แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลง



ราชาธิราช
เล่ม ๖




ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี

ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง

อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี

ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี

เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย




วัดเกาะ
รัตนโกสินทรศก ๑๐๘




หน้า ๒๔๑–๒๘๘ (๑–๔๗) ขึ้นลง



ราชาธิราช เล่ม ๖




ตั้งแต่พระยาน้อยได้นางเม้ยมะนิดเป็นเมีย หลงรัก

จนถึงพระมหาเทวีให้มุอายลาวไปหาพระยาน้อย

แล้วให้สมิงพะตะบะกับพวกหัวเมืองไปจับพระยาน้อย





ขณะนั้น ตละแม่ท้าวเห็นสามเณรสึกออกมาแล้วก็ทรงพระสรวลเป็นที่เยาะ พระยาน้อยจึงห้ามว่า พระน้องอย่าหัวเราะเยาะเย้ย มักกันจีนี้มีปัญญารู้หลักนัก เรารักกว่ามังเทวะมอญพี่เลี้ยงเราอีก ตละแม่ท้าวได้ยินพระยาน้อยห้ามดังนั้น จึงเอาธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้ กับผ้าขาวพับหนึ่ง ขันทองคำใบหนึ่ง มาให้มังกันจี แล้วขอษมาว่า อย่าให้มีโทษ มังกันจีก็ถวายบังคมรับษมาตละแม่ท้าว แล้วจึงรับเอาสิ่งของทั้งนั้น

ฝ่ายพระยาน้อยก็เอาปริศนาซึ่งพระองค์ทรงแก้นั้นออกมาสอบถามมังกันจีตามมีมาแต่หนหลัง มังกันจีก็ทูลว่า ปริศนาของข้าพเจ้าซึ่งพระองค์แก้นั้นถูกทุกประการ พระยาน้อยกับมังกันจีก็มีความยินดีรักใคร่กันนัก คิดการกันจะเอาราชสมบัติให้ได้

ครั้นอยู่มา พระยาอู่พระเจ้าช้างเผือกทรงประชวรหนัก พระเจ้าช้างเผือกจึงตรัสสั่งแก่สมิงชีพรายให้จัดแต่งการรำผี สมิงชีพรายรับพระราชโองการ แล้วจึงสั่งให้ปลูกโรงใหญ่ลง ณ ที่ควรแห่งหนึ่งในพระราชวัง ครั้นถึงวันกระทำการ สมิงชีพรายแลขุนนางน้อยใหญ่ก็มาพร้อมกันที่โรงใหญ่ แล้วก็ทำการรำผี

ฝ่ายพระยาน้อยกับสมิงมะราหูแลพระมหาเทวีก็มาพร้อมกันที่โรงรำผีนั้น พระมหาเทวีจึงกระซิบบอกแก่สมิงมะราหูว่า ตัวปรารถนาจะใคร่เป็นใหญ่แล้ว เสี้ยนหนามมีอยู่ เหตุไฉนไม่ลิดตัดเสียเล่า ยังจะเป็นใหญ่ได้อยู่หรือ สมิงมะราหูได้ฟังพระมหาเทวีว่าดังนั้นก็ออกมากระซิบสั่งทหารอันร่วมใจว่า การที่เราคิดไว้ก็ได้ที่อยู่แล้ว ท่านจงไปเอาดาบมายืนซุ่มอยู่ที่ริมประตูพระราชวัง ถ้าเวลากลางคืน การเสร็จแล้ว พระยาน้อยก็กลับไปวัง ท่านจงฆ่าเสียให้จงได้ ทหารก็ไปตามสมิงราหูสั่ง ขณะนั้น นางเม้ยซุนเครือ หนึ่ง นางเม้ยสะดุ้งมอด หนึ่ง สองคนนี้เป็นบุตรสาวสมิงชีพรายมารำผี พระยาน้อยเห็นเม้ยซุยเครือเม้ยสะดุ้งมอดสองคนรูปงามรำผีงามดีก็ชอบพระทัย จึงให้ผ้านุ่งสองผืน ผ้าห่มสองผืน แหวนสองวง มาส่งให้สมิงชีพรายผู้พ่อให้แก่เม้ยซุนเครือเม้ยสะดุ้งมอด สมิงชีพรายรับเอาสิ่งของไว้แล้วก็รู้ว่า พระยาน้อยชอบพระทัยลูกสาวของตัว

ขณะเมื่อรำผีอยู่นั้น พระมหาเทวีกับสมิงมะราหูคิดอ่านกันจะทำร้ายพระน้อย เสนาบดีทั้งปวงก็รู้สิ้น แลเมื่อรำผีอยู่นั้น เลี้ยงดูกันวุ่นวายอยู่ สมิงมะราหูเสพสุราเมาแล้วจึงเหยียดเท้ามาข้างพระยาน้อย ยีกำกองเห็นสมิงมะราหูทำหยาบช้าดังนั้น จึงทูลพระยาน้อยว่า พระองค์ช่างนิ่งเสียได้ให้คนดูถูก พระน้อยได้ยินยีกำกองว่าก็โกรธทุ่มเถียงขึ้นกับสมิงมะราหู สมิงชีพรายจึงทูลพระมหาเทวีว่า มารำผีกระทำการของพระเจ้าอยู่หัว พระญาติวงศ์มาวิวาทกันวุ่นว่ายดังนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ก็พลอยได้ความผิด เหตุไฉนพระแม่เจ้าอยู่หัวจึงไม่ตรัสห้ามปรามบ้าง พระมหาเทวีนั้นเข้าด้วยสมิงมะราหู ก็ว่าพ้อตัดสมิงชีพราย สมิงชีพรายก็ถอยออกมา พอเวลาพลบค่ำ บ่าวสมิงชีพรายวิ่งมาบอกสมิงชีพรายว่า เห็นทหารสมิงมะราหูถือดาบมายืนอยู่ริมประตู ข้าพเจ้าพบเข้าก็วิ่งหนีไป

ฝ่ายพระมหาเทวีก็พาสมิงมะราหูกลับไปวัง ครั้นพระยาน้อยจะกลับไปวังบ้าง สมิงชีพรายจึงห้ามไว้ ครั้นผู้คนไปสิ้นแล้ว สมิงชีพรายจึงเชิญพระยาน้อยไปบ้านเรือนสมิงชีพราย แล้วจึงทูลว่า สมิงมะราหูให้คนถือดาบมาคอยอยู่จะทำร้ายพระองค์ บ่าวข้าพเจ้าเห็นมาบอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงห้ามพระองค์ไว้ หวังจะทูลพระองค์ให้แจ้ง ทุกวันนี้ ข้าพเจ้ารักพระองค์นัก ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่อยู่ในพระเจ้าช้างเผือก การสิ่งใดข้าพเจ้าได้รู้เห็นก็จะช่วยเตือนสติพระองค์บ้าง ขอพระองค์เร่งคิดเถิด พระยาน้อยจึงตอบว่า ขอบใจลุงท่านนัก ซึ่งช่วยเตือนให้สติข้าดังนี้ ข้าขอรับเอาซึ่งถ้อยคำ แต่เวลานี้มืดค่ำแล้ว ข้าจะลาลุงท่านไปก่อน ว่าแล้วพระยาน้อยก็เสด็จกลับไปวัง สมิงชีพรายก็ให้คนตามไปส่ง

