่ความชอบนั้น.

ลุศักราช ๑๐๒๒ ปีชวด โทศก กรมการเมืองนครสวรรค์บอกลงมาถึงสมุหนายกว่า นายกองช้างผู้มีชื่อคล้องต้องช้างเผือกผู้ สูงประมาณสี่ศอกมีเศษ สรรพด้วยคชลักษณงามบริบูรณ แลคล้องได้ณป่าแขวงเมืองนครสวรรค์นั้น จึงเจ้าพระยาจักรีเอาข้อราชการสารเสวตรขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุดังนั้นก็ทรงพระปราโมทย์ยิ่งนัก จึงมีพระราชดำรัศให้ท้าวพระยาเสนาบดีแลพระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลายขึ้นไปรับพระยาเสวตรกุญชรชาติตัวประเสริฐลงมายังกรุงเทพมหานคร แลให้แห่แหนประดับประดาโดยชลมารคสถลมารคตามอย่างแต่ก่อน แล้วให้สถิตย์อยู่ณโรงนอกพระราชวัง ทรงพระกรุณาให้ตั้งการพระราชพิธีสงฆ์ แลพิธีไสยเวท แลการมหรศพสมโภชคำรบ ๗ วันเปนกำหนด แล้วรับเข้ามาไว้ณโรงในพระราชวัง แลทรงพระประสาทพระราชทานนามกรชื่อ เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ แลพระราชทานเครื่องสุวรรณคชาภรณ์อลังการด้วยมหาเนาวรัตนอันประเสริฐสำหรับประดับกายพระยาเสวตรกุญชรนั้น แลทรงพระกรุณาให้ขุนหมื่นผู้ใหญ่ในกรมช้างแลหัวสิบทั้งหลายอยู่ประฏิบัติรักษาพระยาช้างเผือกนั้น แลซึ่งนายช้างผู้คล้องถูกนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดให้เปนที่ขุนหมื่นตามบุรพประเพณีแลพระราชทานเครื่องยศแลเสื้อผ้าเงินตราตามธรรมเนียม แลสมัคพรรคพวกซึ่งได้ช่วยในการช้างนั้นก็พระราชทานรางวัลถ้วนทุกคน แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้มีตราภูมคุ้มห้ามส่วยสัดพิกัดอากรขนอนตลาดแก่ผู้คล้องพระยาช้างเผือกได้ทั้งหลายนั้น แลให้ไปอยู่ทำกินตามภูมิลำเนาดุจแต่ก่อน ส่วนขุนหมื่นผู้ใหญ่นายช้างซึ่งอภิบาลพระยาเสวตรคเชนทรนั้นก็ฝึกสอนพระยาช้างให้รู้ในภาษามนุษย์แลให้รู้กระทำกิจต่าง ๆ แลข้าราชการทั้งหลายซึ่งต้องพระราชอาชญาเปนมหันตโทษจำไว้หาผู้ใดจะทูลขอมิได้นั้น ก็เขียนหนังสือบนจะให้สิ่งของต่าง ๆ แลเอาหนังสือนั้นไปให้แก่พระยาช้างเผือก ๆ รับเอาด้วยงวงแล้วก็ชูเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจะขอพระราชทานโทษด้วยใจในขณะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงนั้น จึงสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยื่นพระหัดถ์รับเอาหนังสือมาทรงอ่าน ได้ทราบคดีทั้งปวงแล้ว ก็ทรงพระมหาการุญแก่พระยาเสวตรกุญชรชาติ แลทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษให้แก่เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์นั้น ส่วนข้าราชการซึ่งเปนโทษแลได้พ้นโทษแล้วก็ให้สิ่งของทั้งปวงแก่พระยาช้างเผือกตามหนังสือบนนั้น จำเดิมแต่นั้นมา ข้าราชการผู้ใดเปนโทษก็มาบนเจ้าพระยาสารเสวตรเพื่อจะให้ขอโทษเหมือนดังนั้น แลทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษให้แก่เจ้าพระยาช้างเผือกนั้นเปนหลายครั้ง พระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระมหาบุญญาธิการแลมีเสวตรคชสารพลายพังทั้งคู่เปนบรมราชพาหนะพระที่นั่ง ครั้งนั้น พระราชกฤษฎาเดชานุภาพแผ่ไพศาลไปในนา ๆ ประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวง บรรดาอริราชปรปักษ์ก็เข็ดขามคร้ามพระเดชพระคุณเปนอันมากนัก.

ลุศักราช ๑๐๒๓ ปีฉลู ตรีนิศก ขณะนั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดีป่วยลง ทรงพระกรุณาให้พระหลวงขุนหมื่นแพทย์ทั้งหลายไปพยาบาล แลโรคนั้นเปนสไมยกาลแห่งชีวิตรไขย ก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ทรงพระอาไลยในเจ้าพระยาโกษาเปนอันมาก ด้วยเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้เปนลูกพระนมแลได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น แลทรงพระกรุณาพระราชทานฌาปนกิจตามอย่างเสนาบดีเสร็จแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัศปฤกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่คิดอ่านฬ่อลวงเราเปนหลายครั้งแล้ว ยังมิหนำซ้ำกลับแขงเมืองต่อรบอิกเล่า แลเราจะละพระยาแสนหลวงไว้นั้นมิได้ จำจะยกพยุหโยธาหาญไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ ท่านทั้งหลายจะเห็นเปนประการใด จึงท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายก็เห็นพร้อมโดยพระราชดำริห์นั้น ในปีฉลู ตรีนิศกนั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกก็มีพระราชดำรัศให้ท้าวพระยามุขมนตรีตรวจจัดกองทัพพลสกรรจ์ลำเครื่องสี่หมื่น ช้างเครื่องสองร้อย ม้าสี่ร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่ปืนน้อยกระสุนดินประสิวให้พร้อมไว้ แลดำรัศให้หานายปานผู้น้องเจ้าพระยาโกษาอันถึงแก่อนิจกรรมซึ่งได้รับอาสาออกไปได้ราชการณเมืองฝรั่งเศสนั้นเข้ามาเฝ้า แล้วก็มีพระราชโองการตรัศเหนือเกล้าฯ โปรดให้นายปานเปนเจ้าพระยาโกษาธิบดี แลทรงพระกรุณาดำรัศว่า ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้นชำนิชำนาญในการอันเปนแม่ทัพ แลบัดนี้ เราจะให้ท่านเปนที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลจะให้เปนแม่ทัพแทนพี่ชายไปตีเมืองเชียงใหม่ ยังจะได้ฤๅมิได้ จึงเจ้าพระยาโกษาปานกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอลองศึกดูก่อน แลจะขอรับพระราชทานพระราชอาชญาสิทธิเหมือนพระโองการนั้น ถ้าแลเห็นจะกระทำสงครามได้แล้ว ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้าฯ ถวายให้จงได้ สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ชอบพระไทยในถ้อยคำเจ้าพระยาโกษากราบทูลนั้น ทรงพระโสมนัศดำรัศสรรเสริญสติปัญญาเปนอันมาก แลทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงดาบต้นอันทรงนั้นให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดีเพื่อจะให้สิทธิขาดพระราชอาชญาสิทธิ แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดังนั้น แล้วดำรัศอนุญาตว่า ท่านจงไปลองศึกดูตามความปราถนาเถิด จึงเจ้าพระยาโกษารับพระราชทานพระแสงดาบ แล้วก็กราบถวายบังคมลาออกมายังศาลาลูกขุนใน จึงสั่งมหาดไทยกระลาโหมให้แจกพระราชกำหนดข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายฝ่ายทหารพลเรือน กะเกณฑ์พล ๓๐๐๐ ให้ยกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้พเนียดโดยกว้าง ๓ เส้น โดยยาว ๓ เส้น ๑๐ วา แลให้ตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายเอาปลายปักลงให้สิ้น ขุดมูลดินถมเปนสนามเพลาะปักขวากหนามตามธรรมเนียมพร้อมเสร็จ ให้สำเร็จแต่วันพรุ่งรุ่งแล้วสามนาฬิกา ถ้าแลเราไปเลียบค่าย น่าที่ผู้ใดไม่สำเร็จในเพลานั้น ก็จะลงโทษแก่ผู้นั้นถึงสิ้นชีวิตร ส่วนเจ้าพระยาจักรี กระลาโหม แลท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลาย ได้แจ้งในพระราชกำหนดดังนั้น ก็สดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก ต่าง ๆ เร่งกะเกณฑ์กันทุกหมู่ทุกกรมในวันนั้นได้พล ๓๐๐๐ แล้วก็ให้ไปตัดไม้ไผ่อันจะมาทำเปนเสาค่ายคนละ ๒ ท่อน แล้วก็ยกขึ้นไปยังที่ใกล้พเนียด แบ่งปันน่าที่กันตั้งค่ายแต่ในเพลากลางคืนวันนั้นทุกหมู่ทุกกรม แลปักเสาเอาปลายลงดินเอาต้นขึ้นสิ้น ชิดกันเปนท่องแถวแต่เบื้องบน เบื้องล่างนั้นห่างกันไปเปนอันมาก แลกระทำการทั้งปวงพอรุ่งก็สำเร็จ ในขณะนั้น ขุนหมื่นเจ้าน่าที่ผู้หนึ่งเห็นเชิงค่ายทั้งหลายห่างกันนัก จึงปักกลับเอาต้นลงดินแทรกเข้าเสาหนึ่งในระหว่างอันห่างนั้นแล้วว่า อย่างแต่ก่อนเขาทำมาดังนี้ แลซึ่งเอาปลายปักลงดินนี้มิเคยเห็นทำมาแต่ก่อน ส่วนเจ้าพระยาโกษาก็สั่งแก่เจ้าพนักงานทั้งหลายให้ตระเตรียมราชพาหนะแลเครื่องขัติยราชูประโภคทั้งปวงไว้รับโดยทางชลมารคสถลมารคพร้อมเสร็จแล้ว ครั้นรุ่งเช้าเพลา ๓ นาฬิกา เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ลงสู่เรือพระที่นั่งนพรัตนพิมานกาญจนอลงกฎมหานาวาเอกไชย อันอำไพไปด้วยเสวตรฉัตรพัดโบกจามรบังพระสุริเยนทรบังแทรกสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณกลดกลิ้งกรรชิงมาศดาษดา ดูมเหาฬาร์เลิศพันฦก อธึกด้วยเรือดั้งเรือกันแลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงเปนขนัดโดยกระบวนพยุหบาตราน่าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราชดำเนินนั้น ครั้นได้ศุภฤกษ์ ก็ให้ลั่นฆ้องไชยประโคมแตรสังข์ดุริยางคดนตรีสนั่นกาหฬกึกก้องกลองชะนะโครมครื้นเพียงพื้นนทีธารจะทำลาย ให้ขยายพยุหบาตราคลาเคลื่อนเลื่อนตามกระบวนแห่แหนแน่นไปโดยชลมารคตราบเท่าถึงที่ประทับตำบลพเนียด เจ้าพระยาโกษาธิบดีขึ้นจากเรือพระที่นั่งสถิตย์ยังพลับพลาอันเปนที่ราชาอาศน์ เดียรดาษด้วยท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายแวดล้อมโดยซ้ายขวาน่าหลัง แล้วก็ขึ้นขี่ข้างพระที่นั่งบรมราชคชาธารสารตัวประเสริฐ เพริศพร้อมด้วยเครื่องสูงแลธงฉานธงไชย ดูไสวไพโรจด้วยท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาหาญแห่เปนขนัดโดยกระบวนบรมราชพยุหบาตราสถลมารคเลียบค่ายไป จึงเห็นไม้เสาค่ายลำหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าน่าที่นั้นเข้ามา แลจึงถามว่า ท่านกระทำดังนี้จริงฤๅ เจ้าน่าที่กราบเรียนรับว่าจริง เจ้าพระยาโกษาจึงว่า ตัวท่านเลมิดมิได้ทำตามพระราชโองการแห่งเรา โทษท่านถึงตาย แล้วก็ให้ประหารชีวิตรเสีย แลให้ตัดเอาศีศะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น แล้วก็คืนลงสู่เรือพระที่นั่งกลับเข้ามายังพระราชวัง เจ้าพระยาโกษาทำครั้งนั้นเพื่อจะให้คนทั้งหลายเข็ดขามคร้ามอำนาจอาชญาสิทธิขาดในราชการงานสงครามนั้น ครั้นมาถึงพระราชวัง ก็ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถวายพระราชโองการอาชญาสิทธิแลพระแสงดาบคืนเสีย แล้วก็กราบทูลแถลงการทั้งปวงซึ่งไปลองศึกนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ แล้วบังคมทูลพระกรุณาขออาสาไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้าฯ ถวาย จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัศดำรัศสรรเสริญเจ้าพระยาโกษาเปนอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัศเหนือเกล้าฯ โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีเปนแม่ทัพหลวง แลให้พระยาวิชิตภักดีเปนยุกรบัตร พระยาสุรินทรภักดีเปนเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปนกองน่า พระยาสุรสงครามเปนกองหลัง ถือพลช้างม้าพลานิกรเดินเท้าทั้งหลายยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ ครั้นถึงกติกมาศ ศุกรปักขดิถี ได้มหาสวัสดิพิไชยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดีแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลายกกองทัพบกทัพเรือไปจากกรุงเทพมหานครโดยลำดับชลมารคสถลมารค ไปพร้อมทัพณเมืองเถิน แล้วก็ให้ตรวจจัดกองทัพแยกกันออกเปนหมวดเปนกองตามพิไชยสงครามพร้อมเสร็จ ก็ยกพยุหโยธาหาญขึ้นไปโดยวิถีสถลมารคตราบเท่าถึงเมืองนคร แลให้หยุดทัพยับยั้งตั้งค่ายมั่นในที่ใกล้เมืองนั้น.

