แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๑๔




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๖๒๕–๖๗๒ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๑๔




ตั้งแต่ราษฎรเมืองพะสิมเชิญเสด็จพระเจ้าราชาธิราชเข้าไปตั้งประทับอยู่ในเมือง แลพระเจ้าราชาธิราชเสด็จกลับกรุงหงสาวดี

แล้วพระเจ้าราชาธิราชยกทัพยกออกไปรบกับพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาแพ้

จนถึงพระเจ้าราชาธิราชยกทัพบกทัพเรือไปตีเมืองอังวะ





ฝ่ายสมิงโลกนรินทร์ สมิงนรธา สมิงพระคลัง เห็นผู้คนหนีไปเข้าหากองทัพพระเจ้าราชาธิราชเป็นอันมากดังนั้น ก็ตกใจกลัว เห็นจะอยู่สู้รบต้านทานมิได้ จึงจัดแจงช้างม้าเครื่องศัสตราวุธแลทรัพย์สิ่งของครอบครัวยกหนีออกจากเมืองพะสิมไปอยู่ป่า แต่สมิงนรธา สมิงพระคลังนั้น ยกแยกไปทางเมืองปรวน

ฝ่ายชาวเมืองพะสิมทั้งปวงก็มาอัญเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเข้าไปตั้งประทับอยู่ในเมือง ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จเข้าไปในเมืองแล้ว สมิงละเบิดสังซึ่งเป็นข้าพระเจ้าช้างเผือกนั้นมาอยู่ในเมืองพะสิมเข้ามาเฝ้า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ทรงโปรดมิได้เอาโทษ ให้กินน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แล้วเลี้ยงสมิงละเบิดสังไว้ ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงแต่งให้สมิงพัชชะยกกองทัพไปตามสมิงโลกนรินทร์เป็นคนหมื่นเศษ ช้างสี่ร้อย ม้าหกร้อย ครั้นกองทัพติดตามไป สมิงโลกนรินทร์รู้ จึงหนีเข้าไปอาศัยอยู่ ณ เมืองทรางทวย สมิงพัชชะจึงยกติดตามไปถึงเมืองทรางทวย

ฝ่ายเจ้าเมืองทรางทวยรู้จึงยกกองทัพออกมารับไว้ กองทัพสมิงพัชชะก็ได้รบพุ่งต่อต้านกันกับพม่าหลายครั้งยังไม่แพ้ชนะกัน ต่างคนต่างตั้งมั่นไว้ ฝ่ายเจ้าเมืองทรางทวยเห็นว่า กองทัพมอญยกรีบตีมาดังนั้น ไพร่บ้านพลเมืองไม่ทันรู้ตัว มิได้กวาดเอาข้าวปลาอาหารไว้ในเมือง เกรงทัพมอญอยู่ จึงให้มีหนังสือออกมาถึงสมิงพัชชะว่า ซึ่งท่านยกกองทัพรีบตีมาดังนี้ จะปรารถนาเอาบ้านเมืองหรือ หรือจะเอาผู้คนซึ่งหนีมาแต่เมืองพะสิมนั้น ก็บอกมาให้แจ้ง ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้วจึงใช้คนให้ถือออกมาถึงสมิงพัชชะ สมิงพัชชะได้แจ้งในหนังสือแล้วจึงให้แต่งตอบเข้าไปมีความว่า เรายกทัพมาทั้งนี้จะได้ปรารถนาชิงเอาเมืองพม่าหามิได้ ด้วยว่า สมิงโลกนรินทร์เป็นขบถต่อสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าอยู่หัวของเรา หนีมาอยู่ในเมืองนี้ มีพระราชโองการตรัสสั่งให้เรามาตามจับ เราจึงปรารถนาจะเอาแต่ตัวสมิงโลกนรินทร์เท่านั้น ให้ท่านส่งตัวผู้ขบถออกมา ถ้าไม่ส่งแล้ว กองทัพเราก็จะไม่ไป ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้วก็ส่งให้แก่พม่าซึ่งออกมานั้นกลับไป

ครั้นเจ้าเมืองทรางทวยแจ้งในหนังสือนั้นแล้ว ก็ให้ทหารจับตัวสมิงโลกนรินทร์กับครอบครัวช้างม้าซึ่งหนีมาอยู่ด้วยนั้นส่งออกมาให้แก่สมิงพัชชะ ครั้นสมิงพัชชะได้ตัวสมิงโลกนรินทร์ก็สั่งให้ทหารจำคุมไว้มั่นคง แล้วจึงยกทัพกลับมาเมืองพะสิม เอาตัวสมิงโลกนรินทร์เข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ทรงพระพิโรธ จึงตรัสว่า เพราะอ้ายชาติชั่วคนนี้มันทำให้กูกับทแกล้วทหารได้ความเหนื่อยยากลำบาก จึงตรัสสั่งให้เอาตัวสมิงโลกนรินทร์ไปประหารชีวิตเสีย ทหารก็เอาสมิงโลกนรินทร์ไปฆ่าเสีย แล้วตัดศีรษะเสียไว้

ขณะนั้น นายทัพนายกองซึ่งไปด้วยสมิงพัชชะมากราบทูลกล่าวโทษสมิงพัชชะว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมิงพัชชะเป็นแม่ทัพยกไปตามจับสมิงโลกนรินทร์ ไปถึงเมืองทรางทวยก็มิได้กวาดเอาข้าวปลาอาหารไว้ ในเมืองทรางทวยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก ฝ่ายกองทัพเจ้าเมืองทรางทวยถอยกำลังลง จะหนีอยู่แล้ว สมิงพัชชะมิได้คิดการให้เป็นกำลังทแกล้วทหารช่วยแรงพระราชทรัพย์หลวง ให้แต่งหนังสือไปขอสมิงโลกนรินทร์มาเท่านั้น ข้าพเจ้าทั้งปวงเห็นผิดนัก

