พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา (2457)/ส่วน 3/ตอน 10


พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ราชสมบัติเมื่อปีจอ จุลศักราช ๗๗๖ พ.ศ. ๒๐๕๗ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๓ ปี สวรรคตเมื่อปีกุญ จุลศักราช ๘๘๙ พ.ศ. ๒๐๗๐

ฉบับหลวงประเสริฐว่า ได้ราชสมบัติเมื่อปีมเมีย จุลศักราช ๘๙๖ พ.ศ. ๒๐๗๗ (ช้ากว่า ๒๐ ปี) ครองราชสมบัติอยู่ ๑๒ ปี (น้อยกว่าปี ๑) สวรรคตเมื่อปีมเมีย จุลศักราช ๙๐๘ พ.ศ. ๒๐๘๙ (ช้ากว่า ๑๙ ปี)

สมเด็จพระไชยราชาธิราชนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารบอกแต่ว่า เปนเชื้อพระวงษ์สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ข้อนี้ไม่มีที่สงไสย เพียงพระนามว่า พระไชยราชา ก็ควรจะเข้าใจได้ว่า เปนเจ้านายชั้นสูงอย่างเปนต่างกรมทุกวันนี้ จึงได้มีพระนามว่า พระไชยราชา เปนเจ้านายชั้นเดียวกับพระบรมราชา พระอินทราชา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เห็นจะเปนลูกเธอของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แต่เกิดแต่พระสนม เมื่อก่อนพระไชยราชาได้ราชสมบัติ จะอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาหรือเปนเจ้าครองเมือง ข้อนี้ไม่ปรากฎ แต่ถ้าจะเดา เห็นว่า น่าจะเปนเจ้าครองเมืองพิศณุโลก มีเหตุหลายอย่างที่ทำให้เห็นเช่นนี้ คือ ประการที่ ๑ เมืองพิศณุโลกเปนเมืองที่เจ้านายครองต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แลที่สุด สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเองก็ได้ทรงครอง ต่อกันมาถึง ๓ พระองค์ เพราะถ้าว่างเจ้านายครองลงคราวใด ก็เคยเกิดเหตุไม่เรียบร้อย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรได้ราชสมบัติกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์ เห็นจะให้น้องยาเธอ คือ พระไชยราชา ขึ้นไปครองกระมัง ประการที่ ๒ การชิงราชสมบัติอย่างพระไชยราชาธิราชชิงราชสมบัติพระรัฏฐาธิราชนี้ เมื่อครั้งสมเด็จพระราเมศวรชิงราชสมบัติเจ้าทองลันว่า ระยะเวลา ๗ วัน เพราะสมเด็จพระราเมศวรอยู่ที่เมืองลพบุรี เปนที่ใกล้ นี่ระยะเวลาตามที่ว่าในพระราชพงษาวดารถึง ๕ เดือน ควรเห็นว่า เพราะจะอยู่เมืองไกล ประการที่ ๓ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ปรากฎอยู่แผ่นดินเดียวที่ตั้งขุนนางเปนเจ้าเมืองพิศณุโลก (พอสิ้นสมเด็จพระไชยราชา หัวเมืองเหนือก็กลับไม่เรียบร้อย ดังปรากฎอยู่ในเรื่องครั้งสมัยขุนวรวงษาธิราช ถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงตั้งพระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกให้เปนเจ้านายครองอิก) แต่ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเอง ได้ทำศึกข้างเหนือกับพม่าแลเมืองเชียงใหม่หลายคราว ทำศึกคราวใดก็เอากองทัพหัวเมืองเหนือเปนกองน่าทุกที ข้อนี้น่าจะเห็นว่า เพราะสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงชำนิชำนาญราชการเมืองเหนือ แลเปนที่นับถือยำเกรงของชาวเมืองเหนือ โดยได้เคยทรงปกครองมาแล้ว จึงไม่มีเหตุวุ่นวายอันใดในเมืองเหนือจนตลอดรัชกาล เหตุเหล่านี้ที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะได้ครองเมืองพิศณุโลกอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ

สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะมีพระมเหษีหรือไม่มี ไม่ปรากฎ แต่ถ้ามี ก็ไม่มีพระราชโอรสกับพระมเหษี แลบางทีพระมเหษีจะทิวงคตเสียก่อนสมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงปรากฎแต่ว่า มีลูกเธอเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกอันมีบันดาศักดิเปนแม่อยั่วเมืองตามกฎมณเฑียรบาล (ผู้แต่งพงษาวดารเรียกไปเปนแม่อยู่หัว) พระราชบุตร ๒ พระองค์นั้น พระองค์ใหญ่ทรงพระนาม พระยอดฟ้า คำนวณศักราชตามเนื้อความที่กล่าวในพระราชพงษาวดารได้ความว่า ประสูตรเมื่อปีวอก จุลศักราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ๘๙๘ พ.ศ. ๒๐๗๙ เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยราชย์แล้วได้ ๒ ปี พระองค์น้อยทรงพระนามพระศรีศิลป์ ประสูตรเมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๐๔ พ.ศ. ๒๐๘๕

ที่ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปเชียงกรานนั้น ที่จริงไปรบพม่าเปนการศึกใหญ่ มีเรื่องราวปรากฎในพงษาวดารพม่า แลจดหมายเหตุของปินโตโปจุเกต ยุติต้องกับความในหนังสือพระราชพงษาวดาร ได้ความพิศดารดังนี้

เหตุที่จะเกิดสงครามนั้น เดิมที่เมืองตองอูมีคนสำคัญขึ้นคน ๑ ชื่อว่า มังกินโย เปนเชื้อวงษ์ของพระเจ้าแผ่นดินพม่าแต่ก่อน มังกินโยฆ่าเจ้าเมืองตองอูตาย ชิงเอาเมืองได้ จึงตั้งตัวเปนใหญ่ ใช้นามว่า พระเจ้ามหาศิริไชยสุร ในเวลานั้น บังเอิญในเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าแผ่นดินไม่อยู่ในราชธรรมทั้ง ๒ อาณาจักร พระภิกษุสงฆ์แลข้าราชการที่ถูกกดขี่เดือดร้อนต่าง ๆ พากันอพยพมาพึ่งพระเจ้าตองอูเปนอันมาก พระเจ้ามหาศิริไชยสุรได้กำลังแลความนิยมของผู้คนพลเมือง จึงรักษาเมืองตองอูเปนอิศรมาได้ จนพระเจ้ามหาศิริไชยสุรทิวงคต มังตรา ราชบุตรชัณษา ๑๖ ปี ได้รับราชสมบัติ มีพระนามว่า พระเจ้าตเบ็งชเวตี้ ควรแปลว่า พระเจ้าสุวรรณเอกฉัตร ๆ นี้มีอานุภาพมาก (ภายหลังได้เปนพระเจ้าหงษาวดีที่มารบกรุงศรีอยุทธยาครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พอพระเจ้าตเบ็งชเวตี้ได้ราชสมบัติ ก็คิดขยายอาณาจักร ตั้งต้นตีเข้ามาทางแดนไทยก่อน เมืองเชียงกรานจะอยู่ที่ไหนไม่แน่ ตรวจแผนที่ดูเห็นชื่อเมืองคล้ายกับเชียงกรานอยู่ที่ต่อแดนเหนือเมืองทวาย เห็นจะเปนเมืองนี้เอง พระเจ้าตเบ็งชเวตี้มาตีเมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงยกออกไปต่อสู้รักษาพระราชอาณาเขตรเมื่อปีจอ จุลศักราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ๙๐๐ พ.ศ. ๒๐๘๑ ได้สู้รบกันเปนสามารถ สมเด็จพระไชยราชาธิราชตีทัพพม่าแตกไป

ได้ความในจดหมายเหตุของปินโตโปจุเกตว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีฝรั่งโปจุเกตเข้ามาหากินอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาประมาณ ๑๓๐ คน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชจะเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ได้เกณฑ์พวกโปจุเกตไปเปนทหารรักษาพระองค์ ๑๒๐ คน พวกโปจุเกตได้รบพุ่งพวกข้าศึกแขงแรง ครั้นชนะศึกมีความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานอนุญาตให้พวกโปจุเกตเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระราชอาณาจักรแลทำวัดวาตามลัทธิสาสนาของตนได้ดังปราถนา

พอเสร็จศึกพม่าแล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราชก็ยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวพงษาวดารเมืองเชียงใหม่ในตอนนี้ ได้ความตามหนังสือตำนานโยนกว่า เมื่อพระเมืองแก้ว เจ้านครเชียงใหม่ ทิวงคตแล้ว ไม่มีราชโอรสจะสืบพระวงษ์ เสนามาตย์ทั้งหลายจึงเชิญเจ้าเกษแก้ว ผู้เปนราชอนุชา ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ มีพระนามว่า พระเมืองเกษเกล้า ครั้งพระเมืองเกษเกล้านี้ นครเชียงใหม่กับกรุงศรีอยุทธยายังเปนไมตรีกัน มีราชทูตกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปเจริญทางพระราชไมตรี พระเมืองเกษเกล้าครองราชสมบัติอยู่ ๑๑ ปี เจ้าทรายคำ ราชบุตร เปนขบถ ชิงเอาราชสมบัติได้ เนรเทศพระเมืองเกษเกล้าไปเสียคราว ๑ อยู่มา เจ้าทรายคำประพฤติทุจริตต่าง ๆ ถูกเอาตัวออกจากราชสมบัติ เสนามาตย์ไปเชิญพระเมืองเกษเกล้ากลับมาครองราชสมบัติอิก พระเมืองเกษเกล้ากลับมาไม่ได้เท่าใด ก็มีพระสติฟั่นเฟือนไป ขุนนางคน ๑ ชื่อ แสนดาว แต่งคนให้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้าเสีย ในเวลานั้น ไม่มีเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ที่จะรับราชสมบัติสืบพระวงษ์ พวกท้าวพระยาที่เคยอยู่ในอำนาจพระเจ้าเชียงใหม่แตกกันเปน ๒ พวก แสนดาวเปนหัวน่าพวกที่อยู่เมืองเชียงใหม่ ให้ไปเชิญเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงมาครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงไม่รับ จึงให้ไปเชิญเจ้าเมกุติ ไทยใหญ่เมืองนาย ฝ่ายข้างท้าวพระยาเมืองนครลำปาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน เมืองพาน รวมกันเปนพวก ๑ ไปประชุมกันที่เมืองเชียงแสนให้ไปเชิญพระไชยเชษฐา ราชโอรสของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (โพธิสาร) ด้วยพระไชยเชษฐานั้น พระมารดาเปนราชาธิราชของพระเมืองเกษเกล้า เจ้านครเชียงใหม่ ในขณะเมื่อกำลังเที่ยวหาเจ้าครองเมืองเชียงใหม่อยู่นั้น เจ้าเมืองแสนหวี (เห็นจะเปนเชื้อวงษ์หรือเกี่ยวดองกับพระเมืองเกษเกล้า) เมื่อรู้ข่าวว่า แสนดาวเปนขบถ ปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้าเสีย ก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่ กำลังเมืองแสนหวีตีไม่ได้เมือง จึงให้ลงมาขอกองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นไปช่วยปราบปรามแสนดาว เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปยังไม่ถึง พวกท้าวพระยาที่ประชุมกันที่เมืองเชียงแสนรวบรวมกำลังได้ ยกมาตีเมืองเชียงใหม่อิกทาง ๑ จับตัวแสนดาวกับพรรคพวกได้ ฆ่าเสีย แล้วจึงพร้อมกันยกนางมหาเทวีชื่อ เจ้าจิรประภา ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ นางคนนี้เห็นจะเปนราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้า ที่ว่า ให้ครองเมือง จะต้องเข้าใจว่า ให้เปนผู้รั้งอยู่ชั่วคราว เพราะกำลังเชิญเจ้าเมืองอื่นมาครองนครเชียงใหม่อยู่ ในขณะนั้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชก็ยกกองทัพขึ้นไปถึงในปลายปีจอ จุลศักราช ๙๐๐ พ.ศ. ๒๐๘๑ พระมหาเทวีจึงออกมาอ่อนน้อม เปนแล้วกันไปคราว ๑ ต่อมา ได้ความตามจดหมายเหตุของโปจุเกตว่า เพราะเมืองเชียงใหม่ไปเข้ากับเมืองตองอู จึ่งเกิดอริกับกรุงศรีอยุทธยา หนังสือตำนานโยนกว่า อยู่มา กรุงศรีอยุทธยาให้เจ้าเมืองศุโขไทย (คือ ที่พระราชพงษาวดารว่า พระยาพิศณุโลก) คุมสาสตราวุธขึ้นไป ทำอุบายไปเปนฉันมิตร ฝ่ายข้างเมืองเชียงใหม่มีความสงไสย ท้าวพระยาปฤกษากันว่า จะรบหรือจะยอมให้ยกขึ้นไปโดยดี ความเห็นแตกกันเปน ๒ ฝ่าย พระมหาเทวีตัดสินว่า ให้เชื่อตามคำพระยาศุโขไทยที่ว่า จะไปฉันมิตร ให้รับรอง ครั้นพระยาศุโขไทยขึ้นไปถึงเมืองลำพูน เวลากลางคืน ก็เข้าปล้นเอาเมือง แล้วทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราชก็ยกขึ้นไปล้อมเมืองเชียงใหม่ (ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) เมื่อปีมเสง จุลศักราช ๙๐๗ พ.ศ. ๒๐๘๘ แต่งให้หมื่นศรีสหเทพกับพันเทพมณเฑียรเปนราชทูตเข้าไปบอกพระมหาเทวีให้ยอมเปนเมืองออก ข้างพวกเชียงใหม่ไม่ยอม กองทัพกรุงศรีอยุทธยารบพุ่งตีเอาเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับลงมา ตำนานโยนกว่าดังนี้ แต่พระราชพงษาวดารกับจดหมายเหตุของปินโตโปจุเกตยุติต้องกันว่า ครั้งนั้น ได้เมืองลำพูนแลเมืองเชียงใหม่ นางพระยายอมเปนเมืองประเทศขึ้นกรุงศรีอยุทธยา

หนังสือพงษาวดารเขมรมีเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช กล่าวไว้ดังนี้ว่า สมเด็จพระธรรมราชาธิราชรามาธิบดีทรงราชย์มาได้ ๓๗ ปีทิวงคต สมเด็จพระยางามขัติยราชา ราชโอรส ได้ทรงราชย์ต่อมา มีพระนามว่า สมเด็จพระศรีสุคนธบทราชาธิราชรามาธิบดี ทรงราชอยู่ ๕ ปี ขุนหลวงพระเสด็จชื่อ เจ้ากัน เดิมเปนบุตรมนตรีในเมืองปาสาณ คิดขบถลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุคนธบทเสีย พระจันทราชา ผู้เปนพระอนุชาของสมเด็จพระศรีสุคนธบท หนีเข้ามพาึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา ๙ ปี ได้กำลังไทยออกไปช่วย ตั้งตัวได้ที่เมืองโพธิสัตว แล้วไปทำศึกกับเจ้ากันอยู่ ๑๑ ปี มีไชยชนะ ฆ่าเจ้ากันตาย ได้ราชสมบัติกรุงกัมพูชาคืน แล้วไปตั้งราชธานีอยู่เมืองลแวก อาไศรยเหตุที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาต่อ ๆ มาในสมัยนั้นทรงราชย์อยู่ที่เมืองลแวก ในหนังสือพระราชพงษาวดารในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแลสมเด็จพระนเรศวรจึงเรียกพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า พระยาลแวก.

ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ (ตอนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ) กล่าวถึงตำนานการขุดคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราชเปนต้นมามีหลายคลอง เรื่องคลองลัดเหล่านี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ได้เอาเปนธุระตรวจสอบแผนที่ได้ความควรจะนำมากล่าวไว้ที่นี้.

ลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ตั้งแต่ปากน้ำเจ้าพระยาขึ้นมา เดินตามแม่น้ำทุกวันนี้ขึ้นมาจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ (หรือที่เรียกกันโดยมากกว่า คลองบางหลวง) ในระหว่างวัดอรุณกับวัดกัลยาณ์ฯ ที่วัดกัลยาณ์ฯ เองเปนตัวแม่น้ำ ตลิ่งอยู่ที่กุฎีจีน คือ ศาลเจ้าเจ๊กอยู่ติดข้างใต้วัดกัลยาณ์ฯ เดี๋ยวนี้ ลำแม่น้ำเดิมเข้าทางคลองบางกอกใหญ่ไปเลี้ยวบางระมาดตลิ่งชัน วกมาออกคลองบางกอกน้อยขึ้นทางสามเสน ไปเลี้ยวเข้าบางกรวยตรงวัดเขมาข้าม ที่เรียกว่า คลองบางกรวย ทุกวันนี้คือแม่น้ำเก่า เลี้ยวเข้าตรงนั้นไปต่อแม่น้ำอ้อม วกมาออกที่เมืองนนท์ฝั่งตวันตก แล้วขึ้นไปทางแม่น้ำเดี๋ยวนี้ ทางอ้อมเกร็ดบางบัวทอง จนถึงบางหลวงเชียงราก แม่น้ำเก่าเข้าทางคลองบางหลวงเชียงรากฝั่งตวันออก อ้อมไปออกที่คลองลาดพร้าว ต่อนั้นขึ้นไป ลำแม่น้ำเดิมเปนอย่างทุกวันนี้ จนถึงกรุงเก่า.

ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อปีมโรง จุลศักราช ๘๘๔ พ.ศ. ๒๐๖๕ (ศักราชที่ว่าเหล่านี้ เอาแน่ไม่ได้) สมเด็จพระไชยราชาธิราชให้ขุดคลองบางกอกใหญ่ คือ ขุดคลองลัดตั้งแต่ที่ปากคลองบางกอกน้อยไปออกแม่น้ำเก่าที่น่าวัดอรุณ คลองลัดบางกอกใหญ่นี้ ที่กลายเปนลำแม่น้ำตรงน่าตำหนักแพทุกวันนี้.

ปีจอ จุลศักราช ๙๐๐ พ.ศ. ๒๐๘๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขุดคลองลัดที่บางกรวย แต่วัดชลอมาทลุริมวัดขี้เหล็ก ที่เรียกว่า คลองลัด เพราะในเวลานั้น ลำแม่น้ำยังเดินทางแม่น้ำอ้อมวัดขี้เหล็กอยู่ในคลองบางกอกน้อย ตรงปากคลองบางระมาดตลิ่งชันซึ่งเปนแม่น้ำเก่า คลองแต่วัดขี้เหล็กไปจนวัดชลอ ซึ่งยังอยู่ในแม่น้ำอ้อมจนทุกวันนี้คือที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขุด เปนทางลัดเพราะตรงมาบางระมาดตลิ่งชันได้ทางนี้ ไม่ต้องอ้อมออกบางกรวยลงมาทางสามเสน.

ปีชวด จุลศักราช ๙๗๐ พ.ศ. ๒๑๕๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขุดคลองลัดที่ท้ายสามโคก คือ แต่ปากคลองลาดพร้าวเดี๋ยวนี้ลงมาจนปากคลองบางหลวงเชียงราก เรียกว่า คลองเกร็ดใหญ่ คลองนี้ทุกวันนี้กลายเปนแม่น้ำ.

ปีชวด จุลศักราช ๙๙๘ พ.ศ. ๒๑๗๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขุดคลองลัดแต่เมืองนนท์มาออกบางกรวย คือ ขุดตั้งแต่ปากคลองแม่น้ำอ้อม เมืองนนทบุรี ลงมาจนถึงวัดเขมา ทุกวันนี้กลายเปนแม่น้ำ.

ปีขาล จุลศักราช ๑๐๘๔ พ.ศ. ๒๒๖๕ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขุดคลองลัดที่เรียกว่า ปากเกร็ด ทุกวันนี้ บรรดาคลองลัดที่ได้ขุด ทุกวันนี้กลายเปนแม่น้ำทุกคลอง เว้นไว้แต่คลองวัดแต่วัดชลอมาวัดขี้เหล็กซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขุด เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขุดคลองลัดแต่เมืองนนท์มาวัดเขมาแล้ว สายน้ำมาเดินเสียทางนี้ ส่วนแม่น้ำเก่าที่ถูกขุด คลองลัดพาสายน้ำไปเสียทางอื่น ก็แคบเขินกลายเปนคลองไปในทุกวันนี้ คือ คลองที่เรียกว่า บางกอกใหญ่ คลองบางระมาดตลิ่งชัน คลองบางกอกน้อย คลองแม่น้ำอ้อม คลองบางกรวย แลคลองบางหลวงเชียงราย ถึงทางแม่น้ำอ้อมเกร็ดน้อยทางบางบัวทอง เดี๋ยวนี้ก็ตื้นเขินขึ้นทุกที คงจะกลายเปนคลองไปในวัน ๑

ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม แลฉบับพระราชหัดถเลขา นี้ กล่าวความต้องกันว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ กลับลงมา ประชวรเปนปัจจุบัน สวรรคตกลางทาง แต่ในฉบับหลวงประเสริฐกล่าวต้องกันกับจดหมายเหตุของปินโตโปจุเกตว่า ต่อเสด็จกลับมาถึงพระนครแล้ว จึงสวรรคต ปินโตกล่าวความต่อไปอิกว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปทัพในครั้งนั้น ให้พระมเหษี (ซึ่งหมายความว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์) เปนผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร พระมเหษีมีชู้ตั้งครรภ์ขึ้น เกรงความนั้นจะทราบถึงสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร จึงเอายาพิศม์เจือลงในน้ำนมโคให้เสวย ประชวรอยู่ ๕ วัน มอบเวนราชสมบัติแก่พระยอดฟ้า ราชโอรส แล้วก็สวรรคต ดังนี้ ความที่เถียงกันในข้อนี้ ข้าพเจ้าได้พิจารณาดูด้วยเหตุผลทั้งปวง เชื่อว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตเมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครแล้ว แต่ข้อพิจารณาเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์ จะกล่าวต่อไปเมื่ออธิบายเรื่องตอนขุนวรวงษาธิราชชิงราชสมบัติ.