พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 2/บท 8

แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระบรมโกษฐ)

กระษัตริย์ทั้งสองพระองค์ให้ทหารรบสู้กันหลายวันหลายเพลาแล้ว วันหนึ่งจึงเจ้าฟ้าอไภยให้หลวงไชยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิศณุโลกคุมพลทหารร้อยเศษพร้อมด้วยเครื่องสรรพาวุธต่าง ๆ ให้ยกทัพไปทางชีกุนอ้อมโอบไปให้ตีวังน่า จัดแจงแล้วส่งไป ฝ่ายพลทหารวังน่ารู้เหตุดังนั้นก็ยกมา ๒๐๐ เศษ พลทหารสองฝ่ายเข้าประทะชิงไชยรุกไล่ต้านทานยิงแทงฟันกันเปนสามารถ พลทหารวังน่าได้ทีตีกระโจมโถมแทงทลวงไล่ล้อมเข้าฆ่าฟันทหารวังหลวงตายเปนอันมาก จะต้านทานมิได้ ก็แตกฉานทิ้งนายทัพเสีย ก็พ่ายหนีไป ฝ่ายทหารวังน่าก็ล้อมพร้อมกันเข้ารุมจับหลวงไชยบูรณ์ได้ เอาตัวไปถวายแก่พระมหาอุปราช ๆ ให้เฆี่ยนหลวงไชยบูรณ์เสีย ๕๐ ที ให้ถามได้เนื้อความสิ้น แล้วให้จำมั่นไว้ วันหนึ่งพลทหารวังน่าประมาณ ๕๐๐ ยกมาทางถนนป่าผ้าเขียว เข้าพังคุกทลายเข้าไปแก้ไขเอาคนโทษประมาณ ๗๐๐ ปล่อยออกมาได้สิ้นจากคุก.

ครั้งนั้น พระธนบุรีมาอาสาเจ้าฟ้าอไภยยกพลทหาร ๕๐๐ ข้ามคลองสพานช้างเข้าตีค่ายวังน่าแตกได้ ๒ ค่าย ๓ ค่าย รบพุ่งกันเปนสามารถ พระมหาอุปราชรู้เหตุนั้น ตกพระไทย ปรารภจะหนีไป จึงปฤกษาด้วยข้าราชการว่า ทหารเราฝีมืออ่อนกว่าเขา รักษาค่ายไม่ได้ เห็นจะรับเขามิหยุด เราจะคิดประการใด ขุนชำนาญจึงกราบทูลพระกรุณาว่า พระองค์อย่ากลัว อย่าเพ่อหนีก่อน ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสาถวายชีวิตร จะขอตายก่อนพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายบังคมลาออกไปรบกันกับข้าศึกบัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้ม้าเร็วตามออกไปคอยดูข้าพระพุทธเจ้ารบกับข้าศึก ถ้าเห็นข้าพระพุทธเจ้าตายในที่รบแล้ว ให้ม้าใช้กลับมาจงเร็วกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระองค์ทรงทราบว่าข้าพระพุทธเจ้านี้ตายแล้วจึงหนี ถ้าข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ตาย อย่าเพ่อหนีก่อน ว่าแล้วถวายบังคมลามาจัดพลทหาร ๓๐๐ เศษออกไปถึงทัพพระธนบุรี ก็ขับไล่พลทหารเข้าจู่กระโจมตีหักหาญ ต่อต้านชิงไชย ทลวงไล่ลุยประหาร ทะยานฟันแทง ต่อแย้งต่อยุทธ โห่อึงอุตม์เอาไชย ขุนชำนาญทหารใหญ่ บุกรุกไล่ไม่ท้อถอย ระวังคอยป้องกัน รุกไล่ตีรันฟันฟาด ทหารพระธนบุรีแตกหนีดาษกันไป พระธนบุรีหาหนีไม่ ขึ้นม้าผูกเครื่องใหม่ ใจหาญรับต้านทาน ขุนชำนาญทหารใหญ่ บุกรุกไล่เข้าฟาดฟันพระธนบุรี ๆ แทงด้วยหอกผัดผัน รบสู้กันเปนสามารถ ขุนชำนาญถือดาบฟาดสองมือมั่น จู่โจมโถมเข้าจ้วงฟัน ถูกพระธนบุรีนั้นฅอขาดบนหลังม้าตายในที่รบ ขุนชำนาญคนขยันตัดศีศะมาถวาย ฝ่ายทหารทั้งหลายไล่ติดตามเข่นฆ่าพลโยธาวังหลวงไป จับได้บ้าง ตายก็เปนอันมากในที่รบนั้น สมเด็จพระมหาอุปราชทอดพระเนตรเห็นศีศะพระธนบุรี มีพระไทยยินดียิ่งนัก ตรัศสั่งให้จัดพลทหารขึ้นเปนอันมาก จะให้ไปตีพระราชวังหลวง ฝ่ายพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ คือ เจ้าฟ้าอไภย แลเจ้าฟ้าบรเมศร เห็นพลทหารปราไชยเปนหลายครั้ง ก็สดุ้งตกพระไทยกลัว ให้เอาพระราชทรัพย์ต่าง ๆ เปนอันมากลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกัน ก็หนีไปในราตรีกาลโดยทางป่าโมก ฝีพายทั้งหลายนั้นไม่เต็มใจจะไปด้วย โดดน้ำหนีเสียกลางทาง ครั้นถึงบ้านเลน จึงเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งหนีไปทางบกจวนรุ่งขึ้น เข้าเร้นอยู่ในป่าอ้อป่าพงแขมอันรกใกล้บ้านเอกราช นายด้วงมหาดเล็กคนเดียวตามเจ้าไป ได้เที่ยวไปขอเข้าชาวบ้านมาเลี้ยงเจ้าทั้งสองพระองค์ อยู่ ๖ วัน ๗ วัน นายด้วงลาเจ้านั้นมาเยี่ยมมารดาที่บ้านหม้อ วันหนึ่ง เจ้านั้นให้พระธำมรงค์วงหนึ่งแก่นายด้วงให้ซื้อเข้าชาวบ้าน ๆ จึงรู้ว่า พระธำมรงค์ของเจ้า กลัวความนั้นจะไม่ลับ จึงบอกเหตุนั้นแก่ข้าหลวง ๆ จึงบอกคดีนั้นแก่ขุนชำนาญ ๆ ให้จับเอาตัวนายด้วงมา จึงกราบทูลพระกรุณาให้ทราบคดีนั้น แล้วจึงคุมเอาพลทหารเปนอันมากลงเรือไป ให้นายด้วงนำไปถึงบ้านเอกราช ให้ไล่กวาดเอาชาวบ้านทั้งหลายไปล้อมป่าพงแขมที่เจ้าทั้งสองพระองค์อยู่ให้มั่นคง แล้วขุนชำนาญทหารใหญ่แต่งตัวกับทหารร่วมใจเจ็ดคนนั้นใส่เครื่องกะตุดลูกประคำ แล้วถือดาบสองมือกับด้วยทหารร่วมใจเจ็ดคนนั้น ให้นายด้วงชี้ทางค่อยย่องเข้าไป เห็นพระราชบุตรเจ้าทั้งสองเอาดินมาปั้นตัวหมากรุกเล่นกันอยู่ ขุนชำนาญทหารใหญ่แอบเข้าไปนั่งใกล้ เห็นพระแสงดาบสองเล่ม ครั้นจะเข้าจับก็เกรงอยู่ เจ้าฟ้าอไภยเห็นขุนชำนาญทหารใหญ่ถือดาบสองมือกับบ่าวเจ็ดคนแต่งตัวมั่นคงพร้อมมือกัน ก็ตกพระไทยกลัว บอกเจ้าฟ้าบรเมศรว่า พระยามัจจุราชมาถึงเราแล้ว ขุนชำนาญทหารใหญ่ร้องทูลเข้าไปว่า พระองค์อย่ากลัวเลย เสด็จไปกับข้าพระเจ้าเถิด จะช่วยแก้ไขให้รอดชีวิตร พระองค์ส่งพระแสงทั้งสองนั้นมาให้แก่ข้าพระเจ้าก่อนเถิด เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์กลัวขุนชำนาญยิ่งนัก ร้องบอกว่า ข้าลืมสติไป จึงส่งพระแสงทั้งสองเล่มนั้นให้แก่ขุนชำนาญ ๆ ก็เกลี้ยกล่อมด้วยสุนทรวาจาต่าง ๆ ให้อ่อนพระไทย แล้วพาเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ออกมาจากป่าพงลงเรือโขมดยา ทหารอยู่เรือก็แห่ห้อมล้อมมา ครั้นถึงพระนครแล้ว ขุนชำนาญชาญณรงค์ก็พาเจ้าฟ้าทั้งสองขึ้นไปถวายสมเด็จพระมหาอุปราช ๆ ได้ทราบความทั้งปวงนั้นแล้ว สั่งให้จำเจ้าฟ้าทั้งสองนั้นไว้ ๒ วัน ๓ วัน ให้ไต่ถามได้เนื้อความแล้ว ให้ประหารชีวิตรเสียทั้งสองพระองค์ด้วยไม้ค้อนท่อนจันทน์ตามราชประเพณีแต่ก่อน เจ้าพระองค์แก้วพี่เขยนั้นไปด้วยเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้น ครั้นเห็นฝีพายโดดน้ำไปสิ้นดังนั้น ก็ตกพระไทยกลัว คิดจะกลับคืน เมื่อจะขึ้นจากเรือ จึงถือเอาเครื่องยศไปตามหลัง เจ้าฟ้าทั้งสองนั้นไปก่อนน่า แกล้งเดินให้ช้าไม่ทัน คลาดห่างลับตัวแล้ว ก็กลับหนีคืนมาสู่เมือง เอาเครื่องยศเข้าไปถวายแก่พระมหาอุปราช กราบทูลพระกรุณาด้วยกลอุบายต่าง ๆ สมเด็จพระมหาอุปราชได้ทราบสิ้นแล้ว ตรัศสั่งให้จำเจ้าพระองค์แก้วไว้ จึงคิดการลับด้วยขุนชำนาญ ๆ จึงให้เอาพระธำมรงค์ที่เจ้าฟ้าอไภยให้นายด้วงไปซื้อเข้านั้นมา แล้วให้เอาพระธำมรงค์นั้นลอบไปฝังไว้ริมต้นยางริมบ้านเรือนเจ้าพระองค์แก้วในเวลากลางคืน แล้วให้หาอ่อท้าวที่ไว้ใจได้นั้นมา ขุนชำนาญให้กระซิบบอกความลับนั้นแก่อ่อท้าวให้รู้ แล้วให้อ่อท้าวนั้นลงผีดูพระธำมรงค์ที่หายไปนั้นจะตกเรี่ยอยู่ที่ไหนในน้ำในบกประการใด จะได้คืนฤๅมิได้คืน ให้อ่อท้าวคนทรงบอกให้จงแจ้ง ส่วนอ่อท้าวคนทรงรู้เหตุอยู่แล้ว แกล้งกระทำมายาเปนเทวดามาสิงสู่ ทำหาวเรอพูดผย่ำเผยอแล้วทายว่า จะได้พระธำมรงค์นั้นคืน แต่ทว่า มีคนเอาไปซ่อนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ ผู้ถามจึงถามว่า จะนำไปได้ฤๅมิได้ จึงบอกว่า จะไปให้ถึงที่นั้นได้ ว่าแล้วจึงนำข้าหลวงนั้นไปขุดเอาพระธำมรงค์นั้นได้ที่ริมต้นยาง ข้าหลวงก็นำเอาพระธำมรงค์นั้นมาถวาย จึงทรงพระกรุณาตรัศสั่งให้ลูกขุนพิจารณาพิพากษาโทษเจ้าพระองค์แก้ว ลูกขุนเห็นว่า พระธำมรงค์อยู่ในบ้านเรือนเจ้าพระองค์แก้ว จึงพิพากษาว่า เจ้าพระองค์แก้วเปนกระบถ โทษถึงตาย จึงกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ แล้วให้ประหารชีวิตรเจ้าพระองค์แก้วนั้นเสีย ส่วนนายด้วงมหาดเล็กไปด้วยเจ้าทั้งสองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดว่า อ้ายด้วงนี้มันกตัญญูจงรักภักดีในเจ้า อย่าฆ่ามันเสียเลย เลี้ยงไว้ให้เปนข้าราชการสืบไปเถิด ส่วนนายเสมพระยาพิไชยราชา แลนายพูนพระยายมราช คนทั้งสองนี้ ครั้นเจ้าหนีไปแล้ว ก็พากันหนีไปบวชเปนภิกษุอยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี ข้าหลวงทั้งหลายติดตามไปได้ตัวภิกษุทั้งสองนั้นมา ให้รักษาคุมตัวไว้ในวัดฝาง นายสังราชาบริบาลหนีไปบวชเปนภิกษุอยู่แขวงเมืองบัวชุม ข้าหลวงติดตามไปได้ตัวมา สึกออกแล้วให้ประหารชีวิตรเสียที่หัวแตลงแกง พระมหาอุปราชให้แขกจามมาแทงภิกขุสองรูปอันอยู่ที่วัดฝางนั้นตายเวลากลางคืน หมื่นราชสิทธิกรรม์กรมช้างเปนบุตรปขาวจันเพ็ชร เอาปืนใหญ่ขึ้นบนโรงช้างยิงไปในพระราชวังน่าเมื่อรบกันอยู่นั้นถูกกิ่งต้นสนหัก พระมหาอุปราชรู้จักตัว ทรงพระพิโรธ ให้จับหมื่นราชสิทธิกรรม์ได้ตัวมา ให้เฆี่ยน ๕๐ ที แล้วให้ถามได้ความว่า เปนบุตรปขาวจันเพ็ชร ให้หาปขาวจันเพ็ชรมา พระองค์รู้จักอยู่แต่ก่อน จึงตรัศถามว่า ปขาวจันเพ็ชร อ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์บุตรของท่านกระทำการดังนี้ โทษตัวมันจะเปนประการใด ปขาวจันเพ็ชรจึงกราบทูลพระกรุณาว่า บุตรข้าพระพุทธเจ้ากระทำการเปนกระบถดังนี้ โทษถึงตาย ๗ ชั่วโคตรตามบทพระไอยการ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ตรัศได้ทรงทราบดังนั้น จึงตรัศชมว่า ปขาวจันเพ็ชรเปนผู้ใหญ่สัจซื่อตรง ว่ากล่าวคำนั้นจริง ปขาวจันเพ็ชรจะขออ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์ฤๅ ปขาวจันเพ็ชรจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ผู้กระทำผิดคิดมิชอบแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่รับพระราชทานขอโทษเลย ควรมิควรตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด จึงทรงพระกรุณาโปรดตรัศว่า เออ ปขาวจันเพ็ชรไม่เสียทีเปนผู้ใหญ่ ว่ากล่าวนั้นชอบ เราเห็นด้วย เราให้ชีวิตรอ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์แก่ปขาวจันเพ็ชรเถิด แต่ทว่า โทษตัวมันมาก ให้อ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์ไปกระทำการต่อสำเภากว่าจะสิ้นโทษ ปขาวจันเพ็ชรได้ฟังดังนั้น ก็โสมนัศยินดียิ่งนัก จึงถวายบังคมลาไป.