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสถามสมิงพัชชะว่า เขามากล่าวโทษท่านทั้งนี้สมหรือ ฝ่ายสมิงพัชชะจึงกราบทูลว่า เมื่อข้าพเจ้ายกทัพไปถึงเมืองทรางทวยนั้นเห็นว่า เมืองทรางทวยรักษาค่ายคูประตูหอรบนั้นสามารถมั่นคงอยู่ ไม่ทันรู้ว่า เมืองทรางทวยขัดสนด้วยข้าวปลาอาหาร จึงมิได้คิดทำการเอาเมืองทรางทวย ต่อเมื่อเจ้าเมืองทรางทวยส่งตัวสมิงโลกนรินทร์ออกมายังกองทัพแล้ว ข้าพเจ้าจึงรู้ว่าเมืองทรางทวยขัดสนด้วยข้าวปลาอาหารนั้นต่อภายหลัง แลข้าพเจ้าได้ให้ความสัตย์แก่พม่าไว้ว่า หายินดีด้วยบ้านเมืองไม่ ครั้นจะกลับตีเอาเมืองทรางทวยนั้นก็จะเสียสัตย์ไป ฝ่ายพม่าจะลือชาว่า มอญหามีความสัตย์ไม่ ความนินทก็จะพลอยแปดเปื้อนถึงฝ่าธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าได้ตัวผู้ขบถแล้วจึงรับยกทัพกลับมา หวังจะให้ทันกำหนดพระราชโองการ ซึ่งนายทัพนายกองมากราบทูลกล่าวโทษข้าพเจ้าทั้งนี้ ข้าพเจ้าจะเป็นผิดหรือชอบ ขอพระองค์ทรงพระดำริดูจงควร

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังสมิงพัชชะกราบทูลดังนั้นก็ชอบพระทัยนัก จึงตรัสสรรเสริญว่า สมิงพัชชะนี้น้ำใจซื่อสัตย์ ควรจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ได้คนหนึ่ง จึงโปรดพระราชทานพระธำมรงค์พลอยเพชรวงหนึ่ง ขันทองคำประดับพลอยใบหนึ่ง แลทรงพระกรุณาโปรดให้ขี่เรือปิดทองหลังคาทองสมควรแก่ยศศักดิ์ แล้วโปรดพระราชเงินทองแก่ทแกล้วทหารซึ่งมีความชอบนั้นตวงด้วยขันส่งให้มิได้นับเป็นตำลึงเป็นชั่งเลย แล้วโปรดให้อำมาตย์ทินมณีกรอดซึ่งกินเมืองเสรียงนั้นเลื่อนมากินเมืองพะสิม เมืองเสรียงนั้นโปรดให้สมิงอังวะมังศรีกิน ครั้นทรงจัดการบ้านเมืองเรียบราบเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็เสด็จเลื่อนพยุหโยธาทัพกลับมายังกรุงหงสาวดี จึงตรัสสั่งให้เอาตัวสมิงเลิกพร้าแลครอบครัวซึ่งจำไว้ ณ เมืองเมาะตะมะนั้นขึ้นมา ทรงพระกรุณาระลึกถึงความหลังครั้งเมื่อเลิกทัพมาจากเมืองตะเกิง ได้มีคุณแก่พระองค์ครั้งหนึ่ง จึงพระราชทานชีวิตไว้ แต่มีโทษมากกว่าคุณ ตรัสสั่งให้ถอดเสียจากยศ ทรงโปรดให้ส่งไปเป็นข้าพระปฏิบัติพระมุเตาสิ้นทั้งครอบครัว แต่สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ครองราชสมบัติแล้ว มิได้อยู่ในพระนครเลย เสด็จเที่ยวปราบเมืองขึ้นเมืองออกในแว่นแคว้นรามัญประเทศทั้งปวงถึงสามปีจึงราบคาบ

ลุศักราช ๗๕๓ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงโปรดให้ปูนบำเหน็จเสนาบดีทั้งปวงซึ่งมีความชอบตามฐานานุศักดิ์ใหญ่น้อยถ้วนทั่วกัน ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงหงสาวดี บ้านเมืองก็บริบูรณ์มั่นคง ฝนก็ตกตามฤดูกาล สรรพพืชธัญญาหารอปรัณณชาติก็งอกงามให้ผล สมณชีพราหมณ์แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็อยู่เย็นเป็นสุขสืบมา

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา ณ กรุงรัตนะอังวะ ซึ่งเป็นใหญ่ในพุกามประเทศทั้งปวง ได้ทราบข่าวว่า พระเจ้าอู่ซึ่งรามัญเรียกว่า พระเจ้าช้างเผือก เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพะนั้น เสด็จสวรรคตแล้ว บัดนี้ มังสุรมณีจักร ราชบุตรพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเรียกว่า พระยาน้อย ได้ราชสมบัติเป็นใหญ่ในเมืองพะโค เมืองพะโคก็เปลี่ยนนามให้เรียก กรุงหงสาวดี ตามเดิม ด้วยเป็นราชธานีใหญ่มาแต่ครั้งกษัตริย์สิบเจ็ดพระองค์ ฝ่ายรามัญประเทศทั้งปวงก็ยังมิราบคาบ มอญบังอาจยกกองทัพมาตามจับสมิงโลกนรินทร์เหยียบแดนพม่าล่วงเข้ามาถึงเมืองทรางทวยอันเป็นแว่นแคว้นของเรา ครั้นจะละไว้ กำลังศึกมอญจะมกาไป จำจะยกพลโยธาทวยหาญลงไปหักเมืองพะโคเสียก่อนแต่ยังมิทันตั้งตัวถนัด เห็นจะได้โดยง่าย ครั้นทรงพระดำริแล้ว จึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า ซึ่งเราคิดดังนี้ ใครจะเห็นชอบผิดประการใด

เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วยโดยพระราชบริหาร จึงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริจะกระทำสงครามแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวางนั้น ก็ต้องด้วยโบราณราชประเพณี หาผิดไม่ เพราะมอญบังอาจมาก่อเหตุสงครามให้เกิดก่อน สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้ทรงฟังเสนาบดีทั้งปวงกราบทูลดังนั้นก็ดีพระทัย จึงตรัสสั่งให้จัดพลพยุหโยธาทัพทแกล้วทหารพม่าแลไทยใหญ่เป็นอันมาก ให้มังสุเหนียด พระราชบุตร เป็นทัพหน้าคุมพลทหารช้างม้าเป็นอันมาก ยกรีบตีรุดลงมาตั้งอยู่ใกล้กรุงหงสาวดีทางประมาณสองร้อยเส้น แล้วสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาเป็นทัพหลวงเสด็จเคลื่อนพลพยุหจตุรงค์ตามลงมาต่อภายหลัง จึงตรัสสั่งให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ไม่ไกลไม่ห่างนัก พอเดินถึงกันกับทัพหน้า

ฝ่ายหัวเมืองด่านทั้งปวง ในขณะเมื่อกองทัพพม่าทั้งสองยกรีบรุดตีลงมานั้น ที่รบสู้ต้านทานมิได้ ป้องกันรักษาเมืองมั่นไว้บ้าง ที่อพยพครอบครัวหนีเข้าป่าก็มีบ้าง แล้วแต่งหนังสือให้ม้าใช้รีบถือลงมายังเสนาบดี ณ กรุงหงสาวดีให้นำขึ้นกราบทูลพระกรุณา เสนาบดีทั้งปวงก็นำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งว่า กองทัพพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวายกทัพลงมาตั้งอยู่ใกล้เมืองแล้ว จึงเสด็จออกตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทแกล้วทหารทั้งปวงว่า บัดนี้ พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวายกกองทัพตีล่วงเข้ามาถึงพระนครเราแล้ว ครั้นจะละไว้ช้าก็มิได้ ศึกพม่าจะกระทำย่ำยีหนัก ไพร่ฟ้าประชาราษฎรจะได้ความยากแค้นขัดสน แลศึกครั้งนี้เป็นศึกกษัตริย์อันประเสริฐ เราคิดจะยกออกไปชนช้างด้วยพระเจ้ามนเทียรทองให้เป็นเกียรติยศไว้ เสนาบดีทั้งปวงจะเห็นประการใด

ฝ่ายเสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้ราชามนูแต่งหนังสือนัดรบฉบับหนึ่ง ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้วจึงจัดให้ขุนนางผู้ฉลาดคนหนึ่งถือออกไปถวายพระเจ้ากรุงรัตนะอังวะ ขุนนางผู้นั้นรับสั่งแล้วก็ถวายบังคมลาออกมาจัดบ่าวไพร่ขึ้นม้ารีบถือหนังสือออกไปยังกองทัพพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา ฝ่ายทหารกองตระเวนพม่าก็เข้ามาคุมเอาตัวขุนนางผู้ถือหนังสือแลบ่าวไพร่ไว้ก่อน จึงบอกส่งเข้าไปให้เสนาบดีกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้ทราบว่า ขุนนางในเมืองถือหนังสือออกมา ก็โปรดให้เสนาบดีไปรับเข้ามา ณ พลับพลาค่ายหลวง ขุนนางรามัญนั้นก็เข้ามากราบถวายบังคมถวายหนังสือนัดรบแก่พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาก็ให้อาลักษณ์ฉีกผนึกออกอ่าน ในหนังสือนั้นว่า พระเจ้าราชาธาชผู้เป็นใหญ่ในกรุงหงสาวดีแจ้งความมาถึงพระเจ้ามนเทียรทอง พระเจ้าน้าเราผู้เป็นกษัตราธิราชอันประเสริฐ ซึ่งพระเจ้าน้าเราทรงพระอุตส่าห์ยกพลทวยทหารลงมาปรารถนาจะทำสัประยุทธ์สงครามด้วยเราผู้หลานนั้น เรามีความยินดียิ่งนัก เปรียบประดุจได้สมบัติบรมจักรพรรดิก็มิเท่าเทียม ฝ่ายพระเจ้าน้าท่านก็เป็นใหญ่ในกรุงรัตนะอังวะ เราผู้หลายก็เป็นใหญ่ในกรุงหงสาวดี ครั้นจะรบกันด้วยฝีมือทแกล้วทหารนั้นดุจหนึ่งศึกโจร หาต้องการเป็นเกียรติยศไม่ ซึ่งกษัตริย์ชนช้างกันโดยธรรมยุทธนั้นยากที่ผู้ใดจะได้พบเห็น เวลาพรุ่งนี้ เชิญสมเด็จพระเจ้าน้ากับเราผู้หลานทั้งสองมาชนช้างกัน ณ ที่สนามกลางแปลงให้เทพยดาแลทแกล้วทหารทั้งสองฝ่ายดูเล่นรื่นเริงสบายเป็นขวัญตา ให้ปรากฏเกียรติยศไว้ชั่วกัลปาวสาน อันกษัตริย์สืบมาภายหน้าซึ่งจะกล้าหาญในการสงครามออกชนช้างกันนั้นหายากแล้ว เราทั้งสองช่วยกันกระทำแบบแผนไว้ให้บุตรแลนัดดาอันจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้รู้เห็นเป็นอย่างไปในเบื้องหน้า สมเด็จพระเจ้าน้าจะเห็นประการใดจงตอบมาให้เราทราบ

ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้แจ้งในหนังสือนั้นแล้วก็มีพระทัยยินดีนัก ทรงพระสรวลตรัสว่า ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีมีหนังสือว่ากล่าวมานี้ เรายินดีราวกับได้ทิพยสมบัติ จึงโปรดพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแก่ผู้ถือหนังสือ แล้วก็ตรัสสั่งว่า ท่านจงกลับไปกราบทูลพระเจ้าหงสาวดีเถิดว่า เราจะกระทำตามมีหนังสือกำหนดมานั้น ขุนนางผู้ถือหนังสือกราบถวายบังคมลาออกมาขึ้นม้ากับบ่าวไพร่รีบกลับเข้ามากราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชตามที่พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาตรัสตอบมาทุกประการ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งแล้วก็ดีพระทัยนัก ครั้นรุ่งขึ้นวันใหม่ สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาจึงตรัสสั่งให้จัดแจงทแกล้วทหารแลทัพช้างม้าทั้งปวง ให้มังสุเหนียด พระราชบุตร เป็นทัพหน้า แล้วพระองค์ให้ผูกพลายนะรูปะโค พระคชาธาร พร้อมไปด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวงตามกระบวนพิชัยสงครามเสร็จแล้ว ครั้นได้เวลาศุภนิมิตมงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาก็เสด็จขึ้นทรงพระคชาธาร ให้ยกพลคชสารทั้วปวงออกจากค่าย มีทวนทองจามจุรีแห่หน้าพระคชาธารสามพัน พลดาบดั้งสองพันยกมา พลโตมร เกาทัณฑ์ สรรพเครื่องศัสตราอื่นอันโยธาถือแลสะพายครบถ้วน พลทหารช้างม้าก็เดินโดยกระบวนพยุหะเป็นหมู่กองเนื่องกัน สล้างสลอนด้วยธงชาย ธงฉาน ธงสีต่าง ๆ เสียงสนั่นกึกก้องด้วยฆ้อง กลอง ม้าล่อ ทหารถือธงนำหน้าพลก็รีบนำดำเนินมา

ฝ่ายม้าใช้กองคอยเหตุรู่ว่า กองทัพยกมาแล้ว ก็รีบเข้ามาเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวายกกองทัพออกมาแล้ว จึงสั่งให้เร่งจัดพลเป็นกระบวนพยุหะทัพช้างประกอบไปด้วยทหารโยธา แลพลช้างโคดแล่น โจมทัพ ดั้งกัน สารค้ำ ค่าย สารแซง แลช้างล้อมวังพังคา พลายเพรียวทั้งปวง แล้วตรัสสั่งให้ผูกพลายสิงหนารายณ์เป็นพระคชาธาร พ่ออู่หมอเฒ่าซึ่งเป็นสมิงพระตะเบิดขี่พลายประกายมาศเป็นโคดแล่น เจ้าสมิงนครอินทร์ขี่ช้างพลายธนูเพชรเป็นโจมทัพ สมิงอังวะมังศรีขี่พลายสุริยะเป็นค้ำ สมิงพระรามขี่พลายผจญมารเป็นดั้ง สมิงมาสะบันขี่พลายรักน้อยเป็นกัน สมิงอุบากองขี่พลายทะเริงเดชเป็นค่าย พร้อมไปด้วยแพนหางนกยุงแลทวนธงสีต่าง ๆ สรรพไปด้วยเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสร็จ

ฝ่ายราชามนูจึงทูลถวายพระฤกษ์กำหนดเวลาว่า พระองค์จะเสด็จยกพลพยุหโยธาหาญไปต่อด้วยราชศัตรูครั้งนี้ ต้องด้วยนามยายี กำลังศึกองอาจดังพระยาราชสีห์ เทพยดาอันมีมหิทธิฤทธิ์จะสำแดงฤกษ์ในนภาดลอากาศเป็นมหัศจรรย์ให้ปรากฏแก่พลทแกล้วทหารทั้งสองฝ่าย พระองค์จะได้ชัยชนะแก่อริราชปรปักษ์โดยง่าย

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังราชามนูทูลดังนั้นก็ทรงพระโสมนัสนัก ครั้นได้เวลามหาพิชัยฤกษ์ศุภนิมิตอันดี ก็เสด็จขึ้นทรงพระคชาธาร ให้ลั่นฆ้องชัย โบกธง ยกพลทวยหาญไปตามเกล็ดนาคออกจากพระนคร ดูสล้างสลอนด้วยเครื่องสูง มยุระ ธงชัย ฉัตร พัดโบก แลจามร บังพระสุริยา ระดาดาษ ศัพท์ฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล หมู่พลทหารทั้งปวงก็เดินโดยขบวน ตั้งตาริ้วเป็นทิวแถวเนื่องกัน พอทัพหน้าต่อทัพหน้าปะทะกันเข้า ทหารธงทั้งสองฝ่ายก็ตั้งธงลง ณ ที่สนามท้องทุ่ง ด้วยเดชบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชซึ่งจะมีชัยชนะแก่พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา ครั้งนั้น ให้บังเกิดพายุใหญ่ดูพิลึกพึงกลัวพัดไปข้างทัพพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา แล้วหอบเอาเศวตรฉัตรอันตั้งอยู่บนหลังพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชลอยขึ้นไปในนภาดลอากาศ กระทำเป็นประทักษิณวงถ้วนสามรอบ แล้วก็กลับลงมาประดิษฐานอยู่ดังเก่า ควรจะพิศวง

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาแลไพร่พลทหารพม่าไทยใหญ่ทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็สะดุ้งตกใจกลัวอานุภาพสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ขณะนั้น พระเจ้าราชาธิราชก็ให้พลทแกล้วทหารยกเข้าต่อด้วยทแกล้วทหารพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา พลดาบดั้งต่อดาบดั้ง พลทวนต่อทวน พลง้าวต่อง้าว พลดาบสองมือต่อดาบสองมือ เข้ารบพุ่งกันตะลุมบอนเป็นสามารถ รี้พลตายลงเป็นอันมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย พลพม่าตายมากกว่ามอญ

ฝ่ายพระยาพุกามซึ่งขี่ช้างโคดแล่นยืนหน้าทัพพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา เห็นพลทหารพม่าเสียทีแก่รามัญดังนั้น ก็ขับช้างโคดแล่นไล่พลทหารรุกเข้ามา ขณะนั้น สมิงพระตะเบิดซึ่งขี่ช้างพลายประกายมาศยืนหน้าทัพสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช เห็นพระยาพุกามไล่พลมาดังนั้น ก็ไสพลายประกายมาศออกรับ แลพลายประกายมาศนั้นวิ่งด้วยกำลังพระยาสารอันแรง โจมแทงต้องช้างพระยาพุกามล้มลงทั้งยืน สมิงพระตะเบิดก็จ้วงฟันด้วยของ้าวถูกพระยาพุกามคอขาดตาย ฝ่ายช้างพม่าทั้งปวงก็เข้ารุมชนช้างประกายมาศ ช้างประกายมาศก็รับแทงขวัดค้อนเดาะป้ายปลายงาถูกช้างพม่าเจ็บปวดเป็นหลายช้าง สมิงพระรามเห็นดังนั้นก็ไล่พลายผจญมารเข้าช่วยพลายประกายมาศรับประจัญ สมิงนครอินทร์ก็วางพลายธนูเพชรเข้าโจมชน แลช้างโจมทัพทั้งปวงก็เข้าระดมช่วยกัน ช้างพม่าไม่อาจจะต่อได้ก็แตกกระจายไป สมิงอังวะมังศรีก็ขับพลายสุริยะไล่ค้ำช้างพม่าส่งไปจนถึงหน้าพระคชาธาร มังสุเหนียดผู้เป็นพระราชบุตรพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาซึ่งยืนช้างเป็นกองหน้าอยู่ ช้างมังสุเหนียดก็ตื่นตลบหลังไป เอาไว้มิอยู่ วิ่งพะหน้าพระคชาธารพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาลงมา พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาเห็นดังนั้นก็ตกพระทัย เกี่ยวช้างพระที่นั่งหนี ไพร่พลทหารฝ่ายพม่าทั้งปวงก็แตกกระจัดกระจายเสียขบวนไปหาเป็นสมประดีไม่ ทิ้งข้าวของเครื่องศัสตราวุธเสียสิ้น พากันหนีรีบเร่งขึ้นไปเมืองอังวะ ขณะเมื่อรบกันนั้น พลทหารทั้งสองฝ่ายเข้าต่อยุทธเป็นตะลุมบอน ผงคลีฟุ้งตระหลบกลุ้มไป แลมิใคร่เห็นกัน

ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแจ้งว่า กองทัพพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาแตกไปสิ้นแล้ว ก็แต่งให้กองทัพไปติดตามตีให้ยับเยิน จึงตรัสสั่งให้ฟ้อนแพนหลังช้างพระที่นั่งคชาธาร แลช้างคชาธารทั้งปวงเห็นแล้วก็รำรับต่อพ้นออกไปให้ไพร่พลทั้งปวงสงบลง ไพร่พลทั้งปวงก็สงบลงตามสัญญาซึ่งได้เห็นแพนรับสั่งนั้น แล้วก็สั่งให้เก็บเอาข้าวของเครื่องศัสตราวุธได้ครั้งนั้นเป็นอันมาก แล้วพระองค์ก็ยกทัพกลับเข้ายังกรุงหงสาวดี จึงโปรดพระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลแก่ทแกล้วทหารนายทัพนายกองทั้งปวงเป็นอันมาก แต่สมิงพระตะเบิดซึ่งฆ่าพระยาพุกามตายนั้นมีความชอบมาก โปรดพระราชทานรางวัลให้มากกว่าคนทั้งปวง แล้วตรัสสรรเสริญว่า สมิงพระตะเบิดนี้อายุก็แก่อยู่แล้ว แต่กำลังยังกล้าแข็งมีฝีมือเอาชัยชนะหนุ่มได้ราวกับไก่แก่แม่ปลากัดที่ตัวเก่ง ซึ่งเราได้อำมาตย์ทินมณีกรอดกับสมิงพระตะเบิดสองคนไว้นี้อุปมาดังได้ไก่แก่ไว้สองตัวสำหรับจะได้ชนกับไก่หนุ่ม สมิงพระตะเบิดได้ฟังยิ้มแล้วจึงทูลว่า ซึ่งข้าพเจ้ามีชัยชนะนั้น ก็เพราะบุญบารมีของพระองค์ช่วยปกแผ่คุ้มครอง จึงได้ชัยชนะ

ฝ่ายกองทัพรามัญซึ่งไปติดตามตีทัพพม่าจนสุดแดน ครั้นไม่ทันแล้ว ก็กลับมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งแล้วก็ทรงพระดำริว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวายกกองทัพลงมาทำยุทธสงครามด้วยเราปราชัยแตกหนีไปครั้งนี้ เห็นจะอายอัปยศแก่หัวเมืองทั้งปวงเศร้าใจอยู่ เราจะมีหนังสือไปว่าเยาะเย้ยให้ตรอมใจตายจงได้ จึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงโดยความที่ทรงพระดำริ เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงสั่งให้จัดผ้าแดงโมรีสิบพับ ผ้าดำสิบพับ ทวนทองคู่หนึ่ง พระแสงดาบฝักทองคำเล่มหนึ่งซึ่งเก็บของพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้ไว้นั้น ทำเป็นเครื่องราชบรรณาการ แล้วให้แต่งหนังสือฉบับหนึ่ง จัดขุนนางผู้ฉลาดให้ถือขึ้นไปถึงพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา ขุนนางผู้รับสั่งก็ถวายบังคมลาออกมาจัดบ่าวไพร่ ขึ้นม้าเร็วรีบถือหนังสือไปยังกรุงรัตนะอังวะ

ครั้นถึงจึงเข้าไปแจ้งแก่เสนาบดีให้นำเข้าเฝ้า เสนาบดีเจ้าพนักงานรู้สำเนาความในหนังสือแล้วก็เห็นว่า มิเป็นราชสารทางพระราชไมตรีโดยแท้ จึงว่า เราจะพาเข้าเฝ้านั้นยังมิควร จะกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบก่อน เสนาบดีจึงเข้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาก็ตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า จะให้รับขุนนางรามัญเข้ามาดีหรือประการใด เสนาบดีทั้งปวงจึงกราบทูลว่า ซึ่งจะมิให้รับเข้ามานั้น มอญจะดูหมิ่นว่ากล่าว จะเสียพระเกียรติยศไป ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดให้รับเข้ามา จึงจะควร

สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาทรงเห็นด้วย จึงโปรดให้รับขุนนางผู้ถือหนังสือเข้ามา ขุนนางรามัญก็เข้ามากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา ทูลถวายหนังสือกับเครื่องราชบรรณาการ พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาก็มิได้ตรัสด้วยขุนนางผู้ถือหนังสือ สั่งให้เสนาบดีพาขุนนางรามัญไปรับพระราชทานเครื่องเลี้ยงอยู่ ณ โรงรับแขกเมืองก่อน แล้วโปรดให้อาลักษณ์อ่านหนังสือ ในหนังสือนั้นว่า สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสมเด็จพระเจ้ามนเทียรทอง พระเจ้าน้าเราผู้เป็นกษัตราธิราชอันประเสริฐ ด้วยแต่ก่อนกรุงรัตนบุระอังวะกับกรุงหงสาวดีราชธานีทั้งสองนี้เป็นสุวรรณปถพีอันเดียวกัน ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือก สมเด็จพระราชบิดาเรา กับพระเจ้ามนเทียรทอง พระเจ้าน้าเรา ก็เป็นสัมพันธมิตรสนิทเสน่หาโดยทางพระราชไมตรี แลไมตรีมีถึงกันยิ่งนัก อนึ่ง ลูกค้าพาณิชก็ไปมาค้าขายตามประเพณี มิได้มีพิโรธสิ่งใดแก่กัน แลบัดนี้ สมเด็จพระเจ้าน้าเราผู้เป็นกษัตราธิราชอันใหญ่ยิ่งดำริถึงทางพระราชไมตรีซึ่งมีมาแต่ก่อน ทรงพระอุตส่าห์ล่วงแดนลงมาถึงกรุงหงสาวดี ข้าพเจ้าแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าน้าท่านเสด็จลงมา ก็แต่งเครื่องราชบรรณาการจะออกมาถวายตามพระราชประเพณี ยังมิได้ทันเห็นพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าน้าเราตระหนัก แลพระเจ้าน้าเราก็ด่วนเสด็จกลับมายังกรุงรัตนะอังวะเสียก่อน ข้าพเจ้าจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ขุนนางคุมตามขึ้นมาถวายเพื่อจะมิให้เสียทางพระราชไมตรีแต่ก่อน ควรมิควรประการใด ขอสมเด็จพระเจ้าน้าเราอย่าได้น้อยพระทัยเลย

ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้แจ้งในหนังสือนั้นแล้วก็ทรงพระโกรธ ดวงพระเนตรเป็นขอบเขียวขึ้นทันที พระเสโทไหลซึมซาบออกทุกขุมพระโลมา แค้นพระทัยยิ่งนัก ราวกับลูกศรเข้าไปเสียบสลักอยู่ในพระกรรณแลพระอุระ จึงให้เอาหนังสือนั้นเผาไฟเสีย แล้วตรัสว่า เราเป็นกษัตริย์ผู้ใหญ่อันประเสริฐ พระยามอญน้อยมากล่าวถ้อยคำเสียดแทงเยาะเย้ยฉะนี้ เปรียบประดุจบุคคลป่วยเป็นไข้หนัก หมอประกอบยามิชอบโรค โรคก็ยิ่งกำเริบมากขึ้นกว่าเก่า ถ้าพระยามอญน้อยถองเราด้วยศอก ก็จะมิเจ็บช้ำเท่าถ้อยคำซึ่งว่าเยาะเย้ยฉะนี้ เราจะยกลงไปแก้แค้นพระยามอญอีกให้จงได้ จึงตรัสสั่งให้เอาขุนนางผู้ถือหนังสือกับบ่าวไพร่มาฆ่าเสีย เว้นไว้สองคน มันจะได้กลับลงไปบอกแก่เจ้ามัน ทำประชดให้สมน้ำหน้าที่กล่าวเยะเย้ยเรา

ฝ่ายมังนันทมิตร เสนาบดีผู้ใหญ่ จึงทูลทัดทานว่า ซึ่งพระองค์ทรงพระพิโรธแก่พระเจ้ากรุงหงสาวดี จะให้ฆ่าตีขุนนางผู้ถือหนังสือกับบ่าวไพร่เสียนั้น มิชอบ ผิดอย่างโบราณราชประเพณี ถ้ารู้ไปถึงนานาประเทศทั้งปวงก็จะดูหมิ่นเสียพระเกียรติยศเสื่อมพระเดชานุภาพ แม้นพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งก็จะมีพระทัยพิโรธกำเริบหนักขึ้น สงครามมอญกับพม่าจะติดพันกันช้านาน อันพระเจ้าราชาธิราชอุปมาดังต้นไทรใหญ่ เสนาบดีไพร่พลทั้งปวงอุปมาดังก้านแลกิ่ง ซึ่งพระองค์จะให้ฆ่าขุนนางผู้ถือหนังสือแลบ่าวไพร่นั้น เปรียบเสมือนหนึ่งตัดก้านแลกิ่งให้ขาดไปเล็กน้อยเท่านั้น ต้นไทรจะหักโค่นล้มลงก็หามิได้ อันจะทำลายต้นไทรนั้นต้องตัดต้น ขุดราก ถากเปลือก เอาเพลิงเผา จึงจะสิ้น ซึ่งพระองค์ได้ความอัปยศครั้งนี้ ขอจงเอาพระขันตีเข้ามาข่มอดกลั้นพระทัยไว้สักครั้งหนึ่ง แล้วข้าพเจ้ากับทแกล้วทหารทั้งปวงจะขออาสายกลงไปแก้แค้นสนองพระเดชพระคุณจนสิ้นชีวิต ให้ลบล้างความอัปยศของพระองค์จงได้ แต่ขุนนางผู้ถือหนังสือนั้นเป็นข้าเจ้า เจ้าใช้จึงมา ขอได้ทรงโปรดปล่อยให้กลับไปจึงจะควร เพราะเขานำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย เป็นคุณเจือโทษอยู่ ภายในขุ่นอยู่ภายนอกใส่ ซึ่งพระองค์โปรดปล่อยกลับไปนั้นเป็นการสนองคุณอยู่ภายนอก โทษอยู่ภายในซ่อนไว้เหมือนกัน แล้วจึงคิดกลอุบายให้มอญตายด้วยน้ำเย็นน้ำใสบ้าง

สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้ทรงฟังก็เห็นด้วย แต่ทรงพระดำริขึ้นมาถึงถ้อยคำในหนังสือนั้นก็โทมนัสน้อยพระทัยไม่สิ้น เสมือนหนึ่งหนามเหน็บอยู่ในพระอุระ จึงมิได้ตอบพระราชสารประการใด ตรัสสั่งให้มังนันทมิตรตอบแต่เครื่องราชบรรณาการตามสมควร แล้วก็เสด็จขึ้น

ฝ่ายมังนันทมิตร เสนาบดี ก็จัดเครื่องราชบรรณาการตอบแทนโดยควร แล้วจึงว่าแก่ขุนนางรามัญว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สบายพระทัย ทรงพระประชวรมาหลายวันแล้ว มิได้เสด็จออกว่าราชการ นี่ท่านเป็นแขกเมืองมา ก็เกรงจะเสียขนบธรรมเนียม จึงทรงพระอุตส่าห์ออกรับ ซึ่งท่านจะกลับไปนั้น จงดูแก่การควรเถิด ไม่ต้องเข้าเฝ้าทูลลา ทรงอนุญาตแล้ว ขุนนางรามัญก็คำนับลาเสนาบดี ขึ้นม้ามากับบ่าวไพร่กลับลงมายังกรุงหงสาวดี เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ถวายเครื่องราชบรรณาการตอบแทน แล้วทูลว่า พระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะให้เอาหนังสือเผาเพลิงเสีย มิได้ตอบพระราชสารประการใด แล้วทูลเหตุผลที่ตนได้รู้ได้ฟังทุกประการ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ฟังก็ทรงพระสรวล จึงตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวานี้เห็นไม่อาจยกมาอีกแล้ว คงจะตรอมใจตายเป็นแท้

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาก็ตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า จะยกลงมาตีกรุงหงสาวดีอีก เสนาบดีทั้งปวงจึงทูลว่า พระองค์ยกลงไปครั้งก่อนนั้นปราชัยเสียทีมา ไพร่พลทั้งปวงก็ล้มตายเป็นอันมาก ทแกล้วทหารช้างม้ายังบอบช้ำอิดโรยนัก ทั้งเสบียงอาหารก็ยังไม่ได้ซ่องสุมพรักพร้อม อนึ่ง ก็จวนเทศกาลฝน รี้พลทั้งปวงจะบอบช้ำลำบากนัก ขอได้ทรงพระกรุณางดก่อน พอบำรุงช้างม้ารี้พลให้มีกำลัง พ้นฤดูฝนแล้วจึงยกลงไป ทำไมกับศึกมอญ ถึงได้ชัยชนะครั้งหนึ่ง ขอพระองค์อย่าเพ่อทรงพระโทมนัส ถ้ายกลงไปครั้งนี้ ข้าพเจ้าทั้งปวงจะคิดอาสาสู้รบจนสิ้นชีวิตเอาชัยชนะถวายให้จงได้

สมเด็จพระเจ้ามังศรีชวาได้ทรงฟังเห็นยังขัดขวางอยู่ก็จนพระทัย ตั้งแต่นั้นมา มิได้มีความสบาย ทรงพระโทมนัสขัดแค้น ด้วยได้ความอัปยศอยู่ทุกวันทุกเวลามิได้ขาด เสวยพระยาหารก็น้อยกว่าก่อน จนพระโรคกำเริบขึ้น ทรงพระประชวรหนักลง ก็เสด็จสวรรคต

ลำดับนั้น มังสุเหนียดผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาได้ราชาภิเษกครองราชสมบัติในกรุงรัตนบุระอังวะสืบมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตามพุกามภาษา ฝ่ายมังศรีธาตุผู้เป็นพระราชอนุชาคิดจะชิงราชสมบัติเป็นใหญ่ในกรุงรัตนบุระอังวะ ก็คิดการขบถต่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คน ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งดังนั้น จึงให้จัดทแกล้วทหารเป็นขบวนทัพ จะให้ไปล้อมจับมังศรีธาตุ พระราชอนุชา มาประหารชีวิตเสีย มังศรีธาตุรู้พระองค์ เห็นจะอยู่สู้รบมิได้ ก็พาพวกพลทหารหนีลงมาสามิภักดิ์อยู่ด้วยพระเจ้าราชาธิราช ณ กรุงหงสาวดี แล้วกราบทูลซึ่งเหตุผลในกรุงรัตนบุระอังวะตามมีทุกประการ

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาสวรรคตแล้ว มังสุเหนียดผู้เป็นพระราชบุตรได้ครองราชสมบัติเป็นใหญ่ในกรุงรัตนบุระอังวะ ก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดพระราชทานวัง ตำหนัก แลเครื่องอุปโภคบริโภคแก่มังศรีธาตุโดยควรแก่ฐานาศักดิ์เป็นอันมาก ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงมังศรีธาตุไว้ แล้วทรงพระราชดำริว่า พระเจ้ามนเทียรทองผู้เป็นพระราชบิดาพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเป็นกษัตราธิราชอันใหญ่ มิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์ กระทำให้ผิดพระราชวัตรานุวัตรยกกองทัพล่วงลงมาเหยียบแดนเมืองหงสาวดีให้ขาทางพระราชไมตรีแต่ก่อนแล้ว แลบัดนี้ มังสุเหนียดผู้เป็นพระราชโอรสได้ครองราชสมบัติในกรุงรัตนบุระอังวะ ไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงก็ยังมิราบคาบเป็นปรกติ จำเราจะยกกองทัพขึ้นไปกระทำแก่กรุงรัตนบุระอังวะบ้าง เห็นจะได้โดยง่าย ทรงพระดำริแล้วจึงปรึกษาเสนาบดีทั้งปวง เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้จัดกองทัพ แต่งเรือฉลากบางหุ้มด้วยเหล็กสามร้อยลำ เรือลายแลหุ้มทองแดงร้อยลำ เรือลายคาเล่หยักห้าร้อยลำ เป็นเรือพันสามร้อยลำ สรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธทั้งปวง ให้เจ้าสมิงนครอินทร์เป็นแม่กองทัพหน้า สมิงอุบากองเป็นเกียกกาย สมิงนิดดินชัยเป็นทัพหนุน สมิงสามแหลกทัพหนึ่ง สมิงพ่อเพชรทัพหนึ่ง สมิงพระราช ราชบุตรเขยสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ทัพหนึ่ง สมิงทอทัพหนึ่ง สมิงอังวะมังศรีทัพหนึ่ง ทั้งห้าทัพนี้สำหรับช่วยอุดหนุนเพิ่มเติมกองทัพทั้งปวง สมิงราชสังครำ อำมาตย์ทินมณีกรอด สมิงพระตะเบิด สามนายนี้เป็นทัพหลัง รวมกันสิบสองทัพ เป็นคนเจ็ดหมื่น แล้วให้สมิงโยธาราช สมิงมาสะมัน คุมนายทัพนายกองถือพลสามหมื่น ช้างห้าร้อย ม้าพันห้าร้อย เป็นกองทัพบก ให้สมิงชีพรายอยู่รักษาเมือง

ครั้นถึง ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้นสิบห้าค่ำ ศักราช ๗๕๙ ปี ได้มหาพิชัยฤกษ์โชคยามเวลาแล้ว สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงสั่งให้ลั่นฆ้อง พลทหารโห่ร้องโบกธงเอาชัย ออกขนานเรือพระที่นั่ง ยกกองทัพเรือแลทัพบกไปครั้งนั้นเป็นมหันตโอฬาร กองทัพเรือก็ประกอบด้วยเรือ นายทัพทแกล้วทหารตั้งเป็นขบวนนาวาพยุหะ มีดั้ง กันแทรก แซงซ้ายขวาหน้าหลังคับคั่งเป็นทิวแถวในท้องทางชลมารค พลทหารก็แต่งตัวสีหลาก ๆ คนละอย่าง บ้างเขียว เหลือง ขาว แดง แต่ล้วนฝีมือเข้มแข็งกล้าหาญในการสงคราม ดูงามเป็นสง่า มีมือถือเครื่องสรรพศัสตราวุธสำหรับยุทธณรงค์โดยขบวนพลง้าว ทวน ภู่จามรี พลดาบ ดั้ง กระบี่ โล่ เขน หอกซัด เกาทัณฑ์ ศรกำ สาบสะพาย ทุกหมู่กองพลนิกายมีนายหมวดตรวจตรากวดขัน ดาษไสวไปด้วยพรรณธงชาย ธงฉาน เขียว เหลือง ขาว แดง ปักประจำลำเรือทุกกองทัพ เสียงสนั่นด้วยศัพท์ฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล กองทัพบกก็ประกอบด้วยรี้พลช้างม้าโดยขบวนพยุหยาตรารีบเดินกองทัพไป

ครั้นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชยกเข้าไปใกล้แดนกรุงรัตนบุระอังวะ ตีได้หัวเมืองตะละชีแลเมืองปรวน จนถึงบ้านอะรอย บ้านเย็นปู บ้านสามพลู บ้านกรัดขับ บ้านตะไลจิบ บ้านปรวน เป็นลำดับกันไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชสั่งให้กวาดเอาข้าวปลาอาหารไว้เป็นกำลัง แต่บ้านเรือนถิ่นฐานนั้นให้เอาเพลิงจุดเผาเสียสิ้น ฝ่ายพม่าชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็แตกหนีหลบหลีกไปเอาตัวรอด

ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งว่า กองทัพพระเจ้าราชาธิราชตีเข้ามาดังนั้น ก็ให้กวาดครอบครัวอพยพเอาข้าวปลาอาหารทั้งปวงเข้าไว้ในเมืองสิ้น กองทัพพระเจ้าราชาธิราชยกตีล่วงไปได้เมืองพุกามอันเป็นเมืองหลวงเก่า แลเมืองจะเดิง เมืองอะลอย เมืองจะเดิงนั้นกับเมืองหลวงอังวะอยู่คนละฟากแม่น้ำ แล้วตั้งให้เสนาบดีอยู่รักษาเมือง ฝ่ายกองทัพกรุงอังวะก็มิได้ยกออกมาต่อสู้ นิ่งสงบอยู่ในเมือง

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ยกล่วงเดินไปตีเมืองตะคองมาเลใกล้กรุงอังวะทางสิบห้าวัน ครั้นตีเมืองตะคองมาเลได้แล้ว พระองค์ก็ยกถอยมาตั้งอยู่ ณ เมืองจะเดิงที่ให้รักษาอยู่นั้น แล้วจึงตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีทั้งปวงว่า เรายกกลับมาเมืองอังวะได้แปดวันแล้ว พระเจ้ากรุงอังวะก็มิได้ยกออกมาต่อสู้เรา นิ่งอยู่ฉะนี้ แลกิจการในเมืองอังวะจะเป็นประการใดก็ไม่รู้ ครั้นแต่งให้ทหารไปลาดตระเวนจับผู้คนจะมาไต่ถามเอากิจการก็มิได้สักคนหนึ่ง เราจะรู้ที่คิดการหมายเอาชัยชนะได้ประการใด

อำมาตย์ทินมณีกรอดจึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าจะคิดอุบายจับพม่ามาถวายให้จงได้ ด้วยเมืองอังวะ แลเมืองจะเดิง กับพระธาตุสร้อยจะเยียดนั้นอยู่ฟากแม่น้ำหนึ่งเยื้องกันเป็นสามแพร่ง จะขอให้บ่ายหน้าเรือขนานไปข้างพระธาตุสร้อยจะเยียด ให้เอาเสื้อผ้าธงเทียวข้ามไปบูชาให้พม่ารู้ แล้วจึงให้สมิงสามกรายเอาเรือบรรจุทหารซุ่มไว้ ฝ่ายพม่ารู้ว่า กองทัพเราเอาสิ่งของไปบูชาพระธาตุ ครั้นคนกลับมาหมดแล้ว พม่าก็จะออกเก็บเอาสิ่งของ เห็นจะจับผู้คนได้บ้าง สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นชอบด้วย จึงสั่งให้จัดผ้าแพรพรรณธงเทียวไปบูชาพระธาตุ ให้สมิงสามกรายคุมทหารไปซุ่มคอยอยู่ ตามซึ่งอำมาตย์ทินมณีกรอดทูลนั้น



(ยังมีต่อ)



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


  โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน

วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,

สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,

ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด

เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้

สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-

ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร

พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา


  เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด

อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ

ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า

ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร




เล่ม ๑๓ ขึ้น เล่ม ๑๕