ครั้นเวลารุ่งเช้า ยีกำกองจัดแจงเอาสิ่งของขึ้นไปถวายพระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าช้างเผือกเห็นยีกำกองเอาสิ่งของมาถวาย จึงตรัสถามยีกำกองว่า มาทำไม ยีกำกองกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบถวายบังคมลาพระองค์ไปเมืองทะละ ยีกำกองก้มหน้าลงแล้วก็น้ำตาตก พระเจ้าช้างเผือกเห็นยีกำกองร้องไห้จึงตรัสถามยีกำกองว่า เป็นไรจึงร้องไห้ ยีกำกองกราบทูลว่า แต่ก่อนข้าพระพุทธเจ้าเคยนมัสการพระมุเตา ถ้าหาบุญพระองค์ไม่แล้ว อันที่จะให้ข้าพระพุทธเจ้านมัสการขุยดินแทนองค์พระมุเตานั้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไหว้แล้ว พระเจ้าช้างเผือกประชวรหนัก ได้ทรงฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่มิได้ตรัสประการใด ยีกำกองก็กราบถวายบังคมลาออกมา

ฝ่ายพระมหาเทวีได้ทราบว่า ยีกำกองมาทูลแก่พระเจ้าช้างเผือกเป็นคำเปรียบปรายดังนั้น พระมหาเทวี สมิงมะราหู ตละแม่ศรีก็คิดอ่ากันจัดแจงสิ่งของมาสมัครสมานเอาพระทัยพระยาน้อย ณ วังพระยาน้อย ครั้นพระมหาเทวี สมิงมะราหู ตละแม่ศรีมาถึงตำหนักพระยาน้อย พระยาน้อยกับตละแม่ท้าวก็ลงมาต้อนรับเชิญขึ้นไปบนตำหนัก พระมหาเทวีจึงตรัสแก่พระยาน้อยว่า วานนี้ สมิงมะราหูเสพสุราเมาเหลือกำลัง หาทันพิจารณาไม่ เหยียดเท้าไปใกล้หลาน ป้าเห็นผิดอยู่ดูมิบังควร ป้าจึงพามาขอษมาหลานเสีย หลานอย่าได้ถือโทษผูกจิตเจ็บแค้นแก่สมิงมะราหูเลย พระยาน้อยจึงตอบว่า เวลาวานนี้เป็นเวลากลางคืน ต่างเสพสุราเมาด้วยกัน ซึ่งก้ำเกินหน่อยหนึ่งจะถืออะไรกัน ต้องให้มาษมาข้าพเจ้าทำไมเล่า พระมหาเทวีจึงตรัสว่า ถ้าหลานไม่รับษมาแล้ว สมิงมะราหูก็จะน้อยใจ หลานจงรับษมาเสียหน่อยหนึ่งเถิด พระยาน้อยขัดพระมหาเทวีมิได้ จึงรับษมาแก่สมิงมะราหู ครั้นขอษมากันเสร็จแล้ว พระมหาเทวีก็อุ้มเอาพ่อลาวแก่นท้าว บุตรพระยาน้อย ขึ้นเชยชม จึงบอกว่า ป้าจะลาไปก่อนแล้ว แต่จะขอพ่อลาวแก่นท้าวไปเชยชมสักวันหนึ่ง แล้วจึงจะให้มา ส่วนพระยาน้อยแลตละแม่ท้าวก็ยอมอนุญาตให้ไป แต่ให้นางพี่เลี้ยงแลนางนมตามไปด้วย จะได้คอยดูแล เพราะไม่วางพระทัยทีเดียว ซึ่งพระมหาเทวีทำดังนี้ หวังจะมิให้พระยาน้อยแลตละแม่ท้าวมีความสงสัย จะให้เห็นว่า พระมหาเทวียังเมตตารักใคร่เหลนหลานอยู่

ฝ่ายสมิงมะราหูแลตละแม่ศรีก็ลาพระยาน้อยกลับมาวังพร้อมกับด้วยพระมหาเทวี ขณะเมื่อยีกำกองจะไปเมืองทะละนั้น จึงมาหาพระยาน้อย ทูลว่า พระองค์ค่อยอยู่จงดีเถิด ข้าพเจ้าจะบังคมลาไปก่อนแล้ว ทุกวันนี้ ข้าพเจ้าคิดถึงพระองค์นักอยู่ แต่ทว่า มิรู้ที่จะทำประการใด ข้าพเจ้าเห็นพระมหาเทวี พระเจ้าป้าของพระองค์ กับสมิงมะราหูนั้นผิดอยู่ เห็นจะคิดทำร้ายแก่พระองค์เป็นมั่นคง อย่าได้วางพระทัย เร่งทรงพระดำริเถิด ถ้ากระไร พระองค์คิดอ่านผ่อนผันไปให้ถึงเมืองตะเกิงได้แล้ว ข้าพเจ้าจะรับเป็นภารธุระให้สำเร็จการของพระองค์จงได้ พระยาน้อยได้ฟังยีกำกองว่าดังนั้นก็เห็นว่า ยีกำกองรักใคร่โดยสุจริตจึงได้ช่วยตักเตือน จึงตอบว่า ขอบใจพี่แล้ว ถ้าขัดขวางไปเบื้องหน้าจึงจะบอกไปถึงพี่ให้ทราบ เชิญไปเถิด ยีกำกองก็ลาพระยาน้อยไป อยู่มา พระยาน้อยจึงปรึกษามังกันจีแลพ่อมอญว่า เราอยู่ในเมืองพะโคนี้ อุปมาดังอยู่ในกลางใจไฟ อันสมิงมะราหูกับพระเจ้าป้าก็คิดการใหญ่หลวงจะทำร้ายแก่เรา ครั้นจะอยู่ในเมืองพะโคนี้ จะคิดอ่านทำการไม่ถนัด เราจะหนีไปอาศัยอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะดีหรือ หรือจะไปเมืองเสียง หรือจะไปเมืองตะเกิง มังกันจึจึงทูลพระยาน้อยว่า ปัญญาคนเราทุกวันนี้เป็นโลกียปัญญา จะเหมือนหนึ่งปัญญาทิพย์หรือ จำจะขอศุภนิมิตชิมลางถามเทพยดาดูก่อน รู้ชัดแล้วจึงจะจัดกระทำซึ่งการใหญ่นั้นได้ พระยาน้อยก็เห็นด้วย จึงให้มังสรวยตะโนง พ่อมะขะนุ ท่อมะอินท์ เม้ยฉะวัง มาสั่งให้แต่งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาทั้งแปดประตูเมือง แล้วให้ลงยันต์สุนัตทุกประตู แต่งกระบวนเนาวขันธ์บูชาเทพยดาร้อยแปดพระองค์ ครั้นเวลาค่ำ คนทั้งสี่จัดแจงเครื่องพลีกรรมเสร็จแล้วจึงมาทูลแก่พระยาน้อย พระยาน้อย กับมังกันจี มังสรวยตะโนง ก็พากันไปยังพระมุเตากระทำสักการบูชา แล้วพระยาน้อยจึงทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้เป็นกษัตราธิราชจะได้ครองราชสมบัติในเมืองพะโคแลจะได้ยกยอพระบวรพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไปมั่นคงแล้ว ถ้าจะไปคิดการเมืองใดก่อนจึงจะมีชัยชำนะจะได้เมืองพะโค ขอให้เทพดาเจ้าจงบอกเหตุแก่ข้าพเจ้าให้ประจักษ์ในครั้งนี้เถิด ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้วก็พากันมาชิมลางทั้งแปดทิศ ที่ประตูมูเกริษเทพยดาดลใจให้หญิงรามัญคนหนึ่งทำเพลงกล่องลูกเป็นเพลงภาษารามัญว่า อุยตะลุยตังปอนทานทาตกยาตะปอนคลุยมิอาลอนเปราะก็นงเตาะสมิง แปลเป็นคำไทยว่า ต้นมะยมใหญ่ได้อ้อมหนึ่งที่บรรจุพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าไว้ทั้งสี่พระองค์ แม้นใครไปก็จะได้เป็นพระยา มังสรวยตะโนงจึงถามมังกันจีว่า นิมิตดังนี้จะร้ายดีเป็นประการใด มังกันจีจึงว่าแก่มังสรวยตะโนงว่า ซึ่งหญิงกล่อมลูกว่า ต้นมะยมใหญ่อ้อมหนึ่งนั้น คือ ได้แก่พระยาน้อย ว่าต้นมะยมผลิดอกออกผลมาก รากใบก็ดกนั้น คือ พระยาน้อยเจ้าของเราจะได้เป็นกษัตริย์ มีเดชเดชานุภาพแลรี้พลมาก แลที่พระบรมธาตุพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่นั้น คือ เมืองตะเกิง ให้พระยาน้อยไปคิดการ ณ เมืองตะเกิงเถิดจะได้ชัยชำนะ ไปประตูหนึ่งแม่หญิงคนหนึ่งกล่อมลูกว่า อุยมิมิญโกลเปลิกกะ นุกวานติกรานเกิกโกญเจิญ จะพริงลาเจินธาตุเกศสะมะมอญ อาเปราเกาะนงเตาะสมิง แปลเป็นคำไทยว่า หลวงชีคนจนขี้คร้านเดิน ซื้อลูกช้างมาขี่ ลูกช้างกินหญ้าอยู่ริมหนองที่พระธาตุ พ่อเร่งไปจะได้เป็นพระยา มังกันจีจึงแก้ว่า ซึ่งแม่หญิงขับว่า หลวงชีเกียจคร้านเดิน ซื้อลูกช้างมาขี่นั้น เหตุว่าหลวงชีมีศีลบริสุทธิ์แท้แลประกอบด้วยราชพาหนะ ซึ่งว่าช้างกินหญ้าอยู่ริมหนองนั้น เป็นประเพณีช้างจะกินหญ้า ถ้าลงกลางหนองแล้วก็ไม่พอกิน เลียบกินริมหนองจึงอิ่มนั้น คือ ได้แก่พระยาน้อยจะอยู่ในเมืองพะนี้ เห็นการจะไม่สำเร็จ ให้เร่งไปเมืองตะเกิงจะได้เป็นพระยา ประตูหนึ่งนั้นผู้หญิงกล่อมลูกว่า ตุฉะตุมะละริมปุอะทุทานปะกาวมินเทวะตาว มะเตียเลินก่ออะเวมะขะลุ แปลเป็นคำไทยว่า ไส้ขาวประดุจกลีบดอกไม้ มนุษย์แลเทวดาก็ต้องมอบเวรให้อยู่ในอำนาจพ่อเอื้อย มังกันจีจึงแก้ว่า ถ้าไปถึงเมืองตะเกิงแล้ว เทวดาแลมนุษย์จะให้กำลังแก่พระยาน้อย พระยาน้อยไปประตูหนึ่งมีหญิงกล่อมลูกว่า แตงมะแดงมะโกญสมิงมอญแก้วยะมุปอนกะมอญอาเปราะก็นงเตาะสมิง แปลเป็นคำไทยว่า บุตรพระยามอญให้เร่ไปเมืองทั้งสี่ มินานก็จะได้เป็นพระยา มังกันจีจึงแก้ว่า เมืองทั้งสี่นั้นคือ เมืองยักคะระตี เมืองตรีมุข เมืองราวันจะนาโก เมืองวะระราโก เมืองตะเกิงที่บรรจุพระบรมธาตุทั้งสี่พระองค์ เทวดาให้พระยาน้อยเร่งไปเมืองตะเกิง จะมีชัยชำนะเป็นแท้ ไปประตูหนึ่งมีแม่หญิงกล่อมลูกว่า เตาะกลาปะเกดคลาน แลตะเกาะเกริงตะโกปอนสะมอดนูนหงสา แปลเป็นคำไทยว่า เกิดก่อนอย่าเชื่อถ้อยคำพี่เอื้อย ห้วยคอลงทั้งสี่มุมปราสาทเมืองหงสาวดี มังกันจีจึงแก้ว่า ซึ่งว่าเกิดก่อนอย่าให้เชื่อถ้อยคำพี่เอื้อยนั้น ได้แก่ พระมหาเทวีจะว่ากล่าวสิ่งใดอย่าได้เชื่อถือ ซึ่งว่าจะพบห้วยหนองทั้งสี่นี้ คือ เมืองตะเกิงมีห้วยสี่แห่ง ให้เร่งไปเมืองตะเกิง จะได้เป็นใหญ่ในเมืองหงสาวดี แล้วก็ไปข้างประตูเมาะกรดอยู่ฝ่ายอุดรทิศ มีหญิงคนหนึ่งผัวตายอาศัยญาติอยู่ริมประตู ทะแยเป็นภาษารามัญว่า สมิงอาเติงตะเกิงต่างตะเกิงพอศกจักเกาะ แปลเป็นคำไทยว่า ให้ลงไปตั้ง ณ เมืองที่พระเกศธาตุ มังกันจีนจึงแก้ว่า ให้พระองค์ลงไปตั้ง ณ เมืองตะเกิงที่พระเกศธาตุ จะสำเร็จความปรารถนา แล้วก็รีบไปฟังศัพทนิมิตที่อื่น มีหญิงคนหนึ่งลูกอ่อน เรือนอยู่ริมประตูเมือง หญิงนั้นกล่อมลูกเป็นภาษารามัญว่า การเกานูมละอิริยะตุยอาเจิบเบอปีส อันยะเกวิเตาะสะนกระ แปลเป็นคำไทยว่า ถ้าผู้ใดมีความเพียรไปถึงแม่น้ำสามแถวแล้ว ผู้นั้นก็ได้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งปวง ครั้นได้ฟังศัพทนิมิตดังนั้น ก็ชวนกันไปข้างประตูสะแสงฝ่ายทิศอีสาน ได้ยินหญิงแก่คนหนึ่งพึ่งตื่นนอนลุกขึ้นบ้วนปากล้างหน้าแล้วปลุกหลานขึ้นสอนเป็นภาษารามัญว่า นายเอยคานุมกเดิดเบิกปวยตะงูจัด ๆ ตะเกิงจัดมุเตา แปลเป็นคำไทยว่า เจ้าเอ๋ย จะปรารถนาให้จำเริญสวัสดิ์ จงไปนมัสการบูชาพระธาตุพระมุเตา ณ เมืองตะเกิง ก็จะสำเร็จความปรารถนาทุกประการ มังกันจีจึงทูลว่า ซึ่งมาชิมลางฟังศุภนิมิตทั้งแปดประการนี้ ได้เนื้อความเป็นศุภสวัสดิมงคลต้องกัน ถ้าพระองค์เสด็จไปอยู่เมืองตะเกิง จะได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวงเป็นมั่นคง

