ราชาธิราช/เล่ม ๗
ปก ลง
ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา
ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา
เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี
ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง
อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี
ท่านซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี
เจริญศรีสิริสวัสดิ์พิพัฒน์เอย
ถึงสมิงมะราหูยกมารบเองก็หนีไป
จนพระมะเป็งสึกออกมาได้เป็นที่พระยาอินทโยธารักษาเมืองตะเกิง
พระยาน้อยจึงตั้งพ่ออูหมอเฒ่าให้เป็นสมิงพ่อหมอละเอิกบาง แลให้เอาช้างไปเลี้ยงไว้นอกเมืองตามกราบทูล แล้วจึงถามมังกันจีว่า ตำหนักที่ให้ปลูกนั้นแล้วหรือยัง มังกันจีกราบทูลว่า เสร็จแล้ว พระยาน้อยจึงตรัสถามว่า ฤกษ์จะได้เถลิงพระราชมนเทียรเมื่อใด พระอาจารย์มะเป็งกับมังกันจีกราบทูลว่า ฤกษ์ในเวลาบ่าย พระยาน้อยจึงสั่งมังกันจีให้จัดแจงเครื่องศุภมงคลซึ่งจะเถลิงพระราชมนเทียรนั้น มังกันจีก็จัดเครื่องมุรธาภิเษกพร้อมเสร็จตามสั่งแล้ว ครั้นถึงเวลาบ่ายสามนาฬิกาหกบาทได้มงคลศุภฤกษ์ พระยาน้อยก็แต่งพระองค์เสร็จ เสด็จประเวศยังที่มนเทียรพระราชพิธี พราหมณ์ปุโรหิตถวายอาเศียรพาทรดน้ำพระพุทธมนต์ เถลิงพระราชมนเทียรโดยราชนิติประเพณี
ขณะนั้น พ่อศุภมิตรเอาดอกกมุทขาวเจ็ดกำมาถวาย มังกันจีเห็นดอกกมุทก็ยิ้มอยู่ พระยาน้อยถามว่า เหตุใดท่านจึงยิ้มอยู่ดังนี้ มังกันจีจึงทูลว่า ซึ่งข้าพเจ้ายิ้มอยู่นั้น ด้วยความยินดีว่า พ่อศุภมิตรเอาดอกกมุทมาถวายพระองค์นั้นเป็นมงคลศุภนิมิตอันประเสริฐ ด้วยนามเมืองพะโคกับนามแห่งดอกกมุทชาตินั้นต้องกัน เป็นนิมิตที่พระองค์จะได้ซึ่งเมืองพะโคเป็นแท้ดุจได้ดอกกมุทนี้ อนึ่ง นามแห่งพ่อศุภมิตรกับนามของพระโพธิสัตว์เมื่อเสวยพระชาติชื่อว่าศุภมิตรนั้นก็ต้องกัน แลนามว่าศุภมิตรนั้นบอกบรรยายอดีตเหตุว่า ประเพณีพระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีมานั้นย่อมเสวยทุกข์ลำบากก่อน จึงได้สำเร็จแก่พระสรรเพชุดาญาณ อดีตเหตุดังนี้เปรียบด้วยเหตุของพระองค์อันดำริการแสวงหาซึ่งความสุขในสิริราชสมบัติแลจะตั้งจะพระองค์ให้มีอิสรภาพแป่ไปในรามัญประเทศทั้งปวงนั้น ก็จำจะได้ซึ่งทุกข์ลำบากก่อน จึงจะถึงซึ่งขัตติยาภิเษกเป็นเอกอัครราชาธิราชแต่พระองค์เดียวในแผ่นดินนี้ เมื่อพระยาน้อยได้ฟังมังกันจีทูลถวายซึ่งมงคลนิมิตดังนั้นก็มีพระทัยยินดีนัก จึงตรัสสรรเสริญว่า ท่านนี้สมควรที่เป็นปราชญ์ มิเสียทีที่ได้ศึกษาซึ่งลัทธิในพระพุทธศาสนา จะว่ากล่าวสิ่งใดก็ยุติด้วยเหตุผลเป็นสุนทรกถาไพเราะนักควรจะเชื่อฟังได้ ครั้นแล้ว มะสามเกลียวเอาทองมาถวายพระยาน้อยอีกยี่สิบชั่ง จึงทูลว่า ข้าพเจ้าถวายทองครั้งก่อนนั้นจะขอกินเมืองวาน ถวายครั้งนี้จะขอกินเมืองเมาะตะมะ จะขอกินทั้งสองเมือง พระยาน้อยได้ฟังมะสามเกลียวทูลดังนั้นก็ทรงพระสรวลอยู่ ยังมิได้ตรัสประการใด
ขณะนั้น พ่อมะลองซึ่งออกไปเกลี้ยกล่อมคนบ้านนอกนั้นได้ไพร่ห้าร้อยสิบคน จึงพาเข้าถวายพระยาน้อย พระยาน้อยก็เสด็จออกไปทอดพระเนตรคนเหล่านั้น จึงสั่งให้เรียกเอาทองคำซึ่งมะสามเกลียวเอามาถวายกับเสื้อผ้ามาพระราชทานแก่ไพร่ห้าร้อยสิบคน ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อหน้าพระที่นั่งพร้อมกัน แล้วจึงตรัสเอาใจว่า ท่านทั้งปวงนี้จงตั้งใจทำราชการด้วยเราเถิด ถ้าเราได้เป็นใหญ่สมความปรารถนาแล้วจะชุบเลี้ยงปูนบำเหน็จให้ถึงขนาด แต่อย่าไปเที่ยวข่มเหงไพร่บ้านพลเมืองให้ได้ความเดือดร้อน ถ้าผู้ใดมิฟังเที่ยวตีชิงฉกลักทรัพย์สิ่งของของราษฎรตั้งแต่ผักต้นหนึ่งขึ้นไป จะให้ลงโทษจงหนัก สั่งแล้วก็เสด็จกลับมา จึงสั่งให้พวกมะลวกคุมทหารไปคอยอยู่ทางเรือข้างเมืองพะโค
