ราชาธิราช/เล่ม ๑๓
ปก ลง
ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา
ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา
เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี
ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง
อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี
ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี
เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย
แล้วเป็ดน้อยมีหนังสือมาขอชนช้างกับพระเจ้าราชาธิราช
จนถึงสมิงโลกนรินทร์อพยพครอบครัวทิ้งเมืองพะสิมหนีพระเจ้าราชาธิราชออกไปอยู่ป่า
ฝ่ายสมิงเลิกพร้ารู้ว่า พระเจ้าราชาธิราชยกมาล้อมเมืองพะสิม สมิงเลิกพร้าก็จัดแจงทัพบกทัพเรือสรรพไปด้วยเครื่องศัสตราวุธทั้งปวงเป็นคนหมื่นหนึ่งยกลงมาช่วยสมิงโลกนรินทร์ สมิงนรธา บุตรเขยสมิงเลิกพร้า ซึ่งอยู่ ณ เมืองพะสิม ครั้นกองทัพสมิงเลิกพร้ายกมาเห็นกองทัพพระเจ้าราชาธิราชตั้งล้อมเมืองพะสิมแน่นหนาอยู่ กองทัพเมืองมองมะละก็ยกเข้าตีกระหนาบกองทัพพระเจ้าราชาธิราช ฝ่ายกองทัพเมืองพะสิมรู้ว่า กองทัพเมืองมองมะละยกมาช่วย โยธาทหารชาวเมืองพะสิมก็แต่งกองทัพออกยั่วทั้งสองข้าง ฝ่ายทัพพระเจ้าราชาธิราชรบศึกครั้งนั้นเป็นทัพกระหนาบ เสียรี้พลทแกล้วทหารเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า ชาวเมืองพะสิมรักษาค่ายคูประตูหอรบมั่นคงอยู่ ฝ่ายกองทัพเมืองมองมะละก็ยกมาตีกระหนาบเรา ครั้นจะตั้งสู้รบอยู่ที่นี่ก็เห็นไม่ได้ ดูท่วงทีจะเสียรี้พลมาก ถึงจะได้เมืองพะสิมเล่าก็ยังไม่สิ้นสงคราม ถ้ายกกลับไปตีเมืองมองมะละได้ ฝ่ายเมืองพะสิมแลเมืองทั้งปวงก็จะได้โดยง่าย เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วยโดยพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ให้ถอยทัพกลับไปเมืองมองมะละ ครั้นถึงเมืองมองมะละแล้ว พระองค์ก็เสด็จเลียบรอบเมืองมองมะละ ครั้นจะยกทหารเข้าตี ก็เห็นค่ายคอประตูหอรบเชิงเทินซึ่งสมิงเลิกพร้าจัดแจงไว้นั้นมั่นคงอยู่ จึงตรัสสั่งให้ตั้งค่ายมั่นล้อมไว้
ฝ่ายสมิงโลกนรินทร์ สมิงนรธา เจ้าเมืองพะสิม รู้ว่า พระเจ้าราชาธิราชเลิกกองทัพไปตั้งล้อมเมืองมองมะละ ก็จัดกองทัพเรือฉลากบาง เรือลายเล่หยัก สรรพไปด้วยเครื่องศัสตราวุธ ยกมาช่วยเมืองมองมะละ ทัพเรือมายังมิถึง ฝ่ายทหารสอดแนมรู้ว่า กองทัพเรือยกมา ก็รีบเข้ามาทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงทราบดังนั้นจึงแต่งทัพเรือยี่สิบลำให้สมิงอินทร์เป็นแม่ทัพ แล้วตรัสบอกอุบายให้สมิงอินทร์ซึ่งจะเอาชัยชนะศึกนั้นว่า ให้ปักขวากเหล็กไว้ในน้ำ ถ้าน้ำขึ้น กองทัพมา อย่าให้แลเห็นขวาก ให้กองทัพสมิงอินทร์ซุ่มเรือรบอยู่บ้าง ให้ข้าศึกเห็นบ้างว่าคนน้อย แล้วจึงแต่งเรือเร็วสามสิบลำบรรจุทหารมีฝีมือให้ออกไปล่อกองทัพ ถ้ากองทัพเมืองพะสิมไล่ทำเป็นหนีมา ถ้าไม่ไล่ ให้รออยู่ เจ้าสมิงอินทร์รับพระราชอุบายใส่เกล้า แล้วก็ถวายบังคมลายกไปตามรับสั่ง
ฝ่ายกองทัพเมืองพะสิมเห็นกองทัพพระเจ้าราชาธิราชคนน้อยกว่าก็ประมาท หมายจะได้ชัยชนะฝ่ายเดียว กองทัพเมืองพะสิมก็ไล่กระโจมขึ้นมา พอเวลาน้ำขึ้นหาเห็นขวากไม่ กองทัพเมืองพะสิมก็ติดขวากอยู่ จะถอยก็มิออก
ฝ่ายทัพสมิงอินทร์ซึ่งซุ่มอยู่นั้นเห็นกองทัพเมืองพะสิมติดขวากอยู่ได้ท่วงทีแล้ว ก็ตรูทัพเข้าตีกองทัพเรือเมืองพะสิมแตก เก็บได้เรือรบผู้คนศัสตราวุธเป็นอันมาก แต่ตัวสมิงโลกนรินทร์แลสมิงนรธานั้นลงเรือน้อยหนีไปได้ ทหารตามไปจับมิทัน
ฝ่ายสมิงอินทร์ก็ยกทัพกลับมา จึงให้คุมเรือรบแลผู้คนเครื่องศัสตราวุธที่ตีได้นั้นเข้ามาถวายพระเจ้าราชาธิราช แล้วกราบทูลซึ่งมีชัยชนะ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ดีพระทัยนัก จึงพระราชทานฉลองพระองค์ครุยทองผืนหนึ่ง พระธำมรงค์เพชรห้ายอดถอดออกจากพระหัตถ์วงหนึ่ง กับกลองชนะแตรสังข์ ให้แก่สมิงอินทร์เป็นบำเหน็จความชอบซึ่งมีชัยแก่ข้าศึก แลนายทัพนายกองทั้งปวงซึ่งไปด้วยสมิงอินทร์นั้นก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลให้ตามสมควร ครั้งนั้น เกียรติยศเจ้าสมิงอินทร์ก็ลือข่าวทั่วไปทุกเมืองขึ้นเมืองออก