พระยาน้อยได้ฟังมังกันจีทูลดังนั้นก็ดีพระทัยนัก ครั้นแล้ว พระยาน้อย กับมังกันจี มังสรวยตะโนง ก็กลับมายังพระราชวัง จึงทรงพระดำริปรึกษากับมังกันจีว่า ทำประการใดจึงส่งม้าผู้คนไปเป็นกำลังด้วยเล่า พระยาน้อยจึงให้หาพ่ออูหมอเฒ่า นายกองช้าง มาถามว่า ช้างซึ่งอยู่นอกนั้นที่กล้าแข็งมีฝีมือมากน้อยสักเท่าใด พ่ออูหมอเฒ่าจึงกราบทูลว่า พระองค์ตรัสถามหาช้างทั้งนี้ ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ ถ้าพระองค์จะคิดประการใดก็ให้ข้าพเจ้ารู้ด้วย แลชีวิตข้าพเจ้าจะตายด้วยพระองค์ พระยาน้อยได้ฟังพ่ออูหมอเฒ่าว่ากล่าวโดยภักดีซื่อสัตย์ดังนั้น จึงเอาโลหิตในอุระของพระองค์ออกกระทำสัตย์กับพ่ออูหมอเฒ่า นายกองช้าง พระยาน้อยก็บอกเนื้อความทั้งปวงแก่พ่ออูหมอเฒ่าทุกประการ พ่ออูหมอเฒ่าก็มีความยินดี จึงกราบทูลพระยาน้อยว่า ช้างของมังยอดฟ้ามีอยู่ ณ บ้านวัดตะเมะเจ็ด ชื่อ พลายประกายมาศ ตัวหนึ่ง พลายธนูเพชร ตัวหนึ่ง พลายสิงหนารายณ์ ตัวหนึ่ง พลายเพรียว ตัวหนึ่ง พลายผจญมาร ตัวหนึ่ง พลายสุริยะ ตัวหนึ่ง พลายรักน้อย ตัวหนึ่ง เป็นเจ็ดช้างด้วยกัน แลพลายประกายมาศ พลายสิงหนารายณ์ พลายธนูเพชร สามช้างนี้มีฝีมือมากกล้าแข็งนัก ถ้าข้าพเจ้าได้ขี่แล้ว ถึงช้างอื่นจะใหญ่สูงกว่าก็อาจสู้ได้ แลนายช้างเหล่านี้ก็เป็นลูกหลานว่านเครือข้าพเจ้าทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจะเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาไปด้วย แล้วพ่ออูหมอเฒ่าก็ลาพระยาน้อยไปหาคนซึ่งเลี้ยงช้าง ณ บ้านวัดตะเหมาะนั้น จึงกำหนดกันสัญญามั่นคง แล้วก็กลับมาทูลพระยาน้อยว่า ข้าพเจ้าไปจัดแจงช้างฝีมือฝีเท้าแข็งได้พร้อมแล้ว มังกันจีจึงทูลถามพระยาน้อยว่า จัดช้างได้แล้ว พระองค์จะคิดประการใดจึงจะได้คนเล่า ครั้นจะเกลี้ยกล่อมชักชวนเสนาบดีแลผู้คนในเมืองพะโคนี้ กิตติศัพท์ทั้งนี้จะไม่มิด จะเอิกเกริกไป ก็จะเสียการ พระยาน้อยจึงถามพ่อมอญว่า คนซึ่งอยู่นอกนั้น เราจะจัดเอาคนที่มีกำลังกล้าแข็งนั้น ยังจะได้หรือมิได้ประการใด พ่อมอญจึงทูลว่า ข้าพเจ้าจะออกไปเกลี้ยกล่อมคนตามบ้านนอกเห็นจะได้อยู่ พระยาน้อยก็ให้เงินทองไปกับพ่อมอญเป็นอันมาก ครั้นพ่อมอญรับเงินทองแล้วก็ถวายบังคมลาพระยาน้อยออกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมคนตามบ้านนอกอยู่สิบวัน ได้แล้วก็กลับเข้ามา พระมหาเทวีเห็นพ่อมอญจึงถามว่า ไปไหนมาเห็นประหลาดอยู่ พ่อมอญจึงทูลว่า ข้าพเจ้าออกไปเยือนป้า ณ บ้านวากะเมาะ แล้วก็มาทูลแก่พระยาน้อยว่า ข้าพเจ้ามาพบพระมหาเทวี พระมหาเทวีตรัสถามว่า ไปไหนมาเห็นประหลาดอยู่ ข้าพเจ้าทูลแก้ว่า ไปเยือนป้ามา

พระยาน้อยจึงตรัสว่า เราเป็นช่างเหล็กแล้ว จะกลัวร้อนไยเล่า ถ้ากลัวร้อนแล้ว จะตีเหล็กอย่างไรได้ พ่อมอญจึงทูลว่า ข้าพเจ้าออกไปจัดคนได้บ้านปะสิมสิบห้าคน ชื่อ มะสิง หนึ่ง มะขัง หนึ่ง มะละคอน หนึ่ง มะเทิด หนึ่ง มะจะลาน หนึ่ง มะเกิด หนึ่ง มะออก หนึ่ง มะเปา หนึ่ง มะอิน หนึ่ง มะตอบ หนึ่ง มะรอดหนังเหล็ก หนึ่ง มะจะงา หนึ่ง มะเติง หนึ่ง มะเธอ หนึ่ง มะเจ้าอินท์ หนึ่ง มะเจ้าปาน หนึ่ง มะอยู่ หนึ่ง มะสุริยะ หนึ่ง มะพ่อมอญ หนึ่ง มะเกริด หนึ่ง มะรอด หนึ่ง สมิงฆะ หนึ่ง มะตะละ หนึ่ง มะโกปอม หนึ่ง มะสอด หนึ่ง มะตอย หนึ่ง มะราย หนึ่ง มะจู หนึ่ง มะตอด หนึ่ง มะเงิด หนึ่ง รวมกันเป็นสามสิบคน ข้าพเจ้าให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วให้บำเหน็จทุกคน อนึ่ง ได้พรรคพวกพ่ออูหมอเฒ่าร้อยสามสิบคน รวมกันเป็นคนร้อยหกสิบคนด้วยกัน พระยาน้อยได้แจ้งแล้วดีพระทัยนัก จึงสั่งพ่อมอญว่า ให้พ่อมอญออกไปจัดแจงคนเหล่านี้ไว้ให้พร้อมกันในวัดปากกะโยงลาง ณ วันศุกร์ เดือนหก แรมหกค่ำ เราจะออกไปบรรจบคิดกัน พ่อมอญก็ลาพระยาพระยาน้อยออกมา นัดคนให้พร้อมไว้ ณ วัดปากกะโยงลางนั้นแล้ว พ่อมอญก็กลับเข้ามา พอพระมหาเทวีเห็นอีกครั้งหนึ่ง จึงถามพ่อมอญว่า ไปไหนมา พ่อมอญจึงทูลว่า ข้าพเจ้าไปเยือนป้า ณ บ้านวากะเมะ แล้วก็ลามาทูลพระยาน้อยว่า พระมหาเทวีแคลงข้าพเจ้าสองครั้งแล้ว พระยาน้อยจึงถามพ่อมอญว่า เราจะไปนั้นท่าทางจะไปแห่งใด ผู้คนจะกำหนดนัดกันที่ไหน พ่อมอญจึงทูลว่า ผู้คนท่าทางจัดแจงไว้ชอบกลดีเสร็จแล้ว มังกันจีทูลว่า ครั้งนี้เป็นการใหญ่ ยังไม่ได้พบทหาร พูดว่ากันก่อน ถ้ายกไปไม่ได้ การจะเสียที ทำกระไรจึงจะได้พบทหารร้อยหกสิบคนนี้หน่อยหนึ่ง พ่อมอญจึงว่าแก่มังกันจีว่า ทหารเหล่านี้ได้เอาเงินทองไปให้ ได้กินน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถือสัตย์มั่นคงอยู่แล้ว จะพาเอาตัวเข้ามานี้ยากนัก กิตติศัพท์จะแพร่งพรายไป มังกันจีจึงว่า ถ้ากระนั้น จำจะทำกลอุบายไม่ให้คนทั้งปวงล่วงรู้ จึงทูลพระยาน้อยว่า เชิญพระองค์จงเสด็จไปไล่เนื้อเถิด จึงจะได้พบทหารเหล่านั้น พระยาน้อยจึงตรัสว่า ว่านี้ควรอยู่แล้ว ก็ให้คนไปบอกสมิงมะราหูว่า จะไปไล่เนื้อ ให้พี่มาไปเที่ยวเล่นไล่เนื้อด้วยกัน สมิงมะราหูจึงว่า วันนี้ข้ากังวลอยู่ไปด้วยไม่ได้ แล้วพระยาน้อยก็เสด็จไปไล่เนื้อกับด้วยมังกันจี พ่อมอญ แลบ่าวไพร่ที่ร่วมพระทัย พ่อมอญแลพ่ออูหมอเฒ่าจึงนำคนซึ่งนัดกันนั้นมาเฝ้าพระยาน้อย พระยาน้อยก็ให้กระทำสัตย์ต่อกัน แล้วจึงสั่งให้พ่อมอญคุมคนเหล่านี้ซุ่มไว้คอยท่าอยู่ ณ วัดปากกะโยงลาง ฝ่ายพ่ออูหมอเฒ่านั้นให้เอาช้างเจ็ดตัวไปไว้ ณ บ้านกลาด พระยาน้อยก็เสด็จกลับมาวัง จึงให้เอาเนื้อไปให้สมิงมะราหูตัวหนึ่ง

แล้วพระยาน้อยจึงคิดกันกับมังกันจีว่า บัดนี้ ผู้คนแลช้างม้าเราก็ได้พร้อมเสร็จแล้ว จะยกหนีวันใดดี มังกันจีจึงทูลว่า ฤกษ์จะได้วันพฤหัสบดี เดือนเจ็ด ขึ้นสี่ค่ำ จะมีชัยชำนะข้าศึก ให้เร่งยกเถิด พระยาน้อยก็จัดแจงผู้คนจะยกไปตามฤกษ์ จึงให้เขียนฉลากชื่อประตูเมืองทั้งแปดนั้นมาปนกันเข้า แล้วก็เสด็จไปยังพระมุเตา จึงทรงอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะยกไปประตูใดจะได้ชัยชำนะ ขอให้ข้าพเจ้าจับถูกฉลากประตูนั้น แล้วก็หยิบถูกฉลากประตูกะโยงลาง พระยาน้อยยังมิได้กลับเข้ามา พอสมิงมะราหูใช้ให้พ่อพะโคไปดูพระยาน้อยให้รู้ว่า จะไปไล่เนื้อหรือ หรือจะไปแห่งใด พ่อพะโคตามมาดูพบพระยาน้อยอยู่ ณ พระมุเตา พระยาน้อยจึงตรัสถามพ่อพะโคว่า มาทำไม พ่อพะโคทูลว่า สมิงมะราหูใช้ให้ข้าพเจ้ามาดูว่า พระองค์จะเสด็จไปไล่เนื้อหรือจะอยู่ พระยาน้อยจึงตรัสว่า พ่อพะโค มึงไปด้วยกูเถิด พ่อพะโคจึงทูลว่า ข้าพเจ้าอยากจะใคร่ไปด้วยพระองค์อยู่ แต่ทว่า กลัวสมิงมะราหูจะฆ่าข้าพเจ้าเสีย จำจะกลับไปบอกเนื้อความแก่สมิงมะราหูก่อน พระยาน้อยจึงตรัสว่า อย่ากลัวเลย ไว้เป็นธุระกูเอง แล้วก็พาพ่อพะโคกลับเข้ามาวัง

