พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 7

แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ)

จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แลพระราชวงศานุวงษ์ทั้งหลายก็กระทำชำระพระศริรกิจโสรดสรงด้วยน้ำสุคนธมาลาอันหอมขจรตระหลบอบองค์ แล้วทรงเครื่องราชาภรณ์พร้อมเสร็จ ก็อัญเชิญพระบรมศพใส่ในพระโกษฐกาญจนอลงกฎรจนาด้วยมหาเนาวรัตนเรืองอร่าม ประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งสุริยามรินทร แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออกณท้องพระโรง พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ข้าพระบาทมุลิกากรทั้งหลายกราบถวายบังคมแลรับพระราชโองการแด่[1] พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว แล้วจึงมีพระราชดำรัศให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลาย มีพระราชวงศานุวงษ์แลเสนาบดีเปนประธาน ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาถวายสาบาลตามโบราณราชประเพณีเสร็จสิ้นทุกประการ แลมีพระราชโองการตรัศสั่งพระมหาราชครูพระครูบุริโสดมพรหมพฤฒาจารย์ให้จัดแจงการพระราชพิธีราชาภิเศกเฉลิมพระราชมณเฑียร.

ครั้นถึงศุภวารดิถีศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลมหานักขัตฤกษ์ จึงท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขอำ[2] มาตย์ข้าบาทมุลิกากรบวรราชวงศานุวงษ์แลสมณพราหมณาจารย์ทั้งหลายประชุมพร้อมกันณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท กระทำการพระราชพิธีราชาภิเศกอัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จ[3] บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นผ่านพิภพเสวยมไหสวรรยาธิปัติถวัลยราชประเพณีสืบศรีสุริวงษ์ดำรงราชมณฑลสกลสีมาอาณาจักรณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา แล้วถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แลเครื่องราชูประโภคสำหรับพระมหากระษัตราธิราชเจ้าทุกประการ จึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระราชวัง แลเสด็จไปอยู่ณพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ข้างท้ายสระ แลขณะเมื่อพระองค์เสด็จเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๒๘ พระพรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชประดิษฐานณที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลบรรดาข้าหลวงเดิมทั้งหลายที่มีความชอบนั้นก็พระราชทานยศศักดิ์ให้โดยสมควรแก่ถานานุรูปถ้วนทุกคน ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤดิในอโนตตัปธรรม แลเสด็จประพาศทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระไทยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้น ตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเปนอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเปนเงินตราห้าตำลึง ขณะนั้น พระองค์เจ้าดำกอปรด้วยทิฐิมานะ กระทำการหยาบช้ากระด้างกระเดื่องลลุมลล้าว[4] เข้าไปในพระราชฐานตำแหน่งที่ห้ามเปนหลายครั้ง มิได้เกรงกลัวพระราชอาชญา จึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัศปฤกษาด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ตรัศเห็นว่า โทษพระองค์เจ้าดำนั้นผิดเปนมหันตโทษ จึงให้จับพระองค์เจ้าดำพันธนาไว้ แล้วให้เอาไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ เอาพระศพไปฝังเสียณวัดโคกพระยา แลพระองค์เจ้าแก้วซึ่งเปนบาท[5] บริจาพระองค์เจ้าดำนั้นเปนหม้ายอยู่ จึงเสด็จไปทรงผนวชเปนพระรูปชีอยู่ณพระตำหนักวัดดุสิตกับด้วยสมเด็จพระไอยิกา[6] กรมพระเทพามาตยนั้น.

ลุศักราช ๑๐๖๙ ปีกุญ นพศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำรัศสั่งให้ช่างพนักงานจับการทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก สูง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ แลการเมรุทั้งปวงนั้น ๑๑ เดือนจึงสำเร็จ ครั้นถึงผัคคุณมาศ ศุกรปักษดิถี ณวันอันได้มหาพิไชยฤกษ์ จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ให้อัญเชิญพระบรมโกษฐขึ้นประดิษฐานเหนือพระมหาพิไชยราชรถ แล้วแห่เปนขบวนไปโดยรัถยาราชวัตรเข้าสู่พระเมรุมาศตามอย่างแต่ก่อน แล้วให้ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ แลมีงานมหรศพแลดอกไม้เพลิงต่าง ๆ แลทรงสดับปกรณ์พระสงฆ์ ๑๐๐๐๐ คำรบ ๗ วัน แล้วถวายพระเพลิง ครั้นดับพระเพลิงแล้วแจงพระรูป ทรงสดับปกรณ์พระสงฆ์ ๔๐๐ รูป แล้วเก็บพระอัฐิใส่พระโกษฐน้อย อัญเชิญขึ้นพระราชยาน แห่เปนขบวนเข้ามายังพระราชวัง จึงให้อัญเชิญพระบรมโกษฐพระอัฐิเข้าบรรจุไว้ณท้ายจรนำพระมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชดาราม.

ลุศักราช ๑๐๗๐ ปีชวด สำฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการสั่ง[7] ให้ช่างกระจกประดับกระจกแผ่นใหญ่ในผนังพระ[8] มรฎปพระพุทธบาท แล้วปิดทองปะทาสีในที่มีลาย[9] แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปพระพุทธบาทด้วย ข้าราชการในกระบวนโดยเสด็จพระราชดำเนิน[10] เปนอันมาก ทั้งทางบกทางเรือเหมือนในหนหลัง ให้มีการ[11] ฉลองพระมรฎป ทรงสักการบูชาบำเพ็ญพระราชกุศลเปนอันมาก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถวายนมัสการลาพระพุทธบาทกลับคืนยังพระมหา[12] นคร[13]

ลุศักราช ๑๐๗๓ ปีเถาะ ตรีนิศก สมเด็จพระไอยิกา[14] กรมพระเทพามาตยซึ่งอยู่วังใกล้วัดดุสิตนั้นสวรรคต สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้แต่งการบูชาพระศพถวายพระเพลิง[15] ตามพระราชประเวณีแต่ก่อนในปีมโรง จัตวาศก เปนลำดับมา[16] นั้น แลเมื่อ[17] ปีขาล โทศก ก่อนปีเถาะ ตรีนิศก[18] นักเสด็จเจ้ากัมพูชาธิบดีชื่อ พระธรรมราชาวังกะดาน วิวาทกันกับนักแก้วฟ้าจอก จักทำสงครามแก่กัน นักแก้วฟ้าจอกไปเมืองญวน ลอบขอพลญวนได้มาก แล้วกลับมาตีเอาเมืองกัมพูชา[19] ได้ นักเสด็จกับพระองค์ทองพาบุตรภรรยา[20] ข้าคนเปนอันมาก[21] หนีมายังกรุงเทพมหานคร ขอให้ท่านเสนาบดี[22] กราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท[23] ทุกประการ ขอพระบารมีเปนที่พึ่ง จึงพระบาท[24] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบความแล้ว ให้นักเสด็จนั้นเข้ามาเฝ้า จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแลบ้านเรือนให้อยู่ณตำบล[25] ใกล้วัดค้างคาว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[26] กรุงเทพมหานครทรงพระราชดำริห์[27] โปรดให้นักเสด็จไปตีเอาเมืองกัมพูชา[28] คืน จึงมีพระราชโองการดำรัศสั่ง[29] ให้มหาดไทยกลาโหมเกณฑ์ทัพสองหมื่นเศษ พร้อมด้วยช้าง ๓๐๐ เศษ ม้า ๔๐๐ เศษ พร้อมทั้ง[30] เครื่องสาตรา[31] วุธต่าง ๆ ให้พระพิไชยรณฤทธิ์เปนนายพลทหารทัพน่า ให้พระวิชิตณรงค์เปนยุกรบัตรทัพ ให้พระพิไชยสงครามเปนนายกองเกียกกาย ให้พระรามกำแหงเปนนายกองทัพหลัง แล้วจึงให้พระยาโกษาธิบดีจีนเปนแม่ทัพเรือ ถือพลทหารหมื่นหนึ่ง เรือรบ ๑๐๐ เศษ พร้อมด้วยพลแจวแลเครื่องสรรพาวุธต่าง ๆ ครั้นจัดแจงทัพบกทัพเรือเสร็จแล้ว จึงส่งไปให้ตีเมืองกัมพูชา[32] คืนให้จงได้ แม่ทัพนายกองทั้งปวงทั้งทัพบกทัพเรือกราบถวายบังคมลาแล้ว ครั้นได้เพลาศุภวารดิถีพิไชยมงคลฤกษ์ดี ก็ยก[33] ยาตรายกทั้งทัพบกทัพเรือออกไปโดยลำดับทาง[34] ฝ่ายพลทหารทัพบกไปทางเสียมราบ ฝ่ายกองทัพเรือไปทางพุทไธมาศตามลำดับทางทเล ฝ่ายพลทหารญวนยกกองทัพเรือมาพบกองทัพทหารไทยที่ปากน้ำพุทไธมาศ ตีฆ้องกลองยิงปืนใหญ่ยกเข้าตีกองทัพเรือพระยาโกษาธิบดีจีน ฝ่ายกองทัพเรือทหารไทยจัดแจงแต่งตัวพร้อมแล้ว ทัพน่าก็แยกเรือรบออกเปนสามแห่ง ให้ยิงปืนใหญ่สามนัดโห่สามลาเอาไชย แล้วให้พลทหารแจวเรือรบเข้าไปต่อต้านทานกำลังกับพลทหารญวน เข้าปะทะถึงเรือกัน ยิงแทงฟันกันเปนสามารถ ฆ่าญวนตายเปนอันมาก เรือรบทหารญวนเข้าช่วยอุดหนุนกันมาก พระยาโกษาธิบดีจีนแม่ทัพไม่ชำนาญในการพิไชยสงคราม ขลาดไม่กล้าแขง ย่อท้อแก้สงคราม ไม่ช่วยอุดหนุนเพิ่มเติมแก้ไข ถอยเรือหนีไป ทิ้งทหารเสีย ฝ่ายทหารญวนได้ที เข้าหักเอาทหารไทย ฆ่าฟันกันเปนสามารถ ฝ่ายทหารไทยเห็นศึกนั้นเหลือมือเหลือกำลัง แม่ทัพก็หนีไปแล้ว แลเห็นคนทหารก็เสียมาก ก็ถอยเรือล่าแตกหนีมา เสียเรือรบแลผู้คนปืนใหญ่น้อยเปนอันมากแก่กองทัพญวน ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีโรงฆ้องยกกองทัพบกไปถึงเมืองกัมพูชา[35] ให้ตั้งค่ายหลวงลงใกล้เมืองประมาณทาง ๘๐ เส้น ๙๐ เส้น รักษาอยู่ในที่นั้น พระพิไชยรณฤทธิ์เปนแม่กองทัพน่า ถือพลทหาร ๓๐๐ เศษไปก่อน ได้รบกันกับเขมรญวน[36] ฆ่าเขมรญวนตายเปนอันมาก มีไชยได้ทีตีทัพเขมรญวนแตกพ่ายเปนหลายแห่ง ให้ทหารเร่งรีบไล่ติดตามเข้าไป ได้หัวเมืองน้อยใหญ่เปนอันมาก ทัพหลวงก็ให้เร่งรีบยกพลทหารทุกทัพทุกกองไปช่วยอุดหนุนเพิ่มเติมตีตัดลัดทาง ให้ข้าศึกอัตคัดขัดขวางคับแคบสดุ้งตกใจกลัวมิได้สู้รบต้านทานได้ รบครั้งใดก็มีไชยชนะทุกครั้งทุกแห่ง ได้ผู้คนช้างม้าเครื่องสาตราวุธต่าง ๆ เปนอันมาก เขมรแลญวนจะต้านทานมิได้ ก็แตกพ่ายพังหนีไป กองทัพทั้งปวงไล่ติดตามเข้าไป ตั้งค่ายล้อมเมืองกัมพูชา[37] ไว้มั่นคง แต่ฝ่ายเขมรถือว่าญวนจะให้กำลัง ก็ยังตึงแขงอยู่[38] เจ้าพระยาจักรีจึงคิดอุบายจะให้ได้ราชการเปนพระเกียรติยศโดย[39] สดวก จึงให้แต่งศุภอักษรฉบับหนึ่ง[40] แล้วส่งให้ทูตถือศุภอักษรนั้นไปบอกความเมืองแก่นักแก้วฟ้าโดยทางชวนให้อ่อนน้อมด้วยดี[41] นักแก้วฟ้า ครั้นได้แจ้งในศุภอักษร จึงเห็นเปนดี ด้วยจะได้[42] พ้นไภยอันตราย เปนความสบาย[43] ในอนาคต จึงรับว่าจะถวายดอกไม้ทองเงินเปนเมือง[44] ขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร เจ้าพระยาจักรีได้ความดังนั้นมั่นคงแล้ว จึงสั่งให้นักแก้วฟ้าจัดดอกไม้ทองเงินส่งเข้ามาทูลเกล้า[45] ถวายตามคำปฏิญาณนั้น แล้วจึงเลิกทัพกลับคืนมายังกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ความทราบดังนั้น ทรงพระโสมนัศ[46] จึงพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่เจ้าพระยาจักรีแลนายทัพนายกองเปนอันมากตามสมควร แลทรงพระพิโรธพระยาโกษาธิบดีจีน[47] ให้ใช้ปืนน้อยใหญ่แลดินประสิวลูกกระสุนเรือรบซึ่งเสียไปแก่ญวนนั้น[48] ให้สิ้นเชิง.

สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีพระราชบุตรด้วยพระอรรคมเหษีกรมหลวงประชา[49] นุรักษ์นั้น ๕ พระองค์ คือ เจ้าฟ้านเรนทร ๑ หญิงเจ้าฟ้าเทพ ๑ หญิงเจ้าฟ้าปทุม ๑ เจ้าฟ้าอไภย ๑ เจ้าฟ้าบรเมศร ๑ พระมารดาชื่อ เจ้าท้าว ซึ่งเปนกรมหลวงประชา[50] นุรักษ์นั้น ในปีฉลู เอกศกนั้น มีพระราชบริหารให้ช่างปฏิสังขรณ์วัดมเหยงค์ เสด็จพระราชดำเนินไปให้ช่างกระทำการวัดนั้นเนือง ๆ บางทีก็เสด็จอยู่ที่พระตำหนักริมวัดมเหยงค์เดือนหนึ่งบ้างสองเดือนบ้าง ว่าราชการอยู่ในที่นั้น ๓ ปีเศษ วัดนั้นจึงสำเร็จแล้วบริบูรณ์ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ช่างปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวอันใหญ่ในปีเถาะ ตรีนิศก เสด็จไปทอดพระเนตรการที่วัดนั้นเดือนหนึ่งบ้างสองเดือนบ้างเหมือนพระเชษฐาธิราช ๓ ปีเศษวัดนั้นจึงสำเร็จแล้วบริบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระไทยทำปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เปนอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแหงฉมวกกั้นเฝือกดัดลอบดักไซ กระทำการฆ่าสัตวต่าง ๆ ประพาศป่าฆ่าเนื้อนก เล่นสนุกด้วยดักแร้วบ่วง ไล่ช้างล้อมช้างได้ช้างเถื่อนเปนอันมาก เปนหลายวันแล้วกลับคืนมายังพระนคร.

ในปีมเสง เบญจศกนั้น ให้ฉลองวัดมเหยงค์ ทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลเปนอันมาก ทรงพระราชทานเครื่องบริกขารแลวัตถุทานต่าง ๆ แก่พระสงฆ์ ๑๐๐๐ ตามพระราชประเพณีแต่ก่อน มีงานมหรศพสมโภช ๗ วัน เสร็จบริบูรณ์การฉลองนั้น.

ในปีมเมีย ฉศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างไม้ต่อกำปั่นใหญ่ไตรมุขยาว ๑๘ วา ๒ ศอก ปากกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ให้ตีสมอใหญ่ที่วัดมเหยงค์ ๕ เดือนกำปั่นใหญ่นั้นแล้ว ให้เอาออกไปยังเมืองมฤต บรรทุกช้างได้ ๓๐ ช้างเศษ ให้ไปขายเมืองเทศโน้น คนทั้งหลายลงกำปั่นใช้ใบไปถึงเมืองเทศ แล้วขายช้างนั้นได้เงินแลผ้าเปนอันมาก แล้วกลับคืนมายังเมืองมฤตสิ้นปีเศษ.

ณ ปีมแม สัปตศกนั้น พระมหาอุปราชให้ฉลองวัดกุฎีดาว บำเพ็ญพระราชกุศลให้ทานสักการบูชาแก่พระรัตนไตรยเปนอันมาก ให้เล่นงานมหรศพสมโภช ๗ วัน การฉลองนั้นสำเร็จบริบูรณ์ ในปีนั้น เจ้าพระไอยิกา[51] กรมหลวงโยธาทิพทิวงคตณพระตำหนักวัดพุทไธสวรรย์นั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างไม้กระทำการพระเมรุ ขื่อยาว ๕ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒๐ วา ๒ ศอก แลพระเมรุทองกลาง แลการพระเมรุทั้งปวงนั้น ๖ เดือนเศษจึงแล้ว เชิญพระโกษฐทองขึ้นราชรถพร้อมเครื่องอลงกฎแห่แหนเปนอันมากนำมาสู่พระเมรุทอง แลการที่บูชาให้ทานทั้งปวงตามอย่างราชประเพณีมาแต่ก่อน สมโภช ๗ วัน การพระศพนั้นสำเร็จบริบูรณ์.

ลุศักราชได้ ๑๐๘๓ ปีฉลู ตรีนิศก พระเจ้าอยู่หัว[52] เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศ[53] ที่ปากน้ำท่าจีน เมื่อเสด็จ[54] ไปถึงคลองมหาไชย ทอดพระเนตร[55] เห็นคลองนั้นขุดยังไม่แล้วค้างอยู่ ครั้นเมื่อเสด็จ[56] กลับคืนมาถึงพระนคร จึงทรงพระราชดำริห์แล้ว[57] ตรัศสั่งให้พระราชสงครามเปนนายกอง ให้เกณฑ์คนหัวเมืองปากใต้ ๘ หัวเมืองให้ได้คน ๓ หมื่นเศษ ๔ หมื่น ไปขุดคลองมหาไชย พระราชสงครามให้กะเกณฑ์จัดแจงได้ไพร่พล[58] ๓ หมื่นเศษ เสร็จแล้วถวายบังคมลาไป ครั้นถึงคลองมหาไชย จึงให้ฝรั่งเศสส่องกล้องแก้วดูให้ตรงปากคลอง ปักกรุยเปนสำคัญ ทางไกล ๓๔๐ เส้น ขุดที่ก่อนนั้นได้ที่แล้ว ๖ เส้นเศษ ยังไม่แล้วนั้นมากถึง ๓๔๐ เส้น ให้ขุดคลองฦก ๖ ศอก กว้าง ๗ ศอกเท่าเก่า เกณฑ์กันเปนน่าที่คน ๓ หมื่นเศษ ขุด ๒ เดือนเศษจึงแล้ว พระราชสงครามกลับมาเฝ้ากราบทูลพระกรุณาให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ความทราบ ทรงพระปีติปราโมทย์ จึงตรัศว่า พระราชสงครามให้เปนพระยาราชสงคราม แล้วพระราชทานเจียดทองเสื้อผ้าเงินตราเปนอันมาก คลองนั้นชื่อ คลองมหาไชย ตราบเท่าทุกวันนี้.

ในปีขาล จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเปนแม่กองเกณฑ์ไพร่พล[59] คนหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลัดคุ้งบางบัวทองนั้นอ้อมนัก ขุดลัดตัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามาให้เกณฑ์คนไพร่พล[60] ในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยนั้นฦก ๖ ศอก กว้าง ๖ วา ยาวทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว พระธนบุรีนั้นจึงกลับมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบทุกประการ.

ในปีเถาะ เบญจศกนั้น พระเจ้าอยู่หัว[61] ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศโพนช้างป่าหัวเมืองนครนายกฝ่ายตวันออก ในเพลาราตรีนั้นเดือนหงาย เสด็จไปไล่ช้างเถื่อน พระจันทร์เข้าเมฆ ช้างพระอนุชาธิราชขับแล่นตามไปทันช้างพระที่นั่งทรง ไม่ทันจะรอรั้ง ช้างพระที่นั่งกรมพระราชวัง[62] โถมแทงเอาท้ายช้างพระที่นั่ง ควาญท้ายช้างนั้นกระเดนตกจากช้างนั้นลง ช้างทรงเจ็บป่วยมาก ก็ซวนเซแล่นไปในป่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงขับช้างนั้นกลับมายังพลับพลาไชย พระมหาอุปราชไม่แกล้งจะให้ช้างแทง แต่หากรอรั้ง[63] ช้างนั้นมิทันที ตกพระไทย กลัวพระราชอาชญา เสด็จตามไปเฝ้าที่พลับพลาไชย จึงกราบทูลพระกรุณาว่า[64] ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้แกล้ง แสงพระจันทร์เข้าเมฆมืดมัวเปนเงาไม้ เห็นไม่ถนัด จะรอรั้ง[65] ช้างไว้มิทัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดอดโทษข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่สงไสยไม่ทรงพระพิโรธขุ่นเคืองแก่พระอนุชาธิราชเลย[66] สั่งหมอให้รักษาช้างนั้น แล้วกลับมาพระนคร.

ในปีเถาะ เดือน ๔ ข้างขึ้นนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์[67] เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลณพระพุทธบาทด้วยบริวารศักดิเปนอันมากทั้งทางบกทางเรือเปนพยุหบาตรยาตราตามอย่างแต่ก่อน ครั้นถึงพระพุทธบาท เสด็จอยู่ท่าเขษม ขึ้นนมัสการบูชาพระพุทธบาทกับด้วยพระอนุชาธิราช ๆ จึงกราบทูลพระกรุณาว่า ขอพระราชทานชีวิตร เมื่อข้าพระพุทธเจ้าขึ้นช้างตามเสด็จไป แลช้างนั้นแทงช้างพระที่นั่งทรงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มีเจตนาแกล้งจะให้ช้างแทงนั้นหามิได้ เปนความสัจความจริง ข้าพระพุทธเจ้าจะขอกระทำสัจสาบาลถวายเฉภาะน่า[68] พระพุทธบาทถวายแต่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมบัดนี้ สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงพระกรุณาโปรดดำรัศว่า ฉันหามีความแคลงแก่เจ้าฟ้า[69] ไม่ เจ้าฟ้า[70] อย่ากระทำสัจสาบาลเลย เคราะห์ฉันร้ายเอง ตรัศแล้วบูชานมัสการพระพุทธบาทบำเพ็ญพระราชกุศลให้ทานเปนอันมาก เล่นงานมหรศพสมโภช ๗ วันบูชาพระพุทธบาท[71] แล้วถวายนมัสการพระพุทธบาทกลับคืนมายังพระมหานคร.

ลุศักราชได้ ๑๐๘๗ ปีมเสง สัปตศก เจ้าอธิการวัดป่าโมกเข้ามาหาพระยาราชสงครามแจ้งความว่า พระพุทธไสยาศน์วัดป่าโมกนั้นน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเข้ามาถึงพระวิหารแล้ว ยังอิกประมาณสักปีหนึ่ง พระพุทธไสยาศน์เห็นจะพังลงน้ำเสียแล้ว พระยาราชสงครามได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระกรุณาให้ทราบเหตุแห่งพระพุทธไสยาศน์นั้นทุกประการ พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนั้น จึงปฤกษาด้วยข้าราชการทั้งปวงมีเสนาบดีเปนอาทิว่า เราจะรื้อพระพุทธไสยาศน์ไปก่อเอาใหม่จะดีฤๅ ๆ จะชลอไปไว้ในที่สมควรดี พระยาราชสงครามจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอออกไปดูก่อน แล้วถวายบังคมลาออกไปพิจารณาดู เห็นจะชลอลากได้ จึงกลับมากราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสาชลอลากพระพุทธไสยาศน์ให้ถึงที่อันควรให้จงได้ สมเด็จพระมหาอุปราชเฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ได้ทรงฟังดังนั้น ไม่เห็นด้วย จึงตรัศว่า พระพุทธไสยาศน์นั้นพระองค์โตใหญ่นัก เห็นจะชลอลากไม่ได้ กลัวจะแตกจะพังเปนการใหญ่ มิใช่ของหล่อ ถ้าไม่มีอันตรายก็จะดีอยู่ ถ้ามีอันตรายแตกพังหักทลาย จะอายอัปยศแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรอำมาตย์เสนาข้าราชการ เสียพระเกียรติยศ จะฦๅชาปรากฎไปในอนาคตเปนอันมาก ถ้าเรารื้อไปก่อใหม่ให้ดีงามกว่าเก่า เห็นจะง่ายดีอิก พระยาราชสงครามจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสาชลอลากพระพุทธไสยาศน์มิให้แตกหักพังไปเปนปรกติถึงที่ใหม่อันสมควรให้จงได้ ถ้าแลเปนอันตราย ขอถวายชีวิตร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ยังไม่วางพระไทย จึงดำรัศสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะมาประชุมแล้วตรัศว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้าทั้งปวง เราจะรื้อพระพุทธไสยาศน์ก่อใหม่ไว้ในที่ควร จะควรฤๅมิควร พระบาฬีจะมีประการใดบ้าง พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรว่า พระองค์ไม่แตกหักพังวิปริตเปนปรกติดีอยู่นั้น จะรื้อไปก่อใหม่ไม่ควร พระเจ้าแผ่นดินได้ทราบดังนั้น จึงตรัศสั่งให้พระยาราชสงครามคิดกระทำการชลอลากพระพุทธไสยาศน์นั้น.

ลุศักราชได้ ๑๐๘๘ ปีมเมีย อัฐศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปวัดป่าโมก ให้รื้อพระวิหาร แล้วให้ตั้งพระตำหนักพลับพลาไชยใกล้วัดชีปขาว ยับยั้งแรม ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้างกับด้วยพระอนุชาธิราช กลับไปกลับมา ให้กระทำการอยู่ ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง แล้วกลับมาพระนคร พระยาราชสงครามเกณฑ์ให้ข้าราชการไปตัดไม้ยางยาว ๑๔ วา ๑๕ วา น่าใหญ่ศอกคืบบ้าง ยาว ๔ วา ๕ วา น่าใหญ่ศอก ๑ บ้าง ให้ได้มาก ทำตะเฆ่แม่สดึง ให้เลื่อยเปนตัวไม้น่าใหญ่ศอกหนึ่งน่าน้อยคืบหนึ่งเปนอันมาก ให้เอาเสาไม้ยาง ๓ กำ ๓ วากลึงเปนกง เลื่อยกระดานน่า ๒ นิ้วจะปูพื้น ทางจะลากตะเฆ่ไปนั้นให้ปราบที่ให้เสมอทุบตีด้วยตลุมพุกให้ราบเสมอ ให้ฟั่นเชือกน้อยใหญ่เปนอันมาก แล้วให้เจาะฐานแท่นพระเจ้านั้นช่องกว้างศอกหนึ่ง เว้นไว้ศอกหนึ่ง ช่องสูงคืบหนึ่ง เว้นไว้เปนฟันปลา เอาตะเฆ่แอบเข้าทั้งสองข้าง ร้อยไม้ขวางทางที่แม่สดึง แล้วสอดกระดานน่าคืบหนึ่งนั้นบนหลังตะเฆ่ตลอดช่อง แล้วเจาะขุดรื้ออิฐหว่างช่องกระดานที่เว้นไว้เปนฟันปลานั้นออกเสีย เอากระดานน่านั้นสอดให้เต็มทุกช่อง แลการผูกรัดร้อยรึงกระดานทั้งปวงมั่นคงบริบูรณ์ห้าเดือนสำเร็จแล้วทุกประการ ครั้นได้ศุภวารดิถีเพลาพิไชยมงคลฤกษ์ดีแล้ว ให้ชลอลากชักตะเฆ่ที่ทรงพระพุทธไสยาศน์ไปเข้าที่อันจะกระทำพระวิหารนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชสงครามเลื่อนที่เปนสมุหนายก สมเด็จพระมหากระษัตริย์ให้ทำพระวิหารการเปรียญโรงพระอุโบสถพระเจดีย์กุฎีศาลากำแพงแลหอไตรฉนวน ๔๐ ห้องหลังคามุงกระเบื้อง แลส้วมฐานสพานบันได ๕ ปีเศษจึงแล้ว ยังไม่ได้ฉลอง ทรงพระประชวรหนักลง จึงพระราชทานราชสมบัตินั้นให้แก่เจ้าฟ้าอไภย พระมหาอุปราชไม่เต็มพระไทย ไม่ยอมอนุญาตให้ราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอไภย ถ้าให้ราชสมบัติแก่เจ้าฟ้านเรนทรจึงจะยอมให้ เจ้าฟ้านเรนทรซึ่งเปนกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เปนภิกษุภาว เมื่อมิได้รับซึ่งราชสมบัติ จึงมิได้ลาผนวชออก.

ฝ่ายเจ้าฟ้าอไภย พระบิดาให้อนุญาตแล้ว จึงรับราชสมบัติ ปราถนาจะทำสงครามกันกับด้วยพระมหาอุปราช จึงสั่งข้าราชการวังหลวงจัดแจงผู้คนกะเกณฑ์กระทำการตั้งค่ายคู ดูตรวจตราค่ายรายเรียงลงไปตามคลองแต่ประตูเข้าเปลือกจนถึงประตูจีน จึงให้ขุนศรีคงยศไปตั้งค่ายริมสพานช้างคลองประตูเข้าเปลือกฟากตวันตก ให้รักษาค่ายอยู่ที่นั้น.

ในกาลนั้น พระมหาอุปราชได้ทราบเหตุทั้งปวงนั้น ให้ข้าราชการตั้งค่ายข้างฟากตวันออก ให้รักษาค่ายในที่นั้น ฝ่ายพระราชบุตรพระมหาอุปราชเสด็จตรวจค่ายมาทงค่ายขุนศรีคงยศ ตรัศถามว่า ค่ายนี้ของใคร เขากราบทูบว่า ค่ายนี้ของขุนศรีคงยศ ทรงพระโกรธ จึงสั่งให้ขุนรามเกณฑ์หัดขึ้นบนเรือนชาวบ้านริมคลอง ส่องปืนตามช่องน่าต่าง ยิงขุนศรีคงยศถูกตาย กลับมาทูลแถลงพระบิดา ๆ ตรัศว่า ด่วนยิงเขาก่อนไย จึงกราบทูลว่า จะเอาฤกษ์เอาไชยไว้ก่อน.

ลุศักราชได้ ๑๐๙๔ ปีชวด จัตวาศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนักลง ก็ถึงแก่ทิวงคตในเดือนยี่ ข้างแรม ไปโดยยถากรรมแห่งพระองค์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาบังเกิดในปีมแม พระชนมายุได้ ๒๘ ปี ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๒๖ ปีเศษ พระชนมายุได้ ๕๔ ปีเศษ กระทำกาลกิริยา ผู้ใดมีเมตตา ไม่ฆ่าสัตว อายุยืน ไม่มีเมตตา ฆ่าสัตว อายุสั้น.


  1. เดิมว่า แก่
  2. เดิมว่า มุขมาตย์
  3. เดิมไม่มี
  4. เดิมว่า ลลาบลล้าว
  5. เดิมไม่มี
  6. เดิมว่า พระไอยกี
  7. เดิมไม่มี
  8. เดิมว่า ฝา
  9. เดิมไม่มี
  10. เดิมว่า ราชบริวาร
  11. เดิมไม่มี
  12. เดิมไม่มี
  13. เดิมมี แห่งพระองค์ (ทรงตัดออก)
  14. เดิมว่า ไอยกี
  15. เดิมว่า ฌาปนกิจต่าง ๆ
  16. เดิมไม่มี
  17. เดิมว่า แต่
  18. เดิมไม่มี
  19. เดิมว่า ธิบดีนั้น (ทรงตัดออก)
  20. เดิมว่า ทารา
  21. เดิมว่า แห่งตน
  22. เดิมไม่มี
  23. เดิมไม่มี
  24. เดิมไม่มี
  25. เดิมว่า แทบ
  26. เดิมไม่มี
  27. เดิมไม่มี
  28. เดิมว่า กัมพูชาธิบดี (ทรงตัดออก)
  29. เดิมไม่มี
  30. เดิมไม่มี
  31. เดิมว่า สรรพา
  32. เดิมว่า กัมพูชาธิบดี (ทรงตัดออก)
  33. เดิมว่า กรีธาพลทวยหาญพยุหบาตรา
  34. เดิมว่า มรคา
  35. เดิมว่า กัมพูชาธิบดี (ทรงตัดออก)
  36. เดิมว่า แตกพ่ายเปนหลายตำบล (ทรงตัดออก)
  37. เดิมว่า กัมพูชาธิบดี (ทรงตัดออก)
  38. เดิมไม่มี
  39. เดิมไม่มี
  40. เดิมไม่มี
  41. เดิมว่า พระราชไมตรี
  42. เดิมว่า พิจารณาเห็นซึ่งจะ
  43. เดิมว่า อันดี
  44. เดิมไม่มี
  45. เดิมไม่มี
  46. เดิมว่า ดีพระไทย
  47. เดิมไม่มี
  48. เดิมไม่มี
  49. เดิมว่า ราชา
  50. เดิมว่า ราชา
  51. เดิมว่า ไอยกี
  52. เดิมว่า กรุงเทพมหานคร
  53. เดิมว่า ทรงเบ็ด
  54. เดิมไม่มี
  55. เดิมไม่มี
  56. เดิมว่า ทรงเบ็ดแล้ว
  57. เดิมว่า กรุณา
  58. เดิมว่า พลนิกาย
  59. เดิมว่า พลนิกาย
  60. เดิมว่า พลนิกาย
  61. เดิมว่า บรมกระษัตริย์
  62. เดิมว่า เกี่ยว
  63. เดิมว่า เกี่ยว
  64. เดิมว่า ข้าแต่พระองค์ทรงพระคุณอันประเสริฐ (ทรงตัดออก)
  65. เดิมว่า เกี่ยว
  66. เดิมว่า นั้นหามิได้
  67. เดิมว่า มหากระษัตริย์
  68. เดิมว่า ในสำนักนิ์แห่ง
  69. เดิมว่า ข้าหาแคลงแก่เจ้า
  70. เดิมว่า เจ้า
  71. เดิมว่า เจ้า