ราชาธิราช/เล่ม ๑๕
ปก ลง
ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา
ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา
เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี
ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง
อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี
ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี
เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย
แล้วพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจัดเครื่องบรรณาการมอบให้พระสังฆราชานำไปถวายพระเจ้าราชาธิราช
จนถึงสมิงสามกราบจับพวกพม่าตัดศีรษะนำมาถวายพระเจ้าราชาธิราช
ครั้งนั้น พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็สะดุ้งตกพระทัยกลัว มิได้ทรงดำริการที่จะสู้รบ เปรียบประดุจสกุณโปดกอยู่ในฝ่าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช จึงทรงพระวิตกว่า แดนเมืองอังวะข้างฝ่ายอุดรทิศนั้นก็ยังมิได้ราบคาบก่อน แลกองทัพมอญยกรีบเร็วมาครั้งนี้ตีล่วงข้ามแดนเข้ามาจนถึงเมืองอังวะ ฝ่ายไพร่พลพม่าก็แตกกระจัดกระจายไป เมื่อไม่ได้กำลังไพร่พลเสบียงอาหารแล้ว จะรบสู้ศึกมอญนั้นเห็นขัดสนนัก จึงให้ประชุมคนทั้งสองฝ่าย คือ สมณะชีพราหมณ์ แลเสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตทั้งปวง เข้ามาพร้อมกัน แล้วตรัสปรึกษาว่า ศึกมอญมาติดเมืองเราครั้งนี้ ผู้ใดจะมีสติปัญญาจะคิดอาสาสู้รบประการใดบ้าง เสนาบดีก็นิ่งอยู่มิได้กราบทูลประการใด
ขณะนั้น พระสังฆราชองค์หนึ่งมีนามว่า พระสังฆราชาภังคยสกโร มีสติปัญญา สามารถทรงพระไตรปิฎก แลรู้หลายภาษา พูดภาษารามัญ ไทยใหญ่ ไทยน้อย ลาว ญวน เงี้ยว ทวาย ได้ ครั้นเห็นเสนาบดีทั้งปวงนิ่งอยู่ดังนั้นจึงถวายพระพรว่า เป็นธรรมดาสืบมา แม้พระเจ้าแผ่นดินมีทุกข์เดือดร้อนด้วยเหตุสิ่งใดแล้ว ขุนนางข้าราชการน้อยใหญ่ทั้งปวงก็ย่อมรับอาสาช่วยปลดเปลื้องสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา ถ้าฝ่ายฆราวาสขัดขวางแล้วก็ถึงสมณะ ครั้งนี้ เป็นโอกาสของสมณะแล้ว อาตมภาพก็คิดว่า เกิดมาเป็นข้าแผ่นดิน มหาบพิตรทรงพระกรุณาโปรดปลูกเลี้ยงให้ยศศักดิ์เป็นใหญ่ยิ่ง มีพระคุณหาที่สุดมิได้ อาตมภาพจะขอรับอาสาออกไปเจรจาความเมืองด้วยพระเจ้าราชาธิราชสนองพระเดชพระคุณให้ยกกองทัพกลับไปจงได้
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟัง ยังไม่ไว้พระทัย จึงตรัสว่า ซึ่งพระคุณเจ้ารับอาสาดังนี้ก็ดีแล้ว แต่ข้าพเจ้ากริ่งใจอยู่ กลัวจะไม่สมคิด ด้วยพระยามอญวงศ์นี้เขาเล่าลือมาว่า ใจร้าย หยาบช้า ห้าวหาญนัก แต่ลูกเมียเป็นที่รักยังรอไม่ใคร่ได้ เมื่อจะได้ราชสมบัตินั้นให้ฆ่าสมิงมะราหู เขาว่า โกรธราวกับจะให้รองโลหิตมาเสวน พวกพม่าที่เขารู้ชวนกันเรียกว่า พระเจ้ามหายักษ์เมืองมอญ ซึ่งยกทัพขึ้นมาติดเมืองเรานี้ก็เพราะโกรธว่า สมเด็จพระราชบิดาแลข้าพเจ้ายกลงไปย่ำยีเขาก่อน ซึ่งพระคุณเจ้าออกไปว่ากล่าวโดยดีนั้น ข้าพเจ้ายังวิตกหนัก เกรงจะไม่สมหมาย อุปมาดังไปอ้อนวอนเสือว่าอย่าให้กินเนื้อนั้น ข้าพเจ้าเห็นสุดยากที่เสือจะยอมให้ ขอพระคุณตรึกตรองดูจงควร
พระสังฆราชภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า ซึ่งพระเจ้าราชาธิราชมีพระทัยร้ายห้าวหาญนักราวกับมหายักษ์นั้น ขอมหาบพิตรอย่าได้ทรงพระวิตก อาตมภาพจะรับอาสาสู้รบด้วยคารม เทศนาให้พระทัยอ่อนน้อมยอมเป็นมนุษย์ลงจงได้ อันวิสัยรบด้วยศัสตราฆ่าฟันแทงยิงกันนั้นเหนื่อยยากแก่ทแกล้วทหารนัก ซึ่งอาตมภาพรับอาสาครั้งนี้ จะสู้ด้วยอาวุธคม คือ ลมปาก มิให้ยากแก่ไพร่พล จะให้พระเจ้าราชาธิราชอ่อนน้อมยอมแพ้ประนมพระหัตถ์คำนับให้ถอยทัพกลับจงได้ ซึ่งมหาบพิตรตรัสว่าเกรงจะไม่สมหมายนั้น รับพระราชทานอภัย อุปมาดังมหาบพิตรทรงพระตำหนินาวาทั้งโกลน ติละครโขนเมื่อยังมิได้ใส่เครื่อง อันเรือทำยังไม่สำเร็จ ละครโขนยังมิได้แต่งเครื่องครบนั้น จะดูงามที่ไหน เปรียบเหมือนอาตมภาพถวายพระพรอวดอ้างฝีปากไว้ เมื่อยังมิได้เจรจาก็ยังไม่เห็นเท็จแลจริง อันวิสัยมนุษย์ทุกวันนี้ ฆ่าช้างก็หวังจะเอางา เจรจาก็หวังเอาถ้อยคำ เป็นที่สำคัญมั่นหมาย แม้นมหาบพิตรยังทรงพระสงกาอยู่แล้ว อาตมภาพจะขอถวายทัณฑ์บนไว้ แม้นไปทำการไม่สมดังว่าแล้ว มหาบพิตรจงสึกอาตมภาพภาพเสีย ลงพระราชอาญาสักหน้า ส่งไปเป็นตะพุ่นสำหรับเกี่ยวหญ้าช้างจนตาย
สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังพระสังฆราชรับอาสาให้ทัณฑ์บนแข็งแรงดังนั้น ก็แย้มพระสรวลตรัสว่า ซึ่งข้าพเจ้าว่าจะไม่สมหมายนั้น เพราะความกลัวจึงได้คิดเกรงกริ่ง ใช่จะประมาทพระคุณว่าจะไปเจรจาสู้รบไม่สำเร็จนั้นหามิได้ พระคุณเจ้าก็มีสติปัญญาสามารถ แม้นเห็นสมคิดแล้ว ก็นิมนต์พระคุณออกไปเจรจาเถิด ซึ่งพระคุณเจ้าให้ปฏิญาณทัณฑ์บนนั้น ถึงจะพลาดพลั้งไม่สมคิดประการใด ข้าพเจ้าหาเอาโทษไม่ ด้วยพระคุณเป็นสมณะ อุตสาหะรักษาด้วยความสวามิภักดิ์ ชอบแต่จะปูนบำเหน็จถวายให้ถึงขนาดจึงจะควร
พระสังฆราชภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า ซึ่งอาตมภาพรับอาสาถวายทัณฑ์บนไว้นั้น ใช่จะอวดอ้างปัญญาวิชาความรู้หามิได้ หวังจะกระทำให้เป็นแบบแผนแก่เสนาบดีแลทแกล้วทหารสืบไปภายหน้า จะได้มีใจกล้าหาญในสงคราม รับอาสาเจ้าไม่เสียดายชีวิต จะได้คิดถึงความมั่นสัญญาที่ตนกระทำไว้ อันคำทัณฑ์บนนั้นอุปมาดังหลักเป็นที่ยุดหน่วง แม้ไม่มีหลักแล้ว ครั้นไปกระทำการเหนื่อยยากเข้า ดวงจิตมักปรวนแปรไป อนึ่ง อาตมภาพพิจารณาการหน้าหลังแน่ใจของตนแล้ว จึงขันรับอาสาว่า จะได้ชัยชนะฝ่ายเดียว เพราะเห็นชะตากรุงรัตนบุระอังวะยังรุ่งเรืองดีอยู่ ถึงข้าศึกจะหักโหมประการใด ก็มิอาจจะเอาเมืองได้ คงล่าทัพกลับไปเป็นแท้
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงตรัสสั่งให้จัดเครื่องราชบรรณาการออกไปถวายพระเจ้าราชาธิราชนั้นเป็นสิ่งของแพรลายขบวนอย่างดีสิบพับ ผ้าซับพระพักตร์ปักทองผืนหนึ่ง พระเต้าน้ำทองใบหนึ่ง โต๊ะเครื่องเสวยของกษัตริย์สำรับหนึ่ง พรมสามผืน เมี่ยงสิบกระหมวด น้ำดอกไม้เทศสิบเต้า สีเสียดเทศยี่สิบก้อน ผ้าแดงโมรีสิบพับ กับของกินทั้งปวงเป็นเครื่องเลี้ยงทหารพอสมควร ให้คนจัดถือสิ่งของไปด้วยนั้นแต่ล้วนคนชราหกสิบคน แล้วพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงตรัสสั่งพระสังฆราชว่า สิ่งของทั้งนี้ให้ว่าเป็นของของพระคุณเจ้ามีจิตยินดีนำออกมาถวาย ครั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสั่งให้จัดสิ่งของเสร็จแล้ว ก็อาราธนาพระสังฆราชาภังคยสกโรออกไป เมื่อพระสังฆราชภังคยสกโรออกไปนั้น มีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อ พระคางตรี ออกไปด้วย เจ้าพนักงานจึงให้เอาเรือผูกขนานเข้าสองลำ แล้วขนสิ่งจองลงในเรือขนานนัเน พระสังฆราชาภังคยสกโรก็ลงเรือพร้อมด้วยคนหกสิบข้ามไป ครั้นถึงหน้าค่ายพลับพลาพระเจ้าราชาธิราช พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงให้ขนเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปอยู่แต่นอกค่าย ฝ่ายทหารเฝ้าประตูค่ายจึงเข้าไปแจ้งแก่เสนาบดี
ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเสด็จออก เสนาบดีจึงเข้ากราบบังคมทูลว่า บัดนี้ มีพระสงฆ์ข้ามมาแต่ฟากเมืองอังวะ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้แจ้งดังนั้นจึงตรัสสั่งให้มหาดเล็กไปนิมนต์เข้ามา มหาดเล็กรับสั่งถวายบังคมลาออกมานมัสการพระสังฆราชแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโอกาสให้อาราธนาพระคุณเจ้าเข้าไป พระสังฆราชจึงให้คนขนของเข้าไปส่ง ครั้นเข้าไปถึงประตูค่าย ทหารรักษาประตูก็ตรวจค้นดูเครื่องศัสตราวุธในตัวพระสังฆราชแลสิ่งของเครื่องราชบรรณาการถ้วนทั่ว แล้วจึงให้เข้าไป แต่พวกพม่าแลพระสงฆ์องค์หนึ่งนั้นให้ยับยั้งอยู่ภายนอก ครั้นพระสังฆราชาภังคยสกโรเข้าไปจวนจะถึงหน้าพระที่นั่ง
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชแกล้งเมินพระพักตร์เสีย ทำเป็นไม่ทรงเห็น หาตรัสทักไม่ พระสังฆราชาภังคยสกโรไปยืนนิ่งอยู่ช้านาน สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเห็นนานนักแล้วจึงทำผันพระพักตร์เหลือบพระเนตรมาตรัสทักว่า พระคุณเจ้ามาเมื่อไร พระสังฆราชาภังคยสกโรถวายพระพรว่า อาตมภาพมาเมื่อมหาบพิตรทอดพระเนตรเห็น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังก็ยิ้มอยู่ แล้วอาราธนาให้พระสังฆราชภังคยสกโรนั่งบนอาสน์ที่ควร พอเจ้าพนักงานนำเครื่องราชบรรณาการของพระสังฆราชาภังคยสกโรเข้ามาถวายหน้าพระที่นั่ง พระสังฆราชาภังคยสกโรถวายพระพรว่า อาตมภาพแจ้งว่า มหาบพิตรเสด็จมาแต่มรรคาไกล อาตมภาพก็ยินดี มีอุตสาหะออกมาเยือน ไม่มีสิ่งใดอันตระการ มีแต่สิ่งของเท่านี้ อาตมภาพจะขอถวายแก่มหาบพิตรตามมี