ฝ่ายแสนท้าวพระยาลาวเจ้าเมืองนครก็บอกหนังสือขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ แล้วก็แต่งค่ายคูประตูหอรบ แล้วตรวจจัดพลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินป้องกันเมืองตามธรรมเนียม ส่วนกองทัพไทยก็ยกเข้าแหกหักเอาเมือง ชาวเมืองรบพุ่งต้านทานอยู่สามวัน ครั้นเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็เทครัวอพยพออกจากเมืองหนีไปยังเมืองเชียงใหม่บ้าง ๆ ก็ออกหากองทัพ ๆ ไทยได้เมืองนคร แลได้ช้างม้าเครื่องสาตราวุธแลลาวเชลยเปนอันมาก ก็ยกตีบ้านน้อยบ้านใหญ่ตามรยะรายทางขึ้นไป พลลาวต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนี แลตีตำบลใดก็ได้ตำบลนั้นด้วยอำนาจอาชญาสิทธิเจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพหลวงครั้งไปลองศึกตำบลพเนียดแลคนทั้งหลายเข็ดขามคร้ามกลัวแต่ครั้งนั้นมา จะว่าราชการอันใดในงานสงครามทั้งปวงก็สิทธิขาดสำเร็จได้ด้วยคำอันสั่งนั้นทุกประการ แล้วก็ยกพยุหโยธาหาญขึ้นไปตีเมืองลำพูนแลให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ ฝ่ายท้าวพระยาเสนาลาวเจ้าเมืองลำพูนก็กะเกณฑ์พลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินปราการป้องกันเมือง กองทัพไทยก็ยกเข้าป่ายปีนปล้นเอาเมือง พลลาวชาวเมืองรบพุ่งต้านทานอยู่ได้ ๗ วัน แลต้องสาตราวุธข้าศึกบาดเจ็บล้มตายนั้นก็มาก เห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็แตกฉานพ่ายออกจากเมืองในเพลากลางคืน แลหนีไปยังเมืองเชียงใหม่บ้าง ๆ ก็หนีเข้าป่าแลออกหากองทัพไทยเปนอันมาก ทัพไทยได้เมืองลำพูน แลได้ช้างม้าเครื่องสรรพาวุธคนเชลยก็มาก แล้วก็ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ในขณะเมื่อทัพไทยได้เมืองลำพูนนั้น พระยาแสนหลวงก็เสียใจ จึงแต่งกองทัพให้ยกออกไปตั้งค่ายรับโดยรยะรายทางขึ้นมาทาบเท่าถึงเมืองเชียงใหม่เปนหลายแห่ง แลให้ตกแต่งค่ายคูปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสร็จ ส่วนกองทัพไทยก็ยกเข้าตีค่ายลาวทั้งหลายอันออกมาตั้งรับนั้น แลได้รบพุ่งกันถึงโรมรันฟันแทงทุก ๆ ตำบล พลลาวต่อรบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานไปจากค่ายแลพ่ายหนีกลับเข้าเมืองเชียงใหม่ พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองก็ให้แสนท้าวเสนาลาวทั้งปวงตรวจจัดพลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินปราการโดยรอบ ประกอบด้วยเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่ปืนน้อยทั้งปวงกันเมืองไว้ แลกองทัพไทยได้ค่ายรายทางทั้งหลายแล้วก็ยกติดตามเข้าไปตั้งค่ายล้อมถึงชานเมือง จึงเจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพหลวงก็ให้พลทหารก่อกำแพงโอบเมืองเข้าไว้กึ่งหนึ่งในด้านข้างทักษิณแห่งเมืองเชียงใหม่นั้น แล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงแลค่ายน่าทั้งหลายล้อมอยู่ในที่นั้น ส่วนพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ให้ท้าวพระยาเสนาลาวยกกองทัพออกไปตีทัพไทยอันมาตั้งล้อมอยู่นั้นเปนหลายครั้ง พลทหารไทยเข้มแขงในการสงครามยิ่งนัก มิได้ท้อถอย แลได้ยุทธนากันเปนสามารถ พลลาวต้องสาตราวุธบาดเจ็บล้มตายก็มาก มิอาจต้านทานกำลังศึกพลทหารไทยได้ ก็แตกฉานพ่ายเข้าเมืองทุกครั้ง ๆ ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาแม่ทัพ ครั้นเห็นการพอจะหักเอาเมืองได้แล้ว ก็แต่งหนังสือบอกโดยการอันได้รบพุ่งทั้งปวงเห็นพอจะเอาไชยชำนะได้ แลให้ม้าเร็ว ๒๓ ม้าถือลงไปกราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานคร.

จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้น ก็ทรงพระปราโมทย์ยิ่งนัก แลดำรัศให้ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายตรวจจัดกองทัพพลสกรรจ์ลำเครื่องหกหมื่น ช้างเครื่อง ๕๐๐ ม้าเครื่อง ๕๐๐ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธแลเสบียงอาหารให้พร้อมเสร็จ จะเสด็จไปงานพระราชสงครามณเมืองเชียงใหม่ แลให้กองทัพบกยกแยกไปคอยรับเสด็จณเมืองเถิน ครั้นถึงศุภวารมหุติมหันต์อนันตพิไชยฤกษ์ จึ่งพระบาทบรมนารถนารายน์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็สอดทรงเครื่องศิริราชอลังการสรรพาภรณ์บวรวิภูสิตสำหรับขัติยราชรณยุทธ ทรงราชาวุธสรรพเสร็จ ก็เสด็จลงสู่เรือพระที่นั่งขจิตรพิมานกาญจนมณีศรีสมรรถไชย อันอำไพด้วยบวรเสวตรฉัตร ขนัดอภิรุมชุมสายพรายพรรณ บังพระสุริยันบังแทรกสลอนสลับ สรรพไปด้วยกรรชิงกลิ้งกลดจามรมาศดาษดา ดูมเหาฬารพันฦก อธึกด้วยกระบี่ธุชธงฉานธงไชย งามไสวไพโรจด้วยเรือดั้งเรือกันแลเรือท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายรายเรียงเปนรยะ โดยกระบวนพยุหบาตราน่าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ พอได้อุดมฤกษ์เวลา พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย ราชครูบุริโสดมพรหมพฤฒาจารย์เป่ามหาสังข์ทักษิณาวัฏ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยางคดนตรีฆ้องกลองนี่สนั่นบันฦๅลั่นศัพทสำเนียง เสียงพลโยธาหาญโห่สท้านสเทือนนที ให้เคลื่อนเรือพระที่นั่งศรีวรสุพรรณหงษ์อันทรงพระพุทธปฏิมาสมญาพระไชยนั้นไปก่อน แล้วก็ขยายพยุหบาตราคลาเคลื่อนเลื่อนตามกระบวนบรมราชพยุหสงครามไปตามลำดับชลมารคตราบเท่าถึงเมืองเถิน ก็ขึ้นประทับแรมอยู่ที่นั้นคืนหนึ่ง จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งพังกินรวิหค ยกพยุหบาตราโยธาหาญไปโดยสถลมารควิถีถึงเมืองลำพูน แลให้หยุดกองทัพยับยั้งตั้งตำหนักทัพพลับพลาอยู่ในที่นั้น จึงสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศให้มีตราตอบขึ้นไปยังกองทัพว่า ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินยกขึ้นมาช่วย กองทัพซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่นั้นให้ล้อมมั่นไว้ อย่าเพ่อหักเอาเมืองก่อน แลให้คอยท่าทัพหลวงกว่าจะเสด็จขึ้นไปถึง จึงจะค่อยหักเอาเมืองต่อภายหลัง.

ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายได้แจ้งในท้องตราดังนั้นแล้ว ก็ให้ตั้งค่ายหลวงแลที่ประทับพลับพลาไว้คอยรับเสด็จในที่อันสมควร แล้วก็ให้กราบทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมายังเมืองเชียงใหม่ จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกก็เสด็จยกพยุหบาตราโยธาทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ แลเสด็จประทับอยู่ณค่ายอันกองทัพทำไว้รับเสด็จนั้น จึงเจ้าพระยาโกษาธิบดีแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็มาเฝ้าณค่ายหลวง กราบทูลข้อราชการทั้งปวงให้ทราบ แล้วก็แวดล้อมรักษาพระองค์โดยรอบ แลเอาแรงช้างม้าพลานิกรเดินเท้าให้หายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลำบากกาย.

ฝ่ายลาวชาวเมืองเชียงใหม่ทั้งหลายต้านต่อทัพไทยมิได้ ก็ให้ครั่นคร้ามขามกลัวสยบสยอนไปสิ้นทั้งเมือง แลพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองนั้นก็สดุ้งตกใจกลัวทัพไทยยิ่งนัก จะรบก็เหลือกำลังที่จะต้านทานได้ จะหนีก็เห็นไม่พ้น ครั้นจะออกอ่อนน้อมยอมถวายเมืองเล่าก็กลัวตาย ได้ทำความชั่วกลับกลอกมาเปนหลายครั้งแล้ว ให้จนจิตรสิ้นความคิดมิรู้ที่จะทำประการใด ก็นิ่งรักษาเมืองไว้ตามบุญ เผื่อกุศลจะมาช่วยอุดหนุนบ้างก็พอจะช่วยได้พ้นไภย จึงบอกหนังสือขึ้นไปยังเมืองอังวะขอกองทัพให้ยกลงมาช่วย แล้วได้ยินศัพทสำเนียงเสียงช้างม้าพลาพลเดินเท้าแห่งข้าศึกกึกก้องโกลาหลหนักขึ้น ก็ให้ขึ้นดูบนพระเจดีย์ใหญ่อันประดิษฐานอยู่ณกลางเมือง จึงเห็นรี้พลช้างม้าข้าศึกเปนอันมากยกหนุนมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ใหม่ในทิศอาคเณย์ ก็ยิ่งสดุ้งตกใจกลัวทัพไทยยิ่งนัก จึงเร่งให้ตกแต่งการป้องกันเมืองทั้งกลางคืนกลางวันเปนสามารถ แลให้เอาไม้ซุงทั้งหลายมาผูกแขวนรายไว้ที่บนใบเสมากำแพงเมืองนั้นโดยรอบ แลจะได้ตัดให้ตกลงไปทับข้าศึก แล้วให้ตั้งกะทะคั่วกรวดทรายปูนผงแลเคี่ยวน้ำมันยางไว้ให้ร้อนจงทุก ๆ น่าที่ สำหรับจะหว่านซัดสาดราดเทลงไปให้ถูกต้องข้าศึกล้มตายขณะเมื่อจะยกเข้ามาป่ายปีนกำแพงปล้นเอาเมืองนั้นอย่าให้ทำการได้ถนัด แลจัดแจงการทั้งปวงไว้พร้อมเสร็จแล้ว ก็คอยกองทัพเมืองอังวะจะยกลงมาช่วยฤๅประการใด.

ฝ่ายพม่าเมืองอังวะได้แจ้งในหนังสือบอกเมืองเชียงใหม่ดังนั้นแล้ว ก็ให้คิดเข็ดขามคร้ามฝีมือศึกไทยยิ่งนัก แลมิอาจจะยกลงมาช่วยเมืองเชียงใหม่ได้ ในขณะทัพหลวงมาตั้งอยู่ได้ ๗ วัน พอรี้พลช้างม้าหายเหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าแล้ว จึงเจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลพระกรุณาจะขอยกเข้าแหกหักเอาเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำรัศให้พระโหราหาฤกษ์ แล้วมีพระราชกำหนดให้ท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองทั้งปวงตรวจจัดช้างม้าพลาพลเดินเท้าแลทหารคนดีมีวิชาทั้งหลายให้พร้อมไว้แต่ใน ๕ วัน แลกระทำบันไดน้อยใหญ่กว่าพันอันสำหรับจะป่ายปีนปล้นเอาเมือง แลซึ่งช้างทั้งหลายนั้นก็ให้ทำเกือกหนังเสื้อหนังน่าร่าหุ์หนังใส่ครบทุก ๆ ตัว แลพลโยธาหาญนั้นก็ให้ตกแต่งกายสรวมใส่หมวกเสื้อแลรองเท้าล้วนทำด้วยหนังสิ้น แลให้พูนดินขึ้นเปนป้อมสูงเทียมกำแพงเมืองในที่มุมเมืองทั้งสามแลหว่างกลางทั้งสามนั้นเปนหกแห่งด้วยกัน แลให้เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งจังกายิงเข้าไปตามเชิงเทินเมืองจงทุกป้อม อย่าให้ชาวเมืองอยู่รักษาน่าที่ได้ถนัด เร่งจัดแจงตกแต่งตระเตรียมการทั้งปวงให้พร้อมไว้จงทุกหมวดทุกกอง แลกำหนดวันคืนเพลาสัญญาอาณัติให้คอยดูดวงพลุเปนสำคัญฤกษ์อันจะยกเข้าหักเอาเมืองนั้น จึงท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองทั้งหลายได้แจ้งพระราชกำหนดดังนั้น ก็เร่งตกแต่งเตรียมการทั้งปวงไว้พร้อมเสร็จแล้ว ก็คอยดูดวงพลุซึ่งเปนสำคัญฤกษ์นั้น ครั้นถึงศุภวารวิไชยฤกษ์เพลาสามยาม จึงพระราชครูพระครูปุโรหิตาจารย์ก็อัญเชิญเสด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวสรงมุรธาภิเศกถวายอาเศียรพาทอวยไชย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สอดทรงเครื่องศิริราชอลังการสรรพาภรณ์สำหรับบรมกระษัตริย์เสด็จประเวศงานพระราชสงครามเสร็จ ก็เสด็จขึ้นเกยคอยฤกษ์ พออุดมฤกษ์ พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ดุริยางคดนตรีฆ้องกลองกึกก้องกาหฬนฤนาท พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกก็เสด็จทรงช้างต้นพลายหักสิบทิศเปนพระคชาธาร อันอลังการด้วยเครื่องสูงแลธงฉานธงไชย ดูไสวไพโรจด้วยช้างดั้งกันแทรกแซงสลับค่ายค้ำพังคา อันท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาพลาพลพฤนท์พรั่งพร้อมห้อมล้อมเสด็จพระราชดำเนิน แลดำรัศให้จุดเพลิงพลุขึ้นเปนสำคัญฤกษ์ ฝ่ายท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงเห็นดวงพลุดังนั้น ก็ขับพลคชาแลโยธาหาญทั้งหลายล้วนแต่งกายสรวมใส่เครื่องหนัง มีมือถือหอกแลทวนสำหรับจะรับไม้ซุง แลถือเขนถือโล่ฝาโพล่ฝาแฟ้มสำหรับจะป้องกันกรวดทรายปูนผงแลน้ำมันยางอันร้อนซึ่งชาวเมืองจะซัดราดเทลงมานั้นถ้วนตัวกัน แล้วโห่สนั่นบันฦๅศัพทสำเนียงเสียงฆ้องกลองศึกสท้านสเทือนเพียงแผ่นดินจะไหว ยกเข้าไปจะแหกหักเอาเมืองทุก ๆ น่าที่ จึงสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาหยุดยืนพระคชาธาร มีพระราชโองการตรัศให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายขับพลทหารเอาบันไดน้อยใหญ่พาดกำแพงเมืองป่ายปีนขึ้นไป แลให้วางปืนใหญ่รดมเข้าไปตามเชิงเทินเมืองนั้นทุกป้อมพร้อม ๆ กัน ฝ่ายพลลาวชาวเมืองซึ่งรักษาน่าที่เชิงเทินปราการทั้งหลายนั้นก็ต้องปืนใหญ่ล้มตายเปนอันมาก แลต้านทานอยู่มิได้ ก็ถอยลงไปจากน่าที่บ้าง ๆ ก็ต้านทานอยู่ได้บ้างแลตัดเชือกซึ่งผูกไม้ซุงแขวนไว้ตามใบเสมากำแพงนั้นให้ตกลงไปทับข้าศึก บ้างก็หว่านซัดกรวดทรายปูนผงอันร้อนแลรดสาดราดเทน้ำมันเดือดลงไปให้ถูกต้องพลข้าศึกอันป่ายปีนขึ้นมานั้น แลต่อรบป้องกันเมืองอยู่เปนสามารถ ฝ่ายพลทหารไทยก็รับไม้ซุงด้วยปลายหอกปลายทวน แลมากด้วยกันก็ทานไว้ได้ ผ่อนให้ตกลงแต่เบา แลเอาเขนโล่ฝาโพล่ฝาแฟ้มทั้งหลายขึ้นป้องกันรับกรวดทรายปูนผงอันร้อนแลน้ำมันเดือดซึ่งชาวเมืองซัดสาดราดเทลงมานั้นให้ถูกต้องแต่น้อยพออดทนได้ แลพลทหารไทยแสนหนึ่งมิพึงจะท้อถอย เยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้าไปดุจคลื่นในท้องพระมหาสมุท ชาวเมืองสุดที่จะต้านทานได้ ก็ขึ้นบนบันไดป่ายปีนกำแพงเข้าไปได้ในเมืองพร้อมกันทุก ๆ น่าที่ แล้วก็ไล่พิฆาฏฆ่าพลลาวชาวเมืองทั้งหลายล้มตายเปนอันมาก แลได้เมืองเชียงใหม่ในเพลารุ่งขึ้นวันนั้น แล้วก็ไล่จับพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองแลบุตรภรรยาญาติวงษ์ได้สิ้น แลได้ครัวตัวแสนท้าวพระยาลาวเสนาบดีทั้งหลายแลครอบครัวอพยพชาวเมืองทั้งปวงเปนอันมาก ได้ช้างม้าเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อยแลสิ่งของต่าง ๆ ก็มาก แล้วก็คุมครอบครัวส่งออกไปยังค่ายหลวงสิ้น จึงเจ้าพระยาโกษาธิบดีก็จัดสรรเอาบุตรีเจ้าเมืองแลบุตรีท้าวพระยาเสนาลาวทั้งหลายที่มีศิริรูปอันงามนั้นเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ทรงเลือกบุตรีเจ้าเมืองไว้เปนนางพระสนม แลซึ่งบุตรีแสนท้าวพระยาเสนาลาวทั้งหลายนั้นก็ทรงแจกพระราชทานให้แก่ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงทั่วกัน แลเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่นั้นประมาณสิบห้าเวนกว่าหัวเมืองจะสงบก็ส่งไปบ้านเมือง แลหัวเมืองทั้งหลายซึ่งขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เปนปรกติแล้ว จึงเลิกทัพหลวงกวาเอาครอบครัวลาวเชลยทั้งหลายที่ตีได้นั้น ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับมาโดยทางสวรรคโลก ก็เสด็จมาประทับแรมอยู่ณเมืองศุโขไทยสิบห้าเวน แลดำรัศให้กองทัพท้าวพระยาพระหัวเมืองปากใต้ทั้งหลายสองหมื่นเศษคุมเอาช้างพลายพลเดินเท้าอันป่วยเจ็บทุพพลภาพแลครอบครัวลาวเชลยทั้งหลายอันตีได้นั้นแยกไปลงทางท่าเรือเมืองกำแพงเพ็ชร แล้วก็เสด็จกรีธาพลาพลทัพหลวงจากเมืองศุโขไทยมาโดยลำดับมารควิถีถึงเมืองพระพิศณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอารามวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรพระชินราช พระชินสีห์ ด้วยเบญจางคประดิษฐ แล้วกระทำมหาบูชา แล้วเล่นการมหรศพสมโภชสามวัน แลเสด็จประทับยับยั้งอยู่เมืองพระพิศณุโลกเจ็ดเวน จึงดำรัศให้กองทัพบกยกแยกลงไป แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองพระพิศณุโลกลงมาโดยชลมารคด้วยพระชลวิมานพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาหาญแห่แหนเปนขนัดโดยกระบวนพยุหบาตราน่าหลังเสร็จ ก็เสด็จถึงกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา แลเสด็จขึ้นสู่พระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระกรุณาพระราชทานรางวัลแก่เจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายเปนอันมากตามลำดับถานาศักดิ์ จำเดิมแต่นั้นมา พระราชกฤษฎาเดชานุภาพแห่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวฦๅชาปรากฎไปทั่วทิศานุทิศประเทศธานีใหญ่น้อยทั่ว บรรดาขัติยราชดัษกรก็สยบสยอนครั่นคร้านขามพระเดชพระคุณเปนอันมาก มิอาจกระทำย่ำยีบีฑาต่อพระนครศรีอยุทธยาได้ กรุงเทพมหานครครั้งนั้นเกษมศุขสมบูรณ์ยิ่งนัก.