ขณะนั้น พระยาอู่ พระยาช้างเผือก ทรงพระประชวรหนักอยู่ ฝ่ายพระมหาเทวี สมิงมะราหู แลเสนาบดีทั้งปวงนั้นก็เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน ณ ที่อยู่พระเจ้าช้างเผือกสิ้น ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือนเจ็ด ขึ้นสี่ค่ำ เวลาเที่ยงคืน พระยาน้อยทิ้งตละแม่ท้าวแลพ่อลาวแก่นท้าวไว้มิได้บอกให้ตละแม่ท้าวรู้ กลัวเกลือว่าจะมีความอาลัยเศร้าโศกนัก จะเป็นอันตรายแก่การที่จะไป พาเอาแต่ข้าหลวงเดิมเจ็ดสิบคนหนีออกทางประตูกะโยงลาง พ่อพะนั้นก็พาเอาไปด้วย เมื่อจะออกจากประตูนั้น นายประตูขัดขวางห้ามไว้มิให้ไป พระยาน้อยก็ให้ฆ่านายประตูเสียคนหนึ่ง พากันออกไปได้ ครั้นยกไปถึงตำบลบ้านกลาดที่ช้างอยู่นั้น พระยาน้อยขึ้นทรงพลายประกายมาศ พ่อเกิดขี่พลายสิงหนารายณ์ พ่อเม้ยพะนูขี่พลายธนูเพชร มังกันจีขี่พลายรักน้อย พ่อเม้ยเปาขี่พลายสุริยะ พ่อเม้ยอินท์ขี่ช้างพลายตัวหนึ่ง พ่ออูหมอเฒ่าขี่พลายผจญมาร มะพ่อมอญขี่พลายเพรียว แล้วก็ยกเร่งรีบไป

ขณะนั้น ผู้คนชาวเมืองทั้งปวงได้รู้เหตุแล้วก็ตื่นกันวุ่นวายขึ้น โจษกันว่า พระยาน้อยฆ่านายประตูเสียคนหนึ่งยกหนีไปแล้ว เนื้อความทราบถึงสมิงมะราหูกับพระมหาเทวี พระมหาเทวีก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าช้างเผือกทูลว่า พระยาน้อยเชื่อฟังถ้อยคำมังสรวยตะโนงคนทุศีล ทำหยาบช้าฆ่าประตูเสียคนหนึ่งแล้วหนีไป พระเจ้าช้างเผือกได้ทรงฟังพระมหาเทวีทูลดังนั้นก็ทรงขัดเคืองในพระทัย จึงตรัสว่า ข้าได้บอกพี่ไว้แต่เดิมแล้วว่า อ้ายนี่ลักษณะหยาบช้านัก ใจมันฉกรรจ์ดุร้าย เมื่อเป็นเหตุดังนี้ พี่จะคิดประการใดเล่า พระมหาเทวีจึงทูลว่า จะให้ทหารพันหนึ่งไปตามจับเอาตัวมา พระเจ้าช้างเผือกจึงตรัสว่า มันคนชั่ว ถึงได้ตัวมาก็ไม่เป็นที่ไว้ใจ เกลือกมันจะคิดทำอันตรายแก่เรา มันหนีไปก็ดีแล้ว จะตามตัวคืนมาไยเล่า เหมือนเสี้ยนหนามอยู่ในตัว ครั้นบ่งเสียแล้วก็พ้นทุกข์ พระมหาเทวีจึงให้หาตัวตละแม่ท้าว ภรรยาพระยาน้อย เข้ามาถามว่า พระยาน้อยหนีออกไปบอกให้รู้หรือไม่ ตละแม่ท้าวจึงทูลว่า พระยาน้อยโกรธเคียดขึ้งมิได้รักใคร่ลูกเมียจึงหนีไปมิได้บอกให้รู้

พระมหาเทวีได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่มิได้ว่าประการใด จึงให้หาสมิงชีพรายเข้ามาตรัสว่า จะให้ไปตามจับตัวพระยาน้อยให้จงได้ สมิงชีพรายจึงทูลว่า ช้างซึ่งมีฝีเท้านั้นพระยาน้อยก็พาเอาไปเสียหมดแล้ว กว่าจะจัดแจงคนได้ก็หลายวัน เห็นจะตามไม่ทันพระยาน้อย พระมหาเทวีก็ไม่ฟัง สั่งให้สมิงชีพรายจัดแจงคนเตรียมไว้ แลเมื่อพระยาน้อยหนีไปจากเมืองพะโคนั้นได้ทหารสองร้อยสามสิบเอ็ดคนซึ่งได้นัดไว้นั้นยกรีบไปวันเดียวก็ถึงเมืองตะเกิง แลเมื่อพระยาน้อยจะเข้าไปในเมืองนั้นจึงตรัสกับทหารสองร้อยสามสิบเอ็ดคนซึ่งไปด้วยนั้นว่า เมืองตะเกิงนี้เป็นของพระมหาเทวี ผู้คนในเมืองนี้ก็เป็นของพระมหาเทวีสิ้น ถ้าเราเข้าไปได้ในเมืองแล้ว จะให้หาตัวผู้รักษาเมืองแลข้าของพระมหาเทวีมา ถ้าเราลูบแขนซ้ายให้งดไว้ ถ้าเราลูบแขนขวาแล้วจงพร้อมกันฟันเสียให้สิ้น พระยาน้อยกับทหารทั้งปวงกำหนดสำคัญกันแล้วก็เข้าไปในเมืองตะเกิง จึงให้หาผู้รักษาเมืองแลพวกซึ่งเป็นข้าของพระมหาเทวีนั้นมาสิ้น จึงตรัสลวงแก่ผู้รักษาเมืองแลขุนนางซึ่งอยู่ในเมืองตะเกิงนั้นว่า กรุงรัตนอังวะจะยกมาตีเมืองพะโค สมเด็จพระเจ้าป้าให้เราขึ้นมาจัดแจงกองทัพไว้คอยรับทัพกรุงรัตนอังวะ ผู้รักษาเมืองแลขุนนางทั้งนั้นก็เชื่อมิได้สงสัย