ฝ่ายพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า เมืองมองมะละนี้สมิงเลิกพร้าก็ให้รักษามั่นคงอยู่ จะหักโหมเอาโดยเร็วนั้นมิได้ ถ้าถอยทัพยกไปตีเมืองเตวมุแล่งแลเมืองเตวประสร้วย ได้เมืองทั้งสองแล้วกลับมาล้อมเมืองมองมะละไว้ ให้ชาวเมืองอดข้าวปลาอาหารลง ถ้าคิดเพียรเอาดังนี้จึงจะได้ ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาบดีทั้งปวงยังมิทันจะกราบทูล
ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดจึงกราบทูลขึ้นว่า ถ้าพระองค์ถอยทัพเสด็จไปตั้งอยู่ ณ เมืองทะละพักพลทหารให้มีกำลังก่อนแล้ว อันเมืองเตวมุแล่ง เมืองเตวประสร้วย สองเมืองนี้ ข้าพเจ้าจะขอรับอาสาคิดอ่านตีถวายให้จงได้ ขอพระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกเลย แม้นได้เมืองเตวมุแล่ง เมืองเตประสร้วยแล้ว ซึ่งจะยกกลับมาทำการเมืองมองมะละอีกก็สะดวก เพราะได้พลเสบียงอาหารมาเพิ่มเติมมากขึ้น เห็นจะตีได้เป็นมั่นคง ซึ่งพระองค์ยกมาล้อมเมืองมองมะละสองครั้งแล้วยังมิได้เมืองนั้น อุปมาดังล้อมป่าไล่เสือ เมื่อจับตัวเสือยังมิได้ เวลาจวนค่ำแล้ว ก็ต้องเลิกไปเสียทีหนึ่ง แต่เป็นที่ได้ยั่วเสือให้ตื่นไว้พลาง ถ้าเสือโง่ปัญญาน้อยก็จะประมาท ถ้าเป็นเสือขลาดก็จะตกใจ แม้นยกมาล้อมครั้งหลังให้แน่นหนา ข้าพเจ้าเห็นจะมีชัยชนะจับเสือได้เป็นมั่นคง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังอำมาตย์ทินมณีกรอดกราบทูลดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงตรัสว่า ซึ่งท่านคิดผ่อนผัน เราก็เห็นชอบด้วย แต่ท่านผู้เดียวจะรับอาสาไปตีทั้งสองเมืองนั้นยังกระไรอยู่หรือ ท่านก็ชราแล้ว เห็นจะลำบากใจนัก ถ้าขัดขวางอยู่ก็แบ่งให้ผู้อื่นเสียบ้าง เราจะได้แต่งนายทัพให้ไปช่วยแรงท่าน
อำมาตย์ทินมณีกรอดจึงทูลว่า ซึ่งข้าพเจ้ารับอาสาครั้งนี้ใช่จะโลภชิงลาภของผู้อื่นหามิได้ เพราะตั้งใจจะสนองพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ถึงขนาด อันตัวข้าพเจ้าเป็นชายชาติทหาร ถึงกายแก่ แต่ใจหนุ่ม ได้รับอาสาพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ไม่เสียดายร่างกายแลชีวิต ได้ออกวาจาเป็นสองแล้ว ครั้นจะกลับคืนเสียเอาแต่หนึ่ง คนทั้งปวงก็จะหัวเราะเยาะได้ว่า แก่โกง มิใช่แก่เก่ง บ้างจะว่า แก่แดด มิใช่แก่กับต้น ข้าพเจ้าจะขอสำแดงฝีมือแก่ให้ปรากฏไว้มิให้หนุ่ม ๆ ดูหมิ่นได้ แม้นพลาดพลั้งประการใด ก็ขอฝากแต่ชื่อไว้ในแผ่นดิน หนุ่ม ๆ เกิดมาภายหลังจะได้เห็นว่า แก่เก่งกับแก่กับต้นนี้เขาซื่อสัตย์อาสาเจ้าถึงขนาด ถ้ามีชัยชนะสมคิดแล้ว คนทั้งปวงจะสรรเสริญพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฟุ้งเฟื่องไปว่า เพราะได้แก่มาไว้จึงมีชัยชนะหนุ่ม ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล คลายวิตกในพระทัยลง จึงโปรดให้อำมาตย์ทินมณีกรอดเลือกจัดทแกล้วทหารเอาไปตามชอบใจ อำมาตย์ทินมณีกรอดได้รับพระราชโอกาสดังนั้นแล้ว ก็เลือกคัดทหารที่ชอบใจมีฝีมือเข้มแข็งได้สามสิบคน กับพลหมื่นห้าพัน พร้อมไปด้วยช้างม้าเครื่องศัสตราวุธ เสร็จแล้วก็ถวายบังคมลายกไปเมืองเตวมุแล่ง ยังทางประมาณสองร้อยเส้นจะถึง จึงให้ตั้งมั่นอยู่
ฝ่ายพระเจ้าราชาธิราชก็ถอยทัพไปตั้งมั่นพักพลทหารอยู่ ณ เมืองทะละ ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดซึ่งตั้งมั่นอยู่นั้นก็คิดเป็นกลอุบายแต่งหนังสือฉบับหนึ่งเป็นทางคำนับล่อลวง กับให้จัดสิ่งของเครื่องราชบรรณาการโดยสมควร ครั้นแต่งหนังสือสำเร็จพับผนึกดีแล้ว จึงให้อำมาตย์สองคนเป็นผู้ใหญ่มีปัญญาฉลาดในการเจรจาถือหนังสือคุมเครื่องบรรณาการเข้าไปถึงเจ้าอายพระยา เจ้าเมืองเตวมุแล่ง อำมาตย์ทั้งสองนั้นคำนับแล้วก็ออกมาจัดผู้คนถือเครื่องบรรณาการครบตัวทั่วสิ่งของพากันเข้าไปยังเมืองเตวมุแล่ง จึงเข้าไปแจ้งความแก่นายประตู นายประตูรู้เหตุแล้วจึงเข้าไปแจ้งความแก่เจ้าอายพระยาว่า บัดนี้ อำมาตย์ทินมณีกรอดใช้คนถือหนังสือคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาคำนับท่าน เจ้าอายพระยาได้แจ้งดังนั้นก็ตรึกตรองอยู่ จึงถามที่ปรึกษาทั้งปวงว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดเป็นข้าอยู่ในพระเจ้าราชาธิราชอันเป็นข้าศึกแก่เรานั้น ซึ่งจะเข้ามาหาเรานี้ เหตุผลร้ายหรือดี ใครคิดเห็นประการใดบ้าง ที่ปรึกษาทั้งปวงจึงว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดมาทั้งนี้เห็นจะหลีกหนีราชการเพราะตัวชรา ซึ่งจะทำกลมารยาล่อลวงนั้นเห็นไม่เป็น ชะรอยจะหนีร้อนมาพึ่งเย็นโดยแท้ ขอท่านให้รับคนผู้ถือหนังสือเข้ามาเถิด เจ้าอายพระยาก็เห็นด้วย จึงให้คนไปรับอำมาตย์ทั้งสองนั้นเข้ามา
