พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 5

แผ่นดินสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา)

ส่วนผู้ถือรับสั่งซึ่งลงไปยังกรุงเทพพระมหานครนั้นก็ไปกราบทูลเจ้าฟ้าอไภยทศ[1] เสร็จสิ้นทุกประการ แลเจ้าฟ้าอไภยทศมิทันทราบในการอันเปนคุยห์รหัศ สำคัญพระไทยว่าจริง พี่เลี้ยงกราบทูลว่า อยู่แต่พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ แลซึ่งเสด็จขึ้นไปครั้งนี้จงระมัดระวังพระองค์จงหนัก เจ้าฟ้าอไภยทศทรงพยักเอา แล้วก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งเร่งขึ้นไปณเมืองลพบุรี ครั้นไปถึงวัดพระพรหม ตำบลปากน้ำโพสพ ก็เสด็จแวะเรือขึ้นหาพระพรหมครูครู่หนึ่งแล้วนมัสการลา ก็เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งรีบขึ้นไปยังเมืองลพบุรี ก็ให้ประทับเรือพระที่นั่งเข้าณฉนวนประจำท่า พอสมเด็จบรมราชบิดาสวรรคตเสียก่อนแล้วน่อยหนึ่ง จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการที่มหาอุปราชก็ให้ข้าหลวงไปกุมเอาพระองค์เจ้าฟ้าอไภยทศไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ณตำบลวัดทราก เสร็จแล้วจึงสมเด็จพระเพทราชาธิราชเจ้าก็เสด็จขึ้นเสวยสวรรยาธิปัตยถวัลยราชดำรงพิภพสิมาอาณาจักรสืบไป จึงทรงพระกรุณาจัดแจงตั้งแต่งข้าหลวงเดิมทั้งหลายเปนขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเปนอันมากโดยสมควรแก่ความชอบ เสร็จแล้วก็พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควรแก่ถานานุศักดิ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้บรรดาท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงถือน้ำพระพิพัฒสัตยาถวายสาบาลตามโบราณราชประเพณี เสร็จแล้วก็ให้กระทำพระราชพิธีปราบดาภิเศกเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดให้หลวงสรศักดิ์ซึ่งเปนบรมโอรสาธิราชขึ้นประดิษฐานณที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขณะนั้น ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายเฝ้าพร้อมมูลอยู่สิ้น ยังขาดอยู่แต่พระยาหุเซ่งข่านผู้เดียว แลพระยาหุเซ่งข่านคนนี้ ขณะเมื่อสมเด็จพระนารายน์ผู้เปนเจ้าทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น หาอยู่ไม่ มีกิจธุระออกไปอยู่ณบ้านป่า ครั้นรู้ว่า เสด็จสวรรคตแล้ว แลราชสมบัติได้แก่พระเพทราชา ก็ตกใจกลัว รีบเข้ามาณเมืองลพบุรี แลเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัศถามว่า พระยาหุเซ่งข่านไปไหนพึ่งมา พระยาหุเซ่งข่านกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจธุระออกไปอยู่บ้านป่า หาอยู่ไม่ ครั้นทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต แลพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็รีบกลับเข้ามาเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาทกระทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษให้ซึ่งมิได้มาทันนั้น แล้วดำรัศให้พระยาหุเซ่งข่านถือน้ำพระพิพัฒสัตยาตามธรรมเนียม จึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ดำรัศให้เจ้าพนักงานจัดแจงการอันจะเชิญพระบรมศพใส่ในพระโกษฐ เสร็จแล้วก็มีพระราชกำหนดแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายให้ตระเตรียมการโดยตำแหน่งพนักงานทั้งปวงให้พร้อมไว้ อิกเจ็ดวันจะเสด็จพระราชดำเนินลงไปยังกรุงเทพพระมหานคร แล้วทรงพระกรุณาให้พระโหราหาฤกษ์ ครั้นถึงวันอันได้มหาพิไชยฤกษ์แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็อัญเชิญพระบรมโกษฐลงสู่เรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชยอันอำไพด้วยเสวตรมยุรฉัตรบังรวิวรบังแทรกไสวแห่แหนไปโดยลำดับชลมารควิถีลงไปยังกรุงเทพพระมหานครก่อน แล้วดำรัศให้เทเอาครัวอพยพข้าทูลละออองธุลีพระบาทแลสมณพราหมณาจารย์ทั้งหลายตามเสด็จลงไปทั้งทางบกทางเรือ แลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงสู่เรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมานอันอลังการด้วยเครื่องศิริราโชประโภคทั้งปวงพร้อมเสร็จ แวดล้อมด้วยเรือพระราชวงศานุวงษ์เสนาพฤฒาตย์ราชครูปโหริตบัณฑิตยชาติข้าทูลลอองธุลีพระบาทรายเรียงเปนขนัดโดยขบวนแห่น่าหลังคั่งคับท้องแถวนทีธาร แลให้ขยายพยุหบาตราคลาเคลื่อนจากเมืองลพบุรีล่องลงมายังพระมหานครศรีอยุทธยา ถึงประทับเรือพระที่นั่งณฉนวนประจำท่าพระราชวังหลวง ก็เสด็จขึ้นสู่พระราชวัง ทรงพระกรุณาสั่งให้อัญเชิญพระบรมโกษฐขึ้นประดิษฐานไว้ณพระที่นั่งสุริยามรินทร์มหาปราสาท แล้วดำรัศให้เจ้าพนักงานกะเกณฑ์ทำพระเมรุมาศแลการในพระราชวังในพระนครทั้งปวง แล้วมีพระราชโองการตรัศสั่งพระมหาราชครูปโรหิตาจารย์ให้จัดแจงการพระราชพิธีปราบดาภิเศกณกรุงเทพพระนครอิกครั้งหนึ่งเล่าให้เปนสองครั้ง.

ครั้นถึงวันพฤหัสบดี เดือนสิบ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีจอ จัตวาศก เพลาเช้าแล้วสี่นาฬิกาสี่บาท ได้มหามงคลสวัสดีอุดมฤกษ์ พร้อมด้วยท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขลูกขุนข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายประชุมกันณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท กระทำพระราชพิธีปราบดาภิเศกอัญเชิญสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นผ่านพิภพสวรรยาธิปัตยถวัลยราชณกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยาโดยโบราณราชประเพณี แลการพระราชพิธีปราบดาภิเศกทั้งปวงนั้นเหมือนครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง แล้วถวายพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดมบรมจักรพรรดิเจ้าพิภพกรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศมหาสถาน ขณะเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ห้าสิบหกพระพรรษา จึงมีพระราชดำรัศให้มีการมหรศพสมโภชพระนครสามวันแล้ว ๆ ทรงพระกรุณาให้ตกแต่งสถลมารควิถีรอบพระนคร ปักราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ธงไชยธงประฎากเปนระยะกันไป แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องศิริราชวิภูษณาภรณ์แล้วเสร็จ เสด็จทรงพระราชยานอลังการด้วยเครื่องสูงไสว ไพโรจน์ด้วยปี่กลองชะนะแตรสังข์ คับคั่งด้วยพลแห่แหนแน่นหนั่นเปนขนัด โดยกระบวนพยุหบาตราน่าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ ก็เสด็จประทักษิณเลียบพระนครแล้วเสร็จ ก็เสด็จกลับคืนยังพระราชวัง.

ขณะนั้น ส่วนพระญาติวงษ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายซึ่งอยู่ณบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี แจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ผ่านพิภพแล้ว ต่างคนต่างก็ชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงชวนกันหามัจฉมังษา แลผลตาลแก่อ่อน สิ่งของต่าง ๆ ตามมีประสาชนบทประเทศบ้านนอก นำเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เหล่าพระญาติวงศานุวงษ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้ามาในพระราชวังโดยทางประตูมหาโภคราชข้างท้ายสระ แลให้ยับยั้งอยู่ในพระราชวังใกล้พระราชนิเวศมหาสถาน แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้เข้ามาเฝ้าถวายสิ่งของทั้งปวง แลพระญาติวงศานุวงษ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเปนชาวชนบทประเทศมิได้รู้จักพิดทูลตามขนบธรรมเนียมประการใดไม่ เคยพูดจาแต่ก่อนอย่างไร ก็พูดจาพิดทูลอย่างนั้น แลว่า ตูข้าทั้งหลายรู้ว่า นายท่านได้เปนเจ้า ก็ยินลากยินดียิ่งนัก ชวนกันเข้ามาเพื่อจะชมบุญนายท่าน แลซึ่งตายายผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้น ๆ พ่อแม่อีนั่นอ้ายนั่นป่วยเจ็บอยู่ เข้ามาไม่ได้ ๆ ฝากแต่สิ่งของอันนั้นเข้ามาให้กำนันนายท่านด้วย ส่วนข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายได้ฟังดังนั้นจึงห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่าเรียกว่านาย พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินแล้ว แลท่านทั้งหลายอย่าพูดจาเพดทูลดังนี้มิสมควรยิ่งนัก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวล ดำรัศว่า คนเหล่านี้มันเปนชาวบ้านนอก เคยชำนาญพูดจามาแต่ก่อนอย่างนั้น เรามิได้ถือ อย่าห้ามมันเลย แล้วทรงพระกรุณาให้วิเสทตกแต่งโภชนาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำ แลพวกพระญาติวงษ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายได้รับพระราชทานโภชนาหารมีรศอันอร่อยต่าง ๆ บางคนเปนนักเลงสุรา ก็กราบทูลว่า นายท่าน ตูข้าอยากกินสุรา ก็ทรงพระกรุณาให้เอาสุรามาพระราชทานให้บริโภค ครั้นได้รับพระราชทานแล้วก็เมาสุรา บ้างร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อยแลเพลงไก่ป่าต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวล แล้วมีพระราชดำรัศให้เจ้าจอมเถ้าแก่นำเอาพระญาติวงษ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้าไปเที่ยวชมในพระราชวังข้างในแลพระราชมณเฑียร แลพระญาติวงษาแลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้าไปเที่ยวชมในพระราชวังข้างในแลบนพระราชมณฑียร แลพระญาติวงษ์ข้าหลวงเดิมทั้งหลายได้เห็นเครื่องศิริราชสมภารอันงามวิเศษต่าง ๆ แลนางพระสนมอันมีศิริรูปอันงามกอปรด้วยเครื่องอลังการนุ่งห่มงามต่าง ๆ ต่างคนต่างสรรเสริญเปนอันมาก แลชมพระราชกฤษฎาธิการว่า นายเรามีบุญยิ่งนัก แลเที่ยวชมบนพระราชมณเฑียรแลจังหวัดพระราชวังทั้งปวงทั่วแล้ว กลับมาเฝ้าถวายบังคม แล้วกราบทูลสรรเสริญโดยได้เห็นทั้งปวงนั้น แล้วทูลถามว่า ค่ำวันนี้ นายท่านจะให้ตูข้าทั้งหลายนอนที่ไหน จึงมีพระราชดำรัศว่า เองทั้งหลายจงนอนอยู่บนพระราชมณเฑียรเถิด แล้วทรงพระกรุณาให้เหล่าพระญาติวงษ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายนอนอยู่บนพระราชมณเฑียรสถาน ครั้นรุ่งเช้า ทรงพระกรุณาให้จัดแจงเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ แล้วก็พระราชทานเงินทองพรรณผ้านุ่งห่มสิ่งของเครื่องศรีสมรศต่าง ๆ เปนอันมากโดยลำดับถานานุรูปถ้วนทุกคน แล้วให้พระราชทานเงินทองสิ่งของทั้งปวงฝากไปให้แก่ผู้ซึ่งไม่ได้มานั้น แลเหล่าพระญาติวงษ์ข้าหลวงเดิมทั้งหลายได้รับพระราชทานสรรพวัตถุทั้งปวงแล้ว ถวายพระพรต่าง ๆ แล้วถวายบังคมลา ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับออกไปอยู่ตามภูมิลำเนาแห่งตนดุจก่อน.

จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศเหนือเกล้าฯ โปรดให้พระอรรคมเหสีเดิมนั้นเปนพระอรรคมเหสีกลาง แลตั้งเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ ซึ่งเรียกว่า พระราชกัลยาณี ซึ่งเปนกรมหลวงโยธาทิพ เปนพระบรมราชภคินีของสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้านั้น เปนพระอรรคมเหสีฝ่ายขวา ตั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเปนพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้านั้น เปนพระอรรคมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งพระราชบุตรีของพระองค์ทรงพระนาม ฉิม เปนลูกสนมนั้น เปนพระแม่อยู่หัวนางพระยา ตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์แก้ว ซึ่งเปนบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์ อันเปนพระราชกนิษฐาของพระองค์นั้น เปนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์ ตั้งนายจบคชประสิทธิศิลป ทรงบาศขวาในกรมช้าง ซึ่งเปนคู่คิดเอาราชสมบัติด้วยนั้น เปนกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลังรับพระบัญชา ตั้งนายกรินทคชประสิทธิ ทรงบาศซ้าย ซึ่งเปนพระราชนัดดา เปนเจ้าราชนิกูลชื่อ เจ้าพระพิไชยสุรินทร ตั้งขุนทิพพลภักดิ เชื้อพระวงษ์ เปนเจ้าราชนิกูลชื่อ เจ้าพระอินทรอไภย แลทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องยศพร้อมตามตำแหน่งถานาศักดิ์ทุก ๆ พระองค์ แลซึ่งเจ้าพระยาสุรสงครามนั้นก็พระราชทานเครื่องยศให้เสมอกับกรมพระราชวังหลัง แลทรงพระกรุณาตั้งนายบุญมาก ข้าหลวงเดิมคนหนึ่ง เปนพระยาวิชิตภูบาล พระราชทานเจียดทอง เต้าน้ำทอง กระบี่บั้งทอง เครื่องยศพร้อม แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปอยู่ณวังจันทร เฉลิมขึ้นเปนพระราชวังบวร แลพระบัญชานั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดให้ไปอยู่ณวังหลัง แลเจ้าพระยาสุรสงครามนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้อยู่ตึกสี่เหลี่ยมบ้านเดิม แลพระราชทานเครื่องสูงสามชั้นให้แห่เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเหมือนกันทั้งสามแห่ง.

อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจะไปเข้าที่พระบรรธมณพระตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพซึ่งตั้งไว้เปนพระอรรคมเหสีฝ่ายขวา กรมหลวงโยธาทิพให้ทูลพระอาการว่า ประชวรอยู่ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปณตำหนักตึกกรมหลวงโยธาเทพซึ่งตั้งไว้เปนพระอรรคมเหสีฝ่ายซ้าย กรมหลวงโยธาเทพไม่ยอม ตรัศตัดพ้อต่าง ๆ แล้วทรงพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับมาพระราชมณเฑียร ทรงพระกรุณาให้หาหมอทำเสน่ห์ ครั้นได้หมอมาแล้ว ก็ให้กระทำตามวิธีเสน่ห์ แลกรมหลวงโยธาเทพก็ให้คลั่งไคล้ใหลหลง ทรงพระกันแสงถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนกำลัง ครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปครั้งหลังจึงยอม แลเสด็จเข้าไปที่พระบรรธมณพระตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพด้วย จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศให้เจ้าพนักงานเร่งทำการพระเมรุมาศซึ่งจะถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าโดยขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นก็ประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณพิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุแทรก แลสาม สร้างเสร็จ แลการพระเมรุมาศนั้นประมาณ ๘ เดือนจึงสำเร็จ.