ลุศักราชได้ ๑๐๙๕ ปีฉลู เบญจศก ณเดือน ๕ นั้น ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงมีเสนาบดีเปนประธาน กับทั้งสมเด็จพระสังฆราชพระราชาคณะประชุมพร้อมกัน ถึงวันศุภวารดิถีพิไชยมงคลมหามหุติฤกษ์ จึงกระทำการพิธีปราบดาภิเศกอัญเชิญสมเด็จพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นผ่านพิภพมไหศวรรยาธิปัติถวัลยราชสมบัติณพระที่นั่งวิมานรัตยาในพระราชวังบวรสถานฝ่ายน่านั้นสืบต่อไป ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงพร้อมกันกราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒสัตยาถวายสัตย์สาบาลตามบุราณราชประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนชำนาญชาญณรงค์เปนเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี โปรดให้หลวงจ่าแสนยากรเปนเจ้าพระยาอไภยมนตรีว่าที่สมุหนายก โปรดให้พระยาราชสงครามผู้ว่าที่สมุหนายกเดิมนั้นว่าที่สมุหกระลาโหม แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งข้าหลวงเดิมทั้งหลายแต่บรรดาที่มีความชอบนั้นเปนเจ้าพระยาแลพระยาพระหลวงเมืองขุนหมื่นพันทนายเปนอันมากตามลำดับถานานุศักดิ์ซึ่งมีความชอบมากแลน้อย พระราชทานบำเหน็จแลรางวัลเครื่องยศแลเสื้อผ้าเงินตราเปนอันมากตามสมควรแก่คุณานุรูปทั่วทุกคน แล้วโปรดให้พระพันวัสสาใหญ่เปนกรมหลวงอไภยนุชิต ให้พระพันวัสสาน้อยเปนกรมหลวงพิพิธมนตรี แลพระพันวัสสาทั้งสองพระองค์นี้เปนบุตรีนายทรงบาศซึ่งเปนเจ้าพระบำเรอภูธรครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไอยกานั้น พระมารดาเปนเชื้อสกูลพราหมณ์ชาวเมืองเพ็ชรบุรี[1] แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ซึ่งทรงพระนาม เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงษ์ พระราชบุตรพระพันวัสสาใหญ่นั้น เปนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัต พระราชบุตรพระพันวัสสาน้อย เปนเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษมนตรี ให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าแขกเปนกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์เจ้ามังคุด[2] เปนกรมหมื่นจิตรสุนทร พระองค์เจ้ารถเปนกรมหมื่นสุนทรเทพ พระองค์เจ้าปานเปนกรมหมื่นเสพภักดี ให้เจ้าฟ้านเรนทรซึ่งทรงพระผนวชอยู่นั้นเปนเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าดอกเดื่อเปนเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ตั้งครั้งหลังคราวกรมหมื่นเสพภักดี แลกรมหลวงอไภยนุชิตพระมเหษีใหญ่มีพระราชบุตรพระองค์หนึ่ง พระราชธิดา ๖ พระองค์ แลพระเชษฐบุตรีทรงพระนาม เจ้าฟ้าบรม ๑ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร คือ กรมเสนาพิทักษ์ ๑ เจ้าฟ้าธิดา ๑ เจ้าฟ้ารัศมี ๑ เจ้าฟ้าสุริยวงษ์ ๑ เจ้าฟ้าสุริยา ๑ เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี ๑ เปน ๗ พระองค์ด้วยกัน แลกรมหลวงพิพิธมนตรีพระอรรคมเหษีน้อยมีพระราชบุตร ๒ พระองค์ พระราชบุตรี ๖ พระองค์ ทรงพระนาม เจ้าฟ้าประภาวดี ๑ เจ้าฟ้าประชาวดี ๑ เจ้าฟ้าพินทวดี ๑[3] เจ้าฟ้าเอกทัต คือ กรมขุนอนุรักษมนตรี นั้น ๑ เจ้าฟ้าจันทวดี ๑ เจ้าฟ้ากระษัตรี ๑ เจ้าฟ้ากุสุมาวดี ๑ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ คือ กรมขุนพรพินิต นั้น ๑ เปน ๘ พระองค์ด้วยกัน แลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธพระบรมศพพระเชษฐาธิราช ดำรัศว่า เห็นแก่ผู้น้อยดีกว่าผู้ใหญ่ ให้ราชสมบัติแก่บุตร มิได้ให้แก่เราผู้เปนเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก คิดจะใคร่เอาศพทิ้งน้ำเสีย ไม่เผาแล้ว ก็อายแก่คนทั้งปวง.

จึงเจ้าพระยาราชนายกผู้ว่าที่สมุหพระกระลาโหมกราบทูลวิงวอนขอให้ถวายพระเพลิงเปนหลายครั้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดดำรัศสั่งให้กระทำพระเมรุมาศขนาดน้อย ขื่อห้าวาสองศอก แลการพระเมรุนั้นเก้าเดือนจึงสำเร็จ ครั้นถึงศุภวารดฤถีพิไชยฤกษ์ จึงให้เชิญพระบรมโกษฐไปขึ้นพระมหาพิไชยราชรถพร้อมไปด้วยรูปสัตวแลเครื่องแห่ทั้งปวงตามอย่างโบราณราชประเพณี แห่ไปเข้าพระเมรุมาศ ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสดับปกรณ์หกพัน ถวายไตรจีวรปริขารเครื่องไทยทานต่าง ๆ มีงานมหรศพสมโภชสามวัน แล้วถวายพระเพลิง สำเร็จการทั้งปวงในเดือนสี่ ปีฉลู เบญจศกนั้น.