ในขณะนั้น พระเพทราชาจางวางกรมช้างเปนชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี มีบุญญาธิการมาก และกระทำราชการ ชำนิชำนาญในศิลปสาตร ขี่ช้างแกล้วกล้ายิ่งนัก แล้วก็มีฝีมือในสงคราม กระทำความชอบมาเปนหลายหน แล้วได้โดยเสด็จพระราชสงครามครั้งเมืองเชียงใหม่นั้นด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พระเพทราชานั้น แลเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาศด้วยราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ แลนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาลอายพระไทย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัศว่า นางลาวคนนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดลอายแก่พระสนมทั้งปวง แลท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ณบ้านเถิด แลพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ณบ้าน ครั้นถึงปีขาล จัตวาศก สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระชินราช พระชินสีห์ ณเมืองพระพิศณุโลก พระเพทราชาก็พาเอานางลาวมีครรภ์นั้นไปตามเสด็จด้วย ถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง พอครรภ์นางนั้นแก่ถ้วนทศมาศ ได้ฤกษ์ดี นางประสูตรบุตรชายกอปรด้วยศิริวรรณลักษณเปนอันดี บิดาให้นามบัญญัติชื่อ เจ้าเดื่อ ครั้นค่อยรู้ความแล้ว ก็สำคัญเอาพระเพทราชาว่าเปนบิดา แลรักใคร่สนิทติดพัน จนไวยวัฒนาขึ้น ก็มีสติปัญญาแกล้วกล้าอาจหาญยิ่งนัก จึงพระเพทราชาก็นำเอานายเดื่อผู้บุตรเลี้ยงเข้าไปถวายตัวเปนมหาดเล็ก แลให้กระทำราชการสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระการุญภาพแก่นายเดื่อมหาดเล็กนั้นเปนอันมาก มีพระราชดำริห์จะใคร่ให้เจ้าตัวรู้ว่าเปนพระเจ้าลูกเธอ แลทรงพระกรุณาดำรัศให้เจ้าพนักงานเชิญเอาพระฉายมาตั้ง ก็ทรงส่องพระฉาย แล้วกวักพระหัดถ์ตรัศเรียกนายเดื่อมหาดเล็กเข้าไปให้ใกล้พระองค์ แล้วก็ดำรัศว่า เองจงดูเงากระจกเถิด นายเดื่อมหาดเล็กนั้นก็คลานเข้าไปส่องพระฉายด้วยพระองค์ก็เห็นเงาเหมือนดังนั้น แล้วก็มีพระราชโองการตรัศถามว่า เองเห็นรูปเรากับรูปของเองนั้นเปนอย่างไรกันบ้าง จึงนายเดื่อมหาดเล็กก็กราบทูลพระกรุณาว่า รูปทั้งสองอันปรากฎอยู่ในพระฉายนั้นมีพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระเมตตาภาวแก่นายเดื่อมหาดเล็กซึ่งเปนพระราชบุตรนั้นยิ่งนัก ทรงพระกรุณาดำรัศพระราชทานโอวาทานุสาสน แลใช้ในกิจราชการทั้งปวง แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเข้าของเงินทองเปนอันมาก ส่วนนายเดื่อมหาดเล็กก็รู้ตัวว่าเปนพระเจ้าลูกเธอโดยพระราชอุบายในวันอันส่องพระฉายนั้น แลบังเกิดทิฐิมานะขึ้นเปนอันมาก ก็บริโภคโภชนาหารในพระสุพรรณภาชนอันเหลือเสวยนั้น แลเอาพระภูษาทรงซึ่งเจ้าพนักงานตากไว้นั้นมานุ่งห่ม ผู้ใดจะว่ากล่าวก็มิได้ฟัง แต่ทำมาดังนั้นเปนหลายครั้ง จึงเจ้าพนักงานทั้งหลายก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็มิได้ถือ ดำรัศว่า อ้ายเดื่อนี้มันบ้าอยู่ อย่าถือมันเลย มันชอบใจสิ่งของทั้งนั้นจึงบริโภคนุ่งห่มตามทีเถิด จำเดิมแต่นั้นมา นายเดื่อจะปราถนาสิ่งใดก็ถือเอาสิ่งนั้นทุกประการ แลจะได้มีผู้ใดว่ากล่าวนั้นหามิได้ ในขณะนั้น ช้างพลายซ่อมตัวหนึ่งเปนช้างเพชฌฆาฏสำหรับฆ่าคนโทษถึงตายร้ายกาจยิ่งนัก ถ้าแลตกน้ำมันแล้ว ถึงหมอช้างผู้ใดที่ดีขับขี่เข้มแขงก็มิอาจสามารถจะขี่ไปลงน้ำได้ แลผูกกรึงไว้ณโรงนั้น ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง นายเดื่อมหาดเล็กรู้เหตุดังนั้นก็ไปยังโรงช้างพลายซ่อมแลจะขึ้นขี่พลายซ่อมเอาไปลงน้ำให้จงได้ หมอควาญทั้งหลายห้ามก็มิฟัง แลเข้าแก้ออกจากตลุงแล้วก็ขึ้นขี่เอาไปลงน้ำได้โดยสดวก ด้วยบุญญาเปนมหัศจรรย์แลอานุภาพสรรพเวทมนตรคาถาวิชาคุณอันภาวนานั้นด้วยดี จะได้เปนอันตรายนั้นหามิได้ ส่วนพระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลายก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้นก็ตกพระไทย จึงดำรัศให้กรมช้างทั้งหลายผูกช้างพังหลายเชือกพร้อมไปด้วยเชือกบาศเร่งรีบไปช่วยโดยเร็ว พอนายเดื่อเอาช้างพลายซ่อมไปลงน้ำแล้วกลับขึ้นมาถึงโรงได้โดยปรกติแล้วผูกไว้ณโรงดังเก่า แลกรมช้างทั้งหลายก็กลับเอาเหตุมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบประพฤดิเหตุอันนายเดื่อขี่ช้างพลายซ่อมได้ปราศจากไภยันตรายดังนั้น ก็ทรงพระปีติโสมนัศ จึงดำรัศให้หานายเดื่อมหาดเล็กเข้ามาเฝ้า แล้วก็มีพระราชโองการตรัศว่า ตัวเองขี่ช้างแกล้วกล้าเข้มแขงนัก จงเปนหลวงสรศักดิ์ไปช่วยราชการบิดาแห่งเองในกรมช้างเถิด จำเดิมแต่นั้นมา นายเดื่อก็เปนหลวงสรศักดิ์กระทำราชการสนองพระเดชพระคุณข้างกรมช้าง.

ครั้งนั้น พระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังเมืองลพบุรีเนือง ๆ แลเสด็จไปประพาศตำบลสระแก้ว แล้วให้กระทำพระราชวังณเมืองลพบุรี แลเสด็จสำราญพระไทยอยู่ในที่นั้น แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศชมพนัศพนาวันพิศาลศิขรเขตร วิเศษด้วยสรรพรุกขชาติร่มรื่นรหงรโหฐานแถวเถื่อนทุรัถยา สรรพด้วยสกุณปักษานา ๆ สัตวจัตุบาทบำเทิงละเลิงลานพระไทย แลทรงพระกรุณาดำรัศให้ทำคลองปากจั่นออกจากสระแก้ว กรุศิลายาปูนเปนอันดี แล้วให้ขุดเปนคลองไขน้ำมาแต่ชเลชุบศรตราบเท่าถึงคลองปากจั่นสระแก้วนั้น แล้วให้ตั้งพระราชนิเวศไว้ในที่นั้น แลเสด็จไปประพาศตำบลนั้นเนือง ๆ แล้วก็เสด็จกลับยังพระราชวัง แลเมืองลพบุรีก็สนุกศุขสำราญเปนพระบรมราชนิวาศสถานขึ้นในครั้งนั้น จึงสมเด็จบรมบาทพระนารายน์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศสั่งช่างพนักงานจับการก่อพระมหาปราสาทสองพระองค์ ครั้นเสร็จแล้วก็พระราชทานนามบัญญัติชื่อ พระที่นั่งสุธาสวรรย์ องค์หนึ่ง พระที่นั่งธัญญมหาปราสาท องค์หนึ่ง แล้วทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวิหารมหาธาตุเจดีย์แลกุฎีศาลาในอารามทั้งหลายทั่วจังหวัดเมืองลพบุรีที่ชำรุดปรักหักพังนั้นให้ถาวรขึ้นดังเก่าแล้วเสร็จ แลพระองค์เสด็จอยู่ณเมืองลพบุรีในเหมันตฤดูแลคิมหันตฤดู แลเสด็จลงอยู่ณกรุงเทพมหานครแต่เทศกาลวสันตฤดู สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยไอสวรรยาธิปัติถวัลยราชณเมืองลพบุรีแลพระนครศรีอยุทธยาเปนศุขานุศุขยิ่งนัก พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนาม เจ้าฟ้าน้อย ครั้นโสกันต์แล้วพระราชทานพระนามชื่อ เจ้าฟ้าอไภยทศ แลทรงพระกรุณาโปรดให้อยู่ณพระตำหนักวังหลัง แลพระองค์มีพระราชบุตรีองค์หนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดให้เปนกรมหลวงโยธาเทพ แลซึ่งสมเด็จพระบรมราชภคินีนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เปนกรมหลวงโยธาทิพ แลเสด็จอยู่ณพระตำหนักตึกในพระราชวัง ครั้งนั้น พระยาวิไชเยนทร์ฝรั่งกระทำราชการดีมีความชอบมากขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนที่เปนเจ้าพระยา แลให้บังคับราชการที่สมุหนายก แลทรงพระกรุณาโปรดให้พระยารามเดโชออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช แลให้พระยายมราชขึ้นไปครองเมืองนครราชสิมาคราวกันนั้น.

ส่วนเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ผู้ว่าราชการที่สมุหนายกให้ก่อตึกสี่เหลี่ยมอันใหญ่แลตึกเวียนมีกำแพงแก้วล้อมรอบเปนที่อยู่ แลให้ก่อตึกปิจู ตึกราชสาร แลตึกฝรั่งอื่นทั้งหลายเปนอันมากตำบลที่ใกล้วัดปืน แลคิดอ่านกระทำการทั้งปวงต่าง ๆ ปราถนาจะคิดเอาราชสมบัติ แลจะทำกลอุบายที่จะประทุษฐร้ายเปนประการใด ๆ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระไทย แต่มิได้เอาโทษ ด้วยเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เอาใจใส่ในกิจราชการเปนอันมาก แลสึกเอาภิกษุสามเณรมากระทำราชการครั้งนั้นก็มาก.

ขณะนั้น สมเด็จบรมบพิตรพระนารายน์เปนเจ้าทรงพระนามปรากฎว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมืองลพบุรี เหตุว่าพระองค์เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี แลทรงพระกรุณาให้ตกแต่งปฏิสังขรณ์ป้อมค่ายหอรบเชิงเทินปราการเมืองแลสระน้ำเสวยที่ชำรุดปรักหักพังนั้นแล้ว แลพระองค์เสด็จสำราญพระราชหฤไทยในที่นั้น ส่วนหลวงสรศักดิ์ ครั้นเห็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์สึกเอาภิกษุสามเณรออกมากระทำราชการเปนอันมากให้ร้อนในพระพุทธสาสนาดังนั้น ก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้น ก็มิได้เอาโทษแก่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ แลมิได้ตรัศเปนประการใด แลหลวงสรศักดิ์จึงคิดว่า อ้ายฝรั่งคนนี้มันโปรดปรานยิ่งนัก จะกระทำผิดสักเท่าใด ๆ ทรงพระกรุณาก็มิได้เอาโทษ แลกูจะทำโทษมันเองสักครั้งหนึ่ง จึงเข้าไปคอยเจ้าพระยาวิไชเยนทร์อยู่ที่อันเคยนั่งว่าราชการในพระราชวังนั้น ครั้นเจ้าพระยาสมุหนายกฝรั่งเข้าไปในพระราชวังแล้วก็นั่งว่าราชการ แลหลวงสรศักดิ์เห็นได้ที ก็เข้าชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ฟันหักสองซี่ แล้วก็หนีออกไปยังบ้าน แลลงเรือเร็วรีบล่องลงไปยังกรุงเทพมหานคร ส่วนเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เมื่อหลวงสรศักดิ์ชกเอานั้นล้มลงอยู่ ครั้นได้สติแล้วก็ลุกขึ้นแลบ้วนฟันออกเสีย แล้วก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโลหิตไหลออกจากปาก พลางทางกราบทูลว่า พระราชอาชญาเปนล้นเกล้า บัดนี้ หลวงสรศักดิ์ชกเอาปากข้าพระพุทธเจ้าจนฟันหักสองซี่ ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นสมประฤดีสลบลงอยู่ปิ้มประหนึ่งจะถึงแก่สิ้นชีวิตร ข้าพระพุทธเจ้าได้ความเจ็บอายแก่ข้าราชการทั้งหลายเปนอันมาก ขอทรงพระกรุณาโปรดลงพระราชอาชญากับหลวงสรศักดิ์ แล้วข้าพระพุทธเจ้าจึงจะสิ้นความเจ็บอาย สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระพิโรธแก่หลวงสรศักดิ์ จึงดำรัศแก่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ว่า ท่านเทลาะวิวาทกับมันฤๅประการใด จึงเจ้าพระยาวิไชเยนทร์กราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะได้เทลาะวิวาทถุ้งเถียงกับหลวงสรศักดิ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหามิได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ยิ่งทรงพระพิโรธนัก จึงดำรัศสั่งตำรวจให้ไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์เข้ามา ขุนหมื่นตำรวจรับพระราชโองการแล้วก็รีบออกไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์ณบ้าน ครั้นไม่ได้ตัวณบ้านแล้วก็กลับเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงมีพระราชดำรัศให้ตำรวจทั้งหลายไปเที่ยวหาตัวหลวงสรศักดิ์มาให้จงได้ แล้วมีพระราชโองการตรัศแก่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ว่า ท่านจงยับยั้งอยู่ เราจะหาตัวมันให้ได้ก่อน แลเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เข้ามาเฝ้าขณะใดก็กราบทูลกล่าวโทษหลวงสรศักดิ์เพิ่มเติมขึ้นทุกครั้ง จึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระวิจารณในคดีนั้น แลทรงพระราชดำริห์รฦกถึงถ้อยคำอันหลวงสรศักดิ์กราบทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาวิไชเยนทร์แต่งครั้งก่อนนั้นก็เห็นว่า เจ้าพระยาวิไชเยนทร์กระทำผิดจริง จึงดำรัศว่า อ้ายเดื่อมันเห็นว่า โทษท่านทำผิด จึงชกให้ได้ทุกขเวทนา แลเราจะมีโขนโรงใหญ่ทำขวัญให้แก่ท่าน ส่วนเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ก็มิได้เต็มใจโดยพระราชดำรัศนั้น กราบทูลพระกรุณาขอแต่ให้ทำโทษหลวงสรศักดิ์ถ่ายเดียว ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ไปเฝ้าเจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเปนมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน อันเปนพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้น แลกราบถวายบังคมแล้วก็กราบทูลแถลงการอันเจ้าพระยาวิไชเยนทร์กระทำให้ร้อนในพระพุทธสาสนาเหมือนดังนั้น แลได้กราบทูลพระกรุณาแล้วก็มิได้เอาโทษ ข้าพระพุทธเจ้ามีความโทมนัศถึงพระพุทธสาสนา อันเจ้าพระยาวิไชเยนทร์จะกระทำพระพุทธสาสนาให้พินาศเสื่อมสูญไปดังนั้น จึงชกเอาปากเจ้าพระยาสมุหนายกแล้วก็หนีลงมา แลบัดนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธจะลงพระราชอาชญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอัญเชิญเสด็จขึ้นไปขอพระราชทานโทษข้าพระพุทธเจ้าครั้งนี้เถิด จึงเจ้าแม่ผู้เฒ่าได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นโทษอันเจ้าพระยาวิไชเยนทร์นั้นทำผิด จึงเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งขึ้นไปยังเมืองลพบุรี แลเสด็จถึงฉนวนประจำท่า ก็พาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปยังพระราชวัง ให้ยับยั้งอยู่นอกลับแลก่อน แล้วก็เสด็จเข้าไปเฝ้าข้างใน แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็กระทำปัจจุคมนาการเชิญเสด็จให้สถิตย์ร่วมราชาอาศน์ แลยกพระหัดถ์อัญชลี แล้วก็ดำรัศถามว่า พระมารดาขึ้นมาด้วยธุระสิ่งใด จึงเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลโดยเหตุทั้งปวงนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีพระราชโองการให้หาหลวงสรศักดิ์เข้ามาเฝ้า แล้วก็ดำรัศปริภาษเปนอันมาก แลเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลขอพระราชทานโทษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้ แล้วตรัศบอกประพฤดิเหตุทั้งปวงอันหลวงสรศักดิ์ทำแก่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์นั้นให้แก่เจ้าแม่ผู้เฒ่าทราบสิ้นทุกประการ แล้วดำรัศให้ยับยั้งอยู่ณพระราชวังสองสามวัน แลทรงปฏิบัติด้วยเคารพเปนอันดี แล้วก็อัญเชิญเสด็จกลับลงไปยังกรุงเทพมหานคร.

ในขณะนั้น ท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย จำเดิมแต่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ว่าราชการที่สมุหนายกนั้นก็มิได้เต็มใจ จึงปฤกษากันว่า ข้าราชการทั้งปวงที่มีสติปัญญาสัตย์ซื่อมั่นคงควรที่จะเลี้ยงเปนอรรคมหาเสนาธิบดีได้นั้นก็พอจะมีอยู่บ้าง แลทรงพระกรุณามิได้ชุบเลี้ยงขึ้น แลมาโปรดปรานพระราชทานที่สมุหนายกให้แก่อ้ายฝรั่งลูกค้าต่างประเทศอันมิได้ซื่อสัตย์คิดประทุษฐร้ายในลอองธุลีพระบาทอยู่ดังนี้ ก็มิบังควรยิ่งนัก แลถ้อยคำว่าดังนี้ก็ปรากฎมีเนือง ๆ จนทราบถึงพระกรรณ สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้น ก็มีพระราชดำริห์จะแก้ความครหาแห่งข้าราชการทั้งปวง ด้วยทรงพระกรุณาเห็นแท้ว่า เจ้าพระยาวิไชเยนทร์มีสติปัญญายิ่งกว่าข้าราชการทั้งปวงสิ้น แลได้ของวิเศษต่าง ๆ ในทมิฬเสตประเทศมาถวายเปนอันมาก จึงโปรดให้เปนอรรคมหาเสนาธิบดีต่างพระเนตรพระกรรณ แลซึ่งประทุษฐร้ายนั้น ทรงพระกรุณาเสี่ยงเอาพระบารมี จะได้สดุ้งพระไทยนั้นหามิได้.

ครั้นอยู่มาเพลาหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณท้องพระโรงหลวงพร้อมด้วยหมู่มุขมาตยาเสนาธิบดีกระวีราชปุโรหิตาจารย์เฝ้าอยู่เดียรดาษ มีพระราชดำริห์จะสำแดงสติปัญญาอันยิ่งแห่งเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ให้ปรากฎ จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งท้าวพระยาข้าราชการทั้งปวงว่า ท่านทั้งหลายจงช่วยกันเอาปืนพระพิรุณขึ้นชั่งดูแลจะหนักสักกี่หาบ จึงท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายรับพระราชโองการ แล้วก็ชวนกันออกมาคิดอ่านการอันจะชั่งปืนนั้น แลจะทำตราชูชั่งให้ใหญ่ เอาสายโซ่ผูกแขวนขึ้นณไม้คันชั่งปักให้สูง แลจะเอาปืนขึ้นชั่งบนนั้น ก็เห็นตราชูชั่งแลสายโซ่อันผูกนั้นจะทานไว้มิได้ ด้วยพระพิรุณบอกนี้ใหญ่หลวงนัก แลจะคิดอ่านเปนประการใดก็สิ้นสติปัญญา จึงเข้ามากราบทูลพระกรุณาโดยเหตุเหลือกำลังจะเอาขึ้นมิได้ สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกตรัศได้ทรงฟังดังนั้น จึงแย้มพระโอฐดำรัศสั่งเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ว่า ท่านจงออกไปชั่งปืนพระพิรุณให้รู้ว่าน้ำหนักสักเท่าใด จึงเจ้าพระยาวิไชเยนทร์รับพระราชโองการแล้วออกไปคิดอ่านการอันจะชั่งปืน แลให้เอาเรือนางเป็ดอันใหญ่หลายลำมาเทียบขนานกันณท่า แล้วก็ให้ลากเอาปืนพระพิรุณลงไปในเรือนางเป็ดที่ขนานนั้น แลเรือหนักจมลงไปเพียงใดก็ให้หมายไว้เพียงนั้น แล้วก็ให้ลากปืนขึ้นมาเสียจากเรือ จึงให้ขนเอาอิฐหักแลก้อนศิลามาชั่งให้ได้น้ำหนักเท่าใด ๆ แล้วก็ทิ้งลงไปในเรือตราบเท่าจนเรือจมลงไปถึงที่อันหมายไว้นั้น ก็รู้ว่าปืนพระพิรุณหนักเท่านั้น จึงเอาเหตุนั้นเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระโสมนัศดำรัศสรรเสริญสติปัญญาเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ซึ่งเอาปืนขึ้นชั่งได้นั้นเปนอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัศแก่ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า เมื่อเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เขามีสติปัญญายิ่งกว่าท่านทั้งปวงดังนี้ ฤๅจะมิให้เราเลี้ยงเขาเปนใหญ่กว่าท่านทั้งปวงเล่า แล้วก็ทรงพระกรุณาปูนบำเหน็จพระราชทานเสลี่ยงงาให้เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ขี่ แล้วให้มีบโทนแห่น่าสามร้อยสำหรับยศ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเบาะสูงศอกหนึ่งขณะเมื่อเฝ้านั้น แลพระราชทานเครื่องอุปโภคเปนอันมาก จำเดิมแต่นั้นมา เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ว่าราชการอันใดก็ยิ่งสิทธิ์ขาดขึ้น แลคิดอ่านพิดทูลสิ่งใดก็ว่ากล่าวพอพระไทยทุกประการ ท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายก็ยำเกรงยิ่งนัก.

อยู่มาเพลาหนึ่ง จึงเจ้าพระยาสมุหนายกกราบทูลพระกรุณาว่า เมืองพระพิศณุโลกเปนหัวเมืองใหญ่กว่าฝ่ายเหนือ แลที่ทางซึ่งจะรับราชศัตรูเพื่อจะมีมานั้นเห็นมิสู้มั่นคง แลจะขอพระราชทานให้ก่อป้อมใหญ่ไว้สำหรับเมือง อนึ่ง ฝ่ายข้างปากใต้เล่าจะขอให้ก่อป้อมใหญ่ไว้ณเมืองธนบุรีทั้งสองฟากน้ำ แลจะทำสายโซ่อันใหญ่ขึงขวางน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟาก สำหรับจะป้องกันอรินราชไพรีจะมีมาทางชเล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศเห็นชอบด้วยโดยถ้อยคำเจ้าพระยาวิไชเยนทร์กราบทูลนั้น แลทรงพระกรุณาดำรัศให้เจ้าพระยาวิไชเยนทร์เปนแม่กองก่อป้อมแลเมืองพระพิศณุโลกแลเมืองธนบุรีนั้นแล้วเสร็จทั้งสองตำบล.

ครั้งนั้น พระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาททุกปี ๆ มิได้ขาด แลเสด็จประทับอยู่ณพระราชนิเวศธารเกษม ทรงพระกรุณาให้เล่นการมหรศพถวายพุทธสมโภชสามวันตามบุราณราชประเพณีเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับยังเมืองลพบุรี แล้วดำรัศให้ตกแต่งทุบปราบสถลมารคแต่พระพุทธบาทมาโดยท้ายพุนกยุงแลท่าศิลาเปนทางหลวงตลอดตราบเท่าถึงเมืองลพบุรี แลให้ตกแต่งทางคันชเลชุบศร แลทางสระแก้ว แลทางท่าเรือตำบลพระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์พระมรฎปพระพุทธบาทที่ชำรุดปรักนั้นแล้วเสร็จ แลพระองค์บำเพ็ญพระราชกุศลเปนสาสนูปถัมภกโดยเอนกนุประการ.

อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาศณพระตำหนักตำบลสระแก้วพร้อมด้วยมุขมนตรีทั้งหลายโดยเสด็จพระราชดำเนินที่นั้นเปนอันมาก แลเมื่อเสด็จกลับเข้าในพระราชวัง พระองค์เสด็จทรงม้าพระที่นั่งบรมราชพาหนะมีพรรณอันแดงประดับด้วยเครื่องราชอุปโภคพร้อมเสร็จ แลเสด็จขับม้าพระที่นั่งเปนบาทย่างสเทินมาถึงน่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จึงเสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง มีพระราชโองการตรัศเรียกพระเพทราชาเข้ามาแล้วดำรัศว่า ท่านจงมาขี่ม้าแดงพยดตัวนี้ ลองดูจะขี่ได้ฤๅมิได้ จึงพระเพทราชารับพระราชโองการ กราบถวายบังคม แล้วก็เปลื้องผ้าส่านซึ่งเกี้ยวพุงนั้นออกปูทับพระยี่ภู่บนอานม้าเพื่อเคารพในลอองธุลีพระบาทมิได้นั่งร่วมราชาอาศน์นั้น จึงขึ้นขี่ม้าพระที่นั่งขับย่างไป ฝ่ายตำรวจแห่น่าหลังแลเจ้าพนักงานซึ่งถือเครื่องสูงแลกลองชนะแตรสังข์ทั้งหลายก็สำคัญว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน จึงประโคมแตรสังข์เภรีนี่สนั่นนฤนาทเคลื่อนขยายพยุหบาตราเปนมหามงคลนิมิตรเหตุอันพระเพทราชาจะได้เสวยราชสมบัติเปนบรมกระษัตริย์ผ่านธรณีนั้น แลพระเพทราชาเห็นดังนั้นก็ตกใจ จึงลงเสียจากม้าพระที่นั่ง กราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ตรัศทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพระสรวลว่า คนทั้งหลายนี้มันสำคัญว่าเรา แล้วเสด็จกลับขึ้นทรงม้าพระที่นั่งไปยังพระราชวังนั้น พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสวยสวรรยาธิปัตยถวัลยราชณเมืองลพบุรีแลพระนครศรีอยุทธยาเปนมหาบรมศุขสนุกคับคั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลช้างพลม้าพลานิกรทวยหาญล้วนแกล้วกล้าสามารถ ปราศจากอรินราชไพรี มิได้มีมายายีบีฑาเอาพระเดชเดชานุภาพกฤษฎาธิการ แลพระองค์เสด็จผ่านพิภพศิริมไหสุริยสันตติวงษ์ ดำรงราชอาณาจักรโดยยุติธรรมโบราณราชบรมกระษัตริย์สืบกันมา ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ธัญญาหารก็บริบูรณ์ทั่วนิคมชนบท พระเกียรติยศคือฉัตรแก้วกั้งเกษ ทุกประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งเปนข้าขอบขัณฑเสมาก็ผาสุกสมบูรณ์ยิ่งนัก.