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระยาน้อยเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุมุขนาถนอกเมืองตะเกิงทางสิบเส้น ขณะนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อ เม้ยมะนิก รูปร่างนั้นงาม ยังกำลังสาว อายุประมาณสิบหกปีเศษ ประกอบด้วยลักษณะกิริยามารยาทอันแช่มช้อย รูปของนางนั้นเป็นเสน่ห์แก่คนทั้งปวง ใครได้เห็นแล้วก็รักใคร่ไม่เว้นคน แต่ตกมาเป็นภรรยามะจัดคิดถึง พึ่งอยู่ด้วยกันใหม่ ๆ นางนั้นนั่งร้านขายแป้งขายน้ำมันอยู่หน้าบ้านริมทางที่พระยาน้อยจะเสด็จไป แลนางนั้นขายของดีมีกำไรมาก เพราะคนพอใจมาซื้อที่ร้านนั้นติดจะชุกชุมหวังจะได้ดูรูปนางเพราะเหตุว่าเป็นหญิงรูปงามต้องใจคน เวลานั้น พระยาน้อยเสด็จไปทอดพระเนตร เห็นนางเม้ยมะนิกรูปงามก็ชอบพระทัย แต่หยุดยืนพินิจโฉมนางอยู่มิใคร่จะเสด็จดำเนินต่อไปได้ ส่วนนางเม้ยมะนิกเหลือบเห็นพระยาน้อยก็ช้อยหางตาไปสบพระเนตรพระยาน้อย ถ้อยทีถ้อยมีความประติพัทธ์แก่กัน เป็นทั้งนี้เพราะบุญนิยม คือ บุพเพสันนิวาสของชนทั้งสองได้สร้างสมมาด้วยกันแต่บุริมชาติ ปางหลังจึงเผอิญให้เห็นกันแล้วก็มีควมผูกพันรักใคร่ซึ่งกันแลกัน แต่ในปัตยุบันชาตินี้ อกุศลนิยมชักให้เม้ยมะนิกตกไปเป็นภรรยามะจัดคิดถึงเสียก่อน แล้วจึงได้เป็นบาทบริจาริกาพระยาน้อยต่อภายหลัง ส่วนพระยาน้อยเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุมุขนาถแล้วจึงให้คนไปหาตัวเม้ยมะนิกมา แล้วก็เสด็จกลับเข้าเมือง พระยาน้อยมีความรักใคร่ในนางเม้ยมะนิกนัก ถึงทราบอยู่ว่า เม้ยมะนิกมีสามีแล้ว ก็ไม่อาจอดกลั้นตั้งพระสติไว้ได้ด้วยความเสน่หาเป็นกำลัง ก็อยู่ร่วมสมัครสังวาสด้วยนางเม้ยมะนิกแล้วเลี้ยงไว้เป็นนางสนมเอกเป็นที่สนิทเสน่ห์นัก
ขณะนั้น พระยาน้อยหลงด้วยนางเม้ยมะนิกรูปงามแทบประหนึ่งจะลืมคิดถึงตละแม่ท้าวผู้เพื่อนยากแลพ่อลาวแก่นท้าวอันเป็นที่รัก แต่นางเม้ยมะนิกนั้น ตั้งแต่ได้มาเป็นหม่อมห้ามพระยาน้อยแล้วก็มีความปลื้มจิตนัก ลืมมะจัดคิดถึงสามีเก่าทีเดียว อุปมาดังคนกำพร้าไร้ทรัพย์ ครั้นได้ทองแสนตำลึงแล้วก็มีความยินดีนัก
ฝ่ายมะจัดคิดถึงรู้ว่า พระยาน้อยเอาภรรยาของตัวไปเลี้ยงเป็นนางสนมดังนั้นก็มีความเสียใจแลคิดกลัวพระยาน้อยว่า จะมิยุติแต่เพียงนั้น จะทำอันตรายแก่ตนด้วย จึงหนีไปหาพระมหาเทวี ณ เมืองพะโค กราบทูลแจ้งเหตุว่า พระยาน้อยไปคิดการใหญ่ ณ เมืองตะเกิงแลกระทำข่มเหงซึ่งเอาภรรยาข้าพเจ้าไป เหตุนอกนั้น มะจัดคิดถึงก็ทูลพระมหาเทวีสิ้นเสร็จทุกประการ พระมหาเทวีได้แจ้งดังนั้นก็มีความแค้นเคืองนัก จึงให้เม้ยมังเลยลอบไปหาสมิงมะราหูมา แล้วจึงให้มะจัดคิดถึงเล่าเหตุผลทั้งปวงให้สมิงมะราหูฟัง สมิงมะราหูได้แจ้งแล้วก็มีความแค้นพระยาน้อยอยู่ แต่ยังมิได้ว่าประการใด
ฝ่ายพระมหาเทวีกับสมิงมะราหูก็พากันขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าช้างเผือก จึงพระมหาเทวีทรงพระกันแสงทูลพระเจ้าช้างเผือกว่า บัดนี้ พระยาน้อยหนีไปอยู่ ณ เมืองตะเกิงตั้งตัวเป็นใหญ่ทำอันตรายแก่ไพร่บ้านพลเมืองแล้วเก็บเอาพัสดุเงินทองของข้าพเจ้าเอามาไว้เป็นของตัว แลไปชิงเอาเม้ยมะนิก เมียมะจัดคิดถึง มาเป็นภรรยา พระยาน้อยทำหยาบช้าถึงเพียงนี้มิได้เกรงฝ่าธุลีพระองค์เลย เห็นว่า จะคิดการใหญ่หลวงอยู่ พระเจ้าช้างเผือได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสแก่พระมหาเทวีว่า ข้าป่วยหนักอยู่แล้ว ไม่รู้ที่จะคิดประการใด สุดแต่พระพี่เจ้าจะคิดเถิด พระมหาเทวีจึงให้หาสมิงชีพรายแลเสนาบดีทั้งปวงมาปรึกษาว่า พระยาน้อยคิดขบถดังนี้ ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด เสนาบดีทั้งปวงจึงทูลว่า การทั้งนี้สมิงชีพรายเป็นผู้ใหญ่ สุดแต่สมิงชีพรายจะคิดเถิด
สมิงชีพรายจึงคิดว่า พระยาน้อยพึ่งไปอยู่ ณ เมืองตะเกิงยังมิทันตั้งตัว จึงคิดอุบายทูลเบี่ยงบ่ายว่า การแต่เพียงนี้จะยกกองทัพไปนั้นยังไม่ควรก่อน ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวรหนักอยู่ จำจะให้มีหนังสือไปถึงพระยาน้อยว่ากล่าวโดยดีดูสักครั้งหนึ่งสองครั้ง ถ้าพระยาน้อยขัดขืนมิมาจึงให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองทั้งปวงบรรจบกันยกไปจับพระยาน้อย อันเมืองตะเกิงสักหยิบมือเดียวก็จะได้โดยง่ายสะดวก พระมหาเทวีได้ฟังดังนั้นก็เห็นด้วยจึงตรัสว่า ถ้ากระนั้นจะแต่งหนังสือให้ผู้ใดถือไปดีเล่า พระยาน้อยจึงจะมา สมิงชีพรายจึงทูลว่า สมิงดิศกุมารนั้น พระยาน้อยเคยนับถือมาแต่ก่อน แลเป็นคนซื่อสัตย์อยู่ ถ้าใช้ไปเห็นพอจะได้ราชการ พระมหาเทวีจึงให้หาสมิงดิศกุมารเข้ามา แล้วจึงสั่งให้แต่งหนังสือ ในลักษณะเรื่องความนั้นว่า สมเด็จพระมหาเทวีเป็นพระเจ้าป้าบอกมาถึงพระยาน้อยผู้หลานให้ทราบ ด้วยสมเด็จพระราชบิดาทรงพระประชวรหนักนั้น บัดนี้ พระโรคค่อยคลายลงแล้ว ได้ทราบว่าหลานหนีไปก็ทรงพระโกรธ จึงสั่งให้จัดกองทัพจะยกไปจับ แต่ป้าช่วยทูลแก้ไขว่า หลานเราหาหนีไม่ ป้าใช้ให้ลงมาด้วยราชกิจ ณ เมืองตะเกิง แลสมเด็จพระราชบิดานั้นก็ทรงขัดเคืองพระทัยนักอยู่ แต่หากว่าป้าช่วยทูลแก้ไขเบี่ยงบ่ายก็คลายพระพิโรธ จึงมิได้ให้ยกกองทัพลงมา แลทุกวันนี้ ป้าก็คิดถึงอยู่มิได้ขาด ได้ปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงไว้ว่า ถ้าหาบุญพระราชบิดาของพ่อไม่แล้ว ป้าก็จะยกราชสมบัติให้แก่เจ้า อย่าให้หลานเราคิดกลัวเกรงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย แลบัดนี้ ตละแม่ท้าวพ่อลาวแก่นท้าวก็ป่วยอยู่ได้ห้าวันหกวันแล้ว ให้หลานเราเร่งคืนลงมาเถิด ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้วก็ส่งให้สมิงดิศกุมาร สมิงดิศกุมารรับเอาหนังสือแล้วก็ถวายบังคมลาพระมหาเทวีออกมาขึ้นช้างพังตัวหนึ่งไปกับไพร่สิบห้าคน ครั้นถึงด่านที่พระยาน้อยให้อยู่รักษานั้น ชาวด่านก็คุมเอาตัวสมิงดิศกุมารไว้ แล้วจึงบอกเข้าไปถึงพระยาน้อย พระยาน้อยได้ทราบว่า สมิงดิศกุมารถือหนังสือมา ก็ดีพระทัยหาแคลงไม่ จึงสั่งให้ชาวด่านกลับออกไปรับสมิงดิศกุมารเข้ามา ครั้นชาวด่านกลับออกไปแล้ว พระยาน้อยจึงปรึกษาด้วยมังกันจีว่า ผู้คนในเมืองเราวุ่นอยู่หาสงบไม่ ถ้าสมิงดิศกุมารเข้ามา เราจะรับให้อยู่แห่งใดดี มังกันจีจึงทูลว่า ให้สมิงดิศกุมารไปอยู่ที่อารามธันรสนั้น พระยาน้อยเห็นชอบด้วยจึงเสด็จไปสู่อาราม สั่งให้หาสมิงดิศกุมารเข้าไปเฝ้า แล้วเชิญให้นั่งที่สมควร สมิงดิศกุมารกระทำเคารพแก่พระยาน้อยแล้วจึงทูลว่า พระองค์มาอยู่ในเมืองตะเกิงนี้เห็นชอบกลดีอยู่แล้ว ภายหน้าไปพระองค์จะได้เป็นใหญ่ในเมืองพะโคเป็นมั่นคง
พระยาน้อยจึงตรัสว่า ซึ่งลุงเรากล่าวคำทำนายเป็นมงคลดังนี้ก็ขอบใจนัก จึงถามสมิงดิศกุมารว่า ลุงท่านมานี้ด้วยธุระกังวลประการใด สมิงดิศกุมารก็ทูลว่า พระเจ้าป้าของพระองค์ใช้ให้ข้าพเจ้าถือหนังสือมา จึงเอาหนังสือนั้นถวายพระยาน้อย พระยาน้อยก็รับหนังสือนั้นมาฉีกผนึกออกอ่านดูความตั้งแต่ต้นจนปลาย เมื่อทรงอ่านถึงที่ตละแม่ท้าวและพ่อลาวแก่นท้าวป่วยนั้นก็ทรงพระโทมนัสถอนพระทัยอยู่ จึงตรัสถามสมิงดิศกุมารว่า ซึ่งพระเจ้าป้ามีหนังสือมาข้าให้กลับคืนไปนั้น ฝ่ายท่านลุงจะชอบให้ข้าไปหรือ หรือจะเห็นประการใด สมิงดิศกุมารจึงทูลว่า ครั้งเมื่อสมเด็จพระสิทธัตถมหาบุรุษราชอันเป็นเอกอัครบรมบุคคล เมื่อพระองค์เสด็จออกสู่พระมหาภิเนษกรมณ์นั้น ถ้าแลอาลัยอยู่ด้วยพระพิมพายโสธรอัครมเหสีแลพระราหุลราชโอรสแล้ว ที่ไหนจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเล่า ขอพระองค์เจ้าอย่าทรงพระวิตกถึงตละแม่ท้าวแลพ่อลาวแก่นท้าวนั้นเลย ไม่ประชวรพระโรคอะไรนัก ก็จะเป็นแต่ปวดพระเศียรวิงเวียนพระเนตรเท่านั้น อนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าจะมาเฝ้าพระองค์นี้ สมิงชีพรายก็ลอบสั่งมาให้ทูลแก่พระองค์ว่า สมเด็จพระราชบิดาทรงประชวรหนักอยู่แล้ว พระองค์นี้อุปมาดังพระยาจระเข้ใหญ่ ได้อาศัยอยู่ในวังวนอันลึกแล้ว จะขึ้นไปหาวังอันตื้นนั้นเห็นมิบังควร เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลทิ้งที่กว้างเสียไปหาที่แคบ ขอให้พระองค์ทรงพระดำริดูจงหนักก่อน แล้วสมิงดิศกุมารทูลเป็นกลแยบคายเปรียบเทียบอธิบายลองพระทัยพระยาน้อยว่า แต่ตัวข้าพเจ้าทุกวันนี้ก็แก่ชราอายุได้ถึงหกสิบเอ็ดปีแล้ว อยู่ในเมืองพะโคก็อนาถา แต่อาหารจะกินก็ไม่มี ถ้าพระองค์สำเร็จความปรารถนาแล้ว จะขอรับพระราชทานอาหารของพระองค์บ้างแต่พอได้เป็นกำลังราชการ
พระยาน้อยได้ฟังสมิงดิศกุมารทูลดังนั้นก็ทรงพระสรวล จึงตรัสว่า เมืองเมาะตะมะนั้น ถ้าสำเร็จราชการแล้ว ข้าจะยกให้แก่ลุงท่าน แต่ว่ามะสามเกลียวเขาเอาทองมาให้ออกปากขอไว้ จำจะหามาว่ากล่าวเสียก่อน จึงสั่งให้หามะสามเกลียวเข้ามาแล้วจึงตรัสว่า ซึ่งมะสามเกลียวเอาทองมาให้เราจะขอกินเมืองวานเมืองเมาะตะมะนั้น บัดนี้ เมืองเมาะตะหมนั้นเราจะยกให้แก่สมิงดิศกุมารลุงเรา เราจะขอให้ทองเจ็ดชั่งกับเมืองออกแก่ท่านแทน มะสามเกลียวก็ยอมตามคำพระยาน้อย ครั้นแล้ว พระยาน้อยจึงตรัสปรึกษาด้วยมังกันจีว่า เราจะตอบหนังสือไปดีหรือ หรือจะสั่งไปแก่ลุงเราแต่ปากเปล่าดี มังกันจีกราบทูลว่า จำจะแต่งหนังสือตอบไปจึงจะควร พระยาน้อยเห็นชอบด้วย จึงให้มะสันคนปากดีแต่งหนังสือตอบตามความที่คิดไว้ ครั้นแต่งเสร็จแล้วก็ตีตราประทับพับผนึกส่งให้สมิงดิศกุมาร สมิงดิศกุมารก็ลาพระยาน้อยขึ้นช้างมากับไพร่สิบห้าคน ครั้นมาถึงเมืองพะแล้วจึงนำหนังสือเข้าไปถวายพระมหาเทวี พระมหาเทวีก็ให้หาสมิงมะราหูมาอ่านหนังสือดู ลักษณะความในหนังสือนั้นว่า ข้าพเจ้า พระยาน้อยผู้หลาน กราบถวายบังคมมายังฝ่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าป้าให้ทราบ ด้วยทุกวันนี้ข้าพเจ้าคิดถึงพระคุณของพระเจ้าป้าอยู่เป็นอันมาก ด้วยแต่ก่อนพระเจ้าป้าก็ได้เลี้ยงดูอุ้มชูข้าพเจ้ามาจนเจริญใหญ่ถึงเพียงนี้แล้ว จะได้อกตัญญูลบหลู่พระคุณเสียนั้นหามิได้ และบัดนี้ ข้าพเจ้ามาอยู่ ณ เมืองตะเกิง ทหารข้าพเจ้ากับทหารพระเจ้าป้ายี่สิบคนนั้นวิวาทฆ่าฟันกันจนล้มตาย ครั้นข้าพเจ้าจะกลับไปบัดนี้เล่าก็กลัวอาญาพระเจ้าป้าอยู่ ถ้าพระเจ้าป้าให้อภัยแก่ข้าพเจ้าแล้ว ถึง ณ เดือนเก้าขอให้มุอายลาวแม่นมข้าพเจ้ามารับเถิด ข้าพเจ้าจึงจะไป ซึ่งข้าพเจ้ามาอยู่ ณ เมืองตะเกิงนี้ประสงค์จะรักษาชีวิต จะได้คิดขบถต่อสมเด็จพระบิดาผู้ทรงพระคุณนั้นหามิได้ ด้วยข้าพเจ้าถืออยู่ว่า ถ้าตายลงด้วยมิได้เป็นขบถต่อพระราชบิดาแล้วก็จะได้ไปสู่สุคติภูมิ ถ้าแลตายด้วยการเป็นขบถต่อสมเด็จพระราชบิดาแล้วก็จะไปสู่ทุคติภูมิเป็นแท้
ครั้นพระมหาเทวีได้ทราบในหนังสือของพระยาน้อยแล้วจึงตรัสถามสมิงดิศกุมารว่า ซึ่งพระยาน้อยให้หนังสือมานี้ยังจะจริงหรือ อนึ่ง ที่ตละแม่ท้าวแลพ่อลาวแก่นท้าวป่วยนั้นพระยาน้อยว่ากระไรบ้าง สมิงดิศกุมารจึงทูลว่า พระยาน้อยนั้นทราบว่าบุตรภรรยาป่วยก็ทรงพระกันแสงเช็ดน้ำพระเนตรอยู่ แล้วตรัสแก่ข้าพเจ้าก็เหมือนดังว่ามาในหนังสือนี้ พระมหาเทวีจึงซักถามว่า พระยาน้อยคิดอ่านอย่างไรบ้าง สมิงดิศกุมารก็ทูลว่า ซึ่งพระยาน้อยจะคิดอ่านประการใดนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบในความคิดของพระยาน้อย พระมหาเทวีได้ฟังก็นิ่งอยู่มิได้ว่าประการใด
ฝ่ายพระยาน้อยจึงให้หามังเทวะกับชายผู้มีชื่อสี่คนพวกมะลองชาวเมืองตะเกิงซึ่งให้ไปรักษาด่านบกนั้นมา แล้วจึงตรัสว่า เราจะให้ไปฟังราชการ ณ เมืองพะโค ครั้นจะให้คนของเราขึ้นไป ชาวเมืองพะโคก็จะรู้เอิกเกริกไป แลคนห้าคนนั้นก็รับอาสาว่า จะไปสืบราชการ ณ เมืองพะโคนั้นมาถวายให้จงได้ พระยาน้อยก็ให้คนทั้งห้าคนนั้นถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วจึงตรัสว่า ท่านจงออกไปที่อยู่ จัดแจงผู้คนที่สัตย์ซื่อมั่นคงไว้ให้รักษาด่าน แล้วจงรีบไป ถ้าถึงเมืองพะโคแล้วจงไปคอยฟังดูทั้งสี่ประตูเมือง คนทั้งห้านั้นก็กราบถวายบังคมลาออกมาจัดแจงคนรักษาด่านไว้มั่นคง แล้วก็พากันไป ณ เมืองพะโค ครั้นถึงแล้ว มังเทวะกับผู้มีชื่อสี่คนก็ไปอาศัยอยู่ ณ เรือนญาติซึ่งเคยไปมาแต่ก่อน ครั้นเวลาค่ำ มังเทวะกับผู้มีชื่อสี่คนไปที่ประตูมะกรุก หาได้ยินชาวเมืองพูดประการใดไม่ ได้ยินแต่ทารกทำเพลงว่า โกนปับมินุปวมมิปะยาระสิเกลิงโกนเติงตะเกิง แปลออกเป็นคำไทยว่า ลูกหงส์ร่อนมานั้นจะเป็นพระยา บัดนี้ ไปอยู่ในเมืองตะเกิง ครั้นไปประตูลาดโลงได้ยินทารกทำเพลงว่า เปิงนวยปัจจะตูกรกทัวกะนิถะกอกะ เหนับปวยสะมัวกรบยักสะถะรัท แปลเป็นคำไทยว่า ข้าวน้อยประมาณหม้อหนูหนึ่งคดใส่ภาชนะทองปูลาดด้วยฟูกหมอน เวลาค่ำแล้วก็นอน ครั้นไปประตูถะสังเกิงได้ยินเสียงทารกขับว่า เวิงเกิงทุกษาตุพระเกษมัก แปลเป็นคำไทยว่า นรกใหญ่มาตั้งเป็นราชศัตรูจะต่อมือด้วยพระองค์ผู้เป็นเจ้า พระองค์ผู้เป็นเจ้าก็จะมีชัยชำนะ ครั้นไปประตูอะวอยได้ยินเสียงทารกทำเพลงว่า ขะเลียโกนเปลิกละเริกโกนกัดกวมมะสะ นักชวยอุระโกนตังอายะเสิด แปลเป็นคำไทยว่า หนองจมในท้องนาที่หว่างพระโกนมีบุญใหญ่หลวงนัก คนศีรษะหยิกเกิดวันศุกร์จะเป็นมงคลแก่พวกมอญทั้งปวง มังเทวะกับผู้มีชื่อสี่คนจึงจดหมายเอาถ้อยคำที่ทารกทำเพลงทั้งสี่ประตูเมืองได้แม่นยำแล้วก็กลับมายังเมืองตะเกิงกราบทูลพระยาน้อยถี่ถ้วนทุกประการ
พระยาน้อยได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสถามมังกันจีว่า นิมิตดังนี้จะร้ายดีประการใด มังกันจีก็พิเคราะห์ดูด้วยปัญญาแล้วจึงกราบทูลแก้ในคำเพลงบทที่สองถวายว่า ซึ่งทารกทำเพลงว่า ข้าวน้อยประมาณหม้อหนูหนึ่ง คื จะได้แก่พระองค์ ถาดทองนั้น คือ จะได้แก่เมืองหงสาวดี ซึ่งว่าปูฟูกหมอน ณ เวลาค่ำนั้น คือ ได้แก่ข้าทหารทั้งปวงนานไปจะได้พึ่งพระบารมีพระองค์อยู่เป็นสุขทั่วกัน ซึ่งว่าหนองจมอยู่นั้น คือ ได้แก่พระมหาเทวี พระเจ้าป้าของพระองค์ กล่าววาจาคนไม่ใคร่จะเชื่อถือ เหมือนสิ่งของตกจม จะฟังเอาถ้อยคำนั้นมิได้ แลคนศีรษะหยิกเกิดวันศุกร์เป็นมงคลนั้น คือ ได้แก่พระองค์อันจะได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงสาวดี มังกันจีทูลแก้ไขในคำเพลงขับของทารกนั้นแต่สองบท คือ บทที่สองแลบทที่สี่ แต่บทที่หนึ่งและบทที่สามนั้นเป็นความง่าย ก็ทูลกล่าวแก้ว่าเป็นศุภนิมิตมงคลสิ้น ครั้นพระยาน้อยได้ทรงฟังมังกันจีทูลดังนั้นก็มีความยินดีนัก จึงให้พระราชทานรางวัลแก่มังเทวะกับผู้มีชื่อสี่คน แล้วสั่งให้ไปรักษาด่านอยู่ดังเก่า
ครั้นอยู่มาถึงเดือนเก้า ณ วันขึ้นแรมหากำหนดมิได้ ฝ่ายพระมหาเทวีจึงตรัสใช้ให้พ่อยี่เอาดอกบัวขมห้าสิบดอก บัวหลวงห้าสิบดอก รวมเป็นร้อยดอกด้วยกัน ไปถวายพระยาน้อย ณ เมืองตะเกิง พระยาน้อยก็มีความโสมนัสศรัทธา จึงให้คนเอาดอกบัวนั้นไปบูชาถวายพระบรมธาตุในเวลานั้น พ่อศุภมิตรไปฟังธรรมเทศนาอยู่ที่ใกล้พระธาตุมุเตา พอคนเอาดอกบัวไปบูชาถวายพระบรมธาตุ พ่อศุภมิตรเห็นจึงถามว่า ท่านได้ดอกบัวมาแต่ไหน คนซึ่งเอาดอกบัวมานั้นบอกแก่พ่อศุภมิตรว่า พระมหาเทวีให้คนนำมาถวายพระยาน้อย พ่อศุภมิตรจึงทำนายว่า ดอกบัวนี้มาแต่เมืองพะโคเป็นกัลยาณนิมิต เมืองพะโคจะได้แก่พระยาน้อยเป็นมั่นคง คนซึ่งนำดอกบัวไปบูชาถวายพระบรมธาตุได้ฟังดังนั้นแล้วก็กลับมาทูลแก่พระยาน้อยว่า พ่อศุภมิตรทำนายว่า พระองค์จะได้เมืองพะโคโดยง่ายเป็นแท้
พระยาน้อยได้ฟังดังนั้นจึงตรัสสั่งพ่อยี่ว่า ท่านจงกลับไปเมืองพะโคเถิด แล้วจงทูลแก่สมเด็จพระเจ้าป้าว่า ให้มุอายลาวแม่นมมารับเถิด เราจึงจะไป พ่อยี่ก็ถวายบังคมลาพระยาน้อยกลับไปเมืองพะโคกราบทูลความตามพระยาน้อยสั่งมาแก่พระมหาเทวีสิ้นเสร็จทุกประการ ครั้นเวลาค่ำ พระยาน้อยจึงให้หาพ่อศุภมิตรมาถามว่า ท่านทำนายเราว่า จะได้เป็นใหญ่ในเมืองพะโคนั้นท่านเห็นประการใด พ่อศุภมิตรจึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าไปฟังธรรมอยู่ ณ ที่พระมุเตา พอคนเอาดอกบัวไปบูชาพระบรมธาตุ ข้าพเจ้าถามว่า ได้มาแต่ไหน ผู้ซึ่งเอาดอกบัวไปนั้นบอกว่า พระมหาเทวีให้คนเอามาถวายแก่พระองค์ ข้าพเจ้าเห็นว่า ดอกบัวนั้นเป็นนามจันทร์ เมืองพะนั้นก็เป็นนามจันทร์ นิมิตต้องกันเป็นมงคลดังนี้ คือ พระองค์จะได้เมืองพะโคเป็นมั่นคง ข้าพเจ้าจึงทำนายดังนี้
พระยาน้อยได้ทรงฟังพ่อศุภมิตรทำนายก็มีพระทัยยินดีนัก จึงพระราชทานขันทองคำใบหนึ่งหนักสิบบาทกับเสื้อผ้าอย่างดีให้พ่อศุภมิตรเป็นบำเหน็จปาก แล้วว่า ถ้าเราสำเร็จราชการได้เมืองพะโคแล้ว เราจะให้พ่อศุภมิตรได้กินเมือง แต่ให้ค่อยเลื่อนเป็นใหญ่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป พ่อศุภมิตรก็มีความยินดี กราบถวายบังคมรับคำพระยาน้อย อยู่มาวันหนึ่ง พระยาน้อยออกไปเลียบเมือง ได้ทรงฟังเด็กน้อย ๆ เล่นอยู่ขับเป็นเพลงภาษารามัญว่า มะนายนีข้าคิดเลหะเกลิงเมาะปะกางขะเมิงปูเจ้าธาตุตะโคงโตงมันกะมะนิเทเลหะเติน นุกะนวมถะเบินญะปามังรวนอกเติม ๆ พระยาน้อยได้ทรงฟังจำได้แล้วก็เสด็จกลับ จึงให้หามังกันจีมาให้แก้ซึ่งนิมิตในเพลงขับนี้ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ มังกันจีก็ทูลแก้ซึ่งนิมิตถวาย ในคำเพลงของเด็กนั้นแปลออกเป็นคำไทยว่า พระมหาเทวีผู้เป็นพระเจ้าป้าของพระองค์อยู่ในเมืองพะโค ให้เก็บดอกโยทะกามาบูชาพระบรมธาตุ ณ เมืองตะเกิง ต้นทองสองต้นมีอยู่ที่ดอนสิงคุต มังกันจีแก้ความโดยพิสดารถวายว่า พระมุเตาเมืองพะโคก็มี พระมหาเทวีไม่นับถือ กลับให้เอาดอกไม้มาบูชาพระธาตุ ณ เมืองตะเกิงนี้ เมืองตะเกิงนี้เป็นที่เจดียฐานใหญ่ ฝ่ายพระองค์อยู่ในที่นี้ก็ได้นามพระศุกร์ เห็นจะได้เมืองพะโคเป็นแท้ พระยาน้อยได้ฟังมังกันจีแก้ศุภนิมิตมงคลดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงจัดแจงคิดอ่านการที่จะเอาเมืองพะโคให้จงได้
ครั้นอยู่มา พระมหาเทวีจึงให้หามะเตากุญผู้เป็นข้าเก่าของพระยาน้อยซึ่งอยู่ด้วยตละแม่ท้าวนั้นมาถามว่า เมื่อพระยาน้อยจะหนีไปนั้นคิดอ่านการสิ่งใดบ้าง มะเตากุญไม่ใคร่จะบอกเนื้อความ พระมหาเทวีทรงพระโกรธจึงให้ลงโทษตีมะเตากุญ มะเตากุญได้ความเจ็บปวดทนมิได้จึงทูลแจ้งความว่า เมื่อพระยาน้อยจะหนีไปนั้น ให้มังกันจีแลพ่อมอญไปชิมลางเอานิมิตทุกประตูเมือง ได้ศุภนิมิตแล้วพระยาน้อยจึงหนีไป ข้าพเจ้าได้แจ้งความแต่เท่านี้
ครั้นแล้วพระมหาเทวีจึงให้หาตละแม่ท้าวมาซักถามว่า เมื่อพระยาน้อยจะหนีไปนั้น ผัวเมียกันไม่รู้เหตุสิ่งใดบ้างหรือ ตละแม่ท้าวจึงทูลว่า พระยาน้อยรบกวนเคี่ยวเข็ญหาเอ็นดูลูกเมียไม่ จึงหนีไปแต่ผู้เดียว มิได้บอกเหตุสิ่งใดแก่ข้าพเจ้าให้ทราบ ตละแม่ท้าวทูลแจ้งเนื้อความเท่านั้นแล้วก็ถวายบังคมลาพระมหาเทวีกลับคืนไปตำหนัก ครั้นเวลาค่ำ พระมหาเทวีจึงทรงพระดำริว่า เราจะให้คนไปชิมลางเอาศุภนิมิตบ้าง จึงให้หาข้าหลวงคนสนิทสามคนเข้ามา ชื่อ เม้ยฉุย หนึ่ง เม้ยสะละ หนึ่ง เม้ยจุ หนึ่ง ข้าหลวงสามคนนี้เป็นคนสนิทชิดชอบของพระมหาเทวีเป็นที่วางพระทัยได้ มีเสาวนีย์ตรัสว่า เจ้าทั้งสามจงจัดเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาตามอย่างธรรมเนียม แล้วพากันไปบูชาเทพยดาเที่ยวชิมลางทุกประตูเมือง