ขณะเมื่อพระยาน้อยให้หาผู้อยู่รักษาเมืองตะเกิงและขุนนางนั้น ได้มาเฝ้าแต่สิบเก้าคน คือ ขุนจาเอิด หนึ่ง ขุนรามกราน หนึ่ง ขุนลานเกาะ หนึ่ง อะวะอ้าย หนึ่ง อะวะตรี หนึ่ง ทะเดิมประนาร หนึ่ง พ่อท้าว หนึ่ง มะยาวสมิง หนึ่ง มะเสรียง หนึ่ง มะรายกอง หนึ่ง จวดเตา หนึ่ง พ่อพะโค หนึ่ง จัดติละเขิง หนึ่ง มะราม หนึ่ง มะเติมบันเติง หนึ่ง มะขันตระ หนึ่ง ทาดาพาขะนอง หนึ่ง ทาดาพาเตียว หนึ่ง มะแตงาน หนึ่ง เป็นสิบเก้าคนด้วยกันมาเฝ้าพระยาน้อย แต่มะแตงงานซึ่งเป็นบุตรพราหมณ์เทศยังมิมา พระยาน้อยก็คอยอยู่

ฝ่ายมะแตงงาน บุตรพราหมณ์เทศ แต่งตัวงดงามใส่เสื้อครุยทองห่มผ้าริ้วทองทาแป้งหอมสะอาดโอ่โถงมาเฝ้าพระยาน้อย พระยาน้อยเห็นคนมาพร้อมกันแล้วจึงยกพระหัตถ์ขวาลูบแขนซ้ายเข้า ทหารทั้งปวงก็เขม้นขยับตัวอยู่ ครั้นลูบแขนขวาเข้า ทหารทั้งปวงก็ไลฆ่าฟันคนสิบเก้าคนตายสิ้น แต่มะแตงงาน ลูกพราหมณ์เทศนั้น อยู่คงด้วยมนตราคมฟันไม่เข้า วิ่งหนีปีนหลังคาขึ้นไปผ้านุ่งย้อยลงมาเกี่ยวไม้อยู่ ทหารจึงยุดเอาผ้าคร่าลงมาจับตัวได้ ให้มะนันฟันเจ็ดทีจึงตาย ฝ่ายสมณะชีพราหมณ์ชาวเมืองตะเกิงเห็นพระยาน้อยฆ่าฟันผู้คนก็รู้ว่า พระยาน้อยเป็นขบถ

ขณะนั้น คนชาวเมืองซึ่งมาหาพระยาน้อยนั้นตกใจตื่นวุ่นวายอยู่ จึงมะตะจาน บุตรจาจิตร กับมะเตะ น้องปะตัน ร้องขึ้นว่า แล้วจะไม่ชนะชาวเมืองตะเกิงสิเราจะได้ความฉิบหายเสีย พระยาน้อยได้ยินชายสองคนว่าดังนั้นก็ทรงพระโกรธ จึงให้จับตัวฆ่าเสีย ทหารก็ไล่ฟันชายสองคนนั้นตาย ครั้นพระยาน้อยให้ฆ่าชาวเมืองตะเกิงเสร็จแล้ว พ่อศุภมิตรจึงทูลว่า เงินทองผ้าพรรณนุ่งห่มของชาวเมืองตะเกิงซึ่งตายนั้นจะโปรดให้ทหารเก็บเอามาหรือประการใด พระยาน้อยก็ว่า ตามเถิด พ่อศุภมิตรจึงให้ไปเก็บเอาเงินทองเสื้อผ้าของชาวเมืองมาถวายแก่พระยาน้อย พระยาน้อยก็พระราชทานแก่ทหารทั้งปวงแล้วสั่งว่า เงินทองเสื้อผ้าของมันนั้นเอาเถิด แต่ลูกเมียมันนั้นใครอย่าทำอันตราย ครั้นพระราชทานข้าทหารเสร็จแล้วจึงให้ไปนิมนต์พระอาจารย์มะเป็งซึ่งเป็นพระสังฆราชาอยู่ ณ เมืองตะเกิงนั้นเข้ามาตรัสสนทนาด้วย ฝ่ายพระอาจารย์มะเป็งก็มีความยินดีด้วยพระยาน้อย พระยาน้อยก็รักใคร่พระอาจารย์มะเป็ง พระอาจารย์มะเป็งเป็นที่ปรึกษาหารือกิจการทั้งปวงมิได้มีวิมัติกังขา

ขณะนั้น พ่อสามเกลียว ชาวเมืองตะเกิง เอาทองมาถวายพระยาน้อยยี่สิบชั่งมาสามิภักดิ์ขอเป็นข้าพระยาน้อย กราบทูลว่า ถ้าพระองค์ได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์แล้ว ข้าพเจ้าจะขอเป็นข้าฝ่าพระบาทพึ่งพระบารมีพระองค์ไปจนตลอดกาลสิ้นชีวิต ขอเป็นผู้ใหญ่บ้านสืบไป พระยาน้อยก็รับคำพ่อสามเกลียวว่า ตามใจท่านเถิด ครั้นแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็พร้อมใจกันเอาเงินทองเสื้อผ้ามาถวายพระยาน้อยเป็นอันมาก

ขณะนั้น ทหารทั้งปวงจึงกราบทูลพระยาน้อยว่า ท้องพระโรงซึ่งพระองค์อยู่นี้โลหิตซึ่งฆ่าฟันกันตายตกเรี่ยรายอาเกียรณ์อยู่ ข้าพเจ้าทั้งนี้จะขอทำถวายใหม่ พระยาน้อยจึงตรัสว่า ทำไมกับโลหิตซึ่งตกอยู่นี้จะเป็นอะไร ส่วนภรรยาท่านทั้งหลายมีระดูโลหิตตกหยดย้อยอยู่นั้น เหตุไฉนจึงไม่รื้อเรือนเสียปลูกใหม่เล่า อันโลหิตซึ่งตกอยู่นี้ เราจะเอาไว้ให้เป็นสง่าแก่คน ถ้าใครได้เห็นแล้วก็จะเป็นที่เกรงกลัวอำนาจต่อไป ครั้นอยู่มา พระยาน้อยเสด็จออกเลียบเมือง ให้จัดแจงแต่งค่ายคูประตูหอรบเชิงเทินไว้มั่นคงเป็นสามารถ แล้วจึงสั่งให้กำชับป่าวร้องทหารทั้งปวงว่า อย่าให้ใครทำอันตรายแก่ชาวเมือง ฉกชิงทรัพย์สิ่งของจนด้ายเส้นหนึ่งเข็มเล่มหนึ่งเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิฟังจะลงโทษให้จงหนัก สั่งแล้วก็เสด็จกลับเข้าเมือง ครั้นอยู่มา มังกันเจิง หนึ่ง มังเทจะ หนึ่ง มังเทเวศ หนึ่ง มังรามเตนา หนึ่ง มังเพน หนึ่ง คนห้าคนนี้อยู่บ้านกมาหมัดในแขวงเมืองตะเกิง มาสามิภักดิ์สมัครขอเป็นข้าอาสาพระยาน้อย พระยาน้อยก็มีความยินดีนัก จึงสั่งให้ชายทั้งห้าคนกระทำสัตย์ถวายต่อหน้าที่นั่ง แล้วก็ตรัสใช้ให้ชายห้าคนนั้นปลอมเข้าไปอยู่ในเมืองพะโค ตรัสสั่งว่า ถ้ามีเหตุผลที่เมืองพะโคนั้นเป็นประการใดก็จงมาบอกให้รู้ ชายผู้มีชื่อห้าคนรับอาสาถวายบังคมลาพระยาน้อยแล้วก็ปลอมเข้าไปอยู่ในเมืองพะโคคอยฟังเหตุการณ์ ครั้นแล้ว พระยาน้อยจึงตรัสแก่มังกันจีว่า ยีกำกองซึ่งมาอยู่ในเมืองทะละนั้นได้ให้สัญญาไว้แก่เราว่า ถ้ามีเหตุผลประการใดก็ให้บอกไปให้รู้ด้วย บัดนี้ เราก็ยกมาอยู่ในเมืองตะเกิงแล้ว จำจะมีหนังสือบอกไปถึงยีกำกองให้รู้จึงจะควร มังกันจีจึงกราบทูลเห็นด้วย พระยาน้อยจึงให้มังกันจีแต่งหนังสือ ในลักษณะหนังสือนั้นว่า เราผู้เป็นพระราชบุตรพระเจ้าช้างเผือก มีนามว่า มังสุรมณีจักร คือ พระยาน้อย อวยพรมาถึงพี่ยีกำกองให้แจ้ง ด้วยพระมหาเทวีกับสมิงมะราหูเป็นชู้รู้กัน เหตุผลทั้งนี้พี่ยีกำกองก็รู้อยู่สิ้นแล้วแลได้เตือนสติข้าให้คิดอ่านมาอยู่ ณ เมืองตะเกิง แลบัดนี้ ข้าก็หนีมาอยู่ ณ เมืองตะเกิงแล้ว คิดจะทำการตอบแทนสมิงมะราหูบ้าง ให้พี่เอ็นดูช่วยการทั้งนี้ให้สำเร็จด้วย พี่กับข้าก็จะได้พึ่งสืบไป ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้วส่งให้คนถือไปให้ยีกำกอง ณ เมืองทะละนั้น ครั้นยีกำกองแจ้งในหนังสือก็ดีใจว่า สมดังปรารถนาแล้ว จึงแต่งหนังสือตอบพับผนึกส่งให้คนใช้กลับไปถวายพระยาน้อย พระยาน้อยรับหนังสือมาฉีกผนึกออกทรงอ่าน ในลักษณะหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า ยีกำกอง ขอกราบถวายบังคมมาถึงพระยาน้อยให้ทราบ ด้วยข้าพเจ้าได้ทูลไว้แก่พระองค์ว่า จะช่วยคิดทำการสนองพระเดชพระคุณตามสติกำลังนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ซ่องสุมผู้คนตระเตรียมไว้แล้ว ถ้าพระองค์จะทำการเมื่อใด ขัดขวางอย่างไร จงบอกมาถึงข้าพเจ้าให้ทราบเถิด ข้าพเจ้าจะช่วยกว่าจะสำเร็จการของพระองค์ ครั้นพระยาน้อยได้แจ้งในหนังสือแล้วก็มีความยินดี

ขณะนั้น พระยาน้อยออกไปเลียบเมืองตะเกิงอีกครั้งหนึ่ง จึงเสด็จไปดูที่จะปลูกตำหนัก แล้วตรัสปรึกษาด้วยพระอาจารย์มะเป็งแลมังกันจีว่า ที่หว่างพระธาตุพระอาโศก องค์หนึ่ง พระบารมี องค์หนึ่ง ชอบกลดี เราจะปลูกเรือนอยู่ จะเห็นประการใด พระอาจารย์มะเป็งแลมังกันจีจึงกราบทูลว่า พระอาโศกนั้นนามหก พระบารมีนามห้า พระองค์ก็นามห้า หนองบัวซึ่งใกล้พระธาตุนั้นนามสอง โบกขรณี ณ เมืองตะเกิงนามเจ็ด แลยังที่เจดียฐานแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าก็มีนามปรากฏดังนี้ ก็ต้องด้วยนามเป็นศุภมงคลสิ้น ถ้าตั้งตำหนักลงที่นี้จะมีชัยชำนะแก่ศัตรู พระยาน้อยได้ฟังอาจารย์มะเป็งกับมังกันจีว่าดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงตั้งให้มะกะเมวเกลาเป็นสมิงพะโคเป็นนายการปลูกตำหนักให้สำเร็จโดยเร็ว แล้วก็เสด็จกลับเข้ามาที่อยู่ จึงสั่งให้มะเองรอดอยู่รักษาประตูดูผู้คนแปลกปลอม ให้มะสินนุมราชไปกินเมืองเสียง ให้มะรามเกลา หนึ่ง มังเทวะ หนึ่ง มะพ้อง หนึ่ง สัตย์ตะมัด หนึ่ง เมาชาย หนึ่ง ชายห้าคนนี้ ให้ไปรักษาอยู่ต้นทางข้างเมืองพะโค

ฝ่ายพ่ออูหมอเฒ่าจึงเข้ามากราบทูลว่า ช้างซึ่งเลี้ยงไว้ในเมืองนี้ขัดสนด้วยน้ำหญ้า จะขอเอาไปเลี้ยงไว้นอกเมือง เวลาค่ำจึงจะเอาเข้ามาไว้ในเมือง



(ยังมีต่อ)



ปกหลัง ขึ้น



แจ้งความ


โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หน้าวัดเกาะ


แผนกจำหน่าย




หนังสือประโลมโลก, ธรรมะ, สวดมนต์,

ชาดก, นิทาน, นิราศ, รำร้อง, พงศาวดารจีนต่าง ๆ,

พงศาวดารรามัญ, เพลง, สุภาษิต, แหล่เทศน์ต่าง ๆ

กับมีหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ

แลหล่อตัวอักษรพิมพ์จำหน่ายด้วย คิดราคา

พอสมควร


แผนกรับจ้าง




รับพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เช่น ใบปลิว, ตั๋ว,

ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม และการ์ด ฯลฯ

กับรับทำเล่มสมุดและเดินทอง คิดราคาพอสมควร




เล่ม ๕ ขึ้น เล่ม ๗