โดย
สมชาย พุ่มสอาด

คำว่า “ภาพยนตร์” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นเคลื่อนไหวได้, หนังฉาย”

ภาพยนตร์ นับว่า เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชาวพระนครหรือชาวชนบท ถ้าเอ่ยถึง “ภาพยนตร์” แล้ว เป็นต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีทุกผู้ทุกนาม เพราะภาพยนตร์เป็นมหรสพชนิดหนึ่งที่ให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่ประชาชนทั่วไปจนเป็นที่นิยมเหนือมหรสพอื่น ๆ ที่เคยมีอยู่ในประเทศไทยมาแต่โบร่ำโบราณก็ว่าได้ “ภาพยนตร์” เป็นคำที่ทางราชการใช้ และเป็นภาษาเขียน แต่ชาวบ้านทั้งหลายไม่นิยมเรียก เพราะไม่ค่อยจะคุ้นหูชินปากกับคำนี้นัก จึงกลับไปเรียกเสียอีกคำหนึ่ง ที่เรียกว่า “หนัง” ซึ่งเป็นคำที่ชินปากมากที่สุด และต่างเข้าใจกันดีว่า มันคือ “ภาพยนตร์” นั่นเอง เหตุที่เรียกว่า “หนัง” นั้น ก็สืบเนื่องมาจากการละเล่นพื้นเมืองทางภาคใต้ของไทยที่รู้จักกันดี และเคยเป็นที่นิยมของชาวไทยมาก่อนในเวลาที่มีการมหรสพสมโภช ก็ได้แก่ “หนังตะลุง” ซึ่งนับเป็นมหรสพที่ให้ความบันเทิงในลักษณะภาพที่ติดจอซึ่งทำด้วยผ้าขาวขึงให้ตึง แล้วใช้แสงสว่างช่วยให้เกิดเงาขึ้นที่จอ แล้วใช้เสียงพากย์ประกอบ ตัวหนังทำด้วยหนังกระบือ จึงได้เรียกชื่อว่า “หนังตะลุง” ครั้นต่อมา เมื่อภาพยนตร์ฝรั่งซึ่งดำเนินการด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์ได้แพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทย เป็นภาพที่เกิดชนิดเดียวกับหนังตะลุง คือ ทำให้เกิดภาพได้ที่จอเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันในด้านกรรมวิธีทางวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านจึงได้เรียกว่า “หนัง” แต่ต่อท้ายด้วยคำว่า “ญี่ปุ่น” รวมกันว่า “หนังญี่ปุ่น” หาเรียกว่า “หนังฝรั่ง” ก็หาไม่ ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเป็นผู้คิดขึ้นเป็นชาติแรกในโลก การที่เรียกว่า “หนังญี่ปุ่น” นั้น ก็เพราะคนญี่ปุ่นนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คนไทยหาทราบไม่ว่า ใครเป็นคนคิดได้ มุ่งถึงการนำมาเผยแพร่มากกว่า ซึ่งเรื่องทำนองนี้จะมีมากมายในเมืองไทยเรา อย่างไรก็ดี คำว่า “ภาพยนตร์” กับ “หนัง” จึงได้เป็นคำพูดที่ติดปากคนไทยมาจนทุกวันนี้

ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่นำเอาภาพยนตร์เข้ามาฉายในเมืองไทยเป็นครั้งแรกในราวปี พ.ศ. ๒๔๔๗–๒๔๔๘ เป็นภาพยนตร์สงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรุสเซีย การที่ญี่ปุ่นนำเอาภาพยนตร์สงครามมาฉายในเมืองไทยครั้งนั้น ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะแสดงแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของเขาที่สามารถเอาชนะรุสเซียได้อย่างงดงามให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของโลก ทั้งนี้ เราจะเห็นได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ญี่ปุ่นพยายามสร้างอย่างประณีตและแฝงไว้ซึ่งจิตวิทยาชั้นสูง เพื่อให้เป็นที่เกรงขามของนานาประเทศนั่นเอง การสงครามครั้งนั้นนับเป็นผลสำเร็จของญี่ปุ่นที่ทำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศเขาอย่างที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายที่นครเขษม เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีโรงภาพยนตร์ จึงต้องใช้กระโจมผ้าใบทำหลังคา รอบ ๆ บริเวณกั้นด้วยผ้าใบเช่นกัน และเก็บค่าผ่านประตูคนละ ๒๕ สตางค์เป็นอย่างต่ำ ก่อนที่จะดำเนินการฉายภาพยนตร์ มีแตรวงบรรเลงที่หน้าโรงก่อน เพื่อให้เกิดความครึกครื้นเรียกความสนใจจากประชาชนบ้างตามสมควร แตรวงที่บรรเลงในครั้งนั้น กล่าวกันว่า เป็นวงของนายฮะ อยู่ตำบลสามแยกพระนคร เพลงที่บรรเลงก็มีอยู่เพียง ๓ เพลง คือ เพลงมาร์ชบริพัตร พระนิพนธ์ของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) เพลงแบล๊คอิเกิล และเพลงปลื้มจิต ปรากฏว่า บรรเลงจบ ๓ ครั้งก็เป็นอันเสร็จ ต่อจากนั้น ภาพยนตร์ก็เริ่มทำการฉาย แต่ก็เป็นหนังเงียบ ไม่มีเสียงพากย์ใด ๆ เหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เสียงประกอบ กล่าวคือ ตอนใดที่มีม้าวิ่ง พวกที่อยู่ด้านหลังจอก็จะนำเอากะลาโขกกันให้ดังมีเสียงคล้ายกับม้ากำลังวิ่ง ถ้าตอนใดมีเรือกำลังถูกคลื่นในทะเล ก็ใช้ทรายสาดลงไปบนแผ่นสังกะสีให้มีเสียงหนักเบาคล้ายคลื่นในทะเล สิ่งช่วยต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ช่วยทำให้เกิดความสนใจได้บ้าง ดีกว่าดูภาพยนตร์เงียบ ๆ การฉายภาพยนตร์ครั้งนั้นปรากฏว่า มีคนไทยและชาวต่างประเทศแตกตื่นเข้าไปชมกันอย่างหนาแน่น เพราะเป็นของใหม่แปลกสำหรับคนไทยในยุคนั้น

ในเวลาต่อมา ภาพยนตร์ก็เป็นที่เริ่มสนใจของชาวไทยมากขึ้น ผู้ที่นำมาฉายจึงได้คิดหาทางช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของผู้ชมเพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจไปในตัว เพราะมีผู้ชมส่วนมากบ่นอุบอิบไปตาม ๆ กันว่า ดูภาพยนตร์เงียบมาก ๆ แล้ว มักเกิดอาการวิงเวียนและปวดศีรษะ บางคนถึงกับอาเจียนก็มี เพราะไม่ค่อยจะชินกับบรรยากาศเช่นนั้น ทางเจ้าของโรงภาพยนตร์ผู้ฉายจึงได้หาลิเกมาเล่นสลับฉากเสียบ้าง ก็เป็นที่นิยมของผู้ชมบ้างตามสมควร เพราะลิเกเป็นมหรสพพื้นเมืองของไทย ซึ่งในการมีงานมหรสพในสมัยนั้นจะขาดเสียมิได้เลยทีเดียว

ครั้นต่อมา หลังจากที่ฉายภาพยนตร์เงียบดังกล่าวแล้วมาอีก ๑ ปี กระโจมผ้าใบที่ทำหลังคาและรั้วรอบ ๆ โรงเกิดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางเจ้าของโรงภาพยนตร์จึงได้เปลี่ยนหลังคาและรั้วมาเป็นสังกะสีเพื่อถาวรคงทนยิ่งขึ้น แล้วเขียนป้ายติดไว้ที่หน้าโรงว่า “โรงหนังญี่ปุ่น” นับเป็นครั้งแรกที่เกิดโรงภาพยนตร์ถาวรขึ้นในเมืองไทย วงการภาพยนตร์ก็เริ่มไหวตัวขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา เมื่อญี่ปุ่นเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่เริ่มชมภาพยนตร์มากขึ้นกว่ามหรสพใด ๆ จึงได้เริ่มขยายกิจการให้ถาวรมั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเก่า โดยจัดสร้างโรงภาพยนตร์ถาวรขึ้นที่ตลาดปีระกาในเวิ้งนครเขษม มีชื่อว่า “โรงหนังรัตนปีระกา” แต่ปรากฏว่า เริ่มฉายภาพยนตร์เรื่องแรกได้เพียงเรื่องเดียว ก็เกิดเพลิงไหม้ในห้องฉายภาพยนตร์ ไฟลุกลามไหม้โรงหนังและอาคารในบริเวณนั้นจนหมดไม่มีเหลือ ทำให้พวกญี่ปุ่นผู้สร้างต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไปตาม ๆ กัน เพราะลงทุนลงแรงไปมาก อยู่ในเมืองไทยไม่ได้ ต้องพากันเดินทางกลับประเทศของตนไปตาม ๆ กัน จากนั้น ก็ไม่ปรากฏว่า มีชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาดำเนินการฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยอีกต่อไป ยังผลให้วงการภาพยนตร์ในเมืองไทยชะงักไปชั่วระยะหนึ่ง

หลังจากที่พวกญี่ปุ่นเดินทางกลับไปประเทศของตนแล้ว บรรดาพ่อค้าไทยจีนต่างมองเห็นประโยชน์ทางด้านกิจการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งคนไทยกำลังสนใจมากยิ่งขึ้น มองเห็นทางที่จะหารายได้ชนิดที่สมารถต่อให้เกิดความร่ำรวยได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงได้พร้อมใจกันรวมทุนตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นอีกโรงหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลจีน ทำการสั่งภาพยนตร์จากบริษัทภาพยนตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาฉายในประเทศไทย ต่อจากนั้น ก็มีผู้สรางโรงภาพยนตร์ขึ้นอีกที่วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ) หลังจากนั้นเล็กน้อย ก็มีกลุ่มพ่อค้าไทยจีนได้รวมทุนกันก่อตั้งเป็นบริษัท ให้ชื่อว่า “บริษัทภาพยนตร์พัฒนากรจำกัดสินใช้” โดยจดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกเลขที่ ๓๙๓/๕ ถนนเจริญกรุง อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร นับเป็นบริษัทภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนบริษัทภาพยนตร์ในต่างประเทศ และได้ทำการสั่งภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทยด้วย

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ บริษัทสยามภาพยนตร์ก็เกิดขึ้นเป็นบริษัทที่ ๒ ของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสั่งภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

เมื่อมีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศมากขึ้น การก่อสร้างโรงภาพยนตร์ก็เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด เพราะวงการภาพยนตร์ไทยเริ่มขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครและธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ปรากฏว่า มีโรงภาพยนตร์มากกว่า ๑๐ แห่ง คือ โรงภาพยนตร์พัฒนากร ซึ่งจัดว่า เป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีผู้จัดคนแรก คือ นายซองอ๊วน สีบุญเรือง โรงหนังฮ่องกง ตั้งอยู่ที่สาธร โรงหนังสิงคโปร์ (ปัจจุบันคือโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรี) โรงหนังนางเลิ้ง โรงหนังบางลำพู โรงหนังบ้านหม้อ โรงหนังกมลพัฒนา อยู่ที่บางกระบือ โรงหนังปีนัง (ปัจจุบันคือโรงหนังศรีบางลำพู) โรงหนังตงก๊ก (ปัจจุบันคือโรงหนังบุศยพรรณ) เป็นต้น ภาพยนตร์ที่นำมาฉายในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์อเมริกันเป็นพื้น แต่ก็เป็นยุคหนังเงียบ ไม่มีเสียง เพราะภาพยนตร์เสียงเพิ่งสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยบริษัทวาร์เนอร์บราเธอร์ส (Warner Brothers)

ภาพยนตร์ที่นำเข้ามาฉายกันในขณะนั้น ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทภาพยนตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเจริญมากที่สุดกว่าประเทศใด ๆ ในโลกในขณะนั้น แต่ก็คงเป็นหนังเงียบอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ก่อนที่จะทำการฉายภาพยนตร์ จึงต้องมีวงดนตรีไทยบรรเลงและขับร้องสลับฉากอีกเช่นเคย วงดนตรีที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นก็ได้แก่วงนายกุ๊น ประกอบด้วยนักดนตรีทั้งชายหญิงมากมาย เฉพาะดนตรีที่เป็นผู้หญิงล้วน ๆ นั้น นายกุ๊นได้นำไปบรรเลงเป็นครั้งแรกที่โรงหนังฮ่องกง สาธร เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

การถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยครั้งแรกนั้น กล่าวกันว่า เริ่มถ่ายทำเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยคณะถ่ายภาพยนตร์ของบริษัทริชาร์ด เบอร์ตัน โอล์มส์ (Richard Burton Holms) จากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถ่ายทำ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่แสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยบางอย่าง เช่น การแสดงเกี่ยวกับเครื่องประดับตกแต่งภายในบ้านแบบไทย ๆ แบบโบราณ การต้อนรับแขกแบบประเพณีไทยผู้ดี การแต่งกายของกุลสตรีไทย ผู้แสดงก็ล้วนแต่บรรดาครูนักเรียนในโรงเรียนกุลสตรีทั้งนั้น ภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ใช้ภาพยนตร์บันเทิงแบบแนวนวนิยาย ภาพยนตร์ไทยที่มีการแสดงเป็นเรื่องราวแบบมีพระเอก นางเอก และผู้แสดงประกอบตามลักษณะของภาพยนตร์แบบนวนิยาย ซึ่งเริ่มถ่ายทำในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ” ซึ่งนายเฮนรี่ แบคเรย์ (Henry Backray) แห่งบริษัท Universal เป็นผู้กำกับการแสดง โดยได้รับความร่วมมือจากกรมมหรสพและกรมรถไฟหลวง ได้เริ่มลงมือถ่ายทำเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ สำเร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ เสร็จแล้ว นายเฮนรี่ แบคเรย์ ได้มีแก่ใจมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่กรมรถไฟหลวงไว้ ๑ ชุด ภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ” นี้เป็นภาพยนตร์นิยายชีวิตเรื่องแรกที่มีความยาวถึง ๘ ม้วน ใช้ฟิล์มขนาด ๓๕ ม.ม. ผู้แสดงเป็นคนไทยล้วน ๆ เนื้อเรื่องเป็นเรื่องรัก โศก ผจญภัย และตลกขบขัน เป็นภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดความสนใจสำหรับคนไทยที่จะก้าวไปสู่วงการภาพยนตร์ในก้าวต่อไปข้างหน้าในอนาคตกาล

ภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ” นี้ นายเฮนรี่ แบคเรย์ ได้เป็นผู้สร้างโครงเรื่องตามเรื่องเดิมของไทย พร้อมกับเป็นผู้กำกับการแสดงด้วยตนเอง มีนายแดล คลอสัน เป็นช่างภาพ ผู้แสดงนำฝ่ายชาย คือ ขุนรามภรตศาสตร์ แสดงเป็น “นายกล้าหาญ” ส่วนผู้แสดงนำฝ่ายหญิง คือ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร (ปัจจุบันคือคุณหญิงอนินทิตา อาขุบุตร ถึงแก่กรรมแล้ว) แสดงเป็น “นางสาวสุวรรณ” นางเอกของเรื่อง นอกจากนี้ ก็มีผู้แสดงประกอบอีกมากมายหลายท่าน

ภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ” นี้ บริษัทสยามภาพยนตร์ได้ขออนุญาตกรมรถไฟหลวงนำไปฉายให้ประชาชนชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ เพื่อเก็บเงินรายได้บำรุงสภากาชาดสยาม (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน) นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่แสดงโดยคนไทยล้วน ๆ และได้มีโอกาสนำไปฉายถึงประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นครั้งแรกที่ชาวต่างประเทศได้ชมศิลปในการแสดงของคนไทยซึ่งยังไม่เคยปรากฎมาก่อนเลย

หลังจากที่ชาวอเมริกันได้เดินทางเข้ามาสร้างภาพยนตร์ในประเทศไทยล่วงเลยมาได้ราว ๔ ปีเศษ บรรดาคนไทยต่างก็เริ่มไหวตัว โดยรวมทุนกันตั้งเป็นบริษัทถ่ายภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทยราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่บริษัทดังกล่าวสร้างขึ้น คือ ภาพยนตร์เรื่อง “โชคสองชั้น” นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำสำเร็จด้วยฝีมือคนไทย โดยมีขุนอนุรักษ์รัถการเป็นผู้กำกับการแสดง หลวงกลการเจนจิตเป็นช่างภาพ ซึ่งในสมัยนั้นนับว่า เป็นผู้ที่มีฝีมือเยี่ยมชำนาญการถ่ายภาพยนตร์ที่สุดในประเทศไทย ผู้แสดงนำฝ่ายชาย คือ นายมานพ ประภารัตน์ ผู้แสดงนำฝ่ายหญิง คือ ม.ล.หญิงสุจริตร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ภาพยนตร์เรื่อง “โชคสองชั้น” ได้เริ่มฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนาการเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม – วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ปรากฏว่า ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศต่างแตกตื่นพากันไปชมอย่างคับคั่ง รวม ๔ คืนกับ ๑ วัน มีผู้ชมทั้งสิ้นราว ๑๒,๑๓๐ คน เมื่อเปรียบเทียบกับภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ” แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “โชคสองชั้น” มีผู้ชมมากกว่าถึง ๓๐๐๐ คนที่เดียว นับว่า เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีผู้ชมมากที่สุดในสมัยนั้น

ภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทำสำเร็จโดยฝีมือของคนไทยเรื่องที่สองในลำดับต่อมา ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง “ไม่คิดเลย” เรื่องที่ ๓ คือ ภาพยนตร์เรื่อง “ใครดีใครได้” ต่อจากนั้น ก็เริ่มถ่ายทำกันต่อไปมากมายหลายเรื่อง แต่ในสมัยนั้น ไทยเรายังไม่มีศิลปเพียงพอในด้านการแสดง การถ่ายทำ ตลอดจนเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่ทันสมัยเหมือนชาวต่างประเทศ เป็นผลให้ภาพยนตร์ไทยซบเซาไปอีกระยะหนึ่ง เพราะผู้ชมไม่ค่อยจะนิยมกันเท่าไรนัก เฉพาะในกรุงเทพฯ แล้ว ภาพยนตร์ไทยแทบจะไม่มีผู้ชมเลย เพิ่งจะเริ่มนิยมในราว พ.ศ. ๒๕๐๕ นี่เอง จนกระทั่งได้มีการประกวดภาพยนตร์ตุ๊กตาทองในยุคปัจจุบัน จึงทำให้ภาพยนตร์ไทยหันเข้าสู่ยุคที่นิยมกันมากที่สุดเป็นผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์เป็นครั้งแรก เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของชาวไทย ทั้งเป็นการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมของชาติด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ บริษัทศรีกรุงภาพยนตร์ได้คิดสร้างหนังที่ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว คือ “หลงทาง” นับเป็นขั้นแรกของวงการภาพยนตร์ไทยที่เข้าสู่ยุคเริ่มพัฒนา ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจยิ่งขึ้นมากกว่าเดิม เพราะแต่ก่อนเคยชมแต่หนังเงียบมาเป็นเวลานาน ซึ่งการชมหนังชนิดนั้นนาน ๆ อาจเกิดความตึงเครียดได้ง่าย เพราะไม่มีเสียงเพลงและเสียงพากย์ ซึ่งผู้ชมจะต้องคอยติดตามเรื่องอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของภาพยนตร์ไทยอย่างชนิดที่เรียกว่า เข้าสู่ขั้นพัฒนา ได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้น ภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น ๆ ที่ถ่ายทำชนิดมีเสียงก็เริ่มติดตามในอันดับต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ กิจการภาพยนตร์ไทยได้วิวัฒนาการมากขึ้น ภาพยนตร์ที่มีเสียงและมีคนพากย์เริ่มมีหลายบริษัทจัดสร้างขึ้น ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยมีชีวิตชีวา ผู้ชมซาบซึ้งและเข้าใจเรื่องได้ตลอด ไม่เหมือนกับหนังเงียบ เกิดความคึกคักขึ้นในวงการนักพากย์หนังของไทย ซึ่งในสมัยนั้น นายสิน สีบุญเรือง โดยใช้นามแฝงในการพากย์ว่า “ทิดเขียว” นับเป็นนักพากย์ภาพยนตร์คนแรกของประเทศไทย ภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องแรกที่ทิดเขียวพากย์ก็ได้แก่ เรื่อง “ดาบหัก” (The Maginificial) นำแสดงโดยจอห์น บาริโมร์ โดโร คัสเตลโร เริ่มพากย์ให้ประชาชนชมครั้งแรกที่โรงหนังเฉลิมเมือง (คือสถานที่ตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบางลำพู ในปัจจุบัน) ผู้ที่เป็นต้นคิดให้มีการพากย์ภาพยนตร์เป็นครั้งแรกก็ได้แก่นายต่วน ยาวะประภาศ ตั้งแต่นั้นมา ทิดเขียวก็ยึดอาชีพพากย์ภาพยนตร์ตลอดมาจนตลอดชีวิต ภาพยนตร์ที่ทำให้การพากย์ของทิดเขียวโด่งดังมากที่สุดในจำนวนภาพยนตร์อื่น ๆ ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง “คืนนั้นยังจำได้” ของบริษัทเมโทรฯ นักพากย์คนที่ ๒ รองจากทิดเขียวที่ยึดอาชีพพากย์ภาพยนตร์ ซึ่งประชาชนให้สมญานามว่า “มนุษย์ ๖ เสียง” คือ ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งยังคงยึดอาชีพพากย์ภาพยนตร์และการแสดงอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการภาพยนตร์ในเมืองไทยก็เริ่มเขยิบตัวสูงขึ้น เพราะมีผู้สนใจมาก ตลอดทั้งผู้สร้าง ผู้แสดง และผู้ชม หันมานิยมชมชอบภาพยนตร์ จนทำให้การบันเทิงของไทยที่เคยแสดงมาก่อนได้สลายตัวไป เช่น ละครพูด ละครเรื่อง ละครรำ เพราะเมื่อแสดงแล้ว ไม่มีประชาชนสนใจชมเท่าไรนัก ทั้งชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและมาพักอยู่ในเมืองไทยมากขึ้นนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระราชดำริที่จะให้สถานที่มหรสพอันทันสมัยทัดเทียมกับต่างประเทศขึ้นสักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นที่อำนวยความบันเทิงเริงรมย์แก่ประชาชนทั่วไปและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยด้วย หลังจากที่ทรงตรวจสถานที่เสร็จแล้ว ทรงเห็นว่า ตรงถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทองเหมาะที่สุด เพราะเป็นที่เด่นอยู่ตรงหัวมุมพอดี และได้ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วพระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงออกแบบ (ภาพฤาษีที่ปรากฏ ณ. ศาลาเฉลิมกรุงนั้น คือ ศีรษะพระภรตมุนี ซึ่งเป็นบรมครูองค์แรกของศิลปินนั่นเอง) แล้วบริษัทบางกอกเป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างสำเร็จลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (ม.ร.ว.มูล ดารากร) ประกอบพิธีเปิดแทนพระองค์เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการออกฉายในวันเปิดเป็นปฐมฤกษ์ คือ ภาพยนตร์เรื่อง “มหาภัยใต้ทะเล” รายได้ทั้งหมดที่เก็บได้จากค่าผ่านประตูของการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปบำรุงสภากาชาดสยาม (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน) โดยมิได้หักค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และเรื่องต่อมาก็ได้แก่ เรื่อง “ทาร์ซาน” นำแสดงโดยยอนนี่ ไวท์มูลเรอร์ ของบริษัทเมโทรฯ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์แห่งนี้ว่า “สหศีนีมา” ก็เป็นอันว่า ประเทศไทยได้มีโรงภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมและจัดเป็นอันดับที่ ๒ แห่งภาคตะวันออกไกลก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ “ศาลาเฉลิมกรุง” นับเป็นโรงภาพยนตร์ชั้น ๑ แห่งเดียวของประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลง โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่และทันสมัยซึ่งจัดอยู่ในชั้น ๑ ของประเทศไทย ก็มีผู้สร้างขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ โรงภาพยนตร์แกรนด์ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมเขตร์ และโรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ เป็นต้น

การอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปในรูปทันสมัยยิ่งขึ้นตามความเจริญในด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้การถ่ายทำภาพยนตร์เป็นแบบธรรมชาติคล้ายของจริงมากที่สุด ผู้สร้างภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงได้พยายามประกวดประชั้นกันมากขึ้น ทำให้เกิดมีภาพยนตร์ในแบบต่าง ๆ ขึ้น เช่น ภาพยนตร์ชนิดสามมิติ (Three Dimentions) ซึ่งมีการแจกแว่นให้แก่ผู้ชม จัดฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ส่วนภาพยนตร์จอกว้างชนิดที่เรียกกันว่า “ซีเนมาสโคป” ของบริษัท Twenty Century Fox ก็ได้นำมาฉายเป็นครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยฉายภาพยนตร์เรื่อง “The Robe” ซึ่งมีชื่อในภาษาไทยว่า “อภินิหารเสื้อคลุม” และเรายังได้ชมภาพยนตร์ชนิดที่ฉายด้วยเครื่องฉายถึง ๓ เครื่อง ซึ่งเรียกว่า “ซีเนรามา” ได้จัดฉายเป็นครั้งแรกที่บริเวณสวนลุมพินีเนื่องในการแสดงมหกรรมงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๔๙๘ อีกด้วย

ปัจจุบัน ในวงการภาพยนตร์ไทย ได้มีบริษัทผู้สร้างมากมายหลายบริษัทด้วยกัน รวมทั้งศิลปินผู้แสดง ผู้ประพันธ์บทภาพยนตร์ และผู้พากษ์ภาพยนตร์ ได้เจริญและวิวัฒนาการจนทัดเทียมกับนานาประเทศทั้งหลาย และสามารถสร้างภาพยนตร์ระบบ ๓๕ ม.ม. เสียงในฟิล์ม และรบบ ๗๐ ม.ม. (เทคนิครามา) อันนับเป็นความเจริญก้าวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทยในขั้นต่อไป และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ศิลปินผู้แสดงภาพยนตร์ ให้มีมาตรฐานดียิ่งขึ้น หอการค้ากรุงเทพฯ (หอการค้าไทยปัจจุบัน) จึงได้จัดให้มีการประกวดภาพยนตร์ไทยชิงรางวัลสำเภาทองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สำหรับช่างภาพสตรีที่ถ่ายภาพยนตร์ไทยก็ได้แก่คุณประเทือง ศรีสุพรรณ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการถ่ายก็คือ “สุดที่รัก” ของบริษัทบูรพาศิลปะภาพยนตร์ และได้ทำการฉายครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อปิ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งนับเป็นการเจริญก้าวหน้าของสตรีไทยในด้านการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอีกผู้หนึ่งด้วย ในปัจจุบัน วงการภาพยนตร์ไทยก็กำลังก้าวขึ้นสู่ความเจริญขึ้นเป็นลำดับ จนปรากฏว่า มีโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัดมากมายในปัจจุบัน

“เป็นที่น่าสังเกต ถึงแม้ประเทศไทยจะได้เริ่มสร้างภาพยนตร์มาแล้วถึง ๕๐ ปี และปริมาณที่สร้างก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่ปรากฏว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังไม่มีบทบาทในการทำรายได้เข้าประเทศแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ปริมาณภาพยนตร์ต่างประเทศที่นำเข้ามาฉายในประเทศไทยกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี เงินตราต่างประเทศที่ส่งออกไปเพื่อการสั่งภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราค่อนข้างสูง”

อุตสาหกรรมภาพยนตร์นับว่า มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างมาก ทั้งนี้ เราจะเห็นได้จากที่ทุกชาติทั่วโลกต่างสนใจพยายามสร้างให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ประเทศของตนผู้สร้างให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกด้วย แม้แต่ในประเทศไทยเราเอา ก็พยายามสร้างให้ได้ระบบมาตรฐานโลก ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรงภาพยนตร์มากกว่าการมหรสพประเภทอื่น ๆ ทั้งเป็นทางที่ชักจูงนักวิทยาศาสตร์ให้ทุ่มเทกำลังสมองและชวนให้นักธุรกิจทุ่มเทกำลังทรัพย์ค้นคว้าเกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์กันมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนเทคนิคการถ่ายทำกันเป็นล่ำเป็นสัน บางประเทศสามารถนำออกเป็นสินค้าได้เงินเข้าประเทศของตนอย่างมากมาย เมื่อกล่าวถึงเทคนิคการถ่ายทำแล้ว เราก็จะมองเห็นได้ว่า หลังจากระยะเวลาล่วงมาได้ราว ๘๐ ปี ตั้งแต่ Thomas A Edison ได้คิดประดิษฐกล้องถ่ายภาพยนตร์ชื่อว่า “Kinetograph” และเครื่องฉายภาพยนตร์ชื่อ “Kinetoscope”ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ อันเป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ๆ ได้พยายามคิดค้นเครื่องอุปกรณ์ภาพยนตร์ก้าวหน้าไปไกลจนสามารถถ่ายระบบ ๓๕ ม.ม. เสียงในฟิล์ม และมีอีกระบบหนึ่งที่ไม่ค่อยจะชินหูสำหรับชาวไทย อันเป็นระบบใหม่ที่เรียกกันในวงการภาพยนตร์ไทยว่า “เทคนิครารา ๗๐” โดยใช้ฟิล์มขนาด ๗๐ ม.ม. ปัจจุบันถือกันว่า เป็นภาพยนตร์ระบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก

ส่วนในด้านทางการค้า ภาพยนตร์ยุคปัจจุบันก็นับว่า มีบทบาทสำคัญไม่น้อย ทั้งที่เราจะเห็นได้จากโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ทั่วโลกรู้จักดี คือ “ฮอลลิวู้ด” ได้แปรสภาพจากสวนส้มเล็ก ๆ มาเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ที่ใหญ่โตแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วจัดการจำหน่ายภาพยนตร์ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศสหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศที่นำทางด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งสามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุดในโลก แต่ต่อมาภายหลัง ประเทศต่าง ๆ ได้หันมาสนใจการจัดทำภาพยนตร์มากขึ้นแข่งขันกับประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ประเทศดังกล่าว คือ อิตาลี ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่ประเทศที่ทำอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นแหล่งรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศรองจากอุตสาหกรรมสร้างรถยนต์ก็ได้แก่ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในวงการธุรกิจภาพยนตร์

การสร้างภาพยนตร์ไทยแต่ก่อนมา ทางรัฐบาลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ตกเป็นภาระของผู้สร้างภาพยนตร์แต่ผู้เดียว ซึ่งนับว่า เป็นภาระที่หนัก เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนทางการสร้าง การหาตลาด และต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก ดังนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในบริษัทเอกชนตลอดมาคุณภาพของภาพยนตร์ไทยจึงไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะขาดผู้สนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งถ้าวงการของไทยตกอยู่ในสภาพเช่นนี้แล้ว อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอาจจะสูญไปในเวลาข้างหน้าก็อาจเป็นได้ เพราะฉะนั้น ในเวลาต่อมา ทางรัฐบาลจึงต้องยื่นมือเข้าช่วย โดยจัดให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมที่อาจได้รับการส่งเสริม ทั้งนี้ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากพันโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลกาล ซึ่งทรงเป็นนายกสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ได้เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ขอให้พิจารณากำหนดให้การสร้างภาพยนตร์ไทยเป็นอุตสาหกรรมที่อาจได้รับการส่งเสริม โดยมีโครงการที่จะจัดสร้างภาพยนตร์ไทยในระบบซีเนมาสโคป พร้อมทั้งกับความสำคัญของภาพยนตร์ไทยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐในด้านภาษีอากร และเพื่อสนับสนุนให้ภาพยนตร์ไทยมีมาตรฐานในการสร้างระบบ ๓๕ ม.ม. ให้ดียิ่งขึ้น เพราะการสร้างภาพยนตร์ระบบดังกล่าวใช้ทุนในเรื่องอุปกรณ์ เครื่องจักร สูงมาก จึงน่าจะได้รับการส่งเสริมบ้างตามสมควร

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมได้พิจารณาแล้วเมื่อคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๑๑/๒๕๑๒ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ มีมติเห็นชอบ และได้กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมที่อาจได้รับการส่งเสริมในกิจการอุตสาหกรรมจำพวก ค. ซึ่งมีข้อกำหนดดังนี้

๑.ชื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสร้างภาพยนตร์ หรือรับจ้างสร้างภาพยนตร์ หรือให้บริการในการสร้างภาพยนตร์

๒.ขนาด มีขนาดซึ่งต้องลงทุนไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและหมุนเวียน)

๓.เงื่อนไข ต้องใช้เครื่องจักรกับเครื่องมือที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ และภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเป็นระบบ ๓๕ มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศฉบับที่ ๕๓/๒๕๑๒ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ กำหนดให้อุตสาหกรรมสร้างภาพยนตร์ หรือรับจ้างสร้างภาพยนตร์ หรือให้บริการในการสร้างภาพยนตร์ เป็นอุตสาหกรรมที่อาจได้รับการส่งเสริมในกิจการอุตสาหกรรมจำพวก ค. ซึ่งมีสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือดังนี้

(๑)เครื่องมือในการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น กล่องถ่าย และเครื่องประกอบกล้อง รวมทั้งเครื่องยกกล้อง เช่น เครน ดอลลี่ ฯลฯ และรถยนตร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้ในการถ่ายเป็นพิเศษ ที่มีราคา ๒๕,๐๐๐ บาท ไม่ต้องเสียภาษี

(๒)เครื่องมือเครื่องใช้ในการบันทึกเสียง พร้อมด้วยเครื่องประกอบ ที่มีราคาเกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ไม่ต้องเสียภาษี

(๓)เครื่องมือในการล้างและพิมพ์ภาพ (ภาพยนตร์) ซึ่งมีราคาไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นเคมีภัณฑ์ในการล้าง ซึ่งจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ ... ... (อัตราต่ำ)

(๔)เครื่องมือเครื่องใช้ในการให้แสง เช่น ดวงโคมหลอด ดวงโคมไฟอาร์ต และเร็กติไฟเออร์ รวมทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แผงสวิตช์ เครื่องควบคุมแสง เครื่องประกอบการคุมแสงของดวงโคม แผ่นรีเฟรคซ์สะท้อนแสง ที่มีราคาไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทต่อชิ้น หรือสั่งรวมกันในคราวหนึ่ง ๆ

(๕)เครื่องมือในการสร้างฉาก ที่มีราคาเกิน ๒๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นวัสดุก่อสร้างที่หาซื้อได้ภายในประเทศ

(๖)เครื่องใช้ในการตัดต่อภาพยนตร์ รวมทั้งเครื่องฉายใช้ในการตรวจภาพ ราคาตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาทขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษี

(๗)เครื่องมือในการสร้างภาพพิเศษ “ทริกช๊อท” เช่น ออปติกัลป์พรินเตอร์ เครื่องถ่ายไทเทิล เครื่องสร้างตัวอักษรและภาพการ์ตูน ฯลฯ ตั้งแต่ราคา ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษี

(๘)สิ่งของต่าง ๆ นอกจากดังกล่าว ที่สั่งเข้ามาเพื่อความก้าวหน้า (เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ๆ ให้ขออนุญาตได้เป็นคราว ๆ หากว่าราคาเกิน ๒๕,๐๐๐ บาทขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษี

(๙)ฟิล์มและเคมีภัณฑ์ กำหนดเงื่อนไขดังนี้

(๙.๑)ฟิล์มสำหรับถ่ายทำ ที่เรียกว่า “เนกาตีฟ” ไม่ต้องเสียภาษี

(๙.๒)ฟิล์มสำหรับฉาย ที่เรียกว่า “โปซีตีฟ” เมื่อยังไม่ได้ล้างเป็นภาพ ไม่ต้องเสียภาษี

(๙.๓)ฟิล์มที่เรียกว่า “เวิคพรินท์” ที่เป็นภาพแล้ว ทั้งสีและขาว-ดำ เพื่อนำมาใช้ในการตัดต่อภาพยนตร์ ไม่ต้องเสียภาษี

(๙.๔)ฟิล์มเคลือบแมกเนติคสำหรับใช้ในการอัดเสียงขนาด ๑๖ มม. ๗.๕ มม. และ ๓๕ มม. ไม่ต้องเสียภาษี

(๙.๕)น้ำยาเคมีภัณฑ์สำหรับใช้ในการสร้างภาพยนตร์ ต้องเสียภาษีร้อยละ จะอนุญาตให้เฉพาะผู้สร้างภาพยนตร์ หรือบริษัทที่มีห้องล้างโดยเฉพาะ

(๙.๖)เคมีภัณฑ์ใช้ในการสร้างภาพ ประกอบการถ่าย จอฉายชนิดพิเศษ ชนิดที่ใช้ในการถ่าย ไม่ต้องเสียภาษี (จะต้องชี้แจงให้ทราบถึงการใช้)

(๙.๗)ฟิล์มสำเร็จรูปที่ถ่ายเป็นภาพและพิมพ์เรียบร้อยแล้วสำหรับนำออกฉาย กอปปี้แรกไม่ต้องเสียภาษี ส่วนกอปปี้หลังต้องเสียภาษีตามอัตราของกรมศุลกากร

(๙.๘)ฟิล์มเนกาตีฟที่ถ่ายทำแล้ว ส่งไปพิมพ์เป็นกอปปี้เพื่อฉาย เมื่อส่งกลับเข้ามาเพื่อเก็บรักษาต้นฉบับ ไม่ต้องเสียภาษี

(๙.๙)อื่น ๆ ตามที่ขอเป็นคราว ๆ ไป และมีราคาไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ไม่ต้องเสียภาษี

จากการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมได้ประกาศกำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น นับเป็นการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ไทยที่รัฐบาลได้มีส่วนได้ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมอย่างแท้จริง ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยที่จะต้องสนองความต้องการด้วยการสร้างภาพยนตร์ไทยที่มีมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ภาพยนตร์ที่สร้างกันในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์พากย์ระบบ ๑๖ มม. เป็นพื้น เพราะไม่ต้องลงทุนมากนัก เหมาะสำหรับคนไทย ส่วนภาพยนตร์ระบบ ๓๕ มม. ซึ่งจัดเป็นภาพยนตร์มาตรฐานโลกนั้น ในเมืองไทยมีสร้างกันเป็นจำนวนน้อย จัดว่า อยู่วงจำกัด เพราะต้องใช้จ่ายเงินในการสร้างค่อนข้างสูง กล่าวคือ ค่าสร้างเรื่องหนึ่งต้องใช้เงินประมาณ ๑–๒ ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เฉลี่ยแล้วราคาสูงกว่าการสร้างภาพยนตร์ระบบ ๑๖ ม.ม. เกือบหนึ่งเท่าตัว จึงเป็นที่น่าเสียดายสำหรับนักสร้างภาพยนตร์ที่มีทุนน้อยที่ไม่สามารถจะหาอุปกรณ์และโรงถ่ายทำของตนเองเพื่อสร้างภาพยนตร์มาตรฐานระบบนี้ได้ ถ้าหากเรามีนักสร้างที่มีทุนรอนพอเพียงแล้ว วงการธุรกิจทางภาพยนตร์ไทยก็จะคึกคักน่าสนใจอีกไม่น้อยทีเดียว

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจการผลิตภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันทั้งหมดปิหนึ่งประมาณ ๗๐–๘๐ เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์พากย์ระบบ ๑๖ มม. ส่วนภาพยนตร์เสียงในฟิล์มทั้งระบบ ๑๖ มม. และระบบ ๓๕ มม. สร้างกันน้อยมาก โดยเฉพาะระบบ ๓๕ มม. เสียงในฟิล์ม ด้วยแล้ว สร้างปีหนึ่งไม่เกิน ๖ เรื่อง แต่ถ้าเราจะพิจารณากันถึงปริมาณการสร้างภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน กับการสร้างภาพยนตร์เมื่อ ๕ ปีก่อนแล้ว จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันเราสร้างภาพยนตร์ไทยได้มากกว่าถึงปีละ ๓๑ เรื่อง ซึ่งจัดว่า วงการภาพยนตร์ไทยเจริญก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมากทีเดียว

บรรดาผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยได้ร่วมกันขออนุญาตตั้งสมาคมจากกรมการค้าภายใน กระทรวงเศรษฐการ โดยตั้งชื่อว่า “สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย” ชื่อย่อ ส.อ.ท. (The Thai Motion Picture Producers Association T.M.P.P.A.) มีวัตถุประสงค์ดังนี้

๑.เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างภาพยนตร์ไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ทั้งคุณภาพและปริมาณ

๒.ส่งเสริมความสามัคคีและความเป็นธรรมระหว่างผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย

๓.ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่วิทยาการ ทั้งในด้านอุปกรณ์และเท็คนิคในการสร้าง ตลอดจนเผยแพร่กิจการภาพยนตร์ไทย และส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย

๔.เข้าเป็นภาคีสมาชิกของสมาคมหรือสหพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์อื่น ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐาน เผยแพร่ และส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในต่างประเทศ ให้กับบรรดาสมาชิก

๕.เป็นตัวแทนเพื่อประโยชน์และสิทธิของสมาชิกของสมาคม

๖.ร่วมมือกับทางราชการ บุคคล หรือสมาคม หรือสโมสร หรือองค์การ หรือนิติบุคคลอื่น ๆ เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์

๗.ส่งเสริมการจำหน่ายภาพยนตร์ไทยในประเทศและต่างประเทศ

๘.ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

สมาคมนี้ได้รับการอนุญาตจากนายทะเบียนกลางสมาคมการค้าเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ประกอบด้วยคณะกรรมการของสมาคมชุดปัจจุบันซึ่งเลือกเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ดังนี้

๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ นายกสมาคม
๒. นายสงวน มัทวพันธุ์ อุปนายก
๓. นายวิรัช พึ่งสุนทร อุปนายก
๔. นายจรี อมาตยกุล เลขาธิการ
๕. นายวิรัช พึ่งสุนทร เหรัญญิก
๖. นายวิจิตร คุณาวุฒิ นายทะเบียน
๗. นายเชิด ทรงศรี ปฏิคม
๘. นายดอกดิน กัญญามาลย์ ประชาสัมพันธ์
๙. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล กรรมการและที่ปรึกษา
๑๐. หม่อมอุบล ยุคล กรรมการ
๑๑. นายสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ กรรมการ

เมื่อปี ๒๕๑๑ นายสงวน มัทวพันธุ์ นายพิสิฐ ตันสัจา และนางอารี กรลักษณ์ ได้ยื่นขออนุญาตตั้ง “สมาคมโรงภาพยนตร์” (The Motion Picture Exhibitor Association M.P.E.A.) ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

(๑)เพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกในการค้าภาพยนตร์

(๒)เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของกิจการฉายภาพยนตร์ด้วยกัน

(๓)เพื่อประสานงานระหว่างสมาชิกกับองค์การค้าหรือองค์การอื่น ๆ

(๔)เพื่อร่วมมือกับทางราชการทุกวิถีทางในอันที่จะบำรุงส่งเสริมการค้าภาพยนตร์

(๕)ไม่ดำเนินการในทางการเมือง

สมาคมนี้ได้รับใบอนุญาตก่อตั้งสมาคมเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๑

ประเภทของโรงภาพยนตร์ โดยทั่วไปโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทดังนี้ คือ

(๑)โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง (first run) หมายถึง โรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์ซึ่งยังไม่เคยผ่านการฉายมาจากโรงภาพยนตร์อื่น ๆ โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งมีอยู่เฉพาะในจังหวัดพระนครประมาณ ๓๕ โรง

(๒)โรงภาพยนตร์ชั้นสอง (second run) หมายถึง โรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์ซึ่งผ่านการฉายมาจากโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งแล้ว โรงภาพยนตร์ชั้นสองส่วนมากจะอยู่ตามตัวเมืองในต่างจังหวัด มีการฉายภาพยนตร์ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนมากเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานค่อนข้างดี

(๓)โรงภาพยนตร์ชั้นสาม (third run) หมายถึง โรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์ที่ผ่านการฉายมากจากโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งและชั้นสองแล้ว โรงภาพยนตร์ชั้นสามส่วนมากอยู่ตามอำเภอหรือในท้องที่ที่ไม่เจริญนัก และมีมาตรฐานค่อนข้างต่ำ ฉายภาพยนตร์เฉพาะรอบกลางคืนเป็นส่วนใหญ่

๑. – โรงภาพยนตร์ส่วนกลาง

(ก)โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง

อัตราปกติ: ๗ – ๑๐ – ๑๒.๕๐ – ๑๖ – ๒๐ บาท

อัตราพิเศษ: ๑๐ – ๑๐ – ๒๐ – ๒๕ – ๓๐ บาท

(ข)โรงภาพยนตร์ชั้นสอง

อัตราปกติ: ๓ – ๕ – ๗ – ๑๐ – ๑๒ บาท

๒. – โรงภาพยนตร์ในส่วนภูมิภาค

(ก)โรงภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานดี

อัตราปกติ: ๕ – ๗ – ๑๐ – ๑๒ บาท

(ข)โรงภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานรองลงไป

อัตราปกติ: ๓ – ๕ – ๗ – ๑๐ บาท

รายได้ของโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ
โรงภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง โรงภาพยนตร์ชั้นสอง โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ
ล้านบาท % ล้านบาท % ล้านบาท %
ฉายภาพยนตร์ฝรั่ง ๘๖ ๔๕ ๑๒๙ ๔๓ ๒๑๕ ๔๔
ฉายภาพยนตร์ไทย ๒๗ ๑๔ ๕๘ ๑๘ ๘๑ ๑๖
ฉายภาพยนตร์จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ๘๐ ๔๑ ๑๒๐ ๓๙ ๒๐๐ ๔๐
รวม ๑๙๓ ๑๐๐ ๓๐๓ ๑๐๐ ๔๙๖ ๑๐๐
(ของกระทรวงมหาดไทย)
(ประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๕๑ บทที่ ๓)

เนื่องด้วยพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๔ ห้ามมิให้ทำ หรือฉาย หรือแสดงภาพยนตร์ หรือประกาศ อันมีลักษณะฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

กระทรวงมหาดไทยจึงวางแนวทางตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่ควรจะห้ามหรือไม่ห้ามเพียงใด โดยอาศัยหลักพิเคราะห์ดูตามควรแก่เหตุการณ์ ภาพยนตร์ที่มีลักษณะซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ควรห้าม คือ

(๑)การลบหลู่ปูชนียวัตถุ หรือการกระทำอย่างใด ๆ ให้เกิดความรู้สึกอันไม่ดีในทางศาสนาของชาติหนึ่งชาติใด

(๒)วิธีการของผู้ร้ายที่กระทำการประทุษฐกรรมโดยใช้อุบายอันแปลกประหลาดผิดจากธรรมดา หรือที่อาจเป็นเหตุส่งเสริมและให้เกิดการประทุษกรรมยิ่งขึ้น

(๓)ประวัติการของผู้ร้ายที่ลือชื่อ

(๔)การฆาตกรรมอันน่าสยดสยอง หรือการประการชีวิต

(๕)การกระทำอันทารุนต่อบุคคลหรือสัตว์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่มีศีลธรรมอันดี

(๖)เรื่องอันเกี่ยวด้วยลามกอนาจาร ยั่วยวนในทางกามารมณ์

(๗)การแสดงที่น่าจะก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างชาติหรือระหว่างชั้นของบุคคล

(๘)การแสดงซึ่งอาจให้เกิดการดูหมิ่นต่อรัฐ หรือชาติ หรือพนักงานของรัฐบาล

(๙)การแสดงที่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งสามารถกระทบกระเทือนถึงการปกครองของประเทศ หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง

(๑๐)เรื่องที่เห็นว่า จะเป็นตัวอย่างเพาะนิสัยไม่ดีให้แก่บุคคลนำไปประพฤติทางชั่ว

(๑๑)ล้อหรือลบหลู่ราชาภาพ คือ การกระทำใด ๆ ซึ่งสามารถหรือเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกหรือเห็นเป็นการล้อหรือลบหลู่

เจ้าพนักงานผู้พิจารณาภาพยนตร์ หรือคณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ นี้ กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบันนี้ คณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ประกอบด้วย

๑.ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

๒.หัวหน้ากองทะเบียน

๓.รองหัวหน้ากองทะเบียน

๔.ผู้กำกับการ ๒ กองทะเบียน

๕.รองผู้กำกับการ ๒ กองทะเบียน

๖.หัวหน้าแผนก และประจำแผนก และประจำแผนกควบคุมภาพยนตร์

๗.ผู้แทนกองวิจัยและวางแผน กรมตำรวจ ๒ นาย

๘.ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ

๙.ผู้ชำนาญภาษาจีน

๑๐.นายแพทย์ประสพ รัตนากร หรือผู้แทน

๑๑.นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ หรือผู้แทน

๑๒.ผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี

๑๓.ผู้แทนกรมการปกครอง

๑๔.ผู้แทนกรมอัยการ

๑๕.ผู้แทนสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี

คำสั่งของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ดังกล่าวมาแล้ว หากไม่เป็นที่พอใจของเจ้าของภาพยนตร์ เจ้าของภาพยนตร์มีสิทธิอุทธรณ์ขึ้นไปยังสภาพิจารณาภาพยนตร์ สภาพิจารณาภาพยนตร์ประกอบด้วยกรรมการดังต่อไปนี้

(๑)ปลัดกระทรวงหรือรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

(๒)ปลัดกระทรวงหรือรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

(๓)ปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนซึ่งเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

(๔)เลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน

(๕)อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ หรือผู้แทน

(๖)อธิบดีกรมศิลปากร หรือผู้แทน

(๗)อธิบดีกรมอัยการ หรือผู้แทน

(๘)อธิบดีกรมศาสนา หรือผู้แทน

(๙)ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

(๑๐)ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ

(๑๑)ผู้แทนกระทรวงกลาโหม

(๑๒)ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือผู้แทน

(๑๓)หัวหน้ากองทะเทียน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

เป็นที่น่าสังเกตที่ในยุคปัจจุบันภาพยนตร์ไทยได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างในทางโน้มน้าว ทั้งนี้ ก็เพราะแต่ก่อนการสร้างภาพยนตร์ไทยไม่นิยมการที่จะชักจูงนักร้องลูกทุ่งเข้ามาร่วมแสดงพร้อมกับเสนอเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ๆ ไปในตัว ทั้งอาจเป็นเพราะแต่ก่อนนักร้องลูกทุ่งยังไม่ได้รับความสนใจ ก็อาจเป็นได้แต่ตรงกันข้าม นักร้องลูกทุ่งในปัจจุบันได้มีผู้สนใจกันมากขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัด พอที่จะมีทางหารายได้เข้าหาอาชีพของตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะแต่เดิมต้องเดินทางออกแสดงแต่ในต่างจังหวัดอย่างเดียว เพราะชาวชนบทชอบมากที่สุดยิ่งกว่าการมหรสพประเภทอื่น ๆ และในกรุงเทพฯ เองก็เริ่มนิยมเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ยังผลให้นักร้องลูกทุ่งร่ำรวยและตั้งตนเป็นหัวหน้าวงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจโดยการชักนำนักร้องลูกทุ่งให้เข้ามามีบทบาทในภาพยนตร์ไทยให้มากที่สุด โดยเสนอภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวกับเพลงไทยประกอบในเรื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียดหันมาฟังเพลงได้บ้าง และเพลงที่นำมาประกอบส่วนใหญ่ เป็น เพลงแต่งใหม่ทั้งสิ้น นับว่า เป็นภาพยนตร์ที่ประชาชนต่างนิยมชมชอบอยู่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์ที่ได้รับความสำเร็จเป็นเรื่องแรกก็เห็นจะได้แก่เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ซึ่งสามารถเก็บเงินได้มากเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น ในเวลานี้ จะเห็นได้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างหันเข้าหานักร้องลูกทุ่งมากขึ้น นับเป็นการส่งเสริมอาชีพของคนไทยได้ด้วย

ส่วนแนวโน้มของทางโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์จีนชนิดที่เรียกกันว่า “กำลังภายใน” ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมภาพยนตร์นี้เราไม่ค่อยจะสนใจกันเท่าไรนัก มีฉายประจำก็เห็นแต่ที่โอเดียนส์แถวเยาวราชเท่านั้น แต่ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ก็ส่งเข้ามาฉายบ้างแล้ว แต่ดูจะไม่ค่อยคึกคักอยู่นานนัก แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ ๓–๔ ปีที่แล้ว ก็เห็นจะเป็นได้ว่า ผิดกันลิบลับทีเดียว

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์รวม ๘ แห่งดังนี้ คือ

๑.สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ ของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด

๒.สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ ของกองทัพบก

๓.สถานีโทรทัศน์สีช่อง ๙ ของกองทัพบก

๔.สถานีโทรทัศน์ช่อง ๘ จังหวัดลำปาง

๕.สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ จังหวัดขอนแก่น

๖.สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

๗.สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๐ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

๘.สถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ ของบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด

สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ของไทยส่วนใหญ่เป็นรายการเกี่ยวกับภาพยนตร์ต่างประเทศเสียเป็นส่วนมาก เท่าที่สังเกตดูแล้ว จะเห็นว่า เป็นภาพยนตร์อเมริกันมากที่สุดกว่าภาพยนตร์ของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทยแล้ว มีโอกาสเข้าฉายทางโทรทัศน์น้อยมาก ดังนั้น การที่โทรทัศน์นำภาพยนตร์เข้ามาฉายจึงมีผลกระทบกระเทือนต่อรายได้ทางโรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์ไทยอยู่แล้วไม่มากนัก แต่ถ้าสถานีโทรทัศน์หันมานำภาพยนตร์ไทยเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาเสนอแก่ผู้ชมมาก ๆ แล้ว ก็อาจเป็นผลกระทบกระเทือนรายได้ของภาพยนตร์ไทยได้เหมือนกัน เพราะโทรทัศน์ส่วนใหญ่มีอยู่ตามบ้านแทบทุกบ้านในกรุงเทพฯ แต่อย่างไรก็ดี นับว่า โทรทัศน์มีส่วนช่วยให้เกิดความบันเทิง เป็นการพักผ่อนอารมณ์ตึงเครียดของชาวไทยได้ไม่น้อยที่เดียว

การฉายภาพยนตร์ของสถานีโทรทัศน์ เท่าที่มีผู้สำรวจแล้ว ปรากฏว่า บริษัทไทยโทรทัศน์ฉายภาพยนตร์ต่างประเทศมากที่สุด ถึง ๗๐ % เป็นภาพยนตร์อเมริกันมากที่สุด รองลงไปก็ได้แก่ภาพยนตร์ญี่ปุ่นและภาพยนตร์บางประเทศในยุโรป และการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทไทยโทรทัศน์เป็นผู้ติดต่อเช่าเองจากต่างประเทศ โดยจัดหาผู้อุปถัมภ์รายการเองด้วยผลของการฉายภาพยนตร์ ปรากฎว่า ทางบริษัทจะมีกำไรดีกว่าการนำภาพยนตร์มาฉาย เพราะภาพยนตร์ไทยหาผู้อุปถัมภ์รายการได้ยากกว่า แต่อย่างไรก็ดี ทางบริษัทก็พยายามจะส่งเสริมภาพยนตร์ไทยให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ส่วนสถานีโทรทัศน์กองทัพบกเป็นของทางราชการ การดำเนินงานจึงแตกต่างกับบริษัทไทยโทรทัศน์ แต่ก็พยายามจะส่งเสริมภาพยนตร์ไทยเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องเสนอภาพยนตร์ที่เร้าใจประชาชนให้เกิดความรักชาติบ้านเมืองตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

การควบคุมภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยกำหนดให้มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่กล่าวนี้โดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย

๑.ผู้แทนกองทะเบียน กรมตำรวจ

๒.ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ

๓.ผู้แทนหนังสือพิมพ์

๔.ผู้แทนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

๕.ผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี

๖.ผู้แทนสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคปัจจุบัน รากยารของภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ส่วนใหญ่หันเข้าหาการสร้างภาพยนตร์ไทยเกี่ยวกับวรรณคดีและนิยายปรัมปราของไทย โดยประยุกต์ให้ เข้า กับสภาพการณ์ในปัจจุบันให้มากที่สุด ไม่แสดงแบบโบราณ เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้ว การแสดงก็ไม่ผิดอะไรกับละครและนาฎดนตรีนั่นเอง ซึ่งเป็นมหรสพพื้นเมืองของไทยเราอยู่แล้ว รายการดังกล่าวนี้ เท่าที่ได้สำรวจดูแล้ว ปรากฎว่า ประชาชนต่างสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ติดกันงอมแงม ต้องคอยติดตามชมตลอดเวลา พร้อมกันนั้น ทางสถานีผู้จัดทำก็เสนอเพลงไทยที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ โดยแต่งประกอบเรื่องก่อนที่จะทำการฉายทุกครั้ง ก็ทำให้เกิดความสนใจได้มากทีเดียว อย่างไรก็ดี นับว่า การสร้างภาพยนตร์เช่นนี้นับว่า เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เด็กนักเรียนได้ทราบวรรณคดีและนิยายปรัมปราของไทยทางอ้อมได้เป็นอย่างดี อาจนำไปประกอบการศึกษาได้บ้างไม่มากก็น้อย ในเมื่อต่อไปอาจต้องศึกษาวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ กล่าวคือ ผู้ชมจะได้ทั้งความรู้และความบันเทิงไปในตัวพร้อม ๆ กัน แต่ภาพยนตร์ประเภทนี้จะอยู่ได้นานเท่าไร ก็แล้วแต่ประชาชนให้ความสนใจเท่านั้น

๑.สิ่งแรกในเมืองไทย ชุด ๒ ของสงวน อั้นคง ฉบับสำนักพิมพ์แพร่พิทยา พิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๐๒

๒.เกล็ดจากอดีต ของยุธิษเฐียร ฉบับห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์นพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๑๓

๓.รัตน์ เปสตันยี อนุสรณ์ ฉบับสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย จัดพิมพ์ในงานศพนายรัตน์ เปสตันยี พ.ศ. ๒๕๑๓

๔.จดหมายเหตุเผยแผ่พาณิชย์ ปี ๒๔๖๘ ฉบับที่ ๑๙

๕.ข่าวภาพยนตร์ ปีที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