จงอธิษฐานว่าตามคำเราสั่งนี้ว่า ถ้าพระมหาเทวีจะให้จัดแจงกองทัพยกไปจับพระยาน้อยจะได้หรือมิได้ประการใด ขอให้เทพยดารักษากัมพูฉัตรแลเทพยดาอันรักษาทวารพระนครจงบอกนิมิตร้ายดีให้ปรากฏในครั้งนี้ ข้าหลวงสามคนรับเสาวนีย์พระมหาเทวีแล้วก็ออกมาจัดเครื่องพลีกรรมบวงสรวง เสร็จแล้วชวนบ่าวไพร่ที่ร่วมใจไว้ความลับได้ประมาณสี่ห้าคนให้ถือเครื่องพลีกรรม จึงพากันกระทำสักการบูชาบวงสรวงเทพยดาทุกประตูเมือง แล้วจึงอธิษฐานว่าตามคำพระมหาเทวีสั่ง แล้วพากันเที่ยวตรับฟังดูทุกประตู จะได้มีผู้คนเจรจาที่ประหลาดนั้นหามิได้ เงียบสงบอยู่ เม้ยฉุย เม้ยสะละ เม้ยจุ สามคน กับบ่าวไพร่เหล่านั้นจึงพากันเดินไปใกล้อารามแห่งหนึ่งชื่อ วัดมุดสรวย ได้ยินตาปะขาวโยมวัดว่า ปลูกต้นไม้งอกงามดีแล้ว ยอดแลใบก็ร่วงโรยไป ได้ยินคำคนว่าดังนี้แห่งหนึ่ง ครั้นเดินต่อมาได้ยินสามเณรองค์หนึ่งภาวนาเป็นภาษารามัญว่า ปะตุปุตองก็มีสีกวงกะมันสองเตาะ ถินเตาะเปราะกะมารตร้าวญะเตวะกะนาย คนซึ่งไปชิมลางเที่ยวตรับฟังได้ศัพทนิมิตสองแห่งเท่านั้นก็นำเอาเหตุมากราบทูลแก่พระมหาเทวี พระมหาเทวีได้ทรงฟังแล้วจึงตรัสว่า ซึ่งถ้อยคำตาปะขาวโยมวัดว่ากล่าวนั้นก็ไม่เห็นเป็นนิมิตร้ายดีอะไร แลถ้อยคำสามเณรภาวนาว่านั้นเป็นพิกลจริตอยู่ จะเชื่อฟังเอาว่าเป็นศัพทนิมิตร้ายดีนั้นก็มิได้ ครั้นแล้ว พระมหาเทวีจึงให้หาสมิงมะราหูมาแล้วตรัสว่า เราจะจัดแจงกองทำให้เจ้ายกไปจับพระยาน้อย จะเห็นประการใด สมิงมะราหูจึงทูลทัดทานว่า พระยาน้อยก็ได้ให้หนังสือมาว่า ถึงเดือนเก้าจึงจะมา แต่ให้มุอายลาวไปรับ ก็จะจำให้มุอายลาวถือหนังสือไปฟังดูก่อน ถ้าพระยาน้อยมิมาดังสัญญาแล้วจึงจะยกกองทัพไป บัดนี้ ก็เป็นเดือนเก้าตกลงมาข้างแรมแล้ว ขอพระแม่อยู่หัวเจ้าจงแต่งให้มุอายลาวไปรับเถิด พระมหาเทวีได้ฟังดังนั้นก็เห็นด้วย จึงให้สมิงมะราหูแต่งหนังสือตามความที่พระนางดำริไว้ แล้วสั่งให้หานางมุอายลาวเข้ามา ครั้นสมิงมะราหูแต่งหนังสือเสร็จแล้วก็ตีตราประทับพับผนึกตั้งลงในพานทองลายจำหลักถวายพระมหาเทวี พระมหาเทวีจึงตรัสแก่มุอายลาวว่า พระยาน้อยมีหนังสือแลสั่งมากับพ่อยีว่า ถึงเดือนเก้าให้เจ้าไปรับ บัดนี้ ก็ถึงเดือนเก้าล่วงมาเป็นกึ่งเดือนแล้ว เราจะให้เจ้าถือหนังสือไปรับพระยาน้อย จะได้หรือมิได้ประการใด
นางมุอายลาวได้ฟังดังนั้นก็ดีใจนัก เพราะอยากจะใคร่ได้เฝ้าพระยาน้อย จะได้ทูลแจ้งประพฤติเหตุร้ายดีทั้งปวง จึงแกล้งทูลว่า พระองค์มีเสาวนีย์ตรัสใช้แล้วข้าพเจ้ามิได้ขัด ถึงเหนื่อยยากลำบากเป็นประการใดก็ดี จะสู้สนองพระเดชพระคุณไปตามสติกำลัง ไม่คิดแก่ความเหนื่อยยาก แต่ข้าพเจ้าจะต้องกลับไปหาตละแม่ท้าวก่อน เผื่อจะฝากสิ่งของอันใดไปถวายพระยาน้อยบ้าง พระมหาเทวีจึงตรัสว่า ตามใจท่านเถิด นางมุอายลาวก็ทูลลาพระมหาเทวีกลับไปหาตละแม่ท้าวแล้วทูลความว่า บัดนี้ พระมหาเทวีจะใช้ให้ข้าพเจ้าถือหนังสือไปเชิญเสด็จพระยาน้อย พระแม่จะฝากของสิ่งใดไปบ้าง
ฝ่ายตละแม่ท้าวได้ทราบข่าวอยู่แต่ก่อนนั้นว่า พระยาน้อยได้เม้ยมะนิกรูปงามมาไว้ ก็มีความหึงหวงอยู่ ครั้นได้ฟังมุอายลาวทูลมาดังนั้นจึงตอบว่า แม่จะไปก็ดีแล้ว ข้าจะฝากของสองสิ่ง คือ หม้อน้ำมัน กับลูกชั่งตราชู ให้ไปด้วย ตละแม่ท้าวก็จัดแจงหม้อน้ำมันกับลูกชั่งตราชูให้มุอายลาว ซึ่งตละแม่ท้าวฝากสิ่งของทั้งสองนี้คือแกล้งกระทำกระทบให้สมกับความแค้น ใช่ว่าสิ่งของที่ดีจะไม่มีนั้นหามิได้ แล้วจึงสั่งนางมุอายลาวว่า แม่ได้โปรดช่วยทูลฝ่าพระบาทให้ทราบด้วยว่า ข้าพเจ้าทาสีเก่าเป็นคนจน มีความกตัญญูระลึกถึงพระเดชพระคุณอยู่ทุกเช้าค่ำ จึงจัดเครื่องบรรณาการทั้งสองนี้ฝากมาถวายประสายาก ครั้นจะจัดหาเครื่องราชบรรณาการที่ดีเล่า ก็เป็นคนขัดสนไม่มั่งมีเหมือนหม่อมแม่ชาวเมืองตะเกิงเขา จึงมิได้เครื่องราชบรรณาการที่ดีมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย อันสิ่งของสองสิ่งนี้เป็นของต่ำ ถึงจะไม่ทรงโปรดไยดีแล้วก็ตามพระทัยเถิด แต่ขอได้ทรงเห็นซึ่งความสามิภักดิ์ของข้าพเจ้าว่า ทาสีเก่านี้มีความซื่อสัตย์กตัญญูมากมาแต่เดิม ถึงยากจนก็ยังอุตส่าห์ฝากของถวายมา ได้ทรงโปรดแต่เพียงนี้ มุอายลาวได้ฟังดังนั้นก็ยิ้มอยู่มิได้ตอบประการใดด้วยเข้าใจว่า ตละแม่ท้าวมีความหึงหวงชั้นเชิงเป็นคนงอน ครั้นมุอายลาวรับของสองสิ่งแล้วก็ลาตละแม่ท้าวมาทูลแก่พระมหาเทวีว่า ตละแม่ท้าวฝากสิ่งของทั้งสองนี้ไปให้แก่พระยาน้อย
พระมหาเทวีได้ฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวลแล้วตรัสว่า ตละแม่ท้าวทำทั้งนี้เป็นการประชดหึงหวงกัน เป็นธรรมดาสามีกับภรรยา พระมหาเทวีจึงถามมุอายลาวว่า ซึ่งตละแม่ท้าวฝากสิ่งของสองสิ่งไปให้แก่พระยาน้อยนั้น เจ้ารู้ในเล่ห์กลความคิดของตละแม่ท้าวหรือไม่ มุอายลาวก็ล่วงรู้อยู่แต่ทูลว่า มิได้ทราบ พระมหาเทวีจึงว่า ซึ่งตละแม่ท้าวฝากน้ำมันไปให้นั้น คือ จะให้พระยาน้อยคิดเห็นว่า อันธรรมดาน้ำมันสำหรับจุดตามประทีปให้สว่างรุ่งเรือง พระยาน้อยแลตละแม่ท้าวนั้นเกิดในขัตติยตระกูลมียศศักดิ์อันรุ่งเรือง ตละแม่ท้าวนั้นเปรียบด้วยแสงประทีปอันสว่างสุกใส เม้ยมะนิกนั้นเป็นชาติไพร่ตระกูลต่ำเปรียบเหมือนหนึ่งที่มืด ซึ่งพระยาน้อยเอาเม้ยมะนิกมาชุบเลี้ยงนั้นเปรียบเหมือนอยู่ด้วยกันในที่มืดหามีแสงสว่างไม่ ให้พระยาน้อยคิดถึงที่อันสว่างรุ่งเรืองคือตัวตละแม่ท้าวผู้เพื่อนยากอย่าได้หลงลืม ได้เห็นแสงประทีปเมื่อใดก็ให้คิดถึงเมื่อนั้น แลซึ่งฝากลูกชั่งตราชูไปนั้นคือจะให้เห็นว่า ตละแม่ท้าวทุกวันนี้มีความรักใคร่ซื่อสัตย์สุจริตอยู่ต่อพระยาน้อย เปรียบประดุจดังตราชูเป็นของเที่ยง ให้พระยาน้อยมีความรักใคร่ซื่อสัตย์ต่อตละแม่ท้าวให้เที่ยงตรงเหมือนหนึ่งตราชูบ้าง อย่ามีสองสามให้มากไป เขาทำเป็นปริศนาให้กันดังนี้ แต่ปริศนาที่ฝากน้ำมันนั้นมีความเป็นไปหลายประการ เราหาล่วงรู้ในความคิดของเขาตลอดไม่ เราตรองเห็นแต่เพียงนี้ แล้วพระมหาเทวีจึงฝากผ้าห่มไปให้พระยาน้อยผืนหนึ่ง จึงมอบหนังสือส่งให้มุอายลาวแล้วสั่งความไปนอกหนังสือนั้นอีกล้วนแต่ความดีทุกประการ หวังมิให้พระยาน้อยเคลือบแคลง
ฝ่ายมุอายลาวรับหนังสือแลผ้าแล้วก็ถวายบังคมลาพระมหาเทวีมาขึ้นช้างพังกริณีไปกับบ่าวไพร่ชายหญิงเป็นอันมาก ครั้นไปถึงด่านเมืองตะเกิง ชาวด่านก็คุมเอาตัวมุอายลาวกับไพร่เหล่านั้นไว้แล้วจึงบอกเข้าไปถึงพระยาน้อยว่า บัดนี้ พระแม่นมมุอายลาวถือหนังสือมา ครั้นพระยาน้อยได้แจ้งดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงตรัสสั่งพ่อมอญให้ไปรับมุอายลาวเข้ามา ครั้นมุอายลาวมาถึงแล้ว พระยาน้อยก็มีความปราโมทย์เสด็จออกไปต้อนรับแม่นมอัญเชิญให้นั่งที่สมควรแล้วเคารพถามถึงสุขแลทุกข์กันตามความคุ้นเคยกันว่า ทุกวันนี้ แม่เป็นสุขในกายแลจิตอยู่หรือประการใด มุอายลาวจึงตอบว่า ตั้งแต่พระองค์เสด็จมาอยู่ ณ เมืองตะเกิงนี้ ข้าพเจ้าหามีความสุขไม่ ทุกวันนี้พระองค์ยังค่อยทรงพระเจริญสุขอยู่หรือ พระยาน้อยจึงตรัสว่า ข้าพเจ้าทุกวันนี้มีความสุขแต่เมื่อหลับ ถ้าตื่นอยู่แล้วหาความสุขมิได้ เพราะมีทุกข์สักสิบส่วน มีสุขสักส่วนหนึ่ง
ปกหลัง ขึ้น
หนังสือประโลมโลก, ธรรมะ, สวดมนต์,
ชาดก, นิทาน, นิราศ, รำร้อง, พงศาวดารจีนต่าง ๆ,
พงศาวดารรามัญ, เพลง, สุภาษิต, แหล่เทศน์ต่าง ๆ
กับมีหนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ
แลหล่อตัวอักษรพิมพ์จำหน่ายด้วย คิดราคา
พอสมควร
รับพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เช่น ใบปลิว, ตั๋ว,
ฎีกา, ใบเสร็จ, แบบฟอร์ม และการ์ด ฯลฯ
กับรับทำเล่มสมุดและเดินทอง คิดราคาพอสมควร