ภาพยนตร์ในเมืองไทย/ผู้วายชนม์

นายพิสิฐ ตันสัจจา
ชาตะ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๗
มรณะ ๙ กันยายน ๒๕๑๔

มารดา–ภรรยา–บุตร และธิดา

ประวัติสังเขป

คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นบุตรนายเมฆ และนางกิจ ตันสัจจา เกิดที่ตำบลหัวลำโพง อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือ

นางพรรณี โภคินทร์วงศ์

คุณพิสิฐ ตันสัจจา

คุณวิสิษฐ ตันสัจจา

นอกนั้นยังมีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีก คือ

นางเอี้ยงเส้าะ ตันสัจจา

นางเนียน กูรมะโรหิต

นางวัฒนา เรืองสุนทร

นางอรุณี เก็งวินิจ

นางพรสรรค์ โทณะวนิก

นายพรสิทธิ์ ตันสัจจา

นายอุทัย ตันสัจจา

นางศรีสุดา จาง

นายสามารถ ตันสัจจา

นางสาวอมรา ตันสัจจา

นายสมศักดิ์ ตันสัจจา

เมื่อเยาว์วัย คุณพิสิฐ ตันสัตตา ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนซินหมิน จนกระทั่งอายุ ๑๒ ปี บิดาจึงได้ส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์สดีตเวนส์ ฮ่องกง และจบการศึกษาที่นั่น พอดีขณะนั้นเป็นระยะสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกฮ่องกง คุณพิสิฐ ตันสัจจา ได้หนีญี่ปุ่นกลับประเทศไทยโดยเรือเล็กรอนแรมผ่านอินโดจีนเข้ามาจนถึงกรุงเทพฯ กลับถึงบ้านไม่นาน บิดาซึ่งเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ทำหน้าที่รับผิดชอบการเงินอยู่ในแผนกขาย ตลอดเวลาที่ทำงานเป็นที่รักใคร่ของฝรั่งผู้จัดการใหญ่และผู้ร่วมงานทุกคน แต่ทำงานอยู่พักหนึ่ง ก็ป่วยต้องลาพักผ่อนอยู่กับบ้านเป็นเวลาร่วมสามเดือน พอดีคุณชัย ตันธนะ ชวนเข้าหุ้นดำเนินกิจการที่ศาลาเฉลิมไทย คุณพิสิฐ ตันสัจจา จึงเริ่มหันมาจับงานด้านธุรกิจบันเทิง จนกระทั่งซื้อหุ้นของบริษัทศิลป์ไทยไว้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินกิจการเองโดยตลอด

คุณพิสิฐ ตันสัจจา ดำเนินงานด้านธุรกิจบันเทิงด้วยใจรักอย่างแท้จริง พยายามศึกษาหาความรู้ ประกอบกับ เป็น ผู้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุดและให้แปลกใหม่อยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากผลงานของคุณพิสิฐ ตันสัจจา คือ

หลังจากเปิดการแสดงละครที่ศาลาเฉลิมไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้ว เมื่อเห็นว่า การแสดงละครจะไปไม่รอดแน่ ก็ปิดโรงเพื่อปรับปรุงฉายภาพยนตร์

พ.ศ. ๒๔๙๖ นั้นเอง ได้นำเอาภาพยนตร์ระบบ ๓ มิติ มาฉายเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๔๙๗ นำระบบภาพยนตร์ซีเนมาสโคปเข้ามาฉายเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๕๐๒ นำระบบภาพยนตร์ ๗๐ มม เข้ามาฉายเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๕๐๓ นำระบบภาพยนตร์ทอดด์-เอโอเข้ามาฉายเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๕๐๗ นำระบบภาพยนตร์ซีเนรามา (เลนส์เดียว) เข้ามาฉายเป็นครั้งแรก

และแม้แต่เก้าอี้ที่นั่งสำหรับคนดูซึ่งใช้อยู่ที่โรงภาพยนตร์ทั้งหมดในเครือของศาลาเฉลิมไทย คุณพิสิฐ ตันสัจจา ก็ผลิตขึ้นใช้เอง ไม่ยอมซื้อจากต่างประเทศ ตลอดจนการนำเสนอนาฏศิลป์สากิลอินทราซึ่งแสดงอยู่ที่โรงภาพยนตร์อินทราในขณะนี้

ตามปกติ คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นคนไม่สู้แข็งแรงนัก มักเป็นไข้ ปวดศีรษะ ตัวร้อนอยู่เสมอ เมื่อมีอาการเช่นนั้น ก็เพียงแต่ขอยาแก้ปวดศีรษะรับประทาน แล้วทำงานต่อไปโดยไม่ยอมพักผ่อน การทำงานเป็นเสมือนเกมที่สนุกของคุณพิสิฐ ตันสัจจา อยู่ตลอดเวลา

ครั้นเมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔ คุณพิสิฐ ตันสัจจา เริ่มมีอาการเจ็บที่ชายโครงด้านขวา เวลาเดินต้องเอามือกุมตรงบริเวณนั้น และมีอาการค่อนข้างอ่อนเพลียกับปวดร้าวตั้งแต่หลังด้านขวาจนถึงไหล่ ภรรยาได้พยายามอ้อนวอนให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย คุณพิสิฐ ตันสัจจา ก็บอกว่า จะยอมให้แพทย์ตรวจ แต่ขอไม่นอนโรงพยาบาล เพราะเป็นห่วงว่า งานยังคั่งค้างอยู่ (คือ เป็นระยะที่โรงภาพยนตร์อินทรากำลังตกแต่ง) แต่พอไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตรวจได้เป็นครั้งที่สาม ก็มีอาการหนาวสั่น จึงต้องยอมนอนโรงพยาบาล และแม้กระนั้น ตลอดเวลาที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล คุณพิสิฐ ตันสัจจา ก็จะสั่งงานแก่บุตรและผู้ร่วมงานทุกวัน ความทรงจำคงดีเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา

ผลการตรวจของแพทย์ปรากฏว่า คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นมะเร็งที่ตับ ตับและแข็งด้วย ทั้ง ๆ ที่คุณพิสิฐ ตันสัจจา ไม่รับ ประทานสุราและไม่สูบบุหรี่เลย

คุณพิสิฐ ตันสัจจา ได้รับการรักษาพยาบาลจากทางโรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยความเอาใจใส่อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะจากนายแพทย์จินดา สุวรรณรักษ์ นายแพทย์เกรียงไกร อัครวงศ์ และบรรดานายแพทย์อื่น ๆ ทุกท่านในแผนกศัลยกรรม จนกระทั่งวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๙.๕๕ น. จึงได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ สุดวิสัยที่นายแพทย์ทั้งหลายจะเยียวยาได้ ท่ามกลางการเฝ้าดูแลรักษาพยาบาลของนายแพทย์และพยาบาลตลอดจนมารดา บุตร ภรรยา และญาติพี่น้องอย่างใกล้ชิด อายุรวมได้ ๔๘ ปี จึงขอขอบคุณบรรดาแพทย์ที่ได้ระบุนามมาแล้วและมิได้ระบุนามไว้เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้

คุณพิสิฐ ตันสัจจา ได้ทำการสมรสกับ น.ส.นงนุช อิงคตานุวัฒน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ มีบุตรธิดาด้วยกันรวม ๓ คน คือ

นางสาวนันทา ตันสัจจา

นายกำพล ตันสัจจา

และนายวิวัฒน์ ตันสัจจา

คำไว้อาลัย

คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นเพื่อนที่รักใคร่นับถือและสนิทกับผมมาก ไม่แต่ผมเท่านั้นที่เกิดทุกข์และมีความเสียใจเนื่องจากการสูญเสียมิตรที่รักที่สุดคนหนึ่งไป บรรดาเพื่อนทั้งหลายและผู้ที่เคารพนับถือ มารดา ภรรยา บุตร ธิดา และญาติ ๆ ทุกคนต่างก็เกิดความเสียดายเสียใจอาลัยในการจากไปของคุณพิสิฐ ตันสัจจา อย่างไม่มีวันกลับด้วยกันทั้งสิ้น แต่เมื่อมาคิดว่า คนเรา การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาของโลก จึงค่อยบันเทาความเสียใจลงไปได้บ้าง แต่ก็ยังระลึกนึกถึงคุณงามความดี บุคลิกภาพ ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีงามในความหลังที่เราได้เคยมีต่อกันเสมอมาเป็นเวลาอันยาวนาน

คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน โอบอ้อมอารี มีจิตใจเมตตากรุณาต่อผู้น้อยใต้บังคับบัญชาเสมอหน้ากัน สิ่งที่คุณพิสิฐฯ ได้ทิ้งไว้ ก็คือ คุณงามความดีและผลงาน คุณพิสิฐฯ เป็นกำลังสำคัญผู้หนึ่งในด้านการสละทรัพย์ส่วนตัว และเป็นผู้นำในการจัดฉายภาพยนตร์หาเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อนำรายได้ดังกล่าวนี้ไปเพื่อการกุศลสาธารณะประโยชน์ หลายสิบครั้งตลอดมา จนใกล้วันจะถึงแก่กรรมก็ยังมีจิตศรัทธาสละเงินรายได้ของการเปิดแสดงนาฏศิลป์สากลอินทราและฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ของโรงภาพยนตร์อินทราทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระราชทานให้กับมูลนิธิรามาธิบดี คุณพิสิฐฯ เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความจงรักภักดีในเบื้องพระยุคลบาทอย่างหาที่สุดมิได้

คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นผู้ที่มีความสามารถและเป็นผู้ที่นำความเจริญก้าวหน้าใหม่ ๆ แปลก ๆ ด้านการบันเทิงมาสู่เมืองไทยเป็นคนแรกอยู่เสมอ เช่น เมื่อระบบภาพยนตร์ได้เปลี่ยนแปลงจาก ๓๕ ม.ม. มาเป็น ๓ มิติ ซีเนมาสโคป (cinema scope) และ ๗๐ ม.ม. ซึ่งหมายความว่า จะต้องเปลี่ยนระบบการฉายภาพยนตร์ของเมืองไทย คือ เราจะต้องเปลี่ยนทั้งจอฉาย เครื่องฉาย เครื่องเสียง (รอบทิศ) ฯลฯ คุณพิสิฐฯ ก็ได้ค้นคว้าและศึกษาในด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ให้ทันสมัยและเหตุการณ์เหมือนต่างประเทศเขา ในส่วนความก้าวหน้าของโรงภาพยนตร์ คุณพิสิฐฯ ได้คิดค้นหาทางที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ให้ท่านผู้ชมได้นั่งชมภาพยนตร์อย่างสะดวกสบาย โดยจัดสร้างโรงภาพยนตร์แบบใหม่พิเศษขึ้นเป็นโรงแรก คือ โรงภาพยนตร์สยาม (รวมทั้งลิโด สกาลา และอินทรา) ทั้งบริการท่านผู้ชมให้ได้รับความสะดวกสบายโดยใช้บันไดเลื่อนไฟฟ้าให้ท่านผู้ชมขึ้นลงได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย แสนสะดวกสบาย พร้อมทั้งใช้ประตูเลื่อนตรงทางเข้าโรงภาพยนตร์ นับเป็นแห่งแรกในเมืองไทย นอกจากนั้น เก้าอี้นั่งชมก็มีพนักสูงรับศีรษะพอดีอีกด้วย ตลอดเวลาแห่งชีวิตของคุณพิสิฐฯ ได้ปฏิบัติภาระหน้าที่โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ในบั้นท้ายแห่งชีวิต ก็ได้สร้างโรงภาพยนตร์อินทราขึ้นอีกโรงหนึ่ง โดยนำนาฏศิลป์สากลแบบโชชิกุของประเทศญี่ปุ่น โดยใช้คนไทยล้วน ๆ แสดง มีครูชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ฝึกสอน มาแสดงบนเวทีก่อนฉายภาพยนตร์ราว ๑ ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นรายการแสดงที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย นับเป็นแห่งแรกจริง ๆ แต่ก็มากลายเป็นงานชิ้นสุดท้ายแห่งชีวิตของคุณพิสิฐฯ ไปด้วย การที่คุณพิสิฐฯ ได้ตัดสินใจนำนาฏศิลป์สากลมาแสดงบนเวทีนี้เป็นสิ่งที่ยากและเสี่ยงมากที่สุด แต่คุณพิสิฐฯ เป็นบุคคลประเภทที่เรียกว่า ต้องเดินหน้า ไม่ยอมถอยหลัง ถึงแม้ว่าจะต้องลงทุนทรัพย์อย่างมากมาย ก็ไม่เคยย่อท้อ ดังนั้น ความสำเร็จและความก้าวหน้าในวงการบันเทิงของเมืองไทยจึงปรากฏเป็นอนุสรณ์ของคุณพิสิฐฯ ที่ท่านทราบกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะหาผู้ใดที่จะกล้าเสียสละและสามารถเช่นคุณพิสิฐฯ อีกนั้น ผมยังมองไม่เห็น ผมยังรู้สึกเสียใจและเสียดายอย่างยิ่งที่คุณพิสิฐฯ ไม่ได้มีชีวิตอยู่ดูผลงานสำคัญชิ้นนี้

คุณพิสิฐ ตันสัจจา เป็นผู้ที่มีลักษณะอ่อนโยน สุภาพ นุ่มนวล มีความโอบอ้อมอารี และมีเมตตาธรรมประจำใจอยู่เนืองนิจ จึงเป็นที่รักใคร่และเคารพนับถือของบุคคลทั่วไป ดังนั้น เมื่อคุณพิสิฐฯ มาด่วนจากโลกนี้ไปตามกรรมลิขิต ผมจึงเชื่อว่า เพื่อนสมาชิกสมาคมโรงภาพยนตร์ทุกคนของ “คุณพิสิฐ ตันสัจจา” ก็คงจะมีความรู้สึกทำนองเดียวกับผมว่า “คุณพิสิฐฯ ไม่น่าที่จะจากพวกเราไปรวดเร็วเช่นนี้เลย”

ในที่สุด ผม ในนามของมวลสมาชิกสมาคมโรงภาพยนตร์ ตลอดจนเพื่อนในวงการภาพยนตร์ ขอแสดงความเศร้าสลดใจและเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของคุณพิสิฐ ตันสัจจา ด้วยใจจริง

ขอกุศลบุญราศีที่คุณพิสิฐ ตันสัจจา ได้กระทำดีมาแล้ว และด้วยกุศลผลบุญที่ญาติมิตรได้บำเพ็ญอุทิศ จงเป็นพลวะปัจจัยเกื้อหนุนช่วยส่งให้ดวงวิญญาณของคุณพิสิฐ ตันสัจจา ที่รักยิ่ง จงประสบอิฐวิบูลมนุญผลอันสมควรแก่คติวิสัย ขอจงได้ไปสิงสถิตย์เสวยสุขในสัมปรายภาพตลอดกาลนานเทอญ.

  • นายสงวน มัทวพันธุ์
  • นายกสมาคมโรงภาพยนตร์