ลุศักราช ๑๐๙๖ ปีขาล ฉศก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัศสั่งท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า วัดปากโมกนั้นการทั้งปวงสำเร็จบริบูรณแล้ว ให้จัดแจงการฉลองแลเครื่องสักการบูชาไว้ให้พร้อมสรรพ ครั้นถึงวิสาขมาศ ศุกรปักษดฤถี พิไชยฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน อันอลังการด้วยเครื่องอภิรุมรัตนฉัตรชุมสายบังแทรกสลอนสลับ ประดับด้วยเรือศีศะสัตวดั้งกันสรรพอเนกนาวา ท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาท โดยเสด็จพระราชดำเนินแห่แหน ตามกระบวนพยุหบาตราน่าหลังเปนขนัดแน่น เดียรดาษแดนอรรณพนทีธาร บรรลุพลับพลาไชยณวัดชีปขาว เสด็จขึ้นประทับในที่นั้น แล้วเสด็จทรงพระราชยานดำเนินโดยสถลมารคถึงวัดปากโมก ให้มีงานฉลอง พระสงฆ์สามร้อยรูปสวดพระพุทธมนต์แลรับพระราชทานฉันสามวัน แล้วทรงถวายไทยทาน ให้เล่นการมหรศพต่าง ๆ ถวายพุทธสมโภชครบตติยวาร ณทุ่งนางฟ้าริมพระอารามในวันเปนที่สุดนั้นให้มีช้างบำรูกัน เพลาเย็นเกิดพยุใหญ่พัดโรงร้านแลรทาหักล้มทำลายเปนมหัศจรรย์ ครั้นเสร็จการสมโภชแล้ว ก็เสด็จโดยขบวนนาวาพยู่ห์คืนเข้าพระมหานคร.

ครั้นถึงเดือนเก้า ข้างขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระมลประสงค์จะให้พระราชบุตรธิดาทอดพระเนตรดูล้อมช้างเถื่อน จึงมีพระราชโองการตรัศให้เจ้ากรมหมื่นอินทรภักดี กับเจ้าพระยาราชนายผู้ว่าที่กระลาโหม เปนแม่กองเกณฑ์คนสามหมื่นขึ้นไปล้อมช้างเถื่อนณป่าแขวงเมืองลพบุรี ให้ตั้งค่ายมั่นณที่ใกล้คันชเลชุบศรข้างบุรพทิศที่สมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าเคยตั้งแต่ก่อนนั้น แลตั้งพลับพลาไชยริมต้นไม้ใหญ่ ครั้นถึงเดือนเก้า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จโดยทางชลมารค พร้อมด้วยเรือข้าทูลลอองธุลีพระบาท แลพระราชบุตรธิดาพระราชวงศานุวงษ์ แลเรือพระประเทียบทั้งปวงโดยเสด็จพระราชดำเนินเปนอันมาก ขึ้นไปยังเมืองลพบุรี ฝ่ายพวกพนักงานกรมช้างก็ไล่ล้อมกันฝูงช้างเถื่อนเข้าสู่ที่ค่ายมั่น แล้วให้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ที่ล้อม เสด็จขึ้นสู่พลับพลาไชย ทอดพระเนตรดูช้าง พลางดำรัศสั่งให้กรมช้างเอาช้างเชือกวงล้อมเข้าคล้องจับช้างเถื่อนซึ่งขังอยู่ในค่ายนั้น แลเสด็จไปทอดพระเนตรสองเวลา จับได้ช้างเถื่อนพลายพังร้อยแปดสิบช้าง แล้วโปรดให้เปิดปล่อยช้างเถื่อนที่ยังเหลืออยู่ประมาณสามร้อยเศษไปป่า แล้วเสด็จเข้าประทับยังเมืองลพบุรี.

ครั้นถึงณเดือนสิบ ข้างแรม จีนนายก่ายณกรุงเทพมหานคร พรรคพวกประมาณสามร้อยเศษ คบคิดกันเปนขบถยกเข้ามาในเพลาราตรี จะเข้าปล้นชิงเอาพระราชวังหลวง พระยาเพ็ชรพิไชยแลข้าราชการทั้งปวงซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้นชวนกันออกต่อรบฆ่าฟันจีนขบถป่วยเจ็บล้มตายเปนอันมาก พวกจีนขบถจะเข้าพระราชวังมิได้ ก็แตกพ่ายหนีไป ขณะนั้น เจ้าพระตรัศน้อยซึ่งเปนพระราชบุตรพระไอยกา ทรงผนวชอยู่ณวัดพุทไธสวรรย์นั้น ก็เสด็จเข้ามาอยู่ช่วยป้องกันรักษาพระราชวังด้วย จึงพระยาเพชรพิไชยแลข้าราชการทั้งหลายซึ่งอยู่รักษาพระนครนั้นก็แต่งหนังสือบอกให้เรือเร็วถือขึ้นไปณเมืองลพบุรีกราบทูลพระกรุณาให้ทราบเหตุนั้นทุกประการ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็ตกพระไทย พระราชดำริห์สงไสยเจ้าพระตรัศน้อย ดำรัศว่า พระสมีสำมยังนั้นจะเอาราชสมบัติเองฤๅประการใด ฝ่ายเจ้าพระวัดพุทไธสวรรย์ก็เสด็จลงเรือเร็วรีบขึ้นไปณเมืองลพบุรี เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระพรแถลงเหตุนั้นให้ทราบ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัศยินดี หายที่ข้อทรงพระวิตก ครั้นเพลาสิบเอ็จทุ่ม วันแรมสิบเอ็จค่ำ ในเดือนสิบนั้น ก็เสด็จโดยทางชลมารคจากเมืองลพบุรีกลับมายังพระมหานครศรีอยุทธยา ดำรัศสั่งให้พิจารณาสืบสาวเอาตัวจีนขบถ จับตัวได้สองร้อยแปดสิบเศษ ที่เปนต้นเหตุนั้นสี่สิบคนให้ประหารชีวิตรเสีย เหลือนั้นให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วปล่อยไปให้พ้นโทษ.

ลุศักราช ๑๐๙๗ ปีเถาะ ทรงพระกรุณาดำรัศสั่งเจ้าพระยาราชนายกผู้ว่าที่กระลาโหมให้เปนแม่กองทำการปฏิสังขรณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทซึ่งคร่ำคร่าอยู่นั้น ให้รื้อเครื่องบนลงปรุงใหม่ แลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรลงในปีนั้น.

ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ซึ่งทรงผนวชอยู่ณวัดยอดเกาะนั้นเสด็จเข้ามาอยู่ณวัดโคกแสงภายในพระนคร เข้าไปเยี่ยมเยือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอันทรงพระประชวรอยู่ในพระราชวังน่านั้นเนือง ๆ อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ตรัศใช้ให้พระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ซึ่งเปนพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ออกไปทูลลวงเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ว่า มีพระราชโองการให้นิมนต์เข้าไปในพระราชวังน่าในเพลาราตรี เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์สำคัญว่าจริง ก็เสด็จเข้ามาในพระราชวัง ขึ้นไปบนน่าพระไชย เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์แอบพระทวารคอยอยู่ เอาพระแสงดาบฟันเอาเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์หาเข้าไม่ เพราะมีวิชาการดี ถูกแต่ผ้าจีวรขาด เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ตกพระไทยกลัวพระราชอาชญา วิ่งเข้าไปข้างในไปตำหนักพระราชมารดา เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ก็เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ๆ ได้ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัศถามว่า เหตุไฉนผ้าจีวรจึงขาด เจ้าพระถวายพระพรว่า กรมขุนเสนาพิทักษ์หล่อนหยอก ครั้นเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรถวายพระพรลาออกมาแล้ว กรมหลวงอไภยนุชิตจึงเสด็จมาอ้อนวอนว่า ถ้าพ่อมิช่วยก็เห็นจะตาย เจ้าพระจึงตรัศว่า จะช่วยได้ก็แต่กาสาวพัสตรอันเปนธงไชยพระอรหัต กรมหลวงอไภยนุชิตได้พระสติขึ้น จึงเสด็จกลับเข้าไป แล้วพากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นซ่อนในพระวอ ทรงพระวอเดียวกันออกทางประตูฉนวนไปวัดโคกแสง ให้บวชเปนภิกขุอยู่ณวัดนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เปนอันมาก ดำรัศให้ค้นหาตัวในพระราชวังมิได้พบ ได้แต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าชื่น พระองค์เจ้าเกิด ซึ่งร่วมคิดกันนั้น ดำรัศสั่งให้เอาไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ดับสูญทั้งสองพระองค์.

ในปีเถาะนั้น นักพระแก้วฟ้าผู้ครองกัมพูชาธิบดีให้ทูตถือศุภอักษรเข้ามากราบทูลพระกรุณาว่า กองช้างไปโพนช้างคล้องต้องช้างพังเผือกช้างหนึ่งสูงสามศอกเจ็ดนิ้ว จะส่งเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ ดำรัศสั่งให้ข้าหลวงกรมช้างออกไปรับนางพระยาเสวตรกริณีนั้นเข้ามา แลนักพระแก้วฟ้าจึงแต่งพระยาพระเขมรสามนายให้คุมเอานางพระยาช้างเผือกนั้นเข้ามากับด้วยข้าหลวงมาถึงตำบลบ่อโพง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จัดแจงออกไปรับเข้ามาประทับอยู่ณโรงริมวัดนางเลิ้ง ให้มีงานมหรศพสมโภชสามวัน แล้วพระราชทานขนานนาม พระวิเชียรหัศดินวรินทรเลิศฟ้า แล้วให้รับมาด้วยเรือขนานแห่ขึ้นพระราชวังหลวง ให้อยู่ในโรงยอดใกล้พระที่นั่งวิหารสมเด็จ แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่พระยาพระเขมรทั้งสามนั้นโดยควรแก่ถานานุศักดิ์ แลพระราชทานเครื่องยศแลบรรณาการตอบแทนไปแก่นักพระแก้วฟ้าเปนอันมาก พระยาพระเขมรทั้งสามนายก็กราบถวายบังคมลากลับไปกรุงกัมพูชาธิบดี.

อนึ่ง การซึ่งกระทำพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทนั้นสิบเดือนจึงสำเร็จ แลองค์เก่านั้นหุ้มแต่ดีบุก หาปิดทองไม่ กระทำใหม่ครั้งนี้ ทรงพระกรุณาให้ปิดทองยอดแลช่อฟ้าใบรกานาคสดุ้งบราลีเชิงกลอนดอกจอกทั้งสิ้น อนึ่ง พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์แลพระที่นั่งสุริยามรินทรก็คร่ำคร่าชำรุดทั้งสองปราสาท ดำรัศให้รื้อลงปรุงเครื่องบนทำใหม่ แลพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์นั้นทำหกเดือนจึงเสร็จ พระที่นั่งสุริยามรินทรนั้นทำแปดเดือนจึงแล้ว.