ฝ่ายอำมาตย์สองคนเข้ามาถึง คำนับเจ้าอายพระยาแล้ว จึงส่งหนังสือแลกล่าวแจ้งสิ่งของเครื่องบรรณาการให้เจ้าอายพระยาฟังตามจำนวนบัญชีถี่ถ้วนทุกสิ่ง เจ้าอายพระยาจึงฉีกผนึกหนังสือออกอ่านความในหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้า อำมาตย์ทินมณีกรอดคนเฒ่า ขออวยพรมาถึงเจ้าอายพระยาเมืองเตวมุแล่ง ด้วยทุกวันนี้ข้าพเจ้าอยู่กับพระเจ้าราชาธิราชทำราชการหนักเบาก็สู้ทนจนตัวชราถึงเพียงนี้แล้ว เมื่อคิดดูก็เป็นอนิจจัง เปรียบประดุจผลมะนาวอันกลิ้งอยู่บนหลังม้า ซึ่งจะหนีความตายในท่ามกลางสงครามนั้นหนีไม่พ้น ข้าพเจ้าอธิษฐานตั้งใจมาหาท่านเพื่อจะให้ท่านอนุเคราะห์ช่วยว่ากล่าวแก่สมิงเลิกพร้าให้สมิงเลิกพร้ากรุณาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะขอถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่เป็นข้าสมิงเลิกพร้าจนถึงกาลสิ้นชีวิต บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ยกมาตั้งอยู่ ณ ตำบลนี้แล้ว ก็จนใจอยู่มิรู้ที่จะทำประการใด ดุจดังกระต่ายชมพระจันทร์ ได้เห็นแต่รัศมีสอดส่อง จะจับต้องก็มิถึง อนึ่ง เปรียบคนค่อมชงฆาสั้น จะข้ามแม่น้ำที่ลึกกว้างนั้นมิได้ เห็นแต่ท่านผู้เดียวซึ่งจะเป็นสำเภายนต์ช่วยส่งข้าพเจ้าให้ข้ามพ้นไปได้ ขอท่านจงกรุณาช่วยส่งกิจคดีนี้ให้ไปถึงสมิงเลิกพร้าได้แจ้งด้วย ทำประการใดข้าพเจ้าจึงจะได้มาอยู่ด้วยสมิงเลิกพร้านั้น ขอคำนับฝากไว้ในสติปัญญาท่าน อันความทุกข์ข้าพเจ้าครั้งนี้ ถ้าท่านจะช่วยสงเคราะห์ได้หรือมิได้ประการใด ขอให้มีหนังสือแต่งคนสนิทออกมาถึงข้าพเจ้าแต่พอได้ทราบ
ครั้นเจ้าอายพระยาแจ้งความในหนังสือดังนั้นแล้วก็ยินดีหาความสงสัยมิได้ ด้วยเหตุว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดเป็นผู้ใหญ่ อายุก็ชรา จะว่ากล่าวสิ่งใดเห็นจะไม่มีเท็จ จึงส่งหนังสือกับเครื่องบรรณาการไปให้สมิงเลิกพร้า ณ เมืองมองมะละ ครั้นสมิงเลิกพร้าเห็นแจ้งในหนังสือแล้วก็หาสงสัยมิได้ จึงคิดว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่อยู่ในพระเจ้าราชาธิราช คิดการสงครามดี มีสติปัญญาหลักแหลม ฝ่ายพระเจ้าราชาธิราชก็ทำสงครามขับเคี่ยวมา อำมาตย์ทินมณีกรอกแก่ชราล้าศึกอยู่แล้ว จึงจะมาอยู่ด้วยเรา ก็เห็นจริงดุจมีหนังสือมา ถ้าอำมาตย์ทินมณีกรอดมาอยู่ด้วยเราแล้ว พระเจ้าราชาธิราชก็จะไม่มีคนปัญญาดีเป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะทำศึกกันไปนั้น เห็นเราจะได้ชัยชนะง่าย ครั้นสมิงเลิกพร้าคิดดังนั้นแล้วก็มีความยินดี มิได้ปรึกษาด้วยผู้ใด จึงใช้คนสนิทถือหนังสือไปถึงเจ้าอายพระยา ในหนังสือว่า ให้เจ้าอายพระยารับความสัตย์ของอำมาตย์ทินมณีกรอดเถิด
ครั้นเจ้าอายพระยาได้แจ้งในหนังสือสมิงเลิกพร้านั้นแล้ว ก็แต่งอำมาตย์สามคนออกไปหาอำมาตย์ทินมณีกรอด ให้อำมาตย์ทินมณีกรอดกระทำสัตย์เสียก่อนจึงจะรับเข้าไป ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดคิดกระทำความสัตย์เป็นกลอุบาย มิได้เอาพระศรีรัตนตรัยมาตั้งเป็นประธาน เอาใบลานเปล่าพับเป็นคัมภีร์ขึ้นตั้งไว้บนที่อันควร แล้วอำมาตย์ทินมณีกรอดก็ว่าตามความสัตยาธิษฐานเป็นกลไปต่อหน้าอำมาตย์ทั้งสามคนซึ่งออกมานั้น ครั้นอำมาตย์ทินมณีกรอดกระทำความสัตย์แล้ว จึงว่าแก่อำมาตย์ทั้งสามคนว่า อันตัวตาได้ความทุกข์ยากมาแต่หลัง คิดจะหาความสุขไม่ได้ช่องเลย วันนี้แลพึ่งสมคิด ตาจะได้พ้นจากความยาก เพราะเจ้าอายพระยาช่วยอนุเคราะห์ คุณของเจ้าอายพระยาอยู่กับตานี้มากนัก ตาคิดจะฉลองคุณท่านให้ถึงขนาด จะใคร่พบเจ้าอายพระยาสนทนาความลับซึ่งจะให้ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าราชาธิราชนั้น ครั้นจะเข้าไปหาเจ้าอายพระยาโดยตรงเล่า การก็ยังมิพรักพร้อม เกรงจะรู้ไปถึงพระเจ้าราชาธิราชก็จะเสียทีไป จำจะทำเป็นอุบายเข้าไปหาเจ้าอายพระยามิให้ใครรู้แยบคาย จะทำเป็นยกเข้าตีเมือง คนทั้งปวงจึงจะไม่สงสัย ยกไปแล้วจะรอทัพไว้ ตัวเรากับคนสนิทจะลอบเอาช้างพลายราชเป็ดนั้นเข้าไปถวายฉลองพระคุณเจ้าอายพระยา แล้วจะได้เจรจาความลับด้วย ให้เจ้าอายพระยาออกมาคอยท่าอยู่ที่ประตูเมือง พบกันแล้วจะได้กำหนดการไปหาสมิงเลิกพร้า ท่านทั้งสามจงไปแจ้งความแก่เจ้าอายพระยาตามคำตาสั่งดังนี้
ฝ่ายอำมาตย์สามคนซึ่งออกมานั้นก็หาสงสัยมิได้ จึงกลับเข้าแจ้งแก่เจ้าอายพระยาตามคำสั่งอำมาตย์ทินมณีกรอดว่านั้นทุกประการ เจ้าอายพระยาก็เชื่อคำอำมาตย์ทินมณีกรอดมิได้เคลือบแคลง มีความยินดีนัก จึงใช้อำมาตย์คนหนึ่งให้กลับออกไปบอกแก่อำมาตย์ทินมณีกรอดให้เข้ามา ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดได้แจ้งดังนั้นก็มีความยินดี จึงให้จัดผู้คนกำหนดกองทัพเสร็จแล้ว ส่วนตัวก็ขึ้นช้างพังตัวหนึ่ง ยกเข้ามาตั้งอยู่ริมประตูเมืองเตวมุแล่ง จึงสั่งให้กองทัพรออยู่ข้างหลัง พอได้ยินเสียงฆ้องกลองแล้ว คนซึ่งออกมานั้นก็กลับเข้าไปแจ้งแก่เจ้าอายพระยา เจ้าอายพระยาครั้นรู้ว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดยกมาคอยอยู่ริมประตูเมือง เจ้าอายพระยาก็ขึ้นช้างพังออกมายืนอยู่ริมประตูเมือง
ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดเห็นดังนั้นจึงใช้คนให้เข้าไปบอกแก่เจ้าอายพระยาว่า ข้าพเจ้ามาหาถึงถิ่นโดยดีแล้ว อย่าได้สงสัยสิ่งใดเลย ให้เชิญออกมาดูช้างที่ข้าพเจ้าจะเอามาถวายนั้นเถิด ฝ่ายเจ้าอายพระยาก็เปิดประตูเมืองขึ้นช้างออกมาหาอำมาตย์ทินมณีกรอด อำมาตย์ทินมณีกรอดเห็นได้ทีแล้ว จึงเรียกเอาช้างพลายราชเป็ดนั้นมาเทียบเข้า แล้วก็โดดขึ้นช้างพลาย ให้ตีกลองสัญญาณไสช้างตรงเข้าไป
ฝ่ายเจ้าอายพระยาเห็นดังนั้นก็ตกใจ บ่ายช้างหนีอำมาตย์ทินมณีกรอด อำมาตย์ทินมณีกรอดได้ท่วงทีแล้วก็ให้กองทัพรุกขยิกตีเข้าไปได้ในเมือง อำมาตย์ทินมณีกรอดไสช้างตามทันเจ้าอายพระยา เอาทวนแทนเจ้าอายพระยาตกช้างตาย แล้วโดดลงตัดศีรษะห่อผ้าไว้ ทหารซึ่งติดตามเจ้าอายพระยาออกมานั้นก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายไป ผู้คนในเมืองก็แตกตื่นเป็นอลหม่าน อำมาตย์ทินมณีกรอดก็ได้เมืองเตวมุงแล่ง ตั้งพักกองทัพอยู่ในเมือง แล้วจึงประกาศแก่ทหารทั้งปวงมิให้เที่ยวกระทำข่มเหงราษฎรเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดมิฟัง จะเอาโทษถึงสิ้นชีวิต
ฝ่ายเจ้าเมืองเตวประสร้วยครั้นแจ้งว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดทำกลอุบายตีได้เมืองเตวมุแล่งแลฆ่าเจ้าอายพระยาตายดังนั้นก็ตกใจกลัว จึงคิดว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดได้เมืองเตวมุแล่งแล้วคงจะยกมาตีเมืองเรา อันรี้พลทหารในเมืองเรามีมากก็จริง แต่หามีนายทัพประกอบด้วยสติปัญญาไม่ ถ้ากองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอดยกมา เห็นเหลือกำลังเราจะต้านทาน จำจะต้องทิ้งเมืองเสีย เจ้าเมืองเตวประสร้วยก็อพยพครอบครัวหนีเข้าป่าไป กองทัพอำมาตย์ทินมณีกรอดยกไปก็ได้เมืองเตวประสร้วยโดยง่าย ครั้นอำมาตย์ทินมณีกรอดได้เมืองทั้งสองแล้ว จึงแต่งหนังสือแลให้ต่อหีบใส่ศีรษะเจ้าเมืองเตวมุแล่งให้ม้าใช้รีบคุมไปถวายพระเจ้าราชาธิราชเมืองทะละ ในหนังสือนั้นมีเนื้อความตามอำมาตย์ทินมณีกรอดคิดทำกลอุบายมาแต่หลัง
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งในหนังสือแล้วจึงตรัสสรรเสริญว่า อำมาตย์ทินมณีกรอดเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ อายุก็แก่ชราแล้ว คิดว่าจะดีมีแต่ความคิดเล่า มิรู้ว่าเข้มแข็งมีฝีมือกล้าหาญด้วย อันสงครามครั้งนี้ ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดก็ตีได้เมืองเตวมุแล่ง เมืองเตวประสร้วยแล้ว ฝ่ายเจ้าสมิงอินทร์เล่าก็ชนะทัพเรือเมืองพะสิม มีชัยชนะทั้งสองแห่ง อันฝีมือทแกล้วทหารนี้หามีผู้จะเสมอเราไม่ ครั้งนี้ ถ้ายกกลับไปตีเมืองมองมะละ เห็นจะได้เมืองมองมะละเป็นมั่นคง ตรัสแล้วเสด็จยกกรีธาพล จึงยกกองทัพไปใกล้เมืองมองมะละ ยังทางกึ่งวันจะถึงเมือง
ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดรู่ว่า พระเจ้าราชาธิราชเสด็จพระราชดำเนินกองทัพมาแล้ว ก็ยกกองทัพมาบรรจบกับกองทัพพระเจ้าราชาธิราช ฝ่ายชาวเมืองมองมะละได้แจ้งว่า กองทัพพระเจ้าราชาธิราชยกมา ก็ตื่นวุ่นวายกันอยู่ในเมือง ฝ่ายสมิงเลิกพร้ารู้ว่า เมืองเตวมุแล่ง เมืองเตวประสร้วย เสียแล้ว เจ้าอายพระยาก็ตาย ฝ่ายกองทัพเมืองพะสิมเล่าก็เสียรี้พลเครื่องศัสตราวุธใหญ่น้อยเป็นอันมาก แลบัดนี้ กองทัพพระเจ้าราชาธิราชกลับยกมา ไพร่บ้านพลเมืองเราสะดุ้งสะเทือนกำเริบหนักอยู่ เห็นจะต่อสู้ต้านทานมิได้ สมิงเลิกพร้าจึงจัดเรือบรรทุกไพร่พลเสบียงอาหาร คิดกันว่า จะหนีไปเมืองตะแคง
ขณะนั้น เป็ดน้อย บุตรสมิงเลิกพร้าผู้หนึ่ง มีฝีมือน้ำใจกล้า จึงเข้ามาคำนับว่า บิดาอย่าเพ่อหนีไปก่อน ข้าพเจ้าจะอาสาขอชนช้างด้วยพระเจ้าราชาธิราช ถ้าข้าพเจ้าแพ้แล้ว บิดาจะหนีไปก็ตามเถิด สมิงเลิกพร้าฟังเป็ดน้อยผู้บุตรว่า ได้สติขึ้นมา ก็งดอยู่ แล้วจึงให้จัดแจงรักษาเมืองไว้เป็นสามารถ พอพระเจ้าราชาธิราชเสด็จเคลื่อนพยุหโยธาทัพมาถึงก็ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ห่างเมืองประมาณสามสิบเส้น
ขณะนั้น เป็ดน้อยจึงแต่งหนังสือออกไปถึงพระเจ้าราชาธิราช ในหนังสือนั้นว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเป็นกษัตริย์อันใหญ่ในกรุงหงสาวดี มีพระเดชเดชานุภาพแผ่ไปทั่วประเทศราช บัดนี้ พระองค์ยกพลนิกรจัตุรงค์มาตีบ้านเมืองทั้งปวงก็ได้หลายตำบลแล้ว อาณาประชาราษฎรไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงก็ได้ความเดือดร้อนถึงแก่ความฉิบหายล้มตายเป็นอันมาก หาประโยชน์มิได้ ครั้นข้าพเจ้าจะแต่งกองทัพไปต่อยุทธด้วยพระองค์ตามขบวนพยุหสงคราม บัดนี้เล่า ก็ได้อยู่ แต่จะเสียรี้พลด้วยกันทั้งสองฝ่าย หาต้องการไม่ ฝ่ายพระองค์ก็เป็นกษัตราธิราชเจ้าอันประเสริฐ ปรากฏพระเกียรติยศฟุ้งเฟื่องไปในรามัญประเทศทั้งปวง ฝ่ายข้าพเจ้าก็เป็นเชื้อสายปรากฏมา แลพระองค์กับข้าพเจ้าทั้งสองฝ่ายอย่าให้ไพร่พลทั้งปวงถึงแก่ความฉิบหายล้มตายเสียเลย จะขอชนช้างกันแต่พระองค์กับข้าพเจ้า ธรรมยุทธให้ปรากฏเป็นเกียรติยศกฎหมายไว้ในแผ่นดินจนสิ้นกัลปาวสาน ถ้าข้าพเจ้าชนช้างปราชัยแก่พระองค์แล้ว เมืองมองมะละแลเมืองขึ้นของข้าพเจ้าทั้งปวงจะขอถวายพระองค์ ถ้าพระองค์แพ้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ก็ให้พระองค์ยกทัพกลับไปกรุงหงสาวดีเถิด แลซึ่งข้าพเจ้าว่ากล่าวมาทั้งนี้ขอให้มีสัตยานุสัตย์ไว้ต่อกันโดยธรรมประเพณี อย่าให้พ้นความสัตย์ไปดุจอำมาตย์ทินมณีกรอดกระทำสัตย์แก่เจ้าอายพระยานั้น จึงจะเป็นพระยศพระเกียรติไปภายหน้า ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้ว เป็ดน้อยก็ให้คนถือหนังสือออกไป
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งในหนังสือแล้วจึงให้มีหนังสือตอบเข้าไปว่า ซึ่งเป็นน้อยให้มีหนังสือออกมาถึงเรานั้น ก็ได้แจ้งในข้อเนื้อความทุกประการแล้ว แลซึ่งว่าจะขอชนช้างด้วยเราโดยธรรมยุทธนั้น เรามีความยินดียิ่งนัก เปรียบประหนึ่งท่านเอาดวงแก้วมณีอันวิเศษมายื่นให้แก่เรา เราทำสงครามก็มีความปรารถนาเพื่อมาจะชนช้างกับข้าศึกในท่ามกลางสงครามให้เป็นขวัญตาแก่ทแกล้วทหารทั้งปวง ก็ยังมิได้ชนช้างกับผู้ใด บัดนี้ ท่านว่าจะออกมาชนช้างด้วยเรา ก็ต้องด้วยความปรารถนาเรา เรามีความยินดีนัก แลตัวท่านอย่าได้กริ่งใจในสัตยานุสัตย์นั้นเลย ฝ่ายเราก็เป็นกษัตราธิราชอันประเสริฐ ใช่จะเกรงเป็ดน้อยอยู่ จะเป็นอุบายล่อลวงนั้นหามิได้ แลให้ท่านเร่งยกออกมากระทำสงครามด้วยเราโดยธรรมยุทธกำหนดในวันพรุ่งนี้เถิด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชให้แต่งหนังสือตอบเสร็จแล้ว จึงพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแก่ผู้ถือหนังสือด้วย
ฝ่ายผู้ถือหนังสือเข้าไปแจ้งแก่เป็ดน้อยแล้ว เป็ดน้อยก็มีความยินดีนัก ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า เป็ดน้อยจึงให้จัดแจงทแกล้วทหารทั้งปวงตามขบวนพิชัยสงคราม แล้วให้ผูกพลายอายน้อยเป็นคชาธาร เสร็จแล้วก็ให้ยกออกมาตั้งอยู่ ณ ประตูเมือง จึงใช้คนให้ไปทูลพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชแจ้งว่า เป็ดน้อยยกออกมาตั้งอยู่ ณ ประตูเมืองแล้ว ก็ให้จัดแจงพวกทหารซ้ายขวาทั้งปวง พร้อมแล้วจึงให้ผูกพลายสิงหนารายณ์เป็นพระคชาธารซึ่งจะทรงเสด็จออกไปชนช้างด้วยเป็ดน้อย
ขณะนั้น อำมาตย์ทินมณีกรอดแลสมิงพ่อเพชรจึงกราบทูลว่า การสงครามครั้งนี้ทแกล้วทหารฝ่ายเราเข้มแข็งมีฝีมือกล้าหาญนัก ทั้งปัญญาความคิดเล่าก็หลักแหลม เห็นจะชนะข้าศึกฝ่ายเดียว ประการหนึ่ง พระองค์ก็เป็นกษัตราธิราชอันประเสริฐ ซึ่งจะไปชนช้างด้วยเป็ดน้อยอันเป็นแต่บุตรสมิงเลิกพร้านั้นหาควรไม่ เปรียบประดุจเอาดวงแก้วมณีไปแลกกับลูกปัด แลเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ เอาเนื้อไปแลกกับกระดูก ข้าพเจ้าเห็นไม่สม อันการซึ่งจะเอาเมืองมองมะละนั้นอย่าได้ทรงพระวิตกเลย จะขออาสาตีเมืองมองมะละถวายให้ได้ในสามวัน ขอพระองค์จงอย่าได้เสด็จไปชนช้างด้วยเป็ดน้อยเลย
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังสมิงพ่อเพชร อำมาตย์ทินมณีกรอด ทูลห้ามดังนั้น ก็ทรงพระสรวลแล้วจึงตรัสว่า ท่านทั้งสองว่ามาทั้งนี้ก็จริงอยู่ อันการสงครามครั้งนี้ถึงจะทำประการใดก็จะได้ชัยชนะแก่ข้าศึกเป็นมั่นคงหาแคลงไม่ ซึ่งท่านจะห้ามเรามิให้ไปชนช้างด้วยเป็ดน้อยนั้น เนื้อความข้อนี้เราจะขอถามก่อน ถ้าราชศัตรูขี่ช้างพัง ตัวเราขี่ข้างพลายอันมีฝีงา ก็จะให้เกี่ยวช้างหนีมิให้รบแลหรือประการใด ถ้าข้าศึกเป็นสตรี ท่านเป็นบุรุษอันสามารถ ก็จะไม่ต่อมือหรือประการใด อันตัวเราทุกวันนี้ก็หมายใจว่าเป็นกษัตริย์อันประเสริฐ อันลักษณะชนช้างกันนี้เป็นที่สนุกสำหรับพระมหากษัตรราธิราชอันองอาจมาแต่ก่อน เราคิดจะชนช้างด้วยข้าศึกอยู่ทุกวันมิได้ขาด แลบัดนี้ เป็ดน้อยบอกมาว่า จะชนช้างด้วยเรา เราดีใจดุจหนึ่งได้สมบัติในทิพยวิมาน มีความยินดีหาที่จะอุปมามิได้ อันตัวเป็ดน้อยนี้เล่าก็เป็นบุตรสมิงเลิกพร้า สมิงเลิกพร้าเป็นบุตรเจ้าอายประสาท เจ้าอายประสารทเป็นบุตรอายกำกองผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแสนเมืองมิงอันเป็นพระเชษฐาธิราชสมเด็จพระราชบิดาเรา เป็ดน้อยก็อยู่ในเชื้อราชวงศ์ติดเนื่องกันมา ใช่จะเป็นผู้อื่นหามิได้ ท่านเป็นผู้เฒ่าไม่รู้หรือ ซึ่งท่านทั้งสองจะห้ามเราทั้งนี้ก็ผิดไป ควรเราจะชนช้างด้วยเป็ดน้อยให้เป็นเกียรติยศไว้ครั้งหนึ่ง จะได้เป็นขวัญตาแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง อนึ่ง จะไว้นามให้ปรากฏในราชพงศาวดารสืบไปนานจนสิ้นกาลมหากัลป์ บุตรแลนัดดาซึ่งจะดำรงราชสมบัติเป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปภายหน้าจะได้เห็นเป็นเยี่ยงอย่างมีมานะองอาจในการสงคราม ท่านทั้งสองอย่าห้าม เราหาฟังไม่
ฝ่ายสมิงพ่อเพชรแลอำมาตย์ทินมณีกรอดได้ฟังพระราชโองการตรัสดังนั้นก็จนอยู่ มิอาจจะทูลทัดทานสืบไปได้ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จขึ้นทรงพลายสิงหนารายณ์เป็นพระคชาธาร ให้ยกพลทหารทั้งปวงเข้าไปถึงริมคูเมืองมองมะละอันเป็นที่สนามกลางแปลง ก็ให้หยุดพลทหารอยู่
ฝ่ายเป็ดน้อยยืนช้างอยู่ ณ ประตูเมือง ครั้นเห็นพระเจ้าราชาธิราชยกมาถึงแล้ว จึงยกเลื่อนออกไป ฝ่ายสมิงนุรสินยืนอยู่ข้างหน้าพระคชาธารพระเจ้าราชาธิราชเห็นเป็ดน้อยยกออกมาดังนั้นก็ไสช้างออกไปจะชนช้างด้วยเป็ดน้อย เป็ดน้อยจึงร้องว่า เรายกมาบัดนี้ ตั้งใจจะชนช้างด้วยพระเจ้าราชาธิราชตัวต่อตัวตามสัญญากัน แลท่านขับช้างเข้ามาจะต่อด้วยเรานี้ จะชนเป็นสองตัวให้เสียสัตยานุสัตย์หรือประการใด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังเป็ดน้อยร้องว่ามาดังนั้นก็ตรัสห้ามสมิงนุรสินไว้ สมิงนุรสินก็หลีกช้างออกไป
ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระเต้าทองเหนือคอพระคชาธารหลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือพื้นพระธรณี ทรงอธิษฐานว่า ขอเดชะ พระศรีรัตนตรยาธิคุณอันเป็นที่พำนักแก่ไตรโลกทั้งปวง แลเทพยดาเจ้าอันรักษาพระบวรพุทธศาสนาแลรักษากัมพูฉัตรปรากฏอยู่ในภูมิพฤกษาอากาศทั้งปวง แม้นข้าพเจ้าจะได้บำรุงพระพุทธศาสนา เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวงแล้ว ขอให้ช่วยอภิบาลรักษา ครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะชนช้างด้วยเป็ดน้อย อันเป็ดน้อยคนนี้เป็นบุตรสมิงเลิกพร้าซึ่งเป็นข้าสมเด็จพระราชบิดาข้าพเจ้า สมเด็จพระราชบิดาข้าพเจ้าได้ปลูกเลี้ยงมาแต่ก่อน มิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์ หากตัญญูต่อพระราชบิดาข้าพเจ้าผู้มีพระคุณแก่มันมิได้ บัดนี้ ยังไม่สิ้นทรยศ มันคิดขบถจะทำร้ายแก่ข้าพเจ้า ขออย่าให้มันสู้ข้าพเจ้าได้ ให้มันแพ้แก่ข้าพเจ้าในท่ามกลางสงครามให้ประจักษ์แก่ตาโลกบัดนี้เถิด
ฝ่ายข้างเป็ดน้อยก็จับตะคองทองหลั่งน้ำเหนือคอช้าง อธิษฐานว่า เดชะ บารมีข้าพเจ้าได้สร้างสมมาแต่บุพชาติ สมควรที่จะได้เป็นกษัตราธิราชบำรุงพระพุทธศาสนาแลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงไซร้ ขอให้ข้าพเจ้าชนช้างมีชัยชนะแก่พระเจ้าราชาธิราชเถิด
ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ไสช้างพระคชาธารเข้าประสานงากับด้วยช้างเป็ดน้อย ช้างเป็ดน้อยยืนได้ที่สำคัญยันถนัด แทงถูกไพรงาพลายสิงหนารายณ์ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสียทีขวางตัวไป เป็ดน้อยได้ทีจึงชักดาบโพรงแก้วออกจะหัน เป็นบุญญาภิสมภารของสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช เทพยดาช่วยคุ้มครองรักษา บันดาลให้เป็ดน้อยชักดาบมิออกจากฝัก เป็ดน้อยขัดใจฟาดไปทั้งฝักถูกพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแตกไปหน่อยหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทรงพระแสงของ้าวเกี่ยวถูกสำคัญ ช้างพระที่นั่งกลับหันเข้ามารับช้างเป็ดน้อยสะอึกเข้าชนแบกล่างได้ที่ ช้างเป็ดน้อยก็ถอยไปจนริมคูเมือง เหลือกำลังก็ร้องขึ้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทีเงื้อพระแสงของ้าวขึ้นจะฟันเป็ดน้อย เป็ดน้อยจึงวางขอแลดาบโพรงแก้วเสีย ยกมือถวายบังคมเหนือคอช้าง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเห็นเป็ดน้อยยอมถวายบังคมดังนั้นจึงตรัสว่า ตัวท่านเป็นชาติทหาร ออกมาชนช้างด้วยเราแล้ว เหตุใดจึงไหว้เราฉะนี้เล่า เป็ดน้อยจึงทูลว่า เมื่อแรกข้าพเจ้าไม่แจ้งว่า พระองค์ประกอบด้วยโพธิสมภารบารมีใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ จึงออกมาชนช้างด้วยพระองค์ แลบัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นพระเดชานุภาพของพระองค์เป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ขณะพระองค์เมื่อเสียที ข้าพเจ้าจะฟันพระองค์ ชักดาบมิได้ออกจากฝัก อันดาบข้าพเจ้าชื่อว่า โพรงแก้ว เล่มนี้ ถ้าข้าพเจ้าชักออกได้จากฝักแล้ว อย่าว่าแต่พระองค์เลย ถึงคอช้างพระที่นั่งของพระองค์ก็จะฟันให้ขาดเป็นสินออกไปด้วยกัน เพราะกำลังดาบโพรงแก้วของข้าพเจ้าเป็นมั่นคง นี่พระองค์ทรงพระกฤษฎาธิการบุญบารมีมากนัก มิได้เป็นอันตราย ข้าพเจ้าบุญน้อย มิอาจจะต่อสู้ด้วยพระองค์ได้ ข้าพเจ้าจึงยอมถวายบังคมพระองค์ฉะนี้
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังเป็ดน้อยทูลดังนั้น ก็เกี่ยวช้างพระที่นั่งถอยหลังออกมา จะได้กระทำอันใดแก่เป็ดน้อยหามิได้ ก็สั่งให้พลทหารคุมเอาตัวเป็ดน้อยเข้ามา ณ ค่าย บรรดาพลทหารเป็ดน้อยซึ่งออกมานั้นก็แตกหนีเข้าเมืองสิ้น
ฝ่ายสมิงเลิกพร้ารู้ว่า เป็ดน้อยชนช้างแพ้พระเจ้าราชาธิราช ก็ตกใจลงเรือหนีไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงแต่งกองทัพเรือให้ไปตามจับสมิงเลิกพร้า กองทัพตามตับสมิงเลิกพร้าได้ พาตัวเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ตรัสสั่งให้จำสมิงเลิกพร้าไว้ แล้วให้จำภรรยาสมิงเลิกพร้าแลภรรยาเป็ดน้อยไว้ด้วย ขณะเมื่อเมืองมองมะละแตก ได้เชลยถึงเก้าหมื่น พระองค์ก็เสด็จมาประทับอยู่ ณ ค่ายเก่า ครั้นเวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จออกพร้อมด้วยเสนาบดีนายทัพนายกองทั้งปวงเฝ้าอยู่เป็นลำดับ จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้คุมเอาตัวเป็ดน้อยเข้ามาหน้าพระที่นั่งแล้วตรัสถามว่า ท่านสรรเสริญว่าดาบโพรงแก้วดียิ่งนัก ทำไฉนเราจะเห็นประจักษ์ เป็ดน้อยจึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์จะใคร่ทอดพระเนตรดูกำลังดาบโพรงแก้วนั้นก็ได้ ขอให้เอาพะเนียงมาตั้งไว้ แล้วเอาสายโซ่ใส่ลงในพะเนียงให้เต็ม เอาเกราะเหล็กหุ้มข้างนอกให้ได้แปดชั้น อันดาบโพรงแก้วนี้สามารถจะฟันให้ขาดออกได้สิ้นทั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้น จึงให้เอาสายโซ่บรรจุลงในพะเนียงให้เต็มแลหุ้มด้วยเกราะเหล็กแปดชั้นตามคำเป็ดน้อยกราบทูล แล้วจึงตรัสบังคับว่า ให้เป็ดน้อยฟันพะเนียงหน้าพระที่นั่ง
ขณะนั้น อำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงพ่อเพชรจึงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์จะโปรดให้เป็ดน้อยผู้ขบถหรือดาบหน้าพระที่นั่งนั้นผิดด้วยอย่างธรรมเนียม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดตรัสบังคับข้าทหารซึ่งกินน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฟันจึงจะควร สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วย จึงตรัสสั่งให้เจ้าสมิงนครอินทร์เข้ามาฟัน เจ้าสมิงนครอินทร์กราบถวายบังคมแล้วจึงเอาดาบโพรงแก้วมาฟันพะเนียง พะเนียงก็ขาดออกเป็นสองท่อน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ชอบพระทัย จึงสั่งให้เอาดาบโพรงแก้วไว้เป็นพระแสงต้นตั้งแต่บัดนั้นมา แล้วจึงตรัสแก่เป็ดน้อยว่า ตัวกับเราเป็นข้าศึกทำสงครามจนถึงได้ชนช้างกัน เพราะเหตุว่า ตัวดูหมิ่นเรา มิได้คิดว่า เราเป็นลูกเจ้า ตัวเป็นลูกข้า แลบัดนี้ ตัวก็เห็นบุญญาภิสมภารแห่งเรา วางอาวุธเสียในท่ามกลางสงคราม ไหว้เราเหนือคอช้างนั้น เราก็เห็นว่า ตัวรู้ตัวว่าผิด กลับคิดหาความชอบ เราก็มีความเมตตากรุณาหาความพยาบาทมิได้ ประการหนึ่งเล่า ก็ใช่ผู้อื่น เป็นในเชื้อสายของเรามา เรามาฆ่าเสีย จะเลี้ยงไว้ให้มีความสุขสืบไป ท่านอย่าได้คิดรังเกียจเลย จงอยู่ตั้งใจทำราชการด้วยเราเถิด เป็ดน้อยจึงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ตรัสมาทั้งนี้ พระคุณหาที่สุดมิได้ อันตัวข้าพเจ้านี้ได้ทำเกินไปแล้ว ก็มีโทษติดเป็นอันมาก แลเมื่อข้าพเจ้าจะชนช้างกับพระองค์นั้น ข้าพเจ้าก็สำคัญตัวว่า เป็นชายผู้หนึ่ง จึงมานะออกชนช้างด้วยพระองค์ แล้วก็หมายว่า จะชนะพระองค์ด้วยกำลังดาบโพรงแก้ว ก็สมคะเนอยู่ บัดนี้ บุญข้าพเจ้าน้อยกว่าพระองค์ จึงสู้พระองค์มิได้ แต่ดาบก็ชักมิออกจากฝัก ซึ่งข้าพเจ้าจะอยู่เป็นข้าพระองค์สืบไปนั้นหามิได้ ถ้าพระองค์ทรงส่องพระฉายเห็นแผลในพระพักตร์ครั้งใด ความตายก็ถึงข้าพเจ้าทุกครั้ง ไม่กำหนดวันเวลาใดเลย ข้าพเจ้าไม่อยู่ให้ลำบากแล้ว จะขอถวายบังคมลาตายเสียแต่ครั้งเดียวนี้
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังเป็ดน้อยทูลดังนั้นก็สงสารด้วยทรงเห็นว่า น้ำใจเป็ดน้อยเป็นชายชาติทหารไม่กลัวตายเสียดายชีวิต พระองค์อยากใคร่ได้ไว้เป็นทหาร จึงตรัสอ้อนวอนเป็นสองครั้งสามครั้ง เป็ดน้อยก็มิยอมอยู่ จะขอสู้ตาย จึงตรัสว่า เราอ้อนวอน ท่านก็มิยอม ถ้ากระนั้น ท่านจงหาความสุขในเบื้องหน้าเถิด ก็สั่งให้เอาตัวเป็ดน้อยไปฆ่าเสีย
ฝ่ายภรรยาเป็ดน้อยรู้ว่า มีรับสั่งให้เอาเป็ดน้อย ผัว ไปฆ่าเสีย ก็ร้องไห้อื้ออึงไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ยินภรรยาเป็ดน้อยร้องไห้ร่ำไรอยู่ ก็ทรงพระโกรธแก่สมิงอินทชีพผู้คุมตัวไว้ว่า มิได้ห้ามปรามภรรยาเป็ดน้อย ให้ร้องไห้เป็นปากเสียงขึ้นดังนั้น จึงสั่งให้ลงพระอาญาสมิงอินทชีพสามสิบที แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้สมิงอินทชีพกินเมืองมองมะละ ตรัสสั่งให้สมิงอินทชีพแลเสนาบดีสืบสาวเอาเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคของสมิงเลิกพร้า เป็ดน้อย ได้สิ้น แล้วจึงสั่งให้สมิงดิศกุมารคุมเอาตัวสมิงเลิกพร้า กับบุตรภรรยาสมิงเลิกพร้า แลภรรยาเป็ดน้อย ซึ่งจำไว้นั้นลงไปคุมไว้ ณ เมืองเมาะตะมะ แล้วจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า เรายกกองทัพมาตีเมืองเมาะตะมะ เมืองมองมะละ เมืองขึ้นทั้งปวงสามสิบสองเมือง ซึ่งเป็นขบถต่อสมเด็จพระราชบิดาเราแลแข็งเมืองต่อเรานั้น ก็ได้สิ้นแล้ว ยังแต่เมืองพะสิมเมืองเดียว จำจะยกไปตีเสียให้จงได้ เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ยกพยุหโยธาทัพกลับไปเมืองพะสิม ครั้นถึงเมืองพะสิม ก็ให้ตั้งมั่นลงไว้ ฝ่ายชาวเมืองพะสิมกลัวพระเดชานุภาพพระเจ้าราชาธิราช ก็หนีออกมาเข้าหากองทัพสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเป็นอันมาก
ปกหลัง ขึ้น
โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน
วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,
สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,
ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด
เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้
สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-
ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร
พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด
อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ
ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า
ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร