ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ/ภาคที่ 13/อธิบาย
เดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ มีผู้ขุดพบพระสริระธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งพวกสักยราชสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ณเมืองกบิลพัสดุ์ ลอร์ดเคอสัน ไวสรอยผู้สำเร็จราชการประเทศอินเดียของอังกฤษ[1] ทูลมายังพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระพุทธสาสนามีอยู่ในนานาประเทศเปนอันมาก แต่สมเด็จพระราชาธิบดีที่ทรงเลื่อมใสเป็นพุทธสาสนูปถัมภกยังคงอยู่แต่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เดียว เพราะฉนั้น เต็มใจจะถวายพระพุทธสริระธาตุแด่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงแบ่งพระราชทานแก่พวกพุทธสาสนิกชนชาวประเทศอื่นตามแต่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเปนพระยาสุขมนัยวินิต ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เปนราชทูตไปรับพระพุทธสริระธาตุมาแต่ประเทศอินเดีย มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
ครั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๘ โปรดฯ ให้รับพระพุทธสริระธาตุมาจากเมืองสมุทปราการโดยทางรถไฟ แลจัดกระบวนแห่ใหญ่ มีทั้งกระบวนของหลวงแลของเชลยศักดิ์ ไปรับที่สถานีหัวลำโพง แห่พระพุทธสริระธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ทองสำฤทธิ์ซึ่งโปรดฯ ให้หล่อขึ้นประดิษฐานไว้ในคูหาพระมหาเจดีย์บนยอดบรมบรรพตที่วัดสระเกษ แล้วมีมหกรรมการฉลองพร้อมด้วยเครื่องมหรศพสมโภช ๓ วัน
ครั้นต่อมา พวกพุทธสาสนิกชนในนานาประเทศ คือ ประเทศลังกา ประเทศพม่า ประเทศยี่ปุ่น แลประเทศไซบีเรีย ต่างแต่งทูตเข้ามาทูลขอพระพุทธสริระธาตุไปไว้บูชาในประเทศนั้น ๆ แต่ในทีนี้จะกล่าวถึงเฉภาะทูตพม่า เพราะเหตุที่เกี่ยวแก่เรื่องหนังสือพิมพ์ในสมุดเล่มนี้แต่พวกเดียว
ทูตพม่าที่เข้ามารับพระพุทธสริระธาตุคราวนั้นมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ มีพระภิกษุ ๗ รูป คฤหัสถ์ ๖ นาย แลพระภิกษุพม่าที่มา ๗ รูปนั้นได้รับสมมติมาเปนสมณะทูต ๕ รูป คือ
พระสาครมหาเถร | รูป | ๑ | ||
พระรวินทเถร | รูป | ๑ | ||
พระเกสรภิกษุ | รูป | ๑ | ||
พระกุมารภิกษุ | รูป | ๑ | ||
พระนันทวังสภิกษุ | รูป | ๑ |
เปนแต่ผู้มากับสมณะทูต ๒ รูป คือ พระจันทิมภิกษุ รู้ภาษาอังกฤษมาเปนล่าม รูป ๑ พระโสมภิกษุ มาปฏิบัติพระมหาเถร รูป ๑ คฤหัสถ์พม่าที่มาในคณะทูต ๖ นายนั้น คือ
อูเซววอง | มียศเปนผู้ช่วยข้าหลวงเมืองร่างกุ้ง | ๑ | ||
อูทากยวย | มียศเปนนายอำเภอกิติมศักดิ์เมืองร่างกุ้ง | ๑ | ||
โพพูซัน | เลขานุการของคณะทูต | ๑ | ||
มองโลม | อุบาสก | ๑ | ||
มองโกยา | อุบาสก | ๑ | ||
จีนโก๊บาปาน | อุบาสก | ๑ |
ได้โปรดฯ ให้รับทูตพม่าเปนแขกเมือง แลจัดที่ให้พระสงฆ์พม่าพักอยู่ณวัดมหาธาตุ แล้วโปรดฯ ให้เข้าเฝ้าที่มุขกระสันด้านตวันออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พระราชทานไตรแพร ย่ามโหมดเทศ แก่พระสงฆ์พม่าทั้ง ๗ รูป แต่พระเถร ๒ รูปนั้นได้พระราชทานพัดรองปักด้วย ส่วนคฤหัสถ์ก็ได้พระราชทานสิ่งของทั่วกัน แลผู้ที่มียศเปนกรมการ ๒ นายนั้น ได้พระราชทานเหรียญราชรุจิด้วย
ครั้นถึงวันที่ ๙ มกราคม เปนวันกำหนดที่ทูตพม่ากับทูตลังกาจะรับพระพุทธสริระธาตุพร้อมกัน จึงโปรดฯ ให้จัดการพิธีที่วัดพระเชตุพน เชิญพระเจดีย์ทองบรรจุพระพุทธสริระธาตุส่วนที่จะพระราชทานนั้นไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ตั้งเครื่องสักการบูชา มีพระสงฆ์สยามทุกนิกาย กับทั้งราชบัณฑิตแลอุบาสกทั้งหลายไปประชุมเปนอันมาก เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เปนประธานในที่นั้น ทูตทั้ง ๒ ประเทศเชิญพระเจดีย์ทองคำประดับเพ็ชร์พลอยซึ่งสร้างมาสำหรับรับพระธาตุไปตั้งในที่ประชุม ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์จึงประกาศกระแสพระบรมราชโองการในทประชุม แล้วเชิญพระเจดีย์ทองในนั้นมีผะอบทรงพระพุทธสริระธาตุ ๓ องค์มอบแก่ทูตลังกาสำหรับจะได้ประดิษฐานไว้ณเมืองขัณฑิย องค์ ๑ เมืองอนุราธบุรี องค์ ๑ เมืองโคลัมโพ องค์ ๑ ตามประสงค์ของชาวลังกา ส่วนประเทศพม่านั้นก็ได้รับพระเจดีย์มีผะอบบรรจุพระธาตุพระราชทานเปน ๒ องค์ตามความประสงค์ของพวกพม่าดุจกัน สำหรับจะได้ไปประดิษฐานไว้ในประเทศพม่าภาคเหนือ องค์ ๑ ไว้ในประเทศพม่าภาคใต้ องค์ ๑ ขณะที่มอบพระพุทธสริระธาตุแก่ทูตนั้น พระสงฆ์ที่ประชุมสวดไชยปริต ฝ่ายชาวประโคมก็ประโคมปี่พาทย์ด้วยพร้อมกัน แล้วทูตทั้ง ๒ ประเทศต่างก็รับพระพุทธสริระธาตุไปยังที่พัก
ครั้นวันที่ ๑๐ มกราคม โปรดฯ ให้ทูตพม่าทั้งพระสงฆ์แลคฤหัสถ์ขึ้นไปเฝ้าทูลลาที่พระราชวังบางปะอิน เสด็จออกทรงปฏิสันฐาร แล้วโปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์พม่าเข้าไปฉันเพนที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เสด็จลงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์พม่าฉันแล้วเจริญพระปริตถวายไชยมงคลแลถวายอนุโมทนา แล้วจึงถวายพระพรลากลับไป
เมื่อสมณะทูตเข้ามาพักอยู่ในกรุงเทพฯ ครั้งนั้น ได้สมาคมคุ้นเคยกับพระราชาคณะในประเทศนี้หลายรูป ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างไต่ถามสนทนากันถึงเรื่องสาสนวงศ์แลความเปนอยู่ของสงฆมณฑลทั้ง ๒ ประเทศ สมณะทูตพม่าจะได้จดจำเรื่องราวที่มารู้ในประเทศนี้ไปอย่างไรบ้างหาปรากฎไม่ แต่พระราชาคณะในประเทศนี้บางรูปได้อุสาหะจดเรื่องราวที่ได้ทราบจากสมณะทูตพม่าเรียบเรียงไว้ หนังสือนั้นหอพระสมุดฯ ได้ฉะบับมาจากพระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตร ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ พิจารณาดูเห็นน่าอ่าน ด้วยมีข้อความอธิบายถึงลัทธิธรรมเนียมสงฆมณฑลในประเทศพม่า ทั้งในสมัยเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง แลในสมัยเมื่อประเทศตกเปนเมืองขึ้นของอังกฤษ มีเรื่องราวน่ารู้อยู่หลายอย่าง กรรมการหอสมุดฯ จึงได้พิมพ์ไว้ในจำพวกลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ
- ↑ เมื่อลอร์ดเคอสันยังมิได้มีตำแหน่งในราชการ มาเที่ยวดูนานาประเทศ ได้เคยเข้ามากรุงเทพฯ ครั้ง ๑ เคยเฝ้าพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแต่นั้น