ในปีเถาะนั้น สมเด็จพระไอยกีกรมหลวงโยธาเทพซึ่งเสด็จอยู่ณพระตำหนักริมวัดพุทไธสวรรย์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้ทำพระเมรุมาศขนาดน้อยณวัดพุทไธสวรรย์นั้น แล้วเชิญพระโกษฐขึ้นพระยานุมาศแห่มาเข้าพระเมรุ พระราชทานพระสงฆ์สดับปกรณ์ แลมีงานมหรศพสามวัน แล้วเสด็จไปพระราชทานเพลิงตามโบราณราชประเพณีสืบ ๆ กันมา.

ลุศักราช ๑๐๙๙ ปีมเสง นพศก สมเด็จพระอรรคมเหษีใหญ่กรมหลวงอไภยนุชิตทรงพระประชวรหนัก จึงกราบทูลขอพระราชทานโทษพระราชบุตรซึ่งเปนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์แลหนีไปทรงผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็โปรดพระราชทานโทษให้ ดำรัศว่า ไม่เปนขบถแล้วไม่ฆ่า กรมหลวงอไภยนุชิตหายที่ข้อทรงพระวิตกแล้วก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ทราบว่าพ้นโทษแล้ว ก็ลาผนวชเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเหมือนอย่างแต่ก่อน สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัศสั่งให้ทำพระเมรุมาศณที่พระเมรุเก่า จัดแจงการทั้งปวงตามอย่างบุรพประเพณี เสร็จแล้วก็พระราชทานเพลิง.

ลุศักราช ๑๑๐๐ ปีมเมีย สำฤทธิศก ถึงณเดือนหก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนนาวาพยู่ห์ไปฉลองวัดหารตรา ให้มีงานมหรศพสมโภชพระอารามสามวัน ทรงถวายไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์เปนอันมาก ในวันเปนที่สุดนั้น ให้เอาช้างออกบำรูกัน บังเกิดพยุใหญ่ฝนตกหนัก เสร็จการแล้วเสด็จกลับเข้าพระนคร แลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทนั้นไปเปนขบวนพยุหบาตราบ้าง ขบวนราบบ้าง ทุก ๆ ปีมิได้ขาด ตามขัติยราชประเพณีมาแต่ก่อน จะขาดบ้างแต่ทรงพระประชวร.

ครั้นลุศักราช ๑๑๐๒ ปีวอก โทศก ถึงณเดือนสิบสอง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปนขบวนพยุหบาตราใหญ่ทั้งทางบกทางเรือ พร้อมจัตุรงคโยธาหาญสารสินธพอเนกนานาแลนาวาเปนอันมาก เสด็จขึ้นไปเมืองพระพิศณุโลก นมัสการพระพุทธชินราชแลพระชินสีห์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปเมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง นมัสการพระแท่นศิลาอาศน์แลพระมหาธาตุณเมืองสวางคบุรี ให้มีงานมหรศพสมโภชแห่งละสามวันสามวัน แล้วเสด็จกลับยังพระมหานครศรีอยุทธยา.

ลุศักราช ๑๑๐๓ ปีรกา ตรีศก จึงพระราชโกษาปานบ้านวัดรฆังกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นประดิษฐานณที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรตามโบราณจารีตราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดดำรัศสั่งให้ประชุมเสนาบดีปฤกษา ครั้นเห็นสมควรพร้อมกันแล้ว จึงให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเศกอัญเชิญเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเถลิงถวัลยราชสถิตย์ที่พระมหาอุปราชเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสืบขัติยราชตระกูลตามคำปฤกษามุขมนตรีทั้งปวง แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าฟ้าอินทสุดาวดีเปนกรมขุนยิสารเสนี พระราชทานให้เปนพระอรรคมเหษีกรมพระราชวังบวรฯ นั้น.

ลุศักราช ๑๑๐๔ ปีจอ จัตวาศก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัศสั่งกรมพระราชวังบวรฯ ให้เปนแม่การกระทำปฏิสังขรณวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นใหม่ อนึ่ง พระเศียรพระพุทธปฏิมากรพระองค์ใหญ่ในพระมรฎปวัดสุมงคลบพิตรซึ่งหักตกอยู่นั้นให้ยกขึ้นต่อกับพระองค์ให้บริบูรณดีดังเก่า แลพระมรฎปนั้นให้รื้อก่อใหม่แปลงเปนพระมหาวิหาร สองปีเศษจึงแล้ว แลวัดพระรามนั้นก็ชำรุด ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณขึ้นใหม่ ปีเศษจึงสำเร็จ แล้วให้มีงานฉลองทั้งสามพระอารามเนื่อง ๆ กันไป ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เปนอันมาก มีงานมหรศพสมโภชวัดละสามวันสามวัน อนึ่ง พระที่นั่งวิหารสมเด็จก็คร่ำคร่าชำรุด ทรงพระกรุณาดำรัศสั่งกรมพระราชวังบวรฯ ให้รื้อเครื่องบนลงทำใหม่ สิบเดือนจึงสำเร็จ.

ในปีจอนั้น เจ้าพระยาอไภยมนตรีผู้ว่าที่สมุหนายกถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชภักดีเลื่อนที่เปนเจ้าพระยา ให้ว่าที่สมุหนายกด้วย แลเจ้าพระยาราชภักดีจึงกราบทูลพระกรุณาว่า เลขจัดพลัดที่ไม่มีมุลนายหลบหลีกอยู่ณหัวเมืองทั้งหลายมีเปนอันมาก จะขอพระราชทานให้ไปเกลี้ยกล่อมเข้ามาให้คงหมู่หมวด จะได้รับราชการแผ่นดิน ผู้คนจะได้มั่งคั่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กระทำตามคำซึ่งกราบทูลนั้น เจ้าพระยาราชภักดีก็จัดแจงแต่งข้าหลวงให้ถือตราพระราชสีห์ออกไปเกลี้ยกล่อมเลขจัดพลัดณหัวเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองพรหมบุรี เมืองอินทบุรี เมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี เมืองไชยนาทบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุไทยธานี เมืองนครสวรรค์ ได้คนเปนอันมาก ที่มีมุลนายก็เข้าเจ้าหมู่มุลนายเดิม ที่หาเจ้าหมู่มุลนายมิได้ก็เข้าหาเจ้าหมู่มุลนายใหม่ ส่งสารบาญชีขึ้นกรมพระสัสดี ได้เลขไพร่หลวง แลสังกัดพรรค์ แลเลขหัวเมืองขึ้นครั้งนั้นมากเปนหลายหมื่นรับราชการแผ่นดินสืบไป.

ในปีนั้น กรมการเมืองนครศรีธรรมราชส่งคนถือหนังสือบอกเข้ามาว่า บ่าวพระปลัดไปโพนช้างคล้องได้ช้างพลายงาสั้นช้างหนึ่งสูงห้าศอกเศษ งายาวพ้นไพรปากห้านิ้ว ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย โกษาธิบดีกราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการดำรัศสั่งกรมช้างให้ออกไปรับเข้ามา สองเดือนถึงพระนคร ให้ปลูกโรงสมโภชณวัดภูเขาทอง มีงานสมโภช เสร็จแล้วพระราชทานขนานนาม พระบรมราชนาเคนทร์วเรนทรเลิศฟ้า แล้วให้ลงแพรับเข้ามาไว้ณโรงยอดในพระราชวังหลวง.

ในปีนั้น ได้ช้างพลายงาสั้นมาแต่เมืองไชยาอิกช้างหนึ่ง พระราชทานนาม พระบรมวิไชยคเชนทร แลได้ช้างพลายงาสั้นมาแต่เมืองเพ็ชรบุรีอิกช้างหนึ่ง พระราชทานนาม พระบรมกุญชร.

ลุศักราช ๑๑๐๕ ปีกุญ เบญจศก กรมการเมืองนครศรีธรรมราชส่งช้างพลายงาสั้นเข้ามาถวายอิกช้างหนึ่ง พระราชทานนาม พระบรมจักรพาฬหัตถี.

ในปีกุญนั้น ฝ่ายภุกามประเทศ เนมโยรแหม่ง แปลภาษาไทยว่า พระเจ้าอาทิตย ได้เสวยสมบัติณกรุงรัตนบุรอังวะ จึงตั้งมังษาอ่องลงมาเปนเจ้าเมืองหงษาวดี ให้สมิงแซงมูรามัญเปนปลัดเจ้าเมือง แลสมิงแซงมูนั้นมีญาติพรรคพวกมาก ชาวเมืองทั้งปวงรักใคร่นับถือว่ามีบุญ จึงคิดพร้อมกันจับมังษาอ่องเจ้าเมืองนั้นฆ่าเสีย ยกสมิงแซงมูขึ้นเปนเจ้าเมืองหงษาวดี คิดการขบถแขงเมือง ไม่ไปขึ้นกรุงรัตนบุรอังวะเหมือนแต่ก่อน จึงตั้งน้องชายคนหนึ่งเปนพระยาอุปราชา น้องอิกคนหนึ่งเปนพระยาทละ หลานคนหนึ่งเปนตละปั้นกองหาญ แลกวยคนหนึ่งมีความรู้วิชาการดี ตั้งให้เปนสมิงท่อ ได้เปนบุตรเขยเจ้าเมืองหงษาวดี ช่วยกันเกลี้ยกล่อมซ่องสุมพวกรามัญหัวเมืองอื่น ๆ มาเข้าด้วยเปนอันมาก.

ฝ่ายนักวารุตองพม่าเจ้าเมืองเมาะตมะ แลมังรายจอสู่ปลัดเมือง ได้แจ้งเหตุว่า รามัญเมืองหงษาเปนขบถ เกรงจะยกมาตีเมืองเมาะตมะ ครั้นจะขึ้นไปเมืองอังวะก็ไม่ได้ ด้วยเมืองหงษาวดีนั้นอยู่กลางทาง จึงคิดพร้อมใจกันพาครอบครัวอพยพพรรคพวกของตัวเปนคนสามร้อยเศษหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองตนาวศรี แลกรมการเมืองตนาวศรีบอกเข้ามาให้โกษาธิบดีกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงดำรัศให้ข้าหลวงออกไปรับครัวพม่าพวกนั้นเข้ามายังพระนคร พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่นักวารุตองแลมังรายจอสู่ซึ่งเข้ามาศวามิภักดินั้น แล้วโปรดให้ปลูกเคหฐานบ้านเรือนพระราชทานให้แก่ครัวพม่าพวกนั้นให้อยู่ณที่ใกล้วัดมณเฑียร แลพระราชทานให้ทั้งตราภูมิคุ้มห้ามให้ค้าขายทำมาหากินเปนศุข.