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังพระสังฆราชาภังคยสกโรถวายของดังนั้น จึงตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า ซึ่งสิ่งของพระสังฆราชาภังคยสกโรนำมาทั้งนี้มิใช่ของพระสังฆราชาภังคยสกโร เห็นจะเป็นสิ่งของพระเจ้ามนเทียรทองให้มา เสนาบดีทั้งปวงก็เห็นจริงด้วย สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้รับสิ่งของไว้ แล้วตรัสถามว่า พระคุณเจ้าออกมาหาโยมเจ้านี้ด้วยกิจธุระอันใด พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า อาตมภาพออกมาเฝ้ามหาบพิตรบัดนี้ด้วยมีความปรารถนาจะใคร่แจ้งว่า พระองค์ทรงพระอุตสาหะเสด็จกรีธาพลขึ้นมาทั้งนี้เพื่อพระราชประสงค์สิ่งใด
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า ข้าพเจ้ายกกองทัพมาทั้งนี้ด้วยเหตุประการหนึ่ง จึงมีความปรารถนาสามประการ เหตุประการหนึ่งนั้น ด้วยพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาละทางพระราชไมตรีเสีย ยกกองทัพลงไปกระทำข่มเหงย่ำยีถึงเมืองหงสาวดี ฝ่ายข้าพเจ้าก็หมายใจว่า เป็นกษัตริย์อันประเสริฐในรามัญประเทศ ครั้นจะมิยกขึ้นมาตอบแทนพม่าบ้าง ก็ดูดุจจะดังว่า มิใช่ชาย หามานะมิได้ อันความปรารถนาสามประการนั้น ประการหนึ่ง คือ ตั้งใจมาจะกระทำยุทธนาการให้เมืองอังวะอยู่ในอำนาจขึ้นแก่หงสาวดี ให้ขอบขัณฑเสมากว้างขวางออกไป ประการหนึ่ง คือ กรุงอังวะเป็นที่เจดียฐานมาก ข้าพเจ้ามีศรัทธาจะขึ้นมานมัสการด้วย ประการหนึ่ง คือ จะยกยอบวรพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไปนาน
พระสังฆราชาภังคยสกโรได้ฟังดังนั้นก็ถวายพระพรว่า ซึ่งพระองค์ตรัสมาทั้งนี้ไพเราะนัก อันพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวามิได้ตั้งอยู่ในทางพระราชไมตรีนั้น บัดนี้ ก็เสด็จทิวงคตล่วงแล้ว ฝ่ายพระองค์ก็ทรงพระสติปัญญาสามารถ แลจะมาประพฤติโดยพระทัยอันพยาบาทดังนี้ อาตมภาพเห็นเป็นครุโทษใหญ่หลวงนัก ขอพระองค์ทรงพระราชดำริถึงครุกรรมข้อนี้ แลทางพระราชประเพณีอันชอบแต่ก่อนสืบมาเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอโนรธามังช่อได้เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพุกาม พระองค์ยกลงไปรับพระเกศธาตุที่นครสิงหคุต ครั้นถึงเมืองปรวนล่วงเข้าแดนรามัญประเทศ จึงทรงพระราชดำริว่า เมืองมอญกับเมืองพม่าเป็นทางพระราชไมตรีกันมาแต่ก่อน แลบัดนี้ เรายกล่วงแดนเข้ามา มิควรนั้น เกลือกพระเจ้าหงสาวดีจะมีพระทัยรังเกียจ ก็จะเสียทางพระราชไมตรีแก่กัน ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าอโนรธามังช่อจึงเสด็จกลับขึ้นมา มิได้ลงไปรับพระเกศธาตุที่นครสิงหคุต พระองค์ทรงรักษาพระราชประเพณีถึงเพียงนี้ พระนครทั้งสองฝ่ายก็เป็นสุวรรณปถพีเดียวกันอยู่เย็นเป็นสุขมา หาความอิจฉาวิหิงสาแก่กันมิได้
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า พระคุณเจ้าว่าทั้งนี้ก็ชอบอยู่ แต่พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาเป็นกษัตริย์ผู้ใหญ่ ละทางพระราชไมตรีเสียก็ผิดมิได้ประพฤติโดยโบราณราชประเพณีตามพระเจ้าอโนรธามังช่อ แลยกลงไปเพื่อจะกระทำย่ำยีแว่นแคว้นของข้าพเจ้าให้อยู่ในอำนาจ ข้าพเจ้าก็ยกขึ้นมาตอบแทนเพื่อจะแผ่อาณาจักรให้กว้างขวางออกไปบ้าง พระคุณเจ้ามาว่ากล่าวดังนี้เหมือนยุดมือข้าพเจ้าไว้ให้กระทำแต่ข้างเดียว หาควรไม่
พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า มหาบพิตรตรัสดังนี้ดุจดังอาตมภาพเป็นสมณะลามก มีความฉันทาลำเอียง จะให้สัตว์ฉิบหายข้างหนึ่งเจริญข้างหนึ่ง หารักษาสิกขาบทตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหารไม่ เป็นความสัตย์ อามตภาพมิได้เข้าข้างใด ซึ่งถวายพระพรแก่มหาบพิตรฉะนี้ด้วยคิดว่า มหาบพิตรรทั้งสองพระนครเป็นบรมกษัตริย์อันประเสริฐ เป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนา แลเป็นที่อาศัยสมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง เพราะทรงพระสติปัญญาเป็นสัมมาทิฐิประพฤติตามพระพุทธโอวาทอยู่ทั้งสองฝ่าย อันพระพุทธโอวาทซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกทั้งสามนั้นอยู่ในพระขันตีธรรมบทเดียว ถ้าบพิตรพระองค์ใดปฏิบัติตามพระขันตีบทเดียวนี้ไซร้ ได้ชื่อว่า บพิตรพระองค์นั้นปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอันตรัสไว้ในพระไตรปิฎกทั้งสามนั้นสิ้น พระศาสนาแลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็จะวัฒนาการเจริญสืบไป สมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในพระขันตีราชธรรมนั้น อาตมภาพจึงถวายพระพรเตือนพระสติพระองค์ผู้เป็นประธานฝูงสัตว์โลกทั้งปวงให้ทรงปฏิบัติในพระขันตีราชธรรม แลพระองค์มาตรัสโดยทางอาฆาตจองเวรพยาบาทอันเป็นข้าศึกแก่ขันตีธรรมให้ขาดประโยชน์ปรโลกฉะนี้ ดุจหนึ่งพระองค์มิได้ทรงปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทของสมเด็จอันตรัสสั่งสอนไว้
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า ซึ่งพระคุณเจ้ามาว่ากล่าวเตือนสติข้าพเจ้าโดยพุทธโอวาทดังนี้ดูเหมือนหนึ่งพระคุณลำเอียง แม้นไม่มีจิตฉันทาเข้าด้วยข้างหนึ่งจะให้ฉิบหายข้างหนึ่งเจริญข้างหนึ่งแล้ว ถ้าแม้นสัจธรรมของพระคุณเจ้าเที่ยงแท้เสมอที่จะมิให้สัตว์แลพระพุทธศาสนาเป็นอันตรายจริง พระคุณเจ้าก็จะช่วยเตือนสติถวายโอวาทคำสั่งสอนพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาอันเป็นสัมมาทิฐิให้ตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมอย่าให้ยกทัพลงไปเบียดเบียนขอบขัณฑเสมาเมืองหงสาวดีก่อน ฉะนี้ จึงจะเห็นว่า พระคุณเจ้าตั้งอยู่สัจธรรมเป็นอันแท้ที่จะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขเสมอกันจริง นี่พระคุณเจ้ามิได้ห้ามสั่งสอนพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาให้ตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมปฏิบัติ นิ่งให้มาเบียดเบียนขอบขัณฑเสมาเมืองหงสาวดีเป็นต้นเหตุก่อน ข้าพเจ้าจึงยกทหารขึ้นมาตอบแทนตามพระราชประเพณี พระคุณเจ้าจึงมาให้โอวาทตักเตือนข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในขันตีทศพิธราชธรรมปฏิบัติ แลทศพิศราชธรรมปฏิบัตินั้นมีถึงสิบประการ ในบทตะปังนั้นว่า ให้พระมหากษัตริย์มีวิริยภาพอุตสาหะปราบปรามข้าศึกอันเป็นเสี้ยนหนามให้ราบคาบ เมื่อพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวามาเบียดเบียนขอบขัณฑเสมาเมืองหงสาวดีก่อน แลพระคุณเจ้าจะให้ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมอดออมเสีย ฉะนี้ จะมิเสียราชธรรมในบทตะปังที่ว่า ให้พระมหากษัตริย์มีความเพียรปราบปรามเสี้ยนศึกศัตรูให้ราบคาบนั้นหรือ เหตุฉะนี้ จึงเห็นว่า พระคุณเจ้าแกล้งมาว่าแก่ข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในขันตีราชธรรมฝ่ายเดียวนั้น เห็นหาเป็นสัจธรรมไม่
พระสังฆราชาภังคยสกโรก็ถวายพระพรว่า ซึ่งมหาบพิตรตรัสว่า ราชธรรมมีถึงสิบประการนั้นก็จริง แต่สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญขันตีราชธรรมอันเดียวนี้ว่า มีคุณานุภาพอานิสงส์ล้ำเลิศประเสริฐกว่าราชธรรมทั้งเก้าประการ ซึ่งมหาบพิตรจะมาทรงปฏิบัติตามตปราชธรรมอันเพียรภาพ ยังข้าศึกเสี้ยนหนามให้เดือดร้อนราบคาบ จะแผ่ขอบขัณฑเสมาให้กว้างขวางออกไปนั้น มิได้ประกอบด้วยคุณฝ่ายเดียวดุจขันตีราชธรรม ยังเจือไปด้วยโทษอยู่ อาตมภาพขอถวายพระสติตักเตือนไว้ ตามเนื้อความอันมีในพระไตรปิฎกว่า เมืองดาวดึงสาสวรรค์ แลอเวจีมหานรก กับชมพูทวีป ทั้งสามภูมินี้กว้างขวางยาวใหญ่ได้หมื่นโยชน์เสมอกัน แลฝ่ายดาวดึงสาสวรรคเทวโลกนั้นก็มีระยะเทววิมานย่านประเทศที่อยู่ต่าง ๆ อันบุญนิมิตตกแต่งเป็นอันดี จะได้ยัดเยียดเบียดเสียดกันนั้นหามิได้ ฝ่ายชมพูทวีปนั้นกว้างขวางได้หมื่นโยชน์ เป็นโสณมหาสมุทรท่วมเสียสี่พันโยชน์ เป็นป่าหิมพานต์ก็สามพันโยชน์ เป็นที่มนุษย์อาศัยก็สามพันโยชน์ พระมหากษัตราธิราชแต่โบราณก็ตั้งบ้านเมือง ๆ แต่ครั้งพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสวยพระชาติเป็นมหาโควินทเวลามหาพราหมณาจารย์นั้นก็ช่วยแบ่งปันประเทศแว่นแคว้นแดนบ้านเมืองเป็นระยะฝักฝ่าย จะได้คับคั่งเบียดเสียดวิวาทชิงแดนแก่กันนั้นหามิได้ แต่อเวจีมหานรกกว้างขวางยาวใหญ่ได้หมื่นโยชน์ บริบูรณ์ด้วยสัตว์อักตกอยู่ในนั้นมิได้หย่อนอย่างชมพูทวีป ด้วยอำนาจอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลมีในสันดานสัตว์โลก ผู้กระทำอกุศลกรรมบถสิบประการ เป็นกายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม อกุศลทุจริตอันหยาบช้า ครั้นจุติก็ไปบังเกิดในอเวจีมหานรกเป็นอันมาก ประมาณมิได้ บ้างนั่งนอนยืนยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นเหล็กแดงอันพิลึกด้วยเพลิงนรก จะได้มีช่องว่างที่จะชี้ลงว่าที่นี่เป็นละแวกว่างอยู่นั้นหามิได้ จึงได้ชื่อว่า อเวจีมหานรก แต่กรุงอังวะกับกรุงหงสาวดีนั้นไกลกันเป็นระยะทางถึงเดือนหนึ่ง ใช่จะเบียดเสียดคับคั่งกันอย่างอเวจีมหานรกนั้นหามิได้ ซึ่งพระองค์จะทรงปฏิบัติตามตปราชธรรมปราบเสี้ยนศัตรูจะเอากรุงอังวะเป็นขอบขัณฑเสมาให้สัตว์ทั้งปวงคับคั่งยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่ดังอเวจีมหานรกนั้น หาควรไม่ อันบุคคลผู้ใดกระทำอกุศลด้วยกาย วาจา จิตอันชั่วร้ายนั้น ก็จะเป็นเวรานุเวรติดตามผู้นั้นไป ดุจดังกงเกวียนอันเวียนพัดผันไปตามโค แลกงเกวียนนั้นก็ตามกระบทเท้าแห่งโคเป็นนิจ ซึ่งมหาบพิตรจะไม่ทรงประพฤติขันตีราชธรรมอันประเสริฐกอปรไปด้วยคุณฝ่ายเดียว จะมาประพฤติตามตปราชธรรมอันเจือไปด้วยคุณแลโทษ คือ ยังข้าศึกให้เดือดร้อนด้วยยุทธนาการฆ่าฟันกัน ฉะนี้ พระองค์ทรงเห็นคุณนั้นจะล้างโทษให้พ้นภัยในอบายภูมิได้แลหรือ
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชก็ตรัสว่า อันคุณก็อยู่ฝ่ายคุณ โทษก็อยู่ฝ่ายโทษ อันคุณจะล้างโทษนั้นก็หามิได้ ดุจน้ำกับน้ำมันระคนกัน จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นหามิได้ แต่โดยจิตของข้าพเจ้า ยกทัพมายังกรุงรัตนบุระอังวะครั้งนี้แม้นไม่มีเหตุก็หาไม่ ใช่จะมาด้วยน้ำใจวิหิงสา จะเบียดเบียนผู้มีความชอบให้พินาศฉิบหาย ยังพระพุทธศาสนาให้เป็นอันตรายเศร้าหมองนั้น หามิได้ ตั้งใจแต่จะบำรุงพระพุทธศาสนา แลจะยังฝูงคนอาธรรมทุรชนนั้นให้ตั้งอยู่โดยคลองธรรมสุจริต จึงประพฤติตามตปราชธรรมอันจะกำจัดเสียซึ่งข้าศึก ซึ่งพระคุณเจ้าว่าราชธรรมนี้เจือไปด้วยคุณแลโทษนั้นก็จริง แต่ข้าพเจ้าคิดว่า ถึงจะเสียเงิน ก็จะแลกเอาทอง ถึงจะเสียทอง ก็จะแลกเอาแก้วมณีอันมีค่าไว้ให้จงได้ ตามประเวณีโลกียะ กษัตริย์อันเสวยสมบัติในกลียุคเข็ญต้องจำเป็น ด้วยมีผู้มาก่อเหตุก่อนแล้วจำจะสานตาม อันสัตว์เวียนไปในสงสารใครเลยจะพ้นจากกุศลแลอกุศล ซึ่งจะหลีกภัยให้พ้นจากครุกรรมนั้นก็แล้วแต่เจตนาอันประกอบด้วยปัญญาของตน ข้าพเจ้าเห็นฉะนี้จึงประพฤติตามตปราชธรรมปฏิบัติอันเจือไปด้วยคุณแลโทษ
พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่า มหาบพิตรจะทรงปฏิบัติตามตปราชธรรมอันเจือไปด้วยคุณแลโทษฉะนี้ก็ดี อันประเวณีปริณายก ผู้จะกระทำสงครามได้มีชัยชนะนั้น พึงให้รู้ในมูลสงครามสี่ประการ พลัญจะ คือ ให้รู้กำลังข้าศึกว่า ฝูงกามีกำลังแต่ในกลางวัน ฝูงนกเค้ามีกำลังแต่ในราตรี ฝูงสกุณชาติปักษีมีกำลังในเวหา ฝูงปลามีกำลังในน้ำหนึ่ง กาลัญจะ คือ ให้รู้จักกาลแห่งข้าศึกอันเสียอปริหานิยธรรมแปดประการ คือ มิได้พร้อมเพรียงกัน เป็นต้น ด้วยอาธรรมทุจริตอันใดอันหนึ่งแลหรือ หรือยังบริบูรณ์อยู่หนึ่ง เทสัญจะ คือ ให้รู้ประเทศอันกอปรด้วยธัญญาหารที่จะเป็นกำลังแห่งข้าศึกนั้น หนึ่ง อุตุญจะ คือ ให้รู้จักสมัยแห่งฤดูทั้งสาม มีวสันตฤดูเป็นต้น แห่เมืองข้าศึกนั้น หนึ่ง แลมูลแห่งสงครามทั้งสี่ประการอันจะมีชัยชนะนี้ เสนาบดีซึ่งเป็นปริณายกนำพลทหารของพระองค์มิได้แจ้ง ยกพลโยธามาตีกรุงอังวะในวสันตฤดู กรุงอังวะเป็นภูมิประเทศตอนสูงกว่าหงสาวดีถึงห้าสิบเส้น เมื่อฝนตกน้ำนองแล้ว กระแสน้ำนั้นมีกำลังแรงเชี่ยวจนถึงก้อนศิลาแลต้นไม้ใหญ่มิอาจจะทนทานได้ ก็หักโค่นทำลายลอยลงไปตามกระแสน้ำ แลทัพพระองค์ยังจะทนทานได้หรือ จะเป็นอันตรายแก่พลทหาร เห็นจะล้มตายเป็นอันมาก พวกพลทหารกรุงอังวะจะมิพักรบพุ่ง พลทหารฝ่ายพระองค์ก็จะพินาศล้มตายไปเอง บรมบพิตรสิจะปฏิบัติปราบเสี้ยนศัตรูให้ราบคาบ หาแจ้งในมูลสงครามทั้งสี่ประการไม่หรือ
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังพระสังฆราชาภังคยสกโรว่าดังนั้น ก็ทรงพระสรวล แล้วจึงตรัสว่า พระคุณเจ้าเป็นสมณะสั่งสนทนาด้วยมูลสงครามดังนี้ เปรียบประดุจบุรุษพรรณนาภัยอันพิลึกในป่าหิมพานต์ให้แก่ฝูงพระยาไกรสรราชสีห์ฟัง แลสำแดงภัยพิลึกในมหาสมุทรให้ฝูงนาคราชอันมีฤทธิ์ฟัง ฝูงพระยาไกรสรราชสีห์หรือจะหนีไปจากป่าหิมพานต์ ฝูงนาคราชอันมีฤทธิ์หรือจะหนีไปจากมหาสมุทร พระคุณเจ้าสำแดงความพิรุธในใจออกเองด้วยวาจาพระคุณเจ้าสนทนา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เจรจาหาเป็นธรรมกถาเที่ยงแท้สัจธรรมไม่ พระคุณเจ้าเข้าใจว่า ราชปริณายกเสนามนตรีฝ่ายเมืองหงสาวดีไม่เข้าใจในการพิชัยสงครามแปดประการหรือ อาวุธกัญจะ คือ ตกแต่งสรรพาวุธ มีดาบเป็นต้น ให้คมกล้า เป็นที่บำรุงน้ำจิตทแกล้วทหารผู้ถือมิให้ย่อท้อ ได้เปรียบแก่ข้าศึกด้วยอาวุธ หนึ่ง สิปกัญจะ คือ ศึกษาเนือง ๆ ในศิลปะศาสตร์ทั้งปวงให้ชำนาญแม่นยำ ได้เปรียบแก่ศัตรูโดยศิลปะศาสตร์ หนึ่ง พลกัญจะ คือ จัดพลทหารอันมีกำลังแกล้วกล้า อย่าให้ปนด้วยคนขลาดอันจะพูดพาทีให้ผู้หาญย่อท้อ ให้ได้เปรียบแก่ศัตรูโดยพลทหารแกล้วกล้า หนึ่ง พยุหกัญจะ คือ จัดแจงพยุหะหมู่พลอันควรแก่ตรีเสนา เบญจเสนา เนาวเสนา สัปตเสนา ตามฐานในคัมภีร์พิชัยสงคราม แลคัมภีร์กาพย์มณฑกีว่า ฐานประเทศที่นี้ควรจะตั้งพยุหะนั้นมีครุฑกากพยุหเป็นต้น เพื่อจะให้เป็นปัจจัยอุดหนุนกัน ดุจครุฑแลกามีปีกแลหาง เท้าแลตัว ศีรษะ เป็นปัจจัยอุดหนุนพร้อมกัน จึงบินไปได้ในอากาศนั้น ได้เปรียบแก่ศัตรูโดยพยุหะนั้น หนึ่ง โกฏฐกกัญจะ คือ ฉลาดตั้งซุ้มค่ายให้มั่น กันอันตรายโดยรอบคอบ ให้เป็นที่อาศัยแก่พลทหารอันเหนื่อยมาแต่ที่ยุทธนาการจะได้อาศัยกินอยู่หลับนอนให้มีกำลังน้ำใจ ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยซุ้มค่าย หนึ่ง มันตกัญจะ คือ ให้มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นบรมรัตนมนต์อันประเสริฐเป็นนิจเนือง ๆ ทุกอัสสาสประสาทแลอิริยาบถนั่งนอนยืนเดิน เพื่อจะเป็นที่พึ่ง จะได้กระทำสัตยาธิษฐานแก่สรรพภัย มีปิศาจภัย โรคภัย ยุทธภัย เป็นต้น อันมีมาแต่ข้าศึกด้วยอากัลป์และกฤตยาคุณ ให้ไพร่พลปราศจากอันตราย ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยกำลังพระพุทธมนต์ หนึ่ง วิริยกัญจะ คือ มีความเพียร หมั่นตักเตือนทหารทุกกระทรวงการอย่าให้ขาดได้โดยอัชฌาสัย อย่าหย่อน กล้านั้นพอเป็นมัชฌิมะปานกลาง ให้ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยความเพียร หนึ่ง ปัญญากัญจะ คือ มีปัญญารำพึงซึ่งเหตุผลโดยรอบคอบเป็นนิจในอดีต อนาคต ปัจจุบันที่จะเอาชัยชนะในสงคราม อย่าให้เป็นอันตรายแก่พวกพลได้ ได้เปรียบแก่ข้าศึกศัตรูโดยปัญญา ประการหนึ่ง ทายกัญจะ คือ รู้ปูนบำเหน็จให้ถึงขนาดแก่ทหารผู้มีความชอบให้แกล้วกล้าขึ้นในสงครามจงได้ ด้วยอามิสอันดีแลถ้อยคำอันไพเราะ ให้ได้เปรียบแก่ข้าศึกโดยปูนบำเหน็จแลรางวัลนั้น หนึ่ง เป็นยอดศีรษะชัยภูมิสงคามแปดประการดังนี้ แลกลสงครามอันอื่นต่าง ๆ ก็แจ้งอยู่ ถึงพระคุณเจ้าจะเจรจาประการใด ฝูงเสนาบดีราชปริณายกฝ่ายข้าพเจ้าก็เข้าใจในวาระจิตของพระคุณเจ้าทุกประการ แต่หากว่า เกรงกาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอริยะเจ้าอยู่ จึงมิได้ว่าแก่งแย่งให้เคืองใจ
พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า ซึ่งมหาบพิตรมิได้ทรงเห็นในวาระน้ำจิตของอาตมภาพอันตั้งอยู่ใจสัจธรรม ทั้งนี้ ก็เพราะผลวจีกรรมของอาตมภาพได้กระทำมาแต่ก่อน จึงมิได้เชื่อ ให้ทรงแคลงอาตมภาพ โดยความสัตย์นี้อาตมภาพคิดโดยจิตเมตตาสัตว์ว่า อันชมพูทวีปนี้ มัชฌิมประเทศ ศีรษะแผ่นดินอยู่กลาง เป็นที่ตั้งพระมหาโพธิวิพุทธาภิเษกในวิมุติเศวตรฉัตรแห่งสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าทั้งปวง แลบันดาลรุกขชาติลดาวัลย์มีโดยรอบนั้น มีเครือวัลย์เวียนขึ้นเป็นทักขิณาวัฏ แลมียอดอ่อนน้อมเข้าไปต่อพระมหาโพธิ มีเมืองใหญ่เป็นโสฬสมหานครสิบหกแวดล้อมแผ่นดินมัชฌิมประเทศ มีทรงสัณฐานดังรูปตะโพน กึ่งกลางกว้างสามร้อยโยชน์ โดยรอบคอบเก้าโยชน์ เท่านี้ เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระยาบรมจักรพรรดิ พระยากุลจักรพรรดิ พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา ท้าวพระยาอันมีกุศลสมภารมาก ย่อมมาบังเกิดในที่นั้น แลกรุงรัตนบุระอังวะกับกรุงหงสาวดีราชธานีทั้งสองก็นับเข้าในมัชฌิมประเทศเสมอกัน ฝ่ายมหาบพิตรทั้งสองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็มีพระราชกุศลสมภารได้บำเพ็ญอบรมมาแต่ก่อนเป็นอันมาก จึงได้มาเกิดในมัชฌิมประเทศเป็นบรมอิสราธิปไตยใหญ่หลวง ควรจะกระทำพระราชไมตรีต่อกัน สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งสองฝ่ายจะได้อยู่เย็นเป็นสุข บำเพ็ญกุศลสร้างบารมีเป็นทางสวรรค์ทางนฤพานเพราะพระองค์ จึงจะสมควร บัดนี้ พระองค์ยกพลทหารมากระทำสงคารามเบียดเบียนกันฉะนี้ให้สมณพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั้งสองฝ่ายได้ความเดือดร้อนเสียกองกุศลเป็นมูลแห่งบาปอันจะไปสู่จตุราบายทุกข์ดังนี้ อาตมภาพมีอุตสาหะออกมาถวายพระพรดังนี้หาได้เข้าข้างผู้ใดไม่ หวังจะเตือนพระสติเพื่อจะให้บรมบพิตรทรงพระดำริความอันควรโดยโบราณราชประเพณีกับจะให้เป็นประโยชน์แก่พระองค์ไปในปัจจุบันแลอนาคตกาลนั้น
ขณะเมื่อพระสังฆราชาภังคยสกโรออกมาเจรจาความเมืองอยู่ด้วยสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้น พอสมิงสามกรายซึ่งไปคอยจับพม่า ณ พระธาตุสร้อยจะเยียดจับได้พม่าอันออกมาเก็บสิ่งของ ตัดเอาศีรษะมาได้สามสิบคน จับเป็นได้เจ็ดคน มาถวายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช
พระสังฆราชาภังคยสกโรเห็นดังนั้น จึงถวายพระพรว่า เดิมมหาบพิตรทรงตรัสแก่อาตมภาพว่า ซึ่งเสด็จกรีธาพลยกกองทัพขึ้นมายังกรุงอังวะนี้ ด้วยเหตุประการหนึ่ง จึงมีความปรารถนาสามประการ คือ ทรงพระราชศรัทธาจะปรารถนาพระบรมธาตุเจดียฐานไว้ให้เป็นพระราชกุศลสืบไปในกัลปาวสาน อาตมภาพก็มีความยินดี แลบัดนี้ มาเห็นราชบุรุษของพระองค์ไปกระทำอันตรายแก่คนเป็นข้าพระพุทธเจ้าอันหาความผิดมิได้ เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงพระราชอุทิศถวายแก่พระรัตนตรัยสืบมาแต่ก่อน ฉะนี้ อาตมภาพดูลำบากตา มีความกรุณาแก่คนเป็นข้าพระรัตนตรัยผู้หาความผิดมิได้มาถึงแก่ความตาย แลราชบุรุษผู้ประทุษร้ายต่อพระรัตนตรัยก็เป็นครุกรรมอันใหญ่ จะได้เสวยทุกขเวทนาไปในนรกนั้นสิ้นกาลช้านานแต่เหตุอกุศลจิตอันมิได้เคารพรู้คุณพระรัตนตรัย อาตมภาพสังเวชนัก จะขอถวายพระพรลามหาบพิตรก่อน
พระสังฆราชาภังคยสกโรทำอาการเป็นประหนึ่งจะไปจากที่นั้น สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสว่า ซึ่งพระคุณเจ้าว่า ราชบุรุษของข้าพเจ้าไม่รู้คุณพระรัตนตรัยนั้นฉันใด พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า อันราชบุรุษซึ่งได้เป็นที่ฐานันดรเสวยมนุษยสมบัติเป็นเศรษฐีคหบดี ก็อาศัยสร้างบารมี ศีล ทาน ภาวนา สักการบูชาพระรัตนตรัยเป็นประธาน ผลบุญนั้นจึงส่งให้ได้มาเกิดเป็นเศรษฐีคหบดีอยู่ในมัชฌิมประเทศราชธานี ควรที่ราชบุรุษเหล่านี้จะรู้คุณพระรัตนตรัยทำสักการบูชาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี่มากกระทำอันตรายเบียดเบียนฆ่าคนเหล่าข้าพระอันพระมหากษัตริย์แต่ก่อนทรงพระราชอุทิศถวายไว้ให้ปฏิบัติพระรัตนตรัยจนล้มตาย เป็นครุกรรมโทษ จะได้ทนทุกขเวทนาในอเวจีมหานรกเป็นกาลช้านานนัก เหตุฉะนี้ อาตมภาพจึงถวายพระพรว่า ราชบุรุษเหล่านี้มิได้รู้คุณพระรัตนตรัย
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังพระสังฆราชาภังคยสกโรสำแดงธรรมโดยพิสดารดังนั้น ก็ถอยมานะในพระทัยลงด้วยสามารถ พระองค์เคารพในพระรัตนตรยาธิคุณยิ่งนัก ทรงพระดำริเห็นธรรมสังเวชทุกประการ จึงตรัสแก่พระสังฆราชาภังคยสกโรว่า เมื่อแรกข้าพเจ้าขึ้นมาถึงนั้น มิได้พบแต่สักคนหนึ่ง ก็ไม่แจ้งกิจการในกรุงอังวะว่าจะเป็นประการใด จึงให้ทหารไปคอยจับเอาคนมาเพื่อจะใคร่รู้กิจการในกรุงอังวะ แลซึ่งทหารไปกระทำหยาบช้าฆ่าฟันฝูงคนซึ่งปฏิบัติบรมธาตุเสียทั้งนี้ ข้าพเจ้าหาได้สั่งให้ทำแก่คนข้าพระไม่ สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้เอาผู้ไปฆ่าฟันเหล่าข้าพระเสียนั้นเป็นโทษ
พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า ซึ่งมหาบพิตรตรัสว่ามิได้สั่งกระทำนั้น ก็ทำโทษแก่พระองค์มิได้ แลซึ่งเกิดเหตุทั้งนี้เพราะอาตมภาพ อันมหาบพิตรจะให้ลงพระราชอาญาราชบุรุษเหล่านั้น ก็ต้องอยู่ในสิกขาบท อาตมภาพขอพระราชทานโทษอย่าให้ขุ่นหมองในสมณกิจเลย แลซึ่งเขามิได้เคารพต่อพระรัตนตรัยไปฆ่าฟันพวกข้าพระเสียนั้น บาปกรรมก็ติดตัวเขาผู้ทำผิดไปในอนาคตกาล