ครั้นถึงวันเพ็ญ เดือนหก ปีกุญ เบญจศก ได้มหาศุภนักขัตฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้อัญเชิญพระบรมโกษฐลงจากพระมหาปราสาทที่นั่งสุริยามรินทร ประดิษฐานเหนือบุษบกพระมหาพิไชยราชรถอันอลังการด้วยสุวรรณรัตนวิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยเสวตรบวรฉัตรขนัดพระอภิรุมชุมสายพรายพรรณบังพระสุริยันบังแทรกสลอน พลแตรงอนแตรฝรั่งอุโฆษสังข์นี่สนั่น บันฦๅลั่นด้วยศัพทสำเนียงเสียงดุริยางคดนตรีปี่กลองชะนะประโคมครั่นครื้นกึกก้องกาหฬนฤนาท แลรถสมเด็จพระสังฆราชสำแดงพระอภิธรรมกถา แลรถโปรยเข้าตอกดอกไม้ รถโยง รถท่อนจันทน์ แลรูปนา ๆ สัตวจัตุบาททวิบาททั้งหลาย หลังมีสังเค็ดใส่ไตรจีวรเปนคู่ ๆ แห่ดูมโหฬาราดิเรกพันฦก อธึกด้วยพลแห่แหนแน่นหนั่นเปนขนัดโดยขบวนซ้ายขวาน่าหลัง พรั่งพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขลูกขุนข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลาย ล้วนแต่งกายนุ่งผ้าขาวท้องขาวกรวยเชิงใส่ลำพอกเสื้อครุยแวดล้อมพระพิไชยราชรถแลตามไปเบื้องหลังเปนอันมากตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน จึงขยายพยุหบาตราไปโดยรัถยาราชวัตรอันรายรื่นเรี่ยทรายสอาดตา ครั้นพระบรมศพถึงน่าพระที่นั่งจักรวรรดิ จึงทรงพระกรุณาให้ตีฆ้องสัญญาให้หยุดกระบวนแห่ทั้งปวงน่าหลัง แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพัชนีฝักมขามโบกสามทีให้ทิ้งทาน ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ประจำต้นกัลปพฤกษ์ถวายบังคมสามลาแล้วก็ทิ้งทาน ครั้นทิ้งทานแล้วก็ให้ตีฆ้องสัญญาให้ยาตรากระบวนแห่ทั้งปวงไปถึงพระเมรุมาศ จึงเชิญพระบรมโกษฐเข้าประดิษฐานในพระเมรุทอง ทรงพระกรุณาให้มีการมหรศพสมโภชแลดอกไม้เพลิงต่าง ๆ แล้วทรงสดับปกรณ์พระสงฆ์หมื่นหนึ่ง คำรบ ๗ วันแล้วถวายพระเพลิง ครั้นดับพระเพลิงแล้ว แปลงพระรูปสดับปกรณ์พระสงฆ์อิกสี่ร้อยรูป แล้วเก็บพระอัฐิใส่พระโกษฐน้อยอัญเชิญขึ้นพระยานุมาศ แห่เปนขบวนเข้ามายังพระราชวัง จึงอัญเชิญพระโกษฐพระอัฐิเข้าบรรจุไว้ณท้ายจรนำพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชดาราม.

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระราชดำริห์แคลงกรมพระราชวังหลังแลเจ้าพระยาสุรสงคราม ด้วยมีอิศริยยศบริวารยศก็มาก เกรงจะเปนศัตรูแก่ราชสมบัติ จึงเอาคดีอันเปนคุยห์รหัศนั้นมากราบทูลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลอุบายให้เอาถาดทองในพระราชวังลงไปซุ่มซ่อนไว้ณวังหลัง แล้วให้ลูกขุนพิจารณาว่า ถาดทองในพระราชวังมีผู้ร้ายลักเอาไป ครั้นสืบสาวได้ถาดทองณวังหลัง จึงให้ข้าหลวงไปกุมเอากรมพระราชวังหลัง แล้วให้ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขลูกขุนทั้งหลายประชุมกันพิพากษาว่า กรมพระราชวังหลังเปนขบถ ให้สำเร็จโทษเสีย ท้าวพระยาทั้งหลายลงเปนคำเดียวกันดุจพระราชอัธยาไศรย แต่เจ้าพระยาสุรสงครามผู้เดียวมิลงด้วยท้าวพระยาทั้งปวงแล้วว่า ยังมิเห็นสม ขอพระราชทานให้งดไว้ก่อน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศทราบดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ ดำรัศว่า เจ้าพระยาสุรสงครามเปนสมัคพรรคพวกเข้าด้วยผู้คิดมิชอบ ให้จำเจ้าพระยาสุรสงครามเข้าห้าประการ แล้วให้เอากรมพระราชวังหลังไปสำเร็จโทษเสียตามคำพิพากษา แล้วดำรัศปฤกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า ธรรมดาคนที่มีศรัทธาสร้างพระเจดียฐานไว้ในพระพุทธสาสนานั้น ต้องมีร่างร้านเสียก่อน จึงจะก่อขึ้นได้ ครั้นเสร็จการแล้ว ควรจะเอาร่างร้านไว้ฤๅ ๆ จะรื้อร่างร้านเสียประการใด แลท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายกราบทูลพระกรุณาว่า ควรจะรื้อร่างร้านเสีย แลซึ่งจะเอาไว้นั้นหาต้องการไม่ จึงมีพระราชดำรัศสั่งให้ท้าวพระยาผู้ใหญ่ไปบอกแก่เจ้าพระยาสุรสงครามว่า ซึ่งจะอยู่นั้นกีดขวาง หาเปนประโยชน์สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ อย่าอยู่เลย จงก้มหน้าไปหาความชอบในปรโลกเถิด บุตรภรรยานั้นทรงพระกรุณาจะชุบเลี้ยง อย่าวิตก แลให้เอาเจ้าพระยาสุรสงครามไปประหารชีวิตรเสียในเดือนสิบเอ็จ ปีกุญ เบญจศกนั้น แล้วทรงพระกรุณาให้เอาบุตรชายอายุสิบเดือนเข้ามาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง พระราชทานพี่เลี้ยงนามนมให้อภิบาลรักษา แล้วทรงพระกรุณาตั้งขุนองค์มีความชอบ ให้เปนเจ้าพระยาสุรสงครามแทนที่ พระราชทานเครื่องยศให้ตามตำแหน่งถานานุศักดิ์.

ลุศักราช ๑๐๔๖ ปีชวด ฉศก ขณะนั้น เกิดขบถอ้ายทำมเถียน ข้าหลวงเดิมเจ้าฟ้าอไภยทศ เปนจลาจลในจังหวัดแขวงหัวเมืองนครนายก แลอ้ายทำมเถียนกระทำการโกหกติดไฝที่หน้าให้เหมือนเจ้าฟ้าอไภยทศ สำแดงแก่ชาวชนบทประเทศทั้งปวงว่า ตัวเปนเจ้าฟ้าอไภยทศ ซึ่งเอาไปสำเร็จโทษเสียณวัดทราก แขวงเมืองลพบุรีนั้น หาตายไม่ แลชาวชนบทประเทศทั้งหลายที่ไม่รู้จักนั้นสำคัญว่าจริง ก็เชื่อถือเข้าเปนสมัคพรรคพวกขบถทำมเถียนเปนอันมาก แลขบถทำมเถียนขึ้นขี่ช้างพลายกางตัวหนึ่งสูงห้าศอกมีเศษ กับอ้ายคุลาทาษผู้หนึ่งเปนควาญ พาสมัคพรรคพวกยกเข้ามาซ่องสุมคนถึงแขวงเมืองสุระบุรีแลแขวงขุนลคร ได้สมัคพรรคพวกเปนอันมาก ครั้นถึงเดือนสาม ก็ยกมาตั้งอยู่ณพระตำหนักพระนครหลวงประมาณสามวัน แล้วให้คนสนิทลอบลงไปนิมนต์พระพรหมณวัดปากคลองช้างว่า เจ้าฟ้าอไภยทศเสด็จมาอยู่ณพระตำหนักพระนครหลวงได้สามวันแล้ว บัดนี้ รับสั่งให้มานิมนต์พระผู้เปนเจ้าขึ้นไป ครั้นพระพรหมได้แจ้งดังนั้น จึงว่าแก่ผู้ซึ่งมานิมนต์ว่า ถ้าแลลูกกูยังอยู่จริง ไหนเลยจะอยู่แต่ที่พระนครหลวงเล่า ก็จะลงมาถึงนี่ การทั้งนี้หากโกหก หาจริงไม่ สูเจ้าอย่าเชื่อถือ ถ้าแลผู้ใดเชื่อมันถือมัน ผู้นั้นก็จะพลอยตายเสียเปล่าเปนมั่นคง ผู้ซึ่งมานิมนต์ได้ยินดังนั้นก็กลับไปบอกกัน ต่างคนต่างแตกหนีออกเสียเปนอันมาก ที่เชื่อถือยังอยู่นั้นก็มาก ครั้นรุ่งเช้า ขบถทำมเถียนก็ขึ้นขี่ช้างแวดล้อมไปด้วยพวกพลทั้งหลายยกจากพระนครหลวงจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร แลประกาศแก่คนทั้งหลายว่า ตัวกูคือเจ้าฟ้าอไภยทศ จะยกลงไปตีเอาราชสมบัติคืนให้จงได้ แลชาวคามนิคมทั้งหลายได้ยินดังนั้นก็เชื่อฟังถือแท้ว่าเจ้าฟ้าอไภยทศ ต่างคนก็ถือเครื่องสาตราวุธต่าง ๆ ตามมี ที่ไม่มีอาวุธสิ่งใดก็ถือพร้าบ้าง ๆ ก็ได้ประตักแลเคียว แห่ห้อมล้อมช้างขบถทำมเถียนมาเปนอันมาก แลโห่ร้องยกมาทางคลองบ่อโพง จะเข้ามายังพเนียด.

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรเสด็จทรงช้างพระที่นั่งอยู่ณพเนียด ทอดพระเนตรให้จับช้างอยู่ณกลางแปลง มีผู้มีชื่อมากราบทูลว่า พวกอ้ายคิดมิชอบคิดอ่านกันเปนอันมาก บัดนี้ ยกเข้ามาจะตีกรุง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกพระไทย มีพระราชบัณฑูรตรัศให้ตำรวจเอาม้าเร็วรีบออกไปสืบดูอ้ายเหล่าร้ายยกมาถึงไหน แลตำรวจรับสั่งแล้วก็ขึ้นม้าเร็วควบขับรีบไป เห็นพวกอ้ายขบถยกมาถึงตำบลบ่อโพงจะเข้ามาคลองช้าง แล้วเห็นพันไชยธุชอันทำมเถียนตั้งไว้ให้ถือธงขี่กระบือนำน่าพลมาก่อน ตำรวจก็จับเอาตัวไว้ พามาถวายกรมพระราชวัง มีพระบัณฑูรตรัศถามว่า ใครยกมา พันไชยธุชกราบทูลว่า เจ้าฟ้าอไภยทศยกมา จึงตรัศว่า ยกมาก็สู้กัน เราจะกลัวอะไร จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทอดพระเนตรไปแต่พเนียด เห็นอ้ายขบถขี่ช้างยกรี้พลเข้ามาตามท้องทุ่งนั้น จึงมีพระบัณฑูรตรัศใช้ขุนอินทรธิบาลให้เข้าไปกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงตรัศได้ทรงทราบเหตุดังนั้นแล้วก็ตกพระไทย ดำรัศให้ผูกช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬมาเทียบเกย แล้วเสด็จทรงพระคชาธารแวดล้อมด้วยข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายรีบเสด็จขึ้นไปวังน่า แล้วดำรัศให้มหาดเล็กมีชื่อไปเชิญพระแสงขอพลพ่ายอันเปนของพระนเรศวรทรงชนช้างกับมหาอุปราชาอันเก็บไว้นั้นมาว่าจะทรง มหาดเล็กรับพระราชโองการแล้วก็วิ่งมาโรงแสงณพระคลังแสงสรรพยุทธ พระเจ้าแผ่นดินก็รีบเสด็จไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรดำรัศสั่งให้ตระเตรียมกันจะรับที่พเนียด ขณะนั้น เจ้าพระยาธรมาอยู่นั่นด้วย จึงกราบทูลว่า ซึ่งจะตั้งรับที่พเนียดเห็นไม่ชอบกล ขอเชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปรับในกรุงเห็นจะดีกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เห็นชอบด้วย จึงเสด็จเข้ามาในกรุง มิได้เสด็จไปพระราชวัง เสด็จตรงขึ้นไปบนป้อมมหาไชย ดำรัศให้ตรวจจัดรี้พลขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินตรงพระราชวังบวรสถานมงคล ฝ่ายขบถทำมเถียนขับช้างยกรี้พลมาถึงพเนียด มิได้เห็นผู้ใดตั้งรับ แล้วก็ยกเข้ามายืนช้างอยู่ฟากวัดมรฎปตรงรอทำนบน่าพระราชวังบวร จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาอุปราชก็มีพระบัณฑูรตรัศให้เจ้าพนักงานบรรจุปืนใหญ่ณป้อมมหาไชย จะยิงเอาตัวขบถ ครั้นบรรจุแล้วก็ทรงตั้งสัตยาธิฐานว่า ข้าแต่เทพยดาสุรารักษ์อันสิงสู่รักษาปืนใหญ่นี้ ถ้าแลข้าพเจ้าบุญน้อยมิอาจสามารถจะดำรงราชสมบัติไว้ได้ แลจะถึงปราไชยแก่ปัจจามิตรแล้ว แลจะจุดปืนบัดนี้ ขอให้ปืนจงแตกออกต้องข้าพเจ้าให้ถึงแก่ชีวิตรอันตรายเถิด ถ้าแลข้าพเจ้ามีบุญญาภิสังขารบารมีมาก อาจสามารถจะดำรงราชสมบัติในเสวตรฉัตรเฉลิมแผ่นดินสยามประเทศได้ไซ้ ขอให้กระสุนปืนใหญ่ไปตกต้องดัษกรให้พินาศฉิบหายเถิด ครั้นทรงอธิษฐานแล้ว ก็เสด็จทรงรำชุดจุดชนวนปืนใหญ่ แลเพลิงชนวนนั้นมิได้ติดดินดำ ก็ทรงพระปริวิตกสงไสยนัก จึงให้ไขกระสุนดินดำซึ่งประจุไว้นั้นออกมา จึงรู้ว่า ประจุผิด เอากระสุนประจุเข้าก่อน เอาดินดำบรรจุทีหลัง ก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงดำรัศว่า มันเปนพวกอ้ายขบถ จึงให้ประหารชีวิตรผู้บรรจุปืนนั้นเสีย แล้วให้บรรจุปืนใหม่ ทรงรำชุดจุดชนวนอิกครั้งหลัง กระสุนปืนใหญ่นั้นก็ออกไปต้องช้างซึ่งขบถทำมเถียนขี่มานั้น ขบถทำมเถียนก็ตกลงจากช้าง เจ็บป่วยเปนสาหัส ก็หนีไปเร้นอยู่ณวัดทนานป่าเข้าสาร แลสมัคพรรคพวกอ้ายขบถทั้งหลายนั้นแตกฉานหนีไปทุกตำบล จึงมีพระบัณฑูรสั่งให้ข้าหลวงออกไปติดตามเอาตัวอ้ายขบถ แลพวกข้าหลวงได้ตัวอ้ายขบถทำมเถียนแลอ้ายคุลาทาษณวัดนั้นมาถวาย จึงมีพระบัณฑูรตรัศให้ขุนพรหมธิบาลเข้าไปกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระราชบิดาให้ทราบโดยเหตุอ้ายขบถพ่ายแพ้ทุกประการ ส่วนพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จยาตราพระคชาธารมาถึงต้นสพานช้าง พอมหาดเล็กซึ่งไปเชิญพระแสงขอนั้นมาทันเข้าทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงรับพระแสงขอพาดตระพองพระยาสารลง พอขุนพรหมธิบาลมาถึง ถวายบังคม ทูลประพฤดิเหตุทั้งปวงพร้อมกันเข้าที่นั่น ก็ดีพระไทย จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งให้กะเกณฑ์กันไปตามจับสมัคพรรคพวกอ้ายขบถให้ได้จงสิ้นเชิง แล้วเสด็จกลับยังพระราชวัง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรก็ดำรัศให้กะเกณฑ์ข้าหลวงไปติดตามจับกุมสมัคพรรคพวกอ้ายเหล่าร้าย แล้วเสด็จมายังพระราชวังหลวง ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระราชบิดา ถวายบังคมทูลแถลงการณ์ทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ ครั้นได้พรรคพวกอ้ายคิดมิชอบสิ้นเชิงแล้ว ก็ให้ประหารชีวิตรอ้ายขบถทำมเถียนแลพรรคพวกต้นเหตุทั้งปวงนั้นเสียเปนอันมาก ที่เปนแต่ปลายเหตุนั้น ให้จำใส่เรือนตรุแลส่งไปเปนตพุ่นหญ้าช้างนั้นก็มาก ที่แตกหนีเข้าป่าดงไปนั้นก็มาก จนบ้านแขวงเมืองสุระบุรี เมืองลพบุรี แลแขวงขุนลคร ร้างเสียหลายตำบล.

ในขณะเมื่อศักราช ๑๐๔๕ ปีกุญ เบญจศก ล่วงไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแรกเสด็จขึ้นราชาภิเศกเสวยราชสมบัติแลมีพระราชโองการให้หาบรรดาท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งหลายเข้ามาถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒสัตยาทุกหัวเมือง แต่พระยายมราชสังข์ซึ่งไปครองเมืองนครราชสิมาแลพระยารามเดโชซึ่งไปครองเมืองนครศรีธรรมราชครั้งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้านั้นแจ้งว่า พระเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชสมบัติแล้ว แลพระยาทั้งสองก็บังเกิดทิฐิมานะกระด้างกระเดื่องขัดรับสั่ง แขงเมืองอยู่มิได้เข้ามาถวายบังคม ครั้นเมื่อเสร็จการฆ่าพวกอ้ายขบถทำมเถียนแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศปฤกษาด้วยพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรว่า ซึ่งหัวเมืองทั้งสองเปนขบถแขงเมืองอยู่ฉนี้ จะไว้ช้ามิได้ จำจะเกณฑ์กองทัพยกไปตีเสียจึงจะชอบ แต่ทว่า เมืองนครราชสิมาอยู่ใกล้ ควรจะให้ไปตีเสียก่อน ครั้นได้แล้วจึงให้ไปตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชต่อภายหลัง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็เห็นชอบด้วยโดยพระราชบริหารทุกประการ จึงมีพระราชดำรัศสั่งสมุหนายกให้ตระเตรียมรี้พลเครื่องสรรพาวุธไว้ให้สรรพ ขณะนั้น พระยาสีหราชเดโชครั้งสมเด็จพระนารายน์ถึงอนิจกรรมเสียแล้ว แลทรงพระกรุณาตั้งข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเปนพระยาสีหราชเดโชแทนที่แล้ว ดำรัศให้เปนแม่ทัพไปตีเมืองนครราชสิมา แล้วตั้งข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเปนพระยานครราชสิมา ให้เปนกองน่า ถ้าตีได้เมืองนครราชสิมาแล้วให้อยู่รั้งเมือง แล้วดำรัศให้ท้าวพระยาอาสาหกเหล่าทั้งหลายเปนยุกรบัตรเกียกกายกองหลัง แลพลสกรรจ์ลำเครื่องหมื่นหนึ่ง ช้างเครื่อง ๒๐๐ ม้า ๓๐๐ แลเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวแลเสบียงอาหารสำหรับทัพทั้งปวงพร้อมเสร็จ ครั้นถึงวันอันได้มหาพิไชยฤกษ์ในเดือนสี่ ปีชวด ฉศกนั้น จึงพระยาสีหราชเดโช แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลายกช้างม้ารี้พลไปโดยทางเมืองสุระบุรี ฝ่ายพระยานครราชสิมาแจ้งว่า กองทัพกรุงยกขึ้นมาดังนั้น ก็ตรวจจัดรี้พลเครื่องสรรพาวุธทั้งปวงพร้อมสรรพ แล้วแต่งทัพยกลงมาตั้งค่ายรายรับตามรยะทางนั้นเปนหลายตำบล.

ฝ่ายกองทัพพระยาสีหราชเดโชก็ยกขึ้นไปตีค่ายชาวเมืองอันมาตั้งรับนั้น แลได้รบพุ่งกันเปนสามารถ กองทัพชาวนครราชสิมาต้านทานมิได้ ก็แตกฉานไปทุก ๆ ค่าย แลพ่ายแพ้กลับเข้าเมือง กองทัพกรุงตีค่ายรายทางทั้งหลายแตกฉานแล้ว ก็ยกติดตามไปถึงเมือง แลพระยานครราชสิมาก็ตรวจจัดพลทหารขึ้นประจำน่าที่เชิงเทินปราการเมืองโดยรอบ กอปรด้วยเครื่องสรรพยุทธปืนใหญ่น้อยทั้งปวงพร้อมสรรพ แลป้องกันเมืองเปนสามารถ ฝ่ายทัพกรุงก็ยกเข้าตั้งค่ายรายล้อมเมืองนครราชสิมาโดยรอบ แล้วแต่งพลอาสาสามพันยกเข้าป่ายปีนปล้นเอาเมือง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันเปนสามารถ แลพุ่งสาตราวุธปืนใหญ่น้อยระดมออกมาต้องพลอาสาทัพกรุงล้มตายบาดเจ็บเปนอันมาก เห็นจะป่ายปีนเอามิได้ก็ถอยออกมา แต่ยกเข้าปล้นดังนั้นเปนหลายครั้ง ชาวเมืองรบพุ่งต้านทานเปนสามารถ รี้พลล้มตาย จะปล้นเอามิได้ ก็ล้อมแต่มั่นไว้ แต่ตั้งล้อมอยู่เปนหลายเดือน จนเสบียงอาหารก็ขาดลง รี้พลอดอยากซูบผมไข้เจ็บล้มตายเปนอันมาก บ้างหลบหลีกหนีไปจากกองทัพนั้นก็มาก แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายปฤกษากันบอกลงมาถึงสมุหนายกขอกองทัพหนุนขึ้นไปช่วย แลขอกระสุนดินดำแลเสบียงอาหารสำหรับทัพทั้งปวง จึงเจ้าพระยาจักรีกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยใบบอกทั้งปวงนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศได้ทรงฟังทราบประพฤดิเหตุดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธ ดำรัศว่า อ้ายเหล่านี้ ใช้ให้ไปตีเมืองนครราชสิมานิดหนึ่งเท่านั้น ทัพหมื่นหนึ่งยกไป ยังว่าหักเอาไม่ได้ อ้ายเหล่านี้ควรจะเลี้ยงมันได้ฤๅ แล้วดำรัศให้สมุหนายกแต่งข้าหลวงขึ้นไปกุมเอาท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายพันธนาลงมายังกรุงเทพมหานคร ครั้นได้ตัวมาพร้อมแล้ว ก็ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วริบทรัพย์สินเครื่องอัญมณีทั้งปวง แล้วให้ตระเวนบกตระเวนเรือสามวัน แล้วก็ให้ประหารชีวิตรนายทัพนายกองเสียเปนอันมาก แล้วทรงพระกรุณาดำรัศสั่งอรรคมหาเสนาธิบดีให้เกณฑ์กองทัพขึ้นไปตีเมืองนครราชสิมาใหม่เล่า แลให้เจ้าพนักงานซึ่งไปเบิกดินดำในตึกดินเอาจอบตัดตุ่มเพนียงซึ่งใส่ดินอันผนิดไว้นั้นขึ้น ก็เปนประกายเพลิงกระเด็นลงในดินดำ ๆ นั้นก็วูบขึ้นเปนอันหนึ่งอันเดียว แลเทือกดินนั้นมาก มีกำลังมาก ก็โชติขึ้นทำลายทัพสัมภารแห่งตึกนั้นพังลง แล้วหอบหุ้มขึ้นบนอากาศแตกไปโดยทิศน้อยแลทิศใหญ่ เสียงกึกก้องสนั่นหวั่นไหวกัมปนาทพระธรณีดุจเสียงมหาอสนีบาต ต้องชาวพระนครล้มตายเจ็บป่วยได้ทุกขเวทนานั้นเปนอันมาก แลได้ลูกแลดินนั้นก็น้อย จึงเกณฑ์กองทัพแต่ห้าพันสรรพด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธแลเสบียงอาหารทั้งปวงแล้วก็ยกขึ้นไป ครั้นถึงเมืองนครราชสิมาแล้ว ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ดุจครั้งก่อน แลพระยานครราชสิมาก็ตรวจจัดแจงรี้พลขึ้นอยู่ประจำรักษาน่าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเปนสามารถ ทัพกรุงยกเข้าแหกหักเปนหลายครั้ง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันทั้งกลางวันกลางคืนไม่ย่อหย่อน ทัพกรุงแหกหักเอาไม่ได้ ก็ตั้งล้อมมั่นไว้ แต่ทัพกรุงยกไปเคี่ยวขับทำสงครามด้วยชาวนครราชสิมาทั้งสองครั้งประมาณสองปีเศษ ชาวเมืองไม่ได้ทำนาสิ้นสองเทศกาลมาแล้ว เสบียงอาหารก็กันดารลง ไพร่พลเมืองอดอยากซูบผอมล้มตายเปนอันมากนัก บ้างยกครัวหนีออกจากเมืองนั้นก็มาก แต่ทว่า พระยายมราชเจ้าเมืองนี้มีฝีมือเข้มแขง ตั้งเคี่ยวขับต้านทานอยู่มิได้แตกฉาน.

อนึ่ง ท้าวกรงกันดาลอู่ซึ่งเปนโทษถอดเสียนั้นหนีขึ้นไปอยู่ในเมืองนครราชสิมาด้วย แลท้าวพระยานายทัพนายกองซึ่งตั้งล้อมอยู่นั้นก็ปฤกษากันเห็นว่า จะแหกหักเอามิได้ ด้วยชาวเมืองรบพุ่งต้านทานแขงเมืองอยู่ จึงคิดกลอุบายเปนหลายอย่าง แลให้ทำลูกปืนกลยิงไปตกลงแล้วก็สงบอยู่ ต่อเพลิงติดลามเข้าไปถึงดินเร็วจึงแตกออกถูกผู้คนล้มตาย อุบายอันหนึ่งนั้น ให้ผูกว่าวจุฬาใหญ่ชักขึ้น แล้วเอาหม้อดินผูกแขวนสายป่านอันใหญ่หย่อนเข้าไปในเมือง แลจุดเพลิงชนวนล่ามไว้ ครั้นเพลิงชนวนติดถึงดินแล้ว ให้ตกลงไหม้ในเมือง แลอุบายอันหนึ่งนั้น ให้เอาเพลิงอังแพลมผูกลูกธนูยิงระดมเข้าไปเผาเมือง ครั้นจัดแจงแต่งการทั้งปวงนั้นพร้อมแล้ว เพลากลางคืนดึกประมาณสามยาม ก็ให้ยิงปืนกล ชักว่าวจุฬา แลยิงธนูระดมเข้าไปพร้อมกัน แล้วแต่งพลอาสาหนุนเข้าไปปล้นเอาเมือง ฝ่ายชาวเมืองต้องปืนกลนั้นก็มาก ด้วยประมาทอยู่ มิได้เคยพบเคยเห็นมาแต่ก่อน แลหม้อดินซึ่งผูกว่าวจุฬาแลลูกธนูผูกเพลิงอังแพลมนั้นก็ตกลงติดหลังคาเรือนทั้งปวงในเมืองนั้น เพลิงติดรุ่งโรจโชตนาการไหม้ไปทุกหนทุกแห่ง ชาวเมืองมิอาจอยู่รักษาน่าที่เชิงเทินนั้นได้ ต่างคนต่างก็ละน่าที่เสีย วิ่งระส่ำระสายไปเปนอลหม่าน บ้างเสียเข้าของล้มตายแลลำบากเวทนาอยู่นั้นก็มาก ก็เสียเมืองแก่ทัพกรุง ๆ เข้าเมืองได้ ไล่จับผู้คน หาสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ แลตัวพระยานครราชสิมานั้นพาท้าวทรงกันดาล ครอบครัว บุตร ภรรยา ทแกล้วทหารทั้งปวง แหกหนีออกไปจากเมืองแต่ในกลางคืน หาได้ตัวไม่ กองทัพได้เมืองนครราชสิมาแล้ว ก็แต่งหนังสือบอกลงมาถึงสมุหนายกให้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศทราบประพฤดิเหตุนั้นแล้ว ก็ดำรัศให้มีตราตอบขึ้นไปยังกองทัพว่า ให้จัดแจงตั้งแต่งผู้รั้งกรมการอยู่รักษาเมืองให้ราบคาบเปนปรกติ แล้วให้เลิกทัพกลับมายังพระมหานครเถิด ครั้นท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายได้แจ้งในท้องตราดังนั้นแล้ว ก็ทำตามพระราชกำหนดขึ้นไปนั้นทุกประการ ครั้นเสร็จแล้ว ก็เลิกทัพกลับลงมายังกรุงเทพมหานคร แลขึ้นเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลแถลงโดยอันได้คิดอ่านทำการปล้นเอาเมืองนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานรางวัลแก่ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงเปนอันมากโดยลำดับถานานุศักดิ์.

ลุศักราช ๑๐๔๗ ปีฉลู สัปตศก ขณะนั้น สมเด็จพระอรรคมเหษีฝ่ายขวากรมหลวงโยธาทิพทรงพระครรภ์กำหนดถ้วนทศมาศ ก็ประสูตรพระราชโอรสกอปรด้วยศิริรูปเปนอันดี พระราชวงศานุวงษ์ทั้งหลายถวายพระนามชื่อ เจ้าพระขวัญ แลเมื่อวันประสูตรเพลากลางคืนนั้นแผ่นดินไหวเปนอัศจรรย์ ครั้นทรงวัฒนาขึ้นมา คนทั้งหลายนับถือมาก ด้วยเปนพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า เปนวงษ์กระษัตริย์อันประเสริฐ แลคนทั้งหลายเข้าสวามิภักดิ์เปนข้าใต้ฝ่าพระบาทเปนอันมาก แต่ปีกุญ เบญจศกแล้วนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริห์ว่า ที่บ้านหลวงตำบลป่าตองนั้นเปนที่มงคลศิริราชฐานอันประเสริฐ สมควรจะสร้างเปนพระอารามมีพระอุโบสถวิหารการเปรียญพระเจดียฐานกำแพงแก้วแลกุฎีสงฆ์ศาลาสพานเว็จกุฎีพร้อม แล้วทรงพระกรุณาให้หมื่นจันทราช่างเคลือบทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงพระอุโบสถวิหารทั้งปวง แลการสร้างพระอารามนั้นสามปีจึงสำเร็จในปีขาล อัฐศก แล้วพระราชทานนามบัญญัติพระอารามชื่อ วัดพระบรมพุทธาราม ตั้งเจ้าอธิการชื่อ พระญาณสมโพธิ ราชาคณะคามวาสี ครองพระอาราม แลทรงพระกรุณาให้มีการฉลองแลมีการมหรศพสามวัน แลทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เปนอันมาก แลพระราชทานเลกข้าพระไว้อุปถากพระอารามก็มาก แล้วถวายพระกัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม.

ในศักราช ๑๐๔๘ ปีขาล อัฐศกนั้น กรมการเมืองไชยาบอกข้อราชการเข้ามาถึงกรมพระกระลาโหม ในลักษณนั้นว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเปนขบถ แขงเมือง แลซ่องสุมผู้คนเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก จะยกเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายตวันตกทั้งปวง ได้หัวเมืองทั้งปวงแล้วจะยกเข้าไปทำร้ายกรุง อนึ่ง นายสังข์ยมราชเจ้าเมืองนครราชสิมาซึ่งหนีไปได้นั้น พาสมัคพรรคพวกออกไปตั้งอยู่ณพรมแดนเมืองนครศรีธรรมราชแลแขวงไชยาต่อกัน แลคิดการขบถเข้าด้วยเจ้าพระนครศรีธรรมราชอิก ตั้งซ่องสุมชาวนอกทั้งปวง แลผู้คนเข้าเกลี้ยกล่อมนายสังข์ยมราชนั้นก็มากก จึงเจ้าพระยาโกษาธิบดีนำเอาข้อราชการนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศทราบเหตุดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธ ดำรัศว่า อ้ายสองคนนี้องอาจนัก จะไว้มันมิได้ ควรจะแต่งทัพใหญ่ยกไปทั้งทางบกทางเรือปราบปรามมันเสียจึงจะชอบ อันอ้ายขบถสองคนนี้มันไม่พ้นเงื้อมมือเรา แม้นได้ตัวแล้ว จะสับมิให้กากลืนแค้น แล้วมีพระราชดำรัศสั่งสมุหกระลาโหมให้ตรวจเตรียมช้างม้าเครื่องสรรพยุทธทั้งปวงแลเรือรบเรือไล่เรือลำเลียงเสบียงอาหารให้พร้อมไว้ทั้งทางบกทางเรือ แล้วมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัศเหนือเกล้าฯ สั่งให้พระยาสุรสงครามเปนแม่ทัพหลวง พระสุรเสนาเปนยุกรบัตร พระยาเพ็ชรบุรีเปนเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปนกองน่า พระยาราชบุรีเปนทัพหลัง ถือพลสกรรจ์ลำเครื่อง ๑๐๐๐๐ ช้างเครื่อง ๓๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง ยกไปทางบก ฝ่ายทัพเรือนั้นให้พระยาราชบังสรรเปนนายกอง เรือรบ ๑๐๐ ลำ เรือชเล ๑๐๐ ลำ พลรบพลแจว ๕๐๐๐ ยกไปทางชเลทัพหนึ่ง แลให้ทัพบกทัพเรือยกไประดมตีเอาเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นถึงวันอันได้มหาพิไชยฤกษ์ จึงพระยาสุรสงคราม พระยาราชบังสรร แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลายกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชโดยลำดับสถลมารคชลมารค ไปพร้อมทัพกันณเมืองไชยาบุรี แลแม่ทัพบกเกณฑ์เอาผู้รั้งกรมการเมืองชุมพร เมืองไชยา ถือพลหัวเมืองทั้งปวงเข้ามาบรรจบทัพยกไปด้วย แล้วกำหนดไปแก่กองทัพเรือให้ยกทัพออกจากเมืองไชยาพร้อมกัน แลกองทัพบกยกไปถึงพรมแดนเมืองไชยาแลเมืองนครศรีธรรมราชต่อกันซึ่งนายสังข์ยมราชตั้งอยู่นั้น ก็เข้าล้อมไว้ในเพลากลางคืน แลนายสังข์ยมราชมิรู้ตัว ไม่ทันที่จะจัดแจงต้านทานไว้ให้มั่นคง ต้องจำเปนจำรบพุ่ง ผู้คนทแกล้วทหารมิทันพร้อมเพรียงกัน ระส่ำระสายไปเปนอลหม่าน แลนายสังข์ยมราชมีฝีมือเข้มแขง ถือพลทหารออกแหกหักจะออกมา ทัพกรุงต่อรบต้านทานไว้เปนสามารถ แล้วเข้ารุมตีขนาบเปนหลายกอง พวกนายสังข์ยมราชน้อยตัวเหลือกำลังแหกออกมิได้ ก็แตกฉานล้มตายเปนอันมาก แลตัวนายสังข์ยมราชหนีไปมิพ้น กับทหารร่วมใจ ๗ คน ๘ คนด้วยกันก็ยืนประจันรบพุ่งอยู่จนตายในที่รบสิ้น ทัพกรุงได้ไชยชำนะแลได้เชลยพวกนายสังข์ยมราชนั้นก็มาก ก็ยกล่วงแดนเมืองนครศรีธรรมราชเข้าไป.

ส่วนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแจ้งว่า ทัพกรุงยกออกมาทั้งทัพบกทัพเรือ แลเสียนายสังข์ยมราชแก่ทัพบกดังนั้น ก็เสียใจ จึงแต่งทัพบกทัพเรือยกไปรบพุ่งต้านทานไว้ให้หย่อนกำลังศึกลงก่อน แล้วก็กวาดเอาครอบครัวอพยพบ้านนอกทั้งปวงแลเสบียงอาหารเข้าไว้ในเมืองเปนอันมาก แล้วตกแต่งปราการป้อมต้ายค่ายคูประตูหอรบปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสร็จ แลจัดแจงบ้านเมืองบำรุงทแกล้วทหารไว้คอยต้านทานรบพุ่งทัพกรุงเปนสามารถ.

ฝ่ายทัพเรือพระยาราชบังสรรยกไปทางชเลล่วงเข้าแดนเมืองนครศรีธรรมราชก่อนทัพบก ได้ยุทธนาการด้วยทัพเรือเมืองนครศรีธรรมราชในกลางชเล แลทัพเมืองนครศรีธรรมราชต่อรบต้านทานเปนสามารถ ทัพเรือฝ่ายกรุงจะหักเอามิได้ ก็ทอดสมอรอยิงกันอยู่เปนหลายวัน เสียงปืนใหญ่สนั่นครั่นครึกกึกก้องสเทือนท้องมหรรณพนทีดุจเสียงมหาวาตะพยุใหญ่ ถ้อยทีมิได้ไชยชำนะแก่กัน ส่วนทัพบกนั้นก็ยกไปประทะทัพเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งค่ายรับอยู่เปนหลายค่ายก ก็ยกเข้าโจมตี ได้ยุทธนาการด้วยชาวนครศรีธรรมราช ๆ รบพุ่งต้านต่อเปนสามารถจนถึงอาวุธสั้น ทัพกรุงหักเอามิได้ ก็ตั้งค่ายรายล้อมอ้อมโอบค่ายชาวนครศรีธรรมราชเข้าไว้ แลได้ต่อยุทธนาการกันหลายวันหลายเพลา แลกองทัพเมืองนครเห็นทัพกรุงมีฝีมือเข้มแขง จะรับไว้มิอยู่ ก็แหกหนีออกจากค่ายแต่ในกลางคืน ทัพกรุงไล่ติดตามไปในทันที ทัพเมืองนครมิได้รอรับ วิ่งกระจัดพลัดพรายพ่ายหนีไปเปนอลหม่านไม่เปนตำบลสนธยา เสียพลช้างม้าเครื่องสาตราวุธแก่ทัพกรุงเปนอันมาก ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายทั้งนายแลไพร่นั้นก็มาก ก็รุดทัพหนีไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ฝ่ายทัพกรุงได้ไชยชำนะ จับได้ช้างม้าคนเชลยอาวุธต่าง ๆ เปนอันมาก ก็ยกติดตามไป ครั้นแจ้งว่า ทัพเรือชาวเมืองนครต้านทานอยู่เปนสามารถ เข้ายังมิได้ ก็ยกกองทัพลงไปช่วยตีกระหนาบสกัดหลังทางชายชเล แลทัพเรือเมืองนครถูกทัพกระหนาบน่ากระหนาบหลังเสียรี้พลล้มตายมาก ทานมิได้ ก็แตกฉานพ่ายหนีแลชักใบแล่นกลับไปโดยทิศานุทิศทั้งปวง กองทัพกรุงได้ไชยชำนะ ก็ยกเข้าล้อมเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกันทั้งทัพบกทัพเรือแลตั้งค่ายรายล้อมไปรอบเมือง ฝ่ายพระยารามเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นเสียทัพบกทัพเรือแก่ข้าศึกดังนั้นก็เสียใจ จึงจัดทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินโดยรอบกอปรด้วยเครื่องสรรพยุทธป้องกันเมืองเปนสามารถ แล้วแต่งทัพออกไปตีข้าศึก แลได้รบกันทุกวัน ๆ มิได้ขาด จนรามือกันลงแล้ว นัดกันแต่งทหารชำนาญดาบโล่ห์ ดาบดั้ง ดาบสองมือ ให้ออกรำสู้กันตามกระบวนเพลงตัวต่อตัวเปนหลายครั้ง แต่ทัพกรุงกับชาวนครศรีธรรมราชตั้งเคี่ยวขับทำสงครามกันมาช้านานประมาณถึงสามปี ถ้อยทีมีฝีมือเข้มแขง มิได้มีไชยแลปราไชยแก่กัน แลพลซึ่งรักษาน่าที่แลพลค่ายล้อมร้องเพลงถ้อกันไปมาต่าง ๆ ฝ่ายทัพกรุงมีเรือลำเลียงเข้าเสบียงอาหารส่งกันอยู่มิได้ขาด เลี้ยงรี้พลมิได้อดอยากซูบผอมแลบริบูรณ์อยู่สิ้น กำลังศึกแขงมืออยู่ ฝ่ายในเมืองสิ้นเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยากซูบผอมล้มตายมาก กำลังศึกก็ถอยลง แลมิอาจจะยกออกมาต่อตีนอกเมืองได้ ก็รักษาแต่มั่นไว้ แลกองทัพกรุงเห็นชาวเมืองกำลังศึกถอยลง ก็แต่งพลอาสา ๒๐๐๐ ยกเข้าถอนขวากหนามข้ามคูเข้าไปเอาบันไดพาดป่ายปีนปล้นเอาเมือง แลพระยารามเดโชเจ้าเมืองมายืนให้พลทหารรบพุ่งป้องกันเปนสามารถ แลพุ่งสาตราวุธแหลนหลาวยิงปืนใหญ่จ่ารงค์มณฑกนกสับระดมออกไปดังห่าฝน ต้องพลอาสาทัพกรุงล้มตายบาดเจ็บมาก แลจะปล้นเอามิได้ ก็พ่ายออกไป จึงแม่ทัพใหญ่ให้ทำทุบทูบังตัวกันอาวุธยกเข้ามาปล้นอิกเล่า แลขุดอุโมงค์รุ้งเข้ามาใกล้เชิงกำแพงเมือง ชาวเมืองพุ่งสาตราวุธมิได้ถูกต้อง จึงพระยารามเดโชเจ้าเมืองก็แต่งพลทหารออกทลวงฟันข้าศึกซึ่งขุดอุโมงค์เข้ามานั้น แลได้ต่อยุทธนาถึงอาวุธสั้นประจันจู่โจมฟันพลอาสาทัพกรุงล้มตายมาก เห็นจะทำการมิได้ก็กลับไป แลบรรดาขุนนางกรมการทั้งหลายในเมืองนครเอาใจลงด้วยพระยารามเดโชเปนขบถแขงเมืองสิ้นทั้งนั้น ช่วยกันตรวจตรารักษาน่าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเปนกวดขัน มิได้คิดอ่านเอาใจออกหากแลประนีประนอมกันอยู่สิ้น จึงพระยารามเดโชก็ปฤกษาด้วยขุนนางกรมการทั้งปวงว่า ซึ่งทัพกรุงยกออกมาตีเมืองเราบัดนี้ ได้ยกเข้ามาปล้นหลายครั้ง ทำมิได้ ก็ระอามือเราอยู่ แลศึกเราได้ที จะไว้ช้ามิได้ ควรจะยกออกไปตีให้แตกฉานพ่ายไปเสียจึงจะชอบ แลขุนนางกรมการทั้งปวงก็เห็นด้วย จึงให้จัดแจงพลทหารที่มีฝีมือเข้มแขงประมาณ ๓๐๐๐ ล้วนถืออาวุธสั้น แลพระยารามเดโชก็ยกพลทหารออกจากเมืองแต่ในเวลากลางคืน แลขับพลทหารเข้าไปปล้นค่ายข้าศึก แลพลทัพกรุงซึ่งรักษาน่าที่ล้อมก็รู้ตัว ก็สาดปืนไฟใหญ่น้อยยิงระดมออกมา แล้วยกออกมาจากค่าย ได้ทลวงฟันพลทหารชาวเมืองนคร ๆ ก็ยืนยันประจัญบานต่อยุทธโห่อึงอุตม์เอาไชย รี้พลล้มตายทั้งสองฝ่าย แต่ทว่า พวกชาวเมืองตายมากกว่าประมาณสองเท่า แลพระยารามเดโชเห็นจะเอาไชยชำนะมิได้ ก็พ่ายกลับเข้าเมือง แต่ยกออกปล้นค่ายดังนี้เปนหลายครั้ง เสียรี้พลทแกล้วทหารก็มาก จะตีให้แตกฉานมิได้ ก็รักษามั่นไว้ บรรดาไพร่พลเมืองทั้งหลายอดอยากอาหารซูบผอมมาก แลล้มตายเปลืองไปทุกวัน ๆ แลเสบียงอาหารเปียกแว้งเลี้ยงกันไปก็สิ้นมือลง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชก็เศร้าใจ เห็นจะรักษาเมืองไว้มิได้ด้วยขัดเสบียงอาหาร จะแต่งออกลาดหากินนอกเมืองก็ไม่ได้ด้วยข้าศึกตั้งล้อมไว้โดยรอบ มิรู้ที่จะคิดอุบายถ่ายเทเลย จึงคิดว่า ซึ่งกูจะอยู่ในเมืองให้พวกประทุษฐร้ายแผ่นดินจับได้อย่าสงไสย ก็จะหนีไปให้รอด แต่อุบายซึ่งจะหนีไปนั้น เห็นจะเอาธุระก็แต่พระยาราชบังสรรซึ่งเปนแม่ทัพเรือออกมานั้น ด้วยเปนสหายเพื่อนรักกันมาแต่ก่อน เห็นจะเสียกันมิได้ จะช่วยแก้ไขให้ไปรอด จึงแต่งหนังสือลับให้คนสนิทไว้ใจถือลอบออกไปถึงพระยาราชบังสรรเปนใจความว่า หนังสือเราพระยารามเดโชมาถึงสหายเราพระยาราชบังสรร ด้วยเราทั้งสองเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวแห่งเรามาด้วยกัน แลเปนสหายรักคู่ชีวิตรจิตใจ ได้ศุขทุกข์ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนเปนอันมาก แลครั้งเมื่อทรงพระกรุณาดำรัศใช้ให้ไปตีเมืองลาว เมืองละว้า แลตีพม่าซึ่งยกตามมอญเข้ามาตั้งณเมืองไชยโยคนั้น แลเราทั้งสองก็เปนคู่ทุกข์คู่ยาก ได้ทำราชการงานสงครามเอาไชยซำนะมาทูลเกล้าฯ ถวายด้วยกันก็หลายครั้ง แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดปรานพระราชทานยศศักดิ์ชุบเลี้ยงเราทั้งสองถึงขนาด แลเมื่อพระองค์ทรงพระประชวรนั้น มีทาษปรปักษ์ กล่าวคือ พระเพทราชา แลหลวงสรศักดิ์ สองคนพ่อลูก ละน้ำพิพัฒสัจจาเสีย คิดอ่านทำการขบถช่วงชิงเอาราชสมบัติ แลเสนาบดีทั้งปวงในกรุงมิได้มีผู้ใดช่วยคิดอ่านทำการกำจัดศัตรูราชสมบัติเสียได้ แลพระองค์ทรงพระโทมนัศจนเสด็จสวรรคต แลราชสมบัติก็ได้สิทธิแก่พระเพทราชา แล้วให้หาท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลายเข้าไปถวายบังคม ฝ่ายเราขัดแขงอยู่มิได้เข้าไปนั้น ใช่ว่าตัวเราจะเปนขบถต่อแผ่นดินนั้นหามิได้ เหตุว่าเราคิดกระตัญญูในพระผู้เปนเจ้าของเราซึ่งเสด็จสวรรคตนั้น จึงมิได้เข้าไปอ่อนน้อมยอมตัวเปนข้าผู้ประทุษฐร้ายแผ่นดิน ประการหนึ่ง ก็เกิดมาเปนชายชาติทหารคนหนึ่ง ก็มีทิฐิมานะอยู่บ้าง ที่ไม่เคยกลัวเกรงนบนอบไซ้ก็ไม่นบนอบ ถือตัวอยู่ตามประเพณีคดีโลกยวิไสย จึงมีศึกยกมาติดเมืองเรา แลทัพกรุงกับเราได้ทำยุทธนาการสงครามกันมาช้านาน ใช่ว่าทแกล้วทหารแห่งเราจะเข็ดขามคร้ามฝีมือศึกพลทหารกรุงนั้นหามิได้ ก็พอสู้รบกันได้อยู่ แลบัดนี้ ฝ่ายเราหย่อนกำลังลงด้วยขัดเสบียงอาหาร จำเปนจำแพ้ ด้วยออกลาดหากินมิได้ เห็นจะรักษาเมืองไว้เปนอันยาก เราไม่สู้รบแล้ว จะหนีไปจากเมือง แลซึ่งจะแหกออกนั้น อย่าคิดเลยว่าค่ายล้อมทัพกรุงจะทานฝีมือเราได้ คงเราจะแหกออกไปได้ไม่ขัดสน แต่ทว่า จะไปมิตลอด ด้วยไม่มีนาวาที่จะไป แลซึ่งเราจะไปได้รอดจากชีวิตรอันตรายครั้งนี้ก็เพราะสหายเราจะเอาธุระเรา แลสหายเราจงคิดถึงความทุกข์ความยากด้วยกันมาแต่หลังครั้งเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งเรามาด้วยกันนั้น แลจงได้เมตตาการุญภาพอนุเคราะห์แก่เราครั้งนี้เถิด ช่วยจัดแจงเรือรบไว้รับน่าท่าสักลำหนึ่ง ในสามวันเราจะแหกออกโดยค่ายล้อมด้านสหายเรา แลลงเรือได้แล้วก็จะลาสหายหนีไปตามยถากรรมของเรา ครั้นพระยาราชบังสรรแจ้งในหนังสือนั้นแล้ว ก็คิดถึงความหลังซึ่งได้เปนสหายรักแลเปนเพื่อนทุกข์ยากมากมาแต่ก่อนนั้น ก็มีจิตรคิดเมตตาแก่พระยารามเดโชยิ่งนัก ด้วยเปนชาติแขกด้วยกัน แล้วก็เข้าใจว่า การนี้ลับอยู่ มิได้มีผู้ใดรู้เห็น ก็จัดแจงเรือรบไว้รับณน่าท่าลำหนึ่ง แล้วเขียนหนังสือลับเปนใจความว่า ซึ่งธุระของสหายเราประสงค์นั้น เราก็จัดแจงไว้พร้อมแล้ว จงรีบออกมาโดยเร็วเถิด อย่าให้เนิ่นช้า การจะเอิกเกริกไป เราจะได้ความผิด แล้วส่งหนังสือให้ผู้ถือออกมานั้นกลับเข้าไปแจ้งแก่พระยารามเดโช ๆ ได้แจ้งแล้วก็มีความยินดีนัก จึงสั่งทหารร่วมใจทั้งหลายห้าสิบเศษให้ตระเตรียมตัวให้พร้อมไว้ ครั้นค่ำลง พระยารามเดโชกับทหารร่วมใจทั้งหลายก็ไล่ฆ่าฟันบุตรภรรยาญาติแลขุนนางกรมการทั้งหลายตายสิ้นตามประเพณีวิไสยแขก ไม่สู้ จะหนีแล้ว ก็ย่อมฆ่ากันเสียสิ้น มิให้ข้าศึกได้ไปเปนเชลย แลพระยารามเดโชคนนี้มีวิชาการดี มีฝีมือก็เข้มแขง แลคอยดูฤกษ์ ครั้นได้ฤกษ์ดีแล้ว แลตัวพระยารามเดโชก็ถือดาบสองมือนำน่า พลทหารทั้งหลายห้าสิบเศษล้วนถือดาบสองมือด้วยกันสิ้น เปิดประตูกรูกันออกจากเมืองในเพลากลางคืน แล้ววิ่งเข้าจู่โจมโรมรุกบุกบั่นฟันปีกกาค่ายล้อมด้านริมแม่น้ำที่พระยาราชบังสรร แลพลอาสาจามซึ่งรักษาค่ายล้อมทั้งหลายนั้นก็ระดมปืนไฟใหญ่น้อยยิงแย้งออกมาเปนโกลาหล แลพระยารามเดโชกับพลทั้งหลายเปนคนดีมีวิชา อาวุธมิได้ถูกต้อง แลมิได้ย่นย่อท้อถอย ก็แหกหักค่ายปีกกาพังลงได้ ก็ไล่ทลวงจ้วงฟอนฟันพลอาสาจามทั้งหลายล้มตายแลลำบากเปนอันมาก พลค่ายล้อมทั้งหลายทานฝีมือมิได้ก็แยกออกให้ พระยารามเดโชกับพลทหารทั้งหลายก็ไล่ฟาดฟันฝ่าพลทัพกรุงแหวกเปนช่องออกได้ มิได้มีผู้ใดต้านทาน ก็พาพลทหารกรูกันลงได้ในเรือรบซึ่งพระยาราชบังสรรจัดแจงจอดไว้รับณน่าท่านั้น แล้วออกเรือไปถึงชเล ชักใบแล่นออกไปยังมหาสมุท แล่นหนีไปยังเมืองแขก ทัพกรุงก็เข้าเมืองได้ ไล่จับผู้คนเก็บสิ่งของทั้งปวง แลนายทัพนายกองทั้งหลายแจ้งว่า ตัวขบถแหกหักออกไปได้น่าที่พระยาราชบังสรร แล้วได้เรือรบแล่นหนีไป แลพระยาราชบังสรรมิได้จัดแจงทัพเรือไปติดตามให้ทันที ละให้ตัวขบถหนีไปพ้น เห็นผิดอยู่ จึงเอาคดีนี้ไปแจ้งแก่พระยาสุรสงครามแม่ทัพหลวง ๆ ได้แจ้งดังนั้นก็พิจารณาสืบสาวไต่สวนไล่เลียง แลการนั้นมิมิด ก็ได้เนื้อความว่า พระยารามเดโชเจ้าเมืองนครสอดหนังสือลับออกไปถึงพระยาราชบังสรร ๆ รู้กันกับผู้คิดมิชอบ จัดแจงเรือรบไว้ให้ นัดหมายให้ออกมา แสร้งส่งตัวขบถให้หนีไปพ้น ครั้นไล่เลียงเปนสัตย์แท้แล้ว ก็ให้จำพระยาราชบังสรรเข้าห้าประการ แล้วบอกหนังสือเข้าไปณกรุงเทพมหานคร สมุหพระกระลาโหมกราบทูลพระกรุณาโดยเหตุทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศทราบประพฤดิเหตุดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแก่พระยาราชบังสรรยิ่งนัก ดำรัศว่า มันเปนพวกอ้ายขบถ แล้วให้มีตราตอบออกไปยังกองทัพว่า ให้สืบสาวเอาพวกรู้เห็นทั้งปวงได้แล้ว ก็ให้เอาตัวพระราชบังสรรแลพรรคพวกรู้เห็นทั้งหลายตระเวนสามวัน แล้วให้ประหารชีวิตรแลตัดศีศะเสียบไว้ประตูเมืองนครศรีธรรมราช อย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่างสืบไปภายน่า แล้วให้จัดแจงตั้งแต่งนายทัพนายกองผู้ใดซึ่งมีฝีมือเข้มแขงมีความชอบมากให้อยู่ครองเมืองแลจัดแจงบ้านเมืองอาณาประชาราษฎรทั้งหลายให้ราบคาบเปนปรกติดี แล้วก็ให้เลิกทัพกลับมายังกรุงเทพมหานครเถิด ครั้นท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายได้แจ้งในท้องตราดังนั้นแล้ว ก็กระทำดุจพระราชกำหนดออกไปนั้นทุกประการ แล้วตั้งแต่งผู้รั้งกรมการอยู่รักษาเมือง แลไว้อาณาประชาราษฎรช้างม้าเครื่องสาตราวุธสิ่งของทั้งหลายสำหรับเมืองพอสมควร แล้วเลิกกองทัพบกกองทัพเรือ กวาดคนเชลยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธสิ่งของทั้งหลายกลับเข้ามายังกรุงเทพมหานคร แล้วขึ้นเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวกราบทูลโดยเหตุทั้งปวง แล้วถวายช้างม้าคนเชลยแลสิ่งของทั้งหลายซึ่งตีได้นั้นเปนอันมากโดยสมควรแก่ความชอบนั้น.

ลุศักราช ๑๐๔๙ ปีเถาะ นพศก สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัศให้ช่างพนักงานจัดการสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่งในพระราชวังข้างใน ครั้นเสร็จแล้ว พระราชทานนามบัญญัติมหาปราสาทชื่อ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ เปนสี่ปราสาทด้วยกันทั้งเก่าสาม คือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ องค์หนึ่ง พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท องค์หนึ่ง พระที่นั่งสุริยามรินทร์ องค์หนึ่ง แล้วให้ขุดสระเปนคู่อยู่ซ้ายขวาพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ แล้วให้ก่ออ่างแก้วแลภูเขามีท่ออุทกธาราไหลลงในอ่างแก้วนั้นที่ริมสระคู่พระมหาปราสาทนั้น แลให้ทำระหัดน้ำณอ่างแก้วริมน้ำ ฝังท่อให้น้ำเดินเข้าไปผุดขึ้นณอ่างแก้วริมสระนั้น แลให้ทำพระที่นั่งทรงปืนณท้ายสระเปนที่เสด็จออก กลับเอาที่ท้ายสนมเปนที่ข้างน่า แลให้ทำศาลาลูกขุนในซ้ายขวา แลโปรดให้ขุนนางเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณพระที่นั่งทรงปืน แลเข้าทางประตูมหาโภคราช.

ลุศักราช ๑๐๕๐ ปีมโรง สำเรทธิศก ขณะนั้น สมเด็จพระอรรคมเหษีฝ่ายซ้ายกรมหลวงโยธาเทพทรงพระครรภ์กำหนดถ้วนทศมาศ ประสูตรพระราชโอรสกอปรด้วยศิริวรรณลักษณ์เปนอันดี พระญาติวงศานุวงษ์ทั้งหลายก็ถวายพระนามว่า ตรัศน้อย แต่สมเด็จบรมราชบิดาตรัศเรียกว่า สำมยัง ในปีมโรง สำเรทธิศกนั้น ทรงพระกรุณาให้ต่อกำปั่นใหญ่ลำหนึ่ง แลให้ทูตานุทูตคุมเครื่องราชบรรณาการออกไปจำเริญทางพระราชไมตรีณกรุงฝรั่งเศสเหมือนเมื่อพระยาโกษาปานออกไปครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าก่อนนั้น ถึงปีมเมีย โทศก ทูตานุทูตกลับเข้ามาแต่เมืองฝรั่งเศส คุมเอาสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ เปนอันมากซึ่งพระเจ้ากรุงทมิฬเสตประเทศทรงตอบแทนมานั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งราชทูตเปนเจ้าพระยาพระคลังตามโบราณประเพณีเยี่ยงอย่างมาแต่ก่อน.

ในเดือนหก ปีมเมีย โทศก ศักราช ๑๐๕๒ นั้น มีหนังสือบอกกรมการเมืองสวรรคโลกลงมาถึงสมุหนายกว่า นายบุญเกิดคล้องนางช้างเผือกได้ณป่าแขวงเมืองสวรรคโลก สูงสี่ศอกมีนิ้ว สรรพด้วยคชลักษณงามบริบูรณ์ จึงเจ้าพระยาจักรีนำเอาข้อราชการสารเสวตรกริณีนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้น ก็ทรงพระปราโมทย์ยิ่งนัก จึงดำรัศให้พระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลายขึ้นไปรับเสวตรกริณีลงแพขนานมีเรือแห่แหนตามบุรพประเพณี ล่องลงมายังพระมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระกรุณาให้เทียบแพขนานเข้าณพเนียด ให้นำนางช้างเผือกขึ้นประทับอยู่ณโรงสมโภชตำบลพเนียด แลให้มีการมรศพสมโภชสามวัน แล้วนำลงเรือขนาน มีเรือคู่ชักแห่แหนเปนขบวนเข้ามายังพระนคร แลให้นำนางเสวตรคเชนทรขึ้นไว้ณโรงยอดในพระราชวัง แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานขนานนามกรชื่อ พระอินทไอยราพต คชบดินทร์ วรินทรเลิศฟ้า แลนายบุญเกิดซึ่งคล้องต้องนั้นก็พระราชทานชื่อเปน ขุนอินทคชประเสริฐ แลพระราชทานขันทองหนัก ๓ ตำลึง เงินตราหนึ่งชั่ง เสื้อผ้าสามสำรับ แลพระราชทานตราภูมคุ้มห้ามส่วยสัดพิกัดอากรขนอนตลาดทั้งปวงสิ้น แลทรงพระกรุณาโปรดให้ไปทำกินอยู่ตามภูมิ์ลำเนาดุจแต่ก่อน.

ในปีมเสงก่อนนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริห์ถึงคุณพระอาจารย์อธิการวัดพระยาแมนซึ่งได้ถวายพยากรณ์ไว้ว่าจะได้เสวยราชสมบัติแต่ยังทรงผนวชเปนภิกขุภาวะอยู่ณวัดพระยาแมนนั้น แลพระผู้เปนเจ้าทำนายแม่นนัก แล้วได้ให้โอวาทานุสาสน์ในสมณกิจทั้งปวง มีพระคุณมาก ควรจะทำสนองพระคุณให้ถึงขนาด ครั้นทรงพระราชดำริห์แล้ว เพลาเช้าก็เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งไปยังวัดพระยาแมน ครั้นถึง ประทับเรือพระที่นั่งณสพาน แล้วเสด็จขึ้นยังพระอาราม ถวายนมัสการพระอาจารย์ด้วยสักกัจจเคารพแล้ว ก็ดำรัศซึ่งการจะสร้างพระอารามให้ถาวรขึ้นกว่าเก่า แลพระผู้เปนเจ้าให้อนุญาตแล้วก็เสด็จกลับยังพระราชวัง มีพระราชดำรัศสั่งอรรคมหาเสนาบดีให้กะเกณฑ์กันไปสร้างวัดพระยาแมน แลการสร้างพระอารามนั้นสองปีเศษจึงสำเร็จในปีมแม ตรีนิศก แล้วทรงพระกรุณาให้มีการฉลองแลมีการมหรศพสมโภชต่าง ๆ แลมีโจนร่มด้วย คำรบสามวันแล้ว ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เปนอันมาก แลไว้ข้าพระสำหรับอุปฐากพระอารามนั้นก็มาก แลถวายพระกัลปนาขึ้นพระอารามตามธรรมเนียม แล้วทรงพระกรุณาตั้งพระอาจารย์อธิการวัดพระยาแมนชื่อ พระศรีสัจญาณมุนี ราชาคณะคามวาสี ถวายเครื่องสมณบริกขารพร้อมตามศักดิ์พระราชาคณะทุกประการ.

ในศักราช ๑๐๕๓ ปีมแม ตรีนิศกนั้น ณวัน ค่ำ นักเสด็จเฒ่าซึ่งครองกรุงกัมพุชประเทศให้ทูตานุทูตถือศุภอักษรเข้ามาถึงอรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ในลักษณนั้นว่า กองช้างณกรุงกัมพูชาธิบดีไปโพนช้าง คล้องต้องนางช้างเผือกสูงสามศอกคืบมีนิ้ว สรรพด้วยคชลักษณงามบริบูรณ์ แลพระเจ้ากรุงศิริยโสธรนครอินทปรัตกุรุรัฐราชธานีขอถวายนางศรีเสวตรคเชนทรชาติฉันทันต์ตัวประเสริฐมาเปนพระบรมอรรคราชพาหนแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระนั่งเกล้าเปนที่พึ่งพำนักสืบไป แลจะขอพระราชทานเชิญข้าหลวงกรมช้างออกไปรับเข้ามา จึงสมุหนายกนำเอาลักษณอักษรพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบสิ้นทุกประการ สมเด็จพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศทราบเหตุดังนั้นก็ทรงพระโสมนัศ ดำรัศให้พระราชทานเสื้อผ้าแก่ทูตานุทูตคนละสำรับ แล้วดำรัศให้ข้าหลวงสามนายแลกรมช้างออกไปด้วยทูตานุทูต แลให้รับนางช้างเผือกเข้ามาณกรุงโดยระยะสถลมารควิถี หยุดยั้งประทับร้อนแรมมาอย่าให้อิดโรยเปนเหตุการได้ แลข้าหลวงสามนายกับกรมช้างทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลาออกไปยังกรุงกัมพูชาธิบดีด้วยทูตานุทูตอันมานั้น ครั้นถึงกรุงกัมพูชาประเทศ เสนาบดีก็นำข้าหลวงเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ๆ ก็ตรัศพระราชปฏิสันถารเปนอันดี แลให้เลี้ยงดูเหล่าข้าหลวงมิให้อดอยากได้ แล้วให้พระยาพระเขมรสามนายคุมเอานางช้างเผือกไปด้วยข้าหลวงซึ่งออกมารับนั้น แลข้าหลวงสามนายกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี แล้วก็พานางเสวตรกุญชรออกจากกรุงกัมพุชประเทศกับด้วยพระยาพระเขมรสามนายนั้น แลเดินทางประทับร้อนแรมรอรั้งยั้งหยุดมาโดยลถสมารควิถี กำหนดเดือนหนึ่งกับยี่สิบวันจึงมาถึงกรุงเทพมหานคร จึงทรงพระกรุณาให้ปลูกโรงสมโภชตำบลพเนียด แลให้นางช้างเผือกประทับอยู่ณโรงสมโภชนั้น แล้วก็มีการมหรศพสมโภชคำรบตติยวาร แล้วให้ยาตราพระบรมหัตถีลงสู่เรือขนาน มีเรือคู่ชักแห่แหนเข้ายังพระนคร แล้วให้นำนางเสวตรคเชนทรขึ้นไว้ณโรงยอดในพระราชวัง ทรงพระกรุณาพระราชทานขนานนามบัญญัติชื่อ พระบรมรัตนากาศ ชาติคเชนทร์ วเรนทรมหันต์ อนันตคุณวิบุลยเลิศฟ้า แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกณมุขเด็จพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทพร้อมด้วยเจ้าพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายฝ่ายทหารพลเรือนเฟี้ยมเฝ้าณทิมดาบคดตามตำแหน่งซ้ายขวา จึงให้เบิกพระยาพระเขมรสามนายเข้าเฝ้าถวายบังคมณชาลาหว่างทิมดาบ แลดำรัศพระราชปฏิสันถารสามนัดตามอย่างพระราชประเพณี แล้วพระราชทานเสื้อผ้ารางวัลแก่พระยาพระเขมรทั้งสามนั้นโดยสมควร แลพระราชทานเครื่องราชบริโภคอุปโภคต่าง ๆ ตอบแทนออกไปแก่พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนั้นเปนอันมาก แลพระยาพระเขมรสามนายก็กราบถวายบังคมลากลับออกไปยังกรุงกัมพูชาธิบดี.

ลุศักราช ๑๐๕๔ ปีวอก จัตวาศก ขณะนั้น เกิดขบถลาวคนหนึ่งชื่อ บุญกว้าง อยู่ณแขวงหัวเมืองลาวตวันออก มีความรู้วิชาการดี แลมีสมัคพรรคพวก ๒๘ คน คิดอ่านทำการขบถ ตั้งตัวว่าเปนผู้มีบุญ แลพาพรรคพวกเข้ามาอยู่ณศาลาแห่งหนึ่งนอกประตูเมืองนครราชสิมา แลกั้นม่านอยู่มิดชิด แล้วให้คนเข้าไปหาตัวพระยานครราชสิมาแลกรมการทั้งปวงออกมา จึงพระยานครราชสิมาก็ขี่ช้างพังตัวหนึ่ง มีบ่าวไพร่ทนายตามอกมา ๒๐ เศษ ครั้นออกมานอกเมืองเกือบจะถึงศาลา แลบุญกว้างขบถก็ลุกออกมายืนอยู่นอกม่าน แล้วชี้นิ้วตวาดด้วยเสียงเปนอันดัง ด้วยอำนาจคุณวิชาบันดาลให้พระยานครราชสิมาสดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก แล้วขับช้างหันหวนแล่นหนีเข้าประตูเมืองทั้งบ่าวไพร่ด้วยกัน แลอ้ายคิดมิชอบกับสมัคพรรคพวกไล่ตามเข้าในเมือง ไพร่พลเมืองแลกรมการทั้งหลายก็เกรงกลัวมันด้วยอานุภาพคุณวิชาการ มิได้มีผู้ใดจะอาจหาญเข้าจับกุมมันได้ ต้องอยู่ในอำนาจอ้ายขบถสิ้น แลขบถบุญกว้างกับสมัคพรรคพวกก็เข้าตั้งอยู่ในศาลากลาง สั่งให้บำรุงช้างม้ารี้พลให้พร้อมไว้ จึงพระยานครราชสิมาแลกรมการทั้งหลายปฤกษากันว่า ซึ่งอ้ายขบถเกิดขึ้นในเมืองเรา แต่กำลังเราทั้งปวงนี้จะเข้าจับกุมมันไม่ได้ ด้วยมันเปนคนดีมีวิชาการอยู่ ครั้นจะนิ่งเสียเล่า ก็เหมือนหนึ่งเปนพรรคพวกเข้าด้วยอ้ายขบถ จะพากันตายเสียสิ้น จำจะอุบายถ่ายเทฬ่อลวงมันให้ยกลงไปตั้งอยู่ณเมืองลพบุรีพอให้ใกล้พระเดชพระคุณ แลจะขอเอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปกเกล้าด้วย จึงจะทำมันได้ถนัด ครั้นพร้อมด้วยกันแล้ว ก็ชวนกันออกไปหาอ้ายคิดมิชอบณศาลากลาง แล้วจึงว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงขอเปนข้าท่านสิ้น แลจะขออาสาลงไปตีกรุงเทพมหานครถวาย แลซึ่งจะตั้งอยู่ณเมืองนครราชสิมานี้หาเปนประโยชน์ไม่ ถ้าได้ยกกองทัพลงตั้งอยู่ณเมืองลพบุรี กวาดเอาผู้คนหัวเมืองให้ได้มากแล้ว ก็ยกเข้าโจมตีเอากรุงเทพมหานคร เห็นจะได้โดยง่าย แลซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายว่าดังนี้ ควรมิควรขอท่านได้กรุณาอย่าถือโทษเลย ครั้นบุญกว้างขบถได้ฟังดังนั้น มิได้แจ้งว่ากลอุบาย สำคัญว่าจริง ก็เชื่อถือแลเห็นชอบด้วยทุกประการ จึงให้เจ้าเมืองกรมการเกณฑ์พลเมืองนครราชสิมาได้ ๔๐๐๐ เศษ ช้างเครื่อง ๘๔ ม้า ๑๐๐ เศษ สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธพร้อมเสร็จ ก็ยกจากเมืองนครราชสิมา เดินทัพตัดลงทางเมืองบัวชุม เมืองไชยบาดาล กวาดได้ผู้คนเปนอันมาก ก็ยกกองทัพผ่านไปเมืองลพบุรี แลตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ในที่นั้น จึงพระยานครราชสิมาแลกรมการทั้งหลายก็คิดอ่านแต่งหนังสือลับให้ขุนหมื่นมีชื่อถือลงไปถึงสมุหนายกให้กราบทูลพระกรุณาโดยเหตุทั้งปวงนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ ฝ่ายกรมการเมืองสุระบุรี เมืองบัวชุม เมืองไชยบาดาล ก็บอกหนังสือลงมาถึงสมุหนายกว่า เมืองนครราชสิมาเปนขบถ บัดนี้ ยกกองทัพลงมากวาดเอาผู้คนณแขวงเมืองบัวชุม เมืองไชยบาดาล ได้เปนอันมาก แล้วก็ยกผ่านไปโดยตวันตก มิรู้ว่าจะไปแห่งใด แลหนังสือฝ่ายหัวเมืองแนวน้ำแควป่าสักมาถึงก่อนหนังสือบอกฝ่ายลพบุรีสองวัน เจ้าพระยาจักรีก็เอาหนังสือบอกทั้งสองฉบับขึ้นกราบทูลพระกรุณา พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัศได้ทราบประพฤดิเหตุดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธ ดำรัศว่า อ้ายขบถ ๒๘ คนเท่านั้น ชาวนครราชสิมาก็หลายพัน ถึงไม่สู้รบด้วยอาวุธเลย จะทิ้งด้วยมูลดินแต่คนละก้อน ก็ไม่พอฝีมืออิก ไฉนมันจึงว่ากลัวความรู้ อยู่ในอำนาจอ้ายขบถสิ้นทั้งนั้น เปนอัศจรรย์ใจนัก ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน จึงดำรัศสั่งอรรคมหาเสนาธิบดีให้ตระเตรียมช้างม้ารี้พลไว้ให้สรรพ จึงมีพระราชดำรัศให้พระยาสุรเสนาเปนแม่ทัพหลวง แลท้าวพระยาอาสาหกเหล่าทั้งปวงเปนยุกรบัตรเกียกกายกองน่ากองหลัง ถือพลสกรรจ์ลำเครื่อง ๕๐๐๐ สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง ให้ยกไปเอาตัวอ้ายขบถ แล้วให้มีตราตอบไปแก่พระยานครราชสิมาแลกรมการทั้งปวงว่า ถ้ากลัวมันอยู่ จะจับมันมิได้ไซ้ ก็ให้ล้อมมันไว้ก่อน อย่าให้มันสงไสย ต่อทัพกรุงยกขึ้นไปถึง จึงให้จับตัวมันส่งออกมาให้แก่กองทัพกรุงทีเดียว แล้วพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ ไปแก่กองทัพชาวนครราชสิมาให้ ๆ แก่อ้ายคิดมิชอบ แลให้เจรจาเล้าโลมมันจงดี อย่าให้มันรู้ตัวเสีย จะทำการไม่ถนัด ครั้นถึงวันได้พิไชยฤกษ์ จึงพระยาสุรเสนาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลา แล้วยกทัพบกทัพเรือขึ้นไปยังเมืองลพบุรี ครั้นใกล้ถึงจึงให้หนังสือลับไปแก่กองทัพชาวนครราชสิมานัดหมายวันคืนเพลาสัญญาอาณัติให้ยกเข้าล้อมพร้อมกัน ฝ่ายพระยานครราชสิมาแลกรมการทั้งปวงก็เอาสิ่งของซึ่งพระราชทานขึ้นไปก่อนนั้นให้แก่อ้ายเหล่าร้าย พูดจามิให้สงไสย ครั้นถึงวันนัดหมายก็ยกพลทหารเข้าล้อมชั้นใน ฝ่ายทัพกรุงล้อมไว้ชั้นนอกเปนมั่นคง แลขบถบุญกว้างกับสมัคพรรคพวกทั้งปวงมิทันรู้ตัว สดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก จะหนีก็เห็นไม่พ้น จะต่อรบเล่าก็เหลือกำลัง มิรู้ที่จะทำประการใดได้ ก็นิ่งอยู่สิ้น พลชาวนครราชสิมาก็เข้ากลุ้มรุมจับอ้ายคิดมิชอบแลสมัคพรรคพวก ๒๘ คนได้สิ้น แล้วพันธนาส่งลงไปยังกองทัพกรุง ๆ ก็บอกหนังสือลงไปให้กราบทูลพระกรุณา เลิกทัพกลับลงมายังกรุงเทพมหานคร จึงสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศให้ลงพระราชอาชญาแก่อ้ายคิดมิชอบแลพรรคพวกทั้งปวงถึงสิ้นชีวิตร แล้วมีพระราชโองการตรัศสั่งสมุหนายกให้ตรวจเตรียมพลช้างม้าพลราชรถบทจรเดินเท้าแลพลนาวาพยุหพร้อมไว้ กำหนดพล ๑๐๐๐๐ ทั้งทางบกทางเรือ แลการพระพุทธสมโภชทั้งปวงนั้นก็ให้จัดแจงไว้ให้สรรพ จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระพุทธบาทอันประดิษฐานเหนือภูเขาสุวรรณบรรพตโดยโบราณราชประเพณีแต่ก่อน.

ครั้นถึงวันอันได้ศุภมงคลนักขัตฤกษ์ในเพลา ๑๑ ทุ่ม จึงพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกก็สอดทรงเครื่องศิริราชอลังการสรรพาภรณ์บวรวิภูสิตสำหรับพิไชยราชรณยุทธ ทรงราชาวุธสรรพเสร็จ ก็เสด็จสู่เรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชยอันอำไพด้วยเสวตรมยุรฉัตรขนัดพระอภิรุมชุมสายพรายพรรณกลิ้งกลดบัดบังพระสุริยบังแทรกสลอนสลับจามรสล้าง สว่างไสวไพโรจด้วยขนัดธงเทียวธวัชเปนทิวแถว ดูแพรวพรายระย้าระยับจับแสงสุริยวโรภาสผ่องพื้นอัมพรพิถีเถือกถ่องส่องแสนจันทรแจ่มฟ้า ดาษดาด้วยเรือดั้งกันแลเรือพระประเทียบเรียบรายเรือพระราชวงศานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชกระวีมนตรีมุขลูกขุนทั้งหลายรายเรียงจับฉลากเปนคู่ดูพันฦก กึกก้องกาหลด้วยศัพทสำเนียงเสียงพลประโคมปี่กลองชนะแตรสังข์ฆ้องไชยฆ้องใหญ่ฆ้องกระแตแซ่เสียงสนั่นนฤนาท ก็ขยายยกพยุหบาตราคลาเคลื่อนเลื่อนกระบวนน่าหลังคับคั่งท้องแถวนทีเปนลำดับวารีมารค กำหนดระยะทางโยชน์หนึ่งก็บรรลุถึงพระราชนิเวศพระนครหลวง ก็เสด็จพักพลพายประทับร้อนเสวยพระกระยาหารสำราญพระอารมณ์ เสด็จเข้าที่พระบรรธมในที่นั้น ครั้นเพลาชายแล้วสองนาฬิกา จึงเสด็จลงสู่เรือพระที่นั่ง ให้ยาตรานาวาพยุหไปโดยลำดับ กำหนดทางโยชน์หนึ่งก็ถึงตำหนักท่าเจ้าสนุก จึงเสด็จขึ้นประทับอยู่ที่นั้นสองเวน แลมีพระราชดำรัศสั่งอรรคมหาเสนาธิบดีให้ตรวจเตรียมพลแห่แหนทั้งปวงโดยกระบวนพยุหบาตราสถลมารคตามอย่างโบราณราชประเพณีให้พร้อมไว้ ครั้นเพลาปัจจุสไมยได้พิไชยฤกษ์ จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องราชวิภูษณาภรณ์แล้วเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพังสุริยาอัษฎงค์ ที่นั่งรองพังอนงค์ศรีสรรค์ ผูกเครื่องสุวรรณปฤษฎาหลังคาทอง พร้อมด้วยหมู่หมวดคชินทรเสนางคนิกรดั้งกันแทรกแซงสลับค่ายค้ำพังคา แลหมู่พลอาสาสินธพพลากรกรรกงริ้วราย โดยขบวนซ้ายขวาน่าหลังคับคั่งเปนขนัด ถัดนั้นช้างพระที่นั่งพระราชบุตรนัดดาวงศานุวงษ์ทั้งหลาย แลรถประเทียบเรียบรายตามเสด็จเปนท่องแถวงามไสว อำไพด้วยเครื่องสูงเสวตรฉัตรธงฉานธงไชยเปนคู่ ๆ ดูมโหฬาราดิเรกด้วยพลบทจรเกณฑ์แห่แลพลอุโฆษแตรสังข์พาทย์ฆ้องกลองชนะประโคมครั่นครื้นกึกก้องนฤนาท ให้ขยายพยุหบาตราไปโดยรัถยาร่มรื่นรโหฐานแถวเถื่อนพันฦก อธึกด้วยนานาพรรณพฤกษาชาติ บ้างเพล็ดดอกออกผลกล่นกลาดดูตระการตา ก็เสด็จยาตราพลากรทวยหาญไปโดยลำดับสถลมารควิถี สิ้นทาง ๕๕๐ เส้นก็บรรลุถึงเชิงเขาสุวรรณบรรพต จึงให้หยุดขบวนแห่แหนทั้งปวง แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรำพระแสงของ้าวเหนือตระพองช้างต้นสิ้นวารสามนัดบูชาพระพุทธบาทโดยพระราชประเพณี เสร็จแล้วก็บ่ายพระคชาธารโดยมารควิถีกำหนด ๕๐ เส้น ถึงพระราชนิเวศธารเขษม เสด็จลงสู่เกย แล้วเสด็จเข้าประทับแรมณพระตำหนักนั้น ครั้นรุ่งจึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเสนาบดีมนตรีมุขมุลิกากรบวรราชบุตรราชนัดดากรมฝ่ายน่าฝ่ายในเสนางคพระสนมทั้งหลายขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทอันโอฬาร์ทุกเพลาเช้าเย็นเปนนิจทุกวันมิได้ขาด แลทรงถวายสักการบูชาด้วยสักกัจจเคารพเปนอันดี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปเหนือไหล่เขา เสด็จนั่งเหนือแท่นศิลาใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ ทรงโปรยสุวรรณรัชฎพระราชทานแก่พลนิกายทั้งหลายเปนอันมากตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน แล้วทรงพระกรุณาให้มีการมหรศพสมโภชมีนานานุประการ ครั้นค่ำ ให้จุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ ระทาใหญ่แปดระทา บูชาพระพุทธบาทเปนมโหฬาราธิการยิ่งนัก แล้วทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เปนอันมาก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์พระสนมนาฏนารีทั้งหลายไปประพาศณพระตำหนักธารโศกปลายธารทองแดง แลเสด็จเที่ยวประพาศชมพนมพนัศแนวเนินเทินเขา ทุกลำเนาถ้ำธารลหานเหว เปลวปล่องช่องชวากเวิ้งหว่างศิขรเขต วิเศษด้วยสรรพรุกขชาตินานาทรงผลผกาทุกกิ่งก้านกล่นกลาด ชมหมู่จัตุบททวิบาทต่าง ๆ ชาติดูตระการ สำราญพระราชหฤไทยแล้วเสร็จ ก็เสด็จกลับยังพระราชนิเวศธารเขษม คำรบเจ็ดเวนแล้วถวายนมัสการลาพระพุทธบาท ยกพยุหยาตราโดยกระบวนสถลมารคชลมารคกลับยังพระนครศรีอยุทธยา.

ลุศักราช ๑๐๕๗ ปีกุญ สัปตศก ขณะนั้น พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตให้แสนสุพจนาไมตรีเปนราชทูตจำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการลงมายังกรุงเทพมหานคร ในลักษณพระราชสาสนนั้นว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ผู้เปนมหิศราธิปไตยในเสวกมลาวประเทศปาจิณทิศ ขอถวายวันทนประณามมาแทบพระบวรบาทบงกุชเรณูมาศแห่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้เสวยสวรรยาธิปัติถวัลยราชณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน มโหฬารด้วยเสวตรกุญชรชาติพาหนะเปนศรีเมือง เฟื่องพระเกียรติยศปรากฎแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศราชธานีใหญ่น้อยทั้งปวง ดุจฉัตรท้าวมหาพรหมกางกั้นร่มเย็นเปนศุขานุศุข ปราศจากทุกข์ระงับไภยแห่งสรรพสัตวทั้งหลายอันร้อนรนทั่วสกลโลกธาตุในกาลเมื่อมัชฌันติกไสมย ข้าพระองค์ขอถวายพระราชธิดาทรงพระนาม พระแก้วฟ้า พระชัณษาได้สิบห้าพระพรรษา มาเปนศรีสุรางคบริจาริกรองลอองบาทยุคล ขอพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนที่พึ่งที่พำนัก ด้วยมีอริราชปรปักษ์ กล่าวคือ เจ้าฟ้าเมืองหลวงพระบาง กอปรด้วยโลภหาหิริโอตัปปมิได้ ให้เสนาโยธาหาญยกมากระทำวิหิงษาการย่ำยีกรุงศรีสัตนาคนหุตให้ได้ความเดือดร้อน แลบัดนี้ จะขอพระราชทานกองทัพไปช่วยป้องกันกรุงศรีสัตนาคนหุตให้พ้นเงื้อมมือประจามิตร แลจะขอเปนข้าขอบขัณฑเสมาพระมหานครศรีอยุทธยาไปตราบเท่ากัลปาวสาน จึงเจ้าพระยาจักรีนำเอาลักษณพระราชสาสนพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบสิ้นทุกประการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องศิริราชาลังการาภรณ์วิภูสิตเสร็จ เสด็จออกณมุขเด็จพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายฝ่ายทหารพลเรือนเฟี้ยมเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณทิมดาบคดตามตำแหน่งซ้ายขวา จึงให้เบิกแสนสุพจนาไมตรีเข้ามาถวายบังคมณชาลาหว่างทิมดาบ แลดำรัศพระราชประฏิสันถารสามนัดตามราชประเพณี แล้วพระราชทานเสื้อผ้าแก่แสนสุพจนาไมตรีโดยสมควร จึงมีพระราชดำรัศสั่งสมุหนายกให้เกณฑ์กองทัพสรรพด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธทั้งปวงให้พร้อมไว้ แลดำรัศให้พระยานครราชสิมาเปนแม่ทัพหลวง พระสุรบุรีเปนยุกรบัตร พระนครนายกเปนเกียกกาย พระรามกำแหงเปนกองน่า พระยาลพบุรีเปนทัพหลวง ถือพลสกรรจ์ลำเครื่อง ๑๐๐๐๐ ช้างเครื่อง ๓๐๐ ม้า ๔๐๐ สรรพด้วยนานาสรรพาวุธปืนใหญ่ปืนน้อยกระสุนดินประสิวพร้อมเสร็จ ให้ยกไประงับศึกเมืองหลวงพระบางซึ่งยกมาตรีกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น.

ครั้นถึงวันอันได้มหาพิไชยฤกษ์ จึงท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลา ยกช้างม้ารี้พลจากกรุงเทพมหานครกับด้วยแสนสุพจนาไมตรีซึ่งเปนราชทูตนั้น แลเดินทัพไปโดยทางเมืองนครราชสิมา ครั้นใกล้กรุงศรีสัตนาคนหุต จึงให้ตั้งค่ายยับยั้งกองทัพอยู่ที่นั้น จึงปฤกษากันว่า ครั้นจะยกเข้าโจมตีกองทัพชาวเมืองหลวงพระบางบัดนี้ก็จะเสียไมตรีไปดูมิควร แลเราจะแต่งหนังสือให้ไปว่ากล่าวแก่ชาวเมืองหลวงพระบางให้เลิกทัพกลับไปโดยดีก่อน ถ้าแลมิฟังยังองอาจจะต่อรบไซ้ จึงให้พลทหารเข้าโจมตีแหกหักเอาต่อภายหลัง ครู่เดียวก็จะเปนภัศมธุลีไป อันทัพลาวมิทานฝีมือเราได้แต่ในเพลาเดียว ครั้นนายทัพนายกองปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว ก็ให้แต่งหนังสือให้ขุนหมื่นมีชื่อถือไปถึงแม่ทัพลาวชาวเมืองหลวงพระบางเปนใจความว่ากล่าวโดยไมตรี เพื่อจะให้ประนีประนอมเปนมิตรสันถวะกับกรุงศรีสัตนาคนหุตดังกาลก่อน มิให้เปนเวรไพรีอาฆาฏกันสืบไป ครั้นแสนท้าวเสนาลาวแม่ทัพเมืองหลวงพระบางได้แจ้งในหนังสือ แลทราบว่า กองทัพกรุงเทพมหานครยกมาช่วยกรุงศรีสัตนาคนหุตดังนั้นแล้ว ก็เข็ดขามคร้ามเดชานุภาพยิ่งนัก จึงแต่งหนังสือให้เพี้ยกว้านมีชื่อถือมาแจ้งแก่แม่ทัพไทย รับยินยอมประนีประนอมเพื่อจะเปนมิตรสันถวไมตรี มิได้มีเวรอาฆาฏกับกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบไป ก็เลิกทัพกลับคืนไปเมือง.

จึงพระยานครราชสิมาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็แต่งหนังสือบอกให้ขุนหมื่นมีชื่อถือลงไปกราบทูลพระกรุณาณกรุงเทพมหานครโดยประพฤดิเหตุทั้งปวงก่อน แล้วบอกเข้าไปให้เสนาลาวนำเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ๆ ดีพระไทย ดำรัศพระราชประฏิสันถารเปนอันดี แลให้เลี้ยงดูเหล่ากองทัพให้อิ่มหนำสำราญ พระราชทานรางวัลแก่ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงเปนอันมาก ฝ่ายผู้ถือบอกนั้นก็มาถึงกรุงเทพมหานคร ให้อรรคมหาเสนาธิบดีกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้มีตราหากองทัพกลับลงมากรุง ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายได้แจ้งในท้องตรานั้นแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วเลิกทัพกลับลงมายังกรุงเทพพระมหานคร.

ส่วนพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็จัดแจงตกแต่งพระราชธิดา พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงนางกำนัลแลทาษกรรมกรชายหญิงสิ่งละ ๑๐๐ เปนบริวาร สรรพด้วยเครื่องอุประโภคบริโภคทั้งปวงพร้อมเสร็จ แลให้แสนท้าวพระยาลาวสามนายถือพล ๑๐๐๐ ช้างม้าโดยสมควร ให้อัญเชิญเสด็จพระราชบุตรีขึ้นสู่สีวิกากาญจนยานวิจิตรลงไปยังกรุงเทพมหานครโดยลำดับมารควิถี ถึงพระราชนิเวศพระนครหลวง จึงบอกหนังสือลงไปณกรุงเทพมหานครให้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกตรัศทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงพระโสมนัศ ดำรัศสั่งอรรคมหาเสนาธิบดีให้ผูกเรือพระที่นั่งบัลลังก์ม่านทองแลเรืออื่น ๆ หลายลำขึ้นไปรับนางกระษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุตณพระนครหลวง แล้วล่องลงมายังพระมหานครโดยทางคลองโพธิ์เรียง ครั้นมาถึงวัดกระโจม จะเลี้ยวขึ้นไปทางรอทำนบ พอสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรมีพระบัณฑูรให้มารับพระราชบุตรีกรุงศรีสัตนาคนหุตขึ้นไว้ณพระราชวังบวร แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงมายังพระราชวังหลวง ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง กราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานนางไว้ณพระราชวังบวร จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอโดยพระราชอัธยาไศรยนั้น.

ลุศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลู นพศก ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าพระขวัญพระชนม์คำรบ ๑๓ พรรษา จึงทรงพระกรุณาดำรัศเหนือเกล้าฯ สั่งอรรคมหาเสนาธิบดีให้จัดแจงการพระราชพิธีโสกันต์ณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท แลให้ตั้งโรงพระกระยาสนานแลพระเบญจาณท้องสนามชั้นใน แลให้ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ธงไชยธงประฎากวางเปนระยะไป โดยทางอันจะแห่นั้นก็วางกระลาบาตเปนชั้น ๆ ครั้นถึงมิคสิรมาศ ศุกรปักขดิถีณวันอันได้มหามงคลฤกษ์ เพลาชายแล้วสามนาฬิกา จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเครื่องศิริราชอลังการ์สรรพาภรณ์ภูษาลายทอง สนับเพลาเชิงงอน สอดทรงฉลองพระองค์อย่างเทศ ทรงเจียรบาดรัตพัตร แล้วทรงมหากฐินน้อย ทรงเหน็บพระแสงกั้นหยั่น แลมหาดเล็กเชิญพระแสงดาบใจเพ็ชร แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาขึ้นเกย ทรงพระราชยาน เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ มหาดเล็กแห่ซ้ายขวาน่าหลังเปนขบวน มาถึงพระที่นั่งพระสรรเพชญ์ปราสาท เสด็จขึ้นประทับอยู่ณพระที่นั่งเก้าอี้ณชานพัก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงเครื่องแล้วเสด็จขึ้นพระยานุมาศ เจ้าจอมเฒ่าแก่เปนเพื่อนคนหนึ่ง แลมหาดเล็กคู่แห่นั้นนุ่งห่มสมปักท้องขาวชายกรวย ใส่เสื้อครุยลำพอกเกี้ยวพันผ้าขาว แห่น่า ๒๐ คู่ ถัดนั้นจัดเอาบุตรขุนนางที่ไว้ศีศะจุกนั้นให้นุ่งผ้าลายพื้นขาว ใส่เสื้อครุยขาว ๒๐ คู่ แห่กระบวนน่า แล้วถึงนางเชิญพระแซ่อยู่น่าพระยานุมาศ แลกระบวนหลังนั้นมีนางเชิญเครื่องหกคน นางถือพัชนีคนหนึ่ง ถัดนั้นจัดเอาภรรยาขุนนางเดินพนมมือตามนางเชิญเครื่องเปน ๔ แถว ๆ ละ ๒๐ คน เปน ๘๐ คน ล้วนนุ่งผ้าท้องขาวชายกรวย ห่มผ้าขาวขลิบทองสิ้น ครั้นแห่เสด็จมาถึงที่ประทับชานพักแล้ว จึงให้ทรงเหยียบน่าฆ้องไชย มีนางพนักงานเอาน้ำชำระพระบาทสองคน แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จเข้าในพระมหาปราสาท ทรงฟังสวดพระพุทธมนต์คำรบสามวันแล้ว ถึงวันเปนคำรบสี่ได้ฤกษ์ เพลารุ่งจึงแห่เสด็จไปโสกันต์บนพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ครั้นโสกันต์แล้วแห่เสด็จมาณโรงพระกระยาสนาน เสด็จขึ้นบนพระเบญจา แล้วถวายเครื่องมุรธาภิเศก สรงน้ำพระพุทธมนต์แลน้ำสังข์ทักษิณาวัฏ ทวิชาจารย์ถวายอาเศียรพาทประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางคดนตรี แล้วทรงเครื่องแห่เสด็จกลับเข้าพระราชวัง ครั้นเพลาชายแล้วสามนาฬิกา จึงแห่เสด็จไปสมโภชเวียนพระเทียน เกณฑ์แห่นุ่งสมปักลายใส่เสื้อครุยลำพอกชมพู แลนางเชิญพระแซ่ นางยกเครื่อง นางตามเสด็จทั้งปวงนั้น ล้วนผ้าท้องเขียวชายกรวย ห่มผ้าชมภูขลิบทอง สิ้นคำรบสามวัน เปนหกวันด้วยกันทั้งแห่ไปทรงฟังสวดสามวันนั้น ครั้นโสกันต์แล้ว เจ้าพระขวัญเสด็จออกทรงหัดม้าณท้องสนามหลวงน่าพระที่นั่งจักรวรรดิทุกวัน ๆ ครั้นถึงเดือนสาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรลงได้ประมาณ ๑๕ วัน แลพระโรคนั้นกำเริบหนักลง จะเสวยพระกระยาหารก็ไม่ได้ เกือบใกล้สวรรคตอยู่แล้ว แลพระราชวงศานุวงษ์แลท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายก็เข้าไปนอนอยู่ในพระราชวังพร้อมกันสิ้น.

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรทรงพระราชดำริห์แคลงเจ้าพระขวัญ ด้วยเห็นข้าไทยมาก คนทั้งปวงนิยมยินดีนับถือมาก นานไปภายน่าเกรงจะเปนศัตรูราชสมบัติ จึงทรงคิดการอันเปนคุยห์รหัศแต่กับเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพระราชวังบวร สองพระองค์ มิให้ผู้อื่นรู้เห็น ครั้นเห็นจวนจะสวรรคตในวันสองวันเปนแน่แท้อยู่แล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังหลวงกับด้วยพระราชบุตรทั้งสอง แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงเปนอันมาก แลเสด็จเข้าอยู่ณพระตำหนักหนองหวาย จึงอุบายให้มหาดเล็กไปเชิญเสด็จเจ้าพระขวัญว่า มีพระบัณฑูรให้เชิญเสด็จไปเฝ้า ทรงพระกรุณาจะให้ทรงม้าเทศให้ทอดพระเนตรสักหน่อยหนึ่ง แล้วเจ้าพระขวัญเสวยผลอุลิตหวานค้างอยู่ ครั้นทราบว่ามีพระบัณฑูรให้หา ก็มิได้เสวยต่อไป แลซีกซึ่งยังมิได้เสวยนั้นเอาใส่ไว้ในเครื่อง แล้วทูลลาสมเด็จพระมารดา เสด็จมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรณพระตำหนักหนองหวาย กับด้วยนักพระสัฏฐาธิราชพระพี่เลี้ยง แลข้าไทยทั้งปวงตามเสด็จมาเปนอันมาก ครั้นเจ้าพระขวัญมาถึง เสด็จเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้ว มีพระบัณฑูรให้ห้ามพระพี่เลี้ยงแลข้าไทยทั้งปวงมิให้ตามเสด็จเข้ามา แลให้ปิดประตูกำแพงแก้วนั้นเสีย จึงให้จับเจ้าพระขวัญสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ในพระตำหนักหนองหวาย เสร็จแล้วก็ให้เอาพระศพใส่ถุงแล้วใส่ลงในแม่ขันให้ข้าหลวงเอาออกไปฝังเสียณวัดโคกพระยา แล้วเสด็จกลับยังพระราชวังบวรสถานมงคล.

ฝ่ายนักพระสัฏฐาธิราชพระพี่เลี้ยงแลข้าไทยทั้งปวงแจ้งว่า เจ้าของตัวเปนเหตุแล้ว ก็ชวนกันร้องไห้กลับมาทูลแก่เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพซึ่งเปนพระราชมารดา แลเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ ขณะเมื่อพระราชบุตรทูลลาไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรนั้น เข้าที่พระบรรธมอยู่ แต่ทว่ายังมิได้บรรธมหลับสนิท พอเคลิ้มหลับลงก็ได้ยินเสียงพระราชบุตรมาทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอพระราชทานผลอุลิตหวานซีกซึ่งเหลืออยู่นั้นเสวยต่อไป ก็ตกพระไทยบรรธมตื่นขึ้นมาในทันใดนั้น พอนักพระสัฏฐาธิราชมาถึง ร้องไห้กราบทูลโดยมูลเหตุทั้งปวง แลเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกพระไทย ช้อนพระทรวง ทรงพระกันแสงถึงพระราชบุตรเปนกำลัง แล้วเสด็จขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น แลทรงพระโศการ่ำไรกราบทูลโดยมูลคดีทั้งปวง แล้วทูลว่า ลูกข้าพระพุทธเจ้าหาความผิดมิได้ กรมพระราชวังบวรมาฆ่าลูกข้าพระพุทธเจ้าเสียโดยหาเหตุบมิได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัศได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกพระไทย อาไลยในพระราชโอรส ทรงพระโศกาอาดูรภาพเปนกำลัง แลทรงพระพิโรธแก่กรมพระราชวังบวรยิ่งนัก ดำรัศว่า กูไม่ให้ราชสมบัติแก่อ้ายสามคนพ่อลูกนี้แล้ว ๆ มีพระราชดำรัศให้เจ้าพระพิไชยสุรินทรราชนัดดาขึ้นมาเฝ้าบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ซึ่งเสด็จทรงพระประชวรอยู่นั้น แล้วทรงพระกรุณาตรัศมอบเวนราชสมบัติให้แก่เจ้าพระพิไชยสุรินทร แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตในเพลาราตรีวันนั้น พระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระชัณษาเถาะ นพศก แรกเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๕๖ พระพรรษา เสด็จดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้ ๑๕ พระพรรษา[2] ขณะนั้น สวรรคตณพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์มหาปราสาทในเดือน ๔ ปีฉลู นพศก ศักราชได้ ๑๐๕๙ นั้น สิริพระชนม์ได้ ๗๑ พระพรรษา


  1. เจ้าฟ้าอไภยทศ หนังสือพงษาวดารว่า เปนพระราชโอรสสมเด็จพระนารายน์ แต่ตามจดหมายเหตุของฝรั่งที่ได้เข้ามาเมืองไทยในครั้งนั้นทุก ๆ ฉบับกล่าวความต้องกันว่า สมเด็จพระนารายน์ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดา เจ้าฟ้าอไภยทศที่อยู่กรุงเก่าในเวลาสมเด็จพระนารายน์สวรรคตนั้นว่า เปนพระราชอนุชา หนังสือที่เรียกกันว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ก็กล่าวว่า สมเด็จพระนารายน์ไม่มีพระราชโอรส อ้างเหตุนี้ประกอบกับเรื่องอุบัติของหลวงสรศักดิอธิบายไว้ในหนังสือนั้นยืดยาว. (ด.ร.)
  2. หนังสือพงษาวดารฉบับนี้ว่า สมเด็จพระเพทราชาได้เสวยราชย์เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๐๔๔ อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ พรรษา สวรรคตปีฉลู จุลศักราช ๑๐๕๙ ความจริงที่สอบได้แน่นอนนั้น สมเด็จพระเพทราชาได้ราชสมบัติต่อเมื่อปีมโรง จุลศักราช ๑๐๕๐ ถ้าสวรรคตปีฉลู จุลศักราช ๑๐๕๙ ดังว่าในพงษาวดารนี้ รัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา มีเพียง ๙ ปี แต่มีเหตุซึ่งน่าสงไสยว่า ราชสมบัติจะกว่า ๙ ปี ที่ความปรากฎในพงษาวดารว่า โสกันต์พระขวัญพระราชโอรสแล้วสมเด็จพระเพทราชาก็สวรรคตในปีนั้น พระขวัญอย่างเร็วจะประสูตรในรัชกาลปีที่ ๒ ถ้าโสกันต์พระชันษา ๑๓ รัชกาลของสมเด็จพระเพทราชาต้องเปน ๑๕ ปี ถ้าโสกันต์เมื่อพระชันษา ๑๑ ต้องเปน ๑๓ ปี ถ้าหากเปนพระราชพิธีลงสรงทำเมื่อพระชันษาพระขวัญ ๙ ขวบ รัชกาลต้องเปน ๑๑ อย่างไร ๆ ถ้ามีความจริงในเรื่องโสกันต์ฤๅลงสรงพระขวัญแล้ว รัชกาลของสมเด็จพระเพทราชาต้องกว่า ๙ ปี ได้สอบดูในปูมก็ไม่ได้จดไว้ว่า สมเด็จพระเพทราชาสวรรคตปีไร มีแต่ปีพระเจ้าท้ายสระเสวยราชตรงกับที่ว่าไว้ในพงษาวดาร ว่าโดยย่อมีปีอยู่ ๑๗ ปี คือ ในระหว่างตั้งแต่ปีมโรง จุลศักราช ๑๐๕๐ จนปีจอ จุลศักราช ๑๐๖๘ จะต้องแบ่งในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชากับสมเด็จพระเจ้าเสือว่า รัชกาลไหนกี่ปี แลต่อกันเมื่อปีใด นี้จะต้องเปนธุระของผู้ชำระหนังสือพงษาวดารกรุงเก่ายังจะต้องหาหลักฐานกำหนดให้แน่นอนต่อไป (ด.ร.)