ลุศักราช ๑๑๐๖ ปีชวด ฉศก ถึงณวันเดือนสิบสอง แรมสองค่ำ เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาอยู่ณพระราชวังหลวง เสด็จขึ้นสถิตย์ณพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ท้ายสระ เอาพระที่นั่งทรงปืนเปนที่เสด็จออก แล้วโปรดให้ปลูกสร้างพระราชวังน่าขึ้นใหม่ พระราชทานให้กรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นไปสถิตย์ตามอย่างแต่ก่อนนั้น.

ฝ่ายพระเจ้ากรุงรัตนบุรอังวะทราบข่าวไปว่า นักวารุตอง มังรายจอสู่ พาครอบครัวอพยพหนีรามัญขบถเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงให้ได้อยู่เย็นเปนศุข ก็ทรงพระโสมนัศ จึงแต่งทูตานุทูตให้จำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาจำเริญทางพระราชไมตรีด้วยขอบพระไทย ครั้นทูตานุทูตมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศสั่งให้ปลูกโรงเรือนรับทูตอยู่สำนักนิ์ใกล้วัดนางเลิ้ง ให้เชิญพระราชสาสนเข้ามาแปลณหอราชสาสน.

ฝ่ายทูตานุทูตไม่ไหว้อรรคมหาเสนาบดี เสนาบดีจึงให้ล่ามถามทูตว่า ตัวเปนแขกเมืองมา แลกระทำบังอาจถือตัวมิได้ไหว้ท่านอรรคมหาเสนาบดีในพระนครนี้ด้วยเหตุอันใด ราชทูตตอบว่า อย่างธรรมเนียมข้างกรุงรัตนบุรอังวะนั้น ถ้าแลราชทูตจำทูลพระราชสาสนไปจำเริญทางพระราชไมตรีณราชธานีอื่น ยังมิได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระมหากระษัตริย์แลยังมิได้ถวายพระราชสาสนก่อน ซึ่งจะไหว้อรรคมหาเสนาบดีก่อนนั้นไม่ได้ เจ้าพนักงานจึงเอาคำทูตนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา จึงมีพระราชดำรัศว่า ราชทูตว่านั้นชอบ แม้ถึงขนบธรรมเนียมกรุงเทพมหานครแต่ก่อนนั้น ถ้ามีพระราชโองการตรัศสั่งมหาดเล็กด้วยข้อราชการใด ๆ ให้ออกไปสั่งอรรคมหาเสนาบดีณศาลาลูกขุนแลที่ใด ๆ ก็ดี แลมหาดเล็กผู้รับสั่งนั้นขึ้นขี่ฅอตำรวจวังออกไปถึงที่แล้วลงจากฅอยืนประนมมือบอกข้อรับสั่ง แลอรรคมหาเสนาบดีนั่งคุกเข่าประนมนิ้วฟังจนสิ้นข้อรับสั่ง จึงบ่ายน่าเข้ามาต่อพระราชนิเวศกราบถวายบังคม แล้วมหาดเล็กผู้รับสั่งจึงนั่งลงไหว้นบเสนาบดีได้ ตั้งแต่นี้สืบไปภายน่า ให้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนดังนี้ แล้วโปรดให้ทูตานุทูตขึ้นเฝ้าบนที่เสด็จออก พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนกราบถวายบังคมเฝ้าตามตำแหน่งซ้ายขวา จึงเสด็จออกแขกเมืองณมุขกระสัน ดำรัศพระราชปฏิสันถารสามนัดตามขัติยประเพณีแล้วเสด็จขึ้น ทูตจึงไหว้อรรคมหาเสนาบดีทั้งนั้น แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้แต่งพระราชสาสนตอบแลเครื่องราชบรรณาการให้ทูตานุทูตจำทูลไปจำเริญทางพระราชไมตรีณกรุงรัตนบุรอังวะไปกับทูตานุทูตพม่าอันมานั้น.

ในปีนั้น ฝ่ายพระยาหงษาวดีแต่งให้พระยาอุปราชาเปนแม่ทัพเรือ ให้พระยาทละเปนแม่ทัพบก ยกกองทัพรามัญขึ้นไปตีกรุงรัตนบุรอังวะเข้าล้อมเมืองไว้.

ฝ่ายทูตานุทูตพม่าพาทูตไทยอ้อมไปทางเมืองป่าสักป่าโลง ให้ข่าวไปถึงกองทัพรามัญว่า กองทัพพระมหาศรีอยุทธยายกไปช่วยกรุงอังวะ พอกองทัพรามัญขาดเสบียงลง ก็เลิกกองทัพกลับไปเมืองหงษาวดี ประมาณยี่สิบวันทูตก็ไปถึงอังวะ นำทูตไทยขึ้นเฝ้ากับทั้งพระราชสาสนเครื่องราชบรรณาการขึ้นถวายพระเจ้าอังวะ แลทูตานุทูตได้เข้าเฝ้าสามครั้งแล้วกราบถวายบังคมลากลับมา มาถึงกลางทาง ราชทูตอุปทูตป่วยลงถึงแก่กรรม ยังแต่ตรีทูตกับฟ้าไล่ข่าสองนายมาถึงพระนครได้ ขึ้นเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทแจ้งข้อราชการทั้งปวงนั้น.

ในปีนั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณพระมหาเจดีย์แลพระอารามวัดภูเขาทอง สิบเดือนจึงสำเร็จ.

ลุศักราช ๑๑๐๘ ปีฉลู อัฐศก ถึงณเดือนสิบสอง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคขึ้นไปประพาศณเมืองลพบุรี ขณะนั้น เขมรคนหนึ่งชื่อ นักโสม ตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนอยู่ในแขวงเมืองลพบุรีนั้น ครั้นได้ทรงทราบ จึงให้จัดข้าหลวงสามนายคุมไพร่สามร้อยออกไปจับได้ตัวนักโสมจำส่งลงมาณกรุงเทพมหานคร ให้ใส่คุกไว้ แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร.

ในปีนั้น มีหนังสือบอกเมืองนครศรีธรรมราชส่งเข้ามาว่า กองช้างไปโพนช้างคล้องต้องช้างพลายสีประหลาดช้างหนึ่งสูงสามศอกสิบนิ้ว จักขุแลเล็บขนแลหางขาวทั้งสิ้น โกษาธิบดีกราบทูลพระกรุณา จึงมีพระราชดำรัศให้หลวงราชวังเมืองออกไปฝึกชำนิแล้วให้นำเข้ามา.

ฝ่ายเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ผู้ว่าที่โกษาธิบดี เจ้าพระยาราชภักดีผู้ว่าที่สมุหนายก ให้มีตราพระราชสีห์แลตราบัวแก้วออกไปให้กรมการหัวเมืองทำโรงรายทางให้เปนมรฎปมียอดแลหางหงส์กระจังเปนโรงพักตามรยะทาง เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงปฤกษากันว่าไม่เคยทำ จึงบอกเข้ามาขอนายช่างอำนวยการออกไปบอกการเมืองละคน ครั้นเอาหนังสือบอกขึ้นกราบทูล จึงมีพระราชโองการให้ถามเจ้าพระยาทั้งสองว่า แต่โรงรายทางจะหยุดพักแห่งละวันสองวันก็จะมา ถ้าจะให้ทำเปนโรงมรฎปแล้ว แลเมื่อมาถึงกรุงเทพมหานครนั้นจะทำโรงรับไว้เปนอย่างไรเล่า นี่ฤๅจะช่วยทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎรให้อยู่เปนศุข จึงโปรดให้ภาคโทษเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ไว้ครั้งหนึ่ง แต่เจ้าพระยาราชภักดีนั้นให้ลงพระราชอาชญาโบยหลังยี่สิบที ครั้นหลวงราชวังเมืองออกไปนำช้างเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว จึงพระราชทานขนานนาม พระบรมคชลักษณ อรรคคเชนทร์ วเรนทรสุปดิฐ สิทธิสนธยา มหามงคลวิมลเลิศฟ้า ให้อยู่โรงยอดในพระราชวัง.

ฝ่ายข้างกรุงรัตนบุรอังวะ พระเจ้าอาทิตยนั้นดับสูญทิวงคต พระราชบุตรได้ครองราชสมบัติสืบไปในภุกามประเทศ พระยาหงษาวดีได้ทราบข่าวว่า เมืองอังวะผลัดแผ่นดินใหม่ จึงให้พระยาอุปราชา พระยาทละ ตละปั้น ยกทัพบกทัพเรือขึ้นไปตีเมืองอังวะ เข้าล้อมเมืองไว้ถึงสามปี จึงให้พลทหารเข้าปีนปล้นเอาเมืองได้ จับได้พระเจ้าอังวะแลบุตรภรรยาเสนาอำมาตย์ญาติวงษ์ส่งลงมาเมืองหงษาวดี พระยาอุปราชาจึงให้พระยาทละกับตละปั้นอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วกวาดครอบครัวอพยพพม่าชาวเมืองทั้งปวงกลับไปเมืองหงษาวดี.

ครั้งนั้น พม่าคนหนึ่งชื่อ มังลอง รามัญเรียกว่า อ่องไจยะ เปนนายบ้านมุกโชโปอยู่เหนือเมืองอังวะทางหลายคน มีบุตรชายหกคน บุตรีสามคน มีพรรคพวกทแกล้วทหารเข้มแขงเปนอันมาก ตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมคนสิบสี่สิบห้าบ้าน ได้ไพร่พลประมาณสี่พันห้าพัน.

ฝ่ายพระยาทละกับตละปั้นซึ่งอยู่รักษาเมืองอังวะรู้ว่า มังลองตั้งซ่องสุมพลอยู่ณบ้านมุกโชโป จึงแต่งกองทัพให้ยกไปสองหมื่นไปตีบ้านมุกโชโป มังลองจึงให้ตั้งค่ายด้วยไม้ตาล ให้พลทหารออกสู้รบเปนสามารถ รบกันอยู่ประมาณสิบห้าวัน ทัพรามัญแตกหนีมาเมืองอังวะ แลพม่าหัวเมืองทั้งปวงมาเข้าด้วยมังลองเปนอันมาก มังลองกับมังระผู้บุตรจึงยกพลพม่าสองหมื่นมาตีเมืองอังวะ รบกันอยู่ประมาณสิบห้าวันได้เมืองอังวะ แลพระยาทละกับตละปั้นแตกหนีกลับไปเมืองหงษาวดี มังลองจึงให้มังระผู้บุตรคุมพลหมื่นหนึ่งอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วกลับไปสร้างเมืองณบ้านมุกโชโป ก่อกำแพงแลปราสาทราชวัง การทั้งปวงห้าเดือนก็สำเร็จ ให้นามว่า เมืองรัตนสิงค แลพม่าทั้งหลายนับถือมังลองว่ามีบุญญาธิการมาก จึงพร้อมกันยกมังลองขึ้นเปนกระษัตริย์ ถวายพระนาม พระเจ้าอลองพราญี เสวยราชสมบัติในภุกามประเทศสืบต่อไป มีไพร่พลมากขึ้นถึงสามหมื่นสี่หมื่น.

ฝ่ายพระยาหงษาวดีจึงปฤกษาด้วยพระยาอุปราชาแลท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวงว่า มังลองมีกำลังทแกล้วทหารกล้าแขงมาก ตีได้เมืองอังวะแล้ว เห็นจะมีใจกำเริบยกมาตีเมืองเราเปนแท้ จะละไว้ช้ามิได้ ควรเราจะยกทัพใหญ่ไปตีเสียก่อน อย่าให้ทันพม่ามีกำลังมากขึ้น จึงให้กองทัพพลสกรรจ์ลำเครื่องสองหมื่นเศษ ช้างเครื่องสี่ร้อย ม้าหกร้อย สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธ ให้พระยาอุปราชาเปนแม่ทัพ ตละปั้นเปนทัพน่า กตุกหวุ่นเปนยุกรบัตร ตอถ่อหวุ่นเปนเกียกกาย ตละโบเปนทัพหลัง ยกไปทางบกทัพหนึ่ง ให้พระยาทละเปนแม่ทัพเรือ สมิงพัตบะเปนกองน่า สมิงพัตเบิดเปนยุกรบัตร สมิงอุบะกองเปนเกียกกาย สมิงพะปะเดิดเปนกองหลัง เรือกระจังเลาคาสี่ร้อยลำ พลรบพลกระเชียงสองหมื่นเศษ สรรพไปด้วยเครื่องสาตราวุธยกไปทัพหนึ่ง.

ครั้นถึงศุภดฤถีพิไชยฤกษ์ นายทัพนายกองทั้งปวงก็ยกจากเมืองหงษาวดีพร้อมกันทั้งทางบกทางเรือขึ้นไปถึงเมืองอังวะ แล้วก็เข้าตั้งค่ายล้อมเมือง ได้รบกับพลพม่าเปนสามารถ แลยกเข้าปล้นเปนหลายครั้ง จะหักเอาเมืองมิได้.

ฝ่ายมังระราชบุตรก็บอกหนังสือไปถึงพระราชบิดาขอกองทัพมาช่วย พระเจ้าอลองพราญีจึงจัดกองทัพให้สะโดะมหาศิริอุจนาผู้เปนอนุชาถือพลหมื่นหนึ่งเปนแม่ทัพเรือ ให้แมงละแงเปนยุกรบัตร แซงแนงโบเปนเกียกกาย เสนัดหวุ่นเปนกองน่า ยกทัพเรือลงมาช่วยเมืองอังวะทัพหนึ่ง แลทัพบกนั้นให้แมงละราชาเปนแม่ทัพถือพลสองหมื่น ให้แมงละแมงข่องเปนกองน่า ติงจาแมงข่องเปนยุกรบัตร มหานรทาเปนเกียกกาย ฉับกุงโบเปนกองหลัง พร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสาตราวุธอิกทัพหนึ่ง แลกองทัพบกทัพเรือยกมาถึงเมืองอังวะ ก็เข้าค่ายกระหนาบล้อมค่ายรามัญเข้าไว้ แล้วยกเข้าตีค่ายรามัญ ได้รบกันเปนสามารถ แลค่ายกองทัพรามัญตั้งอยู่หว่างกลาง ถูกทัพกระหนาบทั้งน่าทั้งหลัง รี้พลต้องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยป่วยเจ็บล้มตายเปนอันมาก ทั้งขัดเสบียงจะส่งกันมิได้ อดอยากถอยกำลังลง แลต่อรบกับกองทัพพม่าอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง ก็แตกฉานพ่ายหนีไปในเพลาราตรี แลกองทัพรามัญเลิกถอยจากเมืองอังวะทั้งทางบกทางเรือลงมาพร้อมกันอยู่ณเมืองย่างกุ้ง.

ฝ่ายพระยาพระราม พระยากลางเมือง พระยาน้อยวันดี ซึ่งอยู่ในกลางทัพพระยาทละ ปฤกษากันเห็นว่า พม่ามีกำลังนัก ฝ่ายรามัญจะสู้รบมิได้ คงจะเสียเมืองหงษาวดีแก่พม่าเปนแท้ จึงพาพรรคพวกของตัวเปนคนสี่ร้อยเศษหนีออกจากกองทัพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณพระมหานครศรีอยุทธยาทางด่านเมืองตาก กรมการเมืองตากส่งหนังสือบอกลงมาณกรุงเทพมหานคร สมุหนายกกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับรามัญพวกนั้นมายังพระมหานคร แล้วพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแลเครื่องเรือน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลโพธิ์สามต้น.

ลุศักราช ๑๑๐๙ ปีเถาะ นพศก พระกุยบรีบอกหนังสือเข้ามาว่า พืชทองคำบังเกิดขึ้นตำบลบางสพาน แขวงเมืองกุยบุรี ได้ส่งทองหนักสามตำลึงเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเปนทองข่าว โกษาธิบดีกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ ครั้นถึงเดือนสิบสอง จึงมีพระราชดำรัศให้ข้าหลวงคุมไพร่สองพันออกไปตั้งร่อนทองตำบลบางสพาน ครั้นถึงณเดือนห้า ปีมโรง สำฤทธิศก ศักราช ๑๑๐๐ ปี ได้เนื้อทองเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเก้าสิบชั่งเศษ จึงโปรดตั้งพระกุยบุรีเปนพระยาวิเศษสมบัติสมควรแก่ความชอบ แล้วทรงพระราชศรัทธาให้แผ่ทองร่อนเปนประทากล้องขึ้นไปปิดพระมรฎปพระพุทธบาท แต่ยอดแลเหมกับนาคนั้นแผ่หุ้มทั้งสิ้น

ลุศักราช ๑๑๑๒ ปีมเมีย โทศก เดือนห้า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงแจกทานแก่ยาจกวรรณิพกทั้งหลายเปนอันมากเสมอคนละบาท สิ้นพระราชทรัพย์ถึงพันสามร้อยชั่งเศษ.

ครั้นถึงณเดือนแปด แรมสิบค่ำ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักจนถึงสอึกสามชั้น ต่อถึงกลางเดือนสิบจึงคลาย ครั้นถึงเดือนสิบสอง จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทเปนขบวนราบ เสด็จประทับณพระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนตำบลบ่อโศก เพลาเย็น เสด็จไปถึงพระตำหนักที่ประทับท้ายพิกุล เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท แล้วให้สมโภชเวียนพระเทียนครบเจ็ดวัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระมหานครศรีอยุทธยา.

ในปีมเมีย โทศกนั้น ฝ่ายสมิงท่อบุตรเขยเจ้าเมืองหงษาวดีเกิดอริวิวาทกับพระยาทละ ๆ กล่าวโทษยุยงพระยาหงษาวดีจะให้ฆ่าสมิงท่อเสีย แลสทิงท่อกลัวอาชญา จึงพาบ่าวไพร่ของตัวหนีจากเมืองหงษาวดีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณพระมหานครศรีอยุทธยาทางด่านเมืองจาก กรมการเมืองตากส่งหนังสือบอกลงมา สมุหนายกกราบบังคมทูลพระกรุณา จึงโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปรับตัวสมิงท่อกับพรรคพวกลงมายังพระมหานคร ทรงพระราชดำริห์แคลงอยู่ มิได้เชื่อ กลัวจะเปนอุบาย จึงให้จำสมิงท่อส่งไปไว้ณคุก แต่พรรคพวกนั้นให้ส่งไปอยู่ในกองพระยาพระราม.

ในปีนั้น เจ้ากรมหมื่นอินทรภักดีดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำพระเมรุตามอย่างเจ้าต่างกรมณวัดไชยวัฒนาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิง.

ฝ่ายข้างกัมพุชประเทศ นักพระสถาองค์อิงไปขอกองทัพญวนมาตีกรุงกัมพูชาธิบดี แลนักพระรามาธิบดีกับนักพระศรีไชยเชษฐสู้รบญวนมิได้ จึงพาสมัคพรรคพวกแตกหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองปราจิณบุรี กรมการเมืองปราจิณส่งหนังสือบอกเข้ามา สมุหนายกกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับเจ้าเขมรทั้งสองกับสมัคพรรคพวกเข้ามายังพระมหานคร แล้วมีพระราชโองการตรัศสั่งให้เกณฑ์พลหมื่นหนึ่งให้พระยาราชสุภาวดีออกไปตั้งชุมพลอยู่ณวัดพระเจดีย์แดง.

ขณะนั้น พระยาพระรามรามัญคิดกลอุบายเข้าเรียนแก่ท่านอรรคมหาเสนาบดีว่า จะอาสาไปทัพด้วยห้าสิบคนแต่ไม่มีอาวุธ ครั้นกราบทูลพระกรุณา โปรดให้จ่ายอาวุธให้ครบมือกันแล้ว พระยาพระรามกลับคิดขบถ เพลาค่ำ ยกไปโพธิ์สามต้น พาครอบครัวหนีไป แต่พระยากลางเมืองแลพระยาน้อยวันดีนั้นมิได้หนีไปด้วยพระยาพระราม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงดำรัศสั่งให้ข้าหลวงไปจับพวกมอญขบถ ไปทันที่ตำบลทุ่งบ้านรีบางแก้ว จับได้ทั้งสิ้น มีพระราชโองการตรัศสั่งให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนพระยาพระรามแลพรรคพวกบรรดาชายทั้งปวงนั้นให้ประหารชีวิตรเสียทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ครอบครัวให้ไปอยู่ณบ้านโพธิ์สามต้นตามเดิม

ครั้นถึงศุภวารดฤถีพิไชยฤกษ์ จึงพระยาราชสุภาวดีแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกกองทัพไปกรุงกัมพูชาธิบดี ได้เจรจาความเมืองกัน แลนักพระสถาองค์อิงก็อ่อนน้อมยอมขึ้นแก่กรุงเทพมหานครขอเปนข้าขัณฑสิมา พระยาราชภักดีก็กลับทัพยังพระมหานครกราบทูลข้อราชการนั้นให้ทราบ.