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชพระราชโทษให้แล้ว แล้วจึงตรัสแก่พระสังฆราชาภังคยสกโรว่า ข้าพเจ้าจะฟังคำพระคุณเจ้า จะถอยทัพกลับไปจากกรุงรัตนบุระอังวะแล้ว แต่มีศรัทธาจะใคร่ฐาปนาก่อหอพระขึ้นไว้ให้เป็นการกุศลเป็นที่สำคัญไว้สักแห่งหนึ่ง จะให้เป็นเกียรติยศไปภายหน้า พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรว่า ตามแต่พระองค์จะทรงพระราชบัญชาที่ควรเถิด สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงให้จัดของถวายตอบแทนแก่พระสังฆราชาภังคยสกโรมากกว่าที่นำมาสองเท่า พระสังฆราชาภังคยสกโรจึงถวายพระพรลาพระเจ้าราชาธิราชกลับเข้ามาเมือง แล้วเข้าไปถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องตามซึ่งได้สนทนากับพระเจ้าราชาธิราชทุกประการ สมเด็จพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้แจ้งว่า กองทัพมอญเลิกไปก็คลายพระวิตกลง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชจึงตรัสสั่งให้รื้อเรือขนานไปสร้างหอพระขึ้นำไว้ ณ พระธาตุสร้อยจะเยียด แล้วพระองค์ก็ให้ถอยทัพมา
ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทราบว่า พระเจ้าราชาธิราชเลิกกองทัพออกจากที่แล้ว ก็ให้ทหารออกไปเอาเพลิงเผาหอพระซึ่งพระเจ้าราชาธิราชสร้างไว้นั้นเสีย ควันเพลิงก็กลุ้มกลบตระหลบไป สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นทหารพม่าออกมาเผาหอพระที่พระองค์ให้สร้างไว้นั้น ก็น้อยพระทัย ทรงพระโกรธยิ่งนัก ตรัสสั่งให้หยุดกองทัพจะกลับขึ้นมาตีเอาเมืองอังวะให้ได้
ฝ่ายอำมาตย์ทินมณีกรอดจึงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ทรงพระราชศรัทธาให้ฐานปนาหอพระขึ้นไว้เป็นพุทธบูชาของพระรัตนตรัยขาดแล้ว ผู้ใดกระทำประทุษร้ายแก่พระศรีรัตนตรัย โทษนั้นก็อยู่แก่ผู้กระทำผิด ประดุจตัวผู้ซึ่งหยิบต้องถ่านเพลิงนั้นก็หากจะร้อนในมือตนเอง แลซึ่งพระองค์ฐาปนาบำเพ็ญพระราชกุศลสร้างหอพระเป็นพุทธบูชาไว้นั้น ถึงมีผู้มาทำอันตรายดังนี้ พระราชอานิสงส์จะได้สาบสูญเสียนั้นหามิได้ ก็ติดตามค้ำชูพระองค์ไปจนสำเร็จพระนิพพาน ประการหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้ามีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่า บุคคลจะผจญสงครามภายนอก ชนะได้ร้อยครั้งพันครั้ง ก็มิเท่าผู้ผจญสงครามภายใน คือ อดโทโส ได้ขณะหนึ่ง มีกุศลอันล้ำเลิศประเสริฐกว่ากุศลทั้งปวง จะคณนาหามิได้ ประการหนึ่ง อันประเพณีพระมหากษัตริย์ตรัสสิ่งใดเปรียบประดุจงาช้างซึ่งงอกออกแล้วมิได้คดคืน พระองค์ก็ได้ตรัสให้ถ้อยคำไว้แก่พระสังฆราชาภังคยสกโรว่า จะถอยทัพเสด็จกลับไปกรุงหงสาวดี แล้วยังมิทันได้กลับไปถึงพระนครก่อน มาทรงพระโกรธแก่พม่า จะยกคืนขึ้นไปนั้น ข้าพเจ้าเห็นไม่ชอบ ขอได้ทรงพระดำริตามพระวัตรานุวัตรดูจงควร
สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชได้ทรงฟังอำมาตย์ทินมณีกรอดทูลทัดทานดังนั้น ก็เห็นด้วย จึงให้ถอยทัพมาตั้งอยู่ ณ เมืองพุกาม ทรงพระราชศรัทธาสั่งให้ก่อกุฎีถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก แลให้มีการมหรสพสมโภชสามวัน แล้วก็ยกพยุหโยธาทัพเสด็จกลับมาถึงกรุงหงสาวดี
ปกหลัง ขึ้น
โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตำบลถนนสำเพ็ง ตอน
วัดเกาะ จำหน่ายหนังสือประโลมโลก, ธรรมะ,
สุภาษิตต่าง ๆ และรับพิมพ์หนังสือ เช่น การ์ด,
ตั๋ว, ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม ฯลฯ ทำเล่มสมุด
เดินทองอย่างงาม ๆ หรือจะว่าให้ทำเป็นพิเศษก็ได้
สิ่งของที่กล่าวมาแล้วนี้ รับรองว่าจะทำให้อย่างประ-
ณีตและเร็วทันกับความประสงค์ ทั้งหล่อตัวอักษร
พิมพ์จำหน่ายด้วย จะคิดราคาอย่างย่อมเยา
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความประสงค์อย่างใด
อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เชิญ
ท่านไปลองซื้อหรือจ้างพิมพ์ ท่านจึงจะทราบได้ว่า
ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญคิดราคาพอสมควร