แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๑๒




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๕๒๙–๕๗๖ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๑๒




ตั้งแต่พระเจ้าราชาธิราชปูนบำเหน็จเลื่อนยศศักดิ์นายทหาร

ยกกองทัพไปตีหัวเมืองซึ่งตั้งแข็งเมืองไม่อ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราช

จนพระเจ้าราชาธิราชเสด็จดำเนินกองทัพกลับมาถึงเมืองหงสา





บัดนี้ ก็เสร็จราชการ ได้ปราบดาภิเษก คงเป็นกษัตราธิราชแล้ว ก็ยังจะได้ปราบบรรดาเมืองขึ้นเมืองออกสืบไปอยู่ ซึ่งผู้ใดเคยทำการมาด้วยแต่ก่อน จำจะปลูกเลี้ยงจัดแจงตั้งแต่งตามฐานานุศักดิ์โดยสมควร ครั้นทรงพระดำริแล้ว ก็เสด็จออกยังท้องพระโรงราชวินิจฉัย พรั่งพร้อมด้วยเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงหมอบเฝ้าอยู่ตามตำแหน่งผู้ใหญ่ผู้น้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้พ่อมอญเป็นสมิงพ่อเพชร โปรดตั้งมังกันจีเป็นราชามนู โปรดให้พ่อเลิศเป็นสมิงนนทสุริยะ มะสอดเป็นสมิงนนทพละ พ่ออู่หมอเฒ่าเป็นสมิงพระตะเบิด มะเดาะเป็นสมิงสิริยพรหมา มะละเป็นสมิงอินทร์ มะเริดเป็นสมิงธรรมราชา มะพะโคเป็นสมิงจะอะสู แต่บรรดาผู้มีบำเหน็จความชอบทั้งนั้นก็โปรดตั้งแต่งตามตำแหน่งผู้ใหญ่ผู้น้อยตั้งอยู่ในยศถาศักดิ์เป็นอันมาก แล้วก็ทรงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคโดยสมควรตามฐานานุกรม เสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งชาวพระคลังเจ้าพนักงานทั้งปวงให้ตรวจตราดูสิ่งของในท้องพระคลังจงทุกพนักงาน

ฝ่ายชาวพระคลังทั้งปวงตรวจดูเสร็จแล้วจึงเข้ากราบทูลว่า สิ่งของในท้องพระคลังทั้งนั้นอื่น ๆ ดีอยู่สิ้นมิได้เป็นอันตราย บัดนี้ ยังขาดอยู่แต่พระธำมรงค์เพชรสิบวงของค่าควรเมือง ด้วยพระมหาเทวีให้มาเรียกเอาไปแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระโกรธ จึงตรัสสั่งให้ไปเรียกเอามา

ฝ่ายเสนาบดีก็ออกมาเรียกเอากับพระมหาเทวี พระมหาเทวีเอาซ่อนไว้ในมวยพระเกศแล้วก็แก้ออกส่งให้ เสนาบดีจึงนำเข้าไปถวายพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระราชทานให้แก่เม้ยมะนิกซึ่งเป็นพระนางปิยราชเทวี แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งให้จัดแจงทแกล้วทหารช้างม้าแลเครื่องศัสตราวุธสำหรับทัพบกทัพเรือตระเตรียมตามขบวนพิชัยสงครามพร้อมมูล เสร็จแล้ว พระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้นำเครื่องราชาภิเษกของสมเด็จพระราชบิดานั้นไปบูชาไว้ที่พระมุเตาแลเจดียฐานซึ่งต้องกับพระนามของพระองค์นั้น เสร็จแล้ว ครั้นอยู่มาเป็นเวลากลางคืน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จเข้าสู่ที่พระบรรทม พอเวลาใกล้รุ่งก็ทรงพระสุบินนิมิตว่า มีดาวลอยมาแต่บนนภาลัยอากาศเป็นหลายดวงตกลงมาอยู่ที่พระพระศรี พระองค์จึงเอาฝ่าพระหัตถ์ปิดดวงดาวเหล่านั้นไว้ได้หมด พอสิ้นลักษณะพระสุบินนิมิต สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ตื่นจากที่พระบรรทม จึงเสด็จออกพร้อมด้วยเสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตทั้งปวง ตรัสสั่งให้หาราชามนูมาทำนายพระสุบิน ตรัสเล่าให้ฟังถี่ถ้วนโดยในนิมิต ราชามนูจึงกราบทูลทำนายว่า ซึ่งดวงดาวลงมาแต่นภากาศอยู่ที่พานพระศรีเป็นหลายดวง แลซึ่งพระองค์ฝ่าพระหัตถ์ปิดไว้ได้นั้น ลักษณะพระสุบินดังนี้เป็นชัยมงคลศุภนิมิตประเสริฐยิ่งนัก คือ สำแดงเหตุที่พระองค์จะได้ปราบเสี้ยนศึกศัตรูให้ราบคาบ แต่บรรดาเมืองขึ้น เมืองออก แลรามัญประเทศทั้งปวงซึ่งเป็นเสี้ยนหนามหลักตอยังมิได้อ่อนน้อมนั้น ก็เกรงพระเดชานุภาพเข้ามาอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์สิ้น

พระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังราชามนูทูลทำนายนิมิตดังนั้นก็ยินดีพระทัยนัก จึงพระราชทานขันสรงพระพักตร์ทองคำประดับพลอยใบหนึ่งให้แก่ราชามนู ครั้นอยู่มา พระเจ้าราชาธิราชเสด็จไปกระทำพลีกรรมบวงสรวงเทพารักษ์ที่ต้นโพธิ์แห่งหนึ่งอยู่ในทิศตะวันตกเมืองหงสาวดีตามประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน แล้วก็เสด็จกลับคืนเข้าพระนคร ครั้นเวลากลางคืนก็ทรงพระสุบินนิมิตอีกว่า พระจันทร์ชักรถไปตามจักรราศีส่องสว่างโลก บรรดาดาวตรงหน้าพระจันทร์นั้นหายไปสิ้น พระเจ้าราชาธิราชก็ให้ราชามนูเข้ามาทำนาย ราชามนูจึงทูลทำนายความว่า ดวงพระจันทร์นั้นคือได้แก่พระองค์ผู้ทรงพระเดชานุภาพ ดาวนั้นได้แก่เมืองขึ้นทั้งปวงอันยังมิได้อ่อนน้อม ซึ่งว่าพระจันทร์ชักรถลอยไปตามจักรราศีแลดวงดาวหายไปสิ้นนั้น ถ้าพระองค์เสด็จยกพยุหโยธาทัพไปเมืองใด เมืองนั้นก็มิได้ต่อต้านกับพระองค์ได้เลย จะระย่อกลัวเกรงพระเดชไปสิ้น

พระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังราชามนูทำนายดังนั้นต้องกันกับพระสุบิน ชอบพระทัยนัก จึงพระราชทานเมืองรอญยะให้ขึ้นแก่ราชามนู ครั้นอยู่มา สมิงสามแหลกซึ่งกินเมืองวานนั้นตั้งแข็งเมืองต่อพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้กำหนดทหารช้างม้าเครื่องศัสตราวุธพร้อมเสร็จ พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกองทัพยกไปตีเมืองวาน ครั้นไปถึงเมืองวาน ทหารทั้งปวงตีหักเข้าเอาเมืองได้

ฝ่ายทหารจับได้สมิงสามแหลกเจ้าเมืองวานนั้นก็ฆ่าเสียในที่รบ พระเจ้าราชาธิราชได้ทราบแล้วจึงตรัสติเตียนทหารทั้งปวงว่า สมิงสามแหลกคนนี้มีฝีมือแกล้วกล้าหายากนัก ซึ่งว่าเขาแข็งเมืองไว้ทั้งนี้ นี้เพราะยังไม่เชื่อบุญญาภิสมภารแห่งเรา เขาผิดแต่ครั้งเดียว พอจะเลี้ยงได้อยู่ ถ้าพาตัวมาถึงเรา เราก็จะงดโทษไว้ว่ากล่าวสั่งสอนให้อ่อนน้อมต่อเราได้

ฝ่ายทหารซึ่งฆ่าสมิงสามแหลกเสียนั้นครั้นได้ฟังพระราชโองการก็ตกใจ รู้ตัวผิดก็ทูลขอโทษ พระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระกรุณาโปรดยกให้

ขณะนั้น จึงสมิงสามผลัด เจ้าเมืองแตร ครั้นรู้ว่าพระเจ้าราชาธิราชยกมาตีเมืองวานได้แล้วก็คิดสะดุ้งกลัว จึงเข้ามาอ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราช แลพระเจ้าราชาธิราชตีได้เมืองวานแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้พ่อสามเกลียวซึ่งเอาทองมาถวายทูลขอเมืองวานแต่ก่อนนั้นเป็นสมิงสามแหลกกินเมืองวาน แล้วจึงจัดแจงกองทัพจะยกไปตีนครเพน สมิงสามผลัดนั้นก็ยกไปด้วย

ขณะเมื่อพระเจ้าราชาธิราชยกไปยังมิทันถึงนั้น สมิงอายพะบูญ เจ้าเมืองนครเพน มีกิจธุระลงไปหาพระตะบะเมืองเมาะตะมะ ให้พ่อกองผู้บุตรอยู่รักษาเมือง ครั้นพระเจ้าราชาธิราชยกมาถึงเมืองนครเพน จึงตรัสสั่งให้พลทหารล้อมเมืองเข้าไว้แน่นหนาเป็นสามารถ

ฝ่ายพ่อกองก็ครั่นคร้ามกลัว มิได้แต่งทหารออกสู้รบ รักษาแต่เมืองมั่นไว้ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่งเลียบเมืองนครเพน ทอดพระเนตรเห็นโรงช้างแห่งหนึ่งซึ่งปลูกไว้ริมเมือง จึงให้ทหารเอาไฟจุดโรงช้างเข้า เปลวไฟลุกแรงนัก ลมพัดหอบเอาลูกไฟเข้าไปติดไหม้เรือนพ่อกองผู้บุตรสมิงอายพะบูญ ช้างม้าผู้คนในเมืองก็แตกตื่นวุ่นวาย

ฝ่ายพ่อกองก็วิ่งออกมาให้ทหารดับไฟ ช้างตื่นมาเบียดพ่อล้มทับเข้ากับเพิงเรือนตัวบี้แบนยับย่อยไป ทหารทั้งปวงช่วยมิทัน ตัวพ่อกองก็ถึงแก่ความตายในขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงทราบก็ให้ทหารยกเข้าตี ก็ได้เมืองโดยง่าย พระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จเข้าประทับอยู่ในเมืองนครเพน แต่ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงนั้นให้ตั้งอยู่นอกเมือง

ขณะนั้น สมิงสามผลัดซึ่งยกมาแต่เมืองแตรแลมาอ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราชนั้น ทหารเอกมีฝีมือผู้หนึ่งชื่อ มะสะลุม มาด้วย สมิงสามผลัดกับมะสะลุมเกิดวิวาทบาดหมางกันด้วยเหตุการณ์สิ่งหนึ่ง มะสะลุมก็มีความน้อยใจ เข้ามาถวายตัวเป็นทหารอยู่ด้วยพระเจ้าราชาธิราช

ฝ่ายมะกราน เจ้าเมืองกราน รู้ว่า พระเจ้าราชาธิราชยกมาตั้งทัพอยู่เมืองนครเพน มะกรานจึงจัดทหารมีฝีมือได้ห้าร้อยยกมาตีปล้นพระเจ้าราชาธิราชซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองนั้นแตกในเวลากลางคืน ให้ทหารเอาเพลิงจุดเผาค่ายนอกเมืองเสียสิ้น กองทัพซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองนั้นก็แตกกระจัดกระจายไป ทหารพระเจ้าราชาธิราชล้มตายเป็นอันมาก ขณะเมื่อมะกรานมาปล้นทัพนั้น แสงเพลิงเผาค่ายสว่างไปเห็นตัวคนถนัด มะกรานนั้นขี่ช้างยืนอยู่ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จมาประทับอยู่บนเชิงเทิน ทอดพระเนตรออกไปเห็นมะกรานขี่ช้างอยู่ก็ทรงพระโกรธ จึงตรัสว่า อ้ายมะกรานนี้มันองอาจนัก ทำไฉนเราจะได้ศีรษะมัน แลเมื่อทรงตรัสอยู่นั้น มะสะลุม ทหารมีฝีมือ สะพายดาบรักษาพระองค์อยู่ริมพระเจ้าราชาธิราช ครั้นได้ยินพระโองการตรัสดังนั้นก็ดีใจ จึงคิดว่า เราพึ่งมาถวายตัวเป็นข้าทหารใหม่ ยังหาได้บำเหน็จความชอบชนะศึกแลหัดศึกสักครั้งหนึ่งไม่ ครั้งนี้ก็เป็นการหน้าพระที่นั่ง เห็นได้ท่วงทีดีอยู่แล้ว เราจะออกไปตัดเอาศีรษะมะกรานเข้ามาถวายให้จงได้ ครั้นคิดดังนั้นแล้วก็ใจเบาไป จะได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชให้ทราบก่อนหามิได้ มะสะลุมก็หยิบได้ชะลอมใบหนึ่ง แล้วเอาหม้อเข้าใส่ลงในชะลอม มือหนึ่งถือดาบ มือหนึ่งถือชะลอม จะออกประตู นายประตูเปิดให้มิทัน จึงโดดเผ่นลงจากกำแพงไกลออกไปสามวา แล้วทำกลอุบายวิ่งปลอมร้องออกไปว่า ข้าพเจ้าตัดศีรษะทหารเอกพระเจ้าราชาธิราชได้คนหนึ่งเอามาถวาย

ฝ่ายทหารมะกรานได้ยินดังนั้นไม่ทันพิจารณาก็หาสงสัยไม่ คิดว่าทหารพวกของตัว จึงนิ่งให้มะสะลุมถือชะลอมเข้าไปจนถึงมะกราน มะกรานได้ยินเสียงมะสะลุมร้องดังนั้นคิดว่า ทหารของตัวได้ศีรษะมาจริง ก็ดีใจ มะกรานจึงชะโงกหน้าลงมาดู มะสะลุมเห็นได้ทีก็โดดขึ้นฟันตัดเอาศีรษะมะกรานแม่ทัพได้ มะสะลุมก็สลัดหม้อเข้าในชะลอมนั้นออกเสีย แล้วก็เอาศีรษะมะกรานใส่ลงในชะลอม แล้วก็วิ่งออกมาทำอุบายร้องว่า ท่านให้เอาศีรษะข้าศึกไปเสียบเสีย มะสะลุมก็วิ่งกลับเข้ามาเมือง แลขณะเมื่อมะสะลุมออกไปตัดศีรษะมะกรานบนคอช้างนั้น แสงเพลิงสว่างรุ่งเรือง พระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นรู้จักตัวอยู่ จึงตรัสสั่งให้เปิดประตูเมืองรับ มะสะลุมก็เอาศีรษะมะกรานเข้ามาถวาย แล้วกราบทูลซึ่งทำกลอุบายมิให้พวกทหารมะกรานสงสัยได้ดังนั้นทุกประการ พระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็ดีพระทัย จึงตรัสสรรเสริญมะสะลุมว่า ท่านนี้ฝีมือเข้มแข็งยิ่งนัก มิเสียทีที่เกิดมาเป็นชายชาติทหาร นานไปเบื้องหน้าเราจะชุบเลี้ยงท่านให้ถึงขนาด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตรัสสรรเสริญดังนี้ แต่หาได้พระราชทานสิ่งใดให้แก่มะสะลุมไม่ ด้วยทรงพระราชดำริว่า มะสะลุมกระทำความชอบทั้งนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่เสียหน่อยหนึ่งเพราะใจเบาหาบอกเล่ากับเราก่อนไม่ ครั้นจะพระราชทานบำเหน็จรางวัลในขณะนี้ก็มิควร สืบไปเมื่อหน้าทหารทั้งปวงจะดูเยี่ยงอย่างมีจิตประมาทในกิจราชการ ก็จะเสียขนบธรรมเนียมพระราชประเพณีไป

ฝ่ายพวกกองทัพมะกรานซึ่งยกมาพอรู้ว่ามะกรานตายก็แตกหนียกกลับไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทแกล้วทหารทั้งปวงว่า เมืองวาน เมืองนครเพน เราก็ดีได้แล้ว บัดนี้ เราจะยกลงไปตีเมืองเมาะลำเลิงแลเมืองเมาะตะมะ สมิงสามผลัดจึงกราบทูลว่า เมืองเมาะลำเลิง เมืองเมาะตะมะ สองเมืองนี้เข้มแข็งนัก ถ้ายกไปตีเห็นจะต้องรบพุ่งกันถึงสาหัส ผู้คนจะล้มตายมาก จึงจะได้ขอเชิญพระองค์แรมประทับอยู่ ณ เมืองนครเพนให้สำราญพระทัยก่อนเถิด ข้าพเจ้ากับเสนาบดีทแกล้วทหารทั้งปวงจะขอยกไปตีเมืองกราน ด้วยบัดนี้เจ้าเมืองกรานยกลงมาปล้นกองทัพหลวง ทหารก็ออกไปตัดศีรษะได้ถึงแก่ความตาย เมืองกรานก็ว่างเปล่าอยู่หาเจ้าเมืองมิได้ ผู้คนมีเป็นอันมาก ก็จะระส่ำระสายอยู่ ข้าพเจ้าจะขออาสาขึ้นไปตีเมืองกรานกวาดเอาผู้คนช้างม้าทั้งปวงมาประกอบด้วยทัพหลวง ได้มากแล้วจึงยกเข้าตีเมืองเมาะลำเลิง เมืองเมาะตะมะ ก็เห็นจะได้โดยง่าย

พระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้สมิงสามผลัด ทัพหนึ่ง สร่ายสงคราม ทัพหนึ่ง อำมาตย์ทินมณีกรอด ทัพหนึ่ง หะนารายณ์ ทัพหนึ่ง เป็ดไข ทัพหนึ่ง เป็นห้าทัพ ประกอบด้วยช้างม้ารี้พลเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสร็จ ครั้นได้ฤกษ์ นายทัพทั้งห้าก็ถวายบังคมลายกออกไป ขณะเมื่อนายทัพทั้งเดินกองทัพไปยังไม่ถึงเมืองกราน

ฝ่ายสมิงพระตะบะ เจ้าเมืองเมาะตะมะ กับสมิงอายพะบูญ แลอุเลว จึงปรึกษากันว่า กองทัพพระเจ้าราชาธิราชครั้งนี้เข้มแข็งนัก ยกมาตีได้เมืองวาน แล้วยกลงมาเมืองนครแพน ก็ได้เมืองโดยง่าย กำลังเราก็น้อยลง ประการหนึ่ง เจ้าเมืองกรานยกทัพไปต่อต้านก็เสียตัว ผู้คนในเมืองกรานก็ระส่ำระสายหาที่พึ่งมิได้ ครั้งนี้ เห็นว่า ศึกพระเจ้าราชาธิราชจะยกมาตีถึงเมืองเราเป็นมั่นคง ถ้าแลกองทัพพระเจ้าราชาธิราชยกมาตั้งเมืองกรานเหนือน้ำได้แล้ว กำลังศึกก็จะมากขึ้น ฝ่ายผู้คนข้างเราน้อย จะขัดสนนัก จำจะให้กองทัพไปรักษาเมืองกรานไว้ให้มั่นจงได้ ครั้นปรึกษาเห็นชอบด้วยกันแล้ว พระตะบะจึงแต่งให้สมิงอายพะบูญกับอุเลวคุมกองทัพเรือยกขึ้นไปถึงเมืองกราน พอกองทัพเป็ดไข กองทัพสร่ายสงคราม กองทัพหะนารายณ์ สามนายนี้มาถึงก่อน กองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงสามผลัดสองทัพนั้นยังมิมาถึง แลกองทัพเมืองเมาะตะมะ กับกองทัพสร่ายสงคราม กองทัพหะนารายณ์ กองทัพเป็ดไข ถึงพร้อมกันเข้า

ฝ่ายกองทัพสมิงอายพะบูญก็ยกเข้าตีกองทัพสร่ายสงคราม หะนารายณ์ เป็ดไข แตกกระจัดกระจาย ทหารทั้งปวงล้มตายบ้าง หนีเข้าป่าบ้าง หนีลงมาถึงกองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอด สมิงสามผลัดบ้าง แลอำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงสามผลัดเห็นกองทัพทั้งสามกองแตกมา ก็ให้หยุดทหารมั่นไว้ อำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงสามผลัดจึงปรึกษากันว่า กองทัพเราถึงห้าทัพ แตกเสียสามทัพแล้ว แต่เราสองทัพนี้เห็นกำลังน้อยนัก เราถอยกองทัพไปก่อนหรือ หรือจะยกเข้าตีเป็นประการใด

ฝ่ายสมิงสามผลัดจึงว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัสใช้ให้เรามากระทำสงครามด้วยกันทั้งห้าทัพ ถึงมาตรว่าแตกไปสามทัพแล้ว แต่กองเราทั้งสองยังมิได้รบพุ่ง พวกทแกล้วทหารทั้งปวงก็เป็นปรกติดีอยู่ ถ้าถอยทัพไปนั้นมิควร จะเป็นโทษ จำเราจะให้สงบไว้ดูท่วงทีข้าศึกก่อน เห็นกองทัพอายพะบูญจะสำคัญว่า กองทัพนั้นแตกไปสิ้นแล้ว หามีทัพผู้อื่นอีกไม่ ก็จะประมาท เที่ยวเก็บเอาข้าวของเครื่องศัสตราวุธลงบรรทุกเรือ พอผู้คนกระจัดกระจายเสียขบวนแล้ว เราจะยกเข้าโจมตีในขณะนั้น ก็จะได้ชัยชนะคืนโดยง่าย อำมาตย์ทินมณีกรอดก็เห็นชอบด้วย จึงสรรเสริญว่า ปัญญาท่านคิดนี้ดีนัก จึงให้กองทัพทั้งนั้นตั้งสงบอยู่ชายป่ามิให้ข้าศึกเห็น

ฝ่ายกองทัพสมิงอายพะบูญครั้นมีชัยชนะแล้วก็มีจิตประมาท คิดว่ากองทัพแตกหนีไปสิ้นแล้ว ก็ชิงกันขึ้นเก็บเอาเครื่องศัสตราวุธแลข้าวของบรรทุกเรือสับสนวุ่นวายอยู่ อำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงสามผลัดเห็นได้ท่วงทีดังนั้น ก็ยกพลทหารออกโจมตีกองทัพสมิงอายพะบูญแลอุเลว ทหารสมิงอายพะบูญแลอุเลวนั้นไม่ทันรู้ตัว ก็แตกหนีล้มตายพลัดพรายไปเป็นอันมาก แลไพร่พลทั้งสองทัพนั้นทิ้งเรือเสียหนีไปทางบก แต่ตัวสมิงอายพะบูญกับอุเลวนั้นฝีมือกล้า ฉวยดาบคนละสองมือโจนหนีลงเรือน้อยได้ ทหารตามจับมิทัน ก็รีบหนีล่องลงไปเมืองเมาะตะมะ

ขณะนั้น สร่ายสงคราม เป็ดไข หะนารายณ์ แลรี้พลทั้งสามทัพซึ่งแตกไปก่อนนั้นตั้งกองซ่องสุมควบคุมกันเข้าได้ ครั้นรู้ว่า กองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอด สมิงสามผลัด เข้าโจมตีกองทัพสมิงอายพะบูญแลอุเลวแตกหนีไปแล้ว ก็เข้ามาพร้อมกันด้วยกองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอดแลสมิงสามผลัด ฝ่ายสมิงอายพะบูญแลอุเลวรีบหนีล่องลงมาถึงเมืองเมาะตะมะ แล้วก็เข้าไปแจ้งเหตุแก่พระตะบะตามความได้สู้รบแพ้แลชนะทุกประการ สมิงพระตะบะได้แจ้งดังนั้นก็ตกใจคิดกลัวเกรงเดชานุภาพพระเจ้าราชาธิราชเป็นอันมาก จึงปรึกษากันว่า ถ้ากระนั้น เราจะอยู่สู้รบมิได้ ด้วยกองทัพพระเจ้าราชาธิราชมีกำลังนัก ถ้าพระเจ้าราชาธิราชยกมาย่ำยีเมืองเราแล้ว รี้พลทแกล้วทหารช้างเราน้อยกว่า เห็นเหลือกำลังจะสู้รบ จะได้ความขัดสน เราเร่งคิดอ่านหนีเสียเถิด สมิงพระตะบะ กับสมิงอายพะบูญ แลอุเลวก็ให้ขนข้าวของเงินทองอาหารลงบรรทุกเรือรบใหญ่ทั้งผู้คนบ่าวไพร่พร้อมแล้ว แต่แม่อายพะโร ภรรยานั้น มิยอมไป จะอยู่สู้ตายในเมือง สมิงพระตะบะ กับสมิงอายพะบูญ แลอุเลวนั้นก็ให้ใช้ใบออกเรือพากันแล่นหนีไปข้างเมืองแขก

ฝ่ายชาวเมืองเมาะตะมะก็พากันหนีไปหากองทัพพระเจ้าราชาธิราชเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงทราบว่า พระตะบะหนีไปจากเมืองแล้ว พระองค์ก็รีบเสด็จดำเนินกองทัพยกมาเมืองเมาะตะมะ กองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอด แลสมิงสามผลัด เป็นไข หะนารายณ์ สร่ายสงคราม ห้าทัพนั้นก็ยกลงมาบรรจบกองทัพพระเจ้าราชาธิราช ณ เมืองเมาะตะมะ อำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงสามผลัดจึงเข้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตามมีเนื้อความมาแต่หลังทุกประการ ครั้นพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังสมิงสามผลัดแลอำมาตย์ทินมณีกรอดทูลซึ่งคิดการสงครามเอาชัยชนะได้ พระองค์ก็ดีพระทัยนัก แต่ทรงพระโกรธสร่ายสงคราม เป็ดไข หะนารายณ์ ผู้แตกทัพนั้นว่า ไม่ระมัดระวังข้าศึก ทำให้แตกพ่ายมา เสียพระเกียรติยศ ตรัสสั่งให้ลงโทษนายทัพทั้งสามถึงสิ้นชีวิต จึงสมิงสามผลัด อำมาตย์ทินมณีกรอด กราบทูลว่า ซึ่งนายทัพทั้งสามแตกพ่ายมานั้นโทษผิดถึงสิ้นชีวิตตามบทพระอัยการศึกก็จริงอยู่แล้ว แต่ข้าพเจ้าทั้งสองขอรับพระราชทานโทษนายทัพทั้งสามไว้ครั้งหนึ่ง จะได้ทำราชการสงครามฉลองพระเดชพระคุณสืบไปภายหน้า ซึ่งนายทหารทั้งสามแตกทัพมานั้นจะเป็นเพราะประมาทไม่ระมัดระวังหามิได้ เพราะรีบเดินกองทัพไปรวดเร็วมิได้พักผ่อน ทหารทั้งปวงก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ครั้นไปถึงก็อิดโรยถอยกำลังลง ฝ่ายข้าศึกยกกองทัพเรือมา ทหารทั้งปวงมีกำลังมิได้เหน็ดเหนื่อย จึงสู้รบกันเอาชัยชนะมิได้ อุปมาดังคนอดอาหารอยู่สามวัน กำลังน้อย จะเข้าปล้ำชกกับคนที่บริโภคอาหารอยู่ทุกวันวันละสามเวลา ก็ย่อมแพ้แก่คนมีกำลังซึ่งได้บริโภคอาหารอยู่ทุกวัน

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วย จึงพระราชทานยกโทษให้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้สมิงสามผลัดเป็นสมิงพัชชะ พระราชทานเครื่องยศแลเงินทองเสื้อผ้าเป็นบำเหน็จรางวัลโดยสมควรแก่ความชอบ ครั้นแล้ว พระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้คุมเอาตัวแม่อายพะโร ภรรยาพระตะบะ ออกมา ทรงซักถามด้วยพระองค์ว่า ทรัพย์ข้าวของเงินทองเอาไปไหนเสียสิ้น แม่อายพะโรจึงให้การทูลว่า สิ่งของเงินทองนั้นสมิงพระตะบะเอาไปสร้างพระพุทธรูปเป็นการกุศลเสียสิ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสตวาดว่า ซึ่งเงินทองของพระตะบะพระตะบะเอาไปทำพระปฏิมากรเป็นการกุศลเสียแล้วนั้นยกไว้ แต่เงินทองสิ่งของของพระราชบิดากูเป็นอันมากซึ่งพระตะบะเก็บริบไว้นั้นเอาไปไว้เสียไหนเล่า

ฝ่ายแม่อายพะโรครั้นพระเจ้าราชาธิราชตรัสซักถามดังนั้นก็เกรงกลัวพระราชาอาญายิ่งนัก ทูลความมิใคร่ออก ให้ประหม่าเสียงสั่นกราบทูลหน้าเป็นหลังหลังเป็นหน้าเลื่อนเปื้อนอยู่ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระโกรธ จึงตรัสว่า เดิมมันให้การเป็นสำนวน ครั้นซักถามหนักเข้ามันพูดไม่ใคร่ออก จึงตรัสสั่งให้เจ้าเสิน เชื้อพระวงศ์ผู้หนึ่ง เป็นตระลาการ ให้คุมตัวแม่อายพะโรออกไปซักถามสืบสาวเอาเงินทองของสมเด็จพระราชบิดาให้สิ้นเชิงจงได้ เจ้าเสินรับพระบรมราชโองการแล้วก็ถวายบังคมลาคุมเอาตัวแม่อายพะโรออกไปซักถาม แล้วก็เร่งเอาเงินทองของหลวงแก่แม่อายพะโรได้สิ้น จึงนำเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงสั่งให้หาเสนาบดีเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน แล้วก็ตรัสปรึกษาความชอบ โปรดให้พระยาพระตะเบิดไปกินเมืองวาน นายทัพนายกองทั้งปวงซึ่งมีความชอบในสงครามนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดให้รั้งเมืองทุกคนตามฐานานุกรม แล้วให้สมิงดิศกุมารกินเมืองเมาะตะมะตามได้ว่าไว้แต่ก่อน

ขณะนั้น ยีกำกอง เจ้าเมืองทะละ ตั้งแข็งเมืองอยู่ มิได้มาอ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราช ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจัดแจงเมืองเมาะตะมะให้ราบคาบเสร็จแล้ว ก็ยกพยุหโยธาทัพจะเสด็จกลับมากรุงหงสาวดี ขณะเมื่อพระเจ้าราชาธิราชได้เมืองเมาะตะมะนั้นลุศักราช ๗๕๐ ปี ครั้นเสด็จดำเนินกองทัพมาถึงเมืองตึกคล้าเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงหงสาวดีแต่ว่างอยู่ยังหาเจ้าเมืองมิได้ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จหยุดประทับพักพลทหารอยู่ในเมือง จึงทรงพระราชดำริว่า บรรดาทแกล้วทหารซึ่งมีชัยชนะแก่สงครามนั้น เราก็ได้ปลูกเลี้ยงให้มียศถาศักดิ์ ให้เครื่องอุปโภคบริโภคเสร็จแล้ว แต่มะสะลุมเป็นทหารมีฝีมือซึ่งองอาจออกไปตัดศีรษะมะกรานมาได้ดังใจประสงค์นั้นเป็นคนมีความชอบมาก ยังหาได้ปูนบำเหน็จรางวัลสิ่งใดไม่ ครั้นจะให้หาตัวมาปูนบำเหน็จต่อหน้าคนดุจผู้มีความชอบทั้งปวง บัดนี้เล่า ก็ไม่สมควร เพราะว่าเมื่อมะสะลุมจะออกไปตัดศีรษะมะกรานนั้นก็มิได้เข้ามารับอาสาบอกกล่าวให้เรารู้เหตุผลก่อน เป็นคนเบาความอยู่หน่อยหนึ่ง ทำให้เสียขนบธรรมเนียมเสนานุวัตร เป็นคุณกับโทษเจือกัน เราจะปูนบำเหน็จรางวัลมะสะลุมมิให้รู้ตัวบ้าง ครั้นทรงพระดำริดังนั้นแล้ว จึงตรัสสั่งให้ปลูกตำหนักใหญ่หลังหนึ่งประกอบด้วยเตียงตั่งที่นั่งที่นอนเครื่องปัจถรณ์ปูลาดอาสน์อิงเขนย พร้อมด้วยธูป เทียน ชวาลา เจียดทอง พานทอง น้ำเต้าทอง ดาบฝักทอง ครบเครื่องยศสำหรับผู้รักษาเมือง มีนางนักสนมขับรำบำเรออยู่ แล้วพระราชทานนางห้ามสาวรูปงามผู้หนึ่งชื่อ นางเกสรา เป็นบุตรีผู้มีตระกูล ให้อยู่รักษา แล้วจึงให้เขียนเป็นอักษรสำเนาความแลพระราชทานนามที่ตั้งลงในแผ่นสุพรรณบัฏใส่ผ้ากระหมวดไว้ในพานทองตั้งไว้บนที่สูง จึงตรัสสั่งสมิงพัชชะว่า ถ้าเราไปแล้ว ให้สมิงพัชชะหาตัวมะสะลุมมากินเลี้ยง แล้วชักชวนให้มะสะลุมให้กินสุราเมาจงหนัก ถ้าเห็นมะสะลุมเมาสิ้นสติสมประดีแล้ว จึงให้คนยกขึ้นไปวางบนเตียงในที่ตำหนักนั้น ให้พระราชทานสิ่งของทั้งนี้แก่มะสะลุมสิ้น แลให้กินเมืองตักคล้าด้วย สมิงพัชชะก็รับพระราชโองการใส่เกล้า ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตรัสสั่งการเสร็จแล้วก็ให้เคลื่อนพลพยุหโยธาทัพเสด็จกลับไปกรุงหงสาวดี

ฝ่ายสมิงพัชชะจึงสั่งให้คนใช้ให้แต่งโต๊ะเครื่องเลี้ยงพร้อมด้วยเหล้าข้าวคาวหวาน เสร็จแล้วก็ให้เชิญขุนนางกรมการแลนายทหารทั้งปวงมากินเลี้ยงที่ตำหนักใหม่นั้น แล้วจึงให้หาตัวมะสะลุมเข้ามากินเลี้ยงกับด้วยขุนนางกรมการทั้งปวงหวังจะให้รื่นเริงสบาย มะสะลุมมาถึงก็คำนับสมิงพัชชะตามอย่างธรรมเนียม สมิงพัชชะรับคำนับ แล้วก็พูดปราศรัยเชิญให้มะสะลุมกินเลี้ยง ชวนให้เสพสุราพลางพูดกันพลางด้วยเรื่องการสงคราม สมิงพัชชะจึงเรียกหญิงคนใช้เข้ามาคอยรินสุราคำนับให้มะสะลุม แล้วจึงกล่าวสรรเสริญยกยอมะสะลุมว่า ท่านนี้มีฝีมือกล้าหาญนัก สมควรเป็นทหารเอกของพระเจ้าอยู่หัวแล้ว เมื่อท่านออกไปตัดศีรษะมะกรานเข้ามาถวายนั้น เราเห็นแล้วก็ให้ครั่นคร้ามใจ นึกชมฝีมือท่านอยู่มิได้ขาด ถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลขุนนางทั้งปวงก็สรรเสริญปัญญาความคิดท่านเป็นอันมาก ไม่ช้านานเห็นท่านจะได้ยศถาศักดิ์อันใหญ่ยิ่ง มีชื่อเสียงปรากฏในแผ่นดินเป็นมั่นคง เรามีใจรักท่านเหมือนหนึ่งญาติ เพราะจะได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปภายหน้า ขัดขวางสิ่งใดในการสงคามจะได้พึ่งกัน ซึ่งท่านกับเรามีความบาดหมางกันเล็กน้อยแต่หลังนั้นท่านอย่าถือโกรธ จงอดโทษให้แก่เราเถิด

มะสะลุมเสพสุรายังไม่เมานักจึงพูดถ่อมตัวว่า อันฝีมือแลสติปัญญาข้าพเจ้านี้ก็เป็นประมาณ จะจัดว่าเป็นเอกอย่างยิ่งนั้นมิได้ ซึ่งไปตัดศีรษะมะกรานมาถวายนั้น ก็เพราะบุญบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกแผ่คุ้มครองไปจึงได้ ซึ่งท่านว่าข้าพเจ้าจะได้ยศถาศักดิ์มีชื่อเสียงปรากฏนั้นก็ขอสมพรปากท่านเถิด แต่ทแกล้วทหารทั้งปวงซึ่งได้ทำราชการสงครามนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดพระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลตามความชอบถ้วนทั่วกันแล้ว แต่ข้าพเจ้าผู้เดียวมิได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งท่านจะหมายพึ่งข้าพเจ้าผู้น้อยเป็นอาภัพหายศศักดิ์มิได้นั้น เห็นไม่สม ชอบแต่ข้าพเจ้าผู้น้อยจะพึ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ตั้งอยู่ในยศถาศักดิ์จึงจะควร แลซึ่งความขุ่นเคืองกันแต่หลังนั้น ข้าพเจ้าหาถือโกรธพยาบาทไม่ ซึ่งท่านรักข้าพเจ้าเหมือนหนึ่งญาตินั้น คุณหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าขอบใจนัก

สมิงพัชชะจึงตอบว่า เรารักท่านโดยฉันญาติอันสนิทมิได้คิดรังเกียจสิ่งใด ซึ่งท่านอดโทษให้นั้นเราขอบใจที่สุด พอมะสะลุมพูดขาดคำลงที่ใด หญิงคนใช้ก็รินสุราคำนับส่งให้ทุกที สมิงพัชชะชวนให้มะสะลุมเสพสุราตั้งแต่เวลาบ่ายจนค่ำ หญิงคนใช้ก็จุดประทีปเทียนชวาลาออกมาตั้งไว้ ณ ที่เลี้ยง สมิงพัชชะเสพสุราแต่น้อยไม่เมานัก แต่มะสะลุมนั้นเสพสุราเมาเหลือขนาด สิ้นสติสมประดี ก็เอาตัวลงหลับไปในที่นั้น สมิงพัชชะจึงให้หญิงคนใช้ช่วยกันยกมะสะลุมขึ้นไว้บนเตียงที่นอนในตำหนัก แล้วสั่งหญิงเหล่านั้นให้คอยปฏิบัติรักษาอย่าหลับนอน ครั้นเวลาดึก น้ำค้างพรม มะสะลุมก็สร่างเมา ตื่นขึ้นเห็นตัวนอนอยู่บนเตียงที่สูง แลเห็นนางเกสรารูปงามกับนางบำเรอนั่งเฝ้ารักษาอยู่ดังนั้นก็ตกใจ คิดว่า สมิงพัชชะแกล้งทำกลล่อลวง จึงลุกขึ้นจะลงจากเตียงนอน

ฝ่ายนางเกสราก็ให้นางนักสนมทั้งปวงซึ่งรักษาตำหนักอยู่นั้นเข้ายุดตัวไว้ นางสนมทั้งปวงก็ชวนกันเข้าไปยุดมือเท้ามะสะลุมไว้แล้วคำนับถามว่า หม่อมจะไปไหนเวลาดึกป่านนี้ บุญมาถึง ได้ขึ้นอยู่ในทิพวิมานแล้ว ไม่ชอบใจหรือ ฝ่ายมะสะลุมครั้นสตรีเข้ามาจับต้องถูกตัวดังนั้นก็ให้เสียวซ่านไปทั้งกายด้วยความกำหนัดยินดี หายกลัวแล้ว จึงแสร้งพูดอ่อนน้อมว่า ข้าพเจ้าเมาสุรานัก หลับไปไม่รู้สึกตัว มิได้แจ้งว่าผู้ใดยกขึ้นมาให้นอนอยู่บนเตียงที่สูงดังนี้ ก็เกรงกลัวความผิดนัก แลข้าพเจ้าขอถามหน่อยหนึ่ง แม่เทพธิดาทั้งปวงนี้เป็นเจ้าของทิพวิมานหรือ หรือนางอัปสรผู้ใดเป็นเจ้าของ นางสนมทั้งปวงได้ฟังก็อายยิ้มอยู่ในที่ ชำเลืองค้อนแล้วบอกว่า ข้าพเจ้าเหล่านี้มิใช่เจ้าของ เป็นแต่บริวาร นางเทพธิดาชื่อ หม่อมแม่เกสรา ที่นั่งยิ้มแอบฉากอยู่นั้นเป็นเจ้าของรักษาทิพวิมาน ท่านมาเกิดคอยท่าเทพบุตรอยู่ มะสะลุมได้ฟังก็ดีใจยิ้มแล้วจึงถามว่า เมื่อไรเทพบุตรจะมาบังเกิดเล่า

นางสนมทั้งปวงแกล้งทำเอื้อนอายมิใคร่บอก ครั้นมะสะลุมซักถามหนักเข้าก็บอกว่า เทพบุตรนั้นท่านมาเกิดอยู่นานแล้ว แต่บุญยังไม่ถึง ท่านก็ทำราชการอยู่ก่อน บัดนี้ บุญมาถึงแล้ว เทพดาจึงอุ้มท่านให้ขึ้นมานอนอยู่ในทิพวิมาน แต่ท่านเป็นเทพบุตรขลาด พอเห็นนางฟ้าเข้าก็ตื่นตกในกลัวจะวิ่งหนี นางเทพธิดาผู้รักษาทิพวิมานจึงให้ข้าพเจ้าทั้งปวงมายุดตัวไว้ มะสะลุมจึงว่า ซึ่งท่านเปรียบเทียบว่าตัวข้าพเจ้านั้น เห็นเกินวาสนานัก แต่อ้างเทพบุตรเทพธิดามาพูดเปรียบเล่นนี้ ข้าพเจ้าก็ยังกลัวความผิดอยู่ เพราะไม่เหตุการณ์ตื้นลึก นางสนมทั้งปวงจึงว่า หม่อมอย่าคิดแคลงกลัวเกรงสิ่งใดเลย เชิญดูอักษรซึ่งใส่ไว้ในกระหมวดผ้าที่อยู่ในพานทองนั้นเถิด

มะสะลุมได้ฟังดังนั้นก็ไปหยิบเอากระหมวดผ้ามาแก้ดู อักษรที่จารึกในแผ่นสุวรรณบัฏนั้นมีความว่า ซึ่งมะสะลุมเป็นทหารมีฝีมือเข้มแข็งวิ่งออกไปตัดศีรษะข้าศึกมาได้ดังใจประสงค์นั้นเป็นผู้มีความชอบมาก ให้มะสะลุมเป็นเจ้าสมิงนครอินทร์กินเมืองตึกคล้า ในลักษณะอักษรนั้นจะได้ออกพระนามพระเจ้าราชาธิราชหามิได้ มะสะลุมครั้นอ่านสิ้นความแล้วก็รู้ว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชผู้เป็นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปูนบำเหน็จให้ ด้วยมีความชอบเมื่อไปตัดศีรษะข้าศึกมาถวายนั้น มะสะลุมก็มีความยินดี จึงบ่ายหน้ามาข้างทิศกรุงหงสาวดี ยกมือขึ้นถวายบังคมสามครั้ง แล้วก็รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค แลนางนักสนม เครื่องดุริยางค์ดนตรี กินเมืองตึกคล้าตามโปรดพระราชทานนั้น แลมะสะลุมได้เป็นเจ้าสมิงนครอินทร์กินเมืองตึกคล้าครั้งนั้น ชาวเมืองทั้งปวงก็สรรเสริญนครอินทร์ว่า เป็นบุญลาภยิ่งนัก เปรียบประดุจได้ทิพยสมบัติ ครั้งนั้น กิตติศัพท์ก็เลื่องลือไปในรามัญประเทศทั้งปวงแลคนทั้งปวงก็สรรเสริญพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเป็นอันมากว่า พระองค์รักข้าทหารยิ่งนัก ปลูกเลี้ยงปูนบำเหน็จให้สมความชอบ มิได้ตระหนี่พระราชทรัพย์

ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จดำเนินกองทัพกลับมาถึงกรุงหงสาวดีแล้ว จึงตรัสสั่งเสนาบดีให้จัดแจงทำเรือรบเป็นอันมาก กำหนดให้แล้วแต่ในวสันตฤดูออกพรรษา แล้วจะยกทัพบกทัพเรือไปตีเมืองทะละ เสนาบดีรับพระราชโองการแล้วก็จัดแจงเรือรบไว้พร้อมเสร็จตามสั่ง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ให้จัดเรือฉลาดบาง เรือลายเล่ เรือลายดาเล่หยัก สรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธ ทัพบกสรรพไปด้วยช้างม้ารี้พลเป็นอันมาก ครั้นพ้นเทศกาลวสันตฤดู ถึงกำหนดมุหุติวารศุภฤกษ์แล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จพระราชดำเนินกองทัพเมืองทะละ ตรัสสั่งให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้

ฝ่ายยีกำกอง เจ้าเมืองทะละ รู้ดังนั้นก็ตกใจ จึงคิดว่า เราจะนิ่งอยู่ดังนี้เห็นมิเป็นการ จำจะออกไปเฝ้าเพ็ดทูลแก้ตัว คิดแล้วก็ออกมาเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชทรงแคลงยีกำกองอยู่ จึงตรัสสั่งให้สมิงอินทชีพเอาตัวยีกำกองออกไป ณ พระธาตุ ให้พิจารณายีกำกองให้สิ้นสงสัยก่อน

ฝ่ายสมิงอินทชีพได้รับสั่งแล้วก็เอายีกำกองออกไปพิจารณาไล่เลียงยีกำกอง ยีกำกองเจรจาให้การถ้อยคำพิรุธ สมิงอินทชีพจึงซักไซ้ไล่เลียงไป ยีกำกองจนแก่ถ้อยคำ ก็รับสารภาพว่าผิด สมิงอินทชีพจึงเอาตัวยีกำกองกับถ้อยคำให้การเข้ากราบทูลพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังจึงตรัสว่า อนิจจา ยีกำกองเป็นผู้ใหญ่ เรารักใคร่เหมือนพี่ร่วมอุทรมา ได้ปฏิญาณกันแต่ก่อนแล้ว ยีกำกองก็บอกเหตุผลแต่ต้นมา เราก็ได้ให้สติอีก เราคิดว่า ถ้าได้เป็นใหญ่ในกรุงหงสาวดีแล้ว จะให้ยีกำกองเป็นไส้ศึกไป ควรแลหรือยีกำกองมาประทุษจิตคิดขบถดังนี้ เมื่อแลยีกำกองไม่รักชีวิตเราแล้ว เราจะรักชีวิตยีกำกองไปไยเล่า จึงตรัสสั่งสมิงอินทชีพเอายีกำกองใส่ถุงไปถ่วงเสียที่ท่าคล้า แลทรัพย์สมบัติของยีกำกองนั้นทรงพระราชทานให้แก่พ่อสามเกลียวซึ่งเป็นสมิงสามแหลกสิ้นแทนค่าทองที่ได้ถวายไว้แต่ก่อน เมืองทะละนั้นก็โปรดพระราชทานแก่สมิงพัชชะ ให้สมิงพัชชะกินเมืองทะละ แล้วพระองค์ก็เสด็จเคลื่อนพยุหโยธาทัพไปตีเมืองมองมะละซึ่งสมิงเลิกพร้าอยู่นั้น ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกองทัพไปถึงเมืองมะละ ทอดพระเนตรเห็นเมืองอันสมิงเลิกพร้าให้รักษาค่ายคูประตูหอรบมั่นคงสามารถอยู่ จึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะยกเข้าตีครั้งนี้เห็นจะเสียไพร่พลมาก พระองค์จึงสั่งให้ถอยทัพข้ามไปตีเมืองพะสิมซึ่งสมิงโลกนรินทร์ บุตรสมิงเลิกพร้า แลสมิงนรธา บุตรเขยสมิงเลิกพร้า อยู่รักษานั้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชยกข้ามไปถึงเมืองพะสิม ก็ให้ตั้งค่ายรายรอบเมือง แล้วตรัสสั่งให้แต่งทหารออกลาดตระเวนคอยจับผู้คนในเมืองซึ่งจะพลัดออกมา ฝ่ายชาวเมืองพะสิมก็รักษาเมืองมั่นคงอยู่



(ยังมีต่อ)



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร




เล่ม ๑๑ ขึ้น เล่ม ๑๓