อยู่มาประมาณปีหนึ่ง นักพระสถาองค์อิงถึงแก่พิราไลย มีหนังสือบอกเข้ามา จึงทรงพระกรุณาโปรดให้นักพระรามาธิบดีกลับออกไปครองกรุงกัมพูชากับทั้งนักพระศรีไชยเชษฐแลพรรคพวกบริสัชซึ่งเข้ามาด้วยกันนั้น.

ในปีนั้น มีพระราชดำรัศให้เอาตัวสมิงท่อซึ่งจำไว้ณคุกลงสำเภาหัวทรงไปปล่อยเสียณเมืองกวางตุ้ง.

ลุศักราช ๑๑๑๕ ปีรกา เบญจศก ฝ่ายพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ได้เสวยสมบัติในเมืองสิงขัณฑนครเปนอิศราธิบดีในลังกาทวีป แลครั้งนั้น พระพุทธสาสนาในเกาะลังกาหาพระภิกษุสงฆ์มิได้ จึงแต่งให้ศิริวัฒนอำมาตย์เปนราชทูต กับอุปทูต ตรีทูต จำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมีพระบรมสาริริกธาตุเปนอาทิมากับกำปั่นโอลันขาพานิชวิลันดา เข้ามาจำเริญทางพระราชไมตรีณกรุงเทพมหานคร จะขอพระภิกษุสงฆ์ออกไปให้อุปสมบทบวชกุลบุตรสืบพระพุทธสาสนาในลังกาทวีป ทรงพระกรุณาดำรัศสั่งให้จัดแจงรับทูตานุทูตลังกาตามธรรมเนียม แล้วให้เบิกทูตเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม เสด็จออกแขกเมืองณมุขเด็จพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ตรัศพระราชปฏิสันถารสามนัดตามขัติยประเพณี แล้วพระราชทานรางวัลแก่ทูตานุทูตโดยสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดให้แต่งข้าหลวงเปนทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการตอบออกไปถึงพระเจ้าลังกา แล้วโปรดให้อาราธนาพระอุบาฬี พระอริยมุนี พระราชาคณะสองพระองค์ กับพระสงฆ์อันดับสิบสองรูป ออกไปตั้งพระพุทธสาสนาบวชกุลบุตรไว้ในลังกาทวีป แลให้สมเด็จพระสังฆราชแต่งสมณสาสนออกไปด้วยอิกฉบับหนึ่ง แล้วให้แต่งกำปั่นลำหนึ่ง ให้ทูตานุทูตไทย กับทั้งพระสงฆ์สิบสี่รูป แลพระราชสาสน เครื่องราชบรรณาการ ลงกำปั่นนั้นไปกับด้วยกำปั่นทูตานุทูตอันมาแต่ลังกานั้น.

ครั้นถึงณเดือนสี่ในปีนั้น เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ผู้ว่าที่โกษาธิบดีป่วยเปนลมอัมพาตสี่เดือนถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาพระราชทานโกษฐ ให้แต่งศพใส่เครื่องชฎาอย่างเจ้าต่างกรม ให้เรียกว่า พระศพ ให้ทำเมรุณวัดไชยวัฒนาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิง แล้วโปรดตั้งพระยาพิพัฒโกษาบุตรเขยเจ้าพระยาชำนาญเปนพระยาพระคลังว่าที่โกษาธิบดีสืบไป.

ลุศักราช ๑๑๑๖ ปีจอ ฉศก ถึงณเดือนเก้า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัศให้พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นจิตรสุนทรแลกรมหมื่นสุนทรเทพเกณฑ์ไพร่พลขึ้นไปล้อมช้างเถื่อนณป่าแขวงเมืองลพบุรี ตั้งค่ายมั่นที่คันชเลชุบศร มุมข้างเหนือน่าพลับพลาเก่า ครั้นถึงเดือนสิบ ข้างขึ้น จึงเสด็จพระราชดำเนินไปณเมืองลพบุรี ให้เกณฑ์คนออกไปช่วยทำค่ายปีกกา ครั้นถึงณเดือนสิบ แรมหกค่ำ เพลาเช้า เสด็จทรงช้างพระที่นั่งไปช่วยค้นช้างเถื่อนถึงเขาเชิงน้ำทรง แล้วให้ช้างดั้งเข้าช่วยช้างเชือก ไล่ล้อมกันฝูงช้างเถื่อนเข้ามาถึงค่ายมั่น แล้วให้ปิดค่าย ครั้นรุ่งขึ้น เพลาเช้า เสด็จขึ้นพระตำหนักห้างทอดพระเนตร ให้กันช้างออกมา จับได้พลายพังสามร้อยช้าง ยังไม่ได้จับสามร้อยเศษ ดำรัศสั่งให้เปิดค่ายปล่อยไปสิ้น.

ครั้นถึงณวันแรมเก้าค่ำ เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธไสยาศน์ณวัดจักรศรี ประทับแรมอยู่เวรหนึ่ง จึงล่องมาทางแม่น้ำน้อย เสด็จขึ้นนมัสการพระพุทธไสยาศน์ณวัดขุนอินทรประมูล แล้วเสด็จกลับยังพระมหานครศรีอยุทธยา.

ลุศักราช ๑๑๑๗ ปีกุญ สัปดศก ถึงณเดือนหก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปฉลองวัดนางคำ ครั้งนั้น ฝนตกชุกหนัก จึงมีพระราชดำรัศให้สังฆการีธรรมการไปนิมนต์พระอาจารย์วัดพันทาบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญลงมาให้เข้านั่งสมาธิช่วยห้ามฝน แลพระอาจารย์นั้นให้กราบทูลว่า มีธุระอยู่ จะถวายพระพรลากลับไปปลูกการเปรียญ จะขอพระผู้เปนเจ้าองค์หนึ่งซึ่งชำนาญในทางพระกรรมฐานมาบอกวิธีให้เข้านั่งสมาธิห้ามฝนแทนอาตมา จึงทรงพระกรุณาให้นิมนต์พระญาณรักขิต พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ณวัดสังกทานั้น มาเรียนวิธีทางพระกรรฐานในสำนักนิ์พระอาจารย์วัดพันทาบ ๆ บอกวิธีให้แล้วก็ถวายพระพรลากลับไปอาราม แลการฉลองวัดนางคำนั้นมีงานมหรศพสามวัน ทั้งมีโจนร่มด้วย เพลาเย็น ฝนตั้งมา พระญาณรักขิตเข้านั่งสมาธิบนเตียง มีเพดานแลม่านผ้าขาวรอบตั้งอยู่กลางแจ้ง แลพระผู้เปนเจ้าเจริญวาโยกสิณภาวนา บังเกิดพยุใหญ่พัดฝนเลิกไปทั้งสามวัน หาตกไม่ เห็นประจักษ์เปนมหัศจรรย์ ต่อถึงวันคำรับสี่ เลิกงานแล้ว ฝนห่าใหญ่จึงตก น้ำนองท่วมที่ทั้งนั้นสิ้น.

ในปีนั้น พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเปนพระโรคคชราช แต่ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ วันหนึ่ง มีพระบัณฑูรให้ตำรวจมาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาถามว่า เจ้ากรมเปนแต่หมื่น ตั้งกันในกรมขึ้นเปนขุน ทำสูงกว่าศักดิ์ ให้ลงพระราชอาชญาโบยหลังคนละ ๑๕ ทีบ้าง ๒๐ ทีบ้าง เพลากลางคืน ให้คนเข้ามาด้อมมองอยู่ประตูสระแก้ว กรมหมื่นสุนทรเทพเกรงจะทำร้าย เพลาค่ำเสด็จไปประธมอยู่ณทิมข้างโรงเตียบ เพลากลางวันจึงเสด็จไปอยู่ณตำหนักสระแก้ว ได้ประมาณเก้าวันสิบวัน กรมหมื่นสุนทรเทพจึงทำเรื่องราวกราบบังคมทูลพระกรุณาเปนการลับว่า กรมพระราชวังบวรเสด็จเข้ามาลอบลักทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังเปนหลายครั้ง จึงมีพระราชโองการให้ชำระกรมฝ่ายใน รับเปนสัจแล้ว จึงดำรัศสั่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงษ์ ให้ไปเชิญสมเด็จพระราชวังบวรลงมา เจ้าฟ้าทั้งสองกราบทูลว่า เปนอริกันอยู่ จะให้ไปเชิญเสด็จมิได้ จึงดำรัศใช้เจ้าจอมจันทร์มารดาพระองค์เจ้ากระแหให้ขึ้นไปทูลเชิญเสด็จกรมพระราชวัง ๆ ทราบว่า พระราชโองการให้หา ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องลงมาถึงพระราชวังหลวง จะเสด็จขึ้นที่สพานเหนือฉนวน มหาดเล็กที่ล่วงน่าลงมาคอยรับเสด็จนั้นกราบทูลว่า ประตูเสาธงไชยปิดอยู่ ก็หาเสด็จขึ้นไม่ ล่องลงมาประทับที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด จึงล่องลงมาเสด็จขึ้นสพานใต้ระหัดน้ำ ทรงพระเสลี่ยงมาถึงศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งประชุมอยู่ที่ริมศาลาลูกขุนนอกพระที่นั่งทรงปืนเปนอันมาก จะให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีภวังกราบทูลว่า ขอพระราชทานเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าจึงจะชอบ ก็เสด็จเข้าไปอยู่ณทิมดาบ จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งมหาดเล็กให้ออกมาเชิญเสด็จไปณตำหนักสองห้องข้างทิมสงฆ์ แล้วดำรัศสั่งพระมหาเทพให้ลงพระราชอาชญาจำห้าประการ แล้วให้มีกระทู้ซักถามตามคำฟ้อง กรมพระราชวังรับเปนสัจ.

ครั้นถึงณวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนเก้า ในปีกุญ สัปดศกนั้น มีพระราชดำรัศให้ผูกกรมพระราชวัง ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนได้ยี่สิบที เกิดลมจุก กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปราบทูลว่า จุกหนัก จะขอพระราชทานให้แก้เสีย จึงมีพระราชโองการสั่งให้ริบ ถึงณวันแรมสองค่ำ ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนอิกสองยกเปนหกสิบที แล้วให้นาบพระบาทด้วย แลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่นกระลาโหมคบหาทำชู้กับมารดาเจ้ามิตร เปนแต่ทาษภรรยา ให้เฆี่ยนถึง ๗๐๐ ตายกับคา นี่มาคบหาทำชู้กับสามีภรรยาทั้งสององค์ แล้วก็มีพระราชบุตรด้วยถึงสามพระองค์สี่พระองค์ แลเจ็ดร้อยนั้นโปรดให้แบ่งออกเปนสามส่วน ยกเสียสองส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่สองร้อยสามสิบที จะว่าประการใด กรมพระราชวังให้การว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด กรมหมื่นเทพพิพิธเอาคำให้การขึ้นกราบทูลพระกรุณา จึงดำรัศถามว่า เฆี่ยนได้เท่าไรแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธกราบทูลว่า ลงพระราชอาชญาได้ ๖๐ ทีแล้ว จึงดำรัศสั่งว่า ให้เฆี่ยนยกสามสิบทีไปกว่าจะครบสองร้อยสามสิบที แล้วให้เสนาบดีแลลูกขุนพิพากษาว่า โทษจะเปนประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีแลลูกขุนพร้อมกันปฤกษาโทษต้องด้วยพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล จึงกราบทูลพระกรุณาว่า โทษกรมพระราชวังบวรเปนมหันตโทษถึงประหารชีวิตรเปนหลายข้อ จะขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัติยประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัศขอชีวิตรไว้ แต่ให้นาบพระนลาต ถอดเสียจากเจ้าเปนไพร่ แลเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล นั้นให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนองค์ละยกสามสิบที ให้ถอดเปนไพร่จำไว้กว่าจะตาย แลเจ้าฟ้าสังวาลนั้นอยู่สามวันก็สิ้นพระชนม์ แต่กรมพระราชวังนั้นต้องรับพระราชอาชญาเฆี่ยนอิกสี่ยกเปนร้อยแปดสิบทีก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงดำรัศสั่งให้เอาศพทั้งสองไปฝังณวัดไชยวัฒนาราม.

ในปีนั้น เจ้าพระยาราชนายกผู้ว่าที่กระลาโหมป่วยโรคชราถึงแก่กรรม อยู่มาประมาณสองเดือนเศษ เจ้าพระยาราชภักดีผู้ว่าที่สมุหนายกป่วยเปนวรรณโรคที่หลังถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กระทำฌาปนกิจพระราชทานเพลิงตามอย่างเสนาบดีทั้งสองศพ เสร็จแล้วจึงโปรดตั้งพระยาราชสุภาวดีบ้านประตูจีนเปนเจ้าพระยาอไภยราชาว่าที่สมุหนายก โปรดให้พระยาธรรมไตรโลกบ้านคลองแกลบเปนเจ้าพระยามหาเสนาธิบดีศรีสมุหพระกระลาโหม แลครั้งนั้น ที่พระยาธรรมาว่างอยู่หาตัวมิได้ จึงโปรดเลื่อนพระยาบำเรอภักดิ์เปนพระยารัตนาธิเบศว่าที่กรมวัง.

ลุศักราช ๑๑๑๘ ปีชวด อัฐศก ถึงณวันแรมสิบเอ็จค่ำ เดือนห้า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคขึ้นไปฉลองพระพุทธไสยาศน์ณวัดจักรศรีแขวงเมืองสิงคบุรี ให้มีงานมหรศพสมโภชสามวัน แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร.

ในขณะนั้น พระยาราชวังเมืองออกไปตั้งพเนียดจับช้างเถื่อนณท่าโคแขวงเมืองนครไชยศรี จับได้ช้างพลายงาสั้นช้างหนึ่งสูงห้าศอก จึงบอกเข้ามาให้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคออกไปทอดพระเนตรช้างนั้นถึงตำบลท่าโค แล้วเสด็จกลับยังพระนคร ครั้นช้างนั้นฝึกสอนชำนิชำนาญแล้ว ให้นำเข้ามาไว้ณโรงยอดในพระราชวัง พระราชทานขนานนาม พระบรมไตรจักรอรรคคชาธาร.

ลุศักราช ๑๑๑๙ ปีฉลู นพศก เดือนห้า กรมหมื่นเทพพิพิธจึงปฤกษาด้วยเจ้าพระยาอไภยราชาผู้ว่าที่สมุหนายก แลเจ้าพระยามหาเสนา พระยาพระคลัง พร้อมกัน แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะขอพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นประดิษฐานณที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะได้บำรุงรักษาแผ่นดินสืบไป ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตจึงทรงทำเรื่องราวกราบทูลพระกรุณาว่า เจ้าพี่กรมขุนอนุรักษ์มนตรียังมีอยู่ ขอพระราชทานให้เปนกรมพระราชวัง จึงจะสมควร จึงมีพระราชโองการตรัศว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาแลความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงถานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดไภยพิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิตกอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเสวตรฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไปได้เหมือนดังคำปฤกษาท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง จึงดำรัศสั่งเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า จงไปบวชเสีย อย่าให้กีดขวาง เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีมิอาจขัดพระราชโองการได้ กลัวพระราชอาชญา ก็ต้องจำพระไทยทูลลาไปทรงผนวช แล้วเสด็จขึ้นไปอยู่ณวัดลมุดปากจั่น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กระทำพระราชพิธีอุปราชาภิเศกณพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท อัญเชิญเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเถลิงถวัลยราชณที่กรมพระราชวังบวรฯ แต่มิได้เสด็จขึ้นไปสถิตย์ณพระราชวังน่า เสด็จอยู่ณพระตำหนักสวนกะต่ายในพระราชวังหลวงตามเคยเสด็จอยู่แต่ก่อนนั้น.

ครั้นถึงณเดือนเจ็ดในปีฉลู นพศก กรมหมื่นจิตรสุนทรกราบทูลพระกรุณาว่า ช้างต้นพระบรมจักรพาฬหัตถีนั้นงายาวออกให้จำเริญเข้าไปเกือบจะถึงไส้งาอยู่แล้ว เกรงจะล้มเสีย จึงดำรัศว่า เราจะเอาไปถวายพระพุทธบาท แล้วจะปล่อยไปป่า.

ครั้นถึงเดือนเก้า จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชพระพุทธบาท ให้เอาช้างต้นพระบรมจักรพาฬหัตถีนั้นไปด้วย เสด็จประทับแรมอยู่ณพระตำหนักท่าเจ้าสนุกสามเวร แล้วทรงพระวอขึ้นไปถึงตำหนักท้ายพิกุล รุ่งขึ้น เพลาเช้า ให้ทำเครื่องสด ผูกช้างต้นพระบรมจักรพาฬหัตถี แล้วเสด็จขึ้นนมัสการพระพุทธบาท ทรงพระราชอุทิศถวายช้างต้น แล้วให้ปล่อยไปทางธารกระเษม ให้เวียนพระเทียนกระทำพุทธสมโภช แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพมหานคร อยู่สองสามวัน มีหนังสือบอกกรมการเมืองลพบุรีลงมาว่า ช้างต้นพระบรมจักรพาฬหัตถีซึ่งทรงถวายพระพุทธบาทปล่อยไปนั้นหาไปป่าไม่ เข้ามาในเมืองลพบุรีมานอนอยู่ริมศาลากลาง สมุหนายกกราบบังคมทูลพระกรุณา จึงดำรัศว่า พระยาช้างนั้นมีจิตสวามิภักดิรักเรา จะกลับมาอยู่กับเราอิก จึงโปรดให้กรมช้างไปรับลงมายังพระนคร ให้เข้าผูกโรงดังเก่า พระราชทานนามผลัดใหม่ชื่อ พระพิไชยจักรพาฬหัตถี.

ครั้นถึงณเดือนสิบสอง แรมสองค่ำ เพลากลางคืน ลมว่าวพัดหนัก พระมหาธาตุวัดบวรโพธินั้นทำลายลง.

ลุศักราช ๑๑๒๐ ปีขาล สำฤทธิศก ถึงณวันขึ้นแปดค่ำ เดือนหก กลางคืน เพลาเจ็ดทุ่ม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก ครั้นณวันแรมห้าค่ำ เดือนหก เพลาเช้า ทรงพระเสลี่ยงหิ้วมาเสด็จออกณพระที่นั่งทรงปืน ดำรัศให้หาพระราชบุตรผู้ใหญ่มาเฝ้าพร้อมแล้ว ตรัศมอบราชสมบัติแก่กรมพระราชวังบวรฯ ให้พระเจ้าลูกเธอทั้งสี่กรมถวายสัจยอมเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาทต่อน่าพระที่นั่ง อย่าให้คิดประทุษฐร้ายต่อกัน แล้วเสด็จกลับยังพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ เพลาห้าโมงเศษ ทรงพระเสลี่ยงหิ้วมาเข้าที่พระบรรธมณพระที่นั่งทรงปืน ถึงเพลาเที่ยงแล้วห้าบาท บรรธมตื่น จะเสด็จไปลงพระบังคน หลวงราชรักษา หลวงราโช หมอนวด พยุงพระองค์ให้ทรงยืนขึ้น พระวาตะประทะ พระเนตรวิกลกลับช้อนขึ้น หายพระไทยดังดั่งเสียงกรน พระหัดถ์คว้าจับหลักไชยมิใคร่จะถูก หมอนวดทั้งสองประคองให้เอาพระองค์ลงบรรธมแล้วถวายอยู่งานนวดแก้พระวาตะ.

ขณะนั้น กรมพระราชวังบวรให้ไปเชิญเสด็จกรมหลวงพิพิธมนตรีพระราชมารดา แลเจ้าฟ้าจันทวดี เจ้าฟ้ากรมขุนยิสารเสนี แลพระเชษฐภคินีทั้งปวง กับทั้งพระราชบุตรธิดาวงศานุวงษ์มาพร้อมกันสิ้น

ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งทรงผนวชอยู่ณวัดลมุดได้ทราบว่า ทรงพระประชวรหนัก ก็ลาผนวชเสด็จลงมาอยู่ณพระตำหนักสวนกะต่าย แลเจ้าอาทิตยราชบุตรกรมพระราชวังหลังซึ่งทิวงคตนั้นออกไปเชิญเสด็จเข้ามาณพระที่นั่งทรงปืน แย้มฉากทอดพระเนตรดูสักครู่หนึ่งก็เสด็จกลับไปยังสวนกะต่าย.

ครั้นเพลาบ่ายสี่โมงเศษ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต พระชนมายุได้ ๗๘ พระพรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติอยู่ได้ ๒๕ ปีเศษ.


  1. (พระราชกระแสในรัชกาลที่ ๔ ว่า) ทราบที่เพ็ชรบุรีว่า ชาวบ้านสมอปรือ
  2. เดิมว่า มงกุฎ
  3. (พระราชกระแสในรัชกาลที่ ๔ ว่า) ชื่อเดิมชื่อ เอม อยู่มาจนปีรกา ตรีศก ๑๑๖๓