ลุศักราช ๑๐๔๔ ปีจอ จัตวาศก ขณะนั้น เจ้าพระยาเสวตรกุญชรบรมคเชนทรฉัททันต์นั้นป่วยลงถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัศอาไลยในพระยาช้างเผือกนั้นเปนอันมาก จำเดิมแต่นั้นมา ก็มิได้สบายพระไทยเลย จนทรงพระประชวรลงในปีนั้น แลพระโรคนั้นก็หนักลง จะทรงนั่งว่าราชการมิได้ ลำบากพระไทยนัก จึงมีพระราชโองการตรัศเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมโปรดให้พระเพทราชาว่าราชการแทนพระองค์ แลพระเพทราชาก็ไปว่าราชการอยู่ณตึกพระเจ้าเหาพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลายเปนอันมาก แลให้มีตราไปทุกหัวเมืองให้เจ้าเมืองกรมการจัดแจงตรวจตราเลขหัวเมืองให้พร้อมไว้ แล้วให้ขัดด่านทางทุก ๆ ตำบล เกฦๅกกฤติศัพท์ซึ่งทรงพระประชวรนั้นจะเลื่องฦๅไป หมู่อรินราชไพรีรู้แล้วจะกำเริบยกมาย่ำยีบีฑาในแว่นแคว้นเรา แลให้ตรวจตราตระเวนรักษาด่านแดนระวังการศึก แลพระเพทราชาว่าราชการครั้งนั้นโดยสุจริต จะได้คิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหามิได้ อยู่มาวันหนึ่ง หลวงสรศักดิ์เข้าไปในพระราชวัง มิได้ไปฟังราชการณตึกพระเจ้าเหา แลไปนั่งอยู่ณทิมดาบ จึงเห็นสมิงพระตบะผู้เฒ่า ก็เรียกให้เข้ามานั่งในที่นั้น แลสนทนากันด้วยกิจอื่น ๆ เปนอันมาก แล้วจึงถามสมิงพระตบะว่า อย่างธรรมเนียมข้างรามัญประเทศ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนักจะถึงกาลทิวงคต แลพระราชบุตรพระราชนัดดาวงศานุวงษ์แลเสนาบดีจะคิดเอาราชสมบัตินั้นทำอย่างไร จึงสมิงพระตบะก็บอกว่า อย่างธรรมเนียมข้างรามัญประเทศ ถ้าพระมหากระษัตริย์ทรงพระประชวรหนักจะสวรรคต แลผู้ใดจะคิดเอาราชสมบัตินั้นก็เร่งจัดแจงตระเตรียมผู้คนเครื่องสาตราวุธให้พร้อมไว้แต่ยังมิทันสวรรคต ครั้นเห็นจวนจะสวรรคตแล้ว ก็ยกจู่เข้าไปปล้นราชสมบัติในเพลานั้น อย่าให้ทันคนอื่นรู้ จึงได้โดยสดวก ถ้าแลคนอื่นรู้การนี้แล้ว ก็จะมีความปราถนาในราชสมบัติบ้าง แลจะตระเตรียมผู้คนรบพุ่งช่วงชิงฆ่าฟันกันตายเปนอันมากแล้ว ก็จะไม่สมคะเนที่คิดไว้ แลจะได้เปนอันยากนัก หลวงสรศักดิ์ได้ฟังถ้อยคำสมิงพระตบะบอกอุบายชี้แจงดังนั้นก็มีความยินดีนักจึงว่า บัดนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก เห็นจะสิ้นพระชนมายุสวรรคาไลยในสองสามวันนี้เปนแท้ แลตัวเราเปนพระราชโอรส มีความปราถนาในราชสมบัติ แลจะคิดอ่านเอาราชสมบัติ ท่านจะเข้าด้วยเราฤๅหาไม่ จึงสมิงพระตบะก็ตอบกว่า ถ้าท่านจะทำการใหญ่จริงแล้ว ข้าพเจ้าจะช่วยคิดอ่านด้วย อย่าวิตกเลย หลวงสรศักดิ์เห็นสมิงพระตบะเข้าด้วยโดยสุจริตจริงแล้วจึงถามว่า คนของท่านมีอยู่มากน้อยเท่าใด สมิงพระตบะบอกว่า มีอยู่สามร้อยเศษ หลวงสรศักดิ์จึงว่า ท่านจงตระเตรียมให้พร้อมไว้แต่ในสองสามวัน สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง แล้วจงซุ่มไว้อย่าให้ใคร ๆ รู้ แลสมิงพระตบะรับคำแล้วก็ไปจัดแจงผู้คนแลเครื่องสาตราวุธไว้พร้อมเสร็จทุกประการ ครั้นค่ำเพลาประมาณยามเศษ หลวงสรศักดิ์ก็ขึ้นไปหาพระเพทราชาณจวน ยกมือไหว้แล้วถามว่า บัดนี้ เจ้าคุณว่าราชการอย่างไร จึงพระเพทราชาก็บอกโดยกิจอันว่าราชการนั้นให้แจ้งสิ้นทุกประการ หลวงสรศักดิ์จึงถามว่า เจ้าคุณว่าราชการ บัดนี้ จะเอาราชสมบัติเองฤๅ ๆ จะให้แก่ผู้ใด พระเพทราชาจึงบอกว่า ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว บิดาก็จะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอซึ่งเสด็จอยู่ณพระราชวังหลัง หลวงสรศักดิ์ได้ฟังดังนั้นจึงว่า ถ้าเจ้าคุณยอมให้แก่ผู้อื่นไซ้ ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าด้วย พระเพทราชาได้ฟังถ้อยคำหลวงสรศักดิ์ว่าดังนั้น ก็เห็นว่าจะกระทำการใหญ่ จึงว่า เจ้าจะคิดอ่านกระทำเปนประการใด ๆ บิดาก็จะกระทำตามถ้อยคำทุกประการ หลวงสรศักดิ์จึงว่า ผู้คนทแกล้วทหารที่ร่วมใจของเรามีอยู่มากน้อยเท่าใด เจ้าคุณจงหาตัวมาให้สิ้น แลให้ตระเตรียมเครื่องสาตราวุธให้พร้อมมือกัน ให้ซุ่มอยู่ณวัดแลบ้านทั้งหลายแยกย้ายกันอยู่ อย่าให้การเอิกเกริกเฟื่องฟุ้งไป แลเจ้าคุณจงจัดแจงการให้พร้อมแต่ในสองสามวัน แล้วจึงส่งคนทั้งหลายไปยังสำนักนิ์ข้าพเจ้า ๆ จะคิดอ่านเอาราชสมบัติให้ได้ แลพระเพทราชาก็เห็นด้วยโดยความคิดทุกประการ แล้วหลวงสรศักดิ์ก็กราบลาไปยังบ้าน ส่วนพระเพทราชาก็จัดแจงตระเตรียมผู้คนเครื่องสาตราวุธทั้งปวงพร้อมเสร็จ แล้วก็ส่งไปยังบ้านหลวงสรศักดิ์ แล้วก็ไปว่าราชการอยู่ณตึกพระเจ้าเหาพร้อมด้วยท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลาย ประชุมกันอยู่ที่นั้นทุกเพลาเช้าเย็นเปนนิจกาลมิได้ขาด.

ขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่ณพระที่นั่งสุธาสวรรย์ แลพระโรคนั้นก็กำเริบมากขึ้น จะเสวยพระกระยาหารก็ไม่ได้ เกือบใกล้จะสวรรคตอยู่แล้ว แลหลวงสรศักดิ์คิดการนั้นด้วยหลวงทรงบาศกรมช้างขวาผู้หนึ่งเปนที่ไว้ใจได้ ครั้นเห็นพอจะทำการได้แล้ว จึ่งให้หาทแกล้วทหารทั้งหลายแลรามัญพวกสมิงพระตบะประมาณสามร้อยเศษมาพร้อมกันแล้วจึงสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงชวนกันไปลับอาวุธ แล้วจงแยกย้ายกันไปซุ่มอยู่ทางนั้นทางนั้นพร้อมกันแต่เวลาชายแล้วสามนาฬิกา แล้วจงทำอุบายเอาอาวุธซ่อนเข้าไปในพระราชวังให้จงได้ จงทำอย่าให้นายประตูเขาสงไสย ถ้าเราเข้าไปณตึกพระเจ้าเหาสักครู่หนึ่งแล้ว ท่านทั้งหลายจงรีบเข้าไปในที่นั้นให้พร้อมกัน แล้วจงเอาอาวุธพาดเข้าไปตามช่องประตูน่าต่างตึกนั้นแลแวดล้อมเราอยู่โดยรอบ คนทั้งหลายรับคำก็ไปทำตามถ้อยคำทุกประการ แล้วคิดอ่านเอาอาวุธซ่อนเข้าไปได้ในพระราชวัง แล้วก็แยกกันคอยอยู่ในที่อันสมควรมิให้ผู้อื่นสงไสย ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ใช้ทนายให้เข้าไปดูท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายซึ่งประชุมกันอยู่ณตึกพระเจ้าเหานั้นมาพร้อมแล้วฤๅประการใด แลทนายก็เข้าไปยังตึกพระเจ้าเหา เห็นท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายมาสิ้นแล้ว ยังไม่มาแต่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ผู้เดียว ก็กลับเอาเหตุนั้นมาแจ้งแก่หลวงสรศักดิ์ หลวงสรศักดิ์ได้แจ้งเหตุนั้นแล้วจึงว่า ทำไมแก่อ้ายฝรั่งนั้น มันไม่มาก็แล้วไปเถิด เพลาชายแล้วสามนาฬิกา หลวงสรศักดิ์ก็ตกแต่งกายที่จะให้มีอำนาจ เสร็จแล้วก็เข้าไปในพระราชวัง แวดล้อมด้วยทหารร่วมใจสิบหกคน แลให้ทนายคนสนิทผู้หนึ่งถือดาบตามเข้าไปด้วย ครั้นเข้าไปณตึกพระเจ้าเหาแล้ว ก็นั่งที่ใกล้พระเพทราชา ยกมือไหว้บิดา แล้วจึงว่าขึ้นท่ามกลางขุนนางทั้งปวงว่า บัดนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่แล้ว ถ้าแลพระองค์เสด็จสวรรคตไซ้ ตัวเราเปนพระราชโอรส จะเอาราชสมบัติ ท่านทั้งหลายจะเข้าด้วยเราฤๅไม่ ให้เร่งบอกออกมา ถ้าผู้ใดไม่เข้าด้วยเรา ๆ ก็จะประหารชีวิตรผู้นั้นเสีย ขณะเมื่อหลวงสรศักดิ์ว่าขึ้นดังนั้น ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งหลายก็มาพร้อมกันสิ้น แลเอาอาวุธพาดเข้าไปตามช่องประตูน่าต่างตึกนั้นโดยรอบ บ้างก็ถืออาวุธไปในตึกนั้นเปนอันมาก ส่วนท้าวพระยาพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำหลวงสรศักดิ์ว่าดังนั้น แลเห็นผู้คนถืออาวุธเปนอันมาก ก็ตกใจกลัวยิ่งนัก แลจะคิดอ่านประการใดก็เห็นไม่ได้ ด้วยการนั้นจู่เอามิทันรู้ตัว กลัวความตายก็ต้องนิ่งอยู่ มิรู้ที่จะโต้ตอบประการใด บ้างก็ยอบกายถวายบังคมเปนอันมาก หลวงสรศักดิ์เห็นดังนั้นก็จับดาบขึ้นกวัดแกว่างแล้วก็ร้องคุกคามสำทับไปว่า คนทั้งหลายนี้ไฉนจึงนิ่งอยู่เล่า จะเข้าด้วยเราฤๅหาไม่ ให้เร่งว่ามา ถ้าผู้ใดไม่เข้าด้วยเรา ๆ ก็จะฟันเสียบัดนี้ ส่วนท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายเห็นดังนั้นก็ยิ่งสดุ้งตกใจกลัวความตายยิ่งนัก ต่างคนต่างถวายบังคมลงพร้อมกันแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอเข้าด้วยพระองค์ทั้งสิ้น แลจะขอเปนข้าทำราชการอยู่ในใต้ลอองธุลีพระบาทสืบไป หลวงสรศักดิ์เห็นขุนนางทั้งปวงอยู่ในอำนาจสิ้นแล้ว ก็เข้าไปถวายบังคมพระเพทราชาผู้เปนบิดา แลรับพระโองการแล้วมอบเวนสมบัติถวายแก่พระเพทราชานั้น ฝ่ายท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายก็รับพระบัณฑูรแก่หลวงสรศักดิ์ แลอัญเชิญขึ้นประดิษฐานณที่มหาอุปราช ในขณะนั้น จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการณที่มหาอุปราชก็ใช้ให้ทนายไปอาราธนาพระพุทธรูปพระคัมภีร์ปริยัติธรรมณเรือน แลให้ไปนิมนต์พระสงฆ์คามวาสีแลราชาคณะมาด้วยพร้อมกัน แล้วก็ถวายนมัสการพระรัตนไตรยาธิคุณสุนทรภาพด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วให้ขุนนางทั้งนั้นกินน้ำพิพัฒสัตยาถวายสาบาลตามโบราณราชประเพณีเสร็จทุกประการ จึงพระเพทราชาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ให้เจ้าพระยาสุรสงครามเปนผู้รับสั่งให้ไปหาตัวเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เข้ามา ถ้าสำเร็จราชการแล้ว เราจะเลี้ยงให้ถึงขนาด แลเจ้าพระยาสุรสงครามก็สั่งให้ทนายออกไปหาตัวเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ณบ้านว่า มีพระราชโองการให้หา ครั้นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ได้แจ้งก็เข้าใจในเหตุทั้งนั้นแลจึงถามว่า ใครเปนผู้รับสั่ง ทนายก็บอกว่า เจ้าพระยาสุรสงครามเปนผู้รับสั่ง เจ้าพระยาวิไชเยนทร์จึงว่า เจ้าพระยาสุรสงครามให้หาเราไป บัดนี้ ประดุจเขียนด้วยมือแลจะมาลบด้วยเท่าเล่า ด้วยเจ้าพระยาสุรสงครามมีคุณูปการแก่เราเปนอันมาก ได้ชุบย้อมมาแต่เดิมนั้น แลกลับจะมาทำลายคุณเสียดังนี้ ก็มิควรยิ่งนัก ถ้าเราจะเข้าไป บัดนี้ ดีร้ายจะมีไภยอันตรายเปนมั่นคง แลทนายก็เตือนว่า พระราชโองการให้หาเปนการเร็ว เจ้าพระยาวิไชเยนทร์มิอาจขัดพระราชโองการได้ ก็ตกแต่งกายแล้วขึ้นเสลี่ยง มีบโทนแลทนายแห่น่ามาจนเข้าประตูพระราชวังนั้น ส่วนหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการณที่มหาอุปราช เมื่อให้ไปหาตัวเจ้าพระยาวิไชเยนทร์นั้น ก็กะเกณฑ์ทแกล้วทหารให้ไปอยู่ประจำรักษาทุกป้อมประตูรอบพระราชวังทั้งปวง แลให้ปิดประตูเสีย อย่าให้ผู้ใดเข้าออกแปลกปลอมได้ ให้ตรวจตราระวังระไวเปนกวดขันทุกตำบล แล้วก็จัดแจงทแกล้วทหารให้ไปคอยเจ้าพระยาวิไชเยนทร์อยู่ทางประตูจะเข้ามา ถ้าเข้ามาแล้วจงฆ่าเสีย ครั้นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์เข้ามาถึงในประตูพระราชวัง คนซึ่งไปคอยอยู่สองข้างประตูนั้นก็เอาไม้พลองตีเอาเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ตกลงจากเสลี่ยง แล้วประหารจนสิ้นชีวิตรนั้น แลพวกเจ้าพระยาวิไชเยนทร์นั้น ครั้นเห็นนายเปนเหตุแล้ว ก็ตกใจกลัว ต่างคนต่างวิ่งหนีกระจัดพลัดพรายไปสิ้น จึงพระเพทราชาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็พาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรอยู่ณพระที่นั่งสุธาสวรรย์ แลถวายบังคมแล้วกราบทูลถามพระอาการซึ่งทรงพระประชวรนั้น แล้วก็กราบทูลแถลงกิจนานุกิจราชการทั้งปวงซึ่งได้ว่ากล่าวบังคับบัญชานั้นเสร็จสิ้นทุกประการ แล้วบังคมทูลพระกรุณาว่า ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตไซ้ ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษาราชสมบัติไว้ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังหลัง สมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังพระเพทราชากราบทูลดังนั้น ก็เข้าพระไทยในกิริยาแห่งพระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์อันคิดการเปนขบถนั้น ก็ทรงพระพิโรธ แลทรงจับเอาพระแสงดาบซึ่งวางอยู่ข้างที่ แล้วเสด็จลุกยืนขึ้นได้ด้วยสามารถ พระองค์ทรงพระพิโรธเปนกำลัง มีพระราชโองการตรัศว่า อ้ายสองคนพ่อลูกนี้คิดการเปนขบถ พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปประหารชีวิตรพระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์ ก็มิอาจสามารถจะเสด็จพระราชดำเนินไปได้ ด้วยทรงพระประชวรหนักทุพลภาพอยู่แล้ว ทั้งพระกายก็สั่น จะเสด็จดำรงพระองค์มิได้ ก็ล้มลงในที่นั้น พระแสงดาบทรงนั้นก็ตกจากพระหัดถ์ แล้วมีพระราชดำรัศว่า เทพยเจ้าผู้บำรุงรักษาพระบวรพุทธสาสนา จงไว้ชีวิตรเราอิกสักเจ็ดวัน จะขอดูหน้าอ้ายขบถสองคนพ่อลูกนี้ให้จงได้ ขณะนั้น พระเพทราชาแลหลวงสรศักดิ์ก็กลับลงมาจากพระที่นั่งสุธาสวรรย์แล้วก็เข้าใจว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จสวรรคตในวันนี้เปนแท้อยู่แล้ว จึงแต่งคนสนิทให้เอาเรือเร็วลงไปยังกรุงเทพพระมหานคร แลให้ทูลอัญเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอไภยทศซึ่งเสด็จอยู่ณพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลังว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักอยู่แล้ว แลบัดนี้ มีพระราชโองการให้อัญเชิญเสด็จขึ้นไปเฝ้าณเมืองลพบุรีเปนการเร็ว ผู้รับสั่งก็เอาเรือเร็วรีบลงไปยังกรุงเทพพระมหานครในวันนั้น.

ส่วนสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จำเดิมแต่เสด็จล้มลง เพลานั้นพระโรคก็กำเริบมากขึ้น จึงมีพระราชดำรัศให้หาบรรดาชาวที่ชาววังซึ่งเปนข้าหลวงเดิมประมาณสิบห้าคนเข้ามาเฝ้าในพระมหาปราสาทที่นั่งสุธาสวรรย์ที่เสด็จทรงพระประชวรอยู่นั้นแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัศว่า บัดนี้ อ้ายสองคนพ่อลูกมันคิดการเปนขบถ ฝ่ายเราก็ป่วยทุพพลภาพหนักอยู่แล้ว เห็นชีวิตรจะไม่ตลอดไปจนสามวัน แลซึ่งท่านทั้งหลายจะอยู่ในฆราวาสนั้น เห็นว่า อ้ายขบถพ่อลูกมันจะฆ่าเสียสิ้น อย่าอยู่เปนคฤหัศถ์เลย จงบวชในพระบวiพุทธสาสนาเอาธงไชยพระอรหัตเปนที่พึ่งเถิด จะได้พ้นไภย จึงดำรัศให้ไปเบิกเอาไตรจีวรพระคลังศุภรัตมาพอครบตัวกัน แลมีพระราชโองการตรัศให้ไปอาราธนาพระสงฆราชาคณะเข้ามาประมาณยี่สิบรูปในเพลานั้น แล้วดำรัศว่า นิมนต์พระผู้เปนเจ้าทั้งหลายจงนำเอาคนเหล่านี้ออกไปอุปสมบทบวชเปนพระภิกขุภาวในพระพุทธสาสนาด้วยเถิด จึงพระสงฆราชาคณะทั้งหลายถวายพระพรว่า ซึ่งอาตมทั้งปวงจะนำเอาอุบาสกเหล่านี้ออกไปอุปสมบทณอารามนั้น เห็นว่า ผู้ซึ่งประจำรักษาประตูพระราชวังนั้นจะห้ามมิให้ออกไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแล้วโทมนัศในพระไทยเปนกำลัง แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยทรงพระประชวรหนักเปนอาสันทิวงคตอยู่แล้ว จำเปนจำอยู่ในบังคับพระเพทราชา จึงมีพระราชดำรัศว่า ถ้ากระนั้น นิมนต์พระผู้เปนเจ้าทั้งปวงให้อุปสมบทบวชคนเหล่านี้ในปราสาทของโยมนี้เถิด จะได้ฤๅมิได้ แลพระสงฆราชาคณะทั้งหลายถวายพระพรว่า ถ้าแลพระราชสมภารเจ้าทรงพระราชอุทิศพระมหาปราสาทถวายเปนพระวิสุงคามสิมาแก่พระสงฆ์แล้ว อาตมภาพพระสงฆ์ทั้งปวงควรจะให้อุปสมบทกรรมได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตพระราชอุทิศถวายที่พระมหาปราสาททั้งสองแลจังหวัดพระราชวังทั้งปวงเปนวิสุงคามสิมาแก่สงฆ์ เสร็จแล้วมีพระราชดำรัศว่า นิมนต์พระผู้เปนเจ้าทั้งหลายกระทำซึ่งสังฆกรรมทั้งปวงเถิด จึงพระสงฆราชาคณะทั้งหลายก็ไปอุปสมบทบวชบรรดาข้าหลวงเดิมทั้งปวงเปนพระภิกษุภาวณพระที่นั่งธัญญมหาปราสาท เสร็จแล้วก็ให้โอวาทโดยสมณกิจ แล้วพระสงฆราชาคณะแลพระภิกษุบวชใหม่ทั้งหลายก็ถวายพระพรลากลับไปยังพระอาราม ขณะนั้น บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็ไปมั่วสุมอยู่ณพระเพทราชา จะได้มีผู้ใดผู้หนึ่งนำพาในฝ่าลอองธุลีพระบาทนั้นหามิได้ ยังแต่พระปีย์ผู้เดียวปฏิบัติรักษาประคองพระองค์ลุกนั่งอยู่ แลพระปีย์คนนี้เปนบุตรขุนไกรสิทธิศักดิ์ชาวบ้านแก่ง ทรงพระกรุณาเอามาเลี้ยงไว้ในพระราชวังแต่ยังเยาว์ ให้มีนางนมพี่เลี้ยงประดุจลูกหลวง แลพระปีย์นั้นมีพรรณสัณฐานต่ำเตี้ย ทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย แลพระปีย์กอปรด้วยสวามิภักดินอนอยู่ปลายฝ่าพระบาทคอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งอยู่ ครั้นรุ่งเพลาเช้า พระปีย์ลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้าณประตูกำแพงแก้ว จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการณที่มหาอุปราชสั่งให้ขุนพิพิธรักษาชาวที่ผลักพระปีย์ตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว แลพระปีย์ร้องขึ้นได้คำเดียวว่า ทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย พอขาดคำลง คนทั้งหลายก็กุมเอาตัวพระปีย์ไปประหารชีวิตรตายในขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังเสียงพระปีย์ร้องขึ้นมาดังนั้น ตกพระไทย ความอาไลยในพระปีย์ ดำรัศว่า ใครทำอะไรกับอ้ายเตี้ยเล่า แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในเพลาวันนั้น เปนวันพฤหัศบดี เดือนห้า แรมสามค่ำ ศักราช ๑๐๔๔ ปีจอ จัตวาศก[1] พระบาทบรมนารถนารายน์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระชัณษาวอก จัตวาศก แรกเสด็จเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๒๕ พระพรรษา เสด็จดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้ ๒๖ พระพรรษา ขณะสวรรคตณพระที่นั่งสุธาสวรรย์มหาปราสาท สิริพระชนม์ ๕๑ พระพรรษา.


  1. ปีสมเด็จพระนารายน์สวรรคต ตามที่จดไว้ในหนังสือพงษาวดารนี้ผิด ที่จริงอิก ๖ ปีจึงสวรรคตเมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมโรง จุลศักราช ๑๐๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๑ กรกฎาคม คฤศต์ศักราช ๑๖๘๘. (